Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第四十一卦 : 損

損 : 山澤損 ‧ 艮上兌下

損 : 有孚‧元吉‧無咎‧可貞‧利有攸往‧曷之用‧二簋可用享‧
  • 初九 : 已事遄往‧無咎‧酌損之‧
  • 九二 : 利貞‧征凶‧弗損益之‧
  • 六三 : 三人行‧則損一人‧一人行‧則得其友‧
  • 六四 : 損其疾‧使遄有喜‧無咎‧
  • 六五 : 或益之‧十朋之龜‧弗克違‧元吉‧
  • 上九 : 弗損益之‧無咎‧貞吉‧利有攸往‧得臣無家‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ยอมรับความจริง (☶) อย่างเบิกบาน (☱) ; อารมณ์แจ่มใส (⚌), ปัญญาปล่อยวาง (⚏), พลานามัยผ่อนพัก (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : นโยบายชัดเจน-เข้มแข็ง (⚌), บริหารงานด้วยความหนักแน่น-ยืดหยุ่น (⚏), ปฏิบัติการอย่างรอบคอบ-จริงจัง (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การลดความสำคัญตน, ขุนเขาเหนือทะเลสาบ


ความหมายของชื่อเรียก : Descending : การลดความสำคัญตน



คงจะเป็นครั้งแรกที่ต้องหา 'คำตรงข้าม' มาใช้เป็น 'ชื่อบท' ให้ใกล้เคียงกับความหมายเดิมของ 'ชื่อเรียก' ที่ King Wen เรียงลำดับไว้ติดกันสองบท คือบทที่สี่สิบเอ็ด (損 : sǔn, สุ่น) และบทที่สี่สิบสอง (益 : yì, อี้) ... ซึ่งความหมายโดยทั่วๆ ไปของ 損 (sǔn, สุ่น) คือ 'ลดลง', หรือ 'ทำให้ลดลง' ส่วนความหมายโดยปรกติของ 益 (yì, อี้) ก็คือ 'สูงขึ้น', 'เพิ่มขึ้น', 'ทำให้งอกเงย', หรือ 'ทำให้พอกพูนกว่าเดิม' ... ถือเป็น 'คู่ตรงข้าม' ที่ตรงตัวที่สุดคู่หนึ่งที่ไม่ว่าพจนานุกรมฉบับไหนๆ ก็จะระบุไว้ให้เป็นอย่างนั้นเสมอ

โดยปรกติแล้ว 損 (sǔn, สุ่น) จะแปลว่า 'ลดลง', 'ทำให้น้อยลง', 'ทำให้ต่ำลง', 'คล้อยต่ำลง', 'โน้มตัวลง' ; บางทีก็จะหมายถึง 'การสืบทอดต่อลงมา', 'การได้รับมรดก', 'การสืบทอดจากบรรพชน', 'การได้รับมอบหมายจากเบื้องบน' ฯลฯ ... คือทั้งหมดจะสื่อไปในลักษณะของ 'การโยกย้ายจากระดับที่สูงกว่าไปสู่ระดับที่ต่ำกว่า' ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ, ทางสายเลือด, ทางสายสัมพันธ์, หรือทางสายบังคับบัญชา ซึ่งคำที่ดูจะเหมาะกับมันมากที่สุดก็น่าจะเป็น Descending โดยมี 'คู่ตรงข้าม' เป็น Ascending ที่จะกลายเป็น 'ชื่อบท' ของบทที่สี่สิบสองอันเป็นบทในลำดับถัดไป

ความจริงแล้วหลายๆ ตำรามักจะเลือกใช้คำว่า decrease กับ increase สำหรับ 'คู่ตรงข้าม' ที่ King Wen เรียงลำดับไว้ติดกันนี้ แต่เนื่องจากความหมายจริงๆ ของ 損 (sǔn, สุ่น) และ 益 (yì, อี้) ที่ถูกนำมาใช้ในวัฏจักรที่สี่ของ 'พลังแห่งหยาง' นั้น ไม่ได้สื่อไปลักษณะของ 'การลดลง' หรือ 'การเพิ่มขึ้น' ในเชิงปริมาณอย่างที่ decrease หรือ increase มักจะถูกใช้กัน ... โดยความหมายของ 損 (sǔn, สุ่น) ในที่นี้ก็คือ 'การให้ความโอบอุ้ม', หรือ 'การให้ความสนับสนุน' ในลักษณะของ Servant Leadership ที่ 'โน้มนำด้วยการคล้อยตาม' มากกว่า 'โน้มน้าวด้วยการชี้นำ' ... ซึ่งเป็น 'การให้ความเคารพต่อผู้อื่น' (利見大人) ด้วย 'การลดความสำคัญตน' (損) ของตัวเองลงไป

โดยรวมๆ แล้ว เราแทบจะไม่สามารถอธิบายความหมายใดๆ ของ 損 (sǔn, สุ่น) ในฐานะของ 'ชื่อบท' นี้ได้อย่างตรงๆ ตัวเลย ไม่ว่าจะเป็นความหมายในปัจจุบัน หรือความหมายที่ 'ตีความ' เอาจาก 'ภาพอักษรเดิม' ของมันเอง ... แต่เราจำเป็นต้องให้ความหมายของมันตาม 'คำบรรยาย' ที่ King Wen บันทึกไว้เพื่อ 'ขยายความ' ให้กับ 'ชื่อบท' นี้โดยตรงเท่านั้น !!?



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
有孚元吉無咎可貞利有攸往曷之用二簋可用享
yǒu fú yuán jí wú jiù kě zhēn lì yǒu yōu wǎng hé zhī yòng èr guǐ kě yòng xiǎng
โหฺย่ว ฟู๋ เยฺวี๋ยน จี๋ อู๋ จิ้ว เข่อ เจิน ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เฮ๋อ จือ โยฺว่ง เอ้อ กุ่ย เข่อ โยฺว่ง เสี่ยง



วลีนี้ของ King Wen มีคำใหม่แค่ 2-3 ตัวเองครับ ... :)

曷 อ่านว่า hé (เฮ๋อ) ซึ่งพ้องเสียง และพ้องความหมายกับคำว่า 何 (hé, เฮ๋อ) ที่แปลว่า 'ทำไม', 'อะไร', 'ที่ไหน', 'เมื่อไหร่', 'อย่างไร' ; ฯลฯ เรียกว่าเป็นการรวมเหล่าสารพัดถ้อยคำที่เป็นการตั้งคำถามทั้งหลายแหล่อย่าง What, When, Where, Why, กับ How หรือแม้แต่ Why not ให้กลายเป็นอักษรเพียงตัวเดียวเลย

簋 อ่านว่า guǐ (กุ่ย) หมายถึง 'ตะกร้า', หรือ 'ชะลอม' สำหรับบรรจุพืชผลทางการเกษตร ซึ่งโดยปรกติจะสานจากไม่ไผ่ และอาจจะมีสัณฐานกลมบ้าง เหลี่ยมบ้าง รวมทั้งมักจะมีหูหิ้ว หรือมีมือจับอยู่ 2 ด้านบ้าง 4 ด้านบ้าง ขึ้นอยู่กับขนาดในการใช้งานของมัน

享 อ่านว่า xiǎng (เสี่ยง) แปลว่า 'อุทิศ', 'บวงสรวง', หรือ 'เซ่นสังเวย' โดยมากมักจะใช้ในลักษณะของ 'การบูชาเทพเจ้า' หรือ 'การถวายเครื่องบรรณาการ'

คำเจ้าปัญหาในวลีนี้ของ King Wen ก็คือคำว่า 二簋 (èr guǐ, เอ้อ กุ่ย) นี่แหละครับ ... อะไรคือตะกร้า 2 ใบ ?!, อะไรคือตะกร้าทั้งสอง ?!, มันเกี่ยวอะไรกับตะกร้า ?!, แล้วเป็นตะกร้าสำหรับใส่อะไรกันแน่ ?! ... ซึ่งหลายตำราจะให้ความหมายกับเจ้าคำนี้ว่า 'ตะกร้าที่ว่างเปล่า 2 ใบ' ... แต่มันคืออะไรกันแน่ล่ะ ?!??? ...

ถ้าเราย้อนไปดูที่วลีต้นเรื่องในวรรคที่สามของบทที่หนึ่งอีกครั้ง ... เราก็จะพบกับถ้อยคำที่ 'จิวกง' แนะนำให้ 'มีความมั่นคงอยู่ในความไม่ประมาท' ว่า 君子終日乾乾 ‧ 夕惕若厲 ‧ 無咎 (jün zǐ zhōng rì qián qián ‧ xī tì ruò lì wú jiù, จฺวิน จื่อ ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ‧ ซี ที่ ญั่ว ลี่ ‧ อู๋ จิ้ว) หรือ 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ (無咎)' ... แต่นั่นก็น่าจะช่วยสะท้อนแค่ความหมายของวลีต้นวรรคที่ King Wen เลือกใช้ถ้อยคำว่า 有孚元吉無咎可貞 (yǒu fú yuán jí wú jiù kě zhēn, โหฺย่ว ฟู๋ เยฺวี๋ยน จี๋ อู๋ จิ้ว เข่อ เจิน) เท่านั้นเอง ??! ... ยังไม่เห็นอะไรที่เกี่ยวกับ 'ตะกร้าทั้งสอง' (二簋) อยู่ดี เว้นแต่จะมองให้ 'ความมีสัณฐานกลม' ของ 'ตะกร้า' หมายถึง 'ดวงตะวัน-จันทรา' เพื่อถ่ายทอดความหมายว่า 'ทั้งวัน-ทั้งคืน' (日 และ 夕) ... ซึ่งมันก็ไม่ค่อยจะเข้าท่าซักเท่าไหร่ !!?? ... :D

พอมาถึงบทที่ห้า (需 : xü, ซฺวี) ซึ่งเชื่อมโยงความหมายมาจากวรรคเดียวกันของบทที่หนึ่ง King Wen ก็เอ่ยถึง 'การรอคอยจังหวะ' ว่า 'จะต้องมีการเตรียมการมาอย่างดี (有孚) และจะต้องมีความตื่นตัว (光) ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (亨 คือความรู้ หรือข่าวสาร) ของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (貞吉) จึงจะถือว่ามีความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川) ได้' ... หรือว่า 'ตะกร้าสองใบ' (二簋) ที่เอ่ยถึงนั้นจะหมายถึง 'การเตรียมความพร้อม' (有孚) กับ 'ความตื่นตัวต่อสถานการณ์' (光亨) ซึ่ง King Wen เลือกแทนที่ด้วยคำว่า 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) ที่สามารถจะหมายถึง 'ความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์' ??!! ... ไม่รู้ !!??

เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็มาดูความหมายของบทที่สิบเจ็ด (隨 : suÍ, ซุ๋ย) หรือ 'ความโอนอ่อน' ซึ่งโยงมาจากวลีตั้งต้นเดียวกันอีกบทหนึ่ง ... King Wen บันทึกไว้สั้นๆ แค่ว่า 元亨利貞 ‧ 無咎 (yuán hēng lì zhēn ‧ wú jiù, เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน ‧ อู๋ จิ้ว) แต่ผมบรรยายความหมายซะยาวเหยียดเป็น 'ในสถานการณ์ที่อึมครึมไม่ชัดเจน จะต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ (元) ; ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย พึงต้องใช้กฎระเบียบ และปฏิภาณ (亨) ; ในสถานการณ์ที่ฝืดเคืองไม่คืบหน้า จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง (利) ; ในสถานการณ์ที่เพียบพร้อมอุดมสมบูรณ์ ต้องยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (貞) ... เยี่ยงนี้จึงจะไม่เกิดความผิดพลาด (無咎)' ... ความหมายอย่างด้วนๆ ก็คงจะประมาณว่า 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' จะต้องอาศัย 'ความริเริ่มที่สร้างสรรค์' (元) ; 'ความมีไหวพริบปฏิภาณในข้อจำกัดต่างๆ' (亨) ; 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' (利) ; และ 'ความมีคุณธรรม' (貞) ... ไม่ใช่เอาแต่บ่น (無咎) ... :D ... งั้น ... 元 (yuán, เยฺวี๋ยน), 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่), 貞 (zhēn, เจิน) ก็คือ 'หูหิ้วทั้งสี่' ของ 'ตะกร้าสองใบ' (二簋) นั่นรึเปล่าล่ะ ?! ... ก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกัน ???!! ...

ลองมาดูบทที่ยี่สิบเก้า (坎 : kǎn, ขั่น) เลยครับ ซึ่ง 'ความไม่ประมาท' ได้ถูกขยายความต่อออกมาเป็น 'การเผชิญอุปสรรค' ว่า 'ความมุ่งมั่นที่จะเผชิญ (習) กับอุปสรรค (坎) ย่อมต้องประกอบด้วย (有) ระเบียบแบบแผนที่พรั่งพร้อม (孚) มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง (維心) ด้วยสติปัญญาที่ตระหนักรู้และเข้าใจ จึงจะสามารถพัฒนาให้มีความคืบหน้า (亨) ... การดำเนินงานทุกประการ (行) ย่อมต้องมี (有) วิถีทางที่เป็นไปได้ (尚 หมายถึง 'ทางเลือก') สำหรับทุกๆ ปัญหาเสมอ' ... ถ้าแบบนี้ 'ตะกร้าสองใบ' (二簋) ก็ควรจะหมายถึง 'ความพรั่งพร้อมด้วยระเบียบแบบแผน' (有孚) กับ 'ความหนักแน่นมั่นคงด้วยสติปัญญา' (維心亨) ... อย่างนั้นรึเปล่า ??!! ...

แคะกันขนาดนี้แล้วก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องซักเท่าไหร่หรอกครับ ... :D ... แต่ผมดันมีความคิดพิเรนทร์อีกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าหาก King Wen ต้องการให้คำว่า 簋 (guǐ, กุ่ย) สื่อความหมายถึง 'อะไรบางอย่างที่ดูคล้ายกับตะกร้า' ล่ะ ?! ... ซึ่งก็จะทำให้คำว่า 二簋 (èr guǐ, เอ้อ กุ่ย) หมายถึง 'เจ้าสิ่งนั้นทั้งสองอัน' ด้วยรึเปล่า ?! ... งั้นมันควรจะหมายถึงอะไรดีล่ะ ?! ... ผมเดาว่ามันคือ 'แผนผังโป้ยก่วย' !!!!??? ... บอกแล้วไงครับว่าพิเรนทร์ !! ... :D

 




จากแผนผนังทั้งสองเราจะเห็นว่า ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) นั้นมี 'คู่ตรงข้าม' เป็น ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) หรือ 'ภูเขา' ตามแผนผังแบบ Earlier Heaven Order ของ Fu Xi ... ในขณะที่มันจะมี 'คุ่ตรงข้าม' เป็น ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) หรือ 'ฟ้าร้อง' ตามแผนผังแบบ Later Heaven Order ของ King Wen ... ซึ่ง ... ถ้ายังจำตอนที่ผมพยายามอธิบายความหมายของ 西南 (xī nán, ซี นั๋น) กับ 東北 (dōng běi, ตง เป่ย) กันได้ เราก็จะพบว่าทั้ง ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) และ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) คือเครื่องหมายประจำทิศ 東北 (dōng běi, ตง เป่ย) ที่สะท้อนความหมายของ 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' และ 'ความอวดโอ่คุยโต' ซึ่ง King Wen ย้ำนักย้ำหนามาตั้งแต่บทที่สองว่า 'ไม่ปลื้มทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' (不利東北) เลย ??!! ... แล้วถ้า 損 (sǔn, สุ่น) จะต้องแปลว่า 'ลดลง' หรือ 'ทำให้ลดลง' จริงๆ คำว่า 二簋可用享 (èr guǐ kě yòng xiǎng, เอ้อ กุ่ย เข่อ โยฺว่ง เสี่ยง) ก็อาจจะหมายถึง 'การสังเวยลักษณะนิสัยที่ไม่ดีทั้งสองนั้น' ... หรือไม่ก็ ... 'แผนผังทั้งสองนั้นคือสื่อสัญลักษณ์สำหรับใช้เป็นเครื่องบูชาเพื่อเตือนสติ' ... อย่างนี้พิเรนทร์มั้ยล่ะ ??!! ... :D

แต่หากเราพิจารณาสัญลักษณ์ทั้งสามด้วยความหมายข้างเคียงของมัน ... ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) นั้นสามารถจะสื่อถึง 'ความเบิกบานใจ' ในขณะที่ความหมายด้านบวกของ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ก็จะเป็น 'ความหนักแน่นมั่นคง' และ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) ย่อมหมายถึง 'ความเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา' ... การที่บางตำราให้ความหมายของ 二簋 (èr guǐ, เอ้อ กุ่ย) ไว้ว่า 'ตะกร้าที่ว่างเปล่าสองใบ' อาจจะหมายถึง 'ไม่ว่าจะแสดงออกด้วยความสงบนิ่ง (有孚) หรือความมีปฏิสัมพันธ์ตอบสนอง (元吉) ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถอุทิศให้เกิดประโยชน์ได้ (可用享) ทั้งนั้น หากเป็นการกระทำลงไปด้วยจิตใจที่เบิกบานเพราะความว่างเปล่าจากอัตตา' ... นี่ก็อาจจะเป็น 'ความลึกซึ้ง' ที่พยายามยัดเยียดลงไปในถ้อยคำที่อ่านไม่ค่อยจะเข้าใจนั่นก็ได้ ?! ... :)

หรือไม่ก็อย่าไปคิดอะไรให้วุ่นวาย ถือซะว่า 二簋 (èr guǐ, เอ้อ กุ่ย) ก็คือ 陰 (yin, อิน) กับ 陽 (yáng, ยั๋ง) หรือ 'หยิน-หยาง' ไปซะเลย ... ;) ... เพราะถึงยังไงมันก็คือ 'ขุมพลัง' ที่มีการเสริมส่ง (用) และอุทิศให้ (享) ซึ่งกันและตามหลักปรัชญาของจีนอยู่แล้วนี่ ... คิดแบบนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน ?! ... :P

ตกลงว่า 'ยังหาข้อสรุปไม่ได้' เลย เพราะดูเหมือนว่าเราจะ 'จับผิดคู่' ซะงั้นแหละครับ ??!! ... :D ...

ลองมาทบทวนดูที่ความต่อเนื่องของบทดีกว่าครับ ... เมื่อตอนที่อธิบายความหมายของบทที่สามสิบเก้านั้น เราจะพบว่าทั้ง King Wen และ 'จิวกง' จะประสานความคิดผ่านตัวอักษรไปในแนวทางของ 'การรู้จักให้ความยอมรับในบุคคลอื่น' ดังถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 王臣蹇蹇 ‧ 匪躬之故 (wáng chén jiǎn jiǎn ‧ fěi gōng zhī gù, วั๋ง เฌิ๋น เจี่ยน เจี่ยน ‧ เฝ่ย กง จือ กู้) หรือ 'ผู้นำและบริวารล้วนมีความไม่สมประกอบ จึงไม่อาจยึดถือเพียงเหตุผลของตนเป็นที่ตั้ง' ... ซึ่งก็คือการขยายความให้กับวลี 利西南 ‧ 不利東北 (lì xī nán ‧ bù lì dōng běi, ลี่ ซี นั๋น ‧ ปู้ ลี่ ตง เป่ย) ของ King Wen นั่นเอง

พอมาถึงบทที่สี่สิบ King Wen ก็มาเน้นที่ 'ความร่วมแรงร่วมใจอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่าย' (其來復吉) ในขณะที่ 'จิวกง' ก็เขย่าจินตนาการของพวกเราอย่างถึงแก่นด้วยวลีสั้นๆ ว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) หรือ 'อย่าเอาแต่ตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น' เพราะนั่นย่อมไม่ต่างไปจาก 'การยกตนข่มท่าน' อันเป็นพฤติกรรมที่รังแต่จะก่อให้เกิด 'ความขัดแย้ง' อย่างไม่รู้จบ ... ปราชญ์ผู้เจริญจึงน้อมตัวลงต่ำ (損) เพื่อยกระดับจิตใจให้สูง (益) ... นี่คือความต่อเนื่องที่ถูกนำมาใช้เป็น 'ชื่อประจำบท' ของบทที่สี่สิบเอ็ด และบทที่สี่สิบสองโดยตรง ... !!!!??!! ...

ดังนั้น 'ตะกร้าคู่' (二簋) ที่ถูกต้องในความหมายของ King Wen ซึ่งกำลังสื่อสารกับพวกเราผ่านถ้อยคำในบทนี้จึงควรจะเป็น 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) กับ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) เท่านั้น !!?? ... ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า 'จิตใจที่พร้อมจะโอบอุ้ม' (有孚) ทุกภาระกิจและผู้คน โดย 'ไม่อาจอัดแน่นไปด้วยความดูหมิ่นดูแคลน' (無咎) ใดๆ ย่อมคล้ายดั่งภาชนะพื้นๆ ที่จักสานด้วยเพียงไม้ไผ่ธรรมดา (簋) แต่สามารถ (可) ใช้ประโยชน์เพื่อ (用) การถวายความสักการะ (享) แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ... โฮะ ... โป๊ะเชะ !!! ... :D

สรุปเลยแล้วกัน ... :) ... King Wen ให้นิยามแก่ 損 (sǔn, สุ่น) ว่าอย่างนี้ครับ ... 'ความพร้อมที่จะโอบอุ้มอุปถัมภ์ (有孚) คือปฐมปัจจัย (元) แห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) ความไม่ดูหมิ่นดูแคลน (無咎) ต่อสิ่งใดๆ คือข้อปฏิบัติพื้นฐานแห่งความมีคุณธรรม (可貞) ทุกพฤติกรรมที่มุ่งกระทำ (利) ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต้องมีผลสนอง (有攸往) ... ถามว่า ... การปฏิบัติเยี่ยงใดจึงจะเกิดคุณประโยชน์ ? (曷之用) ... ตอบว่า ... โอบอุ้มด้วยความเคารพ-ยกย่องด้วยการอุปถัมภ์ คือสองสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่างประสานสอดคล้อง (二簋) จึงจะสามารถนับเป็นการอุทิศ (可用享) เพื่อความมีคุณประโยชน์อย่างแท้จริง' ... 'การลดความสำคัญตน' จึงหมายถึง 'การประกอบกรรมดีเพื่อความดี' มิใช่ 'การประกอบกรรมดีเพื่อเสริมสร้างอัตตาตน' และยิ่งมิใช่ 'การเหยีบย่ำทำลายตนเองให้ตกต่ำ' เพียงเพื่อหวังจะ 'เรียกร้องความสนใจ' จากทุกผู้คนด้วย ... :)

... โฮ๋ย !! ... ใจคอจะไม่ยอมบันทึกอะไรให้คนอื่นเขา 'ตีความ' กันง่ายๆ กว่านี้รึไงก็ไม่รู้แฮะ ??!! ... :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

已事遄往無咎酌損之
yǐ shì chuán wǎng wú jiù zhuó sǔn zhī
อี่ ษื้ฌ๋วน หฺวั่ง อู๋ จิ้ว จั๋ว สุ่น จื



已 อ่านว่า yǐ (อี่) แปลว่า 'ในที่สุด', 'สิ้นสุด', 'บั้นปลาย', หรือ 'ทำให้เสร็จสิ้น', 'ทำให้สิ้นสุด', หรือ 'ทำให้จบ'

遄 อ่านว่า chuán (ฌ๋วน) ปรกติจะแปลว่า 'คล่องแคล่ว', 'รวดเร็ว' ; ซึ่งก็ทำให้บางครั้งอาจจะหมายถึง 'เร่งรีบ' ได้ด้วย

酌 อ่านว่า zhuó (จั๋ว) ถ้าว่ากันตาม 'ภาพอักษร' ก็คงต้องแปลว่า 'การรินสุรา' ซึ่งอาจจะมีความหมายคล้ายกับ 'ภาพอักษร' ของ 損 (sǔn, สุ่น) ที่ประกอบด้วย  'มือ' (手) ถือ 'ภาชนะ' (貝) ไว้แล้วรินออกจาก 'ปาก' (口) ซึ่งก็เลยทำให้ 損 (sǔn, สุ่น) มีความหมายว่า 'ทำให้น้อยลง' ... แต่ 'ภาพอักษร' ของ 酌 (zhuó, จั๋ว) จะอยู่ในลักษณะของ 'การรินออกจากไหสุรา' ซึ่งมักจะได้ปริมาณที่มากกว่า 'การรินออกจากจอกสุรา' ธรรมดา แต่ต้องใช้ความระมัดระวังที่มากกว่าด้วย ดังนั้น 酌 (zhuó, จั๋ว) จึงมีความหมายว่า 'ทุ่มเท', 'ให้ความเอาใจใส่', 'มีวิจารณญาณ', หรือ 'มีสติสัมปชัญญะ' ได้ด้วย ... ซึ่งก็เป็นคนละลักษณะกับ 'การกระทำอย่างหักโหม' นะ เพราะแบบหลังนี้มักจะออกการบ้าเลือด หรือบ้าบิ่นจนบ้าบอแบบไร้สติไปเลย ... :D

สำหรับ 損 (sǔn, สุ่น) ที่เห็นในบทนี้ก็คงจะไม่แปลว่า 'ทำให้น้อยลง' เฉยๆ ล่ะครับ เพราะความหมายที่อุตส่าห์แคะกันมาซะยาวเหยียดก็คือ 'การลดความสำคัญตน' หรือ 'การไม่ยึดถือเหตุผลของตนเป็นใหญ่' นั่นเอง

เมื่อ King Wen กำหนด 'กรอบของเรื่อง' เอาไว้ให้จำกัดอยู่แค่ประเด็นของ 'การลดความสำคัญตน' ความหมายที่ 'จิวกง' น่าจะสานต่อในวรรคแรกนี้ก็น่าจะหมายถึง 'การดำเนินภาระกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเสร็จสิ้น (已事) ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างฉับพลันทันที (遄往) โดยไม่มัวแต่อิดออดค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) คือการแสดงออกซึ่งความทุ่มเทเอาใจใส่ (酌) ต่อหน้าที่ โดยไม่สำคัญตน (損之) ว่ามีความโดดเด่นเหนือกว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมาย'

ผมคิดว่ามันคือประเด็นที่พวกเราเกือบทุกคนคงต้องเคยเห็นตัวอย่างมาก่อนแล้วทั้งนั้น เพราะมนุษย์ประเภทที่เอาแต่ค่อนขอดว่าหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายมานั้นช่างกระจอกงอกง่อยด้อยกว่าศักยภาพของตัวเองจนไม่น่าสนใจ ซ้ำยังวิพากษ์วิจารณ์หาว่าผู้อื่นปฏิบัติต่อตนอย่างไม่เหมาะสม เลยพาลไม่ยอมทำงานทำการให้สำเร็จลุล่วงตามที่ควรจะเป็น ... นี่คือ 'ทุลักษณะ' ของ 'คนอวดดี' ที่ 'ไม่มีความรับผิดชอบ' ... และคนที่เคยอ่าน 'สามก๊ก' มาก่อนก็อาจจะจำกันได้ว่า 'บังทอง' คือ 'บุคคลอัปลักษณ์' ที่ต้องตายโหงเพราะ 'ความอวดดี' ประเภทที่ว่านี้ โดย 'เล่าปี่' นั่นแหละที่อาจจะเจตนายืมมือข้าศึกเพื่อกำจัดคนประเภทนี้ออกไปให้พ้นๆ กองทัพของตัวเองในเวลานั้น !!? ... :D

 

สอง หยาง :

利貞征凶弗損益之
lì zhēn zhēng xiōng fú sǔn yì zhī
ลี่ เจิน เจิง เซฺวิง ฟู๋ สุ่น อี้ จื



征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

弗 อ่านว่า fú (ฟู๋) เป็นภาพอักษรที่หมายถึง 'การนำเชือกมามัดวัตถุหลายๆ ชิ้นที่กระจัดกระจายให้อยู่ติดกัน' จึงมีความเดิมว่า 'ดัดให้ตรง', หรือ 'ทำให้ถูกต้อง', ซึ่งก็อาจจะทำให้แผลงเป็น 'ไม่ยอม', 'ไม่เชื่อฟัง', หรือ 'ไม่ยินยอมพร้อมใจ' เพราะจะต้องถูก 'จับมัด', หรือ 'ถูกดัดให้ตรง' ; บางครั้งเมื่อใช้เป็นคำที่บ่งบอกอาการจะมีความหมายเดียวกับ 沸 (fèi, เฟ่ย) ที่หมายถึง 'การพวยพุ่งของน้ำ', 'น้ำพุ' หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะ 'การเดือดของน้ำ' หรือ 'แรงดัน' ; และยังมีความหมายว่า 'หนักใจ' เช่นเดียวกับ 怫 (fú, ฟู๋) ซึ่งเป็นอาการที่ 'ไม่สามารถตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง', หรือ 'ลังเลใจ', 'ไม่มั่นใจ' ... จนในที่สุดก็เลยมีความเชิงปฏิเสธว่า 'ไม่', 'ไม่เอา', 'ไม่ยอม' เช่นเดียวกับตัว 不 (bù, ปู้) ไปเลย

เดี๋ยวค่อยอธิบายเหตุผลของ 'การตีความ' นะ !! ... ผมมีความรู้สึกว่า วรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะต้องหมายถึง 'ความฉลาดหลักแหลมและการทุ่มเทเอาใจใส่ (利) ย่อมเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นที่แน่นแฟ้น (貞, คือมีความเป็นระบบระเบียบของหลักการ) ความดื้อด้านและการดันทุรัง (征) ย่อมบ่อนทำลายทุกสิ่งจนย่อยยับ (凶) หลักสำคัญจึงอยู่ที่กรอบเกณฑ์แห่งความเข้าใจที่ถูกต้อง (弗) ของการลดให้เบาบาง (損) และการเพิ่มให้เข้มข้น (益) สำหรับ (之) ทุกๆ สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ' ...

ผมมีความรู้สึกว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการขยายความในประเด็นของคำว่า 遄 (chuán,ฌ๋วน) และ 酌 (zhuó, จั๋ว) ที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่หนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่า 'การลงมือปฏิบัติโดยเร็ว' กับ 'ความทุ่มเท' ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยคำว่า 遄 (chuán,ฌ๋วน) นั้นมีความหมายในลักษณะของ 'ความไม่อิดออดรีรอ' มากกว่าจะหมายถึง 'ความลุกลี้ลุกลน' (疾) ส่วนคำว่า 酌 (zhuó, จั๋ว) ก็จะมีลักษณะของ 'การทุ่มเทความเอาใจใส่' มากกว่าจะหมายถึง 'การหักหาญด้วยกำลัง' (寇) ... ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง คำว่า 利 (lì, ลี่) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในความหมายของ 'ความทุ่มเท' และ 'ความเอาใจใส่' โดยคำว่า 征 (zhēng, เจิง) ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายของ 'การหักโหมด้วยกำลัง' ... แล้ว 'จิวกง' ก็ระบุลงไปเลยว่า ถ้า 利 (lì, ลี่) ก็จะ 貞 (zhēn, เจิน) แต่ถ้า 征 (zhēng, เจิง) ก็จะ  (xiōng, เซฺวิง) ... ประมาณนั้น ... :P ...

สำหรับคำว่า 貞 (zhēn, เจิน) นั้น ผมดัดแปลงความหมายของมันเล็กน้อยในวรรคนี้ โดยเปลี่ยนจากที่เคยให้ความหมายไว้ในลักษณะของ 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม', 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity, virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' ... มาเป็น 'ความมีปึกแผ่นที่แน่นแฟ้น' เพราะโดยลักษณะของ 貞 (zhēn, เจิน) นั้น ค่อนข้างที่จะสื่อไปในเรื่องของ 'คุณธรรมทางสังคม' มากกว่าจะเป็นเรื่องของ 'จริยธรรมส่วนบุคคล' นั่นเอง ... ทั้งนี้ ... หากสมาชิกแต่ละคนในสังคมมี 'ความรับผิดชอบต่อหน้าที่', มี 'ความเข้าใจในบทบาทที่แตกต่าง', และรู้จักมอบ 'ความยอมรับในผู้อื่น' อย่างปราศจาก 'เงื่อนไขแห่งอัตตา' สังคมนั้นๆ ก็ย่อมจะมี 'ความเป็นปึกแผ่น' และสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยไม่ต้องมี 'การแก่งแย่งแข่งดี' ที่รังแต่จะก่อปัญหาต่างๆ ในระยะยาว ... การที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 貞 (zhēn, เจิน) มาเป็น 'คู่ตรงข้าม' ของ  (xiōng, เซฺวิง) ที่หมายถึง 'ความฉิบหายวุ่นวาย' ในวรรคนี้ จึงเป็นคู่ที่ลงตัวมากๆ อีกคู่หนึ่งเลยทีเดียว ... :)

ความละม้ายคล้ายคลึงกันทางเปลือกนอก แต่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญของ 利 (lì, ลี่) กับ 征 (zhēng, เจิง) นี้เองที่ 'จิวกง' หยิบยกเอาคำว่า 弗 (fú, ฟู๋) มาใช้อย่างพอเหมาะพอดี โดยผมไม่ได้มองคำว่า 弗 (fú, ฟู๋) ในความหมายว่า 'ไม่' แต่ผมมองคำนี้ในความหมายของ 'ความไม่ชัดเจน' ที่ต้อง 'ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง' ว่า อะไรที่ควรจะลดลงให้เบาบาง (損) หรืออะไรที่ควรจะเพิ่มขึ้นให้เข้มข้น (益) โดยเราจะต้องมี 'นิยามที่ถูกต้องและเหมาะสม' สำหรับพฤติกรรมทั้งสองลักษณะนั้นด้วยเสมอ !! ... ดังนั้น ... วลีท้ายวรรคที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 弗損益之 (fú sǔn yì zhī, ฟู๋ สุ่น อี้ จือ) จึงไม่น่าจะแปลว่า 'ไม่ลดคือเพิ่ม' หรือ 'ไม่ลด-ไม่เพิ่ม' ตามตัวอักษรที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่ ... เพราะมันควรจะหมายถึง 'การพิจารณาเปรียบเทียบ (弗, คือนำมาประกบคู่กัน) ระหว่างแนวทางที่เป็นคุณ (貞) กับวิถีทางที่นำไปสู่หายนะ (凶) เพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินการอย่างใช้วิจารณญาณว่า ควรจะลด (損) หรือควรจะเพิ่ม (益) เหตุปัจจัยใดบ้าง และควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปจึงจะเหมาะสมแก่กาละ-เทศะที่กำลังเผชิญอยู่'

 

สาม หยิน :

三人行則損一人一人行則得其友
sān rén xíng zé sǔn yī rén yī rén xíng zé dé qí yǒu
ซัน เญิ๋น ซิ๋ง เจ๋อ สุ่น อี เญิ๋น อี เญิ๋น ซิ๋ง เจ๋อ เต๋อ ชี๋ โหฺย่ว



จริงๆ ก็แทบจะไม่มีคำไหนแปลกใหม่เลยนะครับสำหรับถ้อยคำที่เห็นในวรรคนี้ แต่ผมมองว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่ในถ้อยคำที่แปลได้หลายความหมายบางคำ ซึ่งมีการใช้ซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่จำเป็นต้องยึดอยู่กับความหมายใดเพียงความหมายเดียว

三 (sān, ซัน, ซาน) เคยเล่าไว้หลายทีแล้วว่า นอกจากมันจะหมายถึง 'ตัวเลขสาม', หรือ 'จำนวนสาม' แล้ว มันยังสามารถแปลว่า 'มาก', หรือ 'บ่อย' ได้ด้วย ; ในกรณีของคำว่า 三人 (sān rén, ซัน เญิ๋น) จึงไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'สามคน' เสมอไป เพราะมันอาจจะหมายถึง 众 (zhòng, จ้ง) ที่หมายถึง 'คนจำนวนมาก', 'ประชาชน' หรือ 'ฝูงชน' ด้วยก็ได้ ... ;)

人 (rén, เญิ๋น) มีความหมายโดยทั่วๆ ไปว่า 'คน', หรือ 'มนุษย์' แต่คำนี้ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 仁 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คุณธรรม' หรือ 'มนุษยธรรม' ก็ได้

行 (xíng, ซิ๋ง) ปรกติจะแปลว่า 'ทาง', 'เดิน', หรือ 'ดำเนิน' ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งในความหมายของ 'การดำเนินงาน', หรือ 'การดำเนินชีวิต' ; บางทีก็ยังแปลว่า 'เป็นไปได้', หรือ 'มีความสามารถ' ; และโดยลักษณะของ 'ทาง' นั้นเองมันจึงแผลงความหมายเป็น 'แนว', หรือ 'แถว' จนสามารถสื่อไปถึง 'แถวทหาร' หรือ 'กองทหาร' ได้อีกต่างหาก ; ในขณะที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า 'โหวงเฮ้ง' หรือ 'อู่ซิ๋ง' (五行) ที่หมายถึง 'เบญจธาตุแห่งสรรพสิ่ง' มันก็คือ 行 (xíng, ซิ๋ง) ตัวเดียวกันนี่แหละที่สื่อไปในความหมายว่า 'องค์ประกอบ', 'โครงสร้าง', หรือ 'ลักษณะ' ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล

則 (zé, เจ๋อ) แปลว่า 'เงื่อนไข', 'มาตรฐาน', 'กฎระเบียบ', 'ปฏิบัติตาม' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'ผลลัพธ์' ได้อีกต่างหาก

一 (yī, อี) นี่ก็สามารถแปลว่า 'ตัวเลขหนึ่ง', หรือ 'จำนวนหนึ่ง' โดยที่บางครั้งก็สามารถใช้ในลักษณะของ 'แต่ละ..' ต่างๆ เช่น 'แต่ละชิ้น', 'แต่ละอัน', 'แต่ละคน', 'แต่ละวัน' ; บางทีก็ยังหมายถึง 'หนึ่งเดียว', 'เดี่ยว', หรือ 'ความเป็นเอกเทศ', 'ความเป็นปัจเจก' ได้อีกต่างหาก ; คำว่า 一人 (yī rén, อี เญิ๋น) จึงอาจจะหมายถึง 'ทีละคน', 'แต่ละคน' โดยที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'หนึ่งคน' อย่างที่เห็นในตำราทั่วๆ ไป

หลายตำราให้ความหมายของวรรคนี้ตามตัวอักษรในทำนองว่า 'สามคนเดินมาหักออกไปหนึ่งคน หนึ่งคนเดินมาพานพบกับมิตรสหาย' ??! ... จากนั้นก็อธิบายการเคลื่อนย้ายของ 'เส้นหยิน-เส้นหยาง' ใน 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' อย่างเป็นตุเป็นตะซะยืดยาว ... โดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย !! ... :D ... ซึ่งผมกลับคิดว่า 'จิวกง' คงต้องการจะให้ถ้อยคำในวรรคนี้หมายถึง ... 'คนหมู่มาก (三人) ที่สามารถดำเนินงานร่วมกันได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การรู้จักละวางความสำคัญตน (損) ของแต่ละบุคคล (一人) ; คนแต่ละคน (一人) ที่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การได้รับ (得) ความอุปถัมภ์ค้ำชูจากหมู่มิตรสหาย (其友)' ...

ความหมายที่ต่อเนื่องมาจากวรรคที่หนึ่ง และวรรคที่สองก็คือ นอกจากเราจะต้องแสดงออกถึง 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' (酌) และ 'ความมีวิจารณญาณ' (弗) ใน 'การทุ่มเทความพยายาม' (利) แล้ว เราจำเป็นต้องมี 'สำนึกแห่งชุมชน' ด้วยเสมอ ... เพราะ ... การจะดำเนินกิจกรรมใดๆ ให้ประสบผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองแก่สังคมโดยรวมนั้น ย่อมต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกๆ ฝ่ายที่ไม่ยึดติดอยู่กับผลประโยชน์เพียงเฉพาะของตน ... และเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตหรือหน้าที่การงาน โดยไม่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูอย่างมีความรับผิดชอบจากบุคคลอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน ... ในโลกของความเป็นจริงจึงไม่เคยปรากฏ Superhero ใดๆ ที่จะสามารถเผยอผยองอย่างลำพองในความสามารถเฉพาะตนได้เลยแม้แต่รายเดียว !! ... :)

 

สี่ หยิน :

損其疾使遄有喜無咎
sǔn qí jí shǐ chuán yǒu xǐ wú jiù
สุ่น ชี๋ จี๋ ษื่ฌ๋วน โหฺย่ว สี่ อู๋ จิ้ว



疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

使 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) คำนี้แปลได้หลายอย่าง โดยจะหมายถึง 'ออกคำสั่งให้ดำเนินงาน', หรือ 'มอบหมายงาน' ก็ได้ ; จะแปลว่า 'ทำให้เกิดขึ้น', หรือ 'ใช้ประโยชน์' ก็ได้ ; และอาจจะใช้ในความหมายว่า 'มีศักยภาพ' หรือ 'สามารถเป็นไปได้' ได้อีกต่างหาก

ผมเลือกพิจารณาวรรคนี้ด้วยความหมายที่ต่อเนื่องมาจากวรรคที่สามแล้วกัน ... :) ... เมื่อเรามี 'จิตสำนึกแห่งชุมชน' ว่า 'คนหมู่มาก (三人) ที่สามารถดำเนินงานร่วมกันได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การรู้จักละวางความสำคัญตน (損) ของแต่ละบุคคล (一人) ; คนแต่ละคน (一人) ที่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การได้รับ (得) ความอุปถัมภ์ค้ำชูจากหมู่มิตรสหาย (其友)' ... ถ้อยคำที่ควรจะต่อเนื่องกันลงมาก็คือ 'การรู้จักลดละ (損) ความคับข้องใจจากความทะยานอยากของแต่ละฝ่าย (其疾) ให้เบาบางลงไป ย่อมเอื้ออำนวยให้เกิด (使) ความเบิกบานใจในการเร่งมือปฏิบัติงาน (遄有喜) โดยไม่ต้องสูญเสียเวลาไปกับการค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) อย่างไร้ประโยชน์ใดๆ' ... ลงตัวเปีะ !!! ... ;)

 

ห้า หยิน :

或益之十朋之龜弗克違元吉
huò yì zhī shí péng zhī guī fú kè wéi yuán jí
ฮั่ว อี้ จืซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย ฟู๋ เค่อ เว๋ย เยฺวี๋ยน จี๋



或 (huò, ฮั่ว) แปลว่า 'อาจจะ', 'หรือ', 'ก็ได้', ในลักษณะว่า 'เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้' จึงทำให้บางครั้งก็อาจจะกลายเป็น 'ไม่อย่างนั้น (ก็อย่างนี้)' ; แล้วก็เลยเหมือนกับ 'ไม่เด็ดขาด' หรือ 'ไม่ชัดเจน' ไป

十 (shí, ซื๋อ) ปรกติจะแปลว่า 'จำนวนสิบ' ; แต่ในภาษาจีนบางครั้งจะหมายถึง 'สิบส่วน' ซึ่งมีความหมายว่า 'ครบถ้วน', 'มากมาย', หรือ 'เต็มที่' ; เลยสามารถแผลงความหมายเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ตลอดเวลา' ; และแปลว่า 'เนิ่นนาน' ก็ยังได้

龜 (guī, กุย) ปรกติจะหมายถึง 'เต่า' หรือสิ่งใดๆ ที่ 'เกี่ยวกับเต่า' เช่น 'กระดองเต่า' หรือ 'ความเชื่องช้าเยี่ยงเต่า' ; ความหมายข้างเคียงจึงหมายถึง 'เก่าแก่', 'โบราณ', 'นมนานกาเล' เพราะหมายถึงความ 'มีอายุยืนยาว' ของเต่า ; ถ้าใช้เป็น 'คำสแลง' จะหมายถึง 'อวัยวะเพศชาย' ได้ด้วย เพราะมันสามารถหมายถึง 'โผล่ออกมา', 'ยื่นออกมา' ได้ (อันนี้ต้องจินตนาการเอาเอง ... :D ...) ; ถ้าออกเสียงว่า jün (จฺวิน) จะมีความหมายเหมือนกับ 皸 (jün, จฺวิน) ที่แปลว่า 'ปริแตก', 'แตกระแหง', หรือ 'ทำให้แตกออก'

克 (kè, เค่อ) แปลว่า 'มีความสามารถ' (competence), 'สามารถ', 'เป็นไปได้' ; แปลว่า 'ชนะ', 'กำราบ', 'ทำให้พ่ายแพ้' จึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' หรือ 'ยับยั้ง' เช่น 'ควบคุมความประพฤติ (ของตัวเอง)' และยังใช้ในความหมายว่า 'จำกัด' เช่น 'กำหนดเส้นตาย' ที่เป็น 'การจำกัดเวลา' ก็ได้ด้วย

違 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'ปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ', ถึงขนาดว่า 'หันหลังให้' หรือ 'หันหน้าไปทางอื่น' เลยด้วยซ้ำ ; บางทีจึงแปลว่า 'ต่อต้าน', 'ขัดขืน', 'ละเมิด' หรือไม่ก็ 'ฝ่าฝืน' ไปเลย ; ความหมายอื่นๆ ก็จะออกมาในแนวว่า 'แยกทางกัน', 'ปลีกตัวออก', ซึ่งก็เป็นเพราะ 'ความแตกต่าง' จนกลายเป็น 'ความแตกแยก' กันไป

ปรากฏว่าแคะความหมายออกมาทีละตัวแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดีหรอกครับ ... :D ... โดยผมเชื่อว่า 'ปริศนา' น่าจะซ่อนอยู่ภายในวลี 十朋之龜 (shí péng zhī guī, ซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย) ที่เราแทบเดาไม่ออกเลยครับว่า 'จิวกง' ต้องการจะสื่อความหมายด้านใดที่เกี่ยวกับ 'เต่า' ในกรณีนี้ ...??!! ...

ตลอดเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ปรากฏอักษร 龜 (guī, กุย) เพียง 3 ครั้งเท่านั้นคือในบทที่ยี่สิบเจ็ด, บทที่สี่สิบเอ็ด, และบทที่สี่สิบสอง โดยผมให้ความหมายของ 龜 (guī, กุย) ในบทที่ยี่สิบเจ็ดว่า 'สืบทอดกันมาแต่โบราณ' หรือ 'ความเก่าแก่' นั่นเอง ... แต่ที่เหลืออีก 2 ใน 3 ครั้งที่ว่านี้ กลับถูกใช้ในวลีที่มีถ้อยคำเหมือนกันเปี๊ยบ 100% ซึ่งเป็น 'ปริศนา' ที่กำลังมึนอยู่ในขณะนี้ ... :P

ความจริงแล้ว 龜 (guī, กุย) สามารถที่จะใช้ในความหมายว่า 'มีเปลือกแข็ง', หรือ 'แข็งนอกอ่อนใน' ตามลักษณะโครงสร้างของ 'กระดองเต่า' ได้ด้วย ซึ่งก็อาจจะทำให้มันสามารถหมายถึง 'ห่อหุ้มเอาไว้ภายใน' หรือ 'ปกป้องเอาไว้ภายใน' ก็ได้ ... และนั่นจะทำให้มันมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายหนึ่งของ 孚 (fú, ฟู๋) คือ 'การโอบอุ้ม' หรือ 'การฟูมฟัก' ที่ King Wen ระบุว่า 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) หรือเป็น 'ปฐมปัจจัยแห่งความเจริญรุ่งเรือง' ... ซึ่ง ... 'จิวกง' ก็ทำเหมือนกับ 'จงใจ' ปิดท้ายวลีนี้ด้วยถ้อยคำเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ??!!?

นอกจากนั้นแล้ว 龜 (guī, กุย) ยังสามารถถูกใช้ในความหมายว่า 'เนินดิน' หรือ 'ภูเขา' ที่มีสัณฐานคล้ายกับ 'กระดองเต่า' ซึ่งก็จะทำให้มันสามารถถูก 'ตีความ' ให้ไปใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ที่เป็นสัญลักษณ์ส่วนบนของ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' นี้ ... แต่ ... ผมอยากจะตัดประเด็นเรื่อง 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ออกไป เนื่องจากเราจะไม่เห็นสัญลักษณ์ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ในบทที่สี่สิบสอง ซึ่งมีถ้อยคำแบบเดียวกันนี้ปรากฏอยู่อีกครั้งหนึ่ง ... อย่างไรก็ตาม 'เนินดิน' หรือ 'ภูเขา' ที่มีสัณฐานคล้ายกับ 'กระดองเต่า' นั้นจะมีลักษณะ 'ฐานเบื้องล่างกว้างใหญ่กว่ายอดด้านบน' ก็อาจจะสะท้อนความหมายบางอย่างที่สามารถ 'ตีความ' ไปในแง่ของการปกครอง หรือการผูกสัมพันธ์ได้ไม่ยากนัก ... :)

ความหมายที่แปลกๆ ของ 龜 (guī, กุย) ก็ยังมีที่หมายถึง 'ความรู้', หรือ 'บทเรียน' ซึ่ง 'สืบทอดกันมาจากอดีต' ได้ด้วย เพราะ 'กระดองเต่า' คือวัสดุเพื่อการบันทึกข้อความต่างๆ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของชนชาติจีน ถึงกับมีบางตำราอ้างว่า 十朋之龜 (shí péng zhī guī, ซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย) หมายถึง 'ความรู้สิบประการ' หรือ 'ทศวิทยา' อันประกอบด้วย 神龜 (shén guī, เซิ๋น กุย, เทววิทยา), 靈龜 (lìng guī, ลิ่ง กุย, ปรัชญา), 攝龜 (shè guī, เษ้อ กุย, การปกครอง), 寶龜 (bǎo guī, เป่า กุย, โภคทรัพย์ศาสตร์), 文龜 (wén guī, เวิ๋น กุย, อักษรศาสตร์), 筮龜 (shì guī, ซื่อ กุย, โหราศาสตร์), 山龜 (shān guī, ซัน กุย, ธรณีวิทยา), 澤龜 (zé guī, เจ๋อ กุย, อุทกศาสตร์), 水龜 (shuǐ guī, ษุ่ย กุย, ชลประทาน), และ 火龜 (huǒ guī, หั่ว กุย, พลังงาน) ... ?!?! ... ซึ่งผมคิดว่ามันคงจะเลยเถิดไปกันใหญ่แล้วล่ะ เพราะผมก็เดาๆ เอาเองจากชื่อเรียกแต่ละชื่อเท่านั้นว่า มันคงจะหมายถึงศาสตร์ประเภทต่างๆ ตามความหมายของคำเหล่านั้น !?!? ... :D

แล้วก็มีถ้อยคำหนึ่งในภาษาจีนที่ใช้คำว่า 龜 (guī, กุย) ได้อย่างน่าสนใจมากด้วยนะครับว่า ... 天用莫如龍,地用莫如馬,人用莫如龜 (tiān yòng mò rú lóng,dì yòng mò rú mǎ,rén yòng mò rú guī, เทียน โยฺว่ง ม่อ ญู ล๋ง, ตี้ โยฺว่ง ม่อ ญู๋ หฺม่า, เญิ๋น โยฺว่ง ม่อ ญู๋ กุย) ... ซึ่งความหมายก็น่าจะประมาณว่า 'ฟ้ามิอาจปฏิบัติตนเยี่ยงมังกร, ดินมิอาจประพฤติตนเยี่ยงม้า, คนมิอาจดำรงตนเยี่ยงเต่า' ... โดยผม 'เดา' ของผมเองต่อไปว่า มันควรจะหมายถึง 'ผู้นำมิควรลุแก่อำนาจ, ประชาราษฎร์มิควรคะนองในศักดิ์ศรี, คนดีมิควรยึดติดกับการพิทักษ์ตน' !!?!! ... ซึ่งความหมายในแง่มุมนี้ก็จะทำให้ 龜 (guī, กุย) หมายถึง 'การซุกหัวซ่อนหาง' หรือ 'การปกปักษ์รักษาอัตตาตนไว้อย่างเหนียวแน่น' นั่นเอง !!?? ... และจะส่งผลให้ 十朋之龜 (shí péng zhī guī, ซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย) หมายถึง 'ความเป็นปัจเจกบุคคลของมิตรสหายทั้งหลาย' ไปด้วย ?!! ... มั่วได้น่าสนใจ !!!?? ... :D

ย้อนกลับไปดูความหมายของวรรคที่สองซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคนี้อีกครั้งนะครับ ... 'ความฉลาดหลักแหลมและการทุ่มเทเอาใจใส่ (利) ย่อมเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นที่แน่นแฟ้น (貞, คือมีความเป็นระบบระเบียบของหลักการ) ความดื้อด้านและการดันทุรัง (征) ย่อมบ่อนทำลายทุกสิ่งจนย่อยยับ (凶) หลักสำคัญจึงอยู่ที่กรอบเกณฑ์แห่งความเข้าใจที่ถูกต้อง (弗) ของการลดให้เบาบาง (損) และการเพิ่มให้เข้มข้น (益) สำหรับ (之) ทุกๆ สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ' ... ถ้อยคำที่ควรจะต่อออกมาก็คือ 'แม้นว่า (或) มีความมุ่งหวังจะเสริมสร้างประโยชน์ให้เด่นชัด (益之) ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัยความมีวิจารญาณในการกำกับ (弗) เพื่อส่งเสริม (克) หรือยับยั้ง (違) จึงจะยังประโยชน์แก่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง (元吉)' ... โดยผมคิดว่า นี่ก็คือ 'การโอบอุ้ม' (有孚) ชนิดที่จะเป็น 'ปฐมปัจจัยแห่งความรุ่งเรือง' (元吉) ขนานแท้แล้วล่ะ !!? ... ;)

ผมมองว่า 'การอุปถัมภ์' (孚) อย่างตะพึดตะพือโดยไม่สนใจถึง 'ความเหมาะสม' ใดๆ เลยนั้น คงไม่ต่างไปจากการปลูกฝังเด็กด้วย 'การตามใจ' ที่รังแต่จะสร้าง 'ความเคยตัว' ของ 'เด็กเอาแต่ใจ' ขึ้นมาในระบบงาน แทนที่จะเป็น 'การพัฒนา' ให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น ... ในขณะที่ 'การตำหนิติเตียน' (咎) ก็มีส่วนในการทำลาย 'ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว' (龜) ของแต่ละบุคคลให้ด้อยคุณภาพลงไปอย่างน่าเสียดาย ... ผู้นำที่ดีจึงต้องใช้วิจารณญาณที่บริสุทธิ์ในการส่งเสริม (有孚) เพื่อให้เกิดการประสานศักยภาพด้านบวก (益) ของแต่ละปัจเจกบุคคล (十朋之龜) อันจะเป็นการลบล้างศักยภาพด้านลบ (損) ที่ยังมีอยู่ให้เบาบางลงไป โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวคำตำหนิติเตียนใดๆ (無咎) ให้ใครต่อใครต้องต้องเสียขวัญ และกำลังใจอย่างไม่จำเป็น ...

ส่วนในมุมที่มองให้คำว่า 龜 (guī, กุย) หมายถึง 'ความรู้' หรือ 'วิทยาการ' ต่างๆ นั้นก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ 龜 (guī, กุย) สามารถแปลว่า 'เปลือกที่ห่อหุ้ม' ซึ่งอาจจะแผลงจนกลายเป็น 'ข้อจำกัด' ไปด้วยก็ได้ ... มันจะทำให้ดูคล้ายกับเป็นข้อขัดแย้งในคำแปลทั้งสองลักษณะที่ว่านั้นมั้ยล่ะ ?! ... แต่ผมเองกลับคิดว่ามันดูจะกลมกลืนกันดีอยู่ในระดับหนึ่ง ... :P ... เนื่องจาก 'วิทยาการ' ใดๆ ที่สามารถลงหลักปักฐานเป็น 'สาขาวิชา' ประเภทใดประเภทหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงนั้น มันเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมี 'การกำหนดกรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน' ของแต่ละ 'สาขาวิชา' ขึ้นมา เพื่อ 'จำกัดขอบเขต' ที่อยู่ใน 'ความสนใจศึกษา' ของสาขาวิชานั้นๆ ... เสมอ ... ซึ่งถ้าพิจารณาจากมุมมองที่ว่านี้ 'วิทยาการ' ต่างๆ ย่อมหมายถึง 'ข้อจำกัด' ที่เฉพาะเจาะจง อันเป็นบ่อเกิดแห่ง 'ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง' หรือ specialists ขึ้นในทุกๆ สังคม ... และจะทำให้ 十朋之龜 (shí péng zhī guī, ซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย) สามารถที่จะแปลว่า 'ข้อจำกัดของหมู่มิตรที่หลากหลาย' หรือ 'ความชำนาญเฉพาะทางที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล' ไปในทันที !!?

ด้วยเหตุนี้ การที่ผมเลือกใช้คำว่า 'ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว' มาแทนความหมายอันคลุมเครือของ 龜 (guī, กุย) นั้น จึงไม่ได้จำกัดความอยู่แค่อุปนิสัยใจคอ, หรือพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงออก, แต่ตั้งใจที่จะให้หมายถึง 'ทุกองค์ประกอบที่หล่อหลอมความเป็นปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ ขึ้นมา' ซึ่งก็จะต้องรวมไปถึง 'ความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง' ของบุคคลนั้นๆ ด้วยนั่นเอง ... การปฏิบัติงานร่วมกันกับคนหมู่มากนั้น จึงต้องรู้จักใช้วิจารณญาณ (弗) ในการเลือก 'เสริมสร้างศักยภาพด้านบวก' (益) ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องลดละ (損) ความดันทุรัง (征) กับสิ่งที่ตนไม่มีความชำนาญ ให้เป็นธุระหน้าที่ของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจมากกว่า โดยไม่ต้องอิดเอื้อนค่อนขอด (無咎) ใดๆ ... นี่ก็คือเหตุผลหลักที่ King Wen ระบุไว้ในถ้อยคำที่บันทึกว่า 'การลดความสำคัญตน' (損) ด้วย 'การยอมรับในผู้อื่น' อย่างผ่าเผยและจริงใจ (有孚) คือ 'หลักคิด' หรือ 'ทัศนคติ' ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ของการดำเนินไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (元吉) ... ไงล่ะ !!?!! ... ;)

 

หก หยาง :

弗損益之無咎貞吉利有攸往得臣無家
fú sǔn yì zhī wú jiù zhēn jí lì yǒu yōu wǎng dé chén wú jiā
ฟู๋ สุ่น อี้ จือ อู๋ จิ้ว เจิน จี๋ ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เต๋อ เฌิ๋น อู๋ เจีย



มาอย่างตุปัดตุเป๋จนถึงวรรคสุดท้ายจนได้ล่ะครับ ... ซึ่งถ้าเรา 'จำกัดความ' ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่วรรคต้นๆ เราก็คาดหวังไว้ได้เลยว่า วรรคสุดท้ายจะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เรา 'จำกัดความ' เอาไว้อย่างแน่นอน ... :D

เราเจอคำว่า 臣 (chén, เฌิ๋น) ครั้งแรกในบทที่สามสิบสาม โดยผมเล่าเอาไว้ว่าในตอนนั้นว่า ความหมายของมันคือ 'ทหาร', 'ขุนนาง' และอาจหมายถึง 'ข้าราชบริพาร (เพศชาย)' หรือ 'ข้าทาสบริวาร (เพศชาย)' ได้ด้วย ... บางครั้งจึงมีการใช้คำนี้เป็น 'สรรพนาม (เพศชาย)' แทนตัวของผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่า ... และบ่อยครั้งมากที่จะใช้เป็น 'สรรพนามแทนตนเอง' เพื่อแสดงความถ่อมตน

ส่วนคำว่า 家 (jiā, เจีย) แปลว่า 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ครอบครัว' ; 'สำนักศึกษา', 'แนวคิด', 'สาขาวิชา', 'ผู้ชำนาญการ (ในสาขาใดสาขาหนึ่ง)' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การอบรมเลี้ยงดูในบ้าน' ที่ตรงข้ามกับ 'การปล่อยไปตามยถากรรม' หรือ 'ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ' ซึ่งจะใช้คำว่า 野 (yě, เหฺยี่ย) ที่หมายถึง 'ป่า', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'เติบโตในป่า' หรือ 'เติบโตโดยไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน' ... นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจาก 家 (jiā, เจีย) หมายถึง 'บ้าน', หรือ 'ครอบครัว' ความหมายแฝงของมันก็คือ 'ความเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะตน', หรือ 'ที่ไม่ใช่ของสาธารณะ' ก็ได้ด้วย

ย้อนกลับไปดู 'คู่วลี' ของมันซึ่งก็คือวรรคที่หนึ่งอีกครั้งนะครับ ... 'การดำเนินภาระกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเสร็จสิ้น (已事) ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างฉับพลันทันที (遄往) โดยไม่มัวแต่อิดออดค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) คือการแสดงออกซึ่งความทุ่มเทเอาใจใส่ (酌) ต่อหน้าที่ โดยไม่สำคัญตน (損之) ว่ามีความโดดเด่นเหนือกว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมาย' ...

อย่างไรก็ตาม วลีที่ว่า 弗損益之 (fú sǔn yì zhī, ฟู๋ สุ่น อี้ จือ) นี้ก็คือคำเดียวกับที่เราพบในวรรคที่สอง ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'กรอบเกณฑ์แห่งความเข้าใจที่ถูกต้อง (弗) ของการลดให้เบาบาง (損) และการเพิ่มให้เข้มข้น (益) สำหรับ (之) ทุกๆ สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ' ... โดย 'จิวกง' เลือกหยิบยกประเด็นของ 益 (yì, อี้) มาขยายความไว้ในวรรคที่ห้า เพื่อจะไปรับกับประเด็นของ 有孚元吉 (yǒu fú yuán jí, โหฺย่ว ฟู๋ เยฺวี๋ยน จี๋) ที่ King Wen เปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก ... ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้า 'จิวกง' จะเอ่ยถึงประเด็นของ 無咎可貞 (wú jiù kě zhēn, อู๋ จิ้ว เข่อ เจิน) มาขยายความในวรรคถัดมา โดยการลอกวลีของ King Wen มาใช้แทบจะทั้งท่อนเลย ... 無咎貞吉利有攸往 (wú jiù zhēn jí lì yǒu yōu wǎng, อู๋ จิ้ว เจิน จี๋ ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) ...

แต่ถ้าเราทบทวนความหมายของถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ให้ดี เราก็คงจะเห็นอยู่แล้วว่า ลักษณะของ 'การดำเนินภาระกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเสร็จสิ้น (已事) ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างฉับพลันทันที (遄往) โดยไม่มัวแต่อิดออดค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์ (無咎)' ดังที่บรรยายไว้ในวรรคที่หนึ่งนั้น ก็คือหนึ่งในคุณลักษณะของ 'ความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนภาระกิจต่างๆ' ซึ่งก็คือ 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) นั่นเอง ... แล้วถ้าเราพิจารณาลักษณะของความประพฤติและหลักปฏิบัติที่ 'จิวกง' แนะนำเอาไว้ เราก็จะพบว่า สามวรรคแรกจะเป็นการเน้นไปที่ 'หลักปฏิบัติของผู้ที่ได้รับมอบหมาย' ซึ่งถูกกำกับไว้ด้วยสัญลักษณ์ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) หรือ 'ความเบิกบานใจ' ในขณะที่สามวรรคหลังจะเป็น 'หลักปฏิบัติของผู้บริหาร' ซึ่งกำกับด้วยสัญลักษณ์ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) อันเปรียบได้กับ 'ความหนักแน่นมั่นคง' หรือ 'ความเป็นเหตุเป็นผลของข้อเท็จจริง' ... ดังนั้น ในเมื่อ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) สำหรับ 'ผู้ปฏิบัติงาน' คือ 'ไม่อิดออดค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์' แต่สำหรับระดับ 'ผู้บริหาร' ก็น่าจะหมายถึง 'การไม่ว่ากล่าวด้วยคำตำหนิติเตียน' ... ด้วยลักษณะของการจำแนกออกเป็นสองส่วนที่ชัดเจนมากๆ นี้เอง ผมจึงอยากจะสรุปประเด็นในบทนี้ของ King Wen ว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) เป็นเรื่องของ 'ผู้ปฏิบัติหน้าที่' ในขณะที่ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) เป็นเรื่องของ 'ผู้บริหาร' ... และนี่ก็คือ 二簋可用享 (èr guǐ kě yòng xiǎng, เอ้อ กุ่ย เข่อ โยฺว่ง เสี่ยง) หรือ 'ทั้งสองฝ่ายย่อมสามารถอุทิศตนเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่กัน' ... !!!

ถ้าอย่างนั้น เราก็คงจะเห็นอะไรที่ชัดเจนขึ้นบ้าง หากเราหยิบยกเอาสาระของแต่ละวรรคแรกมาลำดับความหมายซะใหม่ ... (1) มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย .. (2) มีความมุ่งมั่นทุ่มเท แต่ไม่ดันทุรังอย่างดื้อด้าน .. (3) มีความเคารพในบทบาทหน้าที่ของผู้อื่น ... นี่คือสามคุณลักษณะที่พึงมีของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ... โดยสองคุณลักษณะแรกสำหรับ 'ผู้บริหาร' ในบทนี้ก็คือ (4) มุ่งเน้นที่การสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน .. (5) เลือกใช้คนให้เหมาะกับความรู้และศักยภาพที่แท้จริง ... และประเด็นสุดท้ายของบทนี้ก็คือ (6) 'การดำเนินงานอย่างคู่ขนานของการผ่อนปรนและการกระตุ้นเร้าดังที่ว่ามานี้ (弗損益之) จักต้องงดเว้นคำกล่าวบริภาษใดๆ (無咎) แต่ให้ใช้หลักคุณธรรม (貞) โน้มนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) การปฏิบัติงานที่ทุกฝ่ายทุ่มเทลงไป (利) จึงจะประสบผลสนอง (有攸往) การได้รับ (得) ยศศักดิ์บริวาร (臣) ย่อมมิใช่กรรมสิทธิ์ในครอบครองของผู้หนึ่งผู้ใด (無家) อย่างเฉพาะเจาะจง' ... ซึ่งเขียนให้สั้นๆ ก็จะเหลือแค่ว่า 'อย่ายกตนข่มท่าน' เนื่องจากอำนาจ-หน้าที่ ล้วนมีที่มาที่ไปจากความเหมาะสมของเหตุปัจจัยต่างๆ ประกอบกัน หาใช่สาระสำคัญที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะยึดถือเป็นของตัวของตนแต่ประการใดไม่ ... นี่เลย !!!?!? ... ;) ...



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :


'สุ่น' คือ การลดความสำคัญตน, ขุนเขาเหนือทะเลสาบ

'ความพร้อม' ที่จะ 'โอบอุ้มอุปถัมภ์' (有孚) คือ 'ปฐมปัจจัย' (元) แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ความ 'ไม่ดูหมิ่นดูแคลน' (無咎) ต่อสิ่งใดๆ คือ 'ข้อปฏิบัติพื้นฐาน' แห่ง 'ความมีคุณธรรม' (可貞) ทุก 'พฤติกรรมที่มุ่งกระทำ' (利) ล้วนเป็น 'เหตุปัจจัย' ที่ต้องมี 'ผลสนอง' (有攸往) ... ถามว่า ... การปฏิบัติเยี่ยงใดจึงจะเกิด 'คุณประโยชน์' ? (曷之用) ... ตอบว่า ... 'โอบอุ้มด้วยความเคารพ-ยกย่องด้วยการอุปถัมภ์' คือสองสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่าง 'ประสานสอดคล้อง' (二簋) จึงจะสามารถนับเป็น 'การอุทิศ' (可用享) เพื่อความมี 'คุณประโยชน์' อย่างแท้จริง
 

  • 'การดำเนินภาระกิจ' ที่ได้รับมอบหมายให้ 'สำเร็จเสร็จสิ้น' (已事) ด้วยการ 'ลงมือปฏิบัติ' อย่าง 'ฉับพลันทันที' (遄往) โดยไม่มัวแต่ 'อิดออดค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์' (無咎) คือการแสดงออกซึ่ง 'ความทุ่มเทเอาใจใส่' (酌) ต่อ 'หน้าที่' โดย 'ไม่สำคัญตน' (損之) ว่ามี 'ความโดดเด่น' เหนือกว่า 'สิ่งที่ได้รับมอบหมาย'
     
  • 'ความฉลาดหลักแหลม' และ 'การทุ่มเทเอาใจใส่' (利) ย่อม 'เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น' ที่แน่นแฟ้น (貞, คือมี 'ความเป็นระบบระเบียบ' ของ 'หลักการ') 'ความดื้อด้าน' และ 'การดันทุรัง' (征) ย่อม 'บ่อนทำลาย' ทุกสิ่งจน 'ย่อยยับ' (凶) หลักสำคัญจึงอยู่ที่ 'กรอบเกณฑ์' แห่ง 'ความเข้าใจที่ถูกต้อง' (弗) ของ 'การลดให้เบาบาง' (損) และ 'การเพิ่มให้เข้มข้น' (益) สำหรับ (之) ทุกๆ สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ
     
  • คนหมู่มาก (三人) ที่สามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การรู้จัก 'ละวางความสำคัญตน' (損) ของแต่ละบุคคล (一人) ; คนแต่ละคน (一人) ที่สามารถ 'ดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ ได้ (行) ย่อมเป็นเพราะ (則) การได้รับ (得) 'ความอุปถัมภ์ค้ำชู' จาก 'หมู่มิตรสหาย' (其友)'
     
  • การรู้จัก 'ลดละ' (損) 'ความคับข้องใจ' จาก 'ความทะยานอยาก' ของแต่ละฝ่าย (其疾) ให้เบาบางลงไป ย่อม 'เอื้ออำนวย' ให้เกิด (使) 'ความเบิกบานใจ' ใน 'การเร่งมือปฏิบัติงาน' (遄有喜) โดย 'ไม่ต้องสูญเสียเวลา' ไปกับ 'การค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์' (無咎) อย่างไร้ประโยชน์ใดๆ
     
  • แม้นว่า (或) มีความมุ่งหวังจะ 'เสริมสร้างประโยชน์' ให้เด่นชัด (益之) ความมี 'อัตลักษณ์เฉพาะตัว' ของ 'หมู่มิตร' ที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัย 'ความมีวิจารญาณ' ใน 'การกำกับ' (弗) เพื่อ 'ส่งเสริม' (克) หรือ 'ยับยั้ง' (違) จึงจะยังประโยชน์แก่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' อย่างแท้จริง (元吉)'
     
  • 'การดำเนินงาน' อย่างคู่ขนานของ 'การผ่อนปรน' และ 'การกระตุ้นเร้า' ดังที่ว่ามานี้ (弗損益之) จักต้อง 'งดเว้นคำกล่าวบริภาษ' ใดๆ (無咎) แต่ให้ใช้ 'หลักคุณธรรม' (貞) โน้มนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) 'ความทุ่มเท' (利) ใน 'การปฏิบัติงาน' จึงจะ 'ประสบผลสนอง' (有攸往) การได้รับ (得) ยศศักดิ์บริวาร (臣) ย่อม 'มิใช่กรรมสิทธิ์ในครอบครอง' ของผู้หนึ่งผู้ใด (無家) อย่างเฉพาะเจาะจง

     
  •  
  • หมายเหตุ : เป็นอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้ 'ตีความ' ตามความหมายของตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา จึงขอแทรกถ้อยคำจากต้นฉบับของ 'จิวกง' เอาไว้ระหว่างคำแปลทั้งหมด เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปแห่งความหมายที่ 'ตีความ' เอาไว้



The Organization Code :

'การลดความสำคัญตน' คือการยึดถือ 'หลักการ' และ 'เหตุผลตามข้อเท็จจริง' (☶) อยู่เหนือ 'ความพึงพอใจ' (☱) ของผู้ปฏิบัติงาน ; 'นโยบาย' จึงต้องมี 'ความชัดเจนและเข้มแข็ง' (⚌), มี 'การบริหารงาน' ที่ 'ยืดหยุ่นแต่หนักแน่น' (⚏), และต้องประกอบด้วย 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่ 'รอบคอบ-จริงจัง' (⚎)

'ความพร้อม' ที่จะ 'ปฏิบัติหน้าที่' ด้วย 'ความรับผิดชอบ' คือ 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; ความมี 'จิตสำนึก' ใน 'การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น' อย่าง 'ปราศจากอคติ' ที่ 'ดูหมิ่นดูแคลน' ต่อสิ่งใดๆ ย่อมเป็น 'บ่อกำเนิด' แห่ง 'หลักคุณธรรม' ใน 'สังคม' ที่จะทำให้ 'ความทุ่มเท' ทั้งหลาย 'สามารถบรรลุผล' ดังที่ได้ 'ตั้งปณิธาน' ไว้ ... อัน 'ความเคารพต่อหน้าที่ด้วยการลงมือปฏิบัติ' และ 'การให้เกียรติผู้อื่นด้วยการให้ความสนับสนุน' คือสิ่งที่พึงปฏิบัติอย่าง 'ประสานสอดคล้อง' เพื่อยัง 'ประโยชน์ที่แท้จริง' ให้เกิดขึ้นแก่ 'สังคมโดยรวม'
 

  • 'ความเคารพต่อหน้าที่' ย่อมแสดงออกโดย 'การทุ่มเทเอาใจใส่' ต่อ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' และพร้อมที่จะ 'ปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความตั้งใจ' เพื่อให้ 'สำเร็จเสร็จสิ้น' โดย 'ไม่อิดออดเกี่ยงงอน' หรือ 'ค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์' ด้วย 'ความสำคัญตน' ว่ามี 'ความโดดเด่น' เหนือกว่า 'สิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ'
     
  • 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ต่อ 'หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' ย่อมเสริมสร้าง 'วัฒนธรรม' แห่ง 'ความมีระบบระเบียบ' ที่ 'ชัดเจน' ; แต่ 'ความอวดดื้อถือดี' และ 'ความดันทุรัง' ย่อม 'รื้อทำลาย' ทุกสิ่งให้ 'พังพินาศย่อยยับ' ... 'การปฏิบัติงาน' ใดๆ ย่อมต้องอาศัย 'ความมีวิจารณญาณ' ที่ 'ละเอียดถี่ถ้วน' เป็น 'หลักสำคัญ' ใน 'การประพฤติปฏิบัติ' ไม่ใช่อาศัยเพียง 'ความหลงใหล' ใน 'ศักยภาพตน' เป็น 'บรรทัดฐาน'
     
  • การที่คนจำนวนมากสามารถ 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' จน 'ประสบผลสำเร็จ' ได้ 'อย่างราบรื่น' ย่อมเป็นเพราะ 'การรู้จักลดความสำคัญตน' ของแต่ละบุคคล ; การที่แต่ละบุคคลจะสามารถ 'ประสบความสำเร็จในชีวิต' ได้นั้น ย่อมต้องอาศัย 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' ของผู้คนที่หลากหลาย ... ในโลกของความเป็นจริง จึงไม่เคยปรากฏ 'สังคมที่รุ่งเรือง' ด้วย 'ความแตกแยก' และไม่เคยปรากฏผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถ 'ประสบความสำเร็จ' ได้เพียงลำพัง
     
  • สังคมที่มิได้ขับเคลื่อนด้วย 'ความเร่งเร้า' อันเนื่องมาจาก 'ความทะยานอยาก' ย่อมปราศจาก 'การแก่งแย่งแข่งดี' เพราะ 'ความริษยา' ... 'ความผาสุกรุ่งเรือง' ย่อมไม่อาจถือกำเนิดใน 'สังคมแห่งการยื้อแย่ง' แต่จะเจริญงอกงามใน 'สังคมแห่งการแบ่งปัน'
     
  • 'ศาสตร์' แต่ละแขนงล้วน 'สามารถพลิกแพลง' ภายใน 'ขอบเขตที่จำกัด' ; 'อัตลักษณ์' ของแต่ละ 'ปัจเจกบุคคล' ย่อม 'แตกต่าง' ด้วย 'ศักยภาพ' ที่ 'ไม่เท่าเทียมกัน' ... 'การปรับประยุกต์' เพื่อให้เกิด 'ประโยชน์สุข' แก่ 'ส่วนรวม' จึงต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ใน 'การส่งเสริม' หรือ 'การยับยั้งควบคุม' อย่างเหมาะสมแก่ 'กาละ-เทศะ' ด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' และ 'มั่นคง' ใน 'จุดมุ่งหมายที่แท้จริง'
     
  • 'ถ้อยคำตำหนิติเตียน' ย่อมปรากฏเมื่อยึดถือ 'อัตตา' เป็น 'บรรทัดฐาน' ; ผู้ที่ 'มั่นคงในหลักการ' จึงมุ่งเน้นเฉพาะ 'การให้คำชี้แนะ' เพื่อ 'เสริมสร้างความเข้าใจ' ใน 'หลักปฏิบัติ' ... 'ความยึดติดในอัตตา' ย่อมก่อเกิด 'ความรู้สึกพอใจ-ไม่พอใจ' ที่แสดงออกโดย 'ความยินดี-ยินร้าย' ; ผู้ที่ 'ปลอดพ้นจากอัตตา' ย่อมจะมุ่ง 'ปฏิบัติ' เพื่อ 'การพัฒนา' และ 'ความสำเร็จ' ใน 'หน้าที่การงาน' โดยปราศจากความคาดหวังใน 'การครอบครอง' สิ่งใดว่าเป็น 'ตัวตน-ของตน'


สังเกตมั้ยครับว่า ผมกำหนดให้ความหมายของ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ทั้งหมดในบทนี้อยู่ในขอบเขตของ 'การไม่ดูหมิ่นดูแคลน', 'การไม่วิพากษ์วิจารณ์', 'การไม่ตำหนิติเตียน', หรือ 'การไม่ค่อนขอดว่าร้าย' แทนที่จะให้มันหมายถึง 'ไม่มีความผิดพลาด' เหมือนในบางบทที่ผ่านๆ มา ?!?! ... ซึ่งก็คงต้องชี้แจงกันล่ะครับว่า ความหมายของ 損 (sǔn, สุ่น) ตามที่ผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การลดความสำคัญตน' นั่นแหละ คือ 'กรอบคิด' สำคัญที่ทำให้ความหมายของแต่ละวรรคถูกถ่ายทอดออกมาด้วยทิศทางอย่างที่เล่ามาทั้งหมด ... !!?!

โดยปรกติแล้ว 'คำยกย่องสรรเสริญ' หรือ 'คำตำหนิติเตียน' นั้น มักจะเป็นการแสดงออกของ 'อัตตา' โดยตรง เพื่อบ่งบอกถึง 'ความพอใจ-ไม่พอใจ' ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มา 'กระทบอารมณ์' ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ เสมอ ... การพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วย 'จิตใจที่โปร่งโล่ง' และ 'ไม่ด่วนตัดสิน' ด้วยการใช้ 'อัตตา' เป็น 'บรรทัดฐาน' ย่อมปราศจาก 'ความขุ่นหมองทางอารมณ์' อันเป็นมูลเหตุแห่ง 'คำค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์' หรือ 'คำตำหนิติเตียน' ทั้งปวง ... นั่นก็คือ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่ทำให้ 'ผู้น้อย' ไม่แสดงอาการ 'อิดออดโยกโย้' ต่อ 'หน้าที่' ที่ได้รับมอบหมาย ในขณะที่ 'ผู้ใหญ่' ก็จะไม่ 'กล่าวคำบริภาษ' ใดๆ เพียงเพราะ 'ความไม่สบอารมณ์แห่งอัตตา' หรือที่เรามักจะใช้คำสั้นๆ กันแค่ว่า 'ความไม่ถูกใจ' ... ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ความหมายของ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) จึงได้กลายเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งของ 'การละความสำคัญตน' (損) ซึ่งก็คือ 'การลดละอัตตา' ดังที่ King Wen ใช้คำว่า 無咎 ‧ 可貞 (wú jiù ‧ kě zhēn, อู๋ จิ้ว ‧ เข่อ เจิน) หรือ 'ความไม่ดูหมิ่นดูแคลนต่อสิ่งใดๆ คือข้อปฏิบัติพื้นฐานแห่งความมีคุณธรรม' นั่นเอง ...

ผู้ที่มี 'ความมั่นคงในหลักคุณธรรม' ย่อมมุ่งเน้นที่การกระทำอันเป็น 'ประโยชน์สุขต่อผู้อื่น' (有孚) แม้นว่า 'หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย' จะมี 'ความยากลำบาก' หรือ 'ไม่มีความโก้เก๋' ใดๆ ก็จะ 'ไม่อิดออดโยกโย้' (已事遄往) ... หรือหากต้องประสบกับ 'ความผิดพลาด' ไม่ว่าจะโดยผู้หนึ่งผู้ใด ก็จะ 'ไม่กล่าวคำตำหนิติเตียน' แต่จะใช้ 'คำชี้แนะ' เพื่อ 'สื่อความเข้าใจ' ให้ถูกต้องตรงกัน (弗克違) อันถือเป็น 'การพัฒนาตน' และ 'การพัฒนาผู้อื่น' ที่จะก่อเกิดเป็น 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (元吉) ของทั้งสังคม ... 'ยศถาบรรดาศักดิ์' และ 'อำนาจเหนือบริวาร' ทั้งหลายที่ได้รับมานั้น (得臣) ล้วนมิใช่สิ่งที่เป็น 'ตัวตน-ของตน' (無家) แต่ประการใด ... เนื่องด้วย 'ยศศักดิ์บริวาร' ย่อมเป็นเพียง 'เครื่องมือ' เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' ให้บรรลุผลตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น !! ...