The Future of (Almost) Everything

29/7/2016

Book Title: The Future of (Almost) Everything
Author(s): Patrick Dixon
Format: Paperback, 352 pages
Publisher: Profile Books; May 10, 2016
Language: English
ISBN-10: 1781254974
ISBN-13: 978-1781254974
Product Dimensions: 5 x 1.2 x 7.7 inches

 

มันเป็นหนังสือเบามือสำหรับไว้ถืออ่านให้หนักๆ สมองครับ ... นี่ไม่ใช่หนังสือที่ทำนายโลกอนาคตแบบ "นอสตาดามุส" หรือเล่าเรื่องเพ้อฝันถึงโลกอนาคตข้างหน้าอีกหลายๆ ร้อยปีแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ... แต่ Patrick Dixon เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ห่างจากปีปัจจุบันไปเพียงไม่เกิน 10-20 เท่านั้น ซึ่งหลายๆ เรื่องก็มีข่าวคราวให้พอเดาทางกันได้อยู่แล้วแหละ แต่พอเอาทุกๆ เรื่องมาเล่ารวมๆ กันจนเห็นภาพรวมของอนาคตอันใกล้นี้แล้ว มันทำให้ดูเหมือนว่า พวกเราควรจะมีเรื่องราวให้ต้องคิด และต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้ามากมายจนน่าตกใจจริงๆ ... 😲

ผมไม่คิดว่าเราควรจะ "ตั้งคำถาม" ประเภทที่ "ชวนให้ชอบ" หรือ "ชวนให้ชัง" สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ทุกอย่างคงจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ อยู่แล้ว แต่เราควรจะ "ตั้งสติ" แล้วถามตัวเองหลายๆ ครั้งเลยว่า ... "เรามีความพร้อมแค่ไหนกับโลกอนาคตที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาแล้วอย่างจริงจังตั้งแต่ในเวลานี้ ??!!"

ผมมองว่า วิธีการนำเสนอที่ Patrick Dixon เลือกใช้กับหนังสือของเขาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดีเหมือนกัน โดยเขายังคงใช้การแบ่งเรื่องราวของอนาคตออกเป็น 6 ด้านเหมือนกับในหนังสือเรื่อง Futurewise ที่เขาเคยเขียนไว้เองเมื่อปี 2007 ตามตัวสะกดในคำว่า FUTURE คือ Fast ; Urban ; Tribal ; Universal ; Radical ; และ Ethical ... เพื่อที่จะบรรยายความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในอนาคตของแต่ละด้านอย่างมีกรอบกำหนดที่ชัดเจนลงไป ... เพียงแต่ว่า ... การที่เรื่องราวทั้งหลายมันดูยุ่งเหยิงวุ่นวาย จนหลายคนจับต้นชนปลายแทบไม่ถูกเลยนั้น ก็เป็นเพราะว่า ทั้ง 6 ด้านของอนาคตที่เขาหยิบยกขึ้นมานี้ มันไม่ได้แยกขาดออกจากกันเหมือนกับบทของหนังสือ แต่พวกมันมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแยกไม่ออกราวกับเป็น "แต่ละด้านของลูกเต๋า" ที่ล้วนเป็นส่วนประกอบของกันและกันตลอดเวลา ... โดย "พลัง" ที่จะเป็นปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายใน "แต่ละด้านของลูกเต๋าแห่งอนาคต" ลูกนี้ก็คือ EMOTION หรือ "อารมณ์ของคน" เท่านั้น ... !! ... 😲

บางที การที่ชนชาติตะวันตกหลายๆ ชนชาติ เริ่มหันมาให้ความสนใจศึกษาศาสนา ตลอดจนแนวคิด-แนวปฏิบัติแบบชนชาติตะวันออกมากขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่เพราะ "วิถีคิด" แบบชนชาติตะวันออก มีอะไรที่ดีกว่า หรือเหนือกว่า "วิถีคิด" ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในดินแดนของพวกเขาเลยก็ได้ แต่อาจจะเป็นเพราะ "การศึกษาด้านใน" อันเป็นแก่นแกนหลักของลัทธิความเชื่อทั้งหลายของชนชาติตะวันออกนั้น มีความสอดคล้องกับแนวทางที่พวกเขาอยากจะศึกษา "พัฒนาการทางความคิด" และ "ธรรมชาติทางอารมณ์" ของมนุษย์ให้มีความกระจ่างมากขึ้นเท่านั้นเอง ... ความแตกต่างกันเพียงประการเดียวของการหันมาศึกษา "วิถีแห่งจิต" ก็คงจะอยู่ที่ว่า ... ชนชาติตะวันออก "คงจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาตนไปสู่ความสงบเย็นของจิตใจ ตาม "วัฒนธรรมทางความเชื่อ" ของชนชาติตนต่อไป ... ในขณะที่ชนชาติตะวันตก "อาจจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่ "พลังแห่งการขับเคลื่อนโลกอนาคต" ที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดทิศทางโดยการ "จูงอารมณ์" ให้คนทั้งโลก "อยากจะคล้อยตาม" ความต้องการของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่ยอมถึง "นิพพาน" ซักที ?!?!?! ...

 

 

Black Box Thinking

Marginal Gains and the Secret of High Performance | 7/7/2016 | Comments: 9
Book Title: Black Box Thinking : Marginal Gains and the Secret of High Performance
Author(s): Matthew Syed
Format: Paperback
Publisher: John Murray Publishers Ltd.
Language: English
ISBN-10: 1473613809
ISBN-13: 978-1473613805
Product Dimensions: 6.5 x 0.9 x 7.8 inches

ผม "น่าจะ" ซื้อหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะ "ชื่อ" ที่มันถูกใช้ ประกอบกับ "น่าจะรู้สึกว่า" ผู้เขียนคงต้องการเสนอแนวคิดบางอย่างที่ย้อนแย้งกับพวก "Thinking Outside The Box" หรือ "การคิดนอกกรอบ" ที่เกาะกุมสมองของผู้คนในสังคมราวกับเป็น "ไวรัสทางปัญญา" มาอย่างยาวนาน ... ซึ่งพออ่านเข้าจริงๆ มันก็คือแนวคิดแบบ "Thinking Outside The Box" นั่นแหละ ... แต่เป็นแบบฉบับของ "การคิดนอกกรอบ" อย่างที่ควรจะเป็น ... ไม่ใช่คิดแบบสะเปะสะปะ ไม่ใช่คิดซี้ซั้ว หรือไม่ใช่คิดบ้าๆ บอๆ ไปตามใจตามอารมณ์ที่ไม่สมประกอบของแต่ละคน ... มันคือ "การคิดนอกกรอบ" ที่ "ไม่สติเฟื่อง" เหมือนอย่างพวก "โอเวอร์ลิเบอรัล" (Over-Liberal) ทั้งหลายเขาพยายามจะ "เสี้ยมสอน" กัน ... เพราะคำว่า Box ในความหมายที่ควรจะเป็นของแนวคิดประเภทนี้ก็คือ "กบาลของคนคิด" นั่นเอง !!

สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะกวนใจผมอยู่สักหน่อยสำหรับหนังสือเล่มนี้ก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับ "การตรวจสอบ" หรือ "การตรวจพิสูจน์" ที่ใช้พื้นที่ของหนังสือไปเยอะมาก (ตาม "ความรู้สึก" ของผมเองนะ !!) เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ค่อยจะนิยมชมชอบเรื่องของ "การตรวจสอบ" ซักเท่าไหร่ ถึงแม้ผมเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า "การตรวจสอบ" หรือ "การตรวจพิสูจน์" นั้นเป็น "เรื่องจำเป็น" ... ซึ่ง ... "เรื่องจำเป็น" ก็ต้อง "ตรวจเท่าที่จำเป็น" เท่านั้น ... ไม่ใช่ตรวจมันตะพึดตะพือไปทุกเม็ดทุกรายละเอียดอย่างไร้สาระไปวันๆ เหมือนอย่างนักบัญชีส่วนใหญ่ หรือกรมสรรพากร ที่ "จุกจิกหยุมหยิม" กับการตรวจสอบเอกสารที่คัดลอกซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งลงในแบบฟอร์มที่ไม่เหมือนกันหลายๆ แบบ แล้วเอามา "ตรวจพิสูจน์อย่างเสียสติ" ว่า ผลรวมของสิ่งที่คัดลอกมาทั้งหมดนั้น ยังคงเหมือนเดิมทุกๆ ครั้งรึเปล่า ?!!?!!

ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า แนวคิดในหนังสือ Black Box Thinking ของ Matthew Syed นั้น ค่อนข้างที่เน้นไปในประเด็น "การสำรวจทุกรายละเอียด" แล้วก็ยังเป็น "การสำรวจอย่างเข้มข้น" ด้วยอีกต่างหาก ?! ... เพียงแต่ว่า ... มันเป็น "ความละเอียด" กับ "ความเข้มข้น" ในระดับของ "การพัฒนา" ... ไม่ใช่ระดับ "หยุมหยิมปัญญาอ่อน" แบบกรมสรรพากร ที่ไม่เคยก่อเกิดพัฒนาการใดๆ ขึ้นมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเลย !!! เพราะในขณะที่ "กล่องดำ" น่าจะเป็นแบบจำลองที่ดีของ "การสำรวจตรวจสอบทุกๆ แง่มุมของกระบวนการปฏิบัติงานอย่างละเอียดยิบ" ... แต่มันก็ยังเป็นแบบจำลองที่ดีของการ "การประมวลข้อมูลเพื่อการตรวจสอบทั้งหมด" ไว้ใน "อุปกรณ์ที่เรียบง่ายที่สุด" เพียงชิ้นเดียว แต่สามารถโยงใยผลของการตรวจสอบไปสู่ทุกๆ ประเด็นของการปฏิบัติงาน, ทุกๆ รายละเอียดของกระบวนการอย่างรอบด้าน โดยไม่ต้องกระจายการจัดเก็บข้อมูลออกไปหลายๆ ที่, หลายๆ จุด, หลายๆ รูปแบบ, เหมือนอย่างที่ "นักวิชาการปัญญาอ่อน" ของกรมสรรพากร หรือของหน่วยงานราชการทั้งหลายเขาทำกันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ... กระบวนการทำงานที่สลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ซ้ำซากหยุมหยิม ย่อมสะท้อนถึง "ความสิ้นคิด" ของผู้ที่ออกแบบกระบวนการทำงานเหล่านั้นเอง ซึ่งไม่เคยเข้าใจใน "ภาพรวมของกระบวนการทำงาน" ที่เป็นจริงเลยแม้แต่น้อย !!!?!??

แม้ว่าหนังสือ Black Box Thinking ของ Matthew Syed จะเปิดประเด็นด้วยแบบจำลองของ "กล่องดำ" อันเป็นหัวใจหลักของกระบวนการพัฒนาระบบความปลอดภัยในโลกของวิศวกรรมการบิน ... ซึ่งบางครั้งถึงกับล้วงลึกลงไปถึงการจัดวางตำแหน่งของสวิทช์ต่างๆ ในห้องนักบิน รวมถึงขนาด รูปร่าง และสีสัน ของปุ่มต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดในขณะบังคับการบินด้วยซ้ำ ... ถ้าเทียบกับ "การเพิสูจน์อักษร" ในโลกของการพิมพ์ ก็คงจะประมาณว่า จะต้องมีการตรวจทุกตัวสะกด ตลอดจนเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาถึงการขึ้นบรรทัดใหม่ หรือการแยกเรื่อง แยกบท หรือแยกย่อหน้าออกจากกัน ฯลฯ นั่นเลยทีเดียว ... ยุบยิบมากๆ ... แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ "กระบวนการสำรวจพิสูจน์อย่างเป็นระบบ" ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นก็คือ ... "ความเชื่อในกบาล" ของ "คน" เท่านั้น !!?!

  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนคือ "บุคคลสมบูรณ์แบบ" ที่จะไม่มีวันทำสิ่งใดๆ ผิดพลาดได้เลยในชีวิต ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนได้ "ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ" แล้ว ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนได้บรรลุถึง "ปลายสุดแห่งศักยภาพของตน" แล้ว ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ผู้คนทั้งหลายในโลกนี้ล้วน "ด้อยกว่าตน" ย่อมปิดกั้นตัวเองจากทุกๆ ความคิดเห็นที่ผิดแปลกแตกต่าง
  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ศักยภาพของตน คือเรื่องของ "โชคชะตาฟ้าลิขิต" ย่อมปฏิเสธการเรียนรู้ใดๆ ในชีวิตส่วนที่เหลือ
  • ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ความไม่สมประกอบของผลงานใดๆ ล้วน "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตน" ย่อมปฏิเสธโอกาสของการเรียนรู้
  • ฯลฯ

การ "เชื่อว่า" ทุกสรรพสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ทุกสรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เคยเป็นหลักประกันว่าสิ่งนั้นๆ จะต้องเกิดขึ้นได้จริง หรือสิ่งนั้นๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงได้จริงอย่างที่ "เชื่อ" เสมอไป ... แต่การ "เชื่อว่า" ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นไปไม่ได้ ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นหลักประกันว่า ไอ้เวรที่ "เชื่อ" อย่างนั้น จะไม่ยอมเรียนรู้ใดๆ เพื่อพัฒนาตนเองอีกเลยในชีวิตส่วนที่เหลือของมัน ...

"กล่องดำ" ที่ไม่เคยถูก "เปิดออก" เพื่อ "การสำรวจตรวจสอบ" อย่างเหมาะสม ย่อมไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ให้กับ "การเรียนรู้" และ "การพัฒนา" ในระบบทางวิศวกรรมการบินฉันใด ... "สมอง" ที่ "ดักดาน" อยู่กับ "ความเชื่อ" โดยไม่เคยได้รับ "การสำรวจพิสูจน์" ใดๆ ย่อมต่างจาก "ลำไส้ใหญ่" เพียงแค่ตำแหน่งแห่งที่ของมันในร่างกายของมนุษย์ ... ฉันนั้น !!

 

 

อย่าสู่รู้ (Not Knowing)

The Art of Turning Uncertainty into Opportunity | 11/1/2016 | Comments: 3


Book Title: Not Knowing : The Art of Turning Uncertainty into Opportunity

Author(s): Steven D'Souza & Diana Renner
Format: Paperback, 224 pages
Publisher: LID Publishing Inc. (June 9, 2014)
Language: English
ISBN-10: 1907794484
ISBN-13: 9781907794483
Product Dimensions: 5.5 x 0.6 x 8.5 inches

 

ไม่ได้เล่าหนังสือมานานมาก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะไม่ค่อยพบเห็นหนังสือที่ "น่าสนใจ" ซักเท่าไหร่ในระยะหลังๆ มานี้ แต่สาเหตุหลักๆ ก็น่าจะเพราะเวลาในการอ่านเริ่มน้อยลง แล้วเวลาที่จะเรียบเรียงคำพูดเพื่อบอกเล่าประเด็นที่พบเห็นในหนังสือแต่ละเล่มก็ยิ่งน้อยลงไปกันใหญ่ ... สรุปว่า ... ยังหยิบยังจับหนังสือหลายเล่มมาอ่านอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มีเวลาเรียบเรียงความคิดของตัวเองออกมาเป็นคำเขียนซะมากกว่า ...

สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน หรือใช้เวลากับการอ่านบทความสั้นๆ มากกว่าการอ่านหนังสือเล่ม หนังสือเรื่อง Not Knowing ของ Steven D'Souza กับ Diana Renner น่าจะพอตอบโจทย์เรื่องเวลาแบบนี้ได้อยู่ ... แต่ถ้าไม่มี "นิสัยรักการอ่าน" อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมอยากแนะนำให้เริ่มจาก "การดัดสันดานตัวเอง" ก่อน หรือไม่งั้นก็ไม่ต้องไปสนใจมันเลยแล้วกัน ... 😃

ผู้เขียน Not Knowing เลือกใช้กลวิธีในการลำดับเรื่องเป็นท่อนสั้นๆ โดยจัดให้เริ่มหน้าใหม่สำหรับแต่ละหัวข้อ แทนที่จะเรียงเป็นหัวข้อย่อยๆ ในแต่ละบทเหมือนหนังสือทั่วๆ ไป ซึ่งแต่ละหัวข้อก็แทบจะแยกต่างหากจากกันเป็นเอกเทศ ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกันทั้งเล่มก็ได้ พอใจเปิดอ่านจากเรื่องไหนก็อ่านไป ไม่กี่หน้าก็จบหนึ่งหัวข้อ แล้วก็กระโดดไปหัวข้อใหม่ ... ต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง จะอ่านแยก อ่านรวม หรืออ่านกระโดดไปกระโดดมาได้ทั้งนั้น ... เก้าะ ... เป็นวิธีการเขียนที่น่าสนใจดีครับ ...

สำหรับชื่อหนังสือ Not Knowing เล่มนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสืออีก 2 เล่มที่ชื่อคล้ายๆ กันคือ The Book Of Not Knowing ของ Peter Ralston ที่ผมเคยอ่านไปเมื่อหลายปีก่อน กับหนังสือเก่าแก่ในชุดของ J.Krishanmurti เรื่อง Freedom From The Known ซึ่งทั้งสองเล่มที่นึกถึงนี้ เป็นหนังสือแนว Spirituality ที่กระเดียดไปในด้านปรัชญาและศาสนามากกว่าการประกอบธุรกิจ ... แต่จะว่าไปแล้ว หนังสือกลุ่มนี้ทั้งหมดก็ล้วนแต่ชี้เป้าไปที่เรื่องเดียวกันคือ "อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเคยรู้" ... คล้ายๆ กับนิทานเซ็นเรื่อง "ชาล้นถ้วย" อะไรประมาณนั้น ... แต่ถ้าจะให้ผมแปลชื่อหนังสือ Not Knowing ให้เป็นภาษาไทยจริงๆ ผมคงจะเลือกแปลมันว่า "อย่าสู่รู้" ซะมากกว่า เพราะดูจะตรงประเด็นกับเนื้อหาของหนังสือมากที่สุดแล้ว ... 😂

เรื่องของเรื่องก็คือ บ่อยครั้งในโลกของการทำงานนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักจะ "แสดงตนว่ารู้" ในบางเรื่องราวจนไม่คิดที่ค้นหาคำตอบที่แตกต่างใดๆ อีกเลย ซึ่งไอ้ประเภท "มั่นใจในภูมิรู้ของตนอย่างล้นเหลือ" จนไม่ยอมรับรู้เรื่องราวที่แตกต่างไปจาก "ทัศนคติของตน" เนี่ย ... แม้แต่ตัวของเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้นซักเท่าไหร่หรอก ... 😄 ... เก้าะ ... ถ้าเป็น "ความรู้แบบผิดๆ" ชาวบ้านเขาก็คงจะเรียกว่า "กบในกะลา" กัน ... แต่ถ้าเป็น "ความรู้แบบถูกๆ" ผมอยากจะใช้คำว่า "ดักดานในข้อเท็จจริง" ดีกว่า ... 😄 ... โดยทั้งสองกรณีล้วนเป็นอุปสรรคต่อ "การเรียนรู้" และไม่อาจ "การสร้างสรรค์" นวัตกรรมใดๆ ให้แก่มวลมนุษยชาติเลย ... !!?!! ... แล้วก็ "อาการสู่รู้" ทั้งสองประเภทนี่แหละที่เป็นที่มาของ "โรคคิดในกรอบ" (Thinking Inside The Box) ที่ "พวกอวดรู้" ทั้งหลายพยายามส่งเสริม "พฤติกรรมแหกกฎ" ให้แก่สาธารณะ ด้วยการหยิบยก "วลีกึ่งสำเร็จรูป" ประเภท "คิดนอกกรอบ" (Thinking Outside The Box) มาเผยแพร่อย่างผิดๆ จนสังคมอุดมไปด้วยเหลวแหลกเลอะเทอะ เพราะความที่ถูกเสี้ยมสอนให้ "เชื่อ" กันว่า "กฎระเบียบต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งเหลวไหลที่ขัดขวางความเจริญของมวลมนุษยชาติ" ... ทั้งๆ ที่พวกแม่งเองนั่นแหละที่จมกะลาอยู่ในกะโหลกของตัวเอง ด้วยการปฏิเสธกฎระเบียบทุกอย่างของโลกภายนอก แล้วเอาแต่อวดอ้าง "ความมีสิทธิส่วนบุคคล" จนปฏิบัติต่อสังคมราวกับโลกทั้งโลกคือ "ที่รโหฐานในกบาลของตัวเอง" อย่างไร้รากไปวันๆ เท่านั้น ... !!!!?!?!?

ความจริงแล้ว The Box ที่ "ครอบงำความคิด" ของพวกเราจน "ติดกรอบ" อยู่นั้นก็คือ "ความคิดของเราเอง" ... มันคือ "ความคิด" หรือ "ความเชื่อ" ที่ว่า "เรารู้แล้ว" หรือ เรามีคำตอบอยู่แล้ว" ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสมองที่ "บดบังการเรียนรู้" ของเราให้ตีบตันอยู่กับ "สิ่งที่เราเชื่อว่าเรารู้แล้ว" หรือ "สิ่งที่เรามีข้อสรุปไปแล้ว" โดยไม่ต้องค้นหาข้อเท็จจริงใดๆ อีก อันเป็นพฤติกรรมปรกติของสมองมนุษย์ที่พยายามปกป้องตนเองจาก "ความไม่รู้" เพื่อหลีกเลี่ยง "ความไม่แน่นอน" ที่สมองยังไม่สามารถประมวลเข้าเป็นหมวดหมู่เพื่อ "การยึดเกาะ" ใดๆ ... ความหมายที่แท้จริงของ "ความนอกกรอบ" หรือ Outside The Box ก็คือ การก้าวให้พ้นจาก "ความสู่รู้ของตัวเอง" ... ประเด็นหลักๆ ที่ Steven D'Souza กับ Diana Renner นำเสนอไว้ในหนังสือ Not Knowing ของพวกเขาก็คือประเด็นนี้ ... ส่วนไอ้ประเภทที่แหกปากโวยวายเพื่อที่จะกล่าวหาว่า สังคมเต็มไปด้วยกฎระเบียบอันเหลวไหลที่ขัดขวางความไม่งอกงามทางความคิดของตัวเองนั้น คือพวกที่ "ไม่มีความรับผิดชอบ" และ "ขี้ขลาด" จนไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับว่า "บาปแห่งความโง่ของตัวเอง" นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครหน้าไหน หรือสถาบันใดต้องมามีส่วนในการรับผิดชอบเลย ... ซักนิดเดียว !!!!?!?! ... ซึ่งประเด็นที่ระบายคำแรงๆ เนี่ย ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือละ ... กูเอง !! ... 😄

 

 

Talk Like TED

12/6/2015 | Comments: 4

เดิมทีก็ว่าจะ "ย้อนกลับไป" ซื้อหนังสือเล่มนี้ที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษซะหน่อย ซึ่งที่ผมใช้คำว่า "ย้อนกลับไป" ก็เพราะว่า ผมเห็นมันวางหราอยู่ในร้านหนังสือมาพักใหญ่ๆ หลายรอบแล้วแหละ แต่ไม่ได้มีกะจิตกะใจที่อยากจะซื้อมันมาก่อนเลย ... ซึ่งสุดท้ายก็ยังคงไม่ได้ซื้อฉบับภาษาอังกฤษอยู่ดี เพราะดันไปคว้าฉบับแปลไทยมาอ่านแทน เนื่องจากถูกสตางค์กว่าเยอะ ... 😄

จะว่าไปผมก็เคยผ่านหูผ่านตาเจ้า TED Talk มาได้ระยะหนึ่งแล้วล่ะ หลายๆ เรื่องที่เขานำเสนอกันไว้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว แต่บางเรื่องก็น่าจะไกลจากวิถีชีวิตปรกติของตัวเองจนไม่ว่างจะไปสนใจมันซักเท่าไหร่ แต่โดยภาพรวมของ TED Talk ก็ต้องถือว่า เป็นรูปแบบของกิจกรรมที่น่าสนใจ, น่าติดตาม, และ "น่าคิดตาม" จริงๆ ... เก้าะ ... คงจะเป็นอารมณ์ประมาณนี้แหละที่ทำให้ผม "ย้อนกลับไป" สนใจหนังสือเล่ม Talk Like TED ขึ้นมา ...

TED ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1984 โดยการริเริ่มของ Richard Saul Wurman ที่สังเกตเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังของการหลอมรวมกันอย่างลงตัวของ เทคโนโลยี (Technology), ความบันเทิง (Entertainment), และการออกแบบ (Design) ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของ TED ก็มีจุดประสงค์อยู่ที่การเผยแพร่ข้อสังเกตที่ว่านี้ ผ่านการนำเสนอตัวอย่างของ CD-ROM, E-Book, การสร้างภาพกราฟฟิค 3 มิติในแวดงวงบันเทิงของ Lucasfilm, และการนำเสนอทฤษฎีคณิตศาสตร์ของ Benoit Mandelbrot ที่สามารถจำลองสภาพพื้นผิวทางภูมิศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์ได้อย่างแม่นยำ ... แต่กิจกรรมที่จัดขึ้นในในครั้งนั้นเก้าะ ... เจ๊ง !!?

6 ปีต่อมา Richard Wurman กับ Harry Marks ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ก็ริเริ่มโครงการ TED Conference ด้วยการจัดให้เป็นกิจกรรมการประชุมประจำปี เพื่อใช้เป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่นวัตกรรมใหม่ๆ ของแวดวงเทคโนโลยี, ความบันเทิง, และการออกแบบ รวมทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้, ความคิด, และความสนใจของเหล่านักคิดต่างๆ จากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์, นักปรัชญา, นักดนตรี, นักธุรกิจ, ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณ, นักสิทธิมนุษยชน, ฯลฯ และแวดวงอื่นๆ อีกจำนวนมาก ส่งผลให้ TED กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่า "ผู้แสวงความอุดมปัญญา" มากขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยภาพรวมของ TED Conference ในเวลานั้น มักจะเป็นการประชุมที่มีการเชื้อเชิญบุคคลต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า ไม่ถึงกับเป็นการประชุมที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วๆ ไป ... จวบจนกระทั่งปี 2000 ที่เจ้าพ่อสื่ออย่าง Chris Anderson ได้เล็งเห็นถึงอิทธิพลทางความคิดของกิจกรรม TED ที่น่าจะมีผลในเชิงบวกต่อพัฒนาการทางสังคมในวงกว้าง เขาจึงตัดสินใจขอซื้อลิขสิทธิ์การจัดกิจกรรม TED มาจาก Richard Wurman เพื่อจะพัฒนารูปแบบของการจัดกิจกรรมให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Sapling Foundation ซึ่งมี Chris Anderson เป็นผู้บริหารจัดการ ...

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรม TED Talk ก็ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น และกลายเป็นเวทีสำคัญเวทีหนึ่ง ที่บรรดานักคิด และนักกิจกรรมทั้งหลาย สามารถใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้, ความคิด, และแรงบันดาลใจของพวกเขาต่อสาธารณะชนในวงกว้าง ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในยุคที่สามารถแทรกซึมเข้าไปแทบจะทุกซอกทุกมุมของสังคม ประกอบกับการเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจทั่วไป สามารถเข้าไปร่วมแปลบทพูดต่างๆ ในไฟล์วีดีโอของ TED Talk ออกมาเป็น sub-title ไว้มากกว่า 100 ภาษา กระแสการตอบรับ TED Talk จึงยิ่งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่มีผู้เข้าเยี่ยมเว็บไซต์ของ TED มาแล้วกว่า 1,000,000,000 ครั้งในปี 2014 และยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สูงถึง 17 หน้าต่อวินาที ที่ยังคงเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา ...

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้คนจำนวนมากมาย อยากจะเข้าไปเป็นบุคคลหนึ่งในวีดีโอที่เผยแพร่โดย TED เพราะมันหมายถึงโอกาสที่แต่ละคน จะได้เผยแพร่ความคิด และความเป็นตัวตนของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนนับพันพันล้านคนทั่วโลก อันเป็นที่มาของหนังสือแนะนำ "เทคนิควิธีการพูดในที่สาธารณะให้น่าสนใจ" แบบ TED Talk ที่ต่างก็ทะยอยกันจัดพิมพ์ออกมาสนองความต้องการของผู้ที่สนใจแล้วหลายเล่มด้วยกัน ... ซึ่งก็รวมถึงเจ้าหนังสือ Talk Like TED เล่มนี้ด้วยนั่นเอง ... 😏

 

 

อ่านแล้วเล่าใหม่ (ไม่) เอาเรื่อง

8/6/2015 | Comments: 2

 

ด้วยเหตุที่การตั้งชื่อ และการออกแบบปกของหนังสือ 3 ทั้งเล่มนี้ ค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ละม้ายคล้ายคลึงกันพอสมควร ผมก็เลยเหมาๆ เอาเองว่า ทาง "สำนักพิมพ์อ่าน" คงจะมีเจตนาให้พวกมันเป็นหนังสือใน series เดียวกัน ... เก้าะ ... เลยตัดสินใจกวาดมาเก็บไว้อ่านทั้ง 3 เล่มนั่นแหละ แม้ว่ามันจะไม่ใช่แนวหนังสือที่ผมมักจะหยิบขึ้นอ่านเป็นกิจวัตรของตัวเองซักเท่าไหร่ก็ตาม ... 😁

จะว่าไปแล้ว ผมเป็นคนที่อ่านงานเขียนประเภท "วรรณกรรม" ไม่ค่อยจะมากนัก ซึ่งก็คงเพราะความขี้เกียจของตัวเองที่ไม่นิยม "ตีความเอาเอง" จาก "จินตนาการ" ของคนอื่นๆ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางสำนักที่พยายามจะยืนยันว่า การบอกเล่า "ข้อคิด" บางอย่างด้วย "เรื่องเล่า" นั้น จะสามารถสื่อความนัยของ "แง่คิด" หนึ่งๆ ได้ลึกซึ้งกว่าการบอกกล่าวกันด้วยเนื้อความที่ตรงไปตรงมา ... ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่า หลายๆ สิ่งที่เรา "ตีความกันเอาเอง" นั้น มันอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายดั้งเดิมที่ "ผู้สื่อ" ต้องการจะส่งสารให้กับ "ผู้รับ" ก็ได้ เพราะโดยพื้นเพของความรู้ ความคิด และระดับของจินตนาการ กับช่องว่างของช่วงเวลาที่แตกต่างกันของ "ผู้สื่อสาร" กับ "ผู้รับสาร" นั้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้ความหมายหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปจาก "ความหมายของสารเดิม" ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อความอันเป็น "เปลือก" แห่ง "จินตนาการ" ได้ทั้งนั้น ... การเที่ยวได้ไป "ตีขลุมเอาเอง" ว่า ผู้เขียนคนนั้นต้องการจะสื่อความหมายอย่างนี้ จากเนื้อความในงานเขียนชิ้นโน้นชิ้นไหนของเขา จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ "บ้าบอ" ในความรู้สึกของผม ... แต่การอ่าน "ความบ้าบอ" ของคนอื่นๆ นั้นเป็นคนละเรื่องคนละอารมณ์กัน ... 😄

เก้าะ ... คิดซะว่า เป็นการอ่าน "การเล่าหนังสือ" ของคนอื่นที่เขามีเวลาให้กับประเภทของหนังสือที่ตัวเองไม่ว่างอ่านเท่านั้นแหละ เผื่อว่าจะมีแง่คิดแปลกๆ ที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยให้ได้คิดเล่นสนุกๆ ขึ้นมามั่ง จะได้ไม่ "ดักดาน" อยู่กับ "วิธีคิด" ของตัวเองไปทั้งปีทั้งชาติ ... แต่ก็อย่างที่ว่าล่ะนะ ... "ข้อคิดจากหนังสือ" คงจะไม่ชัดเจนเท่ากับ "วิธีคิดของคนเล่า" ซักเท่าไหร่หรอก เพราะคนเรามักจะนำ "กรอบคิดของตัวเอง" ไปครอบลงบน "จินตนาการของคนอื่น" แล้วก็ละเมอเพ้อพกเอาเองว่า คนอื่นๆ ก็ "จินตนาการ" เหมือนกับเรา ... 😏

 

 

Trillions

Thriving in the Emerging Information Ecology | 13/5/2015 | Comments: 1


Book Title: Trillions : Thriving in the Emerging Information Ecology

Author(s): Peter Lucas, Joe Ballay, Mickey McManus
Format: Hardcover, 252 pages
Publisher: Wiley ; First Edition ; February 25, 2012
Language: English
ISBN-10: 1118176073
ISBN-13: 9781118176078
Product Dimensions: 7.5 x 0.9 x 10.3 inches

อ่านหนังสือเล่มนี้จบไปได้พักเล็กๆ แล้วล่ะ และถึงแม้ว่าผมเองค่อนข้างที่จะคล้อยตามในหลายๆ ประเด็นที่เขานำเสนอเอาไว้ในเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นของ "มาตรฐานหีบห่อของข้อมูล" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การแบ่งปัน การส่งผ่าน หรือการเข้าถึงข้อมูลโดยอุปกรณ์สื่อสารที่พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายรูปแบบในช่วงระยะหลังๆ มานี้ มีความเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะมีความคล่องตัวต่อการใช้งานบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ และค่ายต่างๆ ของซอฟต์แวร์ที่ทวีความหลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ... น่าตื่นเต้นดีครับ และหวังว่าบรรดาเจ้าแห่งเทคโนโลยีทั้งหลาย ควรจะรีบๆ บรรลุข้อตกลงร่วมกันให้ได้เร็วๆ เพราะมันจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการปฏิวัติยุคสมัยเข้าสู่ "ยุคข้อมูลข่าวสาร" อย่างเต็มตัวจริงๆ ซะที ... แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังรู้สึกขัดๆ อยู่บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ "โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์" (Open Source Software) ...

จะว่าไปแล้ว ความที่มันขัดๆ ก็เพราะผมมีความรู้สึกทั้ง "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับแนวคิดที่พวกเขานำเสนอเอาไว้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นของ The Cathedrals and The Bazaars อันเป็นชื่อหนังสือที่เปรียบเปรยการพัฒนาซอฟต์แวร์ 2 ลักษณะคือ ลักษณะที่พัฒนาโดย "การปกปิดรหัสคำสั่ง" (Close Source) กับลักษณะที่พัฒนาโดย "การเปิดเผยรหัสคำสั่ง" (Open Source) ... ซึ่งผู้เขียนทั้งสามมีความเห็นว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบการก่อสร้าง "มหาวิหาร" (Cathedral) หรือแบบ "ปกปิดรหัสคำสั่ง" นั้น มีพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กระจัดกระจายอย่างไร้ทิศทางแบบ "ตลาดสด" (Bazaar) เพราะการ "เปิดเผยรหัสคำสั่ง" ให้ใครต่อใครสามารถแก้ไขดัดแปลงซอฟต์แวร์ต้นแบบยังไงก็ได้นั้น จะไม่สามารถรวมศูนย์ของพลังการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย เว้นแต่จะเป็น "การอนุรักษ์" สิ่งเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อน ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะแก่การจำหน่ายจ่ายแจกแบบ "ตลาดสด" ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ??!! ... คือ ... มันก็ทั้ง "ใช่" และ "ไม่ใช่" ในความรู้สึกของผมนะ ... อยู่ที่ว่า ... เราจะนิยามคำว่า "นวัตกรรม" ให้หมายถึงอะไรมากกว่า ?!!

จริงอยู่ที่ซอฟต์แวร์ซึ่งเกิดใหม่ในระยะหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะในโลกของฝั่งโอเพนซอร์สนั้น ค่อนข้างที่จะย่ำอยู่กับที่ เพราะมัวแต่ไปทำสิ่งเดิมๆ ที่คนอื่นเคยทำกันอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อทดแทนซอฟต์แวร์ราคาแพงที่เขาไม่เปิดเผยซอร์สโค้ด บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อปรับปรุงโครงการโอเพนซอร์สอื่น เพราะบังเอิญว่าเขาไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมคุณสมบัติบางอย่างเพื่อตามใจผู้ใช้ซึ่งมีจำนวนไม่มากพอ หรืออาจจะเพราะนักพัฒนากลุ่มเดิม ไม่มีคาดหวังใดๆ กับโครงการที่ตัวเองริเริ่มเอาไว้ก่อนหน้านั้น ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนทำให้นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์ส อาจจะถูกรับรู้โดยบุคคลทั่วไปว่า เป็นพวก "อนุรักษ์นิยม" แทนที่จะถูกมองว่าเป็นพวก "หัวก้าวหน้า" ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลกของซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีแห่งอนาคต ... ??!!

ผมเพียงแต่มี "ความรู้สึก" ว่า บางครั้ง การที่นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สจำเป็นต้องทำอะไรต่อมิอะไรที่มันคล้ายกันกับของเดิมๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า เจ้าของเทคโนโลยีเดิมหลายราย ไม่ได้ยินดีที่จะอุทิศเทคโนโลยีของตนให้เป็นสมบัติสาธารณะ การจะทำอะไรต่อยอดจากจุดเดิมที่มันเคยเป็นอยู่จึงไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาคอยกดหัวทุกคนเอาไว้ แล้วการที่หลายๆ คนต้องเสียเวลาไปกับสร้างสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาทดแทน ก็เลยกลายเป็น "ความจำเป็น" ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จนดูเหมือนทุกอย่างมันหยุดอยู่กับที่โดยไม่มีการพัฒนาใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ... ซึ่ง ... นั่นอาจจะเป็นเพียงขั้นตอนของ "การปรับฐาน" เพื่อให้ทรัพยากรที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาใดๆ ต่อไปในอนาคต มีความพร้อมมากกว่าที่เคยผ่านๆ มาซะก่อน ... รึเปล่า ??!! ... สำหรับการรับรู้ของผู้ใช้งานโดยทั่วๆ ไปนั้น มันอาจจะเป็นเพียงการย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะทุกอย่างยังคง "คล้ายคลึงกับของเดิม" แต่สำหรับนักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สแล้ว ทั้งหมดนั้นคือ "สิ่งใหม่" ที่พวกเขาค่อยๆ สั่งสมเข้าไปใน "เหมืองทรัพยากร" ของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ใครต่อใครสามารถหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรีในอนาคต !!??

เรื่องราวทั้งหลายในโลกของเราใบนี้ ไม่มีสิ่งใดที่สามารถก่อเกิดขึ้นมาอย่าง "ปาฏิหาริย์" แต่ทุกอย่างล้วนต้องผ่าน "กาลเวลา" ใน "การหล่อหลอม" อย่างเป็น "กระบวนการ" ของมันเสมอ ... ทุกๆ "ความสำเร็จ" ที่มหาชนพากันแห่แหนชื่นชมด้วยความตื่นเต้นยินดีนั้น ล้วนมี "วันเวลาอันเจ็บปวด" ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสนใจ ... ทั้งนั้น !!

 

 

群書治要 360

The Compilation of Books and Writings on the Important Governing Principles | 30/3/2015 | Comments: 2
Title: 群書治要 360 (The Compilation of Books and Writings on the Important Governing Principles)
Authors: Wei Zheng, Yu Shinan
Format: Hard Cover, Volume 1: 456 pages & Volume 2: 514 pages
Publisher: The WorldBook Co., Ltd. ; December 2012 & October 2014
Language: Chinese - English
ISBN-13: Volume 1: 9789570604962 ; Volume 2: 9789570605105
Product Dimensions: 156 x 216 x 35 mm.

 

ว่าจะเขียนถึงหนังสือชุดนี้ตั้งแต่เพิ่งกลับจากประเทศไต้หวันเมื่อต้นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2015 นู่นแล้วแหละ แต่ก็หาจังหวะเหมาะๆ ไม่ได้ซักที เพราะดูเหมือนเรื่องราวที่อยากจะเล่ามันเยอะแยะจนเรียบเรียงไม่ค่อยจะทันกับเวลาว่างที่เหลือเป็นหย่อมๆ ตั้งแต่เมื่อร่วมปีมาแล้ว ...

จริงๆ แล้วผมเองก็แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่อยากจะเดินเที่ยวเล่นตามร้านหนังสือในประเทศไต้หวันเมื่อครั้งที่มีโอกาสได้ไปแวะเวียนเพียงไม่กี่วัน แล้วก็บังเอิญเข้าไปเห็นหนังสือเล่มสวยทั้ง 2 เล่มนี้วางจำหน่ายอยู่ ซึ่งเป็นเพียงชุดเดียวที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษประกอบอยู่ในเล่มด้วย ... ก็เลย "เสร็จมัน" !! ... 😄 ... ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ "เถนคลั่งคัมภีร์" อย่างผม ตัดสินใจซื้อหนังสือชุดนี้ในทันที (โดยไม่ถามราคาก่อนเลยด้วยซ้ำ) ก็คือ เรื่องราวความเป็นมาของหนังสือที่ใช้ชื่อว่า 群書治要 นี่แหละ !! ... 😋

มันเป็นหนังสือที่กษัตริย์ "ถังไท่จงหลี่ซื่อมิ๋น" (唐太宗李世民) มีพระบัญชาให้ราชบัณฑิตคนสำคัญ 2 คนคือ "เว่ยเจิง" (魏征) และ "ยฺวี๋ซื่อนั๋น" (虞世南) ทำการคัดสรรเอาเฉพาะ "แก่นความคิด" ของตำรับตำราโบราณ นับตั้งแต่ยุค "ปัญจบุรพกษัตริย์" (五帝) จนถึงราชวงศ์จิ้น (晋代) ซึ่งประกอบด้วย 6 คัมภีร์ (六經) 4 บันทึกประวัติศาสตร์ (四史) และ 100 ปรัชญาสำนักปราชญ์ (諸子百家) กับเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 14,000 เล่มหนังสือ กับม้วนตำราอีก 89,000 ม้วน ซึ่งมีถ้อยคำรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5000,000 คำ ครอบคลุมเนื้อหา 65 หมวดความรู้อันเกี่ยวข้องกับ การฝึกฝนพัฒนาตน, การบริหารจัดการครอบครัว, การปกครองอาณาจักร, และการสร้างสันติสุขแก่โลก ... เพื่อประมวลเนื้อหาทั้งหมดให้กลายเป็น "บทคัดย่อ" ที่กษัตริย์ และบรรดานักปกครองทั้งหลายจำเป็นต้องศึกษาอย่างทะลุปรุโปร่ง ... เกิดเป็นตำรา 群書治要 จำนวน 10 ม้วนไม่ไผ่ หรือประมาณ 10 เล่มหนังสือที่กษัตริย์ "ถังไท่จงหลี่ซื่อมิ๋น" (唐太宗李世民) แทบจะวางอยู่ข้างกายของพระองค์ตลอดเวลา เพราะแม้ว่าพระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทหาร แต่กลับทรงไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านการปกครองที่กษัตริย์ทุกพระองค์จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ก่อนที่จะมีโอกาสได้ขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การคัดลอกตำรา 群書治要 ได้หายสาบสูญไปจากแผ่นดินจีนในยุคสมัยของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) อีกทั้งไม่หลงเหลือร่องรอยของต้นฉบับใดๆ ให้นำกลับมาคัดลอกใหม่ได้อีก แต่บังเอิญว่า มีพระนักบวชชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งในยุค "คามากูระ" (Kamakura: 1192-1330) ได้เคยคัดลอกตำรา 群書治要 ทั้งฉบับเอาไว้ และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีใน "พิพิธภัณฑ์สถานคานาซาวะ บุนโกะ" (Japanese Kanazawa Bunko Museum) ซึ่งต่อมาประเทศญี่ปุ่นได้ส่งมอบตำรา 群書治要 คืนให้แก่ประเทศจีน เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของ "จักรพรรดิเฉียนหลง" (乾隆帝) แห่งราชวงศ์แมนจู (滿族) ... และเป็นต้นฉบับเดียวกับที่รัฐบาลเจียงไคเชค (蒋介石) ได้ขนถ่ายออกจากประเทศจีนพร้อมๆ กับทรัพย์สมบัติอื่นๆ ในพระราชวัง มาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ประเทศไต้หวันจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ...

ส่วนหนังสือ 群書治要 360 ที่ผมดอดไปซื้อมาคราวนี้ ถูกจัดพิมพ์ไว้เป็นชุด 2 เล่ม เล่มละ 360 ข้อความหรือ excerpts ที่คัดมาจากต้นฉบับ 群書治要 อีกทอดหนึ่ง พร้อมอรรถกถาเพื่อขยายความให้แก่เนื้อความที่เขาคัดมารวบรวมไว้ โดยแยกเป็นหมวดๆ ไว้กว่า 50 หมวด เพื่อให้มนุษย์ในยุคลุกลี้ลุกลนสามารถอ่านจับใจความได้ง่ายๆ คล้ายๆ กับการตามอ่าน status ของเพื่อนๆ ตามแหล่ง social network นั่นแหละ ... ประมาณว่า ให้ค่อยๆ อ่าน และค่อยๆ คิดพิจารณากันวันละข้อความสองข้อความไปเรื่อยๆ ทั้งปี ... อะไรแบบนั้น ... 😏

อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจของ 群書治要 ก็คือ ในจำนวน 6 คัมภีร์ (六經) ที่ถือว่า กษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศควรจะต้องอ่านนั้น เล่มแรกก็คือ "อี้จิง" (易經) ที่บรรดา "หนอนตำรา" ในชั้นหลังๆ มักจะ "ตีความกันเอาเอง" ว่า เป็น "ตำราหมอดู" ซึ่งผมไม่เคยเชื่ออย่างนั้นเลย เพราะผมค่อนข้างมั่นใจอย่างที่สุดว่า "อี้จิง" (易經) จะต้องเป็น "คัมภีร์ว่าด้วยการปกครอง" มาโดยตลอด และพยายามค่อยๆ แคะความหมายที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ของ "อี้จิง" (易經) ออกมาใหม่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดของแนวคิดบ้าๆ บอๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้เล่าไว้ค่อนข้างละเอียดไปแล้ว "ZhuqiChing : ฉึกฺกิจิง" ... เก้าะ ... ตั้งใจว่าจะแคะให้หมดทั้ง 64 บทของ "อี้จิง" (易經) นั่นแหละถึงจะยอมเลิกรา ... 😇 ... การปรากฏชื่อของคัมภีร์ "อี้จิง" (易經) หรือ "โจวอี้" (周易) อยู่ในทำเนียบตำราที่ผู้ปกครองประเทศจะต้องศึกษา โดยได้รับการบรรจุเข้าเป็นบทแรกของ 群書治要 อีกด้วยนั้น ถือเป็นกรณีหนึ่งที่ตอกย้ำความเชื่อดั้งเดิมของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ "อี้จิง" (易經) ที่ว่า มันจะต้องไม่ใช่ "ตำราหมอดู" อย่างแน่นอน !!

 

 

วิชาสุดท้าย : ฉบับ (เกือบ) สมบูรณ์

19/6/2014

ชื่อหนังสือ: วิชาสุดท้าย (ฉบับสมบูรณ์)
ผู้แปล-เรียบเรียง: สฤณี อาชวานันทกุล
การเข้าเล่ม: ปกแข็ง, 384 หน้า
สำนักพิมพ์: OpenBooks ; สิงหาคม 2013
ภาษา: อังกฤษ
ISBN-13: 9786169174417
ขนาดเล่มหนังสือ: 122 x 184 x 30 มม.

แม้ว่าชื่อหนังสือ "วิชาสุดท้าย" อาจจะดูน่าสนใจอยู่บ้าง แต่คำที่น่าจะตรงความหมายสำหรับบทความต่างๆ ซึ่งถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเรียกว่า "ปัจฉิมนิเทศ" มากกว่า เพราะมันคือสำเนาของสุนทรพจน์ที่บุคคลต่างๆ ได้มอบไว้ให้แก่นักศึกษา เนื่องในวันพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกานิยมจัดให้มีขึ้น ... ส่วนที่ผมอยากจะล้อเลียนชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "ฉบับ (เกือบ) สมบูรณ์" นั้น มันก็เนื่องมาจาก "ฉบับสมบูรณ์" ในความหมายของผม ควรจะต้องรวมเอา "ต้นฉบับ" ของ "ปัจฉิมนิเทศ" ทั้งหมดนั้น มาจัดพิมพ์ไว้ด้วยกัน เพราะการถ่ายทอดลีลาทางภาษาของชนชาติหนึ่ง มาเป็นสำนวนของอีกภาษาหนึ่งนั้น มันค่อนข้างยากที่จะรักษา "อารมณ์ของถ้อยคำ" ตาม "ต้นฉบับ" เอาไว้ได้ ... ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ผมเองก็คิดว่า การเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้อ่าน "ต้นฉบับ" ที่เป็นภาษาอื่น (ซึ่งในที่นี้ก็คือภาษาอังกฤษ) นั้น น่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรต่อการเรียนรู้จาก "ตัวอย่างของการใช้ภาษา" เนื่องจาก "คำสบถ" หรือ "คำสแลง" แบบอเมริกัน แทบจะไม่ถูกนำมาใช้เลย ในกาลเทศะที่ค่อนข้างจะเป็นพิธีการแบบนี้ ...

ก็อยากจะบอกล่ะครับว่า นี่เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีมากๆ อีกเล่มหนึ่ง ที่หลายๆ คนควรจะหาโอกาสอ่าน แล้วก็ขบคิดทบทวนกับมันซะบ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุด บุคคลต่างๆ ที่ไปทำหน้าที่แสดง "ปัจฉิมนิเทศ" นั้น ก็ได้กลั่นกรองด้วยตัวของพวกเขาเองมาแล้วในระดับหนึ่งว่า มันคือ "ข้อคิด" ที่ "เหมาะสมที่สุดแล้ว" สำหรับการเป็น "ข้อแนะนำ" ให้แก่กลุ่มบุคคลที่กำลังจะถูกเรียกขานกันว่า "ปัญญาชน" ในโอกาสต่อๆ ไป

เก้าะ ... แหม่ ... ราคาหนังสือก็ไม่ใช่ถูกๆ นะ เกือบจะเท่ากับราคาหนังสือต่างประเทศอยู่แล้วเนี่ย !! ... ท..า..ม..ม้..า..ย.. ถึงไม่ช่วยเอาต้นฉบับภาษาอังกฤษมารวมไว้ด้วยกัน ?! ... จะต้องให้คนอ่านเขาไปหา download กันเองจาก internet อีก ท..า..ม..ม..า..ย..ก๊..า..น.. ??!! ... 😒

 

 

The News

A User's Manual | 4/6/2014

Book Title: The News : A User's Manual
Author(s): Alain De Botton
Format: Hardcover, 272 pages
Publisher: Pantheon ; First Edition ; February 11, 2014
Language: English
ISBN-10: 0307379124
ISBN-13: 9780307379122
Product Dimensions: 7.3 x 5.4 x 0.9 inches


กำลังค่อยๆ อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ นี้อย่างค่อนข้างจะระมัดระวัง เพราะเพียงแค่ไม่กี่หน้าของบทนำที่ Alain de Botton เปิดประเด็นเอาไว้ ก็ทำให้ผมต้องทบทวนหลายๆ แง่มุมเกี่ยวกับ "พฤติกรรมเสพข่าว" ของตัวเองพอสมควรเลยทีเดียว ... จริงๆ แล้ว ... คนเราอ่านข่าว และคอยติดตามข่าวกันทำไม ?! ...

สังคมมนุษย์ในโลกแห่ง "ยุคข่าวสารข้อมูล" นั้น แทบจะ "เสพข่าว" กันราวกับเป็น "การหายใจ" ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกันอย่างนั้น เราก็คงพอจะนึกออกว่า มันคงจะมี "มลภาวะทางข่าว" ปนเปื้อนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ... แล้ว "สิ่งปนเปื้อน" เหล่านั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อ "ทัศนคติ" และ "โลกทัศน์" ของ "ผู้เสพข่าว" ?! ... มันส่งผลอย่างไรบ้างต่อ "กระบวนการทางการศึกษา" ของเด็กๆ และเยาวชน ซึ่งต้องเริ่มต้นชีวิตการเรียนรู้ของพวกเขา กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย "ข่าวสาร" ซึ่งไม่มีใครสามารถกลั่นกรองได้ไหวเหล่านั้น ?! ... มันทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อ "ข่าวสาร" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น "สิ่งหายาก" และ "ราคาแพง" ได้ถูกทำให้กลายเป็น "ความดาษดื่น" ที่ทุกคนสามารถจะหามาเสพจากช่องทางไหนๆ ก็ได้อย่างแทบจะไม่จำกัด เว้นแต่ "แหล่งกำเนิดข่าว" เท่านั้น ที่อยู่ภายในการกำกับควบคุมของ "สำนักข่าวยักษ์ใหญ่" เพียงไม่กี่รายในโลก ?!!? ... คนเราอ่านข่าว และคอยติดตามข่าวกันทำไม ?! ...

ผมรู้สึกว่า มันมีจุดเล็กจุดน้อยให้ต้องคอยคิดเต็มไปหมดในหนังสือเล่มย่อมๆ เล่มนี้ และอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะค่อยๆ ละเลียดมันไปจนจบจริงๆ ... 😏

 

 

Inferno : สู่นรกภูมิ

3/4/2014 | Comments: 6

ชื่อหนังสือ: สู่นรกภูมิ
แปลจาก: Inferno ของ Dan Brown
ผู้แปล: อรดี สุวรรณโกมล
รูปเล่ม: ปกอ่อน, 551 หน้า
สำนักพิมพ์: แพรว, มีนาคม 2014
ภาษา: ไทย
ISBN-13: 9786163876249
ขนาดหนังสือ: 152 x 228 x 33 มม.

นานๆ ครั้งถึงจะหยิบหนังสือนิยายขึ้นมาอ่านซักเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่มล่าสุดก็คือ Inferno ของ Dan Brown ฉบับที่แปลไทยโดย อรดี สุวรรณโกมล เพราะขี้เกียจอ่านต้นฉบับที่อาจจะ 'บันเทิงสะอึก' เนื่องจากสะดุดความหมายของคำอีกหลายๆ คำที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยเท่านั้นเอง ... โดยผมมีความรู้สึกว่า Dan Brown มีส่วนผสมของ 'ความเป็นกิมย้ง' กับ 'ความเป็นโกวเล้ง' ในงานเขียนของเขาพอสมควร ... :)

ส่วนที่ผมเรียกว่า 'ความเป็นกิมย้ง' ก็คือ ความสามารถในการเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ดูสมจริง มีการอ้างอิงผลงานวรรณกรรมในอดีต พร้อมทั้งประวัติของบุคคล ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ที่นำมาประกอบฉากได้อย่างน่าติดตาม ซึ่งถือเป็นส่วนที่สวยงามที่สุดของ 'กิมย้ง' ในการสืบสานวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของชนชาติตน ผ่านงานเขียนในรูปของนิยาย ในขณะที่ Dan Brown มักจะนำรายละเอียดของผลงานด้านวรรณกรรมที่โด่งดังในอดีต ตลอดจนงานศิลปะที่โดดเด่นหลายต่อหลายชิ้น มาผูกโยงเข้ากับสถานที่สำคัญๆ ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเรื่องให้เหมือนมี 'การเข้ารหัส' เอาไว้ คล้ายกับที่ 'กิมย้ง' ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการ 'ซุกซ่อนเคล็ดวิชา' ให้ตัวละครแต่ละตัวต้องแย่งชิง และพยายามเสาะหามา 'ศึกษา' และ 'ตีความ' ไปตลอดเรื่อง

สำหรับ 'ความเป็นโกวเล้ง' นั้น ก็มักจะออกแนว 'สืบสวนสอบสวน' มี 'ความลึกลับซับซ้อน' ในระดับหนึ่งเพื่อให้เรื่องราวมีจุดล่อความสนใจ มี 'การชิงไหวชิงพริบกัน' เล็กๆ น้อยๆ ระหว่างตัวละคร มี 'การหลอกล่อ' ต่างๆ ของ 'องค์กรลับ' ที่มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย ซึ่งทำให้ตัวเอกของเรื่องต้องถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง ... ซึ่ง ... ส่วนนี้ทั้งหมดของ 'โกวเล้ง' ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมของชาติตะวันตกด้วยในระดับหนึ่ง ... ซึ่งโดยความรู้สึกส่วนตัวของผมแล้ว ความสามารถในสร้างปมลักษณะนี้ของนักเขียนหลายๆ คนนั้น แทบจะไม่มีใครเหนือกว่าใครซักเท่าไหร่ ผมจึงมีความชื่นชอบ 'ความเป็นกิมย้ง' มากกว่า เพราะมันทำให้นิยายนั้นๆ มีคุณค่ามากกว่าแค่ 'ความเป็นนิยาย' ธรรมดาๆ

หลายๆ ตอนในหนังสือนิยายของ Dan Brown นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็น 'สารคดี' ได้เลยด้วยซ้ำ การบอกเล่ารายละเอียดของภาพเขียน หรือรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมนั้น แทบจะทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นภาพของฉากหนึ่งๆ ได้อย่างน่าสนใจมาก ประกอบกับความชาญฉลาดของ Dan Brown ที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดมีความกระชับสั้น และจบลงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของเนื้อเรื่องเท่านั้น ก็ทำให้หนังสือของเขาพร้อมที่จะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยแทบจะไม่ต้องตัดรายละเอียดของเนื้อหาใดๆ ออกไป เหมือนอย่างที่นิยายเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีท้องเรื่องลากยาวกันเป็นชั่วอายุคน ต้องถูกย่นย่อให้ใช้เวลาที่พอเหมาะแก่การเป็นภาพยนตร์สำหรับการออกฉายทั่วไป ... อันนี้ผมเดาว่ากะจะกินหลายเด้งจากการใช้จินตนาการเพียงครั้งเดียวของ Dan Brown เลยล่ะ !! ... 😏

ผมมีความรู้สึกว่า งานศิลปะหลายๆ แขนงของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน หรืองานวรรณกรรมในยุคต่างๆ ตลอดจนสถานที่หลายๆ แห่งของไทยนั้น น่าจะพอมี 'เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย' สำหรับเป็น 'วัตถุดิบ' ให้สามารถนำมาเล่นแบบนี้ได้บ้างเหมือนกัน แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีนักเขียนไทยคนไหนเลยที่เลือกใช้สไตล์แบบนี้ เพื่อช่วยกันเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมของชาติให้ดู 'มีชีวิตชีวา' และ 'ความน่าสนใจ' ที่มากกว่าเดิม และอาจจะช่วยดึงความสนใจของคนอีกหลายๆ รุ่น ให้หันมาสนใจ 'ความเป็นชนชาติ' ที่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่าแค่การยืนตรงเคารพธงชาติวันละ 2 ครั้ง หรือการเอะอะโวยวายเวลาที่ใครหน้าไหนดันทะลึ่งมาดัดแปลงองค์ประกอบบางอย่างทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ให้มีความแตกต่างไปจากที่ปรากฏอยู่ในตำรา และพิพิธภัณฑ์ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยจะมีใครให้ความสำคัญซักเท่าไหร่ หากจะเปรียบเทียบโดยอ้างอิงกับจำนวนเงินงบประมาณ ที่ทุกรัฐบาลเจียดมาให้การสนับสนุนในแต่ละปี ... ว่างั้นมั้ย ?!!

ไม่รู้สินะ ... ผมคิดว่า การศึกษาด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่งๆ นั้น มันไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายอย่างที่นักวิชาการหลายคนพยายามแสดงอาการฮึดๆ ฮัดๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ ก็ได้มั้ง ?! ... 😈