อย่าสู่รู้ (Not Knowing)
|
ไม่ได้เล่าหนังสือมานานมาก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะไม่ค่อยพบเห็นหนังสือที่ "น่าสนใจ" ซักเท่าไหร่ในระยะหลังๆ มานี้ แต่สาเหตุหลักๆ ก็น่าจะเพราะเวลาในการอ่านเริ่มน้อยลง แล้วเวลาที่จะเรียบเรียงคำพูดเพื่อบอกเล่าประเด็นที่พบเห็นในหนังสือแต่ละเล่มก็ยิ่งน้อยลงไปกันใหญ่ ... สรุปว่า ... ยังหยิบยังจับหนังสือหลายเล่มมาอ่านอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มีเวลาเรียบเรียงความคิดของตัวเองออกมาเป็นคำเขียนซะมากกว่า ...
สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน หรือใช้เวลากับการอ่านบทความสั้นๆ มากกว่าการอ่านหนังสือเล่ม หนังสือเรื่อง Not Knowing ของ Steven D'Souza กับ Diana Renner น่าจะพอตอบโจทย์เรื่องเวลาแบบนี้ได้อยู่ ... แต่ถ้าไม่มี "นิสัยรักการอ่าน" อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมอยากแนะนำให้เริ่มจาก "การดัดสันดานตัวเอง" ก่อน หรือไม่งั้นก็ไม่ต้องไปสนใจมันเลยแล้วกัน ... 😃
ผู้เขียน Not Knowing เลือกใช้กลวิธีในการลำดับเรื่องเป็นท่อนสั้นๆ โดยจัดให้เริ่มหน้าใหม่สำหรับแต่ละหัวข้อ แทนที่จะเรียงเป็นหัวข้อย่อยๆ ในแต่ละบทเหมือนหนังสือทั่วๆ ไป ซึ่งแต่ละหัวข้อก็แทบจะแยกต่างหากจากกันเป็นเอกเทศ ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกันทั้งเล่มก็ได้ พอใจเปิดอ่านจากเรื่องไหนก็อ่านไป ไม่กี่หน้าก็จบหนึ่งหัวข้อ แล้วก็กระโดดไปหัวข้อใหม่ ... ต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง จะอ่านแยก อ่านรวม หรืออ่านกระโดดไปกระโดดมาได้ทั้งนั้น ... เก้าะ ... เป็นวิธีการเขียนที่น่าสนใจดีครับ ...
สำหรับชื่อหนังสือ Not Knowing เล่มนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสืออีก 2 เล่มที่ชื่อคล้ายๆ กันคือ The Book Of Not Knowing ของ Peter Ralston ที่ผมเคยอ่านไปเมื่อหลายปีก่อน กับหนังสือเก่าแก่ในชุดของ J.Krishanmurti เรื่อง Freedom From The Known ซึ่งทั้งสองเล่มที่นึกถึงนี้ เป็นหนังสือแนว Spirituality ที่กระเดียดไปในด้านปรัชญาและศาสนามากกว่าการประกอบธุรกิจ ... แต่จะว่าไปแล้ว หนังสือกลุ่มนี้ทั้งหมดก็ล้วนแต่ชี้เป้าไปที่เรื่องเดียวกันคือ "อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเคยรู้" ... คล้ายๆ กับนิทานเซ็นเรื่อง "ชาล้นถ้วย" อะไรประมาณนั้น ... แต่ถ้าจะให้ผมแปลชื่อหนังสือ Not Knowing ให้เป็นภาษาไทยจริงๆ ผมคงจะเลือกแปลมันว่า "อย่าสู่รู้" ซะมากกว่า เพราะดูจะตรงประเด็นกับเนื้อหาของหนังสือมากที่สุดแล้ว ... 😂
เรื่องของเรื่องก็คือ บ่อยครั้งในโลกของการทำงานนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักจะ "แสดงตนว่ารู้" ในบางเรื่องราวจนไม่คิดที่ค้นหาคำตอบที่แตกต่างใดๆ อีกเลย ซึ่งไอ้ประเภท "มั่นใจในภูมิรู้ของตนอย่างล้นเหลือ" จนไม่ยอมรับรู้เรื่องราวที่แตกต่างไปจาก "ทัศนคติของตน" เนี่ย ... แม้แต่ตัวของเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้นซักเท่าไหร่หรอก ... 😄 ... เก้าะ ... ถ้าเป็น "ความรู้แบบผิดๆ" ชาวบ้านเขาก็คงจะเรียกว่า "กบในกะลา" กัน ... แต่ถ้าเป็น "ความรู้แบบถูกๆ" ผมอยากจะใช้คำว่า "ดักดานในข้อเท็จจริง" ดีกว่า ... 😄 ... โดยทั้งสองกรณีล้วนเป็นอุปสรรคต่อ "การเรียนรู้" และไม่อาจ "การสร้างสรรค์" นวัตกรรมใดๆ ให้แก่มวลมนุษยชาติเลย ... !!?!! ... แล้วก็ "อาการสู่รู้" ทั้งสองประเภทนี่แหละที่เป็นที่มาของ "โรคคิดในกรอบ" (Thinking Inside The Box) ที่ "พวกอวดรู้" ทั้งหลายพยายามส่งเสริม "พฤติกรรมแหกกฎ" ให้แก่สาธารณะ ด้วยการหยิบยก "วลีกึ่งสำเร็จรูป" ประเภท "คิดนอกกรอบ" (Thinking Outside The Box) มาเผยแพร่อย่างผิดๆ จนสังคมอุดมไปด้วยเหลวแหลกเลอะเทอะ เพราะความที่ถูกเสี้ยมสอนให้ "เชื่อ" กันว่า "กฎระเบียบต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งเหลวไหลที่ขัดขวางความเจริญของมวลมนุษยชาติ" ... ทั้งๆ ที่พวกแม่งเองนั่นแหละที่จมกะลาอยู่ในกะโหลกของตัวเอง ด้วยการปฏิเสธกฎระเบียบทุกอย่างของโลกภายนอก แล้วเอาแต่อวดอ้าง "ความมีสิทธิส่วนบุคคล" จนปฏิบัติต่อสังคมราวกับโลกทั้งโลกคือ "ที่รโหฐานในกบาลของตัวเอง" อย่างไร้รากไปวันๆ เท่านั้น ... !!!!?!?!?
ความจริงแล้ว The Box ที่ "ครอบงำความคิด" ของพวกเราจน "ติดกรอบ" อยู่นั้นก็คือ "ความคิดของเราเอง" ... มันคือ "ความคิด" หรือ "ความเชื่อ" ที่ว่า "เรารู้แล้ว" หรือ เรามีคำตอบอยู่แล้ว" ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสมองที่ "บดบังการเรียนรู้" ของเราให้ตีบตันอยู่กับ "สิ่งที่เราเชื่อว่าเรารู้แล้ว" หรือ "สิ่งที่เรามีข้อสรุปไปแล้ว" โดยไม่ต้องค้นหาข้อเท็จจริงใดๆ อีก อันเป็นพฤติกรรมปรกติของสมองมนุษย์ที่พยายามปกป้องตนเองจาก "ความไม่รู้" เพื่อหลีกเลี่ยง "ความไม่แน่นอน" ที่สมองยังไม่สามารถประมวลเข้าเป็นหมวดหมู่เพื่อ "การยึดเกาะ" ใดๆ ... ความหมายที่แท้จริงของ "ความนอกกรอบ" หรือ Outside The Box ก็คือ การก้าวให้พ้นจาก "ความสู่รู้ของตัวเอง" ... ประเด็นหลักๆ ที่ Steven D'Souza กับ Diana Renner นำเสนอไว้ในหนังสือ Not Knowing ของพวกเขาก็คือประเด็นนี้ ... ส่วนไอ้ประเภทที่แหกปากโวยวายเพื่อที่จะกล่าวหาว่า สังคมเต็มไปด้วยกฎระเบียบอันเหลวไหลที่ขัดขวางความไม่งอกงามทางความคิดของตัวเองนั้น คือพวกที่ "ไม่มีความรับผิดชอบ" และ "ขี้ขลาด" จนไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับว่า "บาปแห่งความโง่ของตัวเอง" นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครหน้าไหน หรือสถาบันใดต้องมามีส่วนในการรับผิดชอบเลย ... ซักนิดเดียว !!!!?!?! ... ซึ่งประเด็นที่ระบายคำแรงๆ เนี่ย ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือละ ... กูเอง !! ... 😄
เรื่องไร้สาระ ?!
บังเอิญว่ามีโอกาสไปเยือนประเทศไต้หวันเป็นครั้งที่สองในรอบปีนี้ ซึ่งแม้ว่าจุดประสงค์หลักจะไม่ใช่การไปเที่ยว แต่ไฮไลท์ยามว่างของทั้งสองครั้งก็คือ การได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน (Taiwan National Palace Museum) หรือที่รู้จักกันในนามว่า "กู้กง" (故宫) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ "พระราชวังต้องห้าม" (The Forbidden City) ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจาก "พิพิธภัณฑ์กู้กง" คือสถานที่เก็บรักษาวัตถุโบราณล้ำค่า ที่อดีตกองทัพ "ก๊กมินตั๋ง" ขนย้ายออกมาจาก "พระราชวังต้องห้าม" ในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งถือเป็นการขนย้ายสมบัติล้ำค่าครั้งมโหฬารที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะ "พิพิธภัณฑ์กู้กง" แห่งนี้ สามารถจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการสับเปลี่ยนหมนุเวียนกันทุกๆ 3-4 เดือนมาตลอดระยะเวลาเกือบร้อยปีโดยไม่ซ้ำชิ้นกันเลย !!! ... การมาเยือน "พิพิธภัณฑ์กู้กง" ทั้งสองครั้งในรอบปีเดียวกัน จึงมีโอกาสที่จะได้ดื่มด่ำกับความอลังการของโบราณวัตถุที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ...
จะว่าไปแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเยือนทั้งสองครั้งของผมไม่เหมือนกันเลยก็คือ "เวลา" โดยครั้งแรกเป็นการเยือนแบบเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งแทบจะต้องเดินวนไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางที่หัวหน้าคณะเป็นผู้กำหนด และมีเวลาพินิจพิจารณาวัตถุโบราณแต่ละชิ้นอย่างค่อนข้างจำกัดมากๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมกลุ่มอื่นๆ (ซึ่งเยอะมากในแต่ละวัน) ได้มีโอกาสเข้าชมวัตถุโบราณแต่ละชิ้นอย่างทั่วถึง ในขณะที่การเยือนครั้งที่สองนี้แทบจะเป็นการเยือนแบบส่วนตัวจริงๆ จึงสามารถอ้อยอิ่งอยู่กับวัตถุโบราณแต่ละชิ้นได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งคณะเล็กๆ ของพวกเราก็ไม่มีโปรแกรมอื่นใดมาเร่งเร้าให้ต้องรีบออกจากพิพิธภัณฑ์ เราจึงสามารถเอ้อระเหยอยู่กับโบราณวัตถุเหล่านั้นได้อย่างหนำใจพอสมควร ... หนำใจจนเกิดความคิดพิลึกพิลั่นขึ้นมาว่า ... อารยธรรมทางวัตถุเหล่านี้มันช่างไร้สาระจริงๆ ... รึเปล่า ??!! ... 😃
ในแง่หนึ่ง เราอาจจะมองว่า ผลงานหัตถกรรมอันวิจิตรบรรจงเหล่านั้น มันช่างละเอียดประณีต และงดงามอย่างยากจะหาวัตถุอื่นใดในยุคสมัยปัจจุบันไปเทียบได้เลย แต่เมื่อย้อนพิจารณาอีกแง่หนึ่งที่ว่า งานหัตถกรรมอันวิจิตรพิสดารเหล่านั้น ล้วนถูกประดิษฐ์ประดอยขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์เมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน ซึ่งปราศจากเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยเยี่ยงในยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ ผมก็แทบนึกไม่ออกเลยว่า ผู้คนในสมัยนั้นช่างมีเวลาของชีวิตที่มากมายเหลือเฟือขนาดไหนกันแน่ พวกเขาจึงสามารถเอาเวลามาตกแต่งประดับประดาภาชนะต่างๆ ซะขนาดนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ "สารัตถะของชีวิต" เลยซักนิดเดียว ?!?! ... "ทำไปทำไมวะ ??!!" ??!!??!! ... ยิ่งเมื่อเห็นงานประดิษฐ์องค์พระพุทธรูปทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่ที่เรียงรายในตู้แสดงของพิพิธภัณฑ์ด้วยแล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกสงสัยขึ้นมาว่า ... "ไหนบอกพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายไง ?!" ... "นี่มันอะไรของมันวะเนี่ย ?!" ... ถ้าในแง่หนึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "อารยธรรม" ... เราจะเรียกมันว่า "สิ่งไร้สาระ" เมื่อพิจารณาในแง่ของ "สารัตถะของชีวิต" ได้ด้วยมั้ย ?!! ... หรือ "อารยธรรม" ทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ ล้วนมิใช่เต็มไปด้วยการประดิษฐ์ประดอยสิ่งที่ "เกินความจำเป็น" เข้าไปในเนื้อหาที่ใช้ได้ดีอยู่แล้วตามปรกติ ??!! ... งั้น "อารยธรรม" ก็คือ "สิ่งมิใช่สาระ" งั้นสิ ??!!
เมื่อย้อนกลับมานึกถึง "การต่อสู้กันทางความคิด" ของบรรดา "สาวกพุทธแท้" กับเหล่า "เดียรถีย์พุทธแต่เปลือก" ที่ถ่มถุยกันไปมาจนว่อนอินเทอร์เน็ตมาได้ระยะหนึ่งของสังคมไทย ผมก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่า เก้าะถ้าหากบรรดา "สาวกพุทธแท้" ตั้งแต่ยุคหลังพุทธกาลเป็นต้นมา ไม่เกิดกระบวนการแตกหน่อแตกกอแตกแถวออกมาสร้างถาวรวัตถุให้ใหญ่โตโอฬารจนกลายเป็น "อารยธรรมชาวพุทธ" โดยบรรดา "สาวกพุทธแท้" ทั้งหลาย เอาแต่ท่องบ่นคัมภีร์ แล้วก็พิจารณาตีความกันไปวันๆ ว่า ... ไอ้นั่นทุกข์หนอ ... ไอ้นี่อนิจจาหนอ ... ไอ้โน่นอนัตตาหนอ ... ฯลฯ ... พวกเราจะมีโอกาสได้เห็น "ความเจริญรุ่งเรือง" ของศาสนาพุทธในอีกกว่าสองพันปีมานี้มั้ย ??! ... เรายังจะเหลือร่องรอยอะไรทางประวัติศาสตร์ให้สืบค้นย้อนกลับไปถึงคำสอนอันเป็น "แก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา" ได้อีกรึเปล่า ??!! ... ศาสนาพุทธน่าจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตั้งนานมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีใครต่อใครมานั่งถ่มถุยกันว่า ของใคร "แท้กว่า" ของใครอยู่อย่างนี้ ... รึปเล่า ??!!
ณ วันนั้นที่บรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ เขาประดิษฐ์ประดอยงานศิลปะหัตถกรรมขึ้นมาบำรุงบำเรอ "อารมณ์อันสุนทรียะ" ของพวกเขา พวกเขาคิดถึงคำว่า "อารยธรรม" มากแค่ไหน ?! ... พวกเขาคิดไว้ก่อนรึเปล่าว่า วันหนึ่งข้างหน้าในอีกหลายร้อยหลายพันปี อนุชนรุ่นหลังของพวกเขา จะพินิจพิจารณาผลงานของพวกเขาอย่างชื่นชมด้วยความดื่มด่ำในสุนทรียะเฉกเช่นเดียวกับพวกเขาในวันที่เริ่มลงมือประดิษฐ์ประดอยผลงานเหล่านั้นขึ้นมา ??!! ... หรือเจ้าพวกเด็ก "ไร้อารมณ์สุนทรียะ" ในศตวรรษต่อๆ มา จะมองว่าพวกเขานั้นบ้าบอไร้สาระ ไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เพื่อจะเข้าถึง "สารัตถะแห่งชีวิต" อย่างที่ควรจะเป็น ??!!
จงอย่า "ตัดสิน" ว่าอะไร "ดีกว่า" อะไร ... เพราะเมื่อใดก็ตามที่ "เรา" ตัดสิน ไม่ว่าจะด้วย "มาตรฐานทางความคิด" แบบใด ... "ตัวเรา" นั่นแหละที่เข้าไปสอดแทรกอยู่ใน "กระบวนการตัดสิน" นั้นๆ เสมอ !! ... ใหญ่มาจากไหนไม่ทราบ ... วะ ?!?!?! ... 😄
ว่าด้วย 'คู่ตรงข้าม'
...
ถ้า 'น้อย' = x ; และ 'มาก' = y
ดังนั้น x จึงตรงข้ามกับ y
แล้วถ้า 'ไม่มาก' = z ; ซึ่ง 'ไม่มาก' เป็นนิเสธของ 'มาก'
ดังนั้น z จึงน่าจะ = x และตรงข้ามกับ y
แล้วถ้า 'ฉลาดน้อย' = x ; และ 'ฉลาดมาก' = y ; กับ 'ไม่ฉลาด' = z
แต่เมื่อ 'โง่' = 'ไม่ฉลาด' ; และ 'น้อย' ตรงข้ามกับ 'มาก'
z ซึ่งหมายถึง 'ไม่ฉลาด' จึง = 'โง่' แล้วก็เลยเท่ากับ 'ฉลาดน้อย' คือ x
ซึ่งทั้งคู่จะตรงข้ามกับ 'ฉลาดมาก' คือ y ...
ถ้า 'มาก' = y ; แล้ว 'มากกว่า' = Y
y ก็จะถูกเปลี่ยนสถานะเป็น 'น้อย' ในเชิงเปรียบเทียบกับ Y ซึ่ง 'มากกว่า' ทันที
แต่เมื่อ y = 'ฉลาดมาก' ; Y จึงน่าจะหมายถึง 'ฉลาดมากกว่า'
และเมื่อ 'น้อย' ตรงข้ามกับ 'มาก'
คู่ตรงข้ามของ 'ฉลาดมาก' จึงมี 'ฉลาดมากกว่า' อีกตัวหนึ่งไปด้วย
แต่เพราะ 'โง่' คือ 'ไม่ฉลาด' หรือ 'ฉลาดน้อย' มันจึงไม่น่าจะเป็นตัวเดียวกับ 'ฉลาดมากกว่า' ทั้งๆ ที่มันตรงข้ามกับ 'ฉลาดมาก' เหมือนกัน
...
ถ้าอย่างนั้น ความเป็นจริงของโลกมันจึงไม่ใช่มีเพียง 2 ขั้วเปรียบเทียบอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ... เสมอ ... มั้ง ??!! ...
Talk Like TED
เดิมทีก็ว่าจะ "ย้อนกลับไป" ซื้อหนังสือเล่มนี้ที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษซะหน่อย ซึ่งที่ผมใช้คำว่า "ย้อนกลับไป" ก็เพราะว่า ผมเห็นมันวางหราอยู่ในร้านหนังสือมาพักใหญ่ๆ หลายรอบแล้วแหละ แต่ไม่ได้มีกะจิตกะใจที่อยากจะซื้อมันมาก่อนเลย ... ซึ่งสุดท้ายก็ยังคงไม่ได้ซื้อฉบับภาษาอังกฤษอยู่ดี เพราะดันไปคว้าฉบับแปลไทยมาอ่านแทน เนื่องจากถูกสตางค์กว่าเยอะ ... 😄
จะว่าไปผมก็เคยผ่านหูผ่านตาเจ้า TED Talk มาได้ระยะหนึ่งแล้วล่ะ หลายๆ เรื่องที่เขานำเสนอกันไว้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว แต่บางเรื่องก็น่าจะไกลจากวิถีชีวิตปรกติของตัวเองจนไม่ว่างจะไปสนใจมันซักเท่าไหร่ แต่โดยภาพรวมของ TED Talk ก็ต้องถือว่า เป็นรูปแบบของกิจกรรมที่น่าสนใจ, น่าติดตาม, และ "น่าคิดตาม" จริงๆ ... เก้าะ ... คงจะเป็นอารมณ์ประมาณนี้แหละที่ทำให้ผม "ย้อนกลับไป" สนใจหนังสือเล่ม Talk Like TED ขึ้นมา ...
TED ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1984 โดยการริเริ่มของ Richard Saul Wurman ที่สังเกตเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังของการหลอมรวมกันอย่างลงตัวของ เทคโนโลยี (Technology), ความบันเทิง (Entertainment), และการออกแบบ (Design) ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของ TED ก็มีจุดประสงค์อยู่ที่การเผยแพร่ข้อสังเกตที่ว่านี้ ผ่านการนำเสนอตัวอย่างของ CD-ROM, E-Book, การสร้างภาพกราฟฟิค 3 มิติในแวดงวงบันเทิงของ Lucasfilm, และการนำเสนอทฤษฎีคณิตศาสตร์ของ Benoit Mandelbrot ที่สามารถจำลองสภาพพื้นผิวทางภูมิศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์ได้อย่างแม่นยำ ... แต่กิจกรรมที่จัดขึ้นในในครั้งนั้นเก้าะ ... เจ๊ง !!?
6 ปีต่อมา Richard Wurman กับ Harry Marks ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ก็ริเริ่มโครงการ TED Conference ด้วยการจัดให้เป็นกิจกรรมการประชุมประจำปี เพื่อใช้เป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่นวัตกรรมใหม่ๆ ของแวดวงเทคโนโลยี, ความบันเทิง, และการออกแบบ รวมทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้, ความคิด, และความสนใจของเหล่านักคิดต่างๆ จากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์, นักปรัชญา, นักดนตรี, นักธุรกิจ, ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณ, นักสิทธิมนุษยชน, ฯลฯ และแวดวงอื่นๆ อีกจำนวนมาก ส่งผลให้ TED กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่า "ผู้แสวงความอุดมปัญญา" มากขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยภาพรวมของ TED Conference ในเวลานั้น มักจะเป็นการประชุมที่มีการเชื้อเชิญบุคคลต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า ไม่ถึงกับเป็นการประชุมที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วๆ ไป ... จวบจนกระทั่งปี 2000 ที่เจ้าพ่อสื่ออย่าง Chris Anderson ได้เล็งเห็นถึงอิทธิพลทางความคิดของกิจกรรม TED ที่น่าจะมีผลในเชิงบวกต่อพัฒนาการทางสังคมในวงกว้าง เขาจึงตัดสินใจขอซื้อลิขสิทธิ์การจัดกิจกรรม TED มาจาก Richard Wurman เพื่อจะพัฒนารูปแบบของการจัดกิจกรรมให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Sapling Foundation ซึ่งมี Chris Anderson เป็นผู้บริหารจัดการ ...
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรม TED Talk ก็ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น และกลายเป็นเวทีสำคัญเวทีหนึ่ง ที่บรรดานักคิด และนักกิจกรรมทั้งหลาย สามารถใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้, ความคิด, และแรงบันดาลใจของพวกเขาต่อสาธารณะชนในวงกว้าง ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในยุคที่สามารถแทรกซึมเข้าไปแทบจะทุกซอกทุกมุมของสังคม ประกอบกับการเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจทั่วไป สามารถเข้าไปร่วมแปลบทพูดต่างๆ ในไฟล์วีดีโอของ TED Talk ออกมาเป็น sub-title ไว้มากกว่า 100 ภาษา กระแสการตอบรับ TED Talk จึงยิ่งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่มีผู้เข้าเยี่ยมเว็บไซต์ของ TED มาแล้วกว่า 1,000,000,000 ครั้งในปี 2014 และยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สูงถึง 17 หน้าต่อวินาที ที่ยังคงเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา ...
จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้คนจำนวนมากมาย อยากจะเข้าไปเป็นบุคคลหนึ่งในวีดีโอที่เผยแพร่โดย TED เพราะมันหมายถึงโอกาสที่แต่ละคน จะได้เผยแพร่ความคิด และความเป็นตัวตนของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนนับพันพันล้านคนทั่วโลก อันเป็นที่มาของหนังสือแนะนำ "เทคนิควิธีการพูดในที่สาธารณะให้น่าสนใจ" แบบ TED Talk ที่ต่างก็ทะยอยกันจัดพิมพ์ออกมาสนองความต้องการของผู้ที่สนใจแล้วหลายเล่มด้วยกัน ... ซึ่งก็รวมถึงเจ้าหนังสือ Talk Like TED เล่มนี้ด้วยนั่นเอง ... 😏
อ่านแล้วเล่าใหม่ (ไม่) เอาเรื่อง
ด้วยเหตุที่การตั้งชื่อ และการออกแบบปกของหนังสือ 3 ทั้งเล่มนี้ ค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ละม้ายคล้ายคลึงกันพอสมควร ผมก็เลยเหมาๆ เอาเองว่า ทาง "สำนักพิมพ์อ่าน" คงจะมีเจตนาให้พวกมันเป็นหนังสือใน series เดียวกัน ... เก้าะ ... เลยตัดสินใจกวาดมาเก็บไว้อ่านทั้ง 3 เล่มนั่นแหละ แม้ว่ามันจะไม่ใช่แนวหนังสือที่ผมมักจะหยิบขึ้นอ่านเป็นกิจวัตรของตัวเองซักเท่าไหร่ก็ตาม ... 😁
จะว่าไปแล้ว ผมเป็นคนที่อ่านงานเขียนประเภท "วรรณกรรม" ไม่ค่อยจะมากนัก ซึ่งก็คงเพราะความขี้เกียจของตัวเองที่ไม่นิยม "ตีความเอาเอง" จาก "จินตนาการ" ของคนอื่นๆ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางสำนักที่พยายามจะยืนยันว่า การบอกเล่า "ข้อคิด" บางอย่างด้วย "เรื่องเล่า" นั้น จะสามารถสื่อความนัยของ "แง่คิด" หนึ่งๆ ได้ลึกซึ้งกว่าการบอกกล่าวกันด้วยเนื้อความที่ตรงไปตรงมา ... ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่า หลายๆ สิ่งที่เรา "ตีความกันเอาเอง" นั้น มันอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายดั้งเดิมที่ "ผู้สื่อ" ต้องการจะส่งสารให้กับ "ผู้รับ" ก็ได้ เพราะโดยพื้นเพของความรู้ ความคิด และระดับของจินตนาการ กับช่องว่างของช่วงเวลาที่แตกต่างกันของ "ผู้สื่อสาร" กับ "ผู้รับสาร" นั้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้ความหมายหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปจาก "ความหมายของสารเดิม" ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อความอันเป็น "เปลือก" แห่ง "จินตนาการ" ได้ทั้งนั้น ... การเที่ยวได้ไป "ตีขลุมเอาเอง" ว่า ผู้เขียนคนนั้นต้องการจะสื่อความหมายอย่างนี้ จากเนื้อความในงานเขียนชิ้นโน้นชิ้นไหนของเขา จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ "บ้าบอ" ในความรู้สึกของผม ... แต่การอ่าน "ความบ้าบอ" ของคนอื่นๆ นั้นเป็นคนละเรื่องคนละอารมณ์กัน ... 😄
เก้าะ ... คิดซะว่า เป็นการอ่าน "การเล่าหนังสือ" ของคนอื่นที่เขามีเวลาให้กับประเภทของหนังสือที่ตัวเองไม่ว่างอ่านเท่านั้นแหละ เผื่อว่าจะมีแง่คิดแปลกๆ ที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยให้ได้คิดเล่นสนุกๆ ขึ้นมามั่ง จะได้ไม่ "ดักดาน" อยู่กับ "วิธีคิด" ของตัวเองไปทั้งปีทั้งชาติ ... แต่ก็อย่างที่ว่าล่ะนะ ... "ข้อคิดจากหนังสือ" คงจะไม่ชัดเจนเท่ากับ "วิธีคิดของคนเล่า" ซักเท่าไหร่หรอก เพราะคนเรามักจะนำ "กรอบคิดของตัวเอง" ไปครอบลงบน "จินตนาการของคนอื่น" แล้วก็ละเมอเพ้อพกเอาเองว่า คนอื่นๆ ก็ "จินตนาการ" เหมือนกับเรา ... 😏
Zhuq! Back
ย้อนกลับไปดู blog เก่าๆ ที่ตัวเองเคย upload ทิ้งๆ เอาไว้ในอินเทอร์เน็ต ประมาณว่าน่าจะเป็นเวลาร่วมๆ 10 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งบางชิ้นก็เป็นการ re-blog จากข้อเขียนเก่าๆ ที่ตัวเองเคยแปะเอาไว้ใน NetWare Server ของบริษัท ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังใช้งานระบบ E/Pad ที่สร้างขึ้นมาเองด้วย Batch Command บน DOS (ประมาณปี 1995) แทนที่จะยอมติดตั้งระบบ eMail อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ด้วยความที่ขี้เกียจสอน users ให้ใช้งานอะไรอย่างอื่นที่มากไปกว่า Text Editor ซึ่งมีอยู่แล้วในคอมพิวเตอร์ทุกๆ เครื่องของบริษัท !!?
การย้อนกลับไปอ่านข้อคิดของตัวเองในอดีตมันก็มีอะไรที่น่าสนุกไปอีกแบบอยู่หรอกครับ แม้ว่าผมเองจะเคยมีความรู้สึกว่า ... การวกวนอยู่กับความคิดเดิมๆ ของตัวเองมากจนเกินไปนั้น อาจจะทำให้เราไม่ยอมคิดอะไรที่มันแปลกแตกต่างไปจากเดิม ... เพียงแต่บางครั้งผมก็มีอีกความรู้สึกที่แย้งกันเองว่า ... การเก็บสะสมเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบความคิดในแต่ละช่วงของอายุตัวเองนั้น เราอาจจะได้พบเห็นบางแง่มุมของความเปลี่ยนแปลงที่แม้แต่ตัวเราก็อาจจะไม่ทันสังเกต ... เก้าะ ... เป็นไปได้ ...
ดังนั้น ในเมื่อผมเองก็มีความตั้งใจที่จะไม่เพิ่มเติมเนื้อหาใดๆ เข้าไปใน blogspot หรืออีกบางแห่งอยู่แล้ว ยกเว้นใน goozhuqi.info ของตัวเอง ผมก็เลยกำลังคิดว่า น่าจะนำ blog เก่าๆ เหล่านั้นมารวบรวมให้เป็น .pdf เหมือนกับ ZhuqiDOX ที่เคยรวบรวมเป็นเล่มเอกสารเอาไว้จำนวนหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้ "ร่องรอยทางความคิด" ของตัวเอง ต้องหายสาบสูญไปในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เพียงเพราะพวกมันถูกทิ้งร้างห่างหายไป โดยผู้ที่ระบายพวกมันเอาไว้ซะเอง ...
ผมคงจะเรียกเอกสารชุดนี้ว่า ZhuqiPad เพื่อย้อนรำลึกถึง "จุดเริ่มต้น" ของมันจริงๆ ที่เคยออกแบบไว้ให้เป็นเพียง Electronic NotePad (E/Pad) สำหรับส่งข้อความ และทิ้งข้อคิดบางอย่างไว้ให้พนักงานทุกคนภายในบริษัทได้พิจารณากัน ก่อนที่จะถูกแปลงให้กลายเป็นสาธารณะด้วยชื่อเรียกที่ categorize ให้เป็น ZhuqiDox, ZhuqiNux, ZhuqiBook, และ ZhuqiNote ในเวลาต่อมา ...
Trillions
|
อ่านหนังสือเล่มนี้จบไปได้พักเล็กๆ แล้วล่ะ และถึงแม้ว่าผมเองค่อนข้างที่จะคล้อยตามในหลายๆ ประเด็นที่เขานำเสนอเอาไว้ในเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นของ "มาตรฐานหีบห่อของข้อมูล" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การแบ่งปัน การส่งผ่าน หรือการเข้าถึงข้อมูลโดยอุปกรณ์สื่อสารที่พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายรูปแบบในช่วงระยะหลังๆ มานี้ มีความเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะมีความคล่องตัวต่อการใช้งานบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ และค่ายต่างๆ ของซอฟต์แวร์ที่ทวีความหลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ... น่าตื่นเต้นดีครับ และหวังว่าบรรดาเจ้าแห่งเทคโนโลยีทั้งหลาย ควรจะรีบๆ บรรลุข้อตกลงร่วมกันให้ได้เร็วๆ เพราะมันจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการปฏิวัติยุคสมัยเข้าสู่ "ยุคข้อมูลข่าวสาร" อย่างเต็มตัวจริงๆ ซะที ... แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังรู้สึกขัดๆ อยู่บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ "โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์" (Open Source Software) ...
จะว่าไปแล้ว ความที่มันขัดๆ ก็เพราะผมมีความรู้สึกทั้ง "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับแนวคิดที่พวกเขานำเสนอเอาไว้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นของ The Cathedrals and The Bazaars อันเป็นชื่อหนังสือที่เปรียบเปรยการพัฒนาซอฟต์แวร์ 2 ลักษณะคือ ลักษณะที่พัฒนาโดย "การปกปิดรหัสคำสั่ง" (Close Source) กับลักษณะที่พัฒนาโดย "การเปิดเผยรหัสคำสั่ง" (Open Source) ... ซึ่งผู้เขียนทั้งสามมีความเห็นว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบการก่อสร้าง "มหาวิหาร" (Cathedral) หรือแบบ "ปกปิดรหัสคำสั่ง" นั้น มีพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กระจัดกระจายอย่างไร้ทิศทางแบบ "ตลาดสด" (Bazaar) เพราะการ "เปิดเผยรหัสคำสั่ง" ให้ใครต่อใครสามารถแก้ไขดัดแปลงซอฟต์แวร์ต้นแบบยังไงก็ได้นั้น จะไม่สามารถรวมศูนย์ของพลังการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย เว้นแต่จะเป็น "การอนุรักษ์" สิ่งเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อน ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะแก่การจำหน่ายจ่ายแจกแบบ "ตลาดสด" ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ??!! ... คือ ... มันก็ทั้ง "ใช่" และ "ไม่ใช่" ในความรู้สึกของผมนะ ... อยู่ที่ว่า ... เราจะนิยามคำว่า "นวัตกรรม" ให้หมายถึงอะไรมากกว่า ?!!
จริงอยู่ที่ซอฟต์แวร์ซึ่งเกิดใหม่ในระยะหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะในโลกของฝั่งโอเพนซอร์สนั้น ค่อนข้างที่จะย่ำอยู่กับที่ เพราะมัวแต่ไปทำสิ่งเดิมๆ ที่คนอื่นเคยทำกันอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อทดแทนซอฟต์แวร์ราคาแพงที่เขาไม่เปิดเผยซอร์สโค้ด บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อปรับปรุงโครงการโอเพนซอร์สอื่น เพราะบังเอิญว่าเขาไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมคุณสมบัติบางอย่างเพื่อตามใจผู้ใช้ซึ่งมีจำนวนไม่มากพอ หรืออาจจะเพราะนักพัฒนากลุ่มเดิม ไม่มีคาดหวังใดๆ กับโครงการที่ตัวเองริเริ่มเอาไว้ก่อนหน้านั้น ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนทำให้นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์ส อาจจะถูกรับรู้โดยบุคคลทั่วไปว่า เป็นพวก "อนุรักษ์นิยม" แทนที่จะถูกมองว่าเป็นพวก "หัวก้าวหน้า" ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลกของซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีแห่งอนาคต ... ??!!
ผมเพียงแต่มี "ความรู้สึก" ว่า บางครั้ง การที่นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สจำเป็นต้องทำอะไรต่อมิอะไรที่มันคล้ายกันกับของเดิมๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า เจ้าของเทคโนโลยีเดิมหลายราย ไม่ได้ยินดีที่จะอุทิศเทคโนโลยีของตนให้เป็นสมบัติสาธารณะ การจะทำอะไรต่อยอดจากจุดเดิมที่มันเคยเป็นอยู่จึงไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาคอยกดหัวทุกคนเอาไว้ แล้วการที่หลายๆ คนต้องเสียเวลาไปกับสร้างสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาทดแทน ก็เลยกลายเป็น "ความจำเป็น" ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จนดูเหมือนทุกอย่างมันหยุดอยู่กับที่โดยไม่มีการพัฒนาใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ... ซึ่ง ... นั่นอาจจะเป็นเพียงขั้นตอนของ "การปรับฐาน" เพื่อให้ทรัพยากรที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาใดๆ ต่อไปในอนาคต มีความพร้อมมากกว่าที่เคยผ่านๆ มาซะก่อน ... รึเปล่า ??!! ... สำหรับการรับรู้ของผู้ใช้งานโดยทั่วๆ ไปนั้น มันอาจจะเป็นเพียงการย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะทุกอย่างยังคง "คล้ายคลึงกับของเดิม" แต่สำหรับนักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สแล้ว ทั้งหมดนั้นคือ "สิ่งใหม่" ที่พวกเขาค่อยๆ สั่งสมเข้าไปใน "เหมืองทรัพยากร" ของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ใครต่อใครสามารถหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรีในอนาคต !!??
เรื่องราวทั้งหลายในโลกของเราใบนี้ ไม่มีสิ่งใดที่สามารถก่อเกิดขึ้นมาอย่าง "ปาฏิหาริย์" แต่ทุกอย่างล้วนต้องผ่าน "กาลเวลา" ใน "การหล่อหลอม" อย่างเป็น "กระบวนการ" ของมันเสมอ ... ทุกๆ "ความสำเร็จ" ที่มหาชนพากันแห่แหนชื่นชมด้วยความตื่นเต้นยินดีนั้น ล้วนมี "วันเวลาอันเจ็บปวด" ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสนใจ ... ทั้งนั้น !!
โจทย์ของความเท่าเทียมกัน
เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ได้เห็นตัวอย่างการแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันในหนังสือเล่มไหนซักเล่มของ Dr. Edward deBono เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่ไม่เคยคำนึงถึงการแบ่งแบบอื่นๆ เลย นอกจากแบ่งตามแนวนอน, แบ่งตามแนวตั้ง, แบ่งตามแนวทะแยงมุม, แล้วก็แบ่งจากแนวกึ่งกลางของแต่ละด้าน ... ราวกับว่า มันก็แบ่งของได้แค่ 4 แบบนั่นแหละ จะต้องไปวุ่นวายคิดอะไรกับมันนักหนา ?! ... ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเคยมีอาการอย่างที่ว่านั้นอยู่บ้าง ... เราจะต้องยุ่งยากกับโจทย์พื้นๆ แบบนี้ไปเพื่ออะไรกัน ?! ... แต่ว่า ... โจทย์ก็คือโจทย์ มันคือ "แบบจำลอง" ที่ถูกออกแบบขึ้นมามา เพื่อให้เราได้ฝึกหัดทักษะอะไรบางอย่าง มันอาจจะเป็นสิ่งง่ายๆ พื้นๆ ที่ต้องการสื่อสารกับเราว่า ... โลกไม่ได้มี "วิธีคิด" ที่ตายตัวเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เว้นแต่เราจะ "ไม่สนใจ" หรือยอม "ดักดาน" อยู่กับรูปแบบเดิมๆ ของเราไปจนวันตาย ...
หลังจากที่ผมได้รับรู้ถึงวิธีการที่แตกต่างออกไปจาก "ความคุ้นเคย" ของตัวเองแล้ว ผมก็เลยทดลองเขียนแบบอื่นๆ ออกมาให้มากกว่า "ตัวอย่าง" ที่ได้เห็นในหนังสือ ซึ่งมันก็ยังสามารถคิดหาวิธีการอื่นๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ราวกับไม่มีวันสิ้นสุด ... และนั่นแหละที่ผมมองว่ามันน่าสนใจ ... เมื่อใดก็ตามที่เราได้หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ที่เคย "ครอบงำความคิด" ทั้งหลายทั้งปวงของเราเอาไว้ ทัศนคติและโลกทัศน์ในการคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราก็จะแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเปิดประตูแห่ง "อิสรภาพทางความคิด" ให้กับเราอย่างไม่สิ้นสุด ... ราวกับว่า นี่คือ "การหลุดพ้น" ที่เป็นแก่นแกนของคำสอนทั้งหลายในศาสนาต่างๆ นั่นเอง ... "การบรรลุธรรม" ที่หลายต่อหลายคนออกปากว่า มันเป็น "อาการทางจิต" ที่ยากแก่การอธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจ เว้นแต่ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงของ "การบรรลุธรรม" เท่านั้น จึงจะสามารถหยั่งถึง "ความเป็นอิสระแห่งจิต" ที่ปราศจาก "การครอบงำ" ใดๆ นั้นได้ ... โจทย์บ้าๆ บอๆ เรื่อง "การแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส" ก็น่าจะเป็น "ตัวอย่าง" หรือ "แบบจำลอง" ของสิ่งที่ว่านั้น !! ...
ผมนึกถึง "แบบฝึกหัด" ข้อนี้ของ Dr. Edward deBono ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ชาว Netizen หรือ "ชุมชนไซเบอร์" ของไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามสร้างพื้นที่สำหรับ "การแสดงความเชื่อ" ของตน เพียงเพื่อหวังจะหาพวกหาพ้องที่จะร้องสนับสนุน "ความเชื่อ" เหล่านั้นของตนเท่านั้น ... ผมขอยืนยันว่า ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ "การแสดงความคิด" หรือ "การแสดงความเห็น" ในนิยามแบบของผมเลย ... เพราะมันวนเวียนอยู่กับกรอบนิยามแบบเดิมๆ ของตำรับตำราที่เขียนไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน และไม่มีวี่แววว่าจะมี "การออกแบบองค์ความรู้" อื่นใดให้เป็น "ทางเลือก" ที่มากไปกว่านั้นเลยซักนิดเดียว ... ผู้คนในสังคมกำลังพยายามนำ "บทสรุปทางความคิด" ของคนที่ตายไปนานแล้ว มากำหนดเป็นนิยามความหมายทางสังคมให้กับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ... ราวกับว่า ... สี่เหลี่ยมจัตุรัสในนิยามของพวกเขา สามารถแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กันได้เพียงไม่กี่แบบแบบเท่านั้น โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามยกเหตุผลบ้าบอคอแตกอะไรก็ได้ขึ้นมาอ้าง เพียงเพื่อจะขอเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนว่า แบบของใครที่ดูสวยงามกว่า หรือเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่ากัน ... เท่านั้นเอง !!??!!
"คติความเชื่อ" หลายๆ อย่างในแต่ละสังคม ดูจะเป็น "กรอบที่มองไม่เห็น" ที่ใครต่อใครพากันยึดติด และกำหนดไว้เป็น
กรงครอบที่พวกเขากักขังตัวเองเอาไว้ แล้วเที่ยวได้เอะอะโวยวายเพื่อจะเรียกร้องให้ใครต่อใครยื่นมือมาปลดปล่อย !!?? ... มันบ้ารึเปล่า ??!! ... ธรรมะที่มิอาจอยู่คู่กับอธรรม, น้ำบ่อที่ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับน้ำโคลน, หรือพิมเสนที่ไม่มีใครยอมแลกกับเกลือ, ฯลฯ นั้น ... มันสามารถแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจนในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างนั้นเหรอ ?! ... "คนดี" ที่ "เชื่อ" และ "ศรัทธา" ใน "สิ่งที่เราไม่ชอบ" จะไม่มีเลยเชียวหรือ ?! ... "คนชั่ว" ที่ "แน่วแน่มั่นคง" ในสิ่งเดียวกับที่ "นักบุญ" ยกย่องเทิดทูน จะไม่เคยเกิดขึ้นได้เลยรึไง ?! ... หาก "ความดี" กับ "ความเลว" อยู่แยกขาดจากกันเป็นคนละโลก แล้วทั้งสองโลกนั้นเขาจะมี "นิยาม" ของ "ความดี" กับ "ความเลว" ว่ายังไง ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เคยพบเห็นสิ่งที่เป็น "ขั้วตรงข้าม" ของตัวเองมาก่อน ??!!
**ในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่มีความเท่าเทียมกัน เราจะจัดสรรปันส่วนให้เกิดความเท่าเทียมกันได้กี่วิธี ??!!**
บ่นเข้าไป !?
กระท่อนกระแท่นกับตารางเวลาที่จะเขียน blog ของตัวเองไปซะนาน ทั้งๆ ที่เคยตั้งใจไว้เองว่า จะพยายามเขียนให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่ก็ใช้เวลามั่วไปกับหลายๆ เรื่องจนไม่เคยลงตัวซักที ... 😈 ... ส่วนหนึ่งก็เริ่มมาจากสาเหตุของ "ความไม่ไว้วางใจ" ว่า ผู้ให้บริการพื้นที่ในการเขียน blog ทั้งหลายนั้น เขาจะยังคงดูแล servers ของเขาต่อไปเรื่อยๆ รึเปล่า? จะมีการเปรับปลี่ยนรูปแบบอะไรบ้างมั้ย? ยังสามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ หรือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรบ้าง? ... เพราะเคยมีประสบการณ์ที่จู่ๆ multiply ประกาศปิดตัวเองลงไปเพราะขายกิจการให้คนอื่น หรือ esnips ที่จู่ๆ ก็แก้ไขนโยบายจนไฟล์ที่เคย upload ไว้แบ่งปันแบบสาธารณะ ดันไม่สามารถที่จะเข้าไป download ได้เหมือนเมื่อก่อน ... เก้าะ ... เลยทำให้รู้สึกว่า เราน่าจะทำอะไรที่เป็นของเราเองดีกว่า มี web server เอง, มีพื้นที่สำหรับเขียน blog ส่วนตัวที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกฎกติกามารยาทใดๆ ของใครทั้งนั้น เพราะมันมี user แค่คนเดียว, ... "น่าจะ" ดีนะ !! ... แต่สุดท้ายมันก็แค่ "น่าจะ" เท่านั้นเองแหละ เพระวันเลวคืนร้าย ไอ้เจ้า server เจ้ากรรมนายเวรก็นึกจะรวนจนไม่ทำงานไปซะงั้น หรือไม่ก็ hard disk เกิดเดี้ยงไปเฉยๆ ตามวาระสังขารของมัน ... สุดท้าย ... บทบันทึกหลายๆ อย่างที่เคยกลัวว่ามันจะหายไปจากโลก มันก็หายไปจากโลกจริงๆ ด้วยแหละ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ ... เฮ้อ !! ... สรุปว่า ... บรรดาข้อมูลอิเล็คทรอนิคที่เก็บไว้เป็น soft copy ทั้งหลายนั้น มันมีความจิรังยั่งยืนที่เลวร้ายกว่าข้อมูลประเภท hard copy ของยุคสมัยก่อนๆ เยอะมากเลยทีเดียว ... 😭 ... ซึ่งข้อกังวลแบบนี้ paranoid ซะหน่อยก็พอจะแก้ไขให้สบายใจขึ้นได้บ้างล่ะครับ เพราะช่วงหลังๆ มานี้ ผมเขียนบันทึกใส่ electronic diary ส่วนตัวที่ชื่อว่า RedNotebook ซึ่งทั้งติดตั้งโปรแกรม และ backup สิ่งที่ตัวเองบันทึกไว้ถึง 3 copies ตลอดอยู่แล้ว ก่อนที่จะแปลงให้มันกลายเป็น html เพื่อ upload เข้าไปใน blog ของตัวเอง ... paranoid น่าดู !! ... 😏
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระท่อนกระแท่นก็คือ เรื่องราวที่อยากจะเล่ามันเยอะเกินไป หลายเรื่องก็ต้องใช้เวลากรองนานเกินไป หนังสือบางเล่มก็น่าอ่านจนเกินไป บางเรื่องก็รู้สึกไปเองว่ามันน่าจะซ้ำกับเรื่องราวก่อนๆ หน้านี้ที่เคยเล่าไปแล้ว ... สรุปว่า ... ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเขียนออกมาด้วยรูปร่างทางภาษาแบบไหน ...
แต่เหตุผลที่เป็นปัจจัยชี้ขาดจริงๆ ก็คือ "ความขี้เกียจ" ... 😄 ... เหตุผลนี้สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องขยายความครับ พอว่างจากงานที่มันยุ่งๆ วุ่นๆ ก็อยากจะนอนซะงั้นแหละ ... ซึ่งประเด็นนี้แก้ไม่ยากครับ ... แค่ "อย่าขี้เกียจ" เท่านั้นก็สิ้นเรื่อง ... 😋
งั้นก็กลับไปงงกับสาเหตุที่สอง ... จะเขียนอะไรล่ะทีนี้ ??!! ... เฮ้อ !! ... 😄
群書治要 360
Title: 群書治要 360 (The Compilation of Books and Writings on the Important Governing Principles) Authors: Wei Zheng, Yu Shinan Format: Hard Cover, Volume 1: 456 pages & Volume 2: 514 pages Publisher: The WorldBook Co., Ltd. ; December 2012 & October 2014 Language: Chinese - English ISBN-13: Volume 1: 9789570604962 ; Volume 2: 9789570605105 Product Dimensions: 156 x 216 x 35 mm. |
ว่าจะเขียนถึงหนังสือชุดนี้ตั้งแต่เพิ่งกลับจากประเทศไต้หวันเมื่อต้นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2015 นู่นแล้วแหละ แต่ก็หาจังหวะเหมาะๆ ไม่ได้ซักที เพราะดูเหมือนเรื่องราวที่อยากจะเล่ามันเยอะแยะจนเรียบเรียงไม่ค่อยจะทันกับเวลาว่างที่เหลือเป็นหย่อมๆ ตั้งแต่เมื่อร่วมปีมาแล้ว ...
จริงๆ แล้วผมเองก็แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่อยากจะเดินเที่ยวเล่นตามร้านหนังสือในประเทศไต้หวันเมื่อครั้งที่มีโอกาสได้ไปแวะเวียนเพียงไม่กี่วัน แล้วก็บังเอิญเข้าไปเห็นหนังสือเล่มสวยทั้ง 2 เล่มนี้วางจำหน่ายอยู่ ซึ่งเป็นเพียงชุดเดียวที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษประกอบอยู่ในเล่มด้วย ... ก็เลย "เสร็จมัน" !! ... 😄 ... ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ "เถนคลั่งคัมภีร์" อย่างผม ตัดสินใจซื้อหนังสือชุดนี้ในทันที (โดยไม่ถามราคาก่อนเลยด้วยซ้ำ) ก็คือ เรื่องราวความเป็นมาของหนังสือที่ใช้ชื่อว่า 群書治要 นี่แหละ !! ... 😋
มันเป็นหนังสือที่กษัตริย์ "ถังไท่จงหลี่ซื่อมิ๋น" (唐太宗李世民) มีพระบัญชาให้ราชบัณฑิตคนสำคัญ 2 คนคือ "เว่ยเจิง" (魏征) และ "ยฺวี๋ซื่อนั๋น" (虞世南) ทำการคัดสรรเอาเฉพาะ "แก่นความคิด" ของตำรับตำราโบราณ นับตั้งแต่ยุค "ปัญจบุรพกษัตริย์" (五帝) จนถึงราชวงศ์จิ้น (晋代) ซึ่งประกอบด้วย 6 คัมภีร์ (六經) 4 บันทึกประวัติศาสตร์ (四史) และ 100 ปรัชญาสำนักปราชญ์ (諸子百家) กับเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 14,000 เล่มหนังสือ กับม้วนตำราอีก 89,000 ม้วน ซึ่งมีถ้อยคำรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5000,000 คำ ครอบคลุมเนื้อหา 65 หมวดความรู้อันเกี่ยวข้องกับ การฝึกฝนพัฒนาตน, การบริหารจัดการครอบครัว, การปกครองอาณาจักร, และการสร้างสันติสุขแก่โลก ... เพื่อประมวลเนื้อหาทั้งหมดให้กลายเป็น "บทคัดย่อ" ที่กษัตริย์ และบรรดานักปกครองทั้งหลายจำเป็นต้องศึกษาอย่างทะลุปรุโปร่ง ... เกิดเป็นตำรา 群書治要 จำนวน 10 ม้วนไม่ไผ่ หรือประมาณ 10 เล่มหนังสือที่กษัตริย์ "ถังไท่จงหลี่ซื่อมิ๋น" (唐太宗李世民) แทบจะวางอยู่ข้างกายของพระองค์ตลอดเวลา เพราะแม้ว่าพระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทหาร แต่กลับทรงไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านการปกครองที่กษัตริย์ทุกพระองค์จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ก่อนที่จะมีโอกาสได้ขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม การคัดลอกตำรา 群書治要 ได้หายสาบสูญไปจากแผ่นดินจีนในยุคสมัยของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) อีกทั้งไม่หลงเหลือร่องรอยของต้นฉบับใดๆ ให้นำกลับมาคัดลอกใหม่ได้อีก แต่บังเอิญว่า มีพระนักบวชชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งในยุค "คามากูระ" (Kamakura: 1192-1330) ได้เคยคัดลอกตำรา 群書治要 ทั้งฉบับเอาไว้ และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีใน "พิพิธภัณฑ์สถานคานาซาวะ บุนโกะ" (Japanese Kanazawa Bunko Museum) ซึ่งต่อมาประเทศญี่ปุ่นได้ส่งมอบตำรา 群書治要 คืนให้แก่ประเทศจีน เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของ "จักรพรรดิเฉียนหลง" (乾隆帝) แห่งราชวงศ์แมนจู (滿族) ... และเป็นต้นฉบับเดียวกับที่รัฐบาลเจียงไคเชค (蒋介石) ได้ขนถ่ายออกจากประเทศจีนพร้อมๆ กับทรัพย์สมบัติอื่นๆ ในพระราชวัง มาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ประเทศไต้หวันจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ...
ส่วนหนังสือ 群書治要 360 ที่ผมดอดไปซื้อมาคราวนี้ ถูกจัดพิมพ์ไว้เป็นชุด 2 เล่ม เล่มละ 360 ข้อความหรือ excerpts ที่คัดมาจากต้นฉบับ 群書治要 อีกทอดหนึ่ง พร้อมอรรถกถาเพื่อขยายความให้แก่เนื้อความที่เขาคัดมารวบรวมไว้ โดยแยกเป็นหมวดๆ ไว้กว่า 50 หมวด เพื่อให้มนุษย์ในยุคลุกลี้ลุกลนสามารถอ่านจับใจความได้ง่ายๆ คล้ายๆ กับการตามอ่าน status ของเพื่อนๆ ตามแหล่ง social network นั่นแหละ ... ประมาณว่า ให้ค่อยๆ อ่าน และค่อยๆ คิดพิจารณากันวันละข้อความสองข้อความไปเรื่อยๆ ทั้งปี ... อะไรแบบนั้น ... 😏
อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจของ 群書治要 ก็คือ ในจำนวน 6 คัมภีร์ (六經) ที่ถือว่า กษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศควรจะต้องอ่านนั้น เล่มแรกก็คือ "อี้จิง" (易經) ที่บรรดา "หนอนตำรา" ในชั้นหลังๆ มักจะ "ตีความกันเอาเอง" ว่า เป็น "ตำราหมอดู" ซึ่งผมไม่เคยเชื่ออย่างนั้นเลย เพราะผมค่อนข้างมั่นใจอย่างที่สุดว่า "อี้จิง" (易經) จะต้องเป็น "คัมภีร์ว่าด้วยการปกครอง" มาโดยตลอด และพยายามค่อยๆ แคะความหมายที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ของ "อี้จิง" (易經) ออกมาใหม่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดของแนวคิดบ้าๆ บอๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้เล่าไว้ค่อนข้างละเอียดไปแล้ว "ZhuqiChing : ฉึกฺกิจิง" ... เก้าะ ... ตั้งใจว่าจะแคะให้หมดทั้ง 64 บทของ "อี้จิง" (易經) นั่นแหละถึงจะยอมเลิกรา ... 😇 ... การปรากฏชื่อของคัมภีร์ "อี้จิง" (易經) หรือ "โจวอี้" (周易) อยู่ในทำเนียบตำราที่ผู้ปกครองประเทศจะต้องศึกษา โดยได้รับการบรรจุเข้าเป็นบทแรกของ 群書治要 อีกด้วยนั้น ถือเป็นกรณีหนึ่งที่ตอกย้ำความเชื่อดั้งเดิมของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ "อี้จิง" (易經) ที่ว่า มันจะต้องไม่ใช่ "ตำราหมอดู" อย่างแน่นอน !!