เล่าเรื่องย้ายหนังสือ
เป็นเวลาประมาณ 373 วันนับจากการโพสต์ในเว็บส่วนตัวครั้งสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องเล่าอื่นๆ นอกจากหนังสือที่ตัวเองอ่านเท่านั้น แต่ครั้นจะถามว่า ระยะเวลาร่วม 400 วันมานี้ไม่มีหนังสือที่น่าสนใจเลยรึไง?! ... หรือว่า "อ่านไม่เข้าหัว"?! ... หรือว่า "ไม่ได้อ่านเลย"?! ... ฯลฯ ... ทั้งๆ ที่ก็ยังตะบันซื้อหนังสืออยู่เป็นประจำแทบจะทุกโอกาสที่ไปเดินห้างฯ ?!?!?!
จะว่าไปแล้ว "ข้อแก้ตัว" ข้อหนึ่งก็คือ "เวลา" ครับ คือมันเหมือนกับว่า "เวลา" ถูกทำให้หดหายไปเพราะกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายหลายเรื่องจนเกินไป ซึ่งทำให้การอ่านของผมในระยะหลังๆ มานี้ ต่อให้มี "ประเด็นที่น่าสนใจ" มันก็ไม่ได้ถูกเรียบเรียงให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนที่พอจะสื่อสารออกมาให้รู้เรื่องได้ง่ายๆ อยู่ดี สุดท้ายก็ได้ปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ โดยไม่ได้เล่าอะไรออกมาให้ใครฟังอีกเลย
ยิ่งในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมานี้ด้วยแล้ว การหอบหิ้วหนังสือทั้งหมด (จริงๆ ต้องใช้คำว่าบรรทุกมากกว่า) มาเรียงเก็บให้เป็นหมวดหมู่บนชั้นวางในบ้านหลังใหม่ก็สร้างความวุ่นวายไม่ไช่น้อยเลย ถึงแม้ว่าการทำ "ทะเบียนหนังสือ" จะดำเนินการไปก่อนหน้านั้นมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ด้วยปริมาณที่ไม่สามารถจัดการได้หมดก่อนกำหนดการย้าย หนังสือจำนวนหนึ่งจึงถูกเคลื่อนย้ายมาในสภาพที่ไม่เป็นหมวดหมู่เหมือนตอนที่พวกมันยังอยู่ในตู้เดิม จึงทำให้การจัดเก็บเข้าที่ใหม่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องคอยขยับสับเปลี่ยนตำแหน่งของที่วางให้เหมาะกับปริมาณของแต่ละหมวดหนังสือ
ตั้งใจเอาไว้ว่า หลังจากทำ "ทะเบียนหนังสือ" ควบคู่ไปกับ "การจัดเก็บหนังสือ" เรียบร้อยแล้ว ก็จะสร้างระบบ "สารบัญหนังสือ" ขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่ามันจะเข้าใจได้ง่ายกว่าระบบเดิมๆ ที่เขานิยมใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ "การหาหนังสือของตัวเอง" ง่ายกว่าการพยายาม "เลียนแบบวิธีการ" ทางสารบัญของคนอื่นๆ อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ... พอถึงตอนนั้นจริงๆ การหยิบหนังสือแต่ละเล่มมาเล่าก็น่าจะสะดวกกว่าเดิม เพราะข้อมูลที่ควรจะให้ไปพร้อมๆ กัน ได้ถูกทะยอยบันทึกไว้ใน "ทะเบียนหนังสือ" ทั้งหมดแล้วนั่นเอง
ผมมองว่า "ห้องหนังสือ" ที่ทำไว้นี้ มันไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บ "กระดาษเปื้อนหมึก" เท่านั้น แต่มันคือ Time Capsule ที่รวบรวม "ความคิด" และ "ชีวิต" ของบุคคลจำนวนหนึ่งเอาไว้ โดยมีบางเล่มก็ถึงกับเป็นเรื่องราวของชนชาติทั้งชนชาติเลยทีเดียว ซึ่งเราแทบไม่มีทางรับรู้ได้โดยตรงเลยว่า กว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะได้รับการสืบทอดมาจนกลายเป็นเล่มหนังสือแต่ละเล่มบนชั้นวางของเรานั้น มันได้ผ่านวันเวลาแห่งความเหนื่อยยาก และผ่านวันเวลาแห่งความวิริยะอุตสาหะของใครต่อใครอีกตั้งเท่าไหร่ ... คุณค่าของบางสิ่งจึงไม่ได้อยู่ที่เราได้ประโยชน์อะไรจากมัน แต่อยู่ที่มันได้หลอมรวมพลังแห่งความตั้งใจของใครอีกหลายๆ คนไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย ... การนิยาม "คุณค่า" ให้จำกัดอยู่ในวงที่ "คับแคบ" เพียงเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มนั้น จึงเป็น "ความมักง่าย" ที่จะหล่อหลอมให้สังคมโลกขาดความเห็นอกเห็นใจ และขาดความเคารพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไปตลอดกาล ...
ข้อ (ไม่) คิดจากวรรณคดี ของ "นายผี"
ผมได้อ่านงานเขียนของ "นายผี" ครั้งแรกจากผลงานแปลเรื่อง "ภควัตคีตา" ของเขาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นผมบอกได้แค่เพียงว่า มันน่าประทับใจมากๆ กับการอ่านหนังสือที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องซักเท่าไหร่ ด้วยความที่มีอาการมึนๆ งงๆ กับรูปแบบของคำศัพท์แปลกๆ ที่ผมไม่คุ้นตาเอาซะเลย เพราะ "นายผี" แกเล่นผสมคำขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะคง "ความขลัง" ของจำนวนโศลกตามต้นฉบับเดิมของ "ภควัตคีตา" ไว้ให้ได้ ... แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมก็ไม่เคยได้หยิบจับผลงานเขียนของ "นายผี" มาอ่านอย่างจริงๆ จังๆ อีกเลย ... จำไว้แค่เพียงว่า "นายผี" หรือ "อินทรายุทธ" คือนามปากกาของคุณ "อัศนี พลจันทร" หนึ่งในจำนวน "นักคิดหัวก้าวหน้า" ของไทยในสมัยหนึ่ง และเป็นบุคคลที่บรรดา "ศิลปินเพื่อชีวิต" หลายต่อหลายรุ่นให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากด้วย ... ซึ่งการได้อ่านผลงานแปลเรื่อง "ภควัตคีตา" ของ "นายผี" ในครั้งนั้น ถือได้ว่ามีส่วนที่ทำให้ผมนิยมชมชอบ "นายผี" อยู่ด้วยในระดับหนึ่ง และไม่รู้สึกแปลกใจที่มีนักอะไรต่อมิอะไรในสังคมไทยอีกหลายคน ให้ความเลื่อมใสศรัทธาในบุคคลผู้นี้มาโดยตลอด
แต่การได้อ่าน "ข้อคิดจากวรรณคดี" ของ "นายผี" ในอีกหลายปีต่อมากลับทำให้ผมรู้สึกแตกต่างออกไป จริงอยู่ที่ "ทักษะทางภาษา" ของ "นายผี" ยังคงมีมาตรฐานที่ "สูงส่ง" อย่างน่าพอใจในระดับที่ไม่แตกต่างไปจากที่ผมเคยรู้สึกมาก่อน แต่ "กรอบคิด" ที่ผมรู้สึกว่า "ค่อนข้างจะคับแคบ" ของ "นายผี" นั้นเอง ที่ดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกเดิมๆ ที่ผมเคยได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ ... มันทำให้ผมพอจะจินตนาการถึงสาเหตุแห่งความล่มสลายของ "วิถีแห่งมาร์กซิสต์" ที่บรรดาสาวกจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็พยายามจะประโคมโอ่ว่า มันคือ "หลักคิด" ที่จะสามารถปลดเปลื้อง "พันธนาการทางสังคม" ให้แก่ "ชนชั้นแรงงาน" หรือ "ชนชั้นล่างผู้ถูกกดขี่" อย่างแท้จริง ... แต่ "การสร้างปีศาจทางชนชั้น" ขึ้นมาเพื่อ "ยุแยง" ให้เกิด "ความแตกแยก" ในสังคม แถมด้วยการใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยให้ "ฝ่ายปฏิกิริยา" มี "ความต่ำช้า" ในระดับเดียวกับ "สัตว์เดรัจฉาน" นั้น ... มันมีอะไรที่แตกต่างไปจาก "การกดขี่ทางชนชั้น" ที่บรรดา "สาวกมาร์กซีสต์" พยายามจะล้มล้างลงไปอย่างนั้นเหรอ ??!! ... การพยายามผูกโยงให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกับ "ความขัดแย้งทางชนชั้น" เพื่อสร้าง "กระแสแห่งความเกลียดชัง" ระหว่างสมาชิกในสังคมด้วยกันนั้น มันช่วยจรรโลงโลกให้เกิดสังคมที่สวยงามตรงไหน??!! ... การเอาแต่สร้างถ้อยคำเพื่อตำหนิติเตียน และพยายามชี้นำว่าศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ด้อยค่าไร้ราคา โดยมิได้สร้างสิ่งใดให้แตกต่างอย่างสวยงามขึ้นมาอย่างจริงๆ จังๆ เลยนั้น มันจะก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมอะไรขึ้นมาได้มั้ย ??!! ... ภาษาเขียนที่ใช้ถ้อยคำอย่างสละสลวย มีการผูกคำสร้างรูปประโยคอย่างสลับซับซ้อน มันคือ "ศิลปะเพื่อปวงชน" จริงๆ หรือเป็น "ศิลปะเพื่อชนชั้นปัญญา" ที่จะก้าวขึ้นสู่ "ความเป็นผู้ปกครอง" ของ "ผู้ด้อยปัญญา" ในสังคมแทน "กลุ่มชนชั้นเดิม" กันแน่ล่ะ ??!! ... ฯลฯ ...
มันดูราวกับว่า บรรดา "สาวกมาร์กซีสต์" ทั้งหลาย ต่างมุ่งเน้นที่จะ "นิยามความแตกต่างทางชนชั้น" ด้วยนิยามอื่น ที่ไม่ใช่ชาติกำเนิด หรือไม่ใช่ชื่อยศชื่อตำแหน่งทางการปกครอง แต่กำลังพยายามจะ "แบ่งแยกชนชั้น" ด้วย "นามธรรมบางอย่าง" ของ "บุคคลระดับนำ" แทน ... มันจึงทำให้ "การสลายความเป็นชนชั้น" อย่างที่พวกเขาชอบกล่าวอ้างกัน กลายเป็น "สิ่งลวงโลก" และไม่มีอยู่จริงในจิตสำนึกของพวกเขาเลย ?!?!?! ...
ทำไมเราต้องโกรธเกลียดคนอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดเหมือกับเรา ?! ... ทำไมเราถึงเลือกที่จะทำลายคุณค่าของผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ด้วยการตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง และสร้างกระแสแห่งความเกลียดชังให้ลุกลามไปทั่วๆ ?! ... ทำไมเราต้องทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ชอบลงไปให้หมด แล้วค่อยเกณฑ์ใครต่อใครมาช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากเศษซากปรักหักพังเหล่านั้น ?! ... ทำไมเราถึงไม่เลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า เพื่อทดแทนสิ่งที่เราเชื่อว่ายังไม่ดีพอ แล้วแบ่งปันให้เป็นทางเลือกสำหรับคนอื่นๆ ในสังคม โดยไม่ต้องทำลายสิ่งใดๆ ของใครเลยล่ะ ?! ... บางที ... อาจจะเป็นเพราะ "สาวกมาร์กซีสต์" ทั้งหลายนั้นเกิดเร็วเกินไป จึงไม่เคยได้สัมผัสกับ "จิตวิญญาณแบบโอเพนซอร์ส" ที่มี "ความเป็นคอมมูน" ยิ่งกว่า "แนวคิดเยี่ยงเด็กน้อย" ของผู้เฒ่าอารมณ์ร้ายอย่าง Karl Marx เป็นไหนๆ ก็เป็นไปได้นะ !!??!!?!? ... 😅
อีกครั้งกับ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล"
ตั้งท่าว่าจะย้อนกลับไปอ่านหนังสือ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล" ฉบับแปลของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อีกซักรอบหนึ่ง หลังจากที่ซื้อหนังสือรวม "คำนำ" ของแกมา "ดอง" ไว้นานพอสมควรแล้ว ซึ่งในที่สุดก็ได้อ่านซักที แต่จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ "การย้อนกลับไปอ่าน" เล่มเดิมที่ตัวเองเคยอ่านครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนนู่นหรอก เพราะเขาดันมี "ฉบับพิมพ์ใหม่" ออกมาล่อให้เสียเงินด้วยการพิมพ์ข้อความไว้บนปกว่า "ฉบับสมบูรณ์ ภาค๔ ค้นพบใหม่" ซะงั้น ... ซึ่ง "เหยื่อ" แบบนี้ไม่มีทางที่ผมจะรอดอยู่แล้ว !!? ... 😅
ต้องยอมรับครับว่า ผม "เคย" ประทับใจมากๆ กับหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ และเคยติดตามงานเขียนเล่มอื่นๆ ของ Richard Bach อยู่ระยะหนึ่ง (จนรู้สึกว่าแกไม่ค่อยมีมุขใหม่ๆ ไปแล้วนั่นแหละ) รวมทั้ง "เคย" ประทับใจกับชื่อของ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ในฐานะของผู้แปลด้วยเหมือนกัน ... แต่ก็รู้สึกจางๆ ลงไปพอสมควรหลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งทำให้รู้สึกว่า "วิถีคิด" แบบ "นางนวลโจนาธาน" นั้น ดูจะ "แข็งกร้าว" จนเกินไป !!?! ... 😏
ภาค ๔ ของหนังสือ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล" ก็เลยพลอยไม่ค่อยมี "พลัง" ไปด้วย เพราะ "ความน่าประทับใจ" ของมันถูกหนังสือเรื่อง ONE หรือ "คือหนึ่ง" ของ Richard Bach เองนั่นแหละ "แย่ง" ไปจนหมดแล้ว มันก็เลยดูเหมือน "ซ้ำซาก" แบบ "ความคิดตกร่อง" เช่นเดียวกับ "วิถีคิด" ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ผมมักจะรู้สึกว่าแก "ตกร่องทางความคิด" จนไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ให้ "น่าศึกษา" อีกไปตั้งนานมาแล้วเหมือนกัน ... 😈
ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะ "ความเจริญวัย" ของผมเอง ที่มีโอกาสได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ อีกหลายอย่าง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ตัวผมเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาหลายปีของชีวิตการทำงาน ... จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า "เสรีภาพ" แบบที่ "นางนวลโจนาธาน" โหยหานั้น มี "ขอบเขตเฉพาะตัว" ที่ "คับแคบ" จนเกินไป เป็น "การจองจำอิสรภาพทางความคิด" ให้ "ดักดาน" อยู่กับเพียง "นิยาม" ของ "เสรีภาพ" ที่ตัวเองเท่านั้นเป็น "ผู้กำหนด" ... หรือ ... "นิยาม" ของผู้อื่นที่บังเอิญตนเองให้ "ความศรัทธา" เป็นผู้กำหนดเอาไว้แล้วเท่านั้น ... ซึ่งสำหรับผม ... นั่นยังไม่อาจนับเป็น "เสรีภาพที่แท้จริง" อยู่ดี !!?!?
"การโหยหาเสรีภาพ" นั้นเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าติดตามเสมอ แต่ "การยึดมั่นในเสรีภาพ" คือ "กับดักทางความคิด" ที่ทำให้ "วิญญาณเสรี" ของบุคคลหนึ่งๆ ต้อง "ถูกจองจำ" อยู่ใน "ความดักดาน" ของตัวเอง โดยยัง "หลงเชื่อว่า" ตนนั้นมี "วิญญาณเสรี" อยู่อย่างเต็มเปี่ยมตลอดเวลา ... และนั่นคือ "ความรู้สึก" ที่ผมมีต่อ "นักวิชาการ" กลุ่มหนึ่งที่ยังคงพยายามเผยแพร่ "ความคิดตกร่อง" ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับด้วยความตื่นตาตื่นใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ... เก้าะ ... จนกว่า "นางนวล" น้อยๆ เหล่านั้นจะเจริญวัยกว่านี้ และมองย้อนกลับมาถึงคืนวันอันน่าตื่นใจของ "วัยแสวงหา" ของพวกเขา ... เพื่อที่จะแสดง "ความเตารพ" ต่อ "นักวิชาการ" กลุ่มเดิมๆ ที่ยังคงพร่ำสอน "สิ่งเก่าๆ" ให้แก่อนุชนรุ่นต่อๆ ไปอย่างไม่เคยเปลี่ยน ... ดุจดั่ง "คุณครูระดับประถม" ที่ยอม "หยุดตัวเอง" เพื่อส่งผ่าน "ความรู้พื้นฐาน" ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยความหวังว่า ... เยาวชนเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่า "จุดเดิม" ที่ "คุณครู" ทุกๆ คนยอม "หยุดตัวเอง" ไว้แค่ตรงนั้น ?!?!?! ... 😶
กัลยาณสะกิด
จู่ๆ ผมก็ได้รับ e-mail จากคุณ "ธนวัฒน์ ดลภากร" ซึ่งไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อนเลย โดยเข้าใจว่า คุณธนวัฒน์น่าจะผ่านมาพบเห็นเว็บไซต์ส่วนตัวแห่งนี้ของผมเข้า และได้ตามเข้าไปอ่าน "อี้จิง" ฉบับ ZhuqiChing ที่ยังคงคั่งค้างอยู่ แล้วจึงได้ทักทายเข้ามาโดยอาศัยหน้า Contact ที่ผมเปิดเอาไว้ ... สิ่งที่สะดุดใจผมเป็นอย่างยิ่งก็คือ คุณธนวัฒน์ได้เอ่ยถึง "บทที่ 24" ถึง 2 ครั้งใน e-mail ทั้ง 2 ฉบับที่ส่งเข้ามา จึงทำให้ผมอยากย้อนไปอ่านทบทวนสิ่งที่ตนเองได้ "ตีความเอาไว้" อย่างละเอียดอีกครั้ง ... และต้องขอบอกว่า ผมรู้สึก "ขอบพระคุณมากจริงๆ" สำหรับ "กัลยาณสะกิด" ของ "นามมิตร" ที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อนท่านนี้ ... เป็นความรู้สึกขอบคุณที่ผมไม่อยากจะเก็บไว้เงียบๆ คนเดียว ... จริงๆ !!
"คัมภีร์อี้จิง" ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งที่ผมอยากจะทำให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนจากโลกนี้ไป (แปลว่าถ้ายังไม่เสร็จก็จะไม่ยอมไปเกิดใหม่ที่ไหนทั้งนั้น 😃) แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ไม่ลงตัวในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้งาน "ตีความ" คัมภีร์ดังกล่าวต้องหยุดพักไปเป็นการชั่วคราว โดยผมต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดของตัวเองไปกับงานประจำที่มีเรื่องเร่งด่วนให้ต้องสะสาง ... อย่างทุ่มเท ... และต้องยอมรับว่า บ่อยครั้งมากที่ผมใช้ "ความเป็นตัวเอง" กับทุกสิ่งทุกอย่างมากจนเกินไป ซึ่งแม้แต่ผู้คนรอบข้างก็พอจะสัมผัสได้ เพียงแต่ไม่สามารถทักท้วงอย่างตรงไปตรงมา เพราะประเด็นต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้น ล้วนเป็นวาระเร่งด่วนที่ไม่มีใครสามารถปฎิเสธได้เลย ...
มันอาจจะเป็นเพียง "ความบังเอิญ" ที่จู่ๆ ก็มี e-mail มาเตือนให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่าน ZhuqiChing บทที่ 24 ของตัวเองอย่างพินิจพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งบทแปลทั้งหมดในนั้นเหมือนเป็นการสะกิดเตือนให้ผม "ลดละความระห่ำ" ของตัวเองลงไปซะมั่ง เพราะหลายๆ เรื่องมันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และจำเป็นต้องอาศัย "ความรัดกุม" มากกว่า "ความมุ่งมั่นตั้งใจ" เพียงด้านเดียว ...
เมื่อทบทวนดูแล้ว นี่คงจะเป็น "กัลยาณสะกิดจากแดนไกล" เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน ผมก็เพิ่งจะสะดุดใจกับชื่อกระบวนท่า "ฝ่ามือพิชิตมังกร" ในซีรีส์รีเมค "มังกรหยก" มาหมาดๆ แต่ด้วยความบันเทิงอารมณ์ในเวลานั้น จึงไม่ทันสังเกตว่า กระบวนท่าที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยที่สุดคือ 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) อันหมายถึง "ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ" อันเป็นวลีที่ถูกหยิบยกมาจาก "คัมภีร์อี้จิง" โดยตรง ... จนมาได้รับ e-amil ของคุณธนวัฒน์ซ้ำเข้าไปอีกที ราวกับเป็น "คำสั่ง" ให้ต้องกลับไป "ทบทวนตัวเอง" นั่นแหละ ถึงเพิ่งจะสำนึก !!?? ... 😃
ต้องขอขอบพระคุณด้วยการออกสื่ออย่างนี้ล่ะครับ ... ขอบคุณจริงๆ !!
64 SHOTS
Book Title: 64 SHOTS : Leadership In A Crazy World |
ตั้งท่ามาหลายวันว่าจะเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ แต่ก็เพิ่งจะว่างพอสำหรับการจรดนิ้วบนคีย์บอร์ดอย่างที่อยากจะทำ ...
Kevin Roberts เขียนถึงตัวเลข 64 ไว้ในคำนำของเขาแค่ว่า มันหมายถึงปี 1964 ซึ่งเป็นปีหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนของวัฒนธรรมชาวตะวันตกหลายๆ ชาติ อันเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า "ยุค 60's" นั่นแหละ ... ในขณะที่บางคนก็อาจจะมองว่า 1964 เป็นปีที่เกิดของตัวเองเท่านั้น ... แต่สำหรับผมแล้ว 64 เป็นตัวเลขที่น่าดึงดูดใจเพราะมันคือตัวเลขเดียวกับ 64 บทของ "คัมภีร์อี้จิง" ที่ยังคงตั้งใจจะแคะความหมายจริงๆ ของมันออกมาเท่าที่จะหาเวลาได้ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่ผม "ไม่เคยเชื่อ" เลยว่า มันคือ "ตำราหมอดู" ที่หลายๆ คนมักจะนิยม "เชื่อ" อย่างนั้น
ต้องยอมรับครับว่า โดยปรกติแล้ว หนังสือประเภทเดียวกับ 64 Shots ของ Kevin Roberts เล่มนี้ ไม่ค่อยจะติดค้างอยู่ในมือของผมนานนัก เพราะมันจะเต็มไปด้วย "ข้อคิด" หรือ "ข้อเสนอแนะ" ที่สั้นๆ ง่ายๆ เพื่อให้นำไปปฏิบัติมากกว่า ผิดกับหนังสือประเภทที่นำเสนอ "แนวคิด" แบบที่ต้องใช้เวลาอ่านกันนานๆ เพื่อจะ "ตีความ" หรือ "ทำความเข้าใจ" อย่างลึกซึ้งไปอีกไกล ... แต่ก็ด้วยความที่ตัวเลข 64 นั้น ทำให้ผมนึกโยงไปถึง "คัมภีร์อี้จิง" อย่างที่บอกไปแล้ว กับพานให้นึกไปถึง "คัมภีร์" ประเภทอื่นๆ ที่เต็มไปด้วย "คำสอน" หรือ "ข้อธรรม" ปลีกๆ ย่อยๆ เต็มไปหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "หัวข้อเพื่อการปฏิบัติ" มากกว่า "การตีความ" เหมือนกัน ... เก้าะ ... เลยหยิบๆ จับๆ มันอ่านไปเรื่อยๆ เหมือนกับกำลัง "อ่านคัมภีร์" อะไรซักอย่าง ... 😃
โดยความเห็นส่วนตัวแล้วก็คงจะต้องบอกว่า Kevin Roberts มีความเป็นนักโฆษณามือฉมังของ Saatchi & Saatchi เลยทีเดียว เพราะเขาสามารถที่จะ Quote วลีสั้นๆ ที่แฝงความหมายยาวๆ เอาไว้จนเต็มเล่มหนังสือไปหมด ไม่นับรวมกับที่เขาเที่ยวได้ไปขุดเอา Quotations ของบุคคลอื่นๆ มาแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเล่ม ทั้งยังสามารถผูกโยงถ้อยคำเหล่านั้นให้ต่อเนื่องกันจนเป็นเรื่องเป็นราวในแต่ละบทได้อย่างลื่นไหลจริงๆ ... เรียกว่า ถ้าใครคิดอยากจะ mark คำสวยๆ ในเล่มนี้เอาไปใช้เป็น "ข้อเตือนสติ" ในกาลเทศะต่างๆ ละก้อ ... คงได้ขีดจนมีแต่หมึกเต็มไปหมดทุกบรรทัดเลยแหละ ... ซึ่งก็ไม่ต่างจากการปล่อยให้หน้ากระดาษมันขาวๆ ของมันอย่างนั้นต่อไปอยู่ดี ... 😃
ความจริงแล้วผมก็ยังย้อนนึกไปถึง Edward de Bono เจ้าของผลงานหนังสือระดับ Best Seller เกี่ยวกับ "ความคิดสร้างสรรค์" จำนวนหลายกระบุง ซึ่งในภาพรวมๆ แล้ว ผลงานชิ้นสำคัญของ Edward de Bono ก็คือ CoRT Thinkg Courses อันเป็นที่สุดแห่ง "คัมภีร์" ของ Edword de Bono เลยทีเดียว โดยใน CoRT Thinking Courses ที่ว่านั้น จะประกอบไปด้วยบทเรียนทั้งหมดจำนวน 60 บท ที่แกเรียกของแกว่า Thinking Tools แล้ววันดีคืนดีแกก็จะหยิบชิ้นนู้นจับชิ้นนี้มายำรวมกันเป็นตำราเล่มใหม่ของแกไปได้เรื่อยๆ ... ทำยังกะมีดพับสวิสฯ เลยแหละ ... 😋 ... ซึ่งผมก็มองว่า 64 Shots ของ Kevin Roberts น่าจะมีลักษณะที่คล้ายๆ อย่างนั้นในระดับหนึ่งด้วย
แต่เราก็อย่าไปคิดว่า "นักคิด" เหล่านี้เขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเราๆ นักเลย เพราะอย่างน้อยที่สุด การเลือกหยิบชิ้นเครื่องมือขึ้นมาใช้งานให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์นั้น ก็ยังต้องถือว่าเป็นเรื่องของ "ความสร้างสรรค์" หรือเป็นเรื่องของ "ความเป็นผู้ชำนาญการ" ได้ในรูปแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน ... อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง "พระพุทธเจ้า" ก็ทรงเลือกใช้มาแล้วตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน ... ดังนั้น การเลือกใช้ "เครื่องมือ" เป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เหมาะแก่ "สถานการณ์" และ "ศักยภาพ" ของแต่ละคน หรือแต่ละองค์กรนั้น ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะทำก็ทำกันได้ง่ายๆ ... ยิ่งในยุคสมัยที่โลกทั้งโลกมันเต็มไปด้วย "ข้อมูล", "ข้อคิด", "ข้อแนะนำ", หรือ "สูตรสำเร็จ" ของใครต่อใครอีกเป็นจำนวนมหาศาลอย่างทุกวันนี้ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะ "กล้า" โฟกัสตัวเองให้เหลือเพียงสิ่งที่มี "ความสำคัญจริงๆ" กับการดำรงอยู่ของพวกเราแต่ละคน ...
นึกไปนึกมาก็เลยพานนึกไปถึงคำพูดของ Bruce Lee ที่เคยกล่าวไว้ว่า ... "I fear not the man who has practiced 10,000 kicks once, but I fear the man who has practiced one kick 10,000 times." ... มันจึงไม่สำคัญหรอกว่า เราจะสามารถเข้าใจ หรือนำทั้ง 64 Shots ของ Kevin Roberts ไปใช้เพื่อการปฏิบัติจริงได้จนครบหรือไม่ แต่มันสำคัญที่ว่า เรา "กล้าพอ" ที่จะหยิบยกเพียงไม่กี่ shots ของเขาไปปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ ได้รึเปล่า ?! ... หลักธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีเป็นพันเป็นหมื่นวรรคนั้น หากรู้จักหยิบยกมาเพียง 10 ข้อที่รวมกันเข้าเป็น "ทศพิธราชธรรม" เพียงหมวดเดียว แล้วนำไปปฏิบัติอย่างแข็งขัน แค่นั้นก็สามารถที่จะเป็น "พระราชา" หรือเป็น "ผู้นำ" ที่คนทั้งโลกยกย่องได้แล้ว ... รึไม่จริง ?!!
ฉึกเว็บกู !!
เห็นข่าวกับคลิปกรณี "กราบรถกู" ว่อนกระจายไปทั่วเน็ตกับ TV อยู่หลายวันแล้ว ซึ่งทิศทางส่วนใหญ่ก็จะออกมาประณามพฤติกรรมอัน "ไม่เหมาะสม" นั้นอย่างเมามันพอสมควร มีทั้งล้อเลียน มีทั้งดุด่าว่ากล่าว มีทั้งตักเตือน แล้วก็มีทั้งรูปแบบของการให้ข้อคิดแบบนักจิตวิทยา มีการใช้ถ้อยคำที่แรงบ้างเบาบ้างไปตามอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ และวุฒิภาวะของแต่ละบุคคล ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติของ "สังคมอุดมดราม่า" ที่อาศัยโซเชียลมีเดียเป็น "ยาสามัญประจำสันดาน" เพื่อระบาย "ความอะไรต่อมิอะไร" ของตัวเองออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้กัน ...
กรณีดังกล่าว ใครจะผิดจะถูกยังไงในทางกฎหมาย ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามเรื่องตามราวของเขาอยู่แล้วแหละ แต่ก็มี "การชี้ชัดในทางสังคม" ไปแล้วล่ะครับว่า บุคคลสาธารณะในข่าว ได้กลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังต้องประสบกับ "การชดใช้กรรม" ชนิดหลายเด้งแบบในละครเลยทีเดียว ... "สมควร" หรือว่า "สาสม" ในความรู้สึกของใครก็ว่ากันไป ... ข้อนั้นผมไม่เกี่ยวละ !! ... 😃
แต่ประเด็นที่ผมอยากจะสะท้อนออกมาก็คือ ในช่วงระยะเวลาของ "ความรุ่งโรจน์แห่งสื่อสังคมออนไลน์" นั้น เรามีโอกาสได้เห็นกรณี "การทำร้ายร่างกาย" ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคลิปต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็มีทั้ง "ความเหมือน" และ "ความแตกต่าง" กันพอสมควร ... ซึ่งหนึ่งใน "ความเหมือน" ก็คือ ทุกครั้งจะเป็น "การระเบิดอารมณ์" ของ "ผู้กระทำความรุนแรง" เพราะ "ผู้ถูกกระทำ" ดันไป ทำร้าย / ทำลาย / ดูถูก / ดูหมิ่น / ฯลฯ หรือกระทำการใดๆ อันไม่บังควรต่อ "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" ของผู้อื่นก่อน จึงกลายเป็นเหตุให้ "ระเบิดทางอารมณ์" เกิดการปะทุขึ้นมาอย่างฉับพลัน จนแม้กระทั่ง "เจ้าของอารมณ์" เอง ก็ยังไม่อาจยับยั้งด้วยสติได้ทันด้วยซ้ำไป ... พวกเราจึงมีโอกาสได้เห็น "คลิปแห่งความรุนแรง" เหล่านั้นถูกนำเสนอออกมา เพื่อสนองความอะไรต่อมิอะไรของพวกเรากันเป็นระยะๆ
ทีนี้ ในแง่ของ "ความแตกต่าง" ระหว่าง "คลิปแห่งความรุนแรง" เหล่านั้นก็คือ ... บางครั้ง "ผู้กระทำความรุนแรง" ก็เป็น "ผู้ร้าย" ... แต่บางครั้ง "ผู้ถูกกระทำ" กลับเป็น "ผู้ร้าย" ใน "ความรู้สึก" ของ "ผู้เสพสื่อ" ซะเอง ... ทำไม ... ??!!
ผมมองว่า "จุดที่แตกต่าง" ของ "อารมณ์จากการรับรู้" ของ "ผู้เสพสื่อ" ก็คือ ... "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" นั้น เป็นสิ่งเดียวกันกับของ "ผู้เสพสื่อ" หรือไม่ ?! ... ถ้าบังเอิญ "ใช่" คนที่ถูกยำก็จะถูกซ้ำเติมด้วยถ้อยคำต่างๆ นาๆ ส่วนคนที่ยำคนอื่นก็จะกลายเป็น "ฮีโร่" ที่ช่วย "ระบายความโกรธแค้น" แทน "ฝูงชน" ที่มี "อารมณ์ร่วม" ใน "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" นั้น ... แต่ถ้า "ไม่ใช่" คนที่ยำคนอื่นก็จะกลายเป็น "ผู้ร้าย" ที่แสดงพฤติกรรมอัน "รุนแรงเกินกว่าเหตุ" ทันที เพราะดันทะลึ่ง "แสดงความโกรธแค้น" ในสิ่งที่ "ฝูงชน" เขาไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรด้วยเลย ส่วนคนที่ถูกยำ ก็จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หรือได้รับข้อเสนอที่จะเยียวยาสารพัด
จะว่าไปแล้ว "ความเปราะบางทางอารมณ์" ของมนุษย์ น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เลยทีเดียว "พื้นที่ทางอารมณ์" ที่หลายๆ คนซุกแอบไว้อยู่ลึกๆ นั้น ได้กลายเป็น "ดินแดนต้องห้าม" ที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงล้ำเข้ามาไม่ได้อย่างเด็ดขาด และอาจกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของ "ความแตกแยก" อย่างไม่อาจประสานกันได้ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกเลย ไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่, พี่-น้อง, สามี-ภรรยา, เพื่อนสนิทมิตรสหาย, หรือแม้แต่สังคมทั้งสังคม จนถึงขนาดเป็นชาติบ้านเมือง
กรณี "กราบรถกู" อาจจะเป็นเพียง "เรื่องไร้สาระ" ของสมาชิกสังคมส่วนหนึ่งที่ "บูชาวัตถุสิ่งของ" เหนือ "ความเป็นมนุษย์" ในตัวเอง และในผู้คนรอบข้างเท่านั้น ... แต่นั่นไม่ได้แปลว่า คนอื่นๆ ในสังคมไม่มี "จุดเปราะบางทางอารมณ์" ในรูปแบบอื่นๆ ของแต่ละคน ... เพราะบางครั้ง "ความเปราะบาง" นี้ก็อยู่ในรูปของ "การบูชาบุคคล", "การเทิดทูนลัทธิ", "ความคลั่งไคล้ในหลักการ", ฯลฯ ... ซึ่ง ... ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดก้าวล่วง ไม่ว่าจะด้วยกิริยาท่าทาง, ถ้อยคำ, ฯลฯ ... หรือแม้แต่สายตาด้วยซ้ำ ...
การที่เราเคยเห็นข่าวของการยกพวกตีกันของบรรดานักเรียนจากสถาบันต่างๆ หรือจากการตะลุมบอนของแก๊งค์อันธพาลในบางท้องถิ่น ... หรือแม้แต่การก่อม็อบชนม็อบ โดยผู้ที่หวังผลทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของ "การจุดระเบิดทางอารมณ์" ของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ทั้งนั้น ... ซึ่งในหลายๆ กรณี เราก็จะเห็นทั้ง "ผู้ทรงภูมิปัญญา" กับ "ผู้ที่ไม่มีดีกรีทางการศึกษา" มารวมหมู่อยู่ในฟากฝั่งเดียวกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องของ "ความรู้" กับ "ความไม่รู้" ... ไม่ใช่เรื่องของ "ฉลาด" กับ "โง่" อย่างที่ต่างฝ่ายต่างพยายามยัดเยียด "ของไม่ดี" ให้กับ "คู่กรณี" ของตน ... แต่มันเป็นเรื่องของ "คุณค่า" ที่แต่ละ "ฝูงชน" ประเมินไว้ในใจให้สูงส่งกว่า "ความถูกต้อง" ใดๆ แม้แต่ "สติ" ของตัวเอง !!
ดูข่าว ดูคลิป แล้วลองขยิบตาดูตัวเองซะมั่ง ... วันใดที่เราขาด "สติ" ... วันนั้นอาจจะเป็น "วันซวย" ของเราเองก็ได้ หาก "คุณค่าที่เหนือสติ" นั้นๆ ของเรา ดันไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม !! ...
พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน
Book Title: พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน |
บังเอิญมีเหตุให้ต้องคั่งค้างกับ "จดหมายสอนลูก" (誡子書) ของ "ขงเบ้ง" ที่ตั้งใจจะเตรียมไว้เป็นของที่ระลึกให้แก่เพื่อนๆ ในงานเลี้ยงรุ่น ... เก้าะ ... เลยนึกถึงหนังสือชื่อ "พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน" ซึ่งค้นคว้าและรวบรวมไว้โดย "ทัศนา ทัศนมิตร" ที่ผมซื้อเก็บไว้เมื่อหลายปีก่อน เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าจะไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็นการจัดพิมพ์บ่อยครั้งนักในยุคสมัยปัจจุบัน ...
คำสอนของพระมหากษัตริย์ไทย 5 รัชกาล ที่ทรงพระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ในโอากสต่างๆ ซึ่งได้รับการรวบรวมไว้ในหนังสือ "พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน" นี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ได้พบเห็นเลยในโลกของสิ่งพิมพ์โดยทั่วไป เพราะไม่ใช่พระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่สาธารณชนเป็นการปรกติ แต่เป็นพระราชกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ภายในครอบครัวขององค์ประมุขของประเทศ ... ซึ่งคำสอนหลายๆ อย่างที่ได้ทรงพระราชทานไว้นั้น ควรที่บุคคลโดยทั่วไปจะยึดถือเป็นแบบอย่าง และน้อมนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามอย่างตั้งใจ เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเอง แก่ครอบครัว และแก่สังคมโดยรวมของประเทศชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "ค่านิยม" ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่สถาบันครอบครัว ได้ถูกบิดเบือนไปบ้างแล้วจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่บรรดาคำสั่งสอนที่บุคคลในรุ่นหนึ่งเคยบอกกล่าวให้แก่คนอีกรุ่นหนึ่งเพื่อเป็นข้อเตือนสตินั้น ก็ยังถือว่ามีข้อคิดที่สมควรแก่การศึกษาทบทวน เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องสำนึกไว้เสมอว่า ทุกๆ คำสั่งสอนที่บุพการีมอบให้แก่บุตร-ธิดาของตนนั้น ล้วนกลั่นกรองออกมาจาก "ความรัก" และ "ความปรารถนาดี" ที่มีต่อทายาทของตนด้วยกันทั้งสิ้น ... และต่อให้มีบางสิ่งที่เราศึกษาทบทวนแล้วก็ยัง "รู้สึกไม่คุ้นชิน" เราก็ควรจะมีมโนสำนึกด้วยว่า ทุกๆ "ความดีงาม", ทุกๆ "ความถูกต้อง" ล้วนมีวันเวลาที่เหมาะสมของมันเองเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ "ค่านิยม" แห่ง "ความดีงาม" หรือ "ความถูกต้อง" ที่ยุคสมัยของพวกเรากำลัง "ยึดติด" อยู่นี้ก็ตาม ต่างก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่เหมาะสมของมันเฉกเช่นกัน ...
การจะตัดสินความ ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ของคำสอนหรือการกระทำในแต่ละยุคแต่ละสมัย จำเป็นต้องพิจารณาด้วยปัจจัยของมิติแห่งวันเวลา และสถานการณ์ที่เสมอเหมือนกันเท่านั้น !!? ... มีแต่ผู้ที่ "คับแคบทางความคิด" เท่านั้นดอก ที่จะรู้สึก "คับแค้น" ต่อทุกๆ สิ่งที่พวกเขาได้ประสบพบเจอในชีวิต !?!?!
Guide to The Feng Shui Compass
Book Title: Guide to The Feng Shui Compass, A Compendium of Classical Feng Shui |
โดยส่วนตัวแล้ว "สิ่งประดิษฐ์" ที่ได้รับ "การออกแบบ" ไว้อย่างน่าทึ่งที่สุดของชาวจีนก็คือ "ลูกคิด" และ "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ... โดย "ลูกคิด" คือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบให้มี "ความเรียบง่าย" เพื่อให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถคำนวณได้อย่างสลับซับซ้อน แต่ใช้เพียง "ธรรมชาติของการนับ" ล้วนๆ ... ในขณะที่ "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) คือ "ตารางคำนวณ" อันสลับซับซ้อนที่ได้รับการออกแบบไว้อย่าง "รวบรัดหมดจด" เพื่อให้เป็น "คู่มือ" ประกอบ "การคำนวณทิศทางดาราศาสตร์" ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็น "เครื่องมือสำรวจ" ตั้งแต่ประมาณ 1,500 ปีก่อนที่ชาวตะวันตกจะรู้จัก "เข็มทิศ" ซะด้วยซ้ำ ...
แม้ว่าในปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่แทบจะไม่เห็นความจำเป็นของ "ลูกคิด" อีกแล้วก็ตาม แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ลูกคิด" คือหนึ่งในสุดยอดแห่ง "การออกแบบเครื่องมือ" บนพื้นฐานอันจำกัดจำเขี่ยของเทคโนโลยีเมื่อหลายพันปีก่อน ... ส่วน "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) คือ "บทคัดย่อ" ของ "แผนที่ทางดาราศาสตร์" ที่ถูกบันทึกไว้บน "แผนผังวงกลม ขนาดพกพา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคำนวณ "ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ" อันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของตำแหน่งวงโคจรของโลกและดวงดาวที่อยู่รายรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในด้านกสิกรรม และเกษตรกรรมต่างๆ จนกระทั่งได้รับการพัฒนาต่อยอดให้กลายมาเป็นทฤษฎีด้าน "ภูมิพยากรณ์" หรือ "ศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย" ในเวลาต่อมานั่นเอง
หลักวิชาทางด้านดาราศาสตร์ของชาวจีน ซึ่งได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาจากการเฝ้าสังเกตล้วนๆ เมื่อหลายพันปีก่อนนั้น ยังคงได้รับการปรับปรุง-แก้ไข-เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่องในอีกหลายร้อยปีต่อมาในยุคของราชวงศ์ต่างๆ ซึ่ง "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) อันเป็นต้นแบบดั้งเดิม ก็ได้รับการปรับปรุง-แก้ไข-เพิ่มเติม ไปตาม "ข้อมูล" ใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบโดย "การเฝ้าสังเกต" ของ "สำนักคิด" ต่างๆ มาโดยตลอดเช่นกัน การย่นย่อ "ตารางคำนวณทางดาราศาสตร์" อันสลับซับซ้อนทั้งระบบ ให้สามารถบรรจุไว้ใน "แผนผังวงกลม" ที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินกว่าจะพกพาได้นั้น จึงเต็มไปด้วย "เครื่องหมาย" และ "คำรหัส" จำนวนมาก โดยแต่ละ "สำนักคิด" ก็ได้คิดค้น "สูตรคำนวณ" และ "คำรหัส" เฉพาะตนขึ้นมาใช้งานอย่างหลากหลาย ... ซึ่งหากจะรวบรวม "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ที่ออกแบบไว้โดย "สำนักคิด" ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันจริงๆ จำนวนชั้นของแผนผังวงกลมที่จะต้องนำมาเรียงซ้อนกัน ก็น่าจะมีจำนวนถึงหลายสิบชั้นเลยทีเดียว !!?! ... 😲
การศึกษา "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) จึงเป็นอะไรที่น่าสนุก เพราะแม้ว่ามันจะมี "สูตรสำเร็จ" ของ "สำนักคิด" ต่างๆ ที่ได้กำหนดเอาไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมันไม่เคยมี "สูตรที่ตายตัว" อย่างแท้จริงของ "จำนวนชั้น" ที่จะนำมาเรียงซ้อนกัน รวมทั้งเรายังสามารถนำเอา "ตารางข้อมูล" อื่นๆ ที่มีลักษณะเรียงต่อกันเป็น "วัฏจักร" มาผสมผสานเข้าไปได้อย่างอิสระ เพื่อที่จะสร้าง "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ที่มี "ความเฉพาะตัว" ต่อการพกพาไปใช้งานของเราเองได้ด้วย ยิ่งถ้าได้ผสมผสานกับเทคโนโลยีของการจัดการกับรูปภาพต่างๆ ในยุคสมัยปัจจุบันด้วยแล้ว "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) แบบ digital ก็คงจะดูมีเสน่ห์ที่น่าหลงไหลมากกว่าเดิม ... อีกเยอะเลย !! ... 😏
The Future of (Almost) Everything
Book Title: The Future of (Almost) Everything |
มันเป็นหนังสือเบามือสำหรับไว้ถืออ่านให้หนักๆ สมองครับ ... นี่ไม่ใช่หนังสือที่ทำนายโลกอนาคตแบบ "นอสตาดามุส" หรือเล่าเรื่องเพ้อฝันถึงโลกอนาคตข้างหน้าอีกหลายๆ ร้อยปีแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ... แต่ Patrick Dixon เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ห่างจากปีปัจจุบันไปเพียงไม่เกิน 10-20 เท่านั้น ซึ่งหลายๆ เรื่องก็มีข่าวคราวให้พอเดาทางกันได้อยู่แล้วแหละ แต่พอเอาทุกๆ เรื่องมาเล่ารวมๆ กันจนเห็นภาพรวมของอนาคตอันใกล้นี้แล้ว มันทำให้ดูเหมือนว่า พวกเราควรจะมีเรื่องราวให้ต้องคิด และต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้ามากมายจนน่าตกใจจริงๆ ... 😲
ผมไม่คิดว่าเราควรจะ "ตั้งคำถาม" ประเภทที่ "ชวนให้ชอบ" หรือ "ชวนให้ชัง" สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ทุกอย่างคงจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ อยู่แล้ว แต่เราควรจะ "ตั้งสติ" แล้วถามตัวเองหลายๆ ครั้งเลยว่า ... "เรามีความพร้อมแค่ไหนกับโลกอนาคตที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาแล้วอย่างจริงจังตั้งแต่ในเวลานี้ ??!!"
ผมมองว่า วิธีการนำเสนอที่ Patrick Dixon เลือกใช้กับหนังสือของเขาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดีเหมือนกัน โดยเขายังคงใช้การแบ่งเรื่องราวของอนาคตออกเป็น 6 ด้านเหมือนกับในหนังสือเรื่อง Futurewise ที่เขาเคยเขียนไว้เองเมื่อปี 2007 ตามตัวสะกดในคำว่า FUTURE คือ Fast ; Urban ; Tribal ; Universal ; Radical ; และ Ethical ... เพื่อที่จะบรรยายความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในอนาคตของแต่ละด้านอย่างมีกรอบกำหนดที่ชัดเจนลงไป ... เพียงแต่ว่า ... การที่เรื่องราวทั้งหลายมันดูยุ่งเหยิงวุ่นวาย จนหลายคนจับต้นชนปลายแทบไม่ถูกเลยนั้น ก็เป็นเพราะว่า ทั้ง 6 ด้านของอนาคตที่เขาหยิบยกขึ้นมานี้ มันไม่ได้แยกขาดออกจากกันเหมือนกับบทของหนังสือ แต่พวกมันมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแยกไม่ออกราวกับเป็น "แต่ละด้านของลูกเต๋า" ที่ล้วนเป็นส่วนประกอบของกันและกันตลอดเวลา ... โดย "พลัง" ที่จะเป็นปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายใน "แต่ละด้านของลูกเต๋าแห่งอนาคต" ลูกนี้ก็คือ EMOTION หรือ "อารมณ์ของคน" เท่านั้น ... !! ... 😲
บางที การที่ชนชาติตะวันตกหลายๆ ชนชาติ เริ่มหันมาให้ความสนใจศึกษาศาสนา ตลอดจนแนวคิด-แนวปฏิบัติแบบชนชาติตะวันออกมากขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่เพราะ "วิถีคิด" แบบชนชาติตะวันออก มีอะไรที่ดีกว่า หรือเหนือกว่า "วิถีคิด" ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในดินแดนของพวกเขาเลยก็ได้ แต่อาจจะเป็นเพราะ "การศึกษาด้านใน" อันเป็นแก่นแกนหลักของลัทธิความเชื่อทั้งหลายของชนชาติตะวันออกนั้น มีความสอดคล้องกับแนวทางที่พวกเขาอยากจะศึกษา "พัฒนาการทางความคิด" และ "ธรรมชาติทางอารมณ์" ของมนุษย์ให้มีความกระจ่างมากขึ้นเท่านั้นเอง ... ความแตกต่างกันเพียงประการเดียวของการหันมาศึกษา "วิถีแห่งจิต" ก็คงจะอยู่ที่ว่า ... ชนชาติตะวันออก "คงจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาตนไปสู่ความสงบเย็นของจิตใจ ตาม "วัฒนธรรมทางความเชื่อ" ของชนชาติตนต่อไป ... ในขณะที่ชนชาติตะวันตก "อาจจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่ "พลังแห่งการขับเคลื่อนโลกอนาคต" ที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดทิศทางโดยการ "จูงอารมณ์" ให้คนทั้งโลก "อยากจะคล้อยตาม" ความต้องการของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่ยอมถึง "นิพพาน" ซักที ?!?!?! ...
Black Box Thinking
Book Title: Black Box Thinking : Marginal Gains and the Secret of High Performance Author(s): Matthew Syed Format: Paperback Publisher: John Murray Publishers Ltd. Language: English ISBN-10: 1473613809 ISBN-13: 978-1473613805 Product Dimensions: 6.5 x 0.9 x 7.8 inches |
ผม "น่าจะ" ซื้อหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะ "ชื่อ" ที่มันถูกใช้ ประกอบกับ "น่าจะรู้สึกว่า" ผู้เขียนคงต้องการเสนอแนวคิดบางอย่างที่ย้อนแย้งกับพวก "Thinking Outside The Box" หรือ "การคิดนอกกรอบ" ที่เกาะกุมสมองของผู้คนในสังคมราวกับเป็น "ไวรัสทางปัญญา" มาอย่างยาวนาน ... ซึ่งพออ่านเข้าจริงๆ มันก็คือแนวคิดแบบ "Thinking Outside The Box" นั่นแหละ ... แต่เป็นแบบฉบับของ "การคิดนอกกรอบ" อย่างที่ควรจะเป็น ... ไม่ใช่คิดแบบสะเปะสะปะ ไม่ใช่คิดซี้ซั้ว หรือไม่ใช่คิดบ้าๆ บอๆ ไปตามใจตามอารมณ์ที่ไม่สมประกอบของแต่ละคน ... มันคือ "การคิดนอกกรอบ" ที่ "ไม่สติเฟื่อง" เหมือนอย่างพวก "โอเวอร์ลิเบอรัล" (Over-Liberal) ทั้งหลายเขาพยายามจะ "เสี้ยมสอน" กัน ... เพราะคำว่า Box ในความหมายที่ควรจะเป็นของแนวคิดประเภทนี้ก็คือ "กบาลของคนคิด" นั่นเอง !!
สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะกวนใจผมอยู่สักหน่อยสำหรับหนังสือเล่มนี้ก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับ "การตรวจสอบ" หรือ "การตรวจพิสูจน์" ที่ใช้พื้นที่ของหนังสือไปเยอะมาก (ตาม "ความรู้สึก" ของผมเองนะ !!) เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ค่อยจะนิยมชมชอบเรื่องของ "การตรวจสอบ" ซักเท่าไหร่ ถึงแม้ผมเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า "การตรวจสอบ" หรือ "การตรวจพิสูจน์" นั้นเป็น "เรื่องจำเป็น" ... ซึ่ง ... "เรื่องจำเป็น" ก็ต้อง "ตรวจเท่าที่จำเป็น" เท่านั้น ... ไม่ใช่ตรวจมันตะพึดตะพือไปทุกเม็ดทุกรายละเอียดอย่างไร้สาระไปวันๆ เหมือนอย่างนักบัญชีส่วนใหญ่ หรือกรมสรรพากร ที่ "จุกจิกหยุมหยิม" กับการตรวจสอบเอกสารที่คัดลอกซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งลงในแบบฟอร์มที่ไม่เหมือนกันหลายๆ แบบ แล้วเอามา "ตรวจพิสูจน์อย่างเสียสติ" ว่า ผลรวมของสิ่งที่คัดลอกมาทั้งหมดนั้น ยังคงเหมือนเดิมทุกๆ ครั้งรึเปล่า ?!!?!!
ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า แนวคิดในหนังสือ Black Box Thinking ของ Matthew Syed นั้น ค่อนข้างที่เน้นไปในประเด็น "การสำรวจทุกรายละเอียด" แล้วก็ยังเป็น "การสำรวจอย่างเข้มข้น" ด้วยอีกต่างหาก ?! ... เพียงแต่ว่า ... มันเป็น "ความละเอียด" กับ "ความเข้มข้น" ในระดับของ "การพัฒนา" ... ไม่ใช่ระดับ "หยุมหยิมปัญญาอ่อน" แบบกรมสรรพากร ที่ไม่เคยก่อเกิดพัฒนาการใดๆ ขึ้นมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเลย !!! เพราะในขณะที่ "กล่องดำ" น่าจะเป็นแบบจำลองที่ดีของ "การสำรวจตรวจสอบทุกๆ แง่มุมของกระบวนการปฏิบัติงานอย่างละเอียดยิบ" ... แต่มันก็ยังเป็นแบบจำลองที่ดีของการ "การประมวลข้อมูลเพื่อการตรวจสอบทั้งหมด" ไว้ใน "อุปกรณ์ที่เรียบง่ายที่สุด" เพียงชิ้นเดียว แต่สามารถโยงใยผลของการตรวจสอบไปสู่ทุกๆ ประเด็นของการปฏิบัติงาน, ทุกๆ รายละเอียดของกระบวนการอย่างรอบด้าน โดยไม่ต้องกระจายการจัดเก็บข้อมูลออกไปหลายๆ ที่, หลายๆ จุด, หลายๆ รูปแบบ, เหมือนอย่างที่ "นักวิชาการปัญญาอ่อน" ของกรมสรรพากร หรือของหน่วยงานราชการทั้งหลายเขาทำกันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ... กระบวนการทำงานที่สลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ซ้ำซากหยุมหยิม ย่อมสะท้อนถึง "ความสิ้นคิด" ของผู้ที่ออกแบบกระบวนการทำงานเหล่านั้นเอง ซึ่งไม่เคยเข้าใจใน "ภาพรวมของกระบวนการทำงาน" ที่เป็นจริงเลยแม้แต่น้อย !!!?!??
แม้ว่าหนังสือ Black Box Thinking ของ Matthew Syed จะเปิดประเด็นด้วยแบบจำลองของ "กล่องดำ" อันเป็นหัวใจหลักของกระบวนการพัฒนาระบบความปลอดภัยในโลกของวิศวกรรมการบิน ... ซึ่งบางครั้งถึงกับล้วงลึกลงไปถึงการจัดวางตำแหน่งของสวิทช์ต่างๆ ในห้องนักบิน รวมถึงขนาด รูปร่าง และสีสัน ของปุ่มต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดในขณะบังคับการบินด้วยซ้ำ ... ถ้าเทียบกับ "การเพิสูจน์อักษร" ในโลกของการพิมพ์ ก็คงจะประมาณว่า จะต้องมีการตรวจทุกตัวสะกด ตลอดจนเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาถึงการขึ้นบรรทัดใหม่ หรือการแยกเรื่อง แยกบท หรือแยกย่อหน้าออกจากกัน ฯลฯ นั่นเลยทีเดียว ... ยุบยิบมากๆ ... แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ "กระบวนการสำรวจพิสูจน์อย่างเป็นระบบ" ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นก็คือ ... "ความเชื่อในกบาล" ของ "คน" เท่านั้น !!?!
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนคือ "บุคคลสมบูรณ์แบบ" ที่จะไม่มีวันทำสิ่งใดๆ ผิดพลาดได้เลยในชีวิต ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนได้ "ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ" แล้ว ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ตนได้บรรลุถึง "ปลายสุดแห่งศักยภาพของตน" แล้ว ย่อมไม่พัฒนาตนเอง
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ผู้คนทั้งหลายในโลกนี้ล้วน "ด้อยกว่าตน" ย่อมปิดกั้นตัวเองจากทุกๆ ความคิดเห็นที่ผิดแปลกแตกต่าง
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ศักยภาพของตน คือเรื่องของ "โชคชะตาฟ้าลิขิต" ย่อมปฏิเสธการเรียนรู้ใดๆ ในชีวิตส่วนที่เหลือ
- ใครก็ตามที่ "เชื่อว่า" ความไม่สมประกอบของผลงานใดๆ ล้วน "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตน" ย่อมปฏิเสธโอกาสของการเรียนรู้
- ฯลฯ
การ "เชื่อว่า" ทุกสรรพสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ทุกสรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เคยเป็นหลักประกันว่าสิ่งนั้นๆ จะต้องเกิดขึ้นได้จริง หรือสิ่งนั้นๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงได้จริงอย่างที่ "เชื่อ" เสมอไป ... แต่การ "เชื่อว่า" ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นไปไม่ได้ ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นหลักประกันว่า ไอ้เวรที่ "เชื่อ" อย่างนั้น จะไม่ยอมเรียนรู้ใดๆ เพื่อพัฒนาตนเองอีกเลยในชีวิตส่วนที่เหลือของมัน ...
"กล่องดำ" ที่ไม่เคยถูก "เปิดออก" เพื่อ "การสำรวจตรวจสอบ" อย่างเหมาะสม ย่อมไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ให้กับ "การเรียนรู้" และ "การพัฒนา" ในระบบทางวิศวกรรมการบินฉันใด ... "สมอง" ที่ "ดักดาน" อยู่กับ "ความเชื่อ" โดยไม่เคยได้รับ "การสำรวจพิสูจน์" ใดๆ ย่อมต่างจาก "ลำไส้ใหญ่" เพียงแค่ตำแหน่งแห่งที่ของมันในร่างกายของมนุษย์ ... ฉันนั้น !!