Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :
 

第四十九卦 : 革

革 : 澤火革 ‧ 兌上離下

革 : 巳日乃孚‧元亨利貞‧悔亡‧

  • 初九 : 鞏用黃牛之革‧
  • 六二 : 巳日乃革之‧征吉‧無咎‧
  • 九三 : 征凶‧貞厲‧革言三就‧有孚‧
  • 九四 : 悔亡‧有孚‧改命‧吉‧
  • 九五 : 大人虎變‧未占有孚‧
  • 上六 : 君子豹變‧小人革面‧征凶‧居貞吉‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และพฤติกรรม มีความตื่นตัวอย่างสงบ (⚍) ปัญญา มีความเฉียบคม-ชัดเจน (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด (☱) ด้วยผลิตภัณฑ์ (☲)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การยืดหยุ่นพลิกแพลง, ความสว่างโชติช่วงใต้ทะเลสาบ



ความหมายของชื่อเรียก : Contriving : การยืดหยุ่นพลิกแพลง



อักษร 革 (gé, เก๋อ) มีคำแปลโดยทั่วไปว่า 'หนังสัตว์' โดยเฉพาะ 'หนังสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว' ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ความหมายที่แฝงมาด้วยกับอักษรตัวนี้ก็คือ 'การแปรรูป', 'การเปลี่ยนแปลง', 'การริเริ่ม' (innovate) หรือ 'การบูรณะปรับปรุง' (renovate) ซึ่งบางครั้งก็ยังหมายถึง 'การปฏิรูป', 'การปฏิวัติ', และ 'การถอดถอน (สิ่งเก่า)' ได้ด้วย

สำหรับความหมายในแง่ของ 'ภาพอักษร' นั้น 革 (gé, เก๋อ) ได้รับการพัฒนาความเป็นตัวอักษรมาจากภาพของ 'หนังสัตว์' ที่ถูกขึงให้กางออกสำหรับการตากแห้ง หรือการย่างให้แห้ง เพื่อกำจัดความชื้นอันเป็นปัจจัยหนึ่งของการเน่าเปื่อย จึงทำให้ 革 (gé, เก๋อ) มีความหมายในลักษณะของ 'การเปลี่ยนแปลงเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป' นั่นเอง ... และเมื่อเราพิจารณาจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบท เราก็จะเห็น 'ไฟ' คือ 離 (☲ : lí, ลี๋) อยู่ใต้ 'น้ำ' คือ 兑 (☱ : duì, ตุ้ย) หรือ 'ทะเลสาบ' ... ซึ่งน่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า คล้ายกับ 'การย่าง' ด้วย 'ไฟ' ซึ่งจุดไว้ที่ 'ด้านล่าง' เพื่อขับเอา 'น้ำ' ให้ระเหยตัวออกสู่ 'ภายนอก' คือ 'ด้านบน' ... และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ King Wen เลือกใช้คำว่า 革 (gé, เก๋อ) มากำกับไว้เป็นชื่อ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' นั่นเอง

แต่ความหมายจริงๆ ที่ King Wen ต้องการจะสื่อผ่าน 'ชื่อเรียก' นี้คืออะไรกันแน่ล่ะ ... เราก็คงต้องย้อนกลับไปดูวรรคทีห้าของบทที่สองกันอีกซักครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาของเรา เพราะลำดับความหมายของบทที่สี่สิบเก้านี้ น่าจะต้องเกี่ยวโยงกับวรรคดังกล่าวอย่างตรงๆ ตัว ... 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' ... นี่คือ 'การเปลี่ยนรูปแปลงร่าง' (transform) อันเนื่องมาจาก 'การเผยตัวออก' ของ 'คุณธรรมความดี' ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง

ลองย้อนไปดูบทที่สิบสาม ซึ่งว่าด้วย 'การครองตนในธรรม' (同人, Being Integrity) และเป็นบทที่มีความเกี่ยวข้องกับวรรคเดียวกันนี้นะครับ ... 'การครองคนในธรรม (同人) อย่างมั่นคง แม้ใน (于) สังคมที่สับสนวุ่นวายด้วยความป่าเถื่อนไร้การศึกษา (野) ย่อมเป็นความเจริญ (亨) ที่จะสามารถ (利) ก้าวข้าม (涉) ทุกอุปสรรค (大川) และจะสัมฤทธิ์ผล (利) ได้ด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี (君子貞)' ... นี่ก็คือ 'การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยธรรม' ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ด้วย 'การบ่มเพาะ' ทั้งตนเอง และสิ่งแวดล้อมในสังคมโดยรวม เพื่อจะก่อให้เกิด 'เหตุปัจจัย' ที่ 'เหมาะสม' ต่อ 'การเปลี่ยนแปลง'

คราวนี้ก็ดูบทที่ยี่สิบห้า คือ 'การเสริมประสาน' (無妄, Corroboration) ... 'ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) ความรู้ความเข้าใจ (亨) ความบากบั่นพยายาม (利) และหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน (貞) หากเตลิดเปิดเปิงออกไปคนละทิศคนละทางอย่างไม่สามารถหาจุดร่วมเดียวกัน (其匪正) ทุกย่างก้าวย่อมมีแต่ความสับสนไม่ชัดเจน (有眚) ... การดำเนินงานจึงต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรเร่งเร้าแข็งขืน (不利) จนสุดโต่ง เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทุกสิ่งล้วนมีผลสนอง (有攸往) ตามสมควรแก่เหตุของมันเสมอ' ... ในบทที่ยี่สิบห้านี้ก็จะเอ่ยถึง 'เหตุปัจจัย' ที่จะนำมาซึ่ง 'การเปลี่ยนแปลง'

แล้วก็มาถึงวัฏจักรที่สามของ 'พลังแห่งหยิน' ในบทที่สามสิบเจ็ด ซึ่งกล่าวถึง 'การหล่อหลอมคุณธรรม' (家人, Cultivating Virtues) ไว้ด้วยความหมายว่า ...'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยจิตใจที่อบอุ่น (☲) และท่าทีที่อ่อนโยน (☴) ประดุจดั่งมารดา (女 คือสตรี) ผู้โอบอุ้มเลี้ยงดูบุตรธิดา เพื่อปลูกฝังหลักคุณธรรม (貞) ให้เติบใหญ่ไพศาล' ... อันนี้ก็เป็นเรื่อง 'ความเปลี่ยนแปลง' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' ในลักษณะของ 'การอบรมบ่มเพาะ' และ 'การประคับประคอง' เพื่อสร้าง 'รากฐาน' ที่เหมาะสมแก่ 'การเติบใหญ่อย่างมั่นคง' ในลำดับต่อๆ ไป

หลังจากได้ทบทวนความหมายของเนื้อความข้างเคียงอยู่หลายตลบ ผมคิดว่า คำที่คู่ควรกับความหมายของ 革 (gé, เก๋อ) ในที่นี้มากที่สุดก็คือ Contriving โดยผมเลือกใช้คำไทยว่า 'ยืดหยุ่นพลิกแพลง' ไม่ใช่ Evolution หรือ Revolution อย่างที่หลายๆ ตำราเลือกใช้กัน ... เพราะนี่คือ 'การหลอมรวม' (com-, together) สรรพความรู้ และเหตุปัจจัยต่างๆ เข้าด้วย เพื่อนำไปสู่ 'ความเปลี่ยนแปลง' ตามที่ได้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า (tropus, turn, manner, style) ... ซึ่งความหมายปรกติของ contrive ก็คือ 'คิดและวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนงานอย่างชาญฉลาด' ... โดยในบทนี้ก็จะหมายถึงการผสมผสาน 離 (☲ : lí, ลี๋) คือ 'ธาตุไฟ' กับ 兑 (☱ : duì, ตุ้ย) คือ 'ธาตุน้ำ' เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
巳日乃孚元亨利貞悔亡
sì rì nǎi fú yuán hēng lì zhēn huǐ wáng
ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ ฟู๋ เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน หุ่ย วั๋ง



巳 อ่านว่า sì (ซื่อ) เป็น 'ภาพอักษร' ของ 'ตัวอ่อน' ของสิ่งมีชีวิตที่กำลัง 'เจริญเติบโต' ในครรภ์ หรือในรังไข่ ... ความหมายจึงหมายถึง 'ตัวอ่อน', 'การถือกำเนิด', 'การก่อกำเนิด', 'การเริ่มต้นแห่งวัฏจักรรอบใหม่' ซึ่งก็หมายถึง 'การสิ้นสุดของวัฏจักรรอบเดิม' ด้วย ; บางครั้ง 巳 (sì, ซื่อ) จึงหมายถึง 'หยุด', 'วาระ', หรือ 'รอบ' ; และสามารถหมายถึง 'ที่สุด', หรือ 'ปลายสุด' แบบเดียวกับ 太 (tài, ไท่) และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 已 (yǐ, อี่) ที่หมายถึง 'ผลสรุป', 'ผลลัพธ์', 'ผ่านพ้น' หรือ 'ก้าวข้าม' (過) ... นอกจากนั้นแล้ว 巳 (sì, ซื่อ) ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียกของเวลา โดยถูกกำหนดให้เป็น 'ชั่วยามที่หก' ของแต่ละวัน และยังหมายถึง 'ปีนักษัตรที่หก' ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น 'งู' และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ 'ธาตุไฟ' ... บางครั้งมันจึงมีลักษณะของ 'จุดที่เกิดการแยกกิ่งก้านสาขาใหม่ๆ' หรือ 'จุดกำเนิดของกิ่งก้านสาขาต่างๆ' ได้ด้วย

ความหมายของ 日 (rì, ญื่อ) ที่นอกจากจะหมายถึง 'ดวงตะวัน', 'กลางวัน', 'วัน', หรือ 'เวลา' แล้ว ความหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับ 'ดวงอาทิตย์' ก็จะสามารถหมายถึง 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', หรือ 'สว่างไสว' (เหมือนเวลากลางวัน) ได้ด้วย ... แต่ความหมายที่แปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็จะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ของจริง', 'ของแท้', 'หนักแน่น', 'สัจจริง' หรือ 'ซื่อสัตย์' (ดั่งตะวันที่ส่องสว่างตลอดเวลา) ... และแน่นอนว่า มันได้สะท้อนความหมายของคำว่า 'คุณธรรม' อยู่กลายๆ ด้วย :)

乃 อ่านว่า nǎi (ไหฺน่, หฺนั่ย) แปลว่า 'ดังนั้น', 'ในที่สุด', 'ผลสรุป', 'เป็นเช่นนั้น', 'อย่างไรก็ตาม'

孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

ผมเห็นประเด็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า 巳 (sì, ซื่อ) ซึ่งสามารถจะหมายถึง 'ชั่วยามที่หก' ของแต่ละวันนั้น อาจจะมีนัยบางอย่างที่ King Wen ต้องการจะสื่อเอาไว้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวคือเวลา 11:00 น. จนถึง 13:00 น. อันเป็น 'ช่วงเที่ยงวัน' หรือ 'ช่วงกึ่งกลางของวัน' พอดี อันอาจจะถือได้ว่า เป็นจุดที่ peak ที่สุดของตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ทำมุมกับโลก ก่อนที่จะเริ่มคล้อยไปทางตะวันตกจนลับหายไปในแต่ละวัน ... ซึ่งทำให้คำว่า 巳日 (sì rì, ซื่อ ญื่อ) อาจจะถูกใช้เพื่อแฝงความหมายที่ว่า 'ณ จุดที่ดวงตะวันเปล่งประกายสุกสว่างที่สุด' ก็เป็นไปได้

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือคำว่า 日 (rì, ญื่อ) ซึ่งสามารถให้ความหมายว่า 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', 'ชัดเจน', หรือแม้แต่ 'ของแท้' และ 'ซื่อสัตย์' อันเป็นความหมายที่นอกเหนือไปจากคำแปลทั่วๆ ไปว่า 'ดวงตะวัน' หรือ 'วัน' อย่างที่พบเห็นกันเป็นปรกติ ... ดังนั้น 巳日 (sì rì, ซื่อ ญื่อ) จึงอาจจะหมายถึง 'ความเที่ยงธรรม', 'ความเที่ยงตรงในหลักแห่งธรรม' หรือ 'ความรอบรู้อย่างถูกต้องและชัดเจน' ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ควรจะถูกมองข้ามไปด้วยเหมือนกัน

เมื่อได้ทบทวน 'ความเป็นไปได้' ของความหมายทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่า 革 (gé, เก๋อ) ความหมายที่ 'น่าจะ' ใกล้เคียงกับความตั้งใจเดิมของ King Wen มากที่สุดก็คือ ... 'การแสดงออกซึ่งสัจธรรมอันเที่ยงแท้ (巳日) อย่างเหมาะเจาะลงตัว (巳) แก่กาละ-เทศะ (日) คือ (乃) ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ (孚) ความริเริ่มสร้างสรรค์ (元) กรอบเกณฑ์เพื่อการพัฒนา (亨) ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) และหลักจริยธรรมในการประพฤติปฏิบัติ (貞) สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างปราศจากความหม่นหมาง (悔亡) ทั้งปวง' ...

นับเป็น 'ข้อเตือนสติ' ที่ทำให้ต้องฉุกคิดขึ้นมาเลยครับว่า ... 'ศักยภาพ' ทั้งหลาย อันประกอบด้วย 'ความริเริ่มสร้างสรรค์', 'ความมีระบบระเบียบ', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท', และ 'หลักแห่งคุณธรรม-จริยธรรม' สำหรับ 'การประกอบภาระกิจ' ต่างๆ นั้น จำเป็นต้องนำออกมาใช้อย่างถูกต้องแก่ 'กาละ-เทศะ' ด้วย จึงจะประสบผลตามที่ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ ... ดังนั้น ... 'การทำความเข้าใจ' ต่อ 'สภาวะแวดล้อม' ที่ตนกำลังรับผิดชอบอยู่ให้ 'ถ่องแท้' และ 'รอบด้าน' จริงๆ (巳日) จึงเป็น 'หน้าที่' หนึ่งของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ที่ไม่อาจจะละเลย เพื่อจะ 'วางใจได้' (乃孚) ว่า 'ผู้ปฏิบัติงาน' นั้นๆ มี 'ความเข้าใจ' ที่เพียงพอสำหรับการเลือก 'จังหวะเวลา' ให้ 'พอเหมาะพอดี' แก่ 'การปฏิบัติงาน' ... นัยที่ King Wen ซ่อนไว้ในอักษรเพียง 4 ตัวของวลี 巳日乃孚 (sì rì nǎi fú, ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ ฟู๋) จึงไม่ธรรมดาจริงๆ ... ;)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมอยากจะชวนย้อนไปดูเนื้อความในวรรคที่สองของบทที่สองควบคู่กันไป เนื่องจากวรรคดังกล่าวคือ 'คู่วลี' ของวรรคที่ห้าในบทเดียวกัน อันเป็นวรรคที่ส่งต่อความสัมพันธ์มาถึงบทนี้ โดย 'จิวกง' บันทึกข้อความไว้ในวรรคดังกล่าวว่า ... 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不利) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น' ... ซึ่งความหมายเดียวกันนี้ได้ถูกถ่ายทอดไว้อีกครั้งโดย King Wen ในบทที่สี่สิบหก (䷭ : 昇) ซึ่งกล่าวถึง 'การพัฒนาศักยภาพ' ไว้ว่า ... 'ปฐมปัจจัย (元) แห่งพัฒนาการ (亨) ทั้งหลาย คือผลพวง (用) แห่งโอกาสที่ได้พานพบ (見) กับยอดคน (大人) สิ่งที่พึงปฏิบัติจึงมิใช่ (勿) การรบเร้าเร่งร้อนอย่างกระวนกระวาย (恤) แต่โดยการแสวงหาเพื่อสั่งสมความพร้อมในด้านศักยภาพอันโดดเด่นชัดเจน (南征) นั้นต่างหากที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... นั่นแหละครับคือสิ่งที่ทำให้ 'คัมภีร์อี้จิง' เป็น 'จิ๊กซอว์หนังสือ' ที่น่าทึ่งในวิธีการเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดของมัน ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

鞏用黃牛之革
gǒng yòng huáng niú zhī gé
ก่ง โยฺว่ง ฮฺว๋าง นิ๋ว จือ เก๋อ



鞏 อ่านว่า gǒng (ก่ง) มีความหมายว่า 'มัดเข้าด้วยกัน', 'ยึดไว้ด้วยกัน' (ส่วนใหญ่คือการผูดรัดด้วยแถบหนังสัตว์) ซึ่งมีลักษณะของ 'การทำให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น' มันจึงมีความหมายว่า 'รวมพลัง' ได้ด้วย ; หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ consolidate ซึ่งหมายถึง 'การประมวลเข้าด้วยกัน', 'การประสานเข้าเป็นระบบเดียวกัน'

สังเกตมั้ยครับว่า การจะมัดสิ่งของใดๆ เข้าด้วยกัน (鞏) นั้น มันจะใช้หนังวัวชนิดไหนก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งไม่มีเหตุผล หรือไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะต้องเจาะจงให้ใช้ 'หนังของวัวเหลือง' (黃牛之革) อย่างที่ 'จิวกง' บันทึกเอาไว้ ... ดังนั้น ... คำว่า 'วัวเหลือง' (黃牛) ในที่นี้ จึงต้องถูกใช้เพื่อเป็น 'สื่อสัญลักษณ์' ให้หมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไปอยู่แล้ว ... ซึ่งผมคงไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำในประเด็นที่เคยเล่าไว้แล้วว่า 黃 (huáng, ฮฺว๋าง) ซึ่งแปลว่า 'สีเหลือง' นั้น คือสีประจำของ 'ธาตุดิน' อันเป็น 'ธาตุแห่งหยิน' แต่ในบางกรณีก็สามารถที่จะหมายถึง 'สีทอง' หรือ 'สีเหลืองอร่ามดุจทองคำ' ซึ่งให้ความหมายในลักษณะของ 'ความสูงส่ง' และ 'ความมีคุณค่าที่คู่ควรแก่การยกย่องเทิดทูน' เนื่องด้วย 'ความปราศจากมลทิน' ใดๆ ; ส่วนคำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) ซึ่งแปลว่า 'วัว' ก็เป็น 'สัตว์สัญญลักษณ์' ของ 'พลังแห่งหยิน' ในแง่ของ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ที่คล้ายกับ 'ความดื้ออย่างสงบ' นั่นเอง ... เพราะฉะนั้น คำว่า 黃牛 (huáng niú, ฮฺว๋าง นิ๋ว) ที่เห็นอยู่นี้ น่าจะต้องหมายถึง 'หลักคุณธรรมอันบริสุทธิ์แห่งหยิน' อย่างแน่นอน !!

เพราะฉะนั้น วลีนี้ของ 'จิวกง' ก็แทบจะมีความหมายตรงๆ ตัวเลยครับว่า ... 'การจะประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างมั่งคงแข็งแรง (鞏) นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัย (用) ความยืดหยุ่นพลิกแพลงด้วยหลักแห่งคุณธรรมอันบริสุทธิ์ (黃牛之革)' ... นั่นก็คือ จะต้องมี 'เป้าหมายที่ชัดเจน' (元), มี 'ระบบระเบียบแบบแผน' (亨), มี 'ความวิริยะอุตสาหะ' (利), และ 'ความมุ่งมั่นอดทน' อย่าง 'คงเส้นคงวา' (牝馬之貞) ... อันเป็น 'คุณลักษณะแห่งหยิน' ที่ King Wen บันทึกไว้ตั้งแต่บทที่สองนั่นเอง

 

สอง หยิน :

巳日乃革之征吉無咎
sì rì nǎi gé zhī zhēng jí wú jiù
ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ เก๋อ จือ เจิง จี๋ อู๋ จิ้ว



'จิวกง' ถึงกับเลียนลำดับอักษรของวลี 巳日乃孚 (sì rì nǎi fú, ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ ฟู๋) ที่ KIng Wen เลือกใช้ในบทเดียวกันนี้ มาดัดแปลงเป็น 巳日乃革 (sì rì nǎi gé, ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ เก๋อ) เลยทีเดียว และน่าจะชวนให้คิดต่อไปได้ว่า 孚 (fú, ฟู๋) กับ 革 (gé, เก๋อ) คงจะมีความเป็น synonym กันในระดับหนึ่งได้ด้วยเหมือนกัน ... ซึ่งจริงๆ มันก็ควรเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเราอาจจะไม่ทันสังเกตเท่านั้นเอง ... :)

ลองย้อนพิจารณาความหมายของคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) กันซักหน่อยแล้วกัน ... คำนี้สามารถที่จะมีความหมายว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ด้วย ... ในขณะที่ 革 (gé, เก๋อ) มีความหมายในลักษณะของ 'วิวัฒนาการ', 'การเปลี่ยนแปลง', 'การริเริ่ม', 'การปรับปรุง' ซึ่งมีลักษณะของ 'การกำจัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป และเสริมสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมาแทนที่' ... ทีนี้ พอ King Wen ท่านเปิดประเด็นเอาไว้ว่า ... 'การแสดงออกซึ่งสัจธรรมอันเที่ยงแท้ อย่างเหมาะเจาะลงตัวแก่กาละ-เทศะ คือปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริม (巳日乃孚) ให้ศักยภาพทั้งหลาย (元亨利貞) ได้รับการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิผล (悔亡 คือปราศจากความอึดอัดคับข้องใจ)' ... 'จิวกง' ก็รับช่วงมาขยายความด้วยวรรคที่สองนี้ว่า ... 'ความรอบรู้อย่างกระจ่างในข้อเท็จจริงดังกล่าว (巳日) ย่อมนำไปสู่ (乃) ความยืดหยุ่นพลิกแพลงที่เหมาะสม (革之) การดำเนินงานอย่างมีวิจารณญาณ (征) อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) ได้นั้น คือการรู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดีอย่างปราศจากมิจฉาทิฏฐิ (無咎) ใดๆ' ...

ผมคิดว่า 'จิวกง' น่าจะตั้งใจเล่นกับวลี 巳日 (sì rì, ซื่อ ญื่อ) ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะตอกย้ำถึงประเด็นที่ King Wen แฝงเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า ... ผู้ปฏิบัติงานทุกคน จะต้องมี 'ความเข้าใจอย่างถ่องแท้รอบด้าน' ต่อ 'สภาวะแวดล้อม' ที่ตนกำลังรับผิดชอบอยู่ เพื่อจะเลือกใช้ 'ศักยภาพ' ให้ 'เหมาะสมแก่กาละ-เทศะ' ในการ 'ขับเคลื่อน' ให้เกิด 'ความเปลี่ยนแปลงโดยธรรม' (黃牛之革) อย่างราบรื่น (無咎) ... นั่นเอง

และเนื่องจาก 征 (zhēng, เจิง) ซึ่งพบเห็นค่อนข้างบ่อยใน 'คัมภีร์อี้จิง' ด้วยความหมายที่ว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; 'เสาะหา', 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; นอกจากนั้นก็ยังหมายถึง 'การระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน ... ผมจึงรวบรัดที่จะให้ความหมายไว้ในวรรคนี้ว่า 'การดำเนินงานอย่างมีวิจารณญาณ' ซะเลย เพื่อให้ไปสอดรับกับ 'ความรู้จักกาละ-เทศะ' ที่จั่วหัวเอาไว้ ซึ่งก็แน่นอนครับว่า มันจะต้อง 吉 (jí, จี๋) แล้วก็ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) อยู่แล้ว หากสามารถปฏิบัติได้ตามนั้นจริงๆ ... ;)

 

สาม หยาง :

征凶貞厲革言三就有孚
zhēng xiōng zhēn lì gé yán sān jiù yǒu fú
จิง เซฺวิง เจิน ลี่ เก๋อ เอี๋ยน ซัน จิ้ว โหฺย่ว ฟู๋



ความจริงก็ไม่ถึงกับมีคำยากนะครับสำหรับวรรคนี้ แต่วิธีการลำดับคำเพื่อเล่นกับความหมายที่ 'จิวกง' พยายามจะสื่อนั้น น่าจะต้องคิดทบทวนกันหลายแง่หลายมุมเลยทีเดียว ... อย่างเช่นคำว่า 征 (zhēng, เจิง) ที่เพิ่งจะ 吉 (jí, จี๋) ไปในวรรคที่สองนั้น ก็ถูกนำกลับมาใช้คู่กับ 凶 (xiōng, เซฺวิง) ในวรรคนี้ทันที ... ซึ่งเราสามารถเลือกพิจารณาให้ความหมายของ 征吉 (zhēng jí, เจิง จี๋) กับ 征凶 (zhēng xiōng เจิง เซฺวิง) เป็นไปในทางเดียวกัน หรือตรงกันข้ามกันก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความหมายของอักษรแวดล้อมอื่นๆ ... เช่นเดียวกับคำว่า 貞厲 (zhēn lì, เจิน ลี่) ที่สามารถแปลว่า 'ความเคร่งครัดในหลักคุณธรรม' หรือ 'การทำลายคุณค่าของหลักคุณธรรม' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน เพราะความหมายของอักษร 厲 (lì, ลี่) สามารถชี้นำไปได้ทั้งสองแบบ ... อ้ะ ... ลองไล่ความหมายของคำที่น่าจะเป็น 'ตัวแปร' ให้ครบไปก่อนแล้วกัน ...

厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย :P

言 (yán, เอี๋ยน, เยี๋ยน) เป็นคำที่พบเจอค่อนข้างบ่อยใน 'คัมภีร์อี้จิง' แต่ก็เล่าความหมายรวมๆ เอาไว้กับอักษรตัวอื่นๆ โดยไม่ได้แยกเล่าอย่างเจาะจง ... คำนี้มีความหมายตามปรกติว่า 'คำพูด' … แต่จริงๆ แล้ว 'คำพูด' นั้นจะมีหลายลักษณะด้วยกัน เพราะมันอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'คำปรึกษา', 'คำเตือน', 'ข้อคิดเห็น', 'คำชี้แจง', 'คำอธิบาย', หรือ 'การให้เหตุผล'

อักษร 三 (sān, ซัน, ซาน) เคยย้ำไปหลายครั้งแล้วนะครับว่า มันคือ 'จำนวนสาม' ซึ่ง 'มากกว่าสอง' จึงทำให้มีความหมายว่า 'มาก', 'บ่อย' ได้ด้วย

就 อ่านว่า jiù (จิ้ว) มีความหมายตาม 'รูปคำ' ของมันว่า 'การเลื่อนไปสู่ที่สูง', หรือ 'การอยู่ในสถานที่โดดเด่นเห็นได้ชัด' ; ดังนั้น มันจึงแปลว่า 'เข้ามาใกล้', 'ใกล้เข้ามา' หรือ 'เคลื่อนเข้าหา' แล้วจึงแผลงไปเป็น 'สำเร็จ' หรือ 'บรรลุผล' (accomplish) และอาจจะหมายถึง 'ข้อสรุป' ซึ่งอาจจะเป็น 'จุดสิ้นสุด' หรือ 'จุดเริ่มต้น' ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ; บ่อยครั้งที่คำนี้มักจะถูกใช้เป็นคำเชื่อมประโยค ซึ่งจะมีความหมายคล้ายๆ กับ right now, as soon as, หรือให้ความหมายในลักษณะของการ 'เจาะจง' เวลา, สถานที่, บุคคล, หรือเหตุการณ์ต่างๆ ก็ได้

เมื่อพิจารณาจากบริบทของความหมายในตัวอักษรที่แวดล้อมทั้งหมดแล้ว ผมเลือก 'ตีความ' ให้กับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า ... 'ยิ่งต้องฟันฝ่ากับ (征) อุปสรรคที่อันตรายร้ายแรง (凶) ก็ยิ่งต้องมีความหนักแน่นมั่นคงในหลักคุณธรรม (貞) อย่างเคร่งครัด (厲) หลักคิดอันจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดี (革言) ได้นั้น จำเป็นต้องมีความประสานสอดคล้องกันในทุกๆ ระดับที่เกี่ยวข้อง (三就 หมายถึงทั้ง 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย, ระดับบริหาร, และระดับปฏิบัติการ หรือ ฟ้า, มนุษย์, และดิน) จึงสามารถเป็นที่ไว้วางใจ และได้รับการสนับสนุน (有孚)' ... จากนั้นก็ไปต่อด้วยถ้อยคำในวรรคที่สี่เลยครับ ...

 

สี่ หยาง :

悔亡有孚改命吉
huǐ wáng yǒu fú gǎi mìng jí
หุ่ย วั๋ง โหฺย่ว ฟู๋ ไก่ มิ่ง จี๋



เล่าความหมายของ 悔 (huǐ, หุ่ย) ซ้ำอีกครั้งแล้วกัน ... คำนี้จะแปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', ซึ่งตรงกับคำแปลภาษาอังกฤษว่า repent ซึ่งหมายถึง 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' โดยมีความแตกต่างจากอาการเสียใจในคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก ... ดังนั้น ในบางกรณีผมจึงให้ความหมายแก่ 悔 (huǐ, หุ่ย) ไว้ว่า 'ความอึดอัดขัดเคือง', หรือ 'ความคับข้องรำคาญใจ' ซึ่งเป็นความรู้สึกแต่ละคนเป็นผู้ก่อให้แก่ตัวเองเป็นหลัก

ลอกคำแปลของ 改 (gǎi, ไก่) จากบทที่สี่สิบแปดมาให้อ่านง่ายๆ เลยครับ คำนี้แปลว่า 'แก้ไข', 'ปรับปรุง', 'เปลี่ยนแปลง', 'ทำให้ถูกต้อง', และอาจจะหมายถึง 'เปลี่ยนรูปแปลงร่าง' ไปเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดนั้นจะมีความหมายในลักษณะของ 'การเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม' หรือ 'การพัฒนาให้เจริญยิ่งขึ้น'

命 อ่านว่า mìng (มิ่ง) แปลว่า 'ชีวิต', หรือ 'ชะตาชีวิต', ซึ่งแผลงไปเป็น 'คำสั่ง', 'คำสอน', 'มีอิทธิพลชี้นำ', 'ชี้นำ', 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'

ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการใช้ถ้อยคำในวรรคนี้ เพื่อขยายความให้กับหลักปฏิบัติซึ่งท่านกล่าวไว้ในวรรคที่สามว่า 'หลักคิดอันจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดี (革言) ได้นั้น จำเป็นต้องมีความประสานสอดคล้องกันในทุกๆ ระดับที่เกี่ยวข้อง (三就)' ... ทั้งนี้ ก็เพื่อจะ 'ประสานความต่าง' ของ 'หลักคิด' และ 'มาตรฐานของการปฏิบัติงาน' ซึ่งมักจะมี 'ความต่างมิติกัน' ในแต่ละฝ่าย ให้สามารถผสมกสมกลืนกันได้อย่างลงตัว และช่วยปัดเป่า 'ความคับข้องใจ' (悔) อันเนื่องมาจาก 'ความขัดแย้งทางอารมณ์' (悔) ให้หมดสิ้นไป (亡) จากกระบวนการที่ทุกคนต้องปฏิบัติงานร่วมกัน ...

ดังนั้น ความหมายที่เห็นได้อย่างค่อนข้างจะชัดเจนจากวรรคนี้ก็คือ ... 'เมื่อสามารถขจัดความอึดอัดคับข้องใจให้หมดสิ้นไปได้ (悔亡) ความไว้วางใจ และการให้ความร่วมมือสนับสนุนย่อมบังเกิดขึ้น (有孚) การปรับเปลี่ยน (改) แนวคิดและทัศนคติ (命) อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนั้น คือสิ่งประเสริฐ (吉) ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอันรุ่งเรือง' ... :)

 

ห้า หยาง :

大人虎變未占有孚
dà rén hǔ biàn wèi zhān yǒu fú
ต้า เญิ๋น หู่ เปี้ยน เว่ย จัน โหฺย่ว ฟู๋



เจอคำว่า 虎 (hǔ, หู่) อีกแล้วนะครับ ซึ่งผมเคยเล่าไว้อย่างยาวมาแล้วในบทที่สิบ ... โดยทั่วไปแล้ว คำนี้จะหมายถึง 'เสือ', แต่มันก็แฝงความหมายว่า 'ดุร้าย', 'โหดเหี้ยม', 'ห้าวหาญ', 'ยิ่งใหญ่', หรือ 'มีพละกำลังมาก' และยังสามารถที่จะหมายถึง 'ว่องไว', 'กระทันหัน', หรือ 'ทันทีทันใด', ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะที่เด่นๆ ของ 'เสือ' ด้วยกันทั้งสิ้น ; ในสมัยหนึ่ง ตัวอักษร 虎 ยังถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 唬 (hǔ, หู่) ที่หมายถึง 'การข่มขู่', 'การคุกคาม', หรือ 'การทำให้หวาดกลัว' ; และยังสามารถใช้แทน 琥 (hǔ, หู่) ที่หมายถึง 'โอปอ' (琥珀) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจะ 'ตีความ' ด้วยคติความคิดแบบ 'หยิน-หยาง' แล้ว … 龍 (lóng, ล๋ง) หรือ 'มังกร' จะถูกจัดให้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' แทน 'พลังแห่งหยาง' ในขณะที่ 'เสือ' หรือ 虎 (hǔ, หู่) จะถูกยกให้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' แทน 'พลังแห่งหยิน' ที่นอกเหนือจาก 'ม้า' หรือ 馬 (mǎ, หฺม่า) และ 'วัว' หรือ 牛 (niú, นิ๋ว) ที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว … โดยที่เมื่อใดก็ตามที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความขยันขันแข็ง' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' เขาก็จะใช้ภาพของ 'ม้า' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' … แล้วถ้าเมื่อใดที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความนุ่มนวล', 'ความสงบนิ่ง', 'ความเป็นตัวของตัวเอง', หรือ 'ความแน่วแน่มั่นคง' เขาก็อาจจะใช้ 'วัว' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ... แต่ถ้าเมื่อใดที่ 'พลังแห่งหยิน' สะท้อนถึง 'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว', 'ความกล้าหาญอย่างตรงไปตรงมา' หรือ 'ความยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง' เขาก็จะใช้ภาพของ 'เสือ' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' เพื่อสะท้อนถึง 'ความกล้า' ที่จะเผชิญกับทุกอุปสรรค หรือความพร้อมที่จะยอม 'อุทิศตัว' เพื่อธำรงรักษา 'หลักจริยธรรม' ที่ถูกต้องเอาไว้ … เพราะฉะนั้น 'การตีความ' ให้ตัวอักษร 虎 (hǔ, หู่) จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่รายล้อมมันอยู่ด้วยเสมอ

 อ่านว่า biàn (เปี้ยน) คำนี้มีความหมายว่า 'เปลี่ยนแปลง', 'แก้ไข', 'ปรับปรุง', 'กลับกลาย', และอาจจะถึงขั้น 'ปฏิวัติ' เลยก็ได้ ; ส่วนความหมายที่ดูจะนุ่มนวลลงมาหน่อยก็คือ 'ยืดหยุ่น' นั่นเอง

未 อ่านว่า wèi (เว่ย) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ว่า 'ไม่' หรือ 'ไม่มี' ที่มักใช้คู่กับคำอื่นๆ เช่น 'ไม่ถึงเวลา', 'ไม่ต้อง', 'ไม่จำเป็น' ฯลฯ

占 อ่านว่า zhān (จัน) มีความหมายในลักษณะของ 'การทำนายทายทัก', 'การพยากรณ์' ซึ่งบางครั้งก็จะหมายถึง 'วาจาสิทธิ์' ที่บัญญัติไว้โดยผ่าน 'ร่างทรง' หรือ 'ผู้วิเศษ' ที่สามารถติดต่อกับเทพเจ้าทั้งหลาย ; ซึ่งนอกจากนั้นมันก็ยังหมายถึง 'การคาดการณ์', 'การคาดเดา', 'การประเมิน' ; ถ้าใช้เป็นคำนามก็สามารถหมายถึง 'ลางบอกเหตุ', หรือ 'เครื่องลาง' ที่สามารถ 'บ่งบอกถึงอนาคต' ; ความหมายของ 占 (zhān, จัน) ยังสามารถหมายถึง 'การรายงาน', 'การสั่งการ', หรือ 'การโต้ตอบ' ได้อีกด้วย

คืองี้นะครับ ... การ 'ตีความ' ให้คำว่า 虎變 (hǔ biàn, หู่ เปี้ยน) หมายถึง 'การปรับตัวอย่างเสือ' หรือ 'การยืดหยุ่นด้วยหลักแห่งธรรม' มันก็ไม่ค่อยจะสื่อความหมายที่ชัดเจนซักเท่าไหร่หรอก หากเราไม่นำไปพิจารณาควบคู่กับวรรคที่สอง ซึ่งเป็น 'คู่วลี' โดยตรงของวรรคนี้ ... เก้าะ ... ขอให้ย้อนไปดูตรงที่ 'จิวกง' เลือกใช้วลีว่า ... 'ความรอบรู้อย่างกระจ่าง (巳日) ในข้อเท็จจริงที่ว่า การแสดงออกซึ่งสัจธรรมอันเที่ยงแท้ (巳日) อย่างเหมาะเจาะลงตัว (巳) แก่กาละ-เทศะ (日) ย่อมนำไปสู่ (乃) ความยืดหยุ่นพลิกแพลงที่เหมาะสม (革之) การดำเนินงานอย่างมีวิจารณญาณ (征) อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) ได้นั้น คือการรู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดีอย่างปราศจากมิจฉาทิฏฐิ (無咎) ใดๆ' ... ตรงจุดนี้ผมเลือก 'ขยายความ' ของ 巳日 (sì rì, ซื่อ ญื่อ) ให้ครบทุกแง่มุมไปเลยแล้วกันนะ ... :P ... ซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นภาพของ 虎 (hǔ, หู่) ซึ่งหมายถึง 'เสือ' หรือ 'พยัคฆ์' ที่ 'จิวกง' บรรจงเลือกมาใช้ได้ง่ายขึ้น ...

ผมขอยกประเด็นเรื่องที่ 'เสือ' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ของอะไรต่อมิอะไรไว้ก่อนเลยนะ โดยเราจะเจาะจงไปที่ประเด็นของ 'พฤติกรรมโดยธรรมชาติของเสือ' แทน ... เราจะเห็นว่าเสือนั้นมีการปรับพฤติกรรมของมันไปอย่างหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น 'การไม่เสี่ยงภยันตรายโดยไม่จำเป็น', 'การซ่อนพรางเพื่อปกปิดร่องรอยของตน', 'การรู้จักรอคอยโอกาสที่เหมาะสม', 'การจู่โจมโดยหวังผลที่คาดคำนวณได้อยู่ก่อนแล้ว', และ 'การสงบนิ่งเมื่อไม่ถึงเวลาที่ต้องกระทำการใดๆ' ฯลฯ ... ทั้งหมดนั้น แม้ว่าจะเป็นสัญชาติญาณตามธรรมชาติที่ติดตัวพวกมันมาแต่กำเนิด แต่เสือทุกตัวก็ต้องผ่านวันเวลาของการฝึกฝนทักษะตามธรรมชาติเหล่านั้นเหมือนกัน ...

ความสุดยอดของ 'จิวกง' ก็อยู่ตรงที่ท่านย่นย่อถ้อยคำของตัวเองจากวลี 巳日乃革之 (sì rì nǎi gé zhī, ซื่อ ญื่อ ไหฺน่ เก๋อ จือ) ในวรรคที่สอง ให้รวบรัดลงไปในคำว่า 虎 (hǔ, หู่) เพียงคำเดียวในวรรคนี้ เพื่อแทนความหมายทั้งหมดของ 'การเรียนรู้ฝึกฝนจนความรู้จักกาละ-เทศะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับเสือที่เข้าใจถึงทุกความเคลื่อนไหวของตัวเองที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์รอบๆ ตัว' นี่แหละ ... เพราะฉะนั้น ความหมายที่ 'จิวกง' กำลังพยายามจะสื่อกับพวกเราผ่านถ้อยคำในวรรคนี้ก็คือ ... 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ (大人) จะต้องรู้จักใช้ความยืดหยุ่นพลิกแพลงราวกับพยัคฆ์ (虎變) ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมแก่สภาวะแวดล้อม โดยไม่หลงใหลงมงาย (未) ในโชคลาง หรือคำทำนาย (占) ที่ไร้แก่นสาร แต่มุ่งที่การเตรียมความพร้อม (有孚) อย่างมีวิจารณญาณตลอดเวลา' ... หรือถ้าจะแปลให้รวบรัดกว่านั้น เราก็คงต้องแปลกันว่า ... 'ความพลิกแพลงตามสถานการณ์ราวกับสัญชาติญาณพยัคฆ์ของผู้นำนั้น (大人虎變) ไม่ใช่เพราะความงมงายในโชคลางและคำทำนาย (未占) แต่เพราะมีความพร้อมและความตื่นตัว (有孚) อยู่ตลอดเวลาต่างหาก' ... โฮะ !! ... สุดยอดมั้ยล่ะจ๊าบบบบ ??!!

 

หก หยิน :

君子豹變小人革面征凶居貞吉
jün zǐ bào biàn xiǎo rén gé miàn zhēng xiōng jü zhēn jí
จฺวิน จื่อ เป้า เปี้ยน เสี่ยว เญิ๋น เก๋อ เมี่ยน เจิง เซฺวิง จฺวี เจิน จี๋



豹 อ่านว่า bào (เป้า) มีความหมายว่า 'เสือดาว' (ประเภท leopard หรือ panther) ซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับ 虎 (hǔ, หู่) ที่มักจะหมายถึง 'เสือโคร่ง' ; ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า 豹 (bào, เป้า) จะเปลี่ยนสีสันและลวดลายของมันไปตามฤดูกาล เพื่อให้เหมาะแก่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่

面 อ่านว่า miàn (เมี่ยน) แปลว่า 'ใบหน้า', 'ผิวหน้า', 'ผิวด้านนอก', 'ด้านนอก', หรือ 'ด้าน'

居 อ่านว่า jü (จฺวี) แปลว่า 'อาศัย', 'ที่พักอาศัย', 'ที่พักพิง' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ปักหลัก', 'ยึดเหนี่ยว', 'ปกป้อง', 'ครอบครอง' ; แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'รวบรวมไว้ด้วยกัน'

ดูเผินๆ ก็เหมือนกับไม่มีอะไรจะต้องเล่ากันมากมายสำหรับถ้อยคำในวรรคนี้ เพราะ 大人虎變 (dà rén hǔ biàn, ต้า เญิ๋น หู่ เปี้ยน) ในวรรคที่ห้า กับ 君子豹變 (jün zǐ bào biàn, จฺวิน จื่อ เป้า เปี้ยน) ในวรรคนี้ แทบจะเป็น synonyms กันทั้งวลีเลยก็ว่าได้ ... แต่มันก็มีจุดเล็กๆ ให้ต้องสะดุดใจกับลีลาการใช้ถ้อยคำของ 'จิวกง' อยู่เหมือนกัน ... ประการแรกเลยก็คือ การเปลี่ยนคำจาก 虎 (hǔ, หู่) มาเป็น 豹 (bào, เป้า) นั้น แม้ว่าจะสื่อความหมายถึง 'เสือ' ที่ต่างชนิดกัน แต่ธรรมชาติของสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็แทบจะเหมือนกันทุกๆ ด้านเลยก็ว่าได้ ... มันจึงน่าจะมีเหตุผลบางอย่างในการเปลี่ยนคำตรงจุดนี้ ไม่งั้นจะเปลี่ยนทำไม ?! ... ประการต่อมาก็คือ มีการผูกวลีต่อท้ายในลักษณะของเปรียบเทียบกับ 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ซึ่งหมายถึง 'คนถ่อย' หรือ 'ชนชั้นสามัญ' ที่ตรงกันข้ามอย่างตรงๆ ตัวกับ 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) ซึ่งหมายถึง 'บัณฑิต', 'ปราชญ์' หรือ 'ชนชั้นนำ' ที่เอ่ยถึงในตอนต้นวรรค ... ดังนั้น ... คำว่า 豹變 (bào biàn, เป้า เปี้ยน) หรือ 'การเปลี่ยนแปลงอย่างเสือดาว' ที่เราเห็นในวรรคนี้ น่าจะต้องมี 'ความหมายแฝง' ที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อให้ตรงข้ามกับ 革面 (gé miàn, เก๋อ เมี่ยน) อย่างแน่นอน

ผมได้อ่านพบ 'การตีความ' อยู่บทหนึ่งซึ่งน่าสนใจพอสมควร โดยเขายกเอาข้อเปรียบเทียบเกี่ยวกับ 'พัฒนาการตามธรรมชาติของเสือดาว' ซึ่งเราแทบจะจำแนกประเภทของ 'เสือดาว' (豹) ไม่ออกเลยในขณะที่มันแรกเกิด แต่สีสันและความสวยงามของมันจะค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อมันเติบใหญ่เจริญวัย ... ตรงกันข้ามกับ 'เสือโคร่ง' (虎) ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่เด่นชัดมาตั้งแต่แรกเกิด และเติบใหญ่จนกลายเป็น 'จ้าวป่า' เหนือกว่าสัตว์บกทั้งปวง (未占有孚 คือเห็นปุ๊บก็ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงทายใดๆ เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว) ... การที่ 'จิวกง' เจาะจงใช้วลี 虎變 (hǔ biàn, หู่ เปี้ยน) กับ 'ผู้นำ' (大人) จึงแฝงนัยของการเปรียบเทียบที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน ... ในขณะที่บุคคลหนึ่งๆ จะเป็น 'บัณฑิต' หรือเป็น 'ปราชญ์' หรือไม่นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'พัฒนาการของบุคคลนั้นๆ' เป็นเครื่องพิสูจน์ เช่นเดียวกับ 'พัฒนาการของเสือดาว' (豹變) ที่เราไม่อาจจำแนกสายพันธุ์ของพวกมันก่อนจะถึงเวลาอันสมควร

เมื่อเราย้อนกลับไปดูสิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวรรค 'คู่วลี' กับวรรคที่หกนี้ เราอาจจะได้เห็น 'ความต่อเนื่อง' บางอย่าง อันเนื่องมาจากการเปรียบเทียบ 'พัฒนาการตาธรรมาติของเสือดาว' ที่เพิ่งจะเล่าไปนี้ ... 'จิวกง' ได้เปิดประเด็นของ 革 (gé, เก๋อ) เอาไว้ว่า ... 'การจะประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างมั่งคงแข็งแรง (鞏) นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัย (用) ความยืดหยุ่นพลิกแพลงด้วยหลักแห่งคุณธรรมอันบริสุทธิ์ (黃牛之革)' ... แล้วจึงขยายความต่อท้ายไว้ว่า ... 'ปราชญ์ (君子) ย่อมนำความเปลี่ยนแปลงอย่างมีลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกับพัฒนาการของเสือดาว (豹變) ในขณะที่ชนชั้นสามัญ (小人) มักจะปรับเปลี่ยน (革) เพียงพฤติกรรมอันผิวเผิน (面) ... การต้องเผชิญกับ (征) ปัญหาและอุปสรรคขั้นอุกฉกรรจ์ (凶) นั้น จำเป็นต้องอาศัยความหนักแน่นมั่นคง (居) ในระบบระเบียบแบบแผน และหลักปฏิบัติโดยธรรม (貞) จึงจะสามารถประสบกับความสำเร็จ (吉) ได้' ...

อาจจะมีข้อทักท้วงอยู่บ้างว่า การเปรียบเทียบ 'ผู้นำ' (大人) กับ 虎變 (hǔ biàn, หู่ เปี้ยน) นั้น ดูจะเป็นทัศนคติที่ยอมรับกลายๆ ว่า 'ผู้นำ' คือคุณลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ... รึเปล่า ?! ... เนื่องจาก 'เสือโคร่ง' ที่เป็น 'จ้าวป่า' จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจาก 'ลูกเสือ' สายพันธุ์อื่นๆ ... คืองี้ ... เราคงต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า สถานภาพของ 'ผู้นำ' ในยุคสมัยของ 'จิวกง' นั้น เป็นสถานภาพที่สืบทอดกันโดยสายเลือด เพราะฉะนั้น 'ทายาทของประมุข' ย่อมหมายถึง 'ประมุขคนต่อไป' ตามขนบประเพณีของยุคสมัยดังกล่าว ... เพียงแต่ ... 'จิวกง' ได้จำแนก 'ผู้นำ' ออกเป็นหลายประเภทโดยยึดหลัก 'บรรทัดฐานของคุณธรรม' ซึ่งเราจะสังเกตได้จากการเล่นคำของท่านในสองวรรคท้ายของบทนี้ ที่ว่า ... 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ซึ่งเป็น 'สถานภาพของผู้นำโดยตำแหน่ง' ได้ถูกเปรียบเทียบกับ 虎變 (hǔ biàn, หู่ เปี้ยน) ซึ่งเป็น 'พัฒนาการของเสือโคร่ง' ... แต่การจะเป็น 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ) ซึ่งหมายถึง 'ผู้นำที่ทรงธรรม' และเป็น 'ปราชญ์ทางการปกครอง' ได้หรือไม่นั้น ถือเป็น 'สถานภาพโดยพฤติกรรม' ได้ถูกเปรียบเทียบกับ 豹變 (bào biàn, เป้า เปี้ยน) ซึ่งเป็น 'พัฒนากรของเสือดาว' ที่ต้องอาศัยเวลา และการเฝ้าสังเกตเป็นข้อพิสูจน์ยืนยัน ... แล้วก็เป็นไปได้เช่นกันว่า 'ผู้นำที่ไม่ได้เรื่อง' ย่อมมีพฤติกรรมเยี่ยง 'คนถ่อย' หรือ 'ชนชั้นสามัญ' (小人) ที่ 'มากด้วยลีลาแต่ปราศจากเนื้อหาใดๆ' (革面) ที่จะเป็นสาระประโยชน์ต่อพัฒนาการของสังคมโดยรวม ... ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า 'จิวกง' ไม่ได้ละเลยต่อประเด็นนี้เช่นกัน ... นี่ก็คือนัยทั้งหมดที่ 'จิวกง' แฝงไว้ในข้อเปรียบเทียบ เพื่อขยายความให้กับประเด็นของ 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' (革) ที่ King Wen ลำดับไว้ในวัฏจักรที่สี่ของ 'พลังแห่งหยิน' นี้



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เก๋อ' คือ การยืดหยุ่นพลิกแพลง, ความสว่างโชติช่วงใต้ทะเลสาบ

การแสดงออกซึ่ง 'สัจธรรมอันเที่ยงแท้' อย่าง 'เหมาะเจาะลงตัว' แก่ 'กาละ-เทศะ' คือปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ 'ศักยภาพ' ทั้งมวล อันประกอบด้วย 'ความริเริ่มสร้างสรรค์', 'กรอบเกณฑ์เพื่อการพัฒนา', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท', และ 'หลักจริยธรรม' ในการประพฤติปฏิบัติ สามารถบรรลุ 'เป้าประสงค์' ได้อย่างปราศจาก 'ความหม่นหมาง' ทั้งปวง

  •  
  • การจะ 'ประสานทุกภาคส่วน' เข้าด้วยกันอย่าง 'มั่งคง-แข็งแรง' นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัย 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' ด้วย 'หลักแห่งคุณธรรม' อันบริสุทธิ์
  •  
  • 'ความรอบรู้' อย่างกระจ่างในข้อเท็จจริงที่ว่า การแสดงออกซึ่ง 'สัจธรรมอันเที่ยงแท้' อย่าง 'เหมาะเจาะลงตัว' แก่ 'กาละ-เทศะ' ย่อมนำไปสู่ 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' ที่ 'เหมาะสม' ... 'การดำเนินงาน' อย่างมี 'วิจารณญาณ' อันจะนำไปสู่ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' ได้นั้น คือการ 'รู้จักแยกแยะ' ความผิดชอบชั่วดีอย่างปราศจาก 'มิจฉาทิฏฐิ' ใดๆ
  •  
  • ยิ่งต้อง 'ฟันฝ่า' กับ 'อุปสรรค' ที่ 'อันตรายร้ายแรง' ก็ยิ่งต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักคุณธรรม' อย่าง 'เคร่งครัด' ... 'หลักคิด' อันจะนำไปสู่ 'พัฒนาการที่ดี' ได้นั้น จำเป็นต้องมี 'ความประสานสอดคล้องกัน' ในทุกๆ ระดับที่เกี่ยวข้อง จึงสามารถ 'เป็นที่ไว้วางใจ' และได้รับ 'การสนับสนุน'
  •  
  • เมื่อสามารถ 'ขจัดความอึดอัดคับข้องใจ' ให้หมดสิ้นไปได้ 'ความไว้วางใจ' และ 'การให้ความร่วมมือสนับสนุน' ย่อมบังเกิดขึ้น ... 'การปรับเปลี่ยนแนวคิด' และ 'ทัศนคติ' อย่าง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' นั้น คือ 'สิ่งประเสริฐ' ที่จะนำไปสู่ 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' จะต้องรู้จักใช้ 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' ราวกับ 'พยัคฆ์' ที่สามารถ 'ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม' ของตนให้ 'เหมาะสมแก่สภาวะแวดล้อม' โดยไม่หลงใหลงมงายใน 'โชคลาง' หรือ 'คำทำนาย' ที่ไร้แก่นสาร แต่มุ่งที่ 'การเตรียมความพร้อม' อย่างมี 'วิจารณญาณ' ตลอดเวลา
  •  
  • 'ปราชญ์' ย่อมนำ 'ความเปลี่ยนแปลง' อย่างมี 'ลำดับขั้นตอน' เช่นเดียวกับ 'พัฒนาการของเสือดาว' ในขณะที่ 'ชนชั้นสามัญ' มักจะ 'ปรับเปลี่ยน' เพียง 'พฤติกรรมอันผิวเผิน' ... การต้องเผชิญกับ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ขั้น 'อุกฉกรรจ์' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'ระบบระเบียบแบบแผน' และ 'หลักปฏิบัติโดยธรรม' จึงจะสามารถประสบกับ 'ความสำเร็จ' ได้



The Organization Code :


'การยืดหยุ่นพลิกแพลง' คือการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (☱) เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ (☲) หนึ่งๆ ออกสู่ตลาดและผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ (☲) เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางการตลาด (☱) อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ; ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีนั้น ทีมงานที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ระดับ จำเป็นต้องรับรู้ถึง 'ระเบียบ' และ 'ขั้นตอน' ของ 'การประสานงาน' ระหว่างกันอย่างทั่วถึง เพื่อมิให้เกิดความชะงักงัน หรืออาการสะดุด อันเนื่องมาจาก 'ความไม่ลงรอยกัน' ของ 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ... ทั้งนี้ ... 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับปฏิบัติการ' จำเป็นต้องทำ 'ความเข้าใจ' ใน 'เป้าหมายร่วม' ของทุกๆ ฝ่าย ให้เกิด 'ความชัดเจน' ซะก่อน เพื่อให้ 'การดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ ที่จะต้อง 'ยืดหยุ่นพลิกแพลง' ไป 'ตามสถานการณ์' (⚍) นั้น ไม่นำไปสู่ 'ความตึงเครียดภายในองค์กร' อันเนื่องมาจาก 'การปฏิบัติงาน' ที่ 'สะเปะสะปะ' จนไม่สามารถระบุ 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' ที่แน่นอนร่วมกัน ... โดย 'ระดับบริหาร' จะต้องคอย 'กำกับดูแล' ให้ 'การประสานงาน' ของทุกๆ ฝ่าย และทุกๆ ระดับ สามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ได้อย่าง 'เต็มศักยภาพ' (⚌)

'การดำเนินกิจกรรม' หนึ่งๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีนั้น จะต้องดำเนินการอย่าง 'ถูกที่ - ถูกเวลา - ถูกฝาถูกตัว' และ 'ถูกต้อง' เพื่อเป็น 'หลักประกัน' ว่า บรรดา 'ศักยภาพ' ทั้งมวล อันประกอบด้วย 'ความริเริ่มสร้างสรรค์', 'กรอบเกณฑ์เพื่อการพัฒนา', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท', และ 'หลักจริยธรรม' ในการประพฤติปฏิบัติ ที่อุตส่าห์ทุ่มเทลงไป แล้วนั้น จะ 'พัฒนา' ไปสู่ 'มาตรการ' ที่สามารถ 'บรรเทาหรือแก้ไขปัญหา' พร้อมทั้งนำพาสังคม และองค์กรไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ยิ่งๆ ขึ้นไป

  •  
  • 'การประสานงาน' กับ 'ทุกภาคส่วน' ให้สามารถ 'ดำเนินงานร่วมกัน' ได้ 'อย่างราบรื่น' นั้น ทุกๆ ฝ่ายจะต้องมี 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' อย่าง 'ถูกต้องด้วยหลักการ' เพื่อที่จะ 'ก้าวข้ามข้อจำกัด' หรือ 'อุปสรรค' ใดๆ ที่อาจสกัดกั้น 'ความร่วมมือระหว่างกัน' ของหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในภาระกิจนั้นๆ
  •  
  • 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' นั้น จะต้องดำเนินการอย่าง 'เหมาะเจาะลงตัว' แก่ 'กาละ-เทศะ' โดยต้องไม่กระทบต่อ 'หลักการ' ที่กำหนดไว้เป็น 'บรรทัดฐาน' ... 'การดำเนินงาน' อย่างมี 'วิจารณญาณ' อันจะนำไปสู่ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' ได้นั้น คือการ 'รู้จักแยกแยะ' ความผิดชอบชั่วดีอย่างปราศจาก 'มิจฉาทิฏฐิ' ใดๆ
  •  
  • เมื่อต้องเผชิญกับ 'อุปสรรค' หรือ 'ปัญหา' ที่ 'ร้ายแรง' จะต้องพยายามรักษา 'ความมั่นคงในสติ' และ 'ความหนักแน่นในหลักการ' ไว้อย่างเหนียวแน่น เพื่อจะ 'ประคับประคอง' สถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปอย่าง 'ไม่เสียรูปกระบวน' ... 'หลักคิด' อันจะนำไปสู่ 'พัฒนาการที่ดี' ได้นั้น จำเป็นต้องมี 'การทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน' เพื่อให้ 'ทุกภาคส่วน' สามารถ 'เป็นที่ไว้วางใจ' และได้รับ 'การสนับสนุน' ซึ่งกันและกัน
  •  
  • 'ความหม่นหมาง' และ 'ความคับข้องใจ' ระหว่างกัน คือสาเหตุสำคัญของ 'ความแตกแยก' ในทุกๆ องค์กร ; ในขณะที่ 'การให้ความสนับสนุน' และ 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' นั้น เป็นผลพวงมาจาก 'ความไว้วางใจ' ที่ต่างฝ่ายต่างมีให้แก่กัน ... 'การปรับเปลี่ยนแนวคิด' และ 'ทัศนคติ' อย่าง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน' นั้น คือ 'สิ่งประเสริฐ' ที่จะนำไปสู่ 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' จะต้องรู้จักใช้ 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลง' ราวกับ 'พยัคฆ์' ที่สามารถ 'ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม' ของตนให้ 'เหมาะสมแก่สภาวะแวดล้อม' โดยไม่หลงใหลงมงายใน 'โชคลาง' หรือ 'คำทำนาย' ที่ไร้แก่นสาร แต่มุ่งที่ 'การเตรียมความพร้อม' อย่างมี 'วิจารณญาณ' ตลอดเวลา
  •  
  • 'ผู้มีปัญญา' ย่อมนำ 'ความเปลี่ยนแปลง' อย่างมี 'หลักการ' และมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่ชัดเจนใน 'การพัฒนา' อย่าง 'ต่อเนื่อง' และ 'ยั่งยืน' ... ในขณะที่ 'คนถ่อยด้อยการศึกษา' มักจะประพฤติตัว 'หวือหวาไปตามกระแส' แต่ 'ไร้ราก-ไร้หลักการ' ที่เป็น 'แก่นสารสาระ' เพื่อประโยชน์ใน 'การพัฒนา' ใดๆ ... การต้องเผชิญกับ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ขั้น 'อุกฉกรรจ์' นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'ระบบระเบียบแบบแผน' และ 'หลักปฏิบัติโดยธรรม' จึงจะสามารถประสบกับ 'ความสำเร็จ' ได้


ผมอยากจะบอกว่า การเลือกคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ 革 (gé, เก๋อ) นั้น เป็นอะไรที่ยุ่งยากพอสมควร เพราะมันมีความหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่ 'การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย' แบบ evolution ไปจนถึง 'การปฏิวัติ' แบบ revolution หรือแม้แต่ 'การเปลี่ยนรูปแปลงร่าง' แบบ transformation ไปเลยด้วยซ้ำ ... ซึ่งทำให้เราไม่สามารถเจาะจงระดับของการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย ...

แม้ว่า Evolving และ 'วิวัฒนาการ' คือคำที่ผมเลือกไว้ในตอนแรก เพราะเชื่อว่า 'การเปลี่ยนแปลง' ในลักษณะที่ 'ค่อยเป็นค่อยไป' ดูจะเข้ากันได้ดีกับลักษณะของ 'กระบวนวิวัฒนาการในธรรมชาติ' แต่เมื่อลงลึกไปถึงวลีต่างๆ ในช่วงท้ายๆ บทแล้ว ผมกลับพบว่า แนวคิดโดยรวมของ 'จิวกง' ที่ขยายความให้กับ 革 (gé, เก๋อ) นั้น น่าจะมีขอบเขตที่กว้างกว่า 'การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป' เพราะดูจะมุ่งเน้นอยู่กับประเด็นของ 'กาละ-เทศะ' มากกว่า ... ซึ่งแม้แต่ใน 'กระบวนวิวัฒนาการ' ที่เราเคยรับรู้กันมา ก็ไม่แน่ว่าจะต้อง 'ค่อยเป็นค่อยไป' ในทุกกรณี ... ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนคำแปลให้เป็น 'การยืดหยุ่นพลิกแพลง' โดยเลือกใช้คำอังกฤษว่า Contriving เพื่อสื่อถึง 'การปรับเปลี่ยนใดๆ ที่ได้ผ่านกระบวนคิด และมีการกำหนดแผนงานไว้เป็นอย่างดีแล้ว' และค่อนข้างจะมั่นใจว่า นี่คือลักษณะของ 革 (gé, เก๋อ) ที่ King Wen กับ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อเอาไว้

มีหลายคนที่มักจะเชื่อว่า 'ความยืดหยุ่น' คือ 'ศักยภาพในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที' ซึ่งเป็นไปตาม 'สัญชาติญาณ' มากกว่า 'การกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า' ... ทั้งยังมีความคิดว่า 'การกำหนดแผนงาน' ใดๆ ไว้ล่วงหน้านั้น จะเป็นการลดทอน 'ศักยภาพของความยืดหยุ่น' ให้อ่อนด้อยลงไป เนื่องจากต้องคอยอ้างอิง 'อยู่ในกรอบ' ของ 'แผนงานที่วางไว้แล้ว' เสมอ ... และนำไปสู่ 'แนวความเชื่อ' ที่ว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัย 'สัญชาติญาณ' หรือ Guts Feeling นั้น จะสามารถให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว และสร้างสรรค์ เหนือกว่าการยอมสิ้นเปลืองทรัพยากร และเสียเวลาไปกับ 'การวางแผนงาน' ที่ยังต้องคอยปรับปรุงแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ... แต่แนวคิดของ King Wen และ 'จิวกง' กลับไม่ใช่แบบนั้น !!

ผมเองก็มี 'ความเชื่อ' อยู่ว่า 'ความยืดหยุ่น' กับ 'ความไร้ราก-ไร้หลักการ' นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมโหฬาร แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจากภายนอกนั้น จะมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะ 'การต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แวดล้อมที่เผชิญอยู่' แต่สิ่งที่จะไม่เหมือนกันเลยก็คือ 'ทิศทาง' ของ 'การดำเนินกิจกรรม' !!? ... โดยภาพเปรียบเทียบที่น่าจะชัดเจนสำหรับแนวคิดที่ว่านี้ก็คือ การไหลไปตามกระแสน้ำของกอสวะ กับ การประคับประคองเรือให้โอนอ่อนผ่อนตามกระแสของคลื่นลมที่คอยปะทะ ... การไม่มีสิ่งใดเป็นหลักให้ยึดเหนี่ยวเลยนั้น ย่อมไม่อาจกำหนดจุดหมายปลายทางที่แน่นอนให้กับสรรพกำลังที่ทุ่มเทลงไป ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องของ 'การประเมินผล' ที่เราจำเป็นต้องอ้างอิงกับ 'หลักการ' บางอย่างไว้ ... เสมอ !!

มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดสำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ในแง่ของ The Organization Code ก็คือ ... 離 (☲ : lí, ลี๋) ได้รับการผูกโยงไว้กับ 'สินค้า' หรือ 'ผลิตภัณฑ์' ในขณะที่ 兑 (☱ : duì, ตุ้ย) คือสัญลักษณ์ที่ใช้แทน 'ฝ่ายขาย' ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่จะต้องมี 'ความกะล่อน' อย่างสุดๆ และจะต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อจะผลักดันสินค้าหนึ่งๆ ให้กลายเป็นยอดขายให้ได้ ... แต่ว่า ... หลายคนก็คงจะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้วทั้งนั้น กับการที่ต้องคอยตามเช็ดตามแก้ปัญหาให้กับกิจกรรมที่ 'ฝ่ายขาย' ดำเนินการไว้อย่างขาดๆ เกินๆ ... นั่นคือ 'ปัญหา' ที่มักจะนำไปสู่ 'ความขัดแย้งระดับตำนาน' ของ 'เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย' กับ 'เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ' และ 'ฝ่ายบัญชี' ... เมื่อฝ่ายหนึ่งถือเอา 'ความไม่ควรถูกครอบงำด้วยระบบระเบียบใดๆ' เป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติงาน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับยึดเอา 'ความถูกต้องของขั้นตอนทางเอกสาร' เป็นหลักยึด ... :) ... ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่า 'จิวกง' ได้คำนึงถึง 'ความขัดแย้ง' ในลักษณะที่ว่าในระดับของ 'การปกครอง' มานานมากแล้ว และบันทึกเป็นข้อเตือนสติไว้ ในบทที่สี่สิบเก้า อันเป็นบทที่ว่า 'การยืดหยุ่นพลิกแพลง' นี่เอง !! ... ;)