ว่าด้วยเรื่องราวของ Don Quixote

15/1/2020 | Comments: 1

หลังจากได้อ่าน Don Quixote ภาคแรกฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มันก็ต้องตามอ่านภาคต่อของ Don Quixote ฉบับแปลไทย (อย่างสมบูรณ์) เป็นครั้งแรกให้ได้เหมือนกัน โดยภาคต่อฉบับแปลไทยที่ว่านี้ น่าจะถูกกำหนดให้ทิ้งช่วงจากการจัดพิมพ์ภาคแรกไปแล้วประมาณ 10 ปี เพื่อให้เหมือนกับระยะเวลาที่ห่างกันของต้นฉบับทั้งสองภาคเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้วนั่นเอง ... เก้าะ ... เป็นอันว่าได้อ่านและได้เก็บสะสมไว้จนครบถ้วนซะที ...

ผมก็ไม่แน่ใจหรอกครับว่า ผู้ประพันธ์คือ Miguel de Cervantes ต้องการจะสื่อความหมายอะไรไว้ในเนื้อหาทั้งหมดของเขา แต่ในบางอารมณ์ผมก็รู้สึกเหมือนกำลังได้อ่านนิทาน "เครื่องหมายงมกระบี่" ของ "หันเฟยจื่อ" ที่ถูกทำให้ยืดยาวออกไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เพราะการเอ่ยอ้างถึงเรื่องราวของ "อัศวิน" ที่ดูจะเป็น "เรื่องพ้นสมัยไปแล้ว" ในยุคของ Cervantes นั้น ไม่ต่างกับการเปรียบเปรยให้เห็นว่า "การยึดติด" อยู่กับสิ่งที่ "เคย" สูงส่งด้วยความถูกต้องและดีงามในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจจะถูกมองว่าเป็น "ความฟั่นเฟือน" ของผู้ที่ยัง "ฝักใฝ่" กับ "ความสูงส่งดีงาม" อัน "พ้นสมัยไปแล้ว" เหล่านั้นก็ได้ ...

ในขณะเดียวกัน "แม่หญิงดัลซิเนอา แห่งโตโบโซ" (Dulcinea del Toboso) ที่ตัวละคร Don Quixote เทิดทูนไว้อย่างเลอเลิศสูงส่งยิ่งกว่าหญิงใดในโลกนั้น กลับเป็นแม่หญิงที่แม้แต่ตัวละคร Don Quixote เองก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยในชีวิตของเขา ... ซึ่งผมมองว่า มันเหมือนเป็นภาพเปรียบเปรยกับ "อุดมคติ" ทั้งหลายที่สำนักคิดต่างๆ ได้นำเสนอไว้อย่างเลิศลอย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบ "ประชาธิปไตย", "ยูโธเปีย", "คอมมิวนิสต์", หรือ "อุดมธรรม" ของบรรดาศาสนาต่างๆ ที่เผยแพร่กันโดยทั่วไป เพราะมันคือ "ความสวยสดงดงามเกินคำบรรยาย" ที่ "ความมัวหมอง" ใดๆ อันเกิดแก่ "อุดมคติ" เหล่านั้น ล้วนเป็นผลมาจาก "เงื่อนไข" และ "การกระทำ" ของ "สิ่งอื่น" หรือ "บุคคลอันไม่เป็นที่รัก" โดยมีบรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ที่มีความผูกพันเป็น "ทาสทางใจ" ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นเองที่จะต้องคอย "ปกป้อง" หรือแม้แต่ "กอบกู้" ความยิ่งใหญ่ของ "อุดมคติ" เหล่านั้นของตน ไม่ว่าจะต้องเหนื่อยยากลำเค็ญ หรือต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใดก็ตาม ... เพียงแต่ว่า ... เมื่อ "อุดมคติ" นั้นๆ มีความแตกต่างจาก "ความเชื่อ" หรือ "ข้อยึดถือ" ของกลุ่มสังคมหนึ่งๆ สมาชิกของกลุ่มสังคมดังกล่าว ย่อมจะมอง "อุดมคติ" ที่ว่า เป็นเพียง "เรื่องงี่เง่า" หรือ "เรื่องชวนหัว" ที่สมควรแก่การถูกนำมา "ล้อเลียน" จนถึงขั้นที่อาจจะ "หยามเหยียด" บรรดา "สาวก" หรือ "อัศวิน" ผู้พิทักษ์ "อุดมคติ" อันแปลกปลอมเหล่านั้นว่า เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วย "ความโฉดเขลาเบาปัญญา" หรืออาจจะเข้าขั้น "วิกลจริต" ไปเลยก็ได้ ... ซึ่งเป็น "พฤติกรรมทางสังคม" ที่ยังพบเห็นกันได้ทั่วไปแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ...

อย่างไรก็ตาม ผมค่อนข้างที่จะเชื่อว่า ความหมายที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของนิยายแต่ละเรื่องนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แม้แต่ผู้ประพันธ์ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ผู้อ่านจะ "ตีความ" ไปในทิศทางเดียวกับ "ความตั้งใจ" ของเขารึเปล่า ในโลกแห่ง "จินตนาการที่หลากหลาย" บนพื้นฐานของ "ข้อเท็จจริงที่มากมาย" นั้น พวกเราล้วนเป็นทั้ง "อัศวิน" และ "คนวิกลจริต" ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว ... มันขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็น "ผู้ตัดสิน" และเราจะยอมรับใน "คำตัดสิน" นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ... ในเมื่อมนุษย์แต่ละคนล้วนมี "ความฝัน" และ "ความจริง" ที่แตกต่างกัน ... เรายังจะเรียก "การมีชีวิต" อยู่ใน "โลกแห่งความจริง" ที่ปราศจาก "ความฝันของตัวเอง" นั้นว่า เป็น "การดำเนินชีวิต" ที่ "ปรกติ" ได้รึเปล่า ?!?! ...

 

 

 

How to Talk About Books You Haven't Read

จะสนทนาถึงหนังสือที่ตัวเองไม่เคย "อ่าน" ยังไง ... แว้ | 22/7/2019 | Comments: 1


Book Title: How to Talk About Books You Haven't Read
Author(s): Pierre Bayard
Format: Hardcover, 208 pages
Publisher: Bloomsbury USA; First edition (November 4, 2007)
Language: English
ISBN-13: 978-1596914698
Product Dimensions: 5.7 x 0.8 x 7.8 inches

ด้วยความที่มีปริมาณหนังสือส่วนตัวซึ่งอยากจะอ่านอยู่ "ค่อนข้าง" มาก ก็เลยอยากจะฝึก "วิธีอ่านเร็ว" อยู่ระยะหนึ่ง เผื่อว่าจะช่วย "สนองตัณหา" ด้านการอ่านของตัวเองได้บ้าง ... 😋 ... แต่เอาเข้าจริงก็มีความรู้สึกว่า "การอ่านเร็ว" นั้นไม่ค่อยจะ "ถูกจริต" กับตัวเองซักเท่าไหร่ ประกอบกับว่า ถึงจะสามารถฝึกฝนจน "อ่านได้วันละเล่ม" จริงๆ มันก็น่าจะต้องใช้เวลาประมาณเกินกว่า 20 ปีถึงจะอ่านได้ครบทุกเล่มที่ตัวเองครอบครองเอาไว้ ... อย่ากระนั้นเลย ... น่าจะฝึก "วิธีไม่อ่าน" มั่งดีกว่า !!?! ... 😅

มันคือประมาณอารมณ์แรกๆ ที่เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ... เออ ... ไม่ต้อง "อ่าน" ก็ได้เหมือนกันเหรอวะ ?! ... แล้วก็เลยหาซื้อมันมาเพื่อ "อ่านวิธีไม่ต้องอ่าน" ... ซึ่งก็ "สาหัสสมใจ" ล่ะครับ เพราะผมใช้เวลากับมันนานกว่าที่คิดเอาไว้เยอะมาก ... 😅

จริงๆ แล้ว Pierre Bayard ผู้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่ "อาจารย์ด้านวรรณกรรม" เท่านั้น แต่แกเป็น "นักจิตวิทยา" อีกด้วย ซึ่งแม้ว่าโดยเนื้อหารวมๆ ของหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอ "การไม่อ่าน" โดย "การสื่อสาร" กับ "คนที่เคยอ่าน" เพื่อช่วยให้เรา "พอรู้เรื่อง" กับ "หนังสือที่ไม่เคยอ่านเอง" อยู่พอสมควร แต่ประเด็นของเนื้อหาที่ "สะดุดใจ" ผมมากที่สุดกลับอยู่ตรง "ความหมายแท้ๆ" ของ "การอ่าน" ซึ่งทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ... พวกเรา "อ่าน" กันจริงๆ ซักกี่เปอร์เซ็นต์ ??!!?! ... เรา "เข้าใจ" ใน "เนื้อหา" และ "ความสัมพันธ์" ของหนังสือแต่ละเล่มในโลกของพวกมันซักแค่ไหนจาก "การอ่าน" ของพวกเรา ?!?! ... หรือพวกเรา "ยัดเยียด" ความเป็น "ตัวเรา" เข้าไปเป็น "ความหมาย" ของ "เนื้อหา" ในหนังสือแต่ละเล่ม เพียงเพื่อที่จะ "เข้าใจ" ในแบบของ "ตัวเรา" เฉยๆ ... ซึ่งในกรณีดังกล่าว เรายังจะนับว่า เราได้ "อ่าน" หนังสือเล่มนั้นๆ ด้วยมั้ย ?!?! ... หรือมันคือ "การไม่อ่าน" ในความหมายจริงๆ ที่ Pierre Bayard ต้องการจะสื่อออกมา ?!?!

ผม "เชื่อว่า" พวกเราต่างก็เคยได้ยินคำเอ่ยอ้างสรรพคุณประเภทที่ว่า "ผู้นำ" ทุกคนล้วนเป็น "นักอ่าน" ... แต่ในโลกของความเป็นจริงก็คือ "นักอ่าน" ไม่ได้เป็น "ผู้นำ" กันทุกคน ... จริงมั้ย ?!?!! ... เพราะใน "โลกของการอ่าน" นั้น มีบางคนที่ "อ่าน" แล้วมี "โลกทัศน์" ที่ "เปิดกว้าง" ในขณะที่บางคนยิ่ง "อ่าน" ก็ยิ่ง "ดักดาน" อยู่กับ "กรอบคิด" เดิมๆ ของตัวเอง ... ยิ่ง "อ่าน" มากเท่าไหร่ กะโหลกก็ยิ่งหนามากขึ้นเท่านั้น ... รึไม่จริง ?!?!

"หนังสือ" เป็นเพียง "เครื่องอำนวยความสะดวก" ให้เราสามารถเสาะค้น "กรอบคิด" ที่หลากหลายของผู้คนจำนวนมากๆ เพื่อที่จะลดทอน "ความเป็นตัวเรา" ให้มันอย่าหนาหนักจนเกินไป ... แต่ "การอ่านหนังสือ" เพียงเพื่อจะ "สนองกรอบคิดเดิมๆ" ของตัวเองให้ทั้ง "แน่นหนา" และ "หนักแน่น" ยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ... นั่งส่องกระจกแล้วคุยกับตัวเองไปวันๆ ก็น่าจะประหยัดเงินได้มากกว่าเยอะแหละ ... ว่ามั้ย ?!?! ...

 

 

Blockchain

The Next Everything | 28/5/2019 | Comments: 2


Book Title: Blockchain : The Next Everything
Author(s): Steve Tighe
Format: Hardcover, 208 pages
Publisher: Scribner UK (26 Mar. 2019)
Language: English
ISBN-13: 978-1471184222
Product Dimensions: 15.3 x 1.5 x 23.4 cm

พอจะเคยได้ยินหลายๆ คนเอ่ยถึงเจ้า Blockchain นี่มานานพอสมควรแล้วล่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่ Bitcoin กำลังได้รับ "ความหลงใหล" จากหลายๆ แวดวงทั้งใกล้และไกลตัวออกไป ... แล้วก็ด้วยความ "ส.ท.ร." อีกนั่นแหละที่กระตุ้นให้ผมอยากจะติดตามเรื่องราวของมันมาเป็นระยะๆ แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังรู้สึก "ไม่เชื่อใจ" เจ้า "เทคโนโลยี" ที่ว่านี้ซักเท่าไหร่ เพราะมันดู "เวิ้งว้างว่างเปล่า" ราวกับ "อัตตา" ของมนุษย์ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว !!?!?!

สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับ "คอมพิวเตอร์" หรือ "โลกดิจิตัล" นั้น ผมอาจจะเป็นคนที่ "มองโลกในแง่ไม่ค่อยสวย" อยู่บ้างพอสมควร ... 😋 ... แม้ว่าผมจะต้องมีความเกี่ยวข้องอยู่กับพวกมันค่อนข้างมากในแต่ละวัน และอาจจะมีบางคนที่ถึงกับ categorize ให้ผมเป็นพวก superuser ไปแล้วบ้างก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ผมก็ยังเป็นแค่ user ธรรมดาๆ ที่พยายามดูแลเครื่องไม้เครื่องมือของตัวเองให้สามารถทำงานต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องไปรบกวนให้ใครต่อใครต้องมาวุ่นวายด้วย ... เท่านั้นเอง !!?! ... ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่ผมจะต้องลองผิดลองถูกกับ "ยาผีบอก" ของตัวเอง จนบางครั้งก็ถึงกับต้องรื้อระบบทั้งหมดเพื่อที่จะติดตั้งทุกอย่างใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ... เก้าะ ... เป็นความพึงพอใจส่วนตัวที่ไม่หวงห้าม หากใครคิดที่จะลอกเลียนไปเป็นเยี่ยงอย่างครับ ... 😋

ดังนั้น การที่จะให้ผม "เชื่อใจ" เจ้าสิ่งที่ผมเอง "ไม่เข้าใจ" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อตัวเองเคยมี "ประสบการณ์ตรง" กับ "การทำให้พัง" ทั้ง "โดยตั้งใจ" และ "โดยไม่ตั้งใจ" อยู่เป็นประจำ แนวความคิดแบบ Crowd Dependence หรือ "การพึ่งพาฝูงชน" เพื่อทำให้ "ชิ้นข้อมูล" มี "ความน่าเชื่อถือ" อย่าง "ไร้ข้อกังขา" เลยนั้น มันก็ออกจะ "บ้าบอเกินไป" ซักหน่อยใน "ความรู้สึกส่วนตัว" ของผมเอง !?!!

"ความจริงโดยสันดาน" ก็คือ "มนุษย์" คือ "สิ่งมีชีวิต" ที่เต็มไปด้วย "ความระแวง" ต่อ "สิ่งแปลกปลอม" ซึ่งรวมไปถึง "คนแปลกหน้า" ที่แม้ว่าจะเป็น "มนุษย์" เหมือนกันก็ตาม เพราะโดย "โครงสร้างทางกายภาพ" แล้ว "มนุษย์" เป็น "สิ่งมีชีวิต" ที่ "ปราศจากเขี้ยวเล็บ" ใดๆ สำหรับ "การต่อสู้" หรือ "การป้องกันตัวเอง" เหมือนกับ "สิ่งมีชีวิต" อีกหลายๆ ชนิดใน category เดียวกัน ... พวกเราต่างจาก "พืช" ก็แค่สามารถ "เคลื่อนย้ายที่อยู่" ได้ด้วยตัวเอง ... แต่ก็เท่านั้น !!?!! ... ธรรมชาติจึงได้สร้าง "กลไกทางสันดาน" ให้ "มนุษย์" ต้อง "ระวัง", "ระวัง", และ "ระวัง" จนกลายเป็น "ความระแวง" ต่อ "ทุกสรรพสิ่ง" เพื่อที่จะอนุรักษ์ "เผ่าพันธุ์อันไม่เอาไหน" ชนิดนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ใน "กระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติ" อันโหดร้าย ... เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วยว่า "ความเป็นสัตว์สังคม" ของ "มนุษย์" ที่หลายๆ ตำรามองว่าเป็น "พฤติกรรมโดยธรรมชาติ" นั้น มันเป็น "ธรรมชาติ" แบบ Physical Nature หรือ "ธรรมชาติทางกายภาพ" เท่านั้น แต่ไม่ใช่ Subliminal Nature หรือ "ธรรมชาติโดยจิตใต้สำนึก" ...

"มนุษย์" มี "ความจำเป็น" ที่จะต้อง "รวมกลุ่มกัน" เพื่อ "ชดเชยความไม่เอาไหนทางกายภาพ" ของ "ตัวเอง" เท่านั้น ... และทันทีที่ "มนุษย์" เริ่มรู้สึกถึง "ความมั่นคง" ใน "ระดับปัจเจก" พวกเขาก็จะเริ่ม "แก่งแย่งช่วงชิง" ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะ "ลดทอนการพึ่งพา" สิ่งที่ "ไม่ใช่ตน" ลงไปให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะ "สิ่งที่ไม่ใช่ตน" ล้วนเป็น "สิ่งแปลกปลอม" ที่ "ไม่น่าไว้ใจ" เสมอ !!?! ... ในขณะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่ "มนุษย์" เริ่มรู้สึกถึง "ความไม่มั่นคง" ภายใน "กลุ่มสังคมเดิม" ของตน พวกเขาก็จะเริ่ม "ตีตัวออกห่าง" เพื่อแสวงหา "แนวร่วมใหม่" ที่จะสามารถ "ชดเชยความไม่เอาไหนทางกายภาพ" ของ "ตัวเอง" จนกว่าจะ "เป็นที่พอใจ" ... แล้วก็จะวนเป็น "วัฏจักร" อยู่อย่างนี้ ... นี่ก็คือ "ธรรมชาติโดยสันดาน" ของ "สัตว์ไม่เอาไหน" !! ...

ดังนั้น การที่เทคโนโลยี Blockchain ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดแบบ "ปราศจากศูนย์กลาง" ของ "ความน่าเชื่อถือ" โดยอาศัยการโยงใยข้อมูลทั้งหมดเข้ากับ "ทุกสิ่ง" เพื่อจะสร้าง "ความเป็นสาธารณะ" ภายในระบบเครือข่ายอย่างสลับซับซ้อน และ "เชื่อว่า" ความ "ไม่มีศูนย์กลาง" อย่าง "เฉพาะเจาะจง" จะกลายเป็นปราการสำคัญที่ทำให้ระบบมี "ความแข็งแกร่ง" เกินกว่าที่จะ "โดนแฮ็ก" ... เว้นเสียแต่ว่า ... จะมีบุคคล หรือองค์กรหนึ่งใดก็ตามที่สามารถยึดกุม "ขุมพลังการประมวลผล" ของ "ระบบเครือข่าย" เอาไว้ในระดับที่สามารถ "บงการขบวนการเชื่อมโยงข้อมูล" ได้สำเร็จเท่านั้น ... ซึ่ง ... ตราบใดก็ตามที่ยังมี "ข้อยกเว้น" เป็นเงื่อนไขอยู่ภายในระบบ "ข้อยกเว้น" นั้นเองคือ "ความเป็นไปได้" ที่สิ่งนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ ... เสมอ !!!!?!?!

On the blockchain, in theory (it will not be absolutely proven until blockchains are in wider use), it's nearly impossible for one participant to manipulate the chain to his or her greater advantage, unless that individual gains majority control of the computing power on the chain that certifies transactions. If that happens the invader can block others from acting, and even steal cryptocurrency.

ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ผมอาจจะแค่ "ระแวงไปเอง" กับเทคโนโลยีที่ตัวเอง "ไม่เข้าใจ" เท่านั้น แต่ "ธรรมชาติโดยสันดาน" ของ "สัตว์ไม่เอาไหน" ก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่สามารถ "เอาชนะได้" ด้วย "เหตุและผล" อยู่แล้ว ... บรรดา "ความเชื่อ" และ "ความฝัน" ของ "การปกครองตนเอง" อย่าง "ปราศจากศูนย์กลาง" ยังคงเป็น "ความเชื่ออันสวยงาม" และ "ความฝันอันสวยหรู" ของเหล่า "ลิเบอรัล" ที่ "ไม่เคยไว้ใจใคร" เลยนอกจาก "ตัวเอง" !?!?!!! ...

"เสรีภาพ" ในระดับที่ "สัตว์ไม่เอาไหน" โหยหามาโดยตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์นั้น จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงๆ เลย ตราบใดที่ "มนุษย์" ยังคงมี "ธรรมชาติของสัตว์ไม่เอาไหน" ฝังอยู่ใน "สันดาน" ของพวกเขา ... #อย่าเชื่อผมสิ !!

 

 

 

中国家训精粹

30/10/2018


Book Title: 中国家训精粹
Author(s): 陈才俊; 谷淑梅
Format: Paperback, 322 pages
Publisher: 海潮出版社 (2011)
Language: Chinese
ISBN-13: 978-7-80213991-6

ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาชิกที่ค่อนข้างใหม่บนชั้นหนังสือส่วนตัวที่เพิ่งจะหามาได้หมาดๆ แต่ก็เป็นเล่มที่ "ตั้งใจตามล่า" มาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะได้ความระแคะระคายมาว่า เคยมีการรวบรวม "ชุมนุมบทสอนลูก" ของปราชญ์ชาวจีนผู้โด่งดังในประวัติศาสตร์อยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งมี 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" เป็นบทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในชุมนุมเอกสารฉบับนั้น ไม่ว่าจะในแง่ของ "ตัวบุคคล" ที่มีบทบาทอันโดดเด่นในยุค "สามก๊ก" และในแง่ของ "วรรณศิลป์" ที่มีความไพเราะงดงาม มีความเรียบง่าย สั้น-กระชับ และครอบคลุมสาระสำคัญสำหรับ "การพัฒนาตน" ไว้อย่างครบถ้วนภายในตัวอักษรจีนเพียง 86 ตัวเท่านั้น ... การได้พบเห็นหนังสือ 中国家训精粹 ที่รวบรวมต้นฉบับเดิมทั้งหมดเอาไว้ พร้อมบันทึกคำอธิบายด้วยภาษาจีนยุคปัจจุบันโดย 陈才俊 กับ 谷淑梅 เล่มที่เอ่ยถึงนี้โดยไม่คาดฝัน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกยินดีปรีดาเป็นอย่างมากจริงๆ ... 😍

อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือภาษาจีนที่ตัวเองทิ้งร้างไปนานหลายสิบปีแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ภายในเวลาที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยของผมเอง ณ เวลาปัจจุบัน ยิ่งเป็นภาษาจีนยุคเก่าที่ห่างจากยุคของเราไปตั้งหลายศตวรรษด้วยแล้ว น่าจะต้องใช้เวลานานจนยากที่จะประเมินได้จริงๆ แต่ผมก็เชื่อว่า เราน่าจะได้พบเห็นแง่มุมหลายๆ อย่างที่น่าสนใจของคนจีนในแต่ละยุคแต่ละสมัย และน่าจะได้ประโยชน์จากแง่คิดของบุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็น "นักปราชญ์" ผู้มีความรอบรู้ อีกทั้งเป็น "บัณฑิต" ที่มีความคิดอ่านอันลึกซึ้งยิ่งกว่าผู้คนโดยทั่วไปมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนเลยทีเดียว ... ที่สำคัญก็คือ บรรดาคำสอนที่ถูกรวบรวมไว้เหล่านี้ คือ "บทสอนลูก" ที่บรรดา "นักปราชญ์" แต่ละท่าน ตั้งใจบันทึกไว้ให้กับทายาทของตัวเองโดยตรง ... มันจึงเป็น "ชุมนุมหนังสือสอนลูก" ที่มีความพิเศษมากๆ

ไหนๆ ผมก็ได้เอ่ยถึง 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" ซึ่งเป็นบทที่โด่งดังที่สุดของ "ชุมนุมหนังสือสอนลูก" ไปแล้ว งั้นก็ขอแปะเอาไว้ตรงนี้ซะเลยแล้วกัน เพราะจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของ "การต่ามล่า" หนังสือเล่มนี้ก็เริ่มมาจากที่ได้อ่านและที่ได้แปล 誡子書 ของ "ขงเบ้ง" เมื่อประมาณกว่า 2 ปีที่แล้วนี่แหละ ...

 

誡子書 <原文>

夫君子之行,靜以修身,儉以養德;
非澹泊無以明志,非寧靜無以致遠。
夫學須靜也,才須學也;
非學無以廣才,非志無以成學。
怠慢則不能勵精,險躁則不能冶性。
年與時馳,意與歲去,遂成枯落, 多不接世。
悲守窮廬,將復何及!

 

ส่วนท่อนต่อจากนี้ก็คือคำแปลที่ผมทำเอาไว้ครับ ...

มรรควิถีแห่งวิญญูชน ย่อมสำรวมกิริยาด้วยความสงบ
เจริญในคุณธรรมด้วยความมัธยัสถ์
หากไม่ยืนหยัดอดกลั้น ปณิธานย่อมเลือนลางจางหาย
หากสิ้นไร้ความสงบสำรวมใจ ย่อมมิอาจก้าวไกลถึงที่สุด

การศึกษาเรียนรู้ ต้องอาศัยจิตใจที่สงบและเบิกบาน
ทักษะความชำนาญ ต้องอาศัยความพยายามที่จะฝึกฝน
เมื่อไม่ใฝ่รู้รักเรียน ความสามารถย่อมตื้นเขินตีบตัน
เมื่อไม่มุ่งมั่นพากเพียร ฝึกฝนสิ่งใดย่อมไม่ประสบผล

เพราะความเกียจคร้านเฉื่อยชา จึงไม่มีความกระตือรือร้น
เพราะความหลุกหลิกลุกลน จึงไม่อาจหล่อหลอมคุณลักษณ์

เดือนปีย่อมเคลื่อนคล้อยไปตามกาล
ความคิดอ่านย่อมเปลี่ยนผ่านไปตามสมัย
ความพลิกแพลงแปลงเปลี่ยน ย่อมเจริญงอกงาม
ความดื้อด้านดักดาน ย่อมร่วงร้างโรยรา
สรรพสิ่งล้วนมิอาจยืนยงนับกัปกัลป์
หากมัวแต่โหยไห้รำพันอยู่ในความคับแคบที่รกร้าง
จะคิดอ่านสรรค์สร้างอนาคตได้ไฉน!

 

 

 

Sex

29/10/2018

Book Title: Sex
Author(s): The School of Life
Format: Hardcover, 128 pages
Publisher: The School of Life (June 12, 2018)
Language: English
ISBN-10: 0993538762
ISBN-13: 978-0993538766
Product Dimensions: 4.8 x 0.5 x 7 inches

ถ้าจะบอกว่า Sex คือหนึ่งในหัวเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ "การดำเนินชีวิตของมนุษย์" ก็คงจะไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริงซักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะมองในมุมของ "ชีววิทยาศาสตร์", "สังคมศาสตร์", "ประชากรศาสตร์", "จิตวิทยา", "พฤติกรรมศาสตร์", โดยเฉพาะในแง่ของ "วัฒนาธรรม-ประเพณี" ตลอดจนความมีอิทธิพลต่อคำสอนในหลายๆ ประเด็นของ "ศาสนา" ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องของ Sex หรือ "การมีเพศสัมพันธ์" เข้าไปเกี่ยวข้องแทบจะทั้งหมด ... แต่ Sex กลับกลายเป็นหนึ่งใน "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ของมนุษย์เกือบจะทุกชนชาติ และทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาที่สร้าง "ความกระอักกระอ่วนใจ" ให้แก่คู่สนทนาในที่สาธารณะไม่น้อยหน้าไปกว่า "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" อื่นๆ เลย ... ทำไม ?!?!

ด้วยรูปแบบของ "ความเชื่อ" และ "วัฒนธรรม-ประเพณี" ที่ได้รับ "การปลูกฝัง" หรือ "การเสี้ยมสอน" มาอย่างยาวนานจนฝังเข้าไปใน "DNA ทางความคิดมนุษย์" ไปแล้ว เราแทบสรุปไม่ได้เลยว่า "ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ" เมื่อต้องสนทนาเรื่อง Sex ในที่สาธารณะนั้น เป็นเพราะ "เรา" รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะ "สังคม" ทำให้ "เรา" รู้สึกอย่างนั้นไปเอง โดยผ่าน "กระบวนการทางสังคม" ที่ "หล่อหลอม" ความรู้สึกที่ว่านี้ให้กับ "พวกเรา" มาตั้งแต่เกิด ?!?! ... ทำไมจึงเกิด "ข้อบัญญัติ" หลายๆ อย่างเหล่านั้นขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม ?!?! ... แล้วอะไรคือ "สาเหตุ" แห่ง "การยอมรับ" ใน "ข้อบัญญัติ" เหล่านั้นของ "สังคมมนุษย์" และยังคงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเวลาต่อๆ มาจนแม้ในยุคปัจจุบัน ?!?! ... ทำไม "พฤติกรรม" ทาง "พันธุศาสตร์" ของมนุษย์ จึงถูกมนุษย์ด้วยกันตัดสินให้กลายเป็น "สิ่งน่ารังเกียจทางสังคม" จนไม่พึงเอ่ยอ้างถึง และยิ่งไม่อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ ?!?! ...

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า "คำโปรย" ที่ปรากฏอยู่บน "แผ่นปก" จะดูน่าสนใจราวกับจะมีการเอ่ยถึงที่มาที่ไปของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ดังกล่าว แต่เนื้อในกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "คติความเชื่อ" ใดๆ ดังที่ว่ามานั้นเลย โดยเนื้อหาทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่ "การพยายามอธิบาย" ถึง "สาเหตุแห่งความพึงพอใจ" ทาง "จิตวิทยา" ที่เกี่ยวข้องกับ "กิจกรรมทางเพศ" อันเนื่องมาจาก "การปลดปล่อยตัวเอง" จาก "ข้อห้ามทางสัมคม" ที่เกี่ยวกับ Sex ... เท่านั้น !!?!?! ... มันจึงเกิดคำถามที่ผุดขึ้นมาทันทีสำหรับผมก็คือ ... หากปราศจาก "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" เหล่านั้นแล้ว มนุษย์จะไม่มี "ความรู้สึกพึงพอใจ" จาก "กิจกรรมทางเพศ" ตามที่ได้ "พยายามอธิบาย" ไว้ในหนังสือรึเปล่า ?!?!?! ... ซึ่งเราก็รู้คำตอบกันอยู่แล้วล่ะว่า มันเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง !!?! ... และ "ความพึงพอใจ" ตามที่ "พยายามอธิบาย" ไว้ในหนังสือก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของ "ที่มา" ของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" ดังที่ว่าเลยแม้แต่น้อย

ผมย้อนนึกไปถึงหนังสืออีก 2 เล่มที่ผมเคยอ่านมาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คือ The Origin of Sex กับ Why Is Sex Fun? ที่ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ยังค้างคาอยู่ของผมเหมือนกัน โดย The Origin of Sex จะเล่าถึง "ประวัติศาสตร์" ของ "การปฏิวัติทางเพศ" หรือจะให้ตรงความหมายจริงๆ ก็คงต้องใช้คำว่า "การปฏิวัติพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศ" น่าจะดีกว่า เพราะมันเป็นเรื่องราวของ "การต่อต้านข้อห้ามพฤติกรรมทางเพศ" ของบรรดา "ศาสนา" และ "วัฒนธรรม" ทั้งหลาย โดยไม่ได้สนใจกับประเด็นที่ว่า "ทำไม" จึงเกิด "ข้อห้าม" เหล่านั้นมาตั้งแต่ต้น !?!!? ... ส่วน Why Is Sex Fun? ก็เป็นเรื่องของ "วิวัฒนาการของพฤติกรรมทางเพศ" ซึ่งเป็น "การอธิบาย" ในแง่ของ "ชีววิทยาศาสตร์" เพื่อให้คำอธิบายว่า "ความพึงพอใจ" อันเนื่องมาจาก "พฤติกรรมทางเพศ" ของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของ "วิวัฒนาการทางชีวภาพ" ล้วนๆ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "จิตวิทยา" หรือ "ข้อกำหนด" ใดๆ ทาง "สังคม" เลยซักนิดเดียว !!?! ... ซึ่งประเด็นของ "ข้อห้ามทางวัฒนธรรม" อันเกี่ยวกับ "พฤติกรรมทางเพศ" ใดๆ ล้วนไม่อยู่ใน "กรอบคิด" ของเรื่องราวที่นำเสนอไว้ในหนังสือ Why Is Sex Fun? เลย ...

สรุปว่า "เราเป็น" อย่างที่ "สังคมสอนให้เราเป็น" หรือแค่ "เชื่อไปเอง" ตลอดเวลาว่า "เราเป็น" อย่างที่ "เราเป็น" ... ยังคงเป็นโจทย์ที่ผมไม่มี "คำตอบที่น่าพึงพอใจ" ต่อไปก่อน จนกว่าจะมีใครให้ "คำอธิบาย" ที่น่าสนใจพอที่จะหยิบมาเล่าให้ฟังกันอีกทีก็แล้วกัน ... 😊

 

 

 

ข้อ (ไม่) คิดจากวรรณคดี ของ "นายผี"

9/8/2017

ผมได้อ่านงานเขียนของ "นายผี" ครั้งแรกจากผลงานแปลเรื่อง "ภควัตคีตา" ของเขาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นผมบอกได้แค่เพียงว่า มันน่าประทับใจมากๆ กับการอ่านหนังสือที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องซักเท่าไหร่ ด้วยความที่มีอาการมึนๆ งงๆ กับรูปแบบของคำศัพท์แปลกๆ ที่ผมไม่คุ้นตาเอาซะเลย เพราะ "นายผี" แกเล่นผสมคำขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะคง "ความขลัง" ของจำนวนโศลกตามต้นฉบับเดิมของ "ภควัตคีตา" ไว้ให้ได้ ... แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมก็ไม่เคยได้หยิบจับผลงานเขียนของ "นายผี" มาอ่านอย่างจริงๆ จังๆ อีกเลย ... จำไว้แค่เพียงว่า "นายผี" หรือ "อินทรายุทธ" คือนามปากกาของคุณ "อัศนี พลจันทร" หนึ่งในจำนวน "นักคิดหัวก้าวหน้า" ของไทยในสมัยหนึ่ง และเป็นบุคคลที่บรรดา "ศิลปินเพื่อชีวิต" หลายต่อหลายรุ่นให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากด้วย ... ซึ่งการได้อ่านผลงานแปลเรื่อง "ภควัตคีตา" ของ "นายผี" ในครั้งนั้น ถือได้ว่ามีส่วนที่ทำให้ผมนิยมชมชอบ "นายผี" อยู่ด้วยในระดับหนึ่ง และไม่รู้สึกแปลกใจที่มีนักอะไรต่อมิอะไรในสังคมไทยอีกหลายคน ให้ความเลื่อมใสศรัทธาในบุคคลผู้นี้มาโดยตลอด

แต่การได้อ่าน "ข้อคิดจากวรรณคดี" ของ "นายผี" ในอีกหลายปีต่อมากลับทำให้ผมรู้สึกแตกต่างออกไป จริงอยู่ที่ "ทักษะทางภาษา" ของ "นายผี" ยังคงมีมาตรฐานที่ "สูงส่ง" อย่างน่าพอใจในระดับที่ไม่แตกต่างไปจากที่ผมเคยรู้สึกมาก่อน แต่ "กรอบคิด" ที่ผมรู้สึกว่า "ค่อนข้างจะคับแคบ" ของ "นายผี" นั้นเอง ที่ดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกเดิมๆ ที่ผมเคยได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ ... มันทำให้ผมพอจะจินตนาการถึงสาเหตุแห่งความล่มสลายของ "วิถีแห่งมาร์กซิสต์" ที่บรรดาสาวกจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็พยายามจะประโคมโอ่ว่า มันคือ "หลักคิด" ที่จะสามารถปลดเปลื้อง "พันธนาการทางสังคม" ให้แก่ "ชนชั้นแรงงาน" หรือ "ชนชั้นล่างผู้ถูกกดขี่" อย่างแท้จริง ... แต่ "การสร้างปีศาจทางชนชั้น" ขึ้นมาเพื่อ "ยุแยง" ให้เกิด "ความแตกแยก" ในสังคม แถมด้วยการใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยให้ "ฝ่ายปฏิกิริยา" มี "ความต่ำช้า" ในระดับเดียวกับ "สัตว์เดรัจฉาน" นั้น ... มันมีอะไรที่แตกต่างไปจาก "การกดขี่ทางชนชั้น" ที่บรรดา "สาวกมาร์กซีสต์" พยายามจะล้มล้างลงไปอย่างนั้นเหรอ ??!! ... การพยายามผูกโยงให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกับ "ความขัดแย้งทางชนชั้น" เพื่อสร้าง "กระแสแห่งความเกลียดชัง" ระหว่างสมาชิกในสังคมด้วยกันนั้น มันช่วยจรรโลงโลกให้เกิดสังคมที่สวยงามตรงไหน??!! ... การเอาแต่สร้างถ้อยคำเพื่อตำหนิติเตียน และพยายามชี้นำว่าศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ด้อยค่าไร้ราคา โดยมิได้สร้างสิ่งใดให้แตกต่างอย่างสวยงามขึ้นมาอย่างจริงๆ จังๆ เลยนั้น มันจะก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมอะไรขึ้นมาได้มั้ย ??!! ... ภาษาเขียนที่ใช้ถ้อยคำอย่างสละสลวย มีการผูกคำสร้างรูปประโยคอย่างสลับซับซ้อน มันคือ "ศิลปะเพื่อปวงชน" จริงๆ หรือเป็น "ศิลปะเพื่อชนชั้นปัญญา" ที่จะก้าวขึ้นสู่ "ความเป็นผู้ปกครอง" ของ "ผู้ด้อยปัญญา" ในสังคมแทน "กลุ่มชนชั้นเดิม" กันแน่ล่ะ ??!! ... ฯลฯ ...

มันดูราวกับว่า บรรดา "สาวกมาร์กซีสต์" ทั้งหลาย ต่างมุ่งเน้นที่จะ "นิยามความแตกต่างทางชนชั้น" ด้วยนิยามอื่น ที่ไม่ใช่ชาติกำเนิด หรือไม่ใช่ชื่อยศชื่อตำแหน่งทางการปกครอง แต่กำลังพยายามจะ "แบ่งแยกชนชั้น" ด้วย "นามธรรมบางอย่าง" ของ "บุคคลระดับนำ" แทน ... มันจึงทำให้ "การสลายความเป็นชนชั้น" อย่างที่พวกเขาชอบกล่าวอ้างกัน กลายเป็น "สิ่งลวงโลก" และไม่มีอยู่จริงในจิตสำนึกของพวกเขาเลย ?!?!?! ...

ทำไมเราต้องโกรธเกลียดคนอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดเหมือกับเรา ?! ... ทำไมเราถึงเลือกที่จะทำลายคุณค่าของผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ด้วยการตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง และสร้างกระแสแห่งความเกลียดชังให้ลุกลามไปทั่วๆ ?! ... ทำไมเราต้องทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ชอบลงไปให้หมด แล้วค่อยเกณฑ์ใครต่อใครมาช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากเศษซากปรักหักพังเหล่านั้น ?! ... ทำไมเราถึงไม่เลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า เพื่อทดแทนสิ่งที่เราเชื่อว่ายังไม่ดีพอ แล้วแบ่งปันให้เป็นทางเลือกสำหรับคนอื่นๆ ในสังคม โดยไม่ต้องทำลายสิ่งใดๆ ของใครเลยล่ะ ?! ... บางที ... อาจจะเป็นเพราะ "สาวกมาร์กซีสต์" ทั้งหลายนั้นเกิดเร็วเกินไป จึงไม่เคยได้สัมผัสกับ "จิตวิญญาณแบบโอเพนซอร์ส" ที่มี "ความเป็นคอมมูน" ยิ่งกว่า "แนวคิดเยี่ยงเด็กน้อย" ของผู้เฒ่าอารมณ์ร้ายอย่าง Karl Marx เป็นไหนๆ ก็เป็นไปได้นะ !!??!!?!? ... 😅

 

 

อีกครั้งกับ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล"

15/6/2017

ตั้งท่าว่าจะย้อนกลับไปอ่านหนังสือ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล" ฉบับแปลของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อีกซักรอบหนึ่ง หลังจากที่ซื้อหนังสือรวม "คำนำ" ของแกมา "ดอง" ไว้นานพอสมควรแล้ว ซึ่งในที่สุดก็ได้อ่านซักที แต่จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ "การย้อนกลับไปอ่าน" เล่มเดิมที่ตัวเองเคยอ่านครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนนู่นหรอก เพราะเขาดันมี "ฉบับพิมพ์ใหม่" ออกมาล่อให้เสียเงินด้วยการพิมพ์ข้อความไว้บนปกว่า "ฉบับสมบูรณ์ ภาค๔ ค้นพบใหม่" ซะงั้น ... ซึ่ง "เหยื่อ" แบบนี้ไม่มีทางที่ผมจะรอดอยู่แล้ว !!? ... 😅

ต้องยอมรับครับว่า ผม "เคย" ประทับใจมากๆ กับหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ และเคยติดตามงานเขียนเล่มอื่นๆ ของ Richard Bach อยู่ระยะหนึ่ง (จนรู้สึกว่าแกไม่ค่อยมีมุขใหม่ๆ ไปแล้วนั่นแหละ) รวมทั้ง "เคย" ประทับใจกับชื่อของ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ในฐานะของผู้แปลด้วยเหมือนกัน ... แต่ก็รู้สึกจางๆ ลงไปพอสมควรหลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งทำให้รู้สึกว่า "วิถีคิด" แบบ "นางนวลโจนาธาน" นั้น ดูจะ "แข็งกร้าว" จนเกินไป !!?! ... 😏

ภาค ๔ ของหนังสือ "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล" ก็เลยพลอยไม่ค่อยมี "พลัง" ไปด้วย เพราะ "ความน่าประทับใจ" ของมันถูกหนังสือเรื่อง ONE หรือ "คือหนึ่ง" ของ Richard Bach เองนั่นแหละ "แย่ง" ไปจนหมดแล้ว มันก็เลยดูเหมือน "ซ้ำซาก" แบบ "ความคิดตกร่อง" เช่นเดียวกับ "วิถีคิด" ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ผมมักจะรู้สึกว่าแก "ตกร่องทางความคิด" จนไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ให้ "น่าศึกษา" อีกไปตั้งนานมาแล้วเหมือนกัน ... 😈

ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะ "ความเจริญวัย" ของผมเอง ที่มีโอกาสได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ อีกหลายอย่าง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ตัวผมเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาหลายปีของชีวิตการทำงาน ... จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า "เสรีภาพ" แบบที่ "นางนวลโจนาธาน" โหยหานั้น มี "ขอบเขตเฉพาะตัว" ที่ "คับแคบ" จนเกินไป เป็น "การจองจำอิสรภาพทางความคิด" ให้ "ดักดาน" อยู่กับเพียง "นิยาม" ของ "เสรีภาพ" ที่ตัวเองเท่านั้นเป็น "ผู้กำหนด" ... หรือ ... "นิยาม" ของผู้อื่นที่บังเอิญตนเองให้ "ความศรัทธา" เป็นผู้กำหนดเอาไว้แล้วเท่านั้น ... ซึ่งสำหรับผม ... นั่นยังไม่อาจนับเป็น "เสรีภาพที่แท้จริง" อยู่ดี !!?!?

"การโหยหาเสรีภาพ" นั้นเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าติดตามเสมอ แต่ "การยึดมั่นในเสรีภาพ" คือ "กับดักทางความคิด" ที่ทำให้ "วิญญาณเสรี" ของบุคคลหนึ่งๆ ต้อง "ถูกจองจำ" อยู่ใน "ความดักดาน" ของตัวเอง โดยยัง "หลงเชื่อว่า" ตนนั้นมี "วิญญาณเสรี" อยู่อย่างเต็มเปี่ยมตลอดเวลา ... และนั่นคือ "ความรู้สึก" ที่ผมมีต่อ "นักวิชาการ" กลุ่มหนึ่งที่ยังคงพยายามเผยแพร่ "ความคิดตกร่อง" ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับด้วยความตื่นตาตื่นใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ... เก้าะ ... จนกว่า "นางนวล" น้อยๆ เหล่านั้นจะเจริญวัยกว่านี้ และมองย้อนกลับมาถึงคืนวันอันน่าตื่นใจของ "วัยแสวงหา" ของพวกเขา ... เพื่อที่จะแสดง "ความเตารพ" ต่อ "นักวิชาการ" กลุ่มเดิมๆ ที่ยังคงพร่ำสอน "สิ่งเก่าๆ" ให้แก่อนุชนรุ่นต่อๆ ไปอย่างไม่เคยเปลี่ยน ... ดุจดั่ง "คุณครูระดับประถม" ที่ยอม "หยุดตัวเอง" เพื่อส่งผ่าน "ความรู้พื้นฐาน" ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยความหวังว่า ... เยาวชนเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่า "จุดเดิม" ที่ "คุณครู" ทุกๆ คนยอม "หยุดตัวเอง" ไว้แค่ตรงนั้น ?!?!?! ... 😶

 

 

64 SHOTS

Leadership In A Crazy World | 28/11/2016 | Comments: 2

Book Title: 64 SHOTS : Leadership In A Crazy World
Author(s): Kevin Roberts
Format: Hardcover, 240 pages
Publisher: PowerHouse Books (June 21, 2016)
Language: English
ISBN-10: 157687771X
ISBN-13: 978-1576877715
Product Dimensions: 6.3 x 1 x 9.3 inches

ตั้งท่ามาหลายวันว่าจะเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ แต่ก็เพิ่งจะว่างพอสำหรับการจรดนิ้วบนคีย์บอร์ดอย่างที่อยากจะทำ ...

Kevin Roberts เขียนถึงตัวเลข 64 ไว้ในคำนำของเขาแค่ว่า มันหมายถึงปี 1964 ซึ่งเป็นปีหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนของวัฒนธรรมชาวตะวันตกหลายๆ ชาติ อันเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า "ยุค 60's" นั่นแหละ ... ในขณะที่บางคนก็อาจจะมองว่า 1964 เป็นปีที่เกิดของตัวเองเท่านั้น ... แต่สำหรับผมแล้ว 64 เป็นตัวเลขที่น่าดึงดูดใจเพราะมันคือตัวเลขเดียวกับ 64 บทของ "คัมภีร์อี้จิง" ที่ยังคงตั้งใจจะแคะความหมายจริงๆ ของมันออกมาเท่าที่จะหาเวลาได้ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่ผม "ไม่เคยเชื่อ" เลยว่า มันคือ "ตำราหมอดู" ที่หลายๆ คนมักจะนิยม "เชื่อ" อย่างนั้น

ต้องยอมรับครับว่า โดยปรกติแล้ว หนังสือประเภทเดียวกับ 64 Shots ของ Kevin Roberts เล่มนี้ ไม่ค่อยจะติดค้างอยู่ในมือของผมนานนัก เพราะมันจะเต็มไปด้วย "ข้อคิด" หรือ "ข้อเสนอแนะ" ที่สั้นๆ ง่ายๆ เพื่อให้นำไปปฏิบัติมากกว่า ผิดกับหนังสือประเภทที่นำเสนอ "แนวคิด" แบบที่ต้องใช้เวลาอ่านกันนานๆ เพื่อจะ "ตีความ" หรือ "ทำความเข้าใจ" อย่างลึกซึ้งไปอีกไกล ... แต่ก็ด้วยความที่ตัวเลข 64 นั้น ทำให้ผมนึกโยงไปถึง "คัมภีร์อี้จิง" อย่างที่บอกไปแล้ว กับพานให้นึกไปถึง "คัมภีร์" ประเภทอื่นๆ ที่เต็มไปด้วย "คำสอน" หรือ "ข้อธรรม" ปลีกๆ ย่อยๆ เต็มไปหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "หัวข้อเพื่อการปฏิบัติ" มากกว่า "การตีความ" เหมือนกัน ... เก้าะ ... เลยหยิบๆ จับๆ มันอ่านไปเรื่อยๆ เหมือนกับกำลัง "อ่านคัมภีร์" อะไรซักอย่าง ... 😃

โดยความเห็นส่วนตัวแล้วก็คงจะต้องบอกว่า Kevin Roberts มีความเป็นนักโฆษณามือฉมังของ Saatchi & Saatchi เลยทีเดียว เพราะเขาสามารถที่จะ Quote วลีสั้นๆ ที่แฝงความหมายยาวๆ เอาไว้จนเต็มเล่มหนังสือไปหมด ไม่นับรวมกับที่เขาเที่ยวได้ไปขุดเอา Quotations ของบุคคลอื่นๆ มาแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเล่ม ทั้งยังสามารถผูกโยงถ้อยคำเหล่านั้นให้ต่อเนื่องกันจนเป็นเรื่องเป็นราวในแต่ละบทได้อย่างลื่นไหลจริงๆ ... เรียกว่า ถ้าใครคิดอยากจะ mark คำสวยๆ ในเล่มนี้เอาไปใช้เป็น "ข้อเตือนสติ" ในกาลเทศะต่างๆ ละก้อ ... คงได้ขีดจนมีแต่หมึกเต็มไปหมดทุกบรรทัดเลยแหละ ... ซึ่งก็ไม่ต่างจากการปล่อยให้หน้ากระดาษมันขาวๆ ของมันอย่างนั้นต่อไปอยู่ดี ... 😃

ความจริงแล้วผมก็ยังย้อนนึกไปถึง Edward de Bono เจ้าของผลงานหนังสือระดับ Best Seller เกี่ยวกับ "ความคิดสร้างสรรค์" จำนวนหลายกระบุง ซึ่งในภาพรวมๆ แล้ว ผลงานชิ้นสำคัญของ Edward de Bono ก็คือ CoRT Thinkg Courses อันเป็นที่สุดแห่ง "คัมภีร์" ของ Edword de Bono เลยทีเดียว โดยใน CoRT Thinking Courses ที่ว่านั้น จะประกอบไปด้วยบทเรียนทั้งหมดจำนวน 60 บท ที่แกเรียกของแกว่า Thinking Tools แล้ววันดีคืนดีแกก็จะหยิบชิ้นนู้นจับชิ้นนี้มายำรวมกันเป็นตำราเล่มใหม่ของแกไปได้เรื่อยๆ ... ทำยังกะมีดพับสวิสฯ เลยแหละ ... 😋 ... ซึ่งผมก็มองว่า 64 Shots ของ Kevin Roberts น่าจะมีลักษณะที่คล้ายๆ อย่างนั้นในระดับหนึ่งด้วย

แต่เราก็อย่าไปคิดว่า "นักคิด" เหล่านี้เขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเราๆ นักเลย เพราะอย่างน้อยที่สุด การเลือกหยิบชิ้นเครื่องมือขึ้นมาใช้งานให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์นั้น ก็ยังต้องถือว่าเป็นเรื่องของ "ความสร้างสรรค์" หรือเป็นเรื่องของ "ความเป็นผู้ชำนาญการ" ได้ในรูปแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน ... อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง "พระพุทธเจ้า" ก็ทรงเลือกใช้มาแล้วตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน ... ดังนั้น การเลือกใช้ "เครื่องมือ" เป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เหมาะแก่ "สถานการณ์" และ "ศักยภาพ" ของแต่ละคน หรือแต่ละองค์กรนั้น ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะทำก็ทำกันได้ง่ายๆ ... ยิ่งในยุคสมัยที่โลกทั้งโลกมันเต็มไปด้วย "ข้อมูล", "ข้อคิด", "ข้อแนะนำ", หรือ "สูตรสำเร็จ" ของใครต่อใครอีกเป็นจำนวนมหาศาลอย่างทุกวันนี้ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะ "กล้า" โฟกัสตัวเองให้เหลือเพียงสิ่งที่มี "ความสำคัญจริงๆ" กับการดำรงอยู่ของพวกเราแต่ละคน ...

นึกไปนึกมาก็เลยพานนึกไปถึงคำพูดของ Bruce Lee ที่เคยกล่าวไว้ว่า ... "I fear not the man who has practiced 10,000 kicks once, but I fear the man who has practiced one kick 10,000 times." ... มันจึงไม่สำคัญหรอกว่า เราจะสามารถเข้าใจ หรือนำทั้ง 64 Shots ของ Kevin Roberts ไปใช้เพื่อการปฏิบัติจริงได้จนครบหรือไม่ แต่มันสำคัญที่ว่า เรา "กล้าพอ" ที่จะหยิบยกเพียงไม่กี่ shots ของเขาไปปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ ได้รึเปล่า ?! ... หลักธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีเป็นพันเป็นหมื่นวรรคนั้น หากรู้จักหยิบยกมาเพียง 10 ข้อที่รวมกันเข้าเป็น "ทศพิธราชธรรม" เพียงหมวดเดียว แล้วนำไปปฏิบัติอย่างแข็งขัน แค่นั้นก็สามารถที่จะเป็น "พระราชา" หรือเป็น "ผู้นำ" ที่คนทั้งโลกยกย่องได้แล้ว ... รึไม่จริง ?!!

 

 

พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน

18/10/2016

Book Title: พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน
Author(s): ทัศนา ทัศนมิตร (ค้นคว้า-รวบรวม)
Format: ปกอ่อน, 208 หน้า
Publisher: สำนักพิมพ์ ร.ศ.๒๒๙ (2553)
Distributor: บริษัท อัมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด
Language: ไทย
ISBN-13: 9786169054283
Product Dimensions: 145 x 210 x 12 mm


บังเอิญมีเหตุให้ต้องคั่งค้างกับ "จดหมายสอนลูก" (誡子書) ของ "ขงเบ้ง" ที่ตั้งใจจะเตรียมไว้เป็นของที่ระลึกให้แก่เพื่อนๆ ในงานเลี้ยงรุ่น ... เก้าะ ... เลยนึกถึงหนังสือชื่อ "พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน" ซึ่งค้นคว้าและรวบรวมไว้โดย "ทัศนา ทัศนมิตร" ที่ผมซื้อเก็บไว้เมื่อหลายปีก่อน เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าจะไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็นการจัดพิมพ์บ่อยครั้งนักในยุคสมัยปัจจุบัน ...

คำสอนของพระมหากษัตริย์ไทย 5 รัชกาล ที่ทรงพระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ในโอากสต่างๆ ซึ่งได้รับการรวบรวมไว้ในหนังสือ "พ่อสอนลูก ๕ แผ่นดิน" นี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ได้พบเห็นเลยในโลกของสิ่งพิมพ์โดยทั่วไป เพราะไม่ใช่พระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่สาธารณชนเป็นการปรกติ แต่เป็นพระราชกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ภายในครอบครัวขององค์ประมุขของประเทศ ... ซึ่งคำสอนหลายๆ อย่างที่ได้ทรงพระราชทานไว้นั้น ควรที่บุคคลโดยทั่วไปจะยึดถือเป็นแบบอย่าง และน้อมนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามอย่างตั้งใจ เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเอง แก่ครอบครัว และแก่สังคมโดยรวมของประเทศชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "ค่านิยม" ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่สถาบันครอบครัว ได้ถูกบิดเบือนไปบ้างแล้วจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่บรรดาคำสั่งสอนที่บุคคลในรุ่นหนึ่งเคยบอกกล่าวให้แก่คนอีกรุ่นหนึ่งเพื่อเป็นข้อเตือนสตินั้น ก็ยังถือว่ามีข้อคิดที่สมควรแก่การศึกษาทบทวน เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องสำนึกไว้เสมอว่า ทุกๆ คำสั่งสอนที่บุพการีมอบให้แก่บุตร-ธิดาของตนนั้น ล้วนกลั่นกรองออกมาจาก "ความรัก" และ "ความปรารถนาดี" ที่มีต่อทายาทของตนด้วยกันทั้งสิ้น ... และต่อให้มีบางสิ่งที่เราศึกษาทบทวนแล้วก็ยัง "รู้สึกไม่คุ้นชิน" เราก็ควรจะมีมโนสำนึกด้วยว่า ทุกๆ "ความดีงาม", ทุกๆ "ความถูกต้อง" ล้วนมีวันเวลาที่เหมาะสมของมันเองเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ "ค่านิยม" แห่ง "ความดีงาม" หรือ "ความถูกต้อง" ที่ยุคสมัยของพวกเรากำลัง "ยึดติด" อยู่นี้ก็ตาม ต่างก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่เหมาะสมของมันเฉกเช่นกัน ...

การจะตัดสินความ ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ของคำสอนหรือการกระทำในแต่ละยุคแต่ละสมัย จำเป็นต้องพิจารณาด้วยปัจจัยของมิติแห่งวันเวลา และสถานการณ์ที่เสมอเหมือนกันเท่านั้น !!? ... มีแต่ผู้ที่ "คับแคบทางความคิด" เท่านั้นดอก ที่จะรู้สึก "คับแค้น" ต่อทุกๆ สิ่งที่พวกเขาได้ประสบพบเจอในชีวิต !?!?!

 

 

Guide to The Feng Shui Compass

A Compendium of Classical Feng Shui | 16/8/2016

Book Title: Guide to The Feng Shui Compass, A Compendium of Classical Feng Shui
Author(s): Stephen Skinner
Format: Hardcover, 448 pages
Publisher: Llewellyn Publications; 1st edition (September 8, 2010)
Language: English
ISBN-10: 0738723495
ISBN-13: 9780738723495
Product Dimensions: 7.4 x 1.4 x 10.2 inches

โดยส่วนตัวแล้ว "สิ่งประดิษฐ์" ที่ได้รับ "การออกแบบ" ไว้อย่างน่าทึ่งที่สุดของชาวจีนก็คือ "ลูกคิด" และ "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ... โดย "ลูกคิด" คือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบให้มี "ความเรียบง่าย" เพื่อให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถคำนวณได้อย่างสลับซับซ้อน แต่ใช้เพียง "ธรรมชาติของการนับ" ล้วนๆ ... ในขณะที่ "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) คือ "ตารางคำนวณ" อันสลับซับซ้อนที่ได้รับการออกแบบไว้อย่าง "รวบรัดหมดจด" เพื่อให้เป็น "คู่มือ" ประกอบ "การคำนวณทิศทางดาราศาสตร์" ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็น "เครื่องมือสำรวจ" ตั้งแต่ประมาณ 1,500 ปีก่อนที่ชาวตะวันตกจะรู้จัก "เข็มทิศ" ซะด้วยซ้ำ ...

แม้ว่าในปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่แทบจะไม่เห็นความจำเป็นของ "ลูกคิด" อีกแล้วก็ตาม แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ลูกคิด" คือหนึ่งในสุดยอดแห่ง "การออกแบบเครื่องมือ" บนพื้นฐานอันจำกัดจำเขี่ยของเทคโนโลยีเมื่อหลายพันปีก่อน ... ส่วน "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) คือ "บทคัดย่อ" ของ "แผนที่ทางดาราศาสตร์" ที่ถูกบันทึกไว้บน "แผนผังวงกลม ขนาดพกพา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคำนวณ "ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ" อันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของตำแหน่งวงโคจรของโลกและดวงดาวที่อยู่รายรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในด้านกสิกรรม และเกษตรกรรมต่างๆ จนกระทั่งได้รับการพัฒนาต่อยอดให้กลายมาเป็นทฤษฎีด้าน "ภูมิพยากรณ์" หรือ "ศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย" ในเวลาต่อมานั่นเอง

หลักวิชาทางด้านดาราศาสตร์ของชาวจีน ซึ่งได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาจากการเฝ้าสังเกตล้วนๆ เมื่อหลายพันปีก่อนนั้น ยังคงได้รับการปรับปรุง-แก้ไข-เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่องในอีกหลายร้อยปีต่อมาในยุคของราชวงศ์ต่างๆ ซึ่ง "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) อันเป็นต้นแบบดั้งเดิม ก็ได้รับการปรับปรุง-แก้ไข-เพิ่มเติม ไปตาม "ข้อมูล" ใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบโดย "การเฝ้าสังเกต" ของ "สำนักคิด" ต่างๆ มาโดยตลอดเช่นกัน การย่นย่อ "ตารางคำนวณทางดาราศาสตร์" อันสลับซับซ้อนทั้งระบบ ให้สามารถบรรจุไว้ใน "แผนผังวงกลม" ที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินกว่าจะพกพาได้นั้น จึงเต็มไปด้วย "เครื่องหมาย" และ "คำรหัส" จำนวนมาก โดยแต่ละ "สำนักคิด" ก็ได้คิดค้น "สูตรคำนวณ" และ "คำรหัส" เฉพาะตนขึ้นมาใช้งานอย่างหลากหลาย ... ซึ่งหากจะรวบรวม "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ที่ออกแบบไว้โดย "สำนักคิด" ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันจริงๆ จำนวนชั้นของแผนผังวงกลมที่จะต้องนำมาเรียงซ้อนกัน ก็น่าจะมีจำนวนถึงหลายสิบชั้นเลยทีเดียว !!?! ... 😲

การศึกษา "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) จึงเป็นอะไรที่น่าสนุก เพราะแม้ว่ามันจะมี "สูตรสำเร็จ" ของ "สำนักคิด" ต่างๆ ที่ได้กำหนดเอาไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมันไม่เคยมี "สูตรที่ตายตัว" อย่างแท้จริงของ "จำนวนชั้น" ที่จะนำมาเรียงซ้อนกัน รวมทั้งเรายังสามารถนำเอา "ตารางข้อมูล" อื่นๆ ที่มีลักษณะเรียงต่อกันเป็น "วัฏจักร" มาผสมผสานเข้าไปได้อย่างอิสระ เพื่อที่จะสร้าง "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) ที่มี "ความเฉพาะตัว" ต่อการพกพาไปใช้งานของเราเองได้ด้วย ยิ่งถ้าได้ผสมผสานกับเทคโนโลยีของการจัดการกับรูปภาพต่างๆ ในยุคสมัยปัจจุบันด้วยแล้ว "หล่อแก" หรือ 羅盤 (luó pán, ลั๋วพั๋น) แบบ digital ก็คงจะดูมีเสน่ห์ที่น่าหลงไหลมากกว่าเดิม ... อีกเยอะเลย !! ... 😏