Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十四卦 : 歸妹

 

歸妹 : 雷澤歸妹 ‧ 震上兌下

歸妹 : 征凶‧無攸利‧

  • 初九 : 歸妹以娣‧跛能履‧征吉‧
  • 九二 : 眇能視‧利幽人之貞‧
  • 六三 ‧ 歸妹以須‧反歸以娣‧
  • 九四 : 歸妹愆期‧遲歸有時‧
  • 六五 : 帝乙歸妹‧其君之袂‧不如其娣之袂‧良月幾望‧吉‧
  • 上六 : 女承筐無實‧士刲羊無血‧無攸利‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มีความตื่นตัว-มุ่งมั่น (⚌) ; ปัญญา เฉียบไว-ไม่วอกแวก (⚎) ; พฤติกรรม มั่นคง-ไม่หวั่นไหว (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัยกิจกรรมของ 'ฝ่ายขาย' (☱) ส่งเสริม และผลักดันนโยบายทาง 'การตลาด' (☳)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การยับยั้งชั่งใจ, ฟ้าคำรามเหนือทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก : Refraining : การยับยั้งชั่งใจ


King Wen เลือกตั้ง 'ชื่อบท' ได้งงมากจริงๆ ครับคราวนี้ ... :P ... เพราะแม้ว่าจะไม่มีตัวอักษรที่พิเศษพิสดารอะไร แต่ความหมายของตัวอักษรที่นำมาใช้เป็น 'ชื่อบท' มันก็ดูผิดฝาผิดตัวกับบทอื่นๆ อย่างบอกไม่ถูกเอาซะเลย ??!! ... :P

อักษร 歸 (guī, กุย) นี่เพิ่งเจอมาหมาดๆ จากบทที่ห้าสิบสามเลยนะครับ ซึ่งมันมีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ว่า 'ผู้หญิงออกจากเรือนไปเป็นสะใภ้ (ของสกุลอื่น)' เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนโบราณที่ว่า 'บุตรีคือบรรพชนของคนสกุลอื่น' ซึ่งทำให้ประเพณีของ 'การแต่งงาน' นั้น เปรียบเสมือน 'การส่งคืนบุตรีให้แก่สกุลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง' ... และกลายเป็นที่มาของอักษร 歸 (guī, กุย) ที่แปลว่า 'การแต่งงานของหญิงสาว' ... โดยในสมัยต่อมาก็เลยแผลงไปเป็นความหมายว่า 'การย้อนกลับ', 'ถอยหลังกลับ', 'พลิกกลับ', 'ตอบแทน', 'ตอบสนอง', หรือ 'หวนคืน' ; นอกจากนั้นก็ยังหมายถึง 'การส่งคืนเจ้าของเดิม' หรือ 'การบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิม' ซึ่งแฝงความหมายของ 'การรวบรวมกลับเข้าด้วยกัน' หรือ 'การประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน' ... ตามอุดมคติทางวัฒนธรรมของ 'การแต่งงาน' ก็คือ 'การร่วมชีวิตเสมือนเป็นบุคคลเดียวกัน' และ 'ความเป็นทองแผ่นเดียวกันของสองครอบครัว' นั่นเอง

ส่วนอักษร 妹 (mèi, เม่ย) นี่แปลกันง่ายๆ ครับว่า 'น้องสาว' ซึ่งเราเจอคำนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่ห้าของบทที่สิบเอ็ด โดย 'จิวกง' นำคำว่า 歸妹 (gūi mèi, กุย เม่ย) ไปใช้อย่างตรงๆ ตัว แล้วผมก็แผลงเอาความหมายที่ King Wen ขยายความไว้ในบทนี้ไปใช้แทนการแปลตามตัวอักษรในคราวนั้น ... แต่ว่า ... 歸妹 (gūi mèi, กุย เม่ย) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ควรจะต้องใช้คำว่าอะไรมาเป็น 'คำแปล' ก็เพิ่งจะถึงคราวต้องคิดให้ออกแล้วล่ะตอนนี้ ... !? ... :P

ที่มาที่ไปของการหยิบเอาอักษร 妹 (mèi, เม่ย) มาเกี่ยวกับ 'ชื่อบท' ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีต้นสายปลายเหตุเอาซะเลยหรอกครับ เพราะจริงๆ แล้วสัญลักษณ์ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) ที่เราเห็นตรงส่วนล่างของ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' นี้ก็คือ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ใช้แทน 'ลูกสาวคนเล็ก' ... หรือ 妹 (mèi, เม่ย) ขนานแท้ เพราะหมายถึง 'ลูกสาวคนสุดท้อง' ... ตามแบบฉบับมาตรฐานของ 'ภาพโป้ยก่วย' นั่นเอง ซึ่งตามลำดับอนุกรมของ King Wen นั้น 'คู่ตรงข้าม' ของ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) ก็คือ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) อันเป็นสัญลักษณ์แทน 'ลูกชายคนโต' โดยสัญลักษณ์ทั้งสอง ได้ถูกวางไว้ตรงตำแหน่ง 'แบ่งขั้วของหยิน-หยาง' พอดีๆ เลยด้วย ... การผสมสัญลักษณ์ทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงมีลักษณะของ 'ความสมมาตรแห่งพลัง' แบบเดียวกันกับที่เราเห็นในบทที่ห้าสิบสาม ... จะแตกต่างกันก็เพียง 'บทบาทหน้าที่' ของ 'การสนับสนุน' และ 'การแสดงออก' ระหว่าง 'หยิน' กับ 'หยาง' เท่านั้น

อักษร 妹 (mèi, เม่ย) มาจากการผสมอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) ซึ่งแปลว่า 'สตรี', หรือ 'หญิงสาว' กับอักษร 未 (wèi, เว่ย) ที่แปลว่า 'ยังไม่ใช่', 'ยังไม่ถึง', 'ยังไม่เสร็จ' จึงทำให้ความหมายดั้งเดิมจริงๆ ของ 妹 (mèi, เม่ย) จะหมายถึง 'เด็กผู้หญิงที่ยังโตไม่เต็มวัย' ... แต่ถ้าเราให้ความหมายกับ 女 (nǚ, หนฺวี่) ว่า 'ความละเอียดอ่อน', 'ความละเอียดถี่ถ้วน' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' คำว่า 妹 (mèi, เม่ย) ก็จะหมายถึง 'ยังไม่ละเอียด', 'ยังไม่ประณีต', หรือ 'ยังอดทนไม่ถึงที่สุด' ... นี่จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า 妹 (mèi, เม่ย) ในความหมายเดียวกับ 昧 (mèi, เม่ย) ที่แปลว่า 'ยังไม่แจ้งชัด', 'ยังไม่กระจ่าง', หรือ 'ยังมีความอึมครึมไม่ชัดเจน' ... และมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างสูงมากเลยว่า King Wen อาจจะต้องการจะสื่อถึงความหมายของ 昧 (mèi, เม่ย) มากกว่าที่จะหมายถึง 'น้องสาว' (妹) อย่างที่ทุกคน 'เชื่อ' ตามๆ กันมาตลอดระยะเวลาตั้งหลายพันปี !!! ... :O

แล้วด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้ผมคิดพิเรนทร์ได้ถึงขนาดนั้น ??!! ... ผมก็คงต้องชวนให้ย้อนกลับไปดูวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่งอีกครั้งนั่นแหละ ... ?! ... เพราะโดยลำดับของความหมายที่ไล่เรียงกันมาตั้งแต่แรก บทที่ห้าสิบสี่นี้จะต้องเป็น 'สิ่งสะท้อน' ของวรรคดังกล่าว เช่นเดียวกับบทที่หก (訟 : sòng, ซ่ง : การชิงลงมือ) ; บทที่สิบแปด (蠱 : gǔ, กู่ : ความใคร่ครวญ) ; บทที่สามสิบ (離 : lí, ลี๋ : ความมีวิจารณญาณ) ; บทที่สี่สิบสอง (益 : yì, อี้ : เพียรบำเพ็ญประโยชน์) ... โดยต้นเรื่องทั้งหมดมาจากวลีเดียวกันที่ว่า ...
'หากว่า (或) ปรารถนาจะกระโดดให้สูง (躍) ก็ต้องอยู่ที่ (在) การรู้จักย่อตัวให้ลดต่ำลง (淵) ไม่ใช่เรื่องที่ผิดธรรมชาติอะไรเลย (無咎)' ... ซึ่งผมอยากจะให้ความหมายกับ 歸妹 (gūi mèi, กุย เม่ย) ในฐานะของ 'ชื่อบท' คราวนี้ว่า 'การยับยั้งชั่งใจ' อันหมายถึง 'การถอยห่างจากความมั่นใจอย่างสุดโต่ง' เพื่อทบทวน 'ความไม่แน่นอน' (昧) ต่างๆ ก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อๆ ไป แทนที่จะแปลคำว่า 妹 (mèi, เม่ย) ด้วยความหมายปรกติคือ 'น้องสาว' อย่างตรงๆ ตัว ?!

สำหรับคำอังกฤษที่ผมเลือกมาคู่กับ 'การยับยั้งชั่งใจ' นั้น ผมอยากเสนอให้ใช้คำว่า Refraining เพราะแม้ว่ามันจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Restraining อยู่ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่เนื่องจาก refrain เป็นคำกริยาที่แฝงความหมายของ 'การหักห้ามใจ' คือ 'การไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่มีใจที่อยากกระทำ' ในขณะที่ restrain จะมีกลิ่นไอของ 'การข่มขู่ห้ามปรามด้วยกำลัง' ปะปนอยู่บ้าง ... นอกจากนั้นแล้ว ตัวสะกดของ refrain ในฐานะของคำนาม ก็ยังหมายถึง 'การทำซ้ำๆ' หรือ 'สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา' ที่แม้ว่าจะมีรากศัพท์คนละรากกับ refrain ที่เป็นคำกริยาก็ตาม แต่ความพอเหมาะพอดีของตัวสะกดดังกล่าว ก็ดูจะกลมกลืนกับการเป็นบทที่ต่อเนื่องมาจาก 漸 (jiàn, เจี้ยน) ที่หมายถึง 'ความไม่ย่อหย่อยหยุดยั้ง' ในบทที่ห้าสิบสามได้อย่างลงตัวดีด้วย ...

และหากเราทันสังเกตการเรียงลำดับถ้อยคำของ King Wen และ 'จิวกง' มาตั้งแต่ต้นเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' เราก็น่าจะพอนึกออกได้ว่า ทุกครั้งที่อัจฉริยบุคคลทั้งสองแนะนำให้ 'บุกตะลุยอย่างทุ่มเทสุดกำลังแห่งศักยภาพ' มักจะต้องกำกับด้วยถ้อยคำหลังจากนั้นว่า 'จงมีความระมัดระวังด้วยการใช้วิจารณญาณให้ถี่ถ้วน' เสมอ เนื่องจาก 'ในโลกของความเป็นจริง' ที่จะต้องเกิด 'การเปลี่ยนแปลง' อย่าง 'เอาแน่เอานอนไม่ได้' เลยนั้น 'ผู้นำ' ที่ดี ย่อมไม่สมควรกระทำการใดๆ ด้วย 'ความมั่นใจอันสุดโต่ง' แม้ว่าสิ่งที่กระทำนั้น จะเคยผ่าน 'กระบวนการคิด' และ 'การบวนการพิจารณา' อย่างละเอียดถี่ถ้วนขนาดไหนก็ตาม ... ซึ่งลำดับบท และลำดับถ้อยคำของบทที่ห้าสิบสาม กับบทที่ห้าสิบสี่ ก็ยังคงรักษา 'มาตรฐานของคำแนะนำ' ดังที่ว่านี้เหมือนเดิมทุกประการ



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
征凶無攸利
zhēng xiōng wú yōu jì
จิง เซฺวิง อู๋ โยว ลี่




จะว่าไปแล้วก็ไม่มีคำใหม่ๆ ในวรรคนี้เลยนะครับ เพราะฉะนั้น ผมขอยกเอาคำแปลที่เคยนำไปใช้ในบทที่สิบเอ็ดกลับมาทั้งยวงเลยแล้วกัน ... 'การดำเนินการ (征) อย่างเอาเป็นเอาตาย (凶) ไม่ได้ (無) ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ (攸) ที่ดี (利) ขึ้นมาเลย' ... ซึ่งเดิมทีเดียวผมแปลคำขยายความของ King Wen โดยที่ยังนึกไม่ออกว่า 歸妹 (gūi mèi, กุย เม่ย) ควรจะหมายถึงอะไรที่นอกเหนือจาก 'การแต่งงานของน้องสาว' แต่ตอนนี้รู้แล้วล่ะว่า มันควรจะถูกเขียนเป็น 歸昧 (gūi mèi, กุย เม่ย) มากกว่า เพียงแต่ King Wen เลี่ยงไปใช้อักษร 妹 (mèi, เม่ย) เพื่อให้กลมกลืนกับสัญลักษณ์ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) ที่หมายถึง 'ลูกสาวคนเล็ก' กับเป็น 'การพรางเจตนารมณ์ที่แท้จริง' ของการรจนา 'คัมภีร์อี้จิง' อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองในยุคสมัยของท่านเท่านั้นเอง

ทีนี้ ถ้าเราเรียงลำดับถ้อยคำของ King Wen ในบทที่ห้าสิบสาม กับบทที่ห้าสิบสี่ให้กลายเป็นวลีเดียวกันขึ้นมา เราจะได้วลีที่ยาวขึ้น และชัดเจนมากขึ้นมามาอีกหน่อยว่า ... 女歸吉‧利貞‧征凶‧無攸利‧ (nǚ guī jí . lì zhēn . zhēng xiōng . wú yōu jì ., หนฺวี่ กุย . จี๋ ลี่ เจิน . เจิง เซฺวิง . อู๋ โยว ลี่) ... แล้ว 'ตีความ' ซะใหม่เป็น ...
'การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับหลักคุณธรรมอันละเอียดประณีต (女歸 ใช้ความหมายรองของ 女 แทนการตีความให้หมายถึงสตรีเพศ) ที่จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลอันรุ่งเรือง (吉) นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างจริงจัง (利) ในการจรรโลงไว้ซึ่งระบบระเบียบแห่งอุดมธรรมอันบริสุทธิ์ (貞) ... ในขณะที่การดำเนินงานด้วยความผลีผลามสุ่มเสี่ยงอย่างเอาเป็นเอาตาย (征凶) ย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี อันคู่ควรแก่การทุ่มเทความพยายาม (無攸利) ใดๆ เลย' ...

เพราะฉะนั้น ผมขอยืนยันอย่างหนักๆ เลยครับว่า 歸妹 (gūi mèi, กุย เม่ย) ตามความหมายของ 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ 'การแต่งงาน' ของสาวแก่แม่หม้าย หรือเด็กสาววัยละอ่อนที่ไหนทั้งนั้น !!??!! ... ;)




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

歸妹以娣跛能履征吉
guī mèi yǐ dì bǒ néng lǚ zhēng jí
กุย เม่ย อี่ ตี้ ป่อ เนิ๋ง หลฺวี่ เจิง จี๋




以 อ่านว่า yǐ (อี่, ยฺอี่) แปลว่า 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษ

娣 อ่านว่า dì (ตี้) ในสมัยก่อนมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึง 'น้องสะใภ้ของสามี' หรือเป็นคำที่พี่สาวใช้เรียก 'น้องสาว' ของตัวเอง (และมีกรณีที่ 'ภรรยาใหญ่' เรียก 'ภรรยาคนรอง' ในฐานะของ 'น้องาสาว' ด้วยเหมือนกัน) โดยเลือกออกเสียงแบบเดียวกับ 弟 (dì, ตี้) ซึ่งแปลว่า 'น้องชาย'

跛 อ่านว่า bǒ (ป่อ) เราเจอคำนี้ครั้งแรกในบทที่สิบ ซึ่งแปลไว้ว่า 'ขาเป๋', 'ขาพิการ', 'เดินกะโผลกกะเผลก', หรือ 'เดินไม่ตรง'

履 อ่านว่า lǚ (หลฺวี่) เป็นคำแรกๆ ที่เจอมาตั้งแต่บทที่สองแล้วนะครับ คำนี้แปลว่า 'รองเท้า', 'เท้า', 'ย่ำเท้า', 'ย่างเท้า', 'ก้าวเดิน', 'เขตแดน', 'ดำเนินไป', 'ประสบการณ์', 'ปฏิบัติการ', หรือ 'ดำเนินการ'

'จิวกง' เล่นลำดับญาติฝั่งสะใภ้ซะมึนเลยทีนี้ ?! ... :P ... แต่ปัญหาก็คือ ถ้า 妹 (mèi, เม่ย) สามารถใช้แทนความหมายของ 昧 (mèi, เม่ย) ได้อย่างที่เล่าไปแล้ว อักษร 娣 (dì, ตี้) จะมีความหมายพิเศษอะไรได้มั่งมั้ยล่ะ ?! ... คืองี้ ถ้าเรา 'แยกธาตุ' ของ 娣 (dì, ตี้) ออกมาเป็น 女 (nǚ, หนฺวี่) ซึ่งแปลว่า 'สตรี', หรือ 'หญิงสาว' กับอักษร 弟 (dì, ตี้) ซึ่งนอกจากจะแปลว่า 'น้องชาย' แล้ว คำนี้ก็ยังสามารถจะหมายถึง 'ลูกศิษย์', 'ผู้ติดตาม' หรืออาจจะถึงขั้นเป็น 'สาวก' ไปเลยก็ได้ และในสมัยก่อน อักษรตัวนี้ก็เคยถูกใช้ในความหมายว่า 'ลำดับ' (第) หรือ 'ความเป็นระเบียบ' ได้อีกด้วย ... ซึ่งการผสมคำในลักษณะที่ว่านี้ จะเป็นแง่มุมหนึ่งที่ทำให้ 娣 (dì, ตี้) หมายถึง 'ระเบียบ (弟) แห่งคุณธรรม (女)' หรือ 'ความละเอียดอ่อน (女) ของกระบวนการที่จะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (弟)' ได้ด้วยรึเปล่า ?! ... อันนี้ 'เดา' ล้วนๆ เลยครับ !! ... :D

อย่างไรก็ตาม ในสังคมแบบ 'ครอบครัวใหญ่' ของชาวจีน และชาวตะวันออกในสมัยก่อนๆ นั้น ลำดับชั้นของอาวุโส และสถานภาพภายในครอบครัวหนึ่งๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการมีสิทธิ์มีเสียงของสมาชิกแต่ละคน พอสมควร ดังนั้น สตรีที่ได้รับการตบแต่งเข้ามาในฐานะของ 'ภรรยารอง' หรือ 'สะใภ้อันดับรอง' ย่อมมีสิทธิ์มีเสียงที่ด้อยกว่า 'ภรรยาคนโต' หรือ 'ภรรยาหลวง' หรือแม้แต่ 'สะใภ้คนโต' อยู่บ้างไม่มากก็น้อย นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ 娣 (dì, ตี้) มีกลิ่นไอของ 'ความนอบน้อม' ที่จะต้องมีมากกว่าสมาชิกอื่นๆ ภายในครอบครัวใหญ่เดียวกัน ...

ถ้าจะว่ากันตามตัวอักษร และความหมายแฝงอื่นๆ ตามที่เล่าเอาไว้ข้างต้น วรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ก็น่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า ...
'การยับยั้งชั่งใจ (歸妹) ย่อมหมายถึง (以) การรู้จักให้เกียรติ และรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วยความเคารพนบน้อมต่อหลักคุณธรรม อันเป็นระบบระเบียบกฎเกณฑ์ (娣) ซึ่งแม้ว่าจะไม่คล่องตัวด้วยข้อจำกัดของศักยภาพที่เหลื่อมล้ำกัน (跛) แต่ก็จะสามารถ (能) ดำเนินงานร่วมกันต่อไปได้ (履) ซึ่งการปฏิบัติงานด้วยความมีวิจารณญาณเยี่ยงนี้ (征) ย่อมจะพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ได้ในที่สุด' ... หมายความว่า ... สิ่งที่ต้อง 'ปฏิบัติอย่างจริงจัง' คือ 'การรับฟังผู้อื่น' และ 'การให้ความเคารพในระบบระเบียบ' (歸妹以娣) ไม่ใช่ 'การหักโหมกระทำการอย่างบ้าเลือด' (征凶) โดยอ้างเพียง 'เหตุแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ' แล้วเลือกปฏิบัติงานแบบ 'ตัวใครตัวมัน' จนก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่ต่อเนื่องกัน' ของ 'การประสานงาน'

แต่ถ้าจะแปลให้เหมือนตำราอื่นๆ เราก็จะได้ประโยคหยาบๆ ที่มีความหมายประมาณว่า ... 'สตรีที่ตบแต่งไปเป็นสะใภ้น้อยของครอบครัวหนึ่งๆ จะต้องรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวราวกับคนขาเป๋ที่ยังพอจะโขยกเขยกพยุงตัวเองให้เดินไปได้ ก็จงตั้งใจเดินอย่างนั้นไปเรื่อยๆ แหละ เดี๋ยวก็ได้ดิบได้ดีขึ้นมาเอง' ... คือ ... ผมรับไม่ได้จริงๆ ว่ะ !!!??? ... :D

 

 

สอง หยาง :

眇能視利幽人之貞
miǎo néng shì lì yōu rén zhī zhēn
เหฺมี่ยว เนิ๋ง ษื้อ ลี่ อฺยิว เญิ๋จือ เจิ




眇 อ่านว่า miǎo (เหฺมี่ยว) เดิมทีเคยแปลว่า 'ตาบอดข้างเดียว', แต่ต่อมาก็หมายถึง 'ตาบอด (ทั้งสองข้าง)' ได้ด้วย ; นอกจากนี้ก็ยังหมายถึง 'หรี่ตา' เวลาที่มองอะไรที่อยู่ไกล หรือสูงมากๆ ; มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ไกลๆ' หรือ 'สูงๆ' ไปด้วยซะเลย ;) … และยังหมายถึง 'เล็ก', 'จิ๋ว', หรือ 'ไม่สำคัญ' เหมือนกับตัว 渺 (miǎo, เหฺมี่ยว) เพราะความที่มันอยู่ไกล หรือสูงมากๆ นั่นอีกด้วย ; แต่ถ้าหมายถึง 'เล็กมากๆ' หรือ 'เล็กละเอียด' ไปเลย ความหมายก็จะเหมือนกับตัว 秒 (miǎo, เหฺมี่ยว) ; หรือถ้าหมายถึง 'ความละเอียดอ่อน' หรือ 'สวยงาม' ก็จะใช้เหมือนกับตัว 妙 (miào, เมี่ยว) ไป ; ตัวอักษร 眇 (miǎo, เหฺมี่ยว) ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'หรี่ตามอง' หรือ 'สำรวจตรวจตราอย่างละเอียด' (scrutinize)

視 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'มอง', 'ดู', 'เห็น', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', 'สังเกต' ; หรือ 'เปรียบเทียบ'

幽 อ่านว่า yōu (อฺยิว) แปลว่า 'ปกปิด', 'ซ่อนเร้น', 'ไม่แสดงตัว', 'เงียบสงบ', 'ร่มเย็น', 'ไม่ถูกรบกวน', 'วิเวก', 'วังเวง', 'ลึกลับ', หรือ 'สันโดษ', 'โดดเดี่ยว', จึงมีบางกรณีที่หมายถึง 'การจับกุมคุมขัง' ได้ด้วย

ถ้ายังจำกันได้ 'จิวกง' เลือกเล่นคำกับ 'ความพิการทางกาย' คือ 眇 (miǎo, เหฺมี่ยว) กับ 跛 (bǒ, ป่อ) มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สามของบทที่สิบ (
履: lǚ, หลฺวี่) ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'การสำเร็จประโยชน์' (Accomplishing) โดยในวรรคดังกล่าวท่านบันทึกไว้ว่า 'ถึงแม้ว่าตาบอดไปหนึ่งข้างก็ยังสามารถจะมองเห็น (眇能視) หรือหากขาเป๋ไม่สมส่วนก็ยังสามารถที่จะเดิน (跛能履) ความเด็ดเดี่ยวในการมุ่งความสำเร็จที่แม้จะดำเนินตามหลักแห่งคุณธรรม (履虎尾) แต่กลับมีใจฝักใฝ่ในการทำร้ายผู้อื่น (咥人凶) ย่อมไม่ต่างจากการมีผู้นิยมความรุนแรง (武人) มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ (為于大君)' ... ซึ่งความหมายที่ท่านต้องการจะสื่อไว้ก็คือ การดำเนินกิจการงานต่างๆ นั้น จะต้อง 'พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบด้าน' ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำ นึกไม่อยากทำก็ไม่ทำ โดยไม่สนใจว่าจะก่อความเสียหายอะไรไว้บ้างกับส่วนงานในความรับผิดชอบของผู้อื่น การทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ขาดๆ เกินๆ อย่างที่ว่านั่นแหละ ที่ 'จิวกง' นำไปเปรียบเทียบกับ 'ความไม่สมประกอบทางกาย' เพื่อสะท้อนถึง 'ความทุกลักทุเล' และขาด 'ความเป็นระบบระเบียบ' อย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนคำว่า 幽人 (yōu rén, อฺยิว เญิ๋น) นั้น เราก็เจอมาแล้วในบทที่สิบอีกเหมือนกัน โดยผมให้ความหมายไว้ว่า 'การไม่อวดโอ่เพื่อยกตนขึ้นข่มผู้อื่น' ซึ่งการพบเห็นคำนี้เป็นครั้งที่สองใน 'คัมภีร์อี้จิง' ก็ไม่น่าจะมีความหมายอื่นที่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ความหมายโดยรวมของสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในวรรคนี้จึงน่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า ... 'เรื่องจุกจิกหยุมหยิมอันไม่ใช่สาระสำคัญ (眇) ที่แม้ว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ (能視) นั้น ทางที่ดีก็ควรจะ (利) วางเฉยด้วยหลักแห่งอุบกขา (幽人之貞) โดยไม่ต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บกับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น เพียงเพื่อหวังจะอวดโอ่ถึงความร้ายกาจของตน' ...

ผมมอง 'ความตั้งใจ' ของทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' อย่างนี้ครับ ... ทั้งสองท่านได้แสดงทัศนะต่อ 'ความเป็นผู้ครองอำนาจ' ไว้ว่า จะต้องประกอบด้วย 'ความยับยั้งชั่งใจ' (歸妹) เพื่อสร้าง 'เงื่อนไขแห่งบรรทัดฐาน' สำหรับ 'การปฏิบัติงานร่วมกัน' ของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มี 'ระดับของศักยภาพ' ไม่เสมอกัน (跛能履) ... จะต้องไม่กระทำการใดๆ ด้วย 'ความสุ่มเสี่ยง' โดยปราศจาก 'การไตร่ตรอง' ให้ 'ละเอียดรอบด้าน' แต่ในเวลาเดียวกัน ก็จะต้องไม่ 'จุกจิกห
ยุมหยิม' กับประเด็นเล็กประเด็นน้อย (眇能視) เพียงเพราะอยากจะ 'อวดโอ่อำนาจอิทธิพลของตนอย่างไร้สาระ' ด้วย ... นี่ก็คือ 'หลักแห่งความเป็นผู้มีอุเบกขา' (幽人之貞) ที่ 'ผู้ครองอำนาจ' ทุกคนพึงปฏิบัติ (利) !!?!! ... ;)


 

สาม หยิน :

歸妹以須反歸以娣
guī mèi yǐ xü fǎn guī yǐ dì
กุย เม่ย อี่ ซฺวี ฝั่น กุย อี่ ตี้




須 อ่านว่า xü (ซฺวี) มาจากการผสมอักษร 頁 ที่สมัยหนึ่งอ่านว่า xié (เซี๋ย) และเคยหมายถึง 'ศีรษะ' หรือ 'ใบหน้า' แต่ปัจจุบันมักจะออกเสียงว่า yè (เยี่ย) และแปลกันว่า 'หน้าหนังสือ' หรือ 'แผ่นกระดาษ' ... ส่วนขีดสามขีดทางด้านซ้ายมือของ 須 (xü, ซฺวี) คือ 彡 (shān / xiǎn, ซัน / เสี่ยน) ที่แปลว่า 'ขน' ความหมายดั้งเดิมของ 須 (xü, ซฺวี) จึงหมายถึง 'หนวด' หรือ 'เครา' ซึ่งเป็น 'ขนที่อยู่บนใบหน้า' ประเภทหนึ่ง ; แต่ความหมายอื่นๆ ของ 須 (xü, ซฺวี) จะแปลว่า 'จังหวะเวลา', 'เสี้ยวเวลา' หรือ moment, บางทีก็แปลว่า 'รอคอย' หรือ 'หยุดยั้ง' ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าความหมายแบบนี้จะแผลงมาจากลักษณะของ 'รูขุมขน' ที่เป็น 'จุดเล็กๆ บนผิวหนัง' รึเปล่า หรืออาจจะมาจากลักษณะของ 'เส้นขนเล็กๆ' ที่แผลงมาเป็นความหมายของ 'เศษเสี้ยวของวินาที' ก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน ; แต่ในบางกรณีก็ใช้ในความหมายเดียวกับ 需 (xü, ซฺวี) ที่แปลว่า 'ต้องการ', 'จำเป็น', หรือ 'ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้' ด้วย

反 อ่านว่า fǎn (ฝั่น) แปลว่า 'กลับตาลปัตร', 'พลิกกลับ', 'สลับ', 'ตรงกันข้าม', หรือ 'ต่อต้าน' ; ในบางลักษณะของการใช้งาน สามารถที่จะใช้ในความหมายเดียวกับ 覆 (fù, ฟู่) ที่หมายถึง 'ย้อนคืน', 'เริ่มต้นใหม่' ; หรือ 'ทบทวน'

ถ้าเรามองเลยไปในวรรคที่สี่ของบทนี้ ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สามตามปรกติของ 'ลำดับวรรค' ในแต่ละบทของ 'คัมภีร์อี้จิง' อยู่แล้วนั้น เราจะเห็นถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับ 'เงื่อนไขของเวลา' อยู่ 2 คำคือ 愆期 (qiān qī, เชียน ชี) กับ 遲 (chí, ฌื๋อ) ซึ่งมีความหมายในลักษณะที่ 'เนิ่นนานออกไป' หรือ 'ช้ากว่ากำหนด' ซึ่งน่าจะเป็นบริบทที่ตีกรอบให้ 須 (xü, ซฺวี) มีความหมายว่า 'การรอคอย' เช่นเดียวกับ 需 (xü, ซฺวี) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ที่ผมให้ความหมายไว้ตั้งแต่บทที่ห้า ... นู่ น เ ล ย ... !! ... ดังนั้น ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ ...
'ความยับยั้งชั่งใจ (歸妹) คือการรู้จักข่มใจเพื่อ (以) รอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสม (須) การรู้จักหักห้ามใจ (反歸) ย่อมหมายถึงการแสดงออกซึ่ง (以) ความเคารพในลำดับชั้นขั้นตอน (娣) ที่จำเป็นต่อพัฒนาการโดยรวม' ...

จริงหรือไม่จริงผมก็ไม่รู้ล่ะนะ แต่ความหมายแบบนี้มันเข้ากันได้ดีกับประเด็นที่ King Wen จั่วหัวเอาไว้ว่า 'การบุกตะลุยอย่างเอาเป็นเอาตาย (征凶) ย่อมไม่ใช่หลักประกันว่าผลลัพธ์จะต้องออกมาดีอย่างที่วาดหวังเอาไว้เสมอไป (無攸利)' ... แต่การปฏิบัติงานให้ 'ถูกต้องแก่กาละ-เทศะ' นั้นต่างหาก ที่ควรจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจในการใช้ 'วิจารณญาณ' อย่าง 'ละเอียดรอบด้าน' ... การหักโหมเร่งเร้า หรือการหยุดยั้งรั้งรอ ล้วนไม่อาจใช้เพียง 'กำลังอำนาจ' หรือ 'ศักยภาพ' ของผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินได้ตามอำเภอใจ ...



 

สี่ หยาง :

歸妹愆期遲歸有時
guī mèi qiān qī chí guī yǒu shí
กุย เม่ย เชียน ชี ฌื๋อ กุย โหฺย่ว ซื๋





愆 อ่านว่า qiān (เชียน) หมายถึง 'ผิดพลาด', 'ล่วงละเมิด' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เลยเวลา' หรือ 'ช้ากว่าที่กำหนด' ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'ผิดนัด', หรือ 'ล่วงเลยเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว' โดยเฉพาะเมื่อใช้ในสำนวนว่า 愆期 (qiān qī, เชียน ชี) ; และแผลงความหมายต่อไปเป็น 'พลาดพลั้ง', 'เสียหาย', หรือ 'ชำรุด' ได้ด้วย

期 อ่านว่า qī (ชี) แปลว่า 'เวลาที่เจาะจง' เช่น 'เวลานัด' หรือ 'กำหนดการที่แน่นอน' ของกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ; บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'จำเพาะเจาะจง', 'ข้อกำหนด', หรือ 'ข้อจำกัด' ก็ได้

遲 อ่านว่า chí (ฌื๋อ) แปลว่า 'ช้า', 'สาย', 'เนิ่นนาน', หรืออาจจะแปลว่า 'เงอะงะ', 'ไม่ทันการณ์' ก็น่าจะได้ในบางกรณี

時 อ่านว่า shí (ซื๋อ) เป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ เกี่ยวกับ 'เวลา' โดยสามารถใช้ครอบคลุมได้ตั้งแต่ 'โมง-ยาม', 'วัน', 'เดือน', 'ปี', 'ศักราช', หรือ 'ยุตสมัย' แล้วแต่ความเหมาะสมของบริบทแวดล้อมที่นำคำนี้ไปใช้

แล้ว 'จิวกง' ก็เสริมรายละเอียดของ 'การรอคอยจังหวะที่เหมาะสม' ในวรรคที่สามด้วยถ้อยคำที่ว่า ...
'จงรู้จักยับยั้งชั่งใจ (歸妹) ต่อความคลาดเคลื่อน (愆) ของกำหนดการต่างๆ ตามที่คาดหวัง (期) เพราะการดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป (遲) เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถประสานกันได้อย่างกลมกลืน (歸) นั้น จำเป็นต้องอาศัย (有) เงื่อนเวลาที่เหมาะสมลงตัว (時) เป็นปัจจัยสำคัญ' ...

อ่านเอาใจความให้ดีๆ นะครับ เพราะ 'จิวกง' คงจะไม่ได้หมายความว่า 'ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง' อย่างที่พวก 'สัตว์สันหลังยาว' เขานิยมประพฤติปฏิบัติกันหรอกนะ แต่สิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในวรรคนี้ก็คือ ...
 ต่อให้เราเฝ้าแต่รอร้อรอจนหนังเหี่ยวเหงือกแห้งไปแล้ว (歸妹以須) ... หรือต่อให้เราปฏิบัติตามระบบระเบียบต่างๆ อย่างระมัดระวังในทุกๆ ขั้นตอนแล้วก็ตาม (反歸以娣) ... ดอกผลที่ยังไม่ถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะผลิมันก็จะไม่ผลิ ซึ่งไม่ว่าเราจะดิ้นรนอย่างทุรนทุรายขนาดไหน (征凶) มันก็คงจะเป็นเพียงการออกกำลังกายอย่างไร้แก่นสารไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง (無攸利) ... ;) ... หรืออย่างที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ตั้งแต่วรรคแรกของบทนี้ที่ว่า แต่ละภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกันในการปฏิบัติภาระกิจหนึ่งๆ นั้น ต่างฝ่ายต่างก็ต้องให้ความเคารพในระบบระเบียบ และหน้าที่ความรับผิดชอบของกันและกัน (歸妹以娣) เพื่อให้ทุกๆ ภาคส่วนที่แม้ว่าจะมีศักยภาพไม่เสมอกัน ก็ยังสามารถประสานงานกันได้อย่างราบรื่น (跛能履) ไม่ใช่ต่างคนต่างลุยอย่างชุ่ยๆ ไปตามอำเภอใจ เพียงเพราะอยากจะ 'โชว์พราวด์'  เฉยๆ !!?! ... :P



 

ห้า หยิน :

帝乙歸妹其君之袂不如其娣之袂良月幾望吉
dì yǐ guī mèi qí jün zhī mèi bù rú qí dì zhī mèi liáng yuè jī wàng jí
ตี้ อี่ กุย เม่ย ชี๋ จฺวิน จือ เม่ย ปู้ ญู๋ ชี๋ ตี้ จือ เม่ย เลี๋ยง เยฺวี่ย จี วั่ง จี๋





คำว่า 帝 (dì, ตี้) เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'ฮ่องเต้', 'เจ้าครองแคว้น' ซึ่งโดยปรกติจะสามารถใช้ในความหมายที่เหมือนกันกับ 王 (wáng, วั๋ง), 皇 (huáng, ฮฺวั๋ง) หรือ 君 (jün, จฺวิน) … และนั่นก็หมายความว่า มันสามารถแปลว่า 'ผู้นำ', หรือ 'ผู้ที่มีความสามารถ' และ 'ผู้ที่มีความสำคัญ' หรือ 'เรื่องราวที่สลักสำคัญ' ได้ด้วยเหมือนกัน

ส่วนคำว่า 乙 (yǐ, อี่) มีความหมายโดยทั่วๆ ไปว่า 'อันดับที่สอง', 'อันดับรอง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมของมันคือ 'การงอกเงยของสรรพชีวิต' ; ความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'ตำแหน่งที่สองของจักรราศีบนฟากฟ้า' ซึ่งเป็นเรื่องของการบอกวันเวลา ; ถ้าใช้เป็นสรรพนามก็จะหมายถึง 'บุคคลใดบุคคลหนึ่ง' เหมือนอย่างที่ภาษาไทยจะมี 'นาย ก.' หรือ 'นาย ข.' ; แต่ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'งอกเงย', 'หมุน', 'พลิก' ; ถ้าในลักษณะของการเขียนหนังสือ 'ตำแหน่งที่จรดพู่กันลงไป' เมื่อสิ้นสุดของการลากเส้นแต่ละเส้น จุดตรงนั้นก็เรียกว่า 乙 (yǐ, อี่) ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ 乙 (yǐ, อี่) ก็อาจจะหมายถึง 'จุดที่หยุดยั้งเมื่อถึงจังหวะเวลาที่ควรจะหยุด' ก็ได้ด้วย

袂 อ่านว่า mèi (เม่ย) มีความหมายตามปรกติของมันว่า 'แขนเสื้อ' ในขณะที่ความหมายอื่นๆ ของมันจะมีความหมายเหมือนกับ 掣 (chè, เฌ่อ) ซึ่งแปลว่า 'ลาก' หรือ 'ดึง' โดยบางครั้งก็จะหมายถึง 'ยื้อยุด' ในลักษณะของ 'การห้ามปรามด้วยการดึงให้ถอยห่างออกมา' ; และในสมัยหนึ่งก็ยังมีความหมายเดียวกับ 穴 (xué, เซฺวี๋ย) ที่แปลว่า 'ถ้ำ', 'รู', 'หลุม', 'ที่หลบซ่อน', 'ที่พักพิง', 'ช่อง', หรือ 'ช่องทาง' ซึ่งน่าจะเป็นความหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจาก 夬 (guài, กฺวั้ย) ที่เป็นส่วนประกอบตรงด้านหลังของอักษร 袂 (mèi, เม่ย) นั่นเอง ... ที่น่าสังเกตก็คือ 'จิวกง' เล่นคำพ้องเสียงระหว่าง 妹 (mèi, เม่ย) กับ 袂 (mèi, เม่ย) ซ้ำๆ ราวกับจงใจจะสื่อว่า 妹 (mèi, เม่ย) ที่เห็นในบทนี้ไม่ได้หมายถึง 'น้องสาว' แต่ควรหมายถึง 袂 (mèi, เม่ย) ที่แปลว่า 'การห้ามปราม' หรือ 'การยับยั้ง' มากกว่า ... รึเปล่า ??!!?

良 อ่านว่า liáng (เลี๋ยง) แปลว่า 'ดี', 'เลิศ', 'ประเสริฐ', 'ยอดเยี่ยม', 'น่าเคารพ', 'น่ายกย่อง', 'ซื่อสัตย์' ; 'ยิ่งใหญ่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'ยาวนาน' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ให้เกียรติ', 'ให้ความสำคัญ', 'ให้การยกย่อง', หรือ 'มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ; แต่ก็มีอีกความหมายหนึ่งของ 良 (liáng, เลี๋ยง) ที่ไม่ค่อยจะมีการเอ่ยถึงก็คือ คำนี้สามารถใช้เป็น 'คำสรรพนาม' เมื่อภรรยาเอ่ยถึง 'สามี' ด้วย 'ความเคารพยกย่อง' ... ซึ่งทำให้ 良 (liáng, เลี๋ยง) มีกลิ่นไอของ 'พลังแห่งหยาง' แฝงอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง

月 อ่านว่า yüè (เยฺวี่ย) แปลว่า 'พระจันทร์', 'เดือน' ; และตามคติเชิงสัญลักษณ์แบบ 'หยิน-หยาง' จะถือว่า 'พระจันทร์' เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ; แล้วก็บ่อยครั้งที่คำนี้มักจะถูกใช้เพื่อสื่อถึง 'ความงดงาม' หรือ 'ผู้หญิง' ด้วยเหมือนกัน

幾 อ่านว่า jī (จี) หรือ jǐ (จี่) มีความหมายในลักษณะคำถามว่า 'มากน้อยแค่ไหน?', 'จำนวนเท่าไหร่?' ; มันจึงแฝงความหมายว่า 'ไม่แน่นอน' ; และถึงขั้นที่อาจจะ 'ไม่ปลอดภัย' ; หรืออาจจะมี 'อันตราย' ไปเลยก็ได้ ; ซึ่งก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'การป้องกัน' ; บางครั้งแปลว่า 'คล้าย', 'ใกล้เคียง' หรือ 'โดยประมาณ' ก็ได้อีก ; ความหมายอื่นๆ ของ 幾 (jī, จี) จะแปลว่า 'เล็ก', 'จิ๋ว', 'ละเอียด', 'ต่ำต้อย', 'เล็กน้อย', 'ระยะใกล้ๆ' ; 'ลาง', 'สังหรณ์' ในลักษณะของ 'ความไม่แน่ไม่นอน' ; จึงอาจจะหมายถึง 'ไม่ชัดเจน' ด้วยก็ได้

望 อ่านว่า wàng (วั่ง) แปลว่า 'มอง', 'จ้อง' ; แต่ส่วนใหญ่มักจะหมายถึง 'มองออกไปไกลๆ' หรือ 'ชะเง้อมอง' ; มันจึงสามารถที่จะหมายถึง 'คาดหวัง', 'มุ่งหวัง', 'ไขว่คว้า', หรือ 'มุ่งไป' หรือ 'เปรียบเทียบ' ; และสามารถใช้ในความหมายว่า 'เยี่ยมเยือน', 'พบปะ' ; บางครั้งยังหมายถึง 'เคารพ', 'ศรัทธา', 'มีชื่อเสียง' หรือ 'โด่งดัง' ในลักษณะของ 'เป็นที่จับตามอง', 'เป็นที่หมายปอง' ; แต่ถ้าใช้กับพระจันทร์จะหมายถึง 'พระจันทร์เต็มดวง'

เรามาเจอวลีเดิมคือ 帝乙歸妹 (dì yǐ guī mèi, ตี้ อี่ กุย เม่ย) ของวรรคที่ห้าในบทที่สิบเอ็ด (泰 : tài, ไท่) เข้าให้แล้วล่ะครับ ... ซึ่งผมขอดึงเอาถ้อยคำทั้งวรรคมาให้ดูกันชัดๆ อีกครั้งดีกว่า ...
'ผู้นำ (帝) ที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ (乙) ไม่หักโหมดำเนินการอย่างเอาเป็นเอาตาย (歸妹) ย่อมนำไปสู่ (以) ความเจริญรุ่งเรือง (祉) และความมีโชคลาภอย่างแท้จริง (元吉)' ... โดยผมยังคง 'ยืนยัน' ความหมายเดิมนะครับว่า 帝乙歸妹 (dì yǐ guī mèi, ตี้ อี่ กุย เม่ย) ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการยกน้องสาวของผู้นำให้กับใครทั้งนั้น ... ;) ... ส่วนวลีที่ว่า 月幾望 (yuè jī wàng, เยฺวี่ย จี วั่ง) ที่เราเห็นตรงท้ายวรรคนั้น เราเคยเจอมาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่หกของบทที่เก้า (小畜 : xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'การสั่งสม' (Little Accumulation) ซึ่งความหมายที่ผมให้ไว้ในตอนนั้นก็คือ 'ดวงจันทร์ (月) ย่อมมีวันเวลาที่แหว่งเว้า (幾) และมีวันเวลาที่เต็มดวง (望)' ซึ่งความหมายเดิมที่ 'จิวกง' ต้องการสื่อไว้ในบทดังกล่าวคือ 'ความไม่คงเส้นคงวา' ... แต่ 'ความไม่จิรังยั่งยืน' หรือ 'ความเป็นอนิจจัง' ตาม 'วัฏจักรของดวงจันทร์' นั้นเอง King Wen กลับเคยให้ความหมายไว้ในลักษณะของ 'การไม่ยึดติด' ดังถ้อยคำที่ปรากฏในบทที่สิบเก้า (臨 : lín, ลิ๋น) ซึ่งเป็นอีกบทหนึ่งที่ให้เสนอแนะข้อคิดบางอย่างสำหรับ 'ผู้ครองอำนาจการปกครอง' ...

ทีนี้ ลองมาดูลูกเล่นของ 'จิวกง' อีกซักเรื่องแล้วกัน ... ในวรรคนี้มีคำว่า 帝 (dì, ตี้) กับ 娣 (dì, ตี้) ซึ่งเป็น 'คำพ้องเสียง' แต่มีความหมายที่ฉีกออกเป็นคนละขั้วไปเลย โดย 帝 (dì, ตี้) มีความหมายที่สื่อถึง 'ผู้นำ' เช่นเดียวกับคำว่า 君 (jün, จฺวิน) ส่วน 娣 (dì, ตี้) มีความหมายที่สื่อถึง 'ผู้น้อย' หรือ 'ผู้ใต้บังคับบัญชา' และเป็นคำที่สื่อถึง 'ความเคารพนบน้อม' ต่อคำสั่งการ หรือระบบระเบียบต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้แล้ว ... ดังนั้น 其君之袂 (qí jün zhī mèi, ชี๋ จฺวิน จือ เม่ย) กับ 其娣之袂 (qí dì zhī mèi, ชี๋ ตี้ จือ เม่ย) จึงถูกเชื่อมกันด้วยคำว่า 不如 (bù rú, ปู้ ญู๋) เพื่อจะบ่งบอกลงไปอย่างชัดเจนเลยว่า 'ไม่เหมือนกัน' ... แต่มันจะ 'ไม่เหมือนกัน' ตรงไหนได้บ้างล่ะ ?!!

มีอีกประเด็นที่น่าสนใจใน 'ลีลาการเล่นคำ' ของ 'จิวกง' ที่ผมอดสงสัยไม่ได้ในวรรคนี้ก็คือ คำว่า 良月 (liáng yuè, เลี๋ยง เยฺวี่ย) ที่แปลกันอย่างง่ายๆ ตรงๆ ตัวเลยก็คงจะต้องแปลว่า 'พระจันทร์เต็มดวง' หรือ 'ดวงจันทร์ที่สุกสว่าง' ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ 朗 (lǎng, หฺล่าง) หรือ 朖 (lǎng, หฺล่าง) ที่เกิดจากการผสมอักษร 良 (liáng, เลี๋ยง) กับ 月 (yuè, เยฺวี่ย) เข้าเป็นอักษรตัวเดียวกัน และทำให้คำว่า 朗 (lǎng, หฺล่าง) มีความหมายว่า 'สุกสว่าง', 'กระจ่างแจ้ง', 'ชัดเจน', ซึ่งรวมไปถึง 'มีความเข้าใจอย่างกระจ่าง' ได้ด้วย ... ตรงนี้สิที่น่าสนใจมากๆ !!!??!! ... ;) ... เพราะมันเหมือนกับจะช่วยเสริม 'ความหมายที่แตกต่าง' (不如) ระหว่าง 其君之袂 (qí jün zhī mèi, ชี๋ จฺวิน จือ เม่ย) กับ 其娣之袂 (qí dì zhī mèi, ชี๋ ตี้ จือ เม่ย) ว่า เปรียบได้กับความแตกต่างของ 'ข้างแรม' (月幾) กับ 'ข้างขึ้น' (月望) นู่นเลยทีเดียว !!?! ...

แคะมาถึงขนาดนี้ก็แล้ว แต่ลำพังแค่ถ้อยคำเท่าที่เราเห็นในวรรคนี้ คงจะช่วยอะไรได้ไม่มากนักสำหรับ 'การตีความ' ให้ออกมาแล้วอ่านรู้เรื่อง ... เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไปคว้าวรรคที่สองมาเป็นตัวช่วยซะหน่อยดีกว่า ...
'เรื่องจุกจิกหยุมหยิมอันไม่ใช่สาระสำคัญ (眇) ที่แม้ว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ (能視) นั้น ทางที่ดีก็ควรจะ (利) วางเฉยด้วยหลักแห่งอุบกขา (幽人之貞) โดยไม่ต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บกับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น เพียงเพื่อหวังจะอวดโอ่ถึงความร้ายกาจของตน' ... เหมือนจะช่วยได้มั้ยวะเนี่ย ??!! ... :P

ผมอยากขยายความให้กับวรรคที่สองด้วยถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า ...
'ผู้นำที่ดี (帝) จะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ (乙) ไม่กระทำการใดๆ ด้วยความหุนหันวู่วาม (歸妹) ซึ่งการมีความยั้งคิดอย่างผู้นำ (其君之袂) ย่อมไม่ใช่ (不如) การหลีกเร้นด้วยความขลาดเขลาหวาดกลัวอย่างผู้ยอมจำนน (其娣之袂) ... อันความเข้าใจที่แจ่มกระจ่าง (朗 หรือ 良月) ต่อกาละ-เทศะอันเหมาะสม ดุจเดียวกับความสุกสว่างของดวงจันทรา (朗 หรือ 良月) ที่ย่อมแปรผันไปด้วยวาระแห่งเดือนแรม (幾) และเดือนขึ้น (望) นั้น คือหลักการสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความรุ่งเรืองสวัสดี (吉) ได้ในที่สุด' ...

ผมแยกความหมายของ 袂 (mèi, เม่ย) ในวรรคนี้ออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน นั่นคือ 'การเหนี่ยวรั้ง' หรือ 'การห้ามปราม' ซึ่งเป็นการสะท้อนความหมายของ 'ความยั้งคิด' ได้ในลักษณะหนึ่ง ; ส่วนอีกกรณีหนึ่งนั้น ผมเลือกใช้ความหมายรองของ 袂 (mèi, เม่ย) ว่า 'หลีกเร้น', หรือ 'หลบซ่อน' ในลักษณะที่ 'ไม่กล้าเผชิญ' โดยใช้ความหมายแบบหลังนี้กับ 娣 (dì, ตี้) ซึ่งแฝงความหมายของ 'ผู้ตาม' หรือ 'ผู้ที่ยอมจำนนต่อข้อจำกัด' โดย 'ไม่กล้ายืนหยัดในหลักการอันถูกต้อง' ของตน ... นี่คือความแตกต่างอย่างชัดเจนของ 'การยั้งคิดอย่างผู้นำ' (其君之袂) ซึ่งเป็นเรื่องของ 'ความเข้าใจที่แจ่มชัดต่อสถานการณ์' โดย 'จิวกง' เปรียบเทียบกับ 'ความสว่างไสว' ของ 'คืนเดือนขึ้น' (望) กับ 'การหลีกเร้นอย่างผู้ยอมจำนน' (其娣之袂) ซึ่งเป็น 'ความมืดบอด' ที่ 'จิวกง' เปรียบเทียบกับ 'คืนเดือนแรม' (幾) นั่นเอง ... ความหมายที่ต่อเนื่องกันของวรรคที่สอง กับวรรคที่ห้าก็คือ ... ผู้นำที่ดีจะต้องมีความหนักแน่นในการใช้วิจารณญาณว่า รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สังเกตเห็นได้ในกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ นั้น เรื่องใดที่ควรจะต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง ... หรือเรื่องใดที่ควรจะปล่อยวางอย่างมีอุเบกขา เพื่อหลีกเลี่ยงการลุกลามของปัญหาหยุมหยิมที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการดำเนินงาน โดยไม่ใช่การหนีปัญหาเพราะความขลาดเขลาที่จะเผชิญกับมันอย่างเปิดเผย ... โฮะ !!?! ... 'จิวกง' อัน 朗 (lǎng, หฺล่าง) หลายแต๊ๆ !! ... :D



 

หก หยิน :

女承筐無實士刲羊無血無攸利
nǚ chéng kuāng wú shí shì kuī yáng wú xüè wú yōu lì
หนฺวี่ เฌิ๋ง ควง อู๋ ซื๋ษื้อ คุย ยั๋ง อู๋ เซฺวี่ย อู๋ โยว ลี่





承 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'รองรับ', 'สนับสนุน', 'ได้รับ', 'สืบทอด', 'ถือครอง', 'ทำให้ต่อเนื่อง', 'ธำรงรักษา' ; 'เข้ารับตำแหน่ง', 'รับเป็นธุระ', 'รับเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ'

筐 อ่านว่า kuāng (ควง) หมายถึง 'ตะกร้า', 'ภาชนะ', หรือ 'บรรจุภัณฑ์' ที่ทำจากไม้ไผ่ ; ซึ่งบางครั้งก็จะหมายถึง 'กรอบ' (匡 อ่านว่า kuāng, ควง) ที่มีลักษณะเป็น 'การกำหนดขอบเขต' คล้าย 'ภาชนะ' ; และสามารถแปลว่า 'ปิ่นปักผม' หรือ 'เครื่องสวมศีรษะที่ใช้เพื่อการมวยผม' (簪) ก็ได้

實 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ปรกติแปลว่า 'ถ่องแท้', 'ความจริง', 'ความซื่อสัตย์', และ 'ความถูกต้อง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมตาม 'รากศัพท์' ของมันจะหมายถึง 'ความมั่งคั่ง' เพราะเป็นการผสมอักษร 貫 (guàn, ก้วน) ที่แปลว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ' กับ 宀 (mián, เมี๋ยน) ที่หมายถึง 'บ้าน' เข้าด้วยกัน ... 實 (shí, ซื๋อ) จึงหมายถึง 'ผลลัพธ์แห่งความเป็นระบบระเบียบ' นั่นก็คือที่มาของ 'ความถูกต้อง' ที่มันถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน ; นอกจากนั้นแล้ว 實 (shí, ซื๋อ) ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'ผลผลิต' ที่ได้จากพืชพรรณต่างๆ หรือใช้ในความหมายของ 'เมล็ดพันธุ์ของพืช' ที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกก็ยังได้ ซึ่งก็คงจะแผลงกันไปๆ มาๆ ระหว่าง 'ผลลัพธ์' กับ 'แก่นแท้' หรือ 'ความสัตย์จริง' นั่นเอง

士 อ่านว่า shì (ษื้อ) เป็นคำสุภาพที่หมายถึง 'ชายหนุ่ม' โดยเฉพาะ 'ชายโสด' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'ผู้ปฏิบัติหน้าที่' ซึ่งจะหมายถึง 'นายทหาร', 'ข้าราชการ', หรือ 'นักศึกษา' ก็ได้ ; ในแง่หนึ่งจึงสามารถที่จะแปลว่า 'ผู้ที่ได้รับการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่ได้รับการฝึกฝน' มาแล้วได้ด้วย

刲 อ่านว่า kuī (คุย) แปลว่า 'ตัด', 'ขูด', 'เฉือน' หรือ 'แทงเข้าไป' ; ซึ่งทำให้มันสามารถแปลว่า 'ทำร้าย', 'ทำให้บาดเจ็บ', หรือ 'ทำอันตราย' ก็ได้

羊 อ่านว่า yáng (ยั๋ง) ซึ่งถ้าไม่คิดอะไรมากคำนี้ก็จะแปลกันว่า 'แพะ' เท่านั้นเอง ; แต่ในสมัยโบราณ คำนี้เคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'โชคดี' หรือ 'เจริญรุ่งเรือง' แบบเดียวกับคำว่า 吉 (jí, จี๋) ที่เราเห็นกันมาแทบจะตลอดเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' นี่แหละ ... นอกจากนั้นแล้ว 羊 (yáng, ยั๋ง) ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'ละเอียดถี่ถ้วน' ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะออกแนว 'ละเอียดจนหยุมหยิม' ไปเลย แต่ก็สามารถแปลว่า 'ทำให้กระจ่างแจ้ง', หรือ 'ทำให้ชัดเจน' ได้เหมือนกัน

血 อ่านว่า xuè (เซฺวี่ย) แปลว่า 'เลือด', 'ถึงเลือดถึงเนื้อ', หรือ 'เลือดตกยางออก' ; แล้วบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'การนองเลือด' ได้เหมือนกัน ; แต่ในบางกรณีก็สามารถจะให้หมายถึง 'สาระสำคัญแห่งชีวิต' ได้ด้วย เพราะ 'เลือด' ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของทุกสรรพชีวิต

เอางี้นะ ... สมมุติให้เราแปลมันว่า 'หญิงสาวครอบครองภาชนะอันว่างเปล่า ชายหนุ่มชำแหละแพะที่ปราศจากโลหิต ... ล้วนแต่ไม่ได้เรื่องทั้งนั้น' ...  แหวะ !!!?! ... 'จิวกง' คงต้องบ้าแน่ๆ หากต้องการจะสื่อด้วยความหมายแบบนี้จริงๆ ??!! ... แต่มันจะแปลเป็นอย่างอื่นได้มั้ยล่ะ ?! ... นั่นแหละปัญหา !! ...

เอาใหม่ ... เราย้อนกลับไปดูความหมายของ 女 (nǚ, หนฺวี่) กับ 士 (shì, ษื้อ) ซึ่งเปรียบเสมือตัวแทนของ 'หยิน-หยาง' ในวรรคนี้ให้ละเอียดๆ อีกทีดีกว่า ...

女 (nǚ, หนฺวี่) เนี่ยนะ นอกจากจะเป็นคำที่ใช้ในความหมายของ 'ผู้หญิง' แล้ว คำนี้ก็ยังสามารถใช้เพื่อสื่อถึงคุณลักษณะหนึ่งของ 'หยิน' และ 'ความเป็นหยิน' ได้ด้วย ... ดังนั้น คำว่า 女 (nǚ, หนฺวี่) จึงอาจจะหมายถึง 'ความละเอียดอ่อน', 'ความละเอียดถี่ถ้วน' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' ด้วยก็ได้ ... ส่วนอักษร 士 (shì, ษื้อ) มาจากการผสมอักษร 一 (yī, อี) กับ 十 (shí, ซื๋อ) เข้าด้วยกัน ความหมายดั้งเดิมของมันจึงหมายถึง 'เริ่มต้นตั้งแต่หนึ่งไปจนสิ้นสุดที่สิบ' ซึ่งหมายถึง 'การปฏิบัติงานจนสำเร็จลุล่วง' และเป็นที่มาของการนำคำนี้มาใช้แทน 'ผู้ชาย' ในฐานะของ 'ผู้มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว' หรือ 'ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ' นั่นเอง ...

อ้ะ !! ... ทีนี้ดูดีๆ นะครับ ... ผมจะเสกความหมายให้กับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ซะใหม่ด้วย 'ความหมายแฝง' หรือ 'ความหมายรอง' ของแต่ละตัวอักษรไปซะเลย ...
'รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลาย (女) ที่ประกอบกันเข้า (承) เป็นระบบระเบียบกรอบเกณฑ์ (筐) โดยปราศจาก (無) หลักการอันเป็นแก่นสารที่แท้จริง (實) หรือการปฏิบัติงาน (士) ด้วยความหยุมหยิมจุกจิกอย่างผิวเผิน (刲羊) แต่ปราศจากเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ (無血) ย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คู่ควรแก่การทุ่มเทความพยายาม (無攸利) ใดๆ เลย' ... ถ้าจะเขียนให้สั้นๆ หน่อยก็คงจะได้ประมาณว่า ... 'กฎระเบียบอันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ปราศจากหลักการ (女承筐無實) กับการปฏิบัติงานที่มากด้วยลีลาแต่ปราศจากเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ (士刲羊無血) ล้วนไม่เป็นผลดีต่อการทุ่มเทความพยายามใดๆ (無攸利)' ...

ย้อนกลับไปดู 'คู่วลี' ของวรรคนี้หน่อยมั้ย ?! ... สิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่หนึ่งก็คือ ...
'การยับยั้งชั่งใจ (歸妹) ย่อมหมายถึง (以) การรู้จักให้เกียรติ และรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วยความเคารพนบน้อมต่อหลักคุณธรรม อันเป็นระบบระเบียบกฎเกณฑ์ (娣) ซึ่งแม้ว่าจะไม่คล่องตัวด้วยข้อจำกัดของศักยภาพที่เหลื่อมล้ำกัน (跛) แต่ก็จะสามารถ (能) ดำเนินงานร่วมกันต่อไปได้ (履) ซึ่งการปฏิบัติงานด้วยความมีวิจารณญาณเยี่ยงนี้ (征) ย่อมจะพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ได้ในที่สุด' ... ตรงนี้แหละที่ 'จิวกง' เสริมขึ้นมาว่า ... ไอ้เจ้า 'กฎระเบียบ' หรือ 'ความคิดเห็นของผู้อื่น' ที่ 'ควรจะให้ความเคารพ' นั่นน่ะ จะต้องมี 'ความน่าเคารพ' ด้วยเหมือนกัน เพราะถ้ามัน 'จุกจิกหยุมหยิม' ชนิดที่ 'เจ้าระเบียบแก่หลักการ' อย่าง 'ไร้สาระ' ไปวันๆ ... มี 'ระบบระเบียบ' เพียงเพื่อจะมี 'ระบบระเบียบ' เฉยๆ แต่ปราศจาก 'เป้าหมาย' ใดๆ ในทางที่จะก่อเกิดเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ... ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงใน 'การรักษาระบบระเบียบที่ไร้สาระ' ก็ย่อมได้ผลิตผลที่ 'ไร้สาระ' ไปด้วย ... ไม่มีเด็กสาวคนไหนมาอุ้มตะกร้าอันว่างเปล่า (女承筐無實) หรือเด็กหนุ่มอะไรมาชำแหละแพะที่ปราศจากโลหิต (士刲羊無血) ให้เพ้อแบบไม่ได้ความอะไรทั้งนั้น (無攸利) หรอกครับ !!??? ... :D




บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'กุยเม่ย' คือ การยับยั้งชั่งใจ, ฟ้าคำรามเหนือทะเลสาบ

'การยับยั้งชั่งใจ' คือ การ 'ตระหนักด้วยสำนึก' ว่า 'การดำเนินงาน' ด้วย 'ความผลีผลามสุ่มเสี่ยง' อย่าง 'เอาเป็นเอาตาย' (征凶) ย่อมไม่ใช่ 'วิถีทาง' ที่จะก่อให้เกิด 'ผลลัพธ์ที่ดี' อัน 'คู่ควร' แก่ 'การทุ่มเทความพยายาม' (無攸利) ใดๆ เลย'

    • 'การยับยั้งชั่งใจ' (歸妹) ย่อมหมายถึง (以) การรู้จัก 'ให้เกียรติ' และรู้จัก 'รับฟัง' ความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วย 'ความเคารพนบน้อม' ต่อ 'หลักคุณธรรม' อันเป็น 'ระบบระเบียบกฎเกณฑ์' (娣) ซึ่งแม้ว่าจะ 'ไม่คล่องตัว' ด้วย 'ข้อจำกัด' ของ 'ศักยภาพ' ที่ 'เหลื่อมล้ำกัน' (跛) แต่ก็ยังสามารถ (能) 'ดำเนินงานร่วมกัน' ต่อไปได้ (履) ซึ่ง 'การปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความมีวิจารณญาณ' เยี่ยงนี้ (征) ย่อมจะพัฒนาไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ได้ในที่สุด
    • 'เรื่องจุกจิกหยุมหยิม' อัน 'ไม่ใช่สาระสำคัญ' (眇) ที่แม้ว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ (能視) นั้น ทางที่ดีก็ควรจะ (利) 'วางเฉย' ด้วย 'หลักแห่งอุบกขา' (幽人之貞) โดยไม่ต้อง 'ฟื้นฝอยหาตะเข็บ' กับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น เพียงเพื่อหวังจะ 'อวดโอ่' ถึง 'ความร้ายกาจ' ของตน
    • 'ความยับยั้งชั่งใจ' (歸妹) คือ 'การรู้จักข่มใจ' เพื่อ (以) รอคอย 'จังหวะเวลาที่เหมาะสม' (須) 'การรู้จักหักห้ามใจ' (反歸) ย่อมหมายถึงการแสดงออกซึ่ง (以) 'ความเคารพ' ใน 'ลำดับชั้นขั้นตอน' (娣) ที่ 'จำเป็น' ต่อ 'พัฒนาการโดยรวม'
    • จงมี 'ความยับยั้งชั่งใจ' (歸妹) ต่อ 'ความคลาดเคลื่อน' (愆) ของ 'กำหนดการ' ต่างๆ ตามที่ 'คาดหวัง' (期) เพราะ 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' (遲) เพื่อให้ 'ทุกภาคส่วน' สามารถ 'ประสานกันได้' อย่าง 'กลมกลืน' (歸) นั้น จำเป็นต้องอาศัย (有) 'เงื่อนเวลาที่เหมาะสมลงตัว' (時) เป็น 'ปัจจัยสำคัญ'
    • 'ผู้นำที่ดี' (帝) จะต้องมี 'ความยับยั้งชั่งใจ' (乙) ไม่กระทำการใดๆ ด้วย 'ความหุนหันวู่วาม' (歸妹) ซึ่งการมี 'ความยั้งคิดอย่างผู้นำ' (其君之袂) ย่อมไม่ใช่ (不如) 'การหลีกเร้น' ด้วย 'ความขลาดเขลาหวาดกลัว' อย่าง 'ผู้ยอมจำนน' (其娣之袂) ... อัน 'ความเข้าใจที่แจ่มกระจ่าง' (朗 หรือ 良月) ต่อ 'กาละ-เทศะอันเหมาะสม' ดุจเดียวกับ 'ความสุกสว่าง' ของดวงจันทรา (朗 หรือ 良月) ที่ย่อม 'แปรผัน' ไปด้วย 'วาระ' แห่งเดือนแรม (幾) และเดือนขึ้น (望) นั้น คือ 'หลักการสำคัญ' ที่จะนำพาไปสู่ 'ความรุ่งเรืองสวัสดี' (吉) ได้ในที่สุด
    • 'รายละเอียดปลีกย่อย' ทั้งหลาย (女) ที่ 'ประกอบกันเข้า' (承) เป็น 'ระบบระเบียบกรอบเกณฑ์' (筐) โดยปราศจาก (無) 'หลักการ' อันเป็น 'แก่นสาร' ที่แท้จริง(實) หรือ 'การปฏิบัติงาน' (士) ด้วย 'ความหยุมหยิมจุกจิก' อย่าง 'ผิวเผิน' (刲羊) แต่ปราศจาก (無) 'เนื้อหา' อันเป็น 'สาระสำคัญ' (血) ย่อมไม่ใช่ 'วิถีทาง' ที่จะก่อให้เกิด 'ผลลัพธ์ที่คู่ควร' แก่ 'การทุ่มเทความพยายาม' (無攸利) ใดๆ เลย
 
    • *** เหมือนเดิมครับ จำเป็นต้องแทรกภาษจีนต้นฉบับเอาไว้ เพราะมีการใช้ความหมายรองของแต่ละคำค่อนข้างมาก ... ;)



The Organization Code :


'การยับยั้งชั่งใจ' เปรียบได้ดั่ง 'ฟ้าคำราม' (☳) เหนือผืน 'ทะเลสาบ' (☱) ซึ่งจะสะท้อน 'ความมีประสิทธิภาพ' ของ 'ทั่วทั้งองค์กร' ให้ 'สำแดงอิทธิเดช' ออกมาอย่าง 'เต็มศักยภาพ' ... โดย 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'ความตื่นตัว' อย่าง 'มุ่งมั่น' (⚌) ; มี 'การบริหารงาน' ที่ 'แคล่วคล่อง-ฉับไว' แต่ไม่ 'หวั่นไหว-โลเล' (⚎) ; และจะต้อง 'ปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความสม่ำเสมอ-ต่อเนื่อง' อย่าง 'แน่วแน่-มั่นคง' (⚏)

'การดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ด้วย 'ความบุ่มบ่ามผลีผลาม' โดย 'ปราศจากสำนึก' ใน 'ภาพรวมของทั้งระบบ' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสุ่มเสี่ยง' ต่อ 'ความเสียหาย' และ 'ผลลัพธ์' อันเกิดจาก 'ความหมกมุ่น' อย่าง 'เอาเป็นเอาตาย' นั้น ก็จะไม่ได้ 'สัดส่วนที่เหมาะสม' กับ 'ศักยภาพทั้งหมด' ที่ได้ทุ่มเทลงไป

    • 'การยับยั้งชั่งใจ' โดยไม่กระทำการด้วย 'ความบุ่มบ่ามวู่ว่าม' คือการรู้จัก 'ให้เกียรติ' และรู้จัก 'รับฟัง' ความคิดเห็นผู้อื่นด้วย 'ความเคารพ' อันเป็น 'หลักปฏิบัติ' ที่จะนำมาซึ่ง 'ความมีระบบระเบียบกฎเกณฑ์' สำหรับ 'การประกอบกิจการงานต่างๆ' ... ซึ่งแม้ว่าจะมี 'ความไม่คล่องตัว' อันสืบเนื่องมาจาก 'ข้อจำกัด' ของ 'ศักยภาพ' ที่ 'เหลื่อมล้ำกัน' แต่ก็จะสามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ต่อไปได้อย่าง 'ราบรื่น' และ 'มั่นคง' ยิ่งกว่า 'การปฏิบัติงาน' แบบ 'ตัวใครตัวมัน'
    • การรู้จัก 'วางเฉย' ด้วย 'หลักแห่งอุเบกขา' ต่อ 'ข้อผิดพลาด' อันเป็น 'เรื่องจุกจิกหยุมหยิม' ที่ 'ไม่ใช่สาระสำคัญ' ของ 'การปฏิบัติงาน' นั้น ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า 'การฟื้นฝอยหาตะเข็บ' เพียงเพื่อหวังจะ 'อวดโอ่' ถึง 'ศักดา-บารมี' อัน 'น่าเกรงขาม' อย่าง 'ไร้สาระ' ของตน
    • 'ความยับยั้งชั่งใจ' หมายถึง 'การรู้จักข่มใจ' เพื่อรอคอย 'จังหวะเวลา' อัน 'เหมาะสม' แก่ 'การดำเนินงาน' ; ส่วน 'การรู้จักหักห้ามใจ' จะหมายถึง 'การยอมรับฟัง' ข้อ 'ติติง-ทักท้วง' และ 'คำห้ามปราม' ของบุคคลอื่นด้วย 'ความเคารพ' และ 'ปฏิบัติตามลำดับชั้นขั้นตอน' ที่ 'จำเป็น' ต่อ 'พัฒนาการโดยรวม' ด้วย 'ความยินดี'
    • 'การกำหนดแผนงาน' ต่างๆ นั้น จะต้องมี 'กรอบของเวลา' ที่ 'ยืดหยุ่น' ต่อ 'ความคลาดเคลื่อน' ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อจะไม่ต้องปฏิบัติงานด้วยอาการ 'ลุกลี้ลุกลน' โดยไม่มีเวลาสำหรับ 'การตรวจสอบ-ทบทวน' อย่าง 'ถี่ถ้วน-รอบคอบ' ; 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' เพื่อให้ 'ทุกภาคส่วน' สามารถ 'ประสานกันได้' อย่าง 'กลมกลืน' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'เงื่อนเวลาที่เหมาะสมลงตัว' เป็น 'ปัจจัยสำคัญ'
    • 'ผู้นำที่ดี' จะต้องมี 'ความยับยั้งชั่งใจ' โดย 'ไม่กระทำการ' ใดๆ ด้วย 'ความหุนหันวู่วาม' และจะต้อง 'ไม่ซื้อเวลา' ด้วย 'ความขลาดเขลาหวาดกลัว' เพราะ 'ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา' ที่ 'จำเป็นต้องเยียวยา-แก้ไข' ... อัน 'ความสุกสว่าง' ของดวงจันทรา ที่ 'แปรผัน' ไปด้วย 'วาระ' ของ 'เดือนขึ้น-เดือนแรม' ย่อมส่งกระทบต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ในใต้หล้าฉันใด ... 'ความเข้าใจ' ใน 'กาละ-เทศะอันเหมาะสม' ของแต่ละ 'ภาระกิจ' เยี่ยง 'ผู้นำ' ย่อมเป็น 'หลักการสำคัญ' ที่จะนำพาองค์กรหนึ่งๆ ไปสู่ 'ความรุ่งเรืองสวัสดี' ได้ฉันนั้น
    • 'กฎระเบียบ' ที่ปราศจาก 'หลักการอันเที่ยงแท้' แต่มากมายด้วย 'รายละเอียด' ของ 'ข้อจำกัด' และ 'เงื่อนไข' ที่ 'จุกจิกหยุมหยิม' ย่อมนำไปสู่ 'การปฏิบัติงาน' ที่มากด้วย 'ลีลา' แต่ปราศจาก 'เนื้อหาสาระ' อันมี 'คุณประโยชน์' ที่ 'ควรค่า' แก่ 'การทุ่มเทความพยายาม'



ไม่ว่าเราจะพิจารณาโดยลำดับอนุกรม, โดย 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท', หรือโดยความหมายของเนื้อความทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในบทที่ห้าสิบสี่นี้ ผมก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า นี่คืออีกบทหนึ่งที่มีความน่าฟังไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว เพราะโดย 'ลำดับอนุกรม' ที่ King Wen เรียบเรียงเอาไว้นั้น บทที่ห้าสิบสาม และบทที่ห้าสิบสี่ จะอยู่ในตำแหน่งสูงสุด หรือ peak ที่สุดของ 'วัฏจักรที่ห้าแห่งหยาง' พอดี ซึ่งเป็น 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ตามการไล่เรียงลำดับที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น ... โดยทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ได้ 'ประสานอักษร' เป็น 'ข้อเตือนสติ' ไว้ว่า ... บุคคลผู้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่ง 'อำนาจ' แล้วนั้น จะต้อง 'ไม่ละทิ้งปณิธานที่มุ่งมั่น' และจะต้อง 'ไม่ลดละความพยายาม' ใน 'การดำเนินภาระกิจ' ต่างๆ อย่าง 'ต่อเนื่อง' จนกว่าจะ 'ประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดี' (漸) ... แต่ก็ต้อง 'ไม่ลุแก่อำนาจ' จน 'ขาดความยั้งคิด' เพราะ 'ไม่ยอมรับรู้-รับฟัง' ถึง 'อุปสรรค' และ 'ข้อจำกัด' ใน 'ศักยภาพ' ขององคาพยพที่มีอยู่ด้วย (歸妹) ... นี่ก็คือความสวยงามของลำดับบทที่ King Wen เรียบเรียงเอาไว้ ...

ในแง่ของ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ที่ King Wen เลือกใช้ก็คือ 'ฟ้าคำราม' (☳ : 震 : zhèn, เจิ้น) เหนือ 'ผืนทะเลสาบ' (☱ : 兑 : duì, ตุ้ย) ที่ย่อมจะสะท้อน 'ความแปรเปลี่ยน' ของฟ้าอยู่ตลอดเวลา
เสมือนหนึ่งภาพของ 'การประสานกำลัง' ระหว่าง 'ทุกองคาพยพขององค์กร' ให้ 'ดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ ไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' นั่นเอง ... แต่หากจะ 'ตีความ' ด้วยความหมายของ The Organization Code ตามที่ผมเล่าเอาไว้เอง ... 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) คือ 'ความอึกทึกครึกโครม' หรือ 'ความสั่นสะเทือนอันน่าเกรงขาม' ของ 'ฝ่ายการตลาด' ; ในขณะที่ 兑 (☱ : duì, ตุ้ย) จะหมายถึง 'ความมีชีวิตชีวา' หรือ 'ความสดใสร่าเริง' ของ 'ฝ่ายขาย' ... เมื่อผสมเข้าด้วยกันเป็น ䷵ (歸妹 : guī mèi, กุยเม่ย) เราก็จะได้ความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' ประมาณว่า 'องค์กรที่จะสามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างอย่างน่าเกรงขามนั้น ย่อมเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างกระตือรือร้นของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง' ... โดยถ้อยคำทั้งหมดในบทนี้ ก็คือ 'ข้อแนะนำ' ที่ 'จิวกง' ฝากเอาไว้ให้พวกเราได้ 'พิจารณาทบทวน' เพื่อเป็นแนวทางใน 'การสร้างขวัญและกำลังใจ' แก่ 'ผู้ร่วมปฏิบัติงาน' ทั้งหลายต่อไป ... อันนี้เป็นความสวยงามของ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่เลือกใช้ครับ ... :)

ส่วนความหมายของเนื้อความทั้งหมดที่ผมเล่าเอาไว้นี้ ผมอยากจะบอกว่า ลีลาการเล่นกับถ้อยคำของ 'จิวกง' นั้น มันช่างลึกล้ำสุดหยั่งจริงๆ ครับ และคงเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่ย้อนกลับไปคุ้ยแคะ 'การขยายความ' ในฉบับแปลอื่นๆ อีกหลายเล่ม เพราะถึงแม้ว่า 'คำแปล' จากเนื้อความเดิมของ 'คัมภีร์อี้จิง' จะไม่ค่อยได้เรื่องซักเท่าไหร่ แต่ 'คำขยายความ' ที่หลายคนพยายามแปลมาจากบทบันทึกของปราชญ์ยุคถัดๆ มา ก็ถือว่ามีส่วนช่วยให้เห็น 'อัจฉริยภาพทางภาษา' ของ 'จิวกง' ได้อย่างน่าดีใจเลยทีเดียว ... มึนได้มันมากเลยครับกับการพยายามทำความเข้าใจความหมายทั้งหมดของบทนี้ ... :D