Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第二十七卦 : 頤

頤 : 山雷頤 ‧ 艮上震下

頤 : 貞吉‧觀頤‧自求口實‧

  • 初九 ‧ 舍爾靈龜‧觀我朵頤‧凶‧
  • 六二 ‧ 顛頤‧拂經‧于丘頤‧征凶‧
  • 六三 ‧ 拂頤‧貞凶‧十年勿用‧無攸利‧
  • 六四 ‧ 顛頤吉‧虎視眈眈‧其欲逐逐‧無咎‧
  • 六五 ‧ 拂經‧居貞吉‧不可涉大川‧
  • 上九 ‧ 由頤‧厲吉‧利涉大川‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กำลังกาย ผ่อนพัก (⚎), ปัญญา สงบมั่นคง (⚏), จิตใจ สดชื่น (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : ภายในมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง (☳) ภายนอกแสดงออกอย่างหนักแน่น และมั่นคง (☶)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การหล่อเลี้ยง, ครืนครั่นใต้ขุนเขา



ความหมายของชื่อเรียก : Nourishing : การหล่อเลี้ยง


頤 อ่านว่า yí (อี๋) มาจากการผสม 'ภาพอักษร' ซึ่งแสดงลักษณะของ 'ปากที่กำลังเคี้ยวอาหาร' (臣) อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนด้านขวาคืออักษร 頁 (xié, เซี๋ย) ซึ่งเป็นการผสมอักษร 首 (shǒu) ที่แปลว่า 'หัว' กับ 人 (rén, เญิ๋น) ที่แปลว่า 'คน' เข้าด้วยกัน ... 頁 (xié, เซี๋ย) จึงเป็นอีกคำหนึ่งที่สามารถใช้แทนความหมายของ 'คน' เพราะมันหมายถึง 'หัวคน', หรือ 'ใบหน้าของคน' แต่ปัจจุบันอ่านว่า yè (เยี่ย) แปลว่า 'หน้า', 'แผ่น', หรือ 'ใบ' ซึ่งไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับคนอีกแล้ว ... จากการผสม 'ภาพอักษร' ดังกล่าว 頤 (yí, อี๋) จึงมีความหมายดั้งเดิมว่า 'คนที่กำลังกินอาหาร' แล้วจึงค่อยๆ แผลงมาเป็น 'ขากรรไกร' หรือ jaws ในปัจจุบัน ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'หล่อเลี้ยง', 'เลี้ยงดู', 'ปกป้องดูแล', หรือ 'ทำให้แข็งแรง' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'การห่อหุ้มไว้ด้วยปาก' ตามความหมายดั้งเดิมของมัน

คำที่น่าจะใกล้เคียงกับความหมายของ 頤 (yí, อี๋) มากที่สุดก็คือ Nourishing หรือ 'การหล่อเลี้ยง' ซึ่งทุกตำราแปลไว้ไม่แตกต่างกันมากนัก และผมเองก็มองว่ามันมีความเหมาะสมในทุกๆ กรณีเมื่อเราจะนำบทนี้ย้อนกลับไปเทียบเคียงกับบทที่สาม (屯, การก่อตัว) และบทที่สิบห้า (謙, ความอ่อนน้อม) ซึ่งเป็นบทที่คาบเกี่ยวกับความหมายของวรรคที่หนึ่งในบทที่หนึ่งว่า 潛龍勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) อันหมายถึง 'การไม่โอ่อวดศักยภาพของตน' หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ 'การหล่อเลี้ยงและถนอมรักษากำลังไว้ จนกว่าจะถึงกาละ-เทศะที่เหมาะสม' นั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว การที่ King Wen เลือกเอาคำว่า 頤 (yí, อี๋) มาเป็น 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' นี้ ก็น่าจะมีเหตุผลมาจากรูปร่างของ 'ภาพสัญลักษณ์' โดยตรง เพราะเราจะเห็น 'เส้นหยาง' 2 เส้นห่อหุ้ม 'เส้นหยิน' ทั้ง 4 เส้นเอาไว้ตรงกลาง คล้ายกับเป็น 'การฟูมฟัก' เพื่อ 'หล่อเลี้ยง' พลังเหล่านั้นให้ 'เข้มแข็ง' กว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่จะเผยตัวออกให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกผู้คนใน 'กาละ-เทศะ' ที่ 'เอื้ออำนวย' ต่อไป



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
貞吉觀頤自求口實
zhēn jí guān yí zì qiú kǒu shí
จิน จี๋ กวน อี๋ จื้อ ชิ๋ว โข่ว ซื๋


จริงๆ ก็ดูเหมือนไม่มีคำไหนยากเลยนะครับ แต่ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในคำง่ายๆ กลับต้องตรวจสอบอย่างละเอียดซะงั้น ... :P

觀 (guān, กวน) เคยเล่าอย่างละเอียดไปแล้วเมื่อตอนที่มันถูกใช้เป็น 'ชื่อบท' ของบทที่ยี่สิบ ซึ่งมีความหมายว่า 'การมองภาพกว้างๆ', 'การเฝ้าสังเกต', 'การเฝ้าระวัง' และแผลงเป็น 'ความเอาใจใส่' ได้ด้วย

自 (zì, จื้อ) ปรกติจะเห็นการใช้ในความหมายว่า 'ตัวเอง' ; แต่คำนี้สามารถแปลว่า 'จุดเริ่มต้น', 'ดั้งเดิม', 'เริ่มต้นจาก', 'เริ่มตั้งแต่' ; ซึ่งทำให้มันสามารถแปลว่า 'จุดที่แน่นอน' หรือ 'แน่นอน'

求 อ่านว่า qiú (ชิ๋ว) แปลว่า 'เสาะหา', 'ค้นหา', หรือ 'ร้องขอ' เพื่อให้ได้รับในสิ่งที่ยังไม่มี หรือยังไม่เกิดขึ้น ; บางครั้งจึงมีความหมายว่า 'ดั้นด้น', 'พยายาม' หรือ 'ไขว่คว้า' ก็ยังได้

口 (kǒu, โข่ว) เป็นคำพื้นๆ ที่แปลว่า 'ปาก' ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 'ปากคน', 'ปากทาง' หรือ 'ช่องเปิด' ใดๆ ก็ได้ ; แต่ 口 (kǒu, โข่ว) ในสมัยหนึ่งจะสามารถใช้เป็นหน่วยนับของ 'ประชากร', ดังนั้นมันจึงสามารถหมายถึง 'คน' หรือ 'มนุษย์' ได้ด้วย

實 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ปรกติแปลว่า 'ถ่องแท้', 'ความจริง', 'ความซื่อสัตย์', และ 'ความถูกต้อง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมตาม 'รากศัพท์' ของมันจะหมายถึง 'ความมั่งคั่ง' เพราะเป็นการผสมอักษร 貫 (guàn, ก้วน) ที่แปลว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ' กับ 宀 (mián, เมี๋ยน) ที่หมายถึง 'บ้าน' เข้าด้วยกัน ... 實 (shí, ซื๋อ) จึงหมายถึง 'ผลลัพธ์แห่งความเป็นระบบระเบียบ' นั่นก็คือที่มาของ 'ความถูกต้อง' ที่มันถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน ; นอกจากนั้นแล้ว 實 (shí, ซื๋อ) ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'ผลผลิต' ที่ได้จากพืชพรรณต่างๆ หรือใช้ในความหมายของ 'เมล็ดพันธุ์ของพืช' ที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกก็ยังได้ ซึ่งก็คงจะแผลงกันไปๆ มาๆ ระหว่าง 'ผลลัพธ์' กับ 'แก่นแท้' หรือ 'ความสัตย์จริง' นั่นเอง

ความหมายโดยรวมของวรรคนี้น่าจะประมาณว่า 'คุณธรรม (貞) ความดี (吉) คือสิ่งที่จะต้องได้รับการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่ (觀頤) โดยถือเป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัว (自) ที่จะต้องขวนขวายไขว่คว้า (求) เพื่อการหล่อเลี้ยงอุดมธรรม (口實) เหล่านั้นด้วยตนเอง'

ความจริงแล้ววลีที่ว่า 自求口實 (zì qiú kǒu shí, จื้อ ชิ๋ว โข่ว ซื๋อ) ที่หมายถึง 'การขวนขวายหาสัจธรรมมาหล่อเลี้ยงตนเอง' นี้ทำให้นึกย้อนไปถึงวลีสำคัญของบทที่สี่ว่า 亨‧匪我求童蒙‧童蒙求我 (hēng . fěi wǒ qiú tóng méng . tóng méng qiú wǒ, เฮิง . เฝ่ย หฺว่อ ชิ๋ว ท๋ง เมื๋ง . ท๋ง เมิ๋ง ชิ๋ว หฺว่อ) ซึ่งผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความรู้ และความเข้าใจ ล้วนมิใช่ฝ่ายที่เรียกร้องให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับเอาไว้ หากแต่เป็นผู้ฝักใฝ่ในความรู้นั้นต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่ายร้องหา และไขว่คว้ามาด้วยตนเอง' ... และพ้องกับความหมายในวรรคที่สองของบทที่หนึ่งว่า 見龍再田‧利見大人 (jiàn lóng zài tián . lì jiàn dà rén, เจี้ยน ล๋ง ไจ้ เที๋ยน . ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) อันหมายถึง 'ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น ความอุตสาหะพยายามย่อมเสริมสร้างให้บรรลุความเป็นยอดคน' (เป็นการแผลงคำว่า 利 ให้กลายเป็น 'ความวิริยะอุตสาหะ' แทน) ...

ความหมายที่เกี่ยวเนื่องกันดังที่ว่านี้เองได้ทำให้บทที่ยี่สิบเจ็ดกลายเป็นส่วนผสมของ 'การถนอมกำลัง' ซึ่งคล้ายกับ 'การไม่สำแดงตน' (謙) ของบทที่สิบห้า แต่ก็ไม่ใช่ 'การหลบซ่อน' (潛) ที่แน่นิ่งโดยไม่มี 'ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' ใดๆ อย่างที่เข้าใจกัน ... เพราะ 'ภาระกิจ' ที่ต้องกระทำอย่างไม่ลดละอยู่เบื้องหลัง 'ความสงบนิ่ง' (☶) ดังกล่าวก็คือ 'การบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงคุณธรรมความดี' ที่ถูกทดแทนด้วยสัญลักษณ์ของ 震 (zhèn, เจิ้น, หรือ ☳) อันเป็นสัญลักษณ์แห่ง 'ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' นั่นเอง



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :
 
舍爾靈龜觀我朵頤凶
shè ěr lìng guī guān wǒ duǒ yí xiōng
ษ้อ เอ่อ ลิ่ง กุย กวน หฺว่อ ตั่ว อี๋ เซฺวิง


舍 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ห้องพัก', 'อาศัย', บางครั้งจึงแปลว่า 'หยุดพัก', หรือ 'ระงับ', 'ยับยั้ง' ซึ่งมีความหมายว่า 'หยุดชั่วคราว' เท่านั้น ; แต่ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'ละทิ้ง' หรือ 'ยอมแพ้' ซึ่งเป็น 'การหยุดอย่างถาวร' ไปเลย ; แต่อีกความหมายหนึ่งก็คือ 'ถ่อมตัว', 'เจียมตัว', ซึ่งเป็นลักษณะของ 'ความไม่ก้าวร้าว' หรือ 'ความไม่ดึงดัน'

爾 อ่านว่า ěr (เอ่อ) ความหมายเดิมแปลว่า 'ตกแต่ง', 'ประดับประดา', 'หรูหรา' ; บางครั้งก็บังแปลว่า 'สดใส', 'ร่าเริง' ; แต่เพี้ยนไปเพี้ยนมาอีท่าไหนก็ไม่รู้ ในที่สุดดันใช้อักษรย่อเป็น 尔 (ěr, เอ่อ) ซึ่งใช้แทน 'สรรพนามบุรุษที่สอง' เหมือนกับ 你 (nǐ, หฺนี่) และยังใช้ในความหมายว่า 'ใกล้ๆ', 'ตื้นๆ', หรือ 'สิ่งนี้', 'สิ่งนั้น'

靈 อ่านว่า lìng (ลิ่ง) สมัยก่อนมีความหมายเกี่ยวกับ 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' หรือ 'อิทธิฤทธิ์' และ 'ปาฏิหารย์' ; ปัจจุบันหมายถึง 'มีประสิทธิผล', 'ฉลาด', 'ปราดเปรื่อง' ในลักษณะที่ 'สามารถสัมฤทธิ์ผลตามที่มั่งหวังได้' ; และยังสามารถแปลว่า 'คล่องแคล่ว' หรือ 'มีชีวิตชีวา'

龜 อ่านว่า guī (กุย) ปรกติจะหมายถึง 'เต่า' หรือสิ่งใดๆ ที่ 'เกี่ยวกับเต่า' ; ความหมายข้างเคียงจึงหมายถึง 'เก่าแก่', 'โบราณ', 'นมนานกาเล' เพราะหมายถึงความ 'มีอายุยืนยาว' ของเต่า ; ถ้าใช้เป็น 'คำสแลง' จะหมายถึง 'อวัยวะเพศชาย' ได้ด้วย เพราะมันสามารถหมายถึง 'โผล่ออกมา', 'ยื่นออกมา' ได้ (อันนี้ต้องจินตนาการเอาเอง ... :D ...) ; ถ้าออกเสียงว่า jün (จฺวิน) จะมีความหมายเหมือนกับ 皸 (jün, จฺวิน) ที่แปลว่า 'ปริแตก', 'แตกระแหง', หรือ 'ทำให้แตกออก'

朵 อ่านว่า duǒ (ตั่ว) แปลว่า 'ดอกไม้' ที่มีลักษณะเป็น 'พุ่ม' หรือ 'ช่อ' ; สามารถแปลว่า 'ใบหู' หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะ 'งอกออกมา' ตรง 'ด้านข้าง'

หลายตำราเลือกที่จะจับคู่ 'คำตรงข้าม' ในวรรคนี้เป็น 2 คู่ด้วยกันคือ 舍 (shè, เษ้อ) กับ 觀 (guān, กวน) ซึ่งหมายถึง 'ละทิ้ง' และ 'เอาใจใส่' ซึ่งทำให้เกิด 'การตีความ' เป็น 'คำตรงข้าม' คู่ที่สองคือ 爾 (ěr, เอ่อ) กับ 我 (wǒ, หฺว่อ) ที่มักจะให้ความหมายเป็น 'ของเธอ' กับ 'ของฉัน' ... ทำให้ความหมายของวรรคนี้ออกมาพิลึกพิลั่นว่า 'การละทิ้งเต่ากายสิทธิ์ของเธอ แล้วเฝ้าซู้ดปากจ้องมองการกินของฉัน ... จะซวย' ... รู้เรื่องกันได้มั้ยล่ะน่ะ ??!! ... :D ...

คืองี้นะครับ ผมอยากจะ 'ตีความ' วลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ว่า 'การละทิ้ง (舍) สิ่งที่กลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว (爾 หมายถึงตกแต่ง, ประดับประดา) จากภูมิปัญญา (靈) อันสืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต (龜) แล้วหันเหไปหมกมุ่น (觀) อยู่กับความรู้ (我) ปลีกย่อย (朵) ที่ตนฟูมฟัก (頤) ขึ้นมาเอง คือหลักคิดที่นำไปสู่ความเหนื่อยยากอย่างสาหัส (凶)' ...

ประการแรกเลยก็คือ 爾 (ěr, เอ่อ) มีความหมายดั้งเดิมว่า 'ตกแต่ง', หรือ 'ประดับประดา' แม้ว่าในปัจจุบันจะถูกย่อให้เหลือเพียงอักษร 尔 (ěr, เอ่อ) แล้วก็ตาม แต่มันก็ควรจะคงความหมายเดิมเอาไว้คือ 'การผนวกสิ่งละอันพันละน้อย (小) เข้าไว้ด้วยกัน' ไม่ใช่เพี้ยนไปจนกลายเป็นความหมายเดียวกับ 你 (nǐ, หฺนี่) เพราะนั่นคือ 'คน' (人) ที่มา 'ยืนประกบ' (尔) อยู่ข้างๆ ต่างหาก มันถึงได้กลายเป็น 'สรรพนามบุรุษที่สอง' ...

ประการต่อมาก็คือ 我 (wǒ, หฺว่อ) ในที่นี้น่าจะต้องเกี่ยวพันกับ 我 (wǒ, หฺว่อ) ในบทที่สี่ โดย King Wen ทิ้งร่องรอยสำคัญไว้ในวลีว่า 自求口實 (zì qiú kǒu shí, จื้อ ชิ๋ว โข่ว ซื๋อ) ที่แปลว่า 'การขวนขวายหาสัจธรรมมาหล่อเลี้ยงตนเอง' ทำให้ 我 (wǒ, หฺว่อ) ในวลีนี้สะท้อนความหมายของ (zì, จื้อ) ที่หมายถึง 'ตัวเอง' กับ 'ความรู้' หรือ 'สัจธรรม' (實) ไว้พร้อมๆ กัน ... 'คู่ตรงข้าม' คู่ที่สองที่มีอยู่ในวรรคนี้จึงน่าจะอยู่ตรงวลีที่ว่า 'ภูมิปัญญาที่กลั่นกรองมาอย่างดีแล้วจากอดีต' (爾靈龜) กับ 'ความรู้ปลีกย่อยที่บ่มเพาะขึ้นมาใหม่ของตนเอง' (我朵頤)

ประเด็นที่ 'จิวกง' เอ่ยปากเตือนเอาไว้ตั้งแต่วรรคแรกก็คือ 'การขวนขวายด้วยตัวเอง' (自求口實) ที่ King Wen เอ่ยถึงนั้น มีความแตกต่างกับ 'การหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง' (觀我朵頤) อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว ... โดยสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อก็คือ 'การขวนขวายหาความรู้' เพื่อ 'บ่มเพาะหล่อเลี้ยง' 'คุณธรรม' และ 'จริยธรรม' ตลอดจน 'สรรพศาสตร์' ต่างๆ นั้น ควรจะต้องพยายาม 'ต่อยอด' จากสิ่งที่ได้รับ 'การกลั่นกรอง' และ 'การขยายความ' มาแล้วจากอดีต ไม่ใช่สลัดทิ้งสะบัดขว้างอย่างไม่ไยดี แล้วตั้งหน้าตั้งตาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัย ... เพราะ 'การละเลย' ต่อ 'ภูมิปัญญาแห่งอดีต' จะหมายถึง 'การทำลายล้าง' สิ่งที่ได้รับ 'การสั่งสมบ่มเลี้ยง' มาอย่างยาวนานลงไป ซึ่งหลายๆ กรณีก็ไม่อาจที่จะกอบกู้ให้คืนกลับมาได้ภายในชั่วอายุสั้นๆ ของคนเพียงรุ่นเดียวด้วยซ้ำ !!!??

จริงอยู่ที่ 'ภูมิปัญญาแห่งอดีต' อาจจะมีหลายสิ่งที่ไม่สามารถเข้ากันได้กับ 'ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป' แต่ 'แก่นแท้แห่งปัญญา' ย่อมเป็นที่มาของ 'เหตุผล' ที่ทุกคนพึง 'ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้' ก่อนที่จะตัดสินใจ 'ปรับเปลี่ยน' ใดๆ ให้ 'เหมาะแก่กาละ-เทศะ' ที่แตกต่างกัน ... 'ความสร้างสรรค์' ที่แท้จริง ย่อมไม่เคยถูก 'จำกัดความ' ให้คับแคบเพียง 'การสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน' เท่านั้น แต่มันจะต้องมีความครอบคลุมถึง 'การประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม' ด้วย ... ผู้ที่คิดจะ 'จำกัดความ' ให้แก่ 'ความสร้างสรรค์' ที่ 'ไร้ขีดจำกัด' จึงถือว่าเป็น 'ผู้ไม่สร้างสรรค์ขนานแท้' ... อย่างแน่นอน ?!! ... ;)

 

สอง หยิน :

顛頤拂經于丘頤征凶
diān yí fú jīng yǘ qiū yí zhēng xiōng
เตียน อี๋ ฟู๋ จิง ยฺวี๋ ชิว อี๋ เจิง เซฺวิง


顛 อ่านว่า diān (เตียน) แปลว่า 'สูงสุด', 'ยอดสุด', 'บนสุด', หรือ 'ให้ความเคารพสูงสุด' รวมทั้งยังแปลว่า 'จุดตั้งต้น' ก็ได้ ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'กระโดดโลดเต้น', 'กลับหัวลง', 'หัวทิ่มหัวตำ', 'หัวหกก้นขวิด', หรือ 'พุ่งถลาไปข้างหน้า', และ 'วิ่งพรวดพราด' ด้วยเหมือนกัน ; สมัยก่อนยังเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 癲 (diān, เตียน) ที่แปลว่า 'เสียสติ' หรือ 'ว้าวุ่นใจ' ได้อีกต่างหาก

拂 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'ปัดกวาด', 'ปัดออก', 'กวาดทิ้ง', 'โยนทิ้ง', 'เหวี่ยงทิ้ง' ; ซึ่งเป็นลักษณะของ 'การไม่ยอมรับ'

經 อ่านว่า jīng (จิง) คำนี้ก็คือคำเดียวกับที่ปรากฏในชื่อ 'คัมภีร์อี้จิง' (易經) นั่นเอง โดยความหมายของมันก็คือ 'ข้อคิด', 'ข้อปฏิบัติ', 'กฎระเบียบ', หรือ 'ความเป็นเช่นนั้นเอง' ; บ่อยครั้งที่มันจะถูกนำมาใช้เรียกงานเขียนที่เป็นอมตะทั้งหลาย โดยเฉพาะ 'คัมภีร์' หรือ 'ตำราวิชาการ' ต่างๆ

丘 อ่านว่า qiū (ชิว) แปลว่า 'เนินดิน', 'มูนดิน', 'เนินเขาเล็กๆ' และอาจจะหมายถึง 'สถานที่ฝังศพ' ; บางครั้งยังหมายถึง 'บริเวณรกร้าง', 'ทุ่งโล่ง', 'กว้างใหญ่' หรือ 'แหล่งชุมนุม' ของผู้คนก็ยังได้

'จิวกง' เล่นคำ 顛 (diān, เตียน), 頤 (yí, อี๋), 拂 (fú, ฟู๋), และ 經 (jīng, จิง) สลับไปสลับมาหลายครั้งตั้งแต่วรรคที่สองจนถึงวรรคที่ห้านะครับ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะแจกแจงประเด็นของ 'การหล่อเลี้ยง' กับ 'ความหมกมุ่น' ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ...

ความหมายของวรรคนี้ก็คือ 'การมุ่งหน้า (顛) ที่จะหล่อเลี้ยง (頤) คุณธรรมความดีให้เข้มแข็ง แต่กลับไม่ยอมรับ (拂) ข้อพึงปฏิบัติ (經) ที่ควรจะยึดถือ ย่อมเปรียบเสมือน (于) การพยายามก่อมูนดินบนพื้นราบที่โล่งเตียน (丘頤) อันเป็นความพยายามดำเนินการ (征) ที่สาหัสสากรรจ์ (凶)'

เห็นได้ชัดว่า ความหมายของ 'เต่าศักดิ์สิทธิ์' (靈龜) ที่ 'จิวกง' เอ่ยถึงในวรรคแรกก็คือ 經 (jīng, จิง) หรือ 'ภูมิปัญญาที่สืบทอดมา' นั่นเอง โดยในวรรคนี้ 'จิวกง' เลือกที่จะนำเสนอด้วยภาพเปรียบเทียบของ 'การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่' กับ 'การก่อมูนดินบนพื้นราบที่โล่งเตียน' (丘頤) ที่จะต้องสูญเสียทั้งกำลัง และเวลาไปอย่างมหาศาล กว่าจะสำเร็จเป็น 'ขุนเขา' (☶) ที่ตั้งตระหง่านขึ้นมาได้

 

สาม หยิน :

拂頤貞凶十年勿用無攸利
fú yí zhēn xiōng shí nián wù yòng wú yōu lì
ฟู๋ อี๋ เจิน เซฺวิง ซื๋อ เนี๋ยน อู้ โยฺว่ง อู๋ อิว ลี่


ไม่มีคำไหนแปลกใหม่เลยนะครับ ... เพราะฉะนั้น ... ลุยไปเลยแล้วกัน ... :)

ผมมองว่า 'จิวกง' ไม่ได้มีอคติต่อ 'การเริ่มต้นใหม่' ว่าเป็น 'สิ่งที่เลวร้าย' แต่ประการใด เพียงแต่ 'แนะนำ' ว่า 'การเริ่มต้นใหม่' คือ 'ความเหนื่อยยากลำบาก' ที่ 'ไม่มีความจำเป็น' หากเรารู้จักนำเอา 'ภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม' มา 'ปรับประยุกต์' เพื่อ 'ต่อยอด' ให้เหมาะแก่ 'กาละ-เทศะ' ที่เปลี่ยนแปลงไป ... ในขณะเดียวกัน 'จิวกง' กลับยอมรับในเรื่องของ 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความอุตสาหะพยายาม' ดังปรากฏเป็นถ้อยคำในหลายๆ บทที่ผ่านมาของ 'คัมภีร์อี้จิง' ... และสิ่งที่ 'จิวกง' กำลังเอ่ยถึงในวลีนี้ก็คือ 'การละทิ้ง (拂) ความพยายามที่จะฟูมฟักหล่อเลี้ยง (頤) คุณธรรมใดๆ (貞) ก็ย่อมสูญสลาย (凶) ... การปล่อยปละให้เวลาผ่านพ้นไปเนิ่นนานอย่างเปล่าประโยชน์ (十年勿用) ย่อมไม่ปรากฏ (無) ผลสนองที่ดี (攸利) แต่ประการใด'

จะเห็นว่า ด้วยทัศนคติของ 'จิวกง' นั้น แม้ว่าการละทิ้ง 'ภูมิปัญญาแห่งอดีต' โดยมุ่งเน้นไปที่ 'การเริ่มต้นใหม่' จะเป็นแนวทางที่ 'ยากลำบากอย่างสาหัส' (凶) ก็ตาม แต่ด้วย 'ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง' (顛頤) ต่อให้ 'ความสำเร็จ' จะเกิดขึ้นได้เพียงน้อยนิด แต่ถึงอย่างนั้นก็จะไม่ใช่ 'ความสูญเปล่า' อย่างแน่นอน ... ในขณะที่ 'การนิ่งเฉย' โดยไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย (拂頤) นั้น จะเป็น 'ความสูญเปล่า' ขนานแท้ เพราะไม่ว่าวันเวลาจะผ่านพ้นไปเนิ่นนานซักขนาดไหนก็ตาม (十年 นับสิบปี) ย่อมหมายถึงการผ่านเลยที่ไร้คุณค่าความหมายใดๆ (勿用) โดยสิ้นเชิง

 

สี่ หยิน :

顛頤吉虎視眈眈其欲逐逐無咎
diān yí jí hǔ shì dān dān qí yù zhú zhú wú jiù
เตียน อี๋ จี๋ หู่ ษื้อ ตัน ตัน ชี๋ ยฺวี่ จู๋ จู๋ อู๋ จิ้ว


視 (shì, ษื้อ) แปลว่า 'มอง', 'ดู', 'เห็น', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', 'สังเกต' ; หรือ 'เปรียบเทียบ'

眈 อ่านว่า dān (ตัน) แปลว่า 'จ้องมอง', 'มองอย่างประสงค์ร้าย', 'จดๆ จ้องๆ' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'รีๆ รอๆ' ได้ด้วยเหมือนกัน

欲 อ่านว่า yù (ยวี่) แปลว่า 'ต้องการ', 'ต้องใจ', 'อยากได้', 'อยากครอบครอง'

逐 อ่านว่า zhú (จู๋) เล่าไปในบทที่ยี่สิบหกแล้วว่าหมายถึง 'ติดตาม', 'ไล่ตาม', 'ไล่กวด', 'ไล่ล่า', หรือ 'ขับไล่' ; บางครั้งก็แปลว่า 'สืบเสาะ', 'ค้นหา' ; และจากความหมายของ 'การไล่กวด' ก็เลยแผลงเป็น 'การแข่งขัน' ; หรือลักษณะที่ 'ไล่เรียงต่อๆ กัน' ก็แผลงเป็น 'หนึ่งต่อหนึ่ง' หรือ 'เรียงตามลำดับ'

เจอ 顛頤 (diān yí, เตียน อี๋) อีกแล้วนะครับ :) ... นี่ก็คือวลีที่ 'จิวกง' ให้ความสำคัญกับ 'ความมุ่งมั่น' โดยใช้ภาพเปรียบเทียบกับ 'การไล่ล่า' ของเสือว่า ... 'การมุ่งหน้า (顛) ที่จะฟูมฟักหล่อเลี้ยง (頤) ให้ก่อเกิดประโยชน์ (吉) อย่างจริงจังนั้น จะต้องประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยงเดียวกับเสือ (虎) ที่จ้องมอง (視) เหยื่อของมันอย่างไม่ละสายตา (眈眈) และไล่กวดเพื่อติดตามเหยื่อแต่ละครั้งของมันอย่างไม่ลดละ (其欲逐逐) ... หากกระทำได้ดังนี้แล้ว จึงจะไม่เกิดความบกพร่องเสียหาย (無咎)' ... คล้ายกับความหมายของ 利建侯 (lì jiàn hóu, ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว) ที่ King Wen ใช้ในบทที่สามมากเลยเห็นมั้ยครับ ??!! ... มันก็คือ 'การล็อคเป้า' เห็นๆ !!!??? ... :D

แต่ถ้าจะเล่นกับความหมายของ 虎 (hǔ, หู่) ให้หมายถึง 'คุณธรรม' เหมือนในบางบทที่ผ่านมา ความหมายของวลีนี้ก็จะกลายเป็น 'การมุ่งมั่น (顛) ที่จะหล่อเลี้ยง (頤) เพื่อเสริมสร้างความดี (吉) ให้ปรากฏ ต้องกำหนดเป้าหมายที่แน่วแน่ด้วยหลักคุณธรรม (虎視眈眈) และกำจัดกิเลสตัณหาทั้งปวงให้หมดสิ้น (其欲逐逐) เยี่ยงนี้แล้ว จึงจะไร้ซึ่งมลทินที่ก่อความเสียหาย (無咎)' ... ซึ่งก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่ล่ะครับ ถึงแม้ว่ามันจะเปรียบเปรยหลายซับหลายซ้อนไปหน่อยก็ตาม ... ;)

 

ห้า หยิน :

拂經居貞吉不可涉大川
fú jīng jü zhēn jí bù kě shè dà chuān
ฟู๋ จิง จฺวี เจิน จี๋ ปู้ เข่อ เษ้อ ต้า วน


ย้อนมาที่คำว่า 拂經 (fú jīng, ฟู๋ จิง) มั่งละ !! ... ในวรรคนี้ 'จิวกง' กำลังจะบอกกับพวกเราว่า 'การละเลย (拂) ต่อข้อพึงปฏิบัติ (經 และภูมิปัญญาที่สั่งสมมา) แม้จะยึดมั่น (居) ในหลักคุณธรรม (貞) ความดี (吉) อย่างเหนียวแน่น ก็ไม่สามารถ (不可) ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ (涉大川) ออกไปได้' ... ถือเป็นการอรรถธิบาย 'ความสาหัสสากรรจ์' (凶) ที่คั่งค้างในวรรคที่สองให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ 'จิวกง' พยายามจะสื่อสารไว้ตั้งแต่วรรคที่สอง ถึงวรรคที่ห้าก็คือ การจะ 'บ่มเพาะ' และ 'หล่อเลี้ยง' 'คุณธรรมความดี' ให้เจริญงอกงามนั้น หากจะอาศัยเฉพาะ 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' เพียงอย่างเดียว โดยไม่มี 'มาตรการ' หรือ 'หลักปฏิบัติ' ใดๆ รองรับ โอกาสที่จะ 'ประสบผลสำเร็จ' ย่อมมีเพียงน้อยนิดจนน่าจะเรียกว่า 'แสนสาหัส' ซะมากกว่า ... :P ... แต่หากปราศจาก 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' อย่างจริงจัง 'โอกาสอันน้อยนิด' ดังกล่าว ก็จะไม่หลงเหลือให้คิดฝันได้อีกเลย ... 'คนดี' จึงต้อง 'ทำดี' เพื่อให้ 'ความดี' ปรากฏ มิใช่ทำตัว 'นอนขดไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น' แล้วทุกสิ่งก็จะเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ... หรือแม้แต่ 'การทำความดีอย่างสะเปะสะปะ' ชนิดที่ 'ไม่มีจุดมุ่งหมายอันชัดเจน' (拂經居貞吉) การจะฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามออกไปย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (不可涉大川) ... ก็ในเมื่อตัวเองยังกำหนดไม่ได้ด้วยซ้ำว่า จะต้องดำเนินการไปในทิศทางใด !!??!! ... :D ...

 

หก หยาง :

由頤厲吉利涉大川
yóu yí lì jí lì shè dà chuān
อิ๋ว อี๋ ลี่ จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน


由 (yóu, อิ๋ว) แปลว่า 'โดย (สาเหตุจาก)', 'ดังนั้น', 'เพราะว่า', 'คล้อยตาม' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 猶 (yóu, อิ๋ว) ซึ่งหมายถึง 'เหมือน', 'คล้าย', 'เป็นเช่นนั้น'

ผลเลือกความหมายให้กับ 由 (yóu, อิ๋ว) ว่า 'คล้อยตาม' ก็แล้วกันนะครับ แล้วก็จัดการนำวลีนี้ไปต่อท้ายให้กับวรรคที่หนึ่ง เพื่อให้เห็นความหมายที่ต่อเนื่องกันของ 'วลีคู่' ที่น่าจะเป็นสาระสำคัญที่สุดของบทนี้ ... 舍爾靈龜‧觀我朵頤‧凶 ‧ 由頤厲吉‧利涉大川 (shè ěr lìng guī guān wǒ duǒ yí xiōng . yóu yí lì jí lì shè dà chuān, เษ้อ เอ่อ ลิ่ง กุย กวน หฺว่อ ตั่ว อี๋ เซฺวิง . อิ๋ว อี๋ ลี่ จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน) ... ความหมายของมันก็คือ 'การละทิ้ง (舍) สิ่งที่กลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว (爾) จากภูมิปัญญา (靈) อันสืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต (龜) แล้วหันเหไปหมกมุ่น (觀) อยู่กับความรู้ (我) ปลีกย่อย (朵) ที่ตนฟูมฟัก (頤) ขึ้นมาเอง คือหลักคิดที่นำไปสู่ความเหนื่อยยากอย่างสาหัส (凶) ... การหล่อเลี้ยงบำรุงอย่างพอเหมาะแก่เหตุปัจจัย (由頤) ในสถานกรณ์ที่วิกฤติ (厲) ย่อมมีโอกาสแห่งความรุ่งเรือง (吉) ความอุตสาหะพยายาม (利) ในลักษณะเช่นที่ว่านี้ จึงจะสามารถฟันฝ่า (涉) อุปสรรคขวากหนาม (大川) ทั้งปวง' ...

ความหมายของ 由頤 (yóu yí, อิ๋ว อี๋) อาจจะสามารถแปลได้หลายอย่าง แต่คำแปลที่ออกจะด้วนๆ ส่วนใหญ่ก็คือ 'การหล่อเลี้ยงในลักษณะเช่นที่ว่านี้' ซึ่งก็ไม่มีทางรู้หรอกครับว่า ไอ้เจ้า 'เช่นที่ว่านี้' มันคือ 'เช่นที่ว่าไหน' ??! ... เราอาจจะมองให้ 由頤 (yóu yí, อิ๋ว อี๋) มีความหมายว่า 'การหล่อเลี้ยงไปตามเรื่องตามราว' ... ก็ได้ ... ซึ่งจริงๆ มันก็คือความหมายแบบนั้น ... ;) ... แต่ลักษณะของ 'การทำตามเรื่องตามราว' ที่ว่านี้ก็คือ 'การคล้อยตามกาละ-เทศะที่เหมาะสม' ... ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับวรรคที่หนึ่งอันเป็น 'วลีคู่' ที่ถูกต้องของมัน ... ความหมายของ 'การทำตามเรื่องตามราว' ดังกล่าวก็คือ 'การไม่จำกัดตัวเอง' ว่า จะต้องเลือกใช้ 'ภูมิปัญญาที่สั่งสมมา' (靈龜) หรือจะต้องเลือกใช้ 'ความรู้ที่แยกย่อยออกมาใหม่' (我朵) อย่างเฉพาะเจาะจง ... แต่ให้เลือกพิจารณาจาก 'ความเหมาะสมแก่กาละ-เทศะ' เป็นสำคัญ ... บางครั้งเราก็อาจจะสามารถ 'ลอกเลียน' สิ่งเดิมๆ มาใช้ได้เลย ; แต่บางครั้งเราก็ต้อง 'ปรับประยุกต์' บางสิ่งบางอย่างให้เหมาะกับสถานการณ์ ; หรือแม้แต่บางครั้ง เราก็อาจจะจำเป็นต้อง 'สรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ' ขึ้นมาทดแทน ... นี่ก็คือความหมายของ 'การหล่อเลี้ยงอย่างพอเหมาะแก่เหตุปัจจัย' ที่ 'จิวกง' หมายถึง



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'อี๋' คือ การหล่อเลี้ยง, ครืนครั่นใต้ขุนเขา

'คุณธรรม' และ 'ความดี' คือสิ่งที่จะต้องได้รับ 'การบ่มเพาะหล่อเลี้ยง' ด้วย 'ความเอาใจใส่' โดยถือเป็น 'ความรับผิดชอบเฉพาะตัว' ที่จะต้อง 'ขวนขวายไขว่คว้า' เพื่อจะ 'หล่อเลี้ยง' 'อุดมธรรม' เหล่านั้น 'ด้วยตนเอง'

  •  
  • 'การละทิ้ง' สิ่งที่ 'กลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว' จาก 'ภูมิปัญญา' อัน 'สืบทอดกันมา' แต่ครั้งอดีต แล้วหันเหไป 'หมกมุ่น' อยู่กับ 'ความรู้ปลีกย่อย' ที่ตน 'ฟูมฟัก' ขึ้นมาเอง คือ 'หลักคิด' ที่นำไปสู่ 'ความเหนื่อยยาก' อย่าง 'สาหัส'
  •  
  • 'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'หล่อเลี้ยง' 'คุณธรรม' 'ความดี' ให้ 'เข้มแข็ง' แต่กลับ 'ไม่ยอมรับ' ใน 'หลักปฏิบัติ' ที่ควรจะ 'ยึดถือ' ย่อมเปรียบเสมือนการพยายามก่อมูนดินบนพื้นราบที่โล่งเตียน อันเป็น 'ความพยายามดำเนินการ' ที่ 'สาหัสสากรรจ์'
  •  
  • หาก 'ละทิ้ง' 'ความพยายาม' ที่จะ 'ฟูมฟักหล่อเลี้ยง' 'คุณธรรม' ใดๆ ก็ย่อม 'สูญสลาย' ... 'การปล่อยปละ' ให้เวลาผ่านพ้นไปเนิ่นนาน 'อย่างเปล่าประโยชน์' ย่อมไม่ปรากฏ 'ผลสนองที่ดี' แต่ประการใด
  •  
  • 'การมุ่งมั่น' ที่จะ 'ฟูมฟักหล่อเลี้ยง' ให้ 'ก่อเกิดประโยชน์' อย่าง 'จริงจัง' นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วย 'การประพฤติปฏิบัติตน' เยี่ยงเดียวกับ 'เสือ' ที่ 'จ้องมอง' เหยื่อของมัน 'อย่างไม่ละสายตา' และ 'ไล่กวด' เพื่อ 'ติดตาม' เหยื่อแต่ละครั้งของมัน 'อย่างไม่ลดละ' ... หากกระทำได้ดังนี้ จึงจะไม่เกิด 'ความบกพร่องเสียหาย'
  •  
  • 'การละเลย' ต่อ 'ข้อพึงปฏิบัติ' และ 'ภูมิปัญญาที่สั่งสมมา' แม้จะมี 'ความยึดมั่น' ใน 'คุณธรรม-ความดี' อย่าง 'เหนียวแน่น' ก็ไม่อาจจะมี 'ความพร้อม' ต่อ 'การฟันฝ่าอุปสรรค' ทั้งปวง
  •  
  • 'การหล่อเลี้ยงบำรุง' อย่าง 'พอเหมาะแก่เหตุปัจจัย' แม้ต้องตกอยู่ใน 'สถานกรณ์ที่วิกฤติ' ก็ย่อมมี 'โอกาส' แห่ง 'ความรุ่งเรือง' ... 'ความวิริยะอุตสาหะ' ด้วยลักษณาการเช่นที่ว่านี้ จึงจะสามารถ 'ฟันฝ่าทุกอุปสรรคขวากหนาม'


 

The Organization Code :



'การหล่อเลี้ยง' คือ 'การดำเนินกิจกรรม' (☳) เพื่อสนับสนุน 'ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น' (☶) ... โดย 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'เป้าหมาย' ที่ 'ชัดเจน' และ 'เปิดกว้าง' (⚍) ; 'การบริหารงาน' ต้องมี 'ความหนักแน่น' และ 'มั่นคง' (⚏) เพื่อ 'ส่งเสริม' ให้ 'ระดับปฏิบัติการ' สามารถแสดง 'ความมีอัตลักษณ์' ได้อย่าง 'ชัดเจน' และ 'ยั่งยืน' (⚎)

'การฟูมฟัก' ความเป็น 'เอกอัตตลักษณ์' ที่ 'โดดเด่น' คือ 'ภาระกิจ' ที่ต้องการ 'ความเอาใจใส่' ใน 'ทุกรายละเอียด' อย่างใกล้ชิด ... ทั้งยังเป็น 'ภาระกิจ' ที่ต้องอาศัย 'ความสร้างสรรค์' อย่าง 'มุ่งมั่น' จึงจะสามารถสำแดง 'ความมีอัตตลักษณ์เฉพาะตัว' ที่ไม่อาจทดแทนได้โดยผู้หนึ่งผู้ใด

  •  
  • 'ความแตกต่าง' ไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน' เช่นเดียวกับ 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'การล้มเลิกสิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างสิ้นเชิง' ; 'การปรับปรุง' และ 'การพัฒนา' ให้สามารถ 'สนองความต้องการเดิม' อย่าง 'ตรงจุดตรงประเด็น' หรือมี 'ความครอบคลุมมากขึ้น' หรือแม้เพียงแค่มี 'ความสะดวกสบายมากกว่า' ล้วนต้องอาศัย 'ความสร้างสรรค์' ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ... 'การเคี่ยวเข็ญ' เพื่อให้ผู้คน 'ยอมรับ' ใน 'นวัตกรรม' ที่ไม่มีใคร 'คุ้นเคย' ย่อมเป็น 'ภาระกิจ' ที่ 'หนักหนาสาหัส' อันไม่อาจ 'รับประกันความสำเร็จ' ใดๆ
  •  
  • 'ความมุ่งมั่น' เพียงเฉพาะ 'การสรรค์สร้างนวัตกรรม' โดยปฏิเสธ 'ปัจจัยพื้นฐาน' และ 'ข้อพึงปฏิบัติ' ที่จำเป็น ย่อมไม่ต่างจาก 'การพยายามก่อขุนเขา' ขึ้นมาจาก 'ผืนแผ่นดินที่ราบเรียบ' ซึ่งไม่อาจสำเร็จได้ภายในชั่วอายุของคนเพียงรุ่นเดียว และจะกลายเป็นเพียง 'ความพยายามที่สูญเปล่า' หากอนุชนรุ่นต่อๆ ไป ยังคงยึดติดอยู่กับ 'มิจฉาทิฎฐิ' ที่ไม่เคยคิดจะสานต่อ 'ภาระกิจที่คั่งค้างไว้' ของคนรุ่นก่อน
  •  
  • 'ความวิริยะอุตสาหะ' ใน 'การปฏิบัติภาระกิจ' ที่แม้จะมี 'ความยากลำบาก' ย่อมต้องมี 'ความคืบหน้า' ไม่มากก็น้อย ... แต่การ 'ละทิ้งความพยายาม' ย่อมหมายถึง 'การละทิ้งโอกาส' ที่จะ 'ประสบความสำเร็จ' ไปด้วย ไม่ว่า 'ภาระกิจ' นั้นๆ จะมี 'ความง่ายดาย' เพียงใดก็ตาม
  •  
  • การมุ่งมั่น 'พัฒนาความเป็นเอกอัตตลักษณ์' ให้ 'บังเกิดผลลัพธ์' อย่างจริงจังนั้น จำเป็นต้องมี 'เป้าหมายที่ชัดเจน' และมี 'ความพยายาม' อย่าง 'ไม่ยอมลดละ' ในแต่ละ 'สภาวะการณ์' ที่เหมาะสม ... เช่นเดียวกับ 'การล่าเหยื่อ' ของ 'เสือ' ที่ไม่เคย 'ละสายตา' จากเหยื่อแม้ในขณะที่ 'รอคอยจังหวะ' และจะ 'ไม่ยอมลดละ' เมื่อถึงคราวที่ต้อง 'ปฏิบัติการ'
  •  
  • 'ความเป็นเอกอัตตลักษณ์' ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากเพียง 'ความเพ้อฝัน' เนื่องเพราะ 'ความสำเร็จ' ย่อมเป็นผลมาจาก 'การปฏิบัติงาน' อย่างมี 'หลักเกณฑ์' ที่เป็น 'รูปธรรม' ... 'ความคิดที่ดี' ย่อมต้องได้รับ 'การสานต่อ' จาก 'การปฏิบัติที่ดี' ด้วยเท่านั้น จึงจะบังเกิดเป็น 'ผลลัพธ์' ตามที่ได้ 'มุ่งหวัง' เอาไว้
  •  
  • ทุก 'วิกฤติ' ย่อมต้องมี 'โอกาส' หาก 'ผู้ปฏิบัติงาน' ไม่ 'หมกมุ่นลุ่มหลง' อยู่กับแนวทางหนึ่งแนวทางใดอย่าง 'ตายตัว' ... การรู้จัก 'ปรับประยุกต์' กลวิธีให้ 'สอดคล้อง' กับแต่ละ 'สถานการณ์' ย่อมจะสามารถ 'ก้าวข้ามทุกอุปสรรคขวากหนาม' ไปได้เสมอ


ในขณะที่ 'จิวกง' กำลังพยายามสื่อถึง 'การบ่มเพาะ' และ 'การหล่อเลี้ยง' 'คุณธรรม-ความดี' ให้มี 'ความโดดเด่นชัดเจน' ยิ่งๆ ขึ้นนั้น ... เราอาจจะพิจารณาให้ 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทนี้หมายถึง การใช้ 'กิจกรรมทางการตลาด' (☳) เป็นปัจจัยส่งเสริม 'ภาพลักษณ์' ของสินค้า หรือองค์กรหนึ่งๆ ให้เกิด 'ความโดดเด่น' (☶) และมี 'ความยั่งยืน' ในลักษณะของ 'การสร้างแบรนด์' (Branding) ก็น่าจะได้ ... เพราะนี่คือ 'คุณลักษณะเฉพาะตัว' ที่ไม่สามารถ 'หยิบยืม' หรือ 'ร้องขอ' จากผู้หนึ่งผู้ใด เว้นแต่จะต้อง 'ขวนขวาย' และ 'ไขว่คว้า' เพื่อ 'พัฒนาคุณค่า' ของมันขึ้นมาจาก 'ความวิริยะอุตสาหะ' ของตนเองเท่านั้น

จริงอยู่ ที่ใน 'โลกของธุรกิจ' หรือใน 'โลกของนวัตกรรม' นั้น ย่อมต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ทุกสิ่งย่อมต้องมี 'ความต่อเนื่อง' และมี 'การสานต่อ' จาก 'บางสิ่งบางอย่าง' ที่ 'สั่งสมมาจากอดีต' เสมอ ซึ่ง 'บางสิ่งบางอย่าง' ที่ว่านั้น อาจจะหมายถึง 'ภูมิความรู้', อาจจะหมายถึง 'ความผิดพลาด', อาจจะหมายถึง 'ความยังไม่สมประกอบ', หรืออาจจะหมายถึง 'ความฝันที่ยังคั่งค้างอยู่', ฯลฯ ของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่แตกต่างกันไป ... ทุกๆ สิ่งล้วนต้องมี 'เหตุปัจจัย' ที่ 'เหมาะสม' แก่ 'การก่อเกิด' ของมัน ... 'ความหลงผิด' ที่คิดจะ 'ปฏิเสธทุกความเชื่อมโยง' จึงเป็นเพียง 'ความเพ้อฝัน' ที่เป็นไปได้ยากมาก !!!!??

'ความสร้างสรรค์' ย่อมไม่สามารถ 'จำกัดความ' ไว้เพียง 'การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่' เท่านั้น ... ในขณะที่ 'ความยั่งยืน' ย่อมไม่สามารถ 'จำกัดความ' ไว้เพียง 'การดำงรงอยู่ของสิ่งเดิม' เสมอ ... ทุกสรรพสิ่งล้วนมี 'การก่อเกิด', 'การดำรงอยู่', และ 'การแปรเปลี่ยน' ได้ตลอดเวลา ... ผู้ที่ 'ยึดติด' อยู่กับ 'การจำกัดความ' ใดๆ ย่อมต้องประสบแต่ 'ความเหนื่อยยากลำบาก' ... เนื่องด้วย 'ความมุ่งหวัง' ใน 'สิ่งที่ไม่อาจหวัง' ย่อมไม่มีวันที่จะ 'สมหวัง' ... ตลอดกาล ... ;)