The One Thing

10/3/2014


Book Title: The One Thing

Author(s): Gary Keller, Jay Papasan
Format: Paperback, 240 pages
Publisher: John Murray Publishers Ltd ; July 4, 2013
Language: English
ISBN-10: 1848549245
ISBN-13: 9781848549241
Product Dimensions: 9.1 x 6 x 0.8 inches

คงจะเป็นหนังสือ "น่าเบื่อ" เล่มแรกที่ผมอ่านมันไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม ด้วยอารมณ์ที่น่าจะคล้ายกับการอ่าน "หนังสือสวดมนต์" เล่มหนึ่งเท่านั้นเอง ... :D ... เพราะเนื้อหาทั้งหมดตลอดเล่มหนังสือนั้น เป็นประเด็นพื้นๆ ที่หลายคนก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยก็จะได้ปฏิบัติตามนั้น หรืออาจจะละเลยมันไปเพราะความวุ่นวายในภารกิจประจำวัน ... ซึ่งก็คือ ... "จงเลือกกระทำในสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดต่อเป้าหมายในชีวิตของเราเสมอ" ... โดยผู้เขียนทั้งสองพยายามอ้างอิงแนวคิดที่ว่านี้ของพวกเขากับ "ทฤษฎีโดมิโน" อันหมายถึงการบรรลุเป้าหมายสำคัญของชีวิต ด้วยการก่อ "ปฏิกิริยาลูกโซ่" จากการลงมือปฏิบัติภารกิจที่เป็น "หัวใจสำคัญที่สุด" ของทั้งหมด ให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างถูกทิศทาง ... เท่านั้น !!? ... นั่นคือ The One Thing ที่แต่ละคนจะต้องค้นหาให้เจอจาก "เป้าหมาย" ที่ตนเองเป็นผู้กำหนดขึ้นมา ...

มันคือ "เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็รู้" ... แต่ก็เป็น ... "เรื่องง่ายๆ ที่ไม่มีวันสำเร็จ หากไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง" ซึ่งตลอดเล่มของหนังสือก็จะวนอยู่เพียงประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว พร้อมกับข้อแนะนำกับตัวอย่างอีกหลากหลาย เพื่อเน้นย้ำว่า "Knowing is not enough, you must apply ; Willing is not enough, you must do" ดังคำกล่าวที่ Bruce Lee เคยกล่าวเอาไว้ ... 😉 ... ผมถึงว่า มันเหมือน "หนังสือสวดมนต์" ยังไงยังงั้นเลย !! ... คือ "ซ้ำซาก" และเหมาะแก่ "การสะกดจิต" ให้น้อมนำพฤติกรรมของเราไปสู่แนวทางที่ว่านั้น ... 😃

ผมบังเอิญอ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงที่เกิด "วิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเรียกว่า เป็น "วิฤตการณ์ประชาธิปไตยต่างแนวทางกัน" ซะมากกว่า เพราะไม่มีฝ่ายไหนเลยที่ไม่อ้าง "ความเป็นประชาธิปไตย" ของฝ่ายตนว่า มี "ความเป็นประชาธิปไตย" อันสุดแสนจะวิเศษและเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศที่ยังคง "กลบเกลื่อนบาดแผลแห่งความขัดแย้ง" เอาไว้อย่างมีวัฒนธรรมต่อไป ... !!?? ... 😏 ... ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เราจะประยุกต์แนวคิดของ The One Thing เข้ากับ "หลักประชาธิปไตย" ที่ "จำเป็นต้องยอมรับความหลากหลาย" ได้ยังไง ?!! ... การ "กำหนดทิศทางที่ชัดเจน" เพียง "แนวทางหนึ่งแนวทางใด" ให้กับการพัฒนาประเทศนั้น จะถือเป็น "การริดรอนเสรีภาพของความหลากหลาย" ด้วยมั้ย ?!! ... "ความต่อเนื่อง" ของวิถีปฏิบัติ และการจัดสรรงบประมาณที่แกว่งไกวไปตาม "กระแสความนิยม" นั้น แม้ว่ามันจะเป็น "การสนองความต้องการของประชาชน" ในแต่ละช่วงเวลา ... แต่ประเทศชาติควรจะพัฒนาในลักษณะที่ "ขาดความต่อเนื่องของทิศทาง" อย่างนั้นรึเปล่า ??!! ... ใครควรจะเป็นผู้ที่กำหนด "วิสัยทัศน์ของประเทศ" ?! ... แล้วใครควรจะมีสิทธิ์ใน "การแก้ไขเปลี่ยนแปลง" มัน ?! ... ด้วยกรอบของเงื่อนไขเวลาแบบไหน ?! ... แล้วใครควรจะเป็น "ผู้กำหนดกรอบของเวลา" ?!! ... "อะไรคือนิยามที่ถูกต้องของความเป็นประชาธิปไตย ?!!" ... "อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของความเป็นประชาธิปไตย ?!!" ... "เสรีภาพ" หรือ "ประโยชน์สุข" ของ "ประเทศชาติ" และ "ประชาชนโดยรวม" ?!?!?! ... อะไรที่ควรจะมีลำดับความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่าง "ชื่อเรียกและรูปแบบ" กับ "เป้าหมายที่แท้จริง" ของระบอบการปกครอง ... ?!!?

มันอาจจะเป็นเรื่องบ้าบอที่นำเอาแนวคิดในระดับ "ปัจเจกบุคคล" ไปเปรียบเทียบกับ "ประเทศชาติ" ซึ่งมี "ความหลากหลาย" ในหลายๆ มิติของสังคม ... แต่มันก็อาจจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในระดับหนึ่งก็คือ "การเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" ย่อมประกอบด้วย "การปฏิเสธสิ่งอื่นๆ อีกหลายสิ่ง" เสมอ ... ซึ่งทุกๆ "ขั้วการเมือง" ต่างก็ยอมรับในหลักการเดียวกันอยู่แล้วว่า "จะไม่มีฝ่ายใดที่จะได้รับในทุกๆ สิ่งที่เรียกร้อง" แต่กลับ "ไม่มีฝ่ายใดที่ยอมลดราวาศอกในประเด็นที่ฝ่ายตนต้องการ" เลยซักฝ่ายเดียว !!??!! ... หลายปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศไทย จึงสูญเสียเวลาไปกับสิ่งต่างๆ อันไม่ใช่สาระสำคัญของการพัฒนาประเทศเลย ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามบิดเบือนให้ "โลกของความเป็นจริง" มีความใกล้เคียงกับ "โลกในจินตนาการ" ของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา ...

จะลองถามตัวเองซักหน่อยมั้ยล่ะครับว่า ... หากเราสามารถเลือกได้เพียง "สิ่งเดียว" ที่จะ "ต้องทำ" เพื่อ "ประโยชน์สุขที่แท้จริง" ของ "ประเทศไทศชาติ" และ "ประชาชนโดยรวม" ... "สิ่งเดียว" ที่ว่านั้นควรจะเป็นอะไร ?! ... ซึ่งเมื่อได้มาซึ่ง "สิ่งเดียว" นั้นแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็จะสามารถดำเนินต่อไปในลักษณะของ "ปฏิกิริยาลูกโซ่" ที่ทุกคนแทบจะไม่ต้องเหนื่อยขนาดอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้อีก ?! ...

 

 


Categories: ZhuqiBook

Leave Comment