Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十六卦 : 旅

 

旅 : 火山旅 ‧ 離上艮下

旅 : 小亨‧旅貞吉‧

  • 初六 : 旅瑣瑣‧斯其所取災‧
  • 六二 : 旅即次‧懷其資‧得童僕貞‧
  • 九三 ‧ 旅焚其次‧喪其童僕‧貞厲‧
  • 九四 : 旅于處‧得其資斧‧我心不快‧
  • 六五 : 射雉一矢亡‧終以譽命‧
  • 上九 : 鳥焚其巢‧旅人先笑后號咷‧喪牛于易‧凶‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์หนักแน่น-มั่นคง (⚏) ; ปัญญา เฉียบคม-เฉลียวฉลาด (⚌) ; พฤติกรรม ชัดเจน-มีหลักการ (⚎)


ความหมายในเชิงบริหาร : ผสมผสานกำลังทรัพยากร (☶) เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (☲)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความสมัครสมานสามัคคี, เจิดจรัสเหนือขุนเขา



ความหมายของชื่อเรียก : Synergizing : ความสมานฉันท์


ความหมายโดยทั่วไปของอักษร 旅 (lǚ, หลฺวี่) คือ 'การเดินทาง' หรือ 'การท่องเที่ยว' ซึ่งจะสื่อถึง 'ความไม่หยุดนิ่ง' หรือ 'ความไม่อยู่กับที่' แต่ด้วยเหตุที่ภาพอักษรของ 旅 (lǚ, หลฺวี่) นั้นประกอบไปด้วยภาพของ 'ธง' (旗 : qí, ชี๋) อยู่ทางด้านซ้าย และภาพของ 'ฝูงชน' (众 หรือ 眾 : zhòng, จ้ง) อยู่ทางด้านขวา จึงทำให้ 旅 (lǚ, หลฺวี่) มีอีกความหมายหนึ่งว่า 'กองกำลัง' หรือ 'กองทหาร' ที่ 'เคลื่อนกำลังพลภายใต้ธงประจำกองทัพ' ซึ่งในสมัยก่อนก็มีการใช้เป็น 'หน่วยนับกำลังพล' ด้วย คือ 5 นายเรียกว่า 伍 (wǔ, อู่) ; 5 伍 เรียกว่า 兩 (liǎng, เหฺลี่ยง หมายถึง 25 นาย) ; 4 兩 เรียกว่า 卒 (zú, จู๋ หมายถึง 100 นาย) ; 5 卒 เรียกว่า 旅 (lǚ, หลฺวี่ หมายถึง 500 นาย) ; 5 旅 เรียกว่า 師 (shī, ซือ หมายถึง 2,500 นาย) ; แล้วก็ 5 師 เรียกว่า 軍 (jǖn, จฺวิน หมายถึง 12,500 นาย) ; แล้วก็เลยทำให้มีการใช้คำว่า 旅 (lǚ, หลฺวี่) ในความหมายว่า 'รองแม่ทัพ' ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รองจาก 師 (shī, ซือ) หรือ 'แม่ทัพ' เพียงคนเดียวเท่านั้นด้วย

ดังนั้น ความหมายจริงๆ ของ 旅 (lǚ, หลฺวี่) จึงควรจะหมายถึง
'การเคลื่อนไปพร้อมๆ กันของคนจำนวนมากๆ' และไม่น่าจะหมายถึง 'การท่องเที่ยว' หรือ 'การเดินทาง' อย่างที่หลายๆ ตำราเลือกใช้คำว่า Travelling เพราะมันแทบจะไม่มีน้ำหนักความหมายใดๆ เลย  หากเราจะพิจารณาว่า บทที่ห้าสิบหกนี้ จะต้องเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของวรรคที่หกในบทที่หนึ่ง ซึ่ง 'จิวกง' เลือกใช้คำที่ค่อนข้างจะหนักหน่วงไว้ว่า 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยาน (亢) ในพลังอำนาจ (龍) อย่างไม่มีความยั้งคิดนั้น ย่อมนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ (有悔)' ... โดยทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ต่างก็เน้นย้ำในประเด็นของ 'การประสานความร่วมมือ' เพื่อ 'เสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง' (豐) ให้กับทุกๆ ภาคส่วนของสังคมในบทที่ห้าสิบห้ามาแล้ว ... ประเด็นที่ควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น 'บทต่อเนื่อง' ในบทที่ห้าสิบหกนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องของ 'ความสมานฉันท์' ของเหล่าสมาชิกทั้งหลาย เพื่อจะเตือนสติไว้ว่า ... เมื่อ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ของกลุ่มสังคมต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นจนถึงระดับหนึ่งแล้ว สมาชิกจำนวนมากก็มักจะ 'ลืมตัว' ด้วย 'ความเห่อเหิมทะเยอทะยาน' ใน 'ความสำเร็จ' ที่ตนได้รับ และพร้อมที่จะ 'อวดโอ่ศักดาบารมี' เพื่ออวดอ้างความเป็นผู้มี 'คุณูปการอันยิ่งใหญ่' ใน 'ความสำเร็จ' ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นชนวนเหตุแห่ง 'ความขัดแย้ง' และ 'ความแตกแยก' ระหว่างกลุ่มสังคมต่างๆ ที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อน อันจะนำไปสู่ 'ความล่มสลาย' ของ 'โครงสร้างความร่วมมือ' ที่เคยเป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ของ 'ความสำเร็จร่วมกัน' ของทุกๆ ฝ่ายมาตั้งแต่แรก ดังตัวอย่างเช่นครอบครัวใหญ่ของหลายๆ ตระกูลที่ลูกหลานในชั้นหลังๆ มักจะรวมกันไม่ติด หรือกลุ่มการเมืองทั้งหลายที่ 'รวมแล้วแตก-แยกแล้วรวม' จนแทบจะกลายเป็น 'สัจธรรม' ของสังคมกันไปแล้วนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ก็คือ ภาพของ ䷷ ที่ประกอบด้วย ☲ (離 : lí, ลี๋ หมายถึง 'ไฟ') วางอยู่เหนือ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น หมายถึง 'ภูเขา') ซึ่งดูยังไงผมก็นึกถึงภาพของ 'ภูเขาไฟ' อยู่ดี ... ความน่าสนใจของการนำภาพนี้มาผสมกับคำว่า 旅 (lǚ, หลฺวี่) ที่เป็น 'ชื่อบท' นั้น ทำให้การ 'ตีความชื่อบท' ให้แปลว่า 'การเดินทางท่องเที่ยว' ดูหมดสิ้นพลังไปเลยอย่างที่ผมบอกไปแล้ว เพราะพลังของ 'การพวยพุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟ' นั้น ถือเป็นพลังทางธรรมชาติซึ่งเกิดจาก 'การปลดปล่อยพลังที่อัดแน่นอยู่ใต้พื้นพิภพออกมาอย่างรุนแรง' และเป็น 'การสำแดงพลานุภาพแห่งทรัพยากรธรรมชาติที่สั่งสมไว้' ออกมานั่นเอง ... เพียงแต่ว่า 'การระเบิดของภูเขาไฟ' นั้น ถือเป็น 'เภทภัยทางธรรมชาติ' ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับสรรพสิ่งในบริเวณโดยรอบเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะมีความหมายที่พ้องกับคำว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) อย่างค่อนข้างจะตรงตัวเลยทีเดียว !!?! ... 😲 ... การผูกโยงความหมายของแต่ละบทใน 'คัมภีร์อี้จิง' ดังที่ 'จิวกง' ได้รจนาเอาไว้นั้น จึงไม่ใช่การเขียนสุ่มสี่สุ่มห้าแบบเอามันเฉยๆ อย่างแน่นอน แต่เป็นการเขียนคัมภีร์ที่ได้รับการวางโครงสร้างเอาไว้แล้วอย่างละเมียดละไม และซุกซ่อนความหมายอันลึกซึ้งไว้ในแทบจะทุกตัวอักษรเลยก็ว่าได้ !! ... 😱




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
小亨旅貞吉
xiǎo hēng lǚ zhēn jí
เสี่ยว เฮิง หฺลวี่ เจิน จี๋



อักษร 小 (xiǎo, เสี่ยว) มีที่มาจาก 'ภาพอักษร' ของ 'การแบ่งออก' ซึ่งแทนด้วยเส้นตั้งตรงๆ ที่ลากจากบนลงล่าง ผ่าเข้าไประหว่างกลางของอีกสองขีดที่แยกย้ายออกเป็นคนละทิศคนละทาง … ซึ่งจากความหมายของ 'การแบ่งออก' ที่เป็น 'การทำให้เล็กลง' หรือ 'การทำให้น้อยลง' จึงทำให้ 小 (xiǎo, เสี่ยว) มีความหมายในชั้นหลังๆ ว่า 'เล็ก', 'น้อย', หรือ 'ไม่สำคัญ' แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็สามารถที่จะหมายถึง 'ความละเอียด', 'ความระมัดระวัง' ได้ด้วย

สำหรับ 亨 (hēng, เฮิง) ที่เล่าไว้ตั้งแต่บทแรกๆ ว่า หมายถึง 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'ความมีระบบระเบียบ'

ส่วน 貞 (zhēn, เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย' แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผมให้ความหมายว่า 'คุณธรรม-ความดี' เวลาที่คำนี้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ แห่งของ 'คัมภีร์อี้จิง'

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่ผมหยิบยกขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ผมอยากจะให้ความหมายกับวลีของ King Wen ในบทนี้ว่า
'ความไม่บุ่มบ่ามผลีผลาม (小) เพื่อจะดำเนินกิจการงานให้ราบรื่นอย่างเป็นลำดับขั้นตอน (亨) นั้น ความสมานฉันท์ (旅) และความมั่นคงในหลักคุณธรรมอย่างมีอุดมการณ์ร่วมกัน (貞) คือปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ (吉) เสมอ' ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

旅瑣瑣斯其所取災
lǚ suǒ suǒ sī qí suǒ qǚ zāi
หฺลวี่ สั่ว สั่ว ซือ ชี๋ สั่ว ฉฺวี่ ไจ




瑣 อ่านว่า suǒ (สั่ว) มีความหมายตาม 'ภาพอักษร' เป็น 'เสียงกระทบกันของหยก' ซึ่งจะมีเสียงกรุ๊งกริ๊งเบาๆ เท่านั้น ; แล้วก็เลยนำมาใช้เรียกงานแกะสลักห่วงหยกให้เรียงร้อยกันเป็นสายยาวๆ (連环 : lián huán, เลี๋ยน ฮ๋วน) เพราะจะมีเสียงกระทบกันกรุ๊งๆ กริ๊งๆ แทบจะตลอดเวลาอยู่แล้ว จนกระทั่งต่อมาเมื่อมีการนำโลหะมาใช้แทนก็เลยเรียกว่า 鎖 (suǒ, สั่ว) เหมือนกัน แต่เปลี่ยนด้านซ้ายจาก 玉 (yǜ, ยฺวี่ หมายถึง 'หยก') เป็น 金 (jīn, จิน หมายถึง 'โลหะ') แทน จึงทำให้ความหมายดั้งเดิมแผลงออกไปเป็น 'โซ่' หรือ 'รูปแบบที่มีความต่อเนื่องซ้ำๆ กันคล้ายโซ่' (chain-like pattern) อันนำไปสู่ความหมายว่า 'องค์ประกอบเล็กๆ' หรือ 'องค์ประกอบพื้นฐาน' ที่ถูกนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ;

แต่พอ 瑣 (suǒ, สั่ว) ถูกใช้ในความหมายว่า 'องค์ประกอบเล็กๆ' มันจึงแผลงไปเป็นความหมายเดียวกับ 小 (xiǎo, เสี่ยว) ซะเลย คือแปลว่า 'เล็ก', 'น้อย', 'ไม่สำคัญ' ; และ 'ความละเอียดประณีต' รวมไปถึง 'ความระมัดระวัง' ได้ด้วย ... และนี่ก็คือลีลาการเล่น 'คำล้อ' ของ 'จิวกง' ที่เลือกหยิบคำว่า 瑣 (suǒ, สั่ว) มารับกับคำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ของ King Wen ในวลีที่ใช้ขยายความให้ชื่อเรียกของบทนี้นั่นเอง

斯 อ่านว่า sī (ซือ) แปลว่า 'นี่', 'นี้', 'ที่นี่', 'อันนี้' ; บางครั้งใช้ในความหมายว่า 'ดังนั้น', 'ดังนี้' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อมคำแบบเดียวกับ of ในภาษาอังกฤษก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'แบ่งออกจากกัน', 'แยกออกจากกัน', หรือ 'ผละจาก' ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'การแยกเป็นช่วง-เป็นตอน', 'แยกออกเป็นอันนี้-อันนั้น' จึงทำให้มันสามารถถูกใช้ในลักษณะเดียวกับ then ของภาษาอังกฤษได้ด้วย ... จุดที่น่าสนใจก็คือการใช้ในความหมายว่า 'แยกออกจากกัน' นั่นแหละครับ เพราะมันจะมีความหมายตรงกันข้ามกับ 旅 (lǚ, หลฺวี่) ซึ่งผมให้ความหมายว่า 'สมัครสมานสามัคคี' ที่อยู่ตรงต้นวรรคพอดี

所 อ่านว่า suǒ (สั่ว) แปลได้หลายอย่างมากเลยครับสำหรับอักษรตัวนี้ ;) แปลว่า 'สถานที่', 'สถาบัน' ก็ได้ ; สามารถแปลเป็น 'ที่พักอาศัย' หรือใช้เป็น 'หน่วยนับ (สำหรับที่พักอาศัย)' ก็ได้ ; แปลว่า 'เหตุผล', 'สาเหตุ' แล้วก็เลยกลายเป็นคำกริยาช่วยที่ใช้แปลงรูปประโยคให้เป็น passive voice ในความหมายว่า 'มีสาเหตุมาจาก' ก็ได้ ; ใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับ 'นี้' (this), 'นั้น' (that) ก็ได้ ; หรืออาจจะใช้ในลักษณะเดียวกับ if เป็น 'ถ้าหากว่า' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'เท่าที่มี', 'เท่าที่เป็นไปได้', หรือ 'เท่าที่อนุญาต' มันเลยสามารถแปลว่า 'ทั้งหมด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มากมาย', 'หลากหลาย' ได้อีกต่างหาก

取 อ่านว่า qǚ (ฉฺวี่) แปลว่า 'หยิบ', 'คว้า', 'ฉวย', 'คัดเลือก' ; 'นำมา', 'รับเอามา', 'ได้รับมา' ; แต่ในทางกลับกัน ก็จะสามารถหมายถึง 'เสียไป' หรือ 'สูญเสียไป' เพราะถูกคนอื่น 'เอาไป' แล้วก็เลยต้อง 'ยื้อแย่ง' เพื่อจะ 'เอากลับมา' อีก 😃 มันเลยมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เป้าหมาย' หรือ 'สิ่งที่หมายปอง' ได้ด้วย ; บางทีก็แปลว่า 'เร่งเร้า', หรือ 'เรียกร้อง'

災 อ่านว่า zāi (ไจ) แปลว่า 'เภทภัย', 'ภัยพิบัติ' ซึ่งในกรณีของ 'ไฟ' หรือที่คล้ายคลึงกับ 'ไฟ' ก็จะหมายถึง 'เผาผลาญ', 'วอดวาย' ; แต่ถ้าในลักษณะที่คล้ายน้ำก็น่าจะหมายถึง 'ล่มจม', 'ล่มสลาย'

ผมคิดว่าวลีนี้ของ 'จิวกง' น่าจะคล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า 'รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย' อะไรประมาณนั้นเลยครับ ผมก็เลยคิดว่า ความหมายของวรรคนี้คงจะหมายถึง
'ความสมานฉันท์ (旅) ย่อมเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ไว้ด้วยสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน (瑣瑣) ในขณะที่ความแบ่งแยก (斯) แตกออกเป็นหมู่เหล่าชนิดตัวใครตัวมัน (其) ย่อมเป็นมูลเหตุ (所) แห่งความล่มสลายของทุกๆ ฝ่ายในที่สุด (取災)' ... เก้าะ เป็นการสอดรับกับวลีของ King Wen พอดีเลยครับ ... 旅貞吉 ‧ 斯其所取災 (lǚ zhēn jí . sī qí suǒ qǚ zāi, หลฺวี่ เจิน จี๋ . ซือ ชี๋ สั่ว ฉฺวี่ ไจ) ... แปลว่า 'รวมกันได้ก็ดี๊ดี ถ้าหลีกลี้ก็บรรลัย' ... ประมาณนั้น ... 😋



 

สอง หยิน :

旅即次懷其資得童僕貞
lǚ jí cì huái qí zī dé tóng pú zhēn
หลฺวี่ จี๋ ชื่อ ไฮฺว๋ ชี๋ จือ เต๋อ ท๋ง พู๋ เจิ



 
即 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'บัดเดี๋ยวนั้น', 'ปุบปับ', 'ทันทีทันใด' ; ซึ่งบางครั้งก็ยังแปลว่า 'จวนเจียน', 'ใกล้เคียง', 'ใกล้เข้าไป', 'เคลื่อนเข้าใกล้' ; หรือ 'ราวกับว่า' ได้ด้วย


次 อ่านว่า cì (ชื่อ) แปลว่า 'ลำดับ', 'จำนวนครั้ง', 'ลำดับที่', 'ลำดับต่อไป' ; ในความหมายหนึ่งจึงหมายถึง 'อันดับรอง' ที่ 'ไม่ใช่อันดับแรก' ; หรือ 'กลางๆ' ในความหมายว่า 'ไม่โดดเด่น' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ที่พักระหว่างทาง' ; หรืออาจจะหมายถึง 'การหยุด (พัก) เป็นระยะๆ'

懷 อ่านว่า huái (ไฮฺว๋) มีความหมายดั้งเดิมว่า 'คิดถึง', 'ระลึกถึง' ซึ่งบางทีก็ถึงกับออกอาการเป็น 'โหยหา' ไปเลยด้วยซ้ำ ; ซึ่งก็เลยทำให้มีความหมายแฝงว่า 'ค้างคาใจ' หรือ 'เก็บไว้ในใจ' ได้เหมือนกัน

資 อ่านว่า zī (จือ) แปลว่า 'ทรัพย์สิน-เงินทอง', หรือ 'ทุนทรัพย์' ; ซึ่งถ้าเป็น 'ทรัพย์สินทางปัญญา' ก็จะหมายถึง 'ศักยภาพ' หรือ 'ความสามารถ' ที่ควบรวมความหมายทั้ง 'พรสวรรค์' หรือ 'พรแสวง' ไปเลย

得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

童 อ่านว่า tóng (ท๋ง) แปลว่า 'เด็ก', 'ความเป็นเด็ก' (childhood), 'อย่างเด็กๆ' (childish) ; แปลว่า 'ผู้เยาว์' หรือ 'ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ', 'เด็ก (ที่ยังไม่แต่งงาน)' ; แปลว่า 'หัวโล้น', 'โล่งเตียน', หรือ 'ทื่อ' (ไม่มีความคม) ก็ได้ ; สมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับตัว 瞳 (tóng, ท๋ง) ที่แปลว่า 'กระจกตา' หรือ 'การมองเห็น' ได้ด้วย … แต่เมื่อเป็น 'การมองเห็นอย่างเด็กๆ' มันจึงมีความหมายในลักษณะ 'ความใสซื่อ' หรือ 'ความไม่รู้' ได้เหมือนกัน

僕 อ่านว่า pú (พู๋) แปลว่า 'ล้มลง' หรือ 'ล้มคะมำ' ซึ่งเป็นการ 'ล้มไปข้างหน้า' จึงทำให้บางครั้งจะมีความหมายว่า 'นอนราบลง', 'หยุดนิ่ง', หรือ 'ไม่เคลื่อนไหว' และด้วยลักษณะของ 'การหมอบราบลง' หรือ 'การค้อมตัวลงต่ำ' นี้เองที่น่าจะเป็นที่มาของการใช้คำว่า 僕 (pú, พู๋) ในความหมายของ 'ข้าทาสบริวาร' และในสมัยก่อนก็ยังมีการใช้คำว่า 僕 (pú, พู๋) เป็น 'สรรพนามแทนตัวเอง' เพื่อเป็นการแสดง 'ความถ่อมตน' อีกด้วย

ต้องบอกก่อนเลยครับว่า วรรคนี้แกะความหมายไม่ออกจนกว่าจะแคะความหมายให้สอดคล้องกับวรรคอื่นๆ ที่เหลือก่อน โดยเฉพาะวรรคที่ห้าซึ่งเป็น 'คู่วลี' โดยตรงของวรรคนี้ แต่ด้วยความเชื่อมโยงกับวรรคที่สามซึ่งปรากฏคำว่า 童僕 (tóng pú, ท๋ง พู๋) อยู่ด้วย จึงต้องพิจารณาควบคู่กันไปทั้งหมดจนถึงวรรคที่สี่ ซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สามอีกชั้นหนึ่ง

เอาเป็นว่า ผมไม่เห็นด้วยกับคำแปลของหลายตำราที่บอกว่า 'เดินทางไปถึงที่พักพร้อมกับทรัพย์สินเงินทองในกระเป๋า เลยมีเด็กรับใช้มาคอยพินอบพิเทา ... แหม้ ... ดีจังเลย' ... อ่านแล้วน่าเกลียดมาก ... 😋 ... เพราะฉะนั้น ผมขอให้ความหมายว่าอย่างนี้แล้วกัน ...
'การดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกัน (旅) นั้น จะต้องมีความกระชับ (即) ในทุกๆ ลำดับขั้นตอน (次) โดยต้องคำนึงถึง (懷) ทรัพยากรและข้อจำกัดของทุกๆ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง (其資) เพื่อให้บรรลุข้อตกลง (得) ที่มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยความเข้าใจ (童僕) ในหลักปฏิบัติทั้งหลาย (貞) ร่วมกัน' ...

ซึ่งการให้ความหมายแบบนี้ จะเป็นการสอดรับกับ 'ความไม่บุ่มบ่ามผลีผลาม (小) เพื่อจะดำเนินกิจการงานให้ราบรื่นอย่างเป็นลำดับขั้นตอน (亨)' ที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ และสามารถเชื่อมโยงกับวลีต้นวรรคที่หนึ่งของ 'จิวกง' ที่บอกว่า 'ความสมานฉันท์ (旅) ย่อมเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ไว้ด้วยสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน (瑣瑣)' ... เพราะการเรียกร้องหา 'ความร่วมมือ' (旅) จากฝ่ายต่างๆ นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึง 'เงื่อนไขในด้านทรัพยากร' (資) ของฝ่ายอื่นๆ ด้วยเสมอ จึงจะถือว่าเป็นการแสดงถึง 'ความถ่อมตน' (僕) เพื่อจะสร้าง 'ความปรองดอง' (瑣瑣) ที่ต่างฝ่ายต่างก็ 'ถ้อยทีถ้อยอาศัย' (童僕) ในการให้ 'ความร่วมมือ' (旅) ระหว่างกันนั่นเอง



 

สาม หยาง :

旅焚其次喪其童僕貞厲
lǚ fén qí cì sàng qí tóng pú zhēn lì
หลฺวี่ เฟิ๋น ชี๋ ชื่อ ซั่ง ชี๋ ท๋ง พู๋ เจิน ลี่




焚 อ่านว่า fén (เฟิ๋น) แปลว่า 'เผาไหม้', 'เผาผลาญ' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'ทำลายล้าง', 'ล้างผลาญ' หรือ 'ทำให้ลุกลาม' คล้ายกับ 'การวางเพลิง' ได้ด้วย

喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', หรือ 'สิ้นสุด' ซึ่งคำนี้เคยถูกใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ 得 (dé, เต๋อ) มาแล้วในบทที่สอง และเป็นไปได้ที่ 'จิวกง' จะใช้ในความหมายเดิม โดยเลือกจับคู่กับ 得 (dé, เต๋อ) ทั้งในวรรคที่สอง และวรรคที่สี่พร้อมๆ กัน

厲 (lì, ลี่) เป็นคำแรกๆ ที่เจอมาตั้งแต่ต้นคัมภีร์เลยครับ คำนี้เป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย 😋

ดูเหมือนจะเจอ 'คำคล้าย' เข้าให้แล้วครับ ... นั่นก็คือคำว่า 即 (
jí, จี๋) ในวรรคที่สอง ซึ่งผมให้ความหมายเป็น 'กระชับ' จากความหมายว่า 'ปุบปับ' หรือ 'รวบรัด' ของมัน โดย 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 焚 (fén, เฟิ๋น) ซึ่งแปลว่า 'เผาไหม้' หรือ 'ทำให้ลุกลามราวกับไฟไหม้' มาเป็น 'คู่เปรียบเทียบ' ในวรรคนี้ เพื่อที่จะสื่อถึง 'การรบเร้ารีบเร่ง', 'การทำอย่างรีบๆ ลวกๆ',  'ความร้อนรน', หรือ 'ความฉุกละหุก' ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือน 'รวดเร็ว' แต่ก็เป็น 'ความรวดเร็วแบบฉุกละหุก' () อันมีลักษณะที่แตกต่างกับ 'ความคล่องแคล่วฉับไว' เนื่องจาก 'ความกระชับ' หรือ 'ความรวบรัด' (即) อย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ 'จิวกง' กำลังพยายามจะสื่อออกมาในวรรคนี้ก็คือ
'การร่วมงานกัน (旅) อย่างรีบๆ ลวกๆ ราวกับไฟลามทุ่ง (焚) ในทุกๆ (其) ลำดับขั้นตอน (次) นั้น จะเป็นการบั่นทอน (喪) คุณลักษณะของความถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยความเข้าใจระหว่างกัน (其童僕) ลงไป ... ระบบระเบียบของหลักปฏิบัติต่างๆ (貞) ก็จะกลายเป็นแรงกดดัน (厲) ให้ทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างเร่งร้อนตลอดเวลา' ...



 

สี่ หยาง :

旅于處得其資斧我心不快
lǚ yǘ chù dé qí zī fǔ wǒ xīn bù kuài
หลฺวี่ ยฺวี๋ ฌู่ เต๋อ ชี๋ จือ ฝู่ หฺว่อ ซิน ปู้ ไคว่




于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

處 อ่านว่า chù (ฌู่) มีความหมายว่า 'สถานที่พำนัก', 'จดนัดพบ', 'สถานที่พัก' จึงทำให้มีความหมายว่า 'หยุด' แล้วก็เลยแปลว่า 'แน่นอน', 'มั่นคง' ; บางครั้งยังใช้ในความหมายว่า 'สถานกักกัน' ซึ่งก็เลยไปเกี่ยวข้องกับ 'การตัดสินของศาล' หรือ 'คำตัดสิน' ได้ด้วย

斧 อ่านว่า fǔ (ฝู่) แปลว่า 'ขวาน' หรือ 'เครื่องมือที่ใช้สับ' เมื่อใช้เป็นคำกริยากจึงหมายถึง 'ทำให้แยกออก', 'ทำให้แตกดับ', 'ทำให้ขาดออกเป็นท่อนๆ'  และสามารถหมายถึง 'ลบล้าง' หรือ 'ทำให้สูญหายไป'

我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) เป็นคำแรกๆ ที่ได้รับการขยายความไว้อย่างยืดยาวเลยครับ คำนี้ปรกติจะแปลว่า 'ฉัน', 'ตัวฉัน', 'ของฉัน', 'กู', 'ตัวกู', 'ของกู' … 😉 ... หรืออาจจะหมายถึง 'สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง' ที่เป็น 'พหูพจน์' คือ 'พวกเรา', 'ของพวกเรา' ก็ได้ … แต่จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตัวอักษร 我 นี้ ถ้าถูกใช้เป็น 'คำกริยา' จะแปลว่า 'ฆ่า' ในความหมายเดียวกับตัว 殺 (shā, ซา) ... โอ้ว … อันนี้ความรู้ใหม่เลยครับ เพราะไม่มีการใช้คำนี้ในความหมายว่า 'ฆ่า' อีกแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าเรา 'แยกธาตุอักษร'  我 ออกมาเราก็จะเห็นตัวอักษร 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' หรือ 'ถือ' อยู่ทางด้านซ้าย … ส่วนด้านขวาก็จะมีตัวอักษร 戈 (gē, เกอ) ที่แปลว่า dagger-axe ซึ่งเป็น 'ชื่ออาวุธสงคราม' ชนิดหนึ่งในยุคโบราณของจีน … 我 จึงเป็น 'ภาพอักษร' ที่แสดงสัญลักษณ์ของ 'มือที่ถืออาวุธ' และนั่นก็คือความหมายว่า 'ฆ่า', หรือ 'การฆ่า' นั่นเอง … ยังไม่จบ 😄 … เมื่อ 我 เป็นภาพของ 'มือที่ถืออาวุธ (สงคราม)' มันจึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ผู้ที่มีความสามารถ' และในเมื่อ 'อาวุธ' ที่ทรงอานุภาพที่สุดตลอดทุกยุคสมัยก็คือ 'อาวุธทางวัฒนธรรม' … ตัว 我 จึงแผลงความหมายเป็น 'ผู้ที่ถือพู่กัน' หรือ 'ผู้ที่เขียนหนังสือ' เพราะ 'พู่กัน' ก็คือหนึ่งใน 'อาวุธสงครามทางวัฒนธรรม' นั่นเอง … จนในที่สุดคำว่า 我 ก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' … แล้วถ้าผมจะผสมความหมายทั้งหมดของ 我 ลงไป …  我 ก็ควรจะหมายถึง 'ตัวฉัน' ที่มี 'ความรู้', 'ความเข้าอกเข้าใจ' และพร้อมที่จะ 'ยอมรับฟังผู้อื่น' … ซึ่งก็คือ 'ตัวฉัน' ที่ได้ 'ประหารอัตตา' หรือ 'ประหารอวิชชา' ไปแล้วนั่นเอง 😉 ... อยากให้สังเกตด้วยนะครับว่า 'ตัวฉันที่ปราศจากอัตตา' หรือ 'ตัวฉันที่มีความถ่อมตน' นี้ คืออีกความหมายหนึ่งของ 僕 (pú, พู๋) ที่มีการนำมาใช้เป็น 'สรรพนามแทนตัวเอง' เพื่อเป็นการแสดง 'ความถ่อมตน' ด้วย

心 (xīn, ซิน) มีความหมายตามปรกติของมันว่า 'หัวใจ', หรือ 'จิตใจ' ซึ่งทำให้บางครั้งก็จะหมายถึง 'ความคิด' หรือ 'ความรู้สึกในใจ' จนอาจจะหมายถึง 'การตัดสินใจ' ก็ได้ ; และด้วยความี่ 'หัวใจ' เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก ความหมายของ 心 (xīn, ซิน) จึงอาจจะถูกใช้ในความหมายว่า 'ศูนย์กลาง' หรือ 'สาระสำคัญ' ของสถานที่ หรือเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วย

快 อ่านว่า kuài (ไคว่) มาจากการผสมอักษร 心 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'หัวใจ' กับ 夬 (guài, กฺวั้ย) ที่หมายถึง 'การเจาะ', หรือ 'การทำให้แยกออก' ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จึงสะท้อนอาการที่ 'ใจที่แยกออกไปไม่อยู่กับตัว' ซึ่งแผลงมาเป็น 'สุข', 'สบาย' หรือ 'ยินดี' ; แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็สามารถที่จะแปลว่า 'รวดเร็ว', 'เร่งรีบ', หรือ 'จวนเจียนจะมาถึง' ได้ด้วย ซึ่งก็คงแผลงมาจากอาการ 'ตื่นเต้นดีใจ', หรือ 'ใจเร็วด่วนได้' จนทำให้ 'จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว' ประมาณนั้น ... 😄 ... และในสมัยก่อน คำว่า 快 (kuài, ไคว่) ก็ยังเคยถูกใช้สำหรับตำแหน่ง 'เจ้าหน้าที่ตำรวจ' ด้วยเหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีหน้าที่ 'บำบัดทุกข์-บำรุงสุข' ให้แก่ประชาชน หรือเพราะต้องปฏิบัติงานด้วย 'ความรวดเร็ว' ก็ไม่รู้ละ ... แต่เจ้าความหมายว่า 'รวดเร็ว' นี่แหละที่คงเพี้ยนมาเป็น 'แหลมคม' และ 'ตรงไปตรงมา' ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยเห็นการใช้งานในความหมายที่ว่านี้มากนัก ... สำหรับวลี 心不快 (xīn bù kuài, ซิน ปู้ ไคว่) นี้ 'จิวกง' เคยใช้มาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สองของบทที่ห้าสิบสอง ซึ่งผมเลือกให้ความหมายไว้ในวรรคดังกล่าวว่า 'มีสติ-ไม่วู่วาม' ซึ่งคราวนี้ก็น่าจะมีความหมายประมาณเดียวกัน

ความหมายที่น่าจะต่อเนื่องมาจากวรรคที่สามก็เลยน่าจะใช้คำอธิบายว่า ...
'ความสมานฉันท์ (旅) อันนำไปสู่ (于) ความมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการงานต่างๆ อย่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน (處) นั้น ย่อมจะเติมเต็ม (得) ในศักยภาพของทุกๆ ฝ่าย (其資) ให้บรรลุถึงขีดสุด (斧) ได้เอง บุคคลผู้ที่มีความสุภาพอ่อนโยน (我) จึงไม่ควรมีจิตใจที่วู่วามเร่งเร้าอย่างขาดสติ (心不快)'



 

ห้า หยิน :

射雉一矢亡終以譽命
shè zhì yī shǐ wáng zhōng yǐ yǜ mìng
ษ้จื้อ อี ษื่อ วั๋ง ง อี่ ยฺวี่ มิ่ง





射 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ยิง', 'ขว้าง', 'พุ่ง', 'พ่นออก', หรือ 'ส่งออกไปด้วยกำลัง' เช่น 'การยิงลูกดอก', 'การยิงธนู' ; บางครั้งมันจึงสามารถแปลว่า 'การเล็ง', หรือ 'การมองหา' เป้าหมายที่จะ 'พุ่งออกไป' ได้ด้วย ; นอกจากนั้นก็ยังสามารถแปลว่า 'การคาดเดา', หรือ 'การคาดคะเน' ได้อีกต่างหาก

雉 อ่านว่า zhì (จื้อ) มีความหมายหนึ่งว่า 'ไก่ฟ้า' หรือนกสวยงามที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ซึ่งในบางกรณี คำเดียวกันนี้ก็จะหมายถึง 'ขนหางของไก่ฟ้า' ที่ถูกนำไปประดับบัลลังก์ของจ้าวนครต่างๆ ในสมัยหนึ่งด้วย ; และในสมัยโบราณของจีน 雉 (zhì, จื้อ) ก็เคยถูกใช้เป็น 'ชื่อเรียกของหน่วยวัด' ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะ 'หน่วยวัดขนาดของกำแพงเมือง' ซึ่งก็ทำให้บางครั้ง 雉 (zhì, จื้อ) ถูกนำไปใช้ในความหมายว่า 'กำแพง' ได้อีกด้วย

矢 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) แปลว่า 'ลูกดอก', 'ลูกธนู' ; แต่ความหมายอื่นของมันคือ 'รุนแรง', 'เฉียบขาด', 'เถนตรง', 'คำพูดที่ตรงไปตรงมา' และเพี้ยนไปเป็น 'คำสาบาน' ซึ่งอาจจะมาจากการนำ 'คมหอกคมดาบ' หรือ 'คมอาวุธ' มาวางแช่ไว้ใน 'น้ำสาบาน' นั่นเอง ; แต่ความหมายที่เพี้ยนหนักจริงๆ ของคำนี้ในสมัยโบราณก็คือ 'ขี้' หรือ 'สิ่งปฏิกูล' (屎 : shǐ, ษื่อ) ตามร่างกายของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 'ขี้หู', 'ขี้ตา', 'ขี้มูก' หรือ 'ขี้ฟัน' ตลอดจน 'ขี้' ที่เป็น 'อุจจาระ' ด้วย ... แหวะ !!! ... 😅

亡 (wáng, วั๋ง) คำนี้แปลว่า 'ละทิ้ง', 'หลบหลีก', 'หนีหาย', และบางครั้งก็แปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย ; ในบางกรณีมันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้หายไป', 'ทำให้สูญเสีย', หรือ 'ทำลายล้าง' ซึ่งในสมัยโบราณยังใช้ในความหมายเดียวกับ 無 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ไม่มี' ก็ยังได้

終 อ่านว่า zhōng (ง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ'

以 อ่านว่า yǐ (อี่, ยฺอี่) แปลว่า 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษ

譽 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ยกย่อง', 'สรรเสริญ', 'เกียรติยศ', 'ชื่อเสียง', 'ความเคารพนับถือ', ในสมัยก่อนมีความหมายเหมือนกับ 豫 (yǜ, ยฺวี่) แปลว่า 'พอใจ', 'สบาย', หรือ 'เอกเขนก'

命 อ่านว่า mìng (มิ่ง) แปลว่า 'ชีวิต', 'คำสั่ง', 'คำสอน', 'มีอิทธิพลชี้นำ', 'ชี้นำ', 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'

ถ้าขืนแปลกันดุ่ยๆ ตามตัวอักษรเราก็จะได้ความว่า 'สังหารไก่ฟ้าด้วยการซัดลูกดอกเพียงดอกเดียว ในบั้นปลายก็จะมีชื่อเสียง' !! ... แหวะ !!?!! ... ไม่เห็นรู้เรื่องเลย ... ว่ามั้ย ?!?! ... เอาใหม่ ... กลับไปอ่านวรรคที่สองอีกรอบดีกว่า ...
 'การดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกัน (旅) นั้น จะต้องมีความกระชับ (即) ในทุกๆ ลำดับขั้นตอน (次) โดยต้องคำนึงถึง (懷) ทรัพยากรและข้อจำกัดของทุกๆ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง (其資) เพื่อให้บรรลุข้อตกลง (得) ที่มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยความเข้าใจ (童僕) ในหลักปฏิบัติทั้งหลาย (貞) ร่วมกัน' ... ซึ่งผมคิดว่าคำสำคัญในวรรคที่สองนั้นอยู่ที่ 'ความกระชับ' (即) ของ 'ลำดับขั้นตอน' (次) หรือ 'กระบวนการประสานงานที่มีความรวบรัดชัดเจน' (旅即次) อันจะนำไปสู่ 'ความเข้าใจที่สอดคล้องกันในแนวทางการปฏิบัติงานของทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง' (得童僕貞) ... และเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ... 'การกำหนดเป้าหมาย (射) และมาตรการในการรับมือกับปัญหาต่างๆ (雉) ย่อมจะมีความเป็นเอกภาพ (一) ที่รวบรัดชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา (矢) โดยปราศจากความยืดเยื้อเรื้อรังให้ต้องพะวักพะวง (亡) และสามารถดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกันไปจนตลอดรอดฝั่ง (終) ด้วย (以) ความเคารพ (譽) ในเกียรติภูมิของทุกๆ บทบาทหน้าที่ (命) ที่แต่ละฝ่ายได้ร่วมกันอุทิศให้' ... ดูแล้วน่าจะเท่กว่า 'ปลิดชีวิตไก่ฟ้าด้วยการซัดลูกดอกเพียงครั้งเดียว' มั้ยล่ะ ?!?! ... 😄


 

หก หยาง :

鳥焚其巢旅人先笑后號咷喪牛于易凶
niǎo fén qí cháo lǚ rén xiān xiào hòu hào táo sàng niú yǘ yì xiōng
เหนี่ยว เฟิ๋น ชี๋ เฌ๋า หลฺวี่ เญิ๋น เซียน เซี่ยว โฮ่ว เฮ่า เท๋า ซั่ง นิ๋ว ยฺวี๋ อี้ เซฺวิง




鳥 อ่านว่า niǎo (เหนี่ยว) แปลว่า 'สัตว์ปีก' โดยเฉพาะ 'นก' และดูเหมือนจะไม่มีคำแปลอื่นนอกจากการใช้เป็นคำสแลงหยาบๆ ไว้ด่าคนเท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะออกเสียงว่า 'เตี่ยว' (diǎo) ... 😋 ... ซึ่งน่าจะเป็นต้นเหตุที่หลายๆ ตำราเลือกที่จะแปลคำว่า 雉 (zhì, จื้อ) เป็น 'ไก่ฟ้า' แทนที่จะแปลว่า 'กำแพง' หรือ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรคที่ขวางกั้น'

巢 อ่านว่า cháo (เฌ๋า) หมายถึง 'รังของนก' แต่บางทีก็แปลว่า 'ที่พักอาศัย' โดยเฉพาะในสมัยโบราณที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ตาม 'ถ้ำ' หรือ 'สิ่งปลูกสร้างที่สร้างจากกิ่งไม้ใบหญ้าของคนป่า' ซึ่งก็เลยทำให้ 巢 (cháo, เฌ๋า) สามารถแปลว่า 'รังโจร' หรือ 'ที่หลบซ่อนของคนร้าย' ได้ด้วย

號 อ่านว่า hào (เฮ่า) แปลว่า 'สัญลักษณ์', 'เครื่องหมาย', หรือ 'ตัวเลข' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ถอนหายใจ', 'ร้องไห้', 'ตะโกน', 'ส่งเสียงร้อง', หรือ 'ส่งเสียงขู่คำราม'

咷 อ่านว่า táo (เท๋า) เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับ 啕 táo (เท๋า) ซึ่งเล่าไว้ในวรรคที่ห้าของบทที่สิบสาม โดยในวรรคดังกล่าวยังมีวลี 先號啕而后笑 (xiān hào táo ér hòu xiào, เซียน เฮ่า เท๋า เอ๋อ โฮ่ว เซี่ยว) หรือ 'การอดทนต่อความยากลำบากเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับความอิ่มเอมในภายหลัง' ... จะเห็นว่ามันสลับขั้วกับวลี 先笑后號咷 (xiān xiào hòu hào táo, เซียน เซี่ยว โฮ่ว เฮ่า เท๋า) ในวรรตนี้พอดีเลยด้วย ... ทั้งนี้ คำว่า 啕 (táo, เท๋า) หรือ 咷 (táo, เท๋า) จะมีความหมายคล้ายกับ 號 (hào, เฮ่า) ในความหมายของ 'ร้องไห้สะอึกสะอื้น', 'ร้องเสียงหลง', 'ร้องโหยหวน'

易 (yì, อี้) เป็นอักษรตัวเดียวกับที่ใช้เป็นชื่อคัมภีร์เลยนะครับ ปรากฎให้เห็นในเนื้อความทั้งหมดของ 'คัมภีร์อี้จิง' ครั้งแรกในบทที่สามสิบสี่ และปรากฏอีกเพียงครั้งเดียวในบทที่ห้าสิบหกนี้เท่านั้น ... ความหมายตามที่ทุกตำราแปลไว้ในฐานะของชื่อคัมภีร์ก็คือ 'ความเปลี่ยนแปลง' แต่ความหมายอื่นๆ ของ 易 (yì, อี้) คือ 'ความเรียบง่าย', 'มิตรภาพ', 'การแลกเปลี่ยน', 'การปรับปรุง' (renovation), 'การทดแทน', และ 'การแผ่ขยาย' ... โดยเราจะเห็นรูปวลีที่คล้ายกันในบทที่สามสิบสี่คือ 喪羊于易 (sàng yáng yǘ yì, ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้) และลงท้ายด้วยวลี 無悔 (wú huǐ, อู๋ หุ่ย) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า
'การรู้จักปล่อยวางประเด็นปลีกย่อยอันเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว (喪羊) เพื่อบรรลุถึงความมีมิตรภาพที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน (于易) ย่อมขจัดปัดเป่าความคับข้องใจทั้งมวลให้หมดสิ้นไป (無悔)' ... แต่พอเปลี่ยนคำว่า 羊 (yáng, ยั๋ง) ไปเป็นคำว่า 牛 (niúม นิ๋ว) ในวรรคนี้ 'จิวกง' ถึงกับใช้คำว่า 'ฉิบหาย' (凶 : xiōng, เซฺวิง) ซะงั้น ?!?! ... เราก็เลยต้องย้อนไปดูความหมายของ 牛 (niúม นิ๋ว) ให้ละเอียดอีกที ...

คำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' นี้ เคยเล่าอย่างยาวเหยียดไว้แล้วในบทที่สามสิบ เพื่อบอกกล่าวถึงลักษณะของ 'วัว' ที่มีอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวค่อนข้างจะเชื่องช้า ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีอุปนิสัย 'อ่อนโยน' หรือ 'ไม่มีความดุร้าย', 'ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้ใด' ... แต่มักจะมีอาการ 'ดื้อดึง' จนถึงขั้น 'ดื้อด้าน' อันเป็นปรกติวิสัยของสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งก็ทำให้คำว่า 牛 (niú, นิ๋ว) ถูกใช้ในความหมายดังกล่าวไปด้วย ... ความหมายที่สะท้อนออกมาจากลักษณะที่ว่านี้ของ 牛 (niú, นิ๋ว) ก็คือ 'ความอ่อนนอกแข็งใน' ที่ภายนอกแม้จะดูอ่อนน้อมเชื่อฟัง แต่ภายในกลับไม่เคยอ่อนข้อให้กับสิ่งใดอย่างว่าง่าย และพร้อมที่จะดำเนินไปในวิถีทางที่ตนเลือกตลอดเวลา (แปลว่า จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สัตว์โง่ชนิดที่สอนเท่าไหร่ไม่รู้จักจำ แต่เป็นเพราะมันมีหลักคิดที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และไม่เคยยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างว่าง่ายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เท่านั้น) ... ผมอยากจะเปรียบเทียบลักษณะนิสัยแบบนี้กับ 亨 (hēng, เฮิง) ที่แฝงความหมายของ 'ความเข้าใจ', 'ความตระหนักรู้', และ 'ความชัดเจน' ใน 'เป้าหมาย' และ 'จุดประสงค์' ของตนเองอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งจะทำให้ 牛 (niú, นิ๋ว) เป็นตัวแทนของ 'พลังแห่งหยิน' ในแง่ของ 'ความหนักแน่นมั่นคง', 'ความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ', 'ความอดทนอดกลั้น', และ 'ความไม่ยอมศิโรราบ' ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ปานใดก็ตาม

อ้ะ ... ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ มาดู 'ความหมายแฝง' ของ 'สัตว์สัญลักษณ์' อย่าง 羊 (yáng, ยั๋ง) หรือ 'แพะ' อีกทีก็ได้ ...

羊 (yáng, ยั๋ง) มีความหมายที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปก็คือ 'แพะ' หรือ 'แกะ' ; แต่ในสมัยก่อนมันยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'โชคดี', 'โชคลาภ', หรือ 'ผลประโยชน์' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'ละเอียดถี่ถ้วน' ซึ่งอาจจะออกแนว 'ละเอียดจนหยุมหยิม' ไปเลยด้วยซ้ำ หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ 'ทำให้กระจ่างแจ้ง', 'ทำให้ชัดเจน' ... ความหมายของ 喪羊 (sàng yáng, ซั่ง ยั๋ง) ที่เล่าไว้ในบทที่สามสิบสี่จึงหมายถึง 'ขจัดความหยุมหยิมจุกจิกคิดเล็กคิดน้อยในประโยชน์ตน'

ส่วนอักษร 鳥 (niǎo, เหนี่ยว) ก็กลายมาเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้ ซึ่งโดยปรกติของ 'นก' ที่แม้ว่าจะมีสัญชาติญาณของการอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ก็พร้อมจะผละออกจากกันอย่างแตกตื่นเมื่อต้องเผชิญกับเภทภัยที่กรายกล้ำเข้ามา ซึ่งผมเชื่อว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการสื่อถึงพฤติกรรมที่ว่านี้ด้วยวลีที่ว่า
'ความแตกตื่นวุ่นวายของเหล่าสกุณาที่ผละออกจากรังของมันอย่างสับสน' (鳥焚其巢) เพื่อให้ไปสอดรับกับวลีในวรรคที่หนึ่งที่ทิ้งท้ายไว้ว่า 'ความแบ่งแยก (斯) แตกออกเป็นหมู่เหล่าชนิดตัวใครตัวมัน (其) ย่อมเป็นมูลเหตุ (所) แห่งความล่มสลายของทุกๆ ฝ่ายในที่สุด (取災)'

เมื่อเรานำความหมายของวรรคที่หนึ่งของบทนี้มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันกับ 'คู่วลี' ของมัน เราก็น่าจะได้ข้อความเต็มๆ ว่า  'ความสมัครสมานสามัคคี (旅) ย่อมเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ไว้ด้วยสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน (瑣瑣) ในขณะที่ความแบ่งแยก (斯) แตกออกเป็นหมู่เหล่าชนิดตัวใครตัวมัน (其) ย่อมเป็นมูลเหตุ (所) แห่งความล่มสลายของทุกๆ ฝ่ายในที่สุด (取災) ... เหล่าสกุณาที่กระเจิดกระเจิงออกจากกันอย่างไร้ทิศทาง (鳥焚其巢) นั้น ย่อมคล้ายดั่งกลุ่มชนที่รวมตัวกัน (旅人) เพียงเพื่อความคะนองสำราญ (先笑) และพร้อมจะซ่านเซ็นไปคนละทางอย่างโกลาหล (后號咷) เมื่อปราศจาก (喪) ความหนักแน่นมั่นคง (牛) ในสัมพันธภาพที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน (于易) ความบรรลัยฉิบหาย (凶) ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายมิอาจหลีกเลี่ยง' ... น่าจะประมาณนี้แหละ !! ...





บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'หลฺวี๋' คือ ความสมานฉันท์ : เจิดจรัสเหนือขุนเขา

'ความไม่บุ่มบ่ามผลีผลาม' (小) เพื่อจะดำเนินกิจการงานให้ 'ราบรื่นอย่างเป็นลำดับขั้นตอน' (亨) นั้น คือหัวใจสำคัญของ 'การสร้างความสมานฉันท์' (旅) ด้วย 'ความมั่นคงในอุดมการณ์' แห่ง 'หลักคุณธรรม' (貞) ที่จะนำมาซึ่ง 'ความสำเร็จ' (吉)
    • 'ความสมานฉันท์' (旅) ย่อม 'เชื่อมโยง' ภาคส่วนต่างๆ ไว้ด้วย 'สายสัมพันธ์อันดีต่อกัน' (瑣瑣) ในขณะที่ 'ความแบ่งแยก' (斯) แตกออกเป็นหมู่เหล่าชนิด 'ตัวใครตัวมัน' (其) ย่อมเป็น 'มูลเหตุ' (所) แห่ง 'ความล่มสลาย' ของทุกๆ ฝ่ายในที่สุด (取災)
    • การดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกัน (旅) นั้น จะต้องมี 'ความกระชับ' (即) ในทุกๆ ลำดับขั้นตอน (次) โดยต้องคำนึงถึง (懷) 'ทรัพยากร' และ 'ข้อจำกัด' ของทุกๆ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง (其資) เพื่อให้บรรลุข้อตกลง (得) ที่มี 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัย' ด้วย 'ความเข้าใจ' (童僕) ใน 'หลักปฏิบัติ' ทั้งหลาย (貞) ร่วมกัน
    • 'การร่วมงานกัน' (旅) อย่าง 'รีบๆ ลวกๆ' ราวกับ 'ไฟลามทุ่ง' (焚) ในทุกๆ (其) 'ลำดับขั้นตอน' (次) นั้น จะเป็น 'การบั่นทอน' (喪) คุณลักษณะของ 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัย' ด้วย 'ความเข้าใจระหว่างกัน' (其童僕) ลงไป ... 'ระบบระเบียบ' ของ 'หลักปฏิบัติ' ต่างๆ (貞) ก็จะกลายเป็น 'แรงกดดัน' (厲) ให้ทุกอย่างต้อง 'ดำเนินไปอย่างเร่งร้อน' ตลอดเวลา
    • 'ความสมานฉันท์' (旅) อันนำไปสู่ (于) 'ความมีส่วนร่วม' ใน 'การดำเนินกิจการงานต่างๆ' อย่างมี 'จุดมุ่งหมายเดียวกัน' (處) นั้น ย่อมจะ 'เติมเต็ม' (得) ใน 'ศักยภาพ' ของทุกๆ ฝ่าย (其資) ให้ 'บรรลุถึงขีดสุด' (斧) ได้เอง บุคคลผู้ที่มี 'ความสุภาพอ่อนโยน' (我) จึงไม่ควรมีจิตใจที่ 'วู่วามเร่งเร้า' อย่าง 'ขาดสติ' (心不快)
    • 'การกำหนดเป้าหมาย' (射) และ 'มาตรการ' ใน 'การรับมือกับปัญหา' ต่างๆ (雉) ย่อมจะมี 'ความเป็นเอกภาพ' (一) ที่ 'รวบรัดชัดเจน' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' (矢) โดยปราศจาก 'ความยืดเยื้อเรื้อรัง' ให้ต้อง 'พะวักพะวง' (亡) และสามารถ 'ดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกัน' ไปจน 'ตลอดรอดฝั่ง' (終) ด้วย (以) 'ความเคารพ' (譽) ใน 'เกียรติภูมิ' ของทุกๆ 'บทบาทหน้าที่' (命) ที่แต่ละฝ่ายได้ 'ร่วมกันอุทิศให้'
    • เหล่าสกุณาที่ 'กระเจิดกระเจิง' ออกจากกัน 'อย่างไร้ทิศทาง' (鳥焚其巢) นั้น ย่อมคล้ายดั่งกลุ่มชนที่ 'รวมตัวกัน' (旅人) เพียงเพื่อ 'ความคะนองสำราญ' (先笑) และพร้อมจะ 'ซ่านเซ็นไปคนละทาง' อย่าง 'โกลาหล' (后號咷) เมื่อปราศจาก (喪) 'ความหนักแน่นมั่นคง' (牛) ใน 'สัมพันธภาพ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'เกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน' (于易) 'ความบรรลัยฉิบหาย' (凶) ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่าย 'มิอาจหลีกเลี่ยง'



The Organization Code :

'ความสมานฉันท์' คือ 'การผสานกำลัง' ด้านทรัพยากร (☶) เพื่อส่งเสริม 'ผลิตภัณฑ์' (☲) ให้มี 'ความโดดเด่น' ดุจดั่ง 'การระเบิดของภูเขาไฟ' ที่สามารถสร้าง 'ความสั่นสะเทือน' และก่อให้เกิด 'ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม' ไปจนทั่วทั้งบริเวณ ; 'ระดับนโยบาย' จึงต้องมี 'ความหนักแน่นมั่นคง' (⚏) ทั้งในด้าน 'หลักการ' และ 'ทิศทาง' ที่จะดำเนินการ ; 'การบริหารงาน' จะต้องมี 'ความเด็ดเดี่ยว-มุ่งมั่น' อย่าง 'สร้างสรรค์' (⚌) ; 'การปฏิบัติงาน' ต้องมี 'ความชัดเจน' โดยพื้นฐานอันมั่นคงของ 'หลักปฏิบัติ' (⚎) เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'เหมาะสม'

'การทุ่มเทสรรพกำลัง' เพื่อมุ่งไปใน 'ทิศทางใดทิศทางหนึ่ง' นั้น จะต้อง 'ดำเนินการ' ด้วย 'ความรอบคอบ-รัดกุม' และต้องกำหนด 'กระบวนการทำงาน' ของ 'แต่ละภาคส่วน' ให้มี 'ความสอดประสานกันอย่างลงตัว' ในทุกๆ 'ลำดับขั้นตอน' เพื่อให้ 'การดำเนินกิจกรรม' ต่างๆ เป็นไปด้วย 'ความราบรื่น-เรียบร้อย' และมี 'ความชัดเจน' บนพื้นฐานของ 'หลักการ' และ 'แนวนโยบาย' ที่จะต้องมุ่งไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' จนกระทั่ง 'ประสบผลสำเร็จ' ตาม 'เป้าหมาย' ที่ได้กำหนดไว้ในที่สุด
    • 'ความสมัครสมาน' บนพื้นฐานของ 'หลักการ' ที่มี 'ความชัดเจน' ย่อม 'ประสานกำลัง' ของ 'ทุกภาคส่วน' ให้มุ่งไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ได้ ; ในขณะที่ 'การทุ่มเทสรรพกำลัง' อย่าง 'ไร้ทิศทาง' ย่อมเป็นมูลเหตุแห่ง 'ความแปลกแยก' ที่จะ 'บั่นทอนกำลัง' และ 'บ่อนทำลายทรัพยากร' ขององค์กร ให้ 'สูญสลาย' ลงไปอย่าง 'ไร้ความหมาย'
    • 'กระบวนการ' ที่จะ 'เชื่อมโยง' ลักษณะงาน ซึ่งมี 'ความแตกต่าง-หลากหลาย' ด้วยรายละเอียดต่างๆ ให้สามารถดำเนินไปอย่าง 'สอดประสานกันอย่างลงตัว' ใน 'ทิศทางเดียวกัน' ได้นั้น จะต้องมี 'ความรวบรัด' และ 'ความกระชับ-ชัดเจน' ทั้งในแง่ของ 'ทรัพยากร' และ 'ข้อจำกัด' ของ 'แต่ละภาคส่วน' ที่มี 'ความเกี่ยวข้องกัน' เพื่อให้ 'ทุกภาคส่วน' มี 'ความเข้าใจอย่างถูกต้อง' ใน 'หลักปฏิบัติ' ที่จะต้อง 'ประสานกำลัง' ด้วย 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัย' ซึ่งกันและกัน
    • 'การประสานงาน' อย่าง 'เปะปะวุ่นวาย' ด้วย 'ความไม่ชัดเจน' ใน 'ระบบระเบียบแบบแผน' และ 'หลักปฏิบัติ' ใน 'การดำเนินงานร่วมกัน' นั้น ย่อม 'บั่นทอนกำลัง' และนำมาซึ่ง 'ความสับสน' ของ 'ผู้ปฏิบัติงาน' ใน 'ทุกภาคส่วน' ; ในขณะที่การนำ 'กฎระเบียบ' ต่างๆ มา 'บังคับใช้อย่างเข้มงวด' เพียงเพื่อจะ 'ควบคุมสถานการณ์' แห่ง 'ความสับสน' ให้ 'อยู่กับร่องกับรอย' โดยไม่ใยดีต่อ 'การทำความเข้าใจ' ใน 'หลักปฏิบัติ' ที่ 'ถูกต้อง' นั้น กลับจะเป็น 'แรงกดดัน' ที่ทำให้ 'ทุกลำดับขั้นตอน' ของ 'กระบวนการทำงาน' ได้รับการปฏิบัติ 'อย่างรีบลวก' เพื่อให้ 'พ้นความรับผิดชอบ' อย่าง 'ไร้จิตสำนึก' ใดๆ
    • 'ความมีส่วนร่วม' ของ 'ทุกส่วนงาน' ที่มี 'ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน' นั้น ย่อมไม่ใช่การที่ 'ทุกๆ ภาคส่วน' ต่างก็ 'ทุ่มเทสรรพกำลัง' เพื่อ 'ดำเนินกิจกรรม' เดียวกัน 'อย่างซ้ำซ้อน' ... แต่หมายถึง 'การประสานกำลังกัน' เพื่อ 'เสริมสร้าง' และ 'เติมเต็ม' ใน 'ศักยภาพ'ของกันและกัน 'อย่างเป็นระบบ' เพื่อมุ่งไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'หนักแน่น' และ 'มั่นคง' โดยไม่จำเป็นต้อง 'วู่วามเร่งเร้า' อย่าง 'ขาดสติ' จน 'เสียรูปกระบวน'
    • 'ความเป็นเอกภาพ' ใน 'การรับมือกับปัญหา' ต่างๆ นั้น จะต้องกำหนด 'เป้าหมาย' และ 'กรอบกระบวนการ' ให้มี 'ความตรงจุด-ตรงประเด็น' และจะต้องให้ 'ความเคารพ' ใน 'ศักยภาพ' และ 'ข้อจำกัด' ของ 'แต่ละภาคส่วน' อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้ 'การแก้ปัญหา' ที่ส่วนงานหนึ่ง กลายเป็น 'การสร้างปัญหา' ให้กับส่วนงานอื่นๆ ต้องติดตามแก้ไขอย่างไม่รู้จบ
    • 'ความสมานฉันท์-กลมเกลียว' ย่อมเกิดจาก 'ความหนักแน่น' ใน 'หลักการ' และ 'ความมั่นคง' ใน 'สัมพันธภาพ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'เกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน' ; 'การปฏิบัติภารกิจร่วมกัน' ของคนหมู่มากนั้น 'ความสุข' ย่อมเกิดจาก 'ความราบรื่น' ใน 'การปฏิบัติงาน' และ 'ความสัมเร็จ' ตาม 'จุดมุ่งหมาย' ที่ได้กำหนดไว้ ... หาใช่ 'การรวมตัวกัน' เพียงเพื่อ 'ความคะนองสำราญ' ซึ่ง 'ปราศจากรูปกระบวน' ใดๆ ใน 'การดำรงอยู่อย่างยั่งยืน' ขององค์กร