Trillions

Thriving in the Emerging Information Ecology | 13/5/2015 | Comments: 1


Book Title: Trillions : Thriving in the Emerging Information Ecology

Author(s): Peter Lucas, Joe Ballay, Mickey McManus
Format: Hardcover, 252 pages
Publisher: Wiley ; First Edition ; February 25, 2012
Language: English
ISBN-10: 1118176073
ISBN-13: 9781118176078
Product Dimensions: 7.5 x 0.9 x 10.3 inches

อ่านหนังสือเล่มนี้จบไปได้พักเล็กๆ แล้วล่ะ และถึงแม้ว่าผมเองค่อนข้างที่จะคล้อยตามในหลายๆ ประเด็นที่เขานำเสนอเอาไว้ในเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นของ "มาตรฐานหีบห่อของข้อมูล" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การแบ่งปัน การส่งผ่าน หรือการเข้าถึงข้อมูลโดยอุปกรณ์สื่อสารที่พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายรูปแบบในช่วงระยะหลังๆ มานี้ มีความเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะมีความคล่องตัวต่อการใช้งานบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ และค่ายต่างๆ ของซอฟต์แวร์ที่ทวีความหลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ... น่าตื่นเต้นดีครับ และหวังว่าบรรดาเจ้าแห่งเทคโนโลยีทั้งหลาย ควรจะรีบๆ บรรลุข้อตกลงร่วมกันให้ได้เร็วๆ เพราะมันจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการปฏิวัติยุคสมัยเข้าสู่ "ยุคข้อมูลข่าวสาร" อย่างเต็มตัวจริงๆ ซะที ... แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังรู้สึกขัดๆ อยู่บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ "โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์" (Open Source Software) ...

จะว่าไปแล้ว ความที่มันขัดๆ ก็เพราะผมมีความรู้สึกทั้ง "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับแนวคิดที่พวกเขานำเสนอเอาไว้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นของ The Cathedrals and The Bazaars อันเป็นชื่อหนังสือที่เปรียบเปรยการพัฒนาซอฟต์แวร์ 2 ลักษณะคือ ลักษณะที่พัฒนาโดย "การปกปิดรหัสคำสั่ง" (Close Source) กับลักษณะที่พัฒนาโดย "การเปิดเผยรหัสคำสั่ง" (Open Source) ... ซึ่งผู้เขียนทั้งสามมีความเห็นว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบการก่อสร้าง "มหาวิหาร" (Cathedral) หรือแบบ "ปกปิดรหัสคำสั่ง" นั้น มีพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กระจัดกระจายอย่างไร้ทิศทางแบบ "ตลาดสด" (Bazaar) เพราะการ "เปิดเผยรหัสคำสั่ง" ให้ใครต่อใครสามารถแก้ไขดัดแปลงซอฟต์แวร์ต้นแบบยังไงก็ได้นั้น จะไม่สามารถรวมศูนย์ของพลังการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย เว้นแต่จะเป็น "การอนุรักษ์" สิ่งเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อน ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะแก่การจำหน่ายจ่ายแจกแบบ "ตลาดสด" ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ??!! ... คือ ... มันก็ทั้ง "ใช่" และ "ไม่ใช่" ในความรู้สึกของผมนะ ... อยู่ที่ว่า ... เราจะนิยามคำว่า "นวัตกรรม" ให้หมายถึงอะไรมากกว่า ?!!

จริงอยู่ที่ซอฟต์แวร์ซึ่งเกิดใหม่ในระยะหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะในโลกของฝั่งโอเพนซอร์สนั้น ค่อนข้างที่จะย่ำอยู่กับที่ เพราะมัวแต่ไปทำสิ่งเดิมๆ ที่คนอื่นเคยทำกันอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อทดแทนซอฟต์แวร์ราคาแพงที่เขาไม่เปิดเผยซอร์สโค้ด บ้างก็ทำขึ้นมาเพื่อปรับปรุงโครงการโอเพนซอร์สอื่น เพราะบังเอิญว่าเขาไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมคุณสมบัติบางอย่างเพื่อตามใจผู้ใช้ซึ่งมีจำนวนไม่มากพอ หรืออาจจะเพราะนักพัฒนากลุ่มเดิม ไม่มีคาดหวังใดๆ กับโครงการที่ตัวเองริเริ่มเอาไว้ก่อนหน้านั้น ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนทำให้นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์ส อาจจะถูกรับรู้โดยบุคคลทั่วไปว่า เป็นพวก "อนุรักษ์นิยม" แทนที่จะถูกมองว่าเป็นพวก "หัวก้าวหน้า" ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลกของซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีแห่งอนาคต ... ??!!

ผมเพียงแต่มี "ความรู้สึก" ว่า บางครั้ง การที่นักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สจำเป็นต้องทำอะไรต่อมิอะไรที่มันคล้ายกันกับของเดิมๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า เจ้าของเทคโนโลยีเดิมหลายราย ไม่ได้ยินดีที่จะอุทิศเทคโนโลยีของตนให้เป็นสมบัติสาธารณะ การจะทำอะไรต่อยอดจากจุดเดิมที่มันเคยเป็นอยู่จึงไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาคอยกดหัวทุกคนเอาไว้ แล้วการที่หลายๆ คนต้องเสียเวลาไปกับสร้างสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาทดแทน ก็เลยกลายเป็น "ความจำเป็น" ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จนดูเหมือนทุกอย่างมันหยุดอยู่กับที่โดยไม่มีการพัฒนาใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ... ซึ่ง ... นั่นอาจจะเป็นเพียงขั้นตอนของ "การปรับฐาน" เพื่อให้ทรัพยากรที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาใดๆ ต่อไปในอนาคต มีความพร้อมมากกว่าที่เคยผ่านๆ มาซะก่อน ... รึเปล่า ??!! ... สำหรับการรับรู้ของผู้ใช้งานโดยทั่วๆ ไปนั้น มันอาจจะเป็นเพียงการย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะทุกอย่างยังคง "คล้ายคลึงกับของเดิม" แต่สำหรับนักพัฒนาฝั่งโอเพนซอร์สแล้ว ทั้งหมดนั้นคือ "สิ่งใหม่" ที่พวกเขาค่อยๆ สั่งสมเข้าไปใน "เหมืองทรัพยากร" ของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ใครต่อใครสามารถหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรีในอนาคต !!??

เรื่องราวทั้งหลายในโลกของเราใบนี้ ไม่มีสิ่งใดที่สามารถก่อเกิดขึ้นมาอย่าง "ปาฏิหาริย์" แต่ทุกอย่างล้วนต้องผ่าน "กาลเวลา" ใน "การหล่อหลอม" อย่างเป็น "กระบวนการ" ของมันเสมอ ... ทุกๆ "ความสำเร็จ" ที่มหาชนพากันแห่แหนชื่นชมด้วยความตื่นเต้นยินดีนั้น ล้วนมี "วันเวลาอันเจ็บปวด" ที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสนใจ ... ทั้งนั้น !!

 

 


Categories: ZhuqiBook

Comments

LesFluish   22/4/2020

Viagra Online Preisvergleich https://abuycialisb.com/# - Cialis Buying Cheap Flagyl In Wichita Cialis Cephalexin Metformin

Leave Comment