ว่าด้วยเรื่องราวของ Don Quixote
หลังจากได้อ่าน Don Quixote ภาคแรกฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มันก็ต้องตามอ่านภาคต่อของ Don Quixote ฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกให้ได้เหมือนกัน โดยภาคต่อฉบับแปลไทยที่ว่านี้ น่าจะถูกกำหนดให้ทิ้งช่วงจากการจัดพิมพ์ภาคแรกไปแล้วประมาณ 10 ปี เพื่อให้เหมือนกับระยะเวลาที่ห่างกันของต้นฉบับทั้งสองภาคเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้วนั่นเอง ... เก้าะ ... เป็นอันว่าได้อ่านและได้เก็บสะสมไว้จนครบถ้วนซะที ...
ผมก็ไม่แน่ใจหรอกครับว่า ผู้ประพันธ์คือ Miguel de Cervantes ต้องการจะสื่อความหมายอะไรไว้ในเนื้อหาทั้งหมดของเขา แต่ในบางอารมณ์ผมก็รู้สึกเหมือนกำลังได้อ่านนิทาน "เครื่องหมายงมกระบี่" ของ "หันเฟยจื่อ" ที่ถูกทำให้ยืดยาวออกไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เพราะการเอ่ยอ้างถึงเรื่องราวของ "อัศวิน" ที่ดูจะเป็น "เรื่องพ้นสมัยไปแล้ว" ในยุคของ Cervantes นั้น ไม่ต่างกับการเปรียบเปรยให้เห็นว่า "การยึดติด" อยู่กับสิ่งที่ "เคย" สูงส่งด้วยความถูกต้องและดีงามในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจจะถูกมองว่าเป็น "ความฟั่นเฟือน" ของผู้ที่ยัง "ฝักใฝ่" กับ "ความสูงส่งดีงาม" อัน "พ้นสมัยไปแล้ว" เหล่านั้นก็ได้ ...
ในขณะเดียวกัน "แม่หญิงดัลซิเนอา แห่งโตโบโซ" (Dulcinea del Toboso) ที่ตัวละคร Don Quixote เทิดทูนไว้อย่างเลอเลิศสูงส่งยิ่งกว่าหญิงใดในโลกนั้น กลับเป็นแม่หญิงที่แม้แต่ตัวละคร Don Quixote เองก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยในชีวิตของเขา ... ซึ่งผมมองว่า มันเหมือนเป็นภาพเปรียบเปรยกับ "อุดมคติ" ทั้งหลายที่สำนักคิดต่างๆ ได้นำเสนอไว้อย่างเลิศลอย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบ "ประชาธิปไตย", "ยูโธเปีย", "คอมมิวนิสต์", หรือ "อุดมธรรม" ของบรรดาศาสนาต่างๆ ที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป เพราะมันคือ "ความสวยสดงดงามเกินคำบรรยาย" ที่ "ความมัวหมอง" ใดๆ อันเกิดแก่ "อุดมคติ" เหล่านั้น ล้วนเป็นผลมาจาก "เงื่อนไข" และ "การกระทำ" ของ "สิ่งอื่น" หรือ "บุคคลอันไม่เป็นที่รัก" โดยมีบรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ที่มีความผูกพันเป็น "ทาสทางใจ" ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นเองที่จะต้องคอย "ปกป้อง" หรือแม้แต่ "กอบกู้" ความยิ่งใหญ่ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นของตน ไม่ว่าจะต้องเหนื่อยยากลำเค็ญ หรือต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใดก็ตาม ... เพียงแต่ว่า ... เมื่อ "อุดมคติ" นั้นๆ มีความแตกต่างจาก "ความเชื่อ" หรือ "ข้อยึดถือ" ของกลุ่มสังคมหนึ่งๆ สมาชิกของกลุ่มสังคมดังกล่าว ย่อมจะมอง "อุดมคติ" ที่ว่า เป็นเพียง "เรื่องงี่เง่า" หรือ "เรื่องชวนหัว" ที่สมควรแก่การถูกนำมา "ล้อเลียน" จนถึงขั้นที่อาจจะ "หยามเหยียด" บรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ผู้พิทักษ์ "อุดมคติ" อันแปลกปลอมเหล่านั้นว่า เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วย "ความโฉดเขลาเบาปัญญา" หรืออาจจะเข้าขั้น "วิกลจริต" ไปเลยก็ได้ ... ซึ่งเป็น "พฤติกรรมทางสังคม" ที่ยังพบเห็นกันได้ทั่วไปแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ...
อย่างไรก็ตาม ผมค่อนข้างที่จะเชื่อว่า ความหมายที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของนิยายแต่ละเรื่องนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แม้แต่ผู้ประพันธ์ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ผู้อ่านจะ "ตีความ" ไปในทิศทางเดียวกับ "ความตั้งใจ" ของเขารึเปล่า ในโลกแห่ง "จินตนาการที่หลากหลาย" บนพื้นฐานของ "ข้อเท็จจริงที่มากมาย" นั้น พวกเราล้วนเป็นทั้ง "อัศวิน" และ "คนวิกลจริต" ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว ... มันขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็น "ผู้ตัดสิน" และเราจะยอมรับใน "คำตัดสิน" นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ... ในเมื่อมนุษย์แต่ละคนล้วนมี "ความฝัน" และ "ความจริง" ที่แตกต่างกัน ... เรายังจะเรียก "การมีชีวิต" อยู่ใน "โลกแห่งความจริง" ที่ปราศจาก "ความฝันของตัวเอง" นั้นว่า เป็น "การดำเนินชีวิต" ที่ "ปรกติ" ได้รึเปล่า ?!?! ...
How to Talk About Books You Haven't Read
Book Title: How to Talk About Books You Haven't Read Author(s): Pierre Bayard Format: Hardcover, 208 pages Publisher: Bloomsbury USA; First edition (November 4, 2007) Language: English ISBN-13: 978-1596914698 Product Dimensions: 5.7 x 0.8 x 7.8 inches |
ด้วยความที่มีปริมาณหนังสือส่วนตัวซึ่งอยากจะอ่านอยู่ "ค่อนข้าง" มาก ก็เลยอยากจะฝึก "วิธีอ่านเร็ว" อยู่ระยะหนึ่ง เผื่อว่าจะช่วย "สนองตัณหา" ด้านการอ่านของตัวเองได้บ้าง ... 😋 ... แต่เอาเข้าจริงก็มีความรู้สึกว่า "การอ่านเร็ว" นั้นไม่ค่อยจะ "ถูกจริต" กับตัวเองซักเท่าไหร่ ประกอบกับว่า ถึงจะสามารถฝึกฝนจน "อ่านได้วันละเล่ม" จริงๆ มันก็น่าจะต้องใช้เวลาประมาณเกินกว่า 20 ปีถึงจะอ่านได้ครบทุกเล่มที่ตัวเองครอบครองเอาไว้ ... อย่ากระนั้นเลย ... น่าจะฝึก "วิธีไม่อ่าน" มั่งดีกว่า !!?! ... 😅
มันคือประมาณอารมณ์แรกๆ ที่เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ... เออ ... ไม่ต้อง "อ่าน" ก็ได้เหมือนกันเหรอวะ ?! ... แล้วก็เลยหาซื้อมันมาเพื่อ "อ่านวิธีไม่ต้องอ่าน" ... ซึ่งก็ "สาหัสสมใจ" ล่ะครับ เพราะผมใช้เวลากับมันนานกว่าที่คิดเอาไว้เยอะมาก ... 😅
จริงๆ แล้ว Pierre Bayard ผู้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่ "อาจารย์ด้านวรรณกรรม" เท่านั้น แต่แกเป็น "นักจิตวิทยา" อีกด้วย ซึ่งแม้ว่าโดยเนื้อหารวมๆ ของหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอ "การไม่อ่าน" โดย "การสื่อสาร" กับ "คนที่เคยอ่าน" เพื่อช่วยให้เรา "พอรู้เรื่อง" กับ "หนังสือที่ไม่เคยอ่านเอง" อยู่พอสมควร แต่ประเด็นของเนื้อหาที่ "สะดุดใจ" ผมมากที่สุดกลับอยู่ตรง "ความหมายแท้ๆ" ของ "การอ่าน" ซึ่งทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ... พวกเรา "อ่าน" กันจริงๆ ซักกี่เปอร์เซ็นต์ ??!!?! ... เรา "เข้าใจ" ใน "เนื้อหา" และ "ความสัมพันธ์" ของหนังสือแต่ละเล่มในโลกของพวกมันซักแค่ไหนจาก "การอ่าน" ของพวกเรา ?!?! ... หรือพวกเรา "ยัดเยียด" ความเป็น "ตัวเรา" เข้าไปเป็น "ความหมาย" ของ "เนื้อหา" ในหนังสือแต่ละเล่ม เพียงเพื่อที่จะ "เข้าใจ" ในแบบของ "ตัวเรา" เฉยๆ ... ซึ่งในกรณีดังกล่าว เรายังจะนับว่า เราได้ "อ่าน" หนังสือเล่มนั้นๆ ด้วยมั้ย ?!?! ... หรือมันคือ "การไม่อ่าน" ในความหมายจริงๆ ที่ Pierre Bayard ต้องการจะสื่อออกมา ?!?!
ผม "เชื่อว่า" พวกเราต่างก็เคยได้ยินคำเอ่ยอ้างสรรพคุณประเภทที่ว่า "ผู้นำ" ทุกคนล้วนเป็น "นักอ่าน" ... แต่ในโลกของความเป็นจริงก็คือ "นักอ่าน" ไม่ได้เป็น "ผู้นำ" กันทุกคน ... จริงมั้ย ?!?!! ... เพราะใน "โลกของการอ่าน" นั้น มีบางคนที่ "อ่าน" แล้วมี "โลกทัศน์" ที่ "เปิดกว้าง" ในขณะที่บางคนยิ่ง "อ่าน" ก็ยิ่ง "ดักดาน" อยู่กับ "กรอบคิด" เดิมๆ ของตัวเอง ... ยิ่ง "อ่าน" มากเท่าไหร่ กะโหลกก็ยิ่งหนามากขึ้นเท่านั้น ... รึไม่จริง ?!?!
"หนังสือ" เป็นเพียง "เครื่องอำนวยความสะดวก" ให้เราสามารถเสาะค้น "กรอบคิด" ที่หลากหลายของผู้คนจำนวนมากๆ เพื่อที่จะลดทอน "ความเป็นตัวเรา" ให้มันอย่าหนาหนักจนเกินไป ... แต่ "การอ่านหนังสือ" เพียงเพื่อจะ "สนองกรอบคิดเดิมๆ" ของตัวเองให้ทั้ง "แน่นหนา" และ "หนักแน่น" ยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ... นั่งส่องกระจกแล้วคุยกับตัวเองไปวันๆ ก็น่าจะประหยัดเงินได้มากกว่าเยอะแหละ ... ว่ามั้ย ?!?! ...
Blockchain
|
พอจะเคยได้ยินหลายๆ คนเอ่ยถึงเจ้า Blockchain นี่มานานพอสมควรแล้วล่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่ Bitcoin กำลังได้รับ "ความหลงใหล" จากหลายๆ แวดวงทั้งใกล้และไกลตัวออกไป ... แล้วก็ด้วยความ "ส.ท.ร." อีกนั่นแหละที่กระตุ้นให้ผมอยากจะติดตามเรื่องราวของมันมาเป็นระยะๆ แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังรู้สึก "ไม่เชื่อใจ" เจ้า "เทคโนโลยี" ที่ว่านี้ซักเท่าไหร่ เพราะมันดู "เวิ้งว้างว่างเปล่า" ราวกับ "อัตตา" ของมนุษย์ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว !!?!?!
สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับ "คอมพิวเตอร์" หรือ "โลกดิจิตัล" นั้น ผมอาจจะเป็นคนที่ "มองโลกในแง่ไม่ค่อยสวย" อยู่บ้างพอสมควร ... 😋 ... แม้ว่าผมจะต้องมีความเกี่ยวข้องอยู่กับพวกมันค่อนข้างมากในแต่ละวัน และอาจจะมีบางคนที่ถึงกับ categorize ให้ผมเป็นพวก superuser ไปแล้วบ้างก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ผมก็ยังเป็นแค่ user ธรรมดาๆ ที่พยายามดูแลเครื่องไม้เครื่องมือของตัวเองให้สามารถทำงานต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องไปรบกวนให้ใครต่อใครต้องมาวุ่นวายด้วย ... เท่านั้นเอง !!?! ... ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่ผมจะต้องลองผิดลองถูกกับ "ยาผีบอก" ของตัวเอง จนบางครั้งก็ถึงกับต้องรื้อระบบทั้งหมดเพื่อที่จะติดตั้งทุกอย่างใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ... เก้าะ ... เป็นความพึงพอใจส่วนตัวที่ไม่หวงห้าม หากใครคิดที่จะลอกเลียนไปเป็นเยี่ยงอย่างครับ ... 😋
ดังนั้น การที่จะให้ผม "เชื่อใจ" เจ้าสิ่งที่ผมเอง "ไม่เข้าใจ" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อตัวเองเคยมี "ประสบการณ์ตรง" กับ "การทำให้พัง" ทั้ง "โดยตั้งใจ" และ "โดยไม่ตั้งใจ" อยู่เป็นประจำ แนวความคิดแบบ Crowd Dependence หรือ "การพึ่งพาฝูงชน" เพื่อทำให้ "ชิ้นข้อมูล" มี "ความน่าเชื่อถือ" อย่าง "ไร้ข้อกังขา" เลยนั้น มันก็ออกจะ "บ้าบอเกินไป" ซักหน่อยใน "ความรู้สึกส่วนตัว" ของผมเอง !?!!
"ความจริงโดยสันดาน" ก็คือ "มนุษย์" คือ "สิ่งมีชีวิต" ที่เต็มไปด้วย "ความระแวง" ต่อ "สิ่งแปลกปลอม" ซึ่งรวมไปถึง "คนแปลกหน้า" ที่แม้ว่าจะเป็น "มนุษย์" เหมือนกันก็ตาม เพราะโดย "โครงสร้างทางกายภาพ" แล้ว "มนุษย์" เป็น "สิ่งมีชีวิต" ที่ "ปราศจากเขี้ยวเล็บ" ใดๆ สำหรับ "การต่อสู้" หรือ "การป้องกันตัวเอง" เหมือนกับ "สิ่งมีชีวิต" อีกหลายๆ ชนิดใน category เดียวกัน ... พวกเราต่างจาก "พืช" ก็แค่สามารถ "เคลื่อนย้ายที่อยู่" ได้ด้วยตัวเอง ... แต่ก็เท่านั้น !!?!! ... ธรรมชาติจึงได้สร้าง "กลไกทางสันดาน" ให้ "มนุษย์" ต้อง "ระวัง", "ระวัง", และ "ระวัง" จนกลายเป็น "ความระแวง" ต่อ "ทุกสรรพสิ่ง" เพื่อที่จะอนุรักษ์ "เผ่าพันธุ์อันไม่เอาไหน" ชนิดนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ใน "กระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติ" อันโหดร้าย ... เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วยว่า "ความเป็นสัตว์สังคม" ของ "มนุษย์" ที่หลายๆ ตำรามองว่าเป็น "พฤติกรรมโดยธรรมชาติ" นั้น มันเป็น "ธรรมชาติ" แบบ Physical Nature หรือ "ธรรมชาติทางกายภาพ" เท่านั้น แต่ไม่ใช่ Subliminal Nature หรือ "ธรรมชาติโดยจิตใต้สำนึก" ...
"มนุษย์" มี "ความจำเป็น" ที่จะต้อง "รวมกลุ่มกัน" เพื่อ "ชดเชยความไม่เอาไหนทางกายภาพ" ของ "ตัวเอง" เท่านั้น ... และทันทีที่ "มนุษย์" เริ่มรู้สึกถึง "ความมั่นคง" ใน "ระดับปัจเจก" พวกเขาก็จะเริ่ม "แก่งแย่งช่วงชิง" ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะ "ลดทอนการพึ่งพา" สิ่งที่ "ไม่ใช่ตน" ลงไปให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะ "สิ่งที่ไม่ใช่ตน" ล้วนเป็น "สิ่งแปลกปลอม" ที่ "ไม่น่าไว้ใจ" เสมอ !!?! ... ในขณะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่ "มนุษย์" เริ่มรู้สึกถึง "ความไม่มั่นคง" ภายใน "กลุ่มสังคมเดิม" ของตน พวกเขาก็จะเริ่ม "ตีตัวออกห่าง" เพื่อแสวงหา "แนวร่วมใหม่" ที่จะสามารถ "ชดเชยความไม่เอาไหนทางกายภาพ" ของ "ตัวเอง" จนกว่าจะ "เป็นที่พอใจ" ... แล้วก็จะวนเป็น "วัฏจักร" อยู่อย่างนี้ ... นี่ก็คือ "ธรรมชาติโดยสันดาน" ของ "สัตว์ไม่เอาไหน" !! ...
ดังนั้น การที่เทคโนโลยี Blockchain ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดแบบ "ปราศจากศูนย์กลาง" ของ "ความน่าเชื่อถือ" โดยอาศัยการโยงใยข้อมูลทั้งหมดเข้ากับ "ทุกสิ่ง" เพื่อจะสร้าง "ความเป็นสาธารณะ" ภายในระบบเครือข่ายอย่างสลับซับซ้อน และ "เชื่อว่า" ความ "ไม่มีศูนย์กลาง" อย่าง "เฉพาะเจาะจง" จะกลายเป็นปราการสำคัญที่ทำให้ระบบมี "ความแข็งแกร่ง" เกินกว่าที่จะ "โดนแฮ็ก" ... เว้นเสียแต่ว่า ... จะมีบุคคล หรือองค์กรหนึ่งใดก็ตามที่สามารถยึดกุม "ขุมพลังการประมวลผล" ของ "ระบบเครือข่าย" เอาไว้ในระดับที่สามารถ "บงการขบวนการเชื่อมโยงข้อมูล" ได้สำเร็จเท่านั้น ... ซึ่ง ... ตราบใดก็ตามที่ยังมี "ข้อยกเว้น" เป็นเงื่อนไขอยู่ภายในระบบ "ข้อยกเว้น" นั้นเองคือ "ความเป็นไปได้" ที่สิ่งนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ ... เสมอ !!!!?!?!
On the blockchain, in theory (it will not be absolutely proven until blockchains are in wider use), it's nearly impossible for one participant to manipulate the chain to his or her greater advantage, unless that individual gains majority control of the computing power on the chain that certifies transactions. If that happens the invader can block others from acting, and even steal cryptocurrency.
ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ผมอาจจะแค่ "ระแวงไปเอง" กับเทคโนโลยีที่ตัวเอง "ไม่เข้าใจ" เท่านั้น แต่ "ธรรมชาติโดยสันดาน" ของ "สัตว์ไม่เอาไหน" ก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่สามารถ "เอาชนะได้" ด้วย "เหตุและผล" อยู่แล้ว ... บรรดา "ความเชื่อ" และ "ความฝัน" ของ "การปกครองตนเอง" อย่าง "ปราศจากศูนย์กลาง" ยังคงเป็น "ความเชื่ออันสวยงาม" และ "ความฝันอันสวยหรู" ของเหล่า "ลิเบอรัล" ที่ "ไม่เคยไว้ใจใคร" เลยนอกจาก "ตัวเอง" !?!?!!! ...
"เสรีภาพ" ในระดับที่ "สัตว์ไม่เอาไหน" โหยหามาโดยตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์นั้น จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงๆ เลย ตราบใดที่ "มนุษย์" ยังคงมี "ธรรมชาติของสัตว์ไม่เอาไหน" ฝังอยู่ใน "สันดาน" ของพวกเขา ... #อย่าเชื่อผมสิ !!
Treasury of Joy and Inspiration
|
จำไม่ได้แล้วครับว่า ผมไปคว้าหนังสือเล่มนี้มาเมื่อไหร่ด้วยอารมณ์แบบไหนเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่ประเภทของหนังสือที่ผมจะหยิบจับขึ้นมาอ่านเป็นปรกติอยู่แล้ว ... 😄 ... แต่ก็อาจจะเพราะความที่มันเป็นหนังสือในเครือของ Reader's Digest ล่ะมั้งที่ทำให้ผมคว้ามันมาจากมหกรรมหนังสือลดราคา Big Bad Wolf 2018 ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ ...
แล้วมันก็เป็นอย่างที่ผมบอกนั่นแหละครับ คือมันไม่ใช่หนังสือประเภทที่ผมมักจะหยิบจับขึ้นมาอ่านซักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่ค่อยจะสนุกไปกับมันมากนัก โดยเฉพาะชื่อหนังสือที่เขาไม่ได้ใช้คำว่า Enjoy ที่เรามักจะแปลกันว่า "มีความเพลิดเพลิน" หรือ "มีความสุขสนุกสนาน" แต่เขาเน้นไปตรงคำว่า Joy ซะตัวเป้งๆ นั่นเพื่อจะสื่อว่า มันเป็นเรื่องราวของ "ความเบิกบานใจ" หรือ "ความอิ่มเอมใจ" มากกว่าที่จะเป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาเพื่อ "ความบันเทิงเริงรมณ์อย่างสำเริงสำราญ" โดยทั่วไปนั่นเอง ... ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเรื่องราวที่เขาบอกเล่าไว้ตลอดทั้งเล่มนั้น มีแต่ความราบๆ เรียบๆ ไม่มีอะไรเลยที่จะสามารถเรียกได้ว่า "หวือหวา" ชนิดที่ "ชวนละเมอเพ้อพก" ใดๆ ทั้งสิ้น ... มันเป็น "ความเรียบง่าย" ที่พวกเราแทบจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ชีวิตจริงๆ ของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น มันไม่จำเป็นต้องสลับซับซ้อนอย่างที่สังคมของพวกเราพยายาม "เสี้ยมสอน" ให้พวกเราจะต้องเป็นอย่างนั้นเลย ... จริงๆ !! ... "ความสุขเล็กๆ" ของหลายๆ ชีวิตที่ได้รับการบอกเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ น่าจะสะท้อนให้รับรู้ถึง "ความกระด้างทางอารมณ์" ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่นับวันมีแต่จะ "สุขยาก" ยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ จนอาจจะ "ชินชา" กับ "ความธรรมดา" ของชีวิตที่แท้จริงไปแล้ว ถึงขนาดที่จะต้องคอยสรรหา "ความบันเทิง" ในรูปแบบที่ "สร้างความกระแทกกระทั้นทางอารมณ์" เพื่อ "กระตุ้นความตายด้านทางความสุข" ให้รู้สึกรู้สากันขึ้นมาบ้าง จนกลายเป็น "อุตสาหกรรมความบันเทิง" ที่ผู้คนเกือบทั้งโลกมีส่วนร่วมในการสร้าง "กระแสหมุนเวียน" ของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในเวลานี้ ... รึเปล่า ?!?!
ก็ไม่รู้นะว่า ผมควรจะชอบหนังสือเล่มนี้มั้ย เพราะถึงยังไงมันก็ไม่ใช่หนังสือประเภทที่ผมจะหยิบจับมันขึ้นมาอ่านเป็นปรกติอยู่ดี ... ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะพบเห็นแนวคิดอันแปลกประหลาดใดๆ จากมัน ... ไม่มีทางเลยที่เราจะถูกกระตุ้นให้เกิดความคิดที่ผิดแผลงพิสดารเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใดๆ ให้กับโลกมนุษย์ ... เพราะมันก็แค่ราบๆ เรียบๆ และแสนจะธรรมดาอย่างที่ชีวิตของพวกเราควรจะเป็น ... เท่านั้นเอง !!?!
中国家训精粹
|
ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาชิกที่ค่อนข้างใหม่บนชั้นหนังสือส่วนตัวที่เพิ่งจะหามาได้หมาดๆ แต่ก็เป็นเล่มที่ "ตั้งใจตามล่า" มาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะได้ความระแคะระคายมาว่า เคยมีการรวบรวม "ชุมนุมบทสอนลูก" ของปราชญ์ชาวจีนผู้โด่งดังในประวัติศาสตร์อยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งมี 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" เป็นบทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในชุมนุมเอกสารฉบับนั้น ไม่ว่าจะในแง่ของ "ตัวบุคคล" ที่มีบทบาทอันโดดเด่นในยุค "สามก๊ก" และในแง่ของ "วรรณศิลป์" ที่มีความไพเราะงดงาม มีความเรียบง่าย สั้น-กระชับ และครอบคลุมสาระสำคัญสำหรับ "การพัฒนาตน" ไว้อย่างครบถ้วนภายในตัวอักษรจีนเพียง 86 ตัวเท่านั้น ... การได้พบเห็นหนังสือ 中国家训精粹 ที่รวบรวมต้นฉบับเดิมทั้งหมดเอาไว้ พร้อมบันทึกคำอธิบายด้วยภาษาจีนยุคปัจจุบันโดย 陈才俊 กับ 谷淑梅 เล่มที่เอ่ยถึงนี้โดยไม่คาดฝัน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกยินดีปรีดาเป็นอย่างมากจริงๆ ... 😍
อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือภาษาจีนที่ตัวเองทิ้งร้างไปนานหลายสิบปีแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ภายในเวลาที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยของผมเอง ณ เวลาปัจจุบัน ยิ่งเป็นภาษาจีนยุคเก่าที่ห่างจากยุคของเราไปตั้งหลายศตวรรษด้วยแล้ว น่าจะต้องใช้เวลานานจนยากที่จะประเมินได้จริงๆ แต่ผมก็เชื่อว่า เราน่าจะได้พบเห็นแง่มุมหลายๆ อย่างที่น่าสนใจของคนจีนในแต่ละยุคแต่ละสมัย และน่าจะได้ประโยชน์จากแง่คิดของบุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็น "นักปราชญ์" ผู้มีความรอบรู้ อีกทั้งเป็น "บัณฑิต" ที่มีความคิดอ่านอันลึกซึ้งยิ่งกว่าผู้คนโดยทั่วไปมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนเลยทีเดียว ... ที่สำคัญก็คือ บรรดาคำสอนที่ถูกรวบรวมไว้เหล่านี้ คือ "บทสอนลูก" ที่บรรดา "นักปราชญ์" แต่ละท่าน ตั้งใจบันทึกไว้ให้กับทายาทของตัวเองโดยตรง ... มันจึงเป็น "ชุมนุมหนังสือสอนลูก" ที่มีความพิเศษมากๆ
ไหนๆ ผมก็ได้เอ่ยถึง 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" ซึ่งเป็นบทที่โด่งดังที่สุดของ "ชุมนุมหนังสือสอนลูก" ไปแล้ว งั้นก็ขอแปะเอาไว้ตรงนี้ซะเลยแล้วกัน เพราะจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของ "การต่ามล่า" หนังสือเล่มนี้ก็เริ่มมาจากที่ได้อ่านและที่ได้แปล 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" เมื่อประมาณกว่า 2 ปีที่แล้วนี่แหละ ...
誡子書 <原文>
夫君子之行,靜以修身,儉以養德;
非澹泊無以明志,非寧靜無以致遠。
夫學須靜也,才須學也;
非學無以廣才,非志無以成學。
怠慢則不能勵精,險躁則不能冶性。
年與時馳,意與歲去,遂成枯落, 多不接世。
悲守窮廬,將復何及!
ส่วนท่อนต่อจากนี้ก็คือคำแปลที่ผมทำเอาไว้ครับ ...
มรรควิถีแห่งวิญญูชน ย่อมสำรวมกิริยาด้วยความสงบ
เจริญในคุณธรรมด้วยความมัธยัสถ์
หากไม่ยืนหยัดอดกลั้น ปณิธานย่อมเลือนลางจางหาย
หากสิ้นไร้ความสงบสำรวมใจ ย่อมมิอาจก้าวไกลถึงที่สุด
การศึกษาเรียนรู้ ต้องอาศัยจิตใจที่สงบและเบิกบาน
ทักษะความชำนาญ ต้องอาศัยความพยายามที่จะฝึกฝน
เมื่อไม่ใฝ่รู้รักเรียน ความสามารถย่อมตื้นเขินตีบตัน
เมื่อไม่มุ่งมั่นพากเพียร ฝึกฝนสิ่งใดย่อมไม่ประสบผล
เพราะความเกียจคร้านเฉื่อยชา จึงไม่มีความกระตือรือร้น
เพราะความหลุกหลิกลุกลน จึงไม่อาจหล่อหลอมคุณลักษณ์
เดือนปีย่อมเคลื่อนคล้อยไปตามกาล
ความคิดอ่านย่อมเปลี่ยนผ่านไปตามสมัย
ความพลิกแพลงแปลงเปลี่ยน ย่อมเจริญงอกงาม
ความดื้อด้านดักดาน ย่อมร่วงร้างโรยรา
สรรพสิ่งล้วนมิอาจยืนยงนับกัปกัลป์
หากมัวแต่โหยไห้รำพันอยู่ในความคับแคบที่รกร้าง
จะคิดอ่านสรรค์สร้างอนาคตได้ไฉน!
Sex
Book Title: Sex |
ถ้าจะบอกว่า Sex คือหนึ่งในหัวเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ "การดำเนินชีวิตของมนุษย์" ก็คงจะไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริงซักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะมองในมุมของ "ชีววิทยาศาสตร์", "สังคมศาสตร์", "ประชากรศาสตร์", "จิตวิทยา", "พฤติกรรมศาสตร์", โดยเฉพาะในแง่ของ "วัฒนาธรรม-ประเพณี" ตลอดจนความมีอิทธิพลต่อคำสอนในหลายๆ ประเด็นของ "ศาสนา" ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องของ Sex หรือ "การมีเพศสัมพันธ์" เข้าไปเกี่ยวข้องแทบจะทั้งหมด ... แต่ Sex กลับกลายเป็นหนึ่งใน "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ของมนุษย์เกือบจะทุกชนชาติ และทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาที่สร้าง "ความกระอักกระอ่วนใจ" ให้แก่คู่สนทนาในที่สาธารณะไม่น้อยหน้าไปกว่า "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" อื่นๆ เลย ... ทำไม ?!?!
ด้วยรูปแบบของ "ความเชื่อ" และ "วัฒนธรรม-ประเพณี" ที่ได้รับ "การปลูกฝัง" หรือ "การเสี้ยมสอน" มาอย่างยาวนานจนฝังเข้าไปใน "DNA ทางความคิดมนุษย์" ไปแล้ว เราแทบสรุปไม่ได้เลยว่า "ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ" เมื่อต้องสนทนาเรื่อง Sex ในที่สาธารณะนั้น เป็นเพราะ "เรา" รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะ "สังคม" ทำให้ "เรา" รู้สึกอย่างนั้นไปเอง โดยผ่าน "กระบวนการทางสังคม" ที่ "หล่อหลอม" ความรู้สึกที่ว่านี้ให้กับ "พวกเรา" มาตั้งแต่เกิด ?!?! ... ทำไมจึงเกิด "ข้อบัญญัติ" หลายๆ อย่างเหล่านั้นขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม ?!?! ... แล้วอะไรคือ "สาเหตุ" แห่ง "การยอมรับ" ใน "ข้อบัญญัติ" เหล่านั้นของ "สังคมมนุษย์" และยังคงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเวลาต่อๆ มาจนแม้ในยุคปัจจุบัน ?!?! ... ทำไม "พฤติกรรม" ทาง "พันธุศาสตร์" ของมนุษย์ จึงถูกมนุษย์ด้วยกันตัดสินให้กลายเป็น "สิ่งน่ารังเกียจทางสังคม" จนไม่พึงเอ่ยอ้างถึง และยิ่งไม่อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ ?!?! ...
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า "คำโปรย" ที่ปรากฏอยู่บน "แผ่นปก" จะดูน่าสนใจราวกับจะมีการเอ่ยถึงที่มาที่ไปของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ดังกล่าว แต่เนื้อในกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "คติความเชื่อ" ใดๆ ดังที่ว่ามานั้นเลย โดยเนื้อหาทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่ "การพยายามอธิบาย" ถึง "สาเหตุแห่งความพึงพอใจ" ทาง "จิตวิทยา" ที่เกี่ยวข้องกับ "กิจกรรมทางเพศ" อันเนื่องมาจาก "การปลดปล่อยตัวเอง" จาก "ข้อห้ามทางสัมคม" ที่เกี่ยวกับ Sex ... เท่านั้น !!?!?! ... มันจึงเกิดคำถามที่ผุดขึ้นมาทันทีสำหรับผมก็คือ ... หากปราศจาก "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" เหล่านั้นแล้ว มนุษย์จะไม่มี "ความรู้สึกพึงพอใจ" จาก "กิจกรรมทางเพศ" ตามที่ได้ "พยายามอธิบาย" ไว้ในหนังสือรึเปล่า ?!?!?! ... ซึ่งเราก็รู้คำตอบกันอยู่แล้วล่ะว่า มันเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง !!?! ... และ "ความพึงพอใจ" ตามที่ "พยายามอธิบาย" ไว้ในหนังสือก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของ "ที่มา" ของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ดังที่ว่าเลยแม้แต่น้อย
ผมย้อนนึกไปถึงหนังสืออีก 2 เล่มที่ผมเคยอ่านมาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คือ The Origin of Sex กับ Why Is Sex Fun? ที่ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ยังค้างคาอยู่ของผมเหมือนกัน โดย The Origin of Sex จะเล่าถึง "ประวัติศาสตร์" ของ "การปฏิวัติทางเพศ" หรือจะให้ตรงความหมายจริงๆ ก็คงต้องใช้คำว่า "การปฏิวัติพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศ" น่าจะดีกว่า เพราะมันเป็นเรื่องราวของ "การต่อต้านข้อห้ามพฤติกรรมทางเพศ" ของบรรดา "ศาสนา" และ "วัฒนธรรม" ทั้งหลาย โดยไม่ได้สนใจกับประเด็นที่ว่า "ทำไม" จึงเกิด "ข้อห้าม" เหล่านั้นมาตั้งแต่ต้น !?!!? ... ส่วน Why Is Sex Fun? ก็เป็นเรื่องของ "วิวัฒนาการของพฤติกรรมทางเพศ" ซึ่งเป็น "การอธิบาย" ในแง่ของ "ชีววิทยาศาสตร์" เพื่อให้คำอธิบายว่า "ความพึงพอใจ" อันเนื่องมาจาก "พฤติกรรมทางเพศ" ของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของ "วิวัฒนาการทางชีวภาพ" ล้วนๆ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "จิตวิทยา" หรือ "ข้อกำหนด" ใดๆ ทาง "สังคม" เลยซักนิดเดียว !!?! ... ซึ่งประเด็นของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" อันเกี่ยวกับ "พฤติกรรมทางเพศ" ใดๆ ล้วนไม่อยู่ใน "กรอบคิด" ของเรื่องราวที่นำเสนอไว้ในหนังสือ Why Is Sex Fun? เลย ...
สรุปว่า "เราเป็น" อย่างที่ "สังคมสอนให้เราเป็น" หรือแค่ "เชื่อไปเอง" ตลอดเวลาว่า "เราเป็น" อย่างที่ "เราเป็น" ... ยังคงเป็นโจทย์ที่ผมไม่มี "คำตอบที่น่าพึงพอใจ" ต่อไปก่อน จนกว่าจะมีใครให้ "คำอธิบาย" ที่น่าสนใจพอที่จะหยิบมาเล่าให้ฟังกันอีกทีก็แล้วกัน ... 😊
เถียงกับคัมภีร์ (ภาคต่อ) : เรื่องของอักษร 善
อักษร 善 (shàn : ซั่น) เป็นหนึ่งในจำนวน "อักษรเจ้าปัญหา" ที่ทำให้ผมอยากจะ "เถียงกับคัมภีร์" 三字經 (sān zì jīng, ซัน จื้อ จิง) ขึ้นมาตะหงิดๆ เพราะด้วยวลีขึ้นต้นของคัมภีร์ที่บันทึกไว้ว่า 人之初,性本善 (rén zhī chū , xìng běn shàn : เญิ๋น จือ ฌู , ซิ่ง เปิ่น ซั่น) และได้รับ "การตีความ" ให้หมายถึง "โดยกำเนิดของมนุษย์ (人之初) พื้นฐานนิสัย (性) อันเป็นทุนเดิม (本) คือความดีงาม (善)" นั้น ผมยังรู้สึกไม่ค่อยชอบใจซักเท่าไหร่ เพราะวลีท่อนถัดมาซึ่งถือว่าเป็น "ส่วนขยายความ" ของ 2 วลีข้างต้นก็คือ 性相近,習相遠 (xìng xiāng jìn , xí xiāng yuǎn : ซิ่ง เซียง จิ้น , ซี๋ เซียง เหยฺวี่ยน) โดยหลายตำรา "ตีความ" ไว้ว่า "โดยพื้นฐานทางธรรมชาติ (性) ที่แม้นว่าจะมีความคล้ายคลึงกัน (相近) แต่การเลี้ยงดู (習) ย่อมทำให้แต่ละคนมีความแตกต่าง (相遠)" ... คือ ... ผมยังรู้สึกว่า มันก็ทั้งใช่ แล้วก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ... เพราะมันยังรู้สึกตะหงิดๆ อยู่ไง !!?? ... 😄
คืองี้ ... ท่อน "ขยายความ" มันก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่หรอกนะถ้าจะ "ตีความ" กันอย่างนั้น แต่ก็เนื่องจากผม "ไม่เคยเชื่อ" เลยว่า มนุษย์นั้นเป็น "คนดีมาตั้งแต่เกิด" ไง ผมก็เลยรู้สึกตะหงิดๆ กับท่อนแรกที่ได้รับ "การตีความ" ไปในทิศทางนั้น เพราะถ้าเป็นอย่างที่ "ตีความ" กันไว้จริงๆ "ธรรมชาติ" (Nature หรือ 性) กับ "การเลี้ยงดู" (Nurture หรือ 習) ยังจะสร้าง "ความแตกต่าง" ไปทำไม?! ... แล้วจะสร้าง "ความแตกต่าง" ในด้านไหนได้บ้าง?! ... ในเมื่อจริงๆ แล้ว คำว่า 習 (xí : ซี๋) มักจะถูกใช้ในความหมายว่า "การฝึกฝน" หรือ "การเล่าเรียน" มากกว่า "การเลี้ยงดู" ... แต่ก็โอเคแหละ ถ้า "การเลี้ยงดู" ที่ว่านั้นจะรวมถึง "การอบรม" และ "การสั่งสอน" ไปด้วยพร้อมๆ กัน ผมถึงว่าท่อน "ขยายความ" มันยังพอจะกล้อมแกล้มไปได้ในความหมายที่เขา "ตีความ" กันไว้ แต่มันไม่ตอบโจทย์เรื่องของคำว่า 善 (shàn : ซั่น) ที่ "นิยม" ให้ความหมายกันว่า "ดี", "ความดี", หรือ "ความเจริญ"
"ภาพอักษร" ดั้งเดิมของ 善 (shàn : ซั่น) นั้นประกอบขึ้นมาจาก "ภาพอักษร" 羊 (yáng, ยั๋ง) ที่ปัจจุบันแปลว่า "แพะ" แต่ความจริงมันเคยถูกใช้เป็น "ภาพสัญลักษณ์" ของอักษร 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ซึ่งหมายถึง "ความสุข-ความเจริญ หรือ "สิ่งดีงาม" หรือแม้แต่ "ความมีโชคลาภ" ที่เรามักจะเห็นการใช้คู่กับคำว่า 吉 (jí : จี๋) ซึ่งมักจะใช้ในความหมายของ "ความรุ่งเรือง" ; องค์ประกอบที่เหลือตรงบริเวณด้านล่างใน "ภาพอักษร" 善 (shàn : ซั่น) ก็คือ "ภาพอักษร" 言 (yán : เอี๋ยน) ซึ่งหมายถึง "คำพูด" หรือ "การพูดคุย" ซึ่งในภาพเดิมของอักษรโบราณของ 善 (shàn : ซั่น) นั้นจะประกอบด้วยอักษร 言 (yán : เอี๋ยน) ถึง 2 ตัวด้วยกัน อันน่าจะหมายถึง "การถาม-การตอบ" หรือ "การสื่อสารกัน" ที่เน้นว่า มันไม่ใช่แค่ "คำพูด" ธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป แต่เป็น "การสนทนา" หรือ "การสื่อสารกัน" และในยุคต่อมาก็ลดความซ้ำซ้อนให้เหลือ 言 (yán : เอี๋ยน) เพียงตัวเดียว ในเมื่อ 言 (yán : เอี๋ยน) สามารถแปลว่า "การสนทนากัน" ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเขียนซ้ำกัน 2 ตัวเหมือนกับ "การสื่อ" ด้วย "ภาพอักษร" ในยุคแรกๆ ของอักษรจีน ...ดังนั้น 善 (shàn : ซั่น) ที่แปลกันว่า "ดี" หรือ "ความดี" นั้นจึงไม่ใช่ "ความดี" ในลักษณะที่เป็น "นามธรรม" ลอยๆ แต่เป็น "ความดี" ที่เกิดขึ้นจาก "คำพูด" หรือ "การสนทนา" ซึ่งก็คือ "การอบรมสั่งสอน" โดยเฉพาะ ... ความหมายจริงๆ ของวลี 人之初,性本善 (rén zhī chū , xìng běn shàn : เญิ๋น จือ ฌู , ซิ่ง เปิ่น ซั่น) จึงควรจะได้รับ "การตีความใหม่" ว่า "ธรรมชาติโดยกำเนิดของมนุษย์ (人之初) คือมีกมลสันดาน (性) พื้นฐาน (本) ที่สามารถสอนให้ดีได้(善)" แล้วถึงจะมาต่อด้วย "ท่อนขยายความ" ที่ว่า "อาศัยเพียงความคุ้นชินตามธรรมชาติ (性) ก็อาจพัฒนาไปได้เพียงก้าวสั้นๆ จากจุดเริ่มต้น (相近) แต่ด้วยความพากเพียรเรียนรู้และฝึกฝน (習) ย่อมจะก้าวพ้นขีดจำกัดไปได้ไกลยิ่งกว่า (相遠)"
เก้าะถ้า "ตีความ" คัมภีร์ 三字經 (sān zì jīng, ซัน จื้อ จิง) ออกมาอย่างนี้แล้ว "ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์" ก็จะตั้งอยู่บนสมมุติฐานเดียวกับแนวคิดเรื่อง "เวไนยสัตว์" ในศาสนาพุทธพอดี และจะสอดคล้องกับจุดเน้นของคัมภีร์ส่วนที่เหลือทั้งฉบับ ที่เน้นไปในเรื่องของ "การอบรม-สั่งสอน" และ "การเรียนรู้-ฝึกฝน" เพื่อ ""พัฒนาตน" ให้เป็น "คนดี" และ "คนเก่ง" ที่ประกอบด้วย "มนุษยธรรม" และ "จริยธรรม" ... ถ้าดันทะลึ่ง "ตีความ" ว่า "มนุษย์ทุกคนเกิดมาดีแสนดีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด" จะต้องเขียนไอ้ที่เหลือให้ใครต้องไปอ่านอีกเล่า ดีอยู่แล้วก็ตายๆ ไปเลยแล้วกัน !!?! ไม่ต้องมีลมหายใจไปสั่งสอนใครอีกแล้วไง ในเมื่อเขาก็ดีกันหมดทั้งโลกอยู่แล้วนี่ ... รึไม่จริง ??!!?? ... 😄
หมดเรื่องคาใจไว้ชั่วคราวแต่เพียงเท่านี้ เอาเวลาไปแคะ "คัมภีร์อี้จิง" ส่วนที่เหลือให้จบก่อนละ !!?? ... 😄
เถียงกับคัมภีร์ ... อีกละ ?!
หลายวันก่อนได้นั่งคุยกับคุณพ่อเกี่ยวกับหนังสือ และตำรับตำราต่างๆ ที่กำลังพยายามลำดับหมวดหมู่ เพื่อทำการจัดเก็บให้เรียบร้อยใน "ห้องหนังสือ" แห่งใหม่ของบ้าน ซึ่งก็บังเอิญได้มีการพาดพิงไปถึงหนังสือ 三字經 หรือคัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" ที่องค์การ UNESCO ได้บรรจุไว้ในทะเบียน "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา ... ซึ่งมันก็แน่นอนอยู่แล้วล่ะครับว่า "ตำราระดับคัมภีร์" แบบนี้ ผมไม่มีทางรอดจากมันไปได้อยู่แล้ว ... 😄
โดยส่วนตัวแล้วผมรู้แค่ว่า มันคือ "หนังสือโบราณ" และเป็น 1 ใน 5 คัมภีร์ที่มักจะถูกเอ่ยถึงรวมกับคัมภีร์อื่นๆ อีก 4 ฉบับ และมักถูกจัดพิมพ์ไว้เป็นชุดเดียวกันเสมอ โดยเฉพาะชุด 四書五經 หรือ "สี่ตำราห้าคัมภีร์" อันลือลั่นสนั่นโลกคลาสสิคของจีนนั่นเอง ... แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังติดแหง็กอยู่กับ "คัมภีร์อี้จิง" (易經) เพียงคัมภีร์เดียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คัมภีร์ที่อยู่ในชุดเดียวกันกับ 三字經 (น่าจะติดแหง็กมาเกิน 10 ปีไปแล้วแหละ) โดยยังเหลือ "การตีความ" อีก 8 บทสุดท้าย ก่อนที่จะย้อนกลับไปเกลาสำนวน "การตีความ" ทั้งหมดของตัวเองอีกรอบหนึ่งตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ... ทั้งนี้ก็เพราะว่า "คัมภีร์อี้จิง" (易經) มักจะถูก "ตีความ" ให้เป็น "ตำราหมอดู" อยู่เป็นประจำ โดยที่ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า มันเป็น "คัมภีร์การปกครอง" ... จึงเป็นที่มาของ "ความอยาก" ที่จะ "ตีความใหม่" ทั้งหมด ... เพื่อ "ความถูกต้อง" ของผมเอง!?!?!?! ... ซ่ามาก!! ... 😄
ในขณะที่ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) ได้รับการยกย่องว่าเป็น "คัมภีร์สอนกุลบุตร-กุลธิดา" มาโดยตลอด ซึ่งโดยรวมๆ แล้วก็ไม่น่าจะผิดแปลกอะไร เพราะมันเป็นคัมภีร์ที่ถูกจัดเข้าชุดกับตำราของ "ขงจื่อ" (孔子) อยู่แล้ว ... ซึ่ง "คัมภีร์อี้จิง" (易經) ก็อยู่ในชุดนี้ด้วยเหมือนกันนะ ... อย่าลืม!?!? ... ผมจึงยังไม่เคยไปเปิดอ่านอย่างจริงๆ จังๆ เพราะไม่คิดว่าจะมีการ "แปลผิด" เหมือนกับ "คัมภีร์อี้จิง" (易經) ... ก็เท่านั้น
แต่พอคุณพ่อเอ่ยถึงขึ้นมา ผมก็เลยกลับไปเปิดอ่านดูซะหน่อย แล้วก็ทดลองหา "บทแปล" ที่มีคนเคยทำกันไว้แล้ว ... แต่พออ่านเปรียบเทียบ "บทแปล" ทั้งที่เป็นภาษาจีน กับที่เป็นภาษาอังกฤษเพียงท่อนแรกของคัมภีร์ ผมกลับรู้สึก "ไม่ถูกใจคำแปล" ขึ้นมาซะงั้น!! ... สันดานเดิมกำเริบครับ ... 😄
คืองี้ ... คัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) เขาเริ่มต้นว่า ... 人之初 , 性本善 。性相近 , 習相遠 。... และแปลกันไว้โดยทั่วไปว่า ... Men at their birth are naturally good. Their natures are much the same; their habits become widely different. ... ซึ่งเป็นไปตามที่ "เขาร่ำลือกัน" ว่า ท่าน "ขงจื่อ" (孔子) และ "เมิ่งจื่อ" (孟子) มีแนวคิดเดียวกันนี้ว่า "ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดีมาโดยกำเนิด" ... ซึ่งหลายคนก็ยัง "เชื่อว่า" พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ในลักษณะเดียวกัน โดย "ตีความ" จากคำกล่าวที่ว่า "ธรรมชาติเดิมของจิตนั้นประภัสสร" ... โดยไม่พูดถึงท่อนที่ท่านเอ่ยว่า "ธรรมชาติของจิตคล้ายดั่งน้ำที่ย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ" ... ซึ่ง "อาจจะตีความ" ได้ว่า "มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเลวทราม" มาตั้งแต่แรก ... รึเปล่า?! ... แล้ว ... การมี "แนวโน้ม" ว่าจะเลวเนี่ยะ ยังจะถือว่ามี "ความดี" เป็น "พื้นฐาน" ได้อยู่อีกมั้ยล่ะ?! ... หรือเราควรจะเชื่อนักปรัชญาบางคนที่บอกว่า "ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนเลว" ซึ่งต้องใช้ "กฎระเบียบ" และ "การศึกษา" เป็น "เครื่องมือ" ในการ "ขัดเกลา" ให้เป็น "คนดี"?! ... แล้วผู้รจนาคัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) เป็น "สาวก" ของ "ความเชื่อ" ฝ่ายไหนกันแน่?! เพราะแม้แต่ "ศิษย์สำนักขงจื่อ" เองก็ยังแตกออกเป็นสองฟากฝั่งเลยนี่นา??!?! ...
ดังนั้น ... ความหมายจริงๆ ของวลี 性本善 (xìng běn shàn, ซิ่ง เปิ่น ซั่น) ในวรรคต้นๆ ของ คัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) จึงน่าจะถูก "ตีความ" โดยอีก 2 วรรคที่ตามมา ... มั้ย?! โดยมีคำว่า 性 (xìng, ซิ่ง) ที่มีความหมายว่า "นิสัย" หรือ "บุคลิก" ถูกนำมาเป็น "คู่ตรงข้าม" กับคำว่า 習 (xí, ซี๋) ที่แปลว่า "การศึกษา" หรือ "การฝึกฝน" โดยใช้คำว่า 近 (jìn, จิ้น) กับ 遠 (yuǎn, เหฺยวี่ยน) ที่หมายถึง "ใกล้" กับ "ไกล" มาเป็น "ตัวชี้นำ" ... แต่ว่า ... มัน "ใกล้กับอะไร" แล้ว "ไกลกับอะไร" ล่ะ?! ... ถ้าจะบอกว่า "ใกล้" หรือ "ไกล" กับ 善 (shàn, ซั่น) ล่ะก้อ ... เลอะเลยครับ!!?! ... เพราะในเมื่อคำว่า 善 (shàn, ซั่น) นั้นถูก "ตีความ" ให้หมายถึง "ความดี" ไปเรียบร้อยแล้วไง?! ... ขืนระบุลงไปอย่างนั้น คำว่า 習 (xí, ซี๋) ซึ่งหมายถึง "การศึกษา" หรือ "การฝึกฝน" เป็นได้ฉิบหายกันพอดี ... 😱 ... ต่อให้บอกว่า "ใกล้" หรือ "ไกล" กับ 本 (běn, เปิ่น) ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะคำว่า 本 (běn, เปิ่น) นั้นได้ถูก "ตีความ" ให้มีความหมายว่า "ดั้งเดิม" ซึ่งกลายเป็น "คำคุณศัพท์" ของคำว่า 善 (shàn, ซั่น) ที่หมายถึง "ความดี" เหมือนเดิม ... ?!?! ... งงอ้ะดิ๊ !!?!
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำว่า 善 (shàn, ซั่น) ในที่นี้ จึงน่าจะถูก "ตีความ" ให้มีความหมายอื่นที่ไม่ใช่ "ความดี" !?!? ... แต่มันควรจะเป็นอะไรนี่สิที่ผมรู้สึกว่า มันต้อง "เถียงกับคัมภีร์" ... อีกแล้ว?!?! ... 😄 ... ถือว่าเป็น "ประเด็น" ที่ผมอยากจะเก็บเอาไว้ไปขบคิดต่อให้ชัดๆ อีกครั้งแล้วกัน ระหว่างนี้ขอกลับไป "เถียงกับคัมภีร์" ฉบับเดิมที่ค้างคามากว่าสิบปีให้จบก่อนดีกว่า ดูเหมือนจะนานเกินที่กะไว้ตั้งแต่แรกเยอะมากเลยทีเดียวเชียว !!!?!?!... 😄
สุวรรณภูมิ ... หนอ?!
เห็นเป็นกระแสดราม่ากันมาหลายวันแล้วสำหรับผลลัพธ์ของการประกวดแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร "สุวรรณภูมิ 2" ... หรือที่ผมเรียกว่า "สุวรรณภูมิหนอ" ตามสำเนียงการออกเสียงแบบ "แต้จิ๋ว" ของผม... 😄
ประเด็นของดราม่าก็คงจะมาจากประเด็นที่ว่า แบบสถาปัตยกรรมที่ชนะการประกวดอันดับที่ 1 นั้น เกิด "หลุดโค้ง" จนตกขอบและไม่สามารถเข้าเส้นชัยของคณะกรรมการฯ จาก ทอท แบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับที่ 2 จึงแซงโค้งเข้าเส้นชัยไปโดย "เทคนิคทางเอกสาร" ที่ไม่เกี่ยวกับ "เทคนิคของสนามบิน" เลยซักนิดเดียว !?!?! ... แต่มันก็คงจะไม่ดราม่าหนักขนาดนี้ หากบังเอิญว่าแบบที่ชนะการประกวดอันดับ 2 นั้น ไม่ได้ถูกสาธารณชนมองว่าเป็น "การลอกเลียน" มาจากแบบอาคารที่หลายคนเคยพบเห็นมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับมันดูไม่สมกับคำว่า "ความเป็นไทย" ที่ดูเหมือนจะเป็น "ประเด็นคาใจ" มากจากครั้งการก่อสร้าง "สถานีอวกาสสุวรรณภูมิ" หลังเดิมเมื่อหลายปีก่อน ... แต่ที่ผมเองรู้สึกว่ามันสาหัสกว่านั้นก็คือ มันดูไม่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ กับ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมนั้นเลยซักนิดเดียว ... ประมาณว่า ผมรู้สึกเหมือนมีการนำ "ขยะทางสายตา" อีกกองหนึ่งมาถมลงไปตรงบริเวณ "หนองงูเห่า" นั้นก็ไม่ปาน ... 😋 ... แต่ก็เอาเหอะ !! ... ผม "เชื่อว่า" เหล่า "คณะกรรมการอันทรงภูมิ" แห่ง ทอท คงพิจารณาแล้วว่า มันเหมาะเหม็งจริงๆ กับแบบสถาปัตยกรรมที่ว่านั้น เพื่อสะท้อน "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ที่เราไม่เคยมีอะไรเป็นของตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ มาก่อนเลย !!! ... ซึ่งก็ดู "เป็นไทยๆ" ไปอีกแบบที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ ... 😅
แต่พอเอาเข้าจริงเมื่อมีคนนำเอาแบบสถาปัตยกรรมที่ "แพ้" แบบ Technical Knockout มาอวดโฉมให้ดูกันทางอินเทอร์เน็ต ผมก็รู้สึกว่ามันมี "การลอกแบบ" หรือ "การจำลองความคิด" มาจากสนามบินของสิงค์โปร์แบบชัดๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรเพราะสนามบินของเขาชนะการคัดเลือกให้เป็นสนามบินดีเด่นระดับโลกถึง 5 ปีติดต่อกันมากก่อนนี่นา ... การเอาของดีๆ ของเขามาใช้บ้างมันก็น่าจะโอเคอยู่หรอก ... จริงมั้ยล่ะ?!!? ... 😈 ... อีกอย่างนะ ... ไอ้ "ความเป็นสนามบิน" เนี่ย มันก็ "เป็นสากล" ซะจนไม่รู้ใครลอกใครก่อนมาตั้งนานแล้วนี่นา ... รึไม่ใช่?! ... สรุปว่า ประเด็นของ "การลอก" หรือ "การไม่ลอก" สำหรับผมนั้นมันไม่ใช่ "สาระสำคัญ" ไปละ เพราะ "ความรู้" ที่ไหลเวียนราวกับฝุ่นผงในชั้นบรรยากาศของโลกทุกวันนี้ เราเองก็แทบบอกไม่ได้เลยว่า สิ่งที่หลายคนเรียกว่า "แรงบันดาลใจ" นั้น มันมีที่มาจาก "ซอกหลืบไหนของประสบการณ์" ของเราบ้าง แล้วหลายคนก็ "เรียน-เลียน-เลียน-เรียน" กันจนไม่รู้แหล่งไหนเป็นแหล่งไหนมาตั้งหลายปีอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อผมฝักใฝ่ในแนวคิดแบบ "โอเพนซอร์ส" ด้วยแล้ว "การหยิบยืม" หรือ "การคัดลอก" มาใช้งานยิ่งไม่ใช่ "สาระสำคัญ" สำหรับผมอีกต่อไป ... แต่ว่า ...
ผมยัง "คาใจ" กับ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมนั่นมากกว่า คือมัน "น่าเกลียด" สำหรับผมไง!! ... แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พวกเราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า นั่นคือ "สนามบินแห่งชาติ" ของประเทศไทย แล้วถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรจะหาทางปรุงแต่งให้มันได้รับความรู้สึกที่ดีขึ้นมาบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ซึ่งผมก็ยอมรับว่า แบบสถาปัตยกรรมที่ "แพ้" Techinical Knockout ไปนั้น ได้พยายามจัดการกับประเด็นด้านรูปลักษณ์อาคารนี้พอสมควร และต้องถือว่า ได้ให้ "ความเคารพ" ต่อ "สภาพแวดล้อมทางกายภาพ" ที่มีอยู่ก่อนของอาคารหลังใหม่อย่าน่าชมเชยกว่าแบบที่ "แซงโค้ง" เข้าวินไปหลายขุมเลยทีเดียว ... แต่ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะถ้า "เทคนิคทางเอกสาร" อัน "จุกจิกหยุมหยิม" ยังไม่แม่น เราจะไปวางใจให้ดูแลระบบที่น่าจะ "ซับซ้อน" ยิ่งกว่าได้ไง??!! ... จริงป้ะ?! ... 😈
จะว่าไปแล้ว ผมรู้สึก "เสียดาย" กับแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นอันดับที่ 3 มากกว่า เพราะนอกจากมันจะดูสวย มีแนวคิดที่งดงาม ประกอบกับรูปทรงอาคารก็ทันสมัยแบบ "ไม่ไทยจ๋า" จนน่าเบื่อ แถมยังช่วย "ปรุงแต่ง" ให้ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมดู "ไม่หลุดโลก" เหมือนเมื่อก่อน แต่กลับสามารถผนวกมันเข้าไปในเรื่องราวใหม่ตามแนวคิดที่งดงามนั้นได้อีกต่างหาก มีการนำเสนอรายละเอียดของการใช้งานจริง และการวางแผนสำหรับส่วนต่อขยายในอนาคตไว้อย่างค่อนข้างครบครัน ... อาจจะมีมุมไหนที่ "ลอกเลียน" ใครมาอีกบ้างรึเปล่าผมก็ไม่รู้ละ เพราะประสบการณ์ของผมเองก็ไม่ได้กว้างไกลใหญ่โตจนสามารถ "จับโกหก" ใครต่อใครได้อยู่แล้ว ... เพียงแต่รู้สึกว่า มันตอบ "โจทย์ที่คาใจ" เรื่อง "สถานีอวกาศสุวรรณภูมิ" ได้อย่างเหมาะเจาะที่สุดในจำนวนทั้ง 3 แบบที่ผมเห็น ... ก็เท่านั้น !!?! ... แต่ "คณะกรรมการผู้ทรงภูมิ" ทั้งหลายท่านเห็นเป็นอย่างอื่นที่ไม่ตรงกับใจผม มันก็เรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบกันไปเอง ... ด้วยเงินภาษีของผมจำนวนน้อยนึง!! ... 😄
ไอ้เรื่อง "ชอบใจ" หรือ "ไม่ชอบใจ" ในแบบสถาปัตยกรรมแต่ละแบบมันก็ต้องมีกันบ้างอยู่แล้วแหละ ยังไม่ต้องนับเรื่อง "ชอบขี้หน้า" หรือ "ไม่ชอบขี้หน้า" สถาปนิกที่ออกแบบด้วยก็ได้ เพราะประเด็นมันจะเลอะเทอะไปกันใหญ่ ในเมื่อ "คณะกรรมการผู้ทรงภูมิ" เขาได้ตัดสินกันไปแล้วตาม "หน้าที่" ของพวกเขา สาธารณชนก็ไม่ควรจะเอะอะโวยวายด้วย "อารมณ์ที่แตกต่างกัน" ให้วุ่นวาย ... เก้าะ ... ในเมื่อเราไม่ใช่ "ผู้ทรงภูมิ" ที่เขามาอัญเชิญให้ไป "แดกเผือกร้อน" ก้อนนี้มาตั้งแต่แรกนี่นะ ... จะ "สมหวัง" หรือ "ผิดหวัง" มันก็เพราะพวกเราไป "ตั้งความหวัง" เอาไว้เองทั้งนั้นแหละ!! ... รึไม่จริง?!! ... 😄
มาตรฐานการบัญชี ... เหรอ ?!?!
ผมมักจะบอกกับใครต่อใครมาโดยตลอดว่า "การบัญชี" คือ "ศาสตร์ที่ตายไปแล้ว" เพราะมันไม่เคยมีพัฒนาการใดๆ อีกเลยหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาได้ระยะหนึ่งใน "ชีวประวัติทางวิชาการ" ของมัน ... โดยทุกวันนี้มันก็ยังวนเวียนอยู่กับ "สมการเดิม" ซึ่งเป็นเพียง "สมการเดียว" ในชีวิตที่แท้จริงของ "ศาสตร์ที่ไร้พัฒนาการ" สาขานี้ ... "ทรัพย์สิน = หนี้สิน + ทุน" อันเป็นที่มาของ "กฎเหล็ก" ที่เปรียบประดุจ "บัญญัติแห่งพระเจ้า" ว่า ... "เดบิต" ต้องเท่ากับ "เครดิต" เท่านั้น ... แล้วมันก็ไม่มีอะไรอีกเลย !!!?!
แต่ทำไม "โลกของมนุษย์บัญชี" ถึงได้ดูยุ่งเหยิงวุ่นวายด้วยการบันทึก "รายการทางบัญชี" อย่างสลับซับซ้อน ซึ่งแม้แต่ "มนุษย์บัญชี" แต่ละรุ่น ที่น่าจะมาจากดาวดวงเดียวกัน ยังต้องใช้เวลาอีกตั้งหลายปีกว่าจะมี "สำนึกมนุษย์บัญชี" จริงๆ อย่างที่ชาว "มนุษย์บัญชี" จะยอมรับรองกัน ?!?! ... อะไรคือเหตุผลที่ที่ทำให้มันต้องยุ่งยากวุ่นวายขนาดนั้น ?!?! ... เก้าะถ้า ... ไอ้ความยุ่งยากวุ่นวายที่ชาว "มนุษย์บัญชี" เรียกขานกันว่า "มาตรฐานการบัญชี" นั้น มันดีจริงๆ มันสมบูรณ์แบบแล้วจริงๆ มันถูกต้องแล้วจริงๆ และสามารถสะท้อนความเป็นจริงของโลกธุรกิจได้อย่างที่คุยโวโอ้อวดเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่อลังการแล้วล่ะก้อ ... มันยังจะต้องปรับเปลี่ยนมาตรฐานกันทำไมอยู่เรื่อยๆ?!?! ... ทำไมถึงยังมีการโกงในระบบบัญชีได้อยู่เป็นประจำ?!?! ... ทำไมมันถึงสามารถซุกซ่อนความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายเอาไว้ได้อย่างลึกลับซับซ้อน จนต้องมีการกำหนดมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อบังคับใช้ให้เป็นกฎหมาย??!!? ... ฯลฯ ... คำตอบเดียวที่ผมนึกออกในเวลานี้ก็คือ ... "มนุษย์บัญชี" มอง "ความจริง" ที่ "ต่างมิติ" กับ "มนุษย์ปรกติ" โดยทั่วไปนั่นเอง !!!
ถ้า "การบัญชี" มีความสำคัญในระดับที่สามารถ "ชี้เป็นชี้ตาย" ให้กับองค์กรทางธุรกิจต่างๆ อย่างที่อวดอ้างสรรพคุณเอาไว้แล้วล่ะก้อ ... ทำไมการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ถึงต้องอ่านยาก?! แล้วยังต้องพลิกหน้าเอกสารอีกตั้งหลายๆ หน้า เพียงเพื่อจะรู้ข้อมูลที่จำเป็นอะไรบางอย่างก่อนตัดสินใจ?! ... ทำไมการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ถึงต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 นาที?!?! ... ทำไมมันถึงใช้เวลาเพียง "เสี้ยววินาที" เพื่อการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ก่อน "การตัดสินใจ" อย่างทันทีทันใดเหมือน "เรื่องคอขาบาดตาย" เรื่องอื่นๆ ใน "ชีวิตมนัษย์" ไม่ได้??!! ... ทำไม??!! ... มันก็น่าจะเพราะ "มนุษย์บัญชี" มี mindset ที่ไม่ตรงกับ "โลกของความเป็นจริง" อีกนั่นแหละ !!! ... การใช้ "ภาษามนุษย์บัญชี" เพื่อสื่อสารกับ "ชาวมนุษย์โลก" จึงไม่เคยราบรื่น และไม่อาจเป็นที่เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างที่ "โลกธุรกิจ" ควรจะเป็น ... เท่านั้น ...
"มนุษย์บัญชี" มักจะ "เชื่อกันว่า" การบันทึกรายการเดียวกันหลายๆ ที่ เก็บรายละเอียดให้ต่างรูปแบบกันหลายๆ ครั้ง จะช่วยป้องกัน "การบิดเบือนข้อมูลที่แท้จริง" ... แล้ว "มนุษย์บัญชี" จำนวนมากก็ยัง "เชื่อว่า" การเก็บข้อมุลเดียวกันหลายๆ จุด จะช่วยให้ "การตรวจสอบ" มี "ประสิทธิผล" ที่ "เที่ยงตรง" และ "แม่นยำ" มากขึ้น เพราะสามารถ "กระทบยอด" กลับไปกลับมาได้อย่าง "ไม่มีทางผิดพลาด" ได้เลย ... ฯลฯ ... "มนุษย์บัญชี" มี "ความเชื่ออย่างฝังหัว" ด้วยว่า "การตรวจสอบที่เข้มข้น" และ "ละเอียดยิบ" คือหนทางเดียวที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ มี "ความโปร่งใส-ชัดเจน" อันเป็นปัจจัยที่จะ "ส่งเสริม" ให้เกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้านอย่างราบรื่น ... ฯลฯ ... ซึ่งทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า "เทพนิยายของมนุษย์บัญชี" ... ล้วน ... ล้วน ... เลยครับ ... !!?!?!??
ความจริงแล้ว ... การบันทึกรายการหลายๆ ครั้งด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น คือ "การบั่นทอนประสิทธิภาพของงาน" อย่างเลวร้ายมากๆ และ "การกระทบยอด" เพื่อยืนยัน "ความถูกต้องตรงกัน" ของเอกสารต่างรูปแบบกันนั้น ย่อมทำให้ "มนุษย์บัญชี" มุ่งความสนใจอยู่กับ "การตรวจสอบเอกสาร" แต่ตัดขาด "ความสัมพันธ์" กับ "ข้อเท็จจริง" ไปโดยปริยาย ... ส่วน "การตรวจสอบที่เข้มข้น" กับ "การตรวจสอบอย่างละเอียด" นั้น ก็เป็นคนละเรื่องกับ "การสร้างหลักฐานทางเอกสาร" จำนวนมากๆ ขึ้นมาล้างผลาญเวลาของชีวิตไปกับ "การตรวจสอบ" ที่ "ไม่เคยก่อเกิดประโยชน์" ใดๆ เลย ... !!?!?! ... 😱
ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ แล้วก็ไม่มีใครอ่านผิดด้วย ... "การตรวจสอบ" คือกิจกรรมที่ "ไม่เคยก่อประโยชน์" ใดๆ เลย เพราะมันคือ "ค่าใช้จ่าย" ... ล้วน ... ล้วน ... !?!?! ... จริงอยู่ที่ "การตรวจสอบ" คือ "สิ่งจำเป็น" ของการปฏิบัติงานในทุกๆ ด้าน ... แต่ "สิ่งจำเป็น" ก็คือ "สิ่งที่ต้องมีเท่าที่จำเป็น" เท่านั้น ไม่ใช่มีมันพร่ำเพรื่อไปเรื่อยเปื่อยอย่างไร้สาระไปวันๆ อย่างที่ "มนุษย์บัญชี" หลายคน ... "ตะแบง" ปฏิบัติงานกันอยู่!!?! ... เพราะใน "โลกของความเป็นจริง" นั้น ... "การตรวจสอบ" คือ "การทำซ้ำ" ในสิ่งที่ "ทำไปแล้ว" ... คือ "การดูซ้ำ" ในสิ่งที่ "ดูไปแล้ว" ... มันจึงไม่มี "พัฒนาการ" ใดๆ ที่จะงอกเงยออกมาจาก "การตรวจสอบ" ที่เป็น "การทำซ้ำ" อย่างแน่นอน ... การล้างผลาญเวลาไปกับ "การตรวจสอบที่ไม่เจออะไรผิด" คือ "การใช้ชีวิตที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ" ให้แก่โลก ... และต่อให้เจออะไรที่มันผิดพลาดจริงๆ มันก็อาจจะเป็น "ความผิดพลาด" ที่สร้าง "ความฉิบหายไปก่อนหน้านั้น" เมื่อ น า น ม า แ ล้ ว อยู่ดี ... ซึ่งมันเก้าะยังโอเคอยู่นะ ถ้าเรายังมีโอกาสได้ลงโทษคนที่กระทำความผิดกันบ้าง ... แต่ถ้ามันเป็น "ความผิดพลาด" ที่เกิดจาก "ความไม่ทันต่อเหตุการณ์" ของ "การตัดสินใจ" เพราะมัวแต่งงกับรูปแบบอันสลับซับซ้อนของ "รายงานทางบัญชี" ล่ะ??!! ... จะบอกว่าเป็น "ความฉิบหาย" อันเกิดจาก "มาตรฐานการบัญชี" ที่ "มนุษย์บัญชี" สุมหัวกันร่างขึ้นมาได้มั้ย??!!
ผมเห็นด้วย 100% กับการที่เราควรจะต้องกำหนด "มาตรฐานการบัญชี" ขึ้นมา เพื่อให้ทุกๆ หน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติอย่าง "ถูกต้องตรงกัน" ... แต่ "ความเป็นมาตรฐาน" กับ "ความสลับซับซ้อน" หรือแม้แต่ "ความละเอียดละออ" กับ "ความจุกจิกหยุมหยิม" นั้น มันเป็นบรรทัดฐานที่ "ต่างโลก-ต่างมิติกัน" ซึ่งไม่ควรนำมาปะปนจนดูเหมือนอาการของคนเสียสติอย่างที่กำลังเป็นกันอยู่ ... เพราะโดยส่วนตัวแล้ว "หลักเกณฑ์พื้นฐาน" ที่ผมใช้ใน "การนำเสนอรายงาน" ทุกชนิดของผมก็คือ ... มันจะต้องมี "ความครบถ้วนสมบูรณ์อย่างเบ็ดเสร็จหมดจด" ภายในเนื้อที่เพียงหนึ่งหน้ากระดาษ ... เท่านั้น!!? ... และที่สำคัญที่สุดก็คือ "การดาษต้องพูดได้" ด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องมีใครบางคนมาคอยนั่งชี้แจง หรือคอยให้คำอธิบายทุกๆ รายละเอียดอยู่ตลอดเวลา ... เพราะฉะนั้น ส่วนที่เป็น "สาระสำคัญ" ของรายงานแต่ละชิ้น จะต้องมี "ความรวบรัด-ชัดเจน" ต้อง "ไม่เยิ่นเย่อรุ่มร่าม" ให้ใครต้องมา "เสียเวลาของชีวิต" กับ "รายงานที่สิ้นคิด" เหล่านั้นเป็นอันขาด ...
"มนุษย์บัญชี" เอย ... จงกลับตัวกลับใจเสียใหม่เถิด หากยังมีจิตสำนึกที่เพียพอแก่ "การพัฒนาสังคมโลก" ให้ยังสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ... อย่างยั่งยืน !!