ว่าด้วย "เสรีภาพ" กับ "ชุดยูนิฟอร์ม"

9/9/2013

จู่ๆ ก็มีกระแส "ต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา" แพร่กระจายให้วิพากษ์วิจารณ์กันว่อนเน็ต ซึ่งก็อาจจะเพราะมีการจุดพลุด้วย "โป๊สเตอร์ไร้สำนึก" ของ "เด็กเสียจริต" คนหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาจาก "รสนิยมในการจินตนาการ" ของตัวเองเท่านั้น ... เออ ... แล้วอาจงอาจานอาเจียนทั้งหลายก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝนพลอยกระโจนเข้าผสมโรงด้วยความหวดหวั่นว่า ตัวเองอาจจะตกกระแสจนไม่ได้รับ "การอุปโลก" ให้เป็น "นักคิด" ระดับหัวแถวแนวหน้าสื่อสังคมออนไลน์กะชาวบ้านอื่นๆ เขา ... เก้าะ ... ถ้าออกมาในรูปนี้ ก็คงไม่ต้องไปหาแพะที่ไหนมาบูชายัญว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล่มสลายของระบบการศึกษาไทยหรอกครับ ... ในเมื่อมันเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งฟาร์มนั่นแหละ !!?? ... 😌

เรื่องการใส่ชุด Uniform (ยูนิฟอร์ม) หรือ "เครื่องแบบ" เนี่ยะ มันจะดีหรือจะไม่ดียังไง มันก็เป็นเรื่องของ "รสนิยม" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วมั้ง ในเมื่อเขาก็มีคำที่มีความหมายแบบเดียวกันนี้แทบจะทุกชาติทุกภาษา แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของราชการเท่านั้น มีองค์กรเอกชนจำนวนมาก หรือแม้แต่หน่วยงานบางประเภท เขาก็มีการกำหนดให้ใช้เป็น "ชุดแต่งกาย" ประจำหน่วยงานของพวกเขาอย่างเป็นปรกติวิสัย ... อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ-เทศะ หรืออาจจะถือปฏิบัติกันอย่างตายตัวในบางสถานที่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า "ธรรมดามากๆ" ... ธรรมดาจนผมนึกไม่ออกว่า มันจะมีส่วนในการ "กดทับจินตนาการ" หรือ "เชิดชูความเป็นมนุษย์" อะไรที่ตรงไหน จนหลายคนต้อง "ดัดจริต" มาถกเถียงกันราวกับเป็น "ปัญญาชน" ที่รู้จักใช้สมอง ... ??!!!???

เอางี้ ... ผมขอเล่าเรื่องเก่าๆ ดีกว่า ...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ... สมัยที่คุณพ่อของผมยังไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจเหมือนกับปัจจุบัน ประมาณว่า ยังมีสถานะแค่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานเพื่อหาข้าวสารกรอกหม้อไปเดือนหนึ่งๆ เท่านั้น อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด อะไรที่ประหยัดไม่ได้ก็ต้องพยายามประหยัด โดยที่ต้องไม่ขัดกับหน้าที่การงาน ซึ่งคุณพ่อรับผิดชอบอยู่ในฐานะของผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเวลานั้นด้วย ... ข้าวมื้อกลางวันก็ต้องเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินที่บ้าน เพราะไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงข้าวใคร แล้วก็แทบจะไม่เหลือเงินค่าอาหารใดๆ อีก หลังจากได้เจียดไว้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องค่าอาหารประจำเดือน และค่าการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวไปแล้ว, จะเอาข้าวกล่องมากินที่บริษัท มันก็ดูไม่ค่อยจะเหมาะสมแก่ "ภาพลักษณ์" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ซักเท่าไหร่ ... การเดินครึ่ง-นั่งเรือครึ่งเพื่อกลับไปกินข้าวที่บ้าน (เพราะมีเงินไม่พอสำหรับเป็นค่ารถโดยสารประจำทาง) จึงเป็นทางอออกหนึ่งที่ท่านเลือกใช้ในช่วงชีวิตหนึ่งที่ผ่านมาของท่าน ...

ถ้าค่ารถค่าราค่าอาหารยังต้องกระเหม็ดกระแหม่ซะขนาดนั้น เสื้อผ้าที่จะสวมใส่สำหรับการติดต่อธุรกิจก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" คือ "เสื้อผ้าแบบเดียวกัน-สีเดียวกัน" ทุกวัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อบังคับของบริษัท (เพราะเขาไม่เคยกำหนดว่าต้องมีชุดเครื่องแบบประจำบริษัท) แต่ท่าน "จำเป็น" ต้องทำอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตว่า จริงๆ แล้วท่านมีเสื้อผ้าอยู่เพียง 2 ชุดที่ต้องใส่สลับกันไปสลับกันมาทุกๆ วัน ... เท่านั้นเอง ... !!

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว "ชุดยูนิฟอร์ม" จึงไม่ใช่เรื่องของความโก้เก๋, ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์, ไม่ใช่เรื่องของความรักความศรัทธาในองค์กรหรือสถาบัน, ไม่ใช่เรื่องของสิทธิเสรีภาพ, และไม่ใช่เรื่องของการปลูกฝังค่านิยมห่าเหวอะไรทั้งนั้น ... แต่มันคือ "ความประหยัด" ที่ครั้งหนึ่งมันช่วยให้ครอบครัวของพวกเรามีข้าวกินทุกมื้อ, มีเงินพอสำหรับการศึกษา, และมีความสุขตามอัตตภาพโดยไม่ต้องไปคดโกง หรือไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใครที่ไหน ... ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าเป็นความกดดันอะไรเมื่อต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ผมควรจะช่วยครอบครัวประหยัด ... ไม่ได้รัก ไม่ได้เทิดทูน ไม่ได้พิศวาสอะไรนักหนากับสถาบันการศึกษาที่ผ่านมาของตัวเองเลยซักนิดเดียว ... คนละเรื่อง !!! ... 😄

เมื่อโตมาจนเข้ามหาวิทยาลัย ... ก็จุฬาฯ นั่นแหละ ... ซึ่งบังเอิญว่าในยุคนั้นเขายังไม่เคร่งครัดเรื่องระเบียบของเครื่องแต่งกายนักศึกษาซักเท่าไหร่ หรือจะเป็นเฉพาะในคณะสถาปัตย์ฯ เท่านั้นรึเปล่าก็ไม่รู้อีก ... เพราะผมไม่ได้สนใจกับเรื่องบ้าบอจำพวกนี้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ... แต่ผมก็ยังใส่ "ชุดยูนิฟอร์ม" ไปเรียนทุกวันอยู่ดี เพียงแต่มันเป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" ที่ธุรกิจของทางบ้านทำไว้สำหรับให้พนักงานใช้เมื่อต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายเขาเป็นสปอนเซอร์ให้ ... ก็คือ "เสื้อฟรี" นั่นแหละ แต่เป็น "ชุดยูนิฟอร์ม" เท่านั้นเอง ... ก็ใส่สบายดีครับ ไม่ต้องกลัดกระดุมเพราะเป็นซิปยาวตลอดทั้งตัว ไม่ต้องสอดชายเสื้อด้วย เพราะมันเป็นเสื้อแบบช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร สีเสื้อก็ทะมึนๆ เพื่อกลบเกลื่อนรอยเลอะเทอะจากคราบสกปรกต่างๆ ได้ดีอีกต่างหาก ... เหมาะกับสันดานที่ไม่ค่อยระวังตัวเรื่องความสะอาดอย่างผมพอดี ... แต่ก็มีข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ ของทางคณะฯ ว่า ขอให้นักศึกษาสวม "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" เพื่อเข้าห้องสอบเท่านั้น ... ไม่ได้กำหนดสีเสื้อ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของรูปแบบอะไรที่ตายตัวทั้งนั้น ... ขอแค่ "เสื้อเชิร์ตที่สุภาพ" ... ซึ่งแต่ละคนต้อง "จินตนาการด้วยจิตสำนึก" กันเอาเองว่า ควรจะเป็นแบบไหนจึงจะเหมาะสม ?! ... 😊

ย้อนนึกถึงวันเวลาในช่วงนั้นจากเวลานี้ ถ้าบังเอิญจุฬาฯ มีข้อบังคับว่าต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียนทุกวัน ... ผมจะเดือดเนื้อร้อนใจกับข้อบังคับแบบนั้นมั้ย? ... จะรู้สึกทุรนทุรายว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผมรึเปล่า? ... หรือจะรู้สึกว่าเป็นการกดทับจินตนาการของเด็กอาร์ตอย่างพวกถาปัดที่ควรจะระเบิดความคิดตัวเองให้เปรอะไปหมดทั้งร่าง? ... ผมก็คงรู้สึกเฉยๆ กับข้อบังคับที่ว่านั้นอยู่ดี เพราะมันก็แค่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นอะไรที่มีความหมายกับผมเลยซักนิดเดียว ... มีแต่คนที่ขลาดกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับความสนใจเท่านั้นแหละ ถึงต้องพยายามเรียกร้องให้ใครต่อใครยินยอมเปิดพื้นที่ให้ตนได้สร้างความโดดเด่นเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ยังดี ... ซึ่งก็น่าเห็นใจคนพวกนี้อยู่หรอก เพราะถ้าพวกเขาต้องทำอะไรๆ ที่เหมือนกับคนอื่นๆ แล้ว พวกเขาจะไม่มีอะไรที่โดดเด่นจนเป็นที่สังเกตเห็นได้เลยตลอดชีวิต !!?? ... มันคือคุณลักษณะของ "ทาสชั้นดี" ที่เมื่อใดที่มีกรอบซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว พวกเขาย่อมไม่มีปัญญาที่จะคิดอะไรให้วิจิตรพิสดารเกินกว่ากรอบนั้นเลยตลอดกาล เว้นแต่จะได้รับ "คำสั่ง" จากผู้ที่พวกเขา "เทิดทูนไว้ในจิตใต้สำนึก" ว่า ต่อไปนี้ไม่มีกรอบแล้วนะ พวกเขาถึงจะรู้สึกได้ว่า มันไม่มีกรอบแล้วจริงๆ... น่าสงสาร !!?? ... 😃

แน่นอนครับ ผมเองก็เชื่อว่า "กรอบ" คือปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด "ความคับแคบ" ... แล้วไง ??!! ... มันก็คือ "ความคับแคบ" ของคนอื่นๆ ของสิ่งอื่น ขององค์กร หรือของสถาบันอื่นๆ ที่เขาเป็นผู้กำหนด "ความคับแคบ" นั้นขึ้นมาสำหรับพวกเขาเอง ... ถ้าเราหันซ้ายหันขวาหกหัวตีลังกาแล้ว "เห็นแต่กรอบ" เราก็คือผู้ที่กักขังตัวเอง เพราะคนอื่นเขาวางกรอบเอาไว้เฉยๆ แต่เราเป็นคนเอามันมาครอบไว้ในใจของตัวเอง ... แต่ถ้าเราคิดว่าเราคือ "คนเยี่ยมไข้" ที่เดินเข้าไปเยี่ยมคนป่วยในห้องไอซียู เราก็ต้องเปลี่ยนชุด เราก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในคนไข้ที่กำลังป่วยหนักอีกตั้งหลายคน ... มันก็ไม่ใช่เรื่องของ "การถูกบังคับ" แต่เป็นเรื่องของ "การอนุเคราะห์" ที่เราให้ "ความเมตตา" แก่ผู้อื่น ... มันเป็นโลกที่แตกต่างกัน และเราก็มีอิสรภาพที่เพียงพอสำหรับการเดินกลับไปกลับมาระหว่างโลกที่มีกรอบ กับโลกที่ไม่มีกรอบ ... ทำไมต้องขังตัวเองไว้นอกกรงของใครด้วยล่ะ ... เอ๊อ ... !!?? ... 😈

 

 


Categories: ZhuqiDox

Leave Comment