ความรู้ กับ ความคิด

6/11/2013 | Comments: 1

ผมเขียนวนๆ เวียนๆ อยู่กับความไม่เหมือนกันของ "ความรู้" กับ "ความคิด" มาหลายครั้ง ด้วยเหตุว่ามี "นักวิชาการ" ซึ่งบางคนก็เป็นถึงครูบาอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาของไทย ออกมาแสดง "ทัศนคติ" แบบ "คนสิ้นคิด" อยู่ค่อนข้างบ่อยในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับมีผู้ที่พยายามยืนยันว่าตัวเองเป็น "นักคิด" ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเยาว์อีกหลายคน ที่บ้างก็ออกมา "ต่อต้าน" บ้างก็ออกมา "สนับสนุน" แนวทาง "การนำเสนอ" ของฝ่ายต่างๆ ตามสื่อสังคมออนไลน์และออฟไลน์จน "เลอะเทอะไปหมด" ... ซึ่งผมก็ต้องยอมรับครับว่า ส่วนใหญ่ของ "ความเลอะเทอะ" นั้น เป็นผลิตผลของเหล่า "นักรู้" หรือ "นักเลียน" ตัวยงที่มี "ความรู้" อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งมากๆ ในแต่ละแง่มุมที่พวกเขานำเสนอ ... แต่ที่สามารถนับว่าเป็น "ความคิด" จริงๆ กลับน้อยมากจนแทบไม่น่าเชื่อ !!!??? ... หรือ "คนที่มีความรู้" จะแตกต่างกับ "คนที่มีความคิด" ได้มากมายขนาดนั้น !!??!! ...

ผมบังเอิญได้ฟังการตอบคำถามโดยหลวงพ่อจรัญฯ แห่งวัดอัมพวันฯ เพียงท่อนสั้นๆ เมื่อหลายวันก่อน จากคลิปที่มีคนโหลดไว้ใน Youtube ซึ่งก็สะดุดใจกับคำพูดท่อนหนึ่งที่ท่านพูดไว้ประมาณว่า "... พวกนักวิชาการน่ะมีความรู้จริงรู้เยอะ แต่พวกนี้มักคิดไม่เป็น ..." ซึ่งทำให้ผมย้อนนึกไปถึงข้อเปรียบเทียบที่ Dr. Edward de Bono เคยยกขึ้นมาในการนำเสนอ "วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์" ของเขาว่า ... "สมองของมนุษย์ทุกคนอาจจะเปรียบได้กับรถยนต์ซึ่งมีสมรรถนะที่แตกต่างกัน แต่การคิดคือทักษะในการใช้สมอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสมรรถนะของสมองที่แต่ละคนมีอยู่" ... แล้วผมก็ไพล่นึกไปถึงบทความหลายๆ บทความของ J.Krishnamurti ที่มักจะเน้นว่า "... สิ่งที่หลายๆ คนเรียกว่าความคิดนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นแค่เพียงเศษซากของความทรงจำ ที่แต่ละคนสะสมเอาไว้ในรูปของความรู้ ซึ่งไม่อาจนับเป็นความสร้างสรรค์ใดๆ ได้เลย ด้วยเหตุที่มันปราศจากความมีชีวิตที่สดใหม่ของปัจจุบันขณะ ... พวกเราแต่ละคนล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกและทุกสรรพสิ่ง จากพื้นฐานของความทรงจำที่เป็นอดีต แต่กลับมืดบอดต่อความจริงที่กำลังเผยตัวอยู่ในแต่ละขณะของปัจจุบัน ... จิตใจที่มืดบอดต่อความจริง ย่อมปราศจากความรัก และปราศจากความสร้างสรรค์ใดๆ ..."

แต่แม้ว่า "ความรู้" กับ "ความคิด" จะไม่ใช่สิ่งเดียวกันตาม "ตรรกะ" ที่บังเอิญ "ถูกโฉลกกับจริตสันดาน" ของผม แต่ผมก็ยัง "เชื่อ" เสมอว่า มันควรจะเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ร่วมกัน และต้องคอยประคับประคองซึ่งกันและกันอย่างสมดุล ... ต้องไม่ใช่เอียงไปด้าน "ความคิด" โดยไม่แยแสกับ "ความรู้" ที่ควรจะต้องศึกษาค้นคว้ามาประกอบการพิจารณา ... และต้องไม่ใช่ "ดักดานอยู่กับความรู้" จนปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่แตกต่างไปจาก "ความทรงจำ" ของตัวเอง เหมือนอย่างในนิทานพื้นบ้านเรื่อง "ตาบอดคลำช้าง" ที่หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังจนลืมนึกถึงมันไปนานแล้วว่า มันได้แฝงข้อคิดที่สะท้อนถึง "ความขัดแย้ง" ของบรรดา "ผู้มืดบอดทางปัญญา" มาตั้งแต่ครั้งโบร่ำโบราณนู่นแล้ว

บ่อยครั้งที่เมื่อมนุษย์บางคนได้รับ "การรับรองวิทยฐานะทางการศึกษา" ในระดับสูงๆ หรือได้รับความยอมรับในระดับหนึ่งจากสังคมรอบๆ ตัวแล้ว ก็มักจะ "หลงจนลืม" ไปว่า นั่นเป็นเพียง "การรับรองสมรรถนะของสมอง" ซึ่งเป็นเพียง "วัตถุนิยมทางปัญญา" เท่านั้น แต่ไม่มีการยืนยันรับรองใดๆ ว่า เราจะมี "สติ" และ "ทักษะ" ที่เพียงพอแก่การใช้งานเจ้า "สิ่งสมรรถนะสูง" ที่ว่านั้นให้เกิดประโยชน์จริงๆ รึเปล่า ... เพราะต่อให้เป็นมหาบัณฑิตที่แตกฉานในทุกสรรพวิชา ถ้าลองมันเมาเป็นหมาขึ้นมาจริงๆ ล่ะก้อ มันก็เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่ผ่านทั้งนั้นแหละครับ ใครที่ไหนจะกล้าไปยืนยันว่ามันขับรถต่อไปได้ล่ะ ... จริงมั้ย ??!! ... การมีรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์แรงๆ ไม่ได้แปลว่าไอ้หมอนั่นมันจะขับรถเป็นหรอกนะ ... ถูกมั้ย ?!

... "ความรู้" ไม่อาจใช้เยียวยาคนที่ไร้ "ความคิด" ... แต่กลับจะทำให้กลายเป็นคน "ดัดจริต" เพราะหลงเชื่อว่าตัวเองนั้น "คิดเป็น" ...

 

 


Categories: ZhuqiDox

Comments

pypefluof   16/11/2022

Our study has demonstrated that ZB497 can not only effectively deliver the desired form of the drug, 4 OHT in an animal model, but also at a much higher plasma concentration buy cialis online forum

Leave Comment