โจทย์ของความเท่าเทียมกัน

7/5/2015

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ได้เห็นตัวอย่างการแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันในหนังสือเล่มไหนซักเล่มของ Dr. Edward deBono เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่ไม่เคยคำนึงถึงการแบ่งแบบอื่นๆ เลย นอกจากแบ่งตามแนวนอน, แบ่งตามแนวตั้ง, แบ่งตามแนวทะแยงมุม, แล้วก็แบ่งจากแนวกึ่งกลางของแต่ละด้าน ... ราวกับว่า มันก็แบ่งของได้แค่ 4 แบบนั่นแหละ จะต้องไปวุ่นวายคิดอะไรกับมันนักหนา ?! ... ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเคยมีอาการอย่างที่ว่านั้นอยู่บ้าง ... เราจะต้องยุ่งยากกับโจทย์พื้นๆ แบบนี้ไปเพื่ออะไรกัน ?! ... แต่ว่า ... โจทย์ก็คือโจทย์ มันคือ "แบบจำลอง" ที่ถูกออกแบบขึ้นมามา เพื่อให้เราได้ฝึกหัดทักษะอะไรบางอย่าง มันอาจจะเป็นสิ่งง่ายๆ พื้นๆ ที่ต้องการสื่อสารกับเราว่า ... โลกไม่ได้มี "วิธีคิด" ที่ตายตัวเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เว้นแต่เราจะ "ไม่สนใจ" หรือยอม "ดักดาน" อยู่กับรูปแบบเดิมๆ ของเราไปจนวันตาย ...

หลังจากที่ผมได้รับรู้ถึงวิธีการที่แตกต่างออกไปจาก "ความคุ้นเคย" ของตัวเองแล้ว ผมก็เลยทดลองเขียนแบบอื่นๆ ออกมาให้มากกว่า "ตัวอย่าง" ที่ได้เห็นในหนังสือ ซึ่งมันก็ยังสามารถคิดหาวิธีการอื่นๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ราวกับไม่มีวันสิ้นสุด ... และนั่นแหละที่ผมมองว่ามันน่าสนใจ ... เมื่อใดก็ตามที่เราได้หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ที่เคย "ครอบงำความคิด" ทั้งหลายทั้งปวงของเราเอาไว้ ทัศนคติและโลกทัศน์ในการคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราก็จะแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเปิดประตูแห่ง "อิสรภาพทางความคิด" ให้กับเราอย่างไม่สิ้นสุด ... ราวกับว่า นี่คือ "การหลุดพ้น" ที่เป็นแก่นแกนของคำสอนทั้งหลายในศาสนาต่างๆ นั่นเอง ... "การบรรลุธรรม" ที่หลายต่อหลายคนออกปากว่า มันเป็น "อาการทางจิต" ที่ยากแก่การอธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจ เว้นแต่ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงของ "การบรรลุธรรม" เท่านั้น จึงจะสามารถหยั่งถึง "ความเป็นอิสระแห่งจิต" ที่ปราศจาก "การครอบงำ" ใดๆ นั้นได้ ... โจทย์บ้าๆ บอๆ เรื่อง "การแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส" ก็น่าจะเป็น "ตัวอย่าง" หรือ "แบบจำลอง" ของสิ่งที่ว่านั้น !! ...

ผมนึกถึง "แบบฝึกหัด" ข้อนี้ของ Dr. Edward deBono ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ชาว Netizen หรือ "ชุมชนไซเบอร์" ของไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามสร้างพื้นที่สำหรับ "การแสดงความเชื่อ" ของตน เพียงเพื่อหวังจะหาพวกหาพ้องที่จะร้องสนับสนุน "ความเชื่อ" เหล่านั้นของตนเท่านั้น ... ผมขอยืนยันว่า ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ "การแสดงความคิด" หรือ "การแสดงความเห็น" ในนิยามแบบของผมเลย ... เพราะมันวนเวียนอยู่กับกรอบนิยามแบบเดิมๆ ของตำรับตำราที่เขียนไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน และไม่มีวี่แววว่าจะมี "การออกแบบองค์ความรู้" อื่นใดให้เป็น "ทางเลือก" ที่มากไปกว่านั้นเลยซักนิดเดียว ... ผู้คนในสังคมกำลังพยายามนำ "บทสรุปทางความคิด" ของคนที่ตายไปนานแล้ว มากำหนดเป็นนิยามความหมายทางสังคมให้กับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ... ราวกับว่า ... สี่เหลี่ยมจัตุรัสในนิยามของพวกเขา สามารถแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กันได้เพียงไม่กี่แบบแบบเท่านั้น โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามยกเหตุผลบ้าบอคอแตกอะไรก็ได้ขึ้นมาอ้าง เพียงเพื่อจะขอเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนว่า แบบของใครที่ดูสวยงามกว่า หรือเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่ากัน ... เท่านั้นเอง !!??!!

"คติความเชื่อ" หลายๆ อย่างในแต่ละสังคม ดูจะเป็น "กรอบที่มองไม่เห็น" ที่ใครต่อใครพากันยึดติด และกำหนดไว้เป็น
กรงครอบที่พวกเขากักขังตัวเองเอาไว้ แล้วเที่ยวได้เอะอะโวยวายเพื่อจะเรียกร้องให้ใครต่อใครยื่นมือมาปลดปล่อย !!?? ... มันบ้ารึเปล่า ??!!
... ธรรมะที่มิอาจอยู่คู่กับอธรรม, น้ำบ่อที่ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับน้ำโคลน, หรือพิมเสนที่ไม่มีใครยอมแลกกับเกลือ, ฯลฯ นั้น ... มันสามารถแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจนในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างนั้นเหรอ ?! ... "คนดี" ที่ "เชื่อ" และ "ศรัทธา" ใน "สิ่งที่เราไม่ชอบ" จะไม่มีเลยเชียวหรือ ?! ... "คนชั่ว" ที่ "แน่วแน่มั่นคง" ในสิ่งเดียวกับที่ "นักบุญ" ยกย่องเทิดทูน จะไม่เคยเกิดขึ้นได้เลยรึไง ?! ... หาก "ความดี" กับ "ความเลว" อยู่แยกขาดจากกันเป็นคนละโลก แล้วทั้งสองโลกนั้นเขาจะมี "นิยาม" ของ "ความดี" กับ "ความเลว" ว่ายังไง ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เคยพบเห็นสิ่งที่เป็น "ขั้วตรงข้าม" ของตัวเองมาก่อน ??!!

**ในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่มีความเท่าเทียมกัน เราจะจัดสรรปันส่วนให้เกิดความเท่าเทียมกันได้กี่วิธี ??!!**

 

 


Categories: ZhuqiDox

Leave Comment