Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十五卦 : 無妄

無妄 : 天雷無妄 ‧ 乾上震下

無妄 : 元亨利貞‧其匪正有眚‧不利有攸往‧

  • 初九 ‧ 無妄‧往吉‧
  • 六二 ‧ 不耕獲‧不菑畬‧則利有攸往‧
  • 六三 ‧ 無妄之災‧或繫之牛‧行人之得‧邑人之災‧
  • 九四 ‧ 可貞‧無咎‧
  • 九五 ‧ 無妄之疾‧勿藥有喜‧
  • 上九 ‧ 無妄行‧有眚‧無攸利‧
  •  

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ ตื่นตัวสงบนิ่ง (⚍) ปัญญา พรั่งพร้อมรัดกุม (⚎) กายา กล้าแกร่งสมบูรณ์ (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัย 'พลังแห่งความกระตือรือร้น' (☳) ในการเสริมส่ง 'พันธกิจ' และ 'นโยบาย' (☰)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การเสริมประสาน, ครึกโครมทั้งใต้หล้า



ความหมายของชื่อเรียก : Corroboration : การเสริมประสาน


คำว่า 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) มีความหมายตามอักษรว่า 'ไม่มั่ว', 'ไม่สะเปะสะปะ', หรือ 'ไม่เลอะเทอะ' ซึ่งแว้บแรกที่เห็นก็ทำให้ผมนึกถึงคำว่า Integrity ทันที แต่เนื่องจากคำว่า Being Integrity คือคำที่ผมเลือกใช้สำหรับบทที่สิบสามไปซะก่อน :P ผมจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า Corroboration แทน โดย corroborate มีความหมายตาม 'รากศัพท์' ว่า 'เสริมสร้างให้แข็งแรง' ในลักษณะที่ 'ร่วมแรงร่วมใจกัน' ... แต่ความหมายในปัจจุบันมักจะใช้ในลักษณะของ 'การพิสูจน์หลักฐาน', 'การสนับสนุนข้อเท็จจริง', หรือ 'การเพิ่มความหนักแน่น' ให้กับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึง 'ความหนักแน่น', 'ความจริงจัง' และ 'ความเป็นของแท้' ที่ 'สามารถพิสูจน์ได้'

ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะผมมอง 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้ด้วยความหมายของ 'ความกระตือรือร้น' (☳) ที่ร่วมกันผลักดัน 'นโยบาย' หรือ 'เป้าหมาย' (☰) หนึ่งๆ ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็น 'รูปธรรม' ขึ้นมา ... ซึ่งเป็น 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 'การกระจายอำนาจ' ในบทที่ยี่สิบสาม (䷖) และ 'ความแน่วแน่มั่นคง' ในบทที่ยี่สิบสี่ (䷗) ที่เป็นเรื่องของ 'การปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด' (䷗) อันนำมาสู่ 'ความเป็นจริงเป็นจังของเป้าหมาย' (☰) จากที่ทุกๆ คนได้ 'ร่วมกันผลักดัน' อย่าง 'กระตือรือร้น' (☳) นั่นเอง

คำว่า 無 (wú, อู๋) เป็นคำที่พบบ่อยมากใน 'คัมภีร์อี้จิง' โดยทั่วไปจะมีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ไม่ว่าจะเป็น 'ไม่มี', 'ไม่ได้', 'ไม่พบ', ฯลฯ ... แต่ที่มาของ 無 (wú, อู๋) นี่ค่อนข้างจะประหลาดอยู่ซักหน่อย เพราะความหมายเดิมของมันแปลว่า 'มากมาย' แต่เป็น 'ความมากมาย' ชนิดที่ 'ไม่สามารถนับได้' หรือ 'มากจนเหลือเชื่อ', 'เยอะเหมือนโกหก' หรือ 'ยุ่งเหยิงจนนับไม่ไหว' ... ประมาณว่ามีอาการ 'ไม่ยอมนับ' แล้วถึงกลายมาเป็น 'ไม่มี' ในเวลาต่อมา ... บ้าจริง !!!?? ... :D

สำหรับ 妄 (wàng, วั่ง) นั้น ท่อนบนประกอบด้วย 'ภาพอักษร' ของ 人 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คน' อยู่ในกรอบเปิดคือ 乚 (yǐn, อิ่น) ที่แปลว่า 'หลบหนี', 'หลบซ่อน' กลายมาเป็น 亡 (wáng, วั๋ง) ที่แปลว่า 'หลบลี้หนีหาย' ซึ่งบางครั้งก็แปลว่า 'ไม่มี' ได้ด้วย ... ท่อนล่างของอักษร 妄 (wàng, วั่ง) ก็คือ 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่แปลว่า 'ผู้หญิง' แต่ความจริงแล้วมันก็เป็น 'ร่างแปลง' ของ 人 (rén, เญิ๋น) ที่ 'เสริมหน้าอก' ด้วยขีดโค้งตรงกลางเท่านั้นเอง ดังนั้นความหมายของ 女 (nǚ, หนฺวี่) จึงสามารถใช้ในความเดียวกับ 人 (rén, เญิ๋น) ในฐานะของ 'มนุษย์' ได้เหมือนกัน ... แต่เนื่องจากคำว่า 人 (rén, เญิ๋น) นั้นสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คุณธรรม' ได้ด้วย ... ดังนั้น 'ภาพอักษร' ของ 妄 (wàng, วั่ง) จึงอาจจะหมายถึง 'สตรีที่ถูกทอดทิ้ง' หรือ 'มนุษย์ที่บกพร่องทางคุณธรรม' ก็ได้ ... หรือไม่งั้นก็อาจจะหมายถึง 'สตรีที่ต้องทนแบกรับความบกพร่องทางคุณธรรม' ก็ไม่แปลก ... :) ... เพราะความหมายของ 妄 (wàng, วั่ง) ในปัจจุบันคือ 'เหลวไหล', 'เลอะเทอะ', 'น่าขัน', 'น่าอับอาย', 'ไม่เรียบร้อย', 'สับสน', 'วุ่นวาย' ; รวมทั้งยังหมายถึง 'ความเสแสร้ง', 'ไม่จริงใจ' ได้อีกต่างหาก

เมื่อยำอักษรทั้งสองตัวเข้าด้วยกัน 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ก็น่าจะหมายถึง 'ไม่ทำตัวเป็นบุคคลผู้ละทิ้งคุณธรรม' ... หรือถ้าแปลด้วยภาษาธรรมดาๆ หน่อยก็น่าจะแปลว่า 'ไม่เหลวไหล' หรือ 'ไม่สะเปะสะปะ' ซึ่งทำให้ผมนึกถึงคำว่า Integrity ที่ผมใช้ไปในบทที่สิบสามขึ้นมาทันที โดยผมให้ความหมายไว้ในบทดังกล่าวว่า 'การครองตนในธรรม' ... แต่การที่มันไป 'พ้องความหมาย' กับบทที่สิบสามก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญซะทีเดียวหรอกครับ เพราะความจริงแล้วมันมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับวรรคที่ห้าของบทที่สองด้วยกันทั้งคู่นั่นแหละ !!!??!!

ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่ห้าของบทที่สองก็คือ 黃裳元吉 (huáng cháng yuán jí, ฮวั๋ง ฌั๋ง เยฺวี๋ยน จี๋) ซึ่งหลายๆ ตำรา 'ตีความ' ตามตัวอักษรว่า 'เสื้อเหลืองจะมีโชคดี' ... แต่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อชั้นนอก, เสื้อชั้นใน, เสื้อท่อนบน หรือเสื้อท่อนล่าง ผมก็ไม่เล่นด้วยทั้งนั้นแหละครับ ... :P ... เพราะความหมายที่ผมอธิบายไว้ก็คือ 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' ... แล้วถ้าผมแผลงความหมายของ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ให้กลายเป็น 'ของแท้' หรือ 'ต้นฉบับ' มันก็แทบจะใกล้เคียงกับ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในความหมายของ 'ไม่เสแสร้ง' ได้เลยเหมือนกัน ... ;)

มาดูถ้อยคำของ King Wen ที่บันทึกไว้ในบทที่สิบสามมั่ง ... 同人于野亨利涉大川利君子貞 (tǒng rén yǘ yě hēng lì shè dà chuān lì jün zǐ zhēn, ท๋ง เญิ๋น ยฺวี๋ เหฺยี่ย เฮิง ลี่ เษ้อ ต้า วน ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน) ความหมายก็คือ 'การครองตนในธรรม (同人) อย่างมั่นคง แม้ใน (于) สังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา (野) ย่อมเป็นความเจริญ (亨) ที่จะสามารถ (利) ก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรค (大川) และจะสัมฤทธิ์ผล (利) ได้ด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี (君子貞)' ...

แนวคิดที่สะท้อนผ่านถ้อยคำซึ่งหยิบยกมาให้ดูกันตรงนี้อีกครั้งหนึ่งก็คือ 'การทำความดีให้ปรากฏ' นั่นเอง และเป็นความหมายที่คล้ายกับ 'ภาพสัญลักษณ์' ䷘ ซึ่งผม 'ตีความ' ไว้ว่า 'การผลักดันเป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม' ... อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกใช้คำว่า Coroboration หรือ 'การเสริมประสาน' มาเป็นประเด็นของ 'การเล่าคำอธิบาย' ให้กับบทนี้ต่อไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨利貞其匪正有眚不利有攸往
yuán hēng lì zhēn qí fěi zhèng yǒu shěng bù lì yǒu yōu wǎng
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง โหฺย่ว เษิ่ง ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง


匪 (fěi, เฝ่ย) แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … โดยใน 'ภาพอักษร' จะเห็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)' ... แต่ถ้าในความหมายกลางๆ ก็จะใช้ในลักษณะของ 'การปฏิเสธ' เหมือนกับ 非 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ถูก', 'ไม่จริง' หรือ 'ไม่มี' ... นอกจากนั้น คำว่า 匪 (fěi, เฝ่ย) ก็ยังสามารถแปลว่า 'จำแนกแยกแยะ' หรือ 'การแบ่งแยก' เพื่อ 'การจัดเป็นหมวดหมู่' ได้ด้วยเหมือนกัน

正 อ่านว่า zhèng (เจิ้ง) แปลว่า 'ตรง', 'เที่ยง', 'ไม่เอนเอียง', 'ถูกต้อง', 'ทำให้ถูกต้อง', บางครั้งยังหมายถึง 'ยุติธรรม' ก็ได้ ; ในแง่ของ 'ความถูกต้อง' นั้นก็จะรวมถึง 'ความครบถ้วน', 'ความสมบูรณ์', หรือ 'ความเที่ยงแท้' ซึ่งสะท้อนถึง 'ความไม่ผิดพลาด' เอาไว้ ; แต่ถ้าออกเสียงว่า zhēng (เจิง) เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การบุก', 'การรุกคืบไปข้างหน้า', 'การเคลื่อนกำลังทหาร', หรือ 'การเรียกร้อง' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากลักษณะของ 'ความไม่เอนเอียง' จนกลายเป็น 'ความเฉียบขาด' ของ 'การออกคำสั่ง' หรือ 'การตัดสินใจ' ... และในแง่ของ 'ความเที่ยง', 'ความไม่ผิดพลาด' จึงทำให้มันหมายถึง 'เป้าหมาย' ได้ด้วย

ที่เห็นกันชัดๆ ในวลีนี้ก็คือ มีการใช้คำว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน), 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่), 貞 (zhēn, เจิน) ครบทั้งสี่ตัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งความหมายของทั้งสี่พยางค์นี้เมื่อเรียงต่อกันก็คือ 乾 (qián, เชี๋ยน) ที่ผมแปลไทยไว้ว่า 'ศักยภาพ' ตั้งแต่บทที่หนึ่ง ... แต่หากแยกออกมาเป็นเรื่องๆ เราก็จะได้ความหมายอื่นที่แปลกออกไปตามที่เล่าแล้วไว้ในบทที่สิบเก้า อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'การปกครอง' (Administering) ว่า
 

  元 (yuán, เยฺวี๋ยน) มีความหมายหนึ่งว่า 'ใหญ่' นี่คือตัวแทนของ 'อำนาจ'
  亨 (hēng, เฮิง) มีความหมายว่า 'เข้าใจ' นี่คือตัวแทนของ 'ความรู้'
  利 (lì, ลี่)  มีความหมายหนึ่งว่า 'ทุ่มเท' นี่คือตัวแทนของ 'หน้าที่'
  貞 (zhēn, เจิน) มีความหมายว่า 'อุดมการณ์' มันจึงเป็นตัวแทนของ 'คุณธรรม'


โดยสาเหตุที่ผมคิดว่าน่าจะแยกออกเป็น 'สี่องค์ประกอบ' ก็มาจากอักษร 其 (qí, ชี๋) ที่ตามมาติดๆ ในวลีนี้ เพราะถึงแม้ว่า 其 (qí, ชี๋) จะหมายถึง 'ทั่วๆ ไป', 'อื่นๆ', แต่มันก็สามารถใช้ในลักษณะที่หมายถึง 'แต่ละอัน', 'แต่ละสิ่ง', 'แต่ละคน', 'ทุกๆ หน่วย' หรือ 'ทั้งหมด' ก็ได้ ... ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า King Wen น่าจะกำลังต้องการสื่อถึง 'องค์ประกอบทั้งสี่' อันหมายถึง 元 (yuán, เยฺวี๋ยน), 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่), 貞 (zhēn, เจิน) โดยไม่มีเจตนาจะให้ยุบเหลือเพียงคำว่า 乾 (qián, เชี๋ยน) เพียงคำเดียวเหมือนกับในบางบทที่ผ่านมา

วลีที่ใช้ปิดประโยคนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสังเกตอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะ King Wen เล่นกับวลีแบบเดียวกันนี้ถึง 3 ครั้งติดๆ กันมาตั้งแต่บทที่ยี่สิบสามแล้ว เริ่มจาก 不利有攸往 ในบทที่ยี่สิบสาม ... แล้วก็ 利有攸往 ในบทที่ยี่สิบสี่ ... จากนั้นกลับมาเป็น 不利有攸往 อีกครั้งหนึ่งในบทนี้ ... ซึ่ง 利 (lì, ลี่) ในวลีทั้งสามนั้นไม่น่าจะหมายถึง 'โชคดี' แต่ควรจะหมายถึง 'ทุ่มเท', 'มุ่งมั่น', 'หักโหม' หรือ 'เร่งเร้า' มากกว่า

หากแปลวลีนี้ตามความหมายโดยนัยของ 'การปกครอง' มันน่าจะออกมาประมาณว่า 'อำนาจ (元) สติปัญญา (亨) ภาระหน้าที่ (利) และคุณธรรม (貞) หากต่างฝ่าย (其) ต่างก็ไม่ลงรอยในทิศทางเดียวกัน (匪正) ย่อมมีแต่ความสับสน (有眚) ... ดังนั้น จึงไม่ควรเร่งเร้าหักโหม (不利) จนทำให้ทุกอย่างดูโกลาหลวุ่นวาย เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนมีผลสนอง (有攸往) ตามสมควรแก่เหตุของมันเสมอ' ... แต่ถ้เราาจะ 'ตีความ' ให้เกี่ยวข้องกับ 'การดำเนินชีวิต' หรือ 'การประกอบอาชีพการงาน' ความหมายของวลีนี้ก็จะออกมาประมาณว่า 'ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) ความรู้ความเข้าใจ (亨) ความบากบั่นพยายาม (利) และหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน (貞) หากเตลิดเปิดเปิงออกไปคนละทิศคนละทางอย่างไม่สามารถหาจุดร่วมเดียวกัน (其匪正) ทุกย่างก้าวย่อมมีแต่ความสับสนไม่ชัดเจน (有眚) ... การดำเนินงานจึงต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรเร่งเร้าแข็งขืน (不利) จนสุดโต่ง เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนมีผลสนอง (有攸往) ตามสมควรแก่เหตุของมันเสมอ' ...

หากเราไล่เรียงลำดับของเรื่องราวมาจากบทที่ยี่สิบสาม เราก็จะเห็นความหมายของ 'การกระจายความรับผิดชอบ' ซึ่งต่อด้วยบทที่ยี่สิบสี่ที่ให้ข้อแนะนำในเรื่องของ 'ความแน่วแน่มั่นคง' ต่อ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' อย่าง 'มีสติยั้งคิด' โดยไม่ทำอะไรอย่าง 'สุ่มเสี่ยง' ... แต่ 'การดำรงอยู่ร่วมกัน' หรือ 'การทำงานร่วมกัน' ในสังคมหนึ่งๆ ย่อมต้องอาศัย 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' ของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำไปคนละทิศคนละทางโดยไม่สนใจใยดีซึ่งกันและกันเลย ... ความหมายของ 'การเสริมประสาน' จึงหมายถึงการที่ 'ทุกๆ ฝ่าย' ต่างก็ 'เสริมส่งเป้าประสงค์ของกันและกัน' อย่าง 'แข็งขัน' และ 'เต็มไปด้วยชีวิตชีวา' ... 'ศักยภาพ' ที่แม้จะมีความโดดเด่น แต่หากไม่สามารถ 'หลอมรวม' ให้มุ่งไปสู่ 'ทิศทางเดียวกัน' หรือไม่มี 'เป้าประสงค์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีนัยสำคัญ' ... ย่อมไม่อาจเปล่งพลานุภาพที่สะเทือนฟ้าสะท้านแผ่นดินแต่ประการใดได้เลย ... อย่างมากที่สุดก็คงทำได้แค่ปากคอสั่นไปวันๆ เท่านั้น ... :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

無妄往吉
wú wàng wǎng jí
อู๋ วั่ง หวั่ง จี๋


ถ้ามองเฉพาะตัวอักษรไม่กี่ตัวในวลีนี้ของ 'จิวกง' ความหมายก็คงจะกระจุยกระจายออกไปได้อย่างหลากหลายมากๆ เพราะคำว่า 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) อันเป็นคำเดียวกับ 'ชื่อบท' นั้นสามารถ 'ตีความ' ได้หลายอย่างเพื่อให้ไปรับกับคำว่า 往吉 (wǎng jí, หวั่ง จี๋) ที่หมายถึง 'ผลสนองที่ดี' ... โดย 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) สามารถแปลว่า 'ไม่เสแสร้ง' หรือ no fake ซึ่งมันก็จะไปพ้องความหมายกับ 黄裳 (huáng cháng, ฮวั๋ง ฌั๋ง) ในบทที่สองที่หมายถึง 'ความเรืองรองของคุณธรรมความดี' หรือ 'คุณธรรมที่ปรากฏ' ... อันจะสะท้อนกลับให้ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) มีความหมายว่า 'การไม่ละทิ้งคุณธรรม' เหมือนกับคำว่า 同人 (tǒng rén, ท๋ง เญิ๋น) อย่างที่เล่าไปในตอนอธิบายความหมายของชื่อบท ... ในขณะที่ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ยังสามารถแปลว่า 'ไม่เหลวไหล', 'ไม่สะเปะสะปะ', 'ไม่สับสนวุ่นวาย' ซึ่งถ้าใช้ในระดับบุคคล มันก็คือ 'ความเอาจริงเอาจัง', 'ความแน่วแน่มั่นคง', และ 'การครองตนอย่างมีสติ' ... ความหมายเหล่านี้ย่อมไปกันได้กับคำว่า 往吉 (wǎng jí, หวั่ง จี๋) ด้วยกันทั้งหมด ... แต่ถ้าใช้ในความหมายของ 'ไม่เหลวไหล', 'ไม่สะเปะสะปะ', 'ไม่สับสนวุ่นวาย' กับ scale ที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นระดับองค์กร, ชุมชน, สังคม, หรือระดับประเทศ ความหมายของ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ก็จะหมายถึง 元, 亨, 利, 貞 ที่ทั้งหมดนั้นมี 'มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน' (其正) ... ในเมื่อ King Wen บอกว่า 其匪正有眚 (qí fěi zhèng yǒu shěng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง โหฺย่ว เษิ่ง) หรือ 'ไม่เป็นหนึ่งเดียวกันย่อมสับสน' ... 'จิวกง' ก็เลยสนองความหมายซะใหม่ว่า 其正往吉 (qí zhèng wǎng jí, ชี๋ เจิ้ง หวั่ง จี๋) หรือ 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันย่อมได้ผลสนองที่ดี' ... แบบนี้ก็จะทำให้ 無妄往吉 (wú wàng wǎng jí, อู๋ วั่ง หวั่ง จี๋) กลายเป็นทั้ง 'คำขยายความ' และเป็น 'ข้อสรุป' ให้กับวลีเปิดประเด็นของ King Wen ทันที ... ;)

ความหมายของวรรคแรกที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในบทนี้ก็คือ 'ความไม่แตกแยกวุ่นวายของทุกๆ องค์ประกอบ (หมายถึง 元亨利貞‧無妄) ย่อมนำมาซึ่งผลสนอง (往) ที่เป็นความสุขความเจริญ (吉) ร่วมกันของทุกๆ คน' ... ซึ่งก็แน่นอนครับว่า ความหมายที่ว่านี้ของ 'จิวกง' ได้หลอมรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) สามารถจะหมายถึงได้เอาไว้แล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 'ความจริงใจไม่เสแสร้ง', 'ความไม่สับสนต่อข้อพึงปฏิบัติ', 'ความจริงจังในการดำเนินงาน', และ 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกๆ คน' ฯลฯ ... อย่างนี้ถ้าไม่เรียก 'อัจฉริยะตัวลูก' ก็ออกจะใจร้ายเกินไปหน่อยมั้งครับ ??!!?? ... ;)

 

สอง หยิน :

不耕獲不菑畬則利有攸往
bù gēng huò bù zī shē zé lì yǒu yōu wǎng
ปู้ เกิง ฮั่ว ปู้ จือ เอ เจ๋อ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง


ดู 'จิวกง' ซะมั่ง ... ถึงกับเล่นวลี 利有攸往 มาตลบหลัง 不利有攸往 ของ King Wen เลยทีเดียว ... :D ... มาดูซิว่าส่วนที่เหลือหมายถึงอะไรกันมั่ง ...

耕 อ่านว่า gēng (เกิง) หมายถึง 'การไถพรวน', หรือ 'การเตรียมดิน', เพื่อ 'การเพาะปลูก', มันจึงสามารถหมายถึง 'การหว่านพืช' ; จากนั้นก็แผลงไปเป็น 'การปลูกฝัง', 'การอบรม' ซึ่งน่จะหมายถึง 'การเพาะความเป็นมนุษย์' ; โดยผู้ที่จะทำอย่างนั้นให้ได้ผลจริงๆ ก็จะต้องเป็น 'ผู้อุทิศตน' ซึ่งก็เป็นอีกความหมายหนึ่งของ 耕 (gēng, เกิง) ด้วยเหมือนกัน

獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ได้รับ' แต่ก็เป็น 'การได้รับ', 'การเก็บเกี่ยว', 'การไขว่คว้า' จาก 'การล่า', 'การช่วงชิง', 'การฉกฉวยโอกาส', หรือ 'การเอารัดเอาเปรียบ' แม้ว่าบางครั้งมันจะหมายถึง 'การได้รับ' ในความหมายที่ดีกว่านั้นอยู่บ้างก็ตาม

菑 อ่านว่า zī (จือ) หมายถึง 'ผืนดินที่เพิ่งได้รับการไถพรวน' หรือ 'การบุกเบิก' ; แต่เพราะว่า 'การไถพรวน', 'การถางดิน', หรือ 'การบุกเบิก' นั้นย่อมต้องมี 'การพลิกหน้าดิน', 'การปรับระดับดิน' และ 'การกำจัดวัชพืช' รวมอยู่ในกระบวนการด้วย คำนี้จึงสามารถแปลว่า 'การรื้อทำลาย' ได้ในบางกรณี

畬 อ่านว่า shē (เอ) หมายถึง 'การเผาหญ้า' เพื่อทำให้เถ้าถ่านเหล่านั้นแปรสภาพกลับเป็นปุ๋ยให้กับผืนดิน ปรกติจะหมายถึง 'ผืนดินที่ได้รับการเพาะปลูกมาแล้วระยะหนึ่ง' แล้วจึงมี 'การเตรียมผืนดิน' สำหรับ 'การเพาะปลูก' รอบใหม่หลังจากที่ 'ทำการเก็บเกี่ยว' เสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวก็มักจะมีขั้นตอนของ 'การเผาหญ้าและซากพืชเดิม' เพื่อให้กลับคืนเป็นสารอาหารสำหรับผืนดินต่อไป

ส่วนคำว่า 則 (zé, เจ๋อ) หมายถึง 'ระเบียบวินัย', 'มาตรฐาน', 'ความเป็นเหตุเป็นผลกัน' หรือว่า 'เงื่อนไข' ... คำนี้เคยเล่าไปบ้างแล้ว

อ่านแล้วเหมือน 'จิวกง' กำลังสอนทำเกษตรกรรมซะงั้นแหละวรรคนี้ ... :D ... ผม 'เชื่อว่า' 不 (bù, ปู้) ในวรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะหมายถึง 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในความหมายว่า 'ไม่เลอะเทอะ' หรือ 'ไม่สะเปะสะปะ' เพื่อจะไปรับกับความหมายของ 則 (zé, เจ๋อ) ตรงช่วงท้ายวรรคที่หมายถึง 'ความมีระบบระเบียบ' ซึ่งจะทำให้ความหมายของวรรคนี้กลายเป็น 'ไม่เร่งรัดการเก็บเกี่ยวจากพืชพรรณ (不耕獲) ไม่บีบคั้นความอุดมจากผืนดิน (不菑畬) ความวิริยะอุตสาหะอย่างถูกกาละ-เทศะ (則利) ย่อมปรากฎผลสนองในเวลาที่เหมาะสม (有攸往) ของมันเองเสมอ' ... ถ้าว่ากันแบบสำนวนไทยก็น่าจะประมาณว่า 'อย่าชิงสุกก่อนห่าม' นั่นเอง ;)

สังเกตนะครับว่า ความหมายที่ 'ตีความ' ไว้นี้ จะช่วย 'กระชับความหมาย' ของ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ที่ผมเลือกแปลด้วยคำว่า Coroboration หรือ 'การเสริมประสาน' ให้มี 'ความรัดกุม' มากยิ่งขึ้น ... เพราะ 'การเสริมสร้าง' ที่กระทำลงไปอย่าง 'ไม่รู้กาละ-เทศะ' หรือ 'ไม่รู้จักความพอประมาณ' ย่อมคล้ายกับการเร่งความเจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวให้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น อันนับเป็น 'การฉกฉวย' หรือ 'การบีบคั้น' (獲) เอาจากธรรมชาติมากจนเกินขอบเขต และอาจจะถึงขั้นที่ทำให้ทุกอย่าง 'สูญเสียความสมดุล' ไปในที่สุด ... ซึ่งหากพิจารณาจากแง่มุมที่ว่านี้ ความหมายของวรรคที่หนึ่งก็จะหมายความว่า 'การเสริมประสาน (無妄) นั้น ย่อมส่งผลให้พบกับความเจริญ (往吉) ในบั้นปลาย' ... โดย 'จิวกง' ระบุเป็นเงื่อนไขต่อมาในวรรคนี้ว่า 'การเสริมประสานดังกล่าว จะต้องกระทำอย่างรู้จักกาละ-เทศะ และรู้จักความพอประมาณ' ด้วย ไม่ใช่เอาแต่หักโหมอย่างไม่รู้จักบันยะบันยัง เพื่อหวังเพียงกอบโกยผลประโยชน์ระยะสั้นๆ ... ทั้งนี้ ... 'จิวกง' ได้นำเสนอไว้ว่า จะมีก็แต่เพียง 'การดำเนินงานด้วยความมีเหตุมีผลต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง (則利) เท่านั้น จึงจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในเวลาที่เหมาะสม (有攸往)' ... ถือเป็น 'คำเตือน' และ 'ข้อแนะนำ' ที่เปรียบเทียบกับธรรมชาติได้อย่างน่าฟังมากอีกวลีหนึ่ง ;)

 

สาม หยิน :

無妄之災或繫之牛行人之得邑人之災
wú wàng zhī zāi huò xì zhī niú xíng rén zhī dé yì rén zhī zāi
อู๋ วั่ง จือ ไจ ฮั่ว ซี่ จือ นิ๋ว ซิ๋ง เญิ๋จือ เต๋อ อี้ เญิ๋จือ ไจ


ถ้อยคำวกไปวนมาพิลึกครับ แต่ดูเหมือนจะเป็นคำอุปมาอุปไมยอีกวลีหนึ่งของบทนี้ แล้วก็ดูเหมือนจะมีคำใหม่แค่คำเดียวคือ 繫 (xì, ซี่) เท่านั้น

繫 (xì, ซี่) แปลว่า 'ลาก', 'จูง', หรือ 'ล่ามไว้ด้วยกัน', 'ยึดไว้ด้วยกัน' ; บางครั้งยังแปลว่า 'ต่อเนื่อง', หรือ 'เรียงเป็นลำดับอย่างมีระเบียบ', แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มีความระมัดระวัง' ; แต่บางครั้งในลักษณะที่ 'ผูกโยงเข้าด้วยกัน' มันจึงแผลงความหมายเป็น 'กระอักกระอ่วน', หรือ 'ห่วงหน้าพะวงหลัง' ได้อีกต่างหาก

邑 (yì, อี้) เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ ...คำว่า 邑人 บางครั้งจึงแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน' ... แต่การใช้คำว่า 邑 (yì, อี้) ในที่นี้ถือว่าเป็น 'คู่ตรงข้าม' กับ 行 (xíng, ซิ๋ง) ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับความหมายที่เอ่ยถึงมาทั้งหมดของ 邑 (yì, อี้) เลย ... ดังนั้น เราจึงอาจจะต้องมองไปที่ความหมายเก่าๆ ของ 邑 (yì, อี้) ที่ใช้เหมือนกับคำว่า 悒 (yì, อี้) ซึ่งแปลว่า 'ซึมเศร้า', 'โศกาอาดูร', 'วิตกกังวล', 'พะวักพะวง', หรือ 'หนักอกหนักใจ'

คู่คำอื่นๆ ในวลีนี้ก็จะมี 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) กับ 繫 (xì, ซี่) ซึ่งน่าจะเป็น synonym กันในระดับหนึ่ง เพราะถูกเชื่อมไว้ด้วยกันโดย 或 (huò, ฮั่ว) ที่ใช้ในความหมายของ 'หรือ' ... ดังนั้น ... เมื่อ 繫 (xì, ซี่) มีความหมายว่า 'ผูกโยง' หรือ 'ยึดไว้ด้วยกัน' ... 妄 (wàng, วั่ง) ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง 'ละทิ้ง' ซึ่งทำให้ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) แปลว่า 'ไม่ยอมละทิ้ง' หรือ 'ยึดเหนี่ยวอย่างเหนียวแน่น' ... สำหรับ 得 (dé, เต๋อ) สามารถแปลว่า 'ได้รับ' หรือ 'ประโยชน์' ก็เป็น 'คู่ตรงข้าม' กับ 災 (zāi, ไจ) ที่มีความหมายในลักษณะของ 'สูญเสีย' หรือ 'โชคร้าย' ... อันทำให้ 行人 (xíng rén, ซิ๋ง เญิ๋น) กับ 邑人 (yì rén, อี้ เญิ๋น) กลายเป็น 'คำตรงข้าม' ไปด้วย ... แต่มันจะหมายถึง 'คนเดินทาง' (行人) กับ 'คนท้องถิ่น' (邑人) อย่างที่ตำราอื่นแปลไว้รึเปล่าล่ะ ??!!

คำสำคัญที่จะไขปริศนาของวลีนี้ก็คือคำว่า 災 (zāi, ไจ) นั่นแหละครับ โดยท่อนเปิดวลีคือ 無妄之災 (wú wàng zhī zāi, อู๋ วั่ง จือ ไจ) ถูกใช้คู่กับท่อนปิดวลีว่า 邑人之災 (yì rén zhī zāi, อี้ เญิ๋จือ ไจ) ... ดังนั้น 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) กับ 邑人 (yì rén, อี้ เญิ๋น) ในวลีนี้จึงน่าจะมีบางความหมายที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อ 繫 (xì, ซี่) เป็น synonym กับ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ดังที่เล่าไปแล้ว มันจึงต้องเกี่ยวข้องกับ 邑人 (yì rén, อี้ เญิ๋น) ด้วยอย่างแน่นอน ... ซึ่งเมื่อเราดูวลีเต็มๆ ของ 繫 (xì, ซี่) ในวรรคนี้ เราก็จะเห็นวลีว่า 繫之牛 (xì zhī niú, ซี่ จือ นิ๋ว) ที่มีความหมายเหมือนกับสำนวนไทยว่า 'วัวพันหลัก' นั่นเอง ... ความหมายของสำนวนไทยที่ว่านี้ก็คือ 'การทำอะไรยอกย้อนวกวนอยู่กับสิ่งเดิมๆ โดยไม่มีอะไรคืบหน้าหรือเปลี่ยนแปลงเลย'

พอจะเห็นเค้าโครงลางๆ แล้วมั้งครับ ... ความหมายของวลีนี้จึงหมายถึง 'ความเสียหายอันเนื่องมาจากการไม่ปล่อยวาง (無妄之災) ย่อมไม่ต่างจากการประพฤติตัวเป็นวัวพันหลัก (或繫之牛) ความสำเร็จย่อมเป็นของผู้ที่ไม่ยึดติด (行人之得) ในขณะที่ความสูญเสียย่อมเป็นของผู้ที่ดักดาน (邑人之災)' ... เมื่อเปรียบเทียบกับวรรคที่สองที่ 'จิวกง' เอ่ยถึง 'การดำเนินงานอย่างพอเหมาะพอดีแก่กาละ-เทศะ' วรรคนี้ก็คือส่วนขยายให้กับวลีดังกล่าว เพราะ 'การยึดติด' อยู่กับแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น ย่อมก่อให้เกิด 'ความอึดอัดขัดเคือง' (悒) แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อันจะนำไปสู่ 'ความสูญเสีย' หรือ 'ความอัปมงคล' (災) ทั้งหลายทั้งปวง ... หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็จะก่อให้เกิด 'ความเศร้าหมอง' (悒) ในจิตใจของผู้ที่ 'ยึดมั่นถือมั่น' นั้นเอง หากทุกสิ่งที่คาดหวังไว้ไม่ได้สำเร็จตามกำลังที่ได้ทุ่มเทลงไป ... ในขณะเดียวกัน คำว่า 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ที่สามารถแปลว่า 'การไม่ละทิ้งคุณธรรม' นั้น ผมก็มองว่า 'จิวกง' คงจะต้องการสื่อไปถึง 'ข้อเตือนสติ' ที่ว่า 'อย่าสุดโต่งในคุณธรรม' ด้วยเหมือนกัน ... เพราะแม้ว่า 'ความเป็นมนุษย์' จะต้องประกอบด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความศรัทธา' ใน 'หลักคุณธรรม' ... แต่หากเลยเถิดจนกลายเป็น 'ความดักดานในธรรม' ย่อมเป็นเวรกรรมที่นำไปสู่ 'ความเศร้าหมอง' ได้เหมือนกัน ... ;)

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ 'จิวกง' อาจจะไม่ได้ตั้งใจให้ถ้อยคำเหล่านี้พาดพิงไปถึง 'บุคคล' ประเภทใดประเภทหนึ่งเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า 人 (rén, เญิ๋น) สามารถใช้ในความหมายที่เป็น synonymn กับ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คุณธรรม' ... ดังนั้น ... คำว่า 行人 (xíng rén, ซิ๋ง เญิ๋น) จึงอาจจะหมายถึง 'หลักคุณธรรมที่มีความยืดหยุ่น' ในขณะที่ 邑人 (yì rén, อี้ เญิ๋น) อาจจะหมายถึง 'หลักคุณธรรมที่เฉพาะเจาะจงอย่างตายตัว' ... ความหมายของวรรคนี้ก็จะกลายเป็น 'ความเสียหายอันเกิดจากความไม่ปล่อยวาง (無妄之災) ย่อมไม่ต่างจากพฤติกรรมเยี่ยงวัวพันหลัก (或繫之牛, ที่ได้แต่วกวนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ไปตลอดกาล) ประโยชน์ย่อมเกิดแก่หลักการที่สามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง (行人之得) ในขณะที่ความสูญเสียย่อมเป็นผลจากความดักดานของข้อปฏิบัติ (邑人之災) อันไม่ตอบสนองต่อกาละ-เทศะที่เป็นจริง' ... อ๊ะ !! ... อย่างนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน ;)

 

สี่ หยาง :

可貞無咎
kě zhēn wú jiù
เข่อ เจิน อู๋ จิ้ว


พอได้ความหมายของวรรคที่สาม วรรคที่สี่ก็แทบไม่ต้องกังวลอะไรอีกแล้วล่ะครับ ... ;) ... เพราะความหมายของมันก็คือ 'ขอเพียงแต่ยังผดุงไว้ (可) ซึ่งหลักคุณธรรม (貞) ย่อมไม่นับเป็นความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ต่อเนื่องกันมาจาก 'การปรับประยุกต์' (行) ในวรรคที่สาม ... ถ้าเราผสมทั้งสองวรรคนี้เข้าด้วยกันแบบภาษาบู๊ลิ้ม แก่นของถ้อยคำที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อก็คือ 'กระบวนท่าแม้ต้องพลิ้วไหวไม่ยึดติดตายตัว แต่หลักวิชาย่อมไม่อาจแปรเปลี่ยนตามอำเภอใจ' ... สงสัยเพราะอย่างนี้มั้งถึงได้เกิด 'หมัดห้าธาตุ' และ 'มวยโป้ยก่วย' ในเวลาต่อมา ... :D ...

นี่ก็คือความละเอียดรอบคอบของ 'จิวกง' ที่มองว่า 'การเสริมสร้างความดีด้วยการประกอบกรรมดี' นั้น บางครั้งก็ต้องทุ่มเทอย่างมุ่งมั่น บางครั้งก็ไม่อาจทุ่มเทอย่างหักโหม บางครั้งก็ต้องปล่อยให้ธรรมชาติของมันเป็นฝ่ายเยียวยาแก้ไข หรือแม้แต่บางครั้งก็อาจจะต้องปรับประยุกต์วิธีการให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ... ฯลฯ ... ไม่สามารถกำหนดทุกรายละเอียดไว้ล่วงหน้าอย่างตายตัว ... แต่ 'ความยืดหยุ่น' ต่อ 'การเปลี่ยนแปลง' ดังที่ว่านี้ ยังคงต้องมี 'ฐานทางความคิด' ที่ 'หนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักคุณธรรม' (貞) เสมอ ... เพราะหากปราศจากหลักการใดๆ ให้ยึดถือเป็น 'แม่บท' ซะแล้ว ทุกการกระทำก็จะอยู่ในลักษณะของ 'ความเหลวไหล' โดยไม่สามารถนับว่าเป็น 'ความยืดหยุ่น' อีกต่อไป :)

เราลองนึกเปรียบเทียบกับการเดินทางดูก็ได้ครับ ต่อให้เรารู้ตำแหน่งแห่งหนของสถานที่ที่เราจะเดินทางไป แต่รายละเอียดของทุกสิ่งทุกอย่างตลอดระยะทางตั้งแต่จุดตั้นต้นไปจนถึงจุดหมายปลายทางนั้น ย่อมยากที่จะคาดเดาไว้ล่วงหน้าได้ บางครั้งก็ต้องเร่งเดินทาง บางครั้งก็ต้องหยุดพัก บางครั้งเราก็อาจจะต้องเดินทางอ้อมออกไปในทิศทางอื่นบ้าง ... อาจจะต้องอาศัยตัวช่วย ... อาจจะต้องอาศัยเครื่องมือ ... อาจจะต้องพึ่งพายานพาหนะบางชนิด ... ฯลฯ ... แต่สุดท้ายก็ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางเพื่อให้ยังคงมุ่งไปสู่ 'เป้าหมาย' เดิมให้ได้ เพราะไม่งั้นก็จะเตลิดเปิดเปิงไปที่อื่นซึ่งไม่อยู่ในแผนเดิมที่กำหนดไว้ ... คนเดินทางจึงต้องอาศัย 'เข็มทิศ' เพื่ออ้างอิงหา 'ทิศทาง' ที่เบี่ยงเบนออกไปจาก 'ทิศทาง' เดิม ไม่ใช่เดินกันตะพึดตพือแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ไปเรื่อยๆ ... 'การเดินทาง' กับ 'การเร่ร่อน' จึงมีธรรมชาติที่แตกต่างกันด้วยประการฉะนี้ ... แล ... ;)

 

ห้า หยาง :

無妄之疾勿藥有喜
wú wàng zhī jí wù yào yǒu xǐ
อู๋ วั่ง จือ จี๋ อู้ เอฺยี้ยว โหฺย่ว สี่


ความจริงแล้วคำว่า 疾 (jí, จี๋) ก็คือกุญแจหลักที่ทำให้วรรคที่สองมีความหมายว่า 'อย่าเร่งรัด', หรือ 'อย่าร้อนรน' เพราะ 疾 (jí, จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'คับข้องใจ', 'แค้นใจ', 'ไม่สบายใจ' เรียกว่า 'ป่วยทางกาย' หรือ 'ป่วยทางใจ' ก็ใช้คำนี้ได้ทั้งนั้น ... เมื่อผสมกับตัว 女 (nǚ, หนฺวี่) เข้าไปก็จะกลายเป็น 嫉 (jí, จี๋) ที่แปลว่า 'อิจฉา', 'ริษยา' ซึ่งเป็นความหมายดั้งเดิมของ 疾 (jí, จี๋) ที่ไม่ได้เจาะจงเพศมาก่อน ; ความหมายอื่นๆ ของ 疾 (jí, จี๋) ก็จะหมายถึง 'รีบเร่ง' แแต่เป็น 'ความรีบเร่ง' ในลักษณะที่ 'ร้อนรน', 'ลุกลี้ลุกลน', หรือ 'กระวนกระวาย' มากกว่าที่จะหมายถึง 'ความเร็ว' ในแบบปรกติทั่วๆ ไป

藥 อ่านว่า yào ซึ่งออกเสียงคล้าย 'เอี้ยว' กับ 'เยี่ยว' ผสมกัน ผมจึงเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยว่า 'เอฺยี้ยว' ซะ เพราะไม่ชอบตัวสะกดที่มีกลิ่นเหม็นๆ อย่าง 'เยี่ยว' ... :D ... คำนี้แปลว่า 'ยา' ซึ่งครอบคลุมทั้ง 'ยารักษาโรค' หรือ 'ยาพิษ' ก็ได้ทั้งนั้น ; ในบางครั้งจึงใช้ในความหมายคล้ายๆ กับ 'ส่วนผสม' ที่เป็น 'เชื้อ' ในลักษณะของ 'สารตั้งต้น' ได้ด้วย เช่น 火藥 (huǒ yào, หั่ว เอฺยี้ยว), 炸藥 (zhà yào, จ้า เอฺยี้ยว) ที่หมายถึง 'เชื้อเพลิง' หรือ 'ดินระเบิด'

喜 อ่านว่า xǐ (สี่) แปลว่า 'ความสุข', 'ความชอบ', 'ความพึงพอใจ' ; บางครั้งจึงใช้ในความหมายของ 'การเฉลิมฉลอง'

ความหมายของวรรคนี้ควรจะได้รับ 'การตีความ' ว่า 'ความกลัดกลุ้มใจที่เกิดจากความไม่รู้จักปล่อยวาง (無妄之疾) ย่อมไม่มี (勿) ตัวยาขนานใด (藥) ที่จะสามารถเยียวยาให้มีความสุข (有喜) ขึ้นมาได้เลย' ... โดยตำราอื่นๆ มักจะแปลคำว่า 無妄之疾 (wú wàng zhī, อู๋ วั่ง จือ จี๋) ในลักษณะของ 'ความป่วยไข้ที่ไร้สาเหตุ' ซึ่งเกิดจาก 'การตีความ' ให้ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) แปลว่า 'ไม่มีอะไรผิดปรกติ' หรือ no error ... ??!!?? ... ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว (wú wàng, อู๋ วั่ง) ที่ใช้ในวรรคนี้ กับวรรคที่สามควรจะหมายถึง 'ความไม่ปล่อยวาง' ... ในขณะที่ (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในฐานะของ 'ชื่อบท' และในวรรคที่หนึ่งควรจะหมายถึง 'ความไม่แตกกระสานซ่านเซ็น' ... นั่นคือตัวอย่างของ 'การปรับประยุกต์' (行) ความหมายไปตาม 'บริบท' ที่เหมาะสมของมันไงครับ ... !!??!! ...ไม่ใช่เอาแต่ 'ดักดาน' อยู่กับความหมายเดียวตั้งแต่ 'ชื่อบท' จนยันบรรทัดสุดท้ายอย่างที่นิยมกัน ... :D ...

จริงๆ แล้ว 'ความกลัดกลุ้มใจที่เกิดจากความไม่รู้จักปล่อยวาง' นั้น ก็ต้องถือว่าเป็น 'โรคภัย' ที่ไม่ได้เกิดจาก 'สาเหตุภายนอก' แต่เป็น 'ความแส่หาเรื่อง' ของ 'จิตใจที่ไร้อุเบกขา' ซะเอง ... การเยียวยารักษาเพื่อให้เกิด 'ความสงบสุขทางใจ' จึงต้องอาศัย 'การฝึกจิตใจ' เท่านั้น ... ไม่ใช่ 'การเสพยา' ... 'จิวกง' จึงเลือกบันทึกไว้ว่า 勿藥有喜 (wù yào yǒu xǐ, อู้ เอฺยี้ยว โหฺย่ว สี่) หรือ 'ไม่มียาขนานใดจะสามารถบันดาลให้มีความสุขที่แท้จริงได้เลย' ... แหม้ !!! ... ทันสมัยเปี๊ยบยังกะในสมัยนั้นมียาไอซ์, ยาอี, ฯลฯ จำหน่ายเหมือนในศตวรรษปัจจุบันซะงั้นแหละ !!?? ... :D ...

 

หก หยาง :

無妄行有眚無攸利
wú wàng xíng yǒu shěng wú yōu lì
อู๋ วั่ง ซิ๋ง โหฺย่ว เษิ่ง อู๋ อิว ลี่


眚 (shěng, เษิ่ง) เพิ่งเล่าไปในบทที่ยี่สิบสี่เองนะครับ คำนี้มี 'รากศัพท์' มาจาก 'โรคทางตา' ประเภท 'ต้อ' ซึ่งทำให้ 'เห็นไม่ชัดเจน' ; แล้วจึงแผลงเป็น 'ยากลำบาก', 'ผิดพลาด' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 省 (shěng, เษิ่ง) ที่แปลว่า 'ลดน้อยลง', 'ทำให้เล็กลง', หรือ 'แหว่งเว้า' ด้วย

วรรคนี้คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่งนะครับ เพราะฉะนั้น 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'การเสริมสร้าง', หรือ 'ความไม่แตกกระสานซ่านเซ็น' เหมือนกับในวรรคแรก ซึ่งจะทำให้มันหมายถึง 'การเสริมสร้างใดๆ (無妄) หากดำเนินการ (行) อย่างมีวาระซ่อนเร้น (有眚 คือมีความไม่ชัดเจน) ย่อมไม่ก่อให้เกิด (無) ผลสนองที่ดีในบั้นปลาย (攸利)' ... หรือถ้าเราเลือกให้ 利 (lì, ลี่) มีความหมายว่า 'ความทุ่มเท' ความหมายของวรรคนี้ก็จะกลายเป็น... 'การรวมพลังอย่างเป็นกลุ่มก้อน (無妄) หากดำเนินไปอย่างมีวาระแอบแฝง (有眚) ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดพลังแห่งความทุ่มเทอย่างเต็มที่ (無攸利)' ... ??!!

เอาใหม่ ... สมมุติว่าเราจะเลือกกำหนดให้ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในที่นี้หมายถึง 'ความไม่รู้จักปล่อยวาง' มั่งล่ะ ??!! ... วรรคนี้ก็จะกลายเป็นว่า 'หากไม่รู้จักความยืดหยุ่น และการปล่อยวาง (無妄) การดำเนินงาน (行) ย่อมประสบกับปัญหา (有眚) และไม่สามารถ (無) นำมาซึ่งความสำเร็จ (攸利) ใดๆ' ... เออ ... อันนี้ก็ไม่เลว !! ... แต่ตกลงว่ามันควรจะมีความหมายแบบไหนกันแน่ล่ะ ??!!

ความเป็น 'วลีคู่' กับวรรคที่หนึ่งในที่นี้แทบไม่ได้ช่วยให้เห็นข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนมากนักหรอกครับ ?! ... ดังนั้นเราคงต้องหา 'คำชี้แนะ' เอาจาก 'อัจฉริยะตัวพ่อ' แทน ... :P ... โดย King Wen เลือกบันทึกคำบรรยายสำหรับ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ไว้ว่า 元亨利貞其匪正有眚不利有攸往 (yuán hēng lì zhēn qí fěi zhèng yǒu shěng bù lì yǒu yōu wǎng, เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง โหฺย่ว เษิ่ง ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง) ... จะเห็นว่าถ้อยคำที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนก็คือ 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) ซึ่งผมเลือกคำแปลไว้ในตอนต้นว่า 'มีแต่ความสับสนไม่ชัดเจน' ... วลีท่อนที่น่าจะกลายเป็น synonym กันกับวรรคนี้จึงอยู่ที่คำว่า 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) กับ 無妄行 (wú wàng xíng, อู๋ วั่ง ซิ๋ง) เพราะต่างก็ต่อท้ายด้วย 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) ด้วยกันทั้งคู่ ... แต่ก็ยังมีปัญหาหลงเหลืออีกนิดหน่อย .. ??!!

ถ้า 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) แปลว่า 'เตลิดเปิดเปิงจนไม่มีจุดร่วม' อย่างที่เล่าเอาไว้ คำว่า 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) จะถูกแปลว่า 'สับสนจนไม่ชัดเจน' ก็คงไม่แปลกอะไร ... แต่ 無妄行 (wú wàng xíng, อู๋ วั่ง ซิ๋ง) มันกลับหมายถึง 'การดำเนินงานอย่างเป็นกลุ่มก้อน' ซึ่งทำให้คำว่า 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) ไม่น่าจะหมายถึง 'ความไม่ชัดเจน' ?? ... และยิ่งไม่น่าจะหมายถึง 'มีปัญหา' เว้นแต่เราจะ 'ตีความ' ให้ 無妄行 (wú wàng xíng, อู๋ วั่ง ซิ๋ง) หมายถึง 'ดำเนินงานอย่างไม่รู้จักปล่อยวาง' ... แต่มันก็จะไม่ใช่ synonym ของ 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) ตามความหมายเดิมที่ให้เอาไว้ซะงั้น ... ยุ่งกันใหญ่ล่ะทีนี้ ... ??!!?? ...

ทีนี้ ... สมมุติว่า ... เรา 'ตีความ' ให้ 匪正 (fěi zhèng, เฝ่ย เจิ้ง) ของ King Wen หมายถึง 'ความไม่เอนเอียง (正) อย่างผิดๆ (匪)' หรือ 'มิจฉาทิฎฐิ' ซะล่ะ ??!! ... คำว่า 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) ก็น่าจะแผลงความหมายเป็น 'ต่างฝ่ายต่างยึดติดอยู่กับแนวทางของตนเองอย่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน' ... อย่างนี้ 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) ก็จะแปลว่า 'มีปัญหา' ได้พร้อมๆ กันทั้ง 2 วลี และส่งผลให้ 無妄行 (wú wàng xíng, อู๋ วั่ง ซิ๋ง) ในวรรคนี้หมายถึง 'การดำเนินงานอย่างไม่รู้จักปล่อยวาง' หรือ 'การดำเนินงานอย่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน' ไปด้วย ซึ่งจะเป็น synonym ของ 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) ได้อย่างกลมกลืน ... ที่น่าสนใจก็คือถ้อยคำของ King Wen นั้นได้ซ่อนความหมายของ 'ต่างคนต่างทำ' กับ 'ความไม่ยอมลดราวาศอก' หรือ 'ความไม่ยืดหยุ่น' เอาไว้ภายในวลีเดียวคือ 其匪正 (qí fěi zhèng, ชี๋ เฝ่ย เจิ้ง) อย่างแนบเนียนมากๆ ... ความหมายของวลีเปิดประเด็นของ King Wen จึงควรจะได้รับ 'การตีความ' ซะใหม่ว่า 'ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) ความรู้ความเข้าใจ (亨) ความบากบั่นพยายาม (利) และหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน (貞) หากต่างฝ่ายต่างก็ยึดติดอยู่กับมิจฉาทิฎฐิของตนเอง (其匪正) ทุกย่างก้าวย่อมประสบแต่ปัญหา (有眚) ไม่สิ้นสุด ... ถ้าจะร่วมงานกันในลักษณะที่ว่านี้ อยู่เฉยๆ กันทั้งหมดก็ยังน่าจะดีซะกว่า (不利有攸往)' ... :D

ขอย้อนกลับไปที่คำว่า 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) อีกซักรอบครับ ... ความจริงแล้วมีคำอีกตั้งมากมายที่สามารถแปลว่า 'ปัญหา' ซึ่งเราก็พบเห็นอยู่หลายคำใน 'คัมภีร์อี้จิง' แต่ King Wen และ 'จิวกง' กลับพร้อมใจกันใช้คำว่า 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) ในบทนี้ ซึ่งแฝงความหมายของ 'ความสับสน', 'ความไม่ชัดเจน' หรือแม้แต่ 'ความมีวาระแอบแฝง' เอาไว้ ??!! ... เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ มันเป็น 'ความตั้งใจ' ของอัจฉริยบุคคลทั้งสอง เพราะการทำงานในลักษณะที่ 'ต่างคนต่างทำ' นั้นย่อมต้องมี 'ปัญหา' อยู่แล้ว แต่ก็เป็น 'ปัญหา' ที่เกิดจาก 'ความสับสนวุ่นวาย' และ 'ความแปลกแยก' จนไม่สามารถกำหนด 'ทิศทางที่แน่นอน' ร่วมกันได้ ... แต่ที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ มันเป็นเรื่องของ 'อัตตา' ที่ต่างคนต่างต้องการ 'เสริมสร้างให้กับตนเอง' จนกลายเป็น 'การชิงดีชิงเด่น' ระหว่างกัน โดยมีอาการแทรกซ้อนเป็น 'การไม่ยอมลดราวาศอกแก่กัน' เพราะต่างฝ่ายต่างก็ 'กลัวเสียหน้า' ... คำว่า 有眚 (yǒu shěng, โหฺย่ว เษิ่ง) จึงเป็น 'ปัญหาที่มีความแทรกซ้อนกันอยู่หลายลักษณะ' ... 'การตีความ' ให้หมายถึง 'มีวาระแอบแฝง' จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือกุขึ้นมาเอง ... เมื่อการทำงานมิได้ทุ่มเทเพื่องาน แต่กลับทุ่มเทเพื่อรักษาหน้า หรือทุ่มเทเพื่อพิทักษ์อัตตาของตนเอง มันย่อมส่อเจตนาถึง 'วาระซ่อนเร้น' ของเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่แต่ละฝ่ายต่างก็หยิบยกขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างจุดยืนของตน และพยายามหักล้างเหตุผลของผู้อื่นอย่างดื้อด้านและดักดานที่สุด ...

ความหมายของ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ในทัศนะของ 'จิวกง' จึงหมายถึง 'การเสริมประสานซึ่งกันและกัน' ไม่ใช่ 'การเสริมสร้างอัตตาของตนเอง' ... 'คุณธรรม' และ 'ความสำเร็จ' ที่ปรากฏจึงจะมี 'คุณค่าความหมาย' ที่คู่ควรแก่ 'การยกย่องสรรเสริญ' ... 'ความยึดมั่นถือมั่น' ใน 'หลักคุณธรรม' แม้จะเป็น 'ความดีงาม' ที่พึงปฏิบัติ แต่ก็ไม่ควรยึดติดอย่าง 'สุดโต่ง' จนละเลยต่อ 'หลักแห่งความปรองดอง' ที่ทุกฝ่ายต่างก็ต้องเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่กันเสมอ ... หากเรียบเรียงความหมายของวรรคที่หกนี้ซะใหม่ เราก็จะได้ถ้อยคำที่ว่า 'การดำเนินงานอย่างไม่ยอมลดราวาศอกแก่กัน (無妄行) ย่อมมีแต่ปัญหาไม่สิ้นสุด (有眚) และไม่มีทางที่จะประสานความทุ่มเท เพื่อให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี (無攸利) ออกมาได้เลย' ... โดยข้อความนี้ถือว่าสามารถควบรวมความหมายทั้งสองลักษณะของ 利 (lì, ลี่) คือ 'ความทุ่มเท' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' เอาไว้ด้วยกันได้ด้วย ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'อู๋วั่ง' คือ การเสริมประสาน, ครึกโครมทั้งใต้หล้า

'ความริเริ่มสร้างสรรค์', 'ความรู้ความเข้าใจ', 'ความบากบั่นพยายาม', และ 'หลักปฏิบัติในการดำเนินงาน' หากต่างฝ่ายต่างก็มุ่งเน้นอยู่กับแนวทางของตนเองด้วย 'มิจฉาทิฎฐิ' จนไม่สามารถหา 'จุดร่วมเดียวกัน' ... ทุกย่างก้าวย่อมมีแต่ 'ปัญหา' และ 'ความสับสน' ไม่ชัดเจน ...'การดำเนินงาน' จึงต้องรู้จัก 'ปล่อยวาง' ไม่ควร 'เร่งเร้าแข็งขืน' จน 'สุดโต่ง' เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนต้องมี 'ผลสนอง' ตาม 'สมควรแก่เหตุ' ของมันเสมอ

  •  
  • 'ความไม่แตกแยกวุ่นวาย' ของ 'ทุกๆ องค์ประกอบ' ย่อมนำมาซึ่ง 'ผลสนอง' ที่เป็น 'ความสุข' 'ความเจริญ' ร่วมกันของทุกๆ คน
  •  
  • 'ไม่เร่งเร้า' เพื่อหวัง 'เอาประโยชน์' จากพืชพรรณ ; 'ไม่บีบคั้น' เพื่อ 'กอบโกยความอุดม' จากผืนดิน ... 'ความวิริยะอุตสาหะ' อย่าง 'ถูกกาละ-เทศะ' ย่อมปรากฎ 'ผลสนอง' ใน 'เวลาที่เหมาะสม' ของมันเองเสมอ
  •  
  • 'ความเสียหาย' อันเกิดจาก 'ความไม่ปล่อยวาง' ย่อมไม่ต่างจากพฤติกรรมเยี่ยง 'วัวพันหลัก' (ที่ได้แต่วกวนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ไปตลอดกาล) ... 'ประโยชน์' ย่อมเกิดแก่ 'หลักการ' ที่สามารถ 'ยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง' ในขณะที่ 'ความสูญเสีย' ย่อมเป็นผลจาก 'ความดักดาน' ของ 'ข้อปฏิบัติ' อันไม่ตอบสนองต่อ 'กาละ-เทศะ' ที่เป็นจริง
  •  
  • ขอเพียงแต่ยัง 'ผดุงไว้' ซึ่ง 'หลักคุณธรรม' ย่อมไม่นับเป็น 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'ความกลัดกลุ้มใจ' ที่เกิดจาก 'ความไม่รู้จักปล่อยวาง' ย่อมไม่มีตัวยาขนานใดที่จะสามารถ 'เยียวยา' ให้มี 'ความสุข' ขึ้นมาได้เลย
  •  
  • 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ไม่ยอมลดราวาศอกแก่กัน' ย่อมมีแต่ 'ปัญหา' ไม่สิ้นสุด และไม่มีทางที่จะ 'ประสานความทุ่มเท' เพื่อให้เกิดเป็น 'ผลลัพธ์ที่ดี' ออกมาได้เลย


 

The Organization Code :



'การเสริมประสาน' คือ 'การดำเนินงาน' ที่มุ่งเน้น 'ความเป็นหนึ่งเดียว' ของ 'นโยบาย' (☰) โดยการ 'ร่วมกันผลักดัน' (☳) ให้ 'สัมฤทธิ์ผล' อย่างเป็น 'รูปธรรม' ... ทั้งนี้ ใน 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมีการกำหนด 'เป้าหมายที่ชัดเจน' แต่ยังคงมี 'ความเปิดกว้าง' เพื่อจะสามารถ 'ยืดหยุ่น' อย่างเหมาะสมแก่สถานการณ์ (⚍) ; ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' ก็ต้องสามารถสนองตอบต่อท่าทีของ 'ระดับนโยบาย' อย่างเข้มแข็ง (⚎) ; โดยมี 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่ให้ 'ความทุ่มเท' อย่าง 'จริงจัง' (⚌)

ในการดำเนินกิจการงานใดๆ ก็ตาม หากพบว่า 'การกำหนดเป้าหมาย', 'ความรู้ความชำนาญ', 'ความมุ่งมั่นพยายาม', และ 'ระบบระเบียบของการปฏิบัติงาน' ต่างก็ยึดติดอยู่กับ 'มิจฉาทิฎฐิ' ที่ไม่อาจหา 'จุดร่วมเดียวกัน' ของทุกๆ ฝ่าย 'การดำเนินงาน' ต่อๆ ไป ย่อมต้องเผชิญแต่ 'อุปสรรค' ที่ 'ไม่ราบรื่น' ... 'ความร่วมมือ' อย่าง 'เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' นั้น ย่อมต้องอาศัย 'ความผ่อนหนัก-เบา-สั้น-ยาว' ที่เหมาะสมแก่ 'กาละ-เทศะ' เพื่อที่จะ 'ประสานทุกองค์ประกอบ' ให้ 'เสริมสร้างความมั่นคงแก่กัน' อย่าง 'ยั่งยืน'

  •  
  • 'การประสานเป็นหนึ่งเดียว' ของ 'ทุกองค์ประกอบ' ย่อมนำมาซึ่ง 'ผลสำเร็จ' ในบั้นปลาย
  •  
  • 'อย่าเร่งรัด' เพื่อให้เกิด 'ผลงาน' ; 'อย่าบีบคั้น' เพื่อให้เกิด 'ความพร้อม' ; ... ทุกๆ 'ความทุ่มเท' และ 'ความพยายาม' อย่าง 'ถูกกาละ-เทศะ' ย่อมสามารถปรากฏเป็น 'ผลลัพธ์' ตามสมควรแก่ 'เหตุปัจจัย' ของมันเสมอ
  •  
  • 'การยึดติด' อยู่กับ 'เงื่อนไข' แบบใด 'ผลลัพธ์' ที่ได้ย่อมไม่อาจเกินเลยไปกว่า 'กรอบ' ที่กำหนดไว้โดย 'เงื่อนไข' ที่ 'ยึดติด' นั้น ... 'แนวคิด' ที่ 'คับแคบ' จึงไม่อาจก่อให้เกิดเป็น 'ผลงาน' ที่ 'ยิ่งใหญ่' ... 'วิวัฒนาการ' ย่อมเกิดขึ้นเพราะ 'การรู้จักปรับตัว' ให้ 'เหมาะสม' แก่ 'สภาวะแวดล้อม' ... ในขณะที่ 'ความล่มสลาย' ย่อมเป็น 'ผลงาน' ของ 'ความยึดติด' ที่ปฏิเสธ 'การเปลี่ยนแปลง'
  •  
  • ขอเพียงแต่ยังคงมุ่งไปสู่ 'เป้าหมาย' โดยไม่ขัดต่อ 'หลักคุณธรรม' ทุกมาตรการล้วนไม่ใช่ 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'ความกลัดกลุ้ม' และ 'ความคับข้องใจ' อันเนื่องมาจาก 'มิจฉาทิฎฐิ' ที่ 'ไม่รู้จักปล่อยวาง' นั้น คือ 'ปัญหา' ที่ไม่อาจพึ่งพา 'การเยียวยา' ด้วย 'ปัจจัยภายนอก' แต่จำเป็นต้องอาศัย 'การเจริญสติภาวนา' เพื่อลดละ 'อัตตา' อันเป็นสาเหตุแห่ง 'มิจฉาทิฎฐิ' ทั้งปวง
  •  
  • 'การปฏิบัติงาน' เพียงเพื่อหวัง 'ชิงดีชิงเด่น' ระหว่างกัน ย่อมถือเป็น 'การทำลายล้าง' มิใช่ 'การเสริมสร้าง' ... เนื่องด้วย 'ความพยายาม' และ 'ทรัพยากร' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'ทุ่มเท' ลงไปใน 'กลไกของการช่วงชิง' นั้น ผลลัพธ์สุดท้ายมักจะเหลือเพียง 'หนึ่งเดียว' ในขณะที่ 'กลไก' ดังกล่าวจะกลบเกลื่อน 'ความสูญเสีย' จำนวนมากมายของมันเอาไว้เบื้องหลัง 'การเฉลิมฉลองชัยชนะ' เสมอ


ต้องยอมรับว่า 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) เป็นคำที่ 'กำกวม' ในตัวมันเองพอสมควร เพราะมันแฝงความหมายของ 'ความไม่แตกแยก', 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว' ในขณะเดียวกันก็ซ่อนความหมายในลักษณะของ 'ความหมกมุ่น' และ 'ความอวดดื้อถือดี' หรือ 'มิจฉาทิฎฐิ' ประเภท 'ไม่รู้จักปล่อยวาง' เอาไว้ด้วย ... ซึ่งดูเหมือนว่าทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ต่างก็ประสานเสียงกันในลักษณะของ 'คำตักเตือน' ในกรณีของ 'ความทุ่มเทพยายาม' เพื่อบรรลุ 'ผลสำเร็จ' ว่า ... แม้ว่าการดำเนินงานทุกอย่างจะต้องอาศัย 'ความบากบั่นพยายามอย่างทุ่มเท' แต่คนเราก็ไม่ควรจะคับแคบอยู่เพียง 'ความสำเร็จส่วนตัว' หรือ 'เป้าหมายเฉพาะตน' จนละเลยต่อ 'ความสมประโยชน์ร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย' ... แต่ในขณะเดียวกัน ... 'การรู้จักปล่อยวาง' (妄), 'การรู้จักผ่อนสั้น-ยาว-หนัก-เบา' (妄), หรือ 'ความยืดหยุ่น' (不利) เพื่อให้ 'สมประโยชน์ร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย' ดังกล่าวนั้น ก็จะต้อง 'ผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งคุณธรรม' (無妄 ‧ 可貞) เสมอ จึงจะถือว่า 'ปราศจากมลทิน' ของ 'ความผิดพลาดเสียหาย' (無咎) ใดๆ

เมื่อย้อนพิจารณา 'ภาพสัญลักษณ์' ทั้งสองคือ ☰ (qián, เชี๋ยน) กับ ☳ (zhèn, เจิ้น) ในความหมายแบบ Organization Code ... สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความหมายออกมาก็คือ กิจกรรมของ 'ฝ่ายการตลาด' (☳) นั้นมักจะเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยสีสัน, ความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่อาจซ้ำซากจำเจอยู่กับรูปแบบใดๆ อย่างถาวร ... แต่ 'การไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบ' กับ 'ความไร้ทิศทางที่แน่นอน' นั้นก็ย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป ... ทุก 'พฤติกรรม' หรือทุก 'กิจกรรมในชีวิต' ตามทัศนะของ King Wen และ 'จิวกง' จึงเสมือนหนึ่ง 'การดำเนินไปบนปลายขอบ' ที่ทุกๆ คนจำเป็นต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' อย่าง 'ตื่นรู้' ตลอดเวลา ...