Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十卦 : 觀

觀 : 風地觀 ‧ 巽上坤下

觀 : 盥而不薦‧有孚顒若‧

  • 初六 ‧ 童觀‧小人無咎‧君子吝‧
  • 六二 ‧ 闚觀‧利女貞‧
  • 六三 ‧ 觀我生‧進退‧
  • 六四 ‧ 觀國之光‧利用賓于王‧
  • 九五 ‧ 觀我生‧君子無咎‧
  • 上九 ‧ 觀其生‧君子無咎‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา และอารมณ์สงบนิ่ง (⚏) สุขภาพกำลังกายสมบูณ์พูนพร้อม (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : การใช้ 'นโยบาย' และ 'การบริหาร' อย่าง 'อ่อนหยุ่น-นุ่มนวล' (⚏) เพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ 'การปฏิบัติงาน' ที่ 'แข็งขัน' (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความเอาใจใส่, สายลมแผ่วพริ้วเหนือพสุธา



ความหมายของชื่อเรียก : Embracing : ความเอาใจใส่


觀 อ่านว่า guān (กวน) สามารถมองเห็นเป็น 'ภาพอักษร' 2 ส่วนคือ ด้านซ้ายจะเป็นอักษร 雚 (guàn, ก้วน) หมายถึง 'นก(กระเรียน)' หรือ 'นก' ที่มีลักษณะคล้าย 'นกกระเรียน' ส่วนด้านขวาเป็นอักษร 見 (jiàn, เจี้ยน) ที่แปลว่า 'มอง', 'เห็น', หรือว่า 'พบ' โดยอักษร 見 (jiàn, เจี้ยน) นี้จะมาจากการผสมอักษร 目 (mù, มู่) ที่หมายถึง 'ดวงตา', 'สายตา', หรือว่า 'มองเห็น' และมีด้านล่างมาจากอักษร 人 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คน' ... ตามลักษณะของการผสม 'ภาพอักษร' ดังที่ว่านี้ 觀 (guān, กวน) จึงน่าจะมีความหมายตามรากเดิมของมันว่า bird-eye view หรือ 'การมองลงมาจากด้านบน'

เมื่อพิจารณาในความหมายตามที่ว่านี้ 觀 (guān, กวน) จึงมีความหมายที่คล้ายกับ 臨 (lín, ลิ๋น) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของบทที่สิบเก้า และทำให้บางตำราเลือกที่จะให้ความหมายของ 觀 (guān, กวน) ว่าเป็น 'การมองจากข้างล่างขึ้นข้างบน' เพื่อให้สมกับ 'ความตรงข้าม' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ King Wen ใช้ ... แต่โดยข้อเท็จจริงของ 'รากศัพท์' แล้วมันไม่มีทางที่จะแปลในความหมายอย่างนั้นได้เลย !!?? ... โดย 觀 (guān, กวน) ที่ใช้ในความหมายปัจจุบันคือ 'มองดู', 'เฝ้ามอง', 'เฝ้าระวัง', 'เฝ้าสังเกต', 'สังเกตการณ์', 'มองอย่างละเอียด', หรือ 'สำรวจ' ; เมื่อใช้เป็นคำนามมันก็ยังหมายถึง 'หอสังเกตการณ์' หรือ 'หอคอย' ที่ตั้งอยู่ทั้งสองด้านของ 'ประตูเมือง' ... ซึ่งเป็นลักษณะของ 'การมองลงมาจากที่สูง', หรือ 'การมองลงมาจากด้านบน' อย่างแน่นอน !!?? ... ดังนั้น หากจะมองในแง่ของ 'คู่ตรงข้าม' กับบทที่สิบเก้า ผมกลับเห็นว่าบทที่สิบเก้าน่าจะเป็นเรื่องของ 'การใช้พระเดช' ในขณะที่บทที่ยี่สิบน่าจะเป็นเรื่องของ 'การใช้พระคุณ' ไม่ใช่เรื่องของ 'การมองกันไป-มองกันมา' อย่างที่บางตำราว่าไว้ ... :P

ความหมายของ 觀 (guān, กวน) ที่หมายถึง 'มองอย่างละเอียด' หรือ 'สังเกตอย่างละเอียด' บางครั้งก็เลยแผลงเป็น 'การตรวจตรา', 'การตรวจสอบ' หรือ 'การสำรวจ', 'การติดตามผล' มันจึงมีความเกี่ยวข้องกับ 'ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น', 'ผลจากการกระทำ', หรือ 'การแสดงออก' ไปด้วย ; ส่วน 'การเฝ้าระวัง', หรือ 'การสำรวจตรวจตรา' นั้นก็แฝงนัยของ 'ความเอาใจใส่', หรือ 'ความใจจดใจจ่อ' และ 'ความตื่นตัว' ในลักษณะของ 'ความตื่นรู้' ต่อความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ; แล้วก็ยังแผลงต่อไปเป็น 'การศึกษา' หรือ 'คำสอน' ซึ่งสะท้อนถึง 'สิ่งที่ต้องเอาใจใส่' ด้วย ... ลักษณะของ 觀 (guān, กวน) ที่ถูกใช้ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง 'การมองภาพกว้างๆ', 'การมองภาพรวมๆ', หรือ 'การมองออกไปไกลๆ' คล้ายกับ 'การมองลงมาจากที่สูง' ซึ่งสะท้อนถึง 'การเฝ้ามองด้วยความระมัดระวัง', 'การเฝ้าติดตามด้วยความเอาใจใส่' หรือ 'การพิจารณาปัจจัยประกอบต่างๆ อย่างรอบด้านด้วยความละเอียดถี่ถ้วน' อันเป็นที่มาของการตัดสินใจใช้คำแปลว่า Embracing หรือ 'ความเอาใจใส่' เพื่อที่จะหลอมรวมความหมายของ 'การโอบอุ้ม', 'การให้ความยอมรับ', 'ความเอื้ออาทร', 'ความเอาใจใส่ดูแล', และ 'การประสาน' ทุกภาคส่วนให้เกิดเป็น 'ภาพรวม' เดียวกันอย่างสมบูรณ์

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' แล้ว ความหมายของบทที่ยี่สิบนี้ควรจะต้องสอดคล้องกับความหมายของบทที่แปด ซึ่งถูกอ้างถึงด้วยวลีเดียวกันของ 'จิวกง' ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่ง ... โดยบทที่แปดนั้นคือ 比 (bǐ, ปี่) ที่มีสัญลักษณ์เป็น ䷇ และผม 'ถอดความ' เอาไว้ว่า 'การผูกสัมพันธ์' หรือ Communing ... สังเกตว่า ䷇ (比 : bǐ, ปี่) ในบทที่แปดนั้นได้พัฒนาระดับความเข้มข้นของ 'พลังหยาง' ตรงขีดบนสุดจนกลายเป็น ䷓ (觀 : guān, กวน) ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ประจำบทที่ยี่สิบนี่เอง ... ความหมายก็คือ 'เมื่อมีการผูกสัมพันธ์กันแล้ว ก็จะต้องเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อจะประสานทุกภาคส่วนให้ประสบกับความสุขความเจริญร่วมกันอย่างยั่งยืน' ... ซึ่งประเด็นนี้ 'จิวกง' เลือกใช้วลีที่มีความหมายตรงกันข้ามไว้ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) หรือ 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ' ... 'ค่ายกลตัวอักษร' ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ของ King Wen และ 'จิวกง' จึงมีความโยงใยที่ลงตัวอย่างกลมกลืนกันด้วยประการฉะนี้ ... แล ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
盥而不薦有孚顒若
guàn ér bù jiàn yǒu fú yóng ruò
ก้วน เอ๋อ ปู้ เจี้ยน โหฺย่ว ฟู๋ ย๋ง ญั่


ผมถือว่าความหมายของ 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' นั้นเป็น 'ค่ายกล' แบบหนึ่ง ในขณะที่ 'คำอธิบายชื่อเรียก' ก็จะเป็น 'ค่ายกล' อีกแบบหนึ่ง ซึ่งความหมายที่ซุกซ่อนอยู่น่าจะต้องมี 'ความสอดคล้องกัน' หรือมี 'ความเกี่ยวข้องกัน' ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ... ความสนุกของ 'การแคะความหมาย' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ก็จะอยู่ที่ 'การพยายามหาจุดเชื่อมโยง' ของความหมายจาก 'ตัวอักษร' ทั้งหมด เพื่อเติมเต็มให้กับถ้อยคำที่เหมือนกับเป็น 'การเข้ารหัส' บางอย่างเอาไว้ :)

盥 อ่านว่า guàn (ก้วน) ปรกติแปลว่า 'ล้างมือ' หรือ 'อ่างล้างมือ' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งจะคล้ายๆ กับพิธี 'การหลั่งน้ำทักษิโณทก' หรือ 'การกรวดน้ำ' แต่ในบางความหมายของ 盥 (guàn, ก้วน) จะหมายถึง 'การเซ่นสรวง(บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์)' เช่นการราดสุราลงบนแท่นบูชาเพื่อแสดงการคารวะต่อเทพเจ้า หรือแสดงควมเคารพต่อฟ้า-ดิน อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็เลยทำให้บางครั้ง 盥 (guàn, ก้วน) สามารถใช้ในความหมายของ 'เครื่องเซ่น', 'เครื่องบูชา', หรือ 'เครื่องบรรณาการ' ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ด้วย

薦 อ่านว่า jiàn (เจี้ยน) แปลว่า 'ส่งมอบให้', 'หยิบยกขึ้นมา', 'แนะนำ', 'นำเสนอ', 'ผลักดัน', 'เน้นย้ำ', หรือ 'เกิดขึ้นซ้ำๆ' ; และยังสามารถหมายถึง 'การถวายเครื่องบูชา' หรือ 'กาส่งมอบเครื่องบรรณาการ' ; ถ้าใช้เป็นคำนามจะหมายถึง 'หญ้า' หรือ 'ฟาง' ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการจักรสานเพื่อทำเป็นเครื่องเรือนของใช้ ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ซึ่ง 'การสาน' ที่ว่านี้ก็คงจะแผลงมาจาก 'การทำซ้ำไปซ้ำมา' นั่นเอง

ผมขอยกคำแปลที่เคยเล่าไว้ของ 孚 (fú, ฟู๋) มาไว้ตรงนี้อีกครั้งนะครับ คำนี้แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

顒 อ่านว่า yóng (ย๋ง, เยฺวิ๋ง) ความหมายตามรากศัพท์แปลว่า 'หัวโต' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'หัวโจก' หรือ 'หัวหน้า' ... โดยปรกติจึงแปลว่า 'ยิ่งใหญ่', 'สูงส่ง', 'งามสง่า', 'น่ายกย่อง', 'น่าเทิดทูน', 'น่าเคารพนับถือ' ; เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายความว่า 'ให้ความเคารพนับถืออย่างสูง' ต่อผู้หนึ่งผู้ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด

若 อ่านว่า ruò (ญั่ว) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', หรือ 'เคารพกฎเกณฑ์'

หลายตำราแปล 盥 (guàn, ก้วน) ว่า 'ล้างมือ' จนผมหลงเข้ารกเข้าพงไปซะหลายวัน ... :D ... แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ King Wen บันทึกไว้ในวลีนี้ก็คือ 'ความเอาใจใส่' หรือ 'การเสริมสร้างความสัมพันธ์' นั้น 'เครื่องบรรณาการ (盥) หาใช่สาระสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างต้องมอบแก่กันอย่างสม่ำเสมอไม่ (而不薦) แต่ความจริงใจ (有孚) ที่ต่างฝ่ายมอบให้แก่กันนั้นต่างหาก คือสิ่งที่พึงปฏิบัติเพื่อแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน (顒) อยู่เป็นนิจ (若)' ... นี่จึงเป็นการเน้นให้เห็นภาพของ 觀 (guān, กวน) ว่า เป็น 'วิถีปฏิบัติ' ที่ต้องการ 'ความละเอียดอ่อน' ใน 'การทำความเข้าใจ' กับ 'ภาพรวม' ไม่ใช่มัวแต่ 'หยุมหยิม' หรือ 'คิดเล็กคิดน้อย' กับ 'เปลือกที่ห่อหุ้ม' อันไม่ใช่สาระที่แท้จริง ;) ... แล้วก็ลองย้อนไปอ่านวลีของ King Wen ในบทที่แปดอีกครั้งด้วยนะครับ เพราะมีอะไรๆ หลายอย่างที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะของ 'การขยายความ' ให้แก่กันอย่างชัดเจนมากเลยทีเดียว ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :
 
童觀小人無咎君子吝
tóng guān xiǎo rén wú jiù jün zǐ lìn
ท๋ง ก้วน เสี่ยว เญิ๋น อู๋ จิ้ว จฺวิน จื่อ ลิ่น


จริงๆ ก็ไม่มีคำไหนใหม่ในวรรคนี้ แต่อยากจะดูความหมายของ 童 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'เด็กน้อย' ให้ทั่วๆ อีกซักรอบ :) ... คำนี้แปลว่า 'เด็ก', 'ความเป็นเด็ก' (childhood), 'อย่างเด็กๆ' (childish) ; แปลว่า 'ผู้เยาว์' หรือ 'ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ', 'เด็ก (ที่ยังไม่แต่งงาน)' ; แปลว่า 'หัวโล้น', 'โล่งเตียน', หรือ 'ทื่อ' (ไม่มีความคม) ก็ได้ ; สมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับตัว 瞳 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'กระจกตา' หรือ 'การมองเห็น' ได้ด้วย … แต่เมื่อเป็น 'การมองเห็นอย่างเด็กๆ' มันจึงมีความหมายในลักษณะ 'ความใสซื่อ' หรือ 'ความไม่รู้' ได้เหมือนกัน

ผมมองวลี 童觀 (tóng guān, ท๋ง กวน) ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในที่นี้ว่า น่าจะหมายถึง 'ความสนใจแบบเด็กๆ' ซึ่งง่ายต่อ 'การถูกกระตุ้น' ให้เกิด 'ความตื่นเต้น' แบบ 'ประเดี๋ยวประด๋าว' แทนที่จะเป็น 'ความเอาใจใส่อย่างจริงๆ จังๆ' ... หรือไม่งั้นก็อาจจะหมายถึง 'การมีปฏิสัมพันธ์กันแบบเด็กๆ ที่ไม่ได้มีความจริงจังใดๆ เหมือนกับการละเล่นทั่วๆ ไป' ... หรือ ... ถ้าพิจารณาในแง่ของสรีระ คำว่า 童 (tóng, ท๋ง) ก็น่าจะสะท้อนถึง 'เด็กตัวเล็กๆ' ที่ยัง 'ไม่มีความสูง' ที่มากพอสำหรับการมองอะไรได้ไกลๆ เหมือน 'ผู้ใหญ่' อันเป็นลักษณะของ 'การขาดวุฒิภาวะ' ที่เหมาะสมต่อ 'การมองการณ์ไกล' หรือยัง 'ขาดความเข้าใจอันลึกซึ้ง' สำหรับ 'การมองภาพโดยรวม' ซึ่งมี 'ความสลับซับซ้อน' มากๆ ... ??!!??

อีกคุณลักษณะหนึ่งของ 'ความเป็นเด็ก' ก็คือ แม้ว่า 'เด็กๆ' จะมี 'ความอยากรู้อยากเห็น' หรือมี 'ความสนอกสนใจ' กับเรื่องราวต่างๆ รอบตัวอย่าง 'เปิดกว้าง' และมี 'จินตนาการ' ที่ 'สดใหม่' อย่าง 'จริงใจ' มากกว่า 'ผู้ใหญ่' ในหลายๆ กรณี แต่โดยรวมแล้ว 'เด็กๆ' ก็มักจะให้ 'ความสนใจ' ในลักษณะที่ใช้ 'ตัวเอง' เป็น 'ศูนย์กลาง' ของ 'จินตนาการ' ทั้งหมด หรือไม่งั้นก็มี 'ความสนใจ' อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น 'เฉพาะหน้า' อันจะส่งผลให้ 'มิติในการมอง' มี 'ความอ่อนด้อย' ทั้งในแง่ของ 'ความกว้าง' และ 'ความลึก' ... ซึ่ง ... จุดนี้ก็น่าจะเป็น 'ข้อจำกัด' ชนิดหนึ่งที่ 'จิวกง' มองว่า หากเป็นแค่เพียง 'ชนชั้นผู้น้อย' หรือ 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะของ 'ผู้นำ' หรือ 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) ก็น่าจะ 'ไม่มีปัญหาอะไร' (無咎 : wú jiù, อู๋ จิ้ว)

ความหมายของวลีนี้จึงน่าจะหมายถึง 'การให้ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน (童觀 คือไม่มีความลึกซึ้งและกว้างไกลราวกับเป็นเด็ก) หากเป็นเพียงชนชั้นปุถุชน (小人) ก็คงไม่ใช่ (無) ปัญหาที่ต้องกังวลใจ (咎) แต่ในระดับของชนชั้นผู้นำ (君子) มันคือความบกพร่องที่น่าอับอาย (吝)'

ในวรรคนี้ 'จิวกง' เลือกเล่นกับ paradox ของ 'ความเป็นเด็ก' ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว ในแง่มุมหนึ่งนั้น 'จิวกง' ก็มีแนวคิดที่สนับสนุน 'ความเรียบง่าย' และ 'ความตรงไปตรงมา' รวมทั้ง 'ความไม่ยึดติดกับพิธีรีตองใดๆ' อย่าง 'เด็กๆ' อยู่ด้วยในระดับหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นเพียงแง่มุมของ 'การแสดงออกภายนอก' และ 'การครองตน' เท่านั้น เพราะในแง่มุมของ 'ความคิดความอ่าน' แล้ว 'จิวกง' จะสนับสนุนในเรื่องของ 'ความสุขุมลุ่มลึก' และ 'ศักยภาพทางปัญญา' ที่สามารถเข้าใจใน 'ความแปรเปลี่ยน' ของสถานการณ์หนึ่งๆ ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างซ้อนเหลื่อมกัน 'อย่างสลับซับซ้อน' ...

เมื่อ King Wen เปิดประเด็นของบทนี้ด้วยถ้อยคำว่า 'การส่งเครื่องบรรณาการ' เป็นเพียง 'พิธีรีตอง' ที่ไม่ใช่ 'เนื้อหาสาระที่แท้จริง' ของ 'การแสดงความเคารพต่อกัน' (盥而不薦) ... 'จิวกง' ก็เลือกคำมาเสริมลงไปทันทีเลยว่า ไม่ควร 'พิจารณาเรื่องราวต่างๆ อย่างผิวเผิน' (童觀) เฉพาะแค่ 'การแสดงออกภายนอก' อันเป็นเพียง 'พิธีรีตอง' ทั่วๆ ไป ... ซึ่งด้วยถ้อยคำนี้เองที่ได้สะท้อนความหมายว่า 'การปฏิบัติต่อผู้อื่น' ก็ไม่ควร 'ปฏิบัติอย่างผิวเผิน' ดุจเดียวกัน ... อันเป็นความหมายที่ไปสอดรับกับถ้อยคำท้ายวลีของ King Wen ที่ว่า 'ความจริงใจ' ที่มอบให้แก่กัน คือ 'การแสดงความเคารพ' ที่พึงปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอ (有孚顒若) โดย 'จิวกง' สำทับไว้ด้วยว่า มันคือ 'วัตรปฏิบัติ' ที่ 'ชนชั้นผู้นำ' ไม่ควร 'บกพร่อง' หรือ 'ละเลย' ... เพราะ 'สัมพันธภาพที่มีความจริงใจต่อกันย่อมปราศจากความระหองระแหง … เมื่อทุกๆ ฝ่ายต่างก็มีความเอื้อเฟื้อ และคอยให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในที่สุดแล้วย่อมจะสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ และนำไปสู่ความสำเร็จ' ดังถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่หนึ่งของบทที่แปดว่า 有孚比之無咎有孚盈缶終來有他吉 (yǒu fú bǐ zhī wú jiù yǒu fú yíng fǒu zhōng lái yǒu tā jí, โหฺย่ว ฟู๋ ปี่ จือ อู๋ จิ้ว โหฺย่ว ฟู๋ อิ๋ง โฝ่ว จง ไล๋ โหฺย่ว ทา จี๋) ... เห็นมั้ยล่ะครับว่า บทที่แปดกับบทที่ยี่สิบมี 'ความเกี่ยวข้อง' กันลึกซึ้งขนาดไหน !?!? ... :)

 

สอง หยิน :
 
闚觀利女貞
kuī guān lì nǚ zhēn
คุย กวน ลี่ หนฺวี่ เจิ


闚 อ่านว่า kuī (คุย) แปลว่า 'สืบเสาะ', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', ในลักษณะที่เป็น 'การเจาะลึก', ซึ่งอาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นที่เรียกว่า 'ขุดคุ้ย' เลยด้วยซ้ำ

ส่วน 女 (nǚ, หนฺวี่) ก็คือ 'ผู้หญิง', 'ความเป็นผู้หญิง' หรือ 'ลักษณะแบบผู้หญิง' ; และหลายๆ กรณีก็ใช้ในความหมายของ 'ความเป็นธาตุหยิน' ด้วย

นี่เป็นอีกวลีหนึ่งที่แสดงถึง 'การยกย่องความเป็นสตรีเพศ' ของ 'จิวกง' ล่ะครับ เพราะความหมายของวลีนี้ก็คือ 'การเอาใจใส่ต่อรายละเอียดที่มีความสลับซับซ้อน (闚觀) จำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะสำคัญของความเป็นสตรีเพศ (利女貞)' ...

ประการแรกเลยก็คือ ผมเลือกใช้คำแปลสำหรับ 女 (nǚ, หนฺวี่) ในที่นี้ว่า 'ความเป็นผู้หญิง' หรือ 'ความเป็นสตรีเพศ' เพื่อสะท้อน 'ความเป็นนามธรรม' ที่ไม่ยึดติดอยู่กับเพศใดเพศหนึ่งอย่างเจาะจง ซึ่ง 'ความเป็นสตรีเพศ' ที่ว่านี้จะหมายถึง 'ความเป็นหยิน' อันมี 'คุณลักษณะ' ของ 'ความอ่อนโยน', 'ความหนักแน่น', และ 'ความละเอียดอ่อน' ซึ่งเป็น 'คุณลักษณะ' ที่เหมาะสมแก่กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มี 'ความสลับซับซ้อน' และต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' ในการดำเนินงาน ... โดยผม 'เชื่อว่า' นี่คือ 'เจตนา' ของ 'จิวกง' ที่ต้องการสื่อความหมายในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม ภายในประวัติศาสตร์อันยาวนานของวัฒนธรรมชาวจีน มีแนวทางปฏิบัติผิดๆ อยู่หลายอย่างที่ทำให้ทั้ง 'เด็ก' (童) และ 'สตรีเพศ' (女) มักจะตกอยู่ในสถานะของ 'พลเมืองชั้นสอง' อยู่บ่อยๆ ซึ่งหากเราได้พิจารณา 'แนวคิด' ของผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 'ผู้วางรากฐานทางวัฒนธรรม' อย่าง 'จิวกง' แล้วเรากลับจะพบว่า 'จิวกง' เองไม่ได้มี 'อคติ' ต่อทั้ง 'เด็ก' (童) และ 'สตีเพศ' (女) เหมือนกับที่เหล่า 'สาวกโสโครก' พยายามเอ่ยอ้างถึงเลยแม้แต่น้อย ทั้งยังได้แสดงออกถึง 'ทัศนคติเชิงบวก' ที่มีต่อ 'ความเป็นเด็ก' และ 'ความเป็นสตรีเพศ' อยู่หลายครั้งหลายหนด้วยซ้ำ ... เพียงแต่ว่า ไม่ว่า 'คุณลักษณะ' นั้นๆ จะมี 'จุดเด่น' หรือ 'ข้อดี' มากน้อยเพียงใดก็ตาม ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มี 'ขีดจำกัด' ที่ไม่อาจประพฤติปฏิบัติอย่างเกินเลย 'ขอบเขตที่เหมาะสม' ของมันเสมอ ... 'ความใสซื่อ' และ 'ความตรงไปตรงมา' แบบ 'เด็กๆ' ต้องไม่เกินเลยจนกลายเป็น 'ความตื้นเขินทางสติปัญญา' ; ในขณะที่ 'ความอ่อนโยน' และ 'ความละเอียดละออ' แบบ 'สตรีเพศ' ก็จะต้องไม่เกินเลยจนกลายเป็น 'ความอ่อนไหว' และ 'ความจุกจิกหยุมหยิม' ที่บ่อนทำลาย 'ความหนักแน่น' ของตนเอง ... ซึ่งความจริงแล้ว แม้แต่ 'ความเป็นบุรุษเพศ' หรือ 'ความเป็นหยาง' นั้นเอง 'จิวกง' ก็แสดง 'ข้อตักเตือน' ไว้บ่อยครั้งกว่าด้วยซ้ำว่า ไม่ควรแสดงออกด้วย 'ความผยอง' หรือ 'ความลำพอง' แต่จะต้อง 'รักษาความสมดุล' ไว้ด้วย 'ความเป็นเด็ก' และ 'ความเป็นสตรีเพศ' อย่าง 'สมเหตุสมผล' ตลอดเวลา

 

สาม หยิน :

觀我生進退
guān wǒ shēng jìn tuì
กวน หฺว่อ เซิง จิ้น ทุ่ย


วรรคนี้เหมือนไม่มีคำแปลกๆ ให้ต้องค้น แต่อยากจะเล่าถึงคำพื้นๆ อยู่ 2 คำคือ 我 (wǒ, หฺว่อ) และ 生 (shēng, เซิง)

我 (wǒ, หฺว่อ) ถูกใช้เป็น 'คำสำคัญ' ถึง 2 ครั้งในบทนี้คือ ในวรรคที่สาม กับวรรคที่ห้า ... คำนี้โดยทั่วไปก็แปลว่า 'ฉัน', 'ตัวฉัน', 'ของฉัน', 'กู', 'ตัวกู', 'ของกู' … ;) หรืออาจจะหมายถึง 'สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง' ที่เป็น 'พหูพจน์' คือ 'พวกเรา', 'ของพวกเรา' ก็ได้ … แต่จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตัวอักษร 我 (wǒ, หฺว่อ) นี้ถ้าใช้เป็น 'คำกริยา' จะแปลว่า 'ฆ่า' ในความหมายเดียวกับตัว 殺 (shā, ซา) ... โดยเราสามารถ 'แยกธาตุ' ของมันออกมาเป็นตัวอักษร 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' หรือ 'ถือ' อยู่ทางด้านซ้าย และตัวอักษร 戈 (gē, เกอ) อยู่ด้านขวา ซึ่งคำนี้แปลว่า dagger-axe อันเป็น 'ชื่ออาวุธสงคราม' ชนิดหนึ่งในยุคโบราณของจีน … 我 จึงเป็น 'ภาพอักษร' ที่แสดงสัญลักษณ์ของ 'มือที่ถืออาวุธ' และนั่นก็คือความหมายว่า 'ฆ่า', หรือ 'การฆ่า' นั่นเอง … และเมื่อ 我 เป็นภาพของ 'มือที่ถืออาวุธ (สงคราม)' มันจึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ผู้ที่มีความสามารถ' และในเมื่อ 'อาวุธ' ที่ทรงอานุภาพที่สุดตลอดทุกยุคสมัยก็คือ 'อาวุธทางวัฒนธรรม' … ตัว 我 จึงแผลงความหมายเป็น 'ผู้ที่ถือพู่กัน' หรือ 'ผู้ที่เขียนหนังสือ' เพราะ 'พู่กัน' ก็คือหนึ่งใน 'อาวุธสงครามทางวัฒนธรรม' นั่นเอง … จนในที่สุดคำว่า 我 ก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' … แล้วถ้าผมจะผสมความหมายทั้งหมดของ 我 ลงไป …  我 ก็ควรจะหมายถึง 'ตัวฉัน' ที่มี 'ความรู้', 'ความเข้าอกเข้าใจ' และพร้อมที่จะ 'ยอมรับฟังผู้อื่น' … ซึ่งก็คือ 'ตัวฉัน' ที่ได้ 'ประหารอัตตา' หรือ 'ประหารอวิชชา' ไปแล้วนั่นเอง ;) ... นี่คือคำอธิบายที่ผมเล่าไว้ในบทที่สี่

ส่วนคำว่า 生 (shēng, เซิง) นั้นโผล่มาให้เห็นถึง 3 ครั้งในบทนี้ โดยปรกติก็มักจะถูกแปลว่า 'เกิด', 'งอกเงย', 'ผุดขึ้นมา', 'ทำให้เกิด', 'ทำให้งอกเงย', 'เติบโต', 'ทำให้เติบโต', 'เลี้ยงดู', 'ชีวิต', 'มีชีวิต', 'การดำรงชีวิต' หรือ 'ชีวิตความเป็นอยู่' ; ตรงนี้ก็เลยน่าจะแผลงไปเป็น 'การปลูกฝัง' จนในที่สุดได้กลายเป็น 'นักเรียน', 'ผู้ที่ใฝ่เรียน' รวมไปถึง 'ผู้ชำนาญการ' (หมายถึงผู้ที่มีความรู้งอกเงย และเติบโตขึ้นเพราะการศึกษาเล่าเรียน หรือผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยวิชาการความรู้ที่ร่ำเรียนมา) ; 生 (shēng, เซิง) ยังอาจจะหมายถึง 'ความแปลกใหม่' (เพราะไม่เคยมีมาก่อน) ; 'ความสดใหม่', 'ความมีชีวิตชีวา' ; และบางครั้งก็ยังหมายถึง 'สัญชาติญาณ' หรือ 'สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด' ซึ่งสะท้อนถึง 'ความดิบ', 'ความเถื่อน', หรือ 'สภาพที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา' ด้วย

ความหมายของวลีนี้ดูเหมือนจะทื่อๆ ตรงๆ แค่ว่า 'จงหมั่นสำรวจพฤติกรรมการดำเนินงานของตนเอง (觀我生) ไม่ว่าในขณะที่มีความก้าวหน้า (進) หรือตกอยู่ในสภาพที่ถดถอย (退) ก็ตาม' ... แต่ผมยังรู้สึกว่ามันทะแม่งๆ แฮะ !!??

จะว่ามีอะไรที่ผิดปรกติมั้ย ?! ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มี ... จะว่าเป็น 'ข้อแนะนำ' ที่ดีรึเปล่า ?! ผมก็ว่า 'น่าสนใจ' !! ... เพราะบ่อยครั้งที่คนเรามักจะตกอยู่ใน 'ความประมาท' เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ต่อเมื่อยามที่ประสบกับปัญหา หรือต้องพบกับสภาพที่ถดถอยนั่นแหละ จึงค่อยมารู้สึกตัวว่าควรจะต้องทบทวนตรวจสอบการดำเนินงานของตนเอง !!?? ... แล้วถ้ามองว่ามี 'ความต่อเนื่อง' กับสองวรรคแรกรึเปล่า ?! ผมก็ว่าพอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่ โดย 'จิวกง' แนะนำไว้ในวรรคแรกว่า 'ไม่ควรมองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน' ; พอมาวรรคที่สองก็เสริมด้วยความหมายว่า 'ให้เอาใจใส่ในรายละเอียดประหนึ่งดั่งสตรีที่มีความลึกซึ้ง' ; แล้วก็สำทับไว้ในวรรคที่สามว่า 'ให้ตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท' ไม่ใช่ดำเนินงานในลักษณะที่ 'เริงร่าเมื่อราบรื่น ตื่นตระหนกเมื่อประสบภัย' ... แต่ที่มันทะแม่งๆ ก็เพราะความหมายของมันดูเหมือนจะขาดตอนกับวรรคที่สี่ไปเลย ทั้งๆ ที่มันควรจะต้องเป็น 'คู่วลี' ของกันและกันเสมอ ??!! ... ลองไปดูความหมายของวรรคที่สี่กัน ...

 

สี่ หยิน :

觀國之光利用賓于王
guān guó zhī guāng lì yòng bīn yǘ wáng
กวน กฺว๋อ จือ กวง ลี่ โยฺว่ง ปิน ยฺวี๋ วั๋ง


光 (guāng, กวง) แปลว่า 'สว่างไสว', 'แวววาว', 'ชัดเจน', 'สดใส', 'หมดจด', 'เรียบลื่น' ; บางครั้งก็เลยมีความหมายว่า 'โล่งเตียน', หรือ 'หมดเกลี้ยง' ; และในแง่ของการรับรู้ ก็จะหมายถึง 'มีความตื่นตัว', 'มีความฉับไว' ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ... จะเห็นว่า 'ความสดใส' หรือ 'ความสุกสว่าง' ที่ว่านี้จะมีความหมายคล้ายคลึงกับ 'ความเจริญรุ่งเรือง' หรือ 'พัฒนาการ' ... ในขณะที่ 'ความตื่นตัว' ก็มีความหมายที่ใกล้เคียงกับ 'ความมีชีวิตชีวา' ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งในความหมายของ 生 (shēng, เซิง) ทั้งสิ้น

賓 อ่านว่า bīn (ปิน) แปลว่า 'ผู้มาเยือน', 'แขกผู้มีเกียรติ' หรือ 'คนอื่น' ; เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายถึง 'การต้อนรับ', 'การคัดเลือก' แล้วก็เลยแผลงจนกลายเป็น 'การคัดออก' หรือ 'การกำจัด' ได้ด้วยในบางครั้ง ; ซึ่งคำนี้ในสมัยราชวงศ์โจวก็ยังมีการใช้ในความหมายของ 'ระบบการสอบคัดเลือก' หรือ 'ระบบการศึกษา' (เรียกว่า 賓貢 : bīn gòng, ปิน ก้ง) ซึ่งคล้ายๆ กับ 'การสอบเอ็นทรานซ์' เพื่อศึกษาต่อในระดับชาติ หรือเพื่อการเข้ารับราชการเป็นขุนนางอีกด้วย

เมื่ออ่านผ่านๆ ความหมายของวรรคนี้ก็น่าจะประมาณว่า 'ความเอาใจใส่ (觀) ต่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง (國之光) นั้น จะต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาด้านการศึกษา (利用賓) โดยให้ถือเป็นภาระกิจหลักที่มีความสำคัญ (于王)' ... ซึ่งโดยความหมายที่ว่านี้ คำว่า 觀 (guān, กวน) ก็จะมีกลิ่นของ 'การมองการณ์ไกล' หรือ 'ความมีวิสัยทัศน์' ในทันที

แต่ถ้าจะให้ 王 (wáng, วั๋ง) มีความหมายว่า 'เจ้าแคว้น' หรือ 'ผู้นำ' ความหมายก็จะกลายเป็น 'ความเอาใจใส่ (觀) ต่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง (國之光) จำเป็นต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ (利用賓) มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของผู้นำ (于王)' ... หรืออาจจะแค่ 'คัดเลือกผู้มีความรู้ให้มารับใช้ผู้นำ' ก็น่าจะได้เหมือนกัน ... ซึ่งทั้งสองกรณีก็ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับ 'ระบบการศึกษาของชาติ' เหมือนกัน ...

ปัญหาก็คือ ความหมายตามที่ 'ตีความ' ไว้นั้นมันขาด 'ความต่อเนื่อง' กับวรรคที่สามไปเลย ซึ่งต้องถือว่าค่อนข้างจะผิดปรกติอยู่พอสมควรสำหรับลำดับการจัดวางถ้อยคำของ 'จิวกง' ... เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะย้อนกลับไปตรงท้ายวรรคที่สามซึ่งปิดวลีด้วยคำว่า 進退 (jìn tuì, จิ้น ทุ่ย) ...

ปรกติแล้วคำว่า 進退 (jìn tuì, จิ้น ทุ่ย) แปลตรงๆ ตัวว่า 'ก้าวหน้า-ถดถอย' หรือ 'เดินหน้า-ถอยหลัง' แต่ก็มีสำนวนจีนอยู่สำนวนหนึ่งที่ว่า 不知進退 (bù zhī jìn tuì, ปู้ จือ จิ้น ทุ่ย) ซึ่งความหมายก็คือ 'ไม่รู้จังหวะที่ควรจะเดินหน้าหรือถอยหลัง' ... ถ้าเทียบกับสำนวนไทยมันก็คือสำนวนว่า 'ไม่รู้กาละเทศะ' นั่นเอง ... เพราะฉะนั้น 進退 (jìn tuì, จิ้น ทุ่ย) จึงมี 'ความหมายแฝง' อยู่ในสำนวนของมันว่า 'กาละ-เทศะ' ด้วย ... นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง

ทีนี้เมื่อเราพิจารณาคำว่า 我生 (wǒ shēng, หฺว่อ เซิง) กับ 國之光 (guó zhī guāng, กฺว๋อ จือ กวง) เราก็จะเห็น scale ที่แตกต่างของ 'ความเจริญก้าวหน้า' หรือ 'ระดับของพัฒนาการ' ทันที โดย 我生 (wǒ shēng, หฺว่อ เซิง) คือ 'พัฒนาการในระดับปัจเจกบุคคล' ในขณะที่ 國之光 (guó zhī guāng, กฺว๋อ จือ กวง) ก็คือ 'ความเจริญก้าวหน้าในระดับชาติ' ... นี่ก็คือประเด็นที่สอง ซึ่งเป็น 'จุดเชื่อมโยง' ของทั้งสองวลี

ถ้อยคำเต็มๆ เมื่อเรานำวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่มาเรียงต่อกันก็คือ 觀我生進退 ‧ 觀國之光利用賓于王 (guān wǒ shēng jìn tuì . guān guó zhī guāng lì yòng bīn yǘ wáng, กวน หฺว่อ เซิง จิ้น ทุ่ย . กวน กฺว๋อ จือ กวง ลี่ โยฺว่ง ปิน ยฺวี๋ วั๋ง) และมีความหมายว่า 'ความตื่นตัวต่อพัฒนาการของตนเอง (觀我生) คือต้องรู้จักกาละ-เทศะที่เหมาะสม (進退) ของการแสดงออก ; ความตื่นตัวต่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ (觀國之光) คือต้องรู้จักการแยกแยะ (利用賓) ลำดับความสำคัญ (于王) ของการดำเนินงาน' ... ซึ่งความหมายของ 'การรู้กาละ-เทศะ' ก็จะครอบคลุมความหมายของ 'การแสดงออกอย่างเป็นพิธีการ' และ 'การแสดงออกอย่างเรียบง่ายจริงใจ' เอาไว้แล้วทั้งหมด เพราะถึงแม้ว่า 'พิธีรีตอง' จะไม่ใช่ 'สาระสำคัญ' ของ 'ความมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน' แต่มันก็เป็น 'มารยาท' และ 'ธรรมเนียมปฏิบัติ' ที่สมควรได้รับ 'การแสดงออก' อย่าง 'เหมาะสม' ... ถึงแม้ว่าจะ 'ไม่จำเป็น' ต้อง 'ปฏิบัติอย่างพร่ำเพรื่อ' แต่ก็ 'ไม่สมควร' ที่จะ 'ละเว้นจนไม่หลงเหลือ' เอาซะเลย ... ในขณะเดียวกัน 'การรู้จักแยะลำดับความสำคัญ' ก็คือการตระหนักรู้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเล็ก หรือเป็นเรื่องพื้นๆ (童) และเรื่องใดเป็นเรื่องใหญ่ที่สลับซับซ้อน (闚) ซึ่งต้องใช้ 'ความละเอียดรอบคอบ' ในระดับที่แตกต่างกัน ... ถ้าความหมายเป็นแบบนี้ มันก็จะเชื่อมโยงทั้งสี่วลีให้ต่อเนื่องกันได้อย่างสมบูรณ์ ... ;)

 

ห้า หยาง :

觀我生君子無咎
guān wǒ shēng jün zǐ wú jiù
กวน หฺว่อ เซิง จฺวิน จื่อ อู๋ จิ้ว


ความหมายของวรรคนี้ควรจะเชื่อมโยงกับวรรคที่สองด้วย ดังนั้น เมื่อวรรคที่สองมีเนื้อความว่า 'การเอาใจใส่ต่อรายละเอียดที่มีความสลับซับซ้อน (闚觀) จำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะสำคัญของความเป็นสตรีเพศ (利女貞)' วรรคนี้ก็จะเสริมว่า 'หากรู้จักสำรวม และมีวิจารณญาณต่อความประพฤติ และการปฏิบัติตน (觀我生) ความเป็นผู้นำ (君子) ก็ย่อมปราศจากข้อตำหนิติเตียน (無咎) ใดๆ'

 

หก หยาง :

觀其生君子無咎
guān qí shēng jün zǐ wú jiù
กวน ชี๋ เซิง จฺวิน จื่อ อู๋ จิ้ว


ถ้ามองในแง่ของ 'การใช้พระคุณ' วรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง 'การเอาใจใส่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ (觀其生) ปราชญ์ (君子 หรือผู้นำ) ย่อมไม่ก่อความผิดบาป (無咎) ใดๆ ที่ให้ร้ายแก่ผู้คน'

แต่ถ้ามองในแง่ของความเป็น 'วลีคู่' กับวรรคที่หนึ่งซึ่งบันทึกไว้ว่า 'การให้ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน (童觀 คือไม่มีความลึกซึ้งและกว้างไกลราวกับเป็นเด็ก) หากเป็นเพียงชนชั้นปุถุชน (小人) ก็คงไม่ใช่ (無) ปัญหาที่ต้องกังวลใจ (咎) แต่ในระดับของชนชั้นผู้นำ (君子) มันคือความบกพร่องที่น่าอับอาย (吝)' วรรคนี้ก็จะขยายความต่อไปว่า 'หากรู้จักเอาใจใส่ต่อองค์ประกอบปลีกย่อยอื่นๆ อย่างถี่ถ้วน (觀其生) ปราชญ์ (君子 หรือผู้นำ) ย่อมไม่ถูกค่อนขอดให้เสื่อมเสีย (無咎)'



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'กวน' คือ ความเอาใจใส่, สายลมแผ่วพริ้วเหนือพสุธา

'ความเอาใจใส่' หาใช่ 'การส่งของขวัญ' หรือ 'เครื่องบรรณาการ' แก่กัน 'อย่างพร่ำเพรื่อ' ; แต่ 'ความจริงใจ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'มอบให้แก่กัน' นั้นต่างหาก คือสิ่งที่ 'พึงปฏิบัติ' เพื่อ 'แสดงความเคารพ' ซึ่งกันและกัน 'อย่างเป็นนิจ'

  •  
  • การให้ 'ความสนใจ' ต่อสิ่งต่างๆ 'อย่างผิวเผิน' หากเป็นเพียง 'ชนชั้นปุถุชน' ก็คงไม่ใช่ 'ปัญหา' ที่ต้อง 'กังวลใจ' แต่ในระดับของ 'ชนชั้นผู้นำ' มันคือ 'ความบกพร่อง' ที่ 'น่าอับอาย'
  •  
  • 'การเอาใจใส่' ต่อรายละเอียดที่มี 'ความสลับซับซ้อน' จำเป็นต้องอาศัย 'คุณลักษณะสำคัญ' ของ 'ความเป็นสตรีเพศ'
  •  
  • 'ความตื่นตัว' ต่อ 'พัฒนาการ' ของ 'ตนเอง' คือต้องรู้จัก 'กาละ-เทศะ' ที่เหมาะสมของ 'การแสดงออก'
  •  
  • 'ความตื่นตัว' ต่อ 'ความรุ่งเรือง' ของ 'ชาติบ้านเมือง' คือต้องรู้จัก 'การจำแนก' ลำดับ 'ความสำคัญ' ของ 'การดำเนินงาน'
  •  
  • หากรู้จัก 'สำรวม' และมี 'วิจารณญาณ' ต่อ 'ความประพฤติ' และ 'การปฏิบัติตน' ความเป็น 'ผู้นำ' ก็ย่อม 'ปราศจากข้อตำหนิติเตียน' ใดๆ
  •  
  • หากรู้จัก 'เอาใจใส่' ต่อ 'องค์ประกอบปลีกย่อย' อื่นๆ 'อย่างถี่ถ้วน' 'ผู้นำ' ย่อมไม่ถูก 'ค่อนขอด' ให้ 'เสื่อมเสีย'



 

The Organization Code :



'ความเอาใจใส่' คือมี 'ความแน่นหนัก' ด้วย 'ความสัตย์ซื่อ' และ 'จริงใจ' (☷) ซึ่ง 'แสดงออก' อย่าง 'สุขุมน่มนวล' (☴) ; 'ระดับนโยบาย' และ 'การบริหาร' จึงต้องมี 'ความเปิดกว้าง' และ 'ความพร้อมสนับสนุน' ด้วย 'ความสม่ำเสมอ' (⚏) โดย 'ระดับปฏิบัติการ' ก็ต้องมี 'ความเข้มแข็ง' และแสดงออก 'อย่างจริงจัง' (⚌)

'ความเอาใจใส่' หาใช่ 'การแสดงมารยาท' หรือ 'การปฏิบัติ' อย่างมี 'พิธีรีตอง' จน 'พร่ำเพรื่อ' แต่ 'ความจริงใจ' นั้นต่างหากคือสิ่งที่สมควร 'มอบให้แก่กัน' อย่าง 'สม่ำเสมอ' เพื่อแสดงออกถึง 'ความเคารพรัก' ซึ่งกันและกัน

  •  
  • 'ความเอาใจใส่' หาใช่การแสดง 'ความตื่นเต้นดีใจ' ดั่ง 'ทารก' ที่ 'หลงใหล' ใน 'ของเล่นชิ้นใหม่' ซึ่งเป็นเพียง 'พฤติกรรม' ที่ 'ฉาบฉวย' และ 'ไม่มีความยั่งยืน' แต่อย่างใด ; 'การดำเนินงาน' ใดๆ ในลักษณะที่เป็นเพียง 'ผักชีโรยหน้า' อย่าง 'ขอไปที' คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ 'ระดับผู้น้อย' ที่ด้อย 'จิตสำนึก' แต่สำหรับ 'ระดับผู้นำ' แล้ว มันคือ 'ความบกพร่อง' ต่อ 'หน้าที่' อย่าง 'น่าอดสู' เป็นที่สุด
  •  
  • เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องราวที่มี 'ความสลับซับซ้อน' จำเป็นต้องอาศัย 'ความนุ่มนวล', 'ความละเอียดรอบคอบ', และ 'ความหนักแน่น' ในการดำเนินงานอย่าง 'มีระบบระเบียบ' และ 'มีความต่อเนื่องกัน' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน'
  •  
  • 'การพัฒนาตนเอง' ย่อมสำคัญที่ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'กาละ-เทศะ' ที่เหมาะสมสำหรับ 'ความประพฤติ' และ 'การปฏิบัติตน' ; และต้อง 'ครองตน' อยู่บน 'ความไม่ประมาท' ซึ่งต้องหมั่น 'ทบทวน' 'ตรวจสอบ' ตนเอง 'อย่างสม่ำเสมอ' ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ 'ราบรื่น' หรือสถานการณ์ 'อัตคัตขัดเคือง' ก็ตาม
  •  
  • 'การพัฒนาองค์กร' ย่อมสำคัญที่ 'การจำแนก' ลำดับ 'ความสำคัญ' ของ 'ภาระกิจ' ที่จะ 'ดำเนินการ' อย่างถูกต้องครบถ้วน ; และยังต้องให้ความสำคัญต่อ 'การพัฒนาบุคลากร' ด้วย 'การศึกษา' อย่าง 'ต่อเนื่อง' เพื่อจะ 'พัฒนาผู้นำ' รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาสืบทอด 'ความเจริญรุ่งเรือง' ต่อๆ ไป
  •  
  • 'ผู้นำ' ที่สมควรแก่ 'การยกย่อง' ย่อมประกอบด้วย 'ความสำรวมในกิริยา', มี 'สติปัญญาที่ลึกซึ้งละเอียดรอบคอบ', และ 'ประพฤติตนอย่างเหมาะสม' ทั้งต่อ 'สถานะภาพ' และ 'กาละ-เทศะ'
  •  
  • 'ผู้นำ' ที่รู้จัก 'เอาใจใส่' ต่อ 'รายละเอียดปลีกย่อย' ที่เป็น 'สาระสำคัญ' ย่อม 'ดำเนินการ' โดยปราศจาก 'ปัญหา' ที่ 'ไม่คาดคิด'


สำหรับในมุมมองของ 'ความต่อเนื่อง' และ 'การสานต่อ' นั้น 乾 (qián, เชี๋ยน) ในวัฏจักรรอบนี้จึงประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞)  6 หลักการ (謙,豫,隨,蠱,臨,觀) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ซึ่งเป็น 'พัฒนาการ' ที่สืบเนื่องมาจากวัฏจักรรอบแรก ... จากขั้นตอนของ 'ก่อตัว (屯) - เรียนรู้ (蒙) - รอคอย (需) - ลงมือ (訟) - ขยายผล (師) - ผูกสัมพันธ์ (比)' ... กลายมาเป็น 'อ่อนน้อม (謙) - เยือกเย็น (豫) - โอนอ่อน (隨) - ใคร่ครวญ (蠱) - สอดส่อง (臨) - ดูแล (觀)' ... 'ความต่อเนื่อง' ของเนื้อความตาม 'คัมภีร์อี้จิง' จึงไม่ใช่ 'ความต่อเนื่อง' ในลักษณะที่เป็น 'บทต่อบท' แต่เป็น 'ความต่อเนื่อง' ที่มีลักษณะของ 'การสอดประสานกัน' เป็น 'ชุดๆ' ตามวัฏจักรของวิวัฒนาการที่จะมี 'ความแปรเปลี่ยน' ไปตาม 'กาละ-เทศะ' เสมอ


และเมื่อเราพิจารณาจากแง่มุมที่ว่านี้ วลีปิดท้ายบทที่หนึ่งของ 'จิวกง' ที่บันทึกว่า 見群龍無首吉 (jiàn qǘn lóng wú shǒu jí, เจี้ยน ชฺวิ๋น ล๋ง อู๋ โษ่ว จี๋) นั้น คำว่า 無首 (wú shǒu, อู๋ โษ่ว) ที่ครั้งหนึ่งแปลว่า 'ไม่มีหัว' หรือ 'ไม่ชิงชิงดีเด่นกัน' ก็จะแผลงไปเป็น 'มีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย' ทันที ;) ... วลีดังกล่าวก็เลยมีความหมายว่า 'เมื่อบรรลุถึง (見) ระดับที่สรรพกำลังแห่งหยาง (群龍) หนุนเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย (無首) ย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ยอดเยี่ยมมากเลยใช่มั้ยล่ะ !!? ... :D