Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第四十二卦 : 益

益 : 風雷益 ‧ 巽上震下

益 : 利有攸往‧利涉大川‧
  • 初九 : 利用為大作‧元吉‧無咎‧
  • 六二 : 或益之十朋之龜‧弗克違‧永貞吉‧王用享于帝‧吉‧
  • 六三 : 益之用凶事‧無咎‧有孚中行‧告公用圭‧
  • 六四 : 中行‧告公從‧利用為依遷國‧
  • 九五 : 有孚惠心‧勿問元吉‧有孚惠我德‧
  • 上九 : 莫益之‧或擊之‧立心勿恆‧凶‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์สดชื่น () ; ปัญญาเปิดกว้างและปล่อยวาง (⚏) ; พลานามัยกระปรี้กระเปร่า (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินกิจกรรมทางการตลาด (☳) เพื่อสนับสนุนนโยบายการคลัง (☴) เน้น 'ความต่อเนื่อง' เหนือ 'ความตื่นตาตื่นใจ'

ความหมายของสัญลักษณ์ : เพียรบำเพ็ญประโยชน์, กระแสลมเหนือความเคลื่อนไหว



ความหมายของชื่อเรียก : Ascending : เพียรบำเพ็ญประโยชน์


ต้องยอมรับครับว่า คำแปลภาษาไทยกับภาษาอังกฤษในบทนี้ อาจจะไม่ถึงกับตรงตามความหมายของกันและกันมากนัก เพราะผมตั้งใจที่จะใช้คำว่า Ascending มาเป็น 'คู่ตรงข้าม' ของคำว่า Descending ซึ่งเป็นคำอังกฤษที่ใช้สำหรับชื่อบทที่แล้ว (損) ... แต่ ... จะว่าไป คำไทยที่ใช้เป็นชื่อบทที่แล้วก็ไม่ค่อยจะตรงความหมายกับคำภาษาอังกฤษที่คู่กับมันซักเท่าไหร่เหมือนกัน ... :D

ผมมีความเชื่อว่า 'การลดลง' (損) ในความหมายที่ King Wen ต้องการจะสื่อ น่าจะหมายถึง 'การลดละความผยอง' ในขณะที่ 'การเพิ่มขึ้น' (益) ที่ King Wen อยากจะบอกก็คือ 'การเพิ่มความพยายาม' ... โดย 'จิวกง' เลือกคำมาสะท้อนความหมายของประเด็นนี้ด้วยภาพของ 'การกระโดด' ในวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่งว่า 或躍在淵 ‧ 無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù, ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว) หรือ 'การจะกระโดดให้สูง ย่อมเริ่มจากการย่อตัวให้ต่ำ ; ไม่ใช่ทั้งเรื่องที่ผิดแปลก หรือสิ่งวิเศษวิโสใดๆ' โดยผมขยายความเพิ่มเติมไว้ตั้งแต่คราวบทที่หนึ่งด้วยว่า 'หากจะก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ย่อมขึ้นอยู่กับรากเหง้า หรือปัจจัยพื้นฐานที่สู้อุตส่าห์สั่งสมเอาไว้เป็นสำคัญ จึงไม่ควรรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับความบากบั่นที่มุ่งการพัฒนารากฐานให้มั่นคง ซึ่งจะยังไม่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น' ... จะเห็นว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ถูกผมกำหนดให้มีความหมายว่า 'ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ', หรือ 'ไม่มีจิตริษยา' ซึ่งเป็นเหตุแห่ง 'คำค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์' หรือ 'คำนินทาว่าร้าย' มาตั้งแต่ต้นแล้ว ... ;)

อย่างไรก็ตาม ascend ไม่ได้มีความหมายว่า 'เพิ่มขึ้น' แบบเดียวกับ increase ที่หลายๆ ตำราใช้เป็นคำแปลให้กับ 益 (yì, อี้) แต่ ascend มีความหมายว่า rise, slope upward, advance, หรือ climb ในลักษณะของ 'ลุกขึ้น', 'ยกให้สูงขึ้น', 'เคลื่อนขึ้นไปจากเบื้องล่าง', หรือ 'ไต่ขึ้นสู่ที่สูง' โดยมีรากศีพท์มาจาก ad- + scandere หรือ to climb ซึ่งแฝงความหมายในลักษณะที่คล้ายกับสำนวนไทยว่า 'เข็นครกขึ้นภูเขา' ที่ต้อง 'ทุ่มเทความพยายามอย่างหนัก' จึงจะประสบความสำเร็จ ... นั่นก็คือที่มาของคำแปลชื่อบทในภาษาไทยว่า 'เพียรบำเพ็ญประโยชน์' ที่ผมเลือกมาใช้สำหรับบทนี้ ... และเราจะได้เห็น 'ความตั้งใจ' ของ King Wen ในความหมายนี้อย่างชัดเจนจาก 'คำขยายความชื่อบท' ที่กำลังจะเล่าต่อไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利有攸往利涉大川
lì yǒu yōu wǎng lì shè dà chuān
ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง ลี่ เษ้อ ต้า วน

 

จะเห็นว่า King Wen เลือกขยายความให้กับ 益 (yì, อี้) ด้วยคำว่า 利 (lì, ลี่) ที่นอกจากจะแปลว่า 'โชคลาภ' แล้ว มันยังหมายถึง 'ความพยายาม' ถึงสองคำเลยทีเดียว โดยผมให้ความหมายของ 利有攸往 (lì yǒu yōu wǎng, ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) ไว้ในบทที่สี่สิบเอ็ดว่า 'ทุกพฤติกรรมที่มุ่งกระทำ (利) ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต้องมีผลสนอง (有攸往)' ... ในขณะที่ 利涉大川 (lì shè dà chuān, ลี่ เษ้อ ต้า วน) ตามที่เคย 'ตีความ' เอาไว้ในหลายๆ บทที่ผ่านมาก็มักจะหมายถึง 'ความทุ่มเท (利) ในการก้าวข้ามทุกอุปสรรค (涉大川)' หรือ 'ความพร้อม (利) ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง (涉大川)'

เมื่อผนวกทั้งสองวลีเข้าด้วยกัน เราก็จะได้ความหมายว่า 'ความมุ่งมั่น (利) คือเหตุปัจจัยที่ก่อเกิด (有) ผลตอบสนอง ; ความเพียรพยายาม (利) คือเหตุปัจจัยแห่งการผ่านพ้น (涉) ทุกอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ (大川) ทั้งปวง' ... แต่ถ้าจะเอาแบบด้วนๆ ห้วนๆ ก็คงจะต้องใช้วลีว่า ... 'ด้วยความมุ่งมั่น (利) จึงก่อเกิด (有) ผลตอบสนอง (攸往) ; ด้วยความพยายาม (利) จึงผ่านพ้น (涉) ทุกอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ (大川)' ... ซึ่งการที่ King Wen แยกความหมายของ 利 (lì, ลี่) ออกเป็นสองลักษณะคือ 'ความมุ่งมั่น' กับ 'ความพยายาม' นี้ต้องถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะในโลกของความเป็นจริงนั้น แม้ว่าจะมีศรัทธาที่แก่กล้า แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเฉื่อยชาก็ไม่มีวันที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่กีดขวางไปได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการทุ่มเทอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ย่อมไม่อาจนำพาผู้ใดไปสู่ความสำเร็จได้เลย ... 'ความคิด' ที่มิได้นำไปสู่ 'การปฏิบัติ' ย่อมเป็น 'ความสูญเปล่า' ในขณะที่ 'การปฏิบัติ' อย่าง 'สิ้นคิด' ย่อมวิปริตจนก่อให้เกิด 'ความสูญเสีย' ... ประเด็นที่ King Wen ต้องการจะสื่อผ่านถ้อยคำขยายความนี้ก็คือ 'คุณประโยชน์' ใดๆ (益) ย่อมก่อเกิดขึ้นได้จากความสมดุลแห่ง 利 (lì, ลี่) ทั้งสองลักษณะที่ว่านี้เสมอ ... :)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมอยากชวนให้พิจารณาที่ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยครับ ... King Wen เลือกใช้สัญลักษณ์ที่ประกอบด้วย ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) หรือ 'กระแสลม' กับ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) หรือ 'ฟ้าคะนอง' ซึ่งต้องถือว่าเป็น 'คู่ตรงข้าม' อย่างสุดขั้วคู่หนึ่งของ 'แผนผังโป้ยก่วย' เลยทีเดียว ซึ่งบทที่ใช้สัญลักษณ์คู่นี้อีกบทหนึ่งก็คือบทที่สามสิบสอง (䷟ : 恆 : héng, เฮิ๋ง) ที่ผมใช้คำแปลว่า Consistency และ 'ความหนักแน่นมั่นคง' ... โดยประเด็นที่ทั้งสองบทจะเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือ 'ความต่อเนื่อง' (☴) ของ 'การปฏิบัติที่จริงจัง' (☳) นั่นเอง ... โดยบทที่สามสิบสองจะให้ความหมายของ 'การปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง (☳) ด้วยจิตใจที่นอบน้อมอ่อนโยน (☴)' ... ส่วนในบทที่สี่สิบสองนี้ก็จะขยายความให้กับ 'ความพยายามที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง (☴) ด้วยจิตใจที่กล้าแกร่งอย่างไม่เคยย่อท้อ (☳)' ... นี่คือความสวยงามทางสัญลักษณ์ และการกำหนดชื่อเรียกที่ King Wen เลือกมาลำดับไว้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' เพื่อให้กลมกลืนเข้ากับประเด็นที่ตนเองต้องการจะสื่ออย่างลงตัวมากๆ ... !!!



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

利用為大作元吉無咎
lì yòng wéi dà zuò yuán jí wú jiù
ลี่ โยฺว่ง เว๋ย ต้า จั้ว เยฺวี๋ยน จี๋ อู๋ จิ้ว



用 อ่านว่า yòng (โย่วฺง) แปลว่า 'ใช้งาน' (use), 'ใช้ประโยชน์' (apply), 'ใช้จ่าย', 'ดำเนินการ' (execute, operate) ; 'ผลลัพธ์', 'ผลพวง', 'จำเป็น', และอาจจะหมายถึง 'ความสามารถ' หรือ 'ผลสัมฤทธิ์' ก็ยังได้

為 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'กระทำ', หรือ 'ถูกกระทำ', 'จัดการ', 'กลับกลาย', 'กลายเป็น' ; แต่ถ้าออกเสียงเป็น wèi (เว่ย) จะแปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สนับสนุน'

作 อ่านว่า zuò (จั้ว) ปรกติก็จะแปลว่า 'ริเริ่ม', 'ดำเนินการ', 'ปฏิบัติงาน', 'ภาระกิจ', หรืออาจจะหมายถึง 'การประกอบอาชีพการงาน' หรือ 'หน้าที่การงาน' ก็ได้ ; บางทีก็ยังหมายถึง 'การปลูกสร้าง' สิ่งก่อสร้างต่างๆ

แว้บแรกที่วลี 利用為大作 (lì yòng wéi dà zuò, ลี่ โยฺว่ง เว๋ย ต้า จั้ว) ในวรรคนี้ ทำให้ผมนึกถึงสำนวนที่ว่า 'ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น' ของไทยขึ้นมาตะหงิดๆ อยู่เหมือนกัน เพราะมันน่าจะถูก 'ตีความ' ว่า 'ผลพวงแห่งความเพียรพยายาม (利用) ย่อมบังเกิดเป็น (為) ผลงานที่ยิ่งใหญ่ (大作)' ... แล้วถ้าเราลองเปรียบเทียบวลีนี้กับวรรคที่สี่ของบทที่หนึ่งอีกครั้ง ... 或躍在淵 ‧ 無咎 (huò yuè zài yuān wú jiù, ฮั่ว เยฺวี่ย ไจ้ เยฺวียน อู๋ จิ้ว) เราก็จะเห็นการลงท้ายด้วย 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่มีความหมายในลักษณะของ 'การไม่อิดออดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ' เหมือนๆ กันด้วย โดย 'ความเพียรพยายาม' (利) ในที่นี้ก็คือคำที่นำมาใช้แทน 'การสั่งสมความมั่นคงแห่งรากฐาน' ซึ่ง 'จิวกง' ใช้ภาพของ 'การย่อตัวลงต่ำก่อนที่จะกระโดดให้สูง' นั่นเอง

จากทิศทางของ 'กระแสแห่งหยาง' ในวัฏจักรที่สาม ประกอบกับคำขยายความที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้สำหรับคำว่า 益 (yì, อี้) ในบทนี้ ผมเชื่อว่า 'จิวกง' คงต้องการที่จะบันทึกว่า 'ผลพวงแห่งความเพียรพยายาม (利用) ย่อมบังเกิดเป็น (為) ผลงานที่ยิ่งใหญ่ (大作) ; ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง (元吉) ย่อมมิเคยก่อเกิดจากความย่อท้อ หรือการดูหมิ่นดูแคลนด้วยถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) ใดๆ' ... ซึ่งเราสามารถจะลำดับถ้อยคำให้เป็นอีกแบบหนึ่งได้ว่า 'การบ่น' หรือ 'การค่อนขอดว่าร้าย' ต่างๆ นาๆ นั้น ย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี มีเพียง 'การลงมือปฏิบัติ' อย่าง 'มุ่งมั่น' ด้วย 'ความตั้งใจ' เท่านั้น จึงจะสามารถ 'ฟันฝ่า' ทุกๆ 'อุปสรรค' ไปสู่ผลสำเร็จในบั้นปลายได้ ... ฟังดูคุ้นๆ มั้ยล่ะ ?! ... เก้าะ ... 利有攸往‧利涉大川 (lì yǒu yōu wǎng lì shè dà chuān, ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง ลี่ เษ้อ ต้า วน) ที่ King Wen เพิ่งจะว่าไปหยกๆ นั่นไงครับ !! ... ;)

 

สอง หยิน :

或益之十朋之龜弗克違永貞吉王用享于帝吉
huò yì zhī shí péng zhī guī fú kè wéi yǒng zhēn jí wáng yòng xiǎng yǘ dì jí
ฮั่ว อี้ จืซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย ฟู๋ เค่อ เว๋ย หฺย่ง เจิน จี๋ วั๋ง โยฺว่ง เสี่ยง ยฺวี๋ ตี้ จี๋



วรรคนี้ของ 'จิวกง' แทบจะลอกมาจากวรรคที่ห้าของบทที่สี่สิบเอ็ดเลยครับ โดยวรรคดังกล่าวถูกบันทึกไว้ด้วยถ้อยคำว่า 或益之十朋之龜弗克違元吉 (huò yì zhī shí péng zhī guī fú kè wéi yuán jí, ฮั่ว อี้ จืซื๋อ เพิ๋ง จือ กุย ฟู๋ เค่อ เว๋ย เยฺวี๋ยน จี๋) หรือ 'แม้นว่า (或) มีความมุ่งหวังจะเสริมสร้างประโยชน์ให้เด่นชัด (益之) ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัยความมีวิจารญาณในการกำกับ (弗) เพื่อส่งเสริม (克) หรือยับยั้ง (違) จึงจะยังประโยชน์แก่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง (元吉)' ซึ่งมีการเปลี่ยนคำจาก 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) หรือ 'ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง' มาเป็น 永貞吉 (yǒng zhēn jí, หฺย่ง เจิน จี๋) หรือ 'ความยั่งยืน (永) แห่งหลักคุณธรรม (貞) อันนำไปสู่ความเจริญ (吉)' เท่านั้นเอง ...

ท่อนหลังของวลีจะมีคำที่ดูเหมือนเป็น synonym กันอยู่คู่หนึ่งคือ 王 (wáng, วั๋ง) กับ 帝 (dì, ตี้) โดย 王 (wáng, วั๋ง) สามารถแปลว่า 'เจ้าแคว้น', 'ผู้นำ', 'กษัตริย์' ; จึงแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', หรือ 'โดดเด่น' ... ส่วน 帝 (dì, ตี้) แปลว่า 'ฮ่องเต้', 'เจ้าครองแคว้น' ซึ่งโดยปรกติจะสามารถใช้ในความหมายที่เหมือนกันกับ 王 (wáng, วั๋ง), 皇 (huáng, ฮฺวั๋ง) หรือ 君 (jün, จฺวิน) … และนั่นก็หมายความว่า มันสามารถแปลว่า 'ผู้นำ', หรือ 'ผู้ที่มีความสามารถ' และ 'ผู้ที่มีความสำคัญ' หรือ 'เรื่องราวที่สลักสำคัญ' ได้ด้วยเหมือนกัน ... บางตำราจึงแผลงความหมายของ 帝 (dì, ตี้) ให้แปลว่า 'เทพเจ้า' ไปซะเลย เพราะเป็นคำที่ชาวลัทธิเต๋าเขามักจะใช้กันอย่างนั้น ?!!? ... แต่มันควรจะเป็นอย่างนั้นมั้ยล่ะ ?! ...

ผมคิดว่า ถ้าความหมายในท่อนแรกจะหมายถึง 'ความมีวิจารณญาณในการบริหารบุคคล' ท่อนหลังคงไม่น่าจะหมายถึง 'การบวงสรวงเทพเจ้า' แน่ๆ ... ถูกมั้ย ?! ... แต่ถ้า 帝 (dì, ตี้) จะหมายถึง 'เทพเจ้า' จริงๆ สิ่งที่แฝงไว้ในความหมายดังกล่าวก็คือ ศักดิ์สถานะของ 帝 (dì, ตี้) ควรจะมีความสูงส่งกว่า 王 (wáng, วั๋ง) ที่ไม่ใช่ 'เทพเจ้า' อยู่ในระดับหนึ่งด้วยนั่นเอง ... ดังนั้น ถ้าเราจะให้ความหมายของ 王 (wáng, วั๋ง) ว่า 'สำคัญ' เหมือนที่เคยใช้ในบางบทก่อนหน้านี้ 帝 (dì, ตี้) ก็น่าจะต้องแปลว่า 'สำคัญยิ่งกว่า' ตามศักดิ์สถานะของคำที่ถูกลำดับเอาไว้ ... รึเปล่า ?!

ทีนี้ ... ถ้าเราย้อนกลับไปดูความหมายของ 用享 (yòng xiǎng, โยฺว่ง เสี่ยง) ที่ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในบทที่สี่สิบเอ็ด (และจะปรากฏให้เห็นอีกเพียงครั้งเดียวในบทที่สี่สิบเจ็ดเท่านั้น) ซึ่งคำนี้ถูกใช้ในความหมายว่า 'การอุทิศตน' โดยเป็นการใช้เพื่อควบความหมายระหว่าง 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) กับ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) หรือ 'โอบอุ้มด้วยความเคารพ' และ 'ยกย่องด้วยการอุปถัมภ์' ... และเป็นไปได้ว่า ความหมายดังกล่าวน่าจะถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงบทนี้ด้วย ... ดังนั้น 用享 (yòng xiǎng, โยฺว่ง เสี่ยง) ในที่นี้จึงไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับ 'การบวงสรวง' ... ;)

เมื่อปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว วลีทั้งหมดในวรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะหมายถึง 'แม้นว่า (或) มีความมุ่งหวังจะใช้ความเพียรพยายามเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้เด่นชัด (益之) ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัยความมีวิจารญาณในการกำกับ (弗) เพื่อส่งเสริม (克) หรือยับยั้ง (違) ; การจะธำรงรักษาไว้ (永) ซึ่งหลักคุณธรรม (貞) อันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) นั้น ผู้ที่เป็นผู้นำ (王) จะต้องใช้ความทุ่มเทอย่างอุทิศตน (用享) ยิ่งกว่าศักดิ์สถานะ (于帝) จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)' ... 'ภาวะผู้นำ' ที่แท้จริงจึงมิใช่สิ่งที่ก่อเกิดขึ้นได้เพราะตำแหน่งที่ใหญ่โต หรือเพราะมีศักดิ์สถานะที่สูงส่งกว่าผู้อื่น ... แต่ 'ภาวะผู้นำ' ที่แท้จริงจะต้องก่อเกิดขึ้นจาก 'ความเคารพนับถือ' ที่ผู้อื่นมอบให้อันเนื่องมาจาก 'การอุทิศตน' เพื่อ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ของส่วนรวมเป็นสำคัญ !! ...

เกี่ยวกับประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ในทัศนคติของ 'จิวกง' นั้น ผู้ที่มี 'ความเพียรพยายาม' อย่าง 'มุ่งมั่น' ย่อมต้องประสบกับ 'ความสำเร็จ' ในบั้นปลายเสมอ ... แต่ 'ความสำเร็จ' ดังกล่าวนั้น จะเป็น 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) หรือ 永貞 (yǒng zhēn, หฺย่ง เจิน) หรือไม่ ก็ต้องดูกันที่ 'เจตนา' และ 'พฤติกรรม' ประกอบด้วยว่า มันเป็น 'ความมุ่งมั่นพยายาม' เพื่อสนอง 'อัตตาตน' หรือเพื่อ 'ประโยชน์สุขที่แท้จริง' ของ 'ส่วนรวม' ?!?! ... แล้วคำกล่าวที่ว่า 'ปราชญ์ย่อมเลือกที่จะอำนวยประโยชน์เพื่อผู้อื่น ; คนถ่อยย่อมเลือกที่จะเบียดบังผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน' (จากบทที่สี่สิบ) ก็แว้บขึ้นมาให้สัมผัสกับอารมณ์ซนๆ แห่งถ้อยคำอีกครั้งหนึ่งอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ ... :D

 

สาม หยิน :

益之用凶事無咎有孚中行告公用圭
yì zhī yòng xiōng shì wú jiù yǒu fú zhōng xíng gào gōng yòng guī
อี้ จือ โยฺว่ง เซฺวิง ษื้อ อู๋ จิ้ว โหฺย่ว ฟู๋ ง ซิ๋ง เก้า กง โยฺว่ง กุย



ปรกติแล้ว 凶 (xiōng, เซฺวิง) จะแปลว่า 'ไม่ดี', 'ไม่งาม', 'ร้ายกาจ', 'ชั่วร้าย', 'ฆาตกรรม' ; หรือ 'เรื่องคอขาดบาดตาย'

告 อ่านว่า gào (เก้า) แปลว่า 'บอกให้รู้' ซึ่งเป็นไปได้หลายลักษณะคือ 'เตือน', 'แจ้งให้ทราบ', 'ประกาศ', 'ขอร้อง', 'ส่งข่าว', 'รายงาน', 'ชี้แจง', 'ให้รายละเอียด', 'เร่งรัด', หรืออาจจะหมายถึง '(แจ้งข้อ) กล่าวหา' ก็ได้ ; สมัยก่อนยังมีความหมายเดียวกับ 皓 hào (เฮ่า) ที่แปลว่า 'ขัดให้ขาว' หรือ 'ขัดให้แวววาว' ได้อีกด้วย

公 อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'สาธารณะ', 'สิ่งที่ยึดถือร่วมกัน', 'ประเทศชาติ', 'สังคม', 'มหาชน', 'เปิดเผย', 'ยุติธรรม' ; และใช้เป็นคำสำหรับยกย่องผู้ที่มีวัยวุฒิสูงในลักษณะของ 'ผู้เฒ่า', 'ผู้แก่', หรือ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ในสังคม ; ในสมัยราชวงศ์โจว คำนี้ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียก 'ตำแหน่งขุนนางระดับสูง' อีกด้วย

圭 อ่านว่า guī (กุย) เคยใช้เป็นคำเรียก 'เครื่องหยก' ชนิดหนึ่งที่เจ้าแคว้น และขุนนางชั้นผู้ใหญ่มักจะถือไว้ในมือขณะร่วมพิธีการสำคัญๆ (จึงคล้ายกับเป็นสิ่งบ่งบอกศักดิ์สถานะทางสังคมของชนชั้นปกครองในยุคโบราณของจีน) แต่ด้วยความที่มันมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายแบนๆ ยาวๆ คล้ายกับลิ่ม คำนี้จึงถูกใช้เป็นคำเรียกของ 'แขนนาฬิกาแดด' ที่มักจะประดิษฐ์ขึ้นมาจากแผ่นหิน ซึ่งก็เลยทำให้คำว่า 圭臬 (guī niè, กุย เนี่ย) มีความหมายว่า 'มาตรฐาน', 'มาตรการ', หรือ 'เงื่อนไข' ของการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปด้วย ; นอกจากนั้นแล้ว 圭 (guī, กุย) ก็ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียกของ 'หน่วยตวง' ในระบบการชั่งตวงของจีนโบราณอีกต่างหาก ...

ผมว่าวลีนี้มัน 'ตีความ' ไปได้หลายอยู่ล่ะครับ แต่สุดท้ายแล้วผมก็ 'อยาก' จะให้มันหมายถึง 'อันความบำเพ็ญเพียรนั้น (益之) คือคุณปัจจัยที่เป็นประโยชน์ (用) ต่อการเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากยากเข็ญ (凶事) ไม่ใช่การตัดพ้อตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) ; ความหนักแน่นมั่นคงในหลักการ (有孚) อย่างรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาด้วยความเที่ยงธรรม (中行) คือความผ่าเผยสง่างามต่อสาธารณชน (告公) ที่พึงยึดถือเป็น (用) บรรทัดฐาน (圭)' ... ถูกรึเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ ... :D ... เพราะเราควรจะไปดูว่า มันสามารถปะติดปะต่อความหมายกับวรรคที่สี่ในบทเดียวกันนี้ได้อย่างเนียนสนิทแค่ไหนมากกว่า ... ;)

 

สี่ หยิน :

中行告公從利用為依遷國
zhōng xíng gào gōng cóng lì yòng wéi yī qiān guó
ง ซิ๋ง เก้า กง ช๋ง ลี่ โยฺว่ง เว๋ย อี เชียน กั๋ว



從 อ่านว่า cóng (ช๋ง) แปลว่า 'นับจาก', 'จาก', 'โดย', 'นับตั้งแต่', 'เมื่อ', 'ตั้งแต่' ; 'นำมาใช้ประโยชน์', 'นำมาประยุกต์', 'นำมาเป็นกรรมสิทธิ์'

依 อ่านว่า yī (อี) แปลว่า 'โน้มเอียง', 'คล้อยตาม', 'ขึ้นอยู่กับ', 'อ้างอิงอยู่กับ', 'เห็นด้วย', 'ยอมรับ', 'ยินยอม' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ให้อภัย' หรือ 'รัก' ได้ด้วย ; แต่ความหมายที่อาจจะแปลกตาไปซักหน่อยก็จะเป็น 'ความงอกงาม'

遷 อ่านว่า qiān (เชียน) แปลว่า 'เคลื่อนไหว', 'เปลี่ยนแปลง', หรือ 'ถ่ายโอน' ; แต่โดยมากจะหมายถึง 'พัฒนาการในทิศทางที่สูงขึ้น', 'การเคลื่อนตัวขึ้นสู่ที่สูง' (ascending), หรือ 'การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีกว่าเดิม' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ส่งเสริม', 'สนับสนุน' ในความหมายเดียวกับ promote

ส่วนคำว่า 國 (guá, กั๋ว) มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'เมือง', 'ประเทศ', 'บ้านเกิดเมืองนอน', 'ถิ่นที่อยู่' หรือ 'อาณาจักร' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้นำแว่นแคว้น', 'ผู้ปกครองบ้านเมือง' หรือ 'กษัตริย์' ก็ได้

แทบไม่ต้องอธิบายล่ะครับว่า วรรคนี้มีความเกี่ยวพันกับวรรคที่สามอย่างแน่นอน เพราะ 'จิวกง' ถึงกับใช้วลี 中行告公 (zhōng xíng gào gōng, ง ซิ๋ง เก้า กง) ซ้ำเอาไว้อย่างจงใจเลยทีเดียว ... ในขณะเดียวกัน วลีท้ายวรรคที่บันทึกว่า 利用為依遷國 (lì yòng wéi yī qiān guó, ลี่ โยฺว่ง เว๋ย อี เชียน กั๋ว) ก็แทบจะเลียนลำดับของคำมาจากวรรคที่หนึ่งซึ่งใช้ถ้อยคำว่า 利用為大作 (lì yòng wéi dà zuò, ลี่ โยฺว่ง เว๋ย ต้า จั้ว) ... ด้วยเหตุนี้ ... ผมจึงค่อนข้างจะมั่นใจว่า 'ผลงานอันยิ่งใหญ่' หรือ 'ภาระกิจอันยิ่งใหญ่' (大作) ที่ 'จิงกง' ต้องการจะสื่อไว้ก็คือ 'พัฒนาการที่ดีงามของชาติบ้านเมือง' (依遷國) นั่นเอง ... ;)

ถ้าลำดับความหมายมาตั้งแต่ต้นบท เราจะเห็นว่า 'จิวกง' ได้ขยายความให้กับ 'การเพียรบำเพ็ญประโยชน์' (益) ไว้อย่างครอบคลุมตั้งแต่ (1) มีความมุ่งมั่นเพื่อคุณูปการอันยิ่งใหญ่อย่างไม่ย่อท้อ (2) มุ่งอุทิศตนอย่างมีวิจารณญาณเหนือศักดิ์สถานะ (3) มีความมั่นคงในหลักการ-ดำเนินงานอย่างผ่าเผยเที่ยงธรรม ... ดังนั้นในวรรคนี้ก็น่าจะรับความหมายต่อมาว่า (4) 'การดำเนินงานอย่างผ่าเผยเที่ยงธรรม (中行) ด้วยความมีจิตสำนึกต่อสาธารณประโยชน์ (告公) เป็นบรรทัดฐาน (從) นั้น ย่อมส่งผลให้ความเพียรพยายาม (利用) ทั้งหลายคลี่คลายไปสู่ (為) ความเป็นชาติบ้านเมืองที่มีพัฒนาการอันงดงาม (依遷國)' ... นี่ก็คือความหมายของวรรคที่สี่ล่ะครับ !! ... ;)

 

ห้า หยาง :

有孚惠心勿問元吉有孚惠我德
yǒu fú huì xīn wù wèn yuán jí yǒu fú huì wǒ dé
โหฺย่ว ฟู๋ ฮุ่ย ซิน อู้ เวิ่น เยฺวี๋ยน จี๋ โหฺย่ว ฟู๋ ฮุ่ย หฺว่อ เต๋อ



惠 อ่านว่า huì (ฮุ่ย) แปลว่า 'ความเอื้ออารี', 'ความใจดี', 'ความกรุณา' ; หรือ 'การเอื้อประโยชน์' ; ในขณะที่สมัยก่อนมันยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 慧 (huì, ฮุ่ย) ซึ่งแปลว่า 'ฉลาด-รอบรู้' หรือ 'มีไหวพริบปฏิภาณ' ได้ด้วย

我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) เป็นคำพื้นๆ ที่แปลว่า 'ฉัน', 'ตัวฉัน', 'ของฉัน', 'กู', 'ตัวกู', 'ของกู' … ;) หรืออาจจะหมายถึง 'สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง' ที่เป็น 'พหูพจน์' คือ 'พวกเรา', 'ของพวกเรา' ก็ได้ … แต่จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตัวอักษร 我 (wǒ, หฺว่อ) นี้ ถ้าถูกใช้เป็น 'คำกริยา' จะแปลว่า 'ฆ่า' ในความหมายเดียวกับตัว 殺 (shā, ซา) เนื่องจาก 我 มาจาก 'ภาพอักษร' ที่แสดงสัญลักษณ์ของ 'มือที่ถืออาวุธ' และนั่นก็คือความหมายว่า 'ฆ่า', หรือ 'การฆ่า' นั่นเอง … แล้วลักษณะของ 'มือที่ถืออาวุธ' ที่มักจะหมายถึงการรบทัพจับศึกก็แผลงไปเป็น 'ผู้ที่มีความสามารถ' ... จากนั้น 'อาวุธ' ในมือก็แผลงไปเป็น 'อาวุธทางวัฒนธรรม' … ตัว 我 จึงแผลงความหมายเป็น 'ผู้ที่ถือพู่กัน' หรือ 'ผู้ที่เขียนหนังสือ' เพราะ 'พู่กัน' ก็คือหนึ่งใน 'อาวุธสงครามทางวัฒนธรรม' นั่นเอง … จนในที่สุดคำว่า 我 (wǒ, หฺว่อ) ก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' …

'ความหมายพิเศษ' ของ 我 (wǒ, หฺว่อ) อีกความหมายหนึ่งก็คือ เมื่อมันหมายถึง 'ตัวเอง' หรือ 'ตัวฉัน', 'ของฉัน' มันจึงสามารถแผลงเป็น 'สนิทชิดเชื้อ' หรือ 'เป็นที่รัก' ได้ด้วย ; และเพราะความที่มันสามารถหมายถึง 'ผู้ประพันธ์ (ตำรา)' ซึ่งน่าจะแผลงมาจาก 'ผู้ถือพู่กัน' อันเป็น 'อาวุธทางวัฒนธรรม' ในการเผยแพร่ 'ความรู้' … ดังนั้น หนึ่งในความหมายที่ไม่ค่อยจะมีใครใช้กันในปัจจุบันก็คือ 'ตราประทับ' ที่เหมือนกับเป็น 'ลายเซ็น' ของ 'ผู้ประพันธ์' ด้วย แล้วก็เลยมีความหมายกระเดียดไปทางคำว่า 俄 (é, เอ๋อ) ที่แปลว่า 'กด', 'ประทับ', 'พิง', 'พึ่งพิง', หรือ 'เอนเอียง' ได้อีกต่างหาก

德 (dé, เต๋อ) เคยเล่าไว้นานมากแล้วว่า หมายถึง 'ความเชื่อ', 'สิ่งที่ยึดถือ', 'สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ', 'วัฒนธรรม', 'คุณธรรม', 'ความดีงาม', 'จิตใจ (ที่ดีงาม)'

เอาเนื้อความจากวรรคที่สองมาบันทึกไว้ตรงนี้อีกครั้งให้เห็นกันชัดๆ ดีกว่าครับ ... 'แม้นว่า (或) มีความมุ่งหวังจะใช้ความเพียรพยายามเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้เด่นชัด (益之) ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัยความมีวิจารญาณในการกำกับ (弗) เพื่อส่งเสริม (克) หรือยับยั้ง (違) ; การจะธำรงรักษาไว้ (永) ซึ่งหลักคุณธรรม (貞) อันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) นั้น ผู้ที่เป็นผู้นำ (王) จะต้องใช้ความทุ่มเทอย่างอุทิศตน (用享) ยิ่งกว่าศักดิ์สถานะ (于帝) จึงจะประสบผลสำเร็จ (吉)' ... แล้ว 'จิวกง' ก็คงจะต่อยอดทัศนคติดังกล่าวด้วยถ้อยคำว่า 'ความพร้อมที่จะให้การโอบอุ้มอุปถัมภ์ (有孚) ด้วยจิตใจที่เอื้ออารี (惠心) ย่อมไม่ (勿) ทวงถาม (問) ถึงประโยชน์แห่งตน (元吉) ... ด้วยเนื้อแท้ความโอบอุ้มอุปถัมภ์ (有孚) ย่อมเพื่อยังประโยชน์แก่ (惠) การปลูกฝัง (我) คุณธรรมความดี (德) ให้ปรากฏ' ... มั้ง ??!!

ใน 'การตีความ' ข้างต้นนั้น ผมเลือกดัดแปลงความหมายของ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) จาก 'ความเป็นต้นแบบ' หรือ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ให้ลัดสั้นเหลือแค่ความหมายว่า 'ตัวเอง' ด้วนๆ เท่านั้น ซึ่งก็จะไปพ้องกับความหมายหนึ่งของ 我 (wǒ, หฺว่อ) ตรงท้ายวรรคพอดี ... แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็เลือกใช้ความหมายของ 俄 (é, เอ๋อ) ในลักษณะของ 'การประทับตรา' ให้กับ 我 (wǒ, หฺว่อ) เพื่อให้ 我德 (wǒ dé, หฺว่อ เต๋อ) หมายถึง 'การประทับรอยแห่งคุณธรรม' แทนที่จะหมายถึง 'คุณธรรมของตัวเอง' ... โดยความหมายที่อธิบายไว้นี้ก็จะไปรับกับถ้อยคำที่ว่า 用享于帝 (yòng xiǎng yǘ dì, โยฺว่ง เสี่ยง ยฺวี๋ ตี้) หรือ 'การให้ความสำคัญต่อการอุทิศตนยิ่งกว่าศักดิ์สถานะ' ในวรรคที่สอง ซึ่งก็คือข้อเสนอแนะสำหรับ 'การประกอบกรรมดีเพื่อความดี' นั่นเอง

แง่มุมที่น่าสนใจอีกแง่หนึ่งของ 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ก็คือ คำนี้เกิดขึ้นจากการรวม 'ภาพอักษร' ของ 二 (èr, เอ้อ) กับ 人 (rén, เญิ๋น) เข้าด้วยกัน ซึ่งถือว่ามีองค์ประกอบพื้นฐานเช่นเดียวกับคำว่า 仁 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คุณธรรม' โดยมีการจำแนกไว้ในระดับหนึ่งว่า 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) คือ 'คุณธรรมแห่งฟ้า' ส่วน 仁 (rén, เญิ๋น) คือ 'คุณธรรมแห่งมนุษย์' ... ซึ่งไม่ว่าจะบังเอิญหรือจงใจก็ตาม มันคือความหมายเดียวกับ 德 (dé, เต๋อ) ตรงท้ายวรรคเหมือนกัน และน่าจะทำให้ 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) กับ 我德 (wǒ dé, หฺว่อ เต๋อ) มีเงื่อนไขบางอย่างที่คาบเกี่ยวกันอยู่พอสมควร ... ??!!

เราลองย้อนกลับไปดูที่วลีของ King Wen ในบทที่สี่สิบเอ็ดอีกครั้งครับ ซึ่งตรงจุดนั้น King Wen บันทึกเอาไว้ว่า 有孚元吉無咎可貞利有攸往曷之用二簋可用享 (yǒu fú yuán jí wú jiù kě zhēn lì yǒu yōu wǎng hé zhī yòng èr guǐ kě yòng xiǎng, โหฺย่ว ฟู๋ เยฺวี๋ยน จี๋ อู๋ จิ้ว เข่อ เจิน ลี่ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เฮ๋อ จือ โยฺว่ง เอ้อ กุ่ย เข่อ โยฺว่ง เสี่ยง) ... แปลว่าอะไรย้อนไปอ่านกันเอาเองแล้วกัน ... :D ... เพราะจุดที่ผมอยากจะชี้ให้ดูก็คือ 'อักษรสี่ตัวแรก' ของวลีดังกล่าว ซึ่งเกือบจะเป็นคำเดียวกับถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้ว่า 有孚惠心 ‧ 勿問元吉 (yǒu fú huì xīn ‧ wù wèn yuán jí) ... โดยความเดิมในบทที่สี่สิบเอ็ดนั้นผมให้ความหมายไว้ว่า 'ความพร้อมที่จะโอบอุ้มอุปถัมภ์ (有孚) คือปฐมปัจจัย (元) แห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 'จิวกง' อยากให้วลีในวรรคนี้ของท่านหมายถึง 'การให้ความสนับสนุนใดๆ (有孚) ด้วยจิตใจที่เอื้ออารี (惠心) แต่หากมิได้ (勿) คำนึงถึง (問) บรรทัดฐานที่แท้จริงแห่งความเจริญรุ่งเรือง (元吉) การให้ความสนับสนุนนั้นๆ (有孚) ย่อมมีคุณค่าเพียงเอื้อประโยชน์ (惠) เฉพาะอัตตาตน (我德) เท่านั้น' ... ??!! ... มันก็แทบจะไม่แตกต่างไปจากความหมายแรกนักหรอกครับ เพียงแต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องพลิกแพลงความหมายของคำหนึ่งคำใดให้วุ่นวายเลยตลอดทั้งวรรค ... ซึ่ง ... น่าจะเข้าท่ากว่า ... ;)

แง่มุมที่มีความเกี่ยวข้องกับถ้อยคำในวรรคที่สองก็คือ 'จิวกง' ได้บันทึกเป็นข้อแนะนำเอาไว้ว่า 'ความมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัยความมีวิจารญาณในการกำกับ (弗) เพื่อส่งเสริม (克) หรือยับยั้ง (違)' โดยไม่จำเป็นต้องคอยพะวักพะวงต่อปฏิกิริยาใดๆ ไม่ว่าจะเป็น 'ความยอมรับ' หรือ 'ความขุ่นข้องหมองใจ' จากผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม ... 'ผู้นำที่เข้มแข็ง' จะต้องให้ความสำคัญต่อ 'เหตุผลของงาน' เหนือกว่า 'สถานภาพส่วนบุคคล' เสมอ (王用享于帝) ... มิฉะนั้นแล้ว สิ่งต่างๆ ที่อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรเอาไว้ ก็จะมีคุณค่าเพียง 'การฟูมฟักอัตตา' ให้เติบใหญ่แก่กล้า โดยมิได้สร้างสรรค์สิ่งใดๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเลย !!??

 

หก หยาง :

莫益之或擊之立心勿恆凶
mò yì zhī huò jī zhī lì xīn wù héng xiōng
ม่อ อี้ จือ ฮั่ว จี จือ ลี่ ซิน อู้ เฮิ๋ง เซฺวิง



莫 อ่านว่า mò (ม่อ) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ในลักษณะของ 'ไม่', 'ไม่ได้', 'ไม่มี', 'ไม่สามารถ', หรือ 'ไม่เกี่ยวข้อง'

擊 อ่านว่า jī (จี) แปลว่า 'จู่โจม', 'ทุบ', 'ตี', 'กระแทก', 'ชน', 'บุกฝ่าออกไป', หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้น 'สังหาร' เลยด้วยซ้ำ

立 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ลุกขึ้นยืน', 'ก่อตั้งขึ้นมา', หรือ 'สถาปนาขึ้นสู่อำนาจ'

恆 อ่านว่า héng (เฮิ๋ง) แปลว่า 'มั่นคง', 'ถาวร', 'ปรกติ', 'สม่ำเสมอ', หรือ 'แน่นอน'

หลายๆ ตำรามักจะแปลวลีนี้ในลักษณะที่ว่า 'ถ้าไม่รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ ก็จะต้องโดนทุบโดนตีโดยผู้อื่น' ... ?!? ... ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่า มันออกจะรุนแรงเกินไปซักหน่อยรึเปล่า ถ้าเราจะเหมาๆ เอาเองว่านี่คือแนวคิดของรัฐบุรุษนักปกครองอย่าง 'จิวกง' ??!... :) ... จริงอยู่ที่การเมืองการปกครองในยุคโบราณของทุกชาติพันธุ์นั้น (ย้ำว่า 'ทุกชาติพันธุ์' เลยนะครับ) มักจะอุดมไปด้วยบทลงโทษที่รุนแรง และอาจจะถึงขั้นโหดร้ายป่าเถื่อนในทัศนคติมาตรฐานแบบยุคปัจจุบัน แต่ตลอดเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' เท่าที่ผ่านมา เราก็แทบจะไม่เห็นวี่แววของข้อเสนอให้ใช้ 'อำนาจขั้นเด็ดขาด' ใดๆ เลยแม้แต่ข้อความเดียว ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงการปลุกม็อบให้ลุกฮือขึ้นใช้กำลังเข้าหักหาญอำนาจฝ่ายปกครองเลยด้วย ... ดังนั้น เนื้อความที่แสดงออกถึงการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหาต่างๆ นั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิดอะไรบางอย่างค่อนข้างแน่นอน ... :)

ผมยังคงอาศัยสูตรเดิมในการ 'ตีความ' ของผมต่อไปล่ะครับ ... โดยมองว่าวรรคที่หกจะต้องเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่หนึ่งเสมอ ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกถ้อยคำไว้ในวรรคที่หนึ่งของบทนี้ว่า ... 'ผลพวงแห่งความเพียรพยายาม (利用) ย่อมบังเกิดเป็น (為) ผลงานที่ยิ่งใหญ่ (大作) ; ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง (元吉) ย่อมมิเคยก่อเกิดจากความย่อท้อ หรือการดูหมิ่นดูแคลนด้วยถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ (無咎) ใดๆ' ... ดังนั้น ... ถ้อยคำที่ควรจะต่อยอดออกมาจากความหมายดังกล่าวก็คือ 'หากปราศจาก (莫) ความเพียรพยายามที่จะบำเพ็ญประโยชน์ (益之) การปฏิบัติงานใดๆ ก็จะคล้ายดั่ง (或) การปัดสวะให้พ้นตัวอย่างขอไปที (擊之) ซึ่งจะทำให้มีแต่การตัดสินใจ (立心) แต่มิได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างหนักแน่นจริงจัง (勿恆) ภารกิจใดๆ ก็จะประสบกับความวิบัติฉิบหายอย่างย่อยยับ (凶)' ...

ความจริงแล้ว 擊 (jī, จี) ในที่นี้ไม่น่าจะแปลว่า 'ทุบ', 'ตี' หรือว่า 'จู่โจม' แต่มันควรจะแปลว่า 'การสังหาร (ความกระตือรือร้น)' หรือ 'การทำลายความมีชีวิตชีวาในการปฏิบัติงาน' มากกว่า ... หรือไม่ก็อาจจะให้ความหมายว่า 'การทำลายขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน' ก็ยังน่าจะใกล้เคียงกว่าความหมายอื่นๆ ทั้งหมด ... แต่ผมก็เลือกให้ความหมายกับมันว่า 'การปัดสวะให้พ้นตัวอย่างขอไปที' เพื่อสะท้อนอาการของ 'การขาดความรับผิดชอบ' ที่สักแต่ 'ปฏิบัติงานอย่างส่งเดช' เพื่อ 'ผลักภาระให้พ้นๆ ตัว' แล้วก็ถือว่า 'จบธุระ' กันไป ... โดยความหมายจริงๆ ของผมก็คือ 'การฆาตกรรมภารกิจ' !! ... ;)

หากเราจะพิจารณาว่า ทุกๆ ภารกิจล้วนมีวิถีทางในการพัฒนาของมันอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับ 'สิ่งมีชีวิต' ทั้งหลาย การปฏิบัติงานอย่างขอไปทีโดยไม่มี 'ความเอาใจใส่' ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ย่อมไม่ต่างไปจากการ 'ยุติวงจรชีวิต' ของภารกิจนั้นๆ ลงไป และกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ภารกิจนั้นๆ จะมีพัฒนาการต่อๆ ไปในอนาคต ... มันจึงไม่อาจจะนับเป็น 'การปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง' แต่เป็น 'การฆาตกรรมภารกิจให้สิ้นซาก' ซะมากกว่า ... ผมจึง 'เดา' ของผมไปเรื่อยเปื่อยว่า ... เหตุผลที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) ซึ่งหมายถึง 'ความตาย' มาปิดท้ายวลี ก็เพื่อที่จะบอกว่า 'การตัดสินใจที่มิได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างหนักแน่นจริงจัง (立心勿恆) คือการทำลายวงจรชีวิต (凶) ของภารกิจหนึ่งๆ ให้หมดโอกาสที่จะเติบโตต่อไป'  เพราะมีแต่ 'การทุ่มเทอย่างพากเพียร (利用) เท่านั้น ที่จะส่งผลให้ภารกิจหนึ่งๆ เติบใหญ่ขยายผลเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ (為大作)' ดังที่บอกไปแล้วตั้งแต่วรรคที่หนึ่ง ... บ ร๊ ะ จ้ า ว !!??... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'อี้' คือ เพียรบำเพ็ญประโยชน์, กระแสลมเหนือความเคลื่อนไหว

'ความมุ่งมั่น' (利) คือ 'เหตุปัจจัย' ที่ก่อเกิด (有) 'ผลตอบสนอง' ; 'ความเพียรพยายาม' (利) คือ 'เหตุปัจจัย' แห่ง 'การผ่านพ้น' (涉) ทุก 'อุปสรรค' ที่ยิ่งใหญ่ (大川) ทั้งปวง

  •  
  • ผลพวงแห่ง 'ความเพียรพยายาม' (利用) ย่อมบังเกิดเป็น (為) 'ผลงานที่ยิ่งใหญ่' (大作) ; 'ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง' (元吉) ย่อมมิเคยก่อเกิดจาก 'ความย่อท้อ' หรือ 'การดูหมิ่นดูแคลน' ด้วย 'ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์' (無咎) ใดๆ
  •  
  • แม้นว่า (或) มี 'ความมุ่งหวัง' จะใช้ 'ความเพียรพยายาม' เพื่อ 'บำเพ็ญประโยชน์' ให้เด่นชัด (益之) ความมี 'อัตลักษณ์เฉพาะตัว' ของหมู่มิตรที่หลากหลาย (十朋之龜) ย่อมต้องอาศัย 'ความมีวิจารญาณ' ในการกำกับ (弗) เพื่อ 'ส่งเสริม' (克) หรือ 'ยับยั้ง' (違) ; การจะธำรงรักษาไว้ (永) ซึ่ง 'หลักคุณธรรม' (貞) อันนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) นั้น ผู้ที่เป็น 'ผู้นำ' (王) จะต้องใช้ 'ความทุ่มเท' อย่าง 'อุทิศตน' (用享) ยิ่งกว่า 'ศักดิ์สถานะ' (于帝) จึงจะ 'ประสบผลสำเร็จ' (吉)
  •  
  • อัน 'ความบำเพ็ญเพียร' นั้น (益之) คือ 'คุณปัจจัย' ที่เป็นประโยชน์ (用) ต่อ 'การเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากยากเข็ญ' (凶事) ไม่ใช่ 'การตัดพ้อตำหนิ' หรือ 'การวิพากษ์วิจารณ์' (無咎) ; 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักการ' (有孚) อย่างรู้จัก 'ผ่อนหนักผ่อนเบา' ด้วย 'ความเที่ยงธรรม' (中行) คือ 'ความผ่าเผยสง่างาม' ต่อ 'สาธารณชน' (告公) ที่พึงยึดถือเป็น (用) 'บรรทัดฐาน' (圭)
  •  
  • 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ผ่าเผย-เที่ยงธรรม' (中行) ด้วย 'ความมีจิตสำนึก' ต่อ 'สาธารณประโยชน์' (告公) เป็น 'บรรทัดฐาน' (從) นั้น ย่อมส่งผลให้ 'ความเพียรพยายาม' (利用) ทั้งหลายคลี่คลายไปสู่ (為) ความเป็นชาติบ้านเมืองที่มี 'พัฒนาการอันงดงาม' (依遷國)
  •  
  • การให้ 'ความสนับสนุน' ใดๆ (有孚) ด้วย 'จิตใจที่เอื้ออารี' (惠心) แต่หากมิได้ (勿) คำนึงถึง (問) 'บรรทัดฐานที่แท้จริง' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (元吉) การให้ 'ความสนับสนุน' นั้นๆ (有孚) ย่อมมีคุณค่าเพียง 'เอื้อประโยชน์' (惠) เฉพาะ 'อัตตาตน' (我德) เท่านั้น
  •  
  • หากปราศจาก (莫) 'ความเพียรพยายาม' ที่จะ 'บำเพ็ญประโยชน์' (益之) 'การปฏิบัติงาน' ใดๆ ก็จะคล้ายดั่ง (或) 'การปัดสวะให้พ้นตัว' อย่าง 'ขอไปที' (擊之) ซึ่งจะทำให้มีแต่ 'การตัดสินใจ' (立心) แต่มิได้นำไปสู่ 'การลงมือปฏิบัติ' อย่าง 'หนักแน่นจริงจัง' (勿恆) ภารกิจใดๆ ก็ล้วนมีโอกาสที่จะประสบกับ 'ความวิบัติฉิบหาย' อย่าง 'ย่อยยับ' (凶)


The Organization Code :


'การเพียรบำเพ็ญประโยชน์' คือการดำเนิน 'กิจกรรมทางการตลาด' (☳) เพื่อสนับสนุน 'นโยบายการคลัง' (☴) ซึ่งจะต้องเน้น 'ความต่อเนื่อง' เหนือ 'ความตื่นตาตื่นใจ' ; 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' แต่ 'ยืดหยุ่น' อย่างมี 'หลักการที่แน่นอน' (⚍) ; 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'ความเปิดกว้าง' และ 'หนักแน่น' ใน 'ระเบียบปฏิบัติ' (⚏) ; 'ระดับปฏิบัติการ' ต้องมี 'ความแข็งขัน' และอุทิศตนด้วย 'ความทุ่มเท' อย่างสุด 'ความสามารถ'

'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' คือ 'เหตุปัจจัย' ที่นำไปสู่ 'ผลตอบสนอง' ; 'ความเพียรพยายาม' คือ 'เหตุปัจจัย' ที่นำไปสู่ 'ความหลุดพ้น' จาก 'อุปสรรคขวากหนาม' ทั้งหลายทั้งปวง

  •  
  • 'ผลงานอันยิ่งใหญ่' ล้วนสำเร็จได้ด้วย 'ความเพียรพยายาม' ; 'ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง' ล้วนไม่เคยก่อเกิดจาก 'ความย่อท้อ' หรือ 'การดูหมิ่นดูแคลน' ด้วย 'ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์' ใดๆ
  •  
  • 'ความเพียรพยายาม' เพื่อ 'บำเพ็ญประโยชน์' ล้วนมี 'เงื่อนไข' แห่ง 'กาละ-เทศะ' ที่แตกต่างกัน ; 'ศักยภาพ' และ 'อัตลักษณ์เฉพาะตัว' ของแต่ละบุคคล ย่อมมี 'ความเหมาะสม' ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละ 'สภาพแวดล้อม' ; 'ผู้นำที่เข้มแข็ง' จึงต้อง 'อุทิศตน' ให้แก่ 'เหตุผลของงาน' ยิ่งกว่า 'ศักดิ์สถานะ' หรือ 'ความสัมพันธ์ส่วนตัว' ของผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อจะธำรงรักษาไว้ซึ่ง 'หลักคุณธรรม' ที่จะนำพา 'สังคมโดยรวม' ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • ผู้ที่มี 'ความมุ่งมั่น' ย่อมตอบสนองต่อ 'อุปสรรคขวากหนาม' ด้วย 'ความพากเพียร' ; ผู้ที่มี 'ความระย่อท้อ' ย่อมก่นแต่ 'คำวิพากษ์วิจารณ์' ต่อทุกๆ  'ปัญหา' โดยไม่คิดที่จะ 'ดำเนินการ' ใดๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ; ผู้ที่มี 'ความมั่นคงในหลักการ' ย่อมรู้จัก 'พลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์' อย่าง 'ยืดหยุ่น' เพื่อ 'ผลสำเร็จของส่วนรวม' ; ผู้ที่ 'ยึดติดในรูปแบบ' ย่อม 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความแข็งขืน' เพียงเพื่อ 'รักษาอัตตาตน'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' อย่าง 'ผ่าเผย-เที่ยงธรรม' บนพื้นฐานแห่ง 'ความมีจิตสำนึก' ต่อ 'โครงสร้างองค์กร' และ 'ระบบการบริหารจัดการ' ย่อมส่งผลให้ 'ความเพียรพยายาม' ทั้งหลาย คลี่คลายไปสู่ 'พัฒนาการอันยั่งยืน' ของ 'องค์กรโดยรวม'
  •  
  • การให้ 'ความสนับสนุน' ด้วย 'ความเอื้ออารี' ที่มิได้คำนึงถึง 'บรรทัดฐานที่แท้จริง' แห่ง 'การการพัฒนา' เพื่อ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ของ 'องค์กรโดยรวม' นั้น ย่อมนำไปสู่ 'การแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย' ที่ต่างก็คอยแต่จะ 'แก่งแย่งแข่งดี' เพื่อ 'ช่วงชิงผลประโยชน์' สำหรับ 'สนองตัณหา' และ 'หล่อเลี้ยงอัตตา' ของแต่ละบุคคลอย่างไม่สร้างสรรค์ ... 'การเมืองในองค์กร' คือผลลิตแห่ง 'การสั่งสมบารมี' ด้วยวิธีการที่ 'บิดเบือนเงื่อนไข' แห่ง 'หลักการ' จนผิดเพี้ยน ซึ่งจะกลายเป็น 'การบ่อนทำลาย' รากฐานสำคัญของ 'การพัฒนาองค์กร' ในอนาคต
  •  
  • 'การปฏิบัติงาน' โดยปราศจาก 'ความเพียรพยายาม' ที่จะ 'บำเพ็ญประโยชน์' อย่างจริงจัง ย่อมไม่ต่างไปจาก 'การฆาตกรรมภารกิจให้สิ้นซาก' ด้วย 'การสักแต่ทำอย่างขอไปที' เพื่อ 'ปัดสวะให้พ้นตัว' โดยไม่มีความคิดที่จะพัฒนาสิ่งใดให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งในที่สุดแล้ว 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ก็จะ 'ทึ่มทื่อ' จนไม่ต่างไปจาก 'พิธีศพ' ที่ดำเนินไปตาม 'พิธีกรรม' อย่าง 'ด้านชา' และไม่อาจบรรลุถึง 'ผลงานอันยิ่งใหญ่' ใดๆ อีกเลย


โดยลักษณะของลำดับถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ตั้งแต่บทที่สี่สิบเอ็ดมาจนถึงบทที่สี่สิบสองนี้ ผมเองก็ยอมรับครับว่า มันสามารถ 'ตีความ' ได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องตัดสินใจ 'เลือก' ความหมายที่น่าจะใกล้เคียงที่สุด และควรจะมีความครอบคลุมไปถึงแง่มุมอื่นๆ ไว้ให้ได้ในระดับหนึ่งด้วย ... มันจึงเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควรหากจะต้องระบุลงไปอย่างชัดๆ ว่า 'คำแปล' หรือ 'คำถอดความ' ใดที่ควรจะถือว่ามีความถูกต้องมากกว่ากัน

ผมเองจะเคยใช้ถ้อยคำว่า ปราชญ์ผู้เจริญจึงน้อมตัวลงต่ำ (損) เพื่อยกระดับจิตใจให้สูง (益) ไว้ในบทที่สี่สิบเอ็ด เพื่อจะสะท้อนความหมายของ 損 (sǔn, สุ่น) และ 益 (yì, อี้) ในแง่ของ 'ความประพฤติ' และ 'การปฏิบัติตน' ... แต่นั่นก็เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งที่แว้บขึ้นมาในขณะที่ผมยังไม่ได้ไล่ถอดความของบทที่สี่สิบสอง ซึ่งหลังจากที่ผม 'ตีความ' ถ้อยคำของ 'จิวกง' ในบทที่สี่สิบสองเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าความหมายของ 損 (sǔn, สุ่น) จะยังคงความหมายเดิมว่า 'การลดความสำคัญตน' แต่ 益 (yì, อี้) กลับควรจะหมายถึง 'การเพิ่มความเพียรพยายาม' ... ซึ่ง ... เราอาจจะมองว่านั่นคือ 'สิ่งแสดงออก' ของการให้ความสำคัญต่อ 'ภาระหน้าที่' ยิ่งกว่า 'ความสะดวกสบาย' ของตนเองก็น่าจะได้ ...

ส่วนในแง่ของ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' นั้น ผมคิดว่า King Wen ก็คงต้องการสะท้อนความหมายบางอย่างเอาไว้ในบททั้งสองนี้ด้วยเหมือนกัน เราจะเห็นว่าบทที่สี่สิบเอ็ดจะถูกกำกับด้วยเครื่องหมาย ䷨ (損 : sǔn, สุ่น) ซึ่งมีเครื่องหมาย ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) หรือ 'ความเบิกบานใจ' ที่แทนด้วยสัญลักษณ์ของ 'ทะเลสาบ' อยู่ตรงด้านล่าง โดยที่ด้านบนจะเป็นเครื่องหมาย ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) หรือ 'ภูเขา' ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน 'ความหนักแน่น', และ 'ข้อเท็จจริง' ... ผมได้ให้ความหมายรวมๆ ของสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้นว่า 'การยอมรับความจริงอย่างเบิกบาน' ... แต่ ... 'การยอมรับ' ที่ว่านั้นต้องไม่ใช่ลักษณะของ 'การยอมจำนนต่อชะตากรรม' อย่างเด็ดขาด !!??!! ... เพราะ ... 'การยอมรับความจริง' คือ 'การเปิดใจกว้าง' เพื่อจะ 'ทำความเข้าใจ' ใน 'ข้อเท็จจริง' ที่เกิดขึ้น และพยายาม 'ปรับปรุงแก้ไข' พฤติกรรมของตนให้ 'ประสานสอดคล้อง' อย่าง 'สร้างสรรค์' ... ในขณะที่ 'การยอมรับชะตากรรม' คือ 'ความหมดอาลัยตายอยาก' ที่ยอม 'กล้ำกลืนฝืนทน' ต่อสถานการณ์หนึ่งๆ โดยไม่ยอม 'ปรับปรุงตัวเอง' เลย ... !!?!

คิดว่า King Wen อยากจะจำแนกความแตกต่างของ 'การยอมรับ' กับ 'การยอมจำนน' ให้ชัดเจนด้วยมั้ยล่ะ ?! ... ผมเชื่ออย่างนั้น 100% ครับ ... :D ... และผมเชื่อว่านั่นคือที่มาของการเลือกใช้ 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ถัดมาด้วย เพราะมันประกอบด้วยสัญลักษณ์ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) หรือ 'ฟ้ารอง' ซึ่งสามารถหมายถึง 'ความกระตือรือร้น' อยู่ในตำแหน่งที่แทน 'ความรู้สึกนึกคิด' คือ 'ด้านล่าง' ของ 'ภาพสัญลักษณ์' ในขณะที่ 'ด้านบน' ซึ่งมักจะหมายถึง 'การปฏิบัติ' ก็ถูกกำกับไว้ด้วยสัญลักษณ์ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ซึ่งหมายถึง 'กระแสลม' ที่ใช้แทน 'ความอ่อนโยน', และ 'ความต่อเนื่อง' ... ความหมายที่เชื่อมโยงมาจาก 'การยอมรับความจริงอย่างเบิกบาน' (䷨ : 損 : sǔn, สุ่น) ในบทที่สี่สิบเอ็ดจึงได้รับการเสริมต่อด้วย 'ความกระตือรือร้นที่จะพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง' (䷩ : 益 : yì, อี้) ในบทที่สี่สิบสองนี่เอง ... สวยงามมากๆ !! ... ;)

บุคคล 'ผู้ละวางอัตตา' ย่อมปราศจาก 'ความอึดอัดขัดเคือง' เมื่อต้องเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ... แต่จะ 'พยายามเรียนรู้' เพื่อ 'ทำความเข้าใจ' ต่อสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่ในแต่ละขณะเวลาด้วย 'ปัญญารมณ์' ที่ 'แจ่มใสเบิกบาน' ... มี 'ความกระตือรือร้น' ต่อ 'การปรับปรุง' และ 'พัฒนาตนเอง' อย่าง 'ต่อเนื่อง' โดยมิเคยละทิ้งซึ่ง 'ความพยายาม' ... นี่ก็คือบทสรุปของบทที่สี่สิบเอ็ดและบทที่สี่สิบสอง ... ที่ 'โคตรหิน' ต่อ 'การตีความ' จริงๆ ... :D ...