Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第六十三卦 : 既濟

 

既濟 : 水火既濟 ‧ 坎上離下

既濟 : 亨‧小利貞‧初吉終亂‧

  • 初九 : 曳其輪‧濡其尾‧無咎‧
  • 六二 : 婦喪其茀‧勿逐‧七日得‧
  • 九三 ‧ 高宗伐鬼方‧三年克之‧小人勿用‧
  • 六四 : 繻有衣袽‧終日戒‧
  • 九五 : 東鄰殺牛‧不如西鄰之禴祭‧實受其福‧
  • 上六 : 濡其首‧厲‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กาย-ใจ-ปัญญา ประสานสอดคล้องด้วยความตื่นรู้ และอ่อนโยน (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัย 'ผลิตภัณฑ์' (☲) เสริมส่ง 'บุคลากร' (☵)

ความหมายของสัญลักษณ์ : เอกัตถสมาทาน, น้ำและไฟไหลประสาน



ความหมายของชื่อเรียก : Undividualizing : เอกัตถสมาทาน


เชื่อกันว่าบทที่หนึ่ง และบทที่สองคือ 'บทนำ' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับ ในขณะที่บทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่จะเป็น 'บทสรุป' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ... ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเองก็มองไม่ต่างจากนั้นมากนัก แต่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากความเชื่อดังกล่าวเล็กน้อย ... ;) ...

ที่ว่ามันคงต้องเพี้ยนกับชาวบ้านอยู่สักหน่อยหนึ่งก็คือ ผมพิจารณาแล้วว่า บทที่หกสิบสามจะต้องเป็นบทสรุปของ 'ความเป็นหยิน' หรือฝ่าย 坤 (kūn, คุน) ไม่ใช่ 乾 (qián, เชี๋ยน) อย่างที่หลายคนเชื่ออย่างนั้น !!?? ... โดยผมอยากให้ย้อนกลับไปดูการจำแนกหมวดหมู่ของสัญลักษณ์ทั้ง 64 สัญลักษณ์ กับ 'สัญลักษณ์ธาตุทั้งแปด' ของ 'โป้ยก่วย' ที่อธิบายไว้ในบท 'ทฤษฎีที่กำหนดขึ้นมาเอง' อีกครั้ง เพราะสัญลักษณ์ประจำบทที่หกสิบสาม (䷾) นั้น จะต้องถูกจัดอยู่ในหมวดของ 坤 (kūn, คุน) ... ในขณะที่สัญลักษณ์ของบทที่หกสิบสี่ (䷿) นั่นต่างหากที่อยู่ในฝั่งของ 乾 (qián, เชี๋ยน) ... นี่คือการสลับขั้วที่อาจจะถึงกับหักล้างคติความเชื่อหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า 'เลขคี่' คือ 'หยาง' กับ 'เลขคู่' คือ 'หยิน' ไปเลย !!!!??? ... แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็คงไม่อาจจะปฏิเสธ 'ข้อเท็จจริง' ที่ตัวเองอุตส่าห์แคะความหมายมาถึงตรงจุดนี้อยู่ดี ;)

ปรเะเด็นแรกเลยก็คือ บทต่างๆ ใน 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นไม่ได้ถูกแบ่งเป็น 'เลขคี่=หยาง' หรือ 'เลขคู่=หยิน' มาตั้งแต่แรก แต่มันถูกลำดับในลักษณะที่เป็นอนุกรมต่อเนื่องกันไปเป็น 'หยาง' กับ 'หยิน' คราวละ 6 บท รวม 60 บทโดยมีบทที่หนึ่ง และบทที่สองทำหน้าที่คล้ายกับ 'บทนำ' ในขณะที่มีบทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็น 'บทสรุป' ... โดยการจะจับคู่ 'บทนำ' กับ 'บทสรุป' ให้ชัดๆ เราคงต้องพิจารณาด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' บางอย่าง ... ซึ่งในที่นี้ผมสมมุติให้ 'เส้นตรง' หมายถึง 'หยาง' คือ 乾 (qián, เชี๋ยน) ... และ ... 'เส้นโค้ง' หมายถึง 'หยิน' คือ 坤 (kūn, คุน) ... แล้วเขียนมันออกมาในรูปของสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์อย่างนี้ครับ ... [( 3, 4, 5, 6, 7, 8, ..., 57, 58, 59, 60, 61, 62 )] ... นี่คือ 'การจับคู่วงเล็บ' ด้วยลำดับที่ถูกต้อง และเป็นระบบระเบียบอย่างที่ยากจะปฏิเสธได้จริงๆ ... มันจึงเป็นที่มาสำหรับข้อสรุปของผมว่า บทที่สองจะต้องคู่กับบทที่หกสิบสาม และบทที่หนึ่งจะต้องคู่กับบทที่หกสิบสี่ ... เท่านั้น !!!

เอานะ !! ... นั่นก็เป็นข้อสมมุติฐานตามหลักคิดแบบคณิตศาสตร์เฉยๆ ซึ่ง King Wen จะคิดเตลิดเปิดเปิงแบบนี้ด้วยรึเปล่าเราก็คงต้องมาดู 'คำบรรยายภาพสัญลักษณ์' ซึ่ง King Wen ได้บันทึกเอาไว้ ... เริ่มจาก 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen ใช้คำว่า 既濟 (jì jǐ, จี้ จี่) ซึ่งมักจะถูกแปลในลักษณะของ 'การเสร็จสิ้น' หรือ 'จบบริบูรณ์' จนกลายเป็นประเด็นที่อาจจะดูพิลึกพิลั่นอยู่ซักหน่อยในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเรามักจะคิดกันว่า 'ความเสร็จสิ้นสมบูรณ์' น่าจะถูกวางไว้ตรง 'บทสุดท้าย' ... แต่ ... หากเราตีความด้วยลำดับอนุกรมแบบ Sine Curve ดังที่ผมว่าไว้ ... บทที่หกสิบสาม (䷾) ก็คือบทสรุปของ 'ความเป็นหยิน' (ส่วนที่ -1 ≦ sineθ ≦ 0) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวก็คือจุดบรรจบที่ 'ครบรอบวัฏจักร' พอดี ... 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ของ King Wen จึงสะท้อนข้อเท็จจริงทางคณิตศาสตร์ไว้อย่างค่อนข้างลงตัว ... ;)


 

 

ทีนี้ลองมาดูความหมายโดยละเอียดของมันมั่ง ... อักษร 既 (jì, จี้) เป็น 'ภาพอักษร' ที่ประกอบด้วยภาพของ 'ธัญพืช' หรือ 'ธัญญาหาร' อยู่ทางด้านซ้ายเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทน 'การบริโภค' กับภาพของ 'คน' ที่ทางด้านขวา ซึ่งกำลังเปลี่ยนอิริยาบทจากนั่งคุกเข่าเป็นลุกขึ้นยืน ... ความหมายดั้งเดิมของ 既 (jì, จี้) ก็คือ 'กินอาหารจนหมดเรียบร้อยแล้ว' ซึ่งต่อมาได้แผลงเป็นความหมายว่า 'เสร็จสิ้นการปฏิบัติภาระกิจ' ... ปัจจุบันอักษร 既 (jì, จี้) จะใช้ในความหมายว่า 'เสร็จสิ้น', 'จบสมบูรณ์', 'สิ้นสุด', 'ผลสรุป', 'ผลลัพธ์', หรือ 'หยุด' ; หากใช้กับดวงดาวก็จะหมายถึง 'ดับ', หรือ 'สูญสิ้น'

ส่วนอักษร 濟 (jǐ, จี่) สามารถแปลว่า 'มากมาย' และ 'ละเอียด' หรือ 'ประณีตงดงาม' ซึ่งเป็นความหมายที่แผลงมาจาก 齊 (qí, ชี๋) ที่ปรกติแล้วจะแปลว่า 'ทั้งหมด', 'ครบถ้วน', 'สมบูรณ์'  โดย 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 齊 (qí, ชี๋) มีส่วนประกอบของอักษร 众 (zhòng, จ้ง) อยู่ด้านบน หมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'มากมาย' ส่วนด้านล่างเป็นภาพของ 'ธัญพืช' ที่เติบใหญ่จนลำต้นตั้งตรง ระหว่างกลางมีขีดสองขีดแทนความหมายของ 'ผืนดิน' จึงทำให้ความหมายเดิมของ 齊 (qí, ชี๋) หมายถึง 'การช่วยกันเก็บเกี่ยว' แล้วแผลงมาเป็น 'ความพร้อมเพรียง' ; อักษร 濟 นี้ เมื่อออกเสียงเป็น jì (จี้) จะแปลว่า 'ข้ามน้ำ' หรือ 'ข้ามพ้นอุปสรรค' ; อาจจะหมายถึง 'การให้ความช่วยเหลือ' เพื่อให้ 'ผ่านพ้นอุปสรรค' ไปได้ ซึ่งบางครั้งก็สามารถแปลว่า 'หยุด' ได้ด้วย ... ซึ่ง ... ทุกๆ ตำราจะเลือกออกเสียงเป็น jì (จี้) นี่เอง มันจึงถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ผ่านพ้น' กันทั้งหมด ... แต่เมื่อผมเลือกออกเสียงว่า jǐ (จี่) ความหมายของชื่อบท 既濟 (jì jǐ, จี้ จี่) จึงควรจะแปลว่า 'ผลสำเร็จอันประณีตงดงาม' แทนที่จะแปลเหมือนกับตำราอื่นๆ

เมื่อเราประมวลความหมายของอักษรทั้งสองเข้าด้วยกันเป็น 既濟 (jì jì, จี้ จี่) นี้ มันไม่น่าจะแปลกันด้วนๆ ว่า 'เสร็จสิ้นสมบูรณ์' เฉยๆ แต่น่าจะแปลว่า
'การประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์' ซึ่งเป็นสถานะที่ทุกๆ องค์ประกอบได้ 'สูญสิ้นอัตลักษณ์เฉพาะตัว' (既) แล้ว 'หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน' (濟 ในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน) จนยากที่จะจำแนกแจกแจงออกมาเป็นแต่ละส่วนย่อยๆ อีก ... ผมจึงเลือกแปลความหมายของ 既濟 (jì jì, จี้ จี่) ว่า Undividualizing และสร้างคำไทยให้กับมันว่า 'เอกัตถสมาทาน' อันหมายถึง  'การปฏิบัติเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของอัตลักษณ์ที่แตกต่าง' ... ซึ่งหากเรานำไปเปรียบเทียบกับ 'วรรคที่เจ็ด' อันเป็น 'วรรคสรุป' ของบทที่สอง เราก็จะเห็นความหมายบางอย่างที่คาบเกี่ยวกันพอสมควร เพราะวลี 利永貞 (lì yǒng zhēn, ลี่ หฺย่ง เจิน) นั้น ผมให้ความหมายไว้ว่า 'คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะ (利) และความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง (永貞)' ... ซึ่งถ้าผสมความหมายของวลีดังกล่าวเข้ากับชื่อบทนี้ เราก็จะได้ความหมายว่า 'ความเด็ดเดี่ยว (利) อย่างไม่แปรเปลี่ยน (永) ในหลักแห่งธรรม (貞) ย่อมนำไปสู่การประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ (既濟)' ... นั่นเอง ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨小利貞初吉終亂
hēng xiǎo lì zhēn chū jí zhōng luàn
เฮิง เสี่ยง ลี่ เจิน ฌู จี๋ ง ล่วน



ความจริงก็ไม่ได้มีคำใหม่ใดๆ เลยในวลีนี้ แต่ผมก็คิดว่าเราน่าจะรวบรวมความหมายของแต่ะตัวอักษรให้มากองรวมกันซะอีกครั้ง เพื่อที่จะ 'กรองความหมาย' ของวลีที่ King Wen บันทึกไว้เป็นคำบรรยายให้กับ 既濟 (jì jì, จี้ จี้) นี้ เพื่อจะพยายามทบทวน 'ข้อสันนิษฐาน' ใน 'การจับคู่บท' ที่ผมเกริ่นไว้นั้นอีกครั้งว่า จะมี 'ความเป็นไปได้' มากน้อยแค่ไหน ...

亨 (hēng, เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

小 (xiǎo, เสี่ยว) ถือเป็นคำพื้นฐานที่เราพบเห็นได้ทั่วไป โดยความหมายแรกๆ ที่ทุกคนจะคุ้นเคยกับมันก็คือ 'เล็ก', 'น้อย' ในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ 大 (dà, ต้า) ซึ่งหมายถึง 'ใหญ่', หรือ 'มาก' ; โดยคำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ก็ยังมีการใช้ในความหมายอื่นๆ เช่น 'ความละเอียด' ซึ่งแผลงมาจาก 'ความเล็ก' แล้วจึงแผลงต่อไปเป็น 'ความเอาใจใส่' หรือ 'ความระมัดระวัง' อีกชั้นหนึ่งด้วย

利 (lì, ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

貞 (zhēn, เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

初 (chū, ฌู) แปลว่า 'เริ่มแรก', 'เริ่มต้น', 'ขั้นต้น', 'เบื้องต้น' ; หรือแปลว่า 'ดั้งเดิม' ก็ได้

吉 (jí, จี๋) แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน

終 (zhōng, ง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ' ... ซึ่งโดยทั่วไปก็อาจ 'ตีความ' ให้มีตวามหมายตรงข้ามกับ 初 (chū, ฌู) ได้ ทั้งที่ 'คุ๋ตรงข้าม' โดยนิยามของมันน่าจะเป็นคำว่า 始 (shǐ, ษื่อ) มากกว่า

亂 (luàn, ล่วน) โดยปรกติก็จะใช้ในความหมายว่า 'เละเทะ', 'วุ่นวาย', 'สับสน', 'ไม่มีระเบียบ' ; แต่ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จะเป็นภาพของ 'สองมือกำลังแก้ปมเชือกที่พันกันอย่างยุ่งเหยิง' ดังนั้น ความหมายเดิมของ 亂 (luàn, ล่วน) จึงหมายถึง 'การกรอด้ายให้เป็นระเบียบ', 'การจัดการกับความยุ่งเหยิงวุ่นวาย', หรือ 'การจัดการให้ทุกอย่างเข้าสู่ความมีระเบียบ' ได้ด้วย ... แต่ในชั้นหลังๆ มักจะใช้ในความหมายที่บ่งบอกถึง 'สถานการณ์ความยุ่งเหยิง' หรือ 'ความกระจัดกระจาย' ที่ควรจะได้รับ 'การแก้ไขจัดการให้เกิดระเบียบ' มากกว่า ...

ผมคิดว่าร่องรอยแรกที่เราเห็นในวลีนี้น่าจะเป็นคำว่า 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) ซึ่งไปพ้องคำเดียวกันในวรรคที่เจ็ดของบทที่สอง ซึ่งก็คือ 利 (永) 貞 (lì yǒng zhēn, ลี่ หฺย่ง เจิน) โดยผมแยกอักษร 永 (yǒng, หฺย่ง) ไว้ในวงเล็บเพื่อให้เห็นชัดๆ ว่า 永 (yǒng, หฺย่ง) เป็นเพียงคำคุณศัพท์ให้กับ 貞 (zhēn, เจิน) เท่านั้น

อักษรเจ้าปัญหาอีกตัวหนึ่งของวลีนี้ก็คือ 亂 (luàn, ล่วน) ที่ทุกตำราให้ความหมายเดียวกันหมดคือ 'ความสับสนวุ่นวาย' ประมาณว่าต้องการจะให้มันเป็น 'คำตรงข้าม' ของ 吉 (jí, จี๋) ให้รู้แล้วรู้รอดไปซะเลย เนื่องจากมี mindset ให้ 初 (chū, ฌู) กับ 終 (zhōng, ง) เป็น 'คู่ตรงข้าม' ไปซะก่อนแล้ว ... ซึ่ง ... จริงๆ แล้ว 終 (zhōng, ง) ไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'สิ้นสุด' หรือ 'สุดท้าย' ก็ได้ โดย 終 (zhōng, ง) สามารถแปลว่า 'ตั้งแต่ต้นจนจบ' หรือ 'ตลอดรอดฝั่ง' ได้ด้วย ... ส่วน 'คำตรงข้าม' ของ 亂 (luàn, ล่วน) ในความหมายของ 'ความไม่เป็นระเบียบ' หรือ 'กระจุยกระจาย' นั้น ก็ไม่ใช่ 吉 (jí, จี๋) มาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เพราะ 'คำตรงข้าม' ที่ 'ถูกคู่' ของมันควรจะเป็น 萃 (cuì, ฉุ้ย) ในความหมายของ 'การหล่อหลอม' หรือ 'ความเป็นเอกภาพ' อันเป็นชื่อบทที่สี่สิบห้า ซึ่งเป็นเพียงบทเดียวที่เราจะได้พบกับอักษร 亂 (luàn, ล่วน) ก่อนที่จะมาถึงบทที่หกสิบสามนี้ ... ดังนั้นวลีที่ว่า 初吉終亂 (chū jí zhōng luàn, ฌู จี๋ ง ล่วน) จึงอาจจะไม่ได้มีความหมายใน 'เชิงเปรียบเทียบ' แบบ 'คู่ตรงข้าม' เลยก็เป็นไปได้ ... เพราะ 終亂 (zhōng luàn, ฌู จี๋ ง ล่วน) ที่เราเห็นอยู่นี้ อาจจะมีความหมายว่า 'ยุติ (終) ความวุ่นวาย (亂)' ... รึเปล่า ?!?!!

ผมขอสรุปประเด็นทั้งหมดที่เล่ามานี้ให้เป็นคำบรรยายความหมายของ 既濟 (jì jì, จี้ จี่) หรือ
'เอกัตถสมาทาน' (Undividualizing) ว่า ...มันคือ 'สภาวะแห่งพัฒนาการอันเป็นระบบระเบียบ (亨) ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นตามลำดับขั้นตอนด้วยความใส่ใจอย่างระแวดระวัง เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลอันบริสุทธิ์ (小利貞) อันความริเริ่มที่สร้างสรรค์ (初) ย่อมนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์อันรุ่งโรจน์ (吉) ในขณะที่ความแข็งขืนอย่างสุดโต่ง (終) ย่อมนำไปสู่สภาพที่สับสนวุ่นวายด้วยความแปลกแยก (亂)' ... ประมาณว่า นี่คือบทขยายความให้กับวลี ... 'คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะ (利) และความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง (永貞)' ... แต่ก็เสริมด้วยข้อเตือนสติไว้ตอนท้ายวลีว่า แม้จะมีความริเริ่มที่สร้างสรรค์ (初吉) แต่หาก 'ไม่มีความละเอียดรอบคอบ' มุ่งแต่จะดำเนินงานด้วยความ 'หักหาญอย่างสุดโต่ง' (終) ผลลัพธ์ก็อาจจะ 'เละเทะ' จน 'ไม่เป็นชิ้นเป็นอันใดๆ' เลย (亂) ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

曳其輪濡其尾無咎
yè qí lún rú qí wěi wú jiù
เยี่ย ชี๋ ลุ๋น ญู๋ ชี๋ เหฺว่ย อู๋ จิ้ว



曳 อ่านว่า yè (เยี่ย) แปลว่า 'ดึง', 'ลาก', หรือ 'จูง' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'นำทาง' ; แต่ถ้าฉุดกระชากลากถูกันจริงๆ ก็จะกลายเป็น 'โซเซ', หรือ 'เอนเอียง' ได้ด้วยเหมือนกัน ... :P

輪 อ่านว่า lún (ลุ๋น) ซึ่งปรกติจะแปลว่า 'ล้อ', 'เฟือง', ซึ่งเป็น 'สิ่งที่หมุนได้เหมือนล้อ' หรือบางทีก็จะหมายถึง 'สิ่งที่สัณฐานกลมเหมือนล้อ', เช่น 'พระจันทร์เต็มดวง' ; และเมื่อส่วนใหญ่ที่มักจะหมายถึง 'ล้อของรถ' คำว่า 輪 (lún, ลุ๋น) จึงสามารถแปลว่า 'รถ' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยา จะแปลว่า 'หมุน' หรือ 'แกว่ง' (ซึ่งเป็นการหมุนแบบไม่เต็มวง)

濡 อ่านว่า rú (ญู๋) ตัวนี้แปลว่า 'ชื้น', 'เปียก', หรือ 'นิ่ม', 'อ่อนนุ่ม' ; ซึ่งบางทีก็หมายถึง 'จุ่มลงในน้ำ', 'แช่น้ำ', หรือ 'ทำให้เปียก' และ 'ทำให้นิ่ม' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายที่ 'ทำให้อ่อนหยุ่น' โดยอาศัยความร้อน จึงทำให้ 濡 (rú, ญู๋) สามารถใช้ในความหมายของ 'ทำให้อบอุ่น', 'ทำให้ร้อน', หรือ 'ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น' ได้ด้วย ; อย่างไรก็ตาม โดยลักษณะของ 'การทำให้อ่อนนุ่ม' นี้ก็มีส่วนที่ทำให้ 濡 (rú, ญู๋) หมายถึง 'การชะลอตัว', 'ทำให้ช้าลง', หรือ 'ทำให้หยุดชะงัก' ก็ได้เหมือนกัน

尾 (wěi, เหฺว่ย) นั้นเคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'หาง', 'ท้าย' หรือ 'ข้างหลัง'  ... บางครั้งยังสามารถแปลว่า 'ท้ายที่สุด', 'ต่ำที่สุด', 'ก้นบึ้ง', 'ปลายสุด' หรือ 'ชายขอบ' ได้ด้วย ... ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ... ไม่จำเป็นต้องแปลว่า 'หาง' เสมอไป !!!

ถ้าจะว่ากันแบบที่ตำราทั้งหลายแปลเอาไว้ เราก็คงจะได้ข้อความประมาณว่า ...
'หมุนวงล้อ เอาหางจุ่มน้ำ ไม่ผิดอะไร' ... ซึ่งไม่รู้ว่ากำลังสื่อถึงอะไรเลยซักอย่าง ... ว่ามั้ย ?!?! ... เพราะฉะนั้น เรามาว่ากันแบบของเราดีกว่า ผมขอชวนให้ดูข้าม shot ไปวรรคที่หกในบทนี้ซะก่อนเลย เราจะเห็นวลีสั้นๆ ว่า 濡其首厲 (rú qí shǒu lì, ญู๋ ชี๋ โษ่ว ลี่) ซึ่งเจ้าคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) กับ 厲 (lì, ลี่) นั้น เราพบเห็นมาแทบจะตลอดเล่มคัมภีร์อยู่แล้วว่า มันมีความเป็น 'คู่ตรงข้ามกัน' พอสมควร ยิ่งเมื่อถูกเสริมด้วยคำว่า 首 (shǒu, โษ่ว) กับ 尾 (wěi, เหฺว่ย) ซึ่งหมายถึง 'หัว' กับ 'ท้าย' เข้าไปด้วยแล้ว ความเป็น 'คู่วลี' ของทั้งสองวรรคก็ยิ่งมีความชัดเจนเอามากๆ ซึ่งผมเชื่อว่า เจ้าสองวลีที่เรากำลังพยายาม 'ถอดรหัส' อยู่นี้ มันคือส่วนขยายให้กับวลีต้นบทที่ King Wen บันทึกไว้ว่า 初吉終亂 (chū jí zhōng luàn, ฌู จี๋ ง ล่วน) อย่างแน่นอน !! ... เพราะมีคำที่หมายถึง 'หัว' คือ 初 (chū, ฌู) กับ 首 (shǒu, โษ่ว) ทั้งยังมีคำที่หมายถึง 'ท้าย' คือ 終 (zhōng, ง) กับ 尾 (wěi, เหฺว่ย) ให้พวกเรามา 'เดารหัส' กัน ...

อ้ะ ... มาดูอีกคำหนึ่งในวรรคนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กันมั่งครับ่ นั่นก็คือคำว่า 輪 (lún, ลุ๋น) ที่หมายถึง 'วงล้อ' ซึ่งโดยลักษณะของเจ้าสิ่งนี้ มันจะไม่น่าจะสามารถระบุ 'จุดเริ่มต้น' หรือ 'จุดสิ้นสุด' ใดๆ ได้เลย เพราะมันคือ 'ความต่อเนื่อง' ... ดังนั้น คำใดๆ ที่เราเข้าใจว่าหมายถึง 'หัว' กับ 'หาง' มันก็อาจจะไม่ได้มีความหมายตามนั้นได้ด้วยเหมือนกัน !! ... ว่ามั้ย ?!!??! ... สมมุติว่า ... ผมตัดสินใจให้ความหมายกับ 輪 (lún, ลุ๋น) ซะใหม่ว่า 'รอบ' หรือ 'วัฏจักร' ซะเลยล่ะ ?!!????!? ... เราจะได้ความหมายที่แตกต่างออกไปยังไงบ้างสำหรับวรรคนี้ ?! ... นี่เลย ...
'การขับเคลื่อน (曳) ในแต่ละวัฏจักร (其輪) นั้น แม้ว่าจะต้องทุ่มเทอย่างมุ่งมั่น แต่ก็ต้องรู้จักบรรเทา (濡) ความหักหาญอย่างสุดโต่งสุดขั้ว (其尾) เพื่อมิให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน (無咎)' ... ไม่มีใคร 'เอาตูดแช่น้ำ' ทั้งนั้นครับ !! ... 😂

อยากจะบอกว่า นี่คือการขยายความให้กับวลีเจ้าปัญหาอย่าง 初吉終亂 (chū jí zhōng luàn, ฌู จี๋ ง ล่วน) ของ King Wen ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ เพราะ 'การกำหนดหลักปฏิบัติอันดีไว้เป็นรากฐานตั้งแต่ต้น' (初吉) นั้น แม้ว่าจะช่วย 'ยุติความสับสนวุ่นวาย' (終亂) อันเกิดจาก 'ความไม่ชัดเจน' ลงไปได้ แต่หากดำเนินการด้วย 'ความหักหาญอย่างสุดขั้ว' (終) มันก็สามารถนำไปสู่ 'ความแตกแยกวุ่นวาย' (亂) ได้เช่นกัน ... เพราะฉะนั้น 'จิวกง' จึงไม่ได้บอกให้ใรา 'เอาตูดแช่น้ำ' (濡其尾) แต่เตือนให้เรารู้จัก 'ยับยั้งชั่งใจ' (濡 คือทำให้เบาบางลง) เพื่อจะไม่ 'หักหาญอย่างสุดโต่ง' (其尾) ... โดยคำว่า 尾 (wěi, เหฺว่ย) ในที่นี้คือ synonym ของคำว่า 終 (zhōng, ง) ในความหมายของ 'ปลายขอบ' หรือ 'สุดขอบ' นั่นเอง !!?! ... กล่าวคือ ... ถ้าหักหาญอย่างสุดโต่ง (終) ผลลัพธ์ก็จะเละเทะ (亂) แต่ถ้ารู้จักยับยั้งความสุดโต่ง (濡其尾) ก็จะไม่ก่อกรณีพิพาทให้ต้องบาดหมางกัน (無咎) ... อย่างนี้เลย !!!?!?


 

สอง หยิน :

婦喪其茀勿逐七日得
fù sāng qí fú wù zhú qī rì dé
ฟู่ ซัง ชี๋ ฟู๋ อู้ จู๋ ชี ญื่อ เต๋อ



婦 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ภรรยา' หรือ 'ผู้หญิง (ที่สมรสแล้ว)', 'หญิงหม้าย', 'ลูกสะใภ้' ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้หญิง' ที่อยู่ในวัยที่สมควรจะแต่งงานแต่งการได้แล้ว ; ในอีกความหมายหนึ่งคือ 'มีมารยาทงาม' ซึ่งก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'ได้รับการอบรมมาดี' หรือ 'มีคุณธรรม' ด้วย ; และครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 服 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'เสื้อผ้า', 'การแต่งกาย', 'อุปนิสัย', 'ความเคยชิน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การฝึกปรือ' (乘 เฌิ๋ง) ได้ด้วยเหมือนกัน ;)

喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', 'สิ้นสุด'

茀 อ่านว่า fú (ฟู๋) หมายถึง 'พงหญ้า' หรือ 'บริเวณที่รกพงไปด้วยหญ้า' ; ซึ่งสะท้อนถึง 'ความไม่สะดวกที่จะสัญจรไป' หรือ 'ความไม่สามารถสัญจร' ; ส่วนความหมายแปลกๆ ของมันก็คือ 'การจัดการ' (

治 : zhì,

จื้อ) หรือ 'การทำให้ชัดเจน' ... ซึ่งน่าจะมีควมเป็นมาแบบคำว่า 亂 (luàn, ล่วน) ที่นอกจากจะแปลว่า 'สับสนวุ่นวาย' ก็ยังสามารถแปลว่า 'จัดการกับเรื่องวุ่นๆ' ได้ด้วย ; ... แต่ความหมายที่ประหลาดสุดก็คงจะเป็นการใช้ในความหมายเดียวกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่แปลว่า 'โชคลาภ' ในสมัยก่อนนั่นแหละ ซึ่งนอกจากการเป็น 'คำพ้องเสียง' แล้ว ก็นึกไม่ออกเลยว่าไปมาอีท่าไหนของมัน

逐 อ่านว่า zhú (จู๋) แปลว่า 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

ขอพักท่อนแรกของวรรคนี้ไว้ก่อนนะครับ ผมอยากจะชวนดูวลีท่อนท้ายของวรรคนี้ ซึ่งเป็นวลีที่ซ้ำกับท่อนท้ายในวรรคที่สองของบทที่ห้าสิบเอ็ดนู่นเลย ... 震來厲億喪貝躋于九陵勿逐七日得 (zhèn lái lì yì sāng bèi jī yǘ jiǔ líng wù zhú qī rì dé, เจิ้น ไล๋ ลี่ อี้ ซัง เป้ย จี ยฺวี๋ จิ่ว ลิ๋ง อู้ จู๋ ชี ญื่อ เต๋อ) ...
'การใช้อำนาจและอิทธิพล (震) เพื่อ (來) เคี่ยวเข็ญกดดันให้ต้องดำเนินการอย่างสุดโต่ง (厲) นั้น ต่อให้มีเสถียรภาพ (億) แต่ก็ปราศจาก (喪 คือสูญเสีย) ดุลยภาพแห่งความสมประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ (貝) การจะพัฒนาศักดิ์สถานะ (躋) ไปสู่ (于) ความมีบารมีที่อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงได้อย่างยั่งยืน (九陵) นั้น ย่อมมิอาจ (勿) กระทำการใดๆ อย่างเร่งร้อนเพื่อยื้อยุดแย่งชิงเอามา (逐) แต่จะต้องอาศัยความหนักแน่นมั่นคงในการใช้ศักยภาพแห่งตนอย่างสร้างสรรค์ (七日) จึงจะประสบผล (得)'

ขอเล่าย้อนความหมายของ 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) กันก่อนนะ ... คำว่า 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) เคยถูกเล่าเอาไว้ในบทที่ยี่สิบสี่ไปครั้งหนึ่งแล้วว่า ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็จะแปลว่า 'เจ็ดวัน' แต่มันอาจจะหมายถึง 'ทุกๆ เจ็ดวัน' หรือ 'ตลอดทั้งสัปดาห์' ซึ่งก็คือ 'ทุกๆ วัน' ก็ได้ ... ซึ่ง ... เราก็พอจะเห็นอยู่แล้วว่า อักษร 七 (qī, ชี) ในบริบทนี้ ดูไม่คล้ายกับจะหมายถึง 'จำนวนนับ' ซักเท่าไหร่ ... โดยผมได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ในบทที่ห้าสิบเอ็ดว่า อักษร 七 (qī, ชี) ได้รับการ 'ตีความ' ไว้โดยพจนานุกรมบางฉบับว่า มันคือ 陽 (yáng, ยั๋ง) หรือ 'หยาง' และเป็น 'หยาง' ที่มีพลานุภาพมากที่สุดอีกต่างหาก เนื่องจากเป็น 'พลังแห่งหยาง' ที่อยู่ในขั้นตอนของ 'การพลิกฟื้นคืนจาก 六' อันเป็น 'พลังแห่งหยิน' ที่พัฒนาจนสุดล้าแล้วนั่นเอง ... ซึ่ง ... เมื่อเทียบกับภาพ 'ตรีลักษณ์' มันก็จะตรงกับ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) นั่นเอง ... เพราะฉะนั้น อีกความหมายหนึ่งของ 七 (qī, ชี) ก็คือ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) ที่หมายถึง 'ฟ้าคำราม' อันเป็นสัญลักษณ์ของ 'การสำแดงเดชานุภาพ' โดยเฉพาะ ... ส่วนอักษร 日 (rì, ญื่อ) ที่นอกจากจะหมายถึง 'ดวงตะวัน', 'กลางวัน', 'วัน', หรือ 'เวลา' แล้ว ความหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับ 'ดวงอาทิตย์' ก็จะสามารถหมายถึง 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', หรือ 'สว่างไสว' (เหมือนเวลากลางวัน) ได้ด้วย ... แต่ความหมายที่แปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็จะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ของจริง', 'ของแท้', 'หนักแน่น', 'สัจจริง' หรือ 'ซื่อสัตย์' (ดั่งตะวันที่ส่องสว่างตลอดเวลา) ... และแน่นอนว่า มันได้สะท้อนความหมายของคำว่า 'คุณธรรม' อยู่กลายๆ ด้วยเหมือนกัน :)

ถึงตรงนี้ผมก็อยากจะชวนให้ข้ามไปดูอะไรบางอย่างใน 'คู่วลี' ของวรรคนี้คือวรรคที่ห้าเลยดีกว่า มันมีหลายๆ แง่มุมที่อักษรในสองวรรคนี้กำลังสื่อถึงกัน เริ่มจากอักษร 茀 (fú, ฟู๋) ที่ครั้งหนึ่งในอดีตมันก็เคยมีความหมายเหมือนกับ 福 (fú, ฟู๋) ซึ่งปรากฏอยู่ตรงท้ายวรรคที่ห้าด้วย ... ในขณะที่ 七 (qī, ชี) ที่สามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) นั้น มันก็ดันมีเกี่ยวข้องในเชิงสัญลักษณ์กับ 東 (dōng, ตง) ซึ่งหมายถึง 'ทิศตะวันออก' หรือ 'การเริ่มต้น' ในวรรคที่ห้าด้วย ... สุดท้ายก็คืออักษร 得 (dé, เต๋อ) ที่ดูเหมือนลอยๆ โดยไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า 'ได้รับ' หรือ 'บรรลุ' อะไรที่ไหนยังไง แต่มันก็ดันเป็น synonym กับ 受 (shòu, โษ้ว) ซึ่งในวรรคที่ห้ากำกับไว้ชัดเจนว่า จะได้รับ 福 (fú, ฟู๋) โดยเงื่อนไขก็คือต้อง 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งเล่าไปแหม็บๆ ว่า เป็น synonym หนึ่งของ 日 (rì, ญื่อ) ที่เราเห็นในวรรคที่สองนี้ ... เกี่ยวกันซะแน่นขนาดนี้ มันจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ทั้งสองวรรคนี้จะต้องมีความหมายที่เชื่อมโยงถึงกัน ...

มาครับ ...
'วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม (婦) ย่อมมีเพื่อการขัดเกลา (喪) ความเถื่อนถ่อยอันไม่พึงประสงค์ (其茀) มิใช่เพื่อ (勿) การแข่งขันประกวดประชันกัน (逐) อย่างฉาบฉวย ความมุ่งมั่นที่จะสืบสานอย่างยั่งยืน (七日) เท่านั้น จึงจะบรรลุผล (得) แห่งความเพียรพยายาม' ... เดี๋ยวค่อยไปว่ากันต่อในวรรคที่ห้าอีกทีนะครับ !!


 

สาม หยาง :

高宗伐鬼方三年克之小人勿用
gāo zōng fá guǐ fāng sān nián kè zhī xiǎo rén wù yòng
เกา จง ฟ๋า กุ่ย ฟัง ซัน เนี๋ยน เค่อ จือ เสี่ยว เญิ๋น อู้ โยฺว่ง



高 อ่านว่า gāo (เกา) แปลว่า 'สูง', 'ความสูง', 'ส่วนสูง', หรือ 'ยกขึ้นสูง' ; มันจึงมีการใช้เพื่อแสดง 'ความยกย่อง', หรือ 'การให้เกียรติ' เพื่อบ่งบอก 'ความสูงส่ง' ของบุคคลหรือสิ่งของหนึ่งๆ ด้วย

宗 อ่านว่า zōng (จง) แปลว่า 'ชนเผ่า', 'เผ่าพันธุ์', 'เครือญาติ', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน' ซึ่งเป็นความหมายที่สามารถใช้อักษร 門 (mén, เมิ๋น) ทดแทนได้ทั้งหมด ... แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร 宗 (zōng, จง) ยังแฝงความหมายของ 'ผู้อาวุโสประจำชนเผ่า', 'ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'บรรพบุรุษ', 'ผู้นำชุมชน', หรือ 'ผู้มีอำนาจปกครองในชุมชน' ซึ่งมีนัยของ 'การยกย่องให้ความสำคัญ' หรือ 'ให้ความเคารพ' เหนือกว่าบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นๆ ด้วย และในบางครั้งมันก็ยังสามารถหมายถึง 'ลัทธิคำสอน' และอาจจะแผลงเป็น 'เจ้าลัทธิ' ก็ได้ ...

伐 อ่านว่า fá (ฟ๋า) แปลว่า 'หั่น', 'สับ', 'ตัด', 'โค่น', 'สังหาร' หรือ 'ลงทัณฑ์' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ล้มล้าง' หรือ 'ทำให้หมดสิ้นไป' ก็ได้

鬼 อ่านว่า guǐ (กุ่ย) โดยทั่วไปเราจะเห็นการใช้คำนี้ในความหมายว่า 'วิญญาณ' หรือ 'ภูติผีปีศาจ' ; แต่ความหมายอื่นๆ ของมันยังสามารถหมายถึง 'สิ่งชั่วร้าย', 'คนชั่วร้าย', 'ความลุ่มหลงมัวเมา', 'ความเหลวแหลก', 'ความเหลวไหล' หรือความใดๆ ที่สื่อไปในทางที่เสื่อมเสียเหมือนกับคำสบถทั่วๆ ไปในภาษาต่างๆ ด้วย

方 อ่านว่า fāng (ฟัง, ฟาง) แปลว่า 'สี่เหลี่ยมมุมตรง (90˚)' (โดยมากมักจะหมายถึง 'สี่เหลี่ยมจัตุรัส'), 'ลูกบาศก์', 'เท่ากัน' ; บางทีเลยหมายถึง 'กฎระเบียบ', หรือ 'เหตุผล' ได้ด้วย … และยังแปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', 'ทิศทาง', หรือ 'สถานที่' ก็ได้

三 อ่านว่า sān (ซัน, ซาน) แปลว่า 'จำนวนสาม' ซึ่ง 'มากกว่าสอง' จึงทำให้มีความหมายว่า 'มาก', 'บ่อย' ได้ด้วย

年 อ่านว่า nián (เนี๋ยน) แปลว่า 'ปี', 'อายุ', หรือแปลว่า 'เวลา', 'ยุคสมัย' ; บางครั้งยังหมายถึง 'ผลผลิต (ในรอบระยะเวลาหนึ่งปี)'

克 อ่านว่า kè (เค่อ) แปลว่า 'มีความสามารถ' (competence), 'สามารถ', 'เป็นไปได้' ; แปลว่า 'ชนะ', 'กำราบ', 'ทำให้พ่ายแพ้' จึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' เช่น 'ควบคุมความประพฤติ (ของตัวเอง)' หรือ 'จำกัด' เช่น 'กำหนดเส้นตาย' ที่เป็น 'การจำกัดเวลา'

เหมือนมีการเล่น 'คำตรงข้าม' อยู่ตู่หนึ่งนะครับในวรรคนี้ นั่นคือคำว่า 高宗 (gāo zōng, เกา จง) ที่สามารถแปลว่า 'บุคคลที่ควรค่าแก่การเทิดเทูน' ซึ่งจะคล้ายกับคำว่า 君 (jǖn, จฺวืน) อันเป็นคำที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว กับคำว่า 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ที่มีความหมายว่า 'สามัญชน' หรืออาจจะถึงขั้น 'คนถ่อย' ก็ได้ในบางกรณี ... แต่มันน่าจะมีเหตุผลบางอย่างที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 高宗 (gāo zōng, เกา จง) แทนที่จะเป็นคำว่า 君 (jǖn, จฺวืน) ในบริบทของบทนี้อยู่เหมือนกัน เพราะการเอ่ยถึง 'ความเป็นปึกแผ่น' ในลักษณะของ 'เอกัตถภาวะ' นั้น คำว่า 高宗 (gāo zōng, เกา จง) คงจะไม่ได้หมายถึงตัว 'ผู้นำ' เพียงคนเดียว แต่น่าจะหมายถึง 'ชนชาติที่สูงส่งด้วยวัฒนธรรมอันดี' ไปเลยก็ได้ ซึ่งมันก็จะทำให้ 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) อาจจะหมายถึง 'ชนชาติที่ด้อยอารยธรรม' ก็ไม่แน่อีก ?!??!! ... ซึ่งความหมายจริงๆ ของวรรคนี้ จำเป็นต้อง 'ตีความ' ตามบริบทของวรรคที่สี่ที่เป็น 'คู่วลี' โดยตรงของมันเท่านั้น ...

อย่างนี้เลยดีกว่าครับ ...
'อันชนชาติที่สูงส่งด้วยวัฒนธรรมอันดี (高宗) นั้น ก็ด้วยการที่พวกเขาได้ขัดเกลา (伐) ด้านที่ชั่วร้ายต่ำทราม (鬼方) ให้ค่อยๆ หมดไปอย่างต่อเนื่องกันนานหลายปี (三年) กว่าจะเข้าที่เข้าทางจนเป็นระบบระเบียบที่สืบทอดกันต่อมา (克之) ในขณะที่ชนชาติอันป่าเถื่อนด้อยอารยธรรม (小人) ก็ด้วยเหตุแห่งความด้อยพัฒนา (勿用) ของชนในชาติ' ... เนื้อความต่อจากตรงนี้ก็คือสิ่งที่ 'จิวกง' บรรยายไว้ในวรรคที่สี่ ... เราไปดูกัน ...


 

สี่ หยิน :

繻有衣袽終日戒
xǖ yǒu yī rú zhōng rì jiè
ซฺวี โหฺย่ว อี ญู๋ ญื่อ เจี้ย



繻 อ่านว่า xǖ (ซฺวี) หมายถึง 'ผ้าไหม' หรือ 'ใยไหม' ; และยังสามารถหมายถึง 'เส้นใย' ที่ถักทอขึ้นมาเป็น 'ผืนผ้า' หรือ 'ตาข่าย' ก็ได้

衣 อ่านว่า yī (อี) ปรกติจะแปลว่า 'เสื้อ' และสามารถหมายถึง 'สิ่งที่ห่อหุ้ม' หรือ 'สิ่งที่ฉาบเคลือบไว้ภายนอก'

袽 อ่านว่า rú (ญู๋) หมายถึง 'เสื้อผ้าที่เก่าขาด'

戒 อ่านว่า jiè (เจี้ย) แปลว่า 'เตรียมพร้อม', 'ระแวดระวัง', 'รอบคอบ' ; 'เตือนภัย', 'ยับยั้ง' ; แต่ในความหมายว่า 'เตรียมพร้อม' นั้นกลับสามารถแปลว่า 'ทันทีทันใด', 'กระฉับกระเฉง', 'รวดเร็ว' และ 'ว่องไว' ได้เหมือนกัน

ถ้าเราไล่เรียงความหมายทั้งหมดมาตั้งแต่ต้น การที่จู่ๆ 'จิวกง' ก็หยิบยกเอาเรื่อง 'ผ้า' หรือ 'ผืนผ้า' ขึ้นมาเป็นประเด็นว่า มี (有) ทั้งประเภทที่สามารถ 'ใช้เพื่อการสวมใส่' (衣) กับประเภทที่ 'ขาดรุ่งริ่ง' จน 'ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน' (袽) นั้น ... มันควรจะเป็น 'ภาพเปรียบเทียบ' ของ 吉 (jí, จี๋) กับ 亂 (luàn, ล่วน) ในวลีขยายความที่ King Wen บันทึกไว้เป็นคำบรรยายความหมายของ 'ชื่อบท'  มากกว่าที่จะใช้ในความหมายอื่นๆ ... และ 繻 (xǖ, ซฺวี) ซึ่งหมายถึง 'ตาข่าย' หรือ 'ผืนผ้า' ที่ถักทอขึ้นมาจาก 'เส้นใยเล็กๆ' นั้น ก็ไม่น่าที่จะมีความหมายอื่น นอกจากจะเป็น 'ภาพเปรียบเทียบ' ให้กับ 'วัฒนธรรม-ประเพณี' ที่ 'ถักทอความเป็นชนชาติ' หนึ่งๆ เข้าด้วยกัน ... และเจ้า 'วัฒนธรรม-ประเพณี' นี้เองที่จะเป็น 'ปัจจัยชี้วัด' ถึง 'ความเป็นระบบระเบียบ' (克) กับ 'ความด้อยพัฒนา' (勿用) ของ 'ชนในแต่ละชาติ' ...

ถ้อยคำเต็มๆ ของทั้งสองวรรคเมื่อจับมาเรียงต่อกัน ก็จะได้ความว่า ...
'อันชนชาติที่สูงส่งด้วยวัฒนธรรมอันดี (高宗) นั้น ก็ด้วยการที่พวกเขาได้ขัดเกลา (伐) ด้านที่ชั่วร้ายต่ำทราม (鬼方) ให้ค่อยๆ หมดไปอย่างต่อเนื่องกันนานหลายปี (三年) กว่าจะเข้าที่เข้าทางจนเป็นระบบระเบียบที่สืบทอดกันต่อมา (克之) ในขณะที่ชนชาติอันป่าเถื่อนด้อยอารยธรรม (小人) ก็ด้วยเหตุแห่งความด้อยพัฒนา (勿用) ของชนในชาติ' ... ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ... 'วัฒนธรรมย่อมเปรียบดั่งเส้นใย (繻) ที่ถักทอสังคมให้มี (有) ความละเอียดประณีตดุจอาภรณ์ที่สวมใส่ (衣) หรือชำรุดทรุดโทรมเพราะความคร่ำคร่า (袽) ที่ฝ่ายปกครองจะต้องมีความใส่ใจอย่างรอบคอบตลอดเวลา (終日戒)' ... 'จิวกง' นั้นมีความคมคายได้ปานนี้จริงๆ ... เชื่อผมสิ !!?!!


 

ห้า หยาง :

東鄰殺牛不如西鄰之禴祭實受其福
dōng lín shā niú bù rú xī lín zhī yüè jì shí shòu qí fú
ตง ลิ๋น า นิ๋ว ปู้ ญู๋ ซี ลิ๋น จือ เยฺวี่ย จี้ ซื๋อ โษ้ว ชี๋ ฟู๋



วรรคนี้มีการใช้คำที่เกี่ยวกับ 'ทิศ' ถึง 2 คำด้วยกัน คือ 東 (dōng, ตง) หมายถึง 'ทิศตะวันออก' กับ 西 (xī, ซี) ที่หมายถึง 'ทิศตะวันตก' ... ซึ่งทุกครั้งที่ King Wen หรือ 'จิวกง' เล่นคำที่เกี่ยวกับ 'ทิศ' ถ้าไม่ใช่เพราะต้องการโยงไปหาสัญลักษณ์ 'โป้ยก่วย' ก็มักจะเล่นกับ 'ความหมายแฝง' ของคำที่ใช้เป็น 'ชื่อทิศ' อยู่เสมอ ... ยังเดาไม่ถูกเหมือนกันครับว่า 'จิวกง' จะมาไม้ไหนในวรรคนี้ ...

東 (dōng, ตง) ปรกติก็แปลว่า 'ทิศตะวันออก' ซึ่งสื่อถึง 'การเริ่มต้นวันใหม่' มันจึงแฝงความหมายของ 'การเริ่มต้น' หรือ 'การริเริ่ม' ไว้ด้วย ; ส่วนในมุมของเรื่องที่พักอาศัย ตำแหน่ง 'ห้องพักของเจ้าบ้าน'  มักจะอยู่ด้าน 'ทิศตะวันออกของบ้าน' โดยตำแหน่งห้องพักของแขกผู้มาเยือนมักจะอยู่ด้านทิศตะวันตก ถือเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่งตามความหมายของทิศแบบจีน ; ดังนั้นเอง 東 (dōng, ตง) จึงสามารถที่จะแปลว่า 'เจ้าบ้าน' หรือ 'เจ้าภาพ', ซึ่งเป็น 'ผู้ให้การต้อนรับ' ได้ด้วย

西 (xī, ซี) ปรกติจะแปลว่า 'ทิศตะวันตก' แต่ที่มาของความหมายว่า 'ทิศตะวันตก' นี่สิที่น่าสนใจมากๆ เพราะ 'ภาพอักษร' ของ 西 นั้นมาจากการเขียนภาพ 'นก' ที่กำลัง 'นอนพัก' อยู่บน 'รังนก' ในลักษณะที่มีความหมายว่า เป็น 'การกลับคืนสู่รัง' เมื่อ 'พระอาทิตย์ตกดิน' … ด้วยเหตุนี้ ความหมายแปลกๆ ของอักษร 西 จึงสามารถที่จะหมายถึง 'การหยุดพัก', 'ที่พัก', 'ที่พักพิง' …

ทีนี้ … ถ้ายังจำกันได้ถึงตอนที่อธิบายเรื่อง 'ความหมายของทิศ' ในคติความเชื่อแบบจีน … ความหมายหนึ่งของ 'ทิศตะวันออก' จะหมายถึง 'ความก้าวหน้า', หรือ 'การพัฒนา' … ส่วน 'ทิศตะวันตก' ก็จะหมายถึง 'การอนุรักษ์', 'การเก็บรักษา', หรือ 'การทะนุถนอม' … ดังนั้น 'ทิศตะวันตก' จึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ที่ต้องให้ความเคารพ' เช่น บรรพบุรุษ, ครูบาอาจารย์, หรือเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งโดยปรกติแล้ว จะจัดวางให้อยู่ทาง 'ทิศตะวันตก' โดยหันหน้าไปทาง 'ทิศตะวันออก' ทุกครั้ง … และเมื่อมีความหมายถึง 'สิ่งที่ต้องให้ความเคารพ' หรือ 'สิ่งที่ต้องผดุงรักษาไว้' หรือ 'ต้องอนุรักษ์เอาไว้' มันจึงสื่อความหมายถึง 'หลักคุณธรรม', 'คุณงามความดี', หรือ 'คำสั่งสอน' ต่างๆ ได้ด้วย …

鄰 อ่านว่า lín (ลิ๋น) สมัยราชวงศ์โจวใช้คำนี้เป็น 'ชื่อหน่วยนับ' ของจำนวนหลังคาเรือนในแต่ละชุมชน โดยจะเรียกจำนวน 5 หลังคาเรือนว่า 1 ลิ๋น (鄰) และเรียกจำนวน 5 ลิ๋นว่า 1 หฺลี่ (里) … ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว 鄰 (lín, ลิ๋น) จะถูกใช้ในความหมายว่า 'เพื่อนบ้าน' ซึ่งเมื่อขยายความออกไปในระดับหมู่บ้าน มันก็จะหมายถึง 'หมู่บ้านใกล้เคียง' หรือในระดับประเทศก็จะหมายถึง 'ประเทศเพื่อนบ้าน' ที่มีเขตแดนติดต่อกัน ; บางครั้งจึงแปลว่า 'สนิทสนม' หรือ 'ใกล้ชิด' ...

โดยความนิยมของ 'การตีความคัมภีร์อี้จิง' นั้น 東鄰 (dōng lín, ตง ลิ๋น) กับ 西鄰 (xī lín, ซีลิ๋น) มักจะถูกโยงกลับไปหา 'สัญลักษณ์โป้ยก่วย' ประจำทิศตะวันออก กับทิศตะวันตกบนแผนผังของ King Wen ซึ่งจะทำให้ 東鄰 (dōng lín, ตง ลิ๋น) หมายถึง 震 (zhèn, เจิ้น) หมายถึง 'ฟ้าคำราม' ในณะที่ 西鄰 (xī lín, ซีลิ๋น) จะหมายถึง 兑 (duì, ตุ้ย) หมายถึงทะเลสาบ ซึ่งถ้าเราถือคติให้ 'ตะวันออก' แทน 'การเริ่มต้น' แล้ว 'ตะวันตก' แทน 'การสิ้นสุด' เมื่อเราเอา 'สัญลักษณ์' ทั้งสองมาเรียงซ้อนกัน มันก็จะออกมาเป็น ䷐ (随 : suí, ซุ๋ย) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำบทที่สิบเจ็ด อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความโอนอ่อน' ... ความหมายจริงๆ ของวลีที่ว่า 東鄰殺牛不如西鄰之禴祭 (dōng lín shā niú bù rú xī lín zhī yüè jì, ตง ลิ๋น า นิ๋ว ปู้ ญู๋ ซี ลิ๋น จือ เยฺวี่ย จี้) จึงน่าจะซุกซ่อนความหมายบางอย่างที่ไม่ใช่ 'การฆ่าวัวทางด้านตะวันออก' กับ 'การบวงสรวงทางด้านตะวันตก' ตามตัวอักษรที่เห็นนี้อย่างตรงไปตรงมา

殺 อ่านว่า shā (า) มีความหมายโดยทั่วๆ ไปก็คือ 'ฆ่า', 'สังหาร', 'ทำให้เสียชีวิต', มันจึงสามารถแปลว่า 'กำจัด', หรือ 'ทำให้หมดไป' ; และยังสามารถแปลว่า 'การต่อสู้' หรือ 'การรบ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'หมายชีวิตซึ่งกันและกัน' ; ส่วนความหมายที่อาจไม่ค่อยเจอก็จะหมายถึง 'ไม่ยืดหยุ่น' หรือ 'ตายตัว' ซึ่งก็จะได้อารมณ์คำประมาณว่า 'สุดโต่ง' ได้ด้วย

ขอย้อนเรื่องราวของคำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' อีกรอบนะครับ ... 牛 (niú, นิ๋ว) ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวค่อนข้างจะเชื่องช้า ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีอุปนิสัย 'อ่อนโยน' หรือ 'ไม่มีความดุร้าย', 'ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้ใด' ... แต่มักจะมีอาการ 'ดื้อดึง' จนถึงขั้น 'ดื้อด้าน' อันเป็นปรกติวิสัยของสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งก็ทำให้คำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) ถูกใช้ในความหมายดังกล่าวไปด้วย ... ความหมายที่สะท้อนออกมาจากลักษณะที่ว่านี้ของ 牛 (niú, นิ๋ว) ก็คือ 'ความอ่อนนอกแข็งใน' ที่ภายนอกแม้จะดูอ่อนน้อมเชื่อฟัง แต่ภายในกลับไม่เคยอ่อนข้อให้กับสิ่งใดอย่างว่าง่าย และพร้อมที่จะดำเนินไปในวิถีทางที่ตนเลือกตลอดเวลา (แปลว่า จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สัตว์โง่ชนิดที่สอนเท่าไหร่ไม่รู้จักจำ แต่เป็นเพราะมันมีหลักคิดที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และไม่เคยยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างว่าง่ายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เท่านั้น) ... ผมอยากจะเปรียบเทียบลักษณะนิสัยแบบนี้กับ 亨 (hēng, เฮิง) ที่แฝงความหมายของ 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', และ 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'จุดประสงค์' ของตนเองอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งจะทำให้ 牛 (niú, นิ๋ว) เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ในแง่ของ 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ', 'ความอดทนอดกลั้น', และ 'ความไม่ยอมศิโรราบ' ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ปานใดก็ตาม

禴 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) ในสมัยก่อนเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 礿 (yüè, เยฺวี่ย) ที่แปลว่า 'การเสียสละ' หรือ 'การยอมอุทิศให้' (sacrifice) หรือบางทีก็จะหมายถึง 'การบวงสรวง' ไปเลย ; ส่วนความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ 禴 (yüè, เยฺวี่ย) เคยถูกใช้เป็น 'หนึ่งในชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูกาลทั้งสี่' คือ ฤดูใบไม้ผลิเรียกว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย), ฤดูร้อนเรียกว่า 禘 (dì, ตี้), ฤดูใบไม้ร่วงเรียกว่า 嘗 (cháng, ฌั๋ง), และฤดูหนาวเรียกว่า 烝 (zhēng, เจิง) มาตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์โจว แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูร้อนให้เป็น 禴 (yüè, เยฺวี่ย) ในยุคของโจวอู่วั๋ง (周武王) ซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งของ King Wen และเป็นพี่ชายของ 'จิวกง' ด้วย

ทีนี้ คำว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพสัญลักษณ์ทั้งแปด' ใน 'แผนผังโป้ยก่วย' อยู่บ้างก็ตรงที่ว่า มักจะมีการอ้างถึงการระบุชื่อฤดูกาลลงไปในทิศหลักทั้งสี่ โดยฤดูใบไม้ผลิจะอยู่ทางทิศตะวันออก, ฤดูร้อนจะอยู่ทางทิศใต้, ฤดูใบไม้ร่วงจะอยู่ทางทิศตะวันตก, และฤดูหนาวจะอยู่ทางทิศเหนือ ... ซึ่ง ... 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศตะวันออกตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi ที่มีมาก่อนยุคราชวงศ์โจวนั้นจะใช้สัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' ... ในขณะที่ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศใต้ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen ที่ดัดแปลงไปจากแผนผังเดิมก็คือ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' เช่นเดียวกัน ... มันจึงดูราวกับว่า การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกพิธีบวงสรวงเทพเจ้าในยุคราชวงศ์โจวนั้น คล้ายกับมีการอ้างอิงกับการปรับเปลี่ยน 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำทิศใน 'แผนผังโป้ยก่วย' อยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับ 'ธาตุไฟ' ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) มาตั้งแต่ในยุคนั้น ... รึเปล่า ?!?! ... อันนี้ผมไม่ฟันธงแล้วกัน แค่อยากจะชี้ให้ดูเฉยๆ เพราะบางตำราก็เอ่ยอ้างถึงชื่อ 'พิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำฤดูกาล' ไว้บ้างพอสมควร ... :) ... แต่ในเมื่อ 離 (☲ : lí, ลี๋) หรือ 'ไฟ' มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ว่า 'ความสุกสว่าง' หรือ 'ความกระจ่างแจ้ง' แห่ง 'ปัญญา' ... มันควรจะเป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 禴 (yüè, เยฺวี่ย) ในที่นี้ก็อาจจะหมายถึง 'การเสียสละอย่างมีสติ' หรือ 'การยอมอุทิศด้วยปัญญา' ไม่ใช่โง่ๆ เซ่อๆ ทำอะไรๆ เพื่อผู้อื่นจนก่อเภทภัยให้กับตัวเอง ??! ... :D

祭 อ่านว่า jì (จี้) มีความหมายที่คล้ายกันกับ 享 (xiǎng, เสี่ยง) ซึ่งแปลว่า 'เครื่องเซ่น', 'เครื่องสังเวย', และมักจะใช้คู่กับ 祀 (sì, ซื่อ) เป็น 祭祀 (jì sì, จี้ ซื่อ) ที่แปลว่า 'การบวงสรวงบรรพชน', หรือ 'การบวงสรวงเทพเจ้า' ด้วย 'เครื่องเซ่นสังเวย' ต่างๆ

實 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ปรกติแปลว่า 'ถ่องแท้', 'ความจริง', 'ความซื่อสัตย์', และ 'ความถูกต้อง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมตาม 'รากศัพท์' ของมันจะหมายถึง 'ความมั่งคั่ง' เพราะเป็นการผสมอักษร 貫 (guàn, ก้วน) ที่แปลว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ' กับ 宀 (mián, เมี๋ยน) ที่หมายถึง 'บ้าน' เข้าด้วยกัน ... 實 (shí, ซื๋อ) จึงหมายถึง 'ผลลัพธ์แห่งความเป็นระบบระเบียบ' นั่นก็คือที่มาของ 'ความถูกต้อง' ที่มันถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน ; นอกจากนั้นแล้ว 實 (shí, ซื๋อ) ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'ผลผลิต' ที่ได้จากพืชพรรณต่างๆ หรือใช้ในความหมายของ 'เมล็ดพันธุ์ของพืช' ที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกก็ยังได้ ซึ่งก็คงจะแผลงกันไปๆ มาๆ ระหว่าง 'ผลลัพธ์' กับ 'แก่นแท้' หรือ 'ความสัตย์จริง' นั่นเอง

ส่วนอักษร 受 (shòu, โษ้ว) เหมือนว่าจะไม่มีความหมายพิศดารอะไร นอกจากจะแปลว่า 'ได้รับ', 'แบกรับ', หรือ 'ทนทุกข์' เท่านั้น

เรามาว่ากันต่อหลังจากผ่านวรรคที่สองมาแล้วว่า ...
'วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม (婦) ย่อมมีเพื่อการขัดเกลา (喪) ความเถื่อนถ่อยอันไม่พึงประสงค์ (其茀) มิใช่เพื่อ (勿) การแข่งขันประกวดประชันกัน (逐) อย่างฉาบฉวย ความมุ่งมั่นที่จะสืบสานอย่างยั่งยืน (七日) เท่านั้น จึงจะบรรลุผล (得) แห่งความเพียรพยายาม' ... ซึ่ง 'จิวกง' คงตั้งใจที่จะขยายความด้วยการสำทับว่า ... 'การอาศัยเพียงพระเดช (東鄰 คือใช้ 震) เพื่อกำจัด (殺) ความดื้อด้านที่ไม่ยอมรับ (牛) มิสู้ (不如) อาศัยจิตใจที่เปิดกว้าง (西鄰 คือใช้ 兑) สร้างพระคุณโดยการอุทิศตนด้วยปฏิบัติบูชา (之禴祭) มอบความบริสุทธิ์ใจ (實) ในการอำนวยประโยชน์สุขที่ทุกฝ่ายล้วนได้รับ (受其福)' ... ไม่เบาเลยนะครับ 'จิวกง' คนนี้ !!


 

หก หยาง :

濡其首厲
rú qí shǒu lì
ญู๋ ชี๋ โษ่ว ลี่



ปิดประเด็นของบทนี้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ อันน่าเจ็บไมเกรนของ 'จิวกง' กันแล้วล่ะครับ นี่คือวลีเด็ดที่ท้าทายทุกตำราจน 'หัวหกก้นขวิด' กันเลยทีเดียว เมื่อ 'คู่วลี' อย่างวรรคที่หนึ่งบอกให้ 'เอาตูดแช่น้ำ' (濡其尾) แล้วจะ 'ไม่ผิดพลาด' (無咎) ... วรรคที่หกเลบจบลงด้วยการ 'เอาหัวทิ่มบ่อ' แล้วจะ 'เป็นภัย' (厲) ซะเลย !!?!!???? ... ผมรับรองว่า ไม่มีทางรู้เรื่องอะไรเลยหากจะ 'ตีความตามตัวอักษร' กันแบบนั้น ... ว่ามั้ย ?!

ย้อนกลับไปดูความหมายจริงๆ ที่ผมเล่าไว้ดีกว่า วรรคที่หนึ่งนั้น 'จิวกง' เปิดประเด็นไว้รับความหมายของ King Wen ว่า ...
'การขับเคลื่อน (曳) ในแต่ละวัฏจักร (其輪) นั้น แม้ว่าจะต้องทุ่มเทอย่างมุ่งมั่น แต่ก็ต้องรู้จักบรรเทา (濡) ความหักหาญอย่างสุดโต่งสุดขั้ว (其尾) เพื่อมิให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน (無咎)' ... นั่นคือ ท่านเตือนว่า 'อย่างสุดโต่ง' (濡其尾) ... แต่ว่า ... 'ความเหยาะแหยะไม่จริงจัง (濡) ตั้งแต่เริ่มต้น (其首) นั้น คือความสุ่มเสี่ยง (厲) ต่อการพัฒนา' ... คือถ้าจะ 'ตีความ' กันว่า 'วันทั้งวันเอาแต่หัวราน้ำ (濡其首) มันต้อแย่แน่ๆ (厲) เลยว่ะ' ... แบบนี้ก็น่าจะพอได้ใจความอยู่บ้างเหมือนกัน !? ... 😅



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'จี้จี้' คือ เอกัตถสมาทาน, น้ำและไฟไหลประสาน

'เอกัตถสมาทาน' (Undividualizing) คือ สภาวะแห่ง 'พัฒนาการ' อัน 'เป็นระบบระเบียบ' (亨) ซึ่งเกิดจาก 'การดำเนินงาน' อย่าง 'มุ่งมั่น' ตาม 'ลำดับขั้นตอน' ด้วย 'ความใส่ใจ' อย่าง 'ระแวดระวัง' เพื่อจะธำรงไว้ซึ่ง 'หลักธรรมาภิบาล' อัน 'บริสุทธิ์' (小利貞) ... อัน 'ความริเริ่ม' ที่ 'สร้างสรรค์' (初) ย่อมนำมาซึ่ง 'ผลสัมฤทธิ์' อัน 'รุ่งโรจน์' (吉) ในขณะที่ 'ความแข็งขืน' อย่าง 'สุดโต่ง' (終) ย่อมนำไปสู่สภาพที่ 'สับสนวุ่นวาย' ด้วย 'ความแปลกแยก' (亂)

    • 'การขับเคลื่อน' (曳) ในแต่ละ 'วัฏจักร' (其輪) นั้น แม้ว่าจะต้อง 'ทุ่มเท' อย่าง 'มุ่งมั่น' แต่ก็ต้องรู้จัก 'บรรเทา' (濡) 'ความหักหาญ' อย่าง 'สุดโต่งสุดขั้ว' (其尾) เพื่อมิให้เกิด 'ความขุ่นข้องหมองใจ' ระหว่างกัน (無咎)'
    • 'วัฒนธรรม' และ 'ประเพณีอันดีงาม' (婦) ย่อมมีเพื่อ 'การขัดเกลา' (喪) 'ความเถื่อนถ่อย' อัน 'ไม่พึงประสงค์' (其茀) มิใช่เพื่อ (勿) 'การแข่งขันประกวดประชันกัน' อย่าง 'ฉาบฉวย' (逐) 'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'สืบสาน' อย่าง 'ยั่งยืน' (七日) เท่านั้น จึงจะ 'บรรลุผล' (得) แห่ง 'ความเพียรพยายาม'
    • อัน 'ชนชาติที่สูงส่ง' ด้วย 'วัฒนธรรมอันดี' (高宗) นั้น ก็ด้วยการที่พวกเขาได้ 'ขัดเกลา' (伐) ด้านที่ 'ชั่วร้ายต่ำทราม' (鬼方) ให้ค่อยๆ หมดไปอย่างต่อเนื่องกันนานหลายปี (三年) กว่าจะ 'เข้าที่เข้าทาง' จน 'เป็นระบบระเบียบ' ที่สืบทอดกันต่อมา (克之) ในขณะที่ 'ชนชาติ' อัน 'ป่าเถื่อนด้อยอารยธรรม' (小人) ก็ด้วยเหตุแห่ง 'ความด้อยพัฒนา' (勿用) ของ 'ชนในชาติ'
    • 'วัฒนธรรม' ย่อมเปรียบดั่ง 'เส้นใย' (繻) ที่ 'ถักทอสังคม' ให้มี (有) 'ความละเอียดประณีต' ดุจ 'อาภรณ์ที่สวมใส่' (衣) หรือ 'ชำรุดทรุดโทรม' เพราะ 'ความคร่ำคร่า' (袽) ที่ 'ฝ่ายปกครอง' จะต้องมี 'ความใส่ใจ' อย่าง 'รอบคอบ' เป็น 'กิจวัตร' (終日戒)
    • การอาศัยเพียง 'พระเดช' (東鄰 คือใช้ 震) เพื่อ 'กำจัด' (殺) 'ความดื้อด้าน' ที่ 'ไม่ยอมรับ' (牛) มิสู้ (不如) อาศัย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' (西鄰 คือใช้ 兑) สร้าง 'พระคุณ' โดย 'การอุทิศตน' ด้วย 'ปฏิบัติบูชา' (之禴祭) มอบ 'ความบริสุทธิ์ใจ' (實) ในการ 'อำนวยประโยชน์สุข' ที่ 'ทุกฝ่าย' ล้วน 'ได้รับ' (受其福)
    • 'ความเหยาะแหยะ' ไม่จริงจัง (濡) ตั้งแต่ 'เริ่มต้น' (其首) นั้น คือ 'ความสุ่มเสี่ยง' (厲) ต่อ 'การพัฒนา'



The Organization Code :


'เอกัตถสมาทาน' คือ 'การประสาน' เป็น 'หนึ่งเดียวกัน' ของ 'สินค้า/บริการ' (☲) กับ 'บุคลากร' (☵) 'ทั่วทั้งระบบ' ที่ 'หลอมรวมกัน' ไว้ด้วย 'เป้าหมาย' และ 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ 'ส่งเสริมซึ่งกันและกัน' ซึ่งการที่จะสามารถ 'บรรลุ' สภาวะดังกล่าวได้นั้น ทั้ง 3 ระดับขององค์กรคือ 'ระดับนโยบาย', 'ระดับบริหาร', และ 'ระดับปฏิบัติงาน' จะต้องมี 'ความประสานสอดคล้องกัน' ด้วย 'เป้าหมาย' และ 'ทิศทางเดียวกัน' อีกทั้งจะต้องมี 'ความคิด' และ 'จิตใจ' ที่ 'ฮึกเหิมอย่างสร้างสรรค์' โดยต้องไม่ 'ดำเนินการ' ใดๆ อย่าง 'สุดขั้วสุดโต่ง' (⚍) จนเกิด 'ความไม่สมดุลกัน' ภายใน 'ระบบงาน' อันจะก่อให้เกิด 'ความขุ่นข้องบาดหมาง' ระหว่างกัน จนสร้าง 'ความเสียหาย' ต่อ 'เป้าหมายระยะยาว' ของ 'องค์กร' ได้

    • 'การขับเคลื่อน' แต่ละ 'ภาคส่วน' ให้สามารถ 'ประสานงานกัน' ได้ 'อย่างราบรื่น' นั้น จะ 'ต้องไม่ดำเนินการ' ใดๆ อย่าง 'สุดโต่งสุดขั้ว' ไป 'โดยลำพัง' ... แต่จะ 'ต้องคำนึง' ถึง 'ศักยภาพ' และ 'ทรัพยากร' ตลอดจน 'ข้อจำกัด' ของ 'แต่ละส่วนงาน' ที่ต้องมี 'การประสานความร่วมมือระหว่างกัน' อยู่เสมอ เพื่อ 'ป้องกัน' มิให้เกิด 'อาการชะงัก' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่ต่อเนื่อง' ของ 'การประสานงาน' จนกลายเป็น 'ประเด็น' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'กล่าวโทษกันไปมา'
    • 'วัฒนธรรมองค์กร' นั้น คือ 'รากฐานสำคัญ' ที่จะ 'รองรับการพัฒนา' ไปตาม 'แนวทาง' สู่ 'เป้าหมายขององค์กร' หนึ่งๆ ได้ 'อย่างยั่งยืน' โดย 'การขัดเกลา' ความ 'เลอะเทอะรุ่มร่าม' อัน 'ไม่พึงประสงค์' ให้ค่อยๆ หมดไปจาก 'ระบบงาน' ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้จากเพียง 'การประกาศด้วยถ้อยคำ' ที่ 'สวยหรูดูดี' โดยไม่มี 'การปฏิบัติอย่างจริงจัง' แต่เป็นสิ่งที่จะ 'สำเร็จเป็นรูปธรรม' ได้ด้วย 'การปฏิบัติอย่างจริงจัง' จนกลายเป็น 'กิจวัตร' แล้วเท่านั้น
    • 'องค์กรชั้นนำ' ซึ่งมี 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ 'เอื้อต่อการเจริญเติบโต' นั้น ย่อมเป็นเพราะพวกเขาได้ 'ร่วมกันคัดกรอง' ปัจจัยอัน 'ไม่สมประกอบ' ต่างๆ ให้หมดสิ้นไป เพื่อให้องค์กรของพวกเขามี 'สภาพแวดล้อม' ที่ 'ส่งเสริมพัฒนาการ' ของ 'บุคลากร' อย่าง 'ต่อเนื่อง' อีกทั้งยังสามารถดึงดูด 'บุคลากร' ผู้มี 'ศักยภาพ' ให้มา 'ร่วมกันพัฒนาองค์กร' ให้ 'ต่อยอด' ยิ่งๆ ขึ้นไป ... ต่างกับ 'องค์กรระดับปลายแถว' ที่มักจะ 'ละเลยความสำคัญ' ของ 'วัฒนธรรมองค์กร' อันเป็นเหตุให้ 'บุคลากร' ขาด 'การพัฒนาอย่างเหมาะสม' ทั้งยังไม่สามารถดึงดูด 'ผู้มีความรู้' และ 'ศักยภาพ' ให้มา 'ร่วมงานอย่างจริงจัง' อีกด้วย
    • 'วัฒนธรรมองค์กร' ย่อมคล้ายดั่ง 'เส้นใย' ที่ 'ถักทอ' ส่วนงานต่างๆ ขององค์กรหนึ่งๆ ให้ 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' เป็น 'แผ่นผืน' ; 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ดี จึงเปรียบได้กับ 'ผืนผ้า' ที่ได้รับ 'การถักทอไว้อย่างประณีต' ซึ่งเหมาะแก่การใช้เป็น 'อาภรณ์สวมใส่' ได้อย่าง 'งดงาม' ... ส่วน 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ 'ไม่สมประกอบ' ย่อมส่งผลให้ 'การปฏิบัติงาน' ขององค์กรมี 'ความขาดๆ เกินๆ' คล้ายดั่ง 'ผ้าขี้ริ้ว' ที่ 'ขาดวิ่นไม่เป็นชิ้นเป็นอัน' ... 'ผู้นำองค์กร' จึง 'ไม่อาจละเลย' ต่อ 'บทบาทอันสำคัญ' นี้ของ 'วัฒนธรรมองค์กร' โดยจะต้อง 'เอาใจใส่' ด้วย 'ความระมัดระวัง' เสมอ
    • 'การริเริ่ม' สิ่งใดๆ ด้วย 'การทุ่มเททรัพยากร' อย่างหนัก เพื่อจะ 'หักหาญ' ให้ทุกสิ่งต้อง 'ดำเนินไป' ใน 'ทิศทาง' ที่ 'ตนต้องการแต่ฝ่ายเดียว' นั้น ถือเป็น 'ความเสี่ยง' ต่อ 'ความเสียหาย' อันเกิดจาก 'ความผิดพลาด' ทั้งจาก 'ความไม่แน่นอน' ของ 'สถานการณ์' และ 'ความไม่ลงตัว' ของ 'การประสานงาน' จาก 'ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง' ; 'การดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ด้วย 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' โดยอาศัย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' รู้จัก 'รับฟังข้อทักท้วง-เสนอแนะ' และมี 'ความตื่นตัว' ต่อ 'ความแปรเปลี่ยน' ของ 'สถานการณ์รอบด้าน' คือ 'การปฏิบัติงาน' บนพื้นฐานของ 'ข้อเท็จจริง' ที่ไม่ใช่เพียง 'การคาดหวัง' อย่าง 'เลื่อนลอย' ย่อมยัง 'ประโยชน์สุข' แก่ 'ทุกๆ ฝ่าย' ได้อย่าง 'ปลอดภัย' กว่า
    • 'ความไม่ชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'ความไม่จริงจัง' ใน 'การดำเนินงาน' ให้มี 'ความเป็นระบบระเบียบ' ตั้งแต่แรกนั้น คือ 'ปัจจัย' ที่บ่งบอกถึง 'ความล้มเหลว' ที่รออยู่เบื้องหน้าอยู่แล้ว