Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :
 

第四十七卦 : 困

困 : 澤水困 ‧ 兌上坎下

困 : 亨‧貞‧大人吉‧無咎‧有言不信‧

  • 初六 : 臀困于株木‧入于幽谷‧三歲不見‧
  • 九二 : 困于酒食‧朱紱方來‧利用享祀‧征凶‧無咎‧
  • 六三 : 困于石‧據于蒺藜‧入于其宮‧不見其妻‧凶‧
  • 九四 : 來徐徐‧困于金車‧吝‧有終‧
  • 九五 : 劓刖‧困于赤紱‧乃徐有說‧利用祭祀‧
  • 上六 : 困于葛藟‧于臲卼‧曰動悔‧有悔‧征吉‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา และอารมณ์ มีความหนักแน่นตื่นตัว (⚎) ประพฤติปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นอย่างอ่อนโยน (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ขวัญและกำลังใจของบุคลากร (☵) คือรากฐานสำคัญของการบรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่น (☱)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความเพียรลำบากตรากตรำ, ตาน้ำเบื้องใต้ทะเลสาบ
 



ความหมายของชื่อเรียก : Perservering : เพียรลำบากตรากตรำ



อักษร 困 (kùn, คุ่น) มีความหมายที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปว่า 'อุปสรรค' หรือ 'ลำบากลำบน' แต่ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ของมันจะประกอบด้วย 木 (mù, มู่) ซึ่งหมายถึง 'ต้นไม้' ถูกล้อมกรอบด้วย 'กำแพงทั้งสี่ด้าน' ที่แทนด้วย 'ภาพอักษร' 囗 (wéi, เว๋ย) มันจึงสะท้อนลักษณะของ 'สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต' หรือถ้าจะมองว่าเป็นภาพของ 'เรือนร้างที่รกรุงรังไปด้วยวัชพืช' ความหมายของ 困 (kùn, คุ่น) ก็จะคล้ายกับ 'ไม่ได้รับการเหลียวแล' หรือ 'ถูกทอดทิ้งให้อยู่ท่ามกลางปัญหา' โดยทั้งหมดนั้นก็จะแผลงมาเป็นความหมายอีกหลากหลายแง่มุมของ 'ความยากลำบาก' เช่น 'ยากจนข้นแค้น', 'วังวนแห่งปัญหา', 'หนทางที่ตีบตันไร้ทางออก', 'ความคับแค้นใจ', ตลอดจน 'ความเหนื่อยอ่อน', หรือ 'หมดเรี่ยวหมดแรง' ... แล้วบางตำราก็ไปเด็ดเอา 'ความหมดเรี่ยวหมดแรง' นี่แหละมาเป็นคำแปลให้กับ 'ชื่อบท' นี้ว่า Exhausting ... ซึ่งผมไม่ค่อยจะชอบใจมันซักเท่าไหร่ !!?? ... :D

ว่ากันตามตรงก็คือ เราแทบจะหา 'คำแปลที่ดูดี' สำหรับ 'ความยากลำบาก' ไม่ค่อยจะได้หรอกครับ แต่ผมก็คิดถึงคำว่า 'ความเพียร' ที่ผมรู้สึกประทับใจอย่างมากจากคำว่า Perserverance ที่ปรากฏอยู่บนเหรียญ 'พระมหาชนก' และคิดว่าคำแปลภาษาไทยที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับกรณีนี้ของ 困 (kùn, คุ่น) ก็คือ 'เพียรลำบากตรากตรำ' หรือ Persevering เท่านั้น ... เหตุผลน่ะเหรอ ?!? ... เพราะบทที่สี่สิบเจ็ดจะต้องสะท้อนความหมายที่สอดคล้องกับวรรคที่สามของบทที่สองตาม 'วัฏจักรของหยิน' นั่นแหละครับ ... 'ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องแรก (含章) แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ (可貞) เหมือนดังเช่น (或) ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย (從王事) ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น (無成有終)' ... ความหมายก็คือ 'แม้นว่าจะยังมองไม่เห็นความสำเร็จใดๆ ในเบื้องหน้า แต่ก็มิใช่เหตุผลที่จะย่อท้อจนละทิ้งความเพียรในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ต่อไป ด้วยเหตุว่าผู้ที่ละความเพียรย่อมไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จใดๆ ได้เลยในชีวิต แต่ผู้ที่ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มกำลังสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีสิ่งใดให้ต้องละอายแก่ใจของตน แม้นว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังก็ตาม' ...

หากเราพิจารณาถึง 'ความต่อเนื่อง' ใน 'วัฏจักรแห่งหยิน' รอบนี้ที่เริ่มต้นจาก 'การหล่อหลอมเพื่อความเป็นเอกภาพ' (萃) ในบทที่สี่สิบห้า ที่พัฒนาไปสู่กระบวนการ 'ยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น' (昇) ในบทที่สี่สิบหก ซึ่ง 'จิวกง' ลงท้ายด้วยวลีว่า 利于不息之貞 (lì yǘ bù xī zhī zhēn. ลี่ ยฺวี๋ ปู้ ซี จือ เจิน) ในวรรคที่หก หรือ 'ความสำเร็จย่อมก่อเกิดจากความไม่ย่อหย่อนลดละในสิ่งที่พึงปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างหมดหัวใจ' การที่บทที่สี่สิบเจ็ดซึ่งเป็นบทต่อมาจะถูกขยายความให้ออกมาเป็น 'แม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบากเพียงใด ก็สู้อุตส่าห์ตรากตรำดำเนินต่อไปด้วยความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ' (Persevering) ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ... ถูกมั้ย ?! ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨貞大人吉無咎有言不信
hēng zhēn dà rén jí wú jiù yǒu yán bù xìn
เฮิง เจิน ต้า เญิ๋น จี๋ อู๋ จิ้ว โหฺย่ว เอี๋ยน ปู้ ซิ่น



มีแต่คำที่เล่าผ่านมาแล้วทั้งนั้นเลยครับ เพราะฉะนั้นก็แปลมันดื้อๆ เลยแล้วกัน ... King Wen ให้ความหมายแก่ 困 (kùn, คุ่น) หรือ 'เพียรลำบากตรากตรำ' เอาไว้ว่า 'การพัฒนา (亨) โดยธรรม (貞) นั้น ปราชญ์ (大人 หรือผู้นำ) ย่อมมุ่งปฏิบัติเพื่อผลสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) โดยไม่เสียเวลาไปกับการค่อนขอดตัดพ้อ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือโชคชะตา (無咎) และแม้จะมีถ้อยคำที่ร่ำลือไปต่างๆ นาๆ (有言) ก็จะต้องไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปอย่างไร้สติ (不信)' ...

ผมอยากให้สังเกตด้วยว่า 言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) นั้นเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ ว่า 'คำพูด' … ซึ่งจริงๆ แล้ว 'คำพูด' นั้นก็จะมีหลายลักษณะด้วยกัน เพราะมันอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', 'การให้เหตุผล' ; แล้วก็รวมไปถึง 'ข่าวลือ' หรือ 'เรื่องซุบซิบนินทา' ตลอดจน 'คำยกยอปอปั้น' ทั้งหลายด้วย ... ซึ่งจากความหมายที่เห็นในวรรคนี้ บางคนก็อาจจะย้อนนึกไปถึงวลี 無咎無譽 (wú jiù wú yǜ, อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในวรรคที่สี่ของบทที่สองว่า ... 'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภาระกิจ และมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด (括囊) … ไม่ไยดีต่อ (คือไม่สะสม) คำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ (無咎) ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อ (คือไม่สะสม) คำยกย่องสรรเสริญ หรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ (無譽) ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์' ... แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอะไร เพราะบทที่สี่สิบเจ็ดคือภาพสะท้อนของวรรคที่สามในบทที่สองอย่างที่บอกไปแล้ว การที่มีบางส่วนของความหมายไปพาดพิงถึงวรรคที่สี่ในบทเดียวกันก็น่าจะเป็นไปได้ ในเมื่อวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ของแต่ละบทจะต้องเป็น 'คู่วลีกัน' เสมอ

อนึ่ง 'คุณธรรม' ประการหนึ่งของ 'ผู้นำ' ก็คือ 'ความรับผิดชอบต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย' ซึ่ง 'ผู้นำ' ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกปัดเรื่องหนึ่งเรื่องใดว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตนเหมือนกับ 'ชนชั้นสามัญ' หรือ 'ผู้ปฏิบัติงาน' อื่นๆ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม 'ผู้นำ' จะต้องเป็น 'ผู้รับผิดชอบ' ใน 'ภาพรวมทั้งหมด' ของภาระกิจหนึ่งๆ อยู่แล้ว ... 'ผู้นำ' (大人) ซึ่งมุ่งหวัง 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' (吉) อันเป็น 'ความพัฒนาก้าวหน้า' (亨) ของ 'สังคมโดยรวม' นั้น จะต้องมี 'ความหนักแน่นในหลักการ' (貞) โดยไม่ทำตัวหยุมหยิมด้วยการติโน่นโทษนี้ (無咎) ราวกับไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ และจะต้องไม่มี 'ความหวั่นไหว' ต่อ 'การยุยงส่งเสริม' หรือ 'ถ้อยคำตำหนิทักท้วง' ใดๆ อย่างไร้เหตุผล ... ฟังแล้วเหมือนไม่น่าจะมีอะไรที่มัน 'ลำบากยากเย็น' (困) เลยนะ ... ว่ามั้ย ?! ... แต่ก็เรื่องของ 'การเก็บความรู้สึก' นี่แหละที่ถึงกับทำให้ 'ผู้นำ' หลายคนต้องพังพินาศมานักต่อนักแล้ว ... :D

มาถึงตรงนี้ผมก็อยากจะชวนดู 'สัญลักษณ์ประจำบท' กันซักหน่อยแล้วล่ะ 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้ก็คือ ䷮ (困 : kùn, คุ่น) ซึ่งประกอบด้วย ☵ (坎 : kǎn, ขั่น) หรือ 'แอ่งน้ำ' ที่มักจะหมายถึง 'อุปสรรค' อยู่ตรงด้านล่าง และมี ☱ (兌 : duì, ตุ้ย) หรือ 'ทะเลสาบ' อันหมายถึง 'ความเบิกบาน' หรือ 'ความมีชีวิตชีวา' อยู่ด้านบน ... หลายคนอาจจะคิดถึงสำนวนไทยที่ว่า 'หน้าชื่นอกตรม' ขึ้นมาตะหงิดๆ ซึ่งกระเดียดไปในลักษณะของ 'การเสแสร้งเพื่อกลบเกลื่อน' ซะมากกว่า ... แต่ผมคิดว่าความหมายที่ King Wen ต้องการจะสื่อผ่าน 'ภาพสัญลักษณ์' และ 'ชื่อเรียก' ในคราวนี้ก็คือ 'จงอย่าท้อแท้สิ้นหวังอย่างหมดอาลัยตายอยากต่อปัญหาที่รุมเร้า (☵) อยู่ภายในจิตใจของตน แต่จงพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อย่างมีชีวิตชีวา (☱) เพื่อฟันฝ่าต่อไปอย่างเต็มกำลังสติปัญญา ไม่ว่าอุปสรรคและปัญหานั้นๆ จะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหนก็ตาม' ... นี่แหละ Persevering ล่ะ !! ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

臀困于株木入于幽谷三歲不見
tún kùn yǘ zhū mù rù yǘ yōu gǔ sān suì bù jiàn
ทุ๋น คุ่น ยฺวี๋ จู มู่ ญู่ ยฺวี๋ โยว กู่ ซัน ซุ่ย ปู้ เซี่ยน



臀 อ่านว่า tún (ทุ๋น) คำนี้แปลว่า 'บั้นท้าย', หรือ 'ก้น' ซึ่งบางครั้งก็หมายถึง 'ก้นบึ้ง', หรือ 'ส่วนที่อยู่ลึกที่สุด', 'ส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด' ได้ด้วยเหมือนกัน

于 (yǘ, ยฺวี๋) เป็นคำที่เจอมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีบทไหนที่จะมีคำนี้ปรากฏอยู่ในทุกๆ วรรค เพราะฉะนั้นจึงขอเล่าซ้ำอีกครั้งเพื่อให้อ้างอิงได้ง่ายๆ ดีกว่า ... 于 (yǘ, ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

株 อ่านว่า zhū (จู) หมายถึง 'กิ่งก้านของต้นไม้', 'รากไม้', บางทีก็จะหมายถึง 'ตาไม้' ซึ่งเป็นจุดของการแตกกิ่งก้านสาขาหรือรากของต้นไม้ ; แต่ก็มีบางครั้งที่จะแปลว่า 'ต้นไม้ใบหญ้า' ทั่วๆ ไปเลยก็ได้

入 อ่านว่า rù (ญู่) แปลว่า 'เข้า', 'เข้าไป', 'ลึกเข้าไป', หรือ 'เข้าร่วม', ซึ่งมีนัยของการ 'ยอมรับ', หรือ 'เห็นด้วย' ; แปลว่า 'รับ', หรือ 'รายรับ' ก็ได้

幽 อ่านว่า yōu (อฺยิว หรือ โยว) แปลว่า 'ปกปิด', 'ซ่อนเร้น', 'ไม่แสดงตัว', 'เงียบสงบ', 'ร่มเย็น', 'ไม่ถูกรบกวน', 'วิเวก', 'วังเวง', 'ลึกลับ', หรือ 'สันโดษ', 'โดดเดี่ยว', จึงมีบางกรณีที่หมายถึง 'การจับกุมคุมขัง' ได้ด้วย

谷 อ่านว่า gǔ (กู่) แปลว่า 'บริเวณที่ราบลุ่ม', 'บริเวณที่เป็นหุบห้วย', 'บริเวณธารน้ำกลางหุบเขา', หรือ 'ช่องเขา', 'ซอกเขา' ; ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'ผลผลิตทางการเกษตร' ประเภท 'ธัญญพืช' เช่น ข้าว, ข้าวโพด, ฯ

歲 อ่านว่า suì (ซุ่ย) ปรกติจะแปลว่า 'ขวบ', 'ปี' แต่ก็สามารถใช้ในความหมายว่า 'ช่วงเวลา', 'ยุคสมัย' ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 'หนึ่งปี' ได้เหมือนกัน ; ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถแปลว่า 'ฤดูกาล', หรือ 'การเพาะปลูก' ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมประจำปีของเกษตรกรโดยทั่วไป หรืออาจจะหมายถึง 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' ก็ได้

見 ถ้าออกเสียงว่า jiàn (เจี้ยน) จะหมายถึง 'มอง', 'มองเห็น', 'จ้อง', หรือว่า 'พบ' ; แต่ถ้าออกเสียงเป็น xiàn (เซี่ยน) จะมีความหมายเหมือนกับ 現 (xiàn, เซี่ยน) คือ 'ปรากฏให้เห็น', 'ผลลัพธ์ที่ปรากฏ', หรือ 'ที่มีไว้ในครอบครอง' ... ซึ่งในกรณีของวลีนี้ ผมคิดว่า 'จิวกง' คงจะตั้งใจให้ออกเสียงเป็น xiàn (เซี่ยน) มากกว่า ?! ... :P

อย่างที่เล่าไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ความหมายโดยปรกติของ 困 (kùn, คุ่น) ก็คือ 'อุปสรรค', 'ปัญหา', หรือ 'ความยากลำบาก' เพียงแต่ผมปรับเปลี่ยนให้เป็น 'เพียรลำบากตรากตรำ' ตามความหมายในวลีขยายความของ King Wen ที่กำกับไว้ว่า 'ปราชญ์ย่อมดำเนินการโดยธรรมเพื่อมุ่งผลสำเร็จ โดยไม่เสียเวลาไปกับการค่อนขอดตัดพ้อ หรือหลงไหลได้ปลื้มกับถ้อยคำอันเหลวไหล' เท่านั้นเอง ... ซึ่งหากเราย้อนกลับไปใช้ความหมายตามปรกติของมัน วลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ก็จะเป็นการขยายความให้กับถ้อยคำของ King Wen อีกชั้นหนึ่งว่า 'พึงเก็บงำความยากลำบากให้ลึกสุดหยั่ง (臀困) ประดุจดั่ง (于) รากไม้ (株木) ที่แฝงฝังเข้าไป (入于) ในซอกเขาหุบห้วยอย่างสงบ (幽谷) แม้ผ่านพ้นวันเวลาอันเนิ่นนาน (三歲) ก็มิเคยปรากฏให้ผู้ใดได้พบเห็น (不見)' ... ซึ่งก็คือการขยายความให้กับคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในวลีของ King Wen ที่ผมให้ความหมายไว้ว่า 'ไม่ค่อนขอดตัดพ้อ' นั่นเอง !!??

มีหลายตำราที่อธิบายวลีนี้ของ 'จิวกง' ไปในลักษณะที่ว่า 'นั่งหมดอาลัยตายอยาก (臀困) อยู่บน (于) รากไม้ (株木) ดำดิ่งสู่ (入于) ความวิเวกวังเวงของความคิดอันมืดมิด (幽谷) ซุกหัวซ่อนหางไปนานสามปี (三歲) โดยไม่พบปะกับใคร (不見)' ... ซึ่งถ้าจะ 'ตีความ' ว่า นี่คือ 'อาการหมกมุ่นอยู่กับปัญหา' ราวกับ 'เป็นรากไม้ที่ซุกซ่อนตัวอย่างไร้ค่าอยู่ใต้ดิน' ก็คงจะพอไหว ... แต่ ... ผมก็ยังรู้สึกขัดๆ กับความหมายแบบนั้นอยู่ดี เพราะแม้ว่า 'รากไม้' จะไม่มีความโดดเด่นสวยงาม หรือแทบจะไม่ได้ให้คุณประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของต้นไม้ที่ปรากฏต่อสายตาของผู้คน แต่ 'รากไม้' ก็คือส่วนที่ทำหน้าที่เสาะหาอาหารมาหล่อเลี้ยงส่วนอื่นๆ ของต้นไม้ทั้งต้นตลอดเวลา การให้ความหมายในลักษณะที่ว่า นี่คือพฤติกรรมที่ 'ไร้คุณค่าความหมาย' เหมือนกับพวก 'หลีกเร้นจากสังคม' ด้วย 'ความท้อแท้สิ้นหวัง' จึงออกจะไม่เหมาะสมจนเกินไป ... ว่างั้นมั้ย ?!

ผมมองอย่างนี้ครับว่า ปราชญ์ผู้มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ความเจริญแก่สังคม (大人吉) ย่อมไม่แสดงอาการเหนื่อยหน่ายอ่อนล้า และไม่เสียเวลาไปกับการตัดพ้อด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในความยากลำบากที่ตนต้องประสบ (無咎) ประดุจดั่ง (于) รากไม้ (株木) ที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอุ้มชูลำต้นและกิ่งใบของต้นไม้ทั้งต้นตลอดระยะเวลาหลายปีอย่างสงบ (三歲) แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากอันไม่เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใดเลยก็ตาม (不見) ...

 

สอง หยาง :

困于酒食朱紱方來利用享祀征凶無咎
kùn yǘ jiǔ shí zhū fú fāng lái lì yòng xiǎng sì zhēng xiōng wú jiù
คุ่น ยฺวี๋ จิ่ว ซื๋จู ฟู๋ ฟัง ไล๋ ลี่ โยฺว่ง เสี่ยง ซื่อ เจิง เซฺวิง อู๋ จิ้ว



คำว่า 酒食 (jiǔ shí, จิ่ว ซือ) แปลเป็นไทยอย่างตรงๆ ตัวว่า 'สุรา-อาหาร' บางครั้งจึงสื่อไปในความหมายของ 'งานเลี้ยง', 'งานเฉลิมฉลอง' ที่มักมีสุราอาหารไว้คอยให้บริการแก่ผู้ที่มาร่วมงานทุกๆ คน ; และอาจจะหมายถึง 'ความอุดมสมบูรณ์', 'ความสะดวกสบาย' คือ 'พรั่งพร้อมด้วยสุราอาหาร' โดยไม่ต้องกระเสือกกระสนหรือดิ้นรนใดๆ ก็ยังได้

朱 อ่านว่า zhū (จู) ความหมายโดยทั่วไปก็คือ 'สีแดง' หรือ 'สิ่งใดๆ ที่มีสีแดง'

紱 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'แถบผ้าแพร' ซึ่งสมัยหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 黻 (fú, ฟู๋) ที่หมายถึง 'ผ้าแพรที่ได้รับการปักด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจง' และมักจะใช้เป็นสิ่งบ่งบอกถึงสถานะของข้าราชการระดับสูงในสมัยโบราณด้วย

方 อ่านว่า fāng (ฟัง) คำนี้มีหลายความหมายมาก แต่โดยปรกติจะแปลว่า 'ฝั่ง', 'ฝ่าย', 'ด้าน', บางครั้งก็แปลว่า 'เป็นมุม', 'เป็นเหลี่ยม', จึงมีความหมายว่า 'ตรง' หรือ 'ตรงกันข้าม' และยังสามารถที่จะหมายถึง 'คู่ขนาน' ได้อีกด้วย ; เมื่อใช้ร่วมกับอักษรอื่นเช่น 方法 (fāng fǎ, ฟัง ฝ่า) จะมีความหมายว่า 'วิธีการ' ; หรือเมื่อรวมกับอักษร 便 (biàn, เปี้ยน) เป็น 方便 (fāng biàn, ฟัง เปี้ยน) ก็จะแปลว่า 'สะดวกสบาย' ; ฯลฯ

享 อ่านว่า xiǎng (เสี่ยง) แปลว่า 'เครื่องเซ่น', 'เครื่องสังเวย' ซึ่งก็เลยทำให้สามารถแปลว่า 'การรับเครื่องเซ่นสังเวย', 'การรับเครื่องบรรณาการ'

祀 อ่านว่า  (ซื่อ) แปลว่า 'การบวงสรวง', 'การถวายเครื่องเซ่นสังเวย', 'การมอบเครื่องบรรณาการ', 'การประกอบพิธีสักการะสิงศักดิ์สิทธิ์'

征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

หลายตำราให้ความหมายกับวลีต้นวรรคนี้ว่า 'ทุกข์ทรมาน (困) อยู่ท่ามกลาง (于) สุราอาหาร (酒食)' แล้วก็ ... บลา .. บลา .. บลา ... ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความหมายที่ขุ่นๆ ข้นๆ ยังไงชอบกล ... :P ... เพราะผมดันไปนึกถึงวลีเก่าๆ ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยอยู่แล้วว่า ... 'ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง' ... ซึ่งทำให้วลีต้นวรรคในที่นี้ของ 'จิวกง' คือ 困于酒食 (kùn yǘ jiǔ shí, คุ่น ยฺวี๋ จิ่ว ซื๋อ) น่าจะหมายถึง 'อุปสรรคและปัญหาความยุ่งยากทั้งหลาย (困) ย่อมคล้ายดั่ง (于) สุราอาหาร (酒食) ที่หล่อเลี้ยงความกระชุ่มกระชวยให้แก่การดำเนินชีวิต' ... ฟังดูจะเข้าท่ากว่ามั้ยนะแบบนี้ ?! ... :D

คืองี้ครับ ... การที่ 'จิวกง' เสนอข้อชี้แนะเอาไว้ในวรรคที่หนึ่งว่า ... 'พึงเก็บงำความยากลำบากให้ลึกสุดหยั่ง ประดุจดั่งรากไม้ที่มิเคยแสดงตัวให้ผู้คนได้พบเห็นตราบชั่วกาลนาน' ... นั้น ท่านน่าจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขยายความต่อมาให้ชัดเจนว่า นั่น 'ไม่ใช่การเก็บกด' แต่เป็น 'ความกล้าเผชิญ' กับความทุกข์ยากลำบากด้วย 'ความสมัครใจ' และพิจารณาอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้านั้น เสมือนหนึ่งเป็น 'สิ่งหล่อเลี้ยงสติปัญญา' ของผู้ที่ปรารถนาจะ 'เรียนรู้' และ 'ฝึกปรือ' เพื่อ 'พัฒนาตัวเอง' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ... มันจึงทำให้ความหมายเต็มๆ ของวลีนี้ควรจะหมายถึง ... 'อุปสรรคและปัญหาความยุ่งยากทั้งหลาย (困) ย่อมคล้ายดั่ง (于) สุรา (酒) อาหาร (食) หรือแพรพรรณอันงดงาม (朱紱) ที่ประดับประดาไว้เป็นการต้อนรับ (方來) ความสำเร็จอันรุ่งเรือง (利) ย่อมบังเกิดได้ด้วยอาศัย (用) การอุทิศ (享祀) ทั้งกายใจอย่างทุ่มเท แม้ต้องเผชิญ (征) กับภยันตรายอย่างสาหัส (凶) ก็ไม่แสดงความสิ้นหวังด้วยการตัดพ้อต่อว่า (無咎) ใดๆ' ... โดย 'จิวกง' เลือกที่จะจบวลีนี้ด้วยคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) เหมือนกับจะบอกว่า ... นี่แหละคือความหมายของ 'การไม่ปริปากบ่น' ของ 'ปราชญ์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อผลสำเร็จอันรุ่งเรือง' (大人吉) ที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ในบทนี้ !! ... ;)

 

สาม หยิน :

困于石據于蒺藜入于其宮不見其妻凶
kùn yǘ shí jǜ yǘ jí lí rù yǘ qí gōng bù jiàn qí qī xiōng
คุ่น ยฺวี๋ ซื๋อ จฺวี้ ยฺวี๋ จี๋ ลี่ ญู่ ยฺวี๋ ชี๋ กง ปู้ เจี้ยน ชี๋ ชี เซฺวิง



石 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ความหมายโดยทั่วไปก็คือ 'ก้อนหิน' ซึ่งก็ทำให้มันมีความหมายในลักษณะของ 'ความแข็ง', 'ความแกร่ง' ดุจดั่ง 'หินผา' หรือ 'ภูเขา' และเพี้ยนความหมายไปเป็น 碩 (shí, ซื๋อ) หรือ shuò (ษั้ว) ที่แปลว่า 'ยิ่งใหญ่' ได้อีกความหมายหนึ่ง

據 อ่านว่า jǜ (จวี้) แปลว่า 'จับจอง', 'ถือครอง', 'ถือกรรมสิทธิ์' หรือ 'ลงหลักปักฐาน' ; สามารถแปลว่า 'พึ่งพิง', 'อ้างอิงกับ', 'ขึ้นอยู่กับ' ก็ได้ ; หากใช้เป็นคำนามก็จะหมายถึง 'หลักฐาน', หรือ 'การยืนยันรับรอง' ได้ด้วย

蒺藜 อ่านว่า jí lí (จี๋ ลี๋) เป็นชื่อเรียกของพืชคลุมดินชนิดหนึ่ง มีดอกสีเหลือง ผลมีหนามแหลม สามารถนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพร ; แต่บางครั้งก็ใช้เรียกวัตถุสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายพืชคลุมดินประเภทนี้ อย่างเช่นคำว่า 鐵蒺藜 (tiě jí lí, เถี่ย จี๋ ลี๋) ก็เป็นคำที่ใช้เรียกอาวุธสงครามชนิดหนึ่งซึ่งประกอบขึ้นมาจากโลหะ (鐵) ในสมัยโบราณ

宮 อ่านว่า gōng (กง) ความจริงคือ 'ที่อยู่อาศัย', 'บ้าน', หรือ 'ห้อง' แต่มักจะใช้กับพระราชา หรือเทพเจ้า จึงมักจะแปลกันว่า 'พระราชวัง', 'พระราชฐาน', 'วิมาน', รวมทั้ง 'วัด' หรือ 'อาราม' ด้วย ; และเมื่อเกี่ยวข้องกับ 'พระราชวัง' บางครั้งก็เลยใช้ในความหมายว่า 'พระราชา', 'รัชทายาท' หรือไม่ก็ใช้ในความหมายของ 'ข้าราชบริพาร' หรือ 'ขุนนาง' ได้เหมือนกัน

妻 อ่านว่า qī (ชี) ความหมายโดยทั่วไปก็คือ 'ภรรยา' โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็น 'ภรรยาหลวง' หรือ 'ภรรยาที่เข้าพิธีวิวาห์อย่างถูกต้อง'

นี่เป็นอีกวรรคหนึ่งของ 'จิวกง' ที่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการ 'ตีความ' เนื่องจากมีการใช้ 'สื่อสัญลักษณ์' ที่ไขว้ไปไขว้มาจากหลายวรรคในบทเดียวกัน ... และเราคงต้องย้อนพิจารณาลำดับของความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการสื่อมาตั้งแต่วรรคแรก ... สาระสำคัญโดยรวมของถ้อยคำในวรรคแรกก็คือ 'ความอดกลั้น' ... พอมาถึงวรรคที่สอง 'จิวกง' ก็เปลี่ยนมาเน้นที่ 'ความกล้าหาญ' หรือ 'ความกล้าเผชิญ' อย่างไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยให้พิจารณาว่า ความยุ่งยากลำบากที่รุมเร้าเข้ามานั้น ย่อมเปรียบได้ดั่ง 'ทิพยบรรณาการ' ที่จะช่วย 'หล่อเลี้ยง' และ 'หล่อหลอม' บุคคลหนึ่งๆ ให้สามารถพัฒนา 'ความแกร่งกล้าเกรียงไกร' อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่รุ่งเรืองได้ในที่สุด ... ทีนี้ ... อะไรล่ะที่อัจฉริยะบุคคลอย่าง 'จิวกง' จะไม่มีทางละเลยไปอย่างเด็ดขาด ?!! ... ผมคิดว่ามันต้องเป็น 'ความอ่อนน้อมถ่อมตัว' อย่างแน่นอนครับ !!! ... ;)

ความหมายของวรรคนี้ที่น่าจะใกล้เคียงกับความตั้งใจเดิมของ 'จิวกง' มากที่สุดจึงควรจะมีใจความว่า ... 'การเผชิญกับอุปสรรคและปัญหา (困) ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว (于石 ราวกับศิลา) และแสดงออก (據 คือปกคลุม) ด้วย (于) พฤติกรรมที่แหลมคมราวกับพงหนาม (蒺藜) แม้จะสามารถบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ดุจปราสาทราชวัง (入于其宮) หากมิอาจพบพาน (不見) ผู้จะร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างแท้จริง (其妻) ก็ยังนับเป็นความสูญเสียอย่างร้ายแรง (凶)' ... โดยคำว่า 妻 (qī, ชี) ซึ่งมีความหมายตามปรกติว่า 'ภรรยา' นั้น ได้แฝงความหมายไว้ 2 นัยด้วยกัน นัยหนึ่งก็คือ 'ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข' อย่างที่ผมเลือกมาใช้ใน 'การตีความ' ให้กับวลีข้างต้น เพื่อให้มีความหมายที่ครอบคลุมไปถึง 'มิตรสหาย' และ 'ผู้ร่วมอุดมการ' ทั้งหลายซึ่งนอกเหนือไปจาก 'คู่ชีวิต' ของใครคนใดคนหนึ่งอย่างเจาะจง ... ด้วยเหตุที่ว่า ... ไม่มีผลสำเร็จใดที่สามารถบรรลุได้เพียงลำพังของผู้หนึ่งผู้ใด ไม่เว้นแม้แต่หน่วยสังคมที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัวที่ความสำเร็จกึ่งหนึ่งย่อมเพราะมี 'ภรรยา' เป็น 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' คอยให้ 'การสนับสนุน' ... ความลำบากตรากตรำใดๆ ย่อมหมดสิ้นความหมาย หากปราศจากผู้จะร่วมยินดีในผลสำเร็จ ...

สำหรับอีกนัยหนึ่งของคำว่า 妻 (qī, ชี) ในวลีนี้ก็คือ ความเป็น 'เพศหยิน' (陰) ซึ่งสะท้อนถึง 'ความอบอุ่นอ่อนโยน' หรือ 'ความนุ่มนวล' โดย 'จิวกง' ตั้งใจให้เป็น 'คู่ตรงข้าม' กับคำว่า 石 (shí, ซื๋อ) และ 蒺藜 (jí lí, จี๋ ลี๋) อันหมายถึง 'ความแข็งกร้าว' และ 'ความกระด้างแหลมคม' ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของ 'เพศหยาง' (陽) นั่นเอง ... และเมื่อเราพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ ความหมายของวลีที่ว่า 入于其宮‧不見其妻 (rù yǘ qí gōng bù jiàn qí qī, ญู่ ยฺวี๋ ชี๋ กง ปู้ เจี้ยน ชี๋ ชี) ก็อาจจะอธิบายให้หมายถึง ... 'แม้ลึกเข้าไปภายในเรือนใจ (入于其宮) ยังมิอาจพานพบความอบอุ่นอ่อนโยน (不見其妻)' ... อีแบบนี้ 'จิวกง' ท่านฟันธงว่า 'ฉิบหาย' (凶) แน่นอนครับ !!! ... :D ... แล้วผมก็ไม่ได้มั่วความหมายแบบนี้ขึ้นมาเองด้วย เพราะวรรคที่สี่ของ 'จิวกง' ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้ ท่านได้สะท้อนความหมายของ 'ความอบอุ่นอ่อนโยน' ไว้อย่างตรงๆ ตัวพอดี ... ;)

 

สี่ หยาง :

來徐徐困于金車吝有終
lái xǘ xǘ kùn yǘ jīn chē lìn yǒu zhōng
ไล๋ ซฺวี๋ ซฺวี๋ คุ่น ยฺวี๋ จิน เอ ลิ่น โหฺย่ว



來 อ่านว่า lái (ไล๋) ซึ่งโดยปรกติจะแปลว่า 'มา', 'เข้าร่วม' หรือ 'บังเกิดขึ้น', 'ทำให้เกิดขึ้น' ซึ่งบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'หวนกลับมา (อีกครั้ง)', หรือ 'ได้รับ' ; บางลักษณะของการใช้งานก็จะหมายถึง 'อนาคตอันใกล้', แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'อดีตที่ผ่านมา' ได้ด้วยเหมือนกัน

徐 อ่านว่า xǘ (ซฺวี๋) แปลว่า 'ช้าๆ', 'อ่อนโยน', 'นุ่มนวล', ซึ่งก็ทำให้มีความหมายว่า 'สุขุมลุ่มลึก', 'งามสง่า' ในลักษณะของ 'ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์' ได้ด้วย

金 อ่านว่า jīn (จิน) แปลว่า 'ทองคำ', 'เงิน', 'โลหะ หรือสิ่งใดๆ ที่มีสีเหลืองทอง', 'ทรัพย์สิน', 'ของมีค่า', 'ร่ำรวย' ; บางครั้งก็หมายถึง 'โลหะทั้งห้า' (五金 คือ ทองคำ, เงิน, ทองแดง, เหล็ก, และตะกั่ว หรือสังกะสี) ; และเมื่อหมายถึง 'โลหะมีค่า' บางครั้งก็สื่อถึง 'ความสูงส่ง', 'ความน่าเลื่อมใสศรัทธา' ; หรือแม่แต่ 'ความสุกสว่าง' ดั่ง 'ดวงตะวัน-จันทรา' นู่นไปเลย

ถึงตรงนี้ผมก็อยากจะชวนให้พิจารณาคำว่า 車 (chē, เอ) กันอีกครั้งนะครับ ปรกติคำนี้จะหมายถึง 'รถ' ไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยคน, ด้วยสัตว์, หรือด้วยกำลังกลใดๆ เราก็เรียกว่า 車 (chē, เอ) ด้วยกันทั้งหมดนั่นแหละ ซึ่งดูเหมือนว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้ยากมาก ... แต่ ... คำแปลจริงๆ ของ 車 (chē, เอ) คือ 'ยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนที่บนบก' หรือ 'อุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยล้อและเพลา' นี่คือ 'คำนิยาม' ของ 車 (chē, เอ) ตามพจนานุกรมทั่วๆ ไป จึงทำให้มันสามารถแผลงเป็น 水車 (shǔi chē, ษุ่ย เอ) ซึ่งแปลว่า 'กังหันน้ำ' โดยจะสามารถแปลว่า 'การหมุน' หรือ 'วงล้อ' ก็ยังได้อีกด้วย ... และผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า (chē, เอ) อาจจะหมายถึง 'ธรรมจักร' หรือ 'วงล้อแห่งธรรม' ด้วยก็ยังได้ !!??

ทบทวนความหมายของ 吝 (lìn, ลิ่น) อีกซักรอบแล้วกัน คำนี้แปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'

สำหรับ 終 (zhōng, จง) นี่เจอค่อนข้างบ่อยใน 'คัมภีร์อี้จิง' โดยมันมีความหมายว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ'

กุญแจที่ไขรหัสลับของ 'จิวกง' ในวรรคที่สามก็คือคำว่า 徐 (xǘ, ซฺวี๋) นี่แหละ เพราะมันหมายถึง 'ความสุขุมลุ่มลึก', 'ความมีสติไตร่ตรอง' อันเป็นคุณลักษณะของ 'ความเป็นหยิน' ที่ทิ้งเป็นปริศนาไว้ตรงคำว่า 妻 (qī, ชี) นั่นเอง ดังนั้น ถ้อยคำที่ต่อเนื่องกันมาจากวรรคที่สามจึงควรจะหมายถึง 'พึงปฏิบัติภารกิจ (來) ด้วยความมีสติที่สุขุมลุ่มลึก (徐徐) มีความเพียรอย่างไม่ลดละ (困) ดุจดั่ง (于) วงล้อที่หมุนวนอย่างต่อเนื่อง (金車) รู้อดรู้ออมถนอมกายใจ (吝) อย่างมีขอบเขต (有終) ด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย (คือมีความคงเส้นคงวาตั้งแต่ต้นจนจบ)' ...

ทีนี้ พอเรารวมความหมายของวรรคที่สาม และวรรคที่สี่เข้าด้วยกัน ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสะท้อนผ่านข้อบันทึกที่อ่านยากๆ นี้ก็คือ 'ความแข็งขืนดึงดันเอาแต่ใจตนนั้น (困于石據于蒺藜) แม้จะเป็นความปรารถนาดี แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อความฉิบหายล่มจม (凶) เพราะต้องสูญเสียมิตรภาพกับแนวร่วมอื่นๆ การประกอบกิจการงานใดๆ จำเป็นต้องใช้สติไตร่ตรองให้รอบคอบ (來徐徐) มีความเพียรอย่างไม่ลดละดุจดั่งวงล้อที่หมุนวนอย่างต่อเนื่อง (困于金車) มีความอดทน, อดกลั้น, และอดออม (吝) อย่างมีขอบเขต (有終) เพื่อถนอมกายใจแห่งตนและหมู่มิตร ให้สามารถประคับประคองกันไปจนตลอดรอดฝั่ง (有終)' ... เป็นการใช้คำ 有終 (yǒu zhōng, โหฺย่ว ง) ที่เฉียบคมมากๆ อีกครั้งหนึ่งของ 'จิวกง' เลยครับสำหรับวรรคนี้ ... ;)


 

ห้า หยาง :

劓刖困于赤紱乃徐有說利用祭祀
yì yüè kùn yǘ chì fú nǎi xǘ yǒu shuō lì yòng jì sì
อี้ เยฺวี่ย คุ่น ยฺวี๋ ฌื่อ ฟู๋ ไหฺน่ ซฺวี๋ โหฺย่ว ซัว ลี่ โยฺว่ง จี้ ซื่อ



劓 อ่านว่า yì (อี้) มีความหมายตามภาพอักษรว่า 'การลงทัณฑ์โดยการเฉือนจมูก' ซึ่งเป็นความหมายที่ได้มาจากการผสมอักษร 鼻 (bí, ปี๋) ที่แปลว่า 'จมูก' กับอักษร 刀 (dāo, เตา) ที่แปลว่า 'มีด' หรือ 'ของมีคม' เข้าด้วยกัน

刖 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายในเชิงของ 'การลงทัณฑ์' โดย 刖 (yüè, เยฺวี่ย) จะหมายถึง 'การลงทัณฑ์โดยการตัดเท้า' ซึ่งเป็นการลงทัณฑ์ในแบบของจีนโบราณ ซึ่งความหมายที่อาจจะมีการใช้ในปัจจุบันของทั้ง 劓 (yì, อี้) และ 刖 (yüè, เยฺวี่ย) ก็คือ 'การตัดให้ขาด', หรือ 'การทำให้แยกออกจากกัน' โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นอวัยวะ หรือสิ่งอื่นใดอย่างเจาะจง

赤 อ่านว่า chì (ฌื่อ) เป็นอีกหนึ่งคำที่มีความหมายว่า 'สีแดง' เช่นเดียวกับคำว่า 朱 (zhū, จู) ในวรรคที่สอง ; เพียงแต่ 赤 (chì, ฌื่อ) ยังสามารถที่จะหมายถึง 'เปล่าเปลือย', หรือ 'บริสุทธิ์' ในลักษณะของ 'ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง'

乃 อ่านว่า nǎi (ไหฺน่, หฺนั่ย) เป็นคำแรกๆ ที่เคยเล่าไว้เมื่อหลายบทก่อนว่า หมายถึง 'ดังนั้น', 'ในที่สุด', 'ผลสรุป', 'เป็นเช่นนั้น', 'อย่างไรก็ตาม'

說 อ่านว่า shuō (ซัว) แปลว่า 'พูด', 'บอก', 'อธิบาย', 'สนทนา' (คือแลกเปลี่ยน 兑 คำพูด 言 กัน) ; สามารถที่จะแปลว่า 'คำพูด', 'ตัวอย่าง', 'บทเรียน', 'ทฤษฎี', 'ความเชื่อ' ; และยังอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'ข้อแนะนำ' หรือว่า 'คำตำหนิ' ก็ได้ ; แต่ถ้าออกเสียงคำนี้ว่า yuè (เยฺวี่ย) ก็จะมีความหมายเดียวกับ 悦 (yuè, เยฺวี่ย) คือ 'ดีใจ', 'รื่นเริง', หรือ 'มีความสุข'

祭 อ่านว่า jì (จี้) มีความหมายที่คล้ายกันกับ 享 (xiǎng, เสี่ยง) ซึ่งแปลว่า 'เครื่องเซ่น', 'เครื่องสังเวย', และมักจะใช้คู่กับ 祀 (sì, ซื่อ) เป็น  (jì sì, จี้ ซื่อ) ที่แปลว่า 'การบวงสรวงบรรพชน', หรือ 'การบวงสรวงเทพเจ้า' ด้วย 'เครื่องเซ่นสังเวย' ต่างๆ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลายถ้อยคำในวรรคนี้ ถูกบันทึกให้ซ้ำความหมายกับถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่สองอย่างตรงๆ ตัวเลย นั่นก็คือ 赤紱 (chì fú, ฌื่อ ฟู๋) กับ 朱紱 (zhū fú, จู ฟู๋) ที่ต่างก็หมายถึง 'แถบผ้าแพรสีแดง' เหมือนกัน และคำว่า 祭祀 (jì sì, จี้ ซื่อ) กับ 享祀 (xiǎng sì, เสี่ยง ซื่อ) ที่หมายถึง 'เครื่องถวายสักการะ' หรือ 'เครื่องบรรณาการ' ด้วยกันทั้งคู่ เพราะนี่คือ 'คู่วลี' ประจำบท ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่สะท้อนความหมายของกันและกันมาโดยตลอดนั่นเอง ... ในเมื่อวรรคที่สองได้รับการบันทึกให้เป็นข้อพิจารณาว่า อุปสรรคและปัญหาทั้งหลาย ย่อมเปรียบดั่ง 'ทิพยบรรณาการ' ที่จะ 'หล่อหลอม' 'ความแกร่งกล้าเกรียงไกร' ให้บังเกิดแก่ 'ผู้ที่กล้าเผชิญ' ... ประเด็นที่ 'จิวกง' เสริมเข้ามาในวรรคนี้จึงมีใจความว่า 'แม้ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทางกาย (劓刖 คือประหนึ่งถูกริดรอนอวัยวะ) จิตใจที่มั่นคงในความเพียร (困) ย่อมน้อมนำไปสู่ (于) เส้นทางที่ปูลาดด้วยแพรพรรณอันงดงาม (赤紱) การมุ่งปฏิบัติภารกิจให้ถึงที่สุดแห่งเป้าหมายด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ (乃徐) ย่อมต้องประกอบด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา (有說) ความสำเร็จอันรุ่งเรือง (利) ย่อมบังเกิดได้ด้วยอาศัย (用) การอุทิศ (祭祀) ทั้งกายใจอย่างทุ่มเท' ...

ถ้าเราจะ 'ตีความ' ถ้อยคำใน 'คัมภีร์อี้จิง' ให้มีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ในยุคต้นราชวงศ์โจว อย่างที่บางตำรามักจะเอ่ยถึงกันอยู่บ้างนั้น ผมก็มีความรู้สึกว่า วลีที่ปรากฏให้เห็นในวรรคที่สอง และวรรคที่ห้าของบทนี้ ดูจะมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวมากที่สุด ... โดยด้านที่เอ่ยถึง 'ความกล้าเผชิญกับความทุกข์ยากและภยันตราย' นั้น ควรจะหมายถึง 'โจวอู๋หวาง' หรือ 'จิวบู๊อ๋อง' ซึ่งคุมกองกำลังทหารอยู่ในแคว้นโจว ... ส่วนกรณีของ 'ความอดกลั้นต่อทัณฑ์ทรมาน' ในวรรคนี้ ก็น่าจะหมายถึง 'โจวเหวินหวาง' หรือ 'จิวบุ้นอ๋อง' ซึ่งก็คือ King Wen ผู้ริเริ่มการบันทึก 'คัมภีร์อี้จิง' นั่นเอง ... โดยมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อได้ว่า คัมภีร์เล่มนี้ได้รับการบันทึกครั้งแรกในขณะที่ King Wen ถูกกักขังอยู่ในคุกยาวนานถึง 7 ปี ด้วยโทษฐานเป็นกบฎต่อราชวงศ์ซาง และจำเป็นต้องเขียน 'คัมภีร์การปกครอง' ที่เข้ารหัสให้คล้ายกับ'ตำราหมอดู' เพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยของคำวิพากษ์วิจารณ์การปกครองเยี่ยงทรราชย์ของราชวงศ์ซางเอาไว้นั่นเอง

 

หก หยิน :

困于葛藟于臲卼曰動悔有悔征吉
kùn yǘ gé lěi yǘ niè wù yuē dòng huǐ yǒu huǐ zhēng jí
คุ่น ยฺวี๋ เก๋อ เหฺล่ย ยฺวี๋ เนี่ย อู้ เยฺวีย ต้ง หุ่ย โหฺย่ว หุ่ย เจิง จี๋



葛 อ่านว่า gé (เก๋อ) เป็นชื่อพันธุ์ของพืชไม้เลื้อยบางอย่างที่ใช้เป็นอาหารหรือยา, ซึ่งบางครั้งก็ใช้กับพืชในตระกูลถั่วและมันด้วยเหมือนกัน ; ส่วนคำว่า 葛布 (gé bù, เก๋อ ปู้) จะหมายถึง 'ผ้าลินินบางๆ' หรือ 'เสื้อผ้าสำหรับใส่ในช่วงที่อากาศร้อน' จึงทำให้ 葛 (gé, เก๋อ) สามารถแปลว่า 'ห่อหุ้ม', 'ปกคลุม', หรือ 'ป้องกัน' เหมือนกับคำว่า 盖 (gài, ไก้) ได้ด้วย

藟 อ่านว่า lěi (เหฺล่ย) ก็เป็นชื่อพันธุ์ของพืชไม้เลื้อยอีกเหมือนกัน อยู่ในตระกูลที่ใกล้เคียงกับ 葛 (gé, เก๋อ) จึงมักจะมีการใช้ควบเป็นคำรวมๆ ไปว่า 葛藟 (gé lěi, เก๋อ เหฺล่ย) ; แต่สำหรับคำว่า 藟 (lěi, เหฺล่ย) อาจจะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 蕾 (lěi, เหฺล่ย) ซึ่งหมายถึง 'ดอกไม้' โดยเฉพาะในขณะที่ยังเป็น 'ดอกตูม' หรือยังเป็นแค่ 'ตาดอก' (flower buds) เท่านั้น

臲 อ่านว่า niè (เนี่ย) แปลว่า 'ลุกลน', 'หลุกหลิก', 'ล่อกแล่ก', 'อยู่ไม่สุข', 'ไม่สำรวม', 'กระสับกระส่าย', 'หงุดหงิดงุ่นง่าน'

卼 อ่านว่า wù (อู้) สามารถแปลว่า 'อันตราย' แต่น่าจะหมายถึง 'อันตราย' ที่เกิดจาก 'ความอยู่ไม่สุข' หรือ 'ความสะเพร่าลนลาน' เพราะคำนี้มักจะถูกใช้คู่กันกับ 臲 (niè, เนี่ย) เป็น 臲卼 (niè wù, เนี่ย อู้) ซึ่งน่าจะหมายถึง 'ความไม่ระมัดระวัง', 'ความหลุกหลิกไม่สำรวม', 'ความบุ่มบ่าม' หรือ 'ความหุนหันพลันแล่น' ที่มักจะนำเภทภัยมาสู่

曰 อ่านว่า yuē (เยฺวีย) แปลว่า 'พูด', 'เรียก', หรือ 'เรียกว่า' ; บางครั้งจึงใช้ในการเชื่อมประโยคเช่นเดียวกับคำว่า 'คือ' ในภาษาไทย

動 อ่านว่า dòng (ต้ง) ปรกติจะหมายถึง 'การเคลื่อนไหว', 'การขยับ', หรือ 'การกระทำ'

ส่วนคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) นี่เจอกันมาตั้งบทแรกแล้วครับ โดยมันจะมีความหมายว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่เป็นอาการ 'สำนึกผิด', หรือ 'สำนึกเสียใจ' ในการกระทำของตนเอง ซึ่งภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า repent อันมีความแตกต่างจาก 'ความเสียใจ' ในลักษณะอย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก

ประการแรกเลยก็คือ ถ้อยคำที่ 'จิวกง' เลือกมาบันทึกไว้ในวรรคนี้ แสดงถึงความเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่หนึ่งอย่างค่อนข้างจะชัดเจนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในจุดที่เลือกเอา 'ส่วนประกอบของต้นไม้' มาเป็นข้ออุปมาอุปไมยให้เห็นภาพของความหมายที่ท่านต้องการจะสื่อ ซึ่งในวรรคแรกนั้น ท่านได้นำเอาส่วนของ 'ราก' ที่ 'ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน' มาเป็นข้อพิจารณาในประเด็นของ 'อาการสงบปากสงบคำ' ... และได้นำเอาส่วนของ 'ลำต้น' ที่ 'เผยตัวอยู่เหนือพื้นดิน' มาเป็นคู่เปรียบเทียบกันในวรรคนี้ เพื่อที่จะบอกว่า 'อันความเพียร (困) ที่บางเบาดุจดั่งไม้เลื้อย (于葛藟 คือไร้ราก หรือไม่มีความหนักแน่นมั่นคง) ย่อมงุ่นง่านสะเปะสะปะอย่างไร้ทิศทางด้วยความพลุ่งพล่านหงุดหงิด (于臲卼) จึงกล่าวกันว่า (曰) ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตน (動) ด้วยความหม่นหมาง (悔) ย่อมประสบกับ (有) ความทุกข์โศกเสียใจ (悔) ไม่ว่างเว้น ในขณะที่ความมุ่งมั่นที่จะกระทำการใดๆ อย่างเต็มสติและมีวิจารณญาณ (征) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... อันนี้เป็นการประมวลความหมายของคำว่า 征 (zhēng, เจิง) เอาไว้แทบจะทุกแง่ทุกมุมเลยทีเดียว !!? ... ;)

คือเมื่อผมทบทวนความหมายของตัวอักษรในทั้งสองวรรคนี้แล้ว ผมได้จินตนาการเป็นภาพเปรียบเทียบอย่างนี้ครับว่า ... ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของ 'ต้นไม้ใหญ่' ก็คือ 'ความมีราก' (株木) เป็นของตัวเอง และมีลำต้นที่สูงใหญ่แน่นหนา เหมาะแก่การเป็นที่พึ่งพิงของสรรพชีวิต ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับคน เราก็น่าจะเปรียบได้กับบุคคลผู้มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'หลักการ' และ 'อุดมการ' อันเปรียบเสมือนเป็น 'รากแก้ว' ของการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติภารกิจต่างๆ อย่าง 'ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก' และ 'ไม่เคยหวั่นวิตก' ใดๆ แม้ว่าอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งหลายเพียงลำพัง (入于幽谷) ... นี่คือความหมายที่ได้จากวลีของ 'จิวกง' ในวรรคแรก ... สำหรับ 'ไม้เลื้อย' (葛藟) ที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงในวรรคนี้ ย่อมเปรียบได้กับ 'คนไร้ราก' หรือ 'ความไม่มีหลักการ' ใดๆ ในการประพฤติปฏิบัติตน จึงได้แต่เกาะเกี่ยวพัวพันไปกับ 'หลักของคนอื่น' โดยปราศจาก 'ความคิด' และ 'จิตวิญญาณ' ที่ 'เป็นตัวของตัวเอง' อย่างแท้จริง และย่อมจะไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตนมี หรือสิ่งที่ตนเป็น เนื่องจากมีจิตใจที่เต็มไปด้วย 'ความหวั่นหวาด' ต่อ 'ความไม่เป็นที่ยอมรับ' ของผู้คนหรือสังคมรอบข้าง จึงมักจะมี 'ความพะวักพะวง' ในการ 'ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อความพึงพอใจของผู้อื่น' อยู่ตลอดเวลา อันเป็นเหตุแห่ง 'ความทุกข์โศก' ที่ตนเป็น 'ผู้แส่หามา' เติมเข้าไปในวิถีชีวิตของตนเองเท่านั้น (曰動悔有悔)

สำหรับวลีปิดท้ายห้วนๆ ของ 'จิวกง' ที่มีเพียงสองพยางค์ว่า 征吉 (zhēng jí, เจิง จี๋) นั้น ผมถือว่าเป็น 'ลีลาอันรวบรัด' ที่แฝงความหมายไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว โดยคำว่า 征 (zhēng, เจิง) ได้รับการอธิบายซ้ำไว้ในวรรคที่สองอย่างละเอียดว่า หมายถึง 'การกรีธาทัพ', 'การเดินทางไกล', 'การเสาะแสวงหา', 'การคัดสรรเพื่อระดมสรรพกำลัง', 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', 'การรับรอง' ... ฯลฯ ... เหล่านี้คือที่มาของการให้ความหมายว่า 'ความมุ่งมั่นที่จะกระทำการใดๆ อย่างเต็มสติและมีวิจารณญาณ' ซึ่ง 'จิวกง' เลือกใช้คำตรงๆ สั้นๆ แต่กินความหมายลึกๆ แทนการใช้ถ้อยคำที่ 'เยิ่นเย้อยืดยาด' เหมือนตอนที่ยกข้ออุปมาอุปไมยเกี่ยวกับ 'ความไร้ราก' อย่าง 'ไม้เลื้อย' ในตอนต้นวรรค ... มันคือลีลาการใช้ภาษาที่ช่วยสะท้อนภาพของ 'ความแน่วแน่มั่นคง' และ 'ความหมดจดชัดเจน' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' ในการประพฤติปฏิบัติตนของ 'ผู้ที่มีหลักการ' หรือ 'มีรากเป็นของตนเอง' อย่างแท้จริง ... น่าทึ่งมากเลยนะครับกับลีลาการใช้ภาษาแบบนี้ ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'คุ่น' คือ เพียรลำบากตรากตรำ, ตาน้ำเบื้องใต้ทะเลสาบ

'การพัฒนาโดยธรรม' นั้น 'ปราชญ์' ย่อมมุ่งปฏิบัติเพื่อ 'ผลสำเร็จที่รุ่งเรือง' โดยไม่เสียเวลาไปกับ 'การค่อนขอดตัดพ้อ' ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือโชคชะตา และแม้จะมี 'ถ้อยคำที่ร่ำลือ' ไปต่างๆ นาๆ ก็จะต้อง 'ไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้ม' ไปอย่าง 'ไร้สติ'

  •  
  • พึง 'เก็บงำความยากลำบาก' ให้ลึกสุดหยั่ง ประดุจดั่ง 'รากไม้' ที่แฝงฝังเข้าไปในซอกเขาหุบห้วยอย่าง 'สงบ' แม้ผ่านพ้นวันเวลาอันเนิ่นนาน ก็มิเคยปรากฏให้ผู้ใดได้พบเห็น
  •  
  • 'อุปสรรค' และ 'ปัญหาความยุ่งยาก' ทั้งหลาย ย่อมคล้ายดั่ง 'สุรา-อาหาร' หรือ 'แพรพรรณอันงดงาม' ที่ประดับประดาไว้เป็นการต้อนรับ 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง' ย่อมบังเกิดได้ด้วยอาศัย 'การอุทิศ' ทั้งกายใจ 'อย่างทุ่มเท'  แม้ต้องเผชิญกับ 'ภยันตรายอย่างสาหัส' ก็ไม่แสดง 'ความสิ้นหวัง' ด้วย 'การตัดพ้อต่อว่า' ใดๆ
  •  
  • การเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ด้วยท่าทีที่ 'แข็งกร้าว' และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ 'แหลมคม' ราวกับ 'พงหนาม' แม้จะสามารถ 'บรรลุเป้าหมาย' อันยิ่งใหญ่ดุจปราสาทราชวัง หากมิอาจพบพาน 'ผู้จะร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างแท้จริง' ก็ยังนับเป็น 'ความสูญเสีย' อย่าง 'ร้ายแรง'
  •  
  • พึง 'ปฏิบัติภารกิจ' ด้วย 'ความมีสติ' ที่ 'สุขุมลุ่มลึก' มี 'ความเพียร' อย่าง 'ไม่ลดละ' ดุจดั่ง 'วงล้อ' ที่ 'หมุนวนอย่างต่อเนื่อง' รู้ 'อด' รู้ 'ออม' ถนอมกายใจ 'อย่างมีขอบเขต' ด้วย 'ความเสมอต้นเสมอปลาย'
  •  
  • แม้ต้องเผชิญกับ 'ความทุกข์ทรมานทางกาย' 'จิตใจ' ที่ 'มั่นคง' ใน 'ความเพียร' ย่อมน้อมนำไปสู่เส้นทางที่ปูลาดด้วย 'แพรพรรณอันงดงาม' การ 'มุ่งปฏิบัติภารกิจ' ให้ถึง 'ที่สุดแห่งเป้าหมาย' ด้วย 'ความสุขุมคัมภีรภาพ' ย่อมต้องประกอบด้วย 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' ... 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง' ย่อมบังเกิดได้ด้วยอาศัย 'การอุทิศ' ทั้งกายใจ 'อย่างทุ่มเท'
  •  
  • อัน 'ความเพียร' ที่ 'บางเบา' ดุจดั่ง 'ไม้เลื้อย' ย่อม 'งุ่นง่าน' และ 'สะเปะสะปะ' อย่าง 'ไร้ทิศทาง' ด้วย 'ความพลุ่งพล่านหงุดหงิด' จึงกล่าวกันว่า ผู้ที่ 'ประพฤติปฏิบัติตน' ด้วย 'ความหม่นหมาง' ย่อมประสบกับ 'ความทุกข์โศกเสียใจ' ไม่ว่างเว้น ในขณะที่ 'ความมุ่งมั่น' ที่จะกระทำการใดๆ 'อย่างเต็มสติ' และมี 'วิจารณญาณ' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'



The Organization Code :


'ความเพียรลำบากตรากตรำ' คือ 'ความไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' น้อยใหญ่ที่มีอยู่ในแต่ละระยะของ 'การปฏิบัติงาน' ... โดยใน 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับบริหาร' นั้น จะต้องมี 'ความเปิดเผย-จริงใจ' และพร้อมที่จะ 'รับฟังข้อคิดเห็น' จากผู้ร่วมงานอื่นๆ ในทุกๆ ระดับ เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ยังเป็น 'ข้อบกพร่อง' ให้มี 'ความสมบูรณ์' ยิ่งๆ ขึ้นไป 'อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ' (⚎) ... ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมายร่วมกัน' และมี 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' ที่จะ 'ดำเนินงาน' ด้วย 'ความละเอียดรอบคอบ' (⚍) จนกว่าจะบรรลุผลตามที่ได้กำหนดไว้

'การพัฒนา' กิจการงานใดๆ ให้ 'ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน' ได้นั้น 'ผู้ปฏิบัติงาน' ทุกคน จะต้องรู้จัก 'อดทน-อดกลั้น' ต่อการเผชิญกับ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'กล้าหาญ' เพื่อที่จะช่วยกัน 'ประคับประคอง' ภาระกิจหนึ่งๆ ให้สามารถดำเนินไปสู่ 'เป้าหมาย' อันเป็น 'ความสำเร็จร่วมกัน' ของทุกๆ ฝ่าย ... โดยไม่เสียเวลาไปกับ 'การกล่าวโทษ' หรือ 'ตัดพ้อต่อว่า' ปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด เพียงเพื่อจะปัด 'ความรับผิดชอบ' ให้พ้นจากตัว ... และ 'ไม่หลงไหลเคลิบเคลิ้ม' ไปกับ 'คำอวดอ้าง' ใดๆ อย่าง 'ไร้วิจารณญาณ'

  •  
  • 'ความยุ่งยาก' แม้จะเป็น 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่อ 'การดำเนินงาน' แต่ก็มิใช่ 'ความทุกข์ทรมาน' ที่ผู้หนึ่งผู้ใดพึงจะ 'โอดครวญ' อย่าง 'พิรี้พิไร' โดยปราศจาก 'การลงมือแก้ไข' ให้ลุล่วงด้วยดี ... สำหรับ 'ภาระกิจ' ที่พิจารณาแล้วว่า 'ต้องกระทำ' ย่อมต้องละทิ้งประเด็นของ 'ความยาก' หรือ 'ความง่าย' ใน 'การปฏิบัติหน้าที่' โดยจะต้อง 'ทุ่มเทความพยายาม' อย่างถึงที่สุด เพื่อ 'การบรรลุเป้าหมาย' มิใช่เพื่อหวังใน 'ลาภสักการะ' หรือ 'ความยกย่องเทิดทูน' ใดๆ ที่ตนพึงจะได้รับ
  •  
  • ดังคำกล่าวที่ว่า 'ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง' ... 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ที่แม้จะยิ่งใหญ่ปานใด ย่อมมิอาจทนทานต่อ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ของผู้มี 'สติปัญญา' ที่ 'กล้าเผชิญ' อย่าง 'ไม่หวั่นเกรง' ต่อ 'ความยากลำบาก' ... บนหนทางที่เต็มไปด้วย 'ความยุ่งยาก' และ 'ภยันตราย' ย่อมเป็นโอกาสที่ 'ผู้ไม่ท้อถอย' จะได้เก็บเกี่ยว 'ความรู้' และ 'ประสบการณ์' ที่เปรียบดั่งเป็น 'โอสถทิพย์' สำหรับหล่อหลอม 'ความเป็นวีรชน' ให้ปรากฏขึ้นในเบื้องหน้า ... 'ความสูญเสีย' อันเนื่องมาจาก 'ความพลาดพลั้ง' ย่อมต้องดีกว่า 'ความล่มสลาย' อันเนื่องมาจาก 'การหมดสิ้นความเพียร'
  •  
  • 'การมุ่งผลสัมฤทธิ์' อย่าง 'แข็งกร้าว' โดยไม่ใยดีต่อ 'ผลกระทบ' ใดๆ ในแง่ของ 'ความสัมพันธ์' เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' ที่ 'โดดเดี่ยวอ้างว้าง' ที่แม้จะมี 'ความยิ่งใหญ่' สักเพียงใด แต่ก็ย่อมปราศจาก 'รสชาติ' และ 'ความหมาย' หากต้องสูญสิ้นแม้แต่เงาร่างของผู้ที่จะ 'ร่วมภาคภูมิใจ' ใน 'ความสำเร็จ'
  •  
  • 'ความใจเร็วด่วนได้' ย่อมมิใช่ 'หลักประกัน' ใน 'การบรรลุผลสำเร็จ' ... จะมีก็แต่ 'การปฏิบัติภาระกิจ' ด้วย 'ความมีสติ' ที่ 'สุขุมลุ่มลึก' มี 'ความเพียร' อย่าง 'ไม่ลดละ' ดุจดั่ง 'วงล้อ' ที่ 'หมุนวนอย่างต่อเนื่อง' รู้ 'อด' รู้ 'ออม' ถนอมกายใจ 'อย่างมีขอบเขต' ด้วย 'ความเสมอต้นเสมอปลาย' เท่านั้น จึงอาจคาดหวังใน 'ผลสัมฤทธิ์' แห่ง 'ความมุ่งมั่นพยายาม' นั้นได้ 
  •  
  • จงอย่าให้ 'ความทุกข์ยากทางกาย' กลายเป็นเครื่องบั่นทอน 'ความหนักแน่นมั่นคง' ของ 'จิตใจ' ที่ 'มุ่งมั่น' ใน 'ความเพียร' ... 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง' ย่อมบังเกิดได้ด้วยอาศัย 'การอุทิศ' ทั้งกายใจ 'อย่างมีสติ' ที่ 'สุขุมลุ่มลึก' และมี 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' ใน 'คุณงามความดี' อย่าง 'ไม่เสื่อมคลาย'
  •  
  • อัน 'ความเพียร' ที่มิได้ตั้งอยู่บน 'รากฐานอันแน่นหนา' ของ 'หลักการ' ใดๆ เลยนั้น ย่อม 'แกว่งไกวเฉไฉ' ไปตาม 'กระแส' ที่อาจ 'แปรเปลี่ยน' ไปตลอดเวลา ดุจดั่ง 'ไม้เลื้อย' ที่ได้แต่เกาะก่ายอย่าง 'ไร้ทิศทางเป็นของตนเอง' ย่อมปราศจาก 'จุดหมาย' อันจะสร้าง 'ความภาคภูมิใจ' ให้กับ 'การดำรงอยู่' ของตน ... แม้ว่าบุคคลผู้มี 'ความมุ่งหวัง' ใน 'ความเจริญรุ่งเรือง' ย่อมมิอาจละเลยต่อ 'การดำเนินชีวิตอย่างเต็มสติ' ต้องรู้จักใช้ 'วิจารณญาณ' ในทาง 'ที่ถูกที่ควร' และมี 'ความเหมาะสม' แก่ 'ศักยภาพ' ของตนอยู่เสมอ


ถ้าจะบอกว่า นี่เป็นอีกบทหนึ่งที่ 'ตีความ' ได้อย่าง 'ยากเย็นแสนเข็ญ' (困 : kùn, คุ่น) สมกับ 'ชื่อบท' ของมันเลยก็คงจะได้ล่ะครับ เพราะหากว่าเรามัวแต่ไป 'ยึดติด' อยู่กับ 'ความหมาย' ของคำว่า 困 (kùn, คุ่น) ซึ่งเป็น 'ชื่อบท' อย่างตรงๆ ตัว มันก็จะคล้ายกับการที่เรามัวแต่ 'หมกมุ่นความสนใจทั้งหมด' ไปที่ตัว 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' จนไม่ได้ใช้ 'สติปัญญา' เพื่อพิจารณาถึง 'หนทางในการแก้ไขปัญหา' หรือ solutions ที่ควรจะมีอยู่ทั้งหมดในแต่ละสถานการณ์อย่างที่ควรจะกระทำ ... ซึ่งผมมองว่า นี่คือการซุกซ่อน 'คำสอน' ไว้อย่างเหนือชั้นขั้นเทพของ King Wen เลยทีเดียว ... เพราะสิ่งที่ King Wen แฝงความหมายเอาไว้ในตัวอักษรเพียงตัวเดียวของ 'ชื่อบท' นี้ก็คือ ... 'ความยากลำบาก' ย่อมเป็น 'ความยากลำบาก' หากเราเลือกพิจารณาให้มันเป็น 'ความยากลำบาก' ... ซึ่ง 困 (kùn, คุ่น) จะไม่ใช่ 'ความยากลำบาก' ใดๆ เลย หากเราเลือกที่จะใช้ 'ความเพียรพยายาม' ไปเผชิญกับมัน 'อย่างมีสติ' ... โอ้ว ... บร๊ะเจ้า !!??!!

ซึ่งหากเรามองความหมายของ 'ชื่อบท' ไปในแนวทางที่ว่านี้ วลีสุดท้ายของ 'จิวกง' ก็ยังสามารถ 'ตีความ' ได้อีกความหมายหยึ่งว่า 'ปัญหา และความยุ่งยากทั้งหลาย (困) ย่อมเปรียบได้ดั่ง (于) ไม้เลื้อยที่เกาะเกี่ยวติดพัน (葛藟) ซึ่งรังแต่จะนำมาซึ่งความหงุดหงิดรำคาญ (于臲卼) แต่หากว่า (曰) มุ่งปฏิบัติต่อมัน (動) ด้วยกรอบคิดที่มองเห็นแต่สิ่งไม่สบอารมณ์ (悔) เราก็จะพบแต่ (有) ความไม่สบอารมณ์ (悔) ไปโดยตลอด ในขณะที่ความมุ่งมั่นที่จะกระทำการใดๆ อย่างเต็มสติและมีวิจารณญาณ (征) ย่อมโน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... เห็นลีลาการใช้ถ้อยคำที่เข้าขากันอย่างลงตัวของพ่อลูกคู่นี้มั้ยล่ะครับ ?!! ... โอ้ว ... บร๊ะเจ้า ... ซะอีกทีเลยแล้วกัน ... !!? ... :D

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ King Wen เลือกใช้ 'ชื่อบท' ที่สื่อถึง 'ความเพียรลำบากตรากตรำ' โดยมี 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' เป็น 'ตาน้ำ (☵) ใต้ทะเลสาบ (☱)' ... เหมือนกับจะพยายามสื่อถึงสิ่งที่ 'ไม่มีใครสนใจ' ... เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักจะชื่นชมกับ 'ความสวยงาม' หรือ 'ความกว้างใหญ่' ของ 'ทะเลสาบ' ซึ่งเปรียบได้กับ 'ความสำเร็จอันน่าอภิรมย์' ที่ปรากฏให้เห็น แต่น้อยคนนักที่ให้ความสนใจแก่ 'แหล่งกำเนิด' หรือ 'ความเป็นมา' ของ 'ความสวยสดงดงาม' ที่เห็นอยู่นั้น ... นั่นก็คือ 'ความเหนื่อยยาก' และ 'ความเพียรพยายามอย่างหนัก' ของเหล่า 'ตาน้ำ' ซึ่งหลอมรวมตัวกันเป็น 'ทะเลสาบ' อันสวยสดงดงาม ... มันคือ 'ภาพ' ที่ 'จิวกง' ได้สะท้อนความหมายเอาไว้ในวรรคที่สามของบทที่สองว่า ... 'ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ (含章) ในเบื้องแรก แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ (可貞) เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย (或從王事) ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น (無成有終)' ... และยังบันทึกเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบกับ 'รากไม้' (株木) อีกครั้งหนึ่งในวรรคแรกของบทที่สี่สิบเจ็ดนี้ เพราะหากปราศจาก 'รากเหง้าที่เข้มแข็ง' ย่อมไม่ปรากฏ 'ต้นไม้ที่สูงใหญ่' ... แต่ 'รากไม้' ก็ไม่เคยอวดอ้างใน 'คุณงามความดี' ของตน และไม่เคย 'น้อยเนื้อต่ำใจ' ที่ไม่มีใครมองเห็น 'ความยิ่งใหญ่' ของมัน ... !!? ... นี่ก็คือ 'การมุ่งผลสัมฤทธิ์' (亨貞) โดย 'ไม่ยึดติดในถ้อยคำ' (有言不信) ของ 'ปราชญ์' ผู้ 'มุ่งมั่น' เพียง 'ความเจริญ' (大人吉) ของ 'ส่วนรวม' ...

ถือเป็นอีกบทหนึ่งที่ 'ถอดรหัส' ออกมาได้อย่างน่าดีใจที่สุดแล้วล่ะครับ ... ;)