ว่าด้วยเรื่องราวของ Don Quixote
หลังจากได้อ่าน Don Quixote ภาคแรกฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มันก็ต้องตามอ่านภาคต่อของ Don Quixote ฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกให้ได้เหมือนกัน โดยภาคต่อฉบับแปลไทยที่ว่านี้ น่าจะถูกกำหนดให้ทิ้งช่วงจากการจัดพิมพ์ภาคแรกไปแล้วประมาณ 10 ปี เพื่อให้เหมือนกับระยะเวลาที่ห่างกันของต้นฉบับทั้งสองภาคเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้วนั่นเอง ... เก้าะ ... เป็นอันว่าได้อ่านและได้เก็บสะสมไว้จนครบถ้วนซะที ...
ผมก็ไม่แน่ใจหรอกครับว่า ผู้ประพันธ์คือ Miguel de Cervantes ต้องการจะสื่อความหมายอะไรไว้ในเนื้อหาทั้งหมดของเขา แต่ในบางอารมณ์ผมก็รู้สึกเหมือนกำลังได้อ่านนิทาน "เครื่องหมายงมกระบี่" ของ "หันเฟยจื่อ" ที่ถูกทำให้ยืดยาวออกไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เพราะการเอ่ยอ้างถึงเรื่องราวของ "อัศวิน" ที่ดูจะเป็น "เรื่องพ้นสมัยไปแล้ว" ในยุคของ Cervantes นั้น ไม่ต่างกับการเปรียบเปรยให้เห็นว่า "การยึดติด" อยู่กับสิ่งที่ "เคย" สูงส่งด้วยความถูกต้องและดีงามในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจจะถูกมองว่าเป็น "ความฟั่นเฟือน" ของผู้ที่ยัง "ฝักใฝ่" กับ "ความสูงส่งดีงาม" อัน "พ้นสมัยไปแล้ว" เหล่านั้นก็ได้ ...
ในขณะเดียวกัน "แม่หญิงดัลซิเนอา แห่งโตโบโซ" (Dulcinea del Toboso) ที่ตัวละคร Don Quixote เทิดทูนไว้อย่างเลอเลิศสูงส่งยิ่งกว่าหญิงใดในโลกนั้น กลับเป็นแม่หญิงที่แม้แต่ตัวละคร Don Quixote เองก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยในชีวิตของเขา ... ซึ่งผมมองว่า มันเหมือนเป็นภาพเปรียบเปรยกับ "อุดมคติ" ทั้งหลายที่สำนักคิดต่างๆ ได้นำเสนอไว้อย่างเลิศลอย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบ "ประชาธิปไตย", "ยูโธเปีย", "คอมมิวนิสต์", หรือ "อุดมธรรม" ของบรรดาศาสนาต่างๆ ที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป เพราะมันคือ "ความสวยสดงดงามเกินคำบรรยาย" ที่ "ความมัวหมอง" ใดๆ อันเกิดแก่ "อุดมคติ" เหล่านั้น ล้วนเป็นผลมาจาก "เงื่อนไข" และ "การกระทำ" ของ "สิ่งอื่น" หรือ "บุคคลอันไม่เป็นที่รัก" โดยมีบรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ที่มีความผูกพันเป็น "ทาสทางใจ" ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นเองที่จะต้องคอย "ปกป้อง" หรือแม้แต่ "กอบกู้" ความยิ่งใหญ่ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นของตน ไม่ว่าจะต้องเหนื่อยยากลำเค็ญ หรือต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใดก็ตาม ... เพียงแต่ว่า ... เมื่อ "อุดมคติ" นั้นๆ มีความแตกต่างจาก "ความเชื่อ" หรือ "ข้อยึดถือ" ของกลุ่มสังคมหนึ่งๆ สมาชิกของกลุ่มสังคมดังกล่าว ย่อมจะมอง "อุดมคติ" ที่ว่า เป็นเพียง "เรื่องงี่เง่า" หรือ "เรื่องชวนหัว" ที่สมควรแก่การถูกนำมา "ล้อเลียน" จนถึงขั้นที่อาจจะ "หยามเหยียด" บรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ผู้พิทักษ์ "อุดมคติ" อันแปลกปลอมเหล่านั้นว่า เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วย "ความโฉดเขลาเบาปัญญา" หรืออาจจะเข้าขั้น "วิกลจริต" ไปเลยก็ได้ ... ซึ่งเป็น "พฤติกรรมทางสังคม" ที่ยังพบเห็นกันได้ทั่วไปแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ...
อย่างไรก็ตาม ผมค่อนข้างที่จะเชื่อว่า ความหมายที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของนิยายแต่ละเรื่องนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แม้แต่ผู้ประพันธ์ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ผู้อ่านจะ "ตีความ" ไปในทิศทางเดียวกับ "ความตั้งใจ" ของเขารึเปล่า ในโลกแห่ง "จินตนาการที่หลากหลาย" บนพื้นฐานของ "ข้อเท็จจริงที่มากมาย" นั้น พวกเราล้วนเป็นทั้ง "อัศวิน" และ "คนวิกลจริต" ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว ... มันขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็น "ผู้ตัดสิน" และเราจะยอมรับใน "คำตัดสิน" นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ... ในเมื่อมนุษย์แต่ละคนล้วนมี "ความฝัน" และ "ความจริง" ที่แตกต่างกัน ... เรายังจะเรียก "การมีชีวิต" อยู่ใน "โลกแห่งความจริง" ที่ปราศจาก "ความฝันของตัวเอง" นั้นว่า เป็น "การดำเนินชีวิต" ที่ "ปรกติ" ได้รึเปล่า ?!?! ...
Comments
Urgelloff 4/4/2022
Tsxsim https://oscialipop.com - Cialis Cialis a The hip. https://oscialipop.com - Cialis Cozaar
Leave Comment