Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text:


第四卦 : 蒙

蒙 : 山水蒙 ‧ 艮上坎下

蒙 : 亨‧匪我求童蒙‧童蒙求我‧初噬告‧再三瀆‧瀆則不告‧利貞‧

  • 初六 ‧ 發蒙‧利用刑人‧用說桎梏‧以往吝‧
  • 九二 ‧ 包蒙吉‧納婦吉‧子克家‧
  • 六三 ‧ 勿用取女‧見金夫‧不有躬‧無攸利‧
  • 六四 ‧ 困蒙‧吝‧
  • 六五 ‧ 童蒙‧吉‧
  • 上九 ‧ 擊蒙‧不利為寇‧利禦寇‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กาย-ใจคลายผ่อน (⚎) ปัญญากระจ่างใส (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'ข้อเท็จจริง' นำ 'บุคลากร', แผนงานเปิดกว้าง (⚏), เตรียมรับทั้งนอกใน (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือความใสซื่อ, แอ่งน้ำใต้ขุนเขา ;)



ความหมายของชื่อเรียก : Infancy : ความใสซื่อ


ความจริงแล้วตัวอักษร 蒙 (méng, เมิ๋ง) มีความหมายว่า 'ถูกปกคลุม', 'ถูกปกปิด', 'ไม่ชัดเจน', 'แอบแฝง', เลยแปลว่า 'ไม่รู้', 'ไม่ฉลาด', 'อ่อนหัด', อาจจะถึงขั้น 'โง่',  หรือ 'ถูกล่อลวง (ได้โดยง่าย)' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'ล่อลวง', 'ต้มตุ๋น', หรือ 'ขี้โกง' ได้ด้วย … แต่ในความหมายของ 'ความไม่รู้' ที่ตัวอักษร 蒙 สื่อออกมานั้น จะมีความหมายว่า 'ไร้เดียงสา' แบบ 'เด็กๆ' คือเป็น 'ความไม่รู้' ประเภทที่ 'ยังไม่ได้รับการศึกษา' หรือ 'ยังไม่มีประสบการณ์' … ไม่ใช่ 'ความไม่รู้' แบบ 'ดักดาน' จนถึงขั้นที่ 'หมดหนทางเยียวยา' … :D … ดังนั้น ผมจึงเลือกใช้คำว่า 'ความใสซื่อ' มาแทนความหมายของ 'ความไม่รู้' ในที่นี้ โดยใช้ภาษาอังกฤษกำกับว่า Infancy ซึ่งมีความหมายสื่อถึง 'ความเป็นเด็ก' … ในขณะที่ผมต้องการให้โยงไปถึงคำว่า In Fancy ที่สื่อถึง 'สถานภาพที่เต็มไปด้วยจินตนาการ' แบบเด็กๆ ด้วย เพราะ 'ความใสซื่อ' ชนิดที่ 'ไม่ถูกจำกัด' ด้วย 'กรอบแห่งความรู้' นั้นเองที่ทำให้เด็กๆ ทั้งหลาย ยังมี 'จินตนาการ' ที่บรรเจิดกว่าคนเฒ่าคนแก่ที่มักจะ 'ถูกขัง' อยู่ใน 'กรอบแห่งประสบการณ์' ของตัวเองตลอดเวลา ;)

ที่มาของ 'ภาพอักษร' 蒙 มาจากชื่อของวัชพืชชนิดหนึ่งเรียกว่า dodder (ตระกูลเดียวกับ 'ต้นฝอยทอง') ที่มักจะงอกขึ้น และเจริญเติบโตอยู่บนหลังคาบ้านของชาวจีนโบราณ ลักษณะของ 'ภาพอักษร' ที่เห็น จึงเห็นเป็นภาพของ 'พืชเล็กๆ' ที่คล้ายกับ 'หญ้า' งอกขึ้นมาเหนือหลังคา 'บ้าน' … นานๆ เข้าก็เลยแปลว่า 'ปกคลุม (ไปด้วยวัชพืช)' ซึ่งอาจจะแผลงเป็น 'ปกคลุม (ไปด้วยอวิชชา)' หรือ 'ปกคลุม (ไปด้วยสิ่งที่ไม่น่าพิสมัย)' รึเปล่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน จนในที่สุดก็เลยแปลว่า 'เต็มไปด้วยความไม่รู้' และกลายเป็น 'ความโง่' ในเวลาต่อมา :P … แต่เนื่องจาก 蒙 มีความหมายในลักษณะของ 'การถูกปกคลุมด้วยคราบ (plaque)' ซึ่งสามารถกำจัดออกไปได้ ไม่ใช่เป็น plague ที่หมายถึง 'เชื้อโรค' คือไม่ใช่เป็น 'โรคโง่' ชนิดซึ่งจะฝังรากลึกอยู่ภายใน … :D … แต่เป็นแค่ 'ความไม่รู้' เฉยๆ ที่สามารถ 'ทำให้รู้' ได้ด้วย 'การศึกษา' … มันจึงแผลงความหมายเป็น 'เด็กๆ' หรือ 'ความเป็นเด็ก' (childhood) ได้ในลักษณะที่ว่า เพราะเด็กๆ มีคุณลักษณะของ 'ความใสซื่อ' ชนิดที่ 'ยังไม่รู้ความ' แต่ก็แฝง 'ความฉลาด' ที่สามารถได้รับ 'การขัดเกลา' คือ 'การให้ความรู้' … ซึ่งจะคล้ายกับ 'อัญมณี' ที่ยังไม่ได้ผ่าน 'การเจียระไน' ประมาณนั้น ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨匪我求童蒙童蒙求我初噬告再三瀆瀆則不告利貞
hēng fěi wǒ qiú tóng méng tóng méng qiú wǒ chū shì gào zài sān dú dú zé bù gào lì zhēn
เฮิง เฝ่ย หฺว่อ ชิ๋ว ท๋ง เมื๋ง ท๋ง เมิ๋ง ชิ๋ว หฺว่อ ฌู ษื้อ เก้า ไจ้ ซัน ตู๋ ตู๋ เจ๋อ ปู้ เก้า ลี่ เจิ


我 อ่านว่า wǒ (หฺว่อ, หฺวั่ว) แปลว่า 'ฉัน', 'ตัวฉัน', 'ของฉัน', 'กู', 'ตัวกู', 'ของกู' … ;) หรืออาจจะหมายถึง 'สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง' ที่เป็น 'พหูพจน์' คือ 'พวกเรา', 'ของพวกเรา' ก็ได้ … แต่จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตัวอักษร 我 นี้ ถ้าถูกใช้เป็น 'คำกริยา' จะแปลว่า 'ฆ่า' ในความหมายเดียวกับตัว 殺 (shā, ซา) ... โอ้ว … อันนี้ความรู้ใหม่เลยครับ เพราะไม่มีการใช้คำนี้ในความหมายว่า 'ฆ่า' อีกแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าเรา 'แยกธาตุอักษร'  我 ออกมาเราก็จะเห็นตัวอักษร 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' หรือ 'ถือ' อยู่ทางด้านซ้าย … ส่วนด้านขวาก็จะมีตัวอักษร 戈 (gē, เกอ) ที่แปลว่า dagger-axe ซึ่งเป็น 'ชื่ออาวุธสงคราม' ชนิดหนึ่งในยุคโบราณของจีน … 我 จึงเป็น 'ภาพอักษร' ที่แสดงสัญลักษณ์ของ 'มือที่ถืออาวุธ' และนั่นก็คือความหมายว่า 'ฆ่า', หรือ 'การฆ่า' นั่นเอง … ยังไม่จบ :D … เมื่อ 我 เป็นภาพของ 'มือที่ถืออาวุธ (สงคราม)' มันจึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ผู้ที่มีความสามารถ' และในเมื่อ 'อาวุธ' ที่ทรงอานุภาพที่สุดตลอดทุกยุคสมัยก็คือ 'อาวุธทางวัฒนธรรม' … ตัว 我 จึงแผลงความหมายเป็น 'ผู้ที่ถือพู่กัน' หรือ 'ผู้ที่เขียนหนังสือ' เพราะ 'พู่กัน' ก็คือหนึ่งใน 'อาวุธสงครามทางวัฒนธรรม' นั่นเอง … จนในที่สุดคำว่า 我 ก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' … แล้วถ้าผมจะผสมความหมายทั้งหมดของ 我 ลงไป …  我 ก็ควรจะหมายถึง 'ตัวฉัน' ที่มี 'ความรู้', 'ความเข้าอกเข้าใจ' และพร้อมที่จะ 'ยอมรับฟังผู้อื่น' … ซึ่งก็คือ 'ตัวฉัน' ที่ได้ 'ประหารอัตตา' หรือ 'ประหารอวิชชา' ไปแล้วนั่นเอง ;)

童 อ่านว่า tóng (ท๋ง) แปลว่า 'เด็ก', 'ความเป็นเด็ก' (childhood), 'อย่างเด็กๆ' (childish) ; แปลว่า 'ผู้เยาว์' หรือ 'ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ', 'เด็ก (ที่ยังไม่แต่งงาน)' ; แปลว่า 'หัวโล้น', 'โล่งเตียน', หรือ 'ทื่อ' (ไม่มีความคม) ก็ได้ ; สมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับตัว 瞳 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'กระจกตา' หรือ 'การมองเห็น' ได้ด้วย … แต่เมื่อเป็น 'การมองเห็นอย่างเด็กๆ' มันจึงมีความหมายในลักษณะ 'ความใสซื่อ' หรือ 'ความไม่รู้' ได้เหมือนกัน

初 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'เริ่มแรก', 'เริ่มต้น', 'ขั้นต้น', 'เบื้องต้น' ; หรือแปลว่า 'ดั้งเดิม' ก็ได้

噬 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'กัด', 'งับ', 'ฉก', 'จิก', 'กลืน', หรือ 'กิน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ขูด', 'ขัดถู', 'กัดกร่อน', 'กร่อน' ; อาจจะหมายถึง 'สึกหรอ', 'เสียหาย', หรือ 'ตาย' ไปเลยก็ได้

告 อ่านว่า gào (เก้า) แปลว่า 'บอกให้รู้' ซึ่งเป็นไปได้หลายลักษณะคือ 'เตือน', 'แจ้งให้ทราบ', 'ประกาศ', 'ขอร้อง', 'ส่งข่าว', 'รายงาน', 'ชี้แจง', 'ให้รายละเอียด', 'เร่งรัด', หรืออาจจะหมายถึง '(แจ้งข้อ) กล่าวหา' ก็ได้ ; สมัยก่อนยังมีความหมายเดียวกับ 皓 hào (เฮ่า) ที่แปลว่า 'ขัดให้ขาว' หรือ 'ขัดให้แวววาว' ได้อีกด้วย

三 อ่านว่า sān (ซัน, ซาน) แปลว่า 'จำนวนสาม' ซึ่ง 'มากกว่าสอง' จึงทำให้มีความหมายว่า 'มาก', 'บ่อย' ได้ด้วย

瀆 อ่านว่า dú (ตู๋) แปลว่า 'ทางน้ำ', 'รางน้ำ', 'ท่อระบายน้ำ' ; แต่ก็สามารถใช้ใรความหมายของ 'ลำน้ำ' หรือ 'แม่น้ำ' ได้เหมือนกัน ; แปลว่า 'ไม่ให้เกียรติ' ในลักษณะแบบ 'เอื่อยๆ เฉื่อยๆ' เหมือน 'ไม่เต็มใจ' ก็ได้ ; สามารถแปลว่า 'รั่วไหล' แล้วแผลงเป็น 'ฉ้อราษฎร์บังหลวง' ก็ได้ด้วย ; แต่ถ้าอ่านว่า dòu (โต้ว) จะมีความหมายว่า 'รูรั่ว', หรือ 'รู (ระบายน้ำ)' ได้อีกความหมายหนึ่ง

則 อ่านว่า zé (เจ๋อ) แปลว่า 'เงื่อนไข', 'มาตรฐาน', 'กฎระเบียบ', 'ปฏิบัติตาม' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'ผลลัพธ์' ก็ได้

ผมเอาตัว 亨 มาแปะให้เห็นชัดๆ ตรงนี้อีกที เพราะว่าเล่าไว้เมื่อหลายหน้าก่อน เดี๋ยวจะลืมไปว่าเล่าไว้ยังไง :P

亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค) และ 'มีระบบระเบียบ'

King Wen บันทึกคำอธิบายของ 蒙 เอาไว้ว่า 亨匪我求童蒙童蒙求我初噬告再三瀆瀆則不告利貞 ซึ่งมี 'ตัวแปร' ที่แสบสันที่สุดก็คือตัว 我 ที่ทุกตำราแปลไว้ตรงกันว่า 'ฉัน' ทั้งๆ ที่มันควรจะถูกแปลว่า 'ความรู้' ซึ่งเป็น 'ความหมายดั้งเดิม' ก่อน 'ยุคชุนชิว' … ที่สำคัญก็คือ 'ชุนชิว' คือชื่อเรียกของยุคในประวัติศาสตร์จีนหลังการล่มสลายของราชวงศ์โจว ในขณะที่ King Wen คือบิดาของ 'โจวอู่หวาง' ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว … เพราะฉะนั้น การเลือกคำแปลของคำว่า 我 ให้แปลว่า 'ฉัน' โดยละเลย 'ความหมายดั้งเดิม' ของยุคที่ 'คัมภีร์อี้จิง' ถูกรจนาขึ้นมานั้น จึงเป็นการเลือกคำแปลที่ 'ผิดกาลเทศะ' อย่างมาก …

ความหมายจริงๆ ของคำบรรยายที่ King Wen บันทึกไว้ จึงควรจะถูกแปลว่า 'ความรู้ และความเข้าใจ (亨) นั้น ไม่ใช่ (匪) สิ่ง (我 ใช้ในลักษณะที่เป็นสรรพนามของ 亨) ที่เป็นฝ่ายเรียกร้องต้องการ (求) ให้ผู้หนึ่งผู้ใด (童蒙 คือผู้ที่ยังไม่มีความรู้) รับมันเอาไว้ แต่ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (童蒙) ต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้อง และไขว่คว้าหามา (求) ด้วยตนเอง … ซึ่งในเบื้องต้น (初) ก็อาจจะต้องเคี่ยวเข็ญ (噬) ตักเตือน (告) กันบ้าง ต่อเมื่อได้ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป (再三瀆 หมายถึงค่อยๆ ซึมซับอย่างช้าๆ ซ้ำๆ และสม่ำเสมอ) การซึมซับ (瀆) นั้น ย่อมจะส่งผลให้ (則) ไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือนใดๆ อีก (不告 คือกลายเป็นกิจวัตรที่ดำเนินไปเอง) นั่นแหละคือคุณธรรม (貞) ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง (利貞)'

อ้ะ !! … เอาใหม่ … สมมุติว่าผมไม่ได้ไปค้นความหมายเดิมของ 我 มาเลย ผมก็คงจะต้องแปลตัวอักษรตัวนี้ว่า 'ฉัน' หรือ 'ตัวฉัน' เหมือนกัน … แต่ตัว 匪 ที่นำหน้าอยู่นั้น นอกจากจะแปลว่า 'ไม่ใช่' แล้ว มันก็ยังแปลว่า 'ไม่ดี' ได้อีกต่างหาก ทั้งยังเป็น 'ความไม่ดี' ในลักษณะของ 'อันธพาล' ด้วยซ้ำ … เพราะฉะนั้น คำว่า 匪我 ก็น่าจะถูกผมแปลว่า 'ตัวฉันที่ไม่ดี' ซึ่งก็คือ 'อัตตา' หรือ 'ตัวตน' ที่ยึดติดอยู่กับ 'อวิชชา' … ความหมายของท่อนที่ถูกบันทึกว่า 匪我求童蒙童蒙求我 ก็จะมีความหมายประมาณนี้ … 'ความไม่ถูกต้องดีงาม (匪我 จะคล้ายกับ 'อบายมุข' ทันทีในความหมายนี้) ย่อมมีหนทางที่จะหว่านล้อม (求) ให้ผู้คนต้องตกอยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา (童蒙) … ผู้ที่ปรารถนาในความรู้ (童蒙 หมายถึง 'ผู้ที่ไม่มีความรู้' เมื่อไม่มีจึงปรารถนาจะมี) จะต้องเป็นฝ่ายที่พยายามดิ้นรนไขว่คว้า (求) เพื่อความหลุดพ้นจากการครอบงำที่ชั่วร้ายเหล่านั้น (我 ที่ไม่มี  匪 นำหน้าจึงแปลว่า 'หลุดพ้น' จาก 'ความไม่ดี' หรือ  匪 นั่นเอง) ด้วยตนเอง' … ซึ่งแม้ว่าจะออกมาในแนวนี้ คำว่า 匪我 ก็จะมีความหมายคล้ายกับ 'อวิชชา' และทำให้ตัวอักษร 我 มีความหมายว่า 'วิชชา' ซึ่งก็คือ 'ความรู้' หรือ 'ความเข้าใจ' อยู่ดี … อันเป็น 'ความหมายดั้งเดิม' ของตัว 我 อย่างที่เล่าไปแล้ว … เพราะฉะนั้น ขอยืนยันครับว่า คำแปลในวรรคนี้ของผมนั้น 'ไม่มั่ว' อย่างแน่นอน … ;) …



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :
 
發蒙利用刑人用說桎梏以往吝
fā méng lì yòng xíng rén yòng shūo zhì gù yǐ wǎng lìn
ฟา เมิ๋ง ลี่ โยฺว่ง ซิ๋ง เญิ๋น โยฺว่ง ซัจื้อ กู้ อี่ หฺวั่ง ลิ่น


發 อ่านว่า fā (ฟา) แปลว่า 'งอก', 'งอกขึ้นมา', 'ส่งออกมา', 'โผล่ออกมา', 'พ่นออกมา', 'แสดงตัว', 'เผยตัว' ; 'เติบโต', 'พัฒนาขึ้นมา', 'เริ่มต้น' ; 'เปิดออก', หรือ 'ค้นพบ'

刑 อ่านว่า xíng (ซิ๋ง) แปลว่า 'ทำให้แตก', 'ทำให้หัก', 'ทำให้แยกออกจากกัน', 'ทำให้งอ' หรืออาจจะหมายถึง 'ดัด', 'บิด', 'ทำให้เปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิม', จนถึงขนาดว่าเป็น 'การสร้างขึ้นมาใหม่' ก็ยังได้ ; แต่ในความหมายว่า 'ดัด' นั้น ก็แฝงความหมายของ 'ดัดนิสัย' หรือ 'ดัดสันดาน' เอาไว้ด้วย จึงกลายมาเป็น 'การลงโทษ', 'การทำโทษ' ; แล้วแผลงเป็น 'กฎระเบียบ', หรือ 'กฎหมาย' ในลักษณะของ 'สิ่งที่ใช้ในการหล่อหลอมนิสัย' ก็ยังได้ด้วย

說 อ่านว่า shuō (ซัว) แปลว่า 'พูด', 'บอก', 'อธิบาย', 'สนทนา' (คือแลกเปลี่ยน 兑 คำพูด 言 กัน) ; สามารถที่จะแปลว่า 'คำพูด', 'ตัวอย่าง', 'บทเรียน', 'ทฤษฎี', 'ความเชื่อ' ; และยังอาจจะหมายถึง 'คำสอน', 'ข้อแนะนำ' หรือว่า 'คำตำหนิ' ก็ได้

桎 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ห้ามปราม', 'ขัดขวาง' ; สมัยก่อนคือ 'เครื่องพันธนาการนักโทษ' ที่เทียบกับสมัยปัจจุบันก็จะเป็นพวก 'โซ่ตรวน' ที่ 'ล่ามไว้กับเท้า' … แต่ถ้าเป็น 'เครื่องพันธนาการนักโทษ' ที่ 'ล่ามไว้กับมือ' จะเรียกว่า 梏 (gù, กู้) ซึ่งเทียบกับสมัยปัจจุบันก็คือพวก 'กุญแจมือ' … ทั้งสองตัวคือ 桎 และ 梏 จึงมีความหมายคล้ายกันในแง่ของ 'การขัดขวาง', 'การห้ามปราม' และมักจะมีการใช้คู่กันในความหมายว่า 'การขัดแขนขัดขา' เพื่อให้ทำอะไรก็ 'ไม่สะดวก' ไปซะหมด

以 อ่านว่า yǐ (อี่, ยฺอี่) แปลว่า 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษ

วรรคนี้ดูทันสมัยยังกับเป็นคำกล่าวของ Douglas McGregor มากเลย … :D … ถ้าเราเลือกที่จะแปลวรรคนี้ว่า 'การจะพัฒนา (發) ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (蒙) นั้น ทางที่ดี (利) คือควรจะใช้ (用) การกำหนดกรอบ หรือการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นบรรทัดฐาน (刑) เพื่อให้ผู้คน (人) ปฏิบัติตาม … ไม่ควรใช้วิธีการตำหนิติเตียน หรือการดุด่าว่ากล่าว (用說桎梏) ซึ่งมักจะได้ผลลัพธ์ที่ด้อยกว่า (以往吝)' … เพราะ 'ความไม่รู้' ในลักษณะของ 蒙 นี้ ไม่ใช่เป็น 'การกระทำความผิด' ในลักษณะที่เป็น 'การฝ่าฝืน' จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะใช้วิธี 'การทำโทษ' ที่ไม่ใช่ 'การสั่งสอน' หรือ 'การประสิทธิ์ประสาทความรู้' … ถือว่าเป็น 'ข้อแนะนำ' ที่เน้น 'การชี้นำไปยังความถูกต้อง' ซึ่งเป็น 'การอบรมในเชิงบวก' และให้หลีกเลี่ยง 'การชี้นำไปยังความผิดพลาด' ซึ่งเป็น 'การอบรมในเชิงลบ'

อย่างไรก็ตาม หากจะ 'ตีความ' ให้สอดคล้องกับความหมายบางส่วนในวรรคขยายความของ King Wen เราก็จะได้ความหมายประมาณว่า 'การอบรมสั่งสอน (發 หมายถึงการพัฒนา) ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (蒙) นั้น ดีที่สุด (利) ก็คือ ต้องมีกฎเกณฑ์มาบังคับใช้ (用刑) เพื่อควบคุมประพฤติของคน (人) และต้องมีการว่ากล่าว (用說) ตักเตือน (桎梏 คือการห้ามปราม) เมื่อมีการกระทำความผิด เยี่ยงนี้ (以) 'ความไม่รู้' ก็จะค่อยๆ ถูกขัดเกลาออกไปได้ทีละเล็กละน้อย (往吝)'

ที่มันแปลอย่างนี้ได้ก็เพราะว่า King Wen ใช้คำว่า 初噬告 ที่แปลว่า 'แรกๆ คงต้องเคี่ยวเข็ญ (噬) ตักเตือน (告) กันบ้าง' นั่นหมายความว่า มันจะต้องมี 'ความเข้มงวด' ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็น 'การอบรมในเชิงบวก' ไปซะทั้งหมด … ส่วน 'จิวกง' ก็ใช้คำว่า 用說桎梏 ในวรรคแรก ซึ่งหมายถึง 'การตักเตือน' ด้วย 'คำพูด' (說) ไม่ใช่เป็นการตีตรวนล่ามโซ่อย่างนักโทษ หรือเป็นการทำร้ายที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของ 'การอบรมสั่งสอน' … ส่วนคำว่า 以往吝 ที่ 'จิวกง' ใช้ ก็ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับคำว่า 再三瀆 ของ King Wen ที่หมายถึง 'ให้ค่อยๆ ซึมซับ' ซึ่งให้ความรู้สึกชนิดที่มี 'ความค่อยเป็นค่อยไป' อยู่แล้ว … เพราะฉะนั้น ถึงผมจะเลือกคำแปลตามความหมายที่สอง ผมก็ยังมองไม่เห็นข้อความใดๆ ที่บ่งบอกถึง 'ความรุนแรง' หรือ 'การทำโทษ' อย่าง 'หักโหม' 'เอาแต่ใจ' อย่าง Theory X ของ Douglas McGregor เลยซักนิดเดียว … โดยส่วนตัวแล้วจึงอยากจะเสนอให้ใช้คำแปลที่สองมากกว่า เพื่อให้เนื้อความที่ได้นั้น กลมกลืนกับข้อความเดิมของ King Wen ด้วย ;)

 

สอง หยาง :
 
包蒙吉納婦吉子克家
bāo méng jí nà fù jí zǐ kè jiā
เปา เมิ๋ง จี๋ น่า ฟู่ จี๋ จื่อ เค่อ เจีย


包 อ่านว่า bāo (เปา) แปลว่า 'ห่อ', 'หีบห่อ', 'ห่อพัสดุ', 'รวบรวม (ไว้ด้วยกัน)'  ; อาจจะหมายถึง 'ปกป้อง', 'คุ้มครอง', 'โอบอุ้ม' หรือ 'รับประกัน' ก็ได้ ; โดยลักษณะของ 'ภาพอักษร' ที่เห็นนั้น จะเป็นตัว 勹 (bāo, เปา) ที่มีความหมายว่า 'ห่อ', หรือ 'หุ้มห่อ' ที่ 'โอบอุ้ม' ตัว 巳 (sì, ซื่อ) ซึ่งมีที่มาจากภาพของ 'ตัวอ่อน' (foetus) ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ดั้งนั้นจึงทำให้ 包 สามารถแปลว่า 'ตั้งครรภ์' หรือ 'ทารก (ในครรภ์)' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย

納 อ่านว่า nà (น่า) แปลว่า 'ยอมรับ', 'ได้รับ', 'รวบรวม' ; ในขณะเดียวกันก็สามารถหมายถึง 'การหยิบยื่น' ในลักษณะที่เป็น 'การยอมรับข้อเสนอ' ใน 'การแลกเปลี่ยนข้อตกลง' ได้ ; บางครั้งแปลว่า 'ปะ', 'ทำให้ติดกัน' ; อาจจะหมายถึง 'การคบหา' และหมายถึง 'การแต่งงาน' ก็ยังได้

婦 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ภรรยา' หรือ 'ผู้หญิง (ที่สมรสแล้ว)', 'หญิงหม้าย', 'ลูกสะใภ้' ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้หญิง' ที่อยู่ในวัยที่สมควรจะแต่งงานแต่งการได้แล้ว ; ในอีกความหมายหนึ่งคือ 'มีมารยาทงาม' ซึ่งก็เลยมีความในทำนองว่า 'ได้รับการอบรมมาดี' หรือ 'มีคุณธรรม' ด้วย ; และครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 服 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'เสื้อผ้า', 'การแต่งกาย', 'อุปนิสัย', 'ความเคยชิน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การฝึกปรือ' (乘 เฌิ๋ง) ได้ด้วยเหมือนกัน ;)

克 อ่านว่า kè (เค่อ) แปลว่า 'มีความสามารถ' (competence), 'สามารถ', 'เป็นไปได้' ; แปลว่า 'ชนะ', 'กำราบ', 'ทำให้พ่ายแพ้' จึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' เช่น 'ควบคุมความประพฤติ (ของตัวเอง)' หรือ 'จำกัด' เช่น 'กำหนดเส้นตาย' ที่เป็น 'การจำกัดเวลา'

家 อ่านว่า jiā (เจีย) แปลว่า 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ครอบครัว' ; 'สำนักศึกษา', 'แนวคิด', 'สาขาวิชา', 'ผู้ชำนาญการ (ในสาขาใดสาขาหนึ่ง)' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การอบรมเลี้ยงดูในบ้าน' ที่ตรงข้ามกับ 'การปล่อยไปตามยถากรรม' หรือ 'ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ' ซึ่งจะใช้คำว่า 野 (yě, เหฺยี่ย) ที่หมายถึง 'ป่า', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'เติบโตในป่า' หรือ 'เติบโตโดยไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน'

คือถ้าผมแปลตรงๆ ก็คงน่าจะได้ความหมายประมาณว่า 'การโอบอุ้มชุบเลี้ยง (包) เยาวชนผู้มีความใสซื่อ (蒙) ด้วยการหล่อหลอม (納) คุณธรรมความดี และจริยามารยาท (婦) ให้แก่พวกเขา คือวิถีทางแห่งมงคลอันประเสริฐ (吉) เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนเหล่านั้น (子) เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นปราชญ์ (家) ผู้เปี่ยมความรู้ และคุณธรรม (克家) ในอนาคต'

จะติดอยู่หน่อยหนึ่งก็ตรงที่คำว่า 吉 ที่ถูกใช้ถึงสองครั้งในวลีนี้ ซึ่งผมมีความรู้สึกว่า น่าจะเกิดจากความตั้งใจของ 'จิวกง' ที่ต้องการจะให้เห็นคำว่า 納婦 เพื่อสะท้อนให้เห็น 'ภาพ' ของ 'การห่อหุ้ม' (包) 'เยาวชน' ผู้ใสซื่อ (蒙) ด้วย 'การหล่อหลอม' (納) และ 'การฝึกปรือ' (婦) อย่าง 'ประเสริฐ' (吉) คือวิถีทางที่จะโอบอุ้มเยาวชนทั้งหลายเหล่านั้น (子) ให้เจริญเติบใหญ่กลายเป็น 'ปราชญ์' (家) ที่มีทั้งคุณธรรม และเปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถ (克家) อย่างสมบูรณ์ … หรือถ้าจะแปลให้มีความต่อเนื่องกับวรรคแรก ก็น่าจะแปลได้ความว่า 'การโอบอุ้มชุบเลี้ยงผู้ที่ยังไม่มีความรู้ความชำนาญ (包蒙) ด้วยการให้การศึกษา และบ่มเพาะคุณธรรมความดีอย่างต่อเนื่อง (吉納婦吉 ห่อหรือบ่มไว้ด้วย 吉) ย่อมจะโน้มนำให้เยาวชนทั้งหลาย (子) เติบใหญ่เป็นปราชญ์ผู้มากด้วยความรู้ความสามารถ และเปี่ยมด้วยคุณธรรมความดี (克家) ได้ในที่สุด'

ทั้งนี้ ถ้าจะให้แปลตามลำดับของตัวอักษรจริงๆ ก็น่าจะได้ความว่า 'การโอบอุ้มและชุบเลี้ยง (包) ผู้ที่อ่อนด้อยความรู้และประสบการณ์ (蒙) อย่างประเสริฐ (吉) นั้น ก็คือการหล่อหลอม (納) และฝึกปรือ (婦) พวกเขาด้วยสิ่งที่เป็นมงคลความดี (吉) จึงจะทำให้ผู้เยาว์เหล่านั้น (子) กลายเป็น (克) ปราชญ์ (家) ที่มากด้วยความรู้ความสามารถ และเปี่ยมด้วยคุณธรรม (克家) อย่างแท้จริง'

คิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับ 'การแต่งงานแต่งการ' ใดๆ อย่างที่หลายๆ ตำราชอบแปลเอาไว้ล่ะครับสำหรับวรรคนี้ :P

 

สาม หยิน :
 
勿用取女見金夫不有躬無攸利
wù yòng qǚ nǚ jiàn jīn fū bù yǒu gōng wú yōu lì
อู้ โยฺว่ง ฉฺวี่ หนฺวี่ เจี้ยน จิน ฟู ปู้ โหฺย่ว กง อู๋ โยว ลี่


取 อ่านว่า qǚ (ฉฺวี่) แปลว่า 'หยิบ', 'คว้า', 'ฉวย', 'คัดเลือก' ; 'นำมา', 'รับเอามา', 'ได้รับมา' ; แต่ในทางกลับกัน ก็จะสามารถหมายถึง 'เสียไป' หรือ 'สูญเสียไป' เพราะถูกคนอื่น 'เอาไป' แล้วก็เลยต้อง 'ยื้อแย่ง' เพื่อจะ 'เอากลับมา' อีก :D มันเลยมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เป้าหมาย' หรือ 'สิ่งที่หมายปอง' ได้ด้วย ; บางทีก็แปลว่า 'เร่งเร้า', หรือ 'เรียกร้อง' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 娶 (qǚ, ฉฺวี่)  ที่แปลว่า 'การแต่งงาน' ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ 'การแต่งเมีย' (取女 หรือ 娶妻) นั่นเอง

金 อ่านว่า jīn (จิน) แปลว่า 'ทองคำ', 'เงิน', 'โลหะ หรือสิ่งใดๆ ที่มีสีเหลืองทอง', 'ทรัพย์สิน', 'ของมีค่า', 'ร่ำรวย' ; บางครั้งก็หมายถึง 'โลหะทั้งห้า' (五金 คือ ทองคำ, เงิน, ทองแดง, เหล็ก, และตะกั่ว หรือสังกะสี)

夫 อ่านว่า fū (ฟู) คำนี้แปลได้หลายอย่าง แต่ทั้งหมดจะหมายถึง 'ผู้ชาย' เช่น 'ผู้ที่มีความรู้', 'ผู้คงแก่เรียน', หรือ 'ผู้อาวุโส' ซึ่งบางครั้งก็ใช้เพื่อแสดงความถ่อมตัวของผู้มีอาวุโสด้วย เพราะ 夫 สามารถที่จะหมายถึง 'คนธรรมดา' ที่ใช้แรงงาน ; ถ้าใช้แทนบุคคลภายในครอบครัว คำนี้ใช้แทน 'สามี' ในขณะที่ 妻 (qī, ชี) ใช้แทน 'ภรรยา' ซึ่งถือเป็นคำสุภาพที่ใช้กันทั่วๆ ไปได้

躬 อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'ร่างกาย', 'ชีวิต', 'ก้มตัว', 'โค้งตัว', 'ค้อมตัว' ; บางทีเลยแปลว่า 'ตลกขบขัน' ในลักษณะที่ 'หัวร่อจนตัวงอ' ได้ด้วย ; แต่ในความหมายว่า 'ค้อมตัว' นั้น ก็จะแฝงความหมายว่า 'แสดงความเคารพ' หรือ 'การให้เกียรติ', 'การให้ความเคารพยำเกรง' หรือ 'ความน้อมรับ' อยู่ด้วย ; … แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า qióng (โชฺว๋ง หรือ เชฺวิ๋ง) ก็จะแปลว่า 'ยากลำบาก', 'ทุกข์ยาก', หรือ 'ลำเค็ญ' … ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ตัวงอ' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ;) … แต่ในลักษณะของ 'ความยากลำบาก' ที่ว่านี้คือ 'ความยากลำบากทางกาย' ซึ่งจะหมายถึง 'การตรากตรำทำงาน' ซึ่งไม่ใช่เป็นความยากลำบากทางใจแต่อย่างใด

ส่วนใหญ่เขามักจะแปลวรรคนี้กันประมาณว่า 'อย่าไปคว้าผู้หญิงที่เห็นแก่เงินมาทำเมีย เพราะจะไม่เจริญ' โดย 'ตีความ' ให้คำว่า 不有躬 หมายถึง 'ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะถูกทรัพย์สมบัติบังตา' … แต่ผมว่ามันทะแม่งๆ ชอบกลอยู่ … :D … เพราะอย่างน้อยที่สุด ถ้าหากว่ามีการคว้าผู้หญิงที่เห็นแก่เงินมาทำเมียจริงๆ คนที่โชคดีก็น่าจะยังเป็นผู้หญิงคนนั้นอยู่ดีนั้นแหละ … :D … ไม่ใช่โชคร้ายไปหมดซะทุกคน … ว่ามั้ย ?! … ;) … อีกอย่าง … ชื่อของบทนี้ก็เป็นเรื่องของ 'เด็กที่ไม่รู้ความ' … ก็เลยทำให้ผมคิดว่า มันไม่น่าจะมีอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของ 'การแต่งงาน' หรือ 'การมีครอบครัว' ได้ล่ะนะ … ยัง 'เด็ก' อยู่เลยนี่นา !! … :D

ดังนั้น … 'พีชคณิต' ลุย !!! :D … โดยผมแยกตัว 婦 (fù, ฟู่) ในวรรคที่สองออกมาเป็นตัว 女 (nǚ, หนฺวี่) กับตัว 帚 (zhǒu, โจ่ว) เพราะนี่คืออักษรเพียงตัวเดียวในบทนี้ที่มีตัว 女 ผสมอยู่ … ในขณะที่ต้นวรรคที่สามเริ่มต้นด้วยการบอกว่า 勿用取女 ที่เหมือนกับบอกเป็นนัยว่า 'ลองอย่าใช้ตัว  女 ที่มีอยู่นั่นสิ !!' … :D

帚 (zhǒu, โจ่ว) แปลว่า 'ไม้กวาด', 'กวาด', 'เก็บกวาด', 'ทำความสะอาด' ; และมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ขยะ', หรือ 'สิ่งปฏิกูล' … ดังนั้น 'การเก็บกวาด' ในความหมายของ 帚 จึงหมายถึง 'การเก็บกวาดสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม', หรือ 'การกำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา' ให้หมดไป ;) … เห็นมั้ยครับว่า โลกที่ไม่มี 'ผู้หญิง' (女) นั้น มันช่างเป็นโลกที่ไม่มีความน่าอยู่ซะขนาดไหน ??!! … :D

ตัวอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่เห็นในวรรคนี้ ก็มีอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่น่าจะละเลยไป นั่นก็คือ นอกจาก 女 จะเป็นคำที่ใช้ในความหมายของ 'ผู้หญิง' แล้ว เราก็ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่า 'ผู้หญิง' เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของ 'หยิน' และ 'ความเป็นหยิน' ก็ถูกบรรยายไว้อย่างละเอียดแล้วในบทที่สองที่ว่าด้วยเรื่องของ 坤 (kūn, คุน) … ในขณะเดียวกัน 女 ยังสามารถใช้ในความหมายว่า 'ละเอียดอ่อน' หรือ 'ละเอียดถี่ถ้วน' ด้วย … เพราะฉะนั้น การที่จู่ๆ เราก็จะ 'ตีความ' ให้คำว่า 取女 หมายถึง 'การแต่งเมีย' ตรงๆ ด้วยโครงสร้างภาษาของปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการทบทวนให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ลงไป ;)

อีกคำหนึ่งที่สมควรจะเอ่ยถึงก็คือคำว่า 金夫 ที่มักจะแปลกันว่า 'ผู้ชายที่ร่ำรวย' แต่ผมกลับมีความเห็นว่า มันน่าจะหมายถึง 君子 หรือคำว่า 家 ในวรรคที่สอง ซึ่งผมแปลว่า 'ปราชญ์' หรือ 'ผู้ที่มีความรู้' มากกว่า เนื่องจากเนื้อความในบทนี้เป็นเรื่องของ 'ความไม่รู้' กับ 'การอบรมสั่งสอน' ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับ 'ผู้รู้' มากกว่า 'ผู้รวย'

ดังนั้น วรรคที่สามของ 'จิวกง' ในบทนี้จึงควรจะมีความหมายว่า 'ในการกำจัดอวิชชา (หรือสิ่งปฏิกูลทางปัญญา) นั้น จะต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วน และต้องมีความเอาใจใส่อย่างค่อยเป็นค่อยไป หากไม่ปฏิบัติอย่างรอบคอบ (勿用取女) ก็จะไม่ต่างจากอัจฉริยบุคคล (金夫) ที่ปราศจากความเพียรพยายาม (不有躬) ซึ่งจะไม่สามารถบรรลุถึงผลสำเร็จได้ในบั้นปลาย (無攸利)'

 

สี่ หยิน :
 
困蒙吝
kùn méng lìn
คุ่น เมิ๋ง ลิ่น


เจอประโยคสั้นๆ นี่อาจจะถึงตายได้เลยนะเนี่ยสำหรับภาษาจีนโบราณ :P

困 อ่านว่า kùn (คุ่น) แปลว่า 'ยากลำบาก' ซึ่งเป็น 'ความยากลำบาก' ในลักษณะที่ 'ถูกปิดล้อม' หรือ 'เต็มไปด้วยอุปสรรค' ในลักษณะที่เป็น 'ทางตัน', 'ไม่มีทางเยียวยาแก้ไข', 'ไม่มีทางออก' ; ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่ 'น่าเหนื่อยหน่าย', 'น่าละเหี่ยใจ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'อ่อนเปลี้ยเพลียแรง', 'หมดเรี่ยวหมดแรง', 'หมดอาลัยตายอยาก' ; จนถึงกับแปลว่า 'นอน' ในลักษณะที่ 'สลบไสล' หรือ 'หมดสติ' ไปเลย

ผมอยากจะแปลคำว่า 困蒙 ว่า 'โง่จนไม่อาจจะเยียวยา' หรือ 'โง่ดักดาน' จริงๆ เลย … :D … และทำให้วรรคนี้คงจะหมายถึง 'การอบรมสั่งสอนคนที่โง่อย่างดักดาน (困蒙) คงจะไม่ได้เรื่องได้ราวซักเท่าไหร่' :P

ในอีกทางหนึ่ง มันก็เหมือนกับเป็น 'การสอน' ให้เรารู้ว่า 'คนเรานั้นโง่ได้ ไม่มีความรู้ก็ได้ แต่ดักดานไม่ได้' เพราะลักษณะของ 'คนที่โง่ดักดาน' คือเป็น 'คนโง่' ที่คิดว่า 'ตัวเองฉลาด' และไม่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ผู้อื่นสั่งสอน … ซึ่งไม่ใช่ 'ความไม่พร้อม' ในลักษณะที่มี 'ความบกพร่องทางสติปัญญา' หรือ 'ปัญญาอ่อน' แต่พวก 'โง่ดักดาน' มักจะ 'ไม่มีความพร้อม' ในลักษณะที่ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่แตกต่างจาก 'ความคิด' หรือ 'ความเชื่อ' ของตัวเอง ซึ่งเป็น 'ความสอนยากสอนเย็น' เพราะความที่มี 'กะโหลกหนา' ไม่ใช่เพราะ 'สมองกลวง' :D อันเป็นลักษณะของ 'ความบกพร่องทางการรับรู้'
ดังนั้น ผมคิดว่าวรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะสะท้อน 'คำสอน' ไว้สองแนวทางด้วยกันคือ สำหรับ 'ผู้ใฝ่ในความรู้' นั้นต้องถือคติว่า 'คนเรานั้น เมื่อยังไม่มีความรู้ หรือยังไม่ฉลาด (蒙) ก็จงอย่าอวดดีด้วยการปิดกั้นตัวเอง (困) จนยากแก่การเยียวยาแก้ไข และไม่สามารถพัฒนาไปในทางที่ดี (吝)' … แต่สำหรับ 'ครูผู้สอน' หรือ 'ผู้ที่ใฝ่ในการถ่ายทอดความรู้' ก็ต้องถือคติอีกแบบว่า 'สำหรับคนโง่ (蒙) ที่อวดดื้อถือดี (困) นั้น ถึงแม้จะทุ่มเทความเพียรพยายามในการอบรมสั่งสอนสักปานใดก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงจะไม่มีความก้าวหน้า หรือไม่สามารถพัฒนาไปในทางที่ดีได้เลย (吝) … ช่างแม่งเหอะ !!!' … :D …

 

ห้า หยิน :
 
童蒙吉
tóng méng jí
ท๋ง เมิ๋ง จี๋


อ้ะ !! … วรรคนี้ชัดเจนเลย เพราะเป็นการขยายความคำว่า 蒙 ด้วยคำว่า 童蒙 (tóng méng, ท๋งเมิ๋ง) ซึ่งมีความหมายที่ตรงกันข้ามกับคำว่า 困蒙 (kùn méng, คุ่นเมิ๋ง) ในวรรคที่แล้ว

โดยรูปของคำภาษจีนนั้น 蒙 (méng, เมิ๋ง) จะแปลว่า 'ความไม่รู้' แต่ที่ผมตัดสินแปล 'ชื่อเรียก' ของบทนี้ว่า 'ความใสซื่อ' ก็เพราะว่า ความหมายจริงๆ ของทั้งบทนี้จะหมายถึง 'ความไม่รู้แบบเด็กๆ' ซึ่งก็คือ 童蒙 ตามที่เห็นในวรรคนี้นี่แหละ ซึ่ง 'ความไม่รู้แบบเด็กๆ' นั้นจะเป็น 'ความใสซื่อบริสุทธิ์' และเต็มไปด้วย 'จินตนาการ' ที่ 'พร้อมจะเรียนรู้' ด้วยความสนอกสนใจในทุกๆ เรื่องราว เป็น 'ความไม่รู้ที่เต็มไปด้วยความฝักใฝ่ในการศึกษา ด้วยอาการที่กระตือรือร้น และมีความอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา' ซึ่งเป็น 'อุปนิสัยขั้นพื้นฐาน' ของผู้ที่จะสามารถได้รับการพัฒนาให้กลายเป็น 'อัจฉริยบุคคล' ที่สมบูรณ์ได้ต่อไป

เพราะฉะนั้น วรรคที่สี่ กับวรรคที่ห้าจึงต้องถือว่าเป็นวลีที่ใช้เป็นคู่ประกอบกัน และให้ 'ข้อแนะนำ' ไว้สองแนวทางเหมือนกันคือ สำหรับ 'ผู้ที่ใฝ่ในความรู้' กับ 'ผู้ที่ใฝ่ในการถ่ายทอดความรู้' … ในความหมายว่า 'คนเรานั้น เมื่อยังไม่มีความรู้ หรือยังไม่ฉลาด (蒙) ก็จะต้องมีความกระตือรือร้น และมีความสนอกสนใจ ฝักใฝ่ในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเหมือนกับเด็กๆ (童) จึงจะถือว่าเป็นอุปนิสัยที่ดี สำหรับการพัฒนาไปสู่ความเจริญ (吉) ได้ต่อไป' … และ 'คนที่ไม่มีความรู้ (蒙) แต่หากมีความมุ่งมั่น และมีความฝักใฝ่ในการศึกษาสรรพวิชาการต่างๆ เยี่ยงเด็กๆ (童) ที่สนอกสนใจในสรรพความรู้ทั้งมวล ย่อมสามารถพัฒนาปัญญาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ได้ในที่สุด หากได้รับการอบรมบ่มเพาะอย่างทุ่มเท และเหมาะสมแก่วัยของพวกเขาเหล่านั้น'

 

หก หยาง :

擊蒙不利為寇利禦寇
jī méng bù lì wéi kòu lì yǜ kòu
จี เมิ๋ง ปู้ ลี่ เว๋ย ฌค่ว ลี่ ยฺวี่ โค่ว


มีคำใหม่แค่สองคำครับสำหรับวรรคสุดท้ายของบทนี้

擊 อ่านว่า jī (จี) แปลว่า 'จู่โจม', 'ทุบ', 'ตี', 'กระแทก', 'ชน', 'บุกฝ่าออกไป'

禦 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ขับ', 'ไส', 'ขับเคลื่อน', 'เสือกไส', 'ผลักดัน', 'ต่อต้าน', 'ยับยั้ง', 'ควบคุม', หรือ 'บริหาร' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ผู้บริหาร', 'กษัตริย์' หรือ 'ผู้นำ' ได้ด้วย

ผมมองว่าวรรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับวรรคแรกของ 'จิวกง' พอสมควร ลองเอามาเทียบเคียงกันดูหน่อยดีกว่า ในวรรคแรกของบทนี้ 'จิวกง' บันทึกคำอรรถาธิบายไว้ว่า 發蒙利用刑人用說桎梏以往吝 พอมาถึงในวรรคนี้ 'จิวกง' เลือกที่จะบันทึกว่า 擊蒙不利為寇利禦寇 โดยในวรรคแรกนั้น ผมเลือกที่จะใช้คำแปลว่า 'การอบรมสั่งสอน (發 หมายถึงการพัฒนา) ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (蒙) นั้น ดีที่สุด (利) ก็คือ ต้องมีกฎเกณฑ์มาบังคับใช้ (用刑) เพื่อควบคุมประพฤติของคน (人) และต้องมีการว่ากล่าว (用說) ตักเตือน (桎梏 คือการห้ามปราม) เมื่อมีการกระทำความผิด เยี่ยงนี้ (以) ความไม่รู้ก็จะค่อยๆ ถูกขัดเกลาออกไปได้ทีละเล็กละน้อย (往吝)' … แต่ในวรรคที่หกนี้ 'จิวกง' เปิดวลีด้วยคำว่า 擊蒙 ซึ่งตัวอักษร 擊 จะมีความหมายในลักษณะ 'จู่โจม', 'ทุบตี' ซึ่งจะคล้ายกับ 'การขัดเกลา' เพื่อ 'กำจัด' … มันจึงทำให้ตัวอักษร 蒙 ในวรรคนี้น่าจะหมายถึง 'ความโง่' หรือ 'อวิชชา' หรือถ้าจะหมายถึง 'ผู้คน' ก็น่าจะหมายถึง 'ผู้ที่ยังลุ่มหลงในอวิชชา' มากกว่าที่จะหมายถึง 'คนที่ยังไม่มีความรู้' ตามที่เห็นในวรรคแรก

ความหมายจริงๆ ของวรรคที่หกนี้จึงน่าจะประมาณว่า 'การจะกำจัดอวิชชาให้หมดไป (擊蒙 อาจจะหมายถึง 'การขัดเกลาความโง่ให้หมดไป' ก็น่าจะได้) จากจิตใจของผู้ที่ยังลุ่มหลงอยู่นั้น ไม่ควร (不利) กระทำ (為) ในลักษณะที่เป็นการบังคับแข็งขืน (寇) แต่ควรจะ (利) ใช้การชี้นำ (禦) และการห้ามปรามอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เด็ดขาดชัดเจน (寇) มากกว่า'

ในทางหนึ่ง ผมมองว่าทั้งสองวรรคนี้มีความหมายที่ล้อกันเอง โดย 'จิวกง' เลือกที่จะวางไว้ตรง 'วลีเปิด' กับ 'วลีปิด' ของบทนี้ เพื่อ 'ห่อหุ้ม' (包) ความหมายทั้งหมดของอีกสี่วลีที่เหลือเอาไว้ ในลักษณะที่คล้ายกับเป็นการใช้ 'เครื่องหมายอัญประกาศ' หรือ 'เครื่องหมายคำพูด' นั่นเอง … ในขณะเดียวกัน ทั้งสองวลีนี้ก็จะสอดคล้องกับคำอธิบายภาพสัญลักษณ์ของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 初噬告再三瀆瀆則不告 ที่หมายถึง 'แรกๆ คงต้องมีการเคี่ยวเข็ญกันบ้าง แต่เมื่อได้ฝึกปฏิบัติไปอย่างสม่ำเสมอ การซึมซับนั้นก็จะค่อยๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือนใดๆ กันอีก' … ซึ่งจะเห็นว่าเป็น 'การเคี่ยวเข็ญ' (噬告) ด้วยอาการ 'ขัดถู' ให้รู้สำนึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป (以往吝) เพื่อให้เกิด 'การซึมซับ' (再三瀆) … ไม่ใช่เป็นการใช้กำลังเข้าหักหาญในลักษณะของ 'การบังคับขมขู่' (寇) อย่างเต็มกำลัง …

อักษรอีกตัวหนึ่งที่ควรจะเอ่ยถึงในที่นี้ก็คือ ตัวอักษร 寇 ซึ่งในวรรคที่หกปรากฏให้เห็นถึงสองครั้ง แต่ถูก 'ตีความ' ให้เป็น 'ความแข็ง' ที่ต่างมุมกัน … โดยตรงวลีว่า 不利為寇 ผมแปลว่า 'ไม่ควรใช้การบังคับข่มขู่' … แต่ตรงท้ายวรรคจะใช้วลีว่า 利禦寇 ผมแปลว่า 'ควรใช้การชี้นำอย่างเด็ดขาดชัดเจน' … ทั้งนี้ เพื่อให้มีความหมายไปสอดรับกับวรรคแรกที่บันทึกไว้ว่า 利用刑人用說桎梏 (ดีที่สุดก็คือ ต้องมีกฎเกณฑ์มาบังคับใช้ เพื่อควบคุมประพฤติของคน และต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน หรือห้ามปราม เมื่อมีการกระทำความผิด) … ตรงนี้คือจุดที่ผมต้องการชี้ให้เห็นชัดๆ อีกครั้งว่า แม้ว่าเราไม่ควรจะใช้ 'ไม้แข็ง' ในการอบรมบ่มเพาะผู้คนให้มีความรู้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องมีกฎเกณฑ์ (刑) ที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้ (禦) อย่างเด็ดขาด (寇) และจริงจัง (有躬) ด้วย แต่ก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ไม่หุนหันตัดสินความด้วยอารมณ์ … โดย 'ข้อแนะนำ' ให้ดำเนินการด้วย 'ความจริงจังอย่างนุ่มนวล' นี้ ก็คือความหมายที่แสดงไว้แล้วในวรรคที่สามนั่นเอง ;)

อีกมุมมองหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับวรรคที่หกนี้ก็คือ หลังจากที่ 'จิวกง' เอ่ยถึง 'พวกโง่ดักดาน' ในวรรคที่สี่ และเอ่ยถึง 'เยาวชนที่โง่แบบใฝ่รู้' ในวรรคที่ห้า … ตัวอักษร 蒙 ที่เห็นในวรรคนี้ก็อาจจะหมายถึง 'คมที่ยังไม่ฉลาด' ทั้งสองประเภทรวมๆ กันไปเลย เพราะไม่ว่าจะเป็น 蒙 ประเภทใดในสองประเภทที่เอ่ยถึงไปแล้วนั้น เราก็ไม่ควรจะใช้ 'ไม้แข็ง' ในการอบรมสั่งสอนทั้งนั้น … เนื่องจากเราก็คงจะเหนื่อยเปล่า สำหรับในกรณีของ 'พวกโง่ดักดาน' … :D … ส่วนในกรณีของ 'เยาวชนที่โง่แบบใฝ่รู้' เราก็อาจจะทำให้พวกเขาเสียขวัญ และกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายไหนทั้งสิ้น … นั่นคือเหตุผลที่ 'จิวกง' แนะนำให้ใช้ 'กฎเกณฑ์' หรือ 'หลักการ' (用刑) และใช้ 'คำพูด' (用說) เพื่ออบรมสั่งสอน หรือว่ากล่าวตักเตือน มาเป็น 'ปัจจัยชี้นำ' (禦) แต่ก็ต้องมี 'ความเด็ดขาดชัดเจน' (寇) ในการปฏิบัติด้วยเท่านั้นจึงจะได้ผล (利)

มีเกร็ดเล็กๆ ตรงนี้นิดหนึ่งที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตให้กับบทนี้ เพราะดูเหมือน 'จิวกง' จะจงใจใช้วลีในลักษณะที่เป็น 'การล้อความหมาย' กันอยู่ถึง 3 คู่ด้วยกัน นั่นก็คือ ...

1. วรรคที่หนึ่ง กับ วรรคที่หก

  • หนึ่ง : 發蒙利用刑人用說桎梏以往吝
    หก : 擊蒙不利為寇利禦寇

2. วรรคที่สอง กับ วรรคที่ห้า

  • สอง : 包蒙吉納婦吉子克
    ห้า : 童蒙吉

3. วรรคที่สาม กับ วรรคที่สี่

  • สาม : 勿用取女見金夫不有躬無攸利
    สี่ : 困蒙吝

วรรคที่หนึ่ง กับวรรคที่หกนั้น ผมเล่าไปแล้วนะครับ ;) ส่วนวรรคที่สี่ กับวรรคที่ห้านั้น อาจจะถูกบันทึกไว้เพื่อ 'ขยายความ' ให้กับคำว่า 金夫 ในวรรคที่สาม และคำว่า 家 ในวรรคที่สองตามลำดับ … โดยผม 'ตีความ' ว่า  金夫 ในบทนี้ควรจะแปลว่า 'อัจฉริยบุคคล' ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว 'อัจฉริยบุคคล' มักจะหมายถึง 'ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดมาแต่กำเนิด' คล้ายกับ 'เพชร' หรือ 'สินแร่' ในธรรมชาติที่รอคอย 'การค้นพบ' และ 'การพัฒนา' ให้เจิดจรัสขึ้นมา

金夫 ที่ยอมรับ 'การหล่อหลอม' (納婦) ก็คือผู้ที่มีโอกาสได้รับ 'การพัฒนา' ให้กลายเป็น 'ปราชญ์' (家) อันแสดงความหมายไว้ในวรรคที่สอง (包蒙吉納婦吉子克家) และสรุปไว้อีกครั้งในวรรคที่ห้า (童蒙吉)

สำหรับ 金夫 ประเภทที่ 'ไม่เอาถ่าน' (不有躬) นั้น ถือว่าเป็น 'อัจฉริยบุคคล' ที่ 'ไม่รักดี' จึง 'ไม่มีอนาคตที่สดใส' (無攸利) อันนี้ก็คือความหมายของวรรคที่สาม และสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งด้วยวรรคที่สี่คือ 困蒙吝 อันหมายถึง 'พวกดักดาน' ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับ 'ความเชื่อ' และ 'ความคิด' ของตัวเอง จนก่อให้เกิด 'อาการบกพร่องทางการรับรู้' หรือ Perceptual Deficiency Syndrome … :D … ซึ่งยากแก่การพัฒนาในทุกรูปแบบ :P

แล้วหากเราย้อนไปดู 'ชื่อเรียก' ของบทที่สาม ที่หมายถึง 'การเริ่มต้น' แล้วมาพิจารณาความหมายของบทที่สี่ เราก็จะเห็น 'ความต่อเนื่อง' ของความหมายที่ King Wen กับ 'จิวกง' พยายามจะสื่อสารออกมา นั่นก็คือ หลังจากที่เราได้รวบรวมผู้คนเข้ามา เพื่อจะประกอบกิจการงานใดๆ แล้ว อันดับแรกสุดก็คือ จะต้องให้ 'การอบรมฝึกสอน' พวกเขาให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ สำหรับ 'ภารกิจ' และ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดเอาไว้ … อื้อม์หือม์ … แจ่มซะ!! เห็นมั้ยครับเนี่ยะ ??!! ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เมิ๋ง'  คือ ความใสซื่อ, แอ่งน้ำใต้ขุนเขา

'ความรู้' มิใช่ฝ่ายที่ 'เรียกร้อง' ให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับเอาไว้ หากแต่เป็น 'ผู้ฝักใฝ่ในความรู้' ต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่าย 'ร้องหา' และ 'ไขว่คว้า' มาด้วยตนเอง … แม้ว่าเบื้องต้นจะต้องมี 'การเคี่ยวเข็ญตักเตือน' แต่เมื่อได้ 'ซึมซับ' ผ่าน 'การฝึกฝน' และ 'การฝึกปฏิบัติ' อย่าง 'สม่ำเสมอ' จนเป็นนิสัยแล้ว 'การว่ากล่าวตักเตือน' ย่อมไม่มีความจำเป็นใดๆ อีก นี่จึงเป็น 'คุณธรรม' ที่จะนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' อย่างแท้จริง

  • 'การอบรมบ่มเพาะ' เพื่อพัฒนา 'ผู้เยาว์' นั้น จะต้องอาศัย 'กฎเกณฑ์' มา 'บังคับใช้' ในการ 'ควบคุมประพฤติ' ของผู้คน และต้องมี 'การว่ากล่าวตักเตือน' เมื่อมีการกระทำความผิด … เพื่อจะขัดเกลาให้ 'ความไม่รู้' ค่อยๆ หมดสิ้นไปทีละเล็กละน้อย
  • 'การโอบอุ้ม' ชุบเลี้ยง 'ผู้เยาว์' ย่อมต้องอาศัย 'การหล่อหลอม' ด้วย 'คุณธรรมความดี' และ 'การบ่มเพาะ' ด้วย 'จริยามารยาท' ที่ดีงามให้แก่พวกเขา เพื่อให้ 'ผู้เยาว์' เหล่านั้น เติบใหญ่ขึ้นมาเป็น 'ปราชญ์' ผู้มากด้วยความรู้ และเปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ
  •  
  • หากปราศจาก 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'จริงจัง' ไม่มี 'ความเอาใจใส่' ด้วย 'ความละเอียดรอบคอบ' ย่อมไม่ต่างจาก 'อัจฉริยบุคคล' ที่ปราศจาก 'ความเพียรพยายาม' ซึ่งจะไม่มีทางบรรลุถึง 'ผลสำเร็จ' ได้
  •  
  • 'ดักดาน' ย่อมยากที่จะ 'พัฒนา'
  •  
  • 'ฝักใฝ่ในวิชา' ย่อมเป็น 'ผู้เจริญ'
  •  
  • 'การขจัดปัดเป่าอวิชชา' ย่อมไม่อาจใช้ 'การบังคับแข็งขืน' แต่ต้องอาศัย 'หลักเกณฑ์' ที่ 'เด็ดขาด' และมี 'การปฏิบัติ' ที่ 'ชัดเจน' เท่านั้น



 

The Organization Code :



'ความใสซื่อ' ใช้ 'ข้อเท็จจริง' นำ 'บุคลากร', แผนงานเปิดกว้าง (⚏), เตรียมรับทั้งนอกใน (⚎)

ภาพสัญลักษณ์ของบทนี้คือ ䷃ ที่มีด้านบนเป็น ☶ (เกิ้น หมายถึงภูเขา) ที่ผมเลือกใช้ชื่อย่อเป็น CIO เพื่อให้เกี่ยวข้องกับ 'ข้อมูลข่าวสาร' หรือ 'ข้อเท็จจริง' ส่วนด้านล่างคือ ☵ (ขั่น หมายถึงแอ่งน้ำ) ที่ผมเลือกใช้ชื่อย่อเป็น HRM เพื่อให้เกี่ยวข้องกับงานด้าน 'บุคลากร' … ความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' จึงหมายถึง การให้ 'ข้อมูล' หรือการชี้แจง 'กฎระเบียบ' ต่างๆ เพื่อใช้เป็น 'ปัจจัยชี้นำ' ในการดำเนินงานของ 'ทีมงาน' ที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายๆ หน่วยงาน … หากมองในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' แล้ว เราก็จะเห็นว่า หลังจากที่มีการ 'กำหนดเป้าหมาย' และมีการ 'รวบรวมบุคลากร' หรือ 'รวบรวมทรัพยากร' ที่จำเป็นทั้งหมด (ในบทที่แล้ว) มันก็ควรจะเป็นวาระของ 'การฝึกอบรม' เพื่อ 'ให้ความรู้' และ 'ทำความเข้าใจ' เกี่ยวกับ 'กรอบ', 'ทิศทาง', 'เป้าหมาย', รวมทั้ง 'กฎระเบียบ' ต่างๆ ที่ทุกๆ คนจะต้องยึดถือใน 'การปฏิบัติงานร่วมกัน' … โดยคำว่า 'ผู้เยาว์' ในความหมายเชิงการบริหารองค์กร ก็น่าจะหมายถึง 'สมาชิกใหม่' นั่นเอง ;)

  • 'การฝึกอบรม' เพื่อพัฒนา 'บุคลากร' นั้น จะต้องกำหนด 'หลักการ' และ 'เกณฑ์การประเมินผล' ต่างๆ ขึ้นมาเป็น 'กรอบปฏิบัติ' และต้องมี 'การตักเตือน' ตามความเหมาะสม จึงจะสามารถพัฒนา 'ทีมงาน' ที่แข็งแกร่ง และมุ่งไปในทิศทางที่สอดคล้องกันได้
  • 'สมาชิกใหม่' จะต้องได้รับ 'การหล่อหลอม' ด้วย 'วัฒนธรรมองค์กร' ที่ดี เพื่อจะสามารถพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของ 'กำลังหลัก' ที่จะ 'ร่วมกัน' ผลักดัน 'ความเจริญก้าวหน้า' ให้เกิดขึ้นแก่ทุกๆ ฝ่ายต่อไป
  • ทุกๆ รายละเอียดของการปฏิบัติงาน จะต้องได้รับ 'การเอาใจใส่' อย่าง 'จริงจัง' โดยต้องดำเนินการด้วย 'ความสุขุมรอบคอบ' และมี 'ความมุ่งมั่น' ในการ 'ร่วมกันผลักดัน' จน 'สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย'
  • 'ไม่อวดดื้อถือดี' ด้วย 'ความหลงตัวเอง' อย่างผิดๆ อันเป็นหนทางที่จะก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย
  • มี 'ความฝักใฝ่' ใน 'การเรียนรู้' เพื่อ 'พัฒนาตนเอง' อยู่ตลอดเวลา
  • ต้องมี 'ความชัดเจน' และมี 'ความเด็ดขาด' ในด้านของ 'หลักการ' และ 'กฎเกณฑ์' ที่บังคับใช้ แต่ต้องปฏิบัติด้วย 'ความละมุนละม่อม' เพื่อสร้างเสริมขวัญ และกำลังใจให้แก่ 'ทีมงาน' ทุกๆ คน


เมื่อ 'แยกธาตุ' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' (䷃) ออกเป็น 3 ระดับ เราก็จะได้เป็น

'ระดับนโยบาย' อยู่ในสถานะของ ⚎ : 'เตรียมรับ' คือจะต้องมีการกำหนด 'นโยบาย' และ 'หลักเกณฑ์ในการประเมินผล' อย่าง 'ชัดเจน' และต้องมีการประกาศเพื่อ 'บังคับใช้' อย่าง 'เด็ดขาด' 'เคร่งครัด' แต่ก็ต้องดำเนินการด้วย 'ความละมุนละม่อม' ไม่ใช่มุ่งแต่จะ 'เอาเป็นเอาตาย' กับ 'ความผิดพลาด' เล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่ความผิดพลาดที่ไม่ได้เกิดจาก 'ความตั้งใจที่จะฝ่าฝืน' จนเกินกว่าเหตุ

'ระดับบริหาร' อยู่ในสถานะของ ⚏ : 'พร้อมรับ' คือจะต้องมี 'ความยืดหยุ่น' ในการกำหนด 'แผนปฏิบัติการ' เพื่อให้สอดคล้องกับ 'ข้อเท็จจริง' ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิด 'ความเปลี่ยนแปลง' โดยไม่อยู่ในอำนาจที่จะบังคับควบคุม และต้องพร้อมที่จะให้ 'การสนับสนุน' ในด้านต่างๆ แก่ทีมงานทั้งหมด เพื่อจะสามารถ 'อำนวย' ให้ทุกหน่วยงานดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

'ระดับปฏิบัติการ' อยู่ในสถานะของ ⚎ : 'เตรียมรับ' คือต้องมี 'ความตื่นตัว' ต่อ 'ข้อมูลข่าวสาร' ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องมี 'ความพร้อมที่จะเรียนรู้' และรู้จักที่จะ 'ประยุกต์ใช้' สรรพความรู้ทั้งมวล เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้บรรลุสู่ 'เป้าหมาย' ของ 'แผนงาน' ที่กำหนดเอาไว้แล้ว ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'เอาจริงเอาจัง' อย่างมี 'ความละเอียดรอบคอบ'