Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第五卦 : 需

需 : 水天需 ‧ 坎上乾下

需 : 有孚‧光‧亨‧貞吉‧利涉大川‧

  • 初九 ‧ 需于郊‧利用恆‧無咎‧
  • 九二 ‧ 需于沙‧小有言‧終吉‧
  • 九三 ‧ 需于泥‧致寇至‧
  • 六四 ‧ 需于血‧出自穴‧
  • 九五 ‧ 需于酒食‧貞吉‧
  • 上六 ‧ 入于穴‧有不速之客三人來‧敬之終吉‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์แจ่มใส (⚌) ปัญญา-พลานามัยสดชื่น (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'นโยบาย' สนับสนุน 'บุคลากร', นโยบายเชิงรุก (⚌), กำหนดแผนงาน และปฏิบัติการอย่างมีสติ (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือรอคอยจังหวะ, แอ่งน้ำบนฟากฟ้า ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Requisition : รอคอยจังหวะ


โดยปรกติแล้ว ตัวอักษร 需 (xü, ซฺวี) นี้มักจะถูกใช้ในความหมายว่า 'ความต้องการ' หรือ 'ความจำเป็น' แต่ก็มีบางกรณีที่จะถูกใช้ในความหมายว่า 'การรอคอย' ด้วย … อย่างไรก็ตาม 'การรอคอย' ในลักษณะของ 需 นี้จะหมายถึง 'การคอยท่า' สิ่งที่มี 'ความจำเป็น' ต่อการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจึงมีความหมายในลักษณะของ 'การรอคอยโอกาส', 'การรอคอยจังหวะ' หรือ 'การรอคอยความสุกงอมของสถานการณ์' … ซึ่งเป็นอาการของ 'การรอคอย' ที่มี 'เงื่อนไข' ให้ต้อง 'เตรียมพร้อม' และต้องมี 'ความตื่นตัว' อยู่ตลอดเวลา … ไม่ใช่เป็นการรอคอยประเภทที่เอ้อระเหยลอยไปลอยมาโดยไม่คิดจะทำอะไรเลย … นั่นคือที่มาของการเลือก 'ชื่อเรียก' เป็นคำภาษาอังกฤษว่า Requisition และแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า 'รอคอยจังหวะ'

'ภาพอักษร' ดั้งเดิมของ 需 จะดูคล้ายกับตัว 雨 (yǚ, หยฺวี่) ที่แปลว่า 'ฝน' อยู่ข้างบนของตัว 天 (tiān, เทียน) ที่แปลว่า 'ฟ้า' แต่ความจริงแล้วท่อนล่างของ 'ภาพอักษร' 需 คือตัว 而 (ér, เอ๋อ) ซึ่งในสมัยก่อนเคยหมายถึง 'หนวดเครา' และแผลงความหมายเป็น 'มนุษย์ (ที่มีอาวุโส)' จึงทำให้ตัว 需 มีความหมายว่า 'การรอคอยน้ำฝน' แล้วแผลงความหมายต่อออกมาเป็น 'การรอคอยสิ่งที่มีความจำเป็น' เพราะ 'น้ำฝน' คือปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในสังคมเกษตรกรรมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม 'ภาพอักษร' ดั้งเดิมของตัว 而 จะหมายถึง 'สิ่งใดๆ ที่เป็นริ้วๆ คล้ายหนวด' ก็ได้ด้วย และทำให้ 'ภาพอักษร' 需 ดูคล้ายกับ 'ไอน้ำ' ที่กำลังระเหยขึ้นไป 'รวมกัน' เป็น 'กลุ่มเมฆ' บน 'ท้องฟ้า' และ 'รอคอยเวลา' ที่จะตกกลับลงมาเป็น 'น้ำฝน' เพื่อให้ความชุ่มฉ่ำ และความอุดมสมบูรณ์แก่โลกอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น มันจึงมีความหมายในลักษณะของ 'การรวบรวมทรัพยากรที่มีความจำเป็นทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย'



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
有孚光亨貞吉利涉大川
yǒu fú guāng hēng zhēn jí lì shè dà chuān
โหฺย่ว ฟู๋ กวง เฮิง เจิน จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน


孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

光 อ่านว่า guāng (กวง) แปลว่า 'สว่างไสว', 'แวววาว', 'ชัดเจน', 'สดใส', 'หมดจด', 'เรียบลื่น' ; บางครั้งก็เลยมีความหมายว่า 'โล่งเตียน', หรือ 'หมดเกลี้ยง' ; และในแง่ของการรับรู้ ก็จะหมายถึง 'มีความตื่นตัว', 'มีความฉับไว' ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารต่างๆ

涉 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ก้าวข้าม (ทางน้ำ)', และยังมีความหมายในลักษณะของ 'การผ่านร้อนผ่านหนาว' หรือ 'การผจญชีวิต' ซึ่งหมายถึง 'มีประสบการณ์' ; และในความหมายของ 'การก้าวข้าม (ทางน้ำ)' ก็ส่งผลให้มันหมายถึง 'ข้ามน้ำข้ามทะเล' ซึ่งหมายถึง 'การผูกสัมพันธ์', 'การเชื่อมโยง', 'การปะติดปะต่อ', 'การมีส่วนร่วม', 'ความเชื่อมโยง', 'ความเกี่ยวข้อง' ; และยังหมายถึง 'การลงมือกระทำการ' ในความหมายของ 'การสร้างเสริมประสบการณ์' อีกด้วย

川 อ่านว่า chuān (วน) แปลว่า 'กระแสน้ำ', 'แม่น้ำ', 'ผืนน้ำ' ; 'การไหล', 'การเคลื่อนตัวไป', 'การเดินทาง' ; แปลว่า 'ที่ราบ', 'ผืนแผ่นดินที่ราบเรียบ' หรือ 'ทุ่งราบ' ก็ได้ … มันจึงสามารถถูกตีความให้หมายถึง 'สุดแผ่นดินแผ่นน้ำ' หรือ 'สุดลูกหูลูกตา' ได้เหมือนกัน

โอย … อัจฉริยะสุดๆ จริงๆ ครับท่าน King Wen ผู้นี้ นี่คือตัวอักษรสิบตัวที่เรียงลงไปแล้วสามารถแปลความหมายได้เยอะแยะเลยครับ …

คำว่า 有孚 (โหฺย่ว ฟู๋) จะแปลว่า 'มีความมั่นใจในตัวเอง' ก็ได้, หรือจะแปลว่า 'มีความน่าเชื่อถือ' ก็ได้, หรือจะแปลว่า 'มีกรอบในการปฏิบัติที่ดี' หรือ 'มีระบบระเบียบที่น่าเชื่อถือ' ก็ได้อีก … หรือจะแปลว่า 'มีการป้องกันอย่างดี' หรือจะหมายถึง 'มีการเตรียมตัวมาอย่างดี' ซึ่งก็อาจจะหมายถึง 'มีการฝึกสอนมาแล้วอย่างดี' เพราะได้รับ 'การฟูมฟักมาอย่างถูกต้อง' ก็ได้อีกเหมือนกัน … :D … เอาไงวะกู??!!

ส่วนคำว่า 光亨 (กวง เฮิง) จะแปลว่า 'มีความรู้ความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง' ก็ได้ หรือจะแปลว่า 'มีความตื่นตัวต่อข่าวสารข้อมูล' ก็ไม่แปลก … เพราะว่า 'ความรู้' กับ 'ข้อมูลข่าวสาร' นั้น ค่อนข้างที่จะมีความเป็น synonyms กันอยู่หลายส่วนมากๆ

สำหรับ 貞吉 (เจิน จี๋) จะหมายถึง 'มีคุณธรรมที่ดี' หรือ 'มีจรรยาบรรณที่ดี' แล้วก็ยังสามารถที่จะมีความหมายว่า 'มีจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะ' ก็ยังได้ … เพราะคำว่า 吉 ที่แปลว่า 'ประเสริฐ', 'เป็นมงคล' หรือ 'โชคลาภ' นั้น มันสามารถที่จะหมายถึง 'ฤกษ์งามยามดี' ได้ด้วย … แต่ถ้าหากเอา 光亨貞吉 มาเขียนติดกัน มันก็ควรจะแปลว่า 'มีความตื่นตัวต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะ' เพื่อให้มันกลมกลืนกับความหมายของ 'ชื่อบท' ที่หมายถึง 'การรอคอยจังหวะ' นั่นเอง … ;)

งั้นทีนี้ ผมก็จับเรียงติดกันหมดทั้งหกตัวเลยเอ้า … 有孚光亨貞吉 … ซึ่งควรจะแปลว่า 'การรอคอยจังหวะนั้น จะต้องมีความพร้อม (有孚) และต้องมีความตื่นตัวต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (光亨貞吉)' … ซึ่ง 'ความพร้อม' (孚) ในที่นี้ จะรวมความหมายทั้งหมดของ 'ความมั่นอกมั่นใจ', 'ความน่าเชื่อถือ', 'กฎระเบียบ', 'การเตรียมตัว', ตลอดไปจนถึง 'ความรู้ความเข้าใจ' ด้วย ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก 'การรวบรวมบุคลากร และทรัพยากร' ในตอนเริ่มต้น (บทที่สาม) และ 'การฝึกอบรม' เพื่อ 'จัดระบบระเบียบ' หรือ 'ปรับกระบวนทัพ' ให้กับ 'ทีมงาน' ทั้งหมดที่รวบรวมมาได้ (บทที่สี่) … จนเกิดเป็น 'ความพร้อม' ณ ตรงจุดนี้ … ;) … แล้วถึงจะเชื่อมความหมายของสี่ตัวอักษรสุดท้ายเข้าไปได้ว่า 'เป็นความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川)' … โอ้ว … PERFECT!!

เอาใหม่ … เขียนรวมกลับเข้าไปให้เป็นประโยคเดียวอีกครั้ง … 'การรอคอยจังหวะ (需) นั้น จะต้องมีการเตรียมการมาอย่างดี (有孚) และจะต้องมีความตื่นตัว (光) ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (亨 คือความรู้ หรือข่าวสาร) ของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (貞吉) จึงจะถือว่ามีความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川) ได้' … ถูกใจมากเลยครับ !! … ;)

แต่ผมคิดว่า 'จิวกง' คงจะ 'ตีความ' คำบรรยาย 'ภาพสัญลักณ์' ในบทนี้ของ King Wen ออกไปอีกอย่างหนึ่ง และเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' น่าจะแบ่งวรรคตอนออกมาใหม่เป็น  需 ‧ 有 孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ 利涉大川 ซึ่งมีความหมายว่า 'การรอคอยจังหวะนั้น มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ  孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ ผู้ที่มีความเข้าใจ (利) ย่อมพร้อมที่จะกระทำการใหญ่ (涉大川)' … แล้วก็ทำการบันทึกคำขยายความแต่ละลักษณะของ 'การรอคอยจังหวะ' ลงไปทีละวรรคๆ ในบทเดียวกันนี้ … ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมเองก็ไม่รู้สึกแปลกใจล่ะครับว่า ทำไม 'ขงจื้อ' จึงได้ชื่นชมในอัจฉริยภาพของ 'จิวกง' อย่างมากมายมหาศาลขนาดนั้น และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาใฝ่ศีกษาเล่าเรียนจนกลายเป็น 'บรมครู' แห่งยุคในเวลาต่อมา

นี่คือการใช้ 'ถ้อยคำเดิมขยายความให้กับถ้อยคำเดิม' โดยใช้เพียงการแบ่งวรรคตอนใหม่ แต่ไม่มีการเพิ่มตัวอักษรใดๆ เข้าไปเลยแม้แต่ตัวเดียว … อัจฉริยะมากๆ เลยนะครับเนี่ย ;) … เพราะถ้าในความหมายที่แปลไว้ว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) นั้น จะต้องมีการเตรียมการมาอย่างดี (有孚) และจะต้องมีความตื่นตัว (光) ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (亨คือความรู้ หรือข่าวสาร) ของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (貞吉) จึงจะถือว่ามีความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川) ได้' … นั่นก็อาจจะมีคำถามตามมาได้ว่า 'ความตื่นตัวต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' ที่ว่านั้นคือแบบไหน? ยังไง? … ซึ่ง 'จิวกง' ก็คงจะตอบออกมาว่า 'ความตื่นตัวที่ว่านั้น หมายถึงอาการที่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์แห่งการรอคอยจังหวะที่แตกต่างกัน 4 ประเภทคือ  孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ และสามารถปรับเปลี่ยนการปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละแบบได้อย่างคล่องตัว' …

ส่วนไอ้เจ้า 'ความสามารถในการปรับเปลี่ยน' อย่างปุปปับตามสถานการณ์ที่เป็นจริงนั้น หากไม่มี 'การเตรียมการ' มาอย่างครบเครื่อง  ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถจัดการได้อยู่ดี … แล้วสำหรับท่อนสุดท้ายที่บันทึกไว้ว่า 利涉大川 ที่ความหมายตามตัวอักษรจะหมายถึง 'การข้ามแม่น้ำสายใหญ่' นั้น เราก็สามารถที่จะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างกว้างไกล' … หรืออาจจะ 'ตีความ' เป็นความหมายว่า 'สามารถ (利) ที่จะก้าวข้าม (涉) อุปสรรคนาๆ ประการ (川) ไปได้ ไม่ว่ามันจะใหญ่โต (大) สักปานใดก็ตาม' … วรรคนี้ของ King Wen ต้องถือสุดยอดมากๆ เลยครับ … ขอบอก !! … ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

需于郊利用恆無咎
xü yǘ jiāo lì yòng héng wú jìu
ซฺวี ยฺวี๋ เจียว ลี่ โยฺว่ง เฮิ๋ง อู๋ จิ้ว


郊 อ่านว่า jiāo (เจียว) แปลว่า 'นอกเมือง', 'บ้านนอก', 'ที่โล่งเตียน', 'ทุ่งราบ' ; อาจจะหมายถึง 'บริเวณที่ใช้กราบไหว้เทพยดา' ; และสามารถหมายถึง 'เครื่องเซ่นสรวงบูชาฟ้าดิน' ก็ได้

恆 อ่านว่า héng (เฮิ๋ง) แปลว่า 'มั่นคง', 'ถาวร', 'ปรกติ', 'สม่ำเสมอ', หรือ 'แน่นอน'

น่าจะเป็นความตั้งใจของ 'จิวกง' ที่เลือกใช้ 'สภาพทางภูมิศาสตร์' หรือ 'ลักษณะทางกายภาพ' มาเป็น 'ภาพจำลอง' ของสถานการณ์แต่ละแบบ โดยในวรรคแรกนี้ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 郊 (jiāo, เจียว) ที่หมายถึง 'ทุ่งโล่ง' หรือว่า 'ทุ่งราบ' ในแบบ 'ชนบท' ที่อยู่ 'รอบนอกของเมือง' มาสะท้อนให้หมายถึง 'สถานการณ์ปรกติ' หรือ 'สถานการณ์ที่ไม่มีอะไรผิดปรกติ' (無咎) … ซึ่งความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'การรอคอย (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) เป็นปรกติทั่วๆ ไป (郊) นั้น ก็ให้ดำเนินการทุกอย่างไปตามปรกติ (利用恆) อย่าให้มีความบกพร่อง (無咎) ใดๆ' …

ดูๆ ไปก็ไม่น่าจะมีความหมายที่พิเศษพิสดารอะไร แต่ผมมองว่านี่คือ 'ความรอบคอบ' ของ 'จิวกง' เอง ที่ต้องการจะ 'เตือน' ให้รับรู้ไว้ตั้งแต่ต้นว่า 'ในยามที่ไม่มีปัญหาอะไรนั้น คนเราก็ไม่ควรที่จะประมาท และควรที่จะปฏิบัติตนตามระบบระเบียบมาตรฐานอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเกิดความบกพร่องเสียหาย' … เพราะความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ที่บานปลายเป็นปัญหาใหญ่โตในหลายๆ กรณีนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากความเชื่อว่า 'ไม่เป็นไร' แทบทั้งสิ้น !!! … ซึ่งถ้าจะ 'ตีความ' ให้วรรคนี้มีความหมายที่ตรงตัวมากขึ้น ผมก็น่าจะแปลซะใหม่ว่า 'การรอคอย (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) เป็นปรกติทั่วๆ ไป (郊) นั้น ก็ให้ดำเนินการทุกอย่างไปตามปรกติ (利用恆) อย่าปล่อยปละเลยเพราะคิดเพียงแค่ ''ไม่เป็นไร'' (無咎) โดยเด็ดขาด'

 

สอง หยาง :

需于沙小有言終吉
xü yǘ shā xiǎo yǒu yán zhōng jí
ซฺวี ยฺวี๋ า เสี่ยว โหฺย่ว เอี๋ยน ง จี๋


沙 อ่านว่า shā (า) แปลว่า 'ทราย', 'กรวด', 'ฝุ่น', 'ผงเล็กๆ', 'เกร็ด' ; 'เสียงที่แตกพร่า (ไม่ชัดเจน)' ; จึงอาจจะหมายถึง 'ขุ่น', 'มัว' เพราะ 'ความไม่ใส' ก็ได้ ; บางครั้งก็หมายถึง 'หยาบ', 'ขรุขระ' ; หมายถึง 'ทะเลทราย', 'ทุรกันดาร' ; หรืออาจจะหมายถึง 'สนามรบ' ก็ได้

หลายตำราแปลคำว่า 小有言 ในลักษณะที่เป็น 'คำนินทาเล็กๆ น้อยๆ' หรือเป็น 'เรื่องหยุมหยิม' ที่ไม่ควรใส่ใจ เพราะตัว 言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) ปรกติแล้วจะแปลว่า 'คำพูด' … แต่จริงๆ แล้ว 'คำพูด' นั้นจะมีหลายลักษณะด้วยกัน เพราะมันอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', หรือ 'การให้เหตุผล'

ส่วนตัว 小 (xiǎo, เสี่ยว) นั้นแปลว่า 'เล็ก', 'น้อย', 'เล็กน้อย' หรือ 'ไม่สำคัญ' ได้อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สามารถที่จะหมายถึง 'ความละเอียด', 'ความระมัดระระวัง' ได้เหมือนกัน ยิ่งในวรรคนี้ใช้ร่วมกับตัว 沙 (shā, า) ที่หมายถึง 'ทราย' ตัว 小 ก็น่าจะล้อความหมายของ 'ความเล็ก', และ 'ความละเอียด' ของสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อม มากกว่าที่จะหมายถึง 'เรื่องหยุมหยิม' หรือ 'เสียงนกเสียงกา' อย่างที่หลายตำราชอบแปลกัน

ผมแปลความหมายของวรรคนี้ว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) ไม่ชัดเจน (沙) นั้น จะต้องมีความระมัดระวัง (小 ในที่นี้น่าจะหมายถึง 小心 คือ 'ใส่ใจในรายละเอียด') และดำเนินการต่างๆ อย่างมีเหตุมีผลที่สามารถอธิบายได้ (有言) จึงจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จในที่สุด (終吉)'

และนี่ก็คือความหมายของการรอคอยจังหวะแบบที่เรียกว่า 孚 (fú, ฟู๋)  เพราะ 孚 จะมีความหมายในลักษณะของ 'การกกไข่' หรือ 'การปกป้องลูกน้อย' (ตามความหมายของ 'ภาพอักษร' 孚) ซึ่งจะต้องมี 'ความเอาใจใส่' เป็นอย่างสูง ต้องพยายาม 'ปกป้องคุ้มครอง' เพื่อให้เกิด 'ความปลอดภัย' และต้องปฏิบัติตาม 'ระบบระเบียบ' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ที่ 'สม่ำเสมอ' และ 'เชื่อถือได้' จึงจะสามารถประสบกับความสำเร็จ

 

สาม หยาง :

需于泥致寇至
xü yǘ ní zhì kòu zhì
ซฺวี ยฺวี๋ นี๋ จื้อ โค่ว จื้


泥 อ่านว่า ní (นี๋) แปลว่า 'โคลน', 'มีลักษณะเหมือนโคลน', 'เหนียว (เหมือนโคลน)', 'เละ (เหมือนโคลน)', หรือ 'ข้น (เหมือนโคลน)', 'ยางไม้', 'กาว' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ติดแน่น' เพราะ 'ความเหนียว' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'หยุด', 'สะดุด', หรือ 'ชะงัก' ได้ด้วย

致 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ส่งมอบให้', 'หยิบยื่นให้', 'อุทิศให้', 'เสียสละ' ; 'คาดหวัง', 'ผลลัพธ์ที่ได้', หรือ 'ทำให้เกิดขึ้น' ; อาจจะหมายถึง 'ความเอาใจใส่', 'ความละเอียดอ่อน' ก็ได้

至 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ถึง', 'บรรลุถึง', 'ถึงที่สุด' ; 'ปลายทาง', 'ปลายสุด' ; 'สุดขั้ว', 'สุดโต่ง' ; 'เต็มที่', 'ทุ่มเท'

ส่วนตัว 寇 (kòu, โค่ว) คงจำกันได้ว่ามันหมายถึง 'การบุกรุก', 'การบุกฝ่า', 'ป่าเถื่อน', 'รุนแรง' ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีโทนของความหมายไปในลักษณะของ 'การต้องออกแรง' หรือ 'ต้องใช้กำลัง' ด้วยกันทั้งนั้น

ความหมายของวรรคนี้จึงหมายความว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) ทุกอย่างชะงักงัน (泥) ก็ควรที่จะต้องออกแรงผลักดัน (致寇) อย่างสุดความสามารถ (至) เพื่อจะบุกฝ่าออกไป (寇) จากสภาพการณ์ที่ไม่มีความคืบหน้า (泥) ใดๆ นั้นให้จงได้'

นี่ก็คือสถานการณ์การรอคอยจังหวะแบบ 光 (guāng, กวง) ที่นอกจากจะหมายถึง 'ความสว่างไสว' แล้ว มันยังมีความหมายว่า 'โล่งเตียน', 'หมดเกลี้ยง' ได้ด้วย ซึ่งความหมายของ 光 ในที่นี้อาจจะหมายถึง 'ไม่มีอะไรคืบหน้า' เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดู 'ว่างเปล่า' ไปหมด จึงต้อง 'ทุ่มเท' เรี่ยวแรง 'ทั้งหมด' เท่าที่มี เพื่อกอบกู้สถานการณ์ให้สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้

 

สี่ หยิน :

需于血出自穴
xü yǘ xüè chū zì xüé
ซฺวี ยฺวี๋ เซฺวี่ย ฌู จื้อ เซฺวี๋ย


血 อ่านว่า xuè (เซฺวี่ย) คำนี้เคยเล่าไปแล้วว่าหมายถึง 'เลือด', 'นองเลือด', 'ถึงเลือดถึงเนื้อ', 'เลือดตกยางออก', 'หลั่งเลือด' ; มันจึงอาจจะหมายถึง 'อันตรายอย่างยิ่ง', 'ความโกลาหล', 'การประจัญบาน'

出 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', 'ปรากฏ'

自 อ่านว่า zì (จื้อ) แปลว่า 'ตัวเอง' ; 'จุดที่เริ่มต้น', 'จากจุดเริ่มต้น', 'เริ่มจาก', 'ตั้งแต่' ; 'แน่นอน' ; ถ้าใช้ในการเชื่อมประโยคจะแปลว่า 'สมมุติว่า', 'เสมือนว่า' ; ใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'

穴 อ่านว่า xué (เซฺวี๋ย) แปลว่า 'ถ้ำ', 'รู', 'หลุม', 'ที่หลบซ่อน', 'ที่พักพิง', 'ช่อง', 'ช่องทาง'

ถ้าแปลว่า 'รอคอยในหล่มเลือด ให้ออกจากถ้ำตัวเอง' … ผมก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะหงุดหงิดรำคาญมากเลย เพราะไม่รู้ว่าจะโผล่หัวออกจากรูมาทำไมเหมือนกัน … ถูกมั้ย ??!! … :D … แต่นั่นคือ 'คำแปล' ที่ไปหาอ่านเอาจากที่ไหนก็ได้แหละครับ … :'( … ความจริงแล้ว 出 (chū, ฌู) ในที่นี้ควรจะหมายถึง 'นำออกมาใช้' ไม่ใช่ 'โผล่หัวออกมา' อย่างที่ชอบแปลกัน … งั้นให้แปลว่า 'นำถ้ำออกมาใช้' อย่างนั้นรึเปล่า?!?! … เออ ?!?! … :D

ความหมายที่ควรจะถูกต้องของวรรคนี้จึงคล้ายกับเป็นการบ่งบอกว่า ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวายนั้น เขาก็ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากกว่าปรกติ … ดังนั้น ที่ถูกแล้วมันควรจะถูกแปลว่า 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) ปั่นป่วน และเต็มไปด้วยภยันตราย (血) นั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอากฎเหล็กมาใช้ควบคุมตัวเอง (出自穴 หมายถึง จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ) อย่างเคร่งครัด' … ตัว 穴 (xué, เซฺวี๋ย) ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึง 'ถ้ำ' หรือ 'ที่หลบซ่อน' แต่จะต้องหมายถึง 'กรอบ' หรือ 'กฎระเบียบ' ที่มี 'ความหนักหน่วง' ดั่ง 'หินผา' …

นี่ก็คือสภาพการณ์ของการรอคอยจังหวะแบบ 亨 (hēng, เฮิง) อันเป็นสภาพการณ์ที่จะต้อง 'ทุ่มเท' ทั้ง 'ความรู้', 'ความสามารถ' ด้วย 'ความระมัดระวัง' อย่างยิ่งยวด เพื่อจะอำนวยให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นทีละขั้นทีละตอน เพราะว่า 亨 (hēng, เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น', 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค) และ 'ความมีระบบระเบียบ' นั่นเอง ;)

 

ห้า หยาง :

需于酒食貞吉
xü yǘ jiǔ shí zhēn jí
ซฺวี ยฺวี๋ จิ่ว ซื๋อ เจิน จี๋


酒食 (jiǔ shí, จิ่ว ซื๋อ) แปลเป็นสำนวนไทยง่ายๆ ได้ว่า 'เหล้ายาปลาปิ้ง', หรือ 'เหล้ายาอาหาร' นั่นเอง ในสถานการณ์แบบ 酒食 จึงเป็นสถานการณ์ที่เต็มไปด้วย 'ความอุดมสมบูรณ์', 'ความสะดวกสบาย', 'ความอิ่มหนำสำราญ' เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับกินสำหรับใช้ 'อย่างเหลือเฟือ'

'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ (于) เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย (酒食) นั้น จะต้องไม่ละเลยต่อคุณธรรมความดี (貞吉)' คือจะต้องรู้จัก 'พอประมาณ' ไม่มุ่งหวังเฉพาะ 'การกอบโกย' เพื่อแสวงผลประโยชน์อย่าง 'บ้าคลั่ง' โดยไม่คำนึงถึง 'หลักจริยธรรม' ใดๆ ทั้งสิ้น … ในทางหนึ่งนั้น นี่คือ 'คำเตือน' ที่สื่อถึงเราว่า เราจะต้องไม่ 'หลงระเริง' ใน 'โชคลาภ' หรือ 'ผลประโยชน์เฉพาะหน้า' จนละทิ้ง 'เป้าหมาย' หรือ 'ความมุ่งหวัง' ที่แท้จริงของตนเองอย่าง 'ลืมตัว' … ซึ่งนี่ก็คือ 'หลักการครองตน' สำหรับการรอคอยจังหวะในสภาพการณ์แบบ 貞吉

 

หก หยิน :

入于穴有不速之客三人來敬之終吉
rù yǘ xüé yǒu bù sù zhī kè sān rén laí jìng zhī zhōng jí
ญู่ ยฺวี๋ เซฺวี๋ย โหฺย่ว ปู้ ซู่ จือ เค่อ ซัน เญิ๋น ไล๋ จิ้ง จืง จี๋


入 อ่านว่า rù (ญู่) แปลว่า 'เข้า', 'นำเข้ามา', 'รับเอามา' ; ปรกติแล้วก็จะใช้ในความหมายที่ตรงข้ามกับ 出 (chū, ฌู) ที่แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา' หรือ 'จ่ายออกไป'

速 อ่านว่า sù (ซู่) แปลว่า 'เชื้อเชิญ', 'ต้อนรับ', 'พร้อม', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว'

客 อ่านว่า kè (เค่อ) แปลว่า 'ผู้มาเยือน', หรือ 'คนแปลกหน้า'

敬 อ่านว่า jìng (จิ้ง) แปลว่า 'เคารพ', 'เชื่อฟัง', 'ยอมรับ', 'ยอมปฏิบัติตาม'

ผม 'ตีความ' ให้ 入于穴 ที่แปลตามตัวอักษรว่า 'เข้าไปในถ้ำ' หรือ 'หลบเข้าไปในหลุม' นี้ หมายถึงอากัปกิริยาหนึ่งของ 需 หรือ 'การรอคอยจังหวะ' แทนที่จะ 'ตีความ' ให้ 穴 (xué, เซฺวี๋ย) แปลว่า 'กฎระเบียบ' เหมือนกับในวรรคที่สี่ เพราะการ 'หลบเข้าไปในที่ซ่อน' จะมีลักษณะอาการที่คล้ายกับ 'นายพราน' หรือ 'นักล่า' ทั้งหลายซึ่งแอบแฝงตัวเองเพื่อ 'รอคอยจังหวะ' ที่จะปฏิบัติการบางอย่าง

ส่วนคำที่มีความหมายเชิงอุปมาอุปไมยที่แปลกันว่า 'แขกไม่ได้รับเชิญสามคน' (不速之客三人) นั้น น่าจะสื่อความหมายถึง 'ผู้มาเยือนที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสาม' … ;) … ผมมองว่า หากเรา 'ตีความ' ให้  入于穴 หมายถึง 'การรอคอยจังหวะ' หรือ 需 อย่างที่ผมบอกเอาไว้ 'ผู้มาเยือน' หรือ 'สถานการณ์ที่มาเยือน' อันไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์นั้นก็คือ 沙, 泥, และ 血 นั่นเอง … เพราะผมเชื่อว่า 'จิวกง' น่าจะเลือกใช้คำอุปมาอุปไมยตลอดทั้งบทมาตั้งแต่วรรคแรกของเขา โดยวรรคแรกเอ่ยถึง 'สถานการณ์ปรกติ' (郊) ซึ่งไม่ถูกนับเป็นความพิเศษใดๆ ในสารบบของ 'การรอคอยจังหวะ' ทั้งสี่แบบ, วรรคที่สองเอ่ยถึง 'สถานการณ์ที่คลุมเครือ' (沙) ซึ่งเป็นประเภทที่ไม่มีใครอยากจะเจอประเภทแรก, วรรคที่สามเอ่ยถึง 'สถานการณ์ที่ชะงักงัน' (泥) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพิสมัยประเภทที่สอง, วรรคที่สี่เอ่ยถึง 'สถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย' (血) นี่ก็คงจะมีแต่พวก sadist เท่านั้นถึงจะชอบใจ :D … มาถึงวรรคที่ห้าเอ่ยถึง 'สถานการณ์ที่สะดวกสบาย' (酒食) ซึ่งทุกคนอยากจะพบเจอเป็นที่สุด แล้วก็เป็นสถานการณ์ที่ 'จิวกง' เตือนว่า 'อย่ามูมมาม' เอาไว้ เพราะเกรงว่าจะหลงระเริงจนลืมตัวกัน ;)

'จิวกง' จบบทบันทึกขยายความของตัวเองในบทนี้ว่า 'ในการรอคอยจังหวะ (入于穴 = 需) นั้น มีสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อยู่สามประการ (有不速之客三人) หากต้องประสบพบเจอ (來) ผู้ที่เชื่อ และปฏิบัติตาม (敬之) คำแนะนำที่แสดงเอาไว้ ย่อมประสบกับผลลัพธ์ที่ดีได้ในที่สุด (終吉)'

สวยครับสวย !! ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซฺวี' คือ การรอคอยจังหวะ, แอ่งน้ำบนฟากฟ้า

'การรอคอยจังหวะ' นั้น จะต้องประกอบไปด้วย 'การเตรียมการ' ที่ดี และจะต้องมี 'ความตื่นตัว' ต่อทุกๆ 'ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' เพื่อจะปรับตัวให้ 'เหมาะสม' แก่สถานการณ์ต่างๆ และ 'พร้อม' ที่จะฟันฝ่าไปจนถึงที่สุดแห่งความมุ่งหวังของตนได้

  • 'การรอคอย' ใน 'สภาพการณ์ที่เป็นปรกติ' จงดำเนินการด้วย 'ความเอาใจใส่' อย่าง 'สม่ำเสมอ' โดยต้อง 'ไม่ปล่อยปละ' จนละเลย 'ความบกพร่อง' ที่อาจจะก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' ได้
  • 'การรอคอย' ใน 'สภาพการณ์ที่อึมครึม' ไม่ชัดเจน จงดำเนินการด้วย 'ความระมัดระวัง' และมี 'ความละเอียดรอบคอบ' อย่าง 'มีเหตุมีผล' ทุกสิ่งย่อมสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี
  • 'การรอคอย' ใน 'สภาพการณ์ที่ชะงักงัน' ไม่มีความคืบหน้า จะต้องดำเนินการทุกอย่างด้วย 'ความทุ่มเท' ถึง 'ขีดสุด' จึงจะสามารถ 'ฟันฝ่า' ต่อไปได้
  • 'การรอคอย' ใน 'สภาพการณ์ที่โกลาหลวุ่นวาย' และเสี่ยงต่อ 'ภยันตราย' จะต้องกำหนด 'มาตรการ' เพื่อกำกับควบคุมการปฏิบัติงาน 'อย่างเคร่งครัด'
  • 'การรอคอย' ใน 'สภาพการณ์ที่อุดมด้วยผลประโยชน์' จะต้องยึดมั่นใน 'หลักคุณธรรม'
  • 'การรอคอย' จึงมี 'สภาพการณ์ที่ไม่พึงประสงค์' สามประการ หากต้องประสบพบเจอ ผู้ที่มี 'ความเข้าใจ' และ 'ปฏิบัติตาม' 'ข้อแนะนำ' ดังที่ได้แสดงไว้ ย่อมประสบกับ 'ความสำเร็จ' ได้ในที่สุด



 

The Organization Code :



'การรอคอยจังหวะ' ใช้ 'นโยบาย' สนับสนุน 'บุคลากร', นโยบายเชิงรุก (⚌), กำหนดแผนงาน และปฏิบัติการอย่างมีสติ (⚍)

ภาพสัญลักษณ์ ䷄ จะมี ☵ (ขั่น, หมายถึงแอ่งน้ำ) ซึ่งถูกผมใช้ในความหมายของงานด้าน 'บุคลากร' (HRM) อยู่ด้านบน โดยมี ☰ (เชี๋ยน, หมายถึงฟ้า) ที่กำหนดให้หมายถึง 'ระดับนโยบาย' รองรับอยู่ด้านล่าง ซึ่งแสดงออกถึงการให้ 'การสนับสนุน' หรือคอย 'กำกับทิศทาง' ให้มุ่งไปสู่ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้
ในแง่ของความต่อเนื่องนั้น นี่คือขั้นตอนที่จะมีการลงไม้ลงมือปฏิบัติงานกันละ หลังจากที่มีการตระเตรียม 'รวบรวมทรัพยากร' ที่จำเป็นทั้งหลายเข้ามารวมตัวกัน (บทที่สาม) และได้ผ่านขั้นตอนของ 'การฝึกอบรม' (บทที่สี่) เพื่อให้ทุกหน่วยเกิด 'ความเข้าใจ' ในระบบระเบียบขั้นตอนต่างๆ ตลอดจน 'เป้าหมาย' ที่ต้องการแล้ว … มันก็คือขั้นตอนที่ 'รอคอยจังหวะ' ที่จะลงมือ ซึ่งยังต้องอาศัย 'ความระมัดระวัง' และต้องมี 'ความตื่นตัว' อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะสามารถฉกฉวย 'จังหวะเวลาที่ดีที่สุด' ในการเริ่มปฏิบัติงาน

  • ใน 'สถานการณ์ปรกติ' ต้องปฏิบัติงานด้วย 'ความเอาใจใส่' และมี 'การเตรียมความพร้อม' อยู่ตลอดเวลา ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะคิดว่า 'ไม่เป็นไร' จนเพาะเป็น 'นิสัย' หรือเป็น 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ไร้ 'ระบบระเบียบ'
  • ใน 'สถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน' ต้องใช้ 'ความละเอียดลออ' และต้องให้ความสนใจใน 'จุดเล็กจุดน้อย' โดยมี 'การปรึกษาหารือ' เพื่อ 'วิเคราะห์' เรื่องราวต่างๆ 'อย่างรอบด้าน'
  • ใน 'สถานการณ์ที่ย่ำแย่' ต้อง 'ร่วมแรงร่วมใจกัน' และ 'ทุ่มเท' ความสามารถ 'อย่างเต็มที่' เพื่อจะพยายาม 'ผลักดัน' ให้แผนงานมี 'ความคืบหน้า' ต่อไป
  • ใน 'สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง' ต้องใช้ 'มาตรการ' ที่เด็ดขาด เพื่อควบคุมไม่ให้เกิด 'ความปั่นป่วนโกลาหล' หรือหากต้องเผชิญกับ 'ความโกลาหลวุ่นวาย' ก็จะต้อง 'รักษาระบบระเบียบอย่างเคร่งครัด' เพื่อจะผ่านพ้น 'วิกฤตการณ์' เหล่านั้นไปให้ได้
  • ใน 'สถานการณ์ที่อุดมด้วยผลประโยชน์' ต้องไม่ถูกชักพาจน 'ออกนอกลู่นอกทาง' โดยจะต้องถือหลัก 'ความพอประมาณ' และต้องเน้นความสำคัญของ 'การบรรลุเป้าหมาย' เหนือกว่า 'ผลประโยชน์ระยะสั้น' ที่มักจะ 'แกว่งไกว' ไปตาม 'สถานการณ์' โดยปราศจาก 'ความยั่งยืน' ใดๆ
  • ในการเผชิญกับ 'สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด' จะต้องมี 'ความแน่วแน่' และเคารพใน 'ระบบระเบียบ' ที่กำหนดไว้เป็น 'กรอบของการปฏิบัติงาน' อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกัน 'การเสียรูปกระบวน' จนยากแก่ 'การประสานงาน' ให้ 'บรรลุผล' ตาม 'เป้าหมาย' ที่กำหนดเอาไว้แล้ว


เมื่อ 'แยกธาตุ' ของสัญลักษณ์ ䷄ ออกเป็นสามระนาบ เราจะเห็นภาพของ 'การครองตน' ในแต่ละระดับของงานดังนี้

'ระดับนโยบาย' อยู่ในสถานะของ ⚌ : 'พร้อมรุก' คือมีการกำหนด 'เป้าหมาย' ที่ 'ชัดเจน', และมีการกำหนด 'ระเบียบขั้นตอน' ในการปฏิบัติงานที่ 'เข้มงวด' เพื่อให้ทุกหน่วยดำเนินงานไปตาม 'กรอบ' และ 'ทิศทาง' อย่าง 'พร้อมเพรียง' กัน

'ระดับบริหาร' อยู่ในสถานะของ ⚍ : 'เตรียมรุก' คือต้อง 'ยึดถือ' ใน 'ระบบระเบียบ' อย่างเคร่งครัด แต่ต้องกำกับดูแลด้วยความ 'ยืดหยุ่น' และมี 'ความระมัดระวัง' ในการดำเนิงาน โดยจะต้องสามารถ 'ปรับเปลี่ยนรูปแบบ' ให้สอดคล้องกับ 'สถานการณ์' ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

'ระดับปฏิบัติงาน' อยูในสถานะของ ⚍ : 'เตรียมรุก' คือต้องรู้จัก 'ควบคุมตัวเอง' ไม่ 'ปล่อยปละละเลย' ใน 'หน้าที่' ที่ได้รับมอบหมาย และต้องไม่ 'เพิกเฉย' ต่อรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละสถานการณ์ ต้องมี 'ความตื่นตัว' ต่อ 'การเปลี่ยนแปลง' ต่างๆ เพื่อที่จะร่วมกัน 'พินิจพิเคราะห์' ข้อมูลอย่าง 'มีเหตุมีผล' และสามารถ 'ปรับเปลี่ยน' การปฏิบัติงานของตนเองให้ 'สอดคล้อง' กับแต่ละ 'สถานการณ์' โดยต้องไม่ขัดต่อ 'เป้าหมาย' หรือ 'กรอบ' ที่กำหนดไว้เป็น 'ระบบระเบียบ' ที่ชัดเจน