Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第二十九卦 : 坎
坎 : 坎為水 ‧ 坎上坎下
坎 : 習坎‧有孚‧維心亨‧行有尚‧
- 初六 : 習坎‧入于坎窞‧凶‧
- 九二 : 坎有險‧求小得‧
- 六三 : 來之坎坎‧險且枕‧入于坎窞‧勿用‧
- 六四 : 樽酒‧簋貳用缶‧納約自牖‧終無咎‧
- 九五 : 坎不盈‧祗既平‧無咎‧
- 上六 : 遯用徽纆‧置于叢棘‧三歲不得‧凶‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มีความระงับยับยั้ง (⚎) ; ปัญญา หนักแน่นมั่นคง (⚏) ; ปฏิกิริยา เฉียบคมนุ่มนวล (⚍)
ความหมายในเชิงบริหาร : การขับเคลื่อน 'บุคลากร' (☵) เพื่อฟันฝ่า 'เส้นทางที่ไม่ราบเรียบ' (☵)
ความหมายของสัญลักษณ์ : การเผชิญอุปสรรค, กระแสธารไหลเลื่อนในหุบห้วย
ความหมายของชื่อเรียก : Venturing : การเผชิญอุปสรรค
坎 อ่านว่า kǎn (ขั่น) เป็นหนึ่งในแปด Double Guas หรือ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่มีความซ้ำกันทั้งด้านล่างและด้านบน ซึ่งในบทที่ว่าด้วย 坎 (kǎn, ขั่น) นี้จะเป็นการซ้อนกันของสัญลักษณ์ ☵ (坎 : kǎn, ขั่น) ที่อยู่ประจำทิศตะวันตกตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi แต่เป็นสัญลักษณ์ประจำทิศเหนือตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen ... โดยยังไม่มีทฤษฎีใดที่จะสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า การสลับตำแหน่งดังกล่าวของสัญลักษณ์ทั้งแปดทิศนั้นมีสาเหตุที่แน่นอนมาจากอะไรกันแน่ ??!!
坎 (kǎn, ขั่น) ถูกดัดแปลงมาจาก 'ภาพอักษรโบราณ' ของ 埳 (kǎn, ขั่น) ซึ่งประกอบด้วยอักษร 土 (tǔ, ถู่) ที่แปลว่า 'ดิน' หรือ 'แผ่นดิน' กับ 臽 (xiàn, เซี่ยน) ที่แปลว่า 'หลุม' หรือ 'บ่อ' ... โดยด้านบนของ 臽 (xiàn, เซี่ยน) นั้นจะเป็น 'ภาพอักษร' ของ 'คนที่ยืนด้วยขาข้างเดียว' ลักษณะคล้ายกำลังซวนเซจะล้มมิล้มแหล่ ส่วนด้านล่างคืออักษร 臼 (jiù, จิ้ว) ที่หมายถึง 'หลุม', 'ร่อง', หรือ 'ช่องที่ยุบตัวลงไป' ... อักษร 埳 (kǎn, ขั่น) จึงมีความหมายตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'คนที่กำลังตกลงไปในหลุมดิน' หรือ 'การหกล้มหกลุกบนพื้นดินที่ไม่ราบเรียบ' ซึ่งก็แผลงต่อมาเป็น 'พื้นผิวที่เป็นหลุมเป็นบ่อไม่ราบเรียบ', 'หนทางที่ขรุขระ', แล้วแผลงมาเป็น 'อุปสรรคขวากหนาม', 'ความยากลำบาก', 'วิกฤติการณ์', หรือ 'วิกฤติกาล' และ 'ความไม่ราบรื่น' ในเวลาต่อๆ มา ; ... ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะสามารถแปลว่า 'ขุดให้เป็นหลุม', 'ทำให้เป็นแอ่ง', หรือ 'ทำให้สึกหรอ' แต่ก็สามารถหมายถึง 'สะดุดล้มลง', 'จมดิ่งลงไป' และอาจจะหมายถึง 'ล้มเหลว' ก็ได้ ; ... ถ้าใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับอารมณ์ก็อาจจะหมายถึง 'คับข้องใจ', 'ผิดหวัง', 'ไม่ถูกใจ' หรือมีอาการในลักษณะที่ 'ไม่สนิทใจ' (เพราะไม่ราบเรียบ) ... แล้วถ้าในแง่ของการประสานงานก็อาจจะหมายถึง 'ไม่ราบรื่น', หรือ 'กระทบกระทั่งกัน' เพราะ 'ประสานกันไม่สนิท'
อย่างไรก็ตาม เมื่ออักษร 埳 (kǎn, ขั่น) ที่มีโทนของความหมายกระเดียดไปในทางที่ 'ไม่ค่อยราบรื่น' หรือ 'มีแต่อุปสรรคขวากหนาม' ถูกพัฒนาต่อมาเป็นอักษร 坎 (kǎn, ขั่น) ที่ปรากฏภาพของ 'คนสองอาการ' อยู่ตรงด้านขวาของ 'ภาพอักษร' ... โดยที่ด้านบนยังคงรักษาลักษณะของ 'คนที่ยืนขาเดียว' หรือ 'คนที่กำลังซวนเซ' เอาไว้ แต่ด้านล่างกลายสภาพเป็น 'คนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงเป็นปรกติ' ... ความหมายของ 坎 (kǎn, ขั่น) ตาม 'ภาพอักษร' ที่เห็นจึงมีลักษณะของ 'การล้มลุกคลุกคลาน', หรือ 'การเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ' ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ที่เผชิญถึงกับต้องซวนเซจนเสียหลัก แต่ก็ยังบากบั่นต่อสู้เพื่อที่จะยืนหยัด และก้าวต่อไปอย่างมั่นคงให้ได้ ... นี่ก็คือความหมายหลักของบทนี้ และเป็นที่มาของการมี่ผมตัดสินใจเลือกใช้คำว่า Venturing หรือ 'การเผชิญอุปสรรค' มาใช้เป็นคำแปลของ 'ชื่อบท'
坎 (kǎn, ขั่น) ตามความหมายใน 'ภาพสัญลักษณ์โป้ยก่วย' จะหมายถึง 'กระแสน้ำ', 'แอ่งน้ำ', 'หลุม-บ่อ', 'อุปสรรค' และ 'การเผชิญกับภยันตราย' ซึ่งก็มีส่วนที่ทำให้หลายๆ ตำรามักจะ 'ตีความ' ให้ 'น้ำ' กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของ 'อุปสรรคต่อการเดินทาง' หรือ 'อุปสรรคต่อการดำเนินงาน' ทั้งๆ ที่ 'น้ำ' ในทัศนคติของชาวจีน และชาวเอเชียอีกหลายๆ ชาติมักจะหมายถึง 'โชคลาภ' และ 'สิ่งที่เป็นมงคล' มากกว่าจะหมายถึง 'ความไม่ราบรื่น' ... ความเกี่ยวข้องของ 'น้ำ' กับ 'อุปสรรค' จึงน่าจะเป็นเรื่องของ 'แบบอย่างในการดำเนินชีวิต' หรือ 'แบบอย่างในการเผชิญอุปสรรค' มากกว่า ... เพราะโดยธรรมชาติของ 'น้ำ' ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางของตนเองเพื่อที่จะไหลผ่านสิ่งกีดขวางนาๆ ประการ โดยจะมุ่งไปสู่ทิศทางที่แน่นอนของมันเองเสมอ ... นอกจากนั้นแล้ว 'น้ำ' ก็ยังสามารถเติมเต็มพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบทั้งหลายให้อยู่ในระนาบเดียวกันตลอดเวลา การเดินทาง และการขยับขยายถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งการติดต่อสื่อสารในครั้งอดีตกาลจึงล้วนแล้วแต่อาศัย 'น้ำ' เป็น 'ปัจจัยรองรับ' ที่สำคัญมาโดยตลอด ... หรือแม้แต่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีการขนส่งซึ่งก้าวล้ำกว่าในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างมากมายแล้วก็ตาม การขนส่งทางน้ำก็ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ยังไม่มีเส้นทางลำเลียงอื่นใดสามารถทดแทนได้อยู่ดี ... การที่ King Wen เลือกใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'น้ำ' ในความหมายของ 'การเผชิญอุปสรรค' จึงมีความเหมาะสมด้วยเหตุผลประการทั้งปวง ... ฉะนี้ ... ;)
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
xí kǎn yǒu fú wéi xīn hēng xíng yǒu shàng
จริงๆ แล้วก็ไม่มีคำไหนใหม่เลยนะครับ แต่เพื่อจะประมวลความหมายให้ชัดเจนโดยไม่ต้องอ้างอิงข้ามบทกันไปมา ผมขอยกเอาคำแปลที่เคยเล่าไว้ของหลายๆ คำมาเล่าซ้ำอีกครั้งหนึ่งตรงนี้
習 (xí, ซี๋) เจอครั้งแรกในวรรคที่สองของบทที่สอง ซึ่งเล่าไว้ว่าหมายถึง 'ฝึกฝน', 'ฝึกหัด', 'ทำให้เคยชิน', 'ทำให้ชำนาญ', 'ทดลอง' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'พยายาม' ก็ได้ … แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะหมายถึง 'ฝืน' หรือ 'ดันทุรัง' ก็น่าจะได้เหมือนกัน :D
孚 (fú, ฟู๋) เจอครั้งแรกในบทที่ห้า แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้ ; ... จากนั้น 孚 (fú, ฟู๋) ก็ยังถูกใช้อีกหลายครั้งในความหมายว่า 'ความอุปถัมภ์', 'ความเกื้อกูล' ; รวมทั้ง 'ความมีมาตรฐาน', 'ความมีระเบียบวินัย' และ 'ความเตรียมพร้อม' อันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ' และ 'ความน่าเชื่อถือ' ระหว่างกัน
維 (wéi, เว๋ย) เจอครั้งแรกในวรรคที่หกของบทที่สิบเจ็ด แปลว่า 'ธำรงไว้', 'รักษาไว้', 'อนุรักษ์ไว้', 'ทำให้คงอยู่', และอาจใช้ในความเดียวกับ 係 (xì, ซี่) ที่แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'ผูกพัน', 'รวบรวม', หรือ 'มัดให้แน่น' ; หรือ 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว', และ 'จับกุม'
尚 (shàng, ษั้ง, ษ้าง) เจอครั้งแรกในวรรคที่หกของบทที่เก้า แปลว่า 'ยังมีอีก', 'ยังเหลืออีก', 'นอกเหนือจาก', 'นอกจากนั้น' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ที่ให้ความเคารพ', 'ที่มีความสำคัญ' ในลักษณะคล้ายกับ 'ที่นอกเหนือจากธรรมดา' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'เน้นย้ำ' ; บางทียังแปลว่า 'เก่าแก่', 'อดีตกาลอันไกลโพ้น' ; และยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'โดยประมาณ'
ว่ากันตามลำดับอักษรเลยนะครับ ... 'ความมุ่งมั่นที่จะเผชิญ (習) กับอุปสรรค (坎) ย่อมต้องประกอบด้วย (有) ระเบียบแบบแผนที่พรั่งพร้อม (孚) มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง (維心) ด้วยสติปัญญาที่ตระหนักรู้และเข้าใจ จึงจะสามารถพัฒนาให้มีความคืบหน้า (亨) ... การดำเนินงานทุกประการ (行) ย่อมต้องมี (有) วิถีทางที่เป็นไปได้ (尚 หมายถึง 'ทางเลือก') สำหรับทุกๆ ปัญหาเสมอ' ...
เอานะครับ ... เราก็ได้เห็นคำแปลที่ King Wen ใช้เพื่ออธิบายความหมายของ 'ชื่อเรียกภาพสัญลักษณ์' ไปแล้ว ... ทีนี้ ... เราก็มาถึงสาระสำคัญอีกประการหนึ่งของ 'การตีความ' 'คัมภีร์อี้จิง' ... หลายๆ สำนักมักจะเชื่อกันว่า 'คัมภีร์อี้จิง' ถูกแบ่งออกเป็น 'สองภาค' โดย 'ภาคแรก' จะเริ่มต้นจากบทที่หนึ่ง และบทที่สองซึ่งจะถือว่าเป็น 'บทนำ' แล้วมาจบลงตรงบทที่ยี่สิบเก้า และบทที่สามสิบอันถือว่าเป็น 'บทสรุป' ของ 'ภาคแรก' ??!! ... จากนั้น 'ภาคหลัง' จะไปจบลงตรงบทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่ โดยถือว่าเป็น 'บทส่งท้าย' ของคัมภีร์ทั้งเล่ม ... เพราะ 'บทสรุป' และ 'บทส่งท้าย' ตามทฤษฎีที่ว่านี้จะประกอบด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'น้ำ' (☵ : 坎 : kǎn, ขั่น) และ 'ไฟ' (☲ : 離 : lí, ลี๋) ด้วยกันทั้งสี่บทคือ 29 (䷜), 30 (䷝), 63 (䷾), 64 (䷿) ... โดย ☵ (坎 : kǎn, ขั่น) กับ ☲ (離 : lí, ลี๋) คือสัญลักษณ์ประจำ 'แกนสมมาตรที่สอง' ตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi ทั้งยังถูกวางอยู่ในตำแหน่งของ ☷ (坤 : kūn, คุน) กับ ☰ (乾 : qián, เชี๋ยน) อันเป็น 'แกนสมมาตรที่หนึ่ง' ใน 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ King Wen อีกต่างหาก ... การถูกวางอยู่ในตำแหน่งสำคัญดังกล่าว ทำให้ทั้ง ☵ (坎 : kǎn, ขั่น) กับ ☲ (離 : lí, ลี๋) ต่างก็ถูก 'ตีความ' ให้มีนัยสำคัญเป็นพิเศษขึ้นมาทันที ... ดูๆ ไปก็น่าจะมีเหตุผล ... แต่ไม่ค่อยน่าเชื่อ ??!! ... :D
สิ่งที่ไม่สมประกอบของทฤษฎีนี้ก็คือ มันไม่มีการเอ่ยถึง 'บทนำ' ของ 'ภาคหลัง' เลย ??!! ซึ่งจะมีผลให้การแบ่งคัมภีร์ออกเป็น 'สองภาค' ขาดความสมบูรณ์เมื่อแยกออกเป็น 'สองเล่ม' จริงๆ จังๆ ขึ้นมา เพราะมันจะคล้ายกับเป็นหนังสือสองเล่มที่มีเพียงสามปกเท่านั้น !! ;) ... อีกอย่าง ... จำนวนบทที่อีหลักอีเหลื่ออยู่นั้นก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะเมื่อตัด 'บทนำ' กับ 'บทสรุป' ออกไปแล้ว เนื้อหาของ 'ภาคแรก' ย่อมต้องเหลือเพียง 26 บท ในขณะที่ 'ภาคหลัง' จะมีถึง 32 บทถ้าไม่นับ 'บทส่งท้าย' ทั้งสองเข้าไป ... ทำไม ??!!
ย้อนกลับมาที่วิธีลำดับความหมายของแต่ละบทเท่าที่เล่ามาใน ZhuqiChing ฉบับนี้ เราจะเห็นว่าบทต่างๆ ของ King Wen นั้นได้รับ 'การขยายความ' ไว้โดย 'จิวกง' อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาโดยตลอด โดยจะวนกลับไปกลับมาระหว่าง 乾 (䷀ : qián, เชี๋ยน) และ 坤 (䷁ : kūn, คุน) อันเป็นตัวแทนของ 'หยาง' และ 'หยิน' คราวละ 6 บทเท่าๆ กันเสมอ โดยเริ่มจากบทที่สาม จนถึงบทที่แปด อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'หยาง' แล้วก็ต่อด้วยบทที่เก้า จนถึงบทที่สิบสี่ อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'หยิน' ... จากนั้นก็จะวนกลับไปกลับมาในลักษณะที่ว่านี้เรื่อยไป ... ซึ่งรอบที่สามของการวนนี้จะเริ่มต้นจากบทที่ยี่สิบเจ็ด และต้องไปจบลงตรงบทที่สามสิบสอง ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'หยาง' ตลอดทั้ง 6 บท โดยบทที่ยี่สิบเก้าที่กำลังเล่าอยู่นี้ จะต้องสะท้อนความหมายของวรรคที่สามของบทที่หนึ่งออกมา มันจึงไม่มีทางเป็น 'กึ่งกลางคัมภีร์' อย่างแน่นอน ... การแบ่งลำดับบทต่างๆ ตามทฤษฎีของ ZhuqiChing จึงจำแนก 'คัมภีร์อี้จิง' ออกเป็น 'ห้าภาค' ภาคละ 12 บท (หยาง 6 บท และหยิน 6 บท) รวมกันเป็น 60 บท โดยมีบทที่หนึ่ง และบทที่สองเป็น 'บทนำ' และมีบทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่เป็น 'บทสรุป' ของทุกๆ ภาคเสมอ ... ซึ่งความหมายของ 'ห้าภาค' นี้น่าจะสอดคล้องกับ 'ทฤษฎีเบญจธาตุ' (ไม้-ดิน-น้ำ-ไฟ-โลหะ) อันเป็น 'ทฤษฎีตั้งต้น' ของปรัชญา และศาสตร์อื่นๆ อีกหลายแขนงของชาวจีนที่ได้รับการพัฒนาในเวลาต่อๆ มา ...
และเพื่อเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่านี้ ผมจึงเลือกแปลความหมายในถ้อยคำของ King Wen สำหรับบทนี้ก่อน แล้วจึงนำกลับไปเปรียบเทียบกับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่สามของบทที่หนึ่ง กับความหมายของบทที่ห้า และบทที่สิบเจ็ด ซึ่งทั้งหมดควรจะต้องมีการเชื่อมโยงกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ ...
วรรคที่สามของบทที่หนึ่งถูกบันทึกไว้โดย 'จิวกง' ว่า 君子終日乾乾夕惕若厲無咎 (jün zǐ zhōng rì qián qián xī tì ruò lì wú jiù, จฺวิน จื่อ จง ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่ อู๋ จิ้ว) ซึ่งหมายความว่า 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ (無咎)'
ในขณะที่บทที่ห้าคือ 需 (xü, ซฺวี) เป็นบทที่ว่าด้วย 'การรอคอยจังหวะ' หรือ Requisition ได้รับการบันทึกไว้โดย King Wen ว่า 有孚光亨貞吉利涉大川 (yǒu fú guāng hēng zhēn jí lì shè dà chuān, โหฺย่ว ฟู๋ กวง เฮิง เจิน จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า ฌวน) โดยผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การรอคอยจังหวะ (需) นั้น จะต้องมีการเตรียมการมาอย่างดี (有孚) และจะต้องมีความตื่นตัว (光) ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (亨 คือความรู้ หรือข่าวสาร) ของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (貞吉) จึงจะถือว่ามีความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川) ได้' และได้อธิบายต่อท้ายไว้ว่า 'จิวกง' พยายามจะถ่ายทอดออกมาเป็น 'การรอคอยจังหวะนั้น มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ 孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ ผู้ที่มีความเข้าใจ (利) ย่อมพร้อมที่จะกระทำการใหญ่ (涉大川)'
เมื่อพัฒนาต่อมาเป็นบทที่สิบเจ็ดคือ 隨 (suí, ซุ๋ย) ที่ว่าด้วย 'ความโอนอ่อน' หรือ Conforming ... King Wen เลือกที่จะบรรยายว่า 元亨利貞無咎 (yuán hēng lì zhēn wú jiù, เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน อู๋ จิ้ว) ซึ่งเป็นบทที่สะท้อน 'ความเป็นหยาง' ของ 乾 (䷀ : qián, เชี๋ยน) อย่างชัดเจน และผมต้อง 'ถอดความ' ไว้อย่างสลับซับซ้อนว่า 'ในสถานการณ์ที่อึมครึมไม่ชัดเจน จะต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ (元) ; ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย พึงต้องใช้กฎระเบียบ และปฏิภาณ (亨) ; ในสถานการณ์ที่ฝืดเคืองไม่คืบหน้า จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง (利) ; ในสถานการณ์ที่เพียบพร้อมอุดมสมบูรณ์ ต้องยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (貞) ... เยี่ยงนี้จึงจะไม่เกิดความผิดพลาด (無咎)'
ทีนี้ก็ลองเปรียบเทียบกับถ้อยคำของ King Wen ในบทนี้อีกครั้ง ... คำว่า 習坎 (xí kǎn, ซี๋ ขั่น) สามารถแปลว่า 'ความมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับอุปสรรค' หรือ 'การฝึกฝนตนเองให้พร้อมสำหรับการเผชิญกับอุปสรรค' ก็ไม่แปลกหรอกครับ เพราะความหมายของคำว่า 習 (xí, ซี๋) มีท่วงทำนองอย่างนั้นอยู่แล้วทั้งสองความหมาย ... คำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) ที่สามารถแปลว่า 'มีระเบียบแบบแผนที่พรั่งพร้อม' ย่อมหมายถึง 'มีการเตรียมการไว้อย่างดี' ซึ่งจะสะท้อนความหมายของ 終日乾乾‧夕惕若厲 (zhōng rì qián qián xī tì ruò lì, จง ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่) หรือ 'ตลอดวันไม่ละเลยการฝึกฝน ตลอดคืนไม่หย่อนยานความมีระเบียบแบบแผน' ... คำว่า 維心亨 (wéi xīn hēng, เว๋ย ซิน เฮิง) ย่อมสะท้อนถึง 'ความหนักแน่น' และ 'ความไม่ประมาท' ต่อสถานการณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งสี่ประการคือ 孚 (fú, ฟู๋), 光 (guāng, กวง), 亨 (hēng, เฮิง), และ 貞吉 (zhēn jí) ... สำหรับ 行有尚 (xíng yǒu shàng, ซิ๋ง โหฺย่ว ษั้ง) ที่หมายถึง 'การดำเนินงานทุกประการย่อมต้องมีวิถีทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้เสมอ' ก็คือเงาสะท้อนของ 'การครองตนสี่ประการ' ในบทที่สิบเจ็ดอันประกอบด้วย 元 (yuán, เยฺวี๋ยน), 亨 (hēng, เฮิง), 利 (lì, ลี่), 貞 (zhēn, เจิน) ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติในการเผชิญกับ 'สถานการณ์สี่ประการ' ที่เล่าไปแล้วคือ 孚 (fú, ฟู๋), 光 (guāng, กวง), 亨 (hēng, เฮิง), และ 貞吉 (zhēn jí) ... โป๊ะเชะ !!!?? ;)
เพราะฉะนั้น ... บทที่ยี่สิบเก้าจึงไม่ใช่ 'กึ่งกลางคัมภีร์' อย่างที่หลายๆ สำนักเขา 'ร่ำลือกัน' แต่เป็นเงาสะท้อนอีกครั้งหนึ่งของวรรคที่สามในบทที่หนึ่งอย่างแน่นอน ... ฟันธง !!!!! ... :D
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
習坎入于坎窞凶
xí kǎn rù yǘ kǎn dàn xiōng
窞 อ่านว่า dàn (ตั้น) มาจากการผสมอักษร 穴 (xué, เซฺวี๋ย) ที่แปลว่า 'หลุม' หรือ 'ถ้ำ' กับอักษร 臽 (xiàn, เซี่ยน) ที่แปลว่า 'หลุม' หรือ 'บ่อ' ทำให้ 窞 (dàn, ตั้น) มีความหมายว่า 'หลุมในหลุม', 'หล่มในหลุม', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'ก้นหลุม' หรือ 'ส่วนที่ลึกที่สุดของหลุม' ก็ได้
'จิวกง' เล่นคำที่มีความหมายซ้ำกันเยอะมากในวรรคนี้ เพราะทั้ง 坎 (kǎn, ขั่น) และ 窞 (dàn, ตั้น) ต่างก็มีความหมายที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่ 窞 (dàn, ตั้น) ก็ยังเป็นคำที่เกิดจาก 穴 (xué, เซฺวี๋ย) กับ 臽 (xiàn, เซี่ยน) รวมกันเป็น 'หลุมซ้อนหลุม' ซะอีกต่างหาก ... ว่ากันตามอักษรแล้ว ความหมายของวลีนี้ก็จะประมาณว่า 'การพยายามขึ้นจากหลุม (習坎) ด้วยการขุดหลุมให้ลึกลงไปเรื่อยๆ (入于坎窞) ย่อมมีแต่ตายกับตาย (凶) เท่านั้น' ... :P ... แต่ถ้าจะว่าด้วย 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ก็น่าจะได้ใจความว่า 'การดิ้นรน (習) เพื่อฟันฝ่าอุปสรรค (坎) ใดๆ หากยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งถลำลึกเข้าไปสู่ (入于) วังวนแห่งอุปสรรคอย่างไม่รู้จบ (坎窞) ย่อมเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างมหันต์ (凶)' ... นี่คือการสะท้อนความหมายที่ตรงกันข้ามกับวลีปิดท้ายของ King Wen ซึ่งบันทึกไว้ว่า 行有尚 (xíng yǒu shàng, ซิ๋ง โหฺย่ว ษั้ง) นั่นเอง ... ?!?
เมื่อ King Wen บรรยายไว้ว่า 'การดำเนินงานใดๆ (行) ย่อมต้องมี (有) ทางเลือก (尚) ที่เหมาะสมและเป็นไปได้เสมอ' ... 'จิวกง' ก็ย้ำลงไปด้วยข้อความที่ตรงกันข้ามว่า 'การแก้ปัญหา (習坎) ด้วยวิธีการที่ก่อให้เกิดปัญหา (入于坎窞) ย่อมนำไปสู่ความย่อยยับ (凶)' ... นี่คือการจำกัดความให้ชัดเจนว่า 行有尚 (xíng yǒu shàng, ซิ๋ง โหฺย่ว ษั้ง) ไม่ได้หมายถึง 'ลุยเข้าไปเหอะ (行) ยังไงซะมันก็ต้องสำเร็จเข้าซักวัน (有尚)' ... :D ... เพราะคำว่า 尚 (shàng, ษั้ง) แฝงความหมายอย่างนั้นอยู่แล้วในระดับหนึ่ง โดย 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) สามารถที่จะหมายถึง 'มีความเชื่อมั่น' และ 維心 (wéi xīn, เว๋ย ซิน) อาจจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'จิตใจที่เหนียวแน่น' ... ซึ่งทั้งหมดนี้ หากมี 'อาการยึดติด' จนเกินเลยขอบเขตที่เหมาะสมของมัน ก็จะกลายเป็น 'ความดื้อด้าน' หรือ 'ความดักดาน' จนถึงขั้นที่ 'ปฏิเสธการทบทวนตรวจสอบ' ว่า แนวทางการดำเนินงานที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นภาวะของ 'ความมืดบอด' อันเนื่องมาจาก 'ความอวดดื้อถือดี' ที่จะนำไปสู่ 'ความฉิบหายล่มจม' (凶) ในที่สุด ... !!?
จิตใจที่มี 'ความหนักแน่น' (維心) ตามทัศนคติของ 'จิวกง' จึงเป็นคนละความหมายกับ 'ความเหนียวแน่นอย่างดื้อด้าน' ... เพราะ 'ความหนักแน่น' ย่อมหมายถึง 'ความมั่นคงโดยปราศจากการยึดติด' อันเป็นคุณลักษณะแห่ง 'จิตใจที่เป็นอิสระ' จาก 'พันธนาการทางอารมณ์' ใดๆ จึงสามารถที่จะตัดสินใจ 'หยิบยก' หรือ 'ปล่อยวาง' เรื่องราวต่างๆ โดย 'ปราศจากเงื่อนไขแห่งอัตตา' เข้ามาเกี่ยวข้อง ... นี่ก็คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานทุกประการ (行) มีทางเลือกอื่นๆ (有尚) ที่เป็นไปได้ และมีความเหมาะสมแก่สถานการณ์หนึ่งๆ เสมอ ... เพราะ 'ความหนักแน่น' กับ 'ความดื้อด้าน' ย่อมเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ 'ความมุ่งมั่น' กับ 'ความดันทุรัง' ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ... ฉะนี้ !! ... ;)
坎有險求小得
kǎn yǒu xiǎn qiú xiǎo dé
險 อ่านว่า xiǎn (เสี่ยน) แปลว่า 'ยากลำบาก', 'อันตราย', 'ความเสี่ยง' ; บางครั้งหมายถึง 'หนทางที่คับแคบ', 'เส้นทางที่คับขัน' ; และอาจจะหมายถึง 'จุดยุทธศาสตร์' (strategic point) หรือ 'จุดวิกฤติ' ที่จะนำไปสู่ 'การพลิกผัน' ของเหตุการณ์หนึ่งๆ ซึ่งมักจะมี 'ความเปราะบาง' และต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเข้มงวดรัดกุม
สำหรับ 求 (qiú, ชิ๋ว) แปลว่า 'ขอร้อง', 'ร้องขอ', 'เชื้อเชิญ', 'หว่านล้อม', 'เรียกร้อง', 'ต้องการ', 'ขอความช่วยเหลือ', 'ความช่วยเหลือ' ; 'เสาะหา', 'พยายาม'
ส่วน 得 (dé, เต๋อ) ปรกติก็จะแปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'ค้นพบ', 'ประจักษ์แจ้ง', 'รับรู้', 'รับทราบ'
ความหมายของวลีนี้น่าจะ 'ตีความ' อย่างตรงๆ ตัวได้ว่า 'การเผชิญอุปสรรค (坎) ที่มีความคับขันอันตราย และเสี่ยงต่อความผิดพลาด (有險) จำเป็นต้อง (求) ดำเนินการอย่างค่อยไปค่อยไปด้วยความระมัดระวัง (小得)' ...
ผมเข้าใจเอาเองว่า วรรคนี้ของ 'จิวกง' น่าจะกำลังพยายามขยายความให้กับวลีว่า 維心亨 (wéi xīn hēng, เว๋ย ซิน เฮิง) ของ King Wen ที่บันทึกเปิดประเด็นเอาไว้ โดยคำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ในที่นี่มีความเป็นไปได้ที่จะหมายถึง 小心 (xiǎo xīn, เสี่ยว ซิน) ที่แปลว่า 'ระมัดระวัง' หรือ 'ไม่รีบร้อน' ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ 維心 (wéi xīn, เว๋ย ซิน) ที่หมายถึง 'จิตใจที่สุขุมหนักแน่น' ... ในขณะที่ 得 (dé, เต๋อ) กับ 亨 (hēng, เฮิง) ก็มีความหมายหลายๆ อย่างที่ละม้ายคล้ายคลึงกันพอสมควร ... ด้วยเหตุนี้ คุณลักษณะประการที่สองของ 'จิตใจที่หนักแน่น' (維心) ที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในบทนี้ก็คือ 'ความสุขุมคัมภีรภาพ' อย่างมี 'สติยั้งคิด' โดย 'ไม่แตกตื่นลนลาน' ต่ออุปสรรคขวากหนามใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงคับขัน (有險) หรือไม่ก็ตาม
來之坎坎險且枕入于坎窞勿用
lái zhī kǎn kǎn xiǎn qiě zhěn rù yǘ kǎn dàn wù yòng
枕 อ่านว่า zhěn (เจิ่น) แปลว่า 'หนุน', 'รองรับ', หรือแปลว่า 'หมอนหนุน' ก็ได้ ; ถ้าเป็นคำกริยาสามารถแปลว่า 'พักผ่อน', หรือ 'นอนหนุนหมอน' ; ถ้าใช้กับยานพาหนะจะหมายถึง 'กันชน' ; ถ้าใช้กับร่างกายก็หมายถึง 'หมอนรองกระดูก', 'ไขกระดูก', หรือ 'ข้อต่อ' ที่มีหน้าที่รับแรงกระแทกต่างๆ
ความหมายของวรรคนี้จะประมาณว่า 'เมื่อต้องเผชิญกับ (來之) อุปสรรคที่สลับซับซ้อน (坎坎 หรือเป็นปัญหาที่ซ้อนปัญหา) พึงเลือกที่จะประคับประคองประเด็นที่มีความล่อแหลมอันตราย (險且枕) อย่าให้ลุกลามจนใหญ่โต เพราะการติดอยู่ในบ่วง (入于) ของวังวนแห่งปัญหา (坎窞) ย่อมไม่อาจอาศัยเพียงความดันทุรัง (勿用) อย่างหักโหม' ... ดูๆ ไปก็คล้ายกับวรรคแรกที่เล่าไปแล้วนั่นแหละครับ เพราะในกรณีที่ปัญหาต่างๆ มีความสลับซับซ้อน การดันทุรังเพื่อที่จะแก้ปัญหาหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปยังปัญหาอื่นๆ ที่ยังค้างคาอยู่ จนกลายเป็น 'งูกินหาง' ที่วนเวียนอย่างไม่จบไม่สิ้นอยู่อย่างนั้น ... แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ผมเองก็มองว่านี่คือ 'เงาสะท้อน' ของวรรคที่สี่ในบทที่ห้าซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 需于血‧出自穴 (xü yǘ xüè chū zì xüé, ซฺวี ยฺวี๋ เซฺวี่ย ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) หรือ 'การรอคอยจังหวะ (需) ในสภาพการณ์ที่ปั่นป่วน และเต็มไปด้วยภยันตราย (血) นั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอากฎเหล็กมาใช้ควบคุมตัวเอง (出自穴 หมายถึง จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ) อย่างเคร่งครัด'
การนำวลีนี้ไปเทียบเคียงกับวรรคที่สี่ของบทที่ห้าถือว่ามีประเด็นที่น่าสนใจพอสมควร ... ประการแรกก็คือ บทที่ห้า และบทที่ยี่สิบเก้านี้ ต่างก็เป็น 'เงาสะท้อน' ให้กับวรรคที่สามของบทที่หนึ่งด้วยกันทั้งคู่ ... การที่มันจะส่งทอดความหมายถึงกันในบางแง่มุม ก็น่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดฝาผิดตัวอยู่แล้ว ... ;)
ประเด็นต่อมาก็คือวลีว่า 出自穴 (chū zì xüé, ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) ในวรรคดังกล่าว หลายตำรามักจะแปลกันว่า 'การออกจากถ้ำของตัวเอง' ในขณะที่ผมเลือก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การนำกรอบเกณฑ์มาบังคับใช้กับตัวเองอย่างเข้มงวด' นั้น ... หากเราเลือก 'ตีความ' ให้ 自 (zì, จื้อ) หมายถึง 'อัตตา' ซะ ความหมายของ 出自穴 (chū zì xüé, ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) ก็จะมีความหมายว่า 'การสลัดกรอบอันคับแคบของอัตตาทิ้งไป' ... ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกย้ำมาตั้งแต่วรรคแรกของบทนี้ว่า 'ความดื้อด้านเพราะการยึดติดอยู่กับอัตตาของตน' คือปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด 'วังวนแห่งปัญหาอันซับซ้อน' จนยากที่จะแก้ไข ... ความหมายของ 需于血‧出自穴 (xü yǘ xüè chū zì xüé, ซฺวี ยฺวี๋ เซฺวี่ย ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) ก็จะกลายเป็นว่า 'การรอคอยจังหวะในสถานการณ์ที่ปั่นป่วน และเต็มไปด้วยภยันตราย ต้องสลัดตัวเองให้พ้นจากกรอบอันคับแคบของอัตตา' ... ซึ่งมีผลให้ 勿用 (wù yòng, อู้ โยฺว่ง) ในวรรคนี้แฝงความหมายว่า 'อย่าใช้เงื่อนไขแห่งอัตตาเป็นที่ตั้ง' หรือ 'อย่าดันทุรัง' อย่างที่ 'ตีความ' เอาไว้ ... และจะสะท้อนกลับให้หมายถึง 'ความมีสติยั้งคิด' หรือ 'การยึดถือในกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นที่ตั้ง' อย่างที่เคย 'ตีความ' เอาไว้แล้วในบทที่ห้านั่นเอง
เมื่อเป็นอย่างนี้ซะแล้ว วลีที่ว่า 險且枕 (xiǎn qiě zhěn, เสี่ยน เฉี่ย เจิ่น) จึงมีความหมายว่า 'สำหรับประเด็นที่ล่อแหลมอันตราย (險) พึง (且) อาศัยการรองรับ (枕) ด้วยหลักการ (หรือประคับประคองอย่าให้ลุกลามจนใหญ่โต) ไม่ใช่เลือกการปะทะด้วยอารมณ์ที่ยึดติดในอัตตาซึ่งจะนำไปสู่วังวนแห่งปัญหา (入于坎窞) ที่ไร้ประโยชน์ (勿用) ใดๆ' ... เห็นปมที่ 'จิวกง' ผูกไขว้กันไปมาจนกลายเป็น 'ค่ายกลอักษร' นี่แล้วต้องอุทานว่า 'ซูฮก!!!' จริงๆ ล่ะครับ !?! ... :D
樽酒簋貳用缶納約自牖終無咎
zūn jiǔ guǐ èr yòng fǒu nà yuē zì yǒu zhōng wú jiù
樽 อ่านว่า zūn (จุน) แปลว่า 'ภาชนะสำหรับบรรจุเครื่องดื่ม' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จอก', 'ถ้วย' หรือ 'แก้วน้ำ' ก็ได้ แต่โดยปรกติจะหมายถึง 'จอกสุรา', หรือ 'แก้วเหล้า' มากกว่าที่จะหมายถึง 'เครื่องดื่ม' ชนิดอื่นๆ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การรินสุราใส่จอก' ; แต่ก็สามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 撙 (zǔn, จุ่น) ที่แปลว่า 'ประหยัด', 'มัธยัสถ์' ซึ่งคงจะแผลงมาจาก 'การรินสุราใส่จอก' เพื่อที่จะดื่มกินอย่างพอดีคำ
酒 อ่านว่า jiǔ (จิ่ว) แปลว่า 'สุรา' แต่ก็หมายถึง 'ยา' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การรินสุรา', 'การดื่มสุรา', 'การหมักสุรา', 'การปรุงสุรา', หรือ 'การปรุงยา' ; และยังสามารถใช้ในความหมายของ 'การบวงสรวงด้วยสุรา' ซึ่งทำให้บางครั้ง 酒 (jiǔ, จิ่ว) ยังแฝงความหมายของ 'จิตวิญญาณ' หรือ spirits อีกด้วย ; ในขณะเดียวกัน 酒 (jiǔ, จิ่ว) ก็ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'งานรื่นเริง' ซึ่งมักมีการ 'เลี้ยงฉลอง' ด้วย 'สุรา' เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
簋 อ่านว่า guǐ (กุ่ย) หมายถึง 'ตะกร้าหวาย', 'ภาชนะบรรจุอาหาร' หรือ 'ภาชนะบรรจุธัญพืช' ปรกติจะมีลักษณะคล้าย 'เข่ง' ใบใหญ่ๆ ซึ่งมักจะใช้ใน 'งานเทศกาล', 'การเซ่นไหว้' ต่างๆ
貳 อ่านว่า èr (เอ้อ) นี่คืออักษรตัวเต็มของ 二 (èr, เอ้อ) ที่แปลว่า 'สอง' ; แต่ความหมายอื่นๆ ของมันคือ 'ลำดับที่สอง' ที่แผลงไปเป็น 'อันดับรอง', 'ผู้ช่วย', หรือ 'ผู้ให้การสนับสนุน' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'การแยกย่อย', 'การแบ่งออก' ; แต่ก็แผลงไปเป็น 'ลังเล', 'สงสัย', หรือ 'สองจิตสองใจ' ไปเลยก็ได้
缶 อ่านว่า fǒu (โฝ่ว) หมายถึง 'คนโทน้ำ', 'คนโทสุรา' หรือ 'ภาชนะเครื่องดื่ม' ที่มีรูปร่างลักษณะแบบ 'คนโท' คือท้องใหญ่-ปากเล็ก ; แต่ก็อาจจะหมายถึง 'กรวย' ที่มีลักษณะรูปทรงก้นใหญ่-ปากเล็กก็น่าจะได้ ...
納 อ่านว่า nà (น่า) แปลว่า 'ยอมรับ', 'ได้รับ', 'รวบรวม' ; ในขณะเดียวกันก็สามารถหมายถึง 'การหยิบยื่น' ในลักษณะที่เป็น 'การยอมรับข้อเสนอ' ใน 'การแลกเปลี่ยนข้อตกลง' ได้ ; บางครั้งแปลว่า 'ปะ', 'ทำให้ติดกัน' ; อาจจะหมายถึง 'การคบหา' และหมายถึง 'การแต่งงาน' ก็ยังได้
約 อ่านว่า yuē (เยฺวีย) แปลว่า 'นัดแนะ', 'นัดหมาย', 'ข้อตกลง', 'ข้อผูกมัด' ; แต่บางครั้งก็อาจจะสื่อถึงความหมายของ 'ข้อจำกัด' ได้ด้วยเหมือนกัน
สำหรับ 自 (zì, จื้อ) นอกจากจะแปลว่า 'ตัวเอง' แล้ว มันยังสามารถแปลว่า 'จุดที่เริ่มต้น', 'จากจุดเริ่มต้น', 'เริ่มจาก', 'ตั้งแต่' ; 'แน่นอน' ; ถ้าใช้ในการเชื่อมประโยคจะแปลว่า 'สมมุติว่า', 'เสมือนว่า' ; ใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'
牖 อ่านว่า yǒu (โหฺย่ว) แปลว่า 'ช่องเปิด' หรือ 'หน้าต่าง' แต่โดยมากจะหมายถึง 'ช่องเปิด' บนกำแพงดิน หรือกำแพงปูน ; ถ้าเป็น 'ช่องหน้าต่าง' ทั่วๆ ไปตามบ้านเรือนมักจะเรียกว่า 窗 (chuāng, ฌวง)
ผมเลือก 'ตีความ' ถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ว่า 'การรินสุราใส่จอก (樽酒) หรือการตวงแบ่งธัญญาหารจากตะกร้า (簋貳) ล้วนต้องอาศัยภาชนะตวงที่ก้นใหญ่ปากเล็ก (用缶) เพื่อจะกำกับทิศทางและปริมาณให้มีความแน่นอน (納約) อันเป็นการใช้ประโยชน์จากช่องเปิดที่มีการควบคุม (自牖) จึงจะสำเร็จเสร็จสิ้น (終) โดยไม่เรี่ยราดเสียหาย (無咎)' ... เป็นภาพเปรียบเทียบของ 'ความไม่รีบร้อนผลีผลาม' ที่น่ารักมากๆ เลยนะครับเนี่ย !?!? ... :D
ต้องยอมรับเลยครับว่า 'อัจฉริยภาพทางภาษา' ของ 'จิวกง' นั้นลึกล้ำอลังการอย่างน่าทึ่งมาก เพราะการเลือก 'ภาพเปรียบเทียบ' ให้กับ 'ความมีระบบระเบียบ' (有孚), 'ความมีสติยั้งคิด' (維心), 'ความระมัดระวัง' (小得), และ 'การประคับประคอง' (枕) ได้อย่างพร้อมเพรียงกันทั้งหมดด้วยภาพของ 'ภาชนะพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน' อย่าง 'คนโท' หรือ 'กรวย' (缶) เพียงภาพเดียวนี้ คือสิ่งสะท้อนถึงความสร้างสรรค์ของผู้ที่ใส่ใจในรายละเอียดของการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง ... 'การรินสุราใส่จอก' ที่แม้ว่าเราจะสามารถเทออกมาจากไหสุราได้โดยตรง หรือ 'การแบ่งธัญญาหาร' ที่เราอาจจะคว่ำเข่งทั้งใบลงไปได้อย่างง่ายๆ นั้น ปริมาณของ 'ความเรี่ยราดเสียหาย' ที่เกิดขึ้นย่อมมากมายกว่า 'ผลลัพธ์ที่ต้องการ' อย่างชนิดที่เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ... 'ความรีบร้อนผลีผลาม' ในสถานการณ์ที่ 'ล่อแหลม' และมี 'ความเสี่ยง' (險) ต่อ 'ความผิดพลาดเสียหาย' จึงมักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ดุจเดียวกัน โดย 'ความเร่งร้อนอย่างไร้สติ' ที่จะแก้ปัญหาหนึ่งๆ มักจะชักนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ จนกลายเป็น 'วังวนแห่งปัญหา' (坎窞) ที่แก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ... การที่ 'จิวกง' เชื่อมโยงความหมายของ 'คู่วลี' อย่างวรรคที่สาม และวรรคที่สี่เข้าด้วยกันในลักษณะที่เล่าไว้นี้ คงต้องขออุทานว่า 'ซูฮก!!!' ให้อีกซักทีจะดีกว่ามั้งเนี่ยะ ??!!?? ... :D
坎不盈祗既平無咎
kǎn bù yíng zhī jì píng wú jiù
盈 อ่านว่า yíng (อิ๋ง) แปลว่า 'เต็มปรี่', 'มากมาย', 'เพียงพอ (อย่างเหลือเฟือ)', บางครั้งจึงแปลว่า 'เพิ่มขึ้น', 'งอกเงย' หรือ 'พอกพูน'
祗 อ่านว่า zhī (จือ) แปลว่า 'ให้ความเคารพ', 'แสดงความนับถือ', 'นับถือ', 'ชื่นชม' ; และสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 祇 (zhǐ, จื่อ) ที่แปลว่า 'เที่ยงตรง', 'ซื่อสัตย์', 'ยุติธรรม', หรือแปลว่า 'เฉพาะเจาะจง' ก็ได้ด้วย
既 อ่านว่า jì (จี้) แปลว่า 'เสร็จสิ้น', 'จบสมบูรณ์', 'สิ้นสุด', 'ผลสรุป', 'ผลลัพธ์', หรือ 'หยุด' ; หากใช้กับดวงดาวก็จะหมายถึง 'ดับ', หรือ 'สูญสิ้น'
平 อ่านว่า píng (พิ๋ง) แปลว่า 'ราบ', 'เรียบ', 'สงบ', 'สม่ำเสมอ', 'เป็นปรกติธรรมดา', 'เท่าเทียม', 'ทัดเทียม' ; ซึ่งก็สามารถหมายถึง 'ทำให้ราบ', 'ทำให้เรียบ', 'ทำให้เป็นปรกติสุข', 'ทำเป็นกิจวัตร' ก็ได้
วรรคนี้ถ้าจะแปลกันดื้อๆ ก็คงจะได้ใจความว่า 'หลุมบ่อที่ยังไม่เต็ม (坎不盈) ก็ปรับแต่งให้มันเรียบร้อยเสมอกันซะ (祗既平) ก็จะไม่ใช่ปัญหาอะไรอีกต่อไปแล้วล่ะ (無咎)' ... :D ... แต่ผมกลับมีความรู้สึกว่า 'จิวกง' กำลังพยายามจะสอนอะไรบางอย่างจากวลีสั้นๆ ที่ว่านี้ ...
ความจริงแล้ววลีที่ว่า 坎不盈 (kǎn bù yíng, ขั่น ปู้ อิ๋ง) อาจจะมีความหมายว่า 'หลุมบ่อที่ยังไม่ถูกถมจนเต็ม' ก็คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอะไร ... แต่หากเรามองในอีกมุมหนึ่ง 'จิวกง' อาจจะกำลังบอกกับพวกเราว่า 'เพราะความที่มันยังไม่เต็มนั้นต่างหาก มันจึงได้กลายเป็นหลุมเป็นบ่อขึ้นมา' ... เช่นเดียวกับปัญหา หรืออุปสรรคทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเพราะยังมีความบกพร่องบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ ... 'ความโง่เขลา' จึงไม่ใช่มูลเหตุของ 'ความไม่รู้' ... แต่เป็นเพราะ 'ความไม่รู้' ต่างหากที่ก่อให้เกิด 'ความโง่เขลา' ... นี่คือสัจธรรมที่บ่อยครั้งมักจะถูกมองข้ามไป และทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างไม่ได้รับการแก้ไขที่ 'ต้นเหตุ' แต่กลับมุ่งเน้นอยู่กับการกำจัด 'ตัวปัญหา' อันเป็น 'ปลายเหตุ' ให้พ้นๆ ทางออกไปเท่านั้น !!?
ความหมายที่อาจจะซุกซ่อนอยู่ในวลีสั้นๆ ที่ว่านี้ก็คือ 'อุปสรรคใดๆ (坎) ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุแห่งความบกพร่อง (不盈 ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข) ความเอาใจใส่ (祗 คือให้ความสำคัญ) ที่จะหยิบยกเหตุแห่งปัญหาขึ้นมาพิจารณา เพื่อจะดำเนินการให้ลุล่วงไปด้วยดี (既平) จึงเป็นการขจัดปัดเป่าปัญหาให้หมดสิ้นไป (無咎) อย่างแท้จริง' ... เพราะโดยปรกติแล้ว 'ปลายเหตุแห่งปัญหา' ก็คือสิ่งที่สามารถรับรู้และสัมผัสได้โดยตรง เช่นเดียวกับเหล่าวัชพืชที่ล้วนมีรากเหง้าที่ฝังลึกอยู่ใต้ดิน การแก้ไขใดๆ ที่มิได้ลงลึกไปถึง 'ต้นเหตุแห่งปัญหา' จะช้าหรือเร็วก็ต้องวนเวียนกลับมาแก้ไขปัญหาเดิมๆ นั้นอยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด ... อย่างไรก็ตาม 'การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ' ย่อมปรากฏเป็นผลงานให้ผู้คนได้รับรู้และชื่นชม ในขณะที่ 'การระงับเหตุแห่งปัญหา' กลับไม่ใช่สิ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใด ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นสิ่งที่ต้องได้รับยกย่องเทิดทูน (祗) มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถขจัด 'เหตุแห่งปัญหา' อย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วย 'ความระมัดระวัง' ... 求小得 (qiú xiǎo dé, ชิ๋ว เสี่ยว เต๋อ) ในวรรคที่สองจึงซ่อนความหมายไว้ 2 ประเด็น ... ประเด็นแรกคือ 'ต้องอาศัย (求) ความระมัดระวัง (小 คือ 小心) อย่างถึงขนาด (得)' ... ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือ 'ผลลัพธ์ที่ได้ (求) มักจะถูกมองว่าเป็นผลงานที่เล็กน้อย (小得) เท่านั้น' เพราะเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนจึงจะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ !!??!! ...
ถ้อยคำที่ 'จิวกง' เลือกมาใช้ยังมีประเด็นให้น่าคิดต่อไปด้วยว่า 祗既平 (zhī jì píng, จือ จี้ พิ๋ง) นั้นได้ซุกซ่อนความหมายว่า 'สิ่งที่น่ายกย่องชื่นชม (祗) ก็คือการทำให้ทุกอย่างสงบราบคาบโดยสมบูรณ์ (既平)' ซึ่งเป็นการสะท้อนความหมายที่เล่าไปในย่อหน้าก่อน ... แต่คำว่า 祗 (zhī, จือ) ยังสะท้อนนัยสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ 'การให้ความเคารพต่อปัญหา' ??!! ... จริงอยู่ที่มันอาจจะฟังดูทะแม่งๆ ไปซักหน่อย ... ;) ... แต่หากว่าเรามีความรู้สึกที่ 'ดูหมื่นดูแคลน' ต่อปัญหาหรืออุปสรรคหนึ่งๆ ย่อมมีผลให้เราไม่คิดที่จะพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบด้าน อันจะนำไปสู่ 'ความประมาท' ... ซึ่งอาจจะส่งผลให้เราละเลยไม่สนใจกับมัน, หรืออาจจะตัดสินใจผิดพลาดจนก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา, หรืออาจจะทำให้ปัญหาเดิมลุกลามใหญ่โตจนยากที่จะแก้ไข, ฯลฯ ... เหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจาก 'ความไม่เคารพในปัญหาที่มีอยู่' ทั้งสิ้น ... ผมจึงเลือก 'ถอดความ' ให้ 祗既平 (zhī jì píng, จือ จี้ พิ๋ง) หมายถึง 'ความเอาใจใส่ (祗) ที่จะหยิบยกเหตุแห่งปัญหาขึ้นมาพิจารณา เพื่อจะดำเนินการให้ลุล่วงไปด้วยดี (既平)' ไว้ตั้งแต่แรก ;)
遯用徽纆置于叢棘三歲不得凶
dùn yòng huī mò zhì yǘ cóng jí sān suì bù dé xiōng
遯 อ่านว่า dùn (ตุ้น) แปลว่า 'อำพราง', 'หลบหนี', 'ซุกซ่อน', และอาจจะหมายถึง 'กลบเกลื่อน', 'ไม่เปิดเผย' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ความลับ', 'ลับลมคมใน', หรือ 'หลบๆ ซ่อนๆ'
徽 อ่านว่า huī (ฮุย) แปลว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย' ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็น 'แถบผ้า' หรือ 'ธง' ที่ใช้เป็น 'สัญลักษณ์' แทนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ; อักษร 徽 (huī, ฮุย) มีที่มาจากภาพของ 'เส้นใยที่ถักทอเข้าด้วยกัน' บางครั้งมันจึงแปลว่า 'เหนียวแน่น', 'นิ่งสงบ' ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'หรูหรา', 'งดงาม', ได้ด้วย
纆 อ่านว่า mò (ม่อ) แปลว่า 'ผูก', 'มัด', หรือ 'เชือก (เกลียว)' ที่ใช้ใน 'การผูก' หรือ 'การมัด' ; บางครั้งแปลว่า 'ข้อบังคับ', 'กฎระเบียบ', หรือ 'เงื่อนไข'
置 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'สวม', 'ใส่', 'ติดตั้ง' หรือ 'จัดวางให้เข้าที่'
叢 อ่านว่า cóng (ช๋ง) แปลว่า 'รวมรวม', 'ชุมนุม', 'แน่นหนา', อาจจะหมายถึง 'ดก', 'ดง', หรือ 'ดาษดื่น' ก็ได้
棘 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'หนามแหลม', หรือ 'ขวากหนาม'
歲 อ่านว่า suì (ซุ่ย) ปรกติจะแปลว่า 'ขวบ', 'ปี' แต่ก็สามารถใช้ในความหมายว่า 'ช่วงเวลา', 'ยุคสมัย' ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 'หนึ่งปี' ได้เหมือนกัน ; ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถแปลว่า 'ฤดูกาล', หรือ 'การเพาะปลูก' ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมประจำปีของเกษตรกรโดยทั่วไป หรืออาจจะหมายถึง 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' ก็ได้ ... สำหรับวลีว่า 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) นี้ เราเคยเจอกันมาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สามของบทที่สิบสาม ซึ่งผมให้ความหมายในลักษณะของ 'การพยายามหว่านเพาะ' โดยไม่ได้นำความหมายที่เกี่ยวกับ 'จำนวนปี' ของ 歲 (suì, ซุ่ย) มาเกี่ยวข้องเลย ... และเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะใช้ในความหมายเดิมนั้นอีกครั้งหนึ่งในบทนี้
ความหมายเท่าที่เห็นตามถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ก็คือ 'การกลบเกลื่อน (遯) ปัญหาไว้โดยอาศัย (用) เงื่อนไขอันวิจิตรพิสดาร (徽纆) ย่อมไม่ต่างจากการพัวพัน (置) เข้าไป (于) อยู่ในดงแห่งขวากหนาม (叢棘) ที่ต่อให้พยายามฟันฝ่า (三歲) อย่างไรก็ล้วนไม่เป็นผล (不得) นอกจากความปั่นป่วนวุ่ยวายอย่างเลวร้าย (凶) เท่านั้น' ... นี่ก็คือความหมายของ 入于坎窞 (rù yǘ kǎn dàn, ญู่ ยฺวี๋ ขั่น ตั้น) ที่เราเห็นกันมาตั้งแต่วรรคที่หนึ่งนั่นแหละ แต่ได้รับการขยายความด้วย 'ภาพเปรียบเทียบ' ของ 'การกลบเกลื่อนปัญหาหนึ่ง' ด้วย 'การสร้างอีกปัญหาหนึ่ง' ขึ้นมาเพื่อหลอกล่อความสนใจของผู้คนไปเรื่อยๆ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะมีแต่ 'ปัญหาที่พัวพันกันอย่างยุ่งเหยิง' (叢棘) และต่อให้ดิ้นรนอย่างสาหัสสากรรจ์ (三歲) เพียงใดก็ไม่สามารถฟันฝ่าออกไปได้ (不得) ... ชัดเจนมากเลยมั้ยล่ะ ?!
ดังนั้น 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเลือกที่จะมุ่งมั่นบากบั่น โดยอาศัยความวิริยะอุตสาหะเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) ด้วยความไม่ประมาท รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … เยี่ยงนี้เท่านั้นจึงจะไม่เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... การโยงความหมายระหว่างบทที่ยี่สิบเก้า กับวรรคที่สามของบทที่หนึ่งจึงสำเร็จสมบูรณ์ลงด้วยประการทั้งปวง ... ฉะนี้ ... แล ... :D
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'ขั่น' คือ การเผชิญอุปสรรค, กระแสธารไหลเลื่อนในหุบห้วย
'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'เผชิญกับอุปสรรค' ย่อมต้องประกอบด้วย 'ระเบียบแบบแผน' ที่ 'พรั่งพร้อม' มีจิตใจที่ 'หนักแน่นมั่นคง' ด้วย 'สติปัญญา' ที่ 'ตระหนักรู้' และ 'เข้าใจ' จึงจะสามารถ 'พัฒนา' ให้มี 'ความคืบหน้า' ... 'การดำเนินงาน' ทุกประการ ย่อมต้องมี 'วิถีทางที่เหมาะสม' และ 'เป็นไปได้' สำหรับทุกๆ ปัญหาเสมอ
- 'การดิ้นรน' เพื่อ 'ฟันฝ่าอุปสรรค' ใดๆ หากยิ่ง 'ดิ้นรน' ก็ยิ่ง 'ถลำลึก' เข้าไปสู่ 'วังวนแห่งอุปสรรค' อย่างไม่รู้จบ ย่อมเป็นเรื่องที่ 'เลวร้ายอย่างมหันต์'
- 'การเผชิญอุปสรรค' ที่มี 'ความคับขันอันตราย' และ 'เสี่ยงต่อความผิดพลาด' จำเป็นต้อง 'ดำเนินการ' อย่าง 'ค่อยไปค่อยไป' ด้วย 'ความระมัดระวัง'
- เมื่อต้อง 'เผชิญกับอุปสรรค' ที่ 'สลับซับซ้อน' พึงเลือกที่จะ 'ประคับประคอง' ประเด็นที่มี 'ความล่อแหลมอันตราย' อย่าให้ 'ลุกลาม' จนใหญ่โต เพราะ การติดอยู่ในบ่วงของ 'วังวนแห่งปัญหา' ย่อมไม่อาจอาศัยเพียง 'ความดันทุรัง' อย่าง 'หักโหม'
- 'การรินสุราใส่จอก' หรือ 'การตวงแบ่งธัญญาหารจากตะกร้า' ล้วนต้องอาศัย 'ภาชนะตวง' ที่ก้นใหญ่ปากเล็ก เพื่อจะ 'กำกับทิศทาง' และ 'จำกัดปริมาณ' ให้มี 'ความแน่นอน' อันเป็น 'การใช้ประโยชน์' จาก 'ช่องเปิด' ที่มี 'การควบคุม' จึงจะ 'สำเร็จเสร็จสิ้น' โดย 'ไม่เรี่ยราดเสียหาย'
- 'อุปสรรค' ใดๆ ย่อมเกิดขึ้นเพราะมี 'สาเหตุแห่งความบกพร่อง' ที่ยังไม่ได้รับ 'การเยียวยาแก้ไข' ... 'ความเอาใจใส่' ที่จะหยิบยก 'เหตุแห่งปัญหา' ขึ้นมา 'พิจารณา' เพื่อจะ 'ดำเนินการ' ให้ 'ลุล่วงไปด้วยดี' จึงเป็น 'การขจัดปัดเป่าปัญหา' ให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง
- 'การกลบเกลื่อน' ปัญหาไว้โดยอาศัย 'เงื่อนไขอันวิจิตรพิสดาร' ย่อมไม่ต่างจาก 'การพัวพัน' เข้าไปอยู่ใน 'ดงแห่งขวากหนาม' ที่ต่อให้ 'พยายามฟันฝ่า' อย่างไรก็ล้วนไม่เป็นผล นอกจาก 'ความปั่นป่วนวุ่ยวายอย่างเลวร้าย' เท่านั้น
The Organization Code :
'การเผชิญอุปสรรค' คือการขับเคลื่อน 'บุคลากร' (☵) เพื่อฟันฝ่า 'เส้นทางที่ไม่ราบเรียบ' (☵) ; 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' และมี 'ความเด็ดขาดชัดเจน' (⚎) ; 'การบริหารงาน' ต้อง 'สุขุมเยือกเย็น' และ 'เปิดกว้าง' ให้กับทางเลือกต่างๆ อย่างเหมาะสม (⚏) ; 'การปฏิบัติงาน' ต้องมี 'ความคงเส้นคงวา' อย่าง 'เข้มแข็ง' (⚍)
'การดำเนินงาน' ทุกประการล้วนมีโอกาสที่ต้องประสบกับ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ ได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็ว และจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปเท่านั้น ที่สำคัญจึงอยู่ที่ 'การเตรียมการ' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' และต้อง 'ดำเนินการ' ด้วยจิตใจที่ 'แน่วแน่มั่นคง' อันประกอบด้วย 'สติปัญญา' ที่ 'ตระหนักรู้' และ 'เข้าใจ' จึงจะสามารถ 'พัฒนา' ให้มี 'ความก้าวหน้า' ... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมี 'ความประจักษ์แจ้ง' อยู่เสมอว่า ทุกๆ ปัญหาล้วนมี 'วิถีทาง' ที่สามารถ 'จัดการแก้ไข' ได้มากกว่าหนึ่งวิธีเสมอ จึงไม่ควร 'ยึดติด' อยู่กับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง 'อย่างตายตัว' เพียงเพราะ 'ความหลง' ใน 'ทิฎฐิมานะ' ต่อ 'อัตตา' อัน 'ไร้แก่นสาร' แต่จะต้องพิจารณาปัญหาหนึ่งๆ 'อย่างรอบด้าน' เพื่อจะกำหนด 'วิถีทาง' ใน 'การจัดการแก้ไข' ได้ 'อย่างเหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' ของสภาพแห่งปัญหาที่กำลังประสบเหล่านั้น
- 'การเผชิญกับปัญหา' ใดๆ หากกระทำการลงไปอย่าง 'ไร้สติยั้งคิด' หรือ 'ไม่ยอมทบทวน' แนวทางใน 'การดำเนินงาน' อย่าง 'รอบด้าน' โดยมุ่งหวังที่จะ ประสบกับ 'ความสำเร็จ' โดยอาศัยเพียง 'ความดันทุรัง' เป็นที่ตั้ง ย่อมเป็นพฤติกรรมที่ 'สุ่มเสี่ยง' ต่อ 'ความฉิบหายล่มจม'
- 'การเผชิญอุปสรรค' ที่มี 'ความคับขันอันตราย' และ 'เสี่ยงต่อความผิดพลาด' จำเป็นต้อง 'ดำเนินการ' อย่าง 'ค่อยไปค่อยไป' ด้วย 'ความระมัดระวัง' ... แม้ว่าจะปรากฏเป็น 'ผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย' แต่ก็ต้องถือว่าเป็น 'การป้องปราม' มิให้ปัญหาหนึ่งๆ 'ลุกลาม' จนยากที่จะแก้ไข
- เมื่อต้อง 'เผชิญกับอุปสรรค' ที่ 'สลับซับซ้อน' พึงต้อง 'ยึดถือ' ใน 'หลักปฏิบัติ' อย่าง 'เคร่งครัด' เพื่อจะ 'ประคับประคอง' ประเด็นที่มี 'ความล่อแหลมอันตราย' มิให้ 'ลุกลาม' จนกลายเป็น 'วังวนแห่งปัญหา' ที่ยากต่อ 'การแก้ไข' ... ทั้งยังไม่อาจอาศัยเพียง 'ความดันทุรัง' อย่าง 'ชั่วแล่น' เพื่อ 'ปะทะกับปัญหาอันซับซ้อน' เหล่านั้น 'อย่างหักโหม'
- 'ความระมัดระวัง' ใน 'การดำเนินการ' ย่อมเปรียบเสมือน 'การรินสุราใส่จอก' หรือ 'การแบ่งธัญญาหารจากตะกร้า' ที่ล้วนต้องอาศัย 'ภาชนะตวง' เพื่อ 'กำกับทิศทาง' และ 'จำกัดปริมาณ' ให้มี 'ความพอเหมาะ' แก่ 'ภาระกิจที่ต้องการ' โดยไม่ก่อให้เกิด 'ความยุ่งยากเสียหาย' แก่ 'การดำเนิน' ในแต่ละขั้นตอนต่อๆ ไป
- 'อุปสรรค' ใดๆ ย่อมเกิดขึ้นเพราะมี 'สาเหตุแห่งความบกพร่อง' ที่ยังไม่ได้รับ 'การเยียวยาแก้ไข' ... 'การให้ความสำคัญ' และ 'การยอมรับ' ใน 'เหตุแห่งปัญหา' ย่อมนำไปสู่ 'ทัศนคติ' ที่พร้อมจะพิจารณา 'ปัญหา' หนึ่งๆ 'อย่างรอบด้าน' เพื่อจะสานสร้าง 'ความสงบเรียบร้อย' ให้บังเกิดขึ้นอย่าง 'ยั่งยืน'
- 'การกลบเกลื่อน' ปัญหาไว้ภายใต้ 'เงื่อนไข' ที่ไขว้โยงกันไปมาอย่าง 'สลับซับซ้อน' ย่อมไม่ต่างจาก 'การสกัดกั้นปัญหา' ด้วย 'การปิดกั้นทางออก' จนกลายเป็น 'ค่ายกล' อัน 'ละลานตา' จนยากที่จะ 'เดินหน้า' หรือ 'ถอยกลับ' ... หรือคล้ายกับ 'การพัวพัน' เข้าไปอยู่ใน 'ดงแห่งขวากหนาม' ที่ทุกย่างก้าวล้วนไม่อาจหลีกหนี 'ความเจ็บปวดอย่างเลวร้าย'
หากพิจารณาในแง่ของ 'การตีความ' ตาม 'ตำราหมอดู' แล้ว บทที่ว่าด้วย 坎 (kǎn, ขั่น) นี้น่าจะถือเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหา' เพราะ 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 坎 (☵: kǎn, ขั่น) ถูกกำหนดให้มีความหมายสื่อไปในทิศทางดังกล่าวมาตั้งแต่แรก ... และเมื่อถูกนำมาเรียงซ้อนกันเป็น ䷜ อันเป็น 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ของบทที่ยี่สิบเก้า มันจึงสะท้อนความหมายของ 'ปัญหาซ้อนปัญหา' หรือ 'อุปสรรคซ้อนอุปสรรค' ซึ่งก็คือสถานการณ์ที่ 'ล่อแหลมอันตรายเป็นอย่างยิ่ง' นั่นเอง ... แต่ด้วย 'ทัศนคติอันเปิดกว้าง' ของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ที่เลือกพิจารณาในแง่มุมของ 'เหตุแห่งปัญหา' มากกว่าที่จะมัว 'หมดอาลัยตายอยาก' ไปกับ 'ความยุ่งยากซับซ้อนของสถานการณ์' จึงปรากฏเป็นถ้อยคำแห่ง 'ข้อคิด' ที่น่าสนใจมากๆ อีกบทหนึ่งขึ้นมา
King Wen นั้นถึงกับเลือกถ้อยคำที่แทบจะเป็นอมตะว่า 'ทุกปัญหาล้วนมีทางออก' ด้วยการนำเสนอถ้อยคำว่า 行有尚 (xíng yǒu shàng, ซิ๋ง โหฺย่ว ษั้ง) หรือ 'การดำเนินงานทุกประการล้วนมีทางเลือกที่มากกว่าหนึ่งทางเสมอ' ซึ่งเป็น 'ทัศนคติ' ที่แสดงถึง 'ความมุ่งมั่น' ใน 'การประกอบภาระกิจ' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ต่อให้มี 'ปัญหารุมเร้า' มากมายเพียงใดก็ตาม เพราะถึงอย่างไรก็จะไม่ใช่มีเพียง 'ทางตัน' เท่านั้นที่ให้เลือกเดิน ...
ส่วน 'จิวกง' นั้นก็ให้ 'ข้อคิด' ในลักษณะที่ว่า 'ปัญหาใดๆ ที่แม้ว่าจะคับขันอันตราย แต่ย่อมมีวิธีการที่จะแก้ไขเสมอ เพียงแต่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ และดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่เหมาะสม' (坎有險求小得) เช่นเดียวกับ 'การรินสุราใส่จอก' หรือ 'การแบ่งธัญญาหารจากตะกร้า' ที่ล้วนต้องอาศัย 'การกำกับทิศทาง' และ 'การจำกัดปริมาณ' ให้พอเหมาะแก่ลักษณะของภาชนะที่จะใช้ ... รวมทั้งยังแนะนำให้ 'เผชิญกับปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' ต่างๆ อย่าง 'ตรงไปตรงมา' เพื่อจัดการกับ 'สาเหตุแห่งปัญหา' ไม่ใช่มัวคิดวกคิดวนอยู่กับ 'การกลบเกลื่อนปัญหา' ที่ 'ปลายเหตุ' ด้วย 'เงื่อนไขสัพเพเหระ' ((遯用徽纆) ที่ 'ไขว้โยงกันอย่างยุ่งเหยิง' (置于叢棘) จนยากจะแก้ไข (三歲不得) ในภายหลัง
'อุปสรรคขวากหนาม' ที่มักจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความโชคร้าย' นั้น หากเราเลือกที่จะเผชิญกับมันด้วย 'ทัศนคติที่ถูกต้อง' ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ใครควรจะต้อง 'หลีกหนี' ด้วย 'ความเกรงกลัว' หรือพยายาม 'กลบเกลื่อน' ให้เกิด 'ความวุ่นวาย' ในระยะยาว ... เพราะแท้ที่จริงแล้ว 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' ใดๆ ย่อมเป็นเสมือนหนึ่ง 'บทเรียน' และ 'แบบฝึกหัด' เพื่อ 'เสริมสร้าง' ให้บุคคลผู้หนึ่งมี 'ความเจริญเติบโต' ทั้งในด้าน 'ทักษะ' และ 'วุฒิภาวะ' อย่างสมวัยเสมอ ... ซึ่งหากจะ 'ตีความ' ด้วยรูปแบบของ The Organization Code ที่จัดให้ 坎 (☵: kǎn, ขั่น) หมายถึง 'บุคลากร' หรือ 'คน' ความหมายของ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่เห็นนี้ (䷜) ย่อมสื่อความหมายว่า 'บุคคลใดที่สามารถเผชิญกับปัญหาอันสลับซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ย่อมเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพ และความสามารถแห่งความเป็นคนเหนือคนของบุคคลผู้นั้น' นั่นเอง ... ;)