เถียงกับคัมภีร์ (ภาคต่อ) : เรื่องของอักษร 善

4/9/2018 | Comments: 12

อักษร 善 (shàn : ซั่น) เป็นหนึ่งในจำนวน "อักษรเจ้าปัญหา" ที่ทำให้ผมอยากจะ "เถียงกับคัมภีร์" 三字經 (sān zì jīng, ซัน จื้อ จิง) ขึ้นมาตะหงิดๆ เพราะด้วยวลีขึ้นต้นของคัมภีร์ที่บันทึกไว้ว่า 人之初,性本善 (rén zhī chū , xìng běn shàn : เญิ๋จืฌู , ซิ่ง เปิ่น ซั่น) และได้รับ "การตีความ" ให้หมายถึง "โดยกำเนิดของมนุษย์ (人之初) พื้นฐานนิสัย (性) อันเป็นทุนเดิม (本) คือความดีงาม (善)" นั้น ผมยังรู้สึกไม่ค่อยชอบใจซักเท่าไหร่ เพราะวลีท่อนถัดมาซึ่งถือว่าเป็น "ส่วนขยายความ" ของ 2 วลีข้างต้นก็คือ 性相近,習相遠 (xìng xiāng jìn , xí xiāng yuǎn : ซิ่ง เซียง จิ้น , ซี๋ เซียง เหยฺวี่ยน) โดยหลายตำรา "ตีความ" ไว้ว่า "โดยพื้นฐานทางธรรมชาติ (性) ที่แม้นว่าจะมีความคล้ายคลึงกัน (相近) แต่การเลี้ยงดู (習) ย่อมทำให้แต่ละคนมีความแตกต่าง (相遠)" ... คือ ... ผมยังรู้สึกว่า มันก็ทั้งใช่ แล้วก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ... เพราะมันยังรู้สึกตะหงิดๆ อยู่ไง !!?? ... 😄

คืองี้ ... ท่อน "ขยายความ" มันก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่หรอกนะถ้าจะ "ตีความ" กันอย่างนั้น แต่ก็เนื่องจากผม "ไม่เคยเชื่อ" เลยว่า มนุษย์นั้นเป็น "คนดีมาตั้งแต่เกิด" ไง ผมก็เลยรู้สึกตะหงิดๆ กับท่อนแรกที่ได้รับ "การตีความ" ไปในทิศทางนั้น เพราะถ้าเป็นอย่างที่ "ตีความ" กันไว้จริงๆ "ธรรมชาติ" (Nature หรือ 性) กับ "การเลี้ยงดู" (Nurture หรือ 習) ยังจะสร้าง "ความแตกต่าง" ไปทำไม?! ... แล้วจะสร้าง "ความแตกต่าง" ในด้านไหนได้บ้าง?! ... ในเมื่อจริงๆ แล้ว คำว่า 習 (xí : ซี๋) มักจะถูกใช้ในความหมายว่า "การฝึกฝน" หรือ "การเล่าเรียน" มากกว่า "การเลี้ยงดู" ... แต่ก็โอเคแหละ ถ้า "การเลี้ยงดู" ที่ว่านั้นจะรวมถึง "การอบรม" และ "การสั่งสอน" ไปด้วยพร้อมๆ กัน ผมถึงว่าท่อน "ขยายความ" มันยังพอจะกล้อมแกล้มไปได้ในความหมายที่เขา "ตีความ" กันไว้ แต่มันไม่ตอบโจทย์เรื่องของคำว่า 善 (shàn : ซั่น) ที่ "นิยม" ให้ความหมายกันว่า "ดี", "ความดี", หรือ "ความเจริญ"

"ภาพอักษร" ดั้งเดิมของ 善 (shàn : ซั่น) นั้นประกอบขึ้นมาจาก "ภาพอักษร" 羊 (yáng, ยั๋ง) ที่ปัจจุบันแปลว่า "แพะ" แต่ความจริงมันเคยถูกใช้เป็น "ภาพสัญลักษณ์" ของอักษร 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ซึ่งหมายถึง "ความสุข-ความเจริญ หรือ "สิ่งดีงาม" หรือแม้แต่ "ความมีโชคลาภ" ที่เรามักจะเห็นการใช้คู่กับคำว่า 吉 (jí : จี๋) ซึ่งมักจะใช้ในความหมายของ "ความรุ่งเรือง" ; องค์ประกอบที่เหลือตรงบริเวณด้านล่างใน "ภาพอักษร" 善 (shàn : ซั่น) ก็คือ "ภาพอักษร" 言 (yán : เอี๋ยน) ซึ่งหมายถึง "คำพูด" หรือ "การพูดคุย" ซึ่งในภาพเดิมของอักษรโบราณของ 善 (shàn : ซั่น) นั้นจะประกอบด้วยอักษร 言 (yán : เอี๋ยน) ถึง 2 ตัวด้วยกัน อันน่าจะหมายถึง "การถาม-การตอบ" หรือ "การสื่อสารกัน" ที่เน้นว่า มันไม่ใช่แค่ "คำพูด" ธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป แต่เป็น "การสนทนา" หรือ "การสื่อสารกัน" และในยุคต่อมาก็ลดความซ้ำซ้อนให้เหลือ 言 (yán : เอี๋ยน) เพียงตัวเดียว ในเมื่อ 言 (yán : เอี๋ยน) สามารถแปลว่า "การสนทนากัน" ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเขียนซ้ำกัน 2 ตัวเหมือนกับ "การสื่อ" ด้วย "ภาพอักษร" ในยุคแรกๆ ของอักษรจีน ...ดังนั้น 善 (shàn : ซั่น) ที่แปลกันว่า "ดี" หรือ "ความดี" นั้นจึงไม่ใช่ "ความดี" ในลักษณะที่เป็น "นามธรรม" ลอยๆ แต่เป็น "ความดี" ที่เกิดขึ้นจาก "คำพูด" หรือ "การสนทนา" ซึ่งก็คือ "การอบรมสั่งสอน" โดยเฉพาะ ... ความหมายจริงๆ ของวลี 人之初,性本善 (rén zhī chū , xìng běn shàn : เญิ๋จืฌู , ซิ่ง เปิ่น ซั่น) จึงควรจะได้รับ "การตีความใหม่" ว่า "ธรรมชาติโดยกำเนิดของมนุษย์ (人之初) คือมีกมลสันดาน (性) พื้นฐาน (本) ที่สามารถสอนให้ดีได้(善)" แล้วถึงจะมาต่อด้วย "ท่อนขยายความ" ที่ว่า "อาศัยเพียงความคุ้นชินตามธรรมชาติ (性) ก็อาจพัฒนาไปได้เพียงก้าวสั้นๆ จากจุดเริ่มต้น (相近) แต่ด้วยความพากเพียรเรียนรู้และฝึกฝน (習) ย่อมจะก้าวพ้นขีดจำกัดไปได้ไกลยิ่งกว่า (相遠)"

เก้าะถ้า "ตีความ" คัมภีร์ 三字經 (sān zì jīng, ซัน จื้อ จิง) ออกมาอย่างนี้แล้ว "ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์" ก็จะตั้งอยู่บนสมมุติฐานเดียวกับแนวคิดเรื่อง "เวไนยสัตว์" ในศาสนาพุทธพอดี และจะสอดคล้องกับจุดเน้นของคัมภีร์ส่วนที่เหลือทั้งฉบับ ที่เน้นไปในเรื่องของ "การอบรม-สั่งสอน" และ "การเรียนรู้-ฝึกฝน" เพื่อ ""พัฒนาตน" ให้เป็น "คนดี" และ "คนเก่ง" ที่ประกอบด้วย "มนุษยธรรม" และ "จริยธรรม" ... ถ้าดันทะลึ่ง "ตีความ" ว่า "มนุษย์ทุกคนเกิดมาดีแสนดีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด" จะต้องเขียนไอ้ที่เหลือให้ใครต้องไปอ่านอีกเล่า ดีอยู่แล้วก็ตายๆ ไปเลยแล้วกัน !!?! ไม่ต้องมีลมหายใจไปสั่งสอนใครอีกแล้วไง ในเมื่อเขาก็ดีกันหมดทั้งโลกอยู่แล้วนี่ ... รึไม่จริง ??!!?? ... 😄

หมดเรื่องคาใจไว้ชั่วคราวแต่เพียงเท่านี้ เอาเวลาไปแคะ "คัมภีร์อี้จิง" ส่วนที่เหลือให้จบก่อนละ !!?? ... 😄

 

 

 

เถียงกับคัมภีร์ ... อีกละ ?!

31/8/2018 | Comments: 1

หลายวันก่อนได้นั่งคุยกับคุณพ่อเกี่ยวกับหนังสือ และตำรับตำราต่างๆ ที่กำลังพยายามลำดับหมวดหมู่ เพื่อทำการจัดเก็บให้เรียบร้อยใน "ห้องหนังสือ" แห่งใหม่ของบ้าน ซึ่งก็บังเอิญได้มีการพาดพิงไปถึงหนังสือ 三字經 หรือคัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" ที่องค์การ UNESCO ได้บรรจุไว้ในทะเบียน "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา ... ซึ่งมันก็แน่นอนอยู่แล้วล่ะครับว่า "ตำราระดับคัมภีร์" แบบนี้ ผมไม่มีทางรอดจากมันไปได้อยู่แล้ว ... 😄

โดยส่วนตัวแล้วผมรู้แค่ว่า มันคือ "หนังสือโบราณ" และเป็น 1 ใน 5 คัมภีร์ที่มักจะถูกเอ่ยถึงรวมกับคัมภีร์อื่นๆ อีก 4 ฉบับ และมักถูกจัดพิมพ์ไว้เป็นชุดเดียวกันเสมอ โดยเฉพาะชุด 四書五經 หรือ "สี่ตำราห้าคัมภีร์" อันลือลั่นสนั่นโลกคลาสสิคของจีนนั่นเอง ... แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังติดแหง็กอยู่กับ "คัมภีร์อี้จิง" (易經) เพียงคัมภีร์เดียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คัมภีร์ที่อยู่ในชุดเดียวกันกับ 三字經 (น่าจะติดแหง็กมาเกิน 10 ปีไปแล้วแหละ) โดยยังเหลือ "การตีความ" อีก 8 บทสุดท้าย ก่อนที่จะย้อนกลับไปเกลาสำนวน "การตีความ" ทั้งหมดของตัวเองอีกรอบหนึ่งตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ... ทั้งนี้ก็เพราะว่า "คัมภีร์อี้จิง" (易經) มักจะถูก "ตีความ" ให้เป็น "ตำราหมอดู" อยู่เป็นประจำ โดยที่ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า มันเป็น "คัมภีร์การปกครอง" ... จึงเป็นที่มาของ "ความอยาก" ที่จะ "ตีความใหม่" ทั้งหมด ... เพื่อ "ความถูกต้อง" ของผมเอง!?!?!?! ... ซ่ามาก!! ... 😄

ในขณะที่ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) ได้รับการยกย่องว่าเป็น "คัมภีร์สอนกุลบุตร-กุลธิดา" มาโดยตลอด ซึ่งโดยรวมๆ แล้วก็ไม่น่าจะผิดแปลกอะไร เพราะมันเป็นคัมภีร์ที่ถูกจัดเข้าชุดกับตำราของ "ขงจื่อ" (孔子) อยู่แล้ว ... ซึ่ง "คัมภีร์อี้จิง" (易經) ก็อยู่ในชุดนี้ด้วยเหมือนกันนะ ... อย่าลืม!?!? ... ผมจึงยังไม่เคยไปเปิดอ่านอย่างจริงๆ จังๆ เพราะไม่คิดว่าจะมีการ "แปลผิด" เหมือนกับ "คัมภีร์อี้จิง" (易經) ... ก็เท่านั้น

แต่พอคุณพ่อเอ่ยถึงขึ้นมา ผมก็เลยกลับไปเปิดอ่านดูซะหน่อย แล้วก็ทดลองหา "บทแปล" ที่มีคนเคยทำกันไว้แล้ว ... แต่พออ่านเปรียบเทียบ "บทแปล" ทั้งที่เป็นภาษาจีน กับที่เป็นภาษาอังกฤษเพียงท่อนแรกของคัมภีร์ ผมกลับรู้สึก "ไม่ถูกใจคำแปล" ขึ้นมาซะงั้น!! ... สันดานเดิมกำเริบครับ ... 😄

คืองี้ ... คัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) เขาเริ่มต้นว่า ... 人之初 , 性本善 。性相近 , 習相遠 。... และแปลกันไว้โดยทั่วไปว่า ... Men at their birth are naturally good. Their natures are much the same; their habits become widely different. ... ซึ่งเป็นไปตามที่ "เขาร่ำลือกัน" ว่า ท่าน "ขงจื่อ" (孔子) และ "เมิ่งจื่อ" (孟子) มีแนวคิดเดียวกันนี้ว่า "ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดีมาโดยกำเนิด" ... ซึ่งหลายคนก็ยัง "เชื่อว่า" พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ในลักษณะเดียวกัน โดย "ตีความ" จากคำกล่าวที่ว่า "ธรรมชาติเดิมของจิตนั้นประภัสสร" ... โดยไม่พูดถึงท่อนที่ท่านเอ่ยว่า "ธรรมชาติของจิตคล้ายดั่งน้ำที่ย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ" ... ซึ่ง "อาจจะตีความ" ได้ว่า "มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเลวทราม" มาตั้งแต่แรก ... รึเปล่า?! ... แล้ว ... การมี "แนวโน้ม" ว่าจะเลวเนี่ยะ ยังจะถือว่ามี "ความดี" เป็น "พื้นฐาน" ได้อยู่อีกมั้ยล่ะ?! ... หรือเราควรจะเชื่อนักปรัชญาบางคนที่บอกว่า "ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนเลว" ซึ่งต้องใช้ "กฎระเบียบ" และ "การศึกษา" เป็น "เครื่องมือ" ในการ "ขัดเกลา" ให้เป็น "คนดี"?! ... แล้วผู้รจนาคัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) เป็น "สาวก" ของ "ความเชื่อ" ฝ่ายไหนกันแน่?! เพราะแม้แต่ "ศิษย์สำนักขงจื่อ" เองก็ยังแตกออกเป็นสองฟากฝั่งเลยนี่นา??!?! ...

ดังนั้น ... ความหมายจริงๆ ของวลี 性本善 (xìng běn shàn, ซิ่ง เปิ่น ซั่น) ในวรรคต้นๆ ของ คัมภีร์ "ซาหฺยี่เก็ง" (三字經) จึงน่าจะถูก "ตีความ" โดยอีก 2 วรรคที่ตามมา ... มั้ย?! โดยมีคำว่า 性 (xìng, ซิ่ง) ที่มีความหมายว่า "นิสัย" หรือ "บุคลิก" ถูกนำมาเป็น "คู่ตรงข้าม" กับคำว่า 習 (xí, ซี๋) ที่แปลว่า "การศึกษา" หรือ "การฝึกฝน" โดยใช้คำว่า 近 (jìn, จิ้น) กับ 遠 (yuǎn, เหฺยวี่ยน) ที่หมายถึง "ใกล้" กับ "ไกล" มาเป็น "ตัวชี้นำ" ... แต่ว่า ... มัน "ใกล้กับอะไร" แล้ว "ไกลกับอะไร" ล่ะ?! ... ถ้าจะบอกว่า "ใกล้" หรือ "ไกล" กับ 善 (shàn, ซั่น) ล่ะก้อ ... เลอะเลยครับ!!?! ... เพราะในเมื่อคำว่า 善 (shàn, ซั่น) นั้นถูก "ตีความ" ให้หมายถึง "ความดี" ไปเรียบร้อยแล้วไง?! ... ขืนระบุลงไปอย่างนั้น คำว่า 習 (xí, ซี๋) ซึ่งหมายถึง "การศึกษา" หรือ "การฝึกฝน" เป็นได้ฉิบหายกันพอดี ... 😱 ... ต่อให้บอกว่า "ใกล้" หรือ "ไกล" กับ 本 (běn, เปิ่น) ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะคำว่า 本 (běn, เปิ่น) นั้นได้ถูก "ตีความ" ให้มีความหมายว่า "ดั้งเดิม" ซึ่งกลายเป็น "คำคุณศัพท์" ของคำว่า 善 (shàn, ซั่น) ที่หมายถึง "ความดี" เหมือนเดิม ... ?!?! ... งงอ้ะดิ๊ !!?!

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำว่า 善 (shàn, ซั่น) ในที่นี้ จึงน่าจะถูก "ตีความ" ให้มีความหมายอื่นที่ไม่ใช่ "ความดี" !?!? ... แต่มันควรจะเป็นอะไรนี่สิที่ผมรู้สึกว่า มันต้อง "เถียงกับคัมภีร์" ... อีกแล้ว?!?! ... 😄 ... ถือว่าเป็น "ประเด็น" ที่ผมอยากจะเก็บเอาไว้ไปขบคิดต่อให้ชัดๆ อีกครั้งแล้วกัน ระหว่างนี้ขอกลับไป "เถียงกับคัมภีร์" ฉบับเดิมที่ค้างคามากว่าสิบปีให้จบก่อนดีกว่า ดูเหมือนจะนานเกินที่กะไว้ตั้งแต่แรกเยอะมากเลยทีเดียวเชียว !!!?!?!... 😄

 

 

 

สุวรรณภูมิ ... หนอ?!

27/8/2018 | Comments: 4

เห็นเป็นกระแสดราม่ากันมาหลายวันแล้วสำหรับผลลัพธ์ของการประกวดแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร "สุวรรณภูมิ 2" ... หรือที่ผมเรียกว่า "สุวรรณภูมิหนอ" ตามสำเนียงการออกเสียงแบบ "แต้จิ๋ว" ของผม... 😄

ประเด็นของดราม่าก็คงจะมาจากประเด็นที่ว่า แบบสถาปัตยกรรมที่ชนะการประกวดอันดับที่ 1 นั้น เกิด "หลุดโค้ง" จนตกขอบและไม่สามารถเข้าเส้นชัยของคณะกรรมการฯ จาก ทอท แบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับที่ 2 จึงแซงโค้งเข้าเส้นชัยไปโดย "เทคนิคทางเอกสาร" ที่ไม่เกี่ยวกับ "เทคนิคของสนามบิน" เลยซักนิดเดียว !?!?! ... แต่มันก็คงจะไม่ดราม่าหนักขนาดนี้ หากบังเอิญว่าแบบที่ชนะการประกวดอันดับ 2 นั้น ไม่ได้ถูกสาธารณชนมองว่าเป็น "การลอกเลียน" มาจากแบบอาคารที่หลายคนเคยพบเห็นมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับมันดูไม่สมกับคำว่า "ความเป็นไทย" ที่ดูเหมือนจะเป็น "ประเด็นคาใจ" มากจากครั้งการก่อสร้าง "สถานีอวกาสสุวรรณภูมิ" หลังเดิมเมื่อหลายปีก่อน ... แต่ที่ผมเองรู้สึกว่ามันสาหัสกว่านั้นก็คือ มันดูไม่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ กับ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมนั้นเลยซักนิดเดียว ... ประมาณว่า ผมรู้สึกเหมือนมีการนำ "ขยะทางสายตา" อีกกองหนึ่งมาถมลงไปตรงบริเวณ "หนองงูเห่า" นั้นก็ไม่ปาน ... 😋 ... แต่ก็เอาเหอะ !! ... ผม "เชื่อว่า" เหล่า "คณะกรรมการอันทรงภูมิ" แห่ง ทอท คงพิจารณาแล้วว่า มันเหมาะเหม็งจริงๆ กับแบบสถาปัตยกรรมที่ว่านั้น เพื่อสะท้อน "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ที่เราไม่เคยมีอะไรเป็นของตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ มาก่อนเลย !!! ... ซึ่งก็ดู "เป็นไทยๆ" ไปอีกแบบที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ ... 😅

แต่พอเอาเข้าจริงเมื่อมีคนนำเอาแบบสถาปัตยกรรมที่ "แพ้" แบบ Technical Knockout มาอวดโฉมให้ดูกันทางอินเทอร์เน็ต ผมก็รู้สึกว่ามันมี "การลอกแบบ" หรือ "การจำลองความคิด" มาจากสนามบินของสิงค์โปร์แบบชัดๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรเพราะสนามบินของเขาชนะการคัดเลือกให้เป็นสนามบินดีเด่นระดับโลกถึง 5 ปีติดต่อกันมากก่อนนี่นา ... การเอาของดีๆ ของเขามาใช้บ้างมันก็น่าจะโอเคอยู่หรอก ... จริงมั้ยล่ะ?!!? ... 😈 ... อีกอย่างนะ ... ไอ้ "ความเป็นสนามบิน" เนี่ย มันก็ "เป็นสากล" ซะจนไม่รู้ใครลอกใครก่อนมาตั้งนานแล้วนี่นา ... รึไม่ใช่?! ... สรุปว่า ประเด็นของ "การลอก" หรือ "การไม่ลอก" สำหรับผมนั้นมันไม่ใช่ "สาระสำคัญ" ไปละ เพราะ "ความรู้" ที่ไหลเวียนราวกับฝุ่นผงในชั้นบรรยากาศของโลกทุกวันนี้ เราเองก็แทบบอกไม่ได้เลยว่า สิ่งที่หลายคนเรียกว่า "แรงบันดาลใจ" นั้น มันมีที่มาจาก "ซอกหลืบไหนของประสบการณ์" ของเราบ้าง แล้วหลายคนก็ "เรียน-เลียน-เลียน-เรียน" กันจนไม่รู้แหล่งไหนเป็นแหล่งไหนมาตั้งหลายปีอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อผมฝักใฝ่ในแนวคิดแบบ "โอเพนซอร์ส" ด้วยแล้ว "การหยิบยืม" หรือ "การคัดลอก" มาใช้งานยิ่งไม่ใช่ "สาระสำคัญ" สำหรับผมอีกต่อไป ... แต่ว่า ...

ผมยัง "คาใจ" กับ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมนั่นมากกว่า คือมัน "น่าเกลียด" สำหรับผมไง!! ... แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พวกเราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า นั่นคือ "สนามบินแห่งชาติ" ของประเทศไทย แล้วถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรจะหาทางปรุงแต่งให้มันได้รับความรู้สึกที่ดีขึ้นมาบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ซึ่งผมก็ยอมรับว่า แบบสถาปัตยกรรมที่ "แพ้" Techinical Knockout ไปนั้น ได้พยายามจัดการกับประเด็นด้านรูปลักษณ์อาคารนี้พอสมควร และต้องถือว่า ได้ให้ "ความเคารพ" ต่อ "สภาพแวดล้อมทางกายภาพ" ที่มีอยู่ก่อนของอาคารหลังใหม่อย่าน่าชมเชยกว่าแบบที่ "แซงโค้ง" เข้าวินไปหลายขุมเลยทีเดียว ... แต่ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะถ้า "เทคนิคทางเอกสาร" อัน "จุกจิกหยุมหยิม" ยังไม่แม่น เราจะไปวางใจให้ดูแลระบบที่น่าจะ "ซับซ้อน" ยิ่งกว่าได้ไง??!! ... จริงป้ะ?! ... 😈

จะว่าไปแล้ว ผมรู้สึก "เสียดาย" กับแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นอันดับที่ 3 มากกว่า เพราะนอกจากมันจะดูสวย มีแนวคิดที่งดงาม ประกอบกับรูปทรงอาคารก็ทันสมัยแบบ "ไม่ไทยจ๋า" จนน่าเบื่อ แถมยังช่วย "ปรุงแต่ง" ให้ "สถานีอวกาศ" หลังเดิมดู "ไม่หลุดโลก" เหมือนเมื่อก่อน แต่กลับสามารถผนวกมันเข้าไปในเรื่องราวใหม่ตามแนวคิดที่งดงามนั้นได้อีกต่างหาก มีการนำเสนอรายละเอียดของการใช้งานจริง และการวางแผนสำหรับส่วนต่อขยายในอนาคตไว้อย่างค่อนข้างครบครัน ... อาจจะมีมุมไหนที่ "ลอกเลียน" ใครมาอีกบ้างรึเปล่าผมก็ไม่รู้ละ เพราะประสบการณ์ของผมเองก็ไม่ได้กว้างไกลใหญ่โตจนสามารถ "จับโกหก" ใครต่อใครได้อยู่แล้ว ... เพียงแต่รู้สึกว่า มันตอบ "โจทย์ที่คาใจ" เรื่อง "สถานีอวกาศสุวรรณภูมิ" ได้อย่างเหมาะเจาะที่สุดในจำนวนทั้ง 3 แบบที่ผมเห็น ... ก็เท่านั้น !!?! ... แต่ "คณะกรรมการผู้ทรงภูมิ" ทั้งหลายท่านเห็นเป็นอย่างอื่นที่ไม่ตรงกับใจผม มันก็เรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบกันไปเอง ... ด้วยเงินภาษีของผมจำนวนน้อยนึง!! ... 😄

ไอ้เรื่อง "ชอบใจ" หรือ "ไม่ชอบใจ" ในแบบสถาปัตยกรรมแต่ละแบบมันก็ต้องมีกันบ้างอยู่แล้วแหละ ยังไม่ต้องนับเรื่อง "ชอบขี้หน้า" หรือ "ไม่ชอบขี้หน้า" สถาปนิกที่ออกแบบด้วยก็ได้ เพราะประเด็นมันจะเลอะเทอะไปกันใหญ่ ในเมื่อ "คณะกรรมการผู้ทรงภูมิ" เขาได้ตัดสินกันไปแล้วตาม "หน้าที่" ของพวกเขา สาธารณชนก็ไม่ควรจะเอะอะโวยวายด้วย "อารมณ์ที่แตกต่างกัน" ให้วุ่นวาย ... เก้าะ ... ในเมื่อเราไม่ใช่ "ผู้ทรงภูมิ" ที่เขามาอัญเชิญให้ไป "แดกเผือกร้อน" ก้อนนี้มาตั้งแต่แรกนี่นะ ... จะ "สมหวัง" หรือ "ผิดหวัง" มันก็เพราะพวกเราไป "ตั้งความหวัง" เอาไว้เองทั้งนั้นแหละ!! ... รึไม่จริง?!! ... 😄

 

 

 

มาตรฐานการบัญชี ... เหรอ ?!?!

24/8/2018

ผมมักจะบอกกับใครต่อใครมาโดยตลอดว่า "การบัญชี" คือ "ศาสตร์ที่ตายไปแล้ว" เพราะมันไม่เคยมีพัฒนาการใดๆ อีกเลยหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาได้ระยะหนึ่งใน "ชีวประวัติทางวิชาการ" ของมัน ... โดยทุกวันนี้มันก็ยังวนเวียนอยู่กับ "สมการเดิม" ซึ่งเป็นเพียง "สมการเดียว" ในชีวิตที่แท้จริงของ "ศาสตร์ที่ไร้พัฒนาการ" สาขานี้ ... "ทรัพย์สิน = หนี้สิน + ทุน" อันเป็นที่มาของ "กฎเหล็ก" ที่เปรียบประดุจ "บัญญัติแห่งพระเจ้า" ว่า ... "เดบิต" ต้องเท่ากับ "เครดิต" เท่านั้น ... แล้วมันก็ไม่มีอะไรอีกเลย !!!?!

แต่ทำไม "โลกของมนุษย์บัญชี" ถึงได้ดูยุ่งเหยิงวุ่นวายด้วยการบันทึก "รายการทางบัญชี" อย่างสลับซับซ้อน ซึ่งแม้แต่ "มนุษย์บัญชี" แต่ละรุ่น ที่น่าจะมาจากดาวดวงเดียวกัน ยังต้องใช้เวลาอีกตั้งหลายปีกว่าจะมี "สำนึกมนุษย์บัญชี" จริงๆ อย่างที่ชาว "มนุษย์บัญชี" จะยอมรับรองกัน ?!?! ... อะไรคือเหตุผลที่ที่ทำให้มันต้องยุ่งยากวุ่นวายขนาดนั้น ?!?! ... เก้าะถ้า ... ไอ้ความยุ่งยากวุ่นวายที่ชาว "มนุษย์บัญชี" เรียกขานกันว่า "มาตรฐานการบัญชี" นั้น มันดีจริงๆ มันสมบูรณ์แบบแล้วจริงๆ มันถูกต้องแล้วจริงๆ และสามารถสะท้อนความเป็นจริงของโลกธุรกิจได้อย่างที่คุยโวโอ้อวดเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่อลังการแล้วล่ะก้อ ... มันยังจะต้องปรับเปลี่ยนมาตรฐานกันทำไมอยู่เรื่อยๆ?!?! ... ทำไมถึงยังมีการโกงในระบบบัญชีได้อยู่เป็นประจำ?!?! ... ทำไมมันถึงสามารถซุกซ่อนความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายเอาไว้ได้อย่างลึกลับซับซ้อน จนต้องมีการกำหนดมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อบังคับใช้ให้เป็นกฎหมาย??!!? ... ฯลฯ ... คำตอบเดียวที่ผมนึกออกในเวลานี้ก็คือ ... "มนุษย์บัญชี" มอง "ความจริง" ที่ "ต่างมิติ" กับ "มนุษย์ปรกติ" โดยทั่วไปนั่นเอง !!!

ถ้า "การบัญชี" มีความสำคัญในระดับที่สามารถ "ชี้เป็นชี้ตาย" ให้กับองค์กรทางธุรกิจต่างๆ อย่างที่อวดอ้างสรรพคุณเอาไว้แล้วล่ะก้อ ... ทำไมการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ถึงต้องอ่านยาก?! แล้วยังต้องพลิกหน้าเอกสารอีกตั้งหลายๆ หน้า เพียงเพื่อจะรู้ข้อมูลที่จำเป็นอะไรบางอย่างก่อนตัดสินใจ?! ... ทำไมการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ถึงต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 นาที?!?! ... ทำไมมันถึงใช้เวลาเพียง "เสี้ยววินาที" เพื่อการอ่าน "รายงานทางบัญชี" ก่อน "การตัดสินใจ" อย่างทันทีทันใดเหมือน "เรื่องคอขาบาดตาย" เรื่องอื่นๆ ใน "ชีวิตมนัษย์" ไม่ได้??!! ... ทำไม??!! ... มันก็น่าจะเพราะ "มนุษย์บัญชี" มี mindset ที่ไม่ตรงกับ "โลกของความเป็นจริง" อีกนั่นแหละ !!! ... การใช้ "ภาษามนุษย์บัญชี" เพื่อสื่อสารกับ "ชาวมนุษย์โลก" จึงไม่เคยราบรื่น และไม่อาจเป็นที่เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างที่ "โลกธุรกิจ" ควรจะเป็น ... เท่านั้น ...

"มนุษย์บัญชี" มักจะ "เชื่อกันว่า" การบันทึกรายการเดียวกันหลายๆ ที่ เก็บรายละเอียดให้ต่างรูปแบบกันหลายๆ ครั้ง จะช่วยป้องกัน "การบิดเบือนข้อมูลที่แท้จริง" ... แล้ว "มนุษย์บัญชี" จำนวนมากก็ยัง "เชื่อว่า" การเก็บข้อมุลเดียวกันหลายๆ จุด จะช่วยให้ "การตรวจสอบ" มี "ประสิทธิผล" ที่ "เที่ยงตรง" และ "แม่นยำ" มากขึ้น เพราะสามารถ "กระทบยอด" กลับไปกลับมาได้อย่าง "ไม่มีทางผิดพลาด" ได้เลย ... ฯลฯ ... "มนุษย์บัญชี" มี "ความเชื่ออย่างฝังหัว" ด้วยว่า "การตรวจสอบที่เข้มข้น" และ "ละเอียดยิบ" คือหนทางเดียวที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ มี "ความโปร่งใส-ชัดเจน" อันเป็นปัจจัยที่จะ "ส่งเสริม" ให้เกิดพัฒนาการในทุกๆ ด้านอย่างราบรื่น ... ฯลฯ ... ซึ่งทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า "เทพนิยายของมนุษย์บัญชี" ... ล้วน ... ล้วน ... เลยครับ ... !!?!?!??

ความจริงแล้ว ... การบันทึกรายการหลายๆ ครั้งด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น คือ "การบั่นทอนประสิทธิภาพของงาน" อย่างเลวร้ายมากๆ และ "การกระทบยอด" เพื่อยืนยัน "ความถูกต้องตรงกัน" ของเอกสารต่างรูปแบบกันนั้น ย่อมทำให้ "มนุษย์บัญชี" มุ่งความสนใจอยู่กับ "การตรวจสอบเอกสาร" แต่ตัดขาด "ความสัมพันธ์" กับ "ข้อเท็จจริง" ไปโดยปริยาย ... ส่วน "การตรวจสอบที่เข้มข้น" กับ "การตรวจสอบอย่างละเอียด" นั้น ก็เป็นคนละเรื่องกับ "การสร้างหลักฐานทางเอกสาร" จำนวนมากๆ ขึ้นมาล้างผลาญเวลาของชีวิตไปกับ "การตรวจสอบ" ที่ "ไม่เคยก่อเกิดประโยชน์" ใดๆ เลย ... !!?!?! ... 😱

ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ แล้วก็ไม่มีใครอ่านผิดด้วย ... "การตรวจสอบ" คือกิจกรรมที่ "ไม่เคยก่อประโยชน์" ใดๆ เลย เพราะมันคือ "ค่าใช้จ่าย" ... ล้วน ... ล้วน ... !?!?! ... จริงอยู่ที่ "การตรวจสอบ" คือ "สิ่งจำเป็น" ของการปฏิบัติงานในทุกๆ ด้าน ... แต่ "สิ่งจำเป็น" ก็คือ "สิ่งที่ต้องมีเท่าที่จำเป็น" เท่านั้น ไม่ใช่มีมันพร่ำเพรื่อไปเรื่อยเปื่อยอย่างไร้สาระไปวันๆ อย่างที่ "มนุษย์บัญชี" หลายคน ... "ตะแบง" ปฏิบัติงานกันอยู่!!?! ... เพราะใน "โลกของความเป็นจริง" นั้น ... "การตรวจสอบ" คือ "การทำซ้ำ" ในสิ่งที่ "ทำไปแล้ว" ... คือ "การดูซ้ำ" ในสิ่งที่ "ดูไปแล้ว" ... มันจึงไม่มี "พัฒนาการ" ใดๆ ที่จะงอกเงยออกมาจาก "การตรวจสอบ" ที่เป็น "การทำซ้ำ" อย่างแน่นอน ... การล้างผลาญเวลาไปกับ "การตรวจสอบที่ไม่เจออะไรผิด" คือ "การใช้ชีวิตที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ" ให้แก่โลก ... และต่อให้เจออะไรที่มันผิดพลาดจริงๆ มันก็อาจจะเป็น "ความผิดพลาด" ที่สร้าง "ความฉิบหายไปก่อนหน้านั้น" เมื่อ น า น ม า แ ล้ ว อยู่ดี ... ซึ่งมันเก้าะยังโอเคอยู่นะ ถ้าเรายังมีโอกาสได้ลงโทษคนที่กระทำความผิดกันบ้าง ... แต่ถ้ามันเป็น "ความผิดพลาด" ที่เกิดจาก "ความไม่ทันต่อเหตุการณ์" ของ "การตัดสินใจ" เพราะมัวแต่งงกับรูปแบบอันสลับซับซ้อนของ "รายงานทางบัญชี" ล่ะ??!! ... จะบอกว่าเป็น "ความฉิบหาย" อันเกิดจาก "มาตรฐานการบัญชี" ที่ "มนุษย์บัญชี" สุมหัวกันร่างขึ้นมาได้มั้ย??!!

ผมเห็นด้วย 100% กับการที่เราควรจะต้องกำหนด "มาตรฐานการบัญชี" ขึ้นมา เพื่อให้ทุกๆ หน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติอย่าง "ถูกต้องตรงกัน" ... แต่ "ความเป็นมาตรฐาน" กับ "ความสลับซับซ้อน" หรือแม้แต่ "ความละเอียดละออ" กับ "ความจุกจิกหยุมหยิม" นั้น มันเป็นบรรทัดฐานที่ "ต่างโลก-ต่างมิติกัน" ซึ่งไม่ควรนำมาปะปนจนดูเหมือนอาการของคนเสียสติอย่างที่กำลังเป็นกันอยู่ ... เพราะโดยส่วนตัวแล้ว "หลักเกณฑ์พื้นฐาน" ที่ผมใช้ใน "การนำเสนอรายงาน" ทุกชนิดของผมก็คือ ... มันจะต้องมี "ความครบถ้วนสมบูรณ์อย่างเบ็ดเสร็จหมดจด" ภายในเนื้อที่เพียงหนึ่งหน้ากระดาษ ... เท่านั้น!!? ... และที่สำคัญที่สุดก็คือ "การดาษต้องพูดได้" ด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องมีใครบางคนมาคอยนั่งชี้แจง หรือคอยให้คำอธิบายทุกๆ รายละเอียดอยู่ตลอดเวลา ... เพราะฉะนั้น ส่วนที่เป็น "สาระสำคัญ" ของรายงานแต่ละชิ้น จะต้องมี "ความรวบรัด-ชัดเจน" ต้อง "ไม่เยิ่นเย่อรุ่มร่าม" ให้ใครต้องมา "เสียเวลาของชีวิต" กับ "รายงานที่สิ้นคิด" เหล่านั้นเป็นอันขาด ...

"มนุษย์บัญชี" เอย ... จงกลับตัวกลับใจเสียใหม่เถิด หากยังมีจิตสำนึกที่เพียพอแก่ "การพัฒนาสังคมโลก" ให้ยังสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ... อย่างยั่งยืน !!

 

 

 

ฉึกเว็บกู !!

8/11/2016

เห็นข่าวกับคลิปกรณี "กราบรถกู" ว่อนกระจายไปทั่วเน็ตกับ TV อยู่หลายวันแล้ว ซึ่งทิศทางส่วนใหญ่ก็จะออกมาประณามพฤติกรรมอัน "ไม่เหมาะสม" นั้นอย่างเมามันพอสมควร มีทั้งล้อเลียน มีทั้งดุด่าว่ากล่าว มีทั้งตักเตือน แล้วก็มีทั้งรูปแบบของการให้ข้อคิดแบบนักจิตวิทยา มีการใช้ถ้อยคำที่แรงบ้างเบาบ้างไปตามอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ และวุฒิภาวะของแต่ละบุคคล ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติของ "สังคมอุดมดราม่า" ที่อาศัยโซเชียลมีเดียเป็น "ยาสามัญประจำสันดาน" เพื่อระบาย "ความอะไรต่อมิอะไร" ของตัวเองออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้กัน ...

กรณีดังกล่าว ใครจะผิดจะถูกยังไงในทางกฎหมาย ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามเรื่องตามราวของเขาอยู่แล้วแหละ แต่ก็มี "การชี้ชัดในทางสังคม" ไปแล้วล่ะครับว่า บุคคลสาธารณะในข่าว ได้กลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังต้องประสบกับ "การชดใช้กรรม" ชนิดหลายเด้งแบบในละครเลยทีเดียว ... "สมควร" หรือว่า "สาสม" ในความรู้สึกของใครก็ว่ากันไป ... ข้อนั้นผมไม่เกี่ยวละ !! ... 😃

แต่ประเด็นที่ผมอยากจะสะท้อนออกมาก็คือ ในช่วงระยะเวลาของ "ความรุ่งโรจน์แห่งสื่อสังคมออนไลน์" นั้น เรามีโอกาสได้เห็นกรณี "การทำร้ายร่างกาย" ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคลิปต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็มีทั้ง "ความเหมือน" และ "ความแตกต่าง" กันพอสมควร ... ซึ่งหนึ่งใน "ความเหมือน" ก็คือ ทุกครั้งจะเป็น "การระเบิดอารมณ์" ของ "ผู้กระทำความรุนแรง" เพราะ "ผู้ถูกกระทำ" ดันไป ทำร้าย / ทำลาย / ดูถูก / ดูหมิ่น / ฯลฯ หรือกระทำการใดๆ อันไม่บังควรต่อ "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" ของผู้อื่นก่อน จึงกลายเป็นเหตุให้ "ระเบิดทางอารมณ์" เกิดการปะทุขึ้นมาอย่างฉับพลัน จนแม้กระทั่ง "เจ้าของอารมณ์" เอง ก็ยังไม่อาจยับยั้งด้วยสติได้ทันด้วยซ้ำไป ... พวกเราจึงมีโอกาสได้เห็น "คลิปแห่งความรุนแรง" เหล่านั้นถูกนำเสนอออกมา เพื่อสนองความอะไรต่อมิอะไรของพวกเรากันเป็นระยะๆ

ทีนี้ ในแง่ของ "ความแตกต่าง" ระหว่าง "คลิปแห่งความรุนแรง" เหล่านั้นก็คือ ... บางครั้ง "ผู้กระทำความรุนแรง" ก็เป็น "ผู้ร้าย" ... แต่บางครั้ง "ผู้ถูกกระทำ" กลับเป็น "ผู้ร้าย" ใน "ความรู้สึก" ของ "ผู้เสพสื่อ" ซะเอง ... ทำไม ... ??!!

ผมมองว่า "จุดที่แตกต่าง" ของ "อารมณ์จากการรับรู้" ของ "ผู้เสพสื่อ" ก็คือ ... "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" นั้น เป็นสิ่งเดียวกันกับของ "ผู้เสพสื่อ" หรือไม่ ?! ... ถ้าบังเอิญ "ใช่" คนที่ถูกยำก็จะถูกซ้ำเติมด้วยถ้อยคำต่างๆ นาๆ ส่วนคนที่ยำคนอื่นก็จะกลายเป็น "ฮีโร่" ที่ช่วย "ระบายความโกรธแค้น" แทน "ฝูงชน" ที่มี "อารมณ์ร่วม" ใน "สิ่งซึ่งมีคุณค่าทางใจอย่างสูง" นั้น ... แต่ถ้า "ไม่ใช่" คนที่ยำคนอื่นก็จะกลายเป็น "ผู้ร้าย" ที่แสดงพฤติกรรมอัน "รุนแรงเกินกว่าเหตุ" ทันที เพราะดันทะลึ่ง "แสดงความโกรธแค้น" ในสิ่งที่ "ฝูงชน" เขาไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรด้วยเลย ส่วนคนที่ถูกยำ ก็จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หรือได้รับข้อเสนอที่จะเยียวยาสารพัด

จะว่าไปแล้ว "ความเปราะบางทางอารมณ์" ของมนุษย์ น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เลยทีเดียว "พื้นที่ทางอารมณ์" ที่หลายๆ คนซุกแอบไว้อยู่ลึกๆ นั้น ได้กลายเป็น "ดินแดนต้องห้าม" ที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงล้ำเข้ามาไม่ได้อย่างเด็ดขาด และอาจกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของ "ความแตกแยก" อย่างไม่อาจประสานกันได้ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกเลย ไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่, พี่-น้อง, สามี-ภรรยา, เพื่อนสนิทมิตรสหาย, หรือแม้แต่สังคมทั้งสังคม จนถึงขนาดเป็นชาติบ้านเมือง

กรณี "กราบรถกู" อาจจะเป็นเพียง "เรื่องไร้สาระ" ของสมาชิกสังคมส่วนหนึ่งที่ "บูชาวัตถุสิ่งของ" เหนือ "ความเป็นมนุษย์" ในตัวเอง และในผู้คนรอบข้างเท่านั้น ... แต่นั่นไม่ได้แปลว่า คนอื่นๆ ในสังคมไม่มี "จุดเปราะบางทางอารมณ์" ในรูปแบบอื่นๆ ของแต่ละคน ... เพราะบางครั้ง "ความเปราะบาง" นี้ก็อยู่ในรูปของ "การบูชาบุคคล", "การเทิดทูนลัทธิ", "ความคลั่งไคล้ในหลักการ", ฯลฯ ... ซึ่ง ... ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดก้าวล่วง ไม่ว่าจะด้วยกิริยาท่าทาง, ถ้อยคำ, ฯลฯ ... หรือแม้แต่สายตาด้วยซ้ำ ...

การที่เราเคยเห็นข่าวของการยกพวกตีกันของบรรดานักเรียนจากสถาบันต่างๆ หรือจากการตะลุมบอนของแก๊งค์อันธพาลในบางท้องถิ่น ... หรือแม้แต่การก่อม็อบชนม็อบ โดยผู้ที่หวังผลทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของ "การจุดระเบิดทางอารมณ์" ของผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ทั้งนั้น ... ซึ่งในหลายๆ กรณี เราก็จะเห็นทั้ง "ผู้ทรงภูมิปัญญา" กับ "ผู้ที่ไม่มีดีกรีทางการศึกษา" มารวมหมู่อยู่ในฟากฝั่งเดียวกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องของ "ความรู้" กับ "ความไม่รู้" ... ไม่ใช่เรื่องของ "ฉลาด" กับ "โง่" อย่างที่ต่างฝ่ายต่างพยายามยัดเยียด "ของไม่ดี" ให้กับ "คู่กรณี" ของตน ... แต่มันเป็นเรื่องของ "คุณค่า" ที่แต่ละ "ฝูงชน" ประเมินไว้ในใจให้สูงส่งกว่า "ความถูกต้อง" ใดๆ แม้แต่ "สติ" ของตัวเอง !!

ดูข่าว ดูคลิป แล้วลองขยิบตาดูตัวเองซะมั่ง ... วันใดที่เราขาด "สติ" ... วันนั้นอาจจะเป็น "วันซวย" ของเราเองก็ได้ หาก "คุณค่าที่เหนือสติ" นั้นๆ ของเรา ดันไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม !! ...

 

 

เรื่องไร้สาระ ?!

14/10/2015 | Comments: 2

บังเอิญว่ามีโอกาสไปเยือนประเทศไต้หวันเป็นครั้งที่สองในรอบปีนี้ ซึ่งแม้ว่าจุดประสงค์หลักจะไม่ใช่การไปเที่ยว แต่ไฮไลท์ยามว่างของทั้งสองครั้งก็คือ การได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน (Taiwan National Palace Museum) หรือที่รู้จักกันในนามว่า "กู้กง" (故宫) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ "พระราชวังต้องห้าม" (The Forbidden City) ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจาก "พิพิธภัณฑ์กู้กง" คือสถานที่เก็บรักษาวัตถุโบราณล้ำค่า ที่อดีตกองทัพ "ก๊กมินตั๋ง" ขนย้ายออกมาจาก "พระราชวังต้องห้าม" ในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งถือเป็นการขนย้ายสมบัติล้ำค่าครั้งมโหฬารที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะ "พิพิธภัณฑ์กู้กง" แห่งนี้ สามารถจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการสับเปลี่ยนหมนุเวียนกันทุกๆ 3-4 เดือนมาตลอดระยะเวลาเกือบร้อยปีโดยไม่ซ้ำชิ้นกันเลย !!! ... การมาเยือน "พิพิธภัณฑ์กู้กง" ทั้งสองครั้งในรอบปีเดียวกัน จึงมีโอกาสที่จะได้ดื่มด่ำกับความอลังการของโบราณวัตถุที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ...

จะว่าไปแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเยือนทั้งสองครั้งของผมไม่เหมือนกันเลยก็คือ "เวลา" โดยครั้งแรกเป็นการเยือนแบบเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งแทบจะต้องเดินวนไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางที่หัวหน้าคณะเป็นผู้กำหนด และมีเวลาพินิจพิจารณาวัตถุโบราณแต่ละชิ้นอย่างค่อนข้างจำกัดมากๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมกลุ่มอื่นๆ (ซึ่งเยอะมากในแต่ละวัน) ได้มีโอกาสเข้าชมวัตถุโบราณแต่ละชิ้นอย่างทั่วถึง ในขณะที่การเยือนครั้งที่สองนี้แทบจะเป็นการเยือนแบบส่วนตัวจริงๆ จึงสามารถอ้อยอิ่งอยู่กับวัตถุโบราณแต่ละชิ้นได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งคณะเล็กๆ ของพวกเราก็ไม่มีโปรแกรมอื่นใดมาเร่งเร้าให้ต้องรีบออกจากพิพิธภัณฑ์ เราจึงสามารถเอ้อระเหยอยู่กับโบราณวัตถุเหล่านั้นได้อย่างหนำใจพอสมควร ... หนำใจจนเกิดความคิดพิลึกพิลั่นขึ้นมาว่า ... อารยธรรมทางวัตถุเหล่านี้มันช่างไร้สาระจริงๆ ... รึเปล่า ??!! ... 😃

ในแง่หนึ่ง เราอาจจะมองว่า ผลงานหัตถกรรมอันวิจิตรบรรจงเหล่านั้น มันช่างละเอียดประณีต และงดงามอย่างยากจะหาวัตถุอื่นใดในยุคสมัยปัจจุบันไปเทียบได้เลย แต่เมื่อย้อนพิจารณาอีกแง่หนึ่งที่ว่า งานหัตถกรรมอันวิจิตรพิสดารเหล่านั้น ล้วนถูกประดิษฐ์ประดอยขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์เมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน ซึ่งปราศจากเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยเยี่ยงในยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ ผมก็แทบนึกไม่ออกเลยว่า ผู้คนในสมัยนั้นช่างมีเวลาของชีวิตที่มากมายเหลือเฟือขนาดไหนกันแน่ พวกเขาจึงสามารถเอาเวลามาตกแต่งประดับประดาภาชนะต่างๆ ซะขนาดนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ "สารัตถะของชีวิต" เลยซักนิดเดียว ?!?! ... "ทำไปทำไมวะ ??!!" ??!!??!! ... ยิ่งเมื่อเห็นงานประดิษฐ์องค์พระพุทธรูปทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่ที่เรียงรายในตู้แสดงของพิพิธภัณฑ์ด้วยแล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกสงสัยขึ้นมาว่า ... "ไหนบอกพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายไง ?!" ... "นี่มันอะไรของมันวะเนี่ย ?!" ... ถ้าในแง่หนึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "อารยธรรม" ... เราจะเรียกมันว่า "สิ่งไร้สาระ" เมื่อพิจารณาในแง่ของ "สารัตถะของชีวิต" ได้ด้วยมั้ย ?!! ... หรือ "อารยธรรม" ทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ ล้วนมิใช่เต็มไปด้วยการประดิษฐ์ประดอยสิ่งที่ "เกินความจำเป็น" เข้าไปในเนื้อหาที่ใช้ได้ดีอยู่แล้วตามปรกติ ??!! ... งั้น "อารยธรรม" ก็คือ "สิ่งมิใช่สาระ" งั้นสิ ??!!

เมื่อย้อนกลับมานึกถึง "การต่อสู้กันทางความคิด" ของบรรดา "สาวกพุทธแท้" กับเหล่า "เดียรถีย์พุทธแต่เปลือก" ที่ถ่มถุยกันไปมาจนว่อนอินเทอร์เน็ตมาได้ระยะหนึ่งของสังคมไทย ผมก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่า เก้าะถ้าหากบรรดา "สาวกพุทธแท้" ตั้งแต่ยุคหลังพุทธกาลเป็นต้นมา ไม่เกิดกระบวนการแตกหน่อแตกกอแตกแถวออกมาสร้างถาวรวัตถุให้ใหญ่โตโอฬารจนกลายเป็น "อารยธรรมชาวพุทธ" โดยบรรดา "สาวกพุทธแท้" ทั้งหลาย เอาแต่ท่องบ่นคัมภีร์ แล้วก็พิจารณาตีความกันไปวันๆ ว่า ... ไอ้นั่นทุกข์หนอ ... ไอ้นี่อนิจจาหนอ ... ไอ้โน่นอนัตตาหนอ ... ฯลฯ ... พวกเราจะมีโอกาสได้เห็น "ความเจริญรุ่งเรือง" ของศาสนาพุทธในอีกกว่าสองพันปีมานี้มั้ย ??! ... เรายังจะเหลือร่องรอยอะไรทางประวัติศาสตร์ให้สืบค้นย้อนกลับไปถึงคำสอนอันเป็น "แก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา" ได้อีกรึเปล่า ??!! ... ศาสนาพุทธน่าจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตั้งนานมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีใครต่อใครมานั่งถ่มถุยกันว่า ของใคร "แท้กว่า" ของใครอยู่อย่างนี้ ... รึปเล่า ??!!

ณ วันนั้นที่บรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ เขาประดิษฐ์ประดอยงานศิลปะหัตถกรรมขึ้นมาบำรุงบำเรอ "อารมณ์อันสุนทรียะ" ของพวกเขา พวกเขาคิดถึงคำว่า "อารยธรรม" มากแค่ไหน ?! ... พวกเขาคิดไว้ก่อนรึเปล่าว่า วันหนึ่งข้างหน้าในอีกหลายร้อยหลายพันปี อนุชนรุ่นหลังของพวกเขา จะพินิจพิจารณาผลงานของพวกเขาอย่างชื่นชมด้วยความดื่มด่ำในสุนทรียะเฉกเช่นเดียวกับพวกเขาในวันที่เริ่มลงมือประดิษฐ์ประดอยผลงานเหล่านั้นขึ้นมา ??!! ... หรือเจ้าพวกเด็ก "ไร้อารมณ์สุนทรียะ" ในศตวรรษต่อๆ มา จะมองว่าพวกเขานั้นบ้าบอไร้สาระ ไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เพื่อจะเข้าถึง "สารัตถะแห่งชีวิต" อย่างที่ควรจะเป็น ??!!

จงอย่า "ตัดสิน" ว่าอะไร "ดีกว่า" อะไร ... เพราะเมื่อใดก็ตามที่ "เรา" ตัดสิน ไม่ว่าจะด้วย "มาตรฐานทางความคิด" แบบใด ... "ตัวเรา" นั่นแหละที่เข้าไปสอดแทรกอยู่ใน "กระบวนการตัดสิน" นั้นๆ เสมอ !! ... ใหญ่มาจากไหนไม่ทราบ ... วะ ?!?!?! ... 😄

 

 

ว่าด้วย 'คู่ตรงข้าม'

13/6/2015

...

ถ้า 'น้อย' = x ; และ 'มาก' = y
ดังนั้น x จึงตรงข้ามกับ y
แล้วถ้า 'ไม่มาก' = z ; ซึ่ง 'ไม่มาก' เป็นนิเสธของ 'มาก'
ดังนั้น z จึงน่าจะ = x และตรงข้ามกับ y

แล้วถ้า 'ฉลาดน้อย' = x ; และ 'ฉลาดมาก' = y ; กับ 'ไม่ฉลาด' = z
แต่เมื่อ 'โง่' = 'ไม่ฉลาด' ; และ 'น้อย' ตรงข้ามกับ 'มาก'
z ซึ่งหมายถึง 'ไม่ฉลาด' จึง = 'โง่' แล้วก็เลยเท่ากับ 'ฉลาดน้อย' คือ x
ซึ่งทั้งคู่จะตรงข้ามกับ 'ฉลาดมาก' คือ y ...

ถ้า 'มาก' = y ; แล้ว 'มากกว่า' = Y
y ก็จะถูกเปลี่ยนสถานะเป็น 'น้อย' ในเชิงเปรียบเทียบกับ Y ซึ่ง 'มากกว่า' ทันที
แต่เมื่อ y = 'ฉลาดมาก' ; Y จึงน่าจะหมายถึง 'ฉลาดมากกว่า'
และเมื่อ 'น้อย' ตรงข้ามกับ 'มาก'
คู่ตรงข้ามของ 'ฉลาดมาก' จึงมี 'ฉลาดมากกว่า' อีกตัวหนึ่งไปด้วย
แต่เพราะ 'โง่' คือ 'ไม่ฉลาด' หรือ 'ฉลาดน้อย' มันจึงไม่น่าจะเป็นตัวเดียวกับ 'ฉลาดมากกว่า' ทั้งๆ ที่มันตรงข้ามกับ 'ฉลาดมาก' เหมือนกัน
...

ถ้าอย่างนั้น ความเป็นจริงของโลกมันจึงไม่ใช่มีเพียง 2 ขั้วเปรียบเทียบอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ... เสมอ ... มั้ง ??!! ...

 

 

โจทย์ของความเท่าเทียมกัน

7/5/2015

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ได้เห็นตัวอย่างการแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กันในหนังสือเล่มไหนซักเล่มของ Dr. Edward deBono เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน ที่ไม่เคยคำนึงถึงการแบ่งแบบอื่นๆ เลย นอกจากแบ่งตามแนวนอน, แบ่งตามแนวตั้ง, แบ่งตามแนวทะแยงมุม, แล้วก็แบ่งจากแนวกึ่งกลางของแต่ละด้าน ... ราวกับว่า มันก็แบ่งของได้แค่ 4 แบบนั่นแหละ จะต้องไปวุ่นวายคิดอะไรกับมันนักหนา ?! ... ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเคยมีอาการอย่างที่ว่านั้นอยู่บ้าง ... เราจะต้องยุ่งยากกับโจทย์พื้นๆ แบบนี้ไปเพื่ออะไรกัน ?! ... แต่ว่า ... โจทย์ก็คือโจทย์ มันคือ "แบบจำลอง" ที่ถูกออกแบบขึ้นมามา เพื่อให้เราได้ฝึกหัดทักษะอะไรบางอย่าง มันอาจจะเป็นสิ่งง่ายๆ พื้นๆ ที่ต้องการสื่อสารกับเราว่า ... โลกไม่ได้มี "วิธีคิด" ที่ตายตัวเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เว้นแต่เราจะ "ไม่สนใจ" หรือยอม "ดักดาน" อยู่กับรูปแบบเดิมๆ ของเราไปจนวันตาย ...

หลังจากที่ผมได้รับรู้ถึงวิธีการที่แตกต่างออกไปจาก "ความคุ้นเคย" ของตัวเองแล้ว ผมก็เลยทดลองเขียนแบบอื่นๆ ออกมาให้มากกว่า "ตัวอย่าง" ที่ได้เห็นในหนังสือ ซึ่งมันก็ยังสามารถคิดหาวิธีการอื่นๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ราวกับไม่มีวันสิ้นสุด ... และนั่นแหละที่ผมมองว่ามันน่าสนใจ ... เมื่อใดก็ตามที่เราได้หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ที่เคย "ครอบงำความคิด" ทั้งหลายทั้งปวงของเราเอาไว้ ทัศนคติและโลกทัศน์ในการคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราก็จะแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเปิดประตูแห่ง "อิสรภาพทางความคิด" ให้กับเราอย่างไม่สิ้นสุด ... ราวกับว่า นี่คือ "การหลุดพ้น" ที่เป็นแก่นแกนของคำสอนทั้งหลายในศาสนาต่างๆ นั่นเอง ... "การบรรลุธรรม" ที่หลายต่อหลายคนออกปากว่า มันเป็น "อาการทางจิต" ที่ยากแก่การอธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจ เว้นแต่ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงของ "การบรรลุธรรม" เท่านั้น จึงจะสามารถหยั่งถึง "ความเป็นอิสระแห่งจิต" ที่ปราศจาก "การครอบงำ" ใดๆ นั้นได้ ... โจทย์บ้าๆ บอๆ เรื่อง "การแบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส" ก็น่าจะเป็น "ตัวอย่าง" หรือ "แบบจำลอง" ของสิ่งที่ว่านั้น !! ...

ผมนึกถึง "แบบฝึกหัด" ข้อนี้ของ Dr. Edward deBono ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ชาว Netizen หรือ "ชุมชนไซเบอร์" ของไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามสร้างพื้นที่สำหรับ "การแสดงความเชื่อ" ของตน เพียงเพื่อหวังจะหาพวกหาพ้องที่จะร้องสนับสนุน "ความเชื่อ" เหล่านั้นของตนเท่านั้น ... ผมขอยืนยันว่า ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ "การแสดงความคิด" หรือ "การแสดงความเห็น" ในนิยามแบบของผมเลย ... เพราะมันวนเวียนอยู่กับกรอบนิยามแบบเดิมๆ ของตำรับตำราที่เขียนไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน และไม่มีวี่แววว่าจะมี "การออกแบบองค์ความรู้" อื่นใดให้เป็น "ทางเลือก" ที่มากไปกว่านั้นเลยซักนิดเดียว ... ผู้คนในสังคมกำลังพยายามนำ "บทสรุปทางความคิด" ของคนที่ตายไปนานแล้ว มากำหนดเป็นนิยามความหมายทางสังคมให้กับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ... ราวกับว่า ... สี่เหลี่ยมจัตุรัสในนิยามของพวกเขา สามารถแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กันได้เพียงไม่กี่แบบแบบเท่านั้น โดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามยกเหตุผลบ้าบอคอแตกอะไรก็ได้ขึ้นมาอ้าง เพียงเพื่อจะขอเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนว่า แบบของใครที่ดูสวยงามกว่า หรือเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่ากัน ... เท่านั้นเอง !!??!!

"คติความเชื่อ" หลายๆ อย่างในแต่ละสังคม ดูจะเป็น "กรอบที่มองไม่เห็น" ที่ใครต่อใครพากันยึดติด และกำหนดไว้เป็น
กรงครอบที่พวกเขากักขังตัวเองเอาไว้ แล้วเที่ยวได้เอะอะโวยวายเพื่อจะเรียกร้องให้ใครต่อใครยื่นมือมาปลดปล่อย !!?? ... มันบ้ารึเปล่า ??!!
... ธรรมะที่มิอาจอยู่คู่กับอธรรม, น้ำบ่อที่ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับน้ำโคลน, หรือพิมเสนที่ไม่มีใครยอมแลกกับเกลือ, ฯลฯ นั้น ... มันสามารถแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจนในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างนั้นเหรอ ?! ... "คนดี" ที่ "เชื่อ" และ "ศรัทธา" ใน "สิ่งที่เราไม่ชอบ" จะไม่มีเลยเชียวหรือ ?! ... "คนชั่ว" ที่ "แน่วแน่มั่นคง" ในสิ่งเดียวกับที่ "นักบุญ" ยกย่องเทิดทูน จะไม่เคยเกิดขึ้นได้เลยรึไง ?! ... หาก "ความดี" กับ "ความเลว" อยู่แยกขาดจากกันเป็นคนละโลก แล้วทั้งสองโลกนั้นเขาจะมี "นิยาม" ของ "ความดี" กับ "ความเลว" ว่ายังไง ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เคยพบเห็นสิ่งที่เป็น "ขั้วตรงข้าม" ของตัวเองมาก่อน ??!!

**ในโลกที่ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่มีความเท่าเทียมกัน เราจะจัดสรรปันส่วนให้เกิดความเท่าเทียมกันได้กี่วิธี ??!!**

 

 

โลก (ทัศน์) ที่เล็กลง ?!

9/1/2014 | Comments: 1

ผมเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนหลายคนว่า "เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันมันทำให้โลกเล็กลงจริงๆ นะ ... ดูสิ ... เหลือแค่หน้าจอไม่กี่นิ้วเท่านั้นเอง ... !!??" ... พวกเราหลายคนน่าจะชินตากับภาพที่ผู้คนในสังคมทุกวันนี้ ต่างพากันก้มหต้าก้มตาสนทนากับเพื่อนในอีกซีกโลกหนึ่งผ่านอุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพา แต่กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับผู้คนรอบข้างเลยตลอดเส้นทางของการเดินทางระหว่างวัน ... โลกทั้งโลกของ "สังคมคนก้มหน้า" มันคงหดเล็กลงเหลือเท่านั้นแล้วจริงๆ ... มั้ง ... รึเปล่า ??!! ...

แต่จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของหลายๆ คน (รวมทั้งของตัวเองด้วย) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บางทีผมก็รู้สึกเหมือนกันนะครับว่า โลกในยุคข่าวสารข้อมูลที่หลายคน "เชื่อว่า" จะทำให้ทุกคนมี "โลกทัศน์" ที่กว้างขึ้นกว่าเดิมนั้น มันอาจจะเป็นเพียง "สิ่งเพ้อฝัน" ของคนกลุ่มเล็กๆ เพียงบางกลุ่มบางพวกเท่านั้นเอง ... เพราะ "ความกว้างของโลกทัศน์" ที่ว่านั้น มันอาจจะเป็นเพียง "ความหนาของอัตตา" ที่แต่ละคนสรรหามาพอกทับปัญญาของตนให้ยังคงคับแคบเท่าเดิม แต่มี "เปลือกหุ้ม" ที่ทั้ง "หนา" และ "หนัก" ยิ่งกว่าเก่าอีกหลายเท่าด้วยซ้ำ !!?? ...

การที่เราสามารถสืบค้นข้อมูล และสื่อสารกับผู้คนต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมนั้น มันก็มีความเป็นไปได้ที่ว่า เรามีโอกาสที่จะพบปะผู้คนได้อย่างหลากหลายกว่าเดิม ... มีโอกาสที่จะได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจ ... และมีโอกาสที่จะต่อยอดความรู้ความเข้าใจของเราไปสู่วิถีทางใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด ... ฯลฯ ... แต่ว่า ... มันใช่อย่างนั้นสำหรับทุกๆ คนมั้ยล่ะ ?!

บางที ... เราอาจจะหลงลืมประเด็นของธรรมชาติโดยพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็น "สัตว์สังคม" ไปรึเปล่า ?! ... มนุษย์โดยส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเกาะกลุ่ม รวมพวก และเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิด หรือพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับของตนเอง ... โดยพื้นฐาน ... !!?! ... ในยุคสมัยหนึ่งที่สังคมมนุษย์มีการเกาะกลุ่มกันเป็นหมู่บ้าน หรือเป็นชนเผ่าเล็กๆ ผู้คนในสังคมแบบนั้นก็มักจะมีแนวคิด และพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่สมาชิกซึ่งแตกแถวแหกคอกผ่าเหล่าผ่ากอ ถ้าไม่ถูกกำจัดออกไปจากชุมชน ก็มักจะต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เข้ากันได้กับสมาชิกคนอื่นๆ ... ซึ่งในแง่หนึ่งจึงอาจกล่าวกันได้ว่า มนุษย์เป็น "เวไนยสัตว์" หรือ "สัตว์ที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อพัฒนาได้" ...

แต่เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารถูกพัฒนาจนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าเดิม มนุษย์ได้ละทิ้ง "สันดานเดิม" ของ "สัตว์สังคม" ไปแล้วรึเปล่าล่ะ ?! ... การออกไปสัมผัสกับสังคมโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิมนั้น มนุษย์เลือกที่จะคบหากับผู้คนที่มีแนวคิด และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากตนเองมั้ย ?!! ... ผม "เชื่อว่า" ส่วนใหญ่แล้วก็จะพยายามเสาะหาและคบค้ากับผู้คนที่มีหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกับตนเอง เหมือนกับสมัยที่ยังอยู่ในกรอบของสังคมเล็กๆ เช่นหมู่บ้าน หรือชนเผ่าของตนอย่างเดิมนั่นแหละ ... :) ... เพราะมันเป็น "พื้นฐานด้านพฤติกรรม" ของ "สัตว์สังคม" ...

เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราสามารถตระเวนเสาะหาคนที่คล้ายกับตนได้มากขึ้น มันก็จะกลายเป็นการตอกย้ำให้มีความรู้สึกขึ้นมาว่า เราเองไม่ได้มีความเป็นตัวประหลาดที่แปลกแยกหรือผิดปรกติอะไร เพราะมีคนอีกตั้งมากมายที่คิดและปฏิบัติตนเช่นเดียวกับเรา ... ความรู้สึกถึงความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก "แรงบีบคั้นทางสังคม" ก็จะค่อยๆ เจือจางลง ผู้คนก็อาจจะ "ยึดติด" อยู่กับแนวคิด หรือพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งอย่างไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกเลย ... "ศักยภาพ" ในการเรียนรู้และฝึกฝนตนของเหล่า "เวไนยสัตว์" จึงคล้ายกับถูกบั่นทอนให้ลดลงไปด้วย ... มั้ย ??!! ... ในเมื่อ "กรอบคิด" ที่เคยปิดกั้นสังคมหนึ่งออกจากสังคมอื่นๆ ได้ถูกพังทลายลงเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร เหลือไว้เพียง "กรอบคิด" ของแต่ละปัจเจกบุคคลที่จะพอกพูน "ความเป็นตัวตน" ให้หนาหนักยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม ... โลกทัศน์ที่ควรจะเปิดกว้างเพราะการสื่อสาร "อาจจะ" กลับกลายเป็น "กรงขังทางความคิด" ที่แต่ละคนสร้างขึ้นมา "กักขังตัวเองอย่างอิสระ" ... รึเปล่า ??!!

มันคงเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบจากคนอื่นๆ ... แต่มันเป็นคำถามที่เรา "อาจจะ" ต้องถามตัวเองให้บ่อยครั้งกว่าเดิม ... 😏

 

 

เหตุผลดีที่ไม่ถูกต้อง

14/11/2013

เรื่องของเรื่องมันก็เริ่มมาจากใครซักคนที่โพสต์ "เรื่องเล่าเขย่าปัญญา" เรื่องนี้ขึ้นไปในอินเทอร์เน็ต นั่นแหละ ...

ตอนนี้มีความเห็นต่างกันของผู้ชุมนุมในเรื่องการประท้วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฝ่ายนึงบอกว่าเมื่อรัฐบาลถอยแล้วก็...ควรเลิกประท้วง เพื่อความสงบของชาติ

อีกฝ่ายก็บอกว่า...ควรยกระดับเพื่อขับไล่รัฐบาล... เพราะ บลา บลา บลา เหมือนหาเรื่อง ได้คืบเอาศอก ก็เลยอยากจะยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวในสังคมไทย เรื่องมันก็มีอยู่ว่า...

สีกามันเข้าไปอ้อนเจ้าอาวาสตั้งแต่เช้า แถมเปิดกุฏิถ่ายทอดสดเป็น reality ให้คนดูทั้งประเทศ คนไทยคนไหนอยากดูก็เปิดดูเอา เพราะชาวบ้านไม่ค่อยอยากยุ่งเรื่องของพระแล้ว เจ้าอาวาสวัดซึ่งชอบอ้างว่าได้รับการแต่งตั้งจากศรัทธามหาชน ทำชั่วผิดศีลจนย่ามใจ ก็พาสีกาสาวเข้ากุฏิในยามวิกาลตอนตีสี่ ... กำลังถอดจีวร ... พร้อมจะดันให้สุดซอยอะไรประมาณนั้น ส่วนสาวเจ้าก็แต่งตัวอยู่ในชุดนอนบางเบาที่พร้อมจะซอยให้สุดดัน อิอิ แต่บังเอิญชาวบ้านไทยเฉยแอบจับตาดูอยู่...ก็ชวนกันมาประท้วงไล่สีกาสาว พร้อมกับตะโกนว่า "เลวมาก เอาสีกาชั่วออกจากกุฏิพระเดี๋ยวนี้!"

เจ้าอาวาสตกใจ กลัวลนลานที่โดนจับได้คาหนังคาเขา เลยรีบไล่ (ถอน) ให้สีกาถอยออกจากกุฏิกลับไปก่อน พร้อมกับตะโกนบอกชาวบ้านที่มาประท้วงว่า

"โอเคร โอเคร กูไล่สีกาชั่วถอยออกจากกุฏิแล้วนี่! ... กูยอมทำตามที่พวกมึงเรียกร้องแล้วนะ ถ้าเห็นว่าไม่ดีก็จะไม่พาสีกาเข้ากุฏิอีกแระ สัญญาว่าอีกหกเดือนก็ไม่พาเข้ามา พูดจริ๊ง เลิกชุมนุมเถ๊อะ กลับบ้านเถ๊อะ ให้อภัยกันเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของหมู่บ้านเรา นะ นะ"

แต่ชาวบ้านกลุ่มนึงก็ร้อง "อ้าว แค่เนียะ?!" แล้วตะโกนบอกว่า "เจ้าอาวาส ออกไป! ออกไป!"

เจ้าอาวาสก็ร้องออกมา ... ทำหน้าตาเหมือนปูถูกรังแก "อุตะ อุตะ! กูว่าแล้ว พวกมึงตั้งใจหาเรื่องกู ได้คืบเอาศอก สีกากูก็สั่งให้กลับไปแล้ว ยังมาไล่กูอีก พาลนี่หว่า... ฮือ ฮือ ... ทำไม พวกมึงจะมาไล่กูด้วยเหตุผลไร" ... ทำหน้างงๆ ไม่เข้าใจ เสียงสั่นเครือปนสะอื้นเล็กน้อย

"อ้าว! เว้ย! เฮ้ย! ก็มึงเป็นพระทำอย่างงี้ได้ไง มึงต้องรู้ดิว่าทำอย่างนี้มันเลว ผิดศีล มันอาบัติ ต้องปาราชิก เพราะฉะนั้นเจ้าอาวาสต้องสึก อยู่ไปกูก็ไม่ไหว้ ไม่ทำบุญ" ชาวบ้านพยายามอธิบายให้ฟัง

แต่ ... เจ้าอาวาสทำปากจู๋ ชายตาแล้วพูดขึ้นว่า

"กูไม่รู้ กูไม่สึก ไม่ไหว้ก็ไม่ไหว้ แล้วอย่าน้า ขืนก้าวข้ามสะพานมาอีกก้าวเดียวจะเรียกตำรวจมาจับพวกมึง โทษฐานทำให้กุฏิกูไม่มั่นคง!"

ชาวบ้าน ??!??!?!

เข้าใจยังครับ ทำไม...บางกลุ่มถึงมุ่งขับไล่รัฐบาล

 

 

ผมอ่านครั้งแรกก็รู้สึกว่ามัน "สมเหตุสมผล" อยู่เหมือนกัน ... แต่ก็อดรู้สึกขัดๆ กับตรรกะ "ตลกพระกับสีกา" ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้อยู่ดี ... คืออย่างงี้ครับ ...

  • สถานการณ์อันวุ่นวายในประเทศไทยเวลานี้ ไม่ได้เกิดจาก "พระ" แต่เกิดจาก "แมงดาโจร" กับเหล่า "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ อยู่ในรัฐสภา" จำนวนมาก
     
  • ถ้าจะบอกว่ามีใครคนใดคนหนึ่งกระโดดหนีออกมาจาก "กุฏิ" หลังดังกล่าวในเรื่องเล่า คนนั้นก็ไม่น่าจะเป็น "สีกา" แต่เป็น "พระปลอม" ที่ได้รับการอุปโลกขึ้นว่า จะมาทำหน้าที่ "โปรดสัตว์" ด้วย "อภัยทาน" ชนิด "ยกเข่ง"
     
  • ส่วนไอ้ที่ยังอยู่ใน "กุฏิ" หลังนั้น ก็ต้องไม่ใช่ "พระ" (เพราะมันควรจะเป็นตัวที่กระโดดหนีออกไป) แต่คือเหล่า "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" ที่ร่วมกัน "ชำเราพระ" ให้กลายเป็น "พระปลอม" แล้วปล่อยให้กระโดดหนีออกจาก "กุฏิ" ไป เพื่อที่จะอ้างว่า พวกเขาไม่สามารถตามตัว "พระปลอม" ตัวนั้นกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ได้อีกแล้ว โดย "เล่นละครตบตา" เพียงแค่ "ยกเลิกการอุปโลกพระปลอม" อีก 6 ตัว ทั้งๆ ที่พวกมันยังไม่ได้เริ่มถูกแต่งตัวด้วยซ้ำ ... ในขณะที่ "พระปลอม" ซึ่งกระโดดหนีไปแล้วนั้น "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" บอกว่า ต้องรอให้มันกลับมาเอง โดยให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ไว้ว่า จะ "หมก" มันไว้เป็นเวลา 6 เดือน "โดยไม่ทำอะไร" ... "เผื่อว่า" มันจะ "ตายไปเอง" หลังจากนั้น
     
  • ที่ "ชาวบ้าน" ควรจะเรียกร้อง จึงไม่ควรจะเป็นการเรียกร้องให้จับพระมาสึก ... เพราะมันเป็นแค่ "พระปลอม" ไม่ใช่ "พระจริง" ... แต่ต้องเรียกร้องให้ "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" เหล่านั้น "ต้อง" ร่วมกัน "ปลดเครื่องแต่งกายอย่างพระ" ออกจากไอ้เวรนั่นด้วย "วิธีใดวิธีหนึ่ง" เพราะเป็น "ผู้ร่วมสมคบคิด" ในการสร้าง "สิ่งอุบาทว์" นี้ขึ้นมา ไม่ใช่ปล่อยมันไว้ในสภาพนั้นไปอีก 6 เดือน "โดยไม่ทำอะไร" เพื่อความมั่นใจว่า มันจะไม่กระโดดออกมา "ปะปนกับพระจริง" ที่มีอยู่แล้วในสังคม ...
     
  • แต่หากว่าเหล่า "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" ไม่มี "ปัญญา" พอที่จะหาวิธีการใดๆ มา "ปลดเครื่องแต่งกายอย่างพระ" ออกจาก "พระปลอม" เพื่อแสดง "ความรับผิดชอบ" ใน "ความอุบาทว์" ที่พวกของตนร่วมกันก่อ เอาแต่นั่งรอนอนรอ "คำสั่งซื้อ" จาก "แมงดาโจร" ที่หนีไป "ซุกหัวซ่อนหาง" อยู่ต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน ... "ชาวบ้าน" ก็ไม่อาจทนเห็น "กุฏิ" ซึ่งควรจะเป็น "สถานปฏิบัติธรรม" ต้องมัวหมองจนกลายเป็นเพียง "ซ่องกะหรี่" เพราะมีเหล่า "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" คอยย่ำยีสถานที่ด้วย "พฤติกรรมอุบาทว์" อีกต่อไป ...
     
  • ก็ถ้าเหล่า "หญิง-ชายผู้ขายบริการฯ" ยัง "ดื้อด้านไร้ยางอาย" อยู่อย่างนั้น มันก็ต้องเป็น "หน้าที่" ของ "หัวหน้าฝูงกะหรี่และกะหร่วย" ที่ต้องแสดง "ความรับผิดชอบ" ด้วยการ "ไล่" พวกมัน ให้ยกโขยงออกจาก "กุฏิ" ไปให้หมด เพื่อชำระล้าง "สิ่งโสโครก" ที่ "ไร้ปัญญา" และ "ปราศจากยางอาย" เหล่านั้น ให้พ้นไปจาก "สถานปฏิบัติธรรม" ของสังคม ...
     
  • นี่ไม่ใช่ "การขับไล่รัฐบาล" แต่เป็น "การขับไล่กะหรี่" ออกจาก "รัฐสภา" ซึ่งควรจะมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรีมากกว่านี้ต่างหากล่ะครับ ... !!!