หายหัวไปไหนของมัน

19/12/2014

ดูจากวันที่ของการโพสต์ครั้งหลังสุดก่อนเมื่อวาน เพิ่งจะสังเกตว่ามันห่างกันถึง 6 เดือนเต็มๆ เลยทีเดียว !!! ... เออ ... นี่เราหายหัวไปจากเว็บของตัวเองได้นานขนาดนั้นจริงๆ เชียวเหรอวะ ?! ... 😋

บางทีก็นึกไม่ออกเหมือนกันนะว่า วันๆ มันจะยุ่งอะไรนักหนากับเรื่องจุกๆ จิกๆ ของงานประจำวัน ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องที่ยังคั่งค้างไว้อีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีโอกาสได้หยิบๆ จับๆ อย่างต่อเนื่องเหมือนเมื่อก่อน เช่นการเขียน "คัมภีร์ฉึกฺกิจิง" ที่ทำท่าจะจบมิจบแหล่มาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ก็มีอันต้องทิ้งร้างไปทำอย่างอื่นก่อนเป็นการชั่วคราวอยู่เรื่อย แถมยังมีหนังสืออีกกองโตที่ซื้อๆ เอาไว้ด้วยความอยากจะอ่าน แต่จนแล้วจนรอดก็อ่านไปได้แค่ไม่กี่เล่ม เพราะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยจนอ่านได้เพียงไม่กี่หน้าต่อวันเท่านั้น ... แต่ก็ไม่เห็นมันจะหยุดซื้อซักที ?! ... ไม่รู้จะโทษคนเขียนหรือคนจัดพิมพ์เหมือนกัน ไอ้ประเภทที่ชอบทำหนังสือน่าสนใจออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เนี่ย !? ... 😄

ก็อยากจะหาเวลาว่างๆ มานั่งบ่นๆ เป็นตัวหนังสือในเว็บของตัวเองให้มันมากขึ้นอยู่หรอก โดยเฉพาะเวลาที่แว้บอะไรขึ้นมาจากอ่านหนังสือบางเล่มที่ค่อยๆ ละเลียดไปเรื่อยๆ ... ขอไปเช็คเวลาในแต่ละวันก่อนซิว่า ตกลงมันมี 24 ชั่วโมงจริงรึเปล่า ดูมันน้อยๆ เหมือนไม่ค่อยถึงยังไงชอบกล ... รึว่าพระเจ้าแกโกงเรา !!??

 

 

 

เหตุที่ต้องมี "โลโกประจำรุ่น" ของศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา รุ่น 26

18/12/2014 | Comments: 7

จะว่าไปก็เหมือนกับการทำ graphic ประกอบงานเลี้ยงทั่วๆ ไปของอดีตนักเรียนร่วมสถาบันที่เคยทำกันมาแล้วตั้งหลายครั้ง ซึ่งบังเอิญว่า "โลโกโรงเรียน" ที่ส่งเป็นไฟล์ต่อๆ กันมานั้น มันค่อนข้างจะไม่ได้คุณภาพสำหรับงานพิมพ์ใดๆ เอาซะเลย และไม่มีใครรู้ด้วยว่า ไฟล์ต้นฉบับที่เป็น vector graphic ซึ่งผมเคยทำไว้ให้กับ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เมื่อหลายปีก่อนนั้น ปัจจุบันมีใครเป็นผู้เก็บรักษาไว้ใช้งานอีกรึเปล่า ... ผมเก้าะจัดการเขียนขึ้นใหม่ซะ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร ...

แต่ตอนที่นำโลโกไปประกอบในงานอาร์ตเวิร์คอื่นๆ นั้น ผมเองกลับรู้สึกไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ เนื่องจากมันดูซ้ำซ้อนกับ "โลโกโรงเรียน" ที่ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" มักจะนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ อยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็แทบจะมองว่าเป็นอันเดียวกันอยู่ดี ยิ่งไม่ต้องนับรวมกับงานเลี้ยงรุ่นของรุ่นอื่นๆ ที่ยังมีการจัดให้มีขึ้นเป็นระยะๆ และมักจะใช้โลโกแบบเดียวกันทั้งหมดจนไม่รู้ว่ารุ่นไหนเป็นรุ่นไหน หรือกิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมที่จัดโดย "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิษย์เก่าหลายรุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อหลายปีก่อน ... ความคิดเรื่องการมี "โลโกประจำรุ่น 26" จึงแว้บขึ้นมาจากประเด็นที่ว่านี้ เพื่อจำแนกกิจกรรมของรุ่น 26 ออกจากกิจกรรมของชมรมฯ ซึ่งเป็นของส่วนรวมให้ชัดเจน จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ หากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ของรุ่น 26 ในโอกาสต่อๆ ไป ... เก้าะ ... น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำ "โลโกประจำรุ่น" ของ "ศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" ที่มีมากมายถึง 37 รุ่นด้วยกัน !!

"โลโกประจำรุ่น 26" ถูกกำหนดให้ใช้ "โลโกโรงเรียน" เป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นๆ เข้าไปให้มีลักษณะเฉพาะของ "รุ่นที่ 26" เพื่อคงความหมายของ "ศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เอาไว้ และเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารกับศิษย์เก่ารุ่นอื่นๆ ซึ่งเคยร่วมสถาบันเดียวกัน ... แต่ ... จะต้องไม่สร้างความสับสนกับสัญลักษณ์เดิมที่ "ชมรมศิษย์เก่าศึกษาวัฒนา" เลือกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำในกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวมอยู่ก่อนแล้วด้วย ... ซึ่งพวกเราได้ถือโอกาสนำ "โลโกประจำรุ่น 26" ขึ้นใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2557 เนื่องในโอกาสงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ฉลองการเข้าสู่ทศวรรษที่สี่แห่งมิตรภาพของพวกเราทุกๆ คน ...

 

 

วิชาสุดท้าย : ฉบับ (เกือบ) สมบูรณ์

19/6/2014

ชื่อหนังสือ: วิชาสุดท้าย (ฉบับสมบูรณ์)
ผู้แปล-เรียบเรียง: สฤณี อาชวานันทกุล
การเข้าเล่ม: ปกแข็ง, 384 หน้า
สำนักพิมพ์: OpenBooks ; สิงหาคม 2013
ภาษา: อังกฤษ
ISBN-13: 9786169174417
ขนาดเล่มหนังสือ: 122 x 184 x 30 มม.

แม้ว่าชื่อหนังสือ "วิชาสุดท้าย" อาจจะดูน่าสนใจอยู่บ้าง แต่คำที่น่าจะตรงความหมายสำหรับบทความต่างๆ ซึ่งถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเรียกว่า "ปัจฉิมนิเทศ" มากกว่า เพราะมันคือสำเนาของสุนทรพจน์ที่บุคคลต่างๆ ได้มอบไว้ให้แก่นักศึกษา เนื่องในวันพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกานิยมจัดให้มีขึ้น ... ส่วนที่ผมอยากจะล้อเลียนชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "ฉบับ (เกือบ) สมบูรณ์" นั้น มันก็เนื่องมาจาก "ฉบับสมบูรณ์" ในความหมายของผม ควรจะต้องรวมเอา "ต้นฉบับ" ของ "ปัจฉิมนิเทศ" ทั้งหมดนั้น มาจัดพิมพ์ไว้ด้วยกัน เพราะการถ่ายทอดลีลาทางภาษาของชนชาติหนึ่ง มาเป็นสำนวนของอีกภาษาหนึ่งนั้น มันค่อนข้างยากที่จะรักษา "อารมณ์ของถ้อยคำ" ตาม "ต้นฉบับ" เอาไว้ได้ ... ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ผมเองก็คิดว่า การเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้อ่าน "ต้นฉบับ" ที่เป็นภาษาอื่น (ซึ่งในที่นี้ก็คือภาษาอังกฤษ) นั้น น่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรต่อการเรียนรู้จาก "ตัวอย่างของการใช้ภาษา" เนื่องจาก "คำสบถ" หรือ "คำสแลง" แบบอเมริกัน แทบจะไม่ถูกนำมาใช้เลย ในกาลเทศะที่ค่อนข้างจะเป็นพิธีการแบบนี้ ...

ก็อยากจะบอกล่ะครับว่า นี่เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีมากๆ อีกเล่มหนึ่ง ที่หลายๆ คนควรจะหาโอกาสอ่าน แล้วก็ขบคิดทบทวนกับมันซะบ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุด บุคคลต่างๆ ที่ไปทำหน้าที่แสดง "ปัจฉิมนิเทศ" นั้น ก็ได้กลั่นกรองด้วยตัวของพวกเขาเองมาแล้วในระดับหนึ่งว่า มันคือ "ข้อคิด" ที่ "เหมาะสมที่สุดแล้ว" สำหรับการเป็น "ข้อแนะนำ" ให้แก่กลุ่มบุคคลที่กำลังจะถูกเรียกขานกันว่า "ปัญญาชน" ในโอกาสต่อๆ ไป

เก้าะ ... แหม่ ... ราคาหนังสือก็ไม่ใช่ถูกๆ นะ เกือบจะเท่ากับราคาหนังสือต่างประเทศอยู่แล้วเนี่ย !! ... ท..า..ม..ม้..า..ย.. ถึงไม่ช่วยเอาต้นฉบับภาษาอังกฤษมารวมไว้ด้วยกัน ?! ... จะต้องให้คนอ่านเขาไปหา download กันเองจาก internet อีก ท..า..ม..ม..า..ย..ก๊..า..น.. ??!! ... 😒

 

 

The News

A User's Manual | 4/6/2014

Book Title: The News : A User's Manual
Author(s): Alain De Botton
Format: Hardcover, 272 pages
Publisher: Pantheon ; First Edition ; February 11, 2014
Language: English
ISBN-10: 0307379124
ISBN-13: 9780307379122
Product Dimensions: 7.3 x 5.4 x 0.9 inches


กำลังค่อยๆ อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ นี้อย่างค่อนข้างจะระมัดระวัง เพราะเพียงแค่ไม่กี่หน้าของบทนำที่ Alain de Botton เปิดประเด็นเอาไว้ ก็ทำให้ผมต้องทบทวนหลายๆ แง่มุมเกี่ยวกับ "พฤติกรรมเสพข่าว" ของตัวเองพอสมควรเลยทีเดียว ... จริงๆ แล้ว ... คนเราอ่านข่าว และคอยติดตามข่าวกันทำไม ?! ...

สังคมมนุษย์ในโลกแห่ง "ยุคข่าวสารข้อมูล" นั้น แทบจะ "เสพข่าว" กันราวกับเป็น "การหายใจ" ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกันอย่างนั้น เราก็คงพอจะนึกออกว่า มันคงจะมี "มลภาวะทางข่าว" ปนเปื้อนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ... แล้ว "สิ่งปนเปื้อน" เหล่านั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อ "ทัศนคติ" และ "โลกทัศน์" ของ "ผู้เสพข่าว" ?! ... มันส่งผลอย่างไรบ้างต่อ "กระบวนการทางการศึกษา" ของเด็กๆ และเยาวชน ซึ่งต้องเริ่มต้นชีวิตการเรียนรู้ของพวกเขา กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย "ข่าวสาร" ซึ่งไม่มีใครสามารถกลั่นกรองได้ไหวเหล่านั้น ?! ... มันทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อ "ข่าวสาร" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น "สิ่งหายาก" และ "ราคาแพง" ได้ถูกทำให้กลายเป็น "ความดาษดื่น" ที่ทุกคนสามารถจะหามาเสพจากช่องทางไหนๆ ก็ได้อย่างแทบจะไม่จำกัด เว้นแต่ "แหล่งกำเนิดข่าว" เท่านั้น ที่อยู่ภายในการกำกับควบคุมของ "สำนักข่าวยักษ์ใหญ่" เพียงไม่กี่รายในโลก ?!!? ... คนเราอ่านข่าว และคอยติดตามข่าวกันทำไม ?! ...

ผมรู้สึกว่า มันมีจุดเล็กจุดน้อยให้ต้องคอยคิดเต็มไปหมดในหนังสือเล่มย่อมๆ เล่มนี้ และอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะค่อยๆ ละเลียดมันไปจนจบจริงๆ ... 😏

 

 

Inferno : สู่นรกภูมิ

3/4/2014 | Comments: 6

ชื่อหนังสือ: สู่นรกภูมิ
แปลจาก: Inferno ของ Dan Brown
ผู้แปล: อรดี สุวรรณโกมล
รูปเล่ม: ปกอ่อน, 551 หน้า
สำนักพิมพ์: แพรว, มีนาคม 2014
ภาษา: ไทย
ISBN-13: 9786163876249
ขนาดหนังสือ: 152 x 228 x 33 มม.

นานๆ ครั้งถึงจะหยิบหนังสือนิยายขึ้นมาอ่านซักเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่มล่าสุดก็คือ Inferno ของ Dan Brown ฉบับที่แปลไทยโดย อรดี สุวรรณโกมล เพราะขี้เกียจอ่านต้นฉบับที่อาจจะ 'บันเทิงสะอึก' เนื่องจากสะดุดความหมายของคำอีกหลายๆ คำที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยเท่านั้นเอง ... โดยผมมีความรู้สึกว่า Dan Brown มีส่วนผสมของ 'ความเป็นกิมย้ง' กับ 'ความเป็นโกวเล้ง' ในงานเขียนของเขาพอสมควร ... :)

ส่วนที่ผมเรียกว่า 'ความเป็นกิมย้ง' ก็คือ ความสามารถในการเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ดูสมจริง มีการอ้างอิงผลงานวรรณกรรมในอดีต พร้อมทั้งประวัติของบุคคล ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ที่นำมาประกอบฉากได้อย่างน่าติดตาม ซึ่งถือเป็นส่วนที่สวยงามที่สุดของ 'กิมย้ง' ในการสืบสานวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของชนชาติตน ผ่านงานเขียนในรูปของนิยาย ในขณะที่ Dan Brown มักจะนำรายละเอียดของผลงานด้านวรรณกรรมที่โด่งดังในอดีต ตลอดจนงานศิลปะที่โดดเด่นหลายต่อหลายชิ้น มาผูกโยงเข้ากับสถานที่สำคัญๆ ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเรื่องให้เหมือนมี 'การเข้ารหัส' เอาไว้ คล้ายกับที่ 'กิมย้ง' ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการ 'ซุกซ่อนเคล็ดวิชา' ให้ตัวละครแต่ละตัวต้องแย่งชิง และพยายามเสาะหามา 'ศึกษา' และ 'ตีความ' ไปตลอดเรื่อง

สำหรับ 'ความเป็นโกวเล้ง' นั้น ก็มักจะออกแนว 'สืบสวนสอบสวน' มี 'ความลึกลับซับซ้อน' ในระดับหนึ่งเพื่อให้เรื่องราวมีจุดล่อความสนใจ มี 'การชิงไหวชิงพริบกัน' เล็กๆ น้อยๆ ระหว่างตัวละคร มี 'การหลอกล่อ' ต่างๆ ของ 'องค์กรลับ' ที่มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย ซึ่งทำให้ตัวเอกของเรื่องต้องถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง ... ซึ่ง ... ส่วนนี้ทั้งหมดของ 'โกวเล้ง' ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมของชาติตะวันตกด้วยในระดับหนึ่ง ... ซึ่งโดยความรู้สึกส่วนตัวของผมแล้ว ความสามารถในสร้างปมลักษณะนี้ของนักเขียนหลายๆ คนนั้น แทบจะไม่มีใครเหนือกว่าใครซักเท่าไหร่ ผมจึงมีความชื่นชอบ 'ความเป็นกิมย้ง' มากกว่า เพราะมันทำให้นิยายนั้นๆ มีคุณค่ามากกว่าแค่ 'ความเป็นนิยาย' ธรรมดาๆ

หลายๆ ตอนในหนังสือนิยายของ Dan Brown นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็น 'สารคดี' ได้เลยด้วยซ้ำ การบอกเล่ารายละเอียดของภาพเขียน หรือรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมนั้น แทบจะทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นภาพของฉากหนึ่งๆ ได้อย่างน่าสนใจมาก ประกอบกับความชาญฉลาดของ Dan Brown ที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดมีความกระชับสั้น และจบลงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของเนื้อเรื่องเท่านั้น ก็ทำให้หนังสือของเขาพร้อมที่จะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยแทบจะไม่ต้องตัดรายละเอียดของเนื้อหาใดๆ ออกไป เหมือนอย่างที่นิยายเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีท้องเรื่องลากยาวกันเป็นชั่วอายุคน ต้องถูกย่นย่อให้ใช้เวลาที่พอเหมาะแก่การเป็นภาพยนตร์สำหรับการออกฉายทั่วไป ... อันนี้ผมเดาว่ากะจะกินหลายเด้งจากการใช้จินตนาการเพียงครั้งเดียวของ Dan Brown เลยล่ะ !! ... 😏

ผมมีความรู้สึกว่า งานศิลปะหลายๆ แขนงของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน หรืองานวรรณกรรมในยุคต่างๆ ตลอดจนสถานที่หลายๆ แห่งของไทยนั้น น่าจะพอมี 'เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย' สำหรับเป็น 'วัตถุดิบ' ให้สามารถนำมาเล่นแบบนี้ได้บ้างเหมือนกัน แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีนักเขียนไทยคนไหนเลยที่เลือกใช้สไตล์แบบนี้ เพื่อช่วยกันเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมของชาติให้ดู 'มีชีวิตชีวา' และ 'ความน่าสนใจ' ที่มากกว่าเดิม และอาจจะช่วยดึงความสนใจของคนอีกหลายๆ รุ่น ให้หันมาสนใจ 'ความเป็นชนชาติ' ที่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่าแค่การยืนตรงเคารพธงชาติวันละ 2 ครั้ง หรือการเอะอะโวยวายเวลาที่ใครหน้าไหนดันทะลึ่งมาดัดแปลงองค์ประกอบบางอย่างทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ให้มีความแตกต่างไปจากที่ปรากฏอยู่ในตำรา และพิพิธภัณฑ์ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยจะมีใครให้ความสำคัญซักเท่าไหร่ หากจะเปรียบเทียบโดยอ้างอิงกับจำนวนเงินงบประมาณ ที่ทุกรัฐบาลเจียดมาให้การสนับสนุนในแต่ละปี ... ว่างั้นมั้ย ?!!

ไม่รู้สินะ ... ผมคิดว่า การศึกษาด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่งๆ นั้น มันไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายอย่างที่นักวิชาการหลายคนพยายามแสดงอาการฮึดๆ ฮัดๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ ก็ได้มั้ง ?! ... 😈

 

 

The One Thing

10/3/2014


Book Title: The One Thing

Author(s): Gary Keller, Jay Papasan
Format: Paperback, 240 pages
Publisher: John Murray Publishers Ltd ; July 4, 2013
Language: English
ISBN-10: 1848549245
ISBN-13: 9781848549241
Product Dimensions: 9.1 x 6 x 0.8 inches

คงจะเป็นหนังสือ "น่าเบื่อ" เล่มแรกที่ผมอ่านมันไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม ด้วยอารมณ์ที่น่าจะคล้ายกับการอ่าน "หนังสือสวดมนต์" เล่มหนึ่งเท่านั้นเอง ... :D ... เพราะเนื้อหาทั้งหมดตลอดเล่มหนังสือนั้น เป็นประเด็นพื้นๆ ที่หลายคนก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยก็จะได้ปฏิบัติตามนั้น หรืออาจจะละเลยมันไปเพราะความวุ่นวายในภารกิจประจำวัน ... ซึ่งก็คือ ... "จงเลือกกระทำในสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดต่อเป้าหมายในชีวิตของเราเสมอ" ... โดยผู้เขียนทั้งสองพยายามอ้างอิงแนวคิดที่ว่านี้ของพวกเขากับ "ทฤษฎีโดมิโน" อันหมายถึงการบรรลุเป้าหมายสำคัญของชีวิต ด้วยการก่อ "ปฏิกิริยาลูกโซ่" จากการลงมือปฏิบัติภารกิจที่เป็น "หัวใจสำคัญที่สุด" ของทั้งหมด ให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างถูกทิศทาง ... เท่านั้น !!? ... นั่นคือ The One Thing ที่แต่ละคนจะต้องค้นหาให้เจอจาก "เป้าหมาย" ที่ตนเองเป็นผู้กำหนดขึ้นมา ...

มันคือ "เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็รู้" ... แต่ก็เป็น ... "เรื่องง่ายๆ ที่ไม่มีวันสำเร็จ หากไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง" ซึ่งตลอดเล่มของหนังสือก็จะวนอยู่เพียงประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว พร้อมกับข้อแนะนำกับตัวอย่างอีกหลากหลาย เพื่อเน้นย้ำว่า "Knowing is not enough, you must apply ; Willing is not enough, you must do" ดังคำกล่าวที่ Bruce Lee เคยกล่าวเอาไว้ ... 😉 ... ผมถึงว่า มันเหมือน "หนังสือสวดมนต์" ยังไงยังงั้นเลย !! ... คือ "ซ้ำซาก" และเหมาะแก่ "การสะกดจิต" ให้น้อมนำพฤติกรรมของเราไปสู่แนวทางที่ว่านั้น ... 😃

ผมบังเอิญอ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงที่เกิด "วิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเรียกว่า เป็น "วิฤตการณ์ประชาธิปไตยต่างแนวทางกัน" ซะมากกว่า เพราะไม่มีฝ่ายไหนเลยที่ไม่อ้าง "ความเป็นประชาธิปไตย" ของฝ่ายตนว่า มี "ความเป็นประชาธิปไตย" อันสุดแสนจะวิเศษและเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศที่ยังคง "กลบเกลื่อนบาดแผลแห่งความขัดแย้ง" เอาไว้อย่างมีวัฒนธรรมต่อไป ... !!?? ... 😏 ... ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เราจะประยุกต์แนวคิดของ The One Thing เข้ากับ "หลักประชาธิปไตย" ที่ "จำเป็นต้องยอมรับความหลากหลาย" ได้ยังไง ?!! ... การ "กำหนดทิศทางที่ชัดเจน" เพียง "แนวทางหนึ่งแนวทางใด" ให้กับการพัฒนาประเทศนั้น จะถือเป็น "การริดรอนเสรีภาพของความหลากหลาย" ด้วยมั้ย ?!! ... "ความต่อเนื่อง" ของวิถีปฏิบัติ และการจัดสรรงบประมาณที่แกว่งไกวไปตาม "กระแสความนิยม" นั้น แม้ว่ามันจะเป็น "การสนองความต้องการของประชาชน" ในแต่ละช่วงเวลา ... แต่ประเทศชาติควรจะพัฒนาในลักษณะที่ "ขาดความต่อเนื่องของทิศทาง" อย่างนั้นรึเปล่า ??!! ... ใครควรจะเป็นผู้ที่กำหนด "วิสัยทัศน์ของประเทศ" ?! ... แล้วใครควรจะมีสิทธิ์ใน "การแก้ไขเปลี่ยนแปลง" มัน ?! ... ด้วยกรอบของเงื่อนไขเวลาแบบไหน ?! ... แล้วใครควรจะเป็น "ผู้กำหนดกรอบของเวลา" ?!! ... "อะไรคือนิยามที่ถูกต้องของความเป็นประชาธิปไตย ?!!" ... "อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของความเป็นประชาธิปไตย ?!!" ... "เสรีภาพ" หรือ "ประโยชน์สุข" ของ "ประเทศชาติ" และ "ประชาชนโดยรวม" ?!?!?! ... อะไรที่ควรจะมีลำดับความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่าง "ชื่อเรียกและรูปแบบ" กับ "เป้าหมายที่แท้จริง" ของระบอบการปกครอง ... ?!!?

มันอาจจะเป็นเรื่องบ้าบอที่นำเอาแนวคิดในระดับ "ปัจเจกบุคคล" ไปเปรียบเทียบกับ "ประเทศชาติ" ซึ่งมี "ความหลากหลาย" ในหลายๆ มิติของสังคม ... แต่มันก็อาจจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในระดับหนึ่งก็คือ "การเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" ย่อมประกอบด้วย "การปฏิเสธสิ่งอื่นๆ อีกหลายสิ่ง" เสมอ ... ซึ่งทุกๆ "ขั้วการเมือง" ต่างก็ยอมรับในหลักการเดียวกันอยู่แล้วว่า "จะไม่มีฝ่ายใดที่จะได้รับในทุกๆ สิ่งที่เรียกร้อง" แต่กลับ "ไม่มีฝ่ายใดที่ยอมลดราวาศอกในประเด็นที่ฝ่ายตนต้องการ" เลยซักฝ่ายเดียว !!??!! ... หลายปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศไทย จึงสูญเสียเวลาไปกับสิ่งต่างๆ อันไม่ใช่สาระสำคัญของการพัฒนาประเทศเลย ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามบิดเบือนให้ "โลกของความเป็นจริง" มีความใกล้เคียงกับ "โลกในจินตนาการ" ของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา ...

จะลองถามตัวเองซักหน่อยมั้ยล่ะครับว่า ... หากเราสามารถเลือกได้เพียง "สิ่งเดียว" ที่จะ "ต้องทำ" เพื่อ "ประโยชน์สุขที่แท้จริง" ของ "ประเทศไทศชาติ" และ "ประชาชนโดยรวม" ... "สิ่งเดียว" ที่ว่านั้นควรจะเป็นอะไร ?! ... ซึ่งเมื่อได้มาซึ่ง "สิ่งเดียว" นั้นแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็จะสามารถดำเนินต่อไปในลักษณะของ "ปฏิกิริยาลูกโซ่" ที่ทุกคนแทบจะไม่ต้องเหนื่อยขนาดอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้อีก ?! ...

 

 

22 Ideas to Fix The World

15/1/2014


Book Title: 22 Ideas to Fix The World
Author(s): Piotr Dutkiewicz (Editor), Richard Sakwa (Editor)
Format: Paperback ; 229 pages
Publisher: NYU Press ; September 9, 2013
Language: English
ISBN-10: 1479860980
ISBN-13: 9781479860982
Product Dimensions: 9.0 x 6.1 x 1.5 inches

ผมคว้าหนังสือเล่มนี้กลับบ้านแล้วเลือกอ่าน "หมวดการเมือง" ก่อนเลย ... 😋 ... เพราะมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยคงไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว แต่มันเหมือนมีอะไรบางอย่างที่บกพร่องพร้อมๆ กันทั้งโลก ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า ทฤษฎีและหลักการที่ประชาคมโลกโดยทั่วไปเขายอมรับ แล้วนำไปปฏิบัติกันอยู่นั้น จะกลายเป็นตัวที่ก่อปัญหาซะเอง ไม่งั้นมันจะบ้าบอกันไปหมดอย่างนี้ได้ยังไง ?!! ... ซึ่งผม "ตั้งธง" ไว้ก่อนเลยว่ามันจะต้องมี bugs อย่างแน่นอน !! ... 😁

มีอยู่บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบันทึกการสนทนาระหว่าง Richard Sakwa กับ Ivan Krastev ที่ผมมองว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ (ซึ่งก็แน่นอนครับว่า ผมยอมรับในประเด็นเหล่านั้นอยู่แล้วตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่สามารถลำดับเรื่องราวออกมาเท่านั้นเอง) ... โดยในบทบันทึกดังกล่าว Ivan Krastev ได้ระบุถึง "การปฏิวัติ 5 ด้าน" ที่ส่งผลให้กลายเป็นวิกฤตการณ์ในสังคมยุคปัจจุบัน ...

1. การปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s

ยุค 60s ถือเป็นยุคที่ "ความเป็นปัจเจกบุคคล" ได้รับการปลดปล่อยให้พ้นไปจาก "การครอบงำทางความคิด" ของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เคยมีอิทธิพลในสังคม และเป็นยุคเริ่มต้นที่ "สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล" กลายเป็นกระแสที่ทรงพลังอำนาจในทางการเมือง ... แต่สิ่งที่สังคมโดยรวมต้องแลกไป เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ความมีเสรีภาพ" ดังกล่าวก็คือ "ความล่มสลาย" ของ "ความเป็นปึกแผ่น" ในสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ความมีส่วนร่วมในเชิงสังคมค่อยๆ หดหายไป ในขณะที่ความสนใจในผลประโยชน์เฉพาะตนค่อยๆ เบ่งบานขึ้น ความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ค่อยๆ ถูกลบหลู่ล้อเลียนจนไม่เหลือคุณค่าใดๆ ในทางจิตใจให้ยึดถือ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา หรือแม้แต่ "พระเจ้า" ก็ไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด "ความศรัทธาแบบรวมศูนย์" ได้อีกต่อไป

2. การปฏิวัติทางการตลาด (Market Revolution) ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s

แม้ว่าการเกิดขึ้นของ "พลังอำนาจทางตลาด" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาในโลกและสังคม รวมทั้ง "ระบบทุนนิยม" ก็ได้เปิดโอกาสทางการแข่งขันให้กับทุกๆ คนอย่างเสรีมากขึ้นก็ตาม ... แต่สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาก็คือ สังคมทั้งสังคมถูกผลักให้เข้าไปสู่วังวนของ "ทางเลือก" ที่แทบจะไร้ขีดจำกัด และทำให้ความสนใจทั้งหมดของสมาชิกส่วนใหญ่ ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่ง "ความหมกมุ่น" อยู่กับ "ความต้องการของตัวเอง" ภายในกรอบที่ "กฎหมาย" อนุญาต และปล่อยให้หน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเป็นธุระของคนอื่นๆ เช่น นักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนมากแล้ว ก็จะมี mind set ที่ถูกครอบงำด้วย "นวัตกรรมทางการตลาด" ด้วยกันทั้งสิ้น

3. ความล่มสลายของการต่อสู้ทางความคิดในปี 1989

การที่ "ระบบสังคมนิยม" ต้องปิดฉากตัวเองลงไปอย่างราบคาบให้แก่ "ระบบตลาดแบบทุนนิยม" ในปี 1989 นั้น ได้ทำให้สังคมโลกเข้าสู่ภาวะที่ "ปราศจากทางเลือกโดยระบบ" อีกต่อไป ซึ่งกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้ "การแข่งขันในระบบตลาด" ทวีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น

4. การปฏิวัติทางการสื่อสาร (Communication Revolution)

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ได้ปฏิวัติโอกาส และวิธีการในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลของมนุษยชาติ อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์ ถูกแยกย่อยเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันอีกเลย ... ความสะดวกในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ และการติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่มีแนวคิด และทัศนคติที่คล้ายคลึงกันของแต่ละปัจเจกบุคคลนั้น ได้เข้าทดแทน "ความต้องการรวมกลุ่ม" กับสังคมใกล้ตัวของแต่ละคนไปโดยปริยาย อันเป็นเหตุให้ "ความเป็นปึกแผ่นของสังคม" ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสลายตัวมาตั้งแต่ยุค 1960s ถูกขับเน้นให้มีความเด่นชัด และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

5. การปฏิวัติความเชื่อเกี่ยวกับศักยภาพในการคิดของมนุษย์

การค้นพบใหม่ๆ ในด้าน neurosciences หรือ "ประสาทวิทยา" ได้บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า "มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่มีตรรกะ" โดยมีการพิสูจน์เพื่อยืนยันแล้วว่า การตัดสินใจแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของ "อารมณ์" และ "ความเชื่อ" มากกว่า "เหตุผล" และ "ข้อเท็จจริง" ... ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มบุคคลที่นำผลของการค้นพบนี้ไปแสวงประโยชน์มากที่สุดก็คือ "นักการเมือง" และทำให้การรณรงค์เพื่อ "ชิงอำนาจทางการเมือง" ในหลายปีที่ผ่านมานี้ เป็นการลงทุนด้วย "กลยุทธด้านจิตวิทยา" แทนที่จะเป็นการให้ "ความรู้" หรือการนำเสนอสิ่งที่เป็น "ข้อเท็จจริง" เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ... อันเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ "สถาบันทางการเมือง" ทั้งหลายทั่วโลก ค่อยๆ "เสื่อมความน่าเชื่อถือ" ลงไปอย่างช่วยไม่ได้ และนำไปสู่ "วิกฤตศรัทธา" ที่ประชาชนมีต่อ "นักการเมือง" และ "สถาบันทางการเมือง" ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้นะครับ เพราะเพิ่งจะอ่านถึงแถวๆ นี้เท่านั้นเอง ... 😈 ... ตอนนี้เพียงแต่รู้สึกว่า มันมีประเด็นที่น่าสนใจให้คิดต่ออีกหลายเรื่อง ซึ่งปนๆ อยู่ในหัวข้อของ Ivan Krastev ก็เลยคัดมาแบบย่อเพื่อแปะไว้ก่อน ... เท่านั้นแหละ !!

 

 

โลก (ทัศน์) ที่เล็กลง ?!

9/1/2014 | Comments: 1

ผมเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนหลายคนว่า "เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันมันทำให้โลกเล็กลงจริงๆ นะ ... ดูสิ ... เหลือแค่หน้าจอไม่กี่นิ้วเท่านั้นเอง ... !!??" ... พวกเราหลายคนน่าจะชินตากับภาพที่ผู้คนในสังคมทุกวันนี้ ต่างพากันก้มหต้าก้มตาสนทนากับเพื่อนในอีกซีกโลกหนึ่งผ่านอุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพา แต่กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับผู้คนรอบข้างเลยตลอดเส้นทางของการเดินทางระหว่างวัน ... โลกทั้งโลกของ "สังคมคนก้มหน้า" มันคงหดเล็กลงเหลือเท่านั้นแล้วจริงๆ ... มั้ง ... รึเปล่า ??!! ...

แต่จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของหลายๆ คน (รวมทั้งของตัวเองด้วย) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บางทีผมก็รู้สึกเหมือนกันนะครับว่า โลกในยุคข่าวสารข้อมูลที่หลายคน "เชื่อว่า" จะทำให้ทุกคนมี "โลกทัศน์" ที่กว้างขึ้นกว่าเดิมนั้น มันอาจจะเป็นเพียง "สิ่งเพ้อฝัน" ของคนกลุ่มเล็กๆ เพียงบางกลุ่มบางพวกเท่านั้นเอง ... เพราะ "ความกว้างของโลกทัศน์" ที่ว่านั้น มันอาจจะเป็นเพียง "ความหนาของอัตตา" ที่แต่ละคนสรรหามาพอกทับปัญญาของตนให้ยังคงคับแคบเท่าเดิม แต่มี "เปลือกหุ้ม" ที่ทั้ง "หนา" และ "หนัก" ยิ่งกว่าเก่าอีกหลายเท่าด้วยซ้ำ !!?? ...

การที่เราสามารถสืบค้นข้อมูล และสื่อสารกับผู้คนต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมนั้น มันก็มีความเป็นไปได้ที่ว่า เรามีโอกาสที่จะพบปะผู้คนได้อย่างหลากหลายกว่าเดิม ... มีโอกาสที่จะได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจ ... และมีโอกาสที่จะต่อยอดความรู้ความเข้าใจของเราไปสู่วิถีทางใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด ... ฯลฯ ... แต่ว่า ... มันใช่อย่างนั้นสำหรับทุกๆ คนมั้ยล่ะ ?!

บางที ... เราอาจจะหลงลืมประเด็นของธรรมชาติโดยพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็น "สัตว์สังคม" ไปรึเปล่า ?! ... มนุษย์โดยส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเกาะกลุ่ม รวมพวก และเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิด หรือพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับของตนเอง ... โดยพื้นฐาน ... !!?! ... ในยุคสมัยหนึ่งที่สังคมมนุษย์มีการเกาะกลุ่มกันเป็นหมู่บ้าน หรือเป็นชนเผ่าเล็กๆ ผู้คนในสังคมแบบนั้นก็มักจะมีแนวคิด และพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่สมาชิกซึ่งแตกแถวแหกคอกผ่าเหล่าผ่ากอ ถ้าไม่ถูกกำจัดออกไปจากชุมชน ก็มักจะต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เข้ากันได้กับสมาชิกคนอื่นๆ ... ซึ่งในแง่หนึ่งจึงอาจกล่าวกันได้ว่า มนุษย์เป็น "เวไนยสัตว์" หรือ "สัตว์ที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อพัฒนาได้" ...

แต่เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารถูกพัฒนาจนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าเดิม มนุษย์ได้ละทิ้ง "สันดานเดิม" ของ "สัตว์สังคม" ไปแล้วรึเปล่าล่ะ ?! ... การออกไปสัมผัสกับสังคมโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมนั้น มนุษย์เลือกที่จะคบหากับผู้คนที่มีแนวคิด และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากตนเองมั้ย ?!! ... ผม "เชื่อว่า" ส่วนใหญ่แล้วก็จะพยายามเสาะหาและคบค้ากับผู้คนที่มีหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกับตนเอง เหมือนกับสมัยที่ยังอยู่ในกรอบของสังคมเล็กๆ เช่นหมู่บ้าน หรือชนเผ่าของตนอย่างเดิมนั่นแหละ ... :) ... เพราะมันเป็น "พื้นฐานด้านพฤติกรรม" ของ "สัตว์สังคม" ...

เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราสามารถตระเวนเสาะหาคนที่คล้ายกับตนได้มากขึ้น มันก็จะกลายเป็นการตอกย้ำให้มีความรู้สึกขึ้นมาว่า เราเองไม่ได้มีความเป็นตัวประหลาดที่แปลกแยกหรือผิดปรกติอะไร เพราะมีคนอีกตั้งมากมายที่คิดและปฏิบัติตนเช่นเดียวกับเรา ... ความรู้สึกถึงความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก "แรงบีบคั้นทางสังคม" ก็จะค่อยๆ เจือจางลง ผู้คนก็อาจจะ "ยึดติด" อยู่กับแนวคิด หรือพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งอย่างไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกเลย ... "ศักยภาพ" ในการเรียนรู้และฝึกฝนตนของเหล่า "เวไนยสัตว์" จึงคล้ายกับถูกบั่นทอนให้ลดลงไปด้วย ... มั้ย ??!! ... ในเมื่อ "กรอบคิด" ที่เคยปิดกั้นสังคมหนึ่งออกจากสังคมอื่นๆ ได้ถูกพังทลายลงเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร เหลือไว้เพียง "กรอบคิด" ของแต่ละปัจเจกบุคคลที่จะพอกพูน "ความเป็นตัวตน" ให้หนาหนักยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม ... โลกทัศน์ที่ควรจะเปิดกว้างเพราะการสื่อสาร "อาจจะ" กลับกลายเป็น "กรงขังทางความคิด" ที่แต่ละคนสร้างขึ้นมา "กักขังตัวเองอย่างอิสระ" ... รึเปล่า ??!!

มันคงเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบจากคนอื่นๆ ... แต่มันเป็นคำถามที่เรา "อาจจะ" ต้องถามตัวเองให้บ่อยครั้งกว่าเดิม ... 😏

 

 

The Devil's Advocate

100 Business Rules You Must Break | 5/1/2014

Book Title: The Devil's Advocate
Author(s): Caspian Woods
Format: Paperback ; 229 pages
Publisher: Pearson Education Limited ; June 6, 2013
Language: English
ISBN-10: 0273779494
ISBN-13: 9780273779490
Product Dimensions: 7.7 x 5.1 x 0.7 inches

 

ผมเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะชอบใจในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่เคยฉายไปเมื่อหลายปีก่อน แต่นอกเหนือจากความเหมือนกันของ "ชื่อหนังสือ" กับ "ชื่อภาพยนตร์" แล้ว มันก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกันอีกเลย !!? ... 😋 ... ซึ่งจุดที่พอจะดึงดูดความสนใจได้บ้าง ก็คงจะอยู่ตรง "ชื่อรอง" ของมันเท่านั้น ... 100 Business Rules You Must Break ...

ความจริงแล้วผมเองก็ไม่ใช่คนที่ชอบ "แหกกฎ" นักหรอกครับ มิหนำซ้ำก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อ "คาถา" ของพวก "Thinking Outside The Box" ซักเท่าไหร่ด้วย ... ผมเพียงแต่ชอบ "เล่นตลกกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่" ... ก็เท่านั้นเอง ... 😋 ... เพราะผม "เชื่ออย่างฝังหัว" เลยว่า "ความมีกฎเกณฑ์" ต่างหาก ที่เป็นบ่อเกิดของ "ความคิดสร้างสรรค์" ทั้งหลายทั้งปวงในโลกมนุษย์ !!?

การได้อ่านหนังสือ The Devil's Advocate ของ Caspian Woods นั้น ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงหนังสือเรื่อง What Ever You Think, Think The Opposite. ของ Paul Arden ที่ผมเคยซื้อไว้ก่อนหน้านี้นานพอสมควรแล้ว เนื่องจากประเด็นที่ Caspian Woods นำเสนอไว้ในหนังสือของเขา มันก็ไม่เชิงว่าจะ Devil ซักเท่าไหร่ และมีหลายประเด็นที่ไม่ถึงขั้นว่าจะเป็น "มุมตรงข้าม" อย่างชัดเจนซะด้วยซ้ำ แต่มันเป็นการนำเสนอ "ทัศนคติ" และ "มุมมอง" ที่แตกต่างไปจาก "ความเชื่อ" ซึ่งบรรดา "เกจิ" ของหนังสือ How To ทั้งหลาย นิยมนำเสนอไว้ราวกับเป็น "กฎแห่งความสำเร็จ" ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่ปาน ซึ่งก็ต้องถือว่า Caspian Woods นำเสนอไว้อย่างค่อนข้างกระชับ โดยไม่มีรายละเอียดที่เยิ่นเย้อให้น่ารำคาญ

"การเล่นตลกกับความเชื่อของตัวเอง" นั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรจะหมั่นปฏิบัติให้ได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าบางครั้งมันก็อาจจะวนเวียนอยู่กับ "กรอบคิด" เดิมๆ ของเราเองก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยน "มุมมอง" ของเราต่อ "ความเชื่อ" หนึ่งๆ ก็อาจจะช่วยให้เราได้พิจารณาถึงแง่มุมอื่นๆ ที่ถูกบดบังไว้ด้วย "ทัศนคติอันคุ้นชิน" ของตัวเราเอง ... ซึ่ง "การไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยทัศนคติอันคุ้นชิน" นั้นต่างหาก ที่ควรจะนับว่าเป็น "การคิดนอกกรอบ" อย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ "ทำอะไรตามใจอย่างมักง่าย" โดยไม่สนใจถึงผลกระทบอีกหลายๆ อย่างที่จะติดตามมา แล้วก็อุปโลกขึ้นเป็น "คาถา" ของ "คนไร้ราก" ไปวันๆ อย่างที่หลายคนนิยมปฏิบัติกัน

 

 

จับชีพจรประเทศไทย

2/1/2014

ชื่อหนังสือ: จับชีพจรประเทศไทย
ผู้ประพันธ์:
การเข้าเล่ม: ปกอ่อน ; 271 หน้า
ผู้จัดพิมพ์: สถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า ; พ.ศ. 2556
ภาษา: ไทย
รหัสประจำหนังสือ: 9781619190400
ขนาดเล่ม: 16.5 x 24 x 1.5 ซม.

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของการเรียกร้อง และการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองของหลายๆ ฝ่ายในประเทศไทย ตลอดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมานั้น ผมแทบจะไม่เห็นวี่แววของข้อสรุปใดๆ ในทางการเมือง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริงเลย นอกจากการสร้าง "วาทกรรม" ขึ้นมาเสียดสีด่าทอกันไปมาระหว่าง "นักการเมือง" และ "นักท่องตำรา" อีกหลายค่ายหลายคน ที่อุทิศชีวิตให้กับ "ขั้วความคิดอันสุดโต่ง" ไปคนละทิศคนละทางอย่างไม่มีแก่นสารสาระใดๆ ให้น่าติดตาม ... มีการแบ่งข้าง แยกกลุ่ม จับขั้วกันด้วยชื่อเรียกสารพัด ที่ต่างฝ่ายต่างเสกสร้างกันขึ้นมา categorize ผู้คนในสังคมจนเลอะเทอะไปหมด ... แล้วก็ทะเลาะกัน ... !!?? ... เพียงเพื่อที่จะประกาศว่า ... "ฉันถูก แกผิด" ... เท่านั้นมั้ง ... !!?? ... โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายาม "พิสูจน์ความถูก-ผิด" ด้วย "ปริมาณของผู้สนับสนุน" เพียงมิติเดียว ... เพราะ "เชื่ออย่างฝังหัว" ว่า ... "รากฐานของระบอบประชาธิปไตย" ก็คือ "การนับ" เท่านั้น ... !!?? ... 😄

มันค่อนข้างจะเป็นเรื่องปรกติของ "นักการเมือง" ที่จะแสดง "ความไร้วิสัยทัศน์" อย่างนั้นออกมาต่อสาธารณชน เพราะการจะได้รับเสียงสนับสนุนจากมวลชนจำนวนมากๆ นั้น จำเป็นต้อง over-simplify กระบวนการทางความคิดให้มีรายละเอียดที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้าง "ชุดความคิด" ที่เป็น mass production ขึ้นมาสำหรับ "กรอก" เข้าไปใน "การรับรู้" ของผู้คน ... แต่มันค่อนข้างจะผิดวิสัยของ "นัดคิด" และ "นักวิชาการ" ที่ควรจะมี "ความคิดเชิงซ้อน" ซึ่งไม่ได้ over-simplify จนเหลือเพียงเครื่องหมาย "มากกว่า" กับ "น้อยกว่า" เหมือนกับที่กำลังพยายามจะ "อวดภูมิ" ให้สมกับอักษรย่อใดๆ ที่อุตส่าห์นำมาต่อหัวเติมหางให้กับชื่อของตัวเองอย่างไร้คุณค่าความหมายใดๆ อยู่ตลอดเวลา ... ราวกับว่า ... ทุกๆ ฝ่ายที่กำลังทะเลาะกันอยู่ในสังคมไทยนั้น ล้วนเป็น "นักเลือกตั้งทางการเมือง" ไปหมดแล้ว ... !!?? ... เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้วิธีการ "สร้างชุดความคิดสำเร็จรูป" ขึ้นมา แล้ว "ปั่น" ให้เกิด "ความยอมรับในสังคม" ด้วยกระบวนการเช่นเดียวกับ "การโฆษณาขายสินค้า" ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่เน้น "การให้ความรู้" หรือ "การกระตุ้นให้ใช้วิจารณญาณ" ใดๆ ของ "ผู้บริโภค" อีกเลย !!?!

เราอาจจะต้องยอมรับไว้พิจารณาว่า ปัญหาทั้งหลายที่กำลังเผยตัวออกมาในสังคมไทยทุกวันนี้ คือ "ส่วนปลาย" ของ "รากเหง้า" ที่ถูกหมักหมมมาอย่างยาวนาน และไม่เคยได้รับความเหลียวแลอย่างเป็นระบบระเบียบมาก่อนเลย ความสลับซับซ้อนของปัญหาที่ยากแก่การระบุถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงนั้น เป็นเพราะเรื่องราวหลายๆ อย่างถูกปล่อยปละละเลย คล้ายกับไม้เลื้อยที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา จึงเป็นเหตุที่กิ่งก้านอันระโยงระยางของพวกมัน ค่อยๆ เกี่ยวเกาะพันกัน จนยากแก่การตัดแต่งต่อเติมใดๆ ให้เรียบร้อยสวยงามอย่างที่ต่างฝ่ายต่างอยากจะให้เป็น ... "ทัศนคติ" และ "มุมมอง" อันหลากหลายของบุคคลในแวดวงต่างๆ 17 คน ที่ได้รับการรวบรวมไว้ในหนังสือ "จับชีพจรประเทศไทย" ของ "สถาบันอนาคตไทยศึกษา" และ "สำนักข่าวไทยพับลิก้า" เล่มนี้ จึงมีประเด็นที่ "น่าคิด" และ "น่าสนใจ" อยู่ไม่น้อย ... และยังอาจจะช่วย "เตือนสติ" แก่ทุกคนด้วยว่า จะไม่มีปัจเจกบุคคลใด หรือสถาบันไหนเพียงหนึ่งเดียว ที่จะสามารถเป็น Super Hero ในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป ... เว้นแต่ทุกฝ่าย ทุกคน จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วย "ความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมีสติ" เท่านั้น ... และยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอาศัยเพียง "หลักคิด" หรือ "กฎกติกา" แบบใดแบบหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ... เพราะสภาพที่แท้จริงของประเทศไทยในเวลานี้ แทบจะไม่ต่างไปจาก "คนป่วย" ที่ผ่านการรักษาตัวอย่างสะเปะสะปะ ด้วย "ยาสามัญประจำวัน" ที่ไม่เคยซ้ำขนานกันเลยซักสูตรเดียวมาเป็นเวลานานมากแล้ว ... ซึ่งมันอาจจะเลอะเทอะจนถึงขั้นที่ต้องรักษาด้วย "การผ่าตัดใหญ่" เท่านั้นก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน ... !!?!!

มีหลายเสียงที่พยายามเรียกร้องให้ "สัมคมต้องเลือกข้าง" ... มีหลายเสียงที่คาดคั้นให้ "ทุกฝ่ายไม่อาจเป็นกลาง" ... มีหลายเสียงที่พยายามยัดเยียด "สูตรสำเร็จ" ให้ทุกคน "ต้องพิจารณารับ" ... มีหลายเสียงที่พยายามยัดเยียด "สูตรสำเร็จ" ให้ทุกคน "ต้องพิจารณาปฏิเสธ" ... ฯลฯ ... ประเทศไทยควรจะ "ไม่เลือกข้าง" อย่าง "ไม่เป็นกลาง" ไปพร้อมๆ กันได้มั้ย ... ??! ... หรือประเทศไทยควรจะ "เลือกข้าง" อย่าง "เป็นกลาง" ในเวลาเดียวกัน ... ?!?! ... ทำไมต้องเลือก ?! ... ทำไมต้องกลาง ?! ... ทำไมไม่เลือกตรงที่ไม่กลาง ?! ... ทำไมตรงกลางถึงต้องเลือก ?! ... ทำไมถึงไม่เลือกตรงที่ไม่กลาง ?! ... ฯลฯ ... จะทะเลาะกันจนประเทศไทยล่มสลาย แล้วค่อยมาเถียงกันต่อว่าใครเป็นต้นเหตุอย่างนั้นเหรอ ??!! ... เก้าะ ... โอเคนะ ... ในเมื่อ "เสียงส่วนใหญ่" กำลังทำอย่างนั้นอยู่แล้วนี่ ... อย่างนี้มั้งที่เขาเรียก "ประชาธิปไตยฉิบหาย" น่ะ ... !!??