22 Ideas to Fix The World

15/1/2014


Book Title: 22 Ideas to Fix The World
Author(s): Piotr Dutkiewicz (Editor), Richard Sakwa (Editor)
Format: Paperback ; 229 pages
Publisher: NYU Press ; September 9, 2013
Language: English
ISBN-10: 1479860980
ISBN-13: 9781479860982
Product Dimensions: 9.0 x 6.1 x 1.5 inches

ผมคว้าหนังสือเล่มนี้กลับบ้านแล้วเลือกอ่าน "หมวดการเมือง" ก่อนเลย ... 😋 ... เพราะมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยคงไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว แต่มันเหมือนมีอะไรบางอย่างที่บกพร่องพร้อมๆ กันทั้งโลก ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า ทฤษฎีและหลักการที่ประชาคมโลกโดยทั่วไปเขายอมรับ แล้วนำไปปฏิบัติกันอยู่นั้น จะกลายเป็นตัวที่ก่อปัญหาซะเอง ไม่งั้นมันจะบ้าบอกันไปหมดอย่างนี้ได้ยังไง ?!! ... ซึ่งผม "ตั้งธง" ไว้ก่อนเลยว่ามันจะต้องมี bugs อย่างแน่นอน !! ... 😁

มีอยู่บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบันทึกการสนทนาระหว่าง Richard Sakwa กับ Ivan Krastev ที่ผมมองว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ (ซึ่งก็แน่นอนครับว่า ผมยอมรับในประเด็นเหล่านั้นอยู่แล้วตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่สามารถลำดับเรื่องราวออกมาเท่านั้นเอง) ... โดยในบทบันทึกดังกล่าว Ivan Krastev ได้ระบุถึง "การปฏิวัติ 5 ด้าน" ที่ส่งผลให้กลายเป็นวิกฤตการณ์ในสังคมยุคปัจจุบัน ...

1. การปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s

ยุค 60s ถือเป็นยุคที่ "ความเป็นปัจเจกบุคคล" ได้รับการปลดปล่อยให้พ้นไปจาก "การครอบงำทางความคิด" ของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เคยมีอิทธิพลในสังคม และเป็นยุคเริ่มต้นที่ "สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล" กลายเป็นกระแสที่ทรงพลังอำนาจในทางการเมือง ... แต่สิ่งที่สังคมโดยรวมต้องแลกไป เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ความมีเสรีภาพ" ดังกล่าวก็คือ "ความล่มสลาย" ของ "ความเป็นปึกแผ่น" ในสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ความมีส่วนร่วมในเชิงสังคมค่อยๆ หดหายไป ในขณะที่ความสนใจในผลประโยชน์เฉพาะตนค่อยๆ เบ่งบานขึ้น ความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ค่อยๆ ถูกลบหลู่ล้อเลียนจนไม่เหลือคุณค่าใดๆ ในทางจิตใจให้ยึดถือ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา หรือแม้แต่ "พระเจ้า" ก็ไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด "ความศรัทธาแบบรวมศูนย์" ได้อีกต่อไป

2. การปฏิวัติทางการตลาด (Market Revolution) ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s

แม้ว่าการเกิดขึ้นของ "พลังอำนาจทางตลาด" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาในโลกและสังคม รวมทั้ง "ระบบทุนนิยม" ก็ได้เปิดโอกาสทางการแข่งขันให้กับทุกๆ คนอย่างเสรีมากขึ้นก็ตาม ... แต่สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาก็คือ สังคมทั้งสังคมถูกผลักให้เข้าไปสู่วังวนของ "ทางเลือก" ที่แทบจะไร้ขีดจำกัด และทำให้ความสนใจทั้งหมดของสมาชิกส่วนใหญ่ ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่ง "ความหมกมุ่น" อยู่กับ "ความต้องการของตัวเอง" ภายในกรอบที่ "กฎหมาย" อนุญาต และปล่อยให้หน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเป็นธุระของคนอื่นๆ เช่น นักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนมากแล้ว ก็จะมี mind set ที่ถูกครอบงำด้วย "นวัตกรรมทางการตลาด" ด้วยกันทั้งสิ้น

3. ความล่มสลายของการต่อสู้ทางความคิดในปี 1989

การที่ "ระบบสังคมนิยม" ต้องปิดฉากตัวเองลงไปอย่างราบคาบให้แก่ "ระบบตลาดแบบทุนนิยม" ในปี 1989 นั้น ได้ทำให้สังคมโลกเข้าสู่ภาวะที่ "ปราศจากทางเลือกโดยระบบ" อีกต่อไป ซึ่งกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้ "การแข่งขันในระบบตลาด" ทวีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น

4. การปฏิวัติทางการสื่อสาร (Communication Revolution)

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ได้ปฏิวัติโอกาส และวิธีการในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลของมนุษยชาติ อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์ ถูกแยกย่อยเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันอีกเลย ... ความสะดวกในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ และการติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่มีแนวคิด และทัศนคติที่คล้ายคลึงกันของแต่ละปัจเจกบุคคลนั้น ได้เข้าทดแทน "ความต้องการรวมกลุ่ม" กับสังคมใกล้ตัวของแต่ละคนไปโดยปริยาย อันเป็นเหตุให้ "ความเป็นปึกแผ่นของสังคม" ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสลายตัวมาตั้งแต่ยุค 1960s ถูกขับเน้นให้มีความเด่นชัด และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

5. การปฏิวัติความเชื่อเกี่ยวกับศักยภาพในการคิดของมนุษย์

การค้นพบใหม่ๆ ในด้าน neurosciences หรือ "ประสาทวิทยา" ได้บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า "มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่มีตรรกะ" โดยมีการพิสูจน์เพื่อยืนยันแล้วว่า การตัดสินใจแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของ "อารมณ์" และ "ความเชื่อ" มากกว่า "เหตุผล" และ "ข้อเท็จจริง" ... ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มบุคคลที่นำผลของการค้นพบนี้ไปแสวงประโยชน์มากที่สุดก็คือ "นักการเมือง" และทำให้การรณรงค์เพื่อ "ชิงอำนาจทางการเมือง" ในหลายปีที่ผ่านมานี้ เป็นการลงทุนด้วย "กลยุทธด้านจิตวิทยา" แทนที่จะเป็นการให้ "ความรู้" หรือการนำเสนอสิ่งที่เป็น "ข้อเท็จจริง" เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ... อันเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ "สถาบันทางการเมือง" ทั้งหลายทั่วโลก ค่อยๆ "เสื่อมความน่าเชื่อถือ" ลงไปอย่างช่วยไม่ได้ และนำไปสู่ "วิกฤตศรัทธา" ที่ประชาชนมีต่อ "นักการเมือง" และ "สถาบันทางการเมือง" ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้นะครับ เพราะเพิ่งจะอ่านถึงแถวๆ นี้เท่านั้นเอง ... 😈 ... ตอนนี้เพียงแต่รู้สึกว่า มันมีประเด็นที่น่าสนใจให้คิดต่ออีกหลายเรื่อง ซึ่งปนๆ อยู่ในหัวข้อของ Ivan Krastev ก็เลยคัดมาแบบย่อเพื่อแปะไว้ก่อน ... เท่านั้นแหละ !!

 

 


Categories: ZhuqiBook

Leave Comment