Zhuq!Ching                         

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十一卦 : 震

震 : 震為雷 ‧ 震上震下

震 : 亨‧震來虩虩‧笑言啞啞‧震驚百里‧不喪匕鬯‧

  • 初九 : 震來虩虩‧後笑言啞啞‧吉‧
  • 六二 : 震來厲‧億喪貝‧躋于九陵‧勿逐‧七日得‧
  • 六三 : 震蘇蘇‧震行無眚‧
  • 九四 : 震遂泥‧
  • 六五 : 震往來厲‧億無喪有事‧
  • 上六 : 震索索‧視矍矍‧征凶‧震不于其躬‧于其鄰‧無咎‧婚媾有言‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มีความตื่นตัวอย่างสงบนิ่ง (⚍) ปัญญา กล้าแกร่ง-มั่นคง (⚎) กิริยา อ่อนน้อมถ่อมตน (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางการตลาด (☳) ; นโยบายต้องพร้อมรุก (⚍) บริหารจัดการอย่างพร้อมรับ (⚎) ปฏิบัติการต้องหนักแน่นมั่นคง (⚏)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การควบคุมสถานการณ์, พลานุภาพเหนือการเปลี่ยนแปลง



ความหมายของชื่อเรียก : Dominating : การควบคุมสถานการณ์



น่าสนใจมากที่ King Wen เลือกบทตั้งต้นของ 'วัฏจักรที่ห้า' ด้วยคำว่า 震 (zhèn, เจิ้น) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ 'ฟ้าคำราม' (☳) กันเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่มันควรจะสะท้อนความหมายของ 'ความนอบน้อมถ่อมตน' ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่ง ดังที่ 'จิวกง' เลือกบันทึกเอาไว้ว่า 潛龍‧勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) หรือ 'เก็บงำประกาย อย่าอวดดี' เพื่อที่จะสื่อความหมายว่า 'จงอำพรางความแกร่งกร้าวไว้ในความอ่อนหยุ่น มิบังควรแสดงศักยภาพที่มีอย่างผลีผลาม' ... ในขณะที่ 震 (zhèn, เจิ้น) มีความหมายที่คล้ายกับจะสื่อถึง 'การประกาศศักดา' อย่างเปิดเผยไปเลย ??!!

แต่ถ้าเราพิจารณาจาก 'สัญลักษณ์ธาตุ' ของ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) เราก็จะเห็น 'การสงวนท่าทีของหยางไว้ภายใต้หยิน' อย่างชัดเจน และเมื่อนำสัญลักษณ์ดังกล่าวมาเรียงซ้อนกัน เราก็จะได้ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' นี้คือ ䷲ ที่ผมแยกออกเป็น 3 ระดับชั้นของพฤติกรรมคือ อารมณ์, ปัญญา, และการแสดงออก ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ท่าทีของ 'การแสดงออกภายนอก' นั้นยังเป็น 'หยิน' เต็มๆ (⚏) ในขณะที่ 'อารมณ์' ซึ่งเรียงไว้ในลำดับล่างสุดนั้นก็ยังคง 'สงวนท่าทีของหยางไว้ภายใต้หยิน' (⚍) เช่นเดียวกับ 'สัญลักษณ์ธาตุ' ของมัน โดยมี 'ปัญญา' ทำหน้าที่ 'รักษาสมดุลทางความคิด' เอาไว้ และเป็นเพียงองค์ประกอบเดียวในที่นี้ที่แสดง 'ศักยภาพแห่งหยาง' ออกสู่ภายนอก (⚎) ... ดังนั้น ... หากจะ 'ตีความ' ให้กับ 'การประกาศศักดา' ด้วยมิติของ 'การถอดรหัส' จาก 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' แล้ว 震 (zhèn, เจิ้น) ในที่นี้ ก็น่าจะหมายถึง 'การแสดงศักยภาพทางปัญญาให้ปรากฏ' มากกว่าที่จะหมายถึง 'การอวดโอ่อำนาจบารมี' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'จริต' และ 'อารมณ์' อันฉาบฉวยเท่านั้น !!?

อักษร 震 (zhèn, เจิ้น) เกิดจากการผสมกันของภาพอักษร 雨 (yǚ, หยฺวี่) ซึ่งหมายถึง 'สายฝน' กับภาพอักษร 辰 (chén, เฌิ๋น) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 'เวลา' โดยเฉพาะที่มันถูกกำหนดให้เป็นชื่อเรียกของ 'ยามห้า' ที่ตรงกับเวลา 07:00-09:00 ตามเวลาสากลในปัจจุบัน จึงทำให้ความหมายหนึ่งของ 辰 (chén, เฌิ๋น) คือ 晨 (chén, เฌิ๋น) อันหมายถึง 'เวลารุ่งสาง' ได้ด้วย นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจาก 辰 (chén, เฌิ๋น) มีความหมายในลักษณะของ 'โมงยามที่สุกสว่าง' ความหมายแวดล้อมอื่นๆ ของมันจึงหมายถึง 'ดวงดาวที่สุกสว่าง' เช่น ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, หรือดาวฤกษ์อื่นๆ ที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืน ... พอเอาทั้งสองภาพมาเรียงซ้อนกันเป็น 震 (zhèn, เจิ้น) ความหมายตาม 'ภาพอักษร' จึงหมายถึง 'ความสุกสว่างท่ามกลางสายฝน' ซึ่งก็คือ 'ฟ้าแลบ' หรือ 'สายฟ้า' ในช่วงที่มี 'ฝนฟ้าคะนอง' นั่นเอง

ทีนี้ ... พอ 震 (zhèn, เจิ้น) ไปมีความหมายในทำนองว่า 'แหล่งกำเนิดของความสุกสว่างท่ามกลางความหม่นสลัวของท้องฟ้า' มันจึงถูกแผลงความหมายไปจนครอบคลุมถึง 'กษัตริย์' หรือบรรดา 'เชื้อพระวงศ์' ตลอดจน 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้มีบารมี' ที่มี 'อิทธิพล' ต่อพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายของสังคมหนึ่งๆ ได้ด้วย ซึ่งความหมายในฐานะของคำกริยา ก็จะหมายถึง 'การเขย่า', 'การกระตุ้น', 'การปลุกเร้า', 'การสั่นสะเทือน', 'การโหมประโคม', และ 'ความกระตือรือร้น' ตลอดจนสามารถที่จะหมายถึง 'การขู่คำราม', หรือ 'การแสดงความโกรธเกรี้ยว' ... ซึ่งล้วนแต่เป็น 'อากัปกิริยาที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวของพละกำลังแห่งชีวิต' ทั้งสิ้น

ความจริงแล้ว คำแรกๆ ที่ผมนึกถึงเมื่อพิจารณาความหมายโดยรวมของ 震 (zhèn, เจิ้น) ก็คือ 'พลานุภาพ' และ 'อิทธิพล' แม้ว่ามันจะฝืนๆ กับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งอยู่บ้างก็ตาม แต่ 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 'การครองอำนาจอธิปไตย' หรือ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ในบทที่ห้าสิบนั้น มีส่วนที่ทำให้ความหมายของ 震 (zhèn, เจิ้น) เป็นอย่างอื่นไปได้ยากมาก ... และเมื่อเราย้อนพิจารณาความหมายของวลี 潛龍‧勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) ในวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่งให้ลึกๆ ลงไปจนถึงแก่นแท้ของถ้อยคำเหล่านั้น เรากลับจะพบว่า 'ต่อให้มังกรไม่ต้องสำแดงอิทธิเดชใดๆ ให้ปรากฏ ความน่าเกรงขามในความเป็นมังกรก็ยังคงมีอยู่เสมอ' ... นี่ก็คือ 'ความมีอิทธิพล' หรือ 'ความมากบารมี' ของ 'มังกร' ที่ยังคง 'ครอบงำความรู้สึกนึกคิด' ของทุกผู้คนนั่นเอง ... และหากว่าทั้ง King Wen กับ 'จิวกง' จะเอ่ยถึง 'ความทรงอิทธิพล' หรือ 'การใช้อิทธิพลเพื่อดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ นั้น ผมก็ค่อนข้างจะเชื่อว่า ทั้ง 2 ท่านน่าจะมีข้อคิดที่คล้ายคลึงกับการแสดงธรรมในหัวข้อ 'อิทธิบาท 4' ของพระพุทธเจ้าอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

เพราะฉะนั้น 震 (zhèn, เจิ้น) ในฉบับแปลของ 'ฉึกฺอิจิง' จึงเลือกใช้คำภาษาอังกฤษให้กับชื่อบทว่า
Dominating และให้คำภาษาไทยไว้ว่า 'การควบคุมสถานการณ์' เพื่อที่จะบอกเล่าถึงความหมายที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อว่า 'การใช้อำนาจอิทธิพลโดยธรรม' นั้น เขามี 'ข้อพึงปฏิบัติ' อะไรบ้างที่ 'ผู้มีอิทธิพล' จะต้อง 'ระลึกถึง' และ 'นำไปปฏิบัติ' อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงจะนำความเจริญมาสู่สังคม และชาติบ้านเมืองสืบต่อไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨震來虩虩笑言啞啞震驚百里不喪匕鬯
hēng zhèn lái xì xì xiào yán yǎ yǎ zhèn jīng bǎi lǐ bù sāng bǐ chàng
เฮิง เจิ้น ไล๋ ซี่ ซี่ เซี่ยว เอี๋ยน หฺย่า หฺย่า เจิ้น จิง ไป่ หฺลี่ ปู้ ซัง ปี่ ฌั่



亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

虩 อ่านว่า xì (ซี่) แปลว่า 'กลัว', 'หวาดกลัว', 'แตกตื่น', 'ตกใจ', บางทีก็หมายถึง 'หวาดผวา', 'หวั่นวิตก', หรือ 'ระแวดระวังภัย'

笑 อ่านว่า xiào (เซี่ยว) แปลว่า 'ยิ้ม', 'หัวเราะ', 'ร่าเริงแจ่มใส'

言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) ปรกติแล้วจะแปลว่า 'คำพูด' … แต่จริงๆ แล้ว 'คำพูด' นั้นจะมีหลายลักษณะด้วยกัน เพราะมันอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', หรือ 'การให้เหตุผล' ก็ได้ทั้งนั้น

啞 อ่านว่า yǎ (หฺย่า) สามารถใช้ในความหมายเดียวกันกับ 笑 (xiào, เซี่ยว) ซึ่งบางครั้งก็เลยใช้แทน 'เสียงหัวเราะ' ไปด้วยซะเลย ; แต่ในบางกรณีก็จะใช้ในความหมายเดียวกับ 瘂 (yǎ, หฺย่า) ที่แปลว่า 'เป็นใบ้', จึงสามารถแปลอีกอย่างหนึ่งว่า 'เงียบ', 'ไม่มีเสียง', หรือ 'ไม่สามารถพูดออกมาได้'

驚 อ่านว่า jīng (จิง) มีความหมายในลักษณะของอาการ 'ตกใจ', 'กลัว', 'แปลกใจ', หรือ 'ตกตะลึง' ; ซึ่งบางครั้งก็จะใช้ในความหมายของ 'การเตือนภัย' และอาจรวมไปถึง 'การกระตุ้น', 'การรบกวน' ได้ด้วย

喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) เป็นคำแรกๆ ที่เล่าไว้ตั้งแต่ต้นคัมภีร์เลยทีเดียว ซึ่งความหมายว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', 'สิ้นสุด'

匕 อ่านว่า bǐ (ปี่) แปลว่า 'ช้อน' หรือ 'กระบวย' สำหรับตักข้าว หรืออาหาร ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'มีดสั้น', หรือ 'เหล็กปลายแหลม' โดยเฉพาะเมื่อใช้ว่า 匕首 (bǐ shǒu, ปี่ โษ่ว) ซึ่งมักจะแปลกันว่า 'กริช'

鬯 อ่านว่า chàng (ฌั่ง) มีความหมายที่แตกต่างกันหลายอย่าง โดยความหมายหนึ่งของมันก็คือ 'สุราชั้นเลิศ' ที่ใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวงต่างๆ ; แต่บางทีก็จะใช้ในความหมายเดียวกับ 暢 (chàng, ฌั่ง) ที่แปลว่า 'ลื่น', 'เรียบ', 'ปราศจากสิ่งกีดขวาง' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'เบ่งบาน' หรือ 'งอกงาม' ได้ด้วย ; แล้วความหมายที่แปลกออกไปเลยก็คือความหมายเดียวกับ 韔 (chàng, ฌั่ง) ซึ่งแปลว่า 'ปลอก' หรือ 'ฝัก' ของคันธนู


แม้ว่าผมจะวนเวียนอ่านคำแปลของหลายๆ ตำราอยู่หลายรอบ แต่ก็ไม่อาจปลงใจให้ยอมรับในความหมายที่ทุกคนเคยแปลกันเอาไว้ โดยเฉพาะวลี 匕鬯 (bǐ chàng, ปี่ ฌั่ง) ที่มักจะให้ความหมายกันไว้ว่า 'จอกสุราที่บวงสรวง' บ้าง, 'สุราในกระบวย' บ้าง, ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่มันเกียวกับ 'สุราบวงสรวง' กับ 'ภาชนะที่ใช้ตัก' ฯลฯ ... คือ ... มันเข้ากันไม่ได้เลยกับความหมายของถ้อยคำอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในวรรคเดียวกัน ... ในขณะที่ผมมองคำว่า 匕鬯 (bǐ chàng, ปี่ ฌั่ง) ด้วยความหมายของสำนวนไทยว่า 'คมในฝัก' มากกว่าที่จะวุ่นวายกับความหมายพื้นๆ อย่าง 'กระบวย' หรือ 'สุรา' ... ซึ่งเมื่อเรามองแบบเต็มๆ วลีคือ 不喪匕鬯 (bù sāng bǐ chàng, ปู้ ซัง ปี่ ฌั่ง) เราก็น่าจะเห็นความหมายของคำว่า 'อย่าได้สูญเสียความคมในฝัก' ที่น่าจะพ้องความหมายกับวลี 'มังกรซ่อนกายในสายธาร' (潛龍) ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกเอาในวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่งอย่างที่เล่าไปแล้ว

ผมอยากให้ความหมายกับวลี ซึ่งใช้กำกับ 'ชื่อสัญลักษณ์' ที่ King Wen เลือกบันทึกไว้นี้ว่า
'การควบคุมสถานการณ์' (震) คือ 'การพัฒนาโครงสร้างอันหมายถึงการกำหนดระบบระเบียบเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างราบรื่น (亨) ซึ่งการหักโหมด้วยพลานุภาพ (震) นั้น ย่อมก่อให้เกิด (來) ความหวั่นหวาดอย่างขลาดเขลา (虩虩) ในขณะที่การปรึกษาหารือด้วยมิตรภาพ (笑言) ย่อมประสบแต่ความแช่มชื่นเบิกบาน (啞啞) ด้วยกันทุกฝ่าย ... อำนาจและอิทธิพล (震) ที่สามารถสร้างความยำเกรง (驚) แก่ชนทั่วหล้า (百里) นั้น ย่อมเกิดจากการรู้จักสงวนท่าที เยี่ยงการถนอม (不喪) คมดาบ (匕) ให้สงบนิ่งอยู่เพียงในฝัก (鬯) โดยมิต้องนำออกมาโอ้อวดเพื่อข่มขวัญผู้ใด' ... เห็นความหมายอันลึกซึ้งของวลี 潛龍‧勿用‧ (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในบทที่หนึ่งมั้ยล่ะครับทีนี้ ... แกสุดยอดมากเลยนะ !! ... :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

震來虩虩後笑言啞啞吉
zhèn lái xì xì hòu xiào yán yǎ yǎ jí
จิ้น ไล๋ ซี่ ซี่ โฮ่ว เซี่ยว เอี๋ยน หฺย่า หฺย่า จี๋



ถ้าเราแปลวลีนี้ด้วยตามความหมายที่คุ้นเคยกันของตัวอักษรเท่าที่เห็น เราก็น่าจะได้ความหมายคล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า 'ตบหัวแล้วลูบหลัง' ซึ่งพอลงท้ายด้วย 吉 (jí, จี๋) เราก็คงจะรู้สึกตำหนิ 'จิวกง' อยู่ลึกๆ ว่า ... กวนตีนละ !!?? ... ตบหัวแล้วลูบหลังมันจะไปดีได้ยังไงวะ ??!! ... :P ... ผมจึงมองว่า คำสำคัญน่าจะอยู่ที่คำว่า 後 (hòu, โฮ่ว) ซึ่งเป็นคำพื้นๆ ในความรู้สึกของพวกเราหลายๆ คน

後 (hòu, โฮ่ว) คำนี้มีความหมายโดยทั่วๆ ไปว่า 'ภายหลัง', หรือ 'ทีหลัง' ซึ่งมันทำให้วลีนี้ทั้งวลีมีปัญหาทันที เพราะ 'การข่มขวัญให้หวาดกลัวก่อน แล้วค่อยปลอบประโลมด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มในภายหลัง' นั้น มันดูเป็นการเสแสร้งแกล้งดัดจริตจนเกินไป ซึ่งไม่น่าจะเป็น 'ข้อแนะนำ' ของมหาปราชญ์อย่าง 'จิวกง' เลย ... ดังนั้น ... เราจำเป็นต้องดูความหมายอื่นๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมดของ 後 (hòu, โฮ่ว) เพื่อให้แน่ใจว่า 'จิวกง' ไม่ได้บ้า !!?

後 (hòu, โฮ่ว) มีความหมายทั่วๆ ไปอีกลักษณะหนึ่งว่า 'ด้านหลัง', 'เบื้องหลัง' ซึ่งก็เลยเป็นที่มาของความหมายว่า 'ที่จะตามมา' หรือ 'ภายหลัง' นั่นเอง แล้วจึงแผลงความหมายต่อไปเป็น 'รุ่นลูกรุ่นหลาน' หรือ 'ทายาท' ซึ่งเป็น 'ผู้สืบทอดจากรุ่นปัจจุบัน' ... ทีนี้ ... ไอ้ความหมายของการมาถึงก่อนหรือหลังนี่แหละที่ทำให้ 後 (hòu, โฮ่ว) มีอีกความหมายหนึ่งว่า 'สาย' หรือ 'ช้า' ได้ด้วย ... ซึ่ง ... คนไทยเกือบทุกคนก็น่าจะคุ้นเคยกับสำนวนไทยที่ว่า 'ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม' กันอยู่แล้วแหละ ... และด้วยมุมมองที่ว่านี้ ความหมายของวลี 後笑言啞啞 (hòu xiào yán yǎ yǎ, โฮ่ว เซี่ยว เอี๋ยน หฺย่า หฺย่า) ที่ 'จิวกง' ลงท้ายว่า 吉 (jí, จี๋) ก็จะแปลกออกไปจากตำราอื่นๆ ทันที ??!! ... :D ... ก็ถ้าเราให้ความหมายแก่ 震 (zhèn, เจิ้น) ในลักษณะว่า 'โฉ่งฉ่าง', 'เอิกเกริก' หรือ 'อึกทึกครึกโครม' คู่คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ 震 (zhèn, เจิ้น) ในวรรคนี้ก็น่าจะกลายเป็น 後 (hòu, โฮ่ว) ที่หมายถึง 'ช้าๆ', 'นุ่มนวล' หรือ 'ค่อยเป็นค่อยไป' รึเปล่า ?! ... นี่คือประเด็นที่เกือบจะทุกตำราไม่เคยเอ่ยถึงเลย !!?? ;) ... อ้ะ !! ... เอาใหม่ ... เวลาที่เราพิจารณาให้เต็มๆ วลีนี้จากมุมมองที่ว่า 後 (hòu, โฮ่ว) หมายถึง 'ช้าๆ' เรารู้สึกคุ้นๆ ขึ้นมามั้ยล่ะครับว่า 'จิวกง' อาจจะกำลังเล่นกับสำนวนที่คล้ายในภาษาไทยว่า 'น่ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย' ก็เป็นไปไปด้ ... ถูกมั้ย ?! ... แล้วลองเอาไปเปรียบเทียบกับถ้อยคำของ King Wen ที่ผมเพิ่งจะเล้าไปนั่นดูสิ เราจะเห็นว่า 'จิวกง' เพียงแต่เติมอักษรลงไปในวลีเดิมอีกเพียง 2 ตัวเท่านั้นก็คือ 後 (hòu, โฮ่ว) ที่ผมกำลังจะบอกว่า มันหมายถึง 'ช้าๆ' หรือ 'ค่อยเป็นค่อยไปอย่างนุ่มนวล' กับ 吉 (jí, จี๋) ซึ่งเราเจอมานักต่อนักแล้วล่ะว่า หมายถึง 'ดี', 'เจริญ', หรือ 'สำเร็จ'

เพราะฉะนั้น 'จิวกง' คงไม่ได้สอนให้พวกเรา 'ตบหัวแล้วลูบหลัง' หรือ 'ต่อหน้าขึงขัง ลับหลังแอ๊บแบ๊ว' หรอกครับ เพราะมันไม่น่าจะ 吉 (jí, จี๋) ด้วยพฤติกรรมแบบนั้นแน่ๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะบอกกับพวกเราก็คือ
'การเร่งเร้าอย่างกระโชกโฮกฮากด้วยการใช้อำนาจและอิทธิพลเข้าหักหาญคุกคาม (震來) ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ขลาดเขลาตื่นกลัว (虩虩) แต่การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป (後) ด้วยเหตุด้วยผลอย่างมีมิตรภาพ (笑言) ย่อมสร้างบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม (啞啞) คือความเจริญสุข (吉) ที่พึงเสาะแสวง' ... ใช่หรือไม่ใช่เอาไว้ไปว่ากันตอนเล่าวรรคที่หกอีกทีแล้วกันนะครับ !!?? ... ;)

หากเรามองในมุมที่ไม่ประชดประชันกันจนเกินไป 'จิวกง' เองก็ไม่ได้ระบุไว้นะครับว่า 'การใช้อำนาจและอิทธิพล' นั้นเป็น 'สิ่งชั่วร้าย' ที่ 'ห้ามปฏิบัติ' เพราะแกบอกไว้แค่ว่า มันคือพฤติกรรมที่จะทำให้คน 'หวาดหวั่นตื่นกลัว' ซึ่งผมเติมของผมลงไปเองแหละว่า 'ขลาดเขลา' เพราะถ้ากลัวหนักๆ เข้ามันก็จะไม่กล้าเสนอความเห็นใดๆ ในลักษณะที่เป็น 'การทักท้วง' ไปเอง หรือไม่งั้นก็จะออกอาการ 'ตะแบงแบบโง่ๆ' โดยไม่ได้ช่วยให้มีอะไรที่พัฒนาไปกว่าเดิมเลย ... หลายๆ กรณีมันก็ต้องใช้ทั้ง 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' ใน 'การบริหารจัดการ' กันบ้างพอสมควร ... ซึ่งไอ้เจ้า 'ความพอสมควรแก่เหตุ' นี่แหละที่แกระบุไว้ว่า
'เบื้องหลัง (後) ของการใช้อำนาจนั้น จะต้องมีหลักการและเหตุผลในการสนองประโยชน์สุข (笑言) ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างเต็มอกเต็มใจ (啞啞) มารองรับ' ... เก้าะ ... คงจะประมาณว่า เพื่อสร้างบรรยากาศแห่ง 'การยิ้มสู้' ให้กับ 'ความเข้มงวดกวดขัน' ของ 'ระบบระเบียบ' ที่ทุกคนจะ 'ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด' มั้ง ?!

 

 

สอง หยิน :

震來厲億喪貝躋于九陵勿逐七日得
zhèn lái lì yì sāng bèi jī yǘ jiǔ líng wù zhú qī rì dé
จิ้น ไล๋ ลี่ อี้ ซัง เป้ย จี ยฺวี๋ จิ่ง ลิ๋ง อู้ จู๋ ชี ญื่อ เต๋อ



รับสารภาพตามตรงเลยว่า 'มึนฉิบหาย' เลยกับสิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคนี้ !! ... :D ... และก็ยังเชื่อว่า น่าจะมีการใช้อักษรต่างๆ ด้วยความหมายที่ไม่ใช่ 'การตีความ' ตามปรกติแน่ๆ เพราะฉะนั้น ต้อง 'แคะ' ออกมาให้หมดเท่านั้นถึงพอจะมองเห็น ... :P

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

億 อ่านว่า yì (อี้) แม้ว่าในสมัยก่อนจะหมายถึงเพียง 'สิบล้าน' เท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้จะหมายถึง 'ร้อยล้าน' เพื่อเลี่ยงการใช้คำซ้ำซ้อนว่า 萬萬 (wàn wàn, วั่น วั่น) หรือ 'หมื่นหมื่น' ; ดังนั้น เมื่อมีการใช้คู่กันเป็น 億萬 (yì wàn, อี้ วั่น) ก็จะสามารถแปลว่า 'มากมายก่ายกอง' ไปซะเลย เพราะมันจะมีค่าเท่ากับ 萬萬萬 (wàn wàn wàn, วั่น วั่น วั่น) หรือ 'หมื่นหมื่นหมื่น' ซึ่งก็คือ 'ล้านล้าน' นั่นเอง ; พอคำว่า 億 (yì, อี้) ถูกนำไปใช้เป็นคำกริยา มันจึงแปลว่า 'เดา', 'คาดคะเน', หรือ 'ประมาณการ' ซึ่งก็คงจะมีที่มาจาก 'จำนวนอันมากมายมหาศาล' จน 'ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอนลงไป' ของมันนั่นแหละ ... :)

เมื่อ 億 (yì, อี้) มีความหมายว่า 'มากมาย' มันก็แผลงไปเป็น 'เต็มเปี่ยม' และ 'บริบูรณ์' แล้วก็เพราะ 'ความไม่ขาดตกบกพร่อง' นี้เองที่แปลงความหมายไปเป็น 'มีความเสถียร', 'มีความมั่นคง', แล้วก็เลยมีความหมายว่า 'ความสงบ' ได้อีกต่างหาก

貝 อ่านว่า bèi (เป้ย) หมายถึง 'เปลือกหอย' หรือ 'กระดองเต่า' ซึ่งในยุคหนึ่งเคยถูกใช้เป็น 'สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ' ความหมายในปัจจุบันของ 貝 (bèi, เป้ย) จึงสามารถแปลว่า 'เงินตรา' ซึ่งบางครั้งก็ทำให้หมายถึง 'คุณค่า' หรือ 'ราคา' ได้ด้วยเหมือนกัน

躋 อ่านว่า jī (จี) แปลว่า 'ขึ้นสู่ที่สูง', 'ปีนป่าย', 'ไต่เต้า', ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การเลื่อนชั้น' หรือ 'การเลื่อนขั้น' ก็ได้ ; และยังสามารถที่จะแปลว่า 'การบรรลุถึง' หลังจากที่ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ; แต่ที่พิลึกหน่อยก็คือ 躋 (jī, จี) สามารถแปลว่า 'ตกจากที่สูง' ได้อีกต่างหาก ... มึนเลยทีนี้ ?!?!

于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

九 อ่านว่า jiǔ (จิ่ว) ที่แปลกันทั่วไปว่า 'เก้า', 'จำนวนเก้า', หรือ 'ลำดับที่เก้า' แต่ความหมายอื่นๆ ที่ไม่ค่อยจะเห็นการใช้งานซักเท่าไหร่ก็คือ 'มากมาย' เพราะมีจำนวนที่ 'เกือบจะเต็มสิบ' แล้ว ... อีกความหมายหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นก็คือ 'เนิ่นนาน' ซึ่งพ้องความหมายกับ 久 (jiǔ, จิ่ว) ที่พ้องเสียงกันด้วยนั่นเอง ; อีกความหมายหนึ่งที่ไม่น่าจะถูกมองข้ามไปเลยก็คือ 九 (jiǔ, จิ่ว) ได้รับการนำไปเทียบเคียงกับ 陽 (yáng, ยั๋ง) หรือ 'หยาง' มาโดยตลอดเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' เลยทีเดียว โดย 'จิวกง' เลือกใช้ 六 (lìu, ลิ่ว) ซึ่งหมายถึง 'เลขหก' มาเทียบเคียงกับ 陰 (yīn, อิน) หรือ 'หยิน' ที่เราคุ้นเคยกัน ; ที่พิสดารขึ้นไปอีกก็คือ ถ้าใช้ 九 (jiǔ, จิ่ว) เมื่อใช้เป็นคำกริยา มันจะมีความหมายเหมือนกับ 鳩 (jīu, จิว) ในความหมายว่า 'รวบรวม', หรือ 'รวมเข้าด้วยกัน' ... เพราะฉะนั้น คำว่า 九 (jiǔ, จิ่ว) ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ อาจจะไม่ได้แปลว่า 'เก้า' อย่างที่เราเข้าใจด้วยภาษาในยุคของเราก็ได้ ... นึกออกมั้ย ?!

陵 อ่านว่า líng (ลิ๋ง) แปลว่า 'เนิน', 'ภูเขา', 'ยอดเขา' ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 升 (shēng, เซิง) ที่แปลว่า 'ยกให้สูงขึ้น' หรือ 'ทำให้โดดเด่น' แต่ก็แฝงความหมายของ 'การกดข่ม' ซึ่งเป็นทำให้สิ่งอื่นหรือผู้อื่นต่ำต้อยลงไป

逐 อ่านว่า zhú (จู๋) แปลว่า 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

คำว่า 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) เคยถูกเล่าเอาไว้ในบทที่ยี่สิบสี่ไปครั้งหนึ่งแล้วว่า ถ้าแปลกันตามตัวอักษรก็จะแปลว่า 'เจ็ดวัน' แต่มันอาจจะหมายถึง 'ทุกๆ เจ็ดวัน' หรือ 'ตลอดทั้งสัปดาห์' ซึ่งก็คือ 'ทุกๆ วัน' ก็ได้ ... ซึ่ง ... จากรูปวลีที่เห็นในวรรคนี้ อักษร 七 (qī, ชี) ดูไม่คล้ายกับจะหมายถึง 'จำนวนนับ' ซักเท่าไหร่เลย ... ว่ามั้ย ?! ... แล้วในเมื่อ 九 (jiǔ, จิ่ว) อาจจะไม่ใช่ 'เก้า' อย่างที่บอกเอาไว้แล้ว ... 七 (qī, ชี) ที่ถูกนำมาเรียงไว้ในวลีเดียวกัน ก็น่าจะมีความหมายอื่นได้ด้วยมั้ย ?! ... ความจริงแล้ว 七 (qī, ชี) ได้รับการ 'ตีความ' ไว้โดยพจนานุกรมบางฉบับว่า มันคือ 陽 (yáng, ยั๋ง) หรือ 'หยาง' และเป็น 'หยาง' ที่มีพลานุภาพมากที่สุดอีกต่างหาก เนื่องจากเป็น 'พลังแห่งหยาง' ที่อยู่ในขั้นตอนของ 'การพลิกฟื้นคืนจาก 六' อันเป็น 'พลังแห่งหยิน' ที่พัฒนาจนสุดล้าแล้วนั่นเอง ... ซึ่ง ... เมื่อเทียบกับภาพ 'ตรีลักษณ์' มันก็จะตรงกับ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) นั่นเอง ... เพราะฉะนั้น อีกความหมายหนึ่งของ 七 (qī, ชี) ก็คือ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) ในขณะที่ 九 (jiǔ, จิ่ว) สามารถที่จะหมายถึง 乾 (qián, เชี๋ยน) และ 六 (lìu, ลิ่ว) หมายถึง 坤 (kūn, คุน)

สำหรับอักษร 日 (rì, ญื่อ) ที่นอกจากจะหมายถึง 'ดวงตะวัน', 'กลางวัน', 'วัน', หรือ 'เวลา' แล้ว ความหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับ 'ดวงอาทิตย์' ก็จะสามารถหมายถึง 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', หรือ 'สว่างไสว' (เหมือนเวลากลางวัน) ได้ด้วย ... แต่ความหมายที่แปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็จะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ของจริง', 'ของแท้', 'หนักแน่น', 'สัจจริง' หรือ 'ซื่อสัตย์' (ดั่งตะวันที่ส่องสว่างตลอดเวลา) ... และแน่นอนว่า มันได้สะท้อนความหมายของคำว่า 'คุณธรรม' อยู่กลายๆ ด้วยเหมือนกัน :)

得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

เอาเป็นว่า เราไม่สามารถ 'ตีความตามตัวอักษร' อย่างตรงไปตรงมาแล้วล่ะสำหรับวรรคนี้ ผมจึงอยากจะเท้าความกลับไปที่วลีของ King Wen กับถ้อยคำที่แทบจะลอกกันลงมาในวรรคแรกของ 'จิวกง' อีกครั้งหนึ่ง ... ใจความสำคัญที่ King Wen บันทึกเอาไว้ก็คือ
'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' มิใช่สิ่งที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะได้รับมาโดยอาศัยเพียง 'กำลัง' เข้า 'หักหาญบังคับ' แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วย 'มิตรภาพ' ที่หยิบยื่นให้กับทุกๆ ฝ่ายอย่าง 'สมเหตุสมผล' ... ซึ่ง 'จิวกง' ได้ตอบสนองทัศนคติที่ว่านี้ด้วยวลีที่แทบจะถอดความกันออกมาว่า 'เบื้องหลัง (後) ของการใช้อำนาจ จะต้องมีหลักการและเหตุผลในการสนองประโยชน์สุข (笑言) ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างเต็มอกเต็มใจ (啞啞) เท่านั้น' ... ถ้อยคำที่ควรจะสอดรับกับข้อคิดดังกล่าวในวรรคนี้ จึงควรที่จะมีใจความว่า 'การใช้อำนาจและอิทธิพล (震) เพื่อ (來) เคี่ยวเข็ญกดดันให้ต้องดำเนินการอย่างสุดโต่ง (厲) นั้น ต่อให้มีเสถียรภาพ (億) แต่ก็ปราศจาก (喪 คือสูญเสีย) ดุลยภาพแห่งความสมประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ (貝) การจะพัฒนาศักดิ์สถานะ (躋) ไปสู่ (于) ความมีบารมีที่อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงได้อย่างยั่งยืน (九陵) นั้น ย่อมมิอาจ (勿) กระทำการใดๆ อย่างเร่งร้อนเพื่อยื้อยุดแย่งชิงเอามา (逐) แต่จะต้องอาศัยความหนักแน่นมั่นคงในการใช้ศักยภาพแห่งตนอย่างสร้างสรรค์ (七日) จึงจะประสบผล (得)' ... เพี้ยนจากตัวหนังสือไปไกลเลยทีนี้ !!??!! ... :D

คืองี้ครับ ...

ผมไม่ได้มองอักษร 厲 (lì, ลี่) ให้หมายถึง 'อันตราย' อย่างตรงไปตรงมา แต่กลับมองว่ามันคือ 'กระกดดันด้วยอำนาจ' ซึ่งมีทั้ง 'ความแหลมคม', 'ความล่อแหลม', และ 'ความไม่เป็นมิตร' อันสื่อถึง 'ความอันตราย' ไปพร้อมๆ กัน ตามความหมายที่เป็นไปได้ทั้งหมดของมัน ... จากนั้นผมก็ไม่คิดว่า 億 (yì, อี้) ควรจะหมายถึง 'มากมาย' ตามความหมายปรกติของมัน แต่ผมเลือกใช้ 'ความมีเสถียรภาพทางสังคม' มาแทนความหมาย 'ความสงบมั่นคง' ของมันแทน ... ซึ่งก็ทำให้ให้ 貝 (bèi, เป้ย) ถูกสื่อไปในด้านของ 'ผลประโยชน์ต่างตอบแทน' หรือ 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัย' ในลักษณะของ 'มิตรภาพ' ที่หยิบยื่นให้แก่กัน

สำหรับ 九陵 (jiǔ líng, จิ่ว ลิ๋ง) กับ 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) นั้นผมพิจารณาว่า มันเป็นเรื่องของ 'การอุปมาอุปไมย' กับ 陽 (yáng, ยั๋ง) มากกว่าที่จะหมายถึง 'จำนวนนับ' อย่างใดอย่างหนึ่งตามความหมายปรกของตัวอักษร ในเมื่อ 九 (jiǔ, จิ่ว) สามารถที่จะหมายถึง 乾 (qián, เชี๋ยน) ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ ☰ อันเป็น 'พลังหยางขั้นสูงสุด' คำว่า 九陵 (jiǔ líng, จิ่ว ลิ๋ง) จึงคล้ายกับจะสื่อถึง 'การดำรงสถานะสูงสุดของผู้กระทำ' หรือ 'ผู้มีอิทธิพลสูงสุด' และเมื่อ 九 (jiǔ, จิ่ว) มีอีกความหมายหนึ่งว่า 久 (jiǔ, จิ่ว) ที่แปลว่า 'เนิ่นนาน', 'ยั่งยืน' กับทั้งสามารถที่จะแปลว่า 鳩 (jīu, จิว) ในความหมายว่า 'รวบรวม' หรือ 'รวมเข้าด้วยกัน' ... มันจึงทำให้ 九陵 (jiǔ líng, จิ่ว ลิ๋ง) น่าจะหมายถึง 'การดำรงสถานภาพเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจอย่างยั่งยืน' ... เป็นความหมายที่แตกต่างไปจาก 'ยอดเขาเก้ายอด' ซึ่งตำราอื่นๆ แปลเอาไว้ ... :P

ส่วน 七 (qī, ชี) ที่ผมเล่าไว้ว่า มันสามารถหมายถึง 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) ที่เป็น 'สัญลักษณ์ตั้งต้น' หรือ 'จุดกำเนิด' ของ 'พลังแห่งหยาง' ซึ่งเพิ่งจะพลิกผันเปลี่ยนแปรมาจาก 'พลังอันบริสุทธิ์แห่งหยิน' คือ 坤 (☷ : kūn, คุน) และกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็น 乾 (☰ : qián, เชี๋ยน) นั้น คือภาพสะท้อนของ 'จิตใจที่เชื่อมั่นศรัทธา' ต่อ 'พลังอันบริสุทธิ์แห่งหยาง' ซึ่งก็คือ 'ศักยภาพแห่งตน' ที่แฝงไว้ภายใต้ 'ความอ่อนน้อม' และ 'ความมุ่งมั่นอดทน' อย่างไม่เสื่อมคลาย เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็น 九陵 (jiǔ líng, จิ่ว ลิ๋ง) อันเป็นจุดมุ่งหมาย ... คำว่า 七日 (qī rì, ชี ญื่อ) จึงได้รับการ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'คุณธรรมแห่ง 震' หรือ 'ความหนักแน่นมั่นคงในการใช้ศักยภาพแห่งตนอย่างสร้างสรรค์' เพราะความหมายหนึ่งของ 日 (rì, ญื่อ) ก็คือ 'คุณธรรม' นั่นเอง ... !!?? ... ตาย ... ตาย ... ตาย ... !!?? ... :D

แล้วก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่า วรรคที่สองนี้ ก็คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่ห้าในบทเดียวกันเสมอ โดยเราจะเห็นร่องรอยของทฤษฎีที่ว่านี้ของผม จากถ้อยคำที่ 'จิวกง' แทบจะลอกเลียนซ้ำลงอีกครั้งหนึ่งในวรรคที่ห้า เพื่อปิดประเด็นที่อาจจะยังค้างคาใจหลายๆ คน อันเนื่องมาจาก 'ความสลับซับซ้อน' ของ 'การตีความ' ตามที่ผมเล่าเอาไว้ ... ;)

 

 

สาม หยิน :

震蘇蘇震行無眚
zhèn sū sū zhèn xíng wú shěng
จิ้น ซู ซู เจิ้น ซิ๋ง อู๋ เษิ่



蘇 อ่านว่า sū (ซู) มีความหมายว่า 'ฟื้นคืน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'ตื่นจากการหลับไหล', หรือ 'ฟื้นคืนจากการจำศีล' มันจึงมีลักษณะของ 'การกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง' ซึ่งรวมไปถึง 'การฟื้นไข้' หรือ 'ฟื้นคืนสภาหลังจากการเจ็บป่วย' และยังสามารถที่จะหมายถึง 'การบูรณะปฏิสังขร' เพื่อให้ 'ฟื้นคืนสภาพเดิม' ได้ด้วย

眚 อ่านว่า shěng (เษิ่ง) แปลว่า 'ตาฝ้าฟาง', 'ไม่ชัดเจน', จึงสามารถแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'กระทำความผิด', 'ทำโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ' ; สมัยก่อนเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 省 (shěng, เษิ่ง) ที่แปลว่า 'ระมัดระวังตัว', 'สำรวจ (ตรวจสอบ) ตัวเอง', 'หลีกเลี่ยง', 'ประหยัด' บางครั้งจึงแปลว่า 'ยับยั้ง', 'ทำให้น้อยลง'

ผมคิดว่าวลีนี้ของ 'จิวกง' น่าจะทำหน้าที่ขยายความให้กับช่วงท้ายวลีในวรรคที่สอง ซึ่งบันทึกไว้ด้วยภาษาสัญลักษณ์ว่า 躋于九陵‧勿逐‧七日得 (jī yǘ jiǔ líng wù zhú qī rì dé, จี ยฺวี๋ จิ่ง ลิ๋ง อู้ จู๋ ชี ญื่อ เต๋อ) โดยผมให้ความหมายไว้ว่า ...
'การจะพัฒนาศักดิ์สถานะ (躋) ไปสู่ (于) ความมีบารมีที่เหนือกว่าอย่างยั่งยืน (九陵) นั้น ย่อมมิอาจ (勿) กระทำการใดๆ อย่างเร่งร้อนเพื่อยื้อยุดแย่งชิงเอามา (逐) แต่จะต้องอาศัยความหนักแน่นมั่นคงในการใช้ศักยภาพแห่งตนอย่างสร้างสรรค์ (七日) จึงจะประสบผล (得)' ... ซึ่งการพัฒนาสถานภาพจาก 七 (qī, ชี) หรือ 震 (☳ : zhèn, เจิ้น) อันเป็นจุดที่เริ่มมีการพลิกฟื้นคืนจาก 坤 (☷ : kūn, คุน) เพื่อก้าวไปสู่สถานะของ 九 (jiǔ, จิ่ว) หรือ 乾 (☰ : qián, เชี๋ยน) นั้น ถูกแทนที่ด้วยคำว่า 蘇蘇 (sū sū, ซู ซู) ในวรรคนี้ เพื่อสื่อถึงอาการ 'ค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพ' หรือ 'ฟื้นฟูศักยภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป' ให้กลับมี 'พลานุภาพที่เต็มเปี่ยม' อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นกระบวนการที่ 'มิอาจรีบร้อนผลีผลาม' (勿逐) นั่นเอง

ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ
'การจะควบคุมสถานการณ์ (震) ต่างๆ ให้อยู่กับร่องกับรอยนั้น จะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจน บนพื้นฐานของหลักการที่ถูกต้อง (蘇蘇) วิถีแห่งการครองอำนาจ และการดำรงไว้ซึ่งความมีอิทธิบารมี (震行) ย่อมไม่สมควรกระทำการใดๆ ด้วยความสุ่มเสี่ยง (無眚)' ... สำหรับ 'พฤติกรรมที่รีบร้อนผลีผลาม' หรือ 'กระทำการอย่างสุ่มเสี่ยง' (遂) นั้น 'จิวกง' แกแยกออกไปบันทึกไว้ในวรรคที่สี่ ซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สามนี้อีกชั้นหนึ่งครับ ...

 

 

สี่ หยาง :

震遂泥
zhèn zhú ní
จิ้จู๋ นี๋



เอาความหมายของ 逐 (zhú, จู๋) มาแปะไว้ใกล้ๆ อีกครั้งเลยดีกว่า คำนี้มีความหมายว่า 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

泥 อ่านว่า ní (นี๋) แปลว่า 'โคลน', 'มีลักษณะเหมือนโคลน', 'เหนียว (เหมือนโคลน)', 'เละ (เหมือนโคลน)', หรือ 'ข้น (เหมือนโคลน)', 'ยางไม้', 'กาว' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ติดแน่น' เพราะ 'ความเหนียว' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'หยุด', 'สะดุด', หรือ 'ชะงัก' ได้ด้วย

วรรคนี้ก็คือกรณีของการฝ่าฝืน 'ข้อเตือนสติ' ในวรรคที่สอง ซึ่ง 'จิวกง' แนะนำไว้ว่า 勿逐 (wù zhú, อู้ จู๋) หรือ 'อย่าวู่วามผลีผลามทำอะไรอย่างสุ่มเสี่ยง เพียงเพราะอยากจะไขว่คว้าอำนาจและอิทธิพลมาไว้ในครอบครอง' นั่นเอง โดย 'จิวกง' ได้บันทึกผลพวงของ 'ความรีบร้อน' หรือ 'ความลุกลี้ลุกลน' ดังกล่าวไว้ว่า ...
'การไขว่คว้าแสวงหาอำนาจ เพื่อยึดครองความมีอิทธิพลเหนือผู้คนทั้งปวง (震遂) นั้น ย่อมต้องเผชิญกับการต่อต้าน และอุปสรรคนานัปการ (泥)' ... ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า 'การเร่งเร้า' ที่จะ 'กดข่มผู้อื่น' ด้วย 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' ของตนอย่าง 'ไม่ถูกกาละ-เทศะ' นั้น ย่อมก่อให้เกิด 'ความหวาดระแวง' (震來虩虩) ในความรับรู้ของทุกผู้คนที่ร่วมอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ อันจะเป็นชนวนให้เกิด 'ปฏิกิริยาต่อต้าน' และ 'ความไม่เป็นมิตร' ที่จะกลายเป็น 'อุปสรรค' ต่อการดำเนินงานในระยะยาวต่อไป


 

ห้า หยิน :

震往來厲億無喪有事
zhèn wǎng lái lì yì wú sāng yǒu shì
จิ้น หฺวั่ง ไล๋ ลี่ อี้ อู๋ ซัง โหฺย่ว ษื้



อักษร 往 (wǎng, หวั่ง) ปรกติแปลว่า 'ย้อนคืน', 'ย้อนกลับ', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้ ; แต่ในบางกรณีก็แปลว่า 'อดีต', 'สิ่งที่ผ่านเลย', จนกระทั่งสามารถที่จะหมายถึง 'ตาย' ก็ยังได้

事 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'เรื่องราว', 'กิจการ', 'กิจกรรม', 'ภารกิจ' หรือ 'หน้าที่' ซึ่งก็เลยทำให้มันสามารถที่จะแปลว่า 'ควารับผิดชอบ', 'ความเอาใจใส่', หรือ 'ความขยัน', และ 'ความมุ่งมั่น' ได้ด้วย

ผมถอดความออกมาดื้อๆ อย่างนี้เลยครับว่า ...
'อำนาจในการยับยั้ง และอิทธิพลในการกดดัน (震往來厲) ย่อมไม่บั่นทอนความมีเสถียรภาพ (億無喪) หากกระทำการอย่างมีวิจารณญาณ และมีความรับผิดชอบ (有事) ต่อหลักการ และเหตุผลที่รองรับการกำกับควบคุมสถานการณ์นั้นๆ' ... ตรงนี้ก็คือ ... 'จิวกง' กำลังจะบอกว่า ด้วยสถานภาพของ 'ผู้ครองอำนาจ' และ 'ผู้มีอิทธิพล' นั้น จะต้องรู้จัก 'บริหารบารมี' ให้ 'สมควรแก่เหตุและหลักการ' ไม่ใช่มัวแต่ยึดติดว่า 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' หรือ 'บารมี' นั้นๆ คือ 'สิ่งชั่วร้าย' ที่จะนำเภทภัยมาสู่ตน และหมู่คณะเสมอไป หรือหลงระเริงไปว่า มันคือ 'ปัจจัย' ใน 'การตักตวงประโยชน์' โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถทักท้วงต้านทาน

ลองดู 'ความต่อเนื่อง' กับ 'คู่วลี' ของมันในวรรคที่สองดูนะครับ ประเด็นที่ 'จิวกง' ต้องการจะนำเสนอไว้ก็คือ 'การใช้อำนาจอย่างสุดโต่ง' เพื่อจะ 'บังคับ' หรือ 'กดดัน' ให้สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความขัดแย้ง' อันเนื่องจากเป็น 'การทำลายดุลยภาพแห่งความสมประโยชน์' ของฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ... ในขณะที่ 'การไม่ยอมดำเนินการใดๆ' เลย ก็น่าจะถือเป็น 'ความสุดโต่ง' ในอีกลักษณะที่ 'ขาดความรับผิดชอบ' ด้วยเหมือนกัน ... เพราะฉะนั้น ... ถ้อยคำในวรรคที่ห้า จึงได้รับการบันทึกเพื่อขยายความไว้ว่า ... 'ผู้ครองอำนาจ' จะต้องรู้จักใช้ 'บารมี' และ 'อิทธิพล' ของตนอย่างมี 'วิจารณญาณ' และ 'ความรับผิดชอบ' เพื่อกำกับดูแลสถานการณ์ต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่าง 'สมเหตุสมผล' ต่อ 'บรรทัดฐาน' และ 'หลักการ' อันจะ 'อำนวยความสมประโยชน์' ให้แก่ทุกภาคส่วนอย่างสมดุล เพื่อสร้าง 'ความมีเสถียรภาพทางสังคม' อันจะเป็น 'รากฐานสำคัญ' ของ 'การพัฒนาชาติบ้านเมือง' สืบต่อไป

การกำหนด 'ระบบระเบียบ' หนึ่งๆ ขึ้นมา เพื่อจะ 'บังคับใช้' ให้ทั้งสังคม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง 'มีกฎเกณฑ์' นั้น ย่อมต้องอาศัย 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' ตลอดจน 'บารมี' ของ 'ผู้ครองอำนาจ' มาเป็น 'ปัจจัย' ใน 'การบริหารจัดการ' จึงจะสามารถบรรลุผลตามที่มุ่งหวังเอาไว้ ... โดยธรรมชาติพื้นฐานของ 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' หรือ 'บารมี' นั้น ล้วนไม่ใช่ 'สิ่งชั่วร้าย' ที่ 'ปราชญ์' ทั้งหลายพึงปฏิเสธ ... 'หลักคุณธรรม', และ 'ความมีวิจารณญาณ' กับ 'ความรับผิดชอบ' ที่ 'ผู้ครองอำนาจ' หนึ่งๆ ยึดถือไว้เป็น 'หลักปฏิบัติ' นั้นต่างหาก คือประเด็นที่จะต้องใช้เพื่อพิจารณาถึง 'ความถูก-ผิด-ชั่ว-ดี' ของ 'ปัจจัยในการบริหารจัดการ' ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้

 

 

หก หยิน :

震索索視矍矍征凶震不于其躬于其鄰無咎婚媾有言
zhèn suǒ suǒ shì jüé jüé zhēng xiōng zhèn bù yǘ qí gōng yǘ qí lín wú jiù hūn gòu yǒu yán
จิ้น สั่ว สั่ว ษื้อ เจฺวี๋ย เจฺวี๋ย เจิง เซฺวิง เจิ้น ปู้ ยฺวี๋ ชี๋ กง ยฺวี๋ ชี๋ ลิ๋น อู๋ จิ้ว ฮุน โก้ว โหฺย่ว เอี๋ยน



索 อ่านว่า suǒ (สั่ว) แปลว่า 'เชือกเส้นใหญ่', หรือ 'โซ่' ที่ใช้ในการ 'ยึด' หรือ 'ล่าม' สิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงมีความหมายว่า 'ผูกมัด', หรือ 'เรียกร้อง' อย่าง 'จำเพาะเจาะจง' ซึ่งก็เลยแผลงไปเป็น 'เสาะแสวงหา' หรือ 'เลือกเฟ้น' แล้วก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความแน่นอน'

視 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'มอง', 'ดู', 'เห็น', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', 'สังเกต' ; หรือ 'เปรียบเทียบ'

矍 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) แปลว่า 'ระแวดระวัง', 'ตื่นตัว', ซึ่งบางครั้งก็ออกไปในทาง 'หวาดระแวง' มากกว่าแค่ 'ระวังภัย' เฉยๆ ได้เหมือนกัน

躬 อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'ร่างกาย', 'ชีวิต', 'ก้มตัว', 'โค้งตัว', 'ค้อมตัว' ; บางทีเลยแปลว่า 'ตลกขบขัน' ในลักษณะที่ 'หัวร่อจนตัวงอ' ได้ด้วย ; แต่ในความหมายว่า 'ค้อมตัว' นั้น ก็จะแฝงความหมายว่า 'แสดงความเคารพ' หรือ 'การให้เกียรติ', 'การให้ความเคารพยำเกรง' หรือ 'ความน้อมรับ' อยู่ด้วย ; … แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า qióng (โชฺว๋ง หรือ เชฺวิ๋ง) ก็จะแปลว่า 'ยากลำบาก', 'ทุกข์ยาก', หรือ 'ลำเค็ญ' … ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ตัวงอ' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ;) … แต่ในลักษณะของ 'ความยากลำบาก' ที่ว่านี้คือ 'ความยากลำบากทางกาย' ซึ่งจะหมายถึง 'การตรากตรำทำงาน' ซึ่งไม่ใช่เป็นความยากลำบากทางใจแต่อย่างใด

鄰 อ่านว่า lín (ลิ๋น) สมัยราชวงศ์โจวใช้คำนี้เป็น 'ชื่อหน่วยนับ' ของจำนวนหลังคาเรือนในแต่ละชุมชน โดยจะเรียกจำนวน 5 หลังคาเรือนว่า 1 ลิ๋น (鄰) และเรียกจำนวน 5 ลิ๋นว่า 1 หฺลี่ (里) … ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว 鄰 (lín, ลิ๋น) จะถูกใช้ในความหมายว่า 'เพื่อนบ้าน' ซึ่งเมื่อขยายความออกไปในระดับหมู่บ้าน มันก็จะหมายถึง 'หมู่บ้านใกล้เคียง' หรือในระดับประเทศก็จะหมายถึง 'ประเทศเพื่อนบ้าน' ที่มีเขตแดนติดต่อกัน ; บางครั้งจึงแปลว่า 'สนิทสนม' หรือ 'ใกล้ชิด'

婚媾 (hūn gòu, ฮุน โก้ว) เป็นคำเดิมที่เจอมาตั้งแต่บทที่สาม ซึ่งเป็นบทที่เกี่ยวข้องกับวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่งเหมือนกัน โดยคำว่า 婚 (hūn, ฮุน) แปลว่า 'แต่งงาน', 'การแต่งงาน', 'พิธีแต่งงาน' ; ส่วนคำว่า 媾 (gòu, โก้ว) ก็แปลว่า 'แต่งงาน', 'การอยู่ร่วมกัน', 'การคบหากัน', 'ชอบพอกัน' ; โดยปรกติจะเห็นใช้คู่กัน 婚媾 (hūn gòu, ฮุน โก้ว) คล้ายกับการใช้สำนวนไทยประเภทว่า 'เป็นฝั่งเป็นฝา' ที่หมายถึง 'การแต่งงาน และได้อยู่กินร่วมกัน'

ผมยกข้อความในวรรคแรกซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้มาให้ดูชัดๆ อีกครั้งดีกว่าครับ ... เดิมที่เดียวนั้น 'จิวกง' เริ่มบันทึกถ้อยคำให้กับบทนี้ว่า ...
'การเร่งเร้าอย่างกระโชกโฮกฮากด้วยการใช้อำนาจและอิทธิพลเข้าหักหาญคุกคาม (震來) ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ขลาดเขลาตื่นกลัว (虩虩) แต่การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป (後) ด้วยเหตุด้วยผลอย่างมีมิตรภาพ (笑言) ย่อมสร้างบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม (啞啞) คือความเจริญสุข (吉) ที่พึงเสาะแสวง' ... ซึ่งความที่เป็น 'คู่วลี' กันของวรรคนี้ แกจึงจบประเด็นเดิมไว้ว่า 'การใช้อำนาจและอิทธิพล (震) เพื่อการขู่เข็ญบังคับ (索索) ทั้งยังคอยกำกับตรวจสอบ (視) ด้วยความระแวดระวังอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดเวลา (矍矍) นั้น คือหายนะของการบริหารจัดการ (征凶) ; ด้วยเหตุที่ว่า บารมี (震) นั้น มิได้ (不) เกิดขึ้นจาก (于) การที่ทุกผู้คน (其) ต่างแสดงอาการนอบน้อมด้วยความขลาดกลัว (躬) แต่เกิดขึ้นจาก (于) การที่ทุกๆ ฝ่าย (其) ล้วนยินดีในความมีมิตรภาพที่สนิทชิดเชื้อ (鄰) อย่างปราศจาก (無) มลทินใดๆ ในทางที่เสื่อมเสีย (咎) อันการคบหาเพื่อจะดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกันไปจนตลอดรอดฝั่ง (婚媾) นั้น จะต้องมี (有) ความมุ่งมั่นศรัทธาในหลักการ และความมีเหตุมีผลที่สอดคล้องต้องกัน (言) จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน' ...

นี่คือทัศนคติของ 'จิวกง' ต่อคำว่า 震 (zhèn, เจิ้น) ที่ชัดเจนมากๆ สำหรับความแตกต่างระหว่าง 'อิทธิพล' หรือ 'อำนาจ' กับ 'บารมี' ที่หลอมรวมอยู่ใน 'ความเป็นผู้นำ' โดย 'จิวกง' ยังไม่ทิ้งประเด็นที่ว่า 'การใช้อำนาจและอิทธิพล' ในการบริหารจัดการนั้น อาจจะเห็นผลได้ในระยะต้นๆ ที่ผู้คนยังมี 'ความตื่นกลัว' ต่อ 'พลานุภาพของผู้นำ' แต่สิ่งที่จะสะท้อนกลับมาก็คือ 'ความไม่เป็นมิตร' ที่จะกระจายตัวอยู่ทั่วไป ภายใน 'โครงสร้างอำนาจการปกครอง' ตามที่ว่านั้น และจะส่งผลให้เกิด 'ความหวาดระแวง' ต่อกัน อันเป็นสาเหตุของ 'การสอดส่อง' เพื่อ 'การควบคุมตรวจสอบ' อย่าง 'ละเอียดยิบย่อย' ในทุกๆ รายละเอียดของแต่ละขั้นตอน ... ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะที่ว่านี้ 'จิวกง' ถึงกับระบุว่า 'ดันทุรังทำกันต่อไปก็มีแต่หายนะ' (征凶) ... และผมรวบรัดใช้คำแปลว่า 'หายนะของการบริหารจัดการ' ไปเลย !!!? ...

การดำเนินกิจการงานต่างๆ ด้วย 'ความระมัดระวัง' นั้นเป็นเรื่องที่ดีที่พึงประพฤติปฏิบัติ ... แต่ ...
'การตรวจสอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอน' นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องแยกแยะให้เข้าใจ ... ในเมื่อหลายคนอาจจะยังไม่เคยตระหนักด้วยซ้ำว่า 'ทุกๆ การตรวจสอบคือความสูญเสีย' คือ 'ต้นทุนของการปฏิบัติงาน' ที่หน่วยงาน หรือองค์กรหนึ่งๆ 'จำเป็นต้องจ่ายออกไป' เพื่อแลกกับ 'ความถูกต้อง' โดยไม่มี 'ผลงาน' ใดๆ ที่ถือเป็น 'ผลผลิตใหม่' ได้เลย !?!?!?!?!?!?!? ... เพราะฉะนั้น มันจึงเป็น 'ต้นทุนของการปฏิบัติงาน' ที่ต้อง 'จ่ายเท่าที่จำเป็น' เท่านั้น ไม่ใช่จ่ายมันตะพึดตะพือไปเรื่อยเปื่อย เพราะดันไปหลงเชื่อว่า 'ยิ่งตรวจสอบมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสผิดพลาดน้อยเท่านั้น' ... ไอ้นั่นมันบ้า !! ... ผู้บริหารคนไหนก็ตามที่เชื่อแบบนั้น แปลว่ามันไม่เคยคัดหนังสือด้วยมือมาก่อนเลยในชีวิต !! ... :D

เพราะฉะนั้น การที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคนี้ว่า ...
'การควบคุมบังคับอย่างเข้มงวด (震索索) และตรวจสอบอย่างละเอียดยิบทุกรายละเอียดนั้น (視矍矍) คือการบริหารงานที่จะนำมาแต่ความฉิบหายวายป่วง (征凶)' ... จึงถือเป็น 'ข้อเตือนสติ' จากผู้ที่เป็น 'นักปฏิบัติ' ตัวจริง !! ไม่ใช่เอาแต่ 'นั่งเทียนเขียนคัมภีร์' เหมือนกับ 'นักวิชาการสั่วๆ' ที่เอาแต่พล่ามอย่างหาสาระใดๆ ไม่ได้เลย ... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'จิ้' คือ การควบคุมสถานการณ์, พลานุภาพเหนือการเปลี่ยนแปลง

'การควบคุมสถานการณ์' (震) คือ 'การพัฒนาโครงสร้าง' อันหมายถึง 'การกำหนดระบบระเบียบ' เพื่อ 'ความเจริญก้าวหน้า' อย่าง 'ราบรื่น' (亨) ซึ่ง 'การหักโหม' ด้วย 'พลานุภาพ' (震) นั้น ย่อมก่อให้เกิด (來) 'ความหวั่นหวาด' อย่าง 'ขลาดเขลา' (虩虩) ในขณะที่ 'การปรึกษาหารือ' ด้วย 'มิตรภาพ' (笑言) ย่อมประสบแต่ 'ความแช่มชื่นเบิกบาน' (啞啞) ด้วยกันทุกฝ่าย ... 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' (震) ที่สามารถสร้าง 'ความยำเกรง' (驚) แก่ชนทั่วหล้า (百里) นั้น ย่อมเกิดจากการรู้จัก 'สงวนท่าที' เยี่ยงการถนอม (不喪) คมดาบ (匕) ให้สงบนิ่งอยู่เพียงในฝัก (鬯) โดยมิต้องนำออกมา 'โอ้อวด' เพื่อ 'ข่มขวัญ' ผู้ใด

    • 'การเร่งเร้า' อย่าง 'กระโชกโฮกฮาก' ด้วยการใช้ 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' เข้า 'หักหาญคุกคาม' (震來) ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ 'ขลาดเขลาตื่นกลัว' (虩虩) แต่การดำเนินงานอย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' (後) 'ด้วยเหตุด้วยผล'อย่างมี 'มิตรภาพ' (笑言) ย่อมสร้างบรรยากาศที่ 'อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม' (啞啞) คือ 'ความเจริญสุข' (吉) ที่พึง 'เสาะแสวง'
    • การใช้ 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' (震) เพื่อ (來) 'เคี่ยวเข็ญกดดัน' ให้ต้องดำเนินการ 'อย่างสุดโต่ง' (厲) นั้น ต่อให้มี 'เสถียรภาพ' (億) แต่ก็ปราศจาก (喪 คือสูญเสีย) 'ดุลยภาพแห่งความสมประโยชน์' ของฝ่ายต่างๆ (貝) การจะ 'พัฒนาศักดิ์สถานะ' (躋) ไปสู่ (于) ความมี 'บารมี' ที่อยู่ 'เหนือความขัดแย้ง' ทั้งปวงได้ 'อย่างยั่งยืน' (九陵) นั้น ย่อมมิอาจ (勿) กระทำการใดๆ อย่าง 'เร่งร้อน' เพื่อ 'ยื้อยุดแย่งชิง' เอามา (逐) แต่จะต้องอาศัย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ในการใช้ 'ศักยภาพแห่งตน' อย่าง 'สร้างสรรค์' (七日) จึงจะ 'ประสบผล' (得)
    • การจะ 'ควบคุมสถานการณ์' (震) ต่างๆ ให้ 'อยู่กับร่องกับรอย' นั้น จะต้องดำเนินการอย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' โดยมี 'ขั้นตอนที่ชัดเจน' บนพื้นฐานของ 'หลักการที่ถูกต้อง' (蘇蘇) วิถีแห่ง 'การครองอำนาจ' และการดำรงไว้ซึ่ง 'ความมีอิทธิบารมี' (震行) ย่อมไม่สมควรกระทำการใดๆ ด้วย 'ความสุ่มเสี่ยง' (無眚)
    • การไขว่คว้าแสวงหา 'อำนาจ' เพื่อยึดครอง 'ความมีอิทธิพล' เหนือผู้คนทั้งปวง (震遂) นั้น ย่อมต้องเผชิญกับ 'การต่อต้าน' และ 'อุปสรรค' นานัปการ (泥)
    • 'อำนาจ' ใน 'การยับยั้ง' และ 'อิทธิพล' ใน 'การกดดัน' (震往來厲) ย่อมไม่บั่นทอน 'ความมีเสถียรภาพ' (億無喪) หากกระทำการอย่างมี 'วิจารณญาณ' และมี 'ความรับผิดชอบ' (有事) ต่อ 'หลักการ' และ 'เหตุผล' ที่รองรับ 'การกำกับควบคุมสถานการณ์' นั้นๆ
    • การใช้ 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' (震) เพื่อ 'การขู่เข็ญบังคับ' (索索) ทั้งยังคอย 'กำกับตรวจสอบ' (視) ด้วย 'ความระแวดระวัง' อย่าง 'เข้มงวดกวดขัน' ตลอดเวลา (矍矍) นั้น คือ 'หายนะของการบริหารจัดการ' (征凶) ; ด้วยเหตุที่ว่า 'บารมี' (震) นั้น มิได้ (不) เกิดขึ้นจาก (于) การที่ทุกผู้คน (其) ต่างแสดงอาการ 'นอบน้อมด้วยความขลาดกลัว' (躬) แต่เกิดขึ้นจาก (于) การที่ทุกๆ ฝ่าย (其) ล้วนยินดีใน 'ความมีมิตรภาพ' ที่ 'สนิทชิดเชื้อ' (鄰) อย่างปราศจาก (無) 'มลทิน' ใดๆ ในทางที่เสื่อมเสีย (咎) อัน 'การคบหา' เพื่อจะดำเนินกิจการงานต่างๆ 'ร่วมกันไปจนตลอดรอดฝั่ง' (婚媾) นั้น จะต้องมี (有) 'ความมุ่งมั่นศรัทธา' ใน 'หลักการ' และ 'ความมีเหตุมีผล' ที่ 'สอดคล้องต้องกัน' (言) จึงจะ 'อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน'

 

    • *** จำเป็นต้องกำกับภาษาจีนคู่กันไว้กับ 'การตีความ' อีกเหมือนเคย เนื่องจากไม่สามารถอธิบายความหมายด้วยตัวอักษรที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา



The Organization Code :


การจะ 'ควบคุมสถานการณ์' ต่างๆ ให้ดำเนินไปใน 'ทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม' ได้นั้น ย่อมไม่อาจอาศัยเพียง 'สถานภาพ' ของ 'ผู้ครองอำนาจ' เพียงมิติเดียว ไป 'ดำเนินกิจการงาน' ให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้านอย่างทั่วถึง การมี 'ศักยภาพ' ของ 'ผู้บารมี' และ 'ผู้ทรงอิทธิพล' ในการ 'โน้มน้าว' ทุกๆ ฝ่ายให้ 'ยินดีที่จะร่วมมือ' ด้วยนั้น ถือเป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ต่อ 'ผลสำเร็จ' ของ 'การดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ เสมอ ... เนื่องด้วย 'อำนาจ' คือ 'ปัจจัย' ที่สามารถ 'ส่งมอบ-ถ่ายโอน' หรือ 'ฉกฉวย-แย่งชิง' ระหว่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับ 'ความยอมรับ' จากฝ่ายต่างๆ ในขณะที่ 'อิทธิบารมี' จำเป็นต้อง 'สั่งสม-สรรค์สร้าง' โดยผู้ที่มี 'ศักยภาพ' เพียงพอต่อ 'การครอบครอง' จึงจะเป็น 'ที่ยอมรับ' ของทุกๆ คน

ผู้ที่จะมี 'ศักยภาพ' เพียงพอต่อ 'การครองความมีอิทธิบารมี' นั้น จะต้องรู้จัก 'ควบคุมอารมณ์' ของตนให้มี 'ความตื่นตัวอย่างสงบนิ่ง' (⚍) ต้องประกอบด้วย 'สติปัญญา' ที่ 'กล้าแกร่ง-มั่นคง' (⚎) โดยต้องมี 'พฤติกรรม' ที่ 'อ่อนน้อมถ่อมตน' (⚏) โดยไม่แสดงอาการ 'แข็งขืนเอาแต่ใจ' แม้ต้องเผชิญกับบางสถานการณ์ที่ 'ขัดขวาง-ต่อต้าน' ... เช่นเดียวกับองค์กรซึ่งจะต้อง 'ดำเนินนโยบาย' ที่ 'ยึดมั่นในหลักการ' แต่ 'ปราศจากท่าทีที่แข็งกร้าว' (⚍) และต้อง 'บริหารจัดการ' ด้วย 'ความยืดหยุ่นในกระบวนการ' แต่มี 'ความชัดเจนในเป้าหมาย' (⚎) โดยมี 'แนวทางในการปฏิบัติงาน' ที่ 'เสมอต้นเสมอปลาย' (⚏)


'การควบคุมสถานการณ์' ย่อมหมายถึง 'การกำหนดระบบระเบียบ' เพื่อ 'พัฒนาโครงสร้างทางสังคม' ให้มี 'ความพร้อม' ต่อ 'ความเจริญก้าวหน้า' และ 'ความพลิกผันเปลี่ยนแปลง' ของสถานการณ์ต่างๆ ที่องค์กรหนึ่งๆ จำเป็นต้องเผชิญ ... ซึ่ง 'มาตรการ' ต่างๆ นั้น หากมี 'การบังคับใช้' อย่าง 'หักโหมรุนแรง' ด้วย 'พลานุภาพ' แห่ง 'อำนาจ' เพียงด้านเดียว ย่อมเป็นเหตุให้เกิด 'ความหวั่นวิตก' และ 'ความหวาดระแวง' จนอาจลุกลามกลายเป็น 'การแข็งขืนต่อต้าน' ไปได้ ในขณะที่ 'การโน้มน้าว' ด้วย 'เหตุผล' และ 'การปรึกษาหารือกัน' ด้วย 'หลักการ' ย่อมก่อให้เกิด 'สัมพันธภาพ' ที่ 'เป็นมิตร' และนำไปสู่ 'ความกระตือรือร้น' ที่จะให้ 'ความร่วมมือ' ใน 'การผลักดัน' จน 'ประสบความสำเร็จ' ได้ในที่สุด ... อัน 'ความทรงอิทธิบารมี' ที่สามารถสร้าง 'ความเคารพยำเกรง' แก่ทุกๆ ฝ่ายได้นั้น ย่อมเกิดขึ้นจากการรู้จัก 'สงวนท่าที'  เยี่ยง 'การถนอมคมดาบ' ให้ 'สงบนิ่งอยู่เพียงในฝัก' โดยมิต้องนำออกมา 'โอ้อวด' เพื่อ 'ข่มขวัญ' ผู้ใด

    • การสำแดง 'พลานุภาพ' แห่ง 'อำนาจ' อย่าง 'พร่ำเพรื่อ' นั้น ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ 'หวั่นหวาดระแวง' และ 'ความไม่เป็นมิตร' ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'การดำเนินนโยบาย' ให้ 'ประสบผล' ตาม 'เป้าหมาย' ที่กำหนดเอาไว้ ... ซึ่งจะต่างกับ 'การดำเนินนโยบาย' อย่าง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัย' ซึ่งกันและกัน ใช้ความพยายาม 'โน้มน้าว' เพื่อ 'ปรับเปลี่ยน' แต่ละ 'เหตุปัจจัย' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ด้วย 'หลักการ' และ 'เหตุผล' ที่ทุกฝ่ายต่างก็ 'ยอมรับได้' ด้วย 'ความมีมิตรภาพ' อันจะนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' ที่ 'ราบรื่น' กว่า
    • 'การบังคับใช้กฎหมาย' หรือ 'การควบคุม' ด้วย 'ระบบระเบียบ' ใดๆ 'อย่างเข้มข้น' จน 'สุดโต่ง' นั้น แม้ว่าจะสามารถ 'ควบคุมสถานการณ์' หนึ่งๆ ไว้ได้ แต่ 'ความมีเสถียรภาพ' ด้วย 'มาตรการ' ดังกล่าว ย่อมตั้งอยู่บน 'พื้นฐานอันเปราะบาง' เนื่องจาก 'การสูญเสียดุลยภาพแห่งความสมประโยชน์' ของฝ่ายต่างๆ คือชนวนแห่ง 'ความขัดแย้ง' ที่พร้อมจะ 'ประทุ' ขึ้นได้ตลอดเวลา ; 'การพัฒนาศักดิ์สถานะ' ให้สามารถ 'ครองความมีอิทธิบารมี' ที่อยู่ 'เหนือความขัดแย้ง' ทั้งปวงได้ 'อย่างยั่งยืน' นั้น ย่อมมิอาจกระทำการใดๆ ด้วย 'พลานุภาพ' เพื่อ 'ฉกฉวยแย่งชิง' อย่าง 'เร่งร้อน' แต่จะต้องอาศัย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'คุณธรรมแห่งอำนาจ' เพื่อเสริมสร้าง 'ศักยภาพแห่งตน' อย่าง 'สร้างสรรค์' จึงจะ 'ประสบผล'
    • 'การกำกับดูแล' เพื่อ 'ควบคุมสถานการณ์' ต่างๆ ให้ดำเนินไปใน 'ทิศทางที่กำหนดไว้' นั้น จะต้องดำเนินการอย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' ด้วย 'กระบวนการ' ที่ 'ชัดเจน' บนพื้นฐานของ 'หลักการที่ถูกต้อง' เท่านั้น ... 'วิถีแห่งการครองอำนาจ' ย่อม 'ไม่อำนวยประโยชน์' ให้แก่การกระทำใดๆ ที่ 'สุ่มเสี่ยง' ด้วย 'ความลำพองในพลานุภาพ' แห่ง 'อำนาจที่ถือครอง' เสมอ
    • 'การยื้อยุดแย่งชิง' เพื่อจะครอบครอง 'ความมีอิทธิพล' เหนือกว่าผู้คนทั้งปวงนั้น ย่อมต้องเผชิญกับ 'การต่อต้าน' และ 'อุปสรรค' นานัปการ
    • การสำแดง 'อิทธิบารมี' ด้วย 'ความรับผิดชอบ' ต่อ 'หลักการที่ถูกต้อง' อย่าง 'มีวิจารณญาณ' ในการใช้ 'อำนาจ' เพื่อ 'ยับยั้ง' สิ่งที่ 'เลวร้าย' และใช้ 'อิทธิพล' เพื่อ 'ส่งเสริม' สิ่งที่ 'อำนวยประโยชน์' ให้แก่ 'ส่วนรวม' นั้น นอกจากจะไม่เป็นการบั่นทอน 'ความมีเสถียรภาพ' แล้ว กลับจะเป็นการเสริมสร้าง 'ความเป็นปึกแผ่น' ให้กับองค์กร และสังคมโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง
    • การใช้ 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' ใน 'การบังคับควบคุมสถานการณ์' และกำหนด 'มาตรการ' เพื่อ 'การสืบเสาะสอดแนม' อย่าง 'เข้มงวดกวดขัน' เพราะ 'ความหวาดระแวง' ตลอดเวลานั้น คือ 'หายนะของการบริหารจัดการ' เนื่องจากเป็น 'การทุ่มเททรัพยากร' ลงไปใน 'กิจกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์' ใดๆ ทางปฏิบัติ ; อัน 'อำนาจการปกครอง' ที่จะ 'ทรงอิทธิบารมี' ได้นั้น มิอาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้คนพากัน 'นอบน้อมด้วยความขลาดกลัว' แต่จะเกิดขึ้นได้จาก 'ความยอมรับ' ที่ทุกๆ ฝ่ายล้วน 'ยินดีมอบให้' ด้วย 'มิตรภาพ' ที่ 'สนิทชิดเชื้อ' อย่าง 'ปราศจากมลทิน' ใดๆ ในทางที่เสื่อมเสีย ; 'การร่วมแรงร่วมใจกัน' เพื่อ 'ปฏิบัติภาระกิจ' น้อยใหญ่ให้ 'สำเร็จลุล่วงด้วยดี' ได้นั้น ทุกๆ ฝ่ายจะต้องมี 'ความมุ่งมั่นศรัทธา' ใน 'หลักการ' และ 'ความมีเหตุมีผล' ที่ 'สอดคล้องต้องกัน' จึงจะสามารถ 'ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน'




แม้ว้าถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ใน 'คัมภีร์อี้จิง' จะผูกโยงเข้าด้วยกันอย่งต่อเนื่อง แต่การที่มันถูกแบ่งออกเป็นบทๆ วรรคๆ นั้น ก็น่าจะทำให้เราจำแนกออกมาได้ว่า บทที่ห้าสิบเอ็ดนี้ ก็คือ 'จิ๊กซอว์' ชิ้นสุดท้ายสำหรับวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่ง ที่เวียนวนเป็น 'วัฏจักร' มาตั้งแต่บทที่สาม (䷂ 屯 Zhūn, จุน : Fertilizing), บทที่สิบห้า (䷎ 謙 Qiān, เชียน : Humbleness), บทที่ยี่สิบเจ็ด (䷚ 頤 Yí, อี๋ : Nourishing), บทที่สามสิบเก้า (䷦ 蹇 Jiǎn, เจี่ยน : Enervating), และมาสิ้นสุดลงตรงบทที่ห้าสิบเอ็ด (䷲ 震 Zhèn, เจิ้น : Dominating) นี้ ... ซึ่งเราจะเห็นวิวัฒนาการของ 'ศักยภาพ' หรือ 'ความทรงอิทธิบารมี' ที่ไต่ระดับขึ้นมาตั้งแต่ 'การตั้งปณิธาน' (屯) ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'อ่อนน้อม' (謙) เพื่อจะ 'หล่อเลี้ยง' (頤) และ 'สั่งสมพลานุภาพ' ให้มี 'ความพร้อม' สำหรับ 'ภาระกิจอันยิ่งใหญ่' ซึ่งจำเป็นต้อง 'อาศัยความช่วยเหลือเกื้อกูล' (蹇) จาก 'ผู้รู้' และ 'ปราชญ์' อีกมากมายหลากหลาย ก่อนที่จะสามารถดำรงสถานภาพของ 'ผู้ควบคุมสถานกรณ์' (震) ให้ภาระกิจต่างๆ ดำเนินไปใน 'ทิศทาง' ที่จะอำนวย 'คุณประโยชน์' แก่ 'ส่วนรวม' ได้อย่างที่ 'ตั้งปณิธาน' เอาไว้ ... ทั้งหมดนี้ก็คือสาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในวลีสั้นๆ ของ 'จิวกง' ที่ว่า 潛龍‧勿用‧ (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) ซึ่งผมเคยปรารถไว้ตั้งแต่ต้นคัมภีร์แล้วว่า นี่คือวลีที่สวยงามที่สุดของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั่นเอง !!