Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十二卦 : 否

否 : 地天否 ‧ 乾上坤下

否 : 否之匪人‧不利君子貞‧大往小來‧

  • 初六 ‧ 拔茅茹‧以其彙‧貞吉亨‧
  • 六二 ‧ 包承‧小人吉‧大人否‧亨‧
  • 六三 ‧ 包羞‧
  • 九四 ‧ 有命無咎‧疇離祉‧
  • 九五 ‧ 休否‧大人吉‧其亡其亡‧系于苞桑‧
  • 上九 ‧ 傾否‧先否后喜‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ หย่อนคลาย (⚏) ปัญญา ทบทวนตรวจสอบ (⚎) พลานามัย สมบูรณ์ (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' เปิดกว้าง (⚏), 'แผนงาน' พรั่งพร้อมรัดกุม (⚎), 'ปฏิบัติการ' แข็งขัน (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือการยืนหยัด, ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ;)



ความหมายของชื่อเรียก :  Contention : การยืนหยัด


โดยทั่วไปแล้ว 否 (pǐ, ผี่) จะเป็นคำที่ถูกใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ 泰 (tài, ไท่) โดยเฉพาะในสำนวนว่า 否极泰来 (pǐ jí tài lái, ผี่ จี๋ ไท่ ไล๋) ที่มักจะแปลกันว่า 'เมื่อสิ่งเลวร้ายดำเนินไปจนถึงที่สุด ความสุขสวัสดีย่อมปรากฏขึ้น' … ส่วนในความหมายตามแบบฉบับของ 'คัมภีร์อี้จิง' เมื่อ 泰 (tài, ไท่) แปลว่า 'ความก้าวหน้า', หรือ 'การพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย' มันจึงทำให้ 否 (pǐ, ผี่) มีความหมายว่า 'การเผชิญกับอุปสรรค', 'การหยุดยั้ง', หรือ 'การถอยร่น' … แต่แทนที่ผมจะเลือกคำว่า Retention ที่หมายถึง 'การถอย' หรือคำอื่นๆ ที่มีความหมายในลักษณะของ 'ความชะงักงัน' หรือ 'การยับยั้ง' เนื่องเพราะต้องเผชิญกับ 'อุปสรรค' ผมกลับเลือกที่จะนำคำว่า Contention ที่หมายถึง 'การยืนหยัด' มาใช้แทนความหมายทั้งหมดของบทนี้ … ;) … ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยตรงกับความหมายของอักษร 否 (pǐ, ผี่) ซักเท่าไหร่ แต่ก็เพราะคำนี้น่าจะสอดคล้องกับความหมายของวรรคที่สี่ในบทที่สองมากที่สุดคือ 括囊無咎無譽 (kuò náng wú jiù wú yǜ, คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) อันได้รับ 'การตีความ' ไว้ว่า 'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภารกิจและมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด … ไม่ไยดีต่อคำติฉินนินทาหรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อคำยกย่องสรรเสริญหรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์' … แล้วถ้าหากเราพิจารณาในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' จากสองวรรคสุดท้ายของบทที่สิบเอ็ด ที่เอ่ยถึง 'การยับยั้งชั่งใจ' ผมก็มีความเชื่อว่า เนื้อความทั้งหมดของบทนี้ น่าจะต้องให้คำอธิบายเกี่ยวกับหลักในการครองตน สำหรับสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ก้าวรุกต่อไป … ซึ่งไม่ควรจะเป็น 'การละทิ้งเป้าหมาย' แต่มันน่าจะต้องเป็น 'การยืนหยัดในหลักการ' มากกว่า

ภาพอักษรของ 否 ประกอบด้วย 不 (bù, ปู้) ที่แปลว่า 'ไม่', 'ไม่ใช่' อยู่ตรงด้านบน (มาจากภาพอักษรที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน 'นกที่บินวนอยู่กลางอากาศ'  หรือ 'ปฏิเสธที่จะพัก') และมี 口 (kǒu, โข่ว) ที่แปลว่า 'ปาก' อยู่ตรงด้านล่าง … เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายในลักษณะว่า 'ออกปากปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ' โดยจะอ่านออกเสียงว่า fǒu (โฝ่ว) … แต่หากอ่านออกเสียงว่า pǐ (ผี่) จะหมายถึง 'ความชั่วร้าย', 'ความอัปโชค', 'อุปสรรค', 'ขัดขวาง', 'กีดขวาง' ; บางทีก็ใช้ในความหมายของ 'ขรุขระ', 'ไม่ราบรื่น', 'ไม่ราบเรียบ', 'อัปลักษณ์', หรือ 'น่าเกลียด' … หากจะว่ากันโดยความหมายของตัวอักษร 否 (pǐ, ผี่) ที่ King Wen นำมาใช้เป็น 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ เราก็น่าจะต้องแปลว่า 'ความไม่ราบรื่น' หรือ 'ความไม่สบโอกาสที่เหมาะสม' … ซึ่งก็ต้องมาดูว่า King Wen อธิบายด้วยวลีไหนต่อไป … ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
否之匪人不利君子貞大往小來
pǐ zhī fěi rén bù lì jün zǐ zhēn dà wǎng xiǎo lái
ผี่ จือ เฝ่ย เญิ๋น ปู้ ลี่ จฺวิน จื่อ เจิน ต้า หฺวั่ง เสี่ยว ไล๋


King Wen เลือกใช้วลีว่า 否之匪人不利君子貞大往小來 มาเป็นคำอธิบายชื่อเรียกสัญลักษณ์ 否 (pǐ, ผี่) โดยจะเห็นว่ามีการสลับอักษร 大 และ 小 ในวลี 小往大來 ของบทที่แล้ว มาเป็น 大往小來 ในบทนี้ด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อน 'ความตรงข้าม' อย่างสุดขั้วของความหมายในบททั้งสองอย่างชัดเจนมาก

匪 (fěi, เฝ่ย) โดยปรกติจะแปลกันว่า 'ปล้น', 'ขโมย' หรืออาจจะแปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' จนถึงขั้นที่ 'เลวทราม' ไปเลยก็ได้ เพราะในความหมายว่า 'ปล้น' นั้นทำให้มันสื่อความหมายเป็น 'โจรผู้ร้าย', หรือ 'อันธพาล' ได้เหมือนกัน

แต่ถ้ายังจำกันได้ (เล่าไว้ในวรรคที่สามของบทที่แปด 比之匪人) อักษร 匪 (fěi, เฝ่ย) เป็น 'อักษรโบราณ' ของ 篚 (fěi, เฝ่ย) ที่หมายถึง 'ตะกร้า' ซึ่งก็คือพวกภาชนะที่สานขึ้นมาจากไม้ (มีตัว 竹 กำกับอยู่ด้านบน) สำหรับเอาไว้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ … มันจึงทำให้ 匪 (fěi, เฝ่ย) สามารถแปลว่า 'เก็บรวมรวม' ในลักษณะที่เป็นการนำมาไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน, หรืออาจจะหมายถึง 'การคัดแยก' ในลักษณะที่เป็น 'การจำแนก' สิ่งของ เพื่อแยกเก็บเป็นตะกร้าๆ ก็ได้ ; แล้วเมื่อมันเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ฝีมือในการสร้างมันขึ้นมา มันก็เลยมีความหมายเหมือนกับ 斐 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'สวยงาม', 'สง่างาม', หรือ 'น่าทึ่ง' ได้อีกต่างหาก !!!!

ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 匪 (fěi, เฝ่ย) นั้นก็ไม่ถึงกับคล้ายกับ 'การปล้น' ซักเท่าไหร่ เพราะมันจะหมายถึง 'การแจกจ่าย' หรือ 'การแบ่งปัน' ในลักษณะที่เป็นการนำสิ่งของมาจากผู้หนึ่งผู้ใด แล้วไป 'บริจาค' ให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเดิม

ส่วนคำว่า 人 (rén, เญิ๋น) น่าจะไม่มีความหมายอื่นที่พิเศษพิสดารอะไร เพราะมันแปลว่า 'คน' ซึ่งก็อาจจะหมายถึง 'ตัวเอง', 'คนอื่น', หรือ 'มนุษย์โดยทั่วไป' … อาจจะมีความหมายอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ก็กระเดียดไปทางที่เกี่ยวข้องกับ 'มนุษย์' ซะหมด … คำว่า 匪人 (fěi rén, เฝ่ย เญิ๋น) หากยึดถือตามแนวทางที่เคยเล่าเอาไว้แล้ว มันก็อาจจะหมายถึง 'คนไม่ดี', 'ไม่นับเป็นผู้เป็นคน', 'เสียคน', 'การแยกแยะผู้คน', 'การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย', หรืออาจจะหมายถึง 斐人 ที่น่าจะแปลว่า 'การขัดเกลาผู้คน' ได้ด้วยรึเปล่า ??!! … เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายที่น่าสนใจด้วยกันทั้งนั้น

วลีของ King Wen ในบทนี้ต้องนับว่าซุกซ่อนความหมายไว้หลากหลายพอสมควร โดยเฉพาะคำว่า 否之匪人 ที่สามารถหมายถึง 'อุปสรรคย่อมบั่นทอนทรัพยากรบุคคล' ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยวลีปิดท้ายประโยคว่า 大往小來 ซึ่งหมายถึง 'ต้องทุ่มเทไปอย่างมากมาย แต่กลับได้ผลงานเพียงน้อยนิด'

แต่หากเรา 'ตีความ' ให้ 否之匪人 หมายถึง 'ความไม่ราบรื่นอันเป็นผลมาจากความแตกแยกของผู้คน' ทั้งยัง 'ขาดการกำกับดูแลด้วยหลักคุณธรรมแห่งผู้นำที่ดี' (不利君子貞) ย่อมเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด 'ความสูญเสียอย่างไม่สร้างสรรค์' (大往小來) … เออ !! … แบบนี้ก็น่าจะได้ :D

หรือถ้าจะมองว่า 否之匪人 หมายถึง 'อุปสรรคย่อมบั่นทอนจิตใจของผู้คน' เพราะผู้ที่ไม่มีความหนักแน่นมั่นคงในหลักแห่งธรรม (不利君子貞) ย่อมจะละทิ้งอุดมการณ์เพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าเล็กๆ น้อยๆ (大往小來) … อ๊ะ !! อีแบบนี้ก็เข้าท่าเหมือนกัน … :P

แล้วถ้าหากเราเลือก 'ตีความ' ให้ต่อเนื่องกับ 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ในบทที่สิบเอ็ดที่บันทึกไว้ว่า 小往大來吉亨 (การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรู้จักประมาณกำลังตนเอง ย่อมจะสั่งสมจนเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด นี่คือพัฒนาการแห่งความเจริญรุ่งเรือง) วลีของ King Wen ในบทนี้ก็น่าจะมีความหมายว่า 'ผู้ที่จะยืนหยัดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค (否之匪人, โดยใช้  匪人 ในความหมายว่า 'ผู้อุทิศตน') หากไม่ยึดถือ (不利) วิถีทางแห่งปราชญ์ (君子貞) ต่อให้ทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมากมาย (大往) ความสำเร็จที่ได้ก็จะมีเพียงน้อยนิดจนไร้ซึ่งความหมาย (小來) ใดๆ'

เอาใหม่ … :D … ย้อนกลับไปดูวลีที่สี่ของ 'จิวกง' ในบทที่สองอีกครั้ง … 括囊無咎無譽 (มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด ไม่ไยดีต่อคำค่อนขอดว่าร้าย และไม่หลงใหลไปกับต่อคำเยินยอปอปั้นใดๆ) … คำบรรยายของ King Wen ในบทนี้ก็ควรจะแปลว่า 'การยืนหยัดเพื่อจะกระทำการใดๆ (否之) ย่อมต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการจำแนกแยกแยะผู้คน (匪人) หากไม่มีความหนักแน่น (不利) ด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำ (君子貞) ย่อมนำไปสู่การทุ่มเท (大往) อย่างไร้คุณค่าความหมาย (小來)'

การที่ผมเลือก 'ตีความ' ให้ 不利君子貞 หมายถึง 'ไม่หนักแน่นมั่นคงด้วยหลักแห่งผู้นำ' หรือ 'ไม่หนักแน่นด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำ' นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็นอิทธิพลจากวลี 無咎無譽 เป็นสำคัญ … เพราะหากยามใดที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคจนไม่สามารถก้าวรุกต่อไปได้ แต่ตัวผู้นำเองกลับแกว่งไปแกว่งมาตาม 'กระแสเชียร์' หรือ 'กระแสคัดค้าน' โดยไม่มีความหนักแน่นในการตัดสินใจใดๆ บนพื้นฐานของหลักการ และสถานการณ์ที่กำลังเป็นปัญหา การดำเนินการใดๆ ก็ย่อมสูญเสียศักยภาพที่แท้จริงของมันไปอย่างสิ้นเชิง … ที่ควรจะได้ก็กลับไม่ได้ ที่ควรจะเสียก็กลับเสียเกินกว่าความจำเป็น … เหล่านี้ล้วนเป็นเพราะตัวผู้นำมัวแต่หลงใหลได้ปลื้มกับคำป้อยอสรรเสริญ หรือวิตกกังวลต่อเสียงค่อนขอดคัดค้านอย่างไร้วิจารณญาณด้วยกันทั้งสิ้น … ซึ่งหาก 'ตีความ' ไปตามนี้ คำว่า 否之匪人 ก็อาจจะแปลว่า 'การยืนหยัดเพื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรคโดยบุคคลที่ไร้สมรรถภาพ' ก็น่าจะได้อยู่เหมือนกัน ... :D

แต่ตรงจุดนี้ 'ขงจื้อ' กลับเลือกพิจารณาไปอีกแบบหนึ่งว่า ภาพสัญลักษณ์ ䷋ เป็นภาพที่สะท้อนความหมายของ 'การแบ่งแยกทางชนชั้น' ออกเป็น 'ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ' อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างไม่สนใจใยดีในการดำเนินงาน หรือความดำรงอยู่ของกันและกันอีกต่อไป อันเป็นที่มาของ 'ความแปลกแยกทางสังคม' ที่จะกลายเป็น 'อุปสรรค' ต่อการพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง … ในทัศนะแบบของ 'ขงจื้อ' นั้น ผู้ที่อยู่สูงต้องหมั่นก้มมองลงต่ำ และผู้ที่อยู่ต่ำต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้สูง (䷊) เยี่ยงนี้จึงจะสามารถประสานทุกอณูทางสังคมให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ … ซึ่งทำให้ผมคิดว่า 'ขงจื้อ' น่าจะเป็นนักคิดแนว 'สังคมนิยม' มากกว่าที่จะเป็น 'ผู้นำทางความคิด' แบบ 'ศักดินา' อย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจ … แน่ะ !!! … อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าจะถกเถียงได้เยอะอยู่เหมือนกัน … :D



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

拔茅茹以其彙貞吉亨
bá máo rú yǐ qí huì zhēn jí hēng
ป๋า เม๋า ญู๋ อี่ ชี๋ ฮุ่ย เจิน จี๋ เฮิง


โอ้ว !! … 'จิวกง' อันร้ายกาจของผมเล่นวลีซ้ำทั้งวรรคเลยครับคราวนี้ โดยวรรคที่หนึ่งในบทที่สิบเอ็ดแกบันทึกไว้ว่า 拔茅茹以其彙征吉 พอมาถึงบทนี้แกก็เปลี่ยนเฉพาะคำลงท้ายเท่านั้น …  拔茅茹以其彙貞吉亨 … เรียกว่าไม่ยอมน้อยหน้า King Wen ที่เล่นวลี 小往大來 กับ 大往小來 เลยทีเดียว … :D … ที่ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ 征吉 กับ 吉亨 เป็นคู่ที่สามารถสลับตำแหน่งของอักษรกันได้โดยที่มีความหมายเหมือนเดิมอีกต่างหาก ซึ่งก็เลยทำให้ทั้งสองวรรคนี้มีเพียงอักษรตัวเดียวที่งอกขึ้นมาใหม่ อักษรตัวนั้นก็คือ 貞 (zhēn, เจิน) แล้วก็มีความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้หรอกครับ นอกจากมันจะหมายถึง 君子貞 ที่ King Wen เพิ่งจะใช้ไปหมาดๆ นั่นเอง

ความหมายของวรรคนี้ก็เรียกว่าไม่ต้องคิดมากล่ะครับ … 'การมุ่งกำจัด (拔 คือถอนทิ้งไป) สิ่งที่ไร้คุณค่าความหมาย (茅 คือวัชพืช) และความเหลวแหลกที่ไม่พึงปรารถนา (茹 คือความเน่าเฟะ) เพื่อสั่งสมไว้เพียงเฉพาะปัจจัยที่มีคุณประโยชน์ (以其彙) ด้วยวุฒิภาวะแห่งผู้นำที่เหมาะสม (君子貞) ย่อมนำไปสู่พัฒนาการแห่งความเจริญ (吉亨)' … หรืออาจจะ 'ตีความ' ว่า 'การรู้จักแยกแยะ (拔) สิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ (茅) และความเหลวแหลกที่ไม่พึงปรารถนา (茹) ออกจาก (以) สิ่งอื่นๆ (其) ที่พึงถนอมรักษาเอาไว้ (彙) ด้วยหลักปฏิบัติแห่งผู้นำที่ดี (君子貞) ย่อมนำไปสู่พัฒนาการแห่งความเจริญ (吉亨)'

นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมมองว่า 否 (pǐ, ผี่) น่าจะไม่ใช่เรื่องของ 'ความเลวร้าย' หรือ 'อุปสรรค' ที่กีดขวางจนทุกอย่างต้อง 'หยุดชะงัก' หรือต้อง 'ถอยร่น' จนไม่เป็นอันดำเนินกิจกรรมใดๆ อีกเลย แต่มันควรจะหมายถึง 'การยืนหยัดในหลักการและเป้าหมาย' ด้วยความพร้อมที่จะเผชิญกับทุกอุปสรรคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อไป … โดย 'จิวกง' เพียงแต่เสริมเอาไว้ว่า ให้ดำเนินการอย่างมี 'วุฒิภาวะ' และต้องใช้ 'วิจารณญาณ' ในการแยกแยะมากกว่าสถานการณ์ปรกติเท่านั้น

หากมองให้อีกแง่หนึ่ง คำว่า 匪人 ในวลีของ King Wen ก็แทบจะถูกขยายความเป็น 拔茅茹以其彙 หรือ 'การแยกแยะสิ่งที่เหลวไหลไร้ค่าออกจากสิ่งที่พึงปรารถนา' ในวลีแรกของ 'จิวกง' … ในขณะที่วลียาวๆ ของ King Wen ที่บันทึกว่า 不利君子貞大往小來 ก็ถูก 'จิวกง' ทวนความหมายด้วยวลี 貞吉亨 ซึ่งวลีเต็มๆ ของมันก็คือ (利君子)貞吉亨 นั่นเอง

แล้วถ้าหากเราย้อนไปดูวรรคที่หกในบทที่สิบเอ็ดอีกครั้ง เราก็จะเห็นวิธีเล่นคำที่ 'จิวกง' ใช้เชื่อมความหมายของบทอย่างน่าสนใจมาก โดยวรรคดังกล่าว 'จิวกง' เลือกใช้วลีว่า 城復于隍勿用師自邑告命貞吝 ในขณะที่ King Wen บันทึก 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์' ในบทนี้ด้วยวลี  否之匪人不利君子貞大往小來 …

    • 城復于隍 ที่แปลว่า 'ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองอัตคัตแร้นแค้น' มันก็คือ 否 ที่หมายถึง 'ไม่ราบรื่น'
    • 勿用師 ก็คือ 不利君子貞 โดย 勿用 มีความหมายไม่ต่างไปจาก 不利 อย่างชัดเจน ส่วน 師 ที่แปลว่า 'แม่ทัพ' กับ 君子 ที่แปลว่า 'ผู้นำ' ก็แทบจะเป็น synonyms กันเห็นๆ … แต่หากเราพิจารณาให้ 師 หมายถึงบทที่เจ็ด อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'การขยายผล' ซึ่งเป็น 'ข้อแนะนำ' หรือ 'หลักในการครองตน' ของ 'ผู้นำ' สำหรับการผลักดันการดำเนินงานต่างๆ …  師 ก็จะมีความหมายเดียวกับ 君子貞 ทันที
    • ส่วนวลี 自邑告命貞吝 ก็จะเป็นเพียงเงาสะท้อนของ 大往小來 คือต่อให้หักโหมทรัพยากรยังไงก็ได้ผลลัพธ์แค่นิดเดียว

ซึ่งการพิจารณาความหมายเปรียบเทียบแบบที่ว่านี้ จะส่งผลให้วรรคที่หกของบทที่สิบเอ็ด มีความหมายเป็น synonyms กับวลีของ King Wen ในบทที่สิบสองทันที และทำให้วลีแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ย้อนกลับไปขยายความให้กับ 'ความไม่หักโหม' ในบทที่แล้วว่า ไม่ได้หมายถึง 'การล้มเลิกความตั้งใจ' แต่หมายถึงต้องดำเนินการด้วย 'ความระมัดระวัง' และมี 'ความละเอียดรอบคอบ' มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด หรือเพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย … น่ารักดีนะครับพ่อลูกคู่นี้ … :D

 

สอง หยิน :

包承小人吉大人否亨
bāo chéng xiǎo rén jí dà rén pǐ hēng
เปา เฌิ๋ง เสี่ยว เญิ๋น จี๋ ต้า เญิ๋น ผี่ เฮิง


承 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'ส่งมอบ', 'สืบทอด', 'ได้รับ', 'รองรับจากด้านล่าง', 'สนับสนุน', 'ธำรงรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง'

ดูเหมือน 'จิวกง' จะเล่นวลีที่ 'ล้อความหมาย' กับบทที่แล้วเป็นรายวรรคไปเลยแฮะ :P ... โดยวรรคที่สองของบทที่สิบเอ็ดนั้น 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ว่า 包荒用馮河不遐遺朋亡得尚于中行 (การหล่อเลี้ยงบำรุงถิ่นทุรกันดารย่อมต้องอาศัยกระแสน้ำที่รินไหล หากเห็นแก่ได้โดยไม่ยอมอุทิศสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในระยะยาว สัมพันธภาพที่สมดุลก็ย่อมจะสูญสลาย … ผู้ที่จะบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวัง ย่อมต้องดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม) ซึ่งคำสำคัญในวรรคดังกล่าวก็คือ 不遐遺 (bù xiá yí, ปู้ เซี๋ย อี๋) ที่ได้รับ 'การตีความ' ไว้ว่า 'ไม่ยอมเหลือสิ่งใดไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง' อันจะส่งผลลัพธ์เป็น 朋亡 (péng wáng, เพิ๋ง วั๋ง) หรือ 'สัมพันธภาพที่สมดุลย่อมเสื่อมสลาย' ... แต่ในวรรคนี้ของ 'จิวกง' เปลี่ยนไปเล่นคำว่า 包承 (bāo chéng, เปา เฌิ๋ง) ซึ่งแปลว่า 'การหล่อเลี้ยงและปกปักรักษาไว้' จะส่งผลให้กลายเป็น 亨 (hēng, เฮิง) คือมี 'ความก้าวหน้า' หรือ 'การพัฒนา' ในบั้นปลาย

ในอีกทางหนึ่ง วรรคนี้ก็ทำหน้าที่ขยายความให้กับวลีว่า 貞吉亨 ของวรรคที่หนึ่งซึ่งก็คือวลีเต็มๆ ว่า (利君子)貞吉亨 (ความหนักแน่นในหลักแห่งผู้นำย่อมพัฒนาไปสู่ความเจริญ) อย่างที่เล่าไปแล้ว โดยมีการ 'ล้อความหมาย' มาจาก 得尚于中行 (การจะบรรลุสิ่งที่มุ่งหวัง ย่อมต้องดำเนินการอย่างเที่ยงธรรม) ในวรรคที่สองของบทที่สิบเอ็ดไปพร้อมๆ กันด้วย ... วรรคนี้จึงควรจะมีความหมายว่า 'การปกป้อง (包) เพื่อธำรงรักษาไว้ (承) ซึ่งสิ่งอันเป็นคุณประโยชน์ในระยะยาว ย่อมเป็นสิริมงคล (吉) สำหรับอนุชนคนรุ่นหลัง (小人) ที่ผู้นำ (大人) จะต้องยืนหยัด (否) อย่างมั่นคง ... เยี่ยงนี้จึงจะเป็นการพัฒนา (亨) ที่ยั่งยืน'

 

สาม หยิน :

包羞
bāo xiū
เปา ซิว


โฮะ !!! เจอบันทึกเป็นอักษรด้วนๆ ไว้แค่สองตัวเองเหรอเนี่ยะ ??!!

羞 อ่านว่า xiū (ซิว) แปลว่า 'เกร็ง', 'เกรงกลัว', 'อึดอัดใจ', 'ละอายแก่ใจ', 'น่าขบขัน' ; แต่ก็มีความหมายว่า 'ตระเตรียมไว้ให้', 'มอบให้', 'อุทิศให้' ได้ด้วย ; ในอีกความหมายหนึ่งจะสามารถแปลว่า 'นำเสนอ', 'ขยับเข้าใกล้', 'คืบหน้า'

ถ้าจะแปลกันด้วยความหมายของคำโดดแล้ว 羞 (xiū, ซิว) น่าจะมีความหมายคล้ายกับ 'หิริโอตตัปปะ' คือมี 'ความละอายใจ' และ 'ความเกรงกลัวต่อบาป' หรือถ้าจะใช้คำที่ห่างๆ วัดออกไปหน่อยก็จะมีความหมายประมาณว่า 'ความยับยั้งชั่งใจ' ... แต่หากมองในมุมของ 'ความอึดอัดใจ' ความหมายของ 包羞 ก็น่าจะหมายถึง 'ต้องมีความอดทนอดกลั้น' หรือ 'รู้จักเก็บงำความรู้สึก' เมื่อต้องเผชิญกับ 'ความยากลำบาก' หรือ 'ยืนหยัดในความถูกต้อง' ที่อาจจะถูกผู้อื่นมองว่าเป็นสิ่ง 'น่าขบขัน'

แต่ถ้าจะว่ากันด้วยความหมายละเอียดๆ จริงๆ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูวลียาวๆ ของ 'จิวกง' ในวรรคที่สามของบทที่สิบเอ็ดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบันทึกไว้ว่า 無平不陂無往不復艱貞無咎勿恤其孚于食有福 (ไม่มีที่ราบใดที่จะไม่เป็นแหล่งรองรับน้ำ ไม่มีการให้ใดที่จะไม่ได้รับการตอบสนอง ความมุ่งมั่นในหลักแห่งคุณธรรมอย่างมีน้ำอดน้ำทนโดยไม่ปริปากบ่น และไม่มัวพะวงอยู่กับสิ่งตอบแทนที่ตนจะได้รับ ทุกสิ่งก็ย่อมจะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์โดยความมุ่งมั่นนั้น เนื่องเพราะการยอมสละเพื่ออุทิศให้อย่างทุ่มเท ย่อมก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่พอกพูนขึ้นเสมอ) ... ซึ่งได้ถูกย่นย่อเหลือเพียง 大人否 (ผู้นำจะต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง) ในวรรคที่สองของบทนี้ที่เพิ่งจะเล่าไป ... อักษรเพียงสองตัวที่เห็นในวรรคนี้จึงน่าจะมีความหมายว่า 'แม้ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากลำบาก และไม่สามารถที่จะผลักดันภารกิจใดๆ ให้รุกคืบต่อไปข้างหน้า ผู้นำก็ยังต้องมีความยืนหยัดในอุดมการณ์อย่างไม่ระย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เพื่อรอคอยจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการต่อไปอย่างมีน้ำอดน้ำทนเสมอ'

 

สี่ หยาง :

有命無咎疇離祉
yǒu mìng wú jiù chóu lí zhǐ
โหฺย่ว มิ่ง อู๋ จิ้ว โฌ๋ว ลี๋ จื่


疇 อ่านว่า chóu (โฌ๋ว) แปลว่า 'ที่นา', 'พื้นที่เพาะปลูก' ; 'การจัดสรรปันส่วน', หรือ 'การจำแนกหมวดหมู่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 籌 (chóu, โฌ๋ว) ที่หมายถึง 'การไถพรวน' เพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก, มันจึงสามารถหมายถึง 'การตระเตรียม', 'การวางแผน' ได้ด้วย ; และในสมัยก่อนมันก็เคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 儔 (chóu, โฌ๋ว) ที่หมายถึง 'คู่หู', หรือ 'เพื่อนร่วมงาน' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากลักษณะของการทำไร่ไถนาที่มักจะต้องมีผู้คนมาช่วยกันหลายไม้หลายมือพอสมควร

離 อ่านว่า lí (ลี๋) แปลว่า 'จากไป', 'ห่างไกล', 'แยกออกจากัน', 'เป็นอิสระจากกัน' ; 'หักออก', 'ลดน้อยลง' ; แต่ในความหมายของ 'แยกออกมา' ก็เลยแผลงเป็น 'โดดเด่น' หรือ 'สวยงาม' ได้อีกด้วย ; ในสมัยหนึ่งยังใช้ในความหมายเดียวกับ 罹 (lí, ลี๋) ที่หมายถึง 'โศกเศร้า', 'รันทด', 'กล้ำกลืน'

祉 (zhǐ, จื่อ) เพิ่งจะเล่าไปเมื่อบทที่แล้วว่ามีความหมายเหมือนกับ 福 (fú, ฟู๋) ที่แปลว่า 'โชคลาภ', 'ความสุข', 'มั่งมี', หรือ 'มากมายมหาศาล'

ผมรู้สึกเหมือนกับว่า 'จิวกง' กำลังพยายามจะสื่อความหมายที่แตกต่างกันบางอย่างของ 'การยืนหยัด' กับ 'การตะแบง' โดยสะท้อนออกมาในคำว่า 命 (mìng, มิ่ง) ที่หมายถึง 'คำสั่ง' กับคำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) ที่หมายถึง 'คำบ่น', 'คำตัดพ้อต่อว่า', 'เสียงโอดครวญ', หรือ 'คำแก้ตัวที่เฉไฉไปมาน่ารำคาญ' ... :P ... คืออย่างนี้ครับ ... ในสภาพที่การดำเนินงานต้องประสบกับอุปสรรค หรือเผชิญกับปัญหาที่ทำให้ทุกอย่างไม่คืบหน้านั้น บ่อยครั้งที่คนเรามักจะล้างผลาญเวลาให้หมดไปกับ 'การกล่าวโทษ' หรือ 'การบ่นกระปอดกระแปด' ไปเรื่อยเปื่อย โดยที่ไม่มี 'คำสั่งการ' ใดๆ ให้มันชัดเจนลงไปว่าจะต้องช่วยกันกอบกู้สถานกรณ์ยังไง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ทุกๆ ฝ่ายต่างก็จะหมางเมินเพราะเหม็นขี้หน้ากัน ในขณะที่งานการมันก็ยังไม่คืบหน้าเหมือนเดิม เพราะมัวแต่ละเลงน้ำลายให้หมดไปกับสิ่งที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ... :D ... จึงเป็นที่มาของคำว่า 有命無咎 คือ 'ให้มอบหมายคำสั่ง ไม่ใช่เอาแต่บ่นหรือแก้ตัว' ... ประมาณนั้น ... รึเปล่าไม่รู้นะครับ ??!! ... ;)

แต่คิดๆ ดูอีกทีแล้วผมไม่เอาแบบนั้นดีกว่า ... :D ... 'การตีความ' ให้กับวรรคนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวรรคที่สี่ในบทที่สอง และวรรคที่สี่ในบทที่สิบเอ็ดอยู่พอสมควร โดย 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สี่ของบทที่สองว่า 括囊無咎無譽 (จงเน้นที่การสั่งสมความสำเร็จ ไม่เสียขวัญเพราะคำค่อนขอดว่าร้าย ไม่ลำพองเพราะคำสรรเสริญเยินยอ) อันเป็นที่มาของการสื่อความหมายถึง 'ความหนักแน่น' และ 'การยืนหยัด' ในบทนี้ ...

ส่วนในวรรคที่สี่ของบทที่สิบเอ็ดนั้น 'จิวกง' ก็เลือกบันทึกด้วยวลีว่า 翩翩不富以其鄰不戒以孚 ซึ่งหากพิจารณาควบคู่กับวรรคที่สี่ในบทนี้ ความหมายก็จะแผลงเป็นว่า 'การทำอะไรลุกลี้ลุกลน (翩翩) ย่อมไม่เกิดผลดี (不富) ด้วยการจะประสานทุกฝ่ายให้ร่วมมือกัน (以其鄰) อย่างราบรื่น โดยไม่ขัดแข้งขัดขากันเอง (不戒) นั้น ย่อมเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่มีระบบระเบียบ (以孚) เสมอ' ... ตรงนี้แหละที่ส่งต่อความหมายมายังวรรคนี้ว่า 'จะต้องมีการมอบหมายคำสั่ง (有命) ที่ไม่ผิดเพี้ยน (無咎) และมีการจัดสรรปันส่วนงาน (疇) อย่างเด็ดขาดชัดเจน (離) จึงจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี (祉) ขึ้นมาได้'

จะเห็นว่ามีการเลือกเล่น 'คำตรงข้าม' ได้อย่างน่าสนใจพอสมควรสำหรับวลีคู่นี้ โดยบทที่สิบเอ็ดนั้น 'จิวกง' ใช้คำว่า 鄰 (lín, ลิ๋น) ที่แปลว่า 'รวม' หรือ 'ประสาน' ... แล้วมาสลับขั้วเปลี่ยนเป็นคำว่า  (lí, ลี๋) ที่แปลว่า 'แยก' หรือ 'แจกแจง' ในบทนี้ ... โดยมีวลีว่า 其鄰不戒 (qí lín bù jiè, ชี๋ ลิ๋น ปู้ เจี้ย : การระดมกำลังอย่างไม่เปะปะ) ถูกคำว่า 疇離 (chóu lí, โฌ๋ว ลี๋) ที่หมายถึง 'การจัดสรรปันส่วนงานอย่างชัดเจน' ขยายความเพื่อสื่อความหมายออกมาว่า 'ความมีระบบระเบียบ' (孚) ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' () ตามที่มุ่งหวัง ... แล้วก็เจ้า 'ความมีระบบระเบียบ' ที่ว่านี่เองที่มาสะท้อนความหมายของ 貞 หรือ (君子)貞 ที่หมายถึง 'หลักแห่งผู้นำที่ดี' ที่เอ่ยถึงในวรรคแรกของบทนี้ เพื่อโยงวรรคที่สี่กับวรรคที่หนึ่งให้เป็นคู่ส่งทอดความหมายกันตามแบบฉบับมาตรฐานของ 'จิวกง' ทุกประการ ... ร้ายกาจจริงๆ !! ... :)

 

ห้า หยาง :

休否大人吉其亡其亡系于苞桑
xǜ pǐ dà rén jí qí wáng qí wáng xì yǘ bāo sāng
ซฺวี่ ผี่ ต้า เญิ๋น จี๋ ชี๋ วั๋ง ชี๋ วั๋ง ซี่ ยฺวี๋ เปา ซัง


休 อ่านว่า xiū (ซิว) แปลว่า 'หยุดพัก' ; 'จบสิ้น', 'สิ้นสุด' ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพราะ 'พ่ายแพ้' หรือ 'หมดสภาพ' มันจึงสามารถแปลว่า 'ล้มเลิก', 'ยกเลิก', 'ถอนตัว' ; แต่ในขณะเดียวกัน หากมองจากด้านของผู้ชนะ มันก็จะหมายถึง 'เสร็จสิ้นภาระกิจ', 'พักผ่อน', หรือ 'การเฉลิมฉลอง' รวมไปถึง 'การเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญๆ' ซึ่งมักจะเป็น 'วันหยุด' และมีการละเล่นเพื่อ 'ความรื่นเริง' ต่างๆ

แต่ถ้า 休 อ่านออกเสียงว่า xǜ (ซฺวี่) จะมีความหมายเหมือนกับ 煦 (xǜ, ซฺวี่) ที่แปลว่า 'อบอุ่น', 'ความเอื้อเฟื้อ', 'ความสุภาพอ่อนโยน', 'ความนุ่มนวล'

系 อ่านว่า xì (ซี่) แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'สัมพันธ์', ซึ่งอาจจะครอบคลุมไปถึง 'ความเป็นระบบ', 'ความเป็นกระบวนการ' ของสิ่งต่างๆ ; หากนำไปใช้ในแง่ของวิชาความรู้ 系 ก็อาจจะหมายถึง 'แผนก' หรือ 'สาขาวิชา' ต่างๆ

苞 อ่านว่า bāo (เปา) ปรกติจะสามารถใช้เหมือนกับ 包 ในความหมายว่า 'ห่อ' ก็ได้ แต่ 苞 อาจจะเจาะจงลงไปว่าหมายถึง 'การห่อ' ด้วย 'ใบของพืชต่างๆ' จึงทำให้มันสามารถแปลว่า 'ผูกติดกัน', 'มัดรวมกัน' เช่นในกรณีของรองเท้าหญ้า หรือการมุงหลังคาด้วยหญ้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการผูก หรือมัดใบหญ้าให้รวมกันเป็นฟ่อน ; ในอีกความหมายหนึ่งมันยังหมายถึง 'ราก' ของต้นไม้ใบหญ้า หรือ 'เหง้า' ของพืชชนิดต่างๆ จึงทำให้มันสามารถแปลว่า 'การเติบโต' หรือ 'การขยายใหญ่ขึ้น' ได้ด้วย

桑 อ่านว่า sāng (ซัง) แปลว่า 'ต้นหม่อน' โดยในวรรคนี้จะมีการใช้คำว่า 苞桑 ซึ่งหมายถึง 'รากของต้นหม่อน' แต่ความหมายจริงๆ ของคำนี้จะเป็นการเปรียบเปรยว่า 'มีรากฐานที่มั่นคง' หรือ 'มีความหนักแน่นมั่นคง' เนื่องจากต้นหม่อนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีใบดกหนา เติบโตได้รวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกไว้สำหรับให้ร่มเงา และยังใช้เป็นที่กำบังลมได้ด้วย

สำหรับวรรคนี้ ปมที่จะต้องขบให้แตกซะก่อนก็คือ จะออกเสียงอักษรสองตัวแรก (休否) ว่า xiū pǐ (ซิว ผี่) หรือว่า xǜ pǐ (ซฺวี่ ผี่) เพราะมันจะมีผลให้ความหมายของวรรคนี้ฉีกแยกออกไปคนละทิศคนละทางเลย ... โดยถ้าเราเลือกออกเสียงว่า xiū pǐ มันจะทำให้ 休否 มีความหมายประมาณว่า 'ยุติการยืนหยัด', 'ล้มเลิกความมุ่งมั่น' หรืออาจจะแค่ 'ขอพักรบกับปัญหาต่างๆ เป็นการชั่วคราว' แต่คงไม่ใช่หมายถึง 'ยืนหยัดอย่างบันเทิงเริงใจ' แน่ๆ ... :P ... แต่ถ้าออกเสียงว่า xǜ pǐ (ซฺวี่ ผี่) มันจะทำให้ 休否 มีความหมายว่า 'ยืนหยัดอย่างสุภาพอ่อนโยน', 'ยืนหยัดด้วยความนุ่มนวล' หรือ 'ยืนหยัดด้วยความอบอุ่นเอื้อเฟื้อ' ... ซึ่งฟังแล้วรู้สึกอยากจะไปยืนด้วยเลยนะนั่น :D ...

สมมุติว่าเอาความหมายแบบกลางๆ ของทั้งสองแบบนี้มาผสมกัน ผมก็คิดว่า 休否 น่าจะหมายถึง 'การยืนหยัดอย่างไม่หักโหม' คือทั้งไม่เลิก ทั้งไม่หยุด แต่ดำเนินการต่อไปอย่างหนักแน่นด้วยความระมัดระวัง ... และความหมายดังที่ว่านี้เองที่จะเป็นสิ่งยืนยันอีกครั้งว่า 帝乙歸妹 ที่เห็นในวรรคที่ห้าของบทที่สิบเอ็ดนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการยกน้องสาวฮ่องเต้ให้แต่งงานกับใครที่ไหนเลย !!!?? โดยเราจะเห็นว่า 歸妹 ที่หมายถึง 'การดำเนินงานอย่างเอาเป็นเอาตาย' ในวรรคดังกล่าว ได้ถูกจับคู่กับ 休否 (xǜ pǐ, ซฺวี่ ผี่) ที่แปลว่า 'การยืนหยัดอย่างหนักแน่นนุ่มนวล' ซึ่ง 休否 (xǜ pǐ, ซฺวี่ ผี่) ที่เอ่ยถึงนี้ก็ยังเป็นการขยายความให้กับวลีว่า 大人否 ของวรรคที่สองในบทนี้เองด้วย เพื่อที่จะบอกว่า 否 หรือ 'ยืนหยัด' เนี่ยะ .. มันควรจะต้องครองตนกันยังไง ??! ;)

ความหมายของวรรคนี้จึงควรจะได้รับ 'การตีความ' ว่า 'การยืนหยัดและดำเนินการต่อไปอย่างละมุนละม่อม (休否) ย่อมเป็นสิริมงคล (吉) แก่ตัวผู้นำ (大人) ที่จะสามารถดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปทีละขั้นทีละตอน (其亡其亡) ตามที่กำหนดไว้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก (系于) ความสุขุมลุ่มลึก และความหนักแน่นมั่นคง (苞桑) ของตัวผู้นำนั้นเอง'

ส่วนที่ผมตัดสินใจเลือกออกเสียง 休否 ว่า xǜ pǐ นั้น น่าจะเป็นเพราะวลีโดยรวมทั้งหมดสมควรจะออกเสียงอย่างนั้นมากกว่า โดยผมทดลองตัดวลีตรงกลางวรรคออกไป 休否 大人吉 其亡其亡 系于苞桑 แล้วก็ออกเสียงว่า  pǐ  yú bāo sāng (ซฺวี่ ผี่ ซี่ ยฺวี๋ เปา ซัง) ซึ่งจะมีความหมายว่า 'การยืนหยัดอย่างละมุนละม่อม เป็นเรื่องของความลุ่มลึกและความหนักแน่นมั่นคง' ... นั่นก็คือความหมายจริงๆ ที่ 'จิวกง' น่าจะต้องการสื่อกับพวกเรา ส่วนวลีตรงกลางที่ตัดออกไปก็เป็นเพียง 'ส่วนขยายความ' ของ 休否 เท่านั้นเอง ;)

 

หก หยาง :

傾否先否后喜
qīng pǐ xiān pǐ hòu xǐ
ชิง ผี่ เซียน ผี่ โฮ่ว สี่


傾 อ่านว่า qīng (ชิง) แปลว่า 'ก้ม', 'ลู่', 'เอนเอียง' ; 'ยอมรับนับถือ', 'ศรัทธา' ; พอ 'ลู่' หนักๆ เข้าก็เลยกลายเป็น 'ทุ่มเท', 'ทุ่มจะสุดกำลัง', เหมือนยกภาชนะคว่ำลงเพื่อ 'เทให้จนหมด' แล้วก็เลยแปลว่า 'ว่างเปล่า' ไปด้วยซะเลย :)

ผมว่า 'จิวกง' จบสวยนะ คือถ้าเราไล่มาตั้งแต่วรรคที่หกของบทที่สิบเอ็ด เราก็จะเจอกับคำว่า 自邑告命貞吝 (ต่อให้ออกคำสั่งเฉียบขาดขนาดไหน ผลลัพธ์ก็ยังคงเล็กน้อยจนไร้ความหมายอยู่ดี) ... มาตอนต้นของบทนี้ก็เจอกับวลีของ King Wen ว่า 大往小來 (ทุ่มเทลงไปมากมาย แต่ก็ไร้ซึ่งความหมาย) ... พอวรรคที่หนึ่งก็บอกว่า 拔茅茹以其彙貞吉亨 (อย่าไปสนใจกับเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ ให้มุ่งหน้าทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์จึงจะเจริญ) ... ถึงวรรคที่สองก็เจอ 大人否 (ผู้นำต้องยืนหยัด) ... เจอวรรคที่สามบอกให้ 包羞 (ต้องอดทนอดกลั้น) ... แถมวรรคที่สี่ยังซุกความหมายว่า 無咎 (อย่าบ่น) ... กับวรรคที่ห้าก็ยังตอกย้ำว่า 其亡其亡 (ทำได้แค่ทีละขั้นทีละตอน) เท่านั้น ... วรรคที่หกถึงต้องเปิดวลีด้วยคำว่า 傾否 หรือ 'จงยืนหยัดด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา' ... โฮะ !! ... ซึ่งผมคิดว่าถ้าไม่มี 'ความศรัทธาอันแรงกล้า' จริงๆ ก็คงตายไปแล้วมั้งครับ ??!! ... อึดๆ อัดๆ มาตั้งแต่บทที่แล้วซะขนาดนั้น ... :D

ความหมายของวรรคสุดท้ายในบทนี้ก็คือ 'จงยืนหยัดด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา (傾否) ในอุดมการณ์และเป้าหมาย แม้ว่าจะต้องลำบากลำบนเพราะความอัปโชคในระยะแรกๆ (先否) แต่ผลลัพธ์ในบั้นปลายย่อมเป็นความปลื้มปิติ (后喜) ในความสำเร็จที่สู้อุตส่าห์ฟันฝ่ามาตลอดระยะทาง'



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ผี่' คือ การยืนหยัด, ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

ผู้ที่จะ 'ยืนหยัด' เมื่อต้อง 'เผชิญหน้า' กับ 'อุปสรรค' หากไม่ยึดถือ 'วิถีทางแห่งปราชญ์' ต่อให้ทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมากมายเพียงใด 'ความสำเร็จ' ที่ได้ก็จะมีเพียงน้อยนิดจนไร้ซึ่ง 'ความหมาย'

  •  
  • การ 'มุ่งกำจัด' สิ่งที่ 'ไร้คุณค่าความหมาย' และ 'ความเหลวแหลก' ที่ 'ไม่พึงปรารถนา' เพื่อ 'สั่งสม' ไว้เพียงเฉพาะปัจจัยที่มี 'คุณประโยชน์' ด้วย 'วุฒิภาวะแห่งผู้นำ' ที่เหมาะสม ย่อมนำไปสู่ 'พัฒนาการ' แห่ง 'ความเจริญ'
  • 'การปกป้อง' เพื่อ 'ธำรงรักษาไว้' ซึ่งสิ่งอัน 'เป็นคุณประโยชน์' ใน 'ระยะยาว' ย่อมเป็น 'สิริมงคล' สำหรับ 'อนุชนคนรุ่นหลัง' ที่ 'ผู้นำ' จะต้อง 'ยืนหยัด' อย่าง 'มั่นคง' ... เยี่ยงนี้จึงจะเป็น 'การพัฒนาที่ยั่งยืน'
  • พึง 'ยืนหยัด' ด้วย 'ความอดทดอดกลั้น' โดย 'ไม่ระย่อท้อ' ต่ออุปสรรคใดๆ
  • ต้องมี 'การมอบหมายคำสั่ง' ที่ 'ชัดเจน' 'ไม่เปะปะผิดเพี้ยน' เพื่อจะ 'จัดสรรปันงาน' ให้เป็น 'สัดส่วน' ที่ 'เด่นชัด' จึงจะเป็น 'ผลดี'
  • 'การยืนหยัด' และ 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความละมุนละม่อม' ย่อมเป็น 'ผลดี' ต่อ 'ผู้นำ' ด้วยจะสามารถ 'บรรลุผลสำเร็จ' อย่าง 'เป็นขั้นเป็นตอน' ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องอาศัย 'ความลุ่มลึก' และ 'ความสุขุมรอบคอบ' อย่าง 'หนักแน่นมั่นคง' ของตัว 'ผู้นำ' นั้นเอง
  • จง 'ยืนหยัด' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ศรัทธา' ใน 'อุดมการณ์' และ 'เป้าหมาย' แม้ว่าจะต้อง 'ลำบากลำบน' เพราะ 'ความอัปโชค' ในระยะแรกๆ แต่ 'ผลสำเร็จ' ในบั้นปลายย่อมยัง 'ความปลื้มปิติ' ใน 'ความวิริยะอุตสาหะ' ที่ 'สู้ฟันฝ่า' มาโดยตลอด


 

The Organization Code :



'การยืนหยัด' คือจะต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ต่อ 'อุดมการณ์' และ 'เป้าหมาย' ... มี 'นโยบาย' ที่ 'เปิดกว้าง' 'พร้อมแบกรับ' ทุกสถานการณ์ (⚏) ; มี 'แผนงาน' ที่ 'ยืดหยุ่น' แต่ 'ชัดเจน' และ 'รัดกุม' (⚎) ; กับต้องมี 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่ 'ตื่นตัว' และเพียบพร้อมด้วย 'ศักยภาพ' (⚌)

'การยืนหยัด' ที่จะกระทำการใดๆ ย่อมมิใช่ 'การดึงดันเอา' อย่าง 'ไร้สติ' ... 'ความสำเร็จ' ย่อมเกิดจาก 'การทุ่มเท' อย่างมี 'วิจารณญาณ' ที่เหมาะสมเท่านั้น

  •  
  • ต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'อุดมการณ์' และ 'เป้าหมาย' ของพันธกิจที่มุ่งหวัง และต้องสามารถ 'แยกแยะ' 'คุณค่าความหมาย' ของกิจกรรมต่างๆ ที่จะปฏิบัติให้ตรงกับ 'วัตถุประสงค์' ของภารกิจต่างๆ อย่างมี 'วุฒิภาวะ' ที่เหมาะสม
  • ต้องมี 'วิสัยทัศน์' ที่ 'ยาวไกล' และมี 'ความมุ่งมั่น' ที่จะ 'ยืนหยัด' เพื่อ 'ปกป้อง' สิ่งที่เป็น 'คุณประโยชน์' สำหรับ 'อนาคต' อันจะนำไปสู่ 'การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ต่อๆ ไป
  • ต้องมี 'ความอดทนอดกลั้น' และ 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'อุปสรรค' ใดๆ ไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหนก็ตาม
  • ต้องมี 'การจัดสรร' กระบวนการปฏิบัติงานอย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' ที่ 'ชัดเจน' มี 'การถ่ายทอดคำสั่ง' ที่ 'ไม่เปะปะผิดเพี้ยน' เพื่อจะสามารถ 'ติดตาม'  และ 'ประเมินผลงาน' ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
  • 'ผู้นำที่ดี' จึงต้องมี 'ความสุขุมลุ่มลึก' และมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' ไม่ดำเนินการใดๆ ด้วย 'ความบุ่มบ่ามหุนหัน' แต่จะต้องกระทำการด้วย 'ความละมุนละม่อม' เพื่อให้ทุกๆ 'กระบวนการ' บรรลุผลตาม 'ขั้นตอนที่ถูกต้อง' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป'
  • จะต้องมี 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความศรัทธา' ในทุกๆ ภารกิจที่จะกระทำการ แม้จะต้องฟันผ่ากับ 'อุปสรรค' ต่างๆ ในระยะเริ่มต้น แต่ 'ความสำเร็จ' ด้วย 'ความวิริยะอุตสาหะ' ย่อมยัง 'ความปลาบปลื้มยินดี' และ 'ความภาคภูมิใจ' ให้แก่ทุกผู้คนในบั้นปลายเสมอ


การปฏิบัติงานใน 'สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย' ย่อมสร้าง 'ความอึดอัดขัดเคือง' ให้แก่ทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องเสมอ ... 'ผู้นำ' ซึ่งต้องรับหน้าที่ในการกำกับดูแล 'นโยบาย' และ 'ทิศทาง' จึงต้องมี 'ความสุขุมลุ่มลึก' และมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' (⚏) โดย 'พร้อมจะแบกรับ' ทุก 'อุปสรรค' ที่ต้องเผชิญ เพื่อจะ 'ฟันผ่าออกไป' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'เด็ดเดี่ยวแน่วแน่' ... 'การบริหารงาน' ก็จะต้องมี 'ความละเอียดรอบคอบ' เป็นพื้นฐาน และจะต้องมอบหมายภารกิจต่างๆ ออกไปด้วย 'ความเด็ดขาดชัดเจน' (⚎) จึงจะส่งผลให้ 'ฝ่ายปฏิบัติการ' มี 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' ในการ 'บุกตะลุย' ต่อไปอย่าง 'ไม่ย่อท้อ' (⚌) ... นี่คือความหมายแห่ง 'การยืนหยัด' ใน 'หลักการ' และ 'เป้าหมาย' ที่สะท้อนออกมาด้วย 'ภาพสัญลักษณ์' ䷋