Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第十九卦 : 臨
臨 : 地澤臨 ‧ 坤上兌下
臨 : 元亨利貞‧至于八月有凶‧
- 初九 ‧ 咸臨‧貞吉‧
- 九二 ‧ 咸臨‧吉‧無不利‧
- 六三 ‧ 甘臨‧無攸利‧既憂之‧無咎‧
- 六四 ‧ 至臨‧無咎‧
- 六五 ‧ 知臨‧大君之宜‧吉‧
- 上六 ‧ 敦臨‧吉‧無咎‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : จิตใจ ผ่องแผ้วใสกระจ่าง (⚌) ; ปัญญา เปิดกว้างมั่นคง (⚏) ; กายา พร้อมเสริมส่งอย่างทุ่มเท (⚏)
ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' พร้อมรุก (⚌) ; 'แผนงาน' และ 'ปฏิบัติการ' พร้อมสนอง (⚏)
ความหมายของสัญลักษณ์ : การปกครอง, แผ่นดินเหนือทะเลสาบ
ความหมายของชื่อเรียก : Administering : การปกครอง
'ภาพอักษร' เดิมของ 臨 (lín, ลิ๋น) ประกอบด้วย 'ภาพอักษร' 3 ส่วนด้วยกันคือ ตรงมุมบนด้านซ้ายคือ 'ภาพอักษร' 臣 (chén, เฌิ๋น) ซึ่งปรกติจะหมายถึง 'ขุนนาง' หรือ 'ราษฎร' โดยทั่วไป บางครั้งก็ใช้เป็น 'สรรพนามแทนตัวเอง' เวลาที่พูดคุยกับพระราชา แต่เนื่องจากการรับราชการในสมัยโบราณของจีนจะมีแต่ 'ผู้ชาย' คำว่า 臣 (chén, เฌิ๋น) จึงใช้ในความมหมายที่สื่อถึง 'บุรุษ' มากกว่าที่จะหมายถึงเพศอื่นๆ ; ตรงมุมบนด้านขวาจะมีขีด 2 ขีดที่เหมือนกับ 'คน' (人) ที่ยืนค้อมหลังอยู่คล้ายกับกำลัง 'แสดงความเคารพ' แต่ก็คล้ายกับ 'กำลังก้มมอง' ; โดยด้านล่างจะมี 'ภาพอักษร' ของ 口 (kǒu, โข่ว) 3 ภาพเรียงต่อกัน ซึ่งอักษร 口 (kǒu, โข่ว) นี้ในสมัยหนึ่งจะหมายถึง 'ปากท้องของประชาชน' หรือ 'ประขากร' นั่นเอง ... ในขณะที่ผมก็เคยเล่าไปหลายครั้งแล้วว่า 'สาม' หรือ 三 (sān, ซัน) ในภาษาจีนนั้นสามารถแปลว่า 'มากมาย' ได้ด้วย ... ดังนั้น 'ภาพอักษร' ของ 品 ที่เห็นนั้นจึงหมายถึง 'ประชาชน' หรือ 'ประขากร' เช่นเดียวกับ 众 ซึ่งเป็นตัวย่อในปัจจุบันของ 眾 (zhòng, จ้ง) อันแปลว่า 'ฝูงชน' หรือ 'คนจำนวนมากๆ'
ความหมายของ 臨 (lín, ลิ๋น) ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ 'การมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง' หรือ 'ก้มลงมอง' เหมือนกับ 'การปกครอง' หรือ 'การดูแลสุขทุกข์ของประชาชน' โดยผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าตามความหมายใน 'ภาพอักษร' เดิม ; ปัจจุบันยังหมายถึง 'การโน้มเข้าหา', 'เคลื่อนเข้ามาใกล้', จนถึงขั้นที่เรียกว่า 'พบปะ' หรือ 'เผชิญหน้ากัน' ; และสามารถที่จะแปลว่า 'มาถึง', 'บรรลุถึง' เช่นเดียวกับ 到 (dào, เต้า) หรือ 至 (zhì, จื้อ) ก็ได้ด้วย ; ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่แผลงออกไปก็คือ 'การลอกเลียน' ซึ่งน่าจะมาจากความหมายของ 'ทำให้ใกล้(เคียง)กัน'
สำหรับความหมายที่ควรจะเป็นสำหรับการทำหน้าที่เป็น 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ในบทนี้ ผมเลือกที่จะใช้คำว่า Administering หรือ 'การปกครอง' ซึ่งบางตำราอาจจะใช้คำว่า Overseeing ในความหมายที่คล้ายคลึงกัน ... โดยเหตุผลสำคัญของผมย่อมมาจากความหมายของวรรคที่ห้าในบทที่หนึ่ง (飛龍在天利見大人 : fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén : เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น = ยอดคนย่อมต้องอาศัยกาละ-เทศะที่เหมาะสม และให้การยอมรับต่อผู้ที่เป็นคนดีมีความสามารถ) กับ 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ประจำบทที่เจ็ดซึ่งใช้อักษร 師 (shī, ซือ) อันเป็นบทที่เกี่ยวกับ 'ภาวะผู้นำ' โดยเฉพาะ ... ซึ่งจะเห็นว่า 'ข้อสันนิษฐาน' ของผมในเรื่องของ 'การวนกลับไปกลับมา' ของความหมายในบทต่างๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นมันมีร่องรอยให้พิจารณาเป็นอย่างนั้นได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว ... เมื่อวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งเอ่ยถึงประเด็นของ 'กาละ-เทศะในการแสดงศักยภาพ' ; บทที่เจ็ดก็ต่อด้วย 'หลักแห่งผู้นำ' ; แล้วก็มาถึง 'หลักการปกครอง' ที่กำลังจะเล่ารายละเอียดกันต่อไปในบทที่สิบเก้านี้ ;)
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
yuán hēng lì zhēn zhì yǘ bā yüè yǒu xiōng
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน จื้อ ยฺวี๋ ปา เยฺวี่ย โหฺย่ว เซฺวิง
King Wen เล่นยก 'คำบรรยายภาพสัญลักษณ์' ของ 乾 (qián, เชี๋ยน) มาเปิดวลีทั้งยวงเหมือนกับบทที่สิบเจ็ดเลยครับ แตกต่างกันเฉพาะตรงท่อนปิดวลีที่บทนี้ใช้คำว่า 至于八月有凶 (zhì yǘ bā yüè yǒu xiōng, จื้อ ยฺวี๋ ปา เยฺวี่ย โหฺย่ว เซฺวิง) ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีคำใหม่ๆ ให้ต้องงง แต่คำว่า 八月 (bā yüè, ปา เยฺวี่ย) ที่ไม่ว่าจะแปลว่า 'เดือนแปด' หรือ 'แปดเดือน' ก็ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันเกี่ยวกับ 臨 (lín, ลิ๋น) ที่เป็น 'ชื่อบท' ตรงไหน ??!!
อย่างไรก็ตาม วิธีการ 'ถอดความ' ของ Alfred Huang ใน The Complete I Ching ก็ดูจะมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดย Alfred Huang ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ 'ลำดับเดือนของจีน' เมื่อเทียบเป็น 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' โดยใช้ 'จำนวนขีด' ที่เพิ่มขึ้นของ 'หยาง' และ 'หยิน' เป็นเกณฑ์ในการนับว่า
เดือนปฏิทินจีน |
เดือนปฏิทินสากล โดยประมาณ |
ตรงกับสัญลักษณ์ที่ใช้ | บทของอี้จิง | |||
11 | ธันวาคม | ䷗ หรือ 復 (fù, ฟู่) | 24 | |||
12 | มกราคม | ䷒ หรือ 臨 (lín, ลิ๋น) | 19 | |||
1 | กุมภาพันธ์ | ䷊ หรือ 泰 (tài, ไท่) | 11 | |||
2 | มีนาคม | ䷡ หรือ 大壯 (dà zhuàng, ต้า จ้วง) | 34 | |||
3 | เมษายน | ䷪ หรือ 夬 (guài, กฺวั้ย) | 43 | |||
4 | พฤษภาคม | ䷀ หรือ 乾 (qián, เชี๋ยน) | 1 | |||
5 | มิถุนายน | ䷫ หรือ 姤 (goù, โก้ว) | 44 | |||
6 | กรกฎาคม | ䷠ หรือ 遯 (dùn, ตุ้น) | 33 | |||
7 | สิงหาคม | ䷋ หรือ 否 (pǐ, ผี่) | 12 | |||
8 | กันยายน | ䷓ หรือ 觀 (guān, กวน) | 20 | |||
9 | ตุลาคม | ䷖ หรือ 剝 (bō, ปอ) | 23 | |||
10 | พฤศจิกายน | ䷁ หรือ 坤 (kūn, คุน) | 2 |
ซึ่งตามระบบแทนค่าสัญลักษณ์ที่ Alfred Huang กล่าวอ้างนี้ 八月 (bā yüè, ปา เยฺวี่ย) ในความหมายว่า 'เดือนแปด' ก็จะตรงกับสัญลักษณ์ ䷓ หรือ 觀 (guān, กวน) ในบทถัดไป ซึ่งเป็นบทที่อ้างอิงความหมายมาจากวรรคที่หกของบทที่หนึ่งอีกทอดหนึ่งว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) หรือ 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยานอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวดและความเศร้าเสียใจ' ... มันก็จะไปพ้องความหมายกับคำว่า 有凶 (yǒu xiōng, โหฺย่ว เซฺวิง) ตรงท้ายวลีที่แปลว่า 'พบกับความซวย' พอดี ??!! ;)
เอาใหม่ ... สมมุติให้ 八月 (bā yüè, ปา เยฺวี่ย) แปลว่า 'แปดเดือน' ถ้าเราเริ่มนับมาจาก 'สัญลักษณ์แรก' คือเดือน 11 ของจีน (䷗) มันก็จะมาลงที่สัญลักษณ์ ䷠ หรือ 遯 (dùn, ตุ้น) ของบทที่สามสิบสาม อันเป็น 'คู่ตรงข้าม' ของบทที่สิบเก้านี่แหละ โดย 遯 (dùn, ตุ้น) มีความหมายในลักษณะของ 'การหลบ', 'การหนี', หรือ 'การล่าถอยออกมา' อันเป็นลักษณะของ 'ความน่าจะเศร้า' ที่พ้องกับ 有凶 (yǒu xiōng, โหฺย่ว เซฺวิง) อีกเหมือนกัน ??!!
'น่าสนใจ' มากครับ ... แต่ ... 'ไม่น่าเชื่อ' !!?? ... :D
ผมติดขัดอยู่กับ 'ข้อสงสัย' เพียงข้อเดียวเท่านั้นแหละครับ ... ทำไมเขาถึงไม่เริ่มนับ ䷗ หรือ 復 (fù, ฟู่) เป็นเดือน 1 ??!! ... แล้วผมก็ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อนเหมือนกันว่า คนจีนโบราณเขาเริ่มนับกันที่ 11 แทนที่จะเป็น 1 !!?? ... เพราะฉะนั้น แม้ว่าการอธิบายด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ Alfred Huang จะมีความหมายที่สอดคล้องกับวลีของ King Wen ... แต่มันก็มีแง่มุมให้ดูราวกับว่า 'มีความจงใจให้ลงตัว' มากจนเกินไป !!?? ... ดังนั้น ... เปิดพจนานุกรมสถานเดียว :D
八 อ่านว่า bā (ปา) แปลว่า 'แปด', 'จำนวนแปด', หรือ 'ลำดับที่แปด' ; แต่ความหมายดั้งเดิมของ 八 (bā, ปา) นั้นมาจาก 'ภาพ' ของ 'การหันหลังให้กัน' มันเลยมีความหมายว่า 'แยกย้ายกัน' หรือ 'แยกออกจากกัน' ... แต่ก็ด้วยอาการที่ 'หันหน้าไปคนละทาง' นี่แหละที่ทำให้มันซ่อนความหมายของ 'การมองต่างมุม' จนกลายเป็น 'มองไปทั่วๆ' หรือ 'มองไปรอบทิศ' แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น 'แปดทิศ' อันทำให้ 八 (bā, ปา) มีความหมายว่า 'แปด' และมีความหมายว่า 'เต็มรอบ', 'เต็มวง', 'ครบทั้งวง' หรือ 'ครบถ้วน' ในเวลาเดียวกัน ... ดังนั้น ... จึงมีความเป็นไปได้ว่า 八月 (bā yüè, ปา เยฺวี่ย) ในที่นี้ อาจจะหมายถึง 'พระจันทร์เต็มดวง' โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ 'จำนวนแปด' อย่างจริงๆ จังๆ ใดๆ เลยด้วยซ้ำ !!??
ความหมายของวลีที่ King Wen บันทึกไว้ว่า 至于八月有凶 (zhì yǘ bā yüè yǒu xiōng, จื้อ ยฺวี๋ ปา เยฺวี่ย โหฺย่ว เซฺวิง) จึงอาจจะหมายถึง 'เมื่อถึงที่สุด (至于) แห่งความเต็มดวงของจันทรา (八月) คือเวลาที่ความแหว่งเว้าจะก่อเกิด (有凶) อีกคำรบหนึ่ง' ซึ่งสะท้อนถึง 'ความไม่จิรังยั่งยืน' และ 'กาละ-เทศะ' อันเป็นวัฏจักรของธรรมชาติที่ชัดเจนมากๆ
จริงๆ แล้วผมเองก็ยังไม่เคยพบเห็นหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่า King Wen เป็นผู้ลำดับ 'ภาพสัญลักษณ์' บางส่วนของ 'คัมภีร์อี้จิง' เข้ากับ 'เดือน' ต่างๆ ดังที่ Alfred Huang กล่าวอ้าง แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า น่าจะเป็นความพยายามใน 'การตีความ' ของปราชญ์อีกหลายๆ ท่านในยุคถัดมามากกว่า จนในที่สุด 'คัมภีร์อี้จิง' ก็ได้กลายสภาพเป็น 'ตำราหมอดู' กลายๆ อย่างที่พวกเรารับรู้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ King Wen อาจจะต้องการสื่อ 'คำสอน' ไว้เพียงแค่ว่า 'พระจันทร์เต็มดวงแม้ว่าจะมีความสวยสง่า และเป็นที่ชื่นชมของมนุษย์อีกหลายล้านคน แต่ความสุกสว่างของจันทราที่สามารถบดบังรัศมีของดวงดาวน้อยใหญ่บนฟากฟ้า ครั้นเมื่อถึงเวลาก็ต้องค่อยๆ ลดความสุกสว่างของตนเองลง เพื่อให้ดวงดาวน้อยใหญ่อื่นๆ สามารถเปล่งประกายประดับประดาท้องฟ้ายามราตรีให้มีความสวยสดงดงามอยู่เสมอ ... ผู้นำที่เก่งกล้า (元亨利貞 = 乾 คือมีศักยภาพเต็มเปี่ยม) แม้จะสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกผู้คน แต่เมื่อถึงวันเวลาที่เหมาะสม ก็ต้องรู้จักผ่อนปรน และปล่อยวางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถได้สืบทอดเจตนารมณ์กันต่อๆ ไป ... ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถอยู่ค้ำฟ้า เพราะแม้แต่จันทราก็ยังไม่อาจครองความเต็มดวงของตนไปตลอดกาล (至于八月有凶)' ... เท่ห์กว่านั่งนับเดือนอีกนะผมว่า ... :D
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
xián lín zhēn jí
咸 อ่านว่า xián (เซี๋ยน) แปลว่า 'ทั้งหมด', 'สมบูรณ์', 'รวมไว้ด้วยกัน' ; แต่ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' ของ 咸 (xián, เซี๋ยน) มาจากการผสมอักษร 戌 (xü, ซฺวี) ซึ่งเป็นชื่อเรียกอาวุธโบราณชนิดหนึ่งของจีนที่มีลักษณะเป็น 'ขวานด้ามยาว' ... กับอักษร 口 (kǒu, โข่ว) หรือ 'ปาก' ที่เห็นอยู่ด้านใน ซึ่งแทนความหมายของ 'หัวคน' ... ความหมายดั้งเดิมของ 咸 (xián, เซี๋ยน) จึงแปลว่า 'ประหาร', 'ฆ่า' หรือ 'สำเร็จโทษ' ด้วย 'การตัดหัว' ; ต่อมามันจึงมีความหมายว่า 'ทำให้เสร็จสิ้น', 'ทำให้สำเร็จ' แล้วจึงแผลงมาเป็น 'ทำให้สมบูรณ์' และ 'รวบรวมไว้ด้วยกัน' ... ดังนั้น ... ในความหมายว่า 'สมบูรณ์' ของ 咸 (xián, เซี๋ยน) จึงแฝงความหมายของ 'ความมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด' หรือ 'การรวมศูนย์อำนาจไว้เป็นหนึ่งเดียว'
วลีนี้ของ 'จิวกง' น่าจะหมายถึง 'การรวบรวมอำนาจ (咸) การปกครอง (臨) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นนั้น คือกลไก (貞 หรือระเบียบปฏิบัติ) ที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... บางคนอาจจะตั้ง 'ข้อสังเกต' (แบบศตวรรษที่ 21) ว่า นี่คือการสร้างเงื่อนไขของ absolute power ที่จะนำไปสู่ absolute corruption รึเปล่า ?! ... ซึ่งผมก็เชื่อว่า 'จิวกง' คงเข้าใจในประเด็นนี้ไม่แตกต่างจากยุคสมัยของพวกเรามากนัก เพราะ 'ความเป็นทรราชย์' คือ 'สิ่งสากล' ที่สามารถพบเห็นได้ทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว :) ... ประเด็นนี้ก็คือเหตุผลที่ผม 'ย้ำความหมาย' ของ 咸 (xián, เซี๋ยน) ด้วยเงื่อนไขของ 'การรวบรวมอำนาจ' กับ 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' เพื่อขยายความให้ชัดเจนลงไปว่า นี่ไม่ใช่ 'การรวบรวมอำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง' แต่เป็น 'หลักปฏิบัติ' เพื่อ 'ความมั่นคง' ของ 'ส่วนรวม' โดยเฉพาะ ...
ความจริงแล้ว 'ความสงบร่มเย็น' ของบ้านเมือง และ 'ความผาสุข' ของประชาชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ 'ระบอบการปกครอง' หรือ 'การได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง' ของผู้หนึ่งผู้ใดเลย แต่ขึ้นอยู่กับ 'วัตรปฏิบัติ' ของ 'ผู้ที่มีอำนาจการปกครอง' นั้นๆ มากกว่า และที่สำคัญก็คือ มันขึ้นอยู่กับ 'ความยอมรับ' ของ 'ผู้ถูกปกครอง' มากน้อยแค่ไหน ... 'ระบอบการปกครอง' ที่ใช้ 'ระบบการเลือกตั้งผู้มีอำนาจการปกครอง' ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้ 'ผู้มีอำนาจ' ที่ 'แสนดี' เลยแม้แต่น้อย มันเป็นแต่เพียงการสร้าง 'เงื่อนไข' ที่หวังว่าจะช่วยลด 'อัตราของการเกิดสงคราม' เพื่อ 'ล้มล้างทรราชย์' โดยประชาชนเท่านั้นเอง ... หรือถ้าจะว่ากันให้ชัดๆ ก็คือ มันเป็น 'ระบอบการปกครอง' ในยุคที่ 'ไม่มีใครเชื่อใจใคร' จึงต้องสร้าง 'เงื่อนไข' บางอย่างเพื่อให้ 'อำนาจการปกครอง' ต้องถูกเปลี่ยนมือเป็นระยะๆ 'อย่างสงบ' เท่านั้น !!
咸臨吉無不利
xián lín jí wú bù lì
แปลเลยแล้วกัน เพราะดูเหมือนวลีนี้ของ 'จิวกง' จะเป็นการย้ำความหมายที่ผมเล่าไปแล้ว ... ;) ... นั่นก็คือ 'อำนาจการปกครองที่ถูกรวบรวมไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อความเป็นปึกแผ่น (咸臨) นั้น คือปัจจัยที่เป็นคุณ (吉) โดยยังไม่มี (無) ความผิดบาปหรือความเลวร้าย (不利) แต่ประการใดทั้งสิ้น'
ทั้งนี้ก็เพราะว่า 'อำนาจ' ไม่ใช่ 'ต้นเหตุ' ของ 'ปัญหา' ทั้งหลายทั้งปวงอย่างที่หลายๆ คนชอบ 'แอบอ้างว่ากังวล' กันนักหนาหรอก แต่ 'ความวุ่นวาย' และ 'ความไม่อยู่กับร่องกับรอย' ของสังคมทุกยุคทุสมัยนั้นเกิดขึ้นจาก 'ความกระหายในอำนาจ' กับ 'การใช้อำนาจอย่างผิดๆ' ทั้งหมด ... ลำพังเฉพาะแค่ 'อำนาจ' หรือ 'การมีอำนาจ' นั้น ยังเป็นเพียง 'สิ่งกลางๆ' ที่ไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า 'ดี' หรือ 'เลว' แต่ประการใด มันเป็นแต่เพียง 'ปัจจัยที่เป็นคุณ' ต่อการสร้างสานภาระกิจต่างๆ ในโอกาสต่อๆ ไปเท่านั้น โดยยังไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร ;)
gān lín wú yōu lì jì yōu zhī wú jiù
甘 อ่านว่า gān (กัน) แปลว่า 'หวาน', 'รสชาติดี', 'กลมกล่อม', 'สุขสบาย', 'สวยงาม', บางครั้งจึงแปลว่า 'พึงพอใจ', 'เต็มใจ' หรือ 'สมัครใจ' เพราะ 'สบายใจ' ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะมีความหมายเหมือนกับ 酣 (hān, ฮัน) ที่หมายถึง 'ทำงานอดิเรก'
攸 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, อิว) แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … มึนมั้ย ?! :D ... ท่อนนี้ลอกมาจากบทที่สองแน่ะ !! ;)
既 อ่านว่า jì (จี้) แปลว่า 'แล้วเสร็จ', 'ในที่สุด', บางครั้งใช้เป็นคำเชื่อมประโยคหมายถึง 'ดังนั้น', 'แล้วก็', 'ในขณะที่' เพื่อบ่งบอกถึง 'ความเป็นของคู่กัน' หรือ 'ต้องเกิดขึ้นร่วมกัน'
憂 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, อิว) แปลว่า 'กังวลใจ', 'เป็นห่วงเป็นใย', 'ทุกข์ใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ', หรือ 'คับข้องใจ'
ผมมองว่า 'จิวกง' อาจจะต้องการสื่อความหมายไว้ 2 ลักษณะด้วยวลีนี้เพียงวลีเดียว ในทางหนึ่งนี่คือการ 'ปิดประเด็น' ให้กับสองวรรคแรกที่เอ่ยถึง 'การครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ' ซึ่ง 'จิวกง' ระบุว่า 'ดีเยี่ยม' (貞吉) และ 'ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย' (無不利) ... วลีนี้จึงชี้แจงต่อมาว่า 'ความพอใจหลงใหล (甘) ในอำนาจ (臨) ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่ดีงาม (無攸利) ... ดังนั้น (既) ความวิตกกังวลในประเด็นที่ว่านี้ (憂之) ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก (無咎) แต่ประการใด' ... ;)
แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของ 'ข้อแนะนำ' สำหรับ 'การครองตน' ในฐานะของ 'ผู้ที่มีอำนาจการปกครอง' วลีนี้ของ 'จิวกง' ก็จะมีความหมายว่า 'การปกครองที่ปฏิบัติราวกับเป็นเรื่องเล่นสนุกๆ (甘臨 คือปกครองราวกับเป็นงานอดิเรก) ย่อมไม่อาจสร้างความเจริญรุ่งเรืองใดๆ (無攸利) ในขณะที่ (既) ความเป็นห่วงเป็นใย และความเอาใจใส่ในการปกครอง (憂之) ย่อมปราศจาก (無) ข้อครหาหรือความผิดพลาด (咎) ทั้งปวง'
zhì lín wú jiù
至 อ่านว่า zhì (จื้อ) ปรกติจะแปลว่า 'ไปถึง', 'มาถึง', 'ปลายทาง', 'ที่สุด', 'สุดขั้ว' หรือ 'สมบูรณ์' ; ในบางกรณีก็เลยแปลว่า 'ใกล้ชิด' ; ถ้าหมายถึงตัวบุคคลก็จะหมายถึง 'ผู้ที่น่าเคารพนับถืออย่างสูง', 'ผู้ที่มีคุณธรรม' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'นักบวช', 'นักพรต' หรือ 'พระราชา (คือผู้ที่อยู่สูงสุด)' ก็ได้
ถ้ามองในมุมของความเป็น 'วลีคู่' หรือมี 'ความต่อเนื่อง' มาจากวรรคที่สาม ความหมายของวรรคนี้น่าจะต้อง 'ถอดความ' ว่า 'การปกครองโดยธรรม (至臨) ย่อมปราศจาก (無) เภทภัยของความผิดพลาด (咎)' ... นั่นก็คือ 'จิวกง' กำลังพยายามจะบอกว่า 'การบริหาร' และ 'การปกครอง' นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ใครนึกอยากจะทำราวกับเป็นงานอดิเรกก็ได้ (甘) แต่มันคือภาระกิจที่ต้องการ 'ความเอาใจใส่' และมี 'ความเป็นห่วงเป็นใย' (憂) ในสุขทุกข์ของบ้านเมือง และจะต้องมี 'ความเพียบพร้อม' ใน 'หลักคุณธรรม' กำกับไว้ตลอดเวลาด้วย ... อย่างนี้จึงจะไม่มีความผิดพลาด (無咎)
ประเด็นของ 'การมีอำนาจโดยสมบูรณ์' ที่ 'จิวกง' สนับสนุนว่า 'ดีเยี่ยม' นั้นจึงสรุปได้ว่า มันจะไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดใดๆ เลยหาก 'ผู้ที่มีอำนาจการปกครอง' จะยึดถือ 'ข้อแนะนำ' ตามที่ระบุไว้ในวรรคที่สาม และวรรคที่สี่นี้อย่างเคร่งครัด
知臨大君之宜吉
zhì lín dà jün zhī yí jí
知 อ่านว่า zhī (จือ) มีความหมายว่า 'รู้', 'รับรู้', 'ทำให้รู้', 'เข้าใจ', 'ทำให้เข้าใจ', หรือ 'มีจิตสำนึก', 'มีความรู้สึกตัว' ; ถ้าออกเสียงว่า zhì (จื้อ) จะมีความหมายเหมือนกับ 智 (zhì, จื้อ) ที่แปลว่า 'ฉลาด', หรือ 'มีความรู้'
宜 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'ถูกต้อง', 'เหมาะสม', 'คู่ควร', 'สมเหตุสมผล', หรือ 'ยุติธรรม'
ก็เป็น 'วลีคู่' ของวรรคที่สองอีกตามเคยล่ะครับ ... เมื่อ 'อำนาจการปกครองที่ถูกรวบรวมไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อความเป็นปึกแผ่นนั้นคือปัจจัยที่เป็นคุณ ไม่ใช่ความผิดบาปหรือความเลวร้ายแต่ประการใด' (咸臨吉無不利) ความสมบูรณ์ของวลีดังกล่าวก็ต้องต่อด้วยวลีว่า ... 'การใช้อำนาจการปกครองอย่างมีจิตสำนึก และเฉลียวฉลาดเท่าทันต่อความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ (知臨) จึงคู่ควรแก่การเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ (大君之宜) ผู้อำนวยความผาสุขและรุ่งเรือง (吉)'
ความหมายของ 'จิวกง' ก็คือ 'ความหลงระเริงในอำนาจ' หรือ 'ความลำพองในบารมี' เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น 'ความไร้จิตสำนึก' ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมันคือการแสดงออกของ 'ความไม่รู้จักหน้าที่' หรือ 'ความไม่รู้จักบทบาท' ที่พึงปฏิบัติอย่างเหมาะสมในฐานะของ 'ผู้นำ' ... ความเป็น 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' (大君) ในทัศนะของ 'จิวกง' จึงไม่ใช่เพียงแค่มี 'อำนาจเบ็ดเสร็จ' (咸), มี 'ความเอาใจใส่ต่อหน้าที่' (憂), และมี 'ความเพียบพร้อม' ด้วย 'หลักคุณธรรม' (至) เท่านั้น แต่จะต้องประกอบด้วย 'ความรู้' (知) และ 'ความเฉลียวฉลาด' (智) ที่เท่าทันต่อความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน จึงจะสามารถอำนวยความสุขความเจริญ (吉) ให้แก่สังคมโดยรวมได้ ... 'อำนาจ', 'หน้าที่', 'คุณธรรม' และ 'ความรู้' คือคุณสมบัติ 4 ประการที่ 'ผู้นำ' จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย ;)
敦臨吉無咎
dūn lín jí wú jiù
敦 อ่านว่า dūn (ตุน) แปลว่า 'ซื่อสัตย์', 'บริสุทธิ์ใจ', 'จริงใจ', 'สนิทชิดเชื้อ', 'คงเส้นคงวา', 'มาตรฐาน', 'ถูกต้อง', 'สง่างาม', 'แน่นหนา', 'หนา', 'หนักแน่น', หรือ 'มั่งคั่ง'
นี่ 'จิวกง' แกเล่นซ่อนความหมายทุกอย่างเอาไว้ภายในอักษร 敦 (dūn, ตุน) ตัวเดียวเลยแฮะ !! :P ... ถ้าจะบอกว่านี่คือการรวบความหมายทุกอย่างของบทนี้เอาไว้ก็คงไม่แปลกอะไร โดยความหมายตามที่เห็นในวลีนี้ก็คือ 'อำนาจการปกครองที่ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และบริหารจัดการด้วยความคงเส้นคงวาอย่างบริสุทธิ์ใจ (敦臨) คือความสง่างามที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) โดยปราศจาก (無) มลทิน (咎) ทั้งปวง'
เนื้อความในบทนี้ของ 'จิวกง' ดูจะวกวนซ้ำซากอยู่กับประเด็นของ 'การครองอำนาจ' กับ 'การใช้อำนาจ' ของ 'ผู้นำ' แทบจะทุกวรรคเลยก็ว่าได้ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า เป็นเพราะ 'จิวกง' มี 'ความวิตกกังวล' กับข้อเข้าใจผิดๆ ของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับ 'อำนาจ' ด้วยรึเปล่า จึงต้องบันทึกคำอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อยืนยันว่า แท้ที่จริงแล้ว 'อำนาจมิใช่สิ่งชั่วร้าย และมิใช่สาเหตุแห่งความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงแต่ประการใดเลย' ... แต่ ... 'อำนาจคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเอื้อให้ผู้นำหนึ่งๆ สามารถประกอบความดี และสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรื่องให้แก่สังคมมนุษย์ได้' ต่างหาก
'ผู้นำ' หนึ่งๆ หากต้องการจะบรรลุ 'เป้าหมาย' แห่ง 'อุดมการณ์' เพื่อสังคม ล้วนแล้วแต่ต้องมีปัจจัยประกอบคือ 'อำนาจ', 'หน้าที่', 'คุณธรรม' และ 'ความรู้' ซึ่งทั้งหมดจะต้อง 'หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน' อย่างสมบูรณ์เท่านั้น 'พลังอันบริสุทธิ์แห่งอำนาจ' จึงจะเกิดขึ้นได้ และสามารถขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างให้มุ่งไปสู่ 'ความสำเร็จ' ดังที่ตั้งปณิธานไว้ ... คำว่า 咸臨 (xián lín, เซี๋ยน ลิ๋น) ที่ได้รับการ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การรวบรวมอำนาจการปกครอง' ที่ 'จิวกง' ใช้มาตั้งแต่วรรคที่หนึ่ง อาจจะหมายถึง 'การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ของอำนาจ, หน้าที่, คุณธรรม, และความรู้' เพื่อจะก่อเกิดเป็น 'พลังอันบริสุทธิ์แห่งอำนาจ' หรือ 敦臨 (dūn lín, ตุน ลิ๋น) ในวรรคที่หก ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ 'จิวกง' อาจจะต้องการให้มีความหมายอย่างนั้นก็ได้ ... ใครจะไปรู้ ??!!
หากเราไล่เรียงความหมายในหลายๆ บทที่ผ่านมาของ 'คัมภีร์อี้จิง' ส่วนใหญ่ของ 'ข้อแนะนำ' ก็มักจะชี้ไปในแง่ของ 'ความอ่อนน้อม', 'การไม่อวดโอ่', หรือ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ซึ่งคล้ายกับเป็น 'ข้อแนะนำ' ที่สอนให้ 'ปฏิเสธการแสดงอำนาจ' และอาจทำให้เกิดการหลงประเด็นได้ว่า 'อำนาจ' ก็คือ 'ความชั่วร้าย' ที่ 'ไม่พึงครอบครอง' ... ??!! ... แต่ความจริงก็คือ 'การแย่งชิงอำนาจต่างหากที่เป็นความชั่วร้าย' อันปราชญ์ไม่พึงประพฤติปฏิบัติ ... และนั่นก็คือเหตุผลที่ 'จิวกง' บันทึกเป็นวลีสำคัญไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งว่า 飛龍在天利見大人 (fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) ซึ่งความหมายก็คือ 'เมื่อถึงกาละเทศะที่เหมาะสม ยอดคนก็ย่อมแสดงตนอย่างองอาจผ่าเผยประดึ่งมังกรเหินหาว แต่หากมีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถรับภาระหน้าที่ดังกล่าวไว้แล้ว ก็ควรจะมีมุทิตาจิตต่อเขาผู้นั้น ไม่ใช่เก็บมาคิดชิงชังเพราะหวังจะชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน'
ส่วนวลีของ King Wen ในบทนี้ที่ปิดท้ายว่า 至于八月有凶 (zhì yǘ bā yüè yǒu xiōng, จื้อ ยฺวี๋ ปา เยฺวี่ย โหฺย่ว เซฺวิง) หากเราจะ 'ตีความ' ว่าเป็น 'ข้อเตือนสติ' ที่บอกว่า 'เมื่อถึงที่สุดแห่งความเต็มดวงของจันทรา (至于八月) มักจะมีภัย (有凶)' ... ก็อาจจะหมายความว่า 'การก้าวขึ้นไปถึงจุดที่โดดเด่นที่สุด ย่อมตกเป็นเป้าที่หลายๆ คนมุ่งหวังจะช่วงชิง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของผู้นำจึงต้องมีความระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ' ... แต่ถ้าเราจะมองในความหมายว่า 'การดำรงตำแหน่งสูงสุดแห่งกลไกอำนาจ ย่อมอยู่ในฐานะที่สามารถก่อให้เกิดเภทภัยต่างๆ ได้' นี่ก็ต้องถือว่าเป็นการ 'เตือนสติ' ให้มีความระมัดระวังตัวว่า 'การครองตนในฐานะของผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดนั้น ต้องมีความเข้มงวดกับพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของตนมากกว่าผู้อื่นเสมอ' ...
หรือถ้าเราจะคิดแบบ 'จิวกง' ในเรื่องของ 'การแย่งชิงอำนาจ' วลีที่ว่า 至于八月有凶 (zhì yǘ bā yüè yǒu xiōng, จื้อ ยฺวี๋ ปา เยฺวี่ย โหฺย่ว เซฺวิง) ของ King Wen ก็น่าจะหมายถึง 'การไขว่คว้าเพื่อช่วงชิง (至) ความโดดเด่นดั่งพระจันทร์เต็มดวง (于八月) นั้น คือสาเหตุแห่งเภทภัยที่ร้ายแรงทั้งปวง (有凶)' ... และกลายเป็นที่มาของการเสนอ 'ทางออก' ไว้ด้วยวลีว่า 飛龍在天利見大人 (fēi lóng zài tiān lì jiàn dà rén, เฟย ล๋ง ไจ้ เทียน ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) หรือ 'ยอดคนย่อมแสดงตนเมื่อถึงกาละ-เทศะที่เหมาะสม หากยังไม่ถึงเวลาก็จงแสดงความยินดีต่อผู้ที่ได้รับโอกาสนั้น' ... 'การแย่งชิงอำนาจ' อันเป็นสาเหตุที่แท้จริงแห่ง 'ความเลวร้าย' ทั้งปวงก็จะไม่เกิดขึ้น ;)
ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ ... ผมอยากจะสรุปประเด็นของ King Wen กับ 'จิวกง' ในบทนี้อีกครั้งหนึ่งหลังจากไล่ 'ถอดความ' มาจนครบทุกตัวอักษรแล้วว่า การที่เนื้อความทั้งหมดของ 'จิวกง' ในบทนี้ชี้ไปในทำนองว่า 'พลังอันบริสุทธิ์แห่งอำนาจการปกครอง' นั้นจะต้องประกอบด้วย 'อำนาจ', 'หน้าที่', 'คุณธรรม' และ 'ความรู้' นั้นก็เพราะว่า King Wen บันทึกเอาไว้อย่างนั้นเอง กล่าวคือ ...
元 (yuán, เยฺวี๋ยน) | มีความหมายหนึ่งว่า 'ใหญ่' | นี่คือตัวแทนของ 'อำนาจ' | |
亨 (hēng, เฮิง) | มีความหมายว่า 'เข้าใจ' | นี่คือตัวแทนของ 'ความรู้' | |
利 (lì, ลี่) | มีความหมายหนึ่งว่า 'ทุ่มเท' | นี่คือตัวแทนของ 'หน้าที่' | |
貞 (zhēn, เจิน) | มีความหมายว่า 'อุดมการณ์' | มันจึงเป็นตัวแทนของ 'คุณธรรม' |
ทั้งสี่องค์ประกอบรวมกันเป็นหนึ่ง (元亨利貞) เรียกว่า 咸臨 (xián lín, เซี๋ยน ลิ๋น) หรือ 'อำนาจการปกครองที่รวมเป็นหนึ่ง' ซึ่งจะก่อให้เกิด 'พลังบริสุทธิ์แห่งอำนาจ' หรือ 敦臨 (dūn lín, ตุน ลิ๋น) ในที่สุด ... แต่ทุกสรรพสิ่งล้วนมีห้วงเวลาที่เจริญงอกงามและที่เสื่อมถอย เหมือนดั่งดวงจันทราเมื่อสุกสว่างเต็มดวงแล้วก็ต้องแหว่งเว้าเป็นธรรมดา (至于八月有凶) ปราชญ์จึงแสดงตนต่อเมื่อกาละ-เทศะเอื้ออำนวย (飛龍在天) และชื่นชมยินดีต่อผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ แม้จะยิ่งใหญ่เหนือกว่าความสำเร็จของตนก็ตาม (利見大人) ... เนียนมากเลยนะเนี่ย !! :D
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'ลิ๋น' คือ การปกครอง, แผ่นดินเหนือทะเลสาบ
'ภาวะผู้นำ' (元), 'ความรู้ความสามารถ' (亨), 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' (利) และ 'หลักคุณธรรม' (貞) คือปัจจัยประกอบของ 'พลังบริสุทธิ์' แห่ง 'อำนาจการปกครอง' ; ทุกสรรพสิ่งล้วนมีกาละ-เทศะแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมถอย เหมือนดั่งจันทราที่เมื่อสุกส่ว่างเต็มดวงแล้ว (至于八月) ก็ต้องแหว่งเว้า (有凶) เป็นปรกติธรรมดา
- 'การหลอมรวมอำนาจการปกครอง' เพื่อสร้าง 'ความเป็นปึกแผ่น' (咸臨) ต้องประกอบด้วย 'หลักคุณธรรม' (貞) จึงนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
- 'อำนาจการปกครองที่รวมเป็นหนึ่ง' (咸臨) ย่อมไม่อาจ (無) ละเว้น (不) 'ความทุ่มเทพยายาม' (利)
- 'ความหลงระเริง' (甘) ใน 'อำนาจการปกครอง' (臨) ย่อมละเลย (無) ต่อ 'หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' (攸利) ในขณะที่ (既) 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'ภาระกิจ' (憂) ย่อมนำไปสู่ 'วัตรปฏิบัติ' ที่ไม่ผิดเพี้ยน (無咎)
- การบรรลุถึง 'ความสมบูรณ์' (至) แห่ง 'อำนาจการปกครอง' (臨) เท่านั้น จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาด' (無咎) ใดๆ
- 'ความเข้าใจ' (知) ใน 'หลักแห่งการปกครอง' (臨) คือ 'คุณลักษณะ' แห่ง 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' (大君之宜) ที่จะนำพา 'ความผาสุขรุ่งเรือง' (吉) มาสู่สังคม
- 'พลังอันบริสุทธิ์' แห่ง 'อำนาจการปกครอง' (敦臨) คือ 'ลาภอันประเสริฐ' (吉) ที่ไม่ใช่ 'สาเหตุแห่งเภทภัย' (無咎) ทั้งปวง
หมายเหตุบทบันทึก :
หลังจากที่ 'ถอดความ' จนครบทุกตัวอักษรในบทนี้แล้ว ผมเกิดมี 'ความรู้สึก' ว่า ถ้อยคำทั้งหมดของ 'จิวกง' ในแต่ละวรรค สามารถที่จะ 'ถูกเรียบเรียงใหม่' ให้สอดคล้องกับความหมายในวลีของ King Wen ได้อย่างลงตัว ... ดังนั้น ... เนื้อความในบทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' จึงถูกบันทึกให้แตกต่างไปจากเนื้อความเดิมที่สาธยายไว้ในตอนต้น เพื่อให้เห็นแง่มุมของถ้อยคำที่เป็นไปได้ของ 'จิวกง' อย่างรอบด้าน โดยผมเองก็ไม่สรุปว่า 'การตีความ' และ 'การเรียบเรียง' แบบไหนเป็นแบบที่ถูกต้อง 100% หรือแม้แต่ 'การตีความ' ตามตำราอื่นๆ ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน กับภาษาที่ใช้ในยุคของ 'จิวกง' นั้นมี 'ช่องว่าง' ที่ห่างกันถึงหลายพันปี โดยผู้ที่จะบอกได้ว่า 'ความหมายที่แท้จริง' ของถ้อยคำเหล่านี้คืออะไร ก็คงจะมีแต่ 'จิวกง' เพียงคนเดียวเท่านั้น ... แต่ก็บังเอิญว่าผมไม่มีโอกาสได้สอบถามแกตรงๆ เท่านั้นแหละ !! ... :D
The Organization Code :
'การบริหาร' และ 'การปกครอง' คือการน้อมรับ 'อุดมการณ์' มาสู่ 'การปฏิบัติ' (☷) เพื่อสานสร้าง 'ความผาสุขร่มเย็น' (☱) ; 'นโยบาย' จึงต้องมี 'ความแจ่มชัด' (⚌) เพื่อให้พร้อมที่จะ 'รับไปประยุกต์ใช้' (⚏) โดย 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับปฏิบัติการ'
'การบริหารจัดการ' ที่ดีจำเป็นต้องอาศัย 'ปัจจัยประกอบ' ที่สำคัญ 4 ประการคือ 'ภาวะผู้นำ', 'ความรู้ความสามารถ', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท', และ 'หลักคุณธรรม' จึงจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ... หาใช่ 'การแก่งแย่งแข่งดี' หรือ 'การแสวงหาอำนาจ' เพื่อ 'ยึดครองความโดดเด่นเหนือชั้น' แต่ประการใดทั้งสิ้น ... 'ความเจริญรุ่งเรือง' และ 'ความเสื่อมถอย' ล้วนมี 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เหมาะสม' สำหรับแต่ละผู้คนหรือแต่ละองค์กรเสมอ ... 'การชิงดีชิงเด่น' โดยปราศจาก 'ปัจจัยพื้นฐาน' ที่ 'เหมาะสม' ย่อมนำไปสู่ 'ความเสื่อมเสีย' และ 'ความล่มสลาย' ในที่สุด
- 'การรวมศูนย์อำนาจการปกครอง' ไว้ 'โดยสมบูรณ์' นั้น หาก 'ประพฤติปฏิบัติ' ด้วย 'ความเที่ยงธรรม' ย่อมสามารถนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ได้
- 'อำนาจการปกครอง' ที่ 'เบ็ดเสร็จเด็ดขาด' แม้ว่าจะเป็น 'คุณประโยชน์' แต่ก็ไม่ใช่ 'หลักประกัน' ที่แน่นอนว่า 'ความสำเร็จ' จะสามารถบรรลุได้โดยไม่ต้องอาศัย 'ความพยายาม' และ 'ความทุ่มเท' ใน 'การปฏิบัติภาระกิจ' ใดๆ
- 'ความหลงระเริง' ใน 'อำนาจการปกครอง' เป็นสาเหตุแห่ง 'ความย่อหย่อน' ต่อ 'หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' ในขณะที่ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'ภาระหน้าที่' ที่ได้รับมอบหมาย ย่อมส่งผลให้เกิด 'ความระมัดระวัง' และไม่ก่อให้เกิด 'ความเสียหาย' ใดๆ
- การใช้ 'อำนาจการปกครอง' จะต้องได้รับ 'การปฏิบัติ' อย่าง 'ถี่ถ้วนสมบูรณ์' เท่านั้น จึงจะไม่เกิด 'ข้อครหา' หรือ 'ความผิดพลาด'
- 'ความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์' และ 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักแห่งการปกครอง' ย่อมเป็น 'คุณประโยชน์' สำหรับการเป็น 'ผู้นำที่ยิ่งใหญ่' ที่จะนำ 'ความเจริญรุ่งเรือง' มาสู่องค์กรและสังคม
- 'ความซื่อสัตย์สุจริต', และ 'ความบริสุทธื์ใจ' ในการใช้ 'อำนาจการปกครอง' คือ 'ความดีงาม' ที่จะช่วยสานสร้าง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้ปรากฏ โดยปราศจาก 'มลทิน' ใดๆ ให้ต้อง 'เสื่อมเสีย' ในภายหลัง
ลักษณะของ 'อำนาจการปกครอง' หรือ 'ความเป็นผู้นำสูงสุด' ที่เอ่ยถึงในบทนี้ น่าจะไม่ได้เจาะจงอยู่กับ 'ความเป็นผู้นำ' ในระดับองค์กร, ระดับชุมชน, หรือระดับประเทศเท่านั้น แต่ผมมองว่าความหมายน่าจะครอบคลุมถึง 'ความเป็นผู้นำตลาด' หรือ 'ความเป็นผู้นำในด้านวิทยาการ' ต่างๆ ด้วย ... ข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ในยุคสมัยปัจจุบันก็คือ 'พรมแดนของประเทศ' มักจะมีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมโลกน้อยกว่า 'พรมแดนทางธุรกิจ' หรือ 'พรมแดนทางการตลาด' ตลอดจน 'พรมแดนของการบริการ' ที่มี 'ผู้บริโภค' เป็น 'ผู้สนับสนุน' ราวกับเป็น 'ประชากร' ของ 'อาณาจักร' อีกรูปแบบหนึ่งไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ของ 'การปกครอง' หรือ 'การบริหารจัดการ' กับ 'ผู้บริโภค' หรือ 'ประชากร' ของแต่ละ 'อาณาจักร' ที่ไม่คล้ายกับ 'หลักรัฐศาสตร์' ใดๆ อีกเลย !!?
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 'รูปแบบภายนอก' ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติปลีกย่อยของ 'หลักการตลาด' กับ 'หลักรัฐศาสตร์' จะมีหลายสิ่งที่ไม่เหมือนกัน แต่ 'เนื้อหาภายใน' แห่ง 'หลักการใช้อำนาจ' และ 'หลักแห่งการแสวงอำนาจ' ก็ยังคงมี 'แก่นแกน' ที่ร่วมกันอยู่เสมอ ... ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว 'ความเปราะบาง' ของ 'อาณาจักรทางธุรกิจ' ดูจะมี 'ความมั่นคง' น้อยกว่า 'อาณาจักร' ในเชิงของ 'รัฐ' ด้วยซ้ำ เนื่องจาก 'การปฏิเสธอำนาจ' โดย 'ประชากร' จะสามารถกระทำได้ง่ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้ 'อำนาจการปกครอง' ของ 'อาณาจักรทางธุรกิจ' ต้องเผชิญกับ 'การพิสูจน์' และ 'การท้าทาย' ที่บ่อยครั้งกว่าไปด้วย
ดังนั้น หากมองไนแง่ของ 'ความเปราะบาง' แห่ง 'อำนาจการปกครอง' แล้ว 'ผู้นำในโลกธุรกิจ' ยิ่งจำเป็นต้องมี 'ความระมัดระวัง' ในเรื่องของ 'ภาวะผู้นำ', 'ความรู้ความสามารถ', 'ความทุ่มเทพยายาม', และ 'หลักคุณธรรม' ที่หนักหนาสาหัสกว่า 'ผู้นำรัฐ' โดยทั่วไปอีกหลายๆ เท่าด้วยซ้ำ ??!! ... เพราะ 'การเป็นผู้นำตลาด', 'การเป็นผู้นำทางความคิด' หรือ 'การเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม' ที่ไม่มี 'กฎหมาย' ใดๆ ในแบบ 'รัฐอาณาจักร' คอย 'หนุนหลัง' ย่อมมี 'ความจำเป็น' ต้องอาศัย 'ปัจจัยพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง' ที่เข้มข้นกว่า 'การปกครองรัฐอาณาจักร' อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ... ซึ่ง ... ประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่หลายคนเคยนึกเปรียบเทียบเอาไว้ และส่งผลให้ 'อาณาจักรทางธุรกิจ' หลายต่อหลายแห่งต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน 'เจริญรุ่งเรือง' และ 'ล่มสลาย' ลงไปในห้วงเวลาที่สั้นกว่า 'รัฐอาณาจักร' หลายสิบเท่าเสมอ ... แต่ก็ดูเหมือน 'ผู้นำทางธุรกิจ' แทบจะทุกยุคทุกสมัยไม่ค่อยจะตระหนักถึง 'ความเปราะบาง' แห่ง 'อำนาจการปกครอง' ดังที่ว่านี้มากเท่าที่ควร ;)