Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十六卦 : 大畜

大畜 : 山天大畜 ‧ 艮上乾下

大畜 : 利貞‧不家食吉‧利涉大川‧

  • 初九 ‧ 有厲利巳‧
  • 九二 ‧ 輿說輹‧
  • 九三 ‧ 良馬逐‧利艱貞‧曰閑輿衛‧利有攸往‧
  • 六四 ‧ 童牛之牿‧元吉‧
  • 六五 ‧ 豶豕之牙‧吉‧
  • 上九 ‧ 何天之衢‧亨‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : พลังกาย กระชับรัดกุม (⚎), อารมณ์ แจ่มใส (⚌), สติปัญญา ตื่นตัว (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ผลิตผลที่ยิ่งยง (☶) แห่งนโยบาย (☰)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การสั่งสมความยิ่งใหญ่, ขุนเขาสูงเสียดฟ้า



ความหมายของชื่อเรียก : Great Accumulation : การสั่งสมความยิ่งใหญ่


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ 'ชื่อบท' นี้ (大畜) เหมือนจะล้อกับบทที่เก้า (小畜) ในขณะที่ 'ชื่อบท' ของบทที่เก้า (小畜) ก็เหมือนจะล้อกับบทที่สิบสี่ (大有) ... ซึ่งผมอยากจะบอกว่า นี่ไม่ใช่ 'ความบังเอิญ' อย่างแน่นอน เพราะบทที่เก้านั้นสะท้อนความหมายไว้โดยวรรคที่หนึ่งของบทที่สอง และบทที่สิบสี่ก็สะท้อนความหมายไว้โดยวรรคที่หกของบทที่สอง ... ซึ่ง ... ผมได้ชี้ให้เห็นอยู่หลายครั้งแล้วว่า วรรคที่หนึ่งกับวรรคที่หกในแต่ละบทนั้นจะเป็น 'คู่วลี' ของกันและกันเสมอ ... และ ... บทที่ยี่สิบหกนี้ก็คือเงาสะท้อนของวรรคที่หกในบทที่สองด้วยเหมือนกัน ดังนั้น การที่มันถูกเลือกใช้คำที่เหมือนจะล้อกันไปๆ มาๆ อย่างนี้จึงเป็น 'ความตั้งใจ' ของ King Wen อย่างแน่นอน ;)

อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) นั้นสามารถแยกออกเป็น 'ภาพอักษร' สามส่วน … ส่วนล่างสุดคือ 田 (tián, เที๋ยน) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของ 'ที่นา', 'ทุ่ง', หรือ 'ผืนแผ่นดิน' … ส่วนกลางคือตัว 幺 (yāo, เอฺยียว) แปลว่า 'เล็ก', หรือ 'สุดท้าย' ถ้าดูตาม 'ภาพอักษร' จะคล้ายเป็น 'ฟ่อนฟาง' หรือ 'ห่อสิ่งของ' ที่วางเรียงซ้อนกันอยู่ … ส่วนบนสุดจะเป็นภาพคล้าย 'หลังคา' ที่ครอบเอาไว้ … จาก 'ภาพอักษร' ที่ปรากฏ มันจึงมีลักษณะคล้ายกับ 'โรงนา' หรือ 'ยุ้งฉาง' ที่มักจะตั้งอยู่ 'ปลายสุด' ของ 'ผืนที่ดิน' … อักษร 畜 (xǜ, ซฺวี่) จึงสามารถที่จะหมายถึง 'สถานที่เก็บรักษา', 'โรงเลี้ยง', 'โรงเพาะ', 'การเลี้ยงดู' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ปศุสัตว์', หรือ 'สัตว์เลี้ยง' ; ซึ่งความหมายดังกล่าวจะแผลงมาเป็น 'การทำให้ค่อยๆ เติบโต', หรือ 'การสะสมให้พอกพูน' ได้ด้วย …

เมื่อใล่ย้อนดูความหมายของบทที่เก้า ผมแปล 小畜 (xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) ไว้ว่า 'การสั่งสม' เพื่อสะท้อนถึง 'ความค่อยเป็นค่อยไป' ใน 'การดำเนินงาน' ซึ่งต่อมาก็รองรับความหมายไว้ด้วยบทที่สิบสี่ที่ผมแปล 大有 (dà yǒu, ต้า โหฺย่ว) ไว้ว่า 'ความยั่งยืน' ... ส่วน 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) ซึ่งเป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้น่าจะหมายถึง Proliferating หรือ 'การก้าวกระโดด' ซึ่งถือว่าเป็น 'ขั้วตรงข้าม' ของ 小畜 (xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) โดยตรง ... แต่ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 'ความอดกลั้น' (บทที่ยี่สิบเอ็ด), 'ความละเอียดถี่ถ้วน' (บทที่ยี่สิบสอง), 'การกระจายความรับผิดชอบ' (บทที่ยี่สิบสาม), 'ความแน่วแน่มั่นคง' (บทที่ยี่สิบสี่), และ 'ความยืดหยุ่นของมาตรการ' (บทที่ยี่สิบห้า) ... ผลลัพธ์ที่ได้รับจาก 'การบ่มเพาะ' มาอย่างยาวนานด้วย 'ความอดทน' และ 'ความมุ่งมั่น' จึงถูกสะท้อนด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'ความโดดเด่น' แห่ง 'ขุนเขา' (☶) ที่ 'ยืนหยัดอย่างงามสง่า' ด้วย 'การเสริมส่ง' ของ 'พลังแห่งศักยภาพ' (☰) ทั้งมวล ... ความหมายของ 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) ก็น่าจะสามารถหมายถึง Great Accumulation หรือ 'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' ได้ด้วยเหมือนกัน ... แต่ควรจะหมายถึงแบบไหนก็คงต้อง 'แคะ' ถ้อยคำที่เหลือของบทไปเรื่อยๆ ล่ะครับ ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利貞不家食吉利涉大川
lì zhēn bù jiā shí jí lì shè dà chuān
ลี่ เจิน ปู้ เจีย ซื๋อ จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน


จริงๆ ก็เหมือนไม่มีคำไหนที่แปลกใหม่ให้ต้องคิดเลยด้วยซ้ำ แต่ผมก็ดันรู้สึกสะดุดที่คำว่า 家 (jiā, เจีย) ที่ปรกติจะแปลว่า 'บ้าน' เพราะลำดับของคำที่ปรากฏอยู่ในวลีนี้เหมือนกับมันจะถูกใช้เป็นคำกริยายังไงก็ไม่รู้ ... :P

家 (jiā, เจีย) ที่เราคุ้นเคยกันจะแปลว่า 'บ้าน', 'เรือน', 'ครอบครัว', ถ้าใหญ่โตกว่านั้นก็จะหมายถึง 'เมือง' หรือ 'ประเทศ' ; ส่วนความหมายที่อาจจะแปลกหูแปลกตาหน่อยก็จะหมายถึง 'สำนัก' หรือ 'ลัทธิ' เท่านั้นเอง ; แต่ความหมายอื่นๆ ของ 家 (jiā, เจีย) ยังสามารถหมายถึง 'เจ้าบ้าน' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'สามี' หรือ 'ภรรยา' ก็ได้ โดยในสมัยก่อนเคยใช้คำนี้เป็นสรรพนามสำหรับ 'แม่สามี' และใช้คำว่า 翁 (wēng, เอฺวิง) สำหรับ 'พ่อสามี' ด้วย ; 家 (jiā, เจีย) ยังสามารถหมายถึง 'เอกชน', หรือ 'ส่วนบุคคล' ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า 公 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'สาธารณะ' หรือ 'ส่วนรวม' ; ส่วนในความหมายของ 'บ้าน' ก็ยังสามารถหมายถึง 'ได้รับการเลี้ยงดูในบ้าน' หรือ 'อบรมสั่งสอน' ซึ่งทำให้มันแผลงไปเป็น 'ทำใช้เชื่อง', 'ทำให้คุ้นเคย' ได้ด้วย มันจึงมีความหมายตรงข้ามกับคำว่า 野 (yě, เอฺยี่ย) ที่หมายถึง 'ป่าเถื่อน', หรือ 'ไร้การศึกษา' ... 家 (jiā, เจีย) ยังมีความหมายแปลกๆ ที่ไม่ค่อยจะเห็นการใช้งานในปัจจุบันก็คือ 'หยุดพัก', หรือ 'หยุดดำเนินงาน' ซึ่งน่าจะแผลงมาจาก 'การกลับบ้าน' หรือไม่ก็คงจะมีที่มาจาก 'รากศัพท์' ของมันที่แปลว่า 'พักอาศัย' (居)

ส่วนคำว่า 食 (shí, ซื๋อ) นั้นจะแปลว่า 'กิน', 'บริโภค', และสามารถหมายถึง 'ของกิน', หรือ 'ของบริโภค' ก็ได้ จึงทำให้มันสามารถแผลงความหมายเป็น 'ผลผลิต', หรือ 'ผลประโยชน์' ในบางลักษณะของบริบทที่มันถูกนำไปใช้ได้ด้วย ... สำหรับบริบทที่กำลัง 'แคะ' อยู่ในที่นี้ก็คือ 不家食吉 (bù jiā shí jí, ปู้ เจีย ซื๋อ จี๋) ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการกำหนดกรอบให้กับคำว่า 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) ของ King Wen ด้วย ??!!

ลองย้อนกลับไปดูความหมายจากวรรคที่หกของบทที่สองอีกครั้งนะครับ ... ในวรรคดังกล่าว 'จิวกง' เลือกใช้วลีว่า 龍戰于野其血玄黃 (lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng, ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง) ซึ่งผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ย่อมจะนำไปสู่ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย … ซึ่งนับเป็นความสูญเสียอย่างสุดที่จะประมาณได้' ... นี่เป็นถ้อยคำที่กล่าวถึง 'หายนะจากการแก่งแย่งแข่งดีระหว่างกัน' อย่างชัดเจน ... ส่วนในบทที่สิบสี่ (大有) นั้นก็จะเป็นแง่คิดเกี่ยวกับ 'ความยั่งยืน' หรือ 'การพัฒนาที่แท้จริง' (元亨) ว่า เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก 'ความไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม' หรือ 'การอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม' ... ดังนั้น ... โดยลักษณะของเนื้อความที่ถูกกำกับไว้ทั้งสองจุดดังที่ยกมานี้ คำว่า 不家食 (bù jiā shí, ปู้ เจีย ซื๋อ) ของ King Wen จึงน่าจะหมายถึง 'การไม่ยื้อยุดผลแห่งงานไว้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน' ซึ่งก็หมายถึง 'ความไม่แก่งแย่ง' และ 'ความไม่เอารัดเอาเปรียบ' นั่นเอง ;)

ผมคิดว่า King Wen คงจะกำลังบอกกับพวกเราว่า 'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' นั้นก็คือ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ (貞) โดยไม่ยื้อยุดสิ่งใดไว้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน (不家) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินผลประโยชน์ (食) หรือความรุ่งเรืองแห่งลาภยศ (吉) ... ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) เยี่ยงนี้ ย่อมจะสามารถฟันฝ่า (涉) อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง (大川) ออกไปได้' ... ความหมายก็คือ เมื่อ 'ปราศจากการยื้อยุดสิ่งใดไว้เป็นของตน' (不家) ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น 'ทรัพย์สินผลประโยชน์' (食) หรือ 'เกียรติยศชื่อเสียง' (吉) ก็ย่อมปรากฏเป็น 'ความรู้จักปล่อยวางอัตตา' ที่ต่างฝ่ายต่างพร้อมให้ 'ความร่วมมืออย่างทุ่มเท' แก่ 'เป้าหมายที่แท้จริง' ของ 'การดำเนินงาน' (利貞) ... ผลแห่ง 'การหลอมรวมจิตใจ' ที่ 'สมัครสมานอย่างกลมเกลียว' นี้ก็คือ 'การสั่งสมของพลังที่ยิ่งใหญ่' (大畜) หรือ 'พลังแห่งศักยภาพ' (☰) ที่พร้อมจะฟันฝ่าอุปสรรคน้อยใหญ่ทั้งปวง (利涉大川) ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

有厲利巳
yǒu lì lì sì
โหฺย่ว ลี่ ลี่ ซื่อ


巳 อ่านว่า sì (ซื่อ) เป็น 'ภาพอักษร' ของ 'ตัวอ่อน' ของสิ่งมีชีวิตที่กำลัง 'เจริญเติบโต' ในครรภ์ หรือในรังไข่ ... ความหมายจึงหมายถึง 'ตัวอ่อน', 'การถือกำเนิด', 'การก่อกำเนิด', 'การเริ่มต้นแห่งวัฏจักรรอบใหม่' ซึ่งก็หมายถึง 'การสิ้นสุดของวัฏจักรรอบเดิม' ด้วย ; บางครั้ง 巳 (sì, ซื่อ) จึงหมายถึง 'หยุด', 'วาระ', หรือ 'รอบ' ; และสามารถหมายถึง 'ที่สุด', หรือ 'ปลายสุด' แบบเดียวกับ 太 (tài, ไท่) และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 已 (yǐ, อี่) ที่หมายถึง 'ผลสรุป', 'ผลลัพธ์', 'ผ่านพ้น' หรือ 'ก้าวข้าม' (過) ... นอกจากนั้นแล้ว 巳 (sì, ซื่อ) ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียกของเวลา โดยถูกกำหนดให้เป็น 'ชั่วยามที่หก' ของแต่ละวัน และยังหมายถึง 'ปีนักษัตรที่หก' ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น 'งู' และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ 'ธาตุไฟ' ... บางครั้งมันจึงมีลักษณะของ 'จุดที่เกิดการแยกกิ่งก้านสาขาใหม่ๆ' หรือ 'จุดกำเนิดของกิ่งก้านสาขาต่างๆ' ได้ด้วย

ในขณะที่หลายตำรามักจะให้ความหมายของ 厲 (lì, ลี่) ว่า 'อันตราย' แต่หลายๆ บทที่ผ่านมาของ 'คัมภีร์อี้จิง' กลับปรากฏว่า 厲 (lì, ลี่) สามารถที่จะถูกใช้ในลักษณะของ 'ความเข้มข้น', หรือ 'การทำให้เข้มข้น' ... ซึ่งเป็นความหมายที่เหมือนกันกับ 利 (lì, ลี่) ที่นอกจากจะแปลว่า 'ดี' ก็ยังแปลว่า 'ทุ่มเท' หรือ 'เอาจริงเอาจัง' ด้วย โดยที่ 厲 (lì, ลี่) น่าจะมีอัตราของ 'ความทุ่มเท' ที่ 'เข้มข้น' มากกว่าจนถึงขั้นที่ตรงกับสำนวนว่า 'เอาเป็นเอาตาย' ไปเลยด้วยซ้ำ ... และเมื่อพิจารณาจากความหมายในวลีเปิดประเด็นของ King Wen ที่สื่อไปในทิศทางของ 'การหลอมรวมศักยภาพให้เป็นหนึ่งเดียว' ผมก็แว้บ 'ภาพเปรียบเทียบ' กับ Big Bang ขึ้นมาทันทีสำหรับวลีนี้ของ 'จิวกง' ... :D

ถ้าเราย้อนสำรวจทิศทางของเนื้อความที่ผ่านมาตั้งแต่บทที่ยี่สิบเอ็ดแล้ว เราก็จะพบว่า theme หลักของเนื้อความในห้าบทที่ผ่านมาจะบ่งชี้ไปในประเด็นของ 'การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว' ทั้งหมด เมื่อมาถึงบทที่ยี่สิบหกอันถือเป็น 'บทสรุป' ของ 'วัฏจักรที่สอง' (บทที่สิบห้า ถึง บทที่ยี่สิบหก) ซึ่งก็คือ 'จุดกำเนิดใหม่' ของ 'วัฏจักรที่สาม' (บทที่ยี่สิบเจ็ด ถึง บทที่สามสิบแปด) ... การเลือกใช้คำว่า 巳 (sì, ซื่อ) ของ 'จิวกง' ในที่นี้จึงไม่สามารถจะแปลว่า 'หยุด' อย่างแน่นอน แต่จะต้องหมายถึง 'จุดเปลี่ยน' ที่เป็น 'การก่อกำเนิดใหม่' เท่านั้น ... โดย 厲 (lì, ลี่) ควรจะหมายถึง 'ความเข้มข้นขั้นอุกฤษฏ์' อันเกิดจาก 'การหลอมรวมพลังแห่งศักยภาพ' เข้าด้วยกัน ... ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่า 巳 (sì, ซื่อ) ในวลีนี้ของ 'จิวกง' คงจะต้องมีลักษณะเดียวกับ Big Bang หรือ 'การเปล่งประกายครั้งยิ่งใหญ่' เพื่อปลดปล่อย 'พลังแห่งศักยภาพทั้งมวล' ให้ 'เจิดจรัส' และ 'ก้าวข้ามไปสู่ยุคใหม่' ของวิวัฒนาการ ... คำว่า 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) ที่เป็น 'ชื่อบท' จึงมีความเป็นไปได้ที่จะแฝงความหมายของ 'การก้าวกระโดด' เอาไว้ด้วย !!!??

ผมจะสรุปประเด็นของวลีนี้ไว้เพียงแค่ว่า 'เมื่อสั่งสมหลอมรวมศักยภาพอย่างเข้มข้นจนถึงขั้นอุกฤษฏ์ (有厲) พลังแห่งความทุ่มเทพยายาม (利) ย่อมเปล่งประกายที่เจิดจรัส (巳) จนสามารถก้าวข้ามทุกอุปสรรคออกไปได้' ... ซึ่งการที่อีกหลายๆ ตำรามักจะสื่อไปในทิศทางของ 'จงยุติการสำแดงแสนยานุภาพ' นั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ 'หลุดกรอบ' เป็นคนละเรื่องไปซะทีเดียว เพราะ 'การสั่งสมพลังแห่งความยิ่งใหญ่' นั้นย่อมหมายถึง 'ความไม่รีบด่วนเผาผลาญพลังแห่งศักยภาพ' (不家食吉 ซึ่งหลายตำราแปลว่า 'ไม่กินในบ้าน') ในสถานการณ์ที่ยัง 'ไม่มีความพร้อม' เพื่อ 'รอคอยกาละ-เทศะ' ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ 'การเปล่งพลานุภาพที่ยิ่งใหญ่' (利巳) นั่นเอง

 

สอง หยาง :

輿說輹
yǘ tuō fú
ยฺวี๋ ทัว ฟู๋


輿 (yǘ, ยฺวี๋) แปลว่า 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของสัมภาระด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

說 ถ้าออกเสียงว่า tuō (ทัว) จะแปลว่า 'หลุดออก', 'ร่วง', 'หล่น', 'เป็นอิสระ', 'ปลดปล่อย (ให้ตัวเองเป็นอิสระ)' ; บางครั้งจึงอาจจะหมายถึง 'ทำตามอำเภอใจ' … แต่ถ้าออกเสียงว่า shuō (ซัว) เหมือนปรกติจะหมายถึง 'พูด'

輹 (fú, ฟู๋) แปลว่า 'ซี่ล้อ' ซึ่งหมายถึงชิ้นส่วนของล้อที่เชื่อมระหว่าง 'ดุมล้อ' กับ 'วงล้อ' เข้าด้วยกัน ; บางทีก็หมายถึง 'ล้อรถ' หรือ 'วงล้อ' ทั้งวง ; ทำให้อาจจะหมายถึง 'การล้อม' หรือ 'การเคลื่อนที่ไปรอบๆ' ก็ได้

'จิวกง' เคยใช้วลีว่า 輿說輹 (yú tuō fú, ยฺวี๋ ทัว ฟู๋) มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สามของบทที่เก้า ซึ่งน่าจะเป็น 'การใช้ซ้ำ' อย่าง 'จงใจ' เพื่อทิ้งเป็นร่องรอยของ 'ความสัมพันธ์ระหว่างบท' เอาไว้ให้พวกเรา 'แคะความหมาย' กันต่อไป ความหมายของวลีนี้ที่ผมเคยให้ไว้ก็คือ 'การดำเนินงาน (輿) ที่ไม่ยอมประสานกัน (說 คือต่างคนต่างทำ) ย่อมเปรียบเสมือนตัวรถกับวงล้อที่เคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง (輿說輻)' ... แต่เนื่องจากในวรรคนี้ยังไม่มีถ้อยคำอื่นใดมาปรับเปลี่ยนความหมายของวลีดังกล่าว ดังนั้น ผมจึงละไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อขอดูบริบทแวดล้อมอื่นๆ ต่อไปว่า 'จิวกง' กำลังพยายามจะสื่อถึงประเด็นไหนกันแน่ ??!!

 

สาม หยาง :

良馬逐利艱貞曰閑輿衛利有攸往
liáng mǎ zhú lì jiān zhēn yuē xián yǘ wèi lì yǒu yōu wǎng
เลี๋ยง หฺม่า จู๋ ลี่ เจียน เจิน เยฺวีย เซี๋ยน ยฺวี๋ เว่ย ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง


良 อ่านว่า liáng (เลี๋ยง) แปลว่า 'ดี', 'เลิศ', 'ประเสริฐ', 'ยอดเยี่ยม', 'น่าเคารพ', 'น่ายกย่อง', 'ซื่อสัตย์' ; 'ยิ่งใหญ่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'ยาวนาน'

逐 อ่านว่า zhú (จู๋) แปลว่า 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

艱 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'ยาก', 'ลำบาก', 'ทุกข์ยาก' และบางครั้งก็ยังแปลว่า 'อันตราย' ได้ด้วย

曰 อ่านว่า yuē (เยฺวีย) แปลว่า 'พูด', 'เรียก', หรือ 'เรียกว่า' ; บางครั้งจึงใช้ในการเชื่อมประโยคเช่นเดียวกับคำว่า 'คือ' ในภาษาไทย

閑 อ่านว่า xián (เซี๋ยน) แปลว่า 'ว่างงาน', 'เวลาว่าง', 'ไม่มีการใช้งาน' ; ซึ่งบางทีก็แปลว่า 'เงียบสงบ', หรือ 'เป็นปรกติ' ได้ด้วย ; จาก 'ความสงบ' ก็แผลงมาเป็น 'การรักษาความสงบ', หรือ 'การป้องกัน' ; มันจึงสามารถแปลว่า 'ฉากกั้น', 'ประตู' หรือ 'รั้ว' เพื่อ 'ปักปันเขตแดน' หรือ 'จัดแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน' ; ในขณะเดียวกันก็สามารถแปลว่า 'เข้มงวดกวดขัน', 'ดำเนินการตามปรกติ' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'คุ้นเคย' หรือ 'ชำนาญการ' ได้ด้วย

衛 อ่านว่า wèi (เว่ย) แปลว่า 'คุ้มครอง', 'ป้องกัน', 'ปกปักรักษา', หรือ 'ต่อต้าน', 'คัดค้าน' ; ในสมัยโบราณยังใช้เรียกสัตว์ประเภท 'ลา' อีกต่างหาก ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับ 'ความดื้อ' ที่แผลงมาจาก 'การคัดค้าน' ด้วยรึเปล่า ??!! ... :P

ประเด็นสำคัญของวลีนี้ก็คือ คำว่า 曰 (yuē, เยฺวีย) ไม่ได้ถูกใช้ในลักษณะที่มี 'คำประธาน' ... เพราะฉะนั้น มันจึงไม่สามารถเป็น 'คำกริยา' ซึ่งแปลว่า 'พูด' แต่จะต้องเป็น 'คำเชื่อมประโยค' ที่ทำให้ 良馬逐 (iáng mǎ zhú, เลี๋ยง หฺม่า จู๋) ก็คือ (曰) 閑輿衛 (xián yǘ wèi, เซี๋ยน ยฺวี๋ เว่ย) ...

ประเด็นต่อมาก็คือ 馬 (mǎ, หฺม่า) กับ 輿 (yǘ, ยฺวี๋) ล้วนมีลักษณะร่วมที่เป็น 'พาหนะ' ด้วยกันทั้งคู่ คือเป็น 'ม้า' และ 'รถ' ซึ่งใช้ในการ 'ดำเนินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง' ... โดย 輿 (yǘ, ยฺวี๋) สามารถแปลว่า 'การเคลื่อนย้าย' หรือ 'การดำเนินงาน' ... ส่วนคำว่า 馬 (mǎ, หฺม่า) ผมก็เคยเปรียบเทียบไปแล้วว่า มันสามารถถูกใช้เป็น 'สัญลักษณ์' ของ 'พลังแห่งหยิน' หรือ 'คุณธรรม' เมื่อต้องการสื่อถึงด้านที่เป็น 'ความหนักแน่นมั่นคง' ... วลีนี้จึงไม่น่าจะมีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับ 'การแข่งม้า' หรือ 'การฝึกบังคับรถ' แต่ประการใดทั้งสิ้น ...

สิ่งที่ 'จิวกง' พยายามจะบ่งบอกด้วยวลีเปรียบเทียบในวรรคนี้ก็คือ 'การดั้นด้นเพื่อบรรลุถึงความเป็นเลิศแห่งพลังคุณธรรม (良馬逐) จะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า (利) โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱貞) ซึ่งก็คือ (曰) จะต้องมีความเข้มงวดกวดขัน (閑) เพื่อให้การดำเนินงาน (輿) อยู่ในกรอบเกณฑ์ (衛) อย่างเหมาะสม ความวิริยะอุตสาหะที่ทุ่มเทลงไป (利) จึงจะบรรลุผลในบั้นปลาย (有攸往)'

ดูความหมายเต็มๆ กันอีกซักรอบนะ !! ... 'ความทุ่มเทพยายาม' (利貞) จะต้องไม่ใช่การกระทำ 'เพื่อประโยชน์ตน' (不家食吉) ในลักษณะที่ 'แยกเป็นฝักเป็นฝ่าย' ราวกับรถและวงล้อที่เคลื่อนไปคนละทิศทาง (輿說輹) ... แต่ ... จะต้องหลอมรวมทุกองคาพยพ 'อย่างเป็นจริงเป็นจัง' (有厲) 'เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม' จึงจะสามารถบรรลุถึง 'พลังอันยิ่งใหญ่แห่งคุณธรรม' (良馬逐) ที่ 'เจิดจรัส' (利巳) จนสามารถ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรค' ออกไปได้ (涉大川) ... นี่ก็คือ 'ความเกี่ยวเนื่องกัน' ของวลีทั้งสามที่ 'จิวกง' ผูกโยงเข้ากับถ้อยคำที่ King Wen เลือกบันทึกไว้เป็น 'คำอธิบาย' ให้กับ 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) นั่นเอง !!?! ... ;)

 

สี่ หยิน :

童牛之牿元吉
tóng niú zhī gù yuán jí
ท๋ง นิ๋ว จือ กู้ เยฺวี๋ยน จี๋


童 (tóng, ท๋ง) แปลว่า 'เด็ก', 'ความเป็นเด็ก' (childhood), 'อย่างเด็กๆ' (childish) ; แปลว่า 'ผู้เยาว์' หรือ 'ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ', 'เด็ก (ที่ยังไม่แต่งงาน)' ; แปลว่า 'หัวโล้น', 'โล่งเตียน', หรือ 'ทื่อ' (ไม่มีความคม) ก็ได้ ; สมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับตัว 瞳 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'กระจกตา' หรือ 'การมองเห็น' ได้ด้วย

牿 อ่านว่า gù (กู้) แปลว่า 'ผูก', 'มัด', หรือ 'ล่าม' ; อาจจะหมายถึง 'กักขัง', 'พันธนาการ' ก็ได้ ; การใช้คำนี้กับสัตว์เลี้ยงจึงหมายถึง 'คอก', 'เล้า' ; และยังหมายถึง 'เครื่องป้องกันเขาวัว' ที่สวมใส่ไว้เพื่อไม่ให้วัวสามารถใช้เขาขวิดทำอันตรายแก่ผู้คนด้วย

ความจริงแล้ว วลีที่ว่า 童牛之牿 (tóng niú zhī gù, ท๋ง นิ๋ว จือ กู้) นั้นสามารถแปลว่า 'คอกของลูกวัว' หรือ 'การล้อมคอกลูกวัว' ก็น่าได้อยู่ล่ะครับ ... ซึ่งความหมายของมันก็จะมีลักษณะที่ 'ตรงกันข้าม' กับสำนวนไทยที่ว่า 'วัวหายล้อมคอก' นั่นแหละ ... แต่ ... ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือการเลือกความหมายให้กับมันว่า 'เครื่องป้องกันเขาสำหรับลูกวัว' เพราะมันจะตรงประเด็นของ 'การป้องกัน' ที่ชัดเจนกว่า เนื่องจากคำว่า 童牛 (tóng niú, ท๋ง นิ๋ว) ที่แปลว่า 'ลูกวัว' นั้นได้บ่งบอกถึงลักษณะของ 'วัวหัวโล้น' หรือ 'วัวที่ยังไม่เขา' เอาไว้ด้วย ... ซึ่ง 'การใส่เครื่องป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีเขา' ย่อมหมายถึง 'การป้องกันไว้ล่วงหน้า' หรือ 'การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ' ... โดยความหมายที่ว่านี้ก็จะไปสอดรับกับ 'ความเข้มงวดกวดขันเพื่อให้การดำเนินงานมีกรอบเกณฑ์อย่างเหมาะสม' (閑輿衛) ในฐานะที่เป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สามนั่นเอง ... :)

ถ้าว่ากันตามตัวอักษร ความหมายของวลีนี้ก็คือ 'การสวมเครื่องป้องกันให้กับลูกวัวที่ยังไร้เขา (童牛之牿) ย่อมเป็นความริเริ่ม (元) ที่จะนำไปสู่ความรุ่งเรือง (吉)' ... แต่ถ้าจะว่ากันโดยนัยของเนื้อความ มันก็น่าจะถูกแปลว่า 'การเตรียมการป้องกันอันตรายไว้ล่วงหน้า (童牛之牿) คือความสร้างสรรค์อันเป็นบ่อกำเนิด (元) แห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ...

 

ห้า หยิน :

豶豕之牙吉
fén shǐ zhī yá jí
เฟิ๋น ษื่จือ อฺย๋า จี๋


มาถึง 'คู่วลี' ของวรรคที่สองแล้วนะครับ เรามาดูซิว่า 'จิวกง' จะบันทึกว่าอะไร ...

豶 อ่านว่า fén (เฟิ๋น) หมายถึง 'การตอน' หรือ 'การทำหมัน' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'ทำให้อ่อนกำลัง' หรือ 'ลดทอนกำลัง' ได้ด้วย

豕 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) คำนี้แปลว่า 'หมู' หรือ 'หมูป่า' ; แต่โดยลักษณะที่ 'หมู' เป็นสัตว์ที่มักจะ 'กินไม่เลือก' หรือ 'กินมูมมาม' ความหมายเปรียบเทียบที่มักจะพบเห็นก็คือ 豕 (shǐ, ษื่อ) อาจจะถูกใช้ในความหมายของ 'ความโลภ' หรือ 'ความไม่รู้จักพอ' ได้ด้วย

牙 อ่านว่า yá (อฺย๋า) แปลว่า 'ฟัน', 'เขี้ยว', 'งา' หรือ 'สิ่งที่แยกออกเป็นกิ่งก้าน'

ถ้าแปลตามตัวอักษรของวรรคนี้โดดๆ ผมก็ไม่มีวันเข้าใจหรอกครับว่า 'เขี้ยวหมูตอน' (豶豕之牙) มันจะไปเกี่ยวกับ 'ความเจริญ' หรือ 'ความโชคดี' (吉) ได้ยังไงเหมือนกัน ... :P ... เพราะฉะนั้น เราคงต้องจับมันไปเรียงต่อกับวรรคที่สองอีกครั้ง ซึ่งก็จะได้วลีเต็มๆ ว่า ... 輿說輹 ‧ 豶豕之牙吉 (yǘ tuō fú . fén shǐ zhī yá jí, ยฺวี๋ ทัว ฟู๋ เฟิ๋น ษื่อ จือ อฺย๋า จี๋) ... แต่ความหมายตามตัวอักษรที่หมายถึง 'รถแหกล้อ' (輿說輹) กับ 'เขี้ยวหมูตอน' (豶豕之牙) มันก็ไม่มีทางที่จะเกี่ยวข้องกันได้เลย และยิ่งไม่มีอะไรที่น่าจะเกี่ยวข้องกับ 吉 (jí, จี๋) ด้วย ... ??!! ... งั้นอะไร ??!!

ท่อนที่ยกมาจากวรรคที่สองนั้นผมให้ความหมายไปแล้วว่า 'การดำเนินงาน (輿) ที่ไม่ยอมประสานกัน (說 คือต่างคนต่างทำ) ย่อมเปรียบเสมือนตัวรถกับวงล้อที่เคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง (輿說輻)' ซึ่งเป็นความหมายเดิมที่เคยเล่าไว้ในวรรคที่สามของบทที่เก้า ... ที่นี้ ... เราก็ต้องย้อนพิจารณาคำว่า 豶豕之牙 (fén shǐ zhī yá, เฟิ๋น ษื่จือ อฺย๋า) กันซะใหม่ล่ะครับว่า จะให้มันหมายถึง 豶豕 ‧ 之牙 (เขี้ยวหมูตอน) หรือจะให้มันหมายถึง 豶 ‧ 豕之牙 (บั่นเขี้ยวของหมู) ??!!

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะชี้ให้เห็น 'ความขี้เล่น' บางอย่างของ 'จิวกง' ที่เลือกใช้คำว่า 豕 (shǐ, ษื่อ) ในบทนี้ เพราะนี่คือ 'ภาพอักษร' ตัวเดียวกับที่ประกอบอยู่ในอักษร 家 (jiā, เจีย) นั่นเอง ... ในขณะที่ King Wen เลือกใช้วลีว่า 不家 (bù jiā, ปู้ เจีย) ในความหมายว่า 'ไม่ครอบครองเป็นของเฉพาะตน' ... คำว่า 豕 (shǐ, ษื่อ) ของ 'จิวกง' ในบทนี้จึงน่าจะหมายถึง 'ความโลภ' มากกว่าที่จะหมายถึง 'หมู' ... และจะทำให้ 豶豕 (fén shǐ, เฟิ๋น ษื่อ) มีความหมายเหมือนกับวลี 不家 (bù jiā, ปู้ เจีย) ของ King Wen คือ 'ไม่ละโมบ' ... ไม่ใช่ 'หมูตอน' !!!

อ้ะ ... งั้น 牙 (yá, อฺย๋า) จะแปลว่าอะไร ??!! ... การจับคู่กับวรรคที่สองทำให้ 牙 (yá, อฺย๋า) น่าจะมีความหมายเหมือนกับ 說 (tuō, ทัว) ที่แปลว่า 'แยกออกจากกัน' ซึ่งผมอยากจะแปลมันซะใหม่ว่า 'ความนอกลู่นอกทาง' ซะเลย ;)

ความหมายของวลีสุดแสบนี้ของ 'จิวกง' ก็คือ 'การกำจัด (豶) ความนอกลู่นอกทางอันเนื่องมาจากความโลภ (豕之牙) ย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ซึ่ง 'ความนอกลู่นอกทาง' (牙) หรือ 'การมุ่งไปคนละทิศทาง' (說) ในความหมายของบทนี้ ย่อมมีสาเหตุมาจาก 'ความโลภ' (豕) อันส่งผลให้ 'ต่างคนต่างมุ่งเน้นอยู่กับการกอบโกยเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตน' (家食吉) นั่นเอง

 

หก หยาง :

何天之衢亨
hé tiān zhī qǜ hēng
เฮ๋อ เทียน จือ ชฺวี่ เฮิง


衢 อ่านว่า qǜ (ชฺวี่) แปลว่า 'ถนนใหญ่', 'ทางกว้าง', หรือ 'ทางสะดวก' ที่สามารถสัญจรไปได้ทุกทิศทางอย่างอิสระ

ว่ากันตามตัวอักษรแล้วกันนะครับสำหรับวลีนี้ ... ;) ... ความหมายก็คือ 'วิถีทางที่ยิ่งใหญ่เทียมฟ้า (何天之衢) ย่อมนำไปสู่พัฒนาการที่ก้าวหน้า (亨)' ... แต่ในเมื่อผมเคยให้ความหมายของ 天 (tiān, เทียน) ว่า 'โอกาส', หรือ 'กาละ-เทศะ' ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะแผลงเป็น 'หนทางที่ไร้ขวากหนามแห่งกาละ-เทศะอันเปิดกว้าง (何天之衢) ย่อมนำไปสู่พัฒนาการที่รุดหน้า (亨) อย่างก้าวกระโดด'

'การสั่งสมพลังแห่งศักยภาพที่ยิ่งใหญ่' (大畜) ก็ได้บรรลุถึง 'ผลสรุป' แห่ง 'หนทาง' และ 'โอกาส' อัน 'เปิดกว้าง' ซึ่งจะนำไปสู่ 'พัฒนาการ' ที่ 'มั่นคง' และ 'ยั่งยืน' ด้วยประการฉะนี้ ... แล ... !!!!!!



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ต้าซฺวี่' คือ การสั่งสมความยิ่งใหญ่, ขุนเขาสูงเสียดฟ้า

'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ด้วย 'อุดมการณ์อันบริสุทธิ์' โดย 'ไม่ยื้อยุด' สิ่งใดไว้ 'เพื่อประโยชน์เฉพาะตน' ไม่ว่าจะเป็น 'ทรัพย์สินผลประโยชน์' หรือ 'ความรุ่งเรืองแห่งลาภยศ' ... 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' เยี่ยงนี้ย่อมจะสามารถ 'ฟันฝ่าอุปสรรค' ทั้งหลายทั้งปวงออกไปได้

  •  
  • 'การสั่งสม' และ 'หลอมรวมศักยภาพ' อย่าง 'อุกฤษฏ์' ย่อมก่อเกิดเป็น 'พลังแห่งความทุ่มเทพยายาม' ที่ 'เจิดจรัส' จนสามารถพิชิตทุกอุปสรรคได้
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ที่ไม่ 'ประสานเป็นหนึ่งเดียว' ย่อมเปรียบเสมือนตัวรถกับวงล้อที่เคลื่อนไป 'คนละทิศทาง'
  •  
  • 'การดั้นด้น' เพื่อบรรลุถึง 'ความเป็นเลิศ' แห่ง 'สัจจะพลัง' จะต้องมี 'ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า' โดย 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ... ซึ่งก็คือ ... จะต้องมี 'ความเข้มงวดกวดขัน' เพื่อให้ 'การดำเนินงาน' อยู่ใน 'กรอบเกณฑ์' อย่าง 'เหมาะสม' ... 'ความวิริยะอุตสาหะ' ที่ 'ทุ่มเท' ลงไป จึงจะ 'บรรลุผล' ในบั้นปลาย
  •  
  • 'ความระแวดระวัง' และ 'การเตรียมการป้องกันภยันตราย' ไว้ล่วงหน้า คือ 'ความสร้างสรรค์' อันเป็น 'บ่อกำเนิด' แห่ง 'ความสำเร็จ'
  •  
  • การกำจัด 'ความนอกลู่นอกทาง' อันเนื่องมาจาก 'ความละโมบ' ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'วิถีทางที่ยิ่งใหญ่' แห่ง 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เปิดกว้าง' ย่อมนำไปสู่ 'พัฒนาการ' ที่ 'รุดหน้าอย่างก้าวกระโดด'


 

The Organization Code :



'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' คือการหล่อหลอม 'พลังแห่งศักยภาพ' บนพื้นฐานของ 'นโยบาย' และ 'เป้าหมาย' (☰) ที่ 'สอดคล้องต้องกัน' เพื่อ 'ทุ่มเทผลักดัน' ให้ปรากฏเป็นผลลัพธ์ที่ 'โดดเด่น' อย่าง 'เป็นรูปธรรม' (☶) ... 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'ชัดเจน' (⚌) ; 'การบริหารงาน' ต้องมี 'ความเด็ดขาด' ต่อ 'ความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง' ได้อย่าง 'เหมาะสม' (⚍) ; ในขณะที่ 'การปฏิบัติงาน' ต้องมีความ 'หนักแน่น' และ 'จริงจัง' (⚎)

'การดำเนินงาน' ที่จะ 'ประสบความสำเร็จ' ได้นั้น จะต้องเกิดจาก 'การรวมศูนย์' 'พลังแห่งศักยภาพ' ทั้งมวล เพื่อ 'ร่วมกันฟันฝ่า' อุปสรรคต่างๆ ด้วย 'ความทุ่มเท' จนกระทั่งบรรลุสู่ 'จุดหมายร่วม' ที่ทุกฝ่าย 'มุ่งหวังตั้งใจ' ... โดยไม่มี 'การแก่งแย่งแข่งดี' เพียงเพราะหวัง 'ประโยชน์สุขส่วนตัว' หรือไม่เกิด 'การแหกเหล่าผ่ากอ' เพียงเพราะหวังใน 'เกียรติยศชื่อเสียงเฉพาะตน' ... 'ความเป็นเอกภาพ' แห่ง 'พลังความทุ่มเท' ย่อมก่อให้เกิด 'ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่' ในบั้นปลาย

  •  
  • 'การสั่งสม' และ 'หลอมรวมศักยภาพ' อย่าง 'เข้มข้นอุกฤษฏ์' ย่อมหมายถึง 'การรวมศูนย์' แห่ง 'พลังความทุ่มเท' ที่พร้อมจะ 'เปล่งประกายเจิดจรัส' จนกดข่มทุกอุปสรรคขวากหนามให้กลายเป็นความราบเรียบที่สามารถก้าวข้ามไปได้
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังใน 'เป้าประสงค์' ที่แตกต่างกัน ย่อมไม่อาจ 'ประสานกำลัง' ให้เกิด 'ความเข้มแข็ง' ... เปรียบประหนึ่งตัวรถ กับวงล้อที่เคลื่อนไป 'คนละทิศทาง' ซึ่งอย่างดีที่สุดก็ทำได้แค่ 'เถลือกไถล' ไปใน 'ระยะทางสั้นๆ' เท่านั้น และไม่อาจก่อเกิด 'พัฒนาการ' ใดๆ ให้ 'โดดเด่น' อย่าง 'เป็นชิ้นเป็นอัน' ได้เลย
  •  
  • การจะบรรลุถึง 'พลังแห่งศักยภาพชั้นเลิศ' จำเป็นต้องมี 'ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า' ที่ 'ไม่เคยย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ... ซึ่งก็คือ ... จะต้องมี 'ความเข้มงวดกวดขัน' เพื่อให้ 'การดำเนินงาน' อยู่ใน 'กรอบเกณฑ์' อย่าง 'เหมาะสม' ... 'ความวิริยะอุตสาหะ' ที่ 'ทุ่มเท' ลงไป จึงจะ 'บรรลุผล' ในบั้นปลาย
  •  
  • 'ความระแวดระวัง' และ 'การบริหารความเสี่ยง' ไว้แต่เนิ่นๆ คือ 'ความสร้างสรรค์' อันเป็น 'บ่อกำเนิด' แห่ง 'ความสำเร็จ'
  •  
  • การกำจัด 'ความนอกลู่นอกทาง' อันเนื่องมาจาก 'ความละโมบ' ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'วิถีทางแห่งความยิ่งใหญ่' และ 'ไร้อุปสรรคขวากหนาม' ย่อมเป็นผลมาจาก 'ความพรั่งพร้อม' ของ 'พลังแห่งศักยภาพ' และ 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เอื้ออำนวย'


ขุนเขา (☶) ที่สูงเสียดฟ้า (☰) ย่อมเพราะมี 'กำลังการยึดเหนี่ยว' ที่ 'เหนียวแน่น' ของก้อนหิน, ดิน, ทราย, และพืชพรรณขนาดน้อยใหญ่จำนวนมหาศาล จึงจะสามารถ 'ยืนตระหง่าน' อย่าง 'โดดเด่น' เป็นที่ 'ชื่นชม' ของผู้คนทั้งปวง ... ทุกองค์ประกอบล้วน 'ไม่อาจแบ่งแยก', ทุกลำดับชั้นล้วนมี 'ความสำคัญ' ... หากย่อยสลายขุนเขาออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ย่อมเหลือเพียงกรวดทรายที่ด้อยคุณค่าราคาใดๆ ... องค์กรที่ยิ่งใหญ่ ย่อมเพราะมี 'ความสมัครสมาน' และ 'การประสานกำลัง' ของบุคลากรที่หลากหลาย หาก 'แตกกระสานซ่านเซ็น' ออกเป็นรายบุคคล ย่อมไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถ 'ยืนหยัด' ในสถานะอันยิ่งใหญ่ดังเดิม ... ทุกองค์ประกอบล้วน 'ไม่อาจแบ่งแยก', ทุกลำดับชั้นล้วนมี 'ความสำคัญ' เฉกเช่นเดียวกัน ...

บทสรุปของ 'พลังแห่งหยิน' (坤) ในวัฏจักรที่สองของ 'คัมภีร์อี้จิง' จึงประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞)  6 หลักการ (噬嗑,賁,剝,復,無妄,大畜) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ซึ่งเป็น 'พัฒนาการ' ที่สืบเนื่องมาจากวัฏจักรรอบแรกอันประกอบด้วย 'สั่งสม (小畜) - มุ่งมั่น (履) - ฟันฝ่า (泰) - ยืนหยัด (否) - มั่นคง (同人) - ยั่งยืน (大有)' กลายมาเป็น 'อดกลั้น (噬嗑) - ระแวดระวัง (賁) - กระจายหน้าที่ (剝) - แน่วแน่ (復) - เสริมประสาน (無妄) - หลอมรวม (大畜)' ... เพื่อให้ 'พลังแห่งความวิริยะอุตสาหะ (利) ก่อกำเนิดเป็นหลักปฏิบัติที่หนุนเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย (永貞)'