The Future of (Almost) Everything

29/7/2016

Book Title: The Future of (Almost) Everything
Author(s): Patrick Dixon
Format: Paperback, 352 pages
Publisher: Profile Books; May 10, 2016
Language: English
ISBN-10: 1781254974
ISBN-13: 978-1781254974
Product Dimensions: 5 x 1.2 x 7.7 inches

 

มันเป็นหนังสือเบามือสำหรับไว้ถืออ่านให้หนักๆ สมองครับ ... นี่ไม่ใช่หนังสือที่ทำนายโลกอนาคตแบบ "นอสตาดามุส" หรือเล่าเรื่องเพ้อฝันถึงโลกอนาคตข้างหน้าอีกหลายๆ ร้อยปีแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ... แต่ Patrick Dixon เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ห่างจากปีปัจจุบันไปเพียงไม่เกิน 10-20 เท่านั้น ซึ่งหลายๆ เรื่องก็มีข่าวคราวให้พอเดาทางกันได้อยู่แล้วแหละ แต่พอเอาทุกๆ เรื่องมาเล่ารวมๆ กันจนเห็นภาพรวมของอนาคตอันใกล้นี้แล้ว มันทำให้ดูเหมือนว่า พวกเราควรจะมีเรื่องราวให้ต้องคิด และต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้ามากมายจนน่าตกใจจริงๆ ... 😲

ผมไม่คิดว่าเราควรจะ "ตั้งคำถาม" ประเภทที่ "ชวนให้ชอบ" หรือ "ชวนให้ชัง" สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ทุกอย่างคงจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ อยู่แล้ว แต่เราควรจะ "ตั้งสติ" แล้วถามตัวเองหลายๆ ครั้งเลยว่า ... "เรามีความพร้อมแค่ไหนกับโลกอนาคตที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาแล้วอย่างจริงจังตั้งแต่ในเวลานี้ ??!!"

ผมมองว่า วิธีการนำเสนอที่ Patrick Dixon เลือกใช้กับหนังสือของเขาก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดีเหมือนกัน โดยเขายังคงใช้การแบ่งเรื่องราวของอนาคตออกเป็น 6 ด้านเหมือนกับในหนังสือเรื่อง Futurewise ที่เขาเคยเขียนไว้เองเมื่อปี 2007 ตามตัวสะกดในคำว่า FUTURE คือ Fast ; Urban ; Tribal ; Universal ; Radical ; และ Ethical ... เพื่อที่จะบรรยายความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในอนาคตของแต่ละด้านอย่างมีกรอบกำหนดที่ชัดเจนลงไป ... เพียงแต่ว่า ... การที่เรื่องราวทั้งหลายมันดูยุ่งเหยิงวุ่นวาย จนหลายคนจับต้นชนปลายแทบไม่ถูกเลยนั้น ก็เป็นเพราะว่า ทั้ง 6 ด้านของอนาคตที่เขาหยิบยกขึ้นมานี้ มันไม่ได้แยกขาดออกจากกันเหมือนกับบทของหนังสือ แต่พวกมันมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแยกไม่ออกราวกับเป็น "แต่ละด้านของลูกเต๋า" ที่ล้วนเป็นส่วนประกอบของกันและกันตลอดเวลา ... โดย "พลัง" ที่จะเป็นปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายใน "แต่ละด้านของลูกเต๋าแห่งอนาคต" ลูกนี้ก็คือ EMOTION หรือ "อารมณ์ของคน" เท่านั้น ... !! ... 😲

บางที การที่ชนชาติตะวันตกหลายๆ ชนชาติ เริ่มหันมาให้ความสนใจศึกษาศาสนา ตลอดจนแนวคิด-แนวปฏิบัติแบบชนชาติตะวันออกมากขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่เพราะ "วิถีคิด" แบบชนชาติตะวันออก มีอะไรที่ดีกว่า หรือเหนือกว่า "วิถีคิด" ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในดินแดนของพวกเขาเลยก็ได้ แต่อาจจะเป็นเพราะ "การศึกษาด้านใน" อันเป็นแก่นแกนหลักของลัทธิความเชื่อทั้งหลายของชนชาติตะวันออกนั้น มีความสอดคล้องกับแนวทางที่พวกเขาอยากจะศึกษา "พัฒนาการทางความคิด" และ "ธรรมชาติทางอารมณ์" ของมนุษย์ให้มีความกระจ่างมากขึ้นเท่านั้นเอง ... ความแตกต่างกันเพียงประการเดียวของการหันมาศึกษา "วิถีแห่งจิต" ก็คงจะอยู่ที่ว่า ... ชนชาติตะวันออก "คงจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาตนไปสู่ความสงบเย็นของจิตใจ ตาม "วัฒนธรรมทางความเชื่อ" ของชนชาติตนต่อไป ... ในขณะที่ชนชาติตะวันตก "อาจจะ" มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่ "พลังแห่งการขับเคลื่อนโลกอนาคต" ที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดทิศทางโดยการ "จูงอารมณ์" ให้คนทั้งโลก "อยากจะคล้อยตาม" ความต้องการของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่ยอมถึง "นิพพาน" ซักที ?!?!?! ...

 

 


Categories: ZhuqiBook

Leave Comment