Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第二卦 : 坤
坤 : 坤為地 ‧ 坤上坤下
坤 : 元‧亨‧利牝馬之貞‧君子有攸往‧先迷後得主利‧西南得朋‧東北喪朋‧安貞吉‧
- 初六 ‧ 履霜‧堅冰至‧
- 六二 ‧ 直方大‧不習無不利‧
- 六三 ‧ 含章可貞‧或從王事‧無成有終‧
- 六四 ‧ 括囊‧無咎無譽‧
- 六五 ‧ 黃裳‧元吉‧
- 上六 ‧ 龍戰于野‧其血玄黃‧
- 用六 ‧ 利永貞‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์สงบนิ่ง (⚏) ปัญญากระจ่างใส (⚏) สุขภาพสบายๆ (⚏) :D
ความหมายในเชิงบริหาร : ทุกองคาพยพพร้อมรับ ทั้งนโยบาย, แผนงาน, และการปฏิบัติ
ความหมายของสัญลักษณ์ : คือพลังปฐพี, พิภพหนุนแผ่นดิน ;)
ความหมายของชื่อเรียก : Actualizing : การประจักษ์แจ้ง
ผมยืมคำว่า Actual มาจากคุณลักษณะของ Finite ซึ่งเป็น 'คู่ตรงข้าม' ของคำว่า Potential อันเป็นคุณลักษณะของ Infinite ตามคติความคิดแบบปรัชญาตะวันตก (ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล) เพื่อให้ 'หยิน' สะท้อนความเป็น 'คู่ปฏิปักษ์' กับ 'หยาง' อย่างที่สมควรจะได้รับการยอมรับ … ทั้งนี้ … เพื่อจะพยายามปรับเปลี่ยนความรับรู้ของผู้คนทั่วๆ ไปที่มักจะตีความเอาว่า 'พลังหยิน' คือ 'ฝ่ายที่ถูกกระทำ' โดยมี 'พลังหยาง' เป็น 'ฝ่ายกระทำ' อยู่ตลอดเวลา อันเป็น 'การตีความ' ที่ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนไปอย่างมาก ;)
หากย้อนกลับไปดูความหมายของ Potential ที่เล่าไว้ในบทที่แล้ว หลายๆ คนอาจจะคิดว่า 'คู่ปฏิปักษ์' ของ Potential (ศักยภาพ) น่าจะเป็น Capability (ความสามารถ) โดยต่างก็เป็นคุณลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกันในแง่ของการเสริมส่งซึ่งกันและกัน … แต่ Capability ไม่ใช่ 'หยิน' ครับ !! … ;) … เพราะความจริงแล้ว Potential กับ Capability เป็น 'คู่ปฏิปักษ์กัน' ใน 'มิติของเวลา' แต่ไม่ใช่ 'คู่ปฏิปักษ์กัน' ใน 'มิติของเนื้อหา' … นั่นคือเหตุผลที่ทำให้คำทั้งสองคำนั้น มักจะถูกใช้แทนที่กันในความหมายเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง … Capability หรือ 'ความสามารถ' นั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มี Potential หรือ 'ศักยภาพ' เป็นปัจจัยสนับสนุน … ในขณะที่ Potential is not Capability ก็ยังเป็นจริงเสมอ เนื่องจาก Potential หรือ 'ศักยภาพ' นี้ เป็นเพียง 'ปัจจัยหนึ่ง' ที่จะก่อให้เกิด Capability หรือ 'ความสามารถ' ขึ้นมาได้ … แต่ 'ปัจจัยหนึ่ง' ย่อมเป็นคนละความหมายกับ 'ปัจจัยเดียว' !! :D … และปัจจัยที่ยังขาดหายไปในสูตรสำเร็จของ Capability ก็คือ Actualization หรือ Actualizing … ด้วยเหตุนี้ จึงมีแต่ Potential ที่ถูกเติมเต็มด้วย Actualization แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถกลายเป็น Capability ขึ้นมาได้ … ;) … เพราะฉะนั้น เมื่อ 'หยาง' ถูกผมกำหนดให้คู่กับ Potential หรือ 'ศักยภาพ' ... 'หยิน' ก็จะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจากจะต้องเป็น Actualizing หรือ 'การประจักษ์แจ้ง' … หรือ Actualization ที่ผมควรจะแปลว่า 'ความตื่นรู้' นั่นเอง … 'พลังแห่งความสามารถ' ที่จะเสกสร้างทุกสรรพสิ่ง ย่อมเกิดจาก 'การตื่นจากภวังค์แห่งอวิชชา' ของผู้ที่เปี่ยมไปด้วย 'ศักยภาพ' อย่างแท้จริงเท่านั้น … เท่ห์มั้ย ??!! … :D
ย้อนไปดูความหมายของ 'ภาพอักษร' ที่ King Wen เอามาใช้เป็นชื่อภาพสัญลักษณ์นี้กันหน่อย
ภาพอักษร 坤 (kūn, คุน) อยู่ในหมวดอักษร 土 (tǔ, ถู่) ที่แปลว่า 'ดิน', 'พื้นดิน', หรือ 'แผ่นดิน' ซึ่งถูกเขียนไว้ทางด้านซ้ายของภาพอักษร ส่วนทางด้านขวาของภาพอักษรจะเป็นอักษร 申 (shēn, เซิน) ซึ่งอยู่ในหมวดของ 田 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'ที่นา', หรือ 'ท้องนา' แต่ตัว 申 จะมีความหมายว่า 'อธิบาย', 'ขยายความ', 'รายงาน', หรือ 'ชี้แจง' เพื่อให้เกิด 'ความเข้าใจ' ที่กระจ่างชัดเจน บางครั้งจึงแปลว่า 'ทำให้รู้', 'ทำให้แจ้ง', 'ทำให้ประจักษ์' … แล้วในความหมายที่หมายถึง 'การขยายความ' บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ขยายผล' ได้ด้วย … ซึ่งความหมายทั้งหมดที่ว่ามานี้ จะถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ 'เส้นตรง' ที่ 'ผ่ากลางจากบนลงล่าง' ตลอดตัวอักษร 田 อันเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อม 'พลังหยาง' จากเบื้องบนให้ 'หยั่งราก' ลงไปในแผ่นดิน เพื่อจะ 'ขยายผล' ให้กลายเป็นทุกสรรพสิ่งในโลก … 坤 จึงมีความหมายในเชิงของ 'การรับรู้' อย่างเข้าอกเข้าใจ และ 'ทำให้ประจักษ์แจ้ง' ด้วย 'การขยายผล' ให้ทุกๆ ความทุ่มเทกลายเป็นดอกเป็นผลที่สามารถจับต้องได้ …
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
yuán hēng lì pìn mǎ zhī zhēn jün zǐ yǒu yōu wǎng xiān mí hòu dé zhǔ lì xī nán dé péng dōng běi sàng péng ān zhēn jí
เยฺวี่ยน เฮิง ลี่ พิ่น หฺม่า จือ เจิน จฺวิน จื่อ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เซียน มี๋ โฮ่ว เต๋อ จู่ ลี่ ซี นั๋น เต๋อ เพิ๋ง ตง เป่ย ซั่ง เพิ๋ง อัน เจิน จี๋
King Wen บันทึกคำอธิบายภาพสัญลักษณ์นี้ หรือจะว่าไปก็คือคำอธิบายความหมายของคำว่า 坤 ไว้ค่อนข้างจะยาวพอสมควร ... 元亨利牝馬之貞君子有攸往先迷後得主利西南得朋東北喪朋安貞吉 … ผมขอเล่าเฉพาะคำใหม่นะครับ เพราะถ้าขืนเล่าซ้ำคำเดิมจะทำให้เอกสารยาวสาหัสกว่านี้มาก :P …
สามตัวอักษรแรกเหมือนกับที่ใช้ในสัญลักษณ์ 乾 เลยครับ 元 亨 利 ส่วนตัวที่สี่ที่ใช้ในสัญลักษณ์ 乾 คือ 貞 นั้น ดูเหมือนจะถูกขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในที่นี้ …
牝 อ่านว่า pìn (พิ่น) แปลว่า 'เพศเมีย' ก็เลยอาจจะแปลว่า 'อ่อน' หรือ 'นุ่ม' ได้ด้วย .. บางกรณีก็สามารถแปลว่า 'หุบเหว' หรือ 'ช่องแคบระหว่างหน้าผา' (gorge) แต่ในกรณีที่ใช้ในวรรคนี้ซึ่งใช้คู่กับตัวอักษร 馬 (mǎ, หม่า) ที่แปลว่า 'ม้า' คำว่า 牝馬 (pìn mǎ, พิ่นหฺม่า) จึงแปลเป็นอย่างอื่นไปได้ยาก เว้นแต่ว่าจะต้องแปลเป็น 'ม้าเพศเมีย' เท่านั้น … ซึ่ง 'ม้าเพศเมีย' ก็คือม้าที่ถูกนำมาฝึกสำหรับใช้งานทุกๆ อย่างในกองคาราวานม้า หรือแม้แต่ในกองทัพทหาร … โดยธรรมชาติของม้านั้น ม้าเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง และจะมี 'จ่าฝูง' เป็น 'ม้าเพศผู้' ซึ่งมักจะต้องมีเพียงตัวเดียวในแต่ละฝูงเสมอ (แล้วก็ต้องยังไม่ถูกตอนด้วย :D) การควบคุมฝูงม้าโดยมนุษย์ก็จะต้องเลียนอย่างจากธรรมชาติของม้า โดยการฝึกให้ 'ม้าเพศผู้' นั้นทำตามคำสั่งของมนุษย์ แล้วให้ 'ม้าเพศผู้' ที่เป็น 'จ่าฝูง' ไปชี้นำ 'ม้าเพศเมีย' อีกทอดหนึ่ง (โดยเฉพาะในขณะที่จะมีการเคลื่อนขบวนม้าไปในทิศทางต่างๆ) … ดังนั้น เมื่อมีการเอ่ยถึง 'ม้า' ในลักษณะที่ถูกนำมาใช้งาน ก็จะต้องหมายถึง 'ม้าเพศเมีย' เสมอ
เมื่อผสมคำว่า 牝馬 (pìn mǎ, พิ่นหม่า) กับ 貞 (zhēn, เจิน) ที่แปลว่า 'คุณธรรม', หรือ 'ระเบียบวินัย' ออกมาเป็นวลี 牝馬之貞 (pìn mǎ zhī zhēn, พิ่นหม่าจือเจิน) ความหมายจึงน่าจะหมายถึง 'มีระเบียบวินัยเหมือน (ฝูง) ม้าตัวเมีย' … อันจะประกอบไปด้วย 'ความขยันขันแข็ง', 'การเชื่อฟังคำสั่ง', 'ความพร้อมเพรียง' และ 'ความสม่ำเสมอ' หรือ 'ความเสมอต้นเสมอปลาย' … ซึ่งเป็นการจำกัดความหมายของคำว่า 貞 ให้กระชับเหลือเพียงความหมายที่แคบลงกว่าที่เคยใช้ในคำอธิบายของสัญลักษณ์ 乾 ที่เล่าไปก่อนหน้านี้
攸 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, โยว) แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … มึนมั้ย ?! :D
往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้
先 อ่านว่า xiān (เซียน) แปลว่า 'ก่อน' ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ 後 (hòu, โฮ่ว) ที่แปลว่า 'หลัง'
迷 อ่านว่า mí (มี๋) แปลว่า 'ไม่ชัดเจน', 'ไม่เข้าใจ', 'สับสน' หรือ 'งงงง' :P
得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'
主 อ่านว่า zhǔ (จู่) แปลว่า 'หลัก', 'เจ้าของ', 'เจ้าบ้าน', 'สำคัญที่สุด', 'จำเป็นที่สุด', 'เด่นที่สุด'
西南 อ่านว่า xī nán (ซีนั๋น) แปลว่า 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' … ส่วน 東北 อ่านว่า dōng běi (ตงเป่ย) แปลว่า 'ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' ซึ่งถือเป็นทิศตรงข้ามของ 西南 … อันนี้คงต้องไล่ทิศต่างๆ ในภาพ 'โป้ยก่วย' กันใหม่ถึงจะพอรู้เรื่อง :P
แผนภาพ 'โป้ยก่วย' ตามแบบฉบับของ King Wen ที่เรียกว่า Later Heaven Order นั้นจะมี 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' หรือ 'ตรีลักษณ์' ประจำทิศทั้งแปดแตกต่างไปจากแผนภาพของ Fu Xi ที่เรียกว่า Earlier Heaven Order เล็กน้อย … คำว่า 西南 และ 東北 ซึ่งหมายถึงทิศทั้งสองนี้ ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันได้ว่า King Wen ต้องการจะให้หมายถึง 'ทิศ' ที่อยู่ในแผนภาพไหนกันแน่ … แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะ 'อนุมาน' กันเอาเองว่าน่าจะหมายถึงแผนภาพในแบบฉบับของ King Wen เอง เพราะ Fu Xi ไม่ได้เป็นผู้บันทึกคำอธิบายใดๆ ใน 'คัมภีร์อี้จิง'
ภาพที่เห็นด้านบนนี้ ภาพทางซ้ายคือ Later Heaven Order ของ King Wen ส่วนภาพทางขวาคือ Ealier Heaven Order ของ Fu Xi … สัญลักษณ์ประจำ 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' ของ King Wen คือ ☷ (หมายถึงแผ่นดิน) ส่วนสัญลักษณ์ประจำทิศในแบบของ Fu Xi จะเป็น ☴ (หมายถึงลม) … สำหรับสัญลักษณ์ประจำ 'ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' ของ King Wen คือ ☶ (หมายถึงภูเขา) ในขณะที่สัญลักษณ์ประจำทิศในแบบของ Fu Xi จะเป็น ☳ (หมายถึงฟ้าร้อง) … โดยส่วนที่เหมือนกันในแผนภาพทั้งสองแบบนี้ก็คือ 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' เป็นทิศของ 'หยิน' และ 'ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' จะเป็นทิศของ 'หยาง' … ซึ่งคุณลักษณะของ 'ความเป็นหยิน' และ 'ความเป็นหยาง' ประจำทิศนั้น จะถือเอาตามระบบการจัดแบ่งด้วยมาตรฐานของแผนภาพ 'โป้ยก่วย' แต่ละแบบเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ใช้ปะปนกัน … ผมยกมาให้ดูเปรียบเทียบทั้งสองแบบตรงนี้ก็เพราะผมเชื่อว่า King Wen น่าจะไม่ได้เจาะจงเฉพาะการใช้สัญลักษณ์ตามแบบมาตรฐานของตัวเองเท่านั้น แต่น่าจะมีความต้องการให้ครอบคลุมทั้งสองแบบ … นั่นคือเหตุผลที่ King Wen เลือกบันทึกด้วย 'ชื่อทิศ' แทนที่จะเลือกบันทึกด้วย 'ชื่อสัญลักษณ์'
朋 อ่านว่า péng (เพิ๋ง) แปลว่า 'เพื่อน', 'มิตร', หรือ 'พันธมิตร'
喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', 'สิ้นสุด' ในที่นี้ที่ใช้เป็นคำต่อเนื่องกับชื่อทิศที่อยู่ตรงข้ามกัน จึงน่าจะมีความหมายตรงข้ามกับ 得 ที่ถูกใช้ในวลีก่อนหน้า
安 อ่านว่า ān (อัน) แปลว่า 'สงบ', 'หนักแน่น', 'มั่นคง', 'นิ่ง', 'ปลอดภัย'
อ้ะ … ประโยคยาวๆ ที่ King Wen บันทึกไว้อย่างที่เห็น ผมจะแยกออกเป็นอย่างนี้นะครับ 元 . 亨 . 利 . 牝馬之貞 . 君子有攸往 . 先迷後得主利 . 西南得朋 . 東北喪朋 . 安貞 . 吉 (ออกเสียงว่า เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ พิ่นหม่าจือเจิน จฺวินจื่อหฺยิ่วโยวหวั่ง เซียนมี๋โฮ่วเต๋อจู่ลี่ ซีนั๋นเต๋อเพิ๋ง ตงเป่ยซั่งเพิ๋ง อันเจิน จี๋) … แล้วก็แปลซะใหม่ว่า … 'การประจักษ์แจ้ง' หมายถึง 'จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ มีความรู้และความเข้าใจอย่างชัดเจนในจุดมุ่งหมาย มีความมุ่งมั่นในทิศทางที่จะต้องดำเนินไป ต้องมีทั้งไหวพริบและปฏิภาณที่เฉียบแหลม มีความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับผู้อื่น มีความเสมอต้นเสมอปลายในหลักแห่งคุณธรรม … คนดีย่อมต้องได้รับการตอบสนองที่ดีไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว แม้ว่าในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่เห็นผลใดๆ ที่เด่นชัด แต่ในบั้นปลายย่อมประสบกับความสำเร็จที่โดดเด่นเสมอ … ความอ่อนน้อม และความสมถะเรียบง่าย (หยิน) ย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ แต่ความอวดโอ่ และเย่อหยิ่งลำพอง (หยาง) ย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์ … ความหนักแน่นมั่นคงในหลักแห่งธรรม ย่อมโน้มนำความดีให้ปรากฏ'
ผมแปลคำว่า 西南 หรือ 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' ในวลีนี้ว่า 'ความอ่อนน้อม' ซึ่งเป็น 'คุณลักษณะ' ประการหนึ่งของ 'หยิน' … โดยอ้างอิงกับสัญลักษณ์ ☷ (คุน, หมายถึงแผ่นดิน) ที่อยู่ประจำทิศ … และแปลคำว่า 東北 หรือ 'ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' ว่า 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' โดยอ้างอิงกับสัญลักษณ์ ☶ (เกิ้น, หมายถึงภูเขา) … ซึ่งเราจะเห็นว่า 'แผ่นดิน' ที่ปรกติจะมี 'ความราบเรียบ' หรือ 'ความเรียบง่าย' นั้น เป็นภาพที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับ 'ภูเขา' ซึ่งมีความเป็น 'แผ่นดินที่โหนกนูนจนสูงเด่นกว่าพื้นที่โดยรอบ' … โดยเราจะเห็นเครื่องหมายแทน 'ความเป็นหยาง' ถูกใช้ในตำแหน่งที่บ่งบอกถึง 'การแสดงออกสู่ภายนอก' ตรงด้านบนสุดของภาพสัญลักษณ์ ☶ (เกิ้น) อันจะสอดคล้องกับสำนวนไทยประเภทว่า 'ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง' … ซึ่งก็คือ 'การอวดโอ่' นั่นเอง ;)
แต่หากเราแทนที่ตำแหน่งดังกล่าวด้วยสัญลักษณ์จาก Earlier Heaven Order ของ Fu Xi เราก็จะเห็น 'คู่ตรงข้าม' อีกคู่หนึ่งคือสัญลักษณ์ ☴ (ซฺวิ่น, หมายถึงลม) ในทิศ 西南 และสัญลักษณ์ ☳ (เจิ้น, หมายถึงฟ้าร้อง) ในทิศ 東北 ซึ่งก็จะสะท้อนให้รู้สึกถึง 'ความเย็นสบาย' อย่าง 'สายลม' ที่พัดอ่อนๆ กับ 'ความกระโชกโฮกฮาก' อย่าง 'ฟ้าร้อง' หรือ 'ฟ้าคะนอง' ที่ดูจะให้อารมณ์ของ 'การประโคม' เพื่อ 'อวดโอ่' พลังอำนาจของตนเองอย่างแข็งขืน อันเป็นการ 'บ่อนทำลายความสัมพันธ์' เพราะจะเข้าทำนองของสำนวนไทยประเภท 'ยกตนข่มท่าน' ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ 'น่ารังเกียจ' มากกว่า 'น่าคบหา' … :D … ตรงนี้คือเหตุผลที่ผมเชื่อว่า King Wen มีความต้องการจะสื่อความหมายให้ครอบคลุมทั้งสองความหมาย จึงเลือกใช้ 'ชื่อทิศ' แทน 'ชื่อสัญลักษณ์' อย่างที่บอกเอาไว้ ;)
ส่วนคำว่า 安貞 ที่วางอยู่เกือบท้ายประโยคนั้น ผมตีความว่าเป็นการ 'ล้อความหมาย' กับวลีที่ว่า 牝馬之貞 ในตอนต้นประโยค เพื่อสะท้อนความหมายของ 'ความหนักแน่นอย่างสงบ' ซึ่งเป็น 'ความสงบ' ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจาก 'การอยู่เฉยๆ' แต่เป็น 'ความสงบ' ที่เกิดจาก 'ความเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียง' … 'สงบเพราะไม่สับสนอลหม่าน' ไม่ใช่ 'สงบเพราะสลบไสลไม่ได้สติ' … :D
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ภายใต้สัญลักษณ์ ䷀ (เชี๋ยน, คือลิขิตฟ้า) นั้น King Wen บรรยายภาพด้วยภาพอักษรเพียงสี่ภาพ คือ 元亨利貞 โดยไม่มีการเอ่ยถึง 'ผู้อื่น' ที่นอกเหนือจาก 'ตัวของตัวเอง' เลย … นั่นจึงเป็นเรื่องของ 'ศักยภาพ' ล้วนๆ … แต่ภายใต้สัญลักษณ์ ䷁ (คุน, คือพลังปฐพี) นี้ King Wen ได้เอ่ยถึง 'ผู้อื่น' โดยเฉพาะตรงคำว่า 朋 ที่หมายถึง 'มิตรสหาย' และเน้นย้ำถึง 'การอยู่ร่วม' โดยใช้สัญลักษณ์ของ 'ฝูงม้า' เป็นสื่อที่บ่งบอกให้รู้จัก 'ผ่อนหนักผ่อนเบา' เพื่อ 'ความสงบราบรื่น' ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ร่วมกัน … แต่ก็ไม่วายที่ต้องเตือนให้ระลึกไว้ตั้งแต่แรกด้วยว่า เราจะต้อง 'เป็นตัวของตัวเอง' (元) และต้อง 'ยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม' โดยไม่เปลี่ยนแปลง (安貞) โดยวางคำเตือนทั้งสองคำคร่อมประโยคทั้งประโยคเอาไว้ในลักษณะ 'เปิดหัว-ปิดท้าย' เหมือน 'เครื่องหมายคำพูด' … เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ว่า 'แม้ว่าเราจะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และจำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตามในการอยู่ร่วมกันกับผู้คน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องถูกพวกมากลากไป จนถึงขั้นที่เฉไฉออกนอกลู่นอกทางไปจากหลักแห่งคุณธรรมที่เราจะต้องยึดถือไว้เสมอ' … เพราะแม้ว่าการยึดมั่นในหลักแห่งคุณธธรมจะได้รับการปฏิเสธ หรือไม่ได้รับการยอมรับในระยะแรกๆ แต่ในที่สุดแล้ว 'คนดี' (君子) ย่อมต้องได้รับการตอบสนองที่ดี (有攸往) ไม่ว่าช้าหรือเร็ว … เข้าทำนองว่า 'แรกดูพร่าพราย ปลายใสกระจ่างเจิด' (先迷後得主利) … :P
ความหมายของ ䷁ (坤, คุน) จึงไม่ได้มีความหมายในลักษณะของ 'การน้อมรับ' หรือ 'การโอนอ่อนผ่อนตาม' อย่าง 'ไร้สติ' แบบ pure yin อย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจ … แต่ 'ความเป็นคุน' คือ 'การอยู่ร่วมกับสภาวะแวดล้อม' อย่าง 'มีสติ' และมี 'ความเป็นตัวของตัวเอง' อย่างยิ่งยวด … มี 'ความโอนอ่อน' ในท่าที แต่ 'หนักแน่น' ในหลักการที่เป็นธรรม … นี่คือ 'พลังแห่งปฐพี' !! … ;)
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
履霜堅冰至
lǚ shuāng jiān bīng zhì
หลฺวี่ ซวง เจียน ปิง จื้อ
履 อ่านว่า lǚ (หลฺวี่) แปลว่า 'รองเท้า', 'เท้า', 'ย่ำเท้า', 'ย่างเท้า', 'ก้าวเดิน', 'เขตแดน', 'ดำเนินไป', 'ประสบการณ์', 'ปฏิบัติการ', หรือ 'ดำเนินการ'
霜 อ่านว่า shuāng (ซวง) แปลว่า 'เกร็ดน้ำแข็ง', 'ร่วน', 'ซุย'
堅 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'แข็ง', 'แข็งแรง', 'มั่นคง', 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้มั่นคง', 'ป้องกัน', 'แก้ไขปรับปรุง' แล้วก็เลยอาจจะแปลว่า 'ทำให้น่าเชื่อถือ' หรือ 'ทำให้น่าไว้วางใจ' ได้ด้วย
冰 อ่านว่า bīng (ปิง) แปลว่า 'น้ำแข็ง', 'หนาวเย็น', 'ทำให้เย็น', 'ทำให้เป็นน้ำแข็ง', 'ทำให้หนาวเหน็บ'
至 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ไปถึง', 'มาถึง', 'ปลายทาง', 'ที่สุด', หรือ 'สุดขั้ว'
สำหรับวรรคนี้เกือบจะทุกตำราแปลคำว่า 履霜 ไว้ตรงกันว่า 'เดินบนทางที่ปกคลุมด้วยเกร็ดน้ำแข็ง' หรือไม่ก็ 'ย่างเท้าไปบนพื้นน้ำแข็ง' … ซึ่งถ้าหากไปค้นจากในพจนานุกรมหลายเล่มที่มีคำนี้อยู่ ก็มักจะเห็นคำแปลที่ไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก … แต่ผมว่ามันทะแม่งๆ เวลาที่เราเอาไปรวมกับคำข้างหลังคือ 堅冰至 ซึ่งมันจะแปลว่า 'กลายเป็นน้ำแข็ง' … มันเหมือนกับมีการ 'บดอัดด้วยตีน' เพื่อให้เกร็ดน้ำแข็งใต้ฝ่าเท้าที่ก้าวเดินนั้นถูกบี้จนกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งยังไงก็ไม่รู้ … :D … เก้าะสรุปว่า … ผมไม่ชอบใจ … ว่างั้น !! … :D
คือถ้าเราพิจารณาวรรคนี้ให้มีความหมายที่ต่อเนื่องจากบทบันทึกของ King Wen ไม่ว่าจะเป็นคำว่า 牝馬之貞 หรือ 君子有攸往 หรือ 先迷後得主利 หรือแม้แต่คำที่เขียนไว้เกือบจะท้ายประโยคว่า 安貞 แล้ว ผมก็อยาก 'ตีความ' ให้ 履霜 มีความหมายว่า 'เกร็ดน้ำแข็งที่สั่งสมถมทับ' ซะมากกว่า คือมันมีลักษณะอาการประเภทว่า 'เกร็ดน้ำแข็ง' step on หรือ 'ก้าวเท้า' ลงไปบน 'เกร็ดน้ำแข็ง' นั่นก็คือมีอาการของ 'การสั่งสม' หรือ 'การสะสม' ซ้อนทับลงไปเป็นชั้นๆ … จนกระทั่ง 'ในที่สุด' (至) ก็จะกลายสภาพเป็น 'ผืนน้ำแข็งที่แข็งแรง' (堅冰)
ความหมายของวรรคนี้จึงน่าจะประมาณว่า 'เกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะมีความร่วนซุย แต่หากมีการสั่งสมถมทับอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากพอ มันก็จะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่งได้ในที่สุด' … ตรงนี้ก็จะสะท้อนความหมายของคำว่า 先迷後得主利 ที่หมายถึง 'การสะสมความดีนั้น แม้ว่าในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่เห็นผลใดๆ ที่เด่นชัด แต่ในบั้นปลายย่อมประสบกับความสำเร็จที่โดดเด่นเสมอ' และในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนความหมายของ 'ความขยันขันแข็ง', 'ความมีน้ำอดน้ำทน' และ 'ความพร้อมเพรียง' ของ 'ฝูงม้า (ตัวเมีย)' ในคำว่า 牝馬之貞 กับสะท้อนถึง 'ความหนักแน่น' และ 'ความเสมอต้นเสมอปลาย' ในคำว่า 安貞 อีกด้วย
หลายๆ ตำราก็ยัง 'ตีความ' ให้ 'น้ำแข็ง' ซึ่งมีคุณลักษณะของ 'ความเย็น' ในวรรคนี้แทนภาพสัญลักษณ์ของ 'ความเป็นหยิน' เพื่อให้เข้ากับภาพสัญลักษณ์ ䷁ (坤, คุน) … แต่ผมกลับมองว่า 'ความเย็น' อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการใช้ภาพของ 'น้ำแข็ง' มาเปรียบเทียบกับ 'ความเป็นหยิน' ในที่นี้ ;) … เนื่องจากมีการใช้ภาพของ 'น้ำแข็ง' ในสองสถานะ หรือสองลักษณะของ 'ความเป็นน้ำแข็ง' ด้วยคำที่แตกต่างกันสองคำคือ 霜 กับ 冰 … โดยคำแรกแสดงถึง 'น้ำแข็ง' ที่มีลักษณะ 'ร่วนซุย' เป็น 'เกร็ด' หรือเป็น 'วุ้น' แบบที่เราเรียก 'เกร็ดน้ำแข็ง' ของเบียร์เย็นๆ :D ในขณะที่คำหลังจะหมายถึง 'น้ำแข็ง' ที่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งๆ หรือเป็นแผ่นหนาๆ ซึ่งมีทั้งความแข็งแรง และมีความเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนกว่า … ความหมายจริงๆ จึงน่าจะสะท้อน 'ความเป็นหยิน' ในลักษณะที่ว่า … แท้จริงแล้ว 'หยิน' มิได้มีพละกำลังที่แข็งแกร่งด้วยลำพังของ 'หยินเดี่ยวๆ' … แต่การจะก่อให้เกิด 'พลังแห่งหยิน' ขึ้นมาได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'การอยู่ร่วม' อย่าง 'สมัครสมานสามัคคี' เป็น 'ปึกแผ่น' ที่แน่นหนา … ตรงนี้เป็นลักษณะอาการที่แตกต่างจาก 'หยาง' ที่หมายถึง 'ความมีศักยภาพ' ซึ่งโดยปรกติแล้วจะเป็น 'คุณลักษณะ' หรือ 'คุณภาพ' เฉพาะตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร …
อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งใดๆ ในโลกย่อมไม่อาจเติบใหญ่ได้โดยอาศัยเพียงศักยภาพแห่งตน แต่จำเป็นต้องอาศัยศักยภาพของสภาพแวดล้อมอื่นๆ มาเป็นสิ่งเกื้อหนุนค้ำจุนเสมอ … คนเก่งๆ ที่มีศักยภาพสูงๆ หลายๆ คน หากแม้นไม่สามารถประกอบกิจการงานร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์ ต่างมุ่งเน้นที่จะชิงดีชิงเด่นในหมู่ของผู้มีศักยภาพด้วยกันซะเอง ไม่มีความสมัครสมานสามัคคี ไม่สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนาฉันใด … ธุลีเล็กๆ อย่าง 'ทราย' ที่ยังกระจัดกระจายออกจากกันได้ตลอดเวลา ย่อมไม่อาจจะเปรียบเทียบกับความแข็งแกร่งของ 'เกร็ดน้ำแข็ง' ที่ได้หลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นผืนน้ำแข็งแล้วฉันนั้น …
直方大不習無不利
zhí fāng dà bù xí wú bù lì
直 อ่านว่า zhí (จื๋อ) แปลว่า 'ตรง', 'ตั้ง', 'เที่ยงตรง', 'จริงใจ', 'น่าเชื่อถือ', 'ซื่อสัตย์'
方 อ่านว่า fāng (ฟัง, ฟาง) แปลว่า 'สี่เหลี่ยมมุมตรง (90˚)' (โดยมากมักจะหมายถึง 'สี่เหลี่ยมจัตุรัส'), 'ลูกบาศก์', 'เท่ากัน' ; บางทีเลยหมายถึง 'กฎระเบียบ', หรือ 'เหตุผล' ได้ด้วย … และยังแปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', 'ทิศทาง', หรือ 'สถานที่' ก็ได้
習 อ่านว่า xí (ซี๋) แปลว่า 'ฝึกฝน', 'ฝึกหัด', 'ทำให้เคยชิน', 'ทำให้ชำนาญ', 'ทดลอง' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'พยายาม' ก็ได้ … แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะหมายถึง 'ฝืน' หรือ 'ดันทุรัง' ก็น่าจะได้เหมือนกัน :D
วรรคนี้ดูเหมือนจะแบ่งประโยคได้เป็น 2-3 แบบคือ 直方大 ‧ 不習無不利 ซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับการแบ่งเป็น 直方大 ‧ 不習 ‧ 無不利 แต่อีกแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นไปได้ก็คือแบบนี้ 直方大 ‧ 不習無 ‧ 不利
คำว่า 直方 (zhí fāng, จื๋อฟาง) ในที่นี้น่าจะแปลเป็นอย่างอื่นลำบากนอกจากจะให้หมายถึง 'ความเที่ยงธรรม' หรือ 'ความซื่อสัตย์และยุติธรรม' ซึ่งทำให้คำว่า 直方大 น่าจะแปลว่า 'ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมนั้นถือเป็นหลักปฏิบัติที่มีความสำคัญอย่างมาก' คือ 'เป็นหลักใหญ่' (大) ในการครองตน … ส่วนท่อนหลังที่ว่า 不習無不利 นั้น หลายๆ ตำราแปลไว้ว่า 'ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องพยายาม' ซึ่งผมมองว่า มันเป็นคำแปลที่ค่อนข้างจะขัดกับ 'หลักแห่งความขยัน' ซึ่งประกอบไปด้วย 'ความอุตสาหะพยายาม' ใน 'การฝึกฝน' และ 'การพัฒนา' อย่างต่อเนื่อง
หากผมเลือกที่จะ 'ตีความ' ให้สอดคล้องกับวรรคก่อนหน้านี้ และมีความหมายต่อเนื่องจากคำบรรยายของ King Wen ตรงวลีที่ว่า 君子有攸往 (คนดีย่อมต้องได้รับการตอบสนองที่ดีไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว) หรือ 'ผู้ตั้งมั่นในหลักแห่งธรรมย่อมได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในบั้นปลายเสมอ' … คำว่า 不習無不利 ก็น่าจะหมายความว่า 'ต่อให้ไม่ต้องเร่งเร้าหักโหม (不習) อุปสรรค (不利) ใดๆ ย่อมไม่มี (無)' … และทำให้ 直方大 ‧ 不習無不利 น่าจะมีความหมายว่า 'ขอเพียงให้ยึดมั่นในหลักใหญ่แห่งความซื่อสัตย์และความยุติธรรม ดำเนินกิจการงานต่างๆ ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งเร้าหักโหม อุปสรรคขวากหนามใดๆ ย่อมไม่ปรากฏ'
ทีนี้ … ถ้าผมแบ่งวรรคนี้เป็น 直方大 ‧ 不習無 ‧ 不利 ความหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นว่า 'แม้ว่าหลักแห่งความซื่อสัตย์ และความยุติธรรมจะเป็นหลักใหญ่ใจความที่จะต้องยึดถือ (直方大) แต่หากไม่รู้จักการปล่อยวาง ไม่รู้จักบ่มเพาะ (不習) จิตใจให้มีความว่าง (無) ย่อมนำไปสู่ความผิดพลาดและล้มเหลว (不利) ได้ในภายหลัง' … ในทางหนึ่งผมมองว่านี่อาจจะเป็น 'การตักเตือน' เพราะบ่อยครั้งที่ 'ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์' และมี 'ความทุ่มเท' ให้กับการประกอบกรรมดีต่างๆ เพื่ออุทิศให้แก่สังคมของเรานั้น มักจะเกิดความรู้สึก 'ภาคภูมิใจในคุณธรรม' ที่ตนยึดถือ จนกระทั่งอาจจะเลยเถิดไปเป็น 'ความรู้สึกถือดี' ว่าตนเองนั้นเป็น 'ผู้ที่มีความสำคัญ' เหนือกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ตนได้อุทิศกายใจเพื่อพวกเขาเหล่านั้น … การ 'ไม่ยึดติดในกรรมดีที่ตนก่อ' และไม่มองว่าสิ่งต่างๆ ที่ตนเองได้ทุ่มเทลงไปนั้น มีความสลักสำคัญที่ใครๆ ควรจะ 'สำนึกในบุญคุณ' ย่อมเป็นพฤติกรรมที่จะสร้างเสริมให้คุณความดีที่ตนก่อนั้น ยังคงความมีคุณค่าในสำนึกของทุกผู้คนไปตลอดกาล … แต่หากการประกอบกรรมดีนั้นๆ ไปจบลงตรงที่ 'ผู้ประกอบกรรมดี' เอาแต่ 'ยึดติด' ทั้งยังรู้สึกว่า ตนเองควรจะได้รับผลลัพธ์ตอบสนองที่สมน้ำสมเนื้อกับแรงกายแรงใจที่ได้อุตส่าห์อุทิศลงไป คุณค่าแห่งความดีนั้นๆ ย่อมมลายหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ในทันทีที่พวกเขารู้สึกว่าได้ 'ตอบแทน' แก่ 'ผู้ประกอบกรรมดี' อย่างสาแก่ใจไปแล้ว … การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดี (利) ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น … ปราชญ์จึงกระทำความดีเพื่อความดี มิได้กระทำความดีเพื่อมุ่งหวังในสิ่งตอบแทน … ;)
含章可貞或從王事無成有終
hán zhāng kě zhēn huò cóng wáng shì wú chéng yǒu zhōng
ฮั๋น จัง เข่อ เจิน ฮั่ว ช๋ง วั๋ง ษื้อ อู๋ เฌิ๋ง โหฺย่ว จง
含 อ่านว่า hán (ฮั๋น) แปลว่า 'อมไว้ในปาก', 'เก็บรักษาไว้', 'ซ่อนไว้', 'นัยแอบแฝง', บางทีก็เลยมีความหมายว่า 'ไม่ชัดเจน' ; 'รวบรวมไว้', 'บรรจุไว้'
章 อ่านว่า zhāng (จัง, จาง) แปลว่า 'บท', 'ตอน', หรือ 'ท่อน' ของบทประพันธ์หรือหนังสือ ; แต่ในสมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 彰 (zhāng, จัง, จาง) ที่แปลว่า 'ชัดเจน', 'เปิดเผย', 'หลักฐาน', 'สิ่งที่ปรากฏ', หรือ 'การแสดงออก'
可 อ่านว่า kě (เข่อ) แปลว่า 'เป็นไปได้', 'สามารถ', 'อาจจะ' ; 'เติมเต็ม', 'สมบูรณ์แบบ' ; 'ปัจจัยที่จำเป็น', หรือ 'โดยเฉพาะ' ; 'เห็นด้วย', 'อนุญาต'
從 อ่านว่า cóng (ช๋ง) แปลว่า 'นับจาก', 'จาก', 'โดย', 'นับตั้งแต่', 'เมื่อ', 'ตั้งแต่' ; 'นำมาใช้ประโยชน์', 'นำมาประยุกต์', 'นำมาเป็นกรรมสิทธิ์'
王 อ่านว่า wáng (วั๋ง) แปลว่า 'เจ้าแคว้น', 'ผู้นำ', 'กษัตริย์' ; จึงแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', หรือ 'โดดเด่น'
事 อ่านว่า shì (ษื้อ) แปลว่า 'เรื่องราว', 'กิจการ', 'กิจกรรม', 'ภารกิจ'
成 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'สำเร็จลุล่วง', 'ได้ผลลัพธ์', 'เป็นไปได้', 'กลายสภาพเป็น', 'สามารถ', 'แน่นอน'
ส่วนคำว่า 貞 (zhēn, เจิน) ที่แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity, virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' อย่างที่เคยเล่าไปแล้วนั้น จะมีความหมายแฝงอีกนัยหนึ่งว่า 'ความแน่นอน' หรือว่า 'ผลสรุป' ได้ด้วยเหมือนกัน … ในลักษณะที่ว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' และ 'ความมีอุดมการณ์' ที่จะประพฤติปฏิบัติ 'อย่างถูกต้อง' ตามหลักเกณฑ์ (คือมีระเบียบวินัย) นั้นเอง ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ผลลัพธ์ที่แน่นอน' อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
โดยทั่วไปวรรคนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ท่อนคือ 含章可貞 ‧ 或從王事 ‧ 無成有終 โดยผมมองว่าท่อนแรก (สี่ตัวอักษรแรก) กับท่อนสุดท้าย (สี่ตัวอักษรท้าย) มีความหมายที่ล้อกันอยู่ … โดยใช้คำว่า 含章 ที่หมายถึง 'ปกปิดความชัดเจน' หรือ 'ไม่เปิดเผยความนัย' ในลักษณะของ 'เหมือนมีเหมือนไม่มี' ไปล้อความหมายกับคำว่า 無 ที่แปลว่า 'ไม่มี' หรือ 'ว่างเปล่า' … แล้วใช้คำว่า 貞 ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง 'ผลลัพธ์ที่แน่นอน' หรือ 'ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่' ไปล้อความหมายกับคำว่า 有 ที่แปลว่า 'มี' … โดยมีคู่ของ 'คำเหมือน' มาเป็นตัวเชื่อมให้สองท่อนนี้มีความหมายล้อกันเองก็คือคำว่า 可 ที่ต้นวรรคกับ 成 ที่อยู่ท้ายวรรค เนื่องจากทั้งคู่แทบจะมีความหมายในลักษณะของ synonyms ของกันและกัน … ส่วนท่อนกลางที่ประกอบด้วยอักษรสี่ตัวคือ 或從王事 นั้น จะใช้คำว่า 王事 ซึ่งหมายถึง 'ภารกิจที่สำคัญ' ไปเน้นความหมายของคำว่า 貞 ให้หมายถึง 'ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่' ซึ่งจะไม่ใช่แค่เป็น 'ผลลัพธ์ที่แน่นอน' เฉยๆ … และทำให้วรรคนี้ทั้งวรรค มีความหมายรับกับบันทึกคำอธิบายภาพสัญลักษณ์ของ King Wen ในตอนต้นที่ว่า 先迷後得主利 (ตอนแรกแม้จะไม่เห็นผลใดๆ ที่ชัดเจน แต่บั้นปลายย่อมสำเร็จประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่) และสอดคล้องกับวรรคแรกที่ 'จิวกง' บันทึกในวรรคแรกว่า 履霜堅冰至 (เกร็ดน้ำแข็งที่ร่วนซุยที่สั่งสมถมทับไว้มากพอ ย่อมจะกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่งในที่สุด)
ความหมายจริงๆ ของวรรคนี้น่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า 'ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องแรก แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น' … ;)
อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตที่คำว่า 含 (hán, ฮั๋น) ซึ่งมีความหมายส่วนหนึ่งที่หมายถึง 'อมไว้ในปาก' โดยมีตัวอักษร 口 (kǒu, โข่ว) ที่แปลว่า 'ปาก' อยู่ตรงด้านล่างของตัวอักษร … ซึ่งในด้านหนึ่งแล้ว 含 จะมีความเกี่ยวข้องกับ 'ปาก' อยู่พอสมควร … ดังนั้น 含章 อาจจะหมายถึง 'อย่าขี้โม้คุยโอ่อวดโต' ได้ด้วยมั้ยก็เป็นเรื่องที่คิดกันเล่นๆ สนุกๆ ไปอีกทาง … :D … ซึ่งก็จะทำให้คำว่า 含章可貞 มีความหมายทำนองว่า 'เรื่องราวทุกๆ เรื่องที่จะปรากฏเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้นั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องอวดโม้คุยโตซักหน่อย' … :D … หรือจะแปลว่า 'ผลสำเร็จย่อมเกิดจากความไม่อวดโอ่ขี้โม้' เพื่อให้เข้ากับคำเตือนที่บอกให้ 'รู้จักถ่อมตน' ในวรรคก่อนๆ ก็น่าจะได้ … ;) … หรือถ้าจะให้ได้อารมณ์แบบ 'ขยัน' และ 'อดทน' เราก็อาจจะแปลคำนี้ว่า 'การสงบปากสงบคำ และดำเนินการต่างๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด' … แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์ต่อเนื่องจากวรรคที่แล้ว เราก็จะได้ประโยคยาวๆ เป็น 直方大 ‧ 不習無不利 ‧ 含章可貞 ‧ 或從王事 ‧ 無成有終 รวมความเป็น 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรม จึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดี (利) ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น … เพราะแม้จะไม่รบเร้าเรียกร้อง (含章) ผลลัพธ์ย่อมต้องปรากฏโดยวิถีทางแห่งการกระทำนั้นๆ เสมอ (可貞) … เปรียบดัง (或) ผู้คิดจะกระทำการใหญ่ (從王事) ย่อมต้องละวางทิฐิมานะแห่งอัตตา (無) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ดังที่ตั้งใจ (成有) ในบั้นปลาย (終) ฉะนั้น' … ;) … ผมไม่ยืนยันนะครับว่า 'คำแปล' แบบนี้จะเรียกว่า 'ถูกต้อง' ตามหลักวิชาการของภาษาจีน … แต่นี่คือ 'การตีความ' โดยวิธีดึงเอาความหมายของคำทีละคำออกมา แล้วนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นประโยคขึ้นมาใหม่ในลักษณะของการเล่น Random Words เท่านั้น ซึ่งเนื้อหาที่ได้อาจจะดูไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็สามารถเกิด 'ข้อคิด' ที่ผิดแปลกออกไปเพื่อใช้เป็น 'โวหารเสริม' ได้ในหลายๆ กรณีเหมือนกัน … :D
括囊無咎無譽
kuò náng wú jiù wú yǜ
คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่
括 อ่านว่า kuò (คั่ว) แปลว่า 'สะสม', 'รวบรวม', 'รวมไว้ด้วยกัน', 'ดึงมารวมกัน', 'บีบ', 'อัด', 'ร้อยไว้ด้วยกัน', 'กด', 'แทงให้ทะลุ' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เข้าใจ' ในลักษณะของ 'การประมวลเข้าด้วยกัน' ได้ด้วย
囊 อ่านว่า náng (นั๋ง) แปลว่า 'ถุง', 'กระสอบ', 'กระเป๋า' หรือ 'วัตถุสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายๆ กับถุงหรือกระเป๋า' ; แล้วมีความหมายเป็น 'เอาใส่ถุง', 'เอาใส่กระเป๋า', 'เก็บให้มิดชิด' ; จนหมายถึง 'ความลับ' และ 'เก็บเป็นความลับ' ก็น่าจะได้ ;)
譽 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ยกย่อง', 'สรรเสริญ', 'เกียรติยศ', 'ชื่อเสียง', 'ความเคารพนับถือ', ในสมัยก่อนมีความหมายเหมือนกับ 豫 (yǜ, ยฺวี่) แปลว่า 'พอใจ', 'สบาย', หรือ 'เอกเขนก'
ถ้าแปลวรรคนี้กันกันแบบดิบๆ เลยนะ ผมก็น่าจะแปลว่า 'ก้มหน้าก้มตาทำแต่ความดีไปเหอะ … ไม่ต้องไปสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รู้จักแต่การค่อนขอด หรือเสียงสรรเสริญเยินยอที่ได้แต่ปอปั้นไปวันๆ อย่างเปล่าประโยชน์ !!' … :D … ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว หากคนเรารู้จักดำเนินการใดๆ อย่างปราศจากทิฐิมานะแห่งอัตตา เรียนรู้ที่จะกระทำ 'กรรมเพื่อกรรม' … มุ่งแต่จะ 'กระทำความดีเพื่อสนองความดี' … มิใช่เพื่อมุ่งหวังการตอบแทน หรือเพื่อหล่อเลี้ยง 'ความหิวกระหายทางจิตวิญญาณ' แห่ง 'ตัวตน' ของตนเอง … ถ้อยคำที่ค่อนขอดว่าร้าย, เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ไร้เหตุผล, หรือเสียงยกย่องสรรเสริญใดๆ ย่อมไม่อาจสั่นคลอน 'คุณธรรม' และ 'อุดมการณ์' ของบุคคลนั้นๆ ได้อยู่แล้ว … 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักแห่งธรรม' (安貞) ดังที่ปรากฏตรงท้ายประโยคของ King Wen ที่บันทึกเอาไว้ ก็คือคำที่ได้รับการขยายความอีกครั้งในวรรคที่สี่ของ 'จิวกง' นี้เอง
ความหมายจริงๆ ของวรรคนี้ก็น่าจะประมาณว่า 'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภารกิจ และมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด (括囊) … ไม่ไยดีต่อ (คือไม่สะสม) คำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ (無咎) ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อ (คือไม่สะสม) คำยกย่องสรรเสริญ หรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ (無譽) ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์'
黃裳元吉
huáng cháng yuán jí
黃 อ่านว่า huáng (ฮฺวั๋ง, ฮฺว๋าง) แปลว่า 'สีเหลือง', 'สวยงาม (เหมือนสีทอง)' ; แต่บางครั้งก็จะมีความหมายว่า 'สุกงอม' ; 'ซีดเซียว', หรือว่า 'ชำรุด', 'เสียหาย' ไปเลย :P … แต่ที่น่าจะเกี่ยวกับ 'อี้จิง' ก็คือ 'สีเหลือง' เป็นสีประจำ หรือสีที่ใช้แทน 'ธาตุดิน' ตามคติความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่ครั้งโบราณด้วย
裳 อ่านได้สองแบบ อ่านว่า shāng (ซัง, ซาง) แปลว่า 'เครื่องนุ่งห่ม', 'เสื้อผ้า', โดยมากจะหมายถึง 'กระโปรง' ; แต่ถ้าอ่านว่า cháng (ฌั๋ง, ฌ๋าง ; เวลาออกเสียงต้องห่อลิ้น) โดยเฉพาะเวลาที่เขียนสองตัวติดกันเป็น 裳裳 จะมีความหมายว่า 'แวววาว', 'สว่างสุกใส', 'สวยงาม' ; และยังหมายถึง 'แจ่มใส' หรือ 'จิตใจที่เปิดกว้าง' (openhearted) ก็ได้
คือถ้าเรามองในแง่ที่ให้คำว่า 黃 หมายถึง 'สีเหลือง' อันเป็นสีสัญลักษณ์ของ 'ธาตุดิน' มันก็จะมีความหมายเหมือนกับ 坤 (☷) ที่หมายถึง 'แผ่นดิน' ใน 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ของภาพ 'โป้ยก่วย' แล้วก็เป็นชื่อเรียกของ 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' (䷁) ของบทนี้ไปด้วยพร้อมๆ กัน … ส่วนคำว่า 裳 นั้น ถ้าเราจะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'เครื่องนุ่งห่ม' … คำว่า 黃裳 ก็น่าจะหมายถึง 'การแสดงออกด้วยคุณลักษณะของธาตุดิน' ซึ่งมีคุณลักษณะของ 'การโอบอุ้ม' ด้วย 'จิตใจที่เปิดกว้าง' อย่าง 'เข้าอกเข้าใจ' … เช่นเดียวกับ 'แผ่นดิน' ที่มีความโอบอ้อมเอื้อเฟื้อเพื่อให้ทุกสรรพสิ่งสามารถเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้ตามสภาวะที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ อย่างไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง ...
แต่หากเราจะ 'ตีความ' ให้ 黃裳 หมายถึง 'ความสุกสว่างของธาตุดิน' มันก็น่าจะหมายถึง 'ธาตุดิน' ได้เปล่งประกายแห่งคุณลักษณะของตนเองออกมาอย่างเด่นชัด อันเป็นผลมาจาก 'การสั่งสมคุณงามความดี' ด้วย 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม' โดยไม่เคยสั่นคลอนเพราะคำสรรเสริญเยินยอ และไม่เคยย่อท้อต่อคำค่อนขอดว่าร้ายใดๆ อันเป็นสภาวะที่ 'พลังแห่งหยิน' ได้พัฒนาจน 'สุกงอมได้ที่' และได้ฝังรากลึกลงไปในแก่นแกนแห่งจิตสำนึกแล้วอย่างถาวร … ทั้งสองความหมายนี้ น่าจะเข้ากันได้ดีกับความหมายของวรรคต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดในบทนี้ และไม่น่าจะแปลว่า 'เสื้อสีเหลือง' หรือ 'กระโปรงสีเหลือง' หรืออะไรอย่างอื่นที่ดูไม่ค่อยจะต่อเนื่องกับวรรคก่อนๆ ของมันเอง ;)
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากจะ 'ตีความ' ให้คำว่า 黃裳元吉 มีความหมายว่า 'คุณธรรมความดีทั้งปวงที่สั่งสมไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดแล้วก็จะเปล่งประกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คน (黃裳) ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อ ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรมอย่างไม่สั่นคลอน (元 คือมีความเป็นตัวของตัวเอง) ย่อมจะโน้มนำให้ประสบกับความสำเร็จ (吉 คือความมีโชคลาภ) ได้ในบั้นปลายเสมอ' … ไม่ขอใช้คำแปลดุ้นๆ อย่างที่หลายๆ ตำราชอบแปลคล้ายๆ กันว่า 'เสื้อเหลือง จะมีโชคดี' หรือ 'เสื้อชั้นในสีเหลือง จะมีโชคดี' แล้วกันนะครับ … น่าเกลียด !! … ;)
龍戰于野其血玄黃
lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng
ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง
戰 อ่านว่า zhàn (จั้น, จ้าน) แปลว่า 'ต่อสู้', 'สู้รบ', 'สงคราม'
于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'
野 อ่านว่า yě (เหฺยี่ย) แปลว่า 'ชนบท', 'ไม่เจริญ', ซึ่งก็เลยมีความหมายในลักษณะของ 'ความป่าเถื่อน' ได้ด้วย, แปลว่า 'หยาบคาย', 'ไร้การศึกษา' ; หรือ แปลว่า 'ขอบเขต' ในความหมายของ 'ไม่รู้จักขอบเขต', 'ไม่รู้จักควบคุม' ; หรืออาจจะหมายถึง 'ไร้กฎเกณฑ์', 'ไม่มีระเบียบแบบแผน' ก็ได้
其 อ่านว่า qí (ชี๋) โดยปรกติจะใช้ในลักษณะของสรรพนามที่หมายถึง 'บุคคลที่สาม' (he, she, it, they) ซึ่งก็จะรวมทั้งความหมายที่แสดง 'ความเป็นเจ้าของของบุคคลที่สาม' (his, her, its, their) ด้วย ; แต่บางครั้งที่จะหมายถึง 'เหตุการณ์นั้นๆ' ที่กำลังเอ่ยถึง แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะว่า 'เป็นไปได้', 'อาจจะ', หรือ 'ดังนั้น' ก็ได้ หากใช้คำนี้ในลักษณะของการเชื่อมประโยค
血 อ่านว่า xuè (เซฺวี่ย) แปลว่า 'เลือด', 'ถึงเลือดถึงเนื้อ', หรือ 'เลือดตกยางออก' ; แล้วบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'การนองเลือด' ได้เหมือนกัน ; แต่ในบางกรณีก็สามารถจะให้หมายถึง 'สาระสำคัญแห่งชีวิต' ได้ด้วย เพราะ 'เลือด' ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของทุกสรรพชีวิต
玄 อ่านว่า xuán (เซฺวี๋ยน) แปลว่า 'สีดำ', 'เข้ม', 'เข้มข้น' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ลึกซึ้ง', 'ลึกลับ' ; และอาจจะหมายถึง 'สัมบูรณ์' (absolute) ซึ่งก็จะแฝงความหมายของ 'ความสุดขั้ว' (extreme, ultimate) อยู่ด้วย
ส่วนคำว่า 黃 ในวรรคนี้ ผมมองว่าน่าจะหมายถึง 'ความซีดเซียว', 'ความอิดโรย' หรือ 'ความสูญเสีย' มากกว่าที่จะหมายถึง 'สีเหลือง' ที่เป็นสีสัญลักษณ์ของ 'ธาตุดิน' ในวรรคก่อน เพราะวรรคนี้กำลังเอ่ยถึง 'การนองเลือด' ซึ่งทุกๆ คนก็รู้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า 'เลือด' นั้นมี 'สีแดง' ไม่ใช่ 'สีเหลือง' … ;)
ข้อความในวรรคนี้น่าจะถูกแยกออกมาเป็นเป็นสองท่อนคือ 龍戰于野 ‧ 其血玄黃 และความหมายจริงๆ ก็น่าจะประมาณว่า 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)'
เราจะเห็นว่า ความหมายที่ต่อเนื่องกันทั้งหมดในบทนี้ จะเริ่มต้นจากการเน้นที่ 'ความดำรงอยู่ร่วมกัน' อย่าง 'สมัครสมานสามัคคี' ซึ่งแม้ว่าจะต้องมี 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ในหลายๆ กรณี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ก็ยังต้องคงความ 'เป็นตัวของตัวเอง' (元) ที่มุ่งมั่นใน 'อุดมการณ์' อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่โดย 'ไม่ย่อท้อ' (無咎) หรือ 'ไม่สั่นคลอน' ด้วยลาภสักการะ (無譽) … และแม้ว่าในที่สุดแล้ว 'คุณงามความดีที่ปรากฏ' (黃裳) จะโน้มนำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยดี (吉) อย่างที่มุ่งหวัง แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระที่ใครคนใดคนหนึ่งจะยึดถือเอามาเพาะ 'ความเห่อเหิมลำพองใจ' ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง จนกระทั่งนำไปสู่การแก่งแย่งแข่งดีระหว่างกัน แล้วก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในภายหลัง …
利永貞
lì yǒng zhēn
永 อ่านว่า yǒng (หย่ง, เหยฺวิ่ง) แปลว่า 'การไหลของน้ำ', 'กระแสน้ำ' ; 'ความสม่ำเสมอ', 'ความคงเส้นคงวา', 'เนิ่นนาน' หรือ 'ตลอดกาล'
利永貞 เป็นคำสรุปสั้นๆ ของ 'จิวกง' ที่แปลความหมายเป็นอย่างอื่นไปได้ยาก นอกจากจะแปลว่า 'คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง (利) ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และยึดมั่นในหลักแห่งธรรม (貞) อย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง (永)' … น่าจะเป็นคำแปลที่ตรงตามตัวอักษร และสอดคล้องกับความหมายทั้งหมดที่เล่าเอาไว้มาตั้งแต่แรก โดยไม่จำเป็นต้อง 'ตีความ' ให้เป็นอย่างอื่นอีก :)
ตรงนี้หากเราย้อนกลับไปดูท้ายประโยคของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 安貞吉 แล้วนำมาเทียบกับวรรคสรุปของ 'จิวกง' ที่บันทึกว่า 利永貞 เราก็จะเห็นความหมายที่เหมือนกันทันที โดยมี 利 กับ 吉 ที่ให้ความหมายในลักษณะของ synonyms กันได้ 100% … ส่วนคำว่า 安 นั้นมีความหมายว่า 'สงบ', หรือ 'หนักแน่น' ก็จะพ้องกับความหมายของ 永 ที่หมายถึง 'อย่างเสมอต้นเสมอปลาย', หรือ 'อย่างสม่ำเสมอ' เพื่อเน้นความหมายของ 'การยึดถือหลักแห่งธรรม' (貞) ว่าไม่ใช่การนั่งนิ่งๆ เหมือนรูปสลักที่มีลมหายใจ แต่จะต้องหมายถึง 'การประกอบกรรมดี' อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีความย่อท้อต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่เปลี่ยนแปรเจตนารมณ์ของตนไปตามลาภยศสรรเสริญใดๆ ที่ตนได้รับ
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'คุน' คือ พลังปฐพี, พิภพหนุนแผ่นดิน
ต้องดำรง 'ความเป็นตัวของตัวเอง' อย่างสร้างสรรค์ … มี 'ความรู้' และ 'ความเข้าใจอย่างชัดเจน' (คือประจักษ์แจ้ง) ใน 'จุดมุ่งหมาย' … มี 'ความมุ่งมั่น' ในทิศทางที่จะต้องดำเนินไป ... ต้องมีทั้ง 'ไหวพริบ' และ 'ปฏิภาณ' ที่เฉียบแหลม ... มี 'ความอดทนอดกลั้น' ในการปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับผู้อื่น … และยังต้องมี 'ความเสมอต้นเสมอปลาย' ใน 'หลักแห่งคุณธรรม' … 'คนดี' ย่อมต้องได้รับ 'การตอบสนองที่ดี' ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว แม้ว่าในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่เห็นผลใดๆ ที่เด่นชัด แต่ในบั้นปลายย่อมประสบกับความสำเร็จที่โดดเด่นเสมอ … 'ความอ่อนน้อม' และ 'ความสมถะเรียบง่าย' ย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ … 'ความอวดโอ่' และ 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' ย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์ให้เหือดหาย … 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักแห่งธรรม' ย่อมโน้มนำ 'คุณงามความดี' ให้ปรากฏ
- 'คุณงามความดี' คล้ายดังเกร็ดน้ำแข็งที่แม้จะร่วนซุย แต่หากมี 'การสั่งสม' ถมทับอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดย่อมกลับกลายเป็นผืนน้ำแข็งที่แข็งแกร่ง
- 'การยึดมั่น' ใน 'หลักแห่งธรรม' และ 'การประกอบกรรมดี' ล้วนแล้วแต่ 'มีคุณค่า' ในการกระทำนั้นๆ โดยไม่มีความจำเป็นต้อง 'เรียกร้อง' หรือไม่จำเป็นต้อง 'ดันทุรัง' ใดๆ เนื่องเพราะ 'คุณงามความดี' ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจาก 'การประกอบกรรมดี' เหล่านั้น
- ทุกๆ เรื่องราวแม้ว่าจะ 'ไม่มีความชัดเจน' ใดๆ ในเบื้องต้น แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมี 'ผลสรุปที่แน่นอน' เสมอ เหมือนดังเช่น 'ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่' ทั้งหลาย ต่างก็เริ่มต้นมาจากสิ่งที่ 'ไม่เคยปรากฏ' มาก่อนทั้งสิ้น
- พึงมี 'ความหนักแน่นมั่งคง' มี 'ความมุ่งมั่น' ในภารกิจ และมี 'สำนึกต่อหน้าที่' ที่ได้รับมอบหมาย … ให้มุ่งเน้นที่ 'การสั่งสมความดี' อย่างหมดจด ; ไม่ต้องยินดีใน 'ลาภสักการะ' หรือ 'คำป้อยอสรรเสริญ' ที่ไร้แก่นสาร … ทั้งไม่ต้องยินร้ายต่อ 'คำติฉินนินทา' หรือ 'คำค่อนขอดป้ายสี' ที่ไม่สร้างสรรค์
- ต่อเมื่อ 'ความเป็นจริง' หรือ 'คุณงามความดี' ที่สั่งสมมาได้ปรากฏเป็นที่ 'ประจักษ์แจ้ง' แล้วเท่านั้น จึงจะถือได้ว่าเป็น 'ความสำเร็จ' ที่แท้จริง
- 'การประกอบกรรมดี' ต้องมิใช่เพื่อ 'การชิงดีชิงเด่น' อันจะนำไปสู่ 'ความสูญเสีย' อย่างใหญ่หลวง
ปราชญ์จึง 'กระทำความดี' เพื่อ 'ความดี' โดย 'ไม่อวดโอ่' … ด้วยเหตุที่ 'คุณงามความดี' ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมเป็นผลมาจาก 'ความวิริยะอุตสาหะ' และ 'ความยึดมั่นในหลักแห่งธรรม' อย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง
The Organization Code :
'นโยบาย' ที่เป็นเลิศจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็โดย 'การปฏิบัติ' อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะต้องมีทั้ง 'ความรอบรู้' และต้องมี 'ความเข้าใจ' ที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งยังต้องดำเนินการทุกๆ ขั้นตอน 'อย่างมีระบบระเบียบแบบแผน' … ต้องมี 'ความขยันขันแข็ง' มี 'ความซื่อสัตย์' และ 'ความเที่ยงธรรม' อย่าง 'คงเส้นคงวา' … 'ไม่เหลาะแหละโลเล' เมื่อยังไม่เห็นผลลัพธ์ใดๆ ที่เด่นชัด เนื่องเพราะทุก 'ความสำเร็จ' ล้วนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน … พึงมี 'ความอดทน' และ 'ความอดกลั้น' ในการปฏิบัติงาน 'ร่วมกับผู้อื่น' … มี 'ความเคารพ' และ 'ความนอบน้อม' เพื่อ 'กระชับสัมพันธ์' … ไม่ 'อวดโอ่ลำพอง' หรือ 'ทับถมผู้ที่ด้อยกว่า' ซึ่งเป็นการ 'บั่นทอน' 'ความร่วมแรงร่วมใจ' … 'ความหนักแน่นมั่นคง' คือวิถีทางที่นำไปสู่ผลสำเร็จ
- 'ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่' ย่อมไม่มีหนทางที่ลัดสั้น แต่เป็นผลมาจาก 'การสั่งสม' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน'
- ทุกๆ ย่างก้าวที่ดำเนินไปใน 'ทิศทางที่ถูกต้อง' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' ที่มุ่งหวังได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้อง 'ผลีผลามรีบร้อน' หรือ 'หักโหม' จนเกินกำลังของตนเอง
- แม้ว่าจะไม่เห็น 'ผลลัพธ์' ที่โดดเด่นใดๆ ในเบื้องต้น แต่ในที่สุดแล้ว 'ความสำเร็จ' ย่อมต้องปรากฏ หากการดำเนินการทุกๆ ขั้นตอนเป็นไป 'อย่างถูกต้อง'
- ต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ไม่รู้สึก 'ท้อแท้' ต่ออุปสรรค หรือรู้สึก 'สิ้นหวัง' เมื่อเกิดความผิดพลาด และต้องไม่หลงระเริงใน 'ผลประโยชน์ระยะสั้น' ที่ล่อหลอกให้ออก 'นอกลู่นอกทาง'
- 'ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่' ย่อมเป็นผลมาจาก 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'เด็ดเดี่ยว' และ 'มั่นคง' เสมอ
- 'การแก่งแย่ง' เพื่อช่วงชิง 'ผลประโยชน์' ระหว่างกัน คือวิถีทางที่นำไปสู่ 'ความสูญเสีย'
'ความสำเร็จ' ย่อมต้องอาศัย 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'ความเพียรพยายาม' โดย 'ไม่ย่อท้อ' ต่ออุปสรรค และมี 'ความซื่อสัตย์' ต่อ 'ภาระหน้าที่' ที่ได้รับมอบหมายอย่าง 'เสมอต้นเสมอปลาย' ไม่เปลี่ยนแปลง