Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十四卦 : 復

復 : 地雷復 ‧ 坤上震下

復 : 亨‧出入無疾‧朋來無咎‧反復其道‧七日來復‧利有攸往‧

  • 初九 ‧ 不復遠‧無祗悔‧元吉‧
  • 六二 ‧ 休復‧吉‧
  • 六三 ‧ 頻復‧厲‧無咎‧
  • 六四 ‧ 中行獨復‧
  • 六五 ‧ 敦復‧無悔‧
  • 上六 ‧ 迷復‧凶‧有災眚‧用行師‧終有大敗‧以其國君凶‧至于十年‧不克征‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : มีความตื่นตัวอย่างสงบนิ่งทางอารมณ์ (⚍) ปัญญา และการปฏิบัติตนหนักแน่น และเปิดกว้าง (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'ความสงบ' (☷) สยบ 'ความเคลื่อนไหว' (☳)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความแน่วแน่มั่นคง, ครืนครั่นภายใต้ปฐพี



ความหมายของชื่อเรียก : Resolve : ความแน่วแน่มั่นคง


นี่คือ 'ชื่อบท' ที่หาคำมาลงเป็นคำแปลได้ยากมากอีกบทหนึ่ง เพราะคำว่า 復 (fù, ฟู่) มีความหมายที่แผลงไปได้อย่างหลากหลายมากๆ 'ภาพอักษร' ของ 復 (fù, ฟู่) จะประกอบด้วยขีด 3 ขีดทางด้านซ้าย ซึ่งดูเหมือนกับเป็น 'รอยเท้า' หรือ 'การเดิน' ... ด้านล่างของซีกขวาคืออักษร 攵 (pū, พู) ที่เป็น 'ร่างแปลง' หนึ่งของ 止 (zhǐ, จื่อ) ซึ่งเกี่ยวกับ 'เท้า', 'รอยเท้า' หรือ 'การเดิน' เช่นกัน โดยใน 'ภาพอักษรเดิม' จะเห็นเป็นขีดไขว้กันไปมา 3 ขีดคล้ายกับที่เห็นในด้านซ้ายของ 'ภาพอักษร' ... ด้านบนของซีกขวาคือตัว 畐 (fú, ฟู๋) ที่แปลว่า 'เต็ม', 'เติมเต็ม' หรือ 'เต็มใจ' แต่จาก 'ภาพอักษรเดิม' จะเห็นเป็นวงกลม 2 วงเรียงซ้อนกันอยู่ ซึ่ง 'อาจจะ' หมายถึง 'ดวงอาทิตย์' และ 'ดวงจันทร์' โดยมีขีดขวางอยู่ด้านบนแทน 'ท้องฟ้า' ... ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จึงน่าจะหมายถึง 'การหมุนวนตามกันเป็นวัฏจักรของกลางวันและกลางคืน' ซึ่งกลายมาเป็นความหมายของ 復 (fù, ฟู่) ในเวลาต่อมาว่า 'การพลิกกลับ', 'การย้อนคืน', หรือ 'ทำซ้ำ'

อย่างไรก็ตาม ผมให้ความหมายของ 復 (fù, ฟู่) ในบทที่หกว่า 'ปรับเปลี่ยน' หรือ 'กลับความตั้งใจ' ; ในขณะที่บทที่เก้าผมให้ความหมายเป็น 'การทบทวน' หรือ 'การตรวจสอบ' ; และในบทที่สิบเอ็ดผมแยกเป็นสองความหมายคือ 'ผลตอบสนอง' และ 'กลับกลาย' หรือ 'แปรเปลี่ยนสภาพ' ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นแง่มุมที่แตกต่างกันของ 'การทำซ้ำ', 'การหวนคืน' และ 'การพลิกกลับ' ของ 復 (fù, ฟู่) ด้วยกันทั้งสิ้น ... ทีนี้พอมาถึง 'ชื่อบท' ที่ควรจะต้องต่อเนื่องมาจาก 'การกระจายความรับผิดชอบ' (剝) โดยมี 'ภาพสัญลักษณ์' ที่กลับหัวกลับหางกันจาก ䷖ (剝) มาเป็น ䷗ (復) ความหมายก็น่าจะ 'พลิกกลับ' มาเป็น 'การรวมเป็นปึกแผ่น' ซึ่งจะเป็นการ 'ตอกย้ำ' ให้กับวลีสุดท้ายของ 'จิวกง' ในบทที่ยี่สิบสามซึ่งระบุไว้ว่า 碩果不食 (shuò guǒ bù shí, ษั้ว กั่ว ปู้ ซื๋อ) อันหมายถึง 'ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ย่อมเพราะมันไม่ถูกย่อยสลายให้เล็กลง' ... ความหมายของ 復 (fù, ฟู่) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง 'การรวบรวมกลับเข้ามา'

แต่ประเด็นที่เราจะละเลยไปไม่ได้ก็คือ 復 (fù, ฟู่) จะมีความเกี่ยวพันกับวรรคที่สี่ของ 'จิวกง' ในบทที่สอง และวลีของ King Wen เองในบทที่สิบสอง ซึ่งในบทที่สองนั้น วลีดังกล่าวของ 'จิวกง' ก็คือ 括囊無咎無譽 (kuò náng wú jiù wú yǜ, คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) โดยได้รับ 'การตีความ' ไว้ว่า 'ให้มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด ; ไม่ต้องยินดีในลาภสักการะ หรือคำป้อยอสรรเสริญที่ไร้แก่นสาร ทั้งไม่ต้องยินร้ายต่อคำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดป้ายสีที่ไม่สร้างสรรค์' หรือถ้าจะให้รวบรัดกว่านั้น นั่นคือข้อแนะนำให้ 'มีความรัดกุม' (括囊) และ 'อย่าหวั่นไหว' ต่อ 'คำให้ร้าย' (咎) หรือ 'คำสรรเสริญเยินยอ' (譽) ของผู้หนึ่งผู้ใดอย่างไร้สติ ... และถูกขยายความต่อมาเป็น 否 (pǐ, ผี่) หรือ 'การยืนหยัด' ในบทที่สิบสองซึ่ง King Wen บันทึกคำอธิบายไว้ว่า 否之匪人不利君子貞大往小來 (pǐ zhī fěi rén bù lì jün zǐ zhēn dà wǎng xiǎo lái, ผี่ จือ เฝ่ย เญิ๋น ปู้ ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน ต้า หฺวั่ง เสี่ยว ไล๋) หรือ 'การยืนหยัดเพื่อจะกระทำการใดๆ ย่อมต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการจำแนกแยกแยะผู้คน หากไม่มีความหนักแน่นด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำ ย่อมจะนำไปสู่การทุ่มเทอย่างไร้คุณค่าความหมาย' ... ความหมายที่งอกขึ้นมาจากสองวลีที่เอ่ยถึงก็คือ 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคง' ซึ่งเป็นลักษณะของ 'การย้ำคิดย้ำทำ' อยู่บนพื้นฐานของ 'หลักการ' ที่ถูกต้อง ... แล้วก็ความหมายของ 'การจำแนกแยะแยะผู้คน' ในบทที่สิบสองนี่แหละที่นำมาสู่ 'การตอบแทน' หรือ 'การตอบสนอง' ซึ่งเป็นอีกความหมายหนึ่งของ 復 (fù, ฟู่) อันหมายถึง 'การตอบแทนแก่ผู้คนตามความเหมาะสมแห่งผลงานที่แท้จริง' ซึ่งต่อเนื่องมาจาก 'การกระจายความรับผิดชอบ' ในบทที่แล้วนั่นเอง ... กลายเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ 復 (fù, ฟู่) ในฐานะของ 'ชื่อบท' จะสามารถสื่อไปในทางนั้นได้ ... ยุ่งกันใหญ่ละ !! :D

แว้บแรกผมนึกถึงคำว่า response แต่มันก็ไม่สนองกับความหมายของ 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคง' หรือ 'ความแน่วแน่อยู่ในหลักการ' แม้ว่าจะมีความหมายสอดรับกับเรื่องของ 'การตอบแทน' อยู่บ้างก็ตาม แต่ในที่สุดผมเลือกที่จะใช้คำว่า Resolve ซึ่งเป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม ทั้งยังมีความหมายยุ่งเหยิงไม่น้อยไปกว่า 復 (fù, ฟู่) ซักเท่าไหร่ ... :D ... โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะ resolve มี 'รากศัพท์' มาจากคำว่า re- (again, back) + solvere (to unite) ซึ่งแปลว่า 'การกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียว' อันเป็นความหมายที่ 'พลิกขั้ว' กับ 剝 (bō, ปอ) ในบทที่ยี่สิบสามได้อย่างลงตัวพอดี

สำหรับ Resolve นั้น ความหมายตาม The American Heritage Dictionary of English Language เขาระบุไว้อย่างนี้ครับ ... โดยผมยกมาให้เห็นทั้งยวงของคำกลุ่มนี้เลยคือ resolute, resolution และ resolve ...

    •  
  • resolute ('rezəlu:t) adj. Firm or determined; unwavering.

  •  

  • resolution (,rezəlu:ʃn) n. 1. The state or quality of being resolute; firm determination. 2. A resolving to do something. 3. A course of action determined or decided on. 4. A formal statement of a decision or expression of opinion put before or adopted by an assembly such as the U.S. Congress. 5. Physics & Chemistry The act or process of separating or reducing something into its constituent parts: the prismatic resolution of sunlight into its spectral colors. 6. The fineness of detail that can be distinguished in an image, as on a video display terminal. 7. Medicine The subsiding or termination of an abnormal condition, such as a fever or an inflammation. 8. Law A court decision. 9a. An explanation, as of a problem or puzzle; a solution. b. The part of a literary work in which the complications of the plot are resolved or simplified. 10. Music a. The progression of a dissonant tone or chord to a consonant tone or chord. b. The tone or chord to which such a progression is made. 11. The substitution of one metrical unit for another, especially the substitution of two short syllables for one long syllable in quantitative verse.


  • resolve (rɪ'zɒlv, AmE rɪ'zɒ:lv) v.tr. 1. To make a firm decision about. 2. To cause (a person) to reach a decision. 3. To decide or express by formal vote. 4. To change or convert: My resentment resolved itself into resignation. 5. To find a solution to; solve. 6. To remove or dispel (doubts). 7. To bring to a usually successful conclusion: resolve a conflict. 8. Medicine To cause reduction of (an inflammation, for example). 9. Music To cause (a tone or chord) to progress from dissonance to consonance. 10. Chemistry To separate (an optically inactive compound or mixture) into its optically active constituents. 11. To render parts of (an image) visible and distinct. 12. Mathematics To separate (a vector, for example) into coordinate components. 13. To melt or dissolve (something). 14. Archaic To separate (something) into constituent parts. v.intr. 1. To reach a decision or make a determination: resolve on a course of action. 2. To become separated or reduced to constituents. 3. Music To undergo resolution. n. 1. Firmness of purpose; resolution. 2. A determination or decision; a fixed purpose. 3. A formal resolution made by a deliberative body.


  • (คัดมาเพียงบางส่วนจาก The American Heritage® Dictionary of the English Language, Fourth Edition copyright ©2000 by Houghton Mifflin Company. Updated in 2009. Published by Houghton Mifflin Company. All rights reserved.)


จะเห็นว่ามันเกี่ยวกับ 'การตัดสินใจที่เด็ดขาด', 'การกระทำที่ชัดเจน', 'การหลอมรวมเป็นหนึ่ง' หรือ 'การจำแนกแยกแยะ' (เพื่อให้โดดเด่นชัดเจน) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับ 'ความรัดกุม', 'การทบทวน', 'การตรวจสอบ' และ 'การย้ำคิดย้ำทำ' ที่เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนความหมายอันหลากหลายของ 復 (fù, ฟู่) ... ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจที่จะแปล 'ชื่อบท' ด้วยคำภาษาไทยว่า 'ความแน่วแน่มั่นคง' เพื่อสะท้อนความหมายของ 'การยืนหยัด' ของบทที่สิบสองอีกครั้งหนึ่ง



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨出入無疾朋來無咎反復其道七日來復利有攸往
hēng chū rù wú jí péng lái wú jiù fǎn fù qí dào qī rì lái fù lì yǒu yōu wǎng
เฮิง ฌู ญู่ อู๋ จี๋ เพิ๋ง ไล๋ อู๋ จิ้ว ฝั่น ฟู่ ชี๋ เต้า ชี ญื่อ ไล๋ ฟู่ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง


疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'คับข้องใจ', 'แค้นใจ', 'ไม่สบายใจ' เรียกว่า 'ป่วยทางกาย' หรือ 'ป่วยทางใจ' ก็ใช้คำนี้ได้ทั้งนั้น แล้วถ้าผสมกับตัว 女 (nǚ, หนฺวี่) เข้าไปก็จะกลายเป็น 嫉 (jí, จี๋) ที่แปลว่า 'อิจฉา', 'ริษยา' ซึ่งเป็นความหมายดั้งเดิมของ 疾 (jí, จี๋) ที่ไม่ได้เจาะจงเพศมาก่อน ; ความหมายอื่นๆ ของ 疾 (jí, จี๋) ก็จะหมายถึง 'รีบเร่ง' แต่เป็น 'ความรีบเร่ง' ในลักษณะที่ 'ร้อนรน', 'ลุกลี้ลุกลน', หรือ 'กระวนกระวาย' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ความเร็ว' ในแบบปรกติทั่วๆ ไป

反 อ่านว่า fǎn (ฝั่น) แปลว่า 'กลับ', 'พลิก', 'ตรงกันข้าม' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ย้อนคืน', 'หวนคืน', 'ตอบสนอง' หรือ 'ตอบโต้' และสามารถหมายถึง 'ฝ่ายตรงข้าม' ; ในแง่ของเหตุการณ์ต่างๆ สามารถแปลว่า 'แตกต่างไปจากเดิม' ซึ่งคงหมายถึง 'พลิกความคาดหมาย' ; สามารถแปลว่า 'ล้มล้าง' ในลักษณะที่เป็น 'การก่อกบฎ' หรือ 'การปฏิวัติรัฐประหาร' ซึ่งสะท้อนถึง 'การฝ่าฝืน' หรือ 'การรบกวน' ระบบระเบียบเดิมที่มีอยู่ก่อน

道 อ่านว่า dào (เต้า) หลายคนจะคุ้นเคยกับการออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า 'เต๋า' แปลว่า 'หนทาง', 'การดำเนินงาน', 'การดำเนินชีวิต' และ 'การก้าวเดิน' ; ในทางธรรมก็จะหมายถึง 'มรรค' หรือ 'หลักธรรม' มันจึงสามารถแปลว่า 'กฎเกณฑ์', 'วิถีปฏิบัติ' หรือ 'ระบบระเบียบ' ได้ด้วย

七日 (qī rì, ชี ญื่อ) ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็แปลว่า 'เจ็ดวัน' แต่มันควรจะหมายถึง 'ทุกๆ เจ็ดวัน' หรือ 'ตลอดทั้งสัปดาห์' ซึ่งก็คือ 'ทุกๆ วัน' กันแน่ล่ะ ?! แล้วในยุคสมัยของ King Wen นั้นเขามีคำเฉพาะสำหรับเรียก 'สัปดาห์' ด้วยรึเปล่า ?! แต่เท่าที่ผมรู้มาก็คือ ทุกๆ ชนชาติเขาก็นับ 'สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวัน' มานานมากแล้ว ... นานจนไม่เคยมีใครสืบค้นว่านับอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ด้วยซ้ำ !!?? ... ดังนั้นคำว่า 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) ควรจะหมายถึง 'จำนวนเจ็ดวัน', 'ทุกๆ เจ็ดวัน', 'ตลอดทั้งเจ็ดวัน' หรืออะไรกันแน่ ? ... ข้อสงสัยนี้ก็คงต้องหาคำตอบเอาจากคำแวดล้อมอื่นๆ ในวลีเดียวกันแล้วล่ะ ... ;)

นอกจาก King Wen จะเลือกใช้คำว่า 復 (fù, ฟู่) ที่สามารถโยงใยความหมายได้อย่างกว้างไกลแล้ว การเล่นคำในวลีนี้ของ King Wen เองก็สามารถ 'ตีความ' ได้หลายแง่หลายมุมไม่น้อยไปกว่ากันซักเท่าไหร่ ... ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะชวนให้ดูก็คือ ภายในวลีเดียวกันนี้ King Wen ได้เลือกใช้คำที่มีความหมาย 'ตรงกันข้าม' ถึง 3 คู่ด้วยกัน ... 出 (chū, ฌู) กับ 入 (rù, ญู่) ที่แปลว่า 'ออก-เข้า', 'รุก-รับ' หรือ 'เดินหน้า-ถอยกลับ' ; 朋 (péng, เพิ๋ง) กับ 反 (fǎn, ฝั่น) ที่หมายถึง 'มิตรสหาย-ฝ่ายตรงข้าม' ; และคู่สุดท้ายก็คือ 來 (lái, ไล๋) กับ 復 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'มาถึง-กลับไป' ... ในขณะที่ 反 (fǎn, ฝั่น) กับ 復 (fù, ฟู่) ก็สามารถมองว่าเป็น synonyms กันได้ ซึ่งทำให้ 反復其道 (fǎn fù qí dào, ฝั่น ฟู่ ชี๋ เต้า) ตรงช่วงกลางๆ วลีสามารถที่จะแปลว่า 'ทบทวนหลักปฏิบัติ และการดำเนินงานกลับไปกลับมา' หรืออาจจะแปลว่า 'การสลับกลับไปกลับมาเป็นปรากฏการณ์ปรกติธรรมดาของธรรมชาติ' ก็ยังได้ ... เรียกว่าเป็นการเล่นกับความหมาย 'การกลับไปกลับมา' ของ 復 (fù, ฟู่) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว :)

ผมเลือกที่จะ 'กำหนดกรอบ' ของความหมายในวลีนี้ด้วยถ้อยคำของ 'จิวกง' ที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่สี่ของบทที่สองว่า 括囊無咎無譽 (kuò náng wú jiù wú yǜ, คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) ... โดย 括囊 (kuò náng, คั่ว นั๋ง) ที่แปลว่า 'กระทำการอย่างหมดจดชัดเจน' จะแปลงร่างมาเป็น 出入無疾 (chū rù wú jí, ฌู ญู่ อู๋ จี๋) ในวลีนี้ ซึ่งแปลว่า 'ยามรุกหน้า-ถอยกลับ (出入) ไม่กระทำการอย่างร้อนรนกระวนกระวาย (無疾)' ... ในขณะที่ 無咎無譽 (wú jiù wú yǜ, อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) ที่หมายถึง 'ไม่ยินดีต่อคำว่าร้าย ไม่หลงใหลต่อคำสรรเสริญ' ก็ถูกขยายความด้วยเหตุผลที่ว่า 朋來無咎反復其道 (péng lái wú jiù fǎn fù qí dào, เพิ๋ง ไล๋ อู๋ จิ้ว ฝั่น ฟู่ ชี๋ เต้า) หรือ 'มิตรสหาย (朋) มักตอบรับ (來) โดยไม่กล่าวคำตำหนิ (無咎) คู่อริ (反) มักต่อต้าน (復) ทุกการกระทำ (其道)' ... อันเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ 'วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกวี่ทุกวัน (七日來復)' จึงไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์ และมีแต่ 'ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว (利) เท่านั้น จึงบังเกิดเป็นผลลัพธ์ที่คู่ควรในบั้นปลาย (有攸往)' ... ชัดเจนมาก :)

ลองเทียบกับบทที่สิบสองดูซักหน่อยแล้วกัน ในบทดังกล่าว King Wen บันทึกไว้ว่า 否之匪人不利君子貞大往小來 (pǐ zhī fěi rén bù lì jün zǐ zhēn dà wǎng xiǎo lái, ผี่ จือ เฝ่ย เญิ๋น ปู้ ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน ต้า หฺวั่ง เสี่ยว ไล๋) ... ซึ่งคำว่า 匪人 (fěi rén, เฝ่ย เญิ๋น) ที่ผมให้ความหมายว่า 'การรู้จักแยกแยะผู้คน' นั้นได้ถูกสะท้อนออกมาเป็นลักษณะของ 'มิตร' (朋) และ 'ศัตรู' (反) ที่ย่อมจะมีธรรมชาติของการตอบสนองที่ตรงข้ามกันเสมอ 'ผู้นำ' (君子) จึงต้องมี 'ความหนักแน่นในคุณธรรม' (利貞) 'ไม่หวั่นไหว' (無疾) ไปตาม 'กระแสเชียร์ของมิตร' (朋來無咎) หรือ 'กระแสต้านของคู่อริ' (反復其道) ... 'ผู้ที่จักยืนหยัด' (否之) จึงไม่อาจละเลยต่อ 'การสำรวจตรวจสอบที่ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน' (七日來復) ... 'ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นปฏิบัติโดยมรรควิถีแห่งปราชญ์' (利君子貞) เยี่ยงนี้ ย่อม 'บังเกิดเป็นผลสนองที่คู่ควรในบั้นปลาย' (有攸往) เสมอ ... วิธีการที่ King Wen โยงถ้อยคำให้สามารถสลับกลับไปกลับมา (復) ระหว่างสองวลีที่ยกมาเปรียบเทียบกันนี้ ต้องถือว่าสุดยอดอย่างเหนืออัจฉริยะจริงๆ ... แบบนี้มั้งที่เขาเรียกว่า 'อัจฉริยะตัวพ่อ' เพราะ 'จิวกง' เป็น 'อัจฉริยะตัวลูก' ของ King Wen นี่เอง ... :D

สรุปความว่า วลีของ King Wen ในบทนี้ก็คือ 'พัฒนาการอันโดดเด่นก้าวหน้า (亨) ย่อมเพราะมีการดำเนินงาน (出入 คือเดินหน้าและยับยั้ง) อย่างไม่หวั่นไหวร้อนรน (無疾) แม้การตอบรับของมิตรสหายจะไร้ข้อตำหนิติติง (朋來無咎) หรือแม้คู่อริจะแข็งขืนต่อต้านทุกวิถีทาง (反復其道) ก็ยังคงดำเนินการด้วยความรัดกุมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน (七日來復) ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (利) เยี่ยงนี้ ย่อมส่งผลให้ประสบกับความสำเร็จที่คู่ควรในบั้นปลาย (有攸往) ได้เสมอ' ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

不復遠無祗悔元吉
bù fù yuǎn wú zhī huǐ yuán jí
ปู้ ฟู่ เหยฺวี่ยน อู๋ จือ หุ่ย เยฺวี่ยน จี๋


遠 อ่านว่า yuǎn (เหยฺวี่ยน) ปรกติถ้าเกี่ยวกับระยะทางก็จะแปลว่า 'ห่างไกล' ; แต่ถ้าเกี่ยวกับเวลาก็จะแปลว่า 'ยาวนาน' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'ถอยห่างออกมา', 'หลบหนี', 'หลีกเลี่ยง' หรือ 'ไม่สนใจ' ; ซึ่งบางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เข้าไม่ถึง', 'เข้าใจยาก', อันมีลักษณะของ 'ความคลุมเครือ', 'ความไม่ชัดเจน', หรืออาจจะเพราะมี 'ความลึกลับ', 'ความซับซ้อน' โดยน่าแผลงมาจาก 'ความห่างไกลจากการรับรู้' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็สามารถแปลว่า 'ขยาย', 'แผ่กระจาย' หรือ 'เพิ่มพูน' แต่ก็แฝงความหมายในลักษณะที่ 'เกินเลยขอบเขตออกไป' เอาไว้ด้วย ; และจาก 'การถอยห่างออกมา' ก็แผลงมาเป็น 'ทำให้แปลกแยก', 'ไม่คุ้นเคย' หรือถึงขั้นที่กลายเป็น 'ต่อต้าน' ไปเลยก็ได้

祗 อ่านว่า zhī (จือ) แปลว่า 'ให้ความเคารพ', 'แสดงความนับถือ', 'นับถือ', 'ชื่นชม' ; และสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 祇 (zhǐ, จื่อ) ที่แปลว่า 'เที่ยงตรง', 'ซื่อสัตย์', 'ยุติธรรม', หรือแปลว่า 'เฉพาะเจาะจง' ก็ได้ด้วย

悔 อ่านว่า huǐ (หุ่ย) เป็นคำแรกๆ ที่เคยเล่าไว้นะครับ แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ดูวิธีเล่นกับคำว่า 復 (fù, ฟู่) ของ 'จิวกง' ซะมั่ง ... เมื่อ 復 (fù, ฟู่) ในบทนี้หมายถึง 'การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว', 'ความแน่วแน่มั่นคง' หรือ 'การยืนหยัดอยู่บนหลักการ และยึดมั่นในเหตุผลของภาระกิจที่กำหนดเอาไว้แล้ว' ... มันจึงสะท้อนความหมายของ 'ความมั่นอกมั่นใจ' ใน 'ทิศทางที่จะดำเนินไป' ด้วย ... ตรงนี้ 'จิวกง' จึงถึงกับต้องตักเตือนเอาไว้เลยว่า 不復遠 (bù fù yuǎn, ปู้ ฟู่ เหยฺวี่ยน) หรือ 'ไม่ควร (不) เชื่อมั่น (復 หรือยึดติดอยู่กับเหตุผลของตนแต่ผู้เดียว) จนเกินกว่าเหตุ (遠)' ซึ่งทำให้ผมนึกถึงวลีแรกที่เราพบเห็นคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ขึ้นมาทันที โดยวลีของ 'จิวกง' ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) ซึ่งหมายถึง 'มังกรที่หลงทะนงในศักยภาพของตนเองย่อมพบกับความเสียใจ' ... แล้วถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะพบว่า ทุกครั้งที่ 'สัญลักษณ์แห่งหยาง' (⚊) ปรากฏในวรรคแรกของบทใด 'จิวกง' ก็มักจะสอดแทรก 'คำแนะนำ' ให้ใช้ 'ความระมัดระวัง' หรือ 'ความนอบน้อมถ่อมตน' ทุกๆ ครั้ง ... โดยนับจากบทแรกมาถึงบทนี้ก็เป็นครั้งที่ 13 แล้วที่เราได้พบเห็น 'ข้อแนะนำ' ในลักษณะนี้ของ 'จิวกง'

การเปิดประเด็น 'อย่าเชื่อมั่นจนเกินกว่าเหตุ' ของ 'จิวกง' นี้ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาลอยๆ นะครับ เพราะมันมีที่มาจากวลีของ King Wen ในบทนี้โดยตรงเลยทีเดียว โดยเราจะเห็นถ้อยคำแบบเดียวกันนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราแยก 'ส่วนขยายความ' ในวลีของ King Wen ออกไป ... 亨出入無疾 (朋來無咎反復其道) 七日來復 (利有攸往) ... ความหมายก็คือ 'พัฒนาการอันโดดเด่นก้าวหน้า (亨) ย่อมเพราะมีการดำเนินงานที่ไม่หวั่นไหวร้อนรน (出入無疾) และดำเนินการด้วยความรัดกุมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน (七日來復)' ... แล้ว 'จิวกง' ก็รวบหัวรวบหางให้เหลือเพียง 3 พยางค์คือ 不復遠 (bù fù yuǎn, ปู้ ฟู่ เหยฺวี่ยน) เพื่อที่จะบอกว่า แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า 'มิตรสหายย่อมไร้ข้อตำหนิ (朋來無咎) คู่อริย่อมต่อต้านทุกการกระทำ (反復其道)' การดำเนินงานทุกอย่างจึงต้องพินิจพิจารณาอย่างรอบด้านด้วยตนเอง ... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า 'ไม่ต้องสนใจความคิดเห็นของผู้หนึ่งผู้ใด' อีกเลยหรอกนะ ... เพราะความจริงแล้ว 'ความปรกติธรรมดาในพฤติกรรม' ของ 'มิตร' และ 'ศัตรู' ที่ King Wen หยิบยกขึ้นมาขยายความไว้นั้น เป็นเพียงถ้อยคำที่ต้องการสื่อให้เราตระหนักว่า 'ไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์' จนกลายเป็น 'อคติ' ที่บดบังการใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'รอบคอบรัดกุม' ของเรา ... เท่านั้น ... ซึ่งเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สี่ของบทที่สองด้วยวลีว่า 無咎無譽 (wú jiù wú yǜ, อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) หรือ 'ไม่ใส่ใจในคำให้ร้าย ไม่หลงใหลในคำเยินยอ' อย่างที่เล่าไปแล้ว

ความหมายของวลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ก็คือ 'ความไม่หลงยึดติดอยู่กับแนวทางของตน (不復) จนเกินกว่าเหตุ (遠) ย่อมมิใช่ (無) เป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือ (祗悔) ของตนแต่ประการใด ความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ (元) เท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉)' ... สังเกตการเลือกใช้คำว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) กับ 吉 (jí, จี๋) ของ 'จิวกง' ตรงวรรคนี้นะครับ ความหมายที่ซ่อนอยู่ในวลีก็คือ 'ความแน่วแน่มั่นคงที่ไม่เกินกว่าเหตุ' (不復遠) เท่านั้นที่จะนับว่ามี 'ความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์' (元) และจะส่งผลเป็น 吉 (jí, จี๋) ... แต่ถ้า 'หลงใหลในทิฎฐิมานะของตน' (復遠) จนไม่สนใจใยดีต่อความคิดเห็นอื่นๆ ซะแล้ว แม้จะยังนับว่ามี 'ความเป็นตัวของตัวเอง' (元) แต่ก็ 'ไม่สร้างสรรค์' (不元) ซึ่งจะส่งผลให้กลายเป็น 疾 (jí, จี๋) ที่พ้องเสียงกับ 吉 (jí, จี๋) แต่สลับขั้วความหมายกลายเป็น 'ความทุกข์ยากลำบากกาย-ใจ' ไปซะงั้น !!?? ... เป็นไงมั่งล่ะ ?! ... ฝีไม้ลายมือของ 'อัจฉริยะตัวลูก' อย่าง 'จิวกง' นี่ไม่น้อยหน้า 'อัจฉริยะตัวพ่อ' เหมือนกันนะเอ้า !! ... :D

 

สอง หยิน :

休復吉
xiū fú jí
ซิว ฟู่ จี๋


休 อ่านว่า xiū (ซิว) มีความหมายคล้ายๆ กับสแลงวัยรุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ว่า 'ชิลๆ' หรือ 'ชิวๆ' (chill-chill) ซึ่งหมายถึง 'สบายๆ', หรือ 'ใจเย็นๆ' นั่นแหละ โดย 休 (xiū, ซิว) มีความหมายว่า 'พักผ่อน', 'หยุดพัก', อาจจะแปลว่า 'หยุด', 'ยั้ง', 'สิ้นสุด' หรือ 'ล้มเลิก' ไปเลยก็ได้ ; ความหมายอื่นๆ ก็จะมี 'สบาย', 'สุขสบาย', 'มีความสุข', 'ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ' จึงแผลงกลายเป็น 'โชคดี', หรือ 'ดี' ก็ได้ด้วย

มองผ่านๆ คำว่า 休 (xiū, ซิว) ก็คือ antonyms ของ 疾 (jí, จี๋) ที่แปลว่า 'รีบร้อน' หรือ 'ลุกลี้ลุกลน' นั่นแหละครับ เพราะฉะนั้น 休復 (xiū fù, ซิว ฟู่) ที่เห็นในวรรคนี้ก็คือ 出入無疾 (chū rù wú jí, ฌู ญู่ อู๋ จี๋) ที่ King Wen ใช้เป็นวลีเปิดของบทนี้นั่นเอง ... ความหมายก็ง่ายๆ นะครับ ... 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างมีสติยั้งคิด (休復 คือไม่วู่วามผลีผลาม) ย่อมประสบกับความเจริญ (吉)' ... ถือเป็นการตอกย้ำความหมายให้กับวรรคที่หนึ่งอีกครั้งว่า นอกจาก 'อย่าดักดาน' (不復遠) แล้ว ก็จะต้อง 'อย่าผลีผลาม' (休復) ด้วยจึงจะสมบูรณ์ ... ;)

 

สาม หยิน :

頻復厲無咎
pín fù lì wú jiù
ปิน ฟู่ ลี่ อู๋ จิ้ว


頻 อ่านว่า pín (พิ๋น) มีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ว่า 'ขมวดคิ้วนิ่วหน้า' จนแผลงมาเป็น 'ขมวดเป็นปม', 'ขมวดเป็นเกลียว' และ 'ขมวดให้ชิดติดกัน' และกลายเป็นความหมายว่า 'ทำซ้ำๆ', 'ทำบ่อยๆ' หรือ 'ทำให้แน่นหนา' และ 'ทำอย่างต่อเนื่อง' ; แต่ก็คงจะซ่อนความหมายของ 'จ้ำจี้จ้ำไช' ไว้ด้วยรึเปล่าไม่ทราบ เพราะ 頻 (pín, พิ๋น) สามารถแปลว่า 'ฉุกเฉิน', 'อันตราย' (คงหมายถึงสาเหตุที่ทำให้หน้านิ่วคิ้วขมวด) ซึ่งแผลงมาเป็นความหมายว่า 'เร่งด่วน'

ส่วนคำว่า 厲 (lì, ลี่) มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

ถ้าดูจากคำว่า 無咎 (wú jiù) ตรงท้ายวลี คำว่า 厲 (lì, ลี่) ในวรรคนี้ก็ไม่น่าจะแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' แต่น่าจะหมายถึง 'เข้มงวด' หรือ 'เข้มข้น' ซะมากกว่า ... ส่วนคำว่า 頻 (pín, พิ๋น) ก็คงไม่ได้หมายถึง 'เร่งด่วน' หรือ 'ฉุกเฉิน' แน่ๆ เพราะทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' ต่างก็พร้อมใจกันยืนยันว่าควรจะ 'กระทำการอย่างมีสติยั้งคิด อย่าใจเร็วด่วนได้ด้วยความรีบร้อนผลีผลาม' จึงจะประสบความสำเร็จ ... ครั้นจะ 'ตีความ' ให้คำว่า 頻 (pín, พิ๋น) หมายถึง 'ขมวดเป็นปม' มันก็อาจจะออกอาการที่ดู 'ยุ่งเหยิง' หรือ 'ซับซ้อน' และ 'ยากที่จะเข้าใจ' จนคล้ายกับ 遠 (yuǎn, เหยฺวี่ยน) ที่ขัดแย้งกับความหมายของ 厲 (lì, ลี่) ซึ่งแฝงความหมายของ 'การทำให้ชัดเจน' เอาไว้ซะอีก ... หมดแล้วครับ ... ความหมายทุกอย่างโดน lock จนเหลือเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้นคือ ... 頻復 (pín fù, พิ๋น ฟู่) จะต้องหมายถึง 括囊 (kuò náng, คั่ว นั๋ง) ที่เห็นในวรรคที่สี่ของบทที่สองซึ่งหมายถึง 'กระทำการอย่างหมดจดรัดกุม' ... ส่วน 厲 (lì, ลี่) ก็ต้องหมายถึง 'เข้มงวดกวดขัน' เพื่อให้ไปรับกับ 七日來復 (qī rì lái fù, ชี ญื่อ ไล๋ ฟู่) ที่หมายถึง 'สำรวจตรวจตราทุกๆ วัน' ดังที่ King Wen ระบุไว้ตั้งแต่แรก และเพื่อจำกัดความให้ 休 (xiū, ซิว) ในวรรคก่อนไม่ถูก 'ตีความ' ว่า 'สบายๆ ไม่ต้องสนใจอะไรก็ได้' ...

ความหมายของวลีนี้จึงควรจะหมายความว่า 'การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวรัดกุม (頻復) ต้องถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติที่เข้มงวดเอาจริงเอาจัง (厲) จึงจะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... เรียงกันมาเป็นชุดเลยครับสำหรับ 'ความแน่วแน่มั่นคง' (復) ตามทัศนคติของ 'จิวกง' ที่ต้องประกอบด้วย 'ละความผยอง' (不復遠) ; ต้อง 'รู้จักยั้งคิด' (休復) ; และ 'ปฏิบัติอย่างเข้มงวดรัดกุม' (頻復) ... ไม่ใช่เอาแต่จุ๊ยไม่ฟังเสียงใครซักหน่อย !!?? ... :D

 

สี่ หยิน :

中行獨復
zhōng xíng dú fù
ง ซิ๋ง ตู๋ ฟู่


獨 อ่านว่า dú (ตู๋) แปลว่า 'โดดเดี่ยว', 'เดียวดาย', 'หนึ่งเดียว', หรือ 'เฉพาะเจาะจง' ; ถ้าเป็นคำกริยาจะหมายถึง 'กระทำการอย่างเด็ดเดี่ยว' ซึ่งบางครั้งหมายถึง 'ทำโดยไม่ฟังเสียงใคร', 'ทำโดยไม่สนใจระเบียบประเพณี' หรือ 'ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำ'

ส่วนคำว่า 中 (zhōng, ง) ปรกติจะแปลว่า 'กลาง', 'ตรง' หรือ 'เที่ยง' เมื่อใช้คู่กับ 行 (xíng, ซิ๋ง) ที่แปล 'ดำเนิน', 'เดิน', หรือ 'ทาง' จึงน่าจะหมายถึง 'การครองตนอยู่บนทางสายกลาง' หรือ 'กระทำการอย่างตรงไปตรงมา' ไม่หวั่นไหวแกว่งไกวไปตามแรงแห่งทิฎฐิมานะ หรืออคติใดๆ ... หากเปรียบเทียบ 'ภาพสัญลักษณ์' (䷗) ด้วย Organization Code ที่เคยเล่าเอาไว้ เราก็จะเห็นภาพของ 'การแสดงออกอย่างนิ่งสงบ' (☷) ที่กดข่ม 'ความอึกทึกครึกโครม' (☳) เอาไว้ ... ซึ่งความหมายก็คือ 'อย่าทำตามตามอารมณ์' แต่จะต้อง 'ปฏิบัติตนให้ถูกกาละ-เทศะอย่างเหมาะสม' นี่ก็คือความหมายของ 中行 (zhōng xíng, ง ซิ๋ง) ที่เห็นในวลีนี้

ในอีกทางหนึ่ง จังหวะของการเลือกใช้คำของ 'จิวกง' ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมองข้ามไป เพราะคำว่า 中 (zhōng, ง) นี้มีลำดับต่อมาจากคำว่า 休 (xiū, ซิว) ที่แฝง 'ความสบาย' หรือ 'การผ่อนปรน' ไว้ในวรรคที่สอง โดย 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 厲 (lì, ลี่) ในวรรคที่สามซึ่งมีความหมายว่า 'ความเข้มงวด' อันเป็น 'สลับขั้ว' กับ 休 (xiū, ซิว) อย่างชัดเจน ... การเลือกคำว่า 中 (zhōng, ง) เป็นลำดับถัดมาในวรรคที่สี่จึงสะท้อนความหมายให้ 'รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา' ไม่ 'หย่อนยาน' หรือ 'เขม็งตึง' จนเกินไป ... คำว่า 中行 (zhōng xíng, ง ซิ๋ง) จึงสะท้อนความหมายของ 不復遠 (bù fù yuǎn, ปู้ ฟู่ เหยฺวี่ยน) ในวรรคที่หนึ่งออกมาอีกครั้งอย่างจงใจ

ความหมายของวลีนี้จึงหมายถึง 'การดำเนินงานอย่างพอเหมาะพอสมแก่สถานการณ์ (中行) ต้องมีความหนักแน่นอย่างเด็ดเดี่ยว (獨) และต้องมีความแน่วแน่มั่นคง (復) อย่างไม่เสื่อมคลาย'

 

ห้า หยิน :

敦復無悔
dūn fù wú huǐ
ตุน ฟู่ อู๋ หุ่ย


敦 อ่านว่า dūn (ตุน) แปลว่า 'ซื่อสัตย์', 'บริสุทธิ์ใจ', 'จริงใจ', 'สนิทชิดเชื้อ', 'คงเส้นคงวา', 'มาตรฐาน', 'ถูกต้อง', 'สง่างาม', 'แน่นหนา', 'หนา', 'หนักแน่น', หรือ 'มั่งคั่ง' ; ส่วนความหมายในฐานะของคำกริยาจะหมายถึง 'บริหารจัดการ'

ถ้าไล่กันมาตั้งแต่วรรคแรก 'ความแน่วแน่มั่นคง' ในทัศนะของ 'จิวกง' ที่ประกอบไปด้วย 'ความไม่หลงตน' (不復遠), 'ความรู้จักยั้งคิด' (休復), 'ความเข้มงวดรัดกุม' (頻復), และ 'ความพอเหมาะพอดี' (獨復) ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' ได้ในที่สุด ... แต่หากทุกองค์ประกอบที่ว่านั้นไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของ 'ความซื่อสัตย์' และ 'ความจริงใจ' ล่ะ ?!! ... ผมเองก็เชื่อว่า 'ความเสแสร้ง', 'ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย', 'ความแนบเนียน', และ 'ความไม่มูมมาม' ก็สามารถนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็น 'อกุศล' ได้เหมือนกัน ... :D ... นั่นจึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ 'จิวกง' ต้องสอดแทรกถ้อยคำในวรรคนี้เข้ามา เพื่อที่จะบอกว่า 'ความบริสุทธิ์ใจ (敦) ในความเด็ดเดี่ยวมั่นคง (復) ย่อมปราศจากความผิดหวัง หรือความเศร้าโศกเสียใจ (無悔) ในผลลัพธ์ที่จะตามมา'

แต่หากเราพลิกความหมายของ 復 (fù, ฟู่) ให้หมายถึง 'การรวมกันเป็นปึกแผ่น' ควาหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนเป็น 'การเกื้อกูลกันอย่างเป็นปึกแผ่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ (敦復) ย่อมปราศจากความร้าวฉานที่นำไปสู่ความเศร้าโศกเสียใจ (無悔)' ... หรือถ้าเราจะเล่นกับความหมายของ 'ความคงเส้นคงวา' เราก็จะได้วลีว่า 'ความแน่วแน่มั่นคงอย่างคงเส้นคงวา (敦復) ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดหวังเสียใจ (無悔) ในภายหลัง' ... เออ ... อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ... ;) ... แล้วจะเอาความหมายไหนดีล่ะทีนี้ ?!

ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะ 'ตั้งใจ' ใช้คำว่า 敦復 (dūn fù, ตุน ฟู่) แทนความหมายที่ว่ามาทั้งหมดนั่นเลย  :P ... ประการแรก ... วรรคที่ห้ายังต้องถือเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สอง ซึ่งในวรรคดังกล่าวใช้คำว่า 休復 (xiū fù, ซิว ฟู่) ที่หมายถึง 'ให้รู้จักยั้งคิด' ... แต่ 'การยับยั้งชั่งใจ' ก็แฝงความหมายของ 'เดี๋ยวทำเดี๋ยวหยุด' เพื่อ 'ตรึกตรอง' เป็นระยะๆ ตามความหมายของ 休 (xiū, ซิว) ที่ดู 'สบายๆ' พอสมควร ... ประเด็นนี้ 'จิวกง' ก็คงจะต้องการใช้คำว่า 敦復 (dūn fù, ตุน ฟู่) ให้สื่อถึง 'ความต่อเนื่อง' หรือ 'ความคงเส้นคงวา' เพื่อจะคานกับความหมายที่ 'เรื่อยเฉื่อย' ของ 休 (xiū, ซิว) ในวรรคที่สอง

ประการที่สอง หาก 休復 (xiū fù, ซิว ฟู่) ที่เป็น 'ความยั้งคิด' ในวรรคที่สองกลายสภาพเป็น 'ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย' ซะล่ะ ??!! ... 敦復 (dūn fù, ตุน ฟู่) ในวรรคนี้ก็จะสะท้อนความหมายว่า 'ต้องคิดอย่างบริสุทธิ์ใจ' เท่านั้น ... ซึ่ง 'ความบริสุทธิ์ใจ' ที่ว่านี้ก็ยังแฝงความหมายว่า เรา 'ควรจะทำความดีเพื่อความดี ... อย่ามุ่งมั่นประกอบกรรมดีเพื่อหวังสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากความดีนั้นๆ' เพราะถึงอย่างไร 'มิตรสหายย่อมไม่กล่าวคำตำหนิ คู่อริย่อมต่อต้านทุกกระกระทำ' (朋來無咎‧反復其道) ดังที่ King Wen ระบุไว้อยู่แล้ว ... ผู้ที่ 'ประกอบกรรมดี' เพื่อหวังจะได้รับ 'ความยอมรับ' หรือ 'คำยกย่องสรรเสริญ' ย่อมมีโอกาสที่จะพบกับ 'ความผิดหวังเสียใจ' ได้ตลอดเวลา ... ในขณะที่ผู้ 'ประกอบกรรมดีเพื่อความดี' ย่อมมิได้คาดหวังสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากผลลัพธ์ที่เป็น 'ความดี' เท่านั้น เขาผู้นั้นย่อมจะ 'ไม่ขุ่นข้องต่อคำว่าร้าย ไม่ลิงโลดต่อคำสรรเสริญ' (無咎無譽) และยังคงรักษา 'ความสงบนิ่งแห่งจิตใจ' ไว้ได้เสมอ

ประการสุดท้าย 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคงอย่างหนักแน่นจริงจัง (敦復) ย่อมปราศจากความผิดหวังเสียใจ (無悔) ในผลลัพธ์ที่ปรากฏ' เนื่องเพราะสิ่งที่พึงปฏิบัติ ล้วนได้รับการปฏิบัติ 'อย่างรอบคอบรัดกุม' เป็นอย่างดีแล้ว แม้ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องผิดหวังเสียใจแต่ประการใด ... อย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่ได้ 'ผิดต่อตัวเอง' ... ไม่ได้ 'ละเลยต่อหน้าที่' ... และ ... ได้กระทำการทุกอย่างตามที่ 'สมควรแก่เหตุ' จน 'ครบถ้วน' ด้วย 'ความจริงจัง' แล้ว ... ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่เป็น 'บทเรียน' ที่เราได้ 'สั่งสม' ไว้เป็น 'ประสบการณ์ชีวิต' ทั้งสิ้น

 

หก หยิน :

迷復凶有災眚用行師終有大敗以其國君凶至于十年不克征
mí fù xiōng yǒu zāi shěng yòng xíng shī zhōng yǒu dà bài yǐ qí guó jün xiōng zhì yǘ shí nián bù kè zhēng
มี๋ ฟู่ เซฺวิง โหยฺ่ว ไจ เษิ่ง โยฺว่ง ซิ๋ง ซือ โหยฺ่ว ต้า ไป้ อี่ ชี๋ กั๋ว จฺวิน เซฺวิง จื้อ ยฺวี๋ ซื๋อ เนี๋ยน ปู้ เค่อ เจิ


迷 อ่านว่า mí (มี๋) แปลว่า 'ไม่ชัดเจน', 'สับสน', หรือ 'ไม่ได้สติ', จึงสามารถแปลว่า 'ลุ่มหลง', 'มัวเมา' หรืออาจจะหมายถึง 'มอมเมา' และ 'ล่อลวง' ได้ด้วย

災 อ่านว่า zāi (ไจ) แปลว่า 'เภทภัย', 'ภัยพิบัติ' ซึ่งในกรณีของ 'ไฟ' หรือที่คล้ายคลึงกับ 'ไฟ' ก็จะหมายถึง 'เผาผลาญ', 'วอดวาย' ; แต่ถ้าในลักษณะที่คล้ายน้ำก็น่าจะหมายถึง 'ล่มจม', 'ล่มสลาย'

眚 อ่านว่า shěng (เษิ่ง) ปรกติหมายถึง 'โรคทางตา' ประเภท 'ต้อ' ซึ่งทำให้ 'เห็นไม่ชัดเจน' ; แล้วจึงแผลงเป็น 'ยากลำบาก', 'ผิดพลาด' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 省 (shěng, เษิ่ง) ที่แปลว่า 'ลดน้อยลง', 'ทำให้เล็กลง', 'แหว่งเว้า'

敗 อ่านว่า bài (ไป้) แปลว่า 'พ่ายแพ้', 'ทำให้พ่ายแพ้', 'กำราบ' ; และอาจจะหมายถึง 'ล้มเหลว', หรือ 'ไม่สำเร็จ' ด้วย

至 (zhì, จื้อ) เคยเล่าไปแล้วนะครับ แต่ย้อนตรงนี้อีกหน่อยแล้วกัน คำนี้ปรกติจะแปลว่า 'ไปถึง', 'มาถึง', 'ปลายทาง', 'ที่สุด', 'สุดขั้ว' จึงทำให้มันมีความหมายว่า 'ทุ่มเท' ได้ด้วย ; แต่ในบางกรณีก็แปลว่า 'ใกล้ชิด' ; ถ้าหมายถึงตัวบุคคลก็จะหมายถึง 'ผู้ที่น่าเคารพนับถืออย่างสูง', 'ผู้ที่มีคุณธรรม' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'นักบวช', 'นักพรต' หรือ 'พระราชา (คือผู้ที่อยู่สูงสุด)' ก็ได้

征 (zhēng, เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ', 'การดำเนินงาน', 'การบริหาร' หรือ 'การปกครอง' ; ซึ่งในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จะสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ส่วนในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' ยังสามารถหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'การยื้อยุด', หรือ 'การแย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' รวมทั้งยังสามารถหมายถึง 'การรวบรวมให้เป็นปีกแผ่น' ด้วย

ดูเหมือน 迷復 (mí fù, มี๋ ฟู่) จะตอกย้ำความหมายของ 不復遠 (bù fù yuǎn, ปู้ ฟู่ เหยฺวี่ยน) ของวรรคแรกอย่างตรงๆ ตัวเลยนะครับ เนื่องจากมีความหมายเกี่ยวกับ 'ความหลง' โดยเฉพาะ ... ในขณะที่วรรคแรก 'จิวกง' เปิดประเด็นด้วย 'ความไม่ยึดมั่นในแนวทางของตนจนเกินกว่าเหตุ' (不復遠) ถ้อยคำที่ตามมาก็จะสื่อไปในด้านเจริญรุ่งเรือง ... แต่พอในวรรคที่หกที่ 'จิวกง' เปิดประเด็นด้วยความหมายของ 'การยึดมั่นถือมั่นอย่างลุ่มหลง' (迷復) ถ้อยคำที่เหลือก็ส่อไปในทาง 'ซวยอย่างสุดๆ' เพราะ 'จิวกง' จั่วหัวของผลลัพธ์ด้วย 凶 (xiōng, เซฺวิง) ตามด้วย 災 (zāi, ไจ) ต่อด้วย 敗 (bài, ไป้) แล้วก็ 凶 (xiōng, เซฺวิง) อีก ... อะไรมันจะ 'ซวยซ้ำซวยซ้อน' ซะขนาดนั้นวะ !!? ... :D ... 'ความหลง' แค่เรื่องเดียวเท่านั้นนะเนี่ย !!! ... :D

เอานะครับ ... ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'ความมุ่งมั่นอย่างมืดบอด (迷復) ย่อมก่อเภทภัยอย่างมหันต์ (凶) เพราะในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง (有災眚 หมายถึงมีภัยที่ไม่ชัดเจน ซึ่งก็คือความเสี่ยง) นั้น การฝืนทุ่มเทกำลังอย่างหักโหม (用行師) ย่อมปรากฏผลลัพธ์  (終有) เป็นความเสียหายที่ร้ายแรง (大敗) อันเป็นสาเหตุ (以) แห่งความล่มสลายของชาติติบ้านเมือง และตัวของผู้นำเอง (其國君凶) ความมืดบอดต่อภยันตรายดังกล่าว ต่อให้หักโหมทุ่มเทลงไป (至) จนสุดกำลัง (于十年) ก็ไม่อาจปรากฏผลเป็นความคืบหน้า (不克征) ใดๆ' 

สังเกตนะครับว่า ผมไม่ได้เลือก 'ตีความ' ให้ 年 (nián, เนี๋ยน) หมายถึง 'ปี' แต่เลือกใช้ความหมายข้างเคียงอย่างอื่นแทน เพราะ 年 (nián, เนี๋ยน) นอกจากจะแปลว่า 'ปี', 'อายุ', หรือแปลว่า 'เวลา', 'ยุคสมัย' แล้ว บางครั้งมันยังหมายถึง 'ผลผลิต (ในรอบระยะเวลาหนึ่งปี)' และหมายถึง 'การเก็บเกี่ยว' ได้ด้วย ... ส่วน 十 (shí, ซื๋อ) ปรกติจะแปลว่า 'จำนวนสิบ' ; แต่ในภาษาจีนบางครั้งจะหมายถึง 'สิบส่วน' ซึ่งมีความหมายว่า 'ครบถ้วน', 'มากมาย', หรือ 'เต็มที่' ; เลยสามารถแผลงความหมายเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ตลอดเวลา' ; และแปลว่า 'เนิ่นนาน' ก็ยังได้ ... คำว่า 十年 (shí nián, ซื๋อ เนี๋ยน) ที่เห็นในวรรคนี้จึงสามารถที่จะแปลว่า 'สิบปี' ก็ได้, แปลว่า 'ยาวนาน' ก็ได้, แต่เพื่อให้รับกันกับคำว่า 用行師 (yòng xíng shī,  โยฺว่ง ซิ๋ง ซือ) ที่หมายถึง 'ทุ่มเทกำลังอย่างหักโหม' ผมจึงเลือกแปล 十年 (shí nián, ซื๋อ เนี๋ยน) ว่า 'กำลังการผลิตทั้งหมด' ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้ง 'แรงกาย', 'แรงใจ', หรือแม้แต่ 'กำลังทรัพยากร' ที่สู้อุตส่าห์สั่งสมเอาไว้

ความจริงแล้วเราเคยเห็นวลีที่คล้ายๆ กันอย่างนี้มาครั้งหนึ่งในวรรคที่หกของบทที่สิบเอ็ด ซึ่งในวลีดังกล่าว 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 城復于隍勿用師自邑告命貞吝 (chéng fù yǘ huáng wù yòng shī zì yì gào mìng zhēn lìn, เฌิ๋ง ฟู่ ยฺวี๋ ฮฺวั๋ง อู้ โยฺว่ง ซือ จื้อ อี้ เก้า มิ่ง เจิน ลิ่น) และผมให้ความหมายไว้ว่า 'ในสภาวะการณ์ที่อัตคัดแร้นแค้น ย่อมไม่เหมาะที่จะใช้พลกำลังอย่างหักโหม เพราะแม้จะบังคับใช้คำสั่งอย่างเฉียบขาด แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจนไร้ซึ่งความหมายอย่างสิ้นเชิง' ... 'ความแน่วแน่มั่นคง' ในภาระกิจที่มุ่งปฏิบัติ จึงมิใช่อาศัยเพียง 'กำลังใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว', 'กำลังทุนที่แน่นหนา' และ 'ศักยภาพที่เปี่ยมล้น' ก็จะสามารถ 'ประสบความสำเร็จ' ได้เสมอไป ... การดำเนินงานย่อมต้องอาศัย 'วิจารณญาณที่ละเอียดลึกซึ้ง' ต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน และไม่กระทำการอย่าง 'บุ่มบ่ามผลีผลาม' โดย 'หลงเชื่อ' เพียง 'คำสอพลอ' หรือกระทำการอย่าง 'ดื้อดึง' ด้วย 'ทิฎฐิมานะ' โดยไม่รับฟัง 'คำทัดทาน' จากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ... ผู้ที่ 'หลงทะนงตนอย่างมืดบอด' จึงมักจะประสบกับ 'ความซวยซ้ำซวยซ้อน' ดังที่ 'จิวกง' บันทึกไว้เป็น 'ข้อเตือนสติ' ในวลีสุดท้ายของบทที่ว่าด้วย 'ความแน่วแน่มั่นคง' ... ฉะนี้ ... แล ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ฟู่' คือ ความแน่วแน่มั่นคง, ครืนครั่นภายใต้ปฐพี

'พัฒนาการ' อัน 'โดดเด่นก้าวหน้า' ย่อมเพราะมี 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ไม่หวั่นไหวร้อนรน' ... แม้ 'การตอบรับ' ของ 'มิตรสหาย' จะ 'ไร้ข้อตำหนิติติง' หรือแม้ 'คู่อริ' จะ 'แข็งขืนต่อต้าน' ทุกวิถีทาง ก็ยังคง 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความรัดกุม' อย่าง 'สม่ำเสมอ' ทุกๆ วัน ... 'ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่' เยี่ยงนี้ ย่อมส่งผลให้ประสบกับ 'ความสำเร็จที่คู่ควร' ใน 'บั้นปลาย' ได้เสมอ

  •  
  • 'ความไม่ยึดติด' อยู่กับ 'แนวทาง' ใดๆ (จนเกินกว่าเหตุ) ย่อมมิใช่เป็นการบั่นทอน 'ความน่าเชื่อถือ' ของตนแต่ประการใด 'ความเป็นตัวของตัวเอง' อย่าง 'สร้างสรรค์' เท่านั้น จึงจะนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' ที่ 'รุ่งเรือง'
  •  
  • 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว' อย่าง 'มีสติยั้งคิด' ย่อมประสบกับ 'ความเจริญ'
  •  
  • 'การตัดสินใจ' ที่ 'เด็ดเดี่ยวรัดกุม' ต้องถึงพร้อมด้วย 'การปฏิบัติที่เข้มงวด' 'เอาจริงเอาจัง' จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' อย่าง 'พอเหมาะพอสม' แก่ 'สถานการณ์' ต้องมี 'ความหนักแน่น' อย่าง 'เด็ดเดี่ยว' และต้องมี 'ความแน่วแน่มั่นคง' อย่าง 'ไม่เสื่อมคลาย'
  •  
  • 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคง' อย่าง 'หนักแน่น' 'จริงจัง' ย่อมปราศจาก 'ความผิดหวัง' 'เสียใจ' ใน 'ผลลัพธ์' ที่ปรากฏ
  •  
  • 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'มืดบอด' ย่อมก่อ 'เภทภัยอย่างมหันต์' เพราะใน 'สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง' ต่อ 'อันตรายอย่างยิ่ง' นั้น 'การฝืนทุ่มเทกำลัง' อย่าง 'หักโหม' ย่อมปรากฏผลลัพธ์เป็น 'ความเสียหาย' ที่ 'ร้ายแรง' อันเป็นสาเหตุ แห่ง 'ความล่มสลาย' ของชาติบ้านเมือง และตัวของ 'ผู้นำ' เอง (ความมืดบอดต่อภยันตรายดังกล่าว) ต่อให้ 'หักโหมทุ่มเท' ลงไปจน 'สุดกำลัง' ก็ไม่อาจปรากฏผลเป็น 'ความคืบหน้า' ใดๆ


 

The Organization Code :



'ความแน่วแน่มั่นคง' คือ 'การบริหารงาน' อย่าง 'สุขุมเยือกเย็น' (☷) แม้จะมี 'ปณิธาน' ที่ 'ยิ่งใหญ่กึกก้อง' (☳) ปานใดก็ตาม เป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ที่สะท้อนความหมายของการใช้ 'มาตรการ' ด้าน 'การบริหาร' กำกับ 'ทิศทาง' และ 'การดำเนินงาน' ด้าน 'การตลาด' ... เพื่อกำกับดูแลมิให้ 'การปฏิบัติงาน' ดำเนินไปด้วย 'ความประมาท' อันเนื่องมาจาก 'ความคาดหวัง' อย่าง 'เลิศลอย'

'การพัฒนา' ที่จะปรากฏผลเป็น 'ความก้าวหน้า' นั้น ไม่ว่าจะ 'รุกคืบ' หรือ 'ถอยคืน' ล้วนมิอาจ 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความรีบร้อนลุกลน' ... การพิจารณาด้าน 'ข่าวสารข้อมูล' ต้อง 'รู้จักแยกแยะหนักเบา' ตาม 'ความเป็นจริง' ... มิใช่เอาแต่ 'หลงไหลได้ปลื้ม' อยู่กับเพียง 'การตอบรับ' โดย 'ไม่ใส่ใจ' ใน 'อุปสรรค' ที่ 'กีดขวาง' ... 'ไม่ลำพอง' เมื่อได้รับ 'การสนับสนุน', 'ไม่หุนหัน' เมื่อได้รับ 'การตอบโต้' ... 'การดำเนินงาน' จะต้องมี 'ความรอบคอบรัดกุม' อย่าง 'คงเส้นคงวา'  จึงจะสามารถ 'บรรลุเป้าหมาย' ที่กำหนดไว้ในที่สุด

  •  
  • 'การปรับเปลี่ยนท่าที' หรือ 'การปรับเปลี่ยนยุทธวิธี' เพื่อจะไม่ถลำไปใน 'ทิศทางเดิม' ที่ 'ไม่เหมาะสม' ย่อมมิใช่ 'การบั่นทอน' 'ความน่าเชื่อถือ' ของตนเองแต่ประการใด ... 'ความเป็นตัวของตัวเอง' อย่าง 'สร้างสรรค์' ย่อมมิใช่ 'ความดื้อด้าน' อย่าง 'ดักดาน' ใน 'แนวทางของตน' จนไม่ใยดีต่อ 'กาละ-เทศะ' ของแต่ละสถานการณ์ ... 'การยึดติด' อยู่กับ 'ภาพลักษณ์' ใดๆ ที่มีผู้ 'ยัดเยียดให้' นั้นต่างหากคือ 'ความไม่สร้างสรรค์' ที่จะ 'บ่อนทำลาย' 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ลงไป ... 'ผู้ที่เข้าใจในตน' ย่อม 'เข้าใจในสถานการณ์' ที่ 'เหมาะสม' แห่งตน และจะสามารถ 'ปรับเปลี่ยนตนเอง' ได้ 'อย่างสร้างสรรค์' จน 'ประสบความสำเร็จ' ได้เสมอ
  •  
  • 'ความแน่วแน่มั่นคง' ต้องประกอบด้วย 'ความมีสติ' ด้วยเท่านั้น จึงจะนำไปสู่ 'ความเจริญ'
  •  
  • 'การตัดสินใจ' ที่ 'เด็ดเดี่ยวรัดกุม' จะต้องประสานด้วย 'การปฏิบัติงาน' ที่มี 'ความเข้มงวด' และมี 'ความเอาจริงเอาจัง' อย่าง 'ต่อเนื่อง' จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' อย่าง 'พอเหมาะพอสม' แก่ 'สถานการณ์' ต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'แนวทางการปฏิบัติงาน' โดย 'ไม่วอกแวกโลเล' เพราะ 'การสนับสนุน' หรือ 'การต่อต้าน' และ 'ไม่เตลิดเปิดเปิง' ออก 'นอกลู่นอกทาง' เพียงเพราะ 'ความฉาบฉวย' ของ 'โอกาส' ที่มิได้สนอง 'เจตนารมณ์ที่แท้จริง' ของ 'การดำเนินงาน'
  •  
  • ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนด้วย 'ความแน่วแน่มั่นคง' อย่าง 'จริงใจ' ย่อม 'ไม่ผิดหวัง' และ 'ไม่เสียใจ' ต่อ 'ผลลัพธ์ที่ปรากฏ' เนื่องเพราะมิได้กระทำสิ่งใดที่ 'ผิดต่อตนเอง', หรือ 'บกพร่องต่อหน้าที่' แต่ประการใด ... จึงมี 'ความหนักแน่น' พอที่จะ 'ยอมรับ' ผลพวงทุกประการไว้เป็น 'บทเรียน' เสมอ
  •  
  • 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'มืดบอด' คือ 'ความดักดาน' ที่ 'ดื้อด้าน' อันจะนำไปสู่ 'ความล่มจมฉิบหาย' ทั้งต่อ 'ตนเอง' และต่อ 'องค์กร' ที่ 'ร่วมรับผิดชอบ' เสมอ ... 'การทุ่มเทกำลัง' ในสถานการณ์ที่ 'สุ่มเสี่ยงอย่างร้ายแรง' มักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ 'เสียหายยับเยิน' ... หรือต่อให้ 'หักโหม' ลงไปจน 'หมดสิ้นกำลัง' ก็ไม่อาจก่อให้เกิด 'ผลลัพธ์' ที่นับเป็น 'ความคืบหน้า' ใดๆ ... แต่กลับจะเป็น 'การบั่นทอน' ตนเองให้ 'อ่อนแรง' จนไม่สามารถ 'กระทำการ' ใดๆ ได้ 'อย่างราบรื่น' ในโอกาสต่อๆ ไป


'ภาพสัญลักษณ์' ที่เห็นการใช้ 'การบริหารจัดการ' (☷) นำ 'การตลาด' (☳) นี้ ได้สะท้อนให้เห็นความหมายของการใช้ 'ความสงบ' (☷) สยบ 'ความเคลื่อนไหว' (☳) อย่างชัดเจนมาก เนื่องเพราะ 'กิจกรรมด้านการตลาด' (☳) เกือบทั้งหมดนั้น ต้องถือว่าเป็นกิจกรรมที่มี 'ความโฉ่งฉ่าง' หรือ 'ความอึกทึก' มากที่สุดในบรรดา Primary Code ทั้งแปดของ The Organization Code ในขณะที่ 'การบริหารจัดการ' (☷) นั้นคือ 'ความสงบนิ่ง' อันเป็น 'รากฐาน' ที่ 'สนับสนุน' การปฏิบัติงาน 'ทั่วทั้งระบบ' ... การนำ 'กฎระเบียบ' (☷) มาครอบ 'กิจกรรมที่เคลื่อนไหว' (☳) เอาไว้ จึงสะท้อนภาพของ 'การกำกับทิศทาง' ให้ 'มุ่งไปในแนวทางเดียวกัน' ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของ 復 (fù, ฟู่) และ Resolve อย่างลงตัวพอดี

'ความน่าเร้าใจ' ของ 'กิจกรรมทางการตลาด' นั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถ 'ดึงดูดความสนใจ' ของผู้คนได้เป็นอย่างดี แต่การทำอะไร 'โฉ่งฉ่าง' จนเกิน 'ความพอดี' ออกไปนั้น มักจะกลายเป็น 'เงื่อนไขผูกมัด' ที่ยากจะ 'กลับตัว' หรือ 'ปรับปรุงแก้ไข' ใดๆ ได้อย่าง 'สะดวกราบรื่น' ในอนาคต ... ดังนั้น 'ข้อแนะนำ' ทั้งหมดในบทนี้ จึงมุ่งไปที่ 'ความระมัดระวัง' และ 'ความมีระบบระเบียบ' ที่ 'เข้มงวดรัดกุม' เพื่อ 'กำกับดูแล' มิให้มุ่งเน้นการสร้าง 'กิจกรรมทางการตลาด' ที่เป็น 'ค่าใช้จ่าย' อย่าง 'เกินตัว' โดยเฉพาะใน 'สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง' ซึ่งอาจจะ 'ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง' ต่อ 'อนาคต' ของ 'องค์กร' ได้

อนึ่ง ... หากมองในความหมายที่เป็น 'การพลิกกลับ' ของ 復 (fù, ฟู่) แล้ว เมื่อบทที่ยี่สิบสามคือ 剝 (bō, ปอ) ที่ใช้สัญลักษณ์ ䷖ ย่อมหมายถึงการใช้ 'กฎระเบียบ' (☷) สนับสนุน 'ข้อเท็จจริง' (☶) ซึ่งแปลงเป็นความหมายว่า 'การกระจายความรับผิดชอบ' ... สัญลักษณ์ ䷗ ของบทที่ยี่สิบสี่ย่อมหมายถึง 'การรวมเป็นหนึ่งเดียว' ของ 'กิจกรรมที่เคลื่อนไหว' (☳) ทั้งหลายภายใต้ 'กฎระเบียบ' (☷) ร่วมกัน ... ซึ่งแม้ว่าจะมี 'การตีความ' ตัวอักษรต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากคำแปลตามพจนานุกรมอยู่บ้าง แต่ความหมายโดยรวมก็น่าจะเป็นไปตาม 'เจตนารมณ์ที่แท้จริง' ซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังถ้อยคำต่างๆ ดังที่เล่ารายละเอียดไว้ในบทนี้แล้ว ... ;)

ถ้าเรียงตาม 'ลำดับอนุกรมของ Fu Xi' แล้ว บทที่ยี่สิบสี่นี้น่าจะหมายถึง 'การเริ่มต้น' โดยเราจะเห็น 'พลังหยาง' เริ่มก่อตัวขึ้นมาจาก 'ขีดล่างสุด' แต่ตาม 'ลำดับอนุกรมของ King Wen' กลับกลายเป็นว่า 'การก่อตัว' หรือ 屯 (zhūn, จุน) คือบทที่สาม (䷂) ไปซะได้ ??!! ... ซึ่งก็ยังไม่มีใครเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของ King Wen อยู่ดีว่าทำไมจึงเลือก 'อนุกรม' อย่างนั้น ??!!?? ... แต่หาก 'ตีความ' ตาม Primary Code ของ The Organization Code แล้ว บทที่สาม (䷂) จะสะท้อนถึง 'การสรรหาบุคลากร' (☵) ให้เหมาะกับ 'กิจกรรม' (☳) ที่รองรับ ในขณะที่บทที่ยี่สิบสี่จะสะท้อนถึง 'ภาระกิจที่ต้องทำ' หลังจากที่มี 'การกระจายความรับผิดชอบ' ให้ 'บุคลากร' ไปเรียบร้อยแล้ว ... ;) ...

แล้วถ้าเราดูวลีของ 'จิวกง' ในวรรคที่ห้าของบทที่สาม ซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์เดียวเท่านั้นที่แตกต่างกันกับในบทนี้ เราก็จะเห็นถ้อยคำที่เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกันว่า 屯其膏小貞吉大貞凶 (zhūn qí gāo xiǎo zhēn jí dà zhēn xiōng, จุน ชี๋ เกา เสี่ยว เจิน จี๋ ต้า เจิน เซฺวิง) ซึ่งหมายถึง 'ในการเริ่มต้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ควรจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป (屯其膏 เหมือนการชะโลมด้วยน้ำมันเพื่อหล่อลื่น) โดยค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวเล็กๆ อย่างมั่นคง (小貞吉) จะคิดจะทำอะไรก็ให้มีจังหวะจะโคนที่เหมาะสม มีขั้นตอนที่ถูกต้องชัดเจน ไม่ควรประมาทผลีผลามรีบร้อนด้วยการเล็งผลสำเร็จที่สวยหรูในระยะเวลาเพียงสั้นๆ (大貞) จนก่อให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรง (凶) ได้' ... เหมือน 'จงใจ' ให้ส่งทอดความหมายถึงกันยังไงก็ไม่รู้นะครับเนี่ย ??!!?? ... ;)