Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第三十六卦 : 明夷

明夷 : 地火明夷 ‧ 坤上離下

明夷 : 利艱貞‧

  • 初九 : 明夷于飛‧垂其翼‧君子于行‧三日不食‧有攸往‧主人有言‧
  • 六二 : 明夷‧夷于左股‧用拯馬壯‧吉‧
  • 九三 : 明夷于南狩‧得其大首‧不可疾貞‧
  • 六四 : 入于左腹‧獲明夷之心‧出于門庭‧
  • 六五 : 箕子之明夷‧利貞‧
  • 上六 : 不明晦‧初登于天‧后入于地‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา และอารมณ์ สดชื่น (⚍) สุขภาพพลานามัย ผ่อนสบาย (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : อาศัยกระบวนการบริหารจัดการ (☷) เป็นผู้บุกเบิกตลาดให้แก่สินค้า (☲)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ครองสติอย่างมั่นคง, สุกสว่างที่กลางใจ



ความหมายของชื่อเรียก : Being Conscientious : ครองสติอย่างมั่นคง



รู้สึกไม่ถูกใจคำแปลของ 'ชื่อเรียก' ที่ตำราอื่นๆ แปลไว้อีกแล้วเรา ... :P ... เพราะเกือบทุกตำรามักจะบ่งชี้ไปในความหมายประเภทว่า 'ความอับแสง' บ้าง, 'การหลบซ่อนเพื่อปกปิดอำพราง' บ้าง, 'การยอมทุกข์ทน' บ้าง ฯลฯ ... ซึ่งดูไม่ค่อยจะต่อเนื่องกับความหมายที่ผ่านๆ มาทั้งสามบทในวัฏจักรรอบนี้ของ 'พลังแห่งหยิน' เลยซักนิดเดียว ??!! ... ในขณะที่คำว่า 夷 (yí, อี๋) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 'ชื่อบท' ก็มีความหมายที่หลากหลายมาก หรือแม้แต่คำว่า 明 (míng, มิ๋ง) ก็ยังมีความหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 'แสงสว่าง' อยู่ด้วยเหมือนกัน ... ดังนั้น ... ต้องแคะใหม่สถานเดียว !! ... :D

明 (míng, มิ๋ง) มีความหมายว่า 'สว่างไสว', 'เจิดจรัส', 'เข้าใจ', 'ชัดเจน' หรือ 'เปิดกว้าง' ; บางครั้งก็หมายถึง 'ฉลาดหลักแหลม' และ 'บริสุทธิ์' (คือไม่มีความขุ่นมัว) ซึ่งก็คือความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า 'ความสว่างไสวทางปัญญา' ที่ไม่เกี่ยวกับ 'แสงสว่าง' ทางกายภาพอย่างตรงๆ ตัวด้วย

ส่วนคำว่า 夷 (yí, อี๋) เจอกันครั้งแรกในบทนี้เลยครับ เป็น 'ภาพอักษร' ที่เกิดจากการผสมระหว่าง 大 (dà, ต้า) ที่แปลว่า 'ใหญ่' หรือ 'คนใหญ่คนโต' กับ 弓 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'คันธนู', 'คันลูกดอก', หรือสิ่งใดๆ ที่มีลักษณะ 'โค้งงอ' คล้าย 'คันศร' ในขณะที่ 弓 (gōng, กง) เมื่อถูกใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ก้มลง', 'โค้งตัว', หรือ 'ค้อมตัวลง' ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 'การแสดงความเคารพ' หรือ 'มีอาการจุกเสียดจนบิดงอ' ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ... :P ... เมื่อผสม 'ภาพอักษร' ของ 大 (dà, ต้า) กับ 弓 (gōng, กง) เข้าด้วยกันจนกลายเป็นอักษร 夷 (yí, อี๋) ความหมายจึงออกมาเป็น 'มนุษย์ผู้ถือคันศรเพื่อล่าสัตว์' ซึ่งเป็นคำเรียกขานชนเผ่าหนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยการเดินป่าล่าสัตว์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจีนโบราณด้วยนั่นเอง และเมื่อมันถูกใช้เรียก 'ชนเผ่าอื่น' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'ต่างชาติ', 'ต่างเผ่า', หรือใช้เพื่อจำแนก 'ความเป็นกลุ่มก้อน' ของ 'ชนเผ่าอื่นๆ', 'กลุ่มสังคมอื่นๆ', 'ชนชั้นอื่นๆ' เป็นแต่ละพวกๆ ไปเลยก็ได้

แต่ความหมายที่ 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) สะท้อนออกมามากกว่านั้นก็คือ 'คนที่มีร่างกายบิดงอ' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'การทำร้าย' หรือ 'การถูกทำร้าย', 'ทำให้ทรุดต่ำลง' หรือถึงขั้นที่เป็น 'การทำให้พังทลายลงไป' ... จากตรงนั้นมันก็กลายมาเป็นความหมายว่า 'ราบเรียบ', 'ระนาบเสมอกัน', จนเพี้ยนไปเป็น 'สงบ', และ 'ราบรื่น' ... แต่ถ้าเรามอง 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) ให้มีลักษณะของ 'คนใหญ่คนโตที่ค้อมตัวลง' มันก็จะแฝงความหมายว่า 'มีความอ่อนโยน', 'มีความถ่อมตน', หรือ 'มีความนอบน้อม' ; อาจจะหมายถึง 'ทำตัวตามสบาย', 'ไม่วางก้าม', หรือ 'มีความสุภาพที่เรียบง่าย' จนถึงกับใช้ในความหมายเดียวกับ 怡 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'กลมกลืน', 'สมดุล', 'มีความสุข' ซึ่งไปพ้องกับ 'ความสงบ', 'ความราบรื่น' อย่างที่เล่าไปแล้ว ... เห็นมั้ยล่ะครับว่า 夷 (yí, อี๋) ไม่ได้มีความหมายในเชิง 'ทำลายล้าง' ไปซะทั้งหมด ??!! ... แต่มันควรจะถูกใช้ในความหมายว่าอะไร ... นี่สิปัญหาล่ะ ??!! ...

ครั้นจะมองหาตัวช่วยจากคำบรรยายเพิ่มเติมของ King Wen ในบทเดียวกันก็แทบจะไม่มีทางออกใดๆ ให้เห็นเลย เพราะแต่ละตัวอักษรที่ King Wen บันทึกเอาไว้ ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่หลากหลายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันซักเท่าไหร่ ... !!?! ... ดังนั้น ... ก็คงต้องใช้ลูกไม้เดิมแหละครับ ... คือการย้อนกลับไปดูถ้อยคำในวรรคที่สี่ของบทที่สอง และความหมายของบทที่สิบสอง กับบทที่ยี่สิบสี่ประกอบกัน ซึ่งจะเป็นแหล่งอ้างอิงเพียงแหล่งเดียวที่จะมองเห็น 'ความต่อเนื่อง' มาจากบทที่สามสิบห้า เพื่อให้ 'วัฏจักรแห่งหยิน' ในรอบที่สามนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้

เริ่มจากวลีต้นเรื่องคือวรรคที่สี่ของบทที่สองครับ ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า 括囊無咎無譽 (kuò náng wú jiù wú yǜ, คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) ที่มีความหมายโดยละเอียดคือ 'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภารกิจ และมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด (括囊) … ไม่ไยดีต่อ (คือไม่สะสม) คำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ (無咎) ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อ (คือไม่สะสม) คำยกย่องสรรเสริญ หรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ (無譽) ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์'

พอมาถึงบทที่สิบสอง ที่ King Wen กำหนด 'ชื่อบท' ว่า 否 (pǐ, ผี่) โดยบันทึกคำบรรยายเพิ่มเติมว่า 否之匪人不利君子貞大往小來 (pǐ zhī fěi rén bù lì jün zǐ zhēn dà wǎng xiǎo lái, ผี่ จือ เฝ่ย เญิ๋น ปู้ ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน ต้า หฺวั่ง เสี่ยว ไล๋) ซึ่งผมอธิบายให้หมายถึง 'การยืนหยัด' ว่า 'ผู้ที่จะยืนหยัดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค (否之匪人, โดยใช้  匪人 ในความหมายว่า 'ผู้อุทิศตน') หากไม่ยึดถือ (不利) วิถีทางแห่งปราชญ์ (君子貞) ต่อให้ทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมากมาย (大往) ความสำเร็จที่ได้ก็จะมีเพียงน้อยนิดจนไร้ซึ่งความหมาย (小來) ใดๆ' ... หรือ ... 'การยืนหยัดเพื่อจะกระทำการใดๆ (否之) ย่อมต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการจำแนกแยกแยะผู้คน (匪人) หากไม่มีความหนักแน่น (不利) ด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำ (君子貞) ย่อมนำไปสู่การทุ่มเท (大往) อย่างไร้คุณค่าความหมาย (小來)' ...

จากนั้นในบทที่ยี่สิบสี่ (復 : fù, ฟู่) ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความแน่วแน่มั่นคง' KIng Wen ก็ได้ย้ำความหมายในลักษณะเดียวกันอีกครั้งว่า 亨出入無疾朋來無咎反復其道七日來復利有攸往 (hēng chū rù wú jí péng lái wú jiù fǎn fù qí dào qī rì lái fù lì yǒu yōu wǎng, เฮิง ฌู ญู่ อู๋ จี๋ เพิ๋ง ไล๋ อู๋ จิ้ว ฝั่น ฟู่ ชี๋ เต้า ชี ญื่อ ไล๋ ฟู่ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง) หรือ 'พัฒนาการอันโดดเด่นก้าวหน้า (亨) ย่อมเพราะมีการดำเนินงาน (出入 คือเดินหน้าและยับยั้ง) อย่างไม่หวั่นไหวร้อนรน (無疾) แม้การตอบรับของมิตรสหายจะไร้ข้อตำหนิติติง (朋來無咎) หรือแม้คู่อริจะแข็งขืนต่อต้านทุกวิถีทาง (反復其道) ก็ยังคงดำเนินการด้วยความรัดกุมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน (七日來復) ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (利) เยี่ยงนี้ ย่อมส่งผลให้ประสบกับความสำเร็จที่คู่ควรในบั้นปลาย (有攸往) ได้เสมอ' ...

จะเห็นว่า ทุกถ้อยคำล้วนชี้นำไปในประเด็นของ 'ความหนักแน่น', 'ความมีวิจารณญาณ', 'ความไม่ท้อแท้', 'ความไม่หลงระเริง' โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ให้ความหมายในลักษณะของ 'การเก็บกด', 'การอดกลั้น', 'การถูกทำร้าย', หรือ 'การหลีกเร้น' แม้แต่ส่วนเดียวเลย !!! ... ดังนั้น ... 夷 (yí, อี๋) ในที่นี้จึงไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ 'การทำร้าย' หรือ 'การทำให้เจ็บปวด' ... แต่ ... 夷 (yí, อี๋) น่าจะสะท้อนความหมายของ 'ความสมดุลทางอารมณ์' หรือ 'ความสงบสุขทางใจ' (夷) โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงก่นด่าว่ากล่าว หรือคำสรรเสริญเยินยอ ซึ่งเกิดจากพื้นฐานทางความคิดที่ 'ไม่เหมือนกัน' (夷) ใน 'แต่ละกลุ่มสังคม' (夷) ... นี่คือความเป็น 'อัจฉริยะตัวพ่อ' ของ King Wen ที่ถึงกับเลือกใช้อักษรเพียงอักษรเดียว แต่สามารถสะท้อนความหมายได้ 3 ลักษณะพร้อมๆ กัน !!!! ... เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำว่า 明 (míng, มิ๋ง) ในที่นี้ ย่อมไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ 'แสงสว่างทางกายภาพ' อย่างแน่นอน แต่ 明 (míng, มิ๋ง) ควรจะถูกใช้ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า 'ความกระจ่างแจ้งทางปัญญา' หรือ 'ความเข้าใจ' เท่านั้น ... ;)

ด้วยแง่มุมของเนื้อความที่ผมหยิบยกมาให้เห็นในเบื้องต้นนี้ คำภาษาอังกฤษที่ควรจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า 明夷 (míng yí, มิ๋ง อี๋) ในบทนี้ก็น่าจะเป็นคำว่า enlightened หรือ enlightening แต่ก็บังเอิญที่คำว่า enlightenment มักจะถูกใช้ไปในลักษณะของ 'การตรัสรู้' หรือ 'การบรรลุสู่นิพพาน' ซึ่งผมคิดว่า ความหมายของ 明夷 (míng yí, มิ๋ง อี๋) น่าจะยังไม่ถึงระดับที่ว่านั้น ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้คำว่า Conscience หรือ Conscientious แทน เนื่องจากเป็นคำที่มีบางแง่มุมของ 'ความฝักใฝ่ในการประกอบกรรมดี', และ 'ความพยายามอย่างมุ่งมั่นที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักคุณธรรม' อันมีลักษณะของ 'การครองสติอย่างมั่นคง (ในทางโลก)' หรือ 'มีความตื่นตัว (明) ด้วยสติที่มั่นคง (夷)' ...
 

  • con·science  ('kɒnʃəns; AmE kɑ:nʃəns) n. 1a. The awareness of a moral or ethical aspect to one's conduct together with the urge to prefer right over wrong. b. A source of moral or ethical judgment or pronouncement. c. Conformity to one's own sense of right conduct. 2. The part of the superego in psychoanalysis that judges the ethical nature of one's actions and thoughts and then transmits such determinations to the ego for consideration. 3. Obsolete Consciousness. [Idiom]

  • in (all good) conscience : In all truth or fairness. [Middle English, from Old French, from Latin cōnscientia, from cōnsciēns, cōnscient-, present participle of cōnscīre, to be conscious of : com-, intensive pref. + scīre, to know]

  • con·sci·en·tious  (,kɒnʃi'enʃəs; AmE ,kɑ:nʃi'enʃəs) adj. 1. Guided by or in accordance with the dictates of conscience; principled. 2. Thorough and assiduous.
     

  • (คัดมาเพียงบางส่วนจาก The American Heritage® Dictionary of the English Language, Fourth Edition copyright ©2000 by Houghton Mifflin Company. Updated in 2009. Published by Houghton Mifflin Company. All rights reserved.)


จะเห็นว่า ความหมายของ conscience หรือ conscientious จะแฝงลักษณะของ 'ความเคร่งเครียดอย่างเอาจริงเอาจัง' (thorough and assiduous) เอาไว้ในระดับหนึ่งด้วย ซึ่งน่าจะกลมกลืนกันได้ดีกับถ้อยคำที่เหลือของ King Wen ในบทนี้ โดยเฉพาะตรงคำว่า 艱 (jiān, เจียน) ที่แฝง 'ความยากลำบาก' เอาไว้อย่างค่อนข้างตรงตัวเลยทีเดียว ... ซึ่งยังคงเป็น 'ค่ายกลอักษร' ที่เรากำลังจะต้องฝ่าต่อไป ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利艱貞
lì jiān zhēn
ลี่ เจียน เจิ


อย่างที่บอกไว้แล้วว่า King Wen เลือกใช้คำที่แปลได้หลายความหมายในบทนี้ และทำให้ถ้อยคำสั้นๆ ที่บันทึกเป็นคำอธิบาย 'ชื่อบท' เอาไว้ แทบจะไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันได้ง่ายๆ เลย ... 

利 (lì, ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ... เป็นคำที่พบเห็นบ่อยครั้งมากใน 'คัมภีร์อี้จิง' แต่ก็มีความหมายที่ดิ้นไปดิ้นมาได้ตามสภาวะแวดล้อมของแต่ละบทอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่

艱 (jiān, เจียน) เจอมาตั้งแต่บทที่สิบเอ็ด โดยมันมีความหมายว่า 'ยาก', 'ลำบาก', 'อันตราย', 'ขมขื่น' ; ซึ่งสามารถแผลงเป็น 'บากบั่น', 'แบกรับ', 'ทรหด', 'เหนื่อยยาก' เพื่อ 'กัดฟันต่อสู้' กับ 'ความยากลำบาก' ต่างๆ นาๆ ... นี่ก็อีกหนึ่งคำที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ... :P

ส่วน 貞 (zhēn, เจิน) นั้นพบเห็นบ่อยพอๆ กับ 利 (lì, ลี่) เลยก็ว่าได้ ซึ่งมันสามารถแปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' ก็ได้ ...

จากความหมายที่ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ 'ชื่อบท' ดังที่เล่ารายละเอียดเอาไว้แล้วนั้น สิ่งที่ King Wen กำลังต้องการจะสื่อผ่านถ้อยคำสั้นๆ ในบททนี้ก็คือ 'การครองสติอย่างมั่นคง'  (明夷) ย่อมหมายถึง 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱) เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งคุณธรรม (貞) ทั้งปวง' ... โดย 明 (míng, มิ๋ง) ควรจะหมายถึง 'ความตระหนัก และความเข้าใจในภาระหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน' ... และหากจะให้ 夷 (yí, อี๋) มีความหมายในเชิง 'การทำลายล้าง' มันก็น่าจะหมายถึง 'การทำลายล้างอวิชชาให้ราบคาบ' เพื่อ 'ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ' และ 'ความเจริญมั่นคงแห่งสติปัญญา' แทนที่จะหมายถึง 'การทำลายล้าง' ในลักษณะอื่นๆ ...

ลองเปรียบเทียบกับ 'ข้อคิด' ที่ King Wen กับ 'จิวกง' ได้ช่วยกันรจนาเอาไว้ตั้งแต่วรรคที่สี่ของบทที่สอง (ความหนักแน่นในความดี), บทที่สิบสอง (การยืนหยัด), และบทที่ยี่สิบสี่ (ความแน่วแน่มั่นคง) อีกครั้งด้วยนะครับ แล้วเราก็จะมองเห็น 'ความต่อเนื่อง' ที่ว่า จะมีก็เพียงแต่ 'การครองสติอย่างมั่นคง' (䷣ : 明夷) เท่านั้น ที่จะทำให้ 'การเผยแผ่บารมี' (䷢ : 晉) ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ควรค่าแก่การรำลึกถึงในโอกาสต่อๆ ไป ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

明夷于飛垂其翼君子于行三日不食有攸往主人有言
míng yí yú fēi chuí qí yì jün zǐ yú xíng sān rì bù shí yǒu yōu wǎng zhǔ rén yǒu yán
มิ๋ง อี๋ ยฺวี๋ เฟย ฌุ๋ย ชี๋ อี้ จฺวิน จื่อ ยฺวี๋ ซิ๋ง ซัน ญื่อ ปู้ ซือ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง จู่ เญิ๋น โหฺย่ว เอี๋ยน


飛 อ่านว่า fēi (เฟย) โดยส่วนมากจะใช้ในความหมายว่า 'บิน' และมักจะใช้ในรูปของคำว่า 飛行 (fēi xíng, เฟย ซิ๋ง) !!! ... แต่ที่อยากให้สังเกตก็คือ 'จิวกง' ได้แยกคำนี้ออกจากกันเป็น 飛 (fēi, เฟย) กับ 行 (xíng, ซิ๋ง) แล้ววางอยู่ในวลีที่เป็น 'คู่อุปมา-อุปไมย' กันอย่างจงใจเลยทีเดียว ; คำว่า 飛 (fēi, เฟย) นอกจากจะแปลว่า 'บิน' หรือ 'เหาะ' แล้ว มันยังใช้ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า 'ว่องไว' หรือ 'รวดเร็ว' ราวกับเหาะเหินเดินอากาศได้ ... ประมาณนั้น

垂 อ่านว่า chuí (ฌุ๋ย) แปลว่า 'ห้อย (หัว) ลง', 'หย่อนลง', 'วางให้ต่ำลง', 'ลดระดับลง' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'นำเข้ามาใกล้' หรือ 'ขยับเข้าหา' ได้ด้วย

翼 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'ปีก', 'อวัยวะที่มีลักษณะคล้ายปีก' หรือส่วนของร่างกายที่เชื่อมระหว่างต้นแขนและเอว ; บางครั้งยังหมายถึง 'ด้านข้าง' ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 'ด้านซ้าย' และ 'ด้านขวา' เช่น 'ปีกซ้าย-ปีกขวาของกองกำลัง' เป็นต้น

คำที่อาจจะแปลกหูแปลกตาซักหน่อยสำหรับวรรคนี้ก็จะมีเพียงเท่าที่ยกมานี่แหละครับ ยกเว้น 飛 (fēi, เฟย) ซึ่งเป็นคำพื้นๆ ที่เจอกันตั้งแต่บทแรกของ 'คัมภีร์อี้จิง' แต่ผมเพิ่งจะเล่าคำแปลเอาไว้ให้ ... แต่ปัญหานี่น่าขบคิดสำหรับวรรคนี้ก็คือ 'จิวกง' เลือกลำดับถ้อยคำในวรรคให้คล้ายกับจะเป็นการอุปมาอุปไมยอะไรบางอย่าง นั่นก็คือ ... 明夷于飛 ‧ 垂其翼 (míng yí yú fēi chuí qí yì, มิ๋ง อี๋ ยฺวี๋ เฟย ฌุ๋ย ชี๋ อี้) ... กับ ... 君子于行 ‧ 三日不食 (jün zǐ yú xíng sān rì bù shí, จฺวิน จื่อ ยฺวี๋ ซิ๋ง ซัน ญื่อ ปู้ ซือ) ... ซึ่งทำให้ผมคิดว่าน่าจะต้องตรวจดูความหมายละเอียดๆ ของคำพื้นๆ อย่าง 日 (rì, ญื่อ) กับ 食 (shí, ซื๋อ) อีกซักหน่อย ...

日 (rì, ญื่อ) มักจะถูกใช้ในความหมายว่า 'ดวงตะวัน', 'แสงตะวัน' มันจึงแฝงความหมายว่า 'เวลากลางวัน' และหมายถึง 'จำนวนวัน' ก็ได้ ; แต่บางทีก็หมายถึง 'โอกาส', 'ช่วงเวลา', 'จังหวะเวลา', หรือ 'ฤดูกาล' ได้เหมือนกัน ... แต่ความหมายของ 日 (rì, ญื่อ) ที่อาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยครั้งนักก็คือ 實 (shí, ซื๋อ) ที่แปลว่า 'ชัดเจน', 'เที่ยงแท้', 'แน่นอน' (ดั่งดวงตะวัน) โดยประเด็นที่น่าสนใจก็จะอยู่ตรงคำว่า 實 (shí, ซื๋อ) นี่แหละ เพราะมันเป็น 'คำพ้องเสียง' แต่ 'ต่างขั้วความหมาย' กับ 食 (shí, ซื๋อ) ในวลีเจ้าปัญหาเดียวกันคือ 三日不食 (sān rì bù shí, ซัน ญื่อ ปู้ ซือ) และอาจจะมีผลให้วลีนี้ไม่ได้แปลว่า 'อดอาหารสามวัน' เหมือนกับที่ทุกตำราแปลเอาไว้อย่างนั้นก็ได้ ??!!! ... ที่สำคัญก็คือ 日 (rì, ญื่อ) ในความหมายว่า 實 (shí, ซื๋อ) นี้ก็ยังมีส่วนที่ล้อความหมายกับ 明 (míng, มิ๋ง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 'ชื่อบท' อีกด้วย

โดยปรกติแล้ว อักษร 食 (shí, ซื๋อ) จะแปลว่า 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร', หรือ 'ให้อาหาร' ; สามารถแปลว่า 'ยอมรับ' ก็ได้ เพราะว่า 'ยอมกลืนกินลงไป' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เสนอให้รับไว้', 'เซ่นสังเวย' ; บางครั้งก็ยังมีความหมายว่า 'ทำให้แหว่ง', หรือ 'ทำให้ค่อนลง' เพราะว่า 'ถูกกิน' เช่น 'จันทรคราส',  'สุริยคราส' ; และเมื่อแปลว่า 'อาหาร' จึงสามารถแปลว่า 'ปัจจัยที่ต้องอาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ' ได้ด้วย ... แต่คำที่น่าสนใจมากๆ ในกรณีนี้ก็คือคำว่า 日食 (rì shí, ญื่อ ซื๋อ) ครับ เพราะคำนี้แปลว่า 'สุริยคราส' ตรงๆ ตัวเลย ซึ่ง 'จิวกง' นำมาเล่นในวลี 三日不食 (sān rì bù shí, ซัน ญื่อ ปู้ ซือ) อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยใช้เป็นคู่เปรียบเทียบกับ 垂其翼 (chuí qí yì, ฌุ๋ย ชี๋ อี้) ในวรรคเดียวกัน

ส่วนคำว่า 主 (zhǔ, จู่) เป็นคำที่เจอมาตั้งบทแรกๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' เหมือนกัน มีความหมายว่า 'หลัก', 'เจ้าของ', 'เจ้าบ้าน', 'สำคัญที่สุด', 'จำเป็นที่สุด', 'เด่นที่สุด' ... โดยทั่วไปคำว่า 主人 (zhǔ rén, จู่ เญิ๋น) มักจะแปลกันว่า 'เจ้าบ้าน', 'เจ้าของบ้าน', หรือ 'เจ้าภาพ' ก็ได้ แต่ในกรณีของวรรคที่เห็นอยู่นี้ 主人 (zhǔ rén, จู่ เญิ๋น) อาจจะหมายถึง 'ผู้นำ' หรือ 'บุคคลสำคัญ' ซึ่งเมื่อนำไปผนวกกับความหมายของ 'ปราชญ์' หรือ 'บัณฑิต' (君子) ที่ปรากฏอยู่ก่อนหน้ามันเพียงไม่กี่ตัวอักษร ซ้ำยังสามารถแปลว่า 'ผู้นำ' ได้เหมือนกันอีกต่างหาก ... ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อสำหรับคำว่า 主人 (zhǔ rén, จู่ เญิ๋น) ในวรรคนี้ จึงอาจจะหมายถึง 'ผู้นำที่ชาญฉลาด' ก็ได้ ??!! ...

สำหรับ 言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) ปรกติแล้วจะแปลว่า 'คำพูด' … แต่จริงๆ แล้ว 'คำพูด' นั้นจะมีหลายลักษณะด้วยกัน เพราะมันอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', หรือ 'การให้เหตุผล'

ถ้อยคำในวรรคนี้ค่อนข้างจะผูกโยงกันอย่างสลับซับซ้อนครับ โดยความหมายเท่าที่ผมประมวลออกมาได้ ณ ขณะนี้ก็คือ 'การครองสติอย่างมั่นคง (明夷) ย่อมคล้ายกับ (于) การรักษาระดับของการบิน (飛) ที่จะต้องมีการปรับระดับปีกทั้งสองข้างให้พอเหมาะพอดี (垂其翼 คือไม่โบกขึ้นหรือหุบลงตลอดเวลา) การดำเนินงานเยี่ยงปราชญ์ผู้เจริญ (君子于行) ย่อมต้องให้ความเอาใจใส่ด้วยวิจารณญาณที่ชัดเจนเที่ยงธรรมอย่างรอบด้าน (三日) ต้องปราศจากวาระซ่อนเร้น และไม่หย่อนยานต่อภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (不食) ไม่ว่าผลลัพธ์จะปรากฏออกมาเยี่ยงใด (有攸往) ผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละภาระกิจ (主人) ล้วนต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ (有言) ในทุกๆ กรณี' ...

ผมถอดความหมายของ 三 (sān, ซัน) ในวรรคนี้ว่า 'รอบด้าน' ดื้อๆ เลยครับ ... :P ... ส่วนหนึ่งก็เพราะคำว่า 翼 (yì, อี้) ที่แปลว่า 'ปีก' นั้นจะมีความครอบคลุมเพียง 'ปีกด้านซ้าย-ปีกด้านขวา' เพียงแค่ 'สองด้าน' ผมเลยเหมาๆ เอาว่า 三 (sān, ซัน) ต้องหมายถึง 'มากกว่าแค่สองด้าน' เท่านั้นเอง ... ;) ... อีกเหตุผลหนึ่งก็ได้อธิบายไปเมื่อบทที่สามสิบห้าแล้วว่า 三 (sān, ซัน) มีความหมายในลักษณะแบบ 'ลัทธิเต๋า' ว่า 'สามภพ' คือ 'ฟ้า-ดิน-มนุษย์' ซึ่งถ้าจะแทนด้วยคำภาษาอังกฤษก็น่าจะประมาณคำว่า universe หรือ 'จักรวาล' ไปเลย ในขณะที่ universal มักจะหมายถึง 'ครอบคลุม' หรือ 'รอบด้าน' อยู่บ่อยๆ ... ;) ...

แต่ถ้าเรามองเหตุผลในแง่ของ 'การดำเนินงาน' หรือ The Organization Code ... 三 (sān, ซัน) ย่อมหมายถึง 'ระดับนโยบาย', 'ระดับแผนงานและการบริหาร' แล้วก็ 'ระดับปฏิบัติการ' ดังที่ได้เล่าไว้ในช่วงท้ายของทุกๆ บท ... ถ้าในแง่ของ 'การครองตน' หรือ 'การดำเนินชีวิต' 三 (sān, ซัน) ก็จะหมายถึง 'หลักการ', 'แนวทาง', และ 'การปฏิบัติตน' ... คำว่า 三日 (sān rì, ซัน ญื่อ) จึงหมายถึง 'ได้รับความเอาใจใส่อย่างทั่วถึงทั้งสามด้าน' ส่วนคำว่า 不食 (bù shí, ปู้ ซือ) ก็คือ 'ไม่หมกเม็ด' หรือ 'ไม่หย่อนยาน' ในด้านใดด้านหนึ่ง ... ซึ่งตรงจุดนี้ 'จิวกง' ได้นำภาพของ 'การบิน' มาเป็นคู่เปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจมาก เพราะการรักษาระดับของการบินให้คงที่ และตรงไปข้างหน้าตลอดเวลานั้น ปีกทั้งสองด้านย่อมไม่อาจละ 'ความสมดุล' เมื่อต้องปะทะกับบรรยากาศโดยรอบที่มี 'ความเปลี่ยนแปลง' ได้ตลอดเวลา แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะมองไม่เห็นการขยับของปีกเลย แต่ภายใน 'ความนิ่ง' ที่เห็นนั้น กลับต้องมีระดับของ 'ความตื่นตัว' อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะรักษา 'สมดุลแห่งพลัง' ทั้งภายนอก และภายในให้เกิด 'ประโยชน์สูงสุด' ต่อการบิน ณ ชั่วขณะเวลาหนึ่งๆ เสมอ ...

คำว่า 垂其翼 (chuí qí yì, ฌุ๋ย ชี๋ อี้) ที่แปลตามตัวอักษรว่า 'ลดปีกลงต่ำ' นั้นก็ยังแฝงความหมายว่า 'อย่าวางก้ามทำตัวใหญ่โต' เหมือนคนที่ 'หุบแขนไม่ลง' เพราะ 翼 (yì, อี้) ไม่ได้แปลว่า 'ปีกนก' หรือปีกของสัตว์ปีกอย่างเจาะจง แต่มันหมายถึง 'อวัยวะที่คล้ายปีก' ด้วย นี่ก็เป็นอีกแง่คิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะคนที่ชอบทำตัวกร่างวางก้ามใหญ่โต มักจะเป็นผู้ที่ไม่สนใจรับฟังข้อเสนอ หรือคำท้วงติงใดๆ ของผู้อื่น อันเป็นลักษณะของ 'ผู้นำชั้นเลว' ... :D ... สำหรับคำว่า 主人 (zhǔ rén, จู่ เญิ๋น) ที่หลายตำราแปลว่า 'เจ้าบ้าน' ผมก็เปลี่ยนมาเป็นคำกลางๆ แค่ 'เจ้าของงาน' หรือ 'ผู้รับผิดชอบหลัก' แทน เพื่อที่จะให้ 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) มีความหมายแค่ 'ปราชญ์', 'บัณฑิต', หรือ 'ผู้มีความรู้' แทนที่จะหมายถึง 'ผู้นำ' อย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากในกระบวนการทำงานทุกๆ เรื่อง และทุกๆ ขั้นตอนนั้น เราคงหวังให้ 'ผู้นำ' มีความฉลาดปราดเปรื่องอยู่เพียงคนเดียวไม่ได้ แต่ 'ผู้สนับสนุน' ในทุกๆ ระดับ จำเป็นต้องมี 'ความฉลาด', 'ความรอบรู้', และ 'ความรอบคอบ' (明) ที่เหมาะสมแก่ภาระกิจของตนเองด้วย 'การดำเนินงาน' จึงจะมี 'ความราบรื่น' (夷) ไปจนตลอดรอดฝั่ง ...

เป็นอีกวรรคหนึ่งที่ยากอย่างคุ้มค่าต่อการแคะความหมายออกมาจริงๆ เลยครับสำหรับวรรคนี้ !!! ... :D ...

 

สอง หยิน :

明夷夷于左股用拯馬壯吉
míng yí yí yǘ zuǒ gǔ yòng zhěng mǎ zhuàng jí
มิ๋ง อี๋ อี๋ ยฺวี๋ จั่ว กู่ โยฺว่ง เจิ่ง หฺม่า จ้วง จี๋


左 (zuǒ, จั่ว) ปรกติจะแปลว่า 'ด้านซ้าย' แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'ทิศตะวันออก' ได้ด้วย (ความหมายนี้เล่าอย่างละเอียดไปแล้วในบทที่เจ็ด) ... นอกจากนั้นแล้ว 左 (zuǒ, จั่ว) ก็ยังสามารถแปลว่า 'ไม่ตรง', 'เอนเอียง', 'คลาดเคลื่อน' หรือ 'ผิดพลาด' ได้ด้วย ; ในขณะที่สามารถหมายถึง 'ปรับลดตำแหน่งของขุนนาง' ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากการทำงาน 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน' :) ; อย่างไรก็ตาม ในสมัยก่อนมันยังมีความหมายเหมือนกับตัวอักษร 佐 (zuǒ, จั่ว) ที่แปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สนับสนุน' ในลักษณะที่เป็น 'ผู้ช่วย' หรือ 'พระรอง' ที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นหลักในการปฏิบัติภาระกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง (น่าจะแผลงมาจาก 'การปรับลดตำแหน่ง' จึงทำให้หมายถึง 'มีตำแหน่งเป็นรอง' ก็ได้ แต่ถ้าดู 'ภาพอักษร' 佐 ก็จะเห็นเป็นภาพของ 'คน' (人) ที่กำลังยืนอยู่ 'ข้างๆ' (左) ด้วยเหมือนกัน) ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การพิสูจน์' ซึ่งเป็น 'การนำหลักฐานมาสนับสนุน'

สำหรับในทางการเมือง 左 (zuǒ, จั่ว) จะหมายถึง 'พวกหัวก้าวหน้า' หรือ 'มีความคิดทันสมัย' … ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่าภาษาอื่นจะเป็นแบบนี้ด้วยมั้ย แต่ในระบบของภาษาจีน 'ฝ่ายซ้าย' คือ 'ฝ่ายที่หัวคิดก้าวหน้า' ในขณะที่ 'ฝ่ายขวา' จะเป็น 'ฝ่ายอนุรักษ์นิยม' ซึ่งมีที่มาที่ไปจาก 'ความเป็นทิศ' ด้วย เนื่องจาก 'ฝ่ายซ้าย' อยู่ 'ทิศตะวันออก' อันหมายถึง 'การริเริ่มสิ่งใหม่' ในขณะที่ 'ฝ่ายขวา' อยู่ 'ทิศตะวันตก' ที่หมายถึง 'การริบหรี่ลงของความเจริญในอดีต' … แต่ก็บังเอิญไป 'พ้องความหมาย' กับศัพท์แสงทางการเมืองในสมัยปัจจุบัน ที่กำหนดให้ 'ฝ่ายซ้าย' เป็น 'ฝ่ายสังคมนิยม' หรือ 'คอมมูนนิสต์' โดยให้ 'ฝ่ายขวา' หมายถึง 'ฝ่ายทุนนิยม' … ซึ่ง 'โลกตะวันออก' อย่างจีนในปัจจุบัน ก็ดันปกครองกันด้วย 'ระบอบสังคมนิยม' พร้อมๆ กับที่ 'โลกตะวันตก' ส่วนใหญ่จะเป็น 'ระบอบทุนนิยม' … พอดี๊ … พอดี … :D

股 อ่านว่า gǔ (กู่) มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'ต้นขา' หรือ "แก้มก้น" ทั้งๆ ที่ความจริงมันควรจะหมายถึง 'โครงสร้างกระดูกตรงบริเวณต้นขา' ซึ่งใช้ในการแบกรับน้ำหนักของร่างกาย ... โดย 'ภาพอักษร' เดิมของ 股 (gǔ, กู่) มาจากการผสมอักษร 肉 (ròu, โญ่ว) ที่แปลว่า 'เนื้อ' กับ 殳 (shū, ซู) ซึ่งหมายถึง 'ไม่ถ่อ', 'ไม่ค้ำยัน', หรือ 'ไม่พลอง' ซึ่งเป็นอาวุธโบราณชนิดแรกๆ ในกองทัพทหาร นั่นคือเหตุผลที่บางครั้ง เราจะเห็นการใช้คำว่า 股 (gǔ, กู่) ในความหมายของ 'ด้านตรงข้ามมุมฉากของสามเหลี่ยมมุมฉาก' ด้วย เพราะมันมีลักษณะคล้ายกับ 'ไม่ค้ำยัน' นั่นเอง ... โดยเหตุนี้ ความหมายอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของ 股 (gǔ, กู่) ก็จะหมายถึง  'กิ่งก้านสาขา' หรือ 'สัดส่วน' (section) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 'การจัดแบ่งโดยโครงสร้าง' ด้วย ... นอกจากนั้นแล้ว 股 (gǔ, กู่) ยังสามารถใช้ในความหมายว่า 'สนับสนุน', 'ค้ำจุน', 'เสริมสร้างความแข็งแกร่ง' และอาจจะหมายถึง 'กองกำลัง' ; หรือ 'กระแสการไหลที่หนุนเนื่องกัน' (stream) ของความกดอากาศ หรือกระแสน้ำก็ได้ ... ดังนั้น มันจึงไม่จำเป็นต้องแปลว่า 'ก้น' หรือ 'แก้มก้น' เสมอไป :)

拯 อ่านว่า zhěng (เจิ่ง) แปลว่า 'สนับสนุน', 'ช่วยเหลือ', 'เยียวยา', 'กอบกู้', 'ชูขึ้น', 'ยกให้สูงขึ้น'

ส่วน 馬 (mǎ, หฺม่า) หรือ 'ม้า' นั้นเคยเล่าไปหลายครั้งแล้วว่า เป็นหนึ่งใน 'สัตว์สัญลักษณ์' ที่ใช้เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ด้วย โดย 'ม้า' นั้นจะสามารถแทนความหมายของ 'ความขยันขันแข็ง', 'ความมีน้ำอดน้ำทน', 'ความคงเส้นคงวา', และ 'ความงามสง่า' ในท่วงท่ากิริยาที่แสดงออก

สำหรับ 壯 (zhuàng, จ้วง) ซึ่งเจอมาในบทที่สามสิบสี่ก็หมายถึง 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง

หลังจากที่ได้พิจารณาวลีนี้ของ 'จิวกง' อยู่หลายรอบ ผมมีความรู้สึกว่า 'จิวกง' น่าจะกำลังขยายความคำว่า 夷 (yí, อี๋) ใน 'ชื่อบท' ของ King Wen ให้มีความหมายที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในความหมายที่หลากหลายของมัน โดยโครงสร้างของลำดับคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ น่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า ... ชื่อสัญลักษณ์ว่า 明夷 (míng yí, มิ๋ง อี๋) นี้ คำว่า 夷 (yí, อี๋) ย่อมหมายถึง (于) 左股 (zuǒ gǔ, จั่ว กู่) โดยจะต้องประพฤติปฏิบัติตนด้วยการ 用拯馬壯 (yòng zhěng mǎ zhuàng, โยฺว่ง เจิ่ง หฺม่า จ้วง) จึงจะประสบความเจริญ (吉) ... ประมาณนี้แหละครับ :)

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะรู้ความหมายของ 左股 (zuǒ gǔ, จั่ว กู่) เราก็ต้องย้อนศรกลับไปดูว่า เราเคยแคะความหมายของ 夷 (yí, อี๋) ไว้ว่ายังไงมั่ง ? แล้วมีส่วนไหนที่ไปกันได้กับความหมายของทั้ง 左 (zuǒ, จั่ว) และ 股 (gǔ, กู่) บ้าง ??!!

ผมขอตัดประเด็นของ 夷 (yí, อี๋) ในความหมายว่า 'การทำร้าย', หรือ 'การถูกทำร้าย' ออกไปก่อนเลยครับ เพราะมันไปกันไม่ได้เลยกับความหมายทุกด้านของ 左 (zuǒ, จั่ว) และ 股 (gǔ, กู่) ... ในขณะที่ความหมายอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของ 夷 (yí, อี๋) ก็จะมีตั้งแต่ 'การทำให้สงบราบคาบ', 'การทำให้ราบรื่น', 'ความสมดุล', 'ความเป็นกลุ่มก้อน', 'ความอ่อนโยน', 'ความถ่อมตน', และ 'ความมั่นคงทางอารมณ์' ... ซึ่งความหมายของ 夷 (yí, อี๋) ที่น่าจะเข้ากันได้ดีกับคำว่า 左 (zuǒ, จั่ว) และ 股 (gǔ, กู่) ก็น่าจะเป็น 'ความไม่วางก้าม' หรือ 'ความไม่ชิงดีชิงเด่น' และความไม่รู้สึกว่าตนเองต้องสูญเสียสิ่งใดไปกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของ 'พระรอง' (左) ที่คอยให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู (股) แก่ผู้อื่นอย่างเต็มใจ ... หรือจะว่าไป 左股 (zuǒ gǔ, จั่ว กู่) ก็น่าจะมีความหมายในลักษณะที่ใกล้เคียงกับสำนวนไทยที่ว่า 'การอุทิศตนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ' นั่นเอง !!

เมื่อทิศทางของถ้อยคำล้วนมีแนวโน้มที่จะสื่อออกมาประมาณอย่างนี้ ผมจึงเชื่อว่า 'จิวกง' คงต้องการจะสื่อความหมายผ่านถ้อยคำในวรรคนี้ว่า 'สติย่อมมั่นคง (明夷) ด้วยความไม่ตะกลามในชื่อเสียงลาภยศ (夷) ประหนึ่ง (于) การอุทิศตนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ (左股) ที่ปรารถนา (用) เพียงการส่งเสริมเชิดชู (拯) คุณธรรมทั้งปวง (馬) ให้ไพศาล (壯) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (吉) ให้ปรากฏอย่างแท้จริง' ... ผิดหรือถูกก็ไม่รู้ด้วยล่ะครับ แต่ผมว่ามันดูดีกว่าการ 'ตีความ' ตามตัวอักษรว่า 'เจ็บตูดจนต้องควบม้าหนี' เยอะอยู่แหละ !! ... :D

มีประเด็นหนึ่งที่หลายๆ ตำราเอ่ยอ้างไว้คล้ายๆ กันก็คือ 明夷 (míng yí, มิ๋ง อี๋) จะแฝงความหมายของ 'การเก็บงำประกาย' ไว้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งตรงจุดนี้ผมแทนด้วยความหมายว่า 'ไม่ตะกลามในชื่อเสียงลาภยศ' ... :) ... ทั้งนี้ก็เนื่องจากผมมีความคิดว่า 'การไม่แสดงตัว' กับ 'ความกระหายในลาภยศชื่อเสียง' นั้น บ่อยครั้งที่มันกลายเป็น 'ความขัดแย้ง' ที่รบกวนจิตใจของผู้ปฏิบัติงานหลายๆ คน จนถึงกับบ่อนทำลาย 'ความมั่นคงแห่งสติ' ของบุคคลหนึ่งๆ ลงไปอย่างยับเยินเลยทีเดียว ... ดังนั้น การอุทิศตนเป็น 'ผู้ปิดทองหลังพระ' (左股) จึงจำเป็นต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น เมื่อ 'ไม่มีความตะกลามในชื่อเสียงลาภยศ' การแสดงออกก็ย่อมปราศจากร่องรอยของ 'ความอยากเด่นอยากดัง' โดยธรรมชาติ แม้ถึงที่สุดแล้วจะได้รับการสรรเสริญ หรือมีข้อครหากล่าวร้าย ก็ล้วนไม่ใส่ใจใยดี (無咎無譽) เนื่องเพราะเป้าประสงค์ที่แท้จริง ย่อมมิใช่เพื่อสนอง 'ตัณหาแห่งอัตตา' แต่เพื่อเป็นการเชิดชู (拯) คุณธรรมทั้งปวง (馬 ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพลังฝ่ายหยิน) ให้เผยแผ่ไพศาล (壯) ต่อๆ ไปเท่านั้น ...

 

สาม หยาง :

明夷于南狩得其大首不可疾貞
míng yí yǘ nán shòu dé qí dà shǒu bù kě jí zhēn
มิ๋ง อี๋ ยฺวี๋ นั๋น โษ้ว เต๋อ ชี๋ ต้า โษ่ว ปู้ เข่อ จี๋ เจิ


南 อ่านว่า nán (นั๋น) ซึ่งมีความหมายตามปรกติคือ 'ทิศใต้' แต่ที่อดระแวงไม่ได้ก็คือ 'ทิศใต้' เป็นทิศประจำของสัญลักษณ์ 乾 (☰ : qián, เชี๋ยน) ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fuxi และเป็นทิศประจำของสัญลักษณ์ 離 (☲ : lí, ลี๋) ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen ซึ่งทั้งสองสัญลักษณ์ล้วนเป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยาง' ด้วยกันทั้งคู่ ; แต่ความหมายที่แทบจะไม่ค่อยได้พบเห็นเลยก็คือ การใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า 任 (rèn, เญิ่น) ที่แปลว่า 'รับภาระ', 'รับหน้าที่', 'รับผิดชอบ', 'น่าเชื่อถือ', หรือ 'ที่เชื่อได้ว่า'

狩 อ่านว่า shòu (โษ้ว) ปรกติจะแปลว่า 'การล่าสัตว์', หรือ 'ฤดูล่าสัตว์' โดยในสมัยโบราณจะหมายถึง 'ฤดูหนาว' เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็ยังใช้ในความหมายของ 'นายพราน' หรือ 'นักล่า' ได้ด้วย ; และยังหมายถึง 'พื้นที่สำหรับการล่าสัตว์' หรือ 'เขตล่าสัตว์' ก็ยังได้ ; ในขณะที่สมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 守 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'ปกป้อง', 'ป้องกัน', 'เฝ้าระวัง', 'ดูแล', หรือ 'พิทักษ์รักษา' ในฐานะที่เป็น 'ส่วนหนึ่งของดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครอง' ด้วยเหมือนกัน

ส่วนคำว่า 首 (shǒu, โษ่ว) ในบทที่หนึ่งเคยเล่าคำแปลไว้ว่า 'หัว', 'นำ', 'แรก', 'ที่หนึ่ง', 'เริ่มต้น', และทำให้สามารถแปลเป็น 'หัวหน้า', 'ผู้นำ' ได้ด้วย

สำหรับ 疾 (jí, จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

หากเรา 'ตีความ' ให้คำว่า 南狩 (nán shòu, นั๋น โษ้ว) หมายถึง 'การล่าสัตว์ทางทิศใต้' หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไปเกี่ยวกับ 'การล่าสัตว์' ความหมายโดยรวมของมันก็คงจะหลุดกรอบจนไม่สามารถปะติดปะต่อกับ theme หลักของบทนี้ได้เลย ... แต่ถ้าหากเรามองว่า 'จิตใจ' หรือ 'สติสัมปชัญญะ' ของมนุษย์แต่ละคนนั้น เปรียบเสมือน 'อาณาจักรเล็กๆ' ที่จะต้องคอยให้ 'การปกปักรักษา' หรือคอย 'สอดส่องดูแลความเรียบร้อย' อยู่ตลอดเวลา คำว่า 南狩 (nán shòu, นั๋น โษ้ว) ก็น่าจะหมายถึง 'ความรับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาอาณาจักร' อย่างแน่นอน ... ทั้งนี้ ... มีความเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' ตั้งใจเปลี่ยนคำว่า 守 (shǒu, โษ่ว) ให้กลายเป็น 狩 (shòu, โษ้ว) เพื่อความสละสลวยในการออกเสียงที่จะไม่ซ้ำซ้อนกับคำว่า 首 (shǒu, โษ่ว) ซึ่งตามมาติดๆ ในวรรคเดียวกัน ...

ความหมายที่น่าจะเป็นไปได้ของวลีประหลาดนี้ก็คือ 'การครองสติอย่างมั่นคง (明夷) ย่อมคล้ายดั่ง (于) การพิทักษ์รักษานคร (南狩) ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ซึ่งการจะบรรลุถึง (得) ความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในความยอมรับของผู้อื่น (其大首) ได้นั้น ย่อมไม่อาจ (不可) เร่งเร้าหักหาญอย่างไร้คุณธรรม (疾貞)' ... แต่จะต้องมี 'ความถ่อมตน' (垂其翼) และมี 'ความตื่นตัวอย่างรอบด้าน' (三日不食) อยู่ตลอดเวลา ... นี่จึงนับเป็น 'การครองสติ' อย่างแท้จริง !!! ... ;)

 

สี่ หยิน :

入于左腹獲明夷之心出于門庭
rù yǘ zuǒ fù huò míng yí zhī xīn chū yǘ mén tíng
ญู่ ยฺวี๋ จั่ว ฟู่ ฮั่ว มิ๋ง อี๋ จือ ซิน ฌู ยฺวี๋ เมิ๋น ทิ๋ง


腹 อ่านว่า  (ฟู่) โดยทั่วไปจะแปลว่า 'ท้อง', หรือ 'พุง', แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึง 'ช่องท้อง' ซึ่งเป็นอวัยวะภายในประเภท 'ลำไส้', หรือ 'กระเพาะ' มากกว่าที่จะหมายถึงชั้นไขมันที่ปรากฏอยู่ภายนอก ... :D ... ดังนั้น ในบางกรณีมันจึงหมายถึง 'แก่นกลาง', 'ศูนย์กลาง', 'เบื้องลึก' หรือ 'สาระสำคัญ' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยา 腹 (fù, ฟู่) จะหมายถึง 'รวบรวม', 'ครอบคลุม', หรือ 'บรรจุไว้' ... ประมาณว่า 'กอบเข้ามาอยู่ตรงกลางวงที่ล้อมเอาไว้'

獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ฉกฉวย', 'คว้าเอาไว้' หรือ 'ได้รับ' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะ 獲 (huò, ฮั่ว) มีความหมายในลักษณะของ 'การได้มาจากการล่า (สัตว์)', 'การได้รับโดยการแย่งชิง' หรือ 'ได้รับจากการขู่เข็ญบังคับ'

ตอนที่เห็นวลีนี้ครั้งแรก ผมนึกถึงสำนวนไทยที่ว่า 'เข้าทางตรอก ออกทางประตู' เลยครับ ... :P ... เพราะ 'จิวกง' แกเล่นลำดับคำไว้ซะตรงสำนวนออกอย่างนั้นว่า 入于左腹 ... 出于門庭 (rù yǘ zuǒ fù...chū yǘ mén tíng, ญู่ ยฺวี๋ จั่ว ฟู่...ฌู ยฺวี๋ เมิ๋น ทิ๋ง) โดยมีวลีท่อนตรงกลางคือ 獲明夷之心 (huò míng yí zhī xīn, ฮั่ว มิ๋ง อี๋ จือ ซิน) ทำหน้าที่ขยายความให้กับ 入于左腹 (rù yǘ zuǒ fù, ญู่ ยฺวี๋ จั่ว ฟู่) เท่านั้นเอง ... สำหรับความหมายของสำนวน 'เข้าทางตรอก ออกทางประตู' นี้จะหมายถึง 'การประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมแก่กาละ-เทศะ' ก็มีความกลมกลืนกับความหมายที่ 'ตีความ' ไว้ให้กับวรรคที่สาม อันถือเป็น 'คู่วลี' ประจำบทของวรรคที่สี่อย่างพอดิบพอดีอีกด้วย ... น่าสนใจมาก !! ... :)

ก่อนที่จะอธิบายอะไรต่อไปให้เยิ่นเย้อ ขอ 'ตีความ' ด้วยความหมายที่ผมขุดขึ้นมาก่อนแล้วกัน ... วลีนี้ของ 'จิวกง' ควรจะมีความหมายว่า 'ความคิดพึงประมวลไว้ด้วยกรอบเกณฑ์ที่สร้างสรรค์ (入于左腹) จิตใจต้องเหนี่ยวรั้งด้วยความสว่าง-สงบอย่างมั่นคง (獲明夷之心) การประพฤติปฏิบัติตนต้องผ่าเผยไม่ปกปิดซ่อนเร้น (出于門庭)' ... นั่นคือความหมายที่ต่อเนื่องมาจากวรรคที่สามอย่างชัดเจน ...

ที่มาของคำอธิบายอันพิลึกพิลั่นนี้มาจากการยกเอา 'ความหมายแฝง' ของ 左 (zuǒ, จั่ว) ที่หมายถึง 'การริเริ่มสิ่งใหม่' มาใช้ในความหมายว่า 'ความสร้างสรรค์' โดยอาศัยความหมายรองของ 腹 (fù, ฟู่) มาแผลงเป็น 'กรอบเกณฑ์', หรือ 'กฎระเบียบ' ... ในขณะที่ 獲 (huò, ฮั่ว) ที่สื่อไปในทาง 'ฉกฉวย', หรือ 'ยึดเอาไว้' นั้น ก็ดูจะเข้ากันได้ดีกับลักษณะที่ไม่อยู่นิ่งของจิต ซึ่งการจะอยู่ในปัจจุบันขณะให้ได้ตลอดเวลานั้น จำเป็นต้องมี 'ความเฉียบพลัน' ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันด้วยเสมอ ... แล้วผมก็แยกให้ 入 (rù, ญู่) กับ 出 (chū, ฌู) เป็นตัวแทนของ 'พฤติกรรมด้านในของความคิดและจิตใจ' (入) กับ 'พฤติกรรมที่แสดงออกสู่ภายนอก' (出) เพื่อที่จะขยายความให้กับวลีปิดท้ายของวรรคที่สามซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 'ไม่อาจเร่งเร้าหักหาญอย่างไร้คุณธรรม' หรือ 不可疾貞 (bù kě jí zhēnปู้ เข่อ จี๋ เจิ) นั่นเอง !!

แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจล่ะครับว่า ทำไมมันจึงช่างละม้ายคล้ายกับความหมายของสำนวน 'เข้าทางตรอก ออกทางประตู' อย่างไม่ผิดเพี้ยนเลย เก้าะลำดับของคำมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่นา ... ;)

 

ห้า หยิน :

箕子之明夷利貞
jī zǐ zhī míng yí lì zhēn
จี จื่อ จือ มิ๋ง อี๋ ลี่ เจิ


 อ่านว่า jī (จี) ปรกติจะหมายถึง 'ตะกร้า', 'กระด้ง', หรือ 'ชะลอม' บางครั้งก็ยังหมายถึง 'บุ้งกี๋' ที่สานขึ้นมาจากซี่ไม้ไผ่ ซึ่งใช้ในการฝัดเพื่อคัดแยกส่วนที่เป็นเนื้อ กับส่วนที่เป็นเปลือกของธัญพืชออกจากกัน ถ้าเทียบกับเครื่องใช้ประเภทอื่นๆ ก็น่าจะเทียบได้กับ 'ตะแกรง' สำหรับร่อนเพื่อคัดกรองวัสดุออกเป็นขนาดที่ต่างๆ กันนั่นเอง ... ส่วนคำว่า 箕子 (jī zǐ, จี จื่อ) ก็น่าจะเป็นคำเรียกปรกติสำหรับ 'ตะกร้าใบหนึ่ง', หรือ 'ตะกร้าใบน้อย' เท่านั้น ไม่น่าจะหมายถึงชื่อของปราชญ์ () ท่านใดท่านหนึ่งอย่างเจาะจงลงไป

ผมมองความหมายของวลีนี้อย่างตรงไปตรงมาแค่ว่า 'ความรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี (箕子) ของ (之) สติที่มั่นคงในความสว่าง (明) สงบ (夷) คือความเจริญ (利) ในธรรมทั้งปวง (貞)' ... ซึ่งตรงนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับ 'ความไม่ตะกลามในชื่อเสียงลาภยศ' (夷于左股) ที่ 'จิวกง' เกริ่นไว้ในวรรคที่สอง โดย 'จิวกง' เลือกใช้ภาพเปรียบเทียบของ 'ตะแกรง' (箕子) มาแทนความหมายของ 'ความรู้จักแยกแยะ' เพื่อที่จะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นคุณแก่ธรรม และคัดกรองเอาความอยากแห่งกิเลสตัณหาให้เหือดหายไปในที่สุด

 

หก หยิน :

不明晦初登于天后入于地
bù míng huì chū dēng yǘ tiān hòu rù yǘ dì
ปู้ มิ๋ง ฮุ่ย ฌู เติง ยฺวี๋ เทียน โฮ่ว ญู่ ยฺวี๋ ตี้


晦 อ่านว่า huì (ฮุ่ย) แปลว่า 'มืดครึ้ม', 'สลัว', 'เลือนลาง', 'ไม่ชัดเจน', ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'หลบซ่อน', 'ซุกซ่อน', หรือ 'อำพราง'

登 อ่านว่า dēng (เติง) แปลว่า 'ลอยสูงขึ้น', 'ไต่ขึ้นที่สูง', 'ก้าวขึ้นไป' ; 'กลายสภาพ' หรือ 'สำเร็จ' ; และยังหมายถึง 'ได้รับการบันทึกไว้', 'การขึ้นทะเบียน' หรือ 'การถูกบันทึกไว้ในทำเนียบ' ด้วย

ส่วนคำว่า 初 (chū, ฌู) กับ 后 (hòu, โฮ่ว) นั้นก็ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึง 'ก่อน' กับ 'หลัง' หรือ 'เบื้องต้น' กับ 'บั้นปลาย' อย่างตรงๆ ตัวโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม

ผมอยากจะสรุปประเด็นของวรรคสุดท้ายในบทนี้ว่า 'ความืดบอด (晦) อันเนื่องมาจากความไม่รู้จักสำรวมตน (不明晦 คือไม่รู้จักการงำประกาย) นั้น แม้ว่าในเบื้องต้น (初) อาจจะได้รับการยกย่อง (登) จนสูงเทียมฟ้า (于天) แต่ผลสุดท้าย (后) ก็จะตกต่ำลง (入) ไม่ต่างกับธุลีดิน (于地)' ... ปราชญ์จึงต้องประพฤติปฏิบัติตนด้วยความสำรวมอย่างไม่ย่อหย่อน (君子于行 三日不食) เช่นเดียวกับการเหินบิน (于飛) ที่จะต้องรักษาระดับสูงต่ำของปีกให้พอเหมาะพอดี (垂其翼) อยู่ตลอดเวลา ดังที่ 'จิวกง' รจนาไว้ในวรรคที่หนึ่งของบทนี้ ... นี่เอง !!! ... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'มิ๋งอี๋' คือ ครองสติอย่างมั่นคง, สุกสว่างที่กลางใจ

'การครองสติอย่างมั่นคง' ย่อมหมายถึง 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' เพื่อผดุงไว้ซึ่ง 'หลักแห่งคุณธรรม' ทั้งปวง

  •  
  • 'การครองสติอย่างมั่นคง' ย่อมคล้ายกับการรักษาระดับของการบิน ที่จะต้องมีการปรับระดับปีกทั้งสองข้างให้ 'พอเหมาะพอดี' ; การดำเนินงานเยี่ยง 'ปราชญ์ผู้เจริญ' ย่อมต้องให้ 'ความเอาใจใส่' ด้วย 'วิจารณญาณ' ที่ 'ชัดเจนเที่ยงธรรม' อย่าง 'รอบด้าน' ต้อง 'ปราศจากวาระซ่อนเร้น' และ 'ไม่หย่อนยาน' ต่อภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย ... ไม่ว่า 'ผลลัพธ์' จะปรากฏออกมาเยี่ยงใด 'ผู้รับผิดชอบหลัก' ในแต่ละภาระกิจ ล้วนต้องมี 'เหตุผล' ที่สามารถ 'อธิบายได้' ในทุกๆ กรณี
  •  
  • 'สติ' ย่อม 'มั่นคง' ด้วย 'ความไม่ตะกลาม' ใน 'ชื่อเสียงลาภยศ' ประหนึ่ง 'การอุทิศตน' เป็น 'ผู้ปิดทองหลังพระ' ที่ปรารถนาเพียงการส่งเสริมเชิดชู 'คุณธรรมทั้งปวง' ให้ไพศาล เพื่อยัง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้ปรากฏอย่างแท้จริง
  •  
  • 'การครองสติอย่างมั่นคง' ย่อมคล้ายดั่ง 'การพิทักษ์รักษานคร' ให้อยู่ใน 'ความสงบเรียบร้อย' ซึ่งการจะบรรลุถึงความเป็น 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' ใน 'ความยอมรับ' ของผู้อื่นได้นั้น ย่อมไม่อาจ 'เร่งเร้าหักหาญ' อย่างไร้ 'คุณธรรม'
  •  
  • 'ความคิด' พึงประมวลไว้ด้วย 'กรอบเกณฑ์ที่สร้างสรรค์' ; 'จิตใจ' ต้อง 'เหนี่ยวรั้ง' ด้วย 'ความสว่าง-สงบ' อย่าง 'มั่นคง' ; 'การประพฤติปฏิบัติตน' ต้อง 'ผ่าเผย' ไม่ 'ปกปิดซ่อนเร้น'
  •  
  • 'ความรู้จักแยกแยะ' ผิดชอบชั่วดีของ 'สติที่มั่นคง' ใน 'ความสว่าง-สงบ' คือ 'ความเจริญ' ใน 'ธรรมทั้งปวง'
  •  
  • 'ความืดบอด' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่รู้จักสำรวมตน' นั้น แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะได้รับ 'การยกย่อง' จนสูงเทียมฟ้า แต่ผลสุดท้ายก็จะ 'ตกต่ำลง' ไม่ต่างกับธุลีดิน



 

The Organization Code :



'การครองสติอย่างมั่นคง' คือการอาศัย 'กระบวนการบริหารจัดการ' (☷) เป็นผู้บุกเบิกตลาดให้แก่ 'สินค้า' (☲)

'ความไว้วางใจ' ใน 'มาตรฐานการดำเนินงาน' ขององค์กรหนึ่งๆ ย่อมส่งผลให้เกิด 'ความยอมรับ' ใน 'ผลิตภัณฑ์' หรือ 'บริการ' ที่องค์กรนั้นๆ นำเสนอได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ 'ระดับนโยบาย' จึงควรจะมี 'เป้าหมาย' ในการดำเนินงานที่ 'ชัดเจน' และมี 'การตอบสนองอย่างสร้างสรรค์' ต่อความต้องการจากภายนอก (⚍) ; ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'กรอบมาตรฐาน' ในการปฏิบัติงานที่ 'เข้มงวด' โดยมี 'ความยืดหยุ่น' ต่อการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างเหมาะสม (⚍) ; 'ระดับปฏิบัติงาน' จึงจะสามารถ 'สนองตอบ' ต่อนโยบาย และความต้องการจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ (⚏)

  •  
  • 'กระบวนการบริหารจัดการที่ดี' ย่อมคล้ายดั่ง 'การรักษาระดับของการบิน' ที่จะต้องคอย 'สมดุลกำลังปะทะ' ของปีกทั้งสองข้างอย่างเหมาะสม ต้องมี 'ความตื่นตัว' และ 'ความเอาใจใส่' ในทุกรายละเอียดด้วย 'วิจารณญาณ' ที่ 'สุขุมรอบคอบ' ไม่วอกแวกหย่อนยาน หรือไม่สร้างเงื่อนไขที่ 'ปกปิดซ่อนเร้น' เพื่อให้ 'ผู้ที่รับผิดชอบ' ในแต่ละหน้าที่ สามารถ 'ประสานงาน' และ 'สานต่อ' การดำเนินงานได้ 'อย่างต่อเนื่อง' ภายใต้ 'กรอบแห่งมาตรฐาน' ที่กำหนดไว้ร่วมกัน
  •  
  • 'ความเป็นระบบระเบียบ' แห่ง 'กระบวนการทำงาน' ย่อมเกิดขึ้นได้จาก 'ความเคารพ' และ 'ความรับผิดชอบ' ของแต่ละบุคคลที่มีต่อ 'หน้าที่' ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติ โดยมุ่ง 'ความสนใจ' ไปที่ 'ความสัมฤทธิ์ผล' ของ 'ภาระกิจโดยรวม' เป็นหลักสำคัญ และ 'ไม่พะวักพะวง' อยู่กับ 'การชิงดีชิงเด่น' เพียงเพื่อหวังใน 'ชื่อเสียง' หรือ 'ผลประโยชน์' ใดๆ ที่จะได้รับเป็นการเฉพาะบุคคล
  •  
  • การรักษา 'ระดับมาตรฐานของงาน' ย่อมไม่ต่างไปจาก 'การทำนุบำรุงชาติบ้านเมือง' ให้อยู่ใน 'ความสงบเรียบร้อย' ซึ่งแต่ละฝ่ายย่อมต้องมีระดับของ 'ความต้องการ' หรือ 'ความจำเป็น' ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ... 'กระบวนการบริหารจัดการ' ที่จะได้รับ 'ความยอมรับ' จากทุกๆ ฝ่ายนั้น จึงไม่อาจ 'เร่งเร้าหักหาญ' เอาแต่ใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยไม่คำนึงถึง 'หลักคุณธรรม' ในการดำรงอยู่ร่วมกันของทั้งองค์กร
  •  
  • 'กรอบเกณฑ์ที่สร้างสรรค์' ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อ 'การระดมความคิด' ; 'จิตใจที่เปิดกว้าง' ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อ 'การแลกเปลี่ยน' และ 'การรับฟัง' ระหว่างกัน ; 'ความไม่ปกปิดซ่อนเร้น' ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อ 'การประสานงาน' และ 'การสำรวจตรวจสอบ' เพื่อ 'พัฒนามาตรฐานการดำเนินงาน' ให้มี 'ความเหมาะสมต่อกาละ-เทศะ' อย่างต่อเนื่อง
  •  
  • 'กระบวนการบริหารจัดการที่ดี' จะต้องมี 'กลไก' ใน 'การตรวจสอบ' และ 'การกลั่นกรอง' ที่เหมาะสม เพื่อจำแนก 'สิ่งที่เป็นประโยชน์' ออกจาก 'สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์' หรือ 'สิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์' ตลอดจน 'สิ่งที่เป็นโทษ' ต่อ 'การดำเนินงาน' อย่างตรงไปตรงมา จึงจะสามารถก่อเกิด 'กระบวนการวิวัฒน์' ให้แก่ทั้งองค์กรได้ 'อย่างยั่งยืน'
  •  
  • 'ความไม่รู้จักสำรวมตน' ด้วย 'การปฏิบัติงาน' อย่างปราศจาก 'ความรู้' และ 'ความเข้าใจ' ใน 'กระบวนการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง' แม้ว่าบางครั้งบางกรณีจะสามารถสร้าง 'ความโดดเด่น' อย่างเหนือชั้น ด้วยเป็น 'ความแปลกใหม่' ที่อยู่นอกเหนือ 'กรอบเกณฑ์ที่กำหนดไว้' แต่ในระยะยาวแล้ว ย่อมประสบกับ 'ความตกต่ำล้มเหลว' หากไม่สามารถ 'ประสาน' เข้ากับ 'กระบวนการปฏิบัติงาน' อื่นๆ ได้อย่างลงตัว


ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทที่ถอดความได้ยากอย่างน่าสนใจมาก ซึ่งผมเองก็ไม่กล้ายืนยันหรอกครับว่า นี่คือความหมายที่ถูกต้อง และตรงกับเจตนาดั้งเดิมของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' อย่างสมบูรณ์ หลายๆ คำอธิบายจำเป็นต้องอาศัยถ้อยคำแวดล้อมอื่นๆ ของทั้งสองท่านมาอ้างอิงประกอบ และตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ลำดับบทต่างๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ถูกจัดวางให้เป็น 'วัฏจักร' ที่ต่อเนื่องกันโดยตลอดทั้งฉบับ ... ซึ่ง ... ด้วยระยะเวลาที่ห่างกันกว่าสองพันปีจนถึงยุคของท่าน 'ขงจื้อ' และอีกกว่าสองพันปีมาจนถึงยุคปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงของความหมายในถ้อยคำที่บันทึกไว้อย่างกำกวมเหล่านี้ คงยากที่จะเชื่ออย่างสนิทใจว่า จะมีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถเข้าใจเจตนาดั้งเดิมของผู้รจนา 'คัมภีร์อี้จิง' ได้อย่างแท้จริง

ความโดดเด่นของ 'คัมภีร์อี้จิง' อาจจะไม่ได้อยู่ที่ความหมายที่ปราชญ์ทั้งหลายได้ 'ตีความ' เอาไว้ในตำราทั้งหลาย ... แต่ความยิ่งใหญ่ และทรงคุณค่าที่สุดของถ้อยคำที่ยากแก่การทำความเข้าใจเหล่านั้น ย่อมอยู่ที่ว่า มันช่วยรีดความคิดบางอย่างในตัวของพวกเราออกมาได้มากน้อยแค่ไหน และเราสามารถนำความคิดเหล่านั้นไปก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมได้มากน้อยเพียงใดมากกว่า ... :)