Who Owns The Future
|
ต้องยอมรับล่ะครับว่า ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ Jaron Lanier ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลย ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะผมไม่ใช่ geek นั่นแหละ ถึงไม่เคยให้ความสนใจกับ Computer Geek ระดับนักปรัชญาที่ใครๆ ให้การยกย่องรายนี้ ... แม้ว่าในที่สุดผมจะตัดสินใจซื้อหนังสือ Who Owns The Future ของแกมา "พยายามอ่าน" แต่นั่นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาพถ่ายของแกบนปกด้านในของหนังสือเล่มนี้ ดูยังไงก็ไม่คล้ายทั้ง 2 ประเภทที่ผมเอ่ยถึงเลยซักนิดเดียว แต่เหมือน "นักดนตรี" แนวไหนซักแนวมากกว่า ... :D ... (ซึ่งจริงๆ แล้ว แกก็เป็นคนที่หลงใหลอย่างน่าทึ่งในเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดนตรีอยู่เหมือนกัน)
Jaron Lanier น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของ "โลกดิจิตอล" อันเป็นแกนหลักแกนหนึ่งของ "เศรษฐกิจยุคข่าวสารข้อมูล" อย่างลึกซึ้งพอสมควร หรืออย่างน้อยที่สุด แกก็คงจะมีความเข้าใจในวิถีทาง และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ที่กำลังกลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมส่วนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ... ซึ่งภาพของ "อนาคตแห่งโลกออนไน์" ที่แกบรรยายไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีทั้ง "ความน่าทึ่ง" และ "ความน่าตกตะลึง" ปะปนกันไปแทบจะตลอดทุกหน้า เพราะดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างได้ก้าวล่วงเกินกว่า "จุดพอดี" ของ "การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์" ไปมากแล้ว โดยแกพยายามสื่อสารกับผู้อ่านว่า หาก "สังคมยุคข่าวสารข้อมูล" ยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางเดิมๆ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กลไกทางเศรษฐกิจของมนุษย์ก็คงจะถึงกาลอวสานก่อนที่จะสิ้นสุดศตวรรษนี้อย่างแน่นอน ... !!!???
มันอาจจะเป็นภาพที่น่ากลัวของคนที่มองโลกในแง่ร้าย แต่ก็เป็นภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากพวกเราทุกๆ คนยังคง "หลงระเริง" อยู่กับ "การไขว่คว้าความสะดวกสบาย" อย่างไม่สิ้นสุด เพราะถึงจุดหนึ่งแล้ว มนุษย์อาจจะแค่ "ดูเหมือน" สามารถควบคุมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับถูก "ครอบงำทางจิตสำนึก" โดยที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ใครกันแน่ที่กำลัง "ควบคุม" ใครในอนาคต ??!! ... สังคมมนุษย์อาจจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทุกคนสามารถมี "ความสะดวกสบายอย่างไร้สำนึก" โดยไม่อาจจำแนก "ความเป็นมนุษย์" ออกจาก "ความเป็นวัตถุสิ่งของแห่งยุคสมัย" ใดๆ ได้อีกเลย !!?? ... เก้าะ ... ไม่รู้จะเรียกว่า "น่าอภิรมย์" ได้มั้ยในสภาพแวดล้อมทางสังคมแบบนั้น ??!!
ก่อนหน้านี้หลายปี Alvin Tofler เคยนำเสนอภาพแห่งอนาคตของสังคมมนุษย์ไว้ในหนังสือเรื่อง The Third Wave ของเขา (ประมาณ) ว่า ... "ผู้คนในสังคมจะโหยหาสิ่งเก่าๆ ในอดีต เพื่อชดเชยให้กับความไม่เป็นแก่นสารของวิถีชีวิตในสังคมยุคข่าวสารข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้รากมากยิ่งขึ้น ... มันจึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็น "การคืนชีพ" ของบทเพลงเก่าๆ, ดนตรีเก่าๆ, หนังสือเก่าๆ, หรือจินตนาการเก่าๆ ทั้งหลายแหล่ผุดกลับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา" ... นั่นเป็นเพราะมนุษย์จำเป็นต้องมี "สิ่งยึดเหนี่ยว" บางอย่าง เพื่อโอบอุ้ม "จิตสำนึก" ในแง่ของ "คุณค่า" และ "ความหมาย" ของ "การดำรงอยู่" ของตน ... ใช่รึเปล่า ?! ... ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ "ศักยภาพของความเป็นมนุษย์" ถูกลดทอนลงไปเป็นเพียง "เครื่องจักร" หรือ "สิ่งอำนวยความสะดวก" ทั้งหลาย จึงไม่อาจเติมเต็ม "ความปรารถนาที่แท้จริง" ภายในจิตวิญญาณของมนุษย์ได้เลย ... ใช่มั้ย ?! ... หรือ "ความสะดวกสบาย" ทั้งหลายทั้งปวงที่บรรดานักคิดนักประดิษฐ์ต่างๆ ช่วยกัน "เทกระจาด" ใส่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น กำลังกลายเป็น "สิ่งเร้า" ที่กระตุ้นให้มนุษย์ทุกๆ คนต้องย้อนถามตัวเองด้วยคำถามอันเก่าแก่ที่ว่า ... "เราเกิดมาทำไม ?" ... "เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ?" ... รึเปล่า ?! ...
... หาก "การดำรงอยู่ของมนุษย์" กลายเป็น "สิ่งที่ไร้ความหมาย" ในสังคมที่ทุกสิ่งล้วนสำแดง "ความเป็นอนิจจัง" อย่างรวดเร็วในยุคข่าวสารข้อมูล ... "การโหยหาคุณค่าความหมาย" แห่ง "การดำรงอยู่ของตน" จะหมายถึง "การโหยหาแก่นสารอันมั่นคง" ให้กับ "อัตตา" ด้วยมั้ยล่ะ ?! ... ฤๅมนุษย์ต้องดำรงชีวิตอยู่กับ "ถ้อยคิดอันขัดแย้ง" ของ "การดำรงอยู่อย่างมีแก่นสาร" ที่ "ปราศจากรอยประทับแห่งอัตตา" จึงจะถือว่า "มีสติ" อันครบสมบูรณ์ ... ?!?! ...
ว่าแล้วก็อ่าน Who Owns The Future ของ Jaron Lanier บนความวุ่นวายแห่ง "สงครามทางความคิด" ในสมองของตัวเองต่อไป ... :D
Leave Comment