"อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ"
ผมทดลองหยิบๆ จับๆ เพื่อจะ "ใช้งาน" เจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แทบเล็ด" อย่างตั้งใจมากขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความที่ราคามันถูกลงอย่างสมเหตุผลกว่าสมัยที่มันเพิ่งจะ "เล็ด" ออกมาใหม่ๆ พอสมควรแล้ว และผมคิดว่า ราคาของพวกมันก็คงไม่ลดลงไปต่ำกว่า 4,000 บาทต่อเครื่องอีกซักเท่าไหร่แล้วล่ะ สำหรับเครื่องที่มี brand name ที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่าง Lenovo ...
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเสียเงินซื้อ smart phone มา "ทดลองใช้งาน" ด้วยราคาที่น่าเกลียดพอสมควร ซึ่งก็เป็นเพราะ "ความอยากรู้อยากเห็น" ในอุปกรณ์ที่ "เชื่อว่า" จะกลายเป็น "คอมพิวเตอร์พกพา" ในอนาคตนั่นแหละ ... แม้ว่ามันจะมีราคาที่เกือบจะเท่ากับราคาของ notebook ขนาดย่อมๆ ตัวหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับ Palm V ที่ผมมีไว้ครอบครองตั้งแต่สมัยที่มันเพิ่งจะคลอดใหม่ๆ ก็ถือว่าแพงกว่ากันแค่นิดหน่อยเท่านั้น ... แล้วผมก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า Android ณ วันนั้น (จนวันนี้) ยัง "ไม่เพียงพอ" กับคำว่า "คอมพิวเตอร์พกพา" ในความรู้สึกของผม เพราะซอฟต์แวร์ของมันยังไม่เพียบพร้อมในระดับเดียวกับ notebook ที่มีการใช้งานกันทั่วๆ ไปเลย ... นั่นก็หมายความว่า "แทบเล็ด" ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกัน ใช้แหล่งของซอฟต์แวร์ร่วมกัน ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่ดีไปกว่ากันมากนัก เว้นแต่เรื่องขนาดของหน้าจอที่ทรมานสายตาน้อยกว่าบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ... และ ... สนนราคาค่าตัวที่อยู่ในระดับเดียวกับ notebook หรือ netbook จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผลมากๆ ... 😏
แล้วผมก็ได้ทดลองสัมผัสกับเจ้า "แทบเล็ด" ที่หลายคน "อ้างว่า" เราสามารถใช้มันเป็น "อี-หนังสือ" หรือ "หนังสืออิเล็คทรอนิค" ที่กำลังจะกลายเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" ในอนาคตได้นั่นแหละ ... ซึ่งประสบการณ์ที่ผมได้รับในเวลานี้ก็คือ "อี-หนังสือ" ไม่ใช่ "หนังสือ" อย่างแน่นอนครับ !!??? ... และคนที่ "พยายามยัดเยียด" ให้พวกเราเชื่อไปในทางตรงกันข้ามก็น่าจะมีอยู่ 2 จำพวกด้วยกัน ... จำพวกหนึ่งก็คือผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ (ซึ่งก็รวมไปถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย) ส่วนอีกจำพวกหนึ่งก็คือ คนที่ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ เลย คือเป็นบุคคลประเภทที่เปิดอ่านแบบประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็เหมาๆ เอาเองว่าอ่านหนังสือแล้วนั่นแหละ ... ประมาณนั้น !! ... 😄
คืองี้ครับ ...
การอ่าน "อี-หนังสือ" ที่เราต้องเพ่งสายตาเข้าหา "แหล่งกำเนินดแสง" นั้น มันมีผลให้เราไม่สามารถอ่านหนังสือได้นานๆ เหมือนกับการอ่าน "หนังสือกระดาษ" ซึ่งความไม่สบายตานั้นเองจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนสมาธิของการอ่านอย่างต่อเนื่องของเรา ... ดังนั้น การใช้งาน "อี-หนังสือ" จึงน่าจะมีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ การใช้งานในลักษณะของ "เอกสารอ้างอิง" ที่ไม่ค่อยจะมี "ความต่อเนื่อง" ของระยะเวลาในการอ่านที่นานๆ เหมือนกับ "เล่มหนังสือกระดาษปรกติ" ที่ยังมีการใช้งานกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็ยบทความ, รายงานการวิจัย, ตำรับตำราทางวิขาการ, หรือแม้แต่หนังสือนิยาย, ฯลฯ ที่มักจะมีจำนวนหลายสิบจนถึงหลายร้อยหน้ากระดาษ เหล่านี้ล้วนไม่เหมาะกับการพัฒนาให้อยู่ในรูปของ "อี-หน้งสือ" ด้วยเหตุผลของ "แหล่งกำเนิดแสง" ที่รบกวนสมาธิในการ "อ่านอย่างต่อเนื่อง" นั่นเอง ...
ถ้าจะพูดกันถึงเรื่อง "โลกเขียว" ที่หลายคนมักจะอ้างว่า "อี-หนังสือ" มีส่วนช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากไม่ต้องใช้วัสดุสิ้นเปลืองใดๆ ในการเผยแพร่หรือจัดจำหน่าย ซึ่งก็มักจะลากยาวไปจนถึงเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอามาทำเป็นกระดาษสำหรับการพิมพ์หนังสือ อาจจะเสริมไปที่เรื่องของหมึกพิมพ์ หรือมลภาวะบ้าบอคอแตกอะไรอีกหลายอย่างอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่เป็นพิษเป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม ... จริงมั้ยก็ไม่รู้นะครับ !!?? ... แต่ที่ผมรู้แน่ๆ ก็คือ "ต้นทุนการผลิต" ของผู้ผลิต "อี-หนังสือ" นั่นแหละที่ลดลงอย่างมหาศาล อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็หดหายไปอีก เพราะเราสามารถส่ง "อี-หนังสือ" ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในลักษณะของข้อมูลดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบายมาก ... แต่ว่า ... ทำไมค่าตัวของ "อี-หนังสือ" มันถึงไม่ได้ลดลงอย่างมหาศาลเหมือนกับ "ต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่าย" ของมันล่ะ ??!! ... ทั้งๆ ที่ "ภาระค่าใช้จ่าย" สำหรับพลังงานที่ใช้ใน "การรับ อี-หนังสือ" และ "การอ่าน อี-หนังสือ" กลับตกมาอยู่ในความรับผิดชองของผู้บริโภคแบบเต็มๆ แล้วก็ยังต้องจ่าย "ค่าพลังงาน" เหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่จะเปิดอ่าน "อี-หนังสือ" อีกด้วย !!??!! ... การล้างผลาญพลังงานที่ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผ่อนส่งไปตลอดนั้น ทำไมถึงไม่มีการเอ่ยถึงเลยล่ะ ... ??!!
งั้น "แทบเล็ด" มันมีประโยชน์สำหรับการใช้งานจริงๆ มั้ยล่ะ ?!
ผมก็คิดว่า มันคงต้องมีประโยชน์ของมันอยู่บ้างล่ะครับ แต่มันก็มีประโยชน์ในขอบเขตที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของมันเท่านั้น ... ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ หรือพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิมอย่างที่หลายคนพยายามสื่อให้พวกเรา "หลงเชื่อกัน" ... ซึ่งแม้แต่การเป็น "สิ่งทดแทนหนังสือกระดาษ" อย่างที่หลายคนมักจะกล่าวอ้างกัน ผมก็มีความเห็นว่า "แทบเล็ด" ทั้งหลายเท่าที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ ยังมีศักยภาพที่ไม่เพียงพอสำหรับ "การโม้" ในระดับนั้นหรอกครับ !!??!! ... 😋
Leave Comment