Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :

第三十四卦 : 大壯

大壯 : 雷天大壯 ‧ 震上乾下

大壯 : 利貞‧

  • 初九 : 壯于趾‧征凶‧有孚‧
  • 九二 : 貞吉‧
  • 九三 : 小人用壯‧君子用罔‧貞厲‧羝羊觸藩‧羸其角‧
  • 九四 : 貞吉悔亡‧藩決不羸‧壯于大輿之輹‧
  • 六五 : 喪羊于易‧無悔‧
  • 上六 : 羝羊觸藩‧不能退‧不能遂‧無攸利‧艱則吉‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ แจ่มใส (⚌) ; สติปัญญา ตื่นตัวทั่วพร้อม (⚌) ; ประพฤติตน สุขุมเยือกเย็น (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : การดำเนินกิจกรรมทาง 'การตลาด' (☳) บนพื้นฐานของ 'นโยบาย' (☰) ที่กำหนดไว้

ความหมายของสัญลักษณ์ : เสริมสร้างคุณงามความดี, กึกก้องเหนือฟากฟ้า



ความหมายของชื่อเรียก : Grandeurizing Virtues : เสริมสร้างคุณงามความดี


หลายตำราเลือกคำแปลให้กับชื่อบทนี้ว่า Great Strength หรือ Great Power ตามความหมายของคำ 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) ที่ King Wen เลือกใช้เป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้  ... โดยมีอักษร 大 (dà, ต้า) ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายพื้นๆ ว่า 'ใหญ่', หรือ 'สำคัญ' ; ในขณะที่ 壯 (zhuàng, จ้วง) จะประกอบด้วย 'ภาพอักษร' สองส่วนด้วยกันคือ ด้านหน้าเป็น 'ภาพอักษร' ของอาวุธจีนโบราณที่ทำจากไม้ หรือไม่ไผ่ (爿 : pán, พั๋น) และมี 'ภาพอักษร' ของทหาร หรือชายฉกรรจ์ยืนอยู่ตรงด้านขวา (士 : shì, ษื้อ) ความหมายของ 壯 (zhuàng, จ้วง) จึงหมายถึง 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง

แต่เนื่องจาก บทที่สามสิบสี่นี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวรรคที่สองของบทที่สอง (坤 : kūn, คุน) และถ้อยความที่บันทึกไว้ในบทที่สิบ (履 : lǚ, หลฺวี่) และบทที่ยี่สิบสอง (賁 :bì, ปี้) อย่างแน่นแฟ้น ... คำว่า 大 (dà, ต้า) ที่เราเห็นในที่นี้จึงไม่ได้แปลว่า 'ใหญ่โต' หรือ 'สำคัญ' ในลักษณะเดียวกับที่เราพบเห็นทั่วๆ ไป แต่มันควรจะหมายถึง 'คุณธรรมอันยิ่งใหญ่' หรือ 'หลักใหญ่แห่งคุณธรรม' ; ในขณะที่ 壯 (zhuàng, จ้วง) ก็น่าจะถูกใช้เป็นคำกริยาในความหมายว่า 'เสริมสร้างให้แข็งแกร่งมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป' ... โดยพิจารณาจาก 'ความต่อเนื่อง' ของความหมายต่างๆ เหล่านี้ ...

'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สองของบทที่สองว่า 直方大不習無不利 (zhí fāng dà bù xí wú bù lì, จื๋อ ฟัง ต้า ปู้ ซี๋ อู๋ ปู้ ลี่) ซึ่งความหมายก็คือ 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในการกระทำนั้นๆ อยู่แล้ว (直方大) โดยไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง หรือไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ (不習) เนื่องเพราะคุณงามความดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น (無不利)' ...

พอมาถึงบทที่สิบ King Wen เลือกใช้ถ้อยคำแบบนี้ครับ 履虎尾不咥人亨 (lǚ hǔ wěi bù dié rén hēng, หลฺวี่ หู่ เหฺว่ย ปู้ เตี๋ย เญิ๋น เฮิง) ซึ่งผมอธิบายซะยืดยาวไปแล้วว่า ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ 'การเหยียบหางของเสือ' อย่างเด็ดขาด เพราะความหมายที่แท้จริงของวลีดังกล่าวก็คือ  'ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดในการดำเนินงานทุกอย่างตามหลักแห่งธรรม (履虎尾) โดยไม่มีความคิดที่จะข่มเหงรังแก หรือไม่เหยียบย่ำทำร้ายผู้อื่นให้ด้อยคุณค่าลงไป (不咥人) ย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนาอย่างราบรื่น (亨)' ...

และเมื่อมาถึงบทที่ยี่สิบสองที่ King Wen ก็เลือกใช้วลีว่า 亨小利有所往 (hēng xiǎo lì yǒu suǒ wǎng, เฮิง เสี่ยว ลี่ โหฺย่ว สั่ว หฺวั่ง) ซึ่งมีความหมายว่า 'การดำเนินงานเพื่อพัฒนาให้เกิดความคืบหน้า (亨) ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างระมัดระวัง (小利) ย่อมปรากฏผลตอบสนองที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยของมัน (有所往) เสมอ' ...

เราจะเห็นว่า ธีมหลักของถ้อยความเหล่านี้ล้วนระบุไว้อย่างชัดเจนถึง 'ความยึดมั่นในการประกอบกรรมดี' (直方), 'ความรู้จักปล่อยวางโดยไม่แข็งขืนดันทุรัง' (不習), 'ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น' (不咥人), และ 'ความอุตสาหะพยายามอย่างระมัดระวัง' (小利) ... ทั้งหมดนี้ก็คือกรอบที่กำหนดให้ 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) มีความหมายว่า 'การประพฤติปฏิบัติตนอย่างสุขุมรอบคอบเพื่อเสริมสร้างบารมีให้ยิ่งใหญ่ด้วยหลักแห่งคุณธรรม' ซึ่งคำภาษาอังกฤษที่ผมเลือกมาใช้ก็คือ Grandeurizing Virtues นี่แหละ !! ... แต่คำภาษาไทยผมขอเลือกใช้เป็น 'เสริมสร้างคุณงามความดี' แทน เพราะถ้าใช้คำว่า 'เสริมสร้างบารมี' อาจจะดูคล้ายๆ กับเป็น 'การสั่งสมอิทธิพล' ไปซักหน่อย ... :D



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利貞
lì zhēn
ลี่ เจิ


ปรากฏว่า King Wen เลือกใช้วลีห้วนๆ ด้วนๆ แค่ 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) มาอธิบายความหมายของ 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) ซะอย่างงั้นแหละ ซึ่งก็ทำให้ทุกตำราที่แปลว่า 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) ว่า Great Power หรือ Great Strength คว้าเอาความหมายว่า 'เจริญรุ่งเรือง' หรือ 'โชคดี' ของ 利 (lì, ลี่) มาใช้อย่างแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย และมักจะให้ความหมายของ 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) ไปในทำนองว่า 'ความมั่นคงในหลักแห่งคุณธรรมย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง' ซึ่งก็เป็นความหมายที่ไม่ได้ผิดปรกติอะไร เพราะเป็น 'ข้อแนะนำ' หรือ 'คำเตือน' โดยปรกติที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' จะต้องระบุอย่างนั้นอยู่แล้วในสถานการณ์ที่ผู้นำมีอำนาจอย่างเหลือล้น

แต่ถ้าเรามอง 'ชื่อบท' อย่าง 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) ให้หมายถึง 'การเสริมสร้างบารมี' ถ้อยคำที่ King Wen เลือกใช้เป็นคำอธิบายว่า 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) ก็จะเป็นการกำหนดกรอบอย่างชัดเจนลงไปว่า 'บารมีย่อมแผ่ไพศาล' ด้วย 'การเสริมสร้างคุณงามความดี' เท่านั้น ... ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) น่าจะหมายถึง 'ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างมั่นคงด้วยหลักแห่งคุณธรรม' ซึ่งเป็นการนำความหมายของ 利 (lì, ลี่) ในแง่ของ 'ความมุ่งมั่น', 'ความทุ่มเท', และ 'ความพยายาม' มาใช้ โดยตัดประเด็นว่า 'ความโชคดี-โชคร้าย' ออกไปก่อน เพราะเราก็พบเห็นอยู่บ่อยครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของทุกชนชาติว่า คนที่ทำดีนั้น ก็อาจจะได้รับเคราะห์กรรมที่เลวร้ายได้เหมือนกัน หากไม่รู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้ดีอย่างถูกกาละ-เทศะ ... :D ...

'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' (䷡) ที่ King Wen เลือกใช้ก็ดูจะมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน เพราะเราจะเห็นการวางตำแหน่งของ 'สัญลักษณ์ฟ้าร้อง' หรือ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) อยู่ด้านบนของ 'สัญลักษณ์ฟ้า' หรือ ☰ (乾 : qián, เชี๋ยน) ... ซึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนกับมีการสะสมพลังงานบางอย่างอัดแน่นอยู่บนท้องฟ้า โดยยังไม่มีการปลดปล่อยพลังงานเหล่านั้นออกมาในรูปของฟ้าร้อง, ฟ้าคะนอง, หรือฟ้าผ่า อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มักจะเกิดขึ้น 'ใต้ท้องฟ้า' (หรือใต้กลุ่มเมฆลงมา) แทบทั้งนั้น ... มันจึงทำให้ 'คู่สัญลักษณ์' ที่ควรจะนำมาเปรียบเทียบในที่นี้ก็คือ ䷘ หรือ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) ของบทที่ยี่สิบห้า ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การเสริมประสาน' (Corroboration) เพราะ ䷘ หรือ 無妄 (wú wàng, อู๋ วั่ง) นั้นถูกกำหนดให้ใช้ 'สัญลักษณ์ฟ้าร้อง' (☳) อยู่ 'ด้านล่าง' ของ 'สัญลักษณ์ฟ้า' (☰) และมีความหมายในทำนองว่า 'การประสานกำลังเพื่อแสดงพลานุภาพอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน' ... มันดูคล้ายกับเป็นข้อแนะนำให้ 'เสริมสร้างและสั่งสม' ก่อนที่จะถึงเวลาสำหรับ 'การแสดงออกอย่างทรงพลัง' ยังไงอย่างงั้นเลยทีเดียว ... ;)

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'ภาพสัญลักษณ์' ของบทที่ยี่สิบห้า และบทที่สามสิบสี่นี้ก็คือ บทที่สามสิบสี่มีความเกี่ยวพันกับวรรคที่สองของบทที่สอง ในขณะที่บทที่ยี่สิบห้าจะเกี่ยวพันกับวรรคที่ห้าของบทที่สองเหมือนกัน ... ซึ่งโดยปรกติแล้ว วรรคที่สอง กับวรรคที่ห้าของแต่ละบทจะเป็น 'คู่วลี' ที่แฝงความต่อเนื่องกันของเนื้อความบางอย่างไว้เสมอ !!!! ... การกำหนด 'ภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ที่เห็นอยู่นี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ King Wen จะกระทำลงไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ลำดับทั้งหมดของสัญลักษณ์ใน 'คัมภีร์อี้จิง' น่าจะต้องอ้างอิงกับแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งของ King Wen ที่ยังไม่มีใครสามารถเข้าใจมากกว่า ??!!



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

壯于趾征凶有孚
zhuàng yǘ zhǐ zhēng xiōng yǒu fú
จ้วง ยฺวี๋ จื่อ เจิง เซฺวิง โหฺย่ว ฟู๋


ขอทวนความหมายของ 壯 (zhuàng, จ้วง) อีกครั้งนะครับ อักษรตัวนี้หมายถึง 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง

于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

趾 อ่านว่า zhǐ (จื่อ) แปลว่า 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย

征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

ทุกตำราเท่าที่ผมมีอยู่ในขณะที่เขียนเอกสารชุดนี้จะแปล 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) ในลักษณะว่า 'ความเข้มแข็งที่ปลายเท้า' ... :P ... ซึ่งดูจะเป็นความหมายที่ตีบตันจนผมต่อไปไหนไม่ได้เลย ... :P ... เพราะฉะนั้น ผมอยากจะ 'ตีความ' ให้กับวรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ว่า 'การเสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคง (壯) แห่งรากฐาน (于趾) นั้น การยื้อยุดแย่งชิง (征) ย่อมก่อให้เกิดผลในทางทำลายล้าง (凶) ในขณะที่ผลสำเร็จ (有) อันเป็นที่ปรารถนาของทุกฝ่าย ย่อมเกิดจากการฟูมฟักหล่อเลี้ยง (孚) อย่างเข้าอกเข้าใจ' ... นี่ก็คือการขยายความให้กับวลีว่า 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) ที่ King Wen ใช้กำกับความของ 大壯 (dà zhuàng, ต้าจ้วง) นั่นเอง

สังเกตนะครับว่า 有 (yǒu, โหฺย่ว) ในที่นี้ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายว่า 'มี' เหมือนกับการใช้งานปรกติทั่วไป แต่มันถูกใช้ในความหมายของ 'สิ่งที่เกิดขึ้น' หรือ 'ผลลัพธ์' ... โดยผลลัพธ์ของ 征 (zhēng, เจิง) หรือ 'การยื้อยุดแย่งชิง' ก็คือ 凶 (xiōng, เซฺวิง) หรือ 'ความฉิบหายล่มจม' ... ในขณะที่ผลลัพธ์ของ 孚 (fú, ฟู๋) หรือ 'การฟูมฟักหล่อเลี้ยง' ก็คือ 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) หรือ 'ความมั่นคงแห่งรากฐาน' ที่ทุกคนปรารถนาจะให้เกิดขึ้น ;)

แล้วก็แน่นอนครับว่า นี่คือความหมายที่สอดรับกันอย่างลงตัวกับ 利貞 (lì zhēn, ลี่ เจิน) หรือ 'การเสริมสร้างคุณงามความดี' ที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ในบทนี้ พร้อมๆ กับที่มันได้สะท้อนความหมายเดียวกับ 不習 (bù xí, ปู้ ซี๋) ที่หมายถึง 'ความไม่หักโหมอย่างดันทุรัง' ในบทที่สอง และ 不咥人 (bù dié rén, ปู้ เตี๋ย เญิ๋น) หรือ 'การไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น' ในบทที่สิบ กับ 小利 (xiǎo lì, เสี่ยว ลี่) หรือ 'ความอุตสาหะพยายามอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความระมัดระวัง' ในบทที่ยี่สิบสอง ด้วย ... เพราะฉะนั้น ฟันธงครับว่า 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรคเท้าช้างอย่างแน่นอน !!! ... :D ...

 

สอง หยาง :

貞吉
zhēn jí
จิน จี๋


แปลด้วนๆ แบบเดียวกับที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ด้วนๆ เลยแล้วกันนะครับว่า 'คุณธรรมความดี (貞) ย่อมเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ซึ่งผมอยากจะบอกว่า นี่คือการขยายความให้กับ 'การฟูมฟักหล่อเลี้ยง' (孚) ที่เอ่ยถึงในวรรคแรกว่า สิ่งที่ต้องฟูมฟักหล่อเลี้ยงก็คือ 'คุณธรรมความดี' (貞) ไม่ใช่การซ่องสุมอิทธิพลมืด ... ทั้งนี้ก็เนื่องจาก 貞 (zhēn, เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม', 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

 

สาม หยาง :

小人用壯君子用罔貞厲羝羊觸藩羸其角
xiǎo rén yòng zhuàng jün zǐ yòng wǎng zhēn lì dī yáng chù fān léi qí jiǎo
เสี่ยว เญิ๋น โยฺว่ง จ้วง จฺวิน จื่อ โยฺว่ง หฺวั่ง เจิน ลี่ ตี ยั๋ง ฌู่ ฟัน เล๋ย ชี๋ เจี่ยว


罔 อ่านว่า wǎng (หฺวั่ง) คำนี้มีความหมายแปลกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะปรกติมันจะแปลว่า 'ใส่ร้ายป้ายสี', 'หลอกลวง', 'ทำให้เข้าใจผิด' จนเพี้ยนไปเป็นความหมายว่า 'ทำให้สับสน', 'ไม่ซื่อสัตย์', หรือ 'ไม่รู้สึกรู้สา' จนทำให้บางครั้งก็ถูกใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธว่า 'ไม่', 'ไม่มี', 'ไม่ต้องการ' ซึ่งน่าจะพัฒนาความหมายมาจาก 'ความไม่มีแก่นสาร' นั่นเอง ... :P ... ; ในขณะที่สมัยโบราณ อักษรตัวนี้เคยมีความหมายเช่นเดียวกับ 網 (wǎng, หฺวั่ง) หรือ 网 (wǎng, หฺวั่ง) ที่แปลว่า 'แห', หรือ 'ตาข่าย' ได้อีกด้วย

羝 อ่านว่า dī (ตี) ปรกติก็จะหมายถึง 'แพะตัวผู้' หรือ 'แกะตัวผู้' เท่านั้น

羊 อ่านว่า yáng (ยั๋ง) ความหมายที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปก็คือ 'แพะ' หรือ 'แกะ' ; แต่ในสมัยก่อนมันยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'โชคดี' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'ละเอียดถี่ถ้วน' ซึ่งอาจจะออกแนว 'ละเอียดจนหยุมหยิม' ไปเลยด้วยซ้ำ หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ 'ทำให้กระจ่างแจ้ง', 'ทำให้ชัดเจน'

觸 อ่านว่า chù (ฌู่) แปลว่า 'ชน', 'ปะทะ', 'ต่อต้าน'

藩 อ่านว่า fān (ฟัน) แปลว่า 'รั้ว', 'เขตแดน', หรือ 'อาณาบริเวณ' ซึ่งอาจจะใหญ่โตในระดับเมือง หรือประเทศไปเลยก็ได้

羸 อ่านว่า léi (เล๋ย) แปลว่า 'ผอมแห้งแรงน้อย', 'อ่อนแรง', หรือ 'อ่อนกำลัง'

角 อ่านว่า jiǎo (เจี่ยว) ปรกติจะหมายถึง 'เขาสัตว์' เช่น เขาวัว เขาแกะ ; มันจึงสามารถหมายถึง 'ส่วนที่อยู่บนสุด', 'ปลายยอด' หรืออาจจะหมายถึง 'แหลม' ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ยื่นไปในทะเลก็ได้ ; และบางครั้งก็ยังหมายถึง 'มุม' หรือ 'จุดบรรจบ' ของสิ่งต่างๆ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ด้านในด้านหนึ่ง' ในลักษณะที่เป็น 'ปลายสุด' ของแต่ละด้านได้ด้วย

ความหมายของวรรคนี้จะต่อเนื่องไปถึงวรรคที่สี่เลยนะครับ แต่อีกเดี๋ยวผมค่อยชี้ให้เห็นกันชัดๆ อีกทีหนึ่ง ... โดยสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อสารไว้ในวรรคนี้ก็คือ 'ชนชั้นสามัญ (小人) ย่อมรู้จักแต่การปะทะด้วยกำลัง (用壯) ในขณะที่ชนชั้นบัณฑิต (君子) ย่อมเลือกที่จะปล่อยวาง (用罔) อย่างเหมาะสม ; ระบบระเบียบใดๆ (貞) ย่อมได้รับความเสียหาย (厲) หากต่างฝ่ายต่างปฏิบัติต่อกันราวกับแกะป่า (羝羊) ที่รู้จักแต่การแย่งชิงดินแดน (觸藩) ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้แต่บั่นทอนกำลัง (羸) ของทุกๆ ฝ่าย (其角) ลงไปอย่างไร้ประโยชน์' ...

จะเห็นว่าท่อนหลังของวรรคนี้ที่บันทึกไว้ว่า 羝羊觸藩 羸其角 (zhēn lì dī yáng chù fān léi qí jiǎo, เจิน ลี่ ตี ยั๋ง ฌู่ ฟัน เล๋ย ชี๋ เจี่ยว) ก็คือสิ่งที่ 'จิวกง' ใช้คำว่า 征 (zhēng, เจิง) ที่ผมให้ความหมายว่า 'แย่งชิง' ไว้ในวรรคที่หนึ่งนั่นเอง ในขณะที่ 貞厲 (zhēn lì, เจิน ลี่) ในวรรคนี้ก็คือ 羸其角 (léi qí jiǎo, เล๋ย ชี๋ เจี่ยว) ที่สะท้อนความหมายของ 凶 (xiōng, เซฺวิง) หรือ 'ความฉิบหายวายป่วง' ในวรรคที่หนึ่งไปพร้อมๆ กันด้วย ... แม้ว่าความหมายตามตัวอักษรที่บันทึกไว้จะสามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึงการมีแพะ (羝羊) มาวิ่งขวิดรั้วขวิดกำแพง (觸藩) จนเขาทั้งสองข้างล้วนสึกกร่อนผุพังลงไป (羸其角) ก็ตาม ... :P ... แต่ประเด็นดังกล่าวน่าจะหาจุดเชื่อมโยงใดๆ กับความหมายของถ้อยคำอื่นๆ ไม่ได้เลย

 

สี่ หยาง :

貞吉悔亡藩決不羸壯于大輿之輹
zhēn jí huǐ wáng fān jüé bù léi zhuàng yǘ dà yǘ zhī fù
จิน จี๋ หุ่ย วั๋ง ฟัน เจฺวี๋ย ปู้ เล๋ย จ้วง ยฺวี๋ ต้า ยฺวี๋ จือ ฟู่


決 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) แปลว่า 'แน่นอน', 'เด็ดขาด', หรือ 'ข้อสรุปขั้นสุดท้าย' บางครั้งก็หมายถึง 'การจำแนกออกให้ชัดเจน' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากความหมายดั้งเดิมของ 決 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่หมายถึง 'ช่องเปิดที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ' หรือ 'ทางน้ำไหล' มันจึงสามารถแปลว่า 'ปริออก', 'แยกออก', 'แตกออกจากกัน' ได้ด้วย

輿 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'รถ (ที่ใช้เพื่อการขนถ่ายสิ่งของ)', 'เกวียน', 'เกี้ยวโดยสาร', 'ห้องโดยสารของรถ' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'มากมาย', 'หนาแน่น' จากความหมายของ 'การขนถ่ายสิ่งของด้วยรถ' ; สามารถแปลว่า 'ลานโล่ง' หรือ 'บริเวณ' ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกันจำนวนมากๆ ; อาจจะหมายถึง 'ฝูงชน' หรือ 'ที่สาธารณะ' ก็ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'เขตแดน' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แบก', 'หาม', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย'

輹 อ่านว่า fù (ฟู่) เป็นคำที่ใช้เรียก 'คานรถ' หรือ 'โครงช่วงล่างของรถ' ในยุคโบราณของจีน ใช้เพื่อรองรับน้ำหนักของรถ พร้อมทั้งสิ่งบรรทุกต่างๆ ถ้าเปรียบเทียบกับรถในสมัยปัจจุบันก็น่าจะเทียบได้กับ 'แหนบ', หรือ chassis ของรถนั่นเอง

คำที่เป็นสะพานเชื่อมโยงความหมายของวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่เข้าด้วยกันก็คือคำว่า 貞 (zhēn, เจิน) นี่แหละ ซึ่งเราคงจะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันได้ง่ายขึ้นถ้าเรานำทั้งสองวรรคมาเรียงต่อกัน โดยผมจะใส่เครื่องหมายเพื่อแยกวรรคตอนให้ชัดเจนกว่าเดิมอย่างนี้ครับ ...
 

[小人用壯] -- [君子用罔] : [貞厲 : 羝羊觸藩 羸其角] -- [貞吉 : 悔亡 藩決不羸 壯于大輿之輹]


ดูดีๆ นะครับ :) ช่วงท้ายของวรรคที่สามก็คือคำขยายความให้กับ 小人用壯 (xiǎo rén yòng zhuàng, เสี่ยว เญิ๋น โยฺว่ง จ้วง) ที่ผลลัพธ์ของมันก็คือ 貞厲 (zhēn lì, เจิน ลี่) ... ส่วนวรรคที่สี่ทั้งวรรคก็คือคำขยายความให้กับ 君子用罔 (jün zǐ yòng wǎng, จฺวิน จื่อ โยฺว่ง หฺวั่ง) ที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็น 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) ที่พ่วงเอาคำอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ตลอดทั้งวรรคอีกด้วย ... ;)

อธิบายแล้วก็เหมือนโกหกล่ะครับว่า ความหมายที่ 'จิวกง' น่าจะพยายามสื่อสารกับพวกเราผ่านถ้อยคำในวรรคนี้ก็คือ 'ระบบระเบียบใดๆ (貞) ย่อมบรรลุถึงความเจริญงอกงาม (吉) เพื่อช่วยขจัดความคับข้องทั้งปวง (悔) ให้หมดไปได้ (亡) หากมีการจำแนกแยกแยะสิทธิ และหน้าที่ (藩 คือพื้นที่ความรับผิดชอบ) ให้มีขอบเขตที่ชัดเจน (決) โดยไม่ก่อให้เกิดความเบียดเบียน หรือความกระทบกระทั่งระหว่างกัน (不羸) ความมั่นคงแข็งแรง (壯) ย่อมคล้ายดั่ง (于) คานบรรทุกทั้งสองของรถใหญ่ (大輿之輹) ที่ไม่อาจจัดวางให้เบียดจนชิดติดกันฉันนั้น' ... ไม่ใช่เรื่องที่ว่ามีแกะขวิดกำแพงจนล้มอย่างแน่นอน ... :D

ความหมายตรงที่ 'จิวกง' เปรียบเทียบ 'ความแข็งแรงมั่นคง' กับ 'คานบรรทุกทั้งสองของรถใหญ่' นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะมันทำให้ผมนึกถึงบทประพันธ์เกี่ยวกับ 'ความรัก' ของ Kahlil Gibran ในหนังสือเรื่อง The Prophet ที่แปลเป็นภาคภาษาไทยด้วยชื่อหนังสือว่า 'ปรัชญาชีวิต' โดย ดร. ระวี ภาวิไล ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า ...

...

จงรักกันและกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งความรัก 
และขอให้ความรักนั้นเป็นเสมือนห้วงมหาสมุทร
อันเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างฝั่งแห่งวิญญาณของเธอทั้งสอง

จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน 
จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน 
จงร้องและเริงรำด้วยกันและจงมีความบันเทิง 
แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว 
ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว 
แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน 

จงมอบดวงใจ แต่มิใช่ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง 
เพราะหัตถ์แห่งชีวิตอมตะเท่านั้นที่จะรับดวงใจของเธอไว้ได้ 
และจงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก 
เพราะว่าเสาของวิหารนั้นก็ยืนอยู่ห่างกัน 
และต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้

 
...


ผมอยากจะบอกว่า นี่คือความหมายที่แท้จริงของวลีที่ว่า 藩決不羸 (fān jüé bù léi, ฟัน เจฺวี๋ย ปู้ เล๋ย) ล่ะครับ ไม่ใช่ 'กำแพงพังทลายไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อแล้ว' หรือความหมายอะไรบ้าๆ บอๆ ที่สื่อความคิดใดๆใไม่ได้เลยเหล่านั้น ... :P ... 'การเสริมสร้างบารมี' ในทัศนะของ 'จิวกง' จึงไม่ใช่การพยายามบดบังบารมี หรือการพยายามดับรัศมีของผู้อื่น แต่มันคือการที่ต่างฝ่ายต่างก็สั่งสมคุณงามความดี เพื่อเสริมสร้างบารมีของแต่ละฝ่ายไปตามครรลองที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่กันในทางอ้อมอีกด้วย ... ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ย่อมมิใช่เกิดจากการแก่งแย่งแข่งดีระหว่างกันของผู้คนในสังคม เพราะกลไกการแก่งแย่งอย่างนั้น ย่อมนำไปสู่การกำจัดผู้ที่ควรจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาจำนวนมากมายมหาศาลออกไปจนหมดสิ้น และหลงเหลือไว้แค่กลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือเดียวที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนใดๆ ได้อย่างยั่งยืน ... ในทางตรงกันข้าม หากทุกหน่วยในสังคมมีความเจริญเติบโตและแข็งแรง ทั้งยังให้ความเกื้อหนุนจุนเจือแก่กัน ย่อมเป็นการเสริมสร้างบารมีของกันและกันให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ ...

เมื่อความหมายของวลีตรงท้ายวรรคที่สามคือการขยายความให้กับคำว่า 征凶 (zhēng xiōng, เจิง เซฺวิง) ของวรรคที่หนึ่ง สิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่สี่นี้ทั้งหมดก็คือการขยายความให้กับคำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) หรือ 'การให้ความช่วยเหลือจุนเจือแก่กัน' ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับ 征凶 (zhēng xiōng, เจิง เซฺวิง) ในวรรคที่หนึ่งอย่างแน่นอน ... และ ... 壯于大輿之輹 (zhuàng yǘ dà yǘ zhī fù, จ้วง ยฺวี๋ ต้า ยฺวี๋ จือ ฟู่) ก็คือการสะท้อนความหมายให้กับคำว่า 壯于趾 (zhuàng yǘ zhǐ, จ้วง ยฺวี๋ จื่อ) ที่หมายถึง 'การเสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคงแห่งรากฐาน' นั่นเอง !!!!

 

ห้า หยิน :

喪羊于易無悔
sàng yáng yǘ yì wú huǐ
ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้ อู๋ หุ่ย


喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', หรือ 'สิ้นสุด'

易 อ่านว่า yì (อี้) เป็นอักษรตัวเดียวกับที่ใช้เป็นชื่อคัมภีร์เลยนะครับ แต่เป็นครั้งแรกที่ปรากฎให้เห็นในเนื้อความทั้งหมดของ 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับ (และปรากฏอีกเพียงครั้งเดียวในบทที่ห้าสิบหกเท่านั้น) ... ความหมายตามที่ทุกตำราแปลไว้ในฐานะของชื่อคัมภีร์ก็คือ 'ความเปลี่ยนแปลง' แต่ความหมายอื่นๆ ของ 易 (yì, อี้) คือ 'ความเรียบง่าย', 'มิตรภาพ', 'การแลกเปลี่ยน', 'การปรับปรุง' (renovation), 'การทดแทน', และ 'การแผ่ขยาย'

เมื่อดูจากสภาพแวดล้อมของคำแล้ว 羊 (yáng, ยั๋ง) ในวรรคนี้คงจะหมายถึง 羝羊觸藩 (dī yáng chù fān, ตี ยั๋ง ฌู่ ฟัน) ในวรรคที่สาม และวรรคที่หก ซึ่งมีความหมายว่า 'แกะป่าที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงดินแดน' ... มันจึงทำให้ 羊 (yáng, ยั๋ง) ในที่นี้น่าจะถูกใช้ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า 'ความก้าวร้าวรุนแรง' หรือ 'การต่อสู้แย่งชิง' ... แต่ถ้าเราพิจารณา 羊 (yáng, ยั๋ง) ในความหมายของ 祥 (xiáng, เซี๋ยง) ที่มีความหมายใกล้เคียงกับ 'ผลประโยชน์' เข้าไปด้วย ... 喪羊于易 (sàng yáng yǘ yì, ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้) ที่เราเห็นในวรรคนี้ก็น่าจะมีความหมายว่า 'ความยุติแห่งการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ ย่อมนำไปสู่การถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน' ... อันเป็นความหมายที่พ้องกับคำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) ที่ได้รับการขยายความเอาไว้อย่างละเอียดแล้วในวรรคที่สี่ และจะส่งผลให้กลายเป็น 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) หรือ 'คุณธรรมความดีอันเป็นปัจจัยแห่งความเจริญรุ่งเรือง' ดังปรากฏอยู่ในถ้อยคำของ 'จิวกง' ทั้งสองวรรคคือวรรคที่สอง และวรรคที่สี่ด้วย ...

ทีนี้ ... ถ้าเราเลือกพิจารณาให้ 羊 (yáng, ยั๋ง) หมายถึง 詳 (xiáng, เซี๋ยง) ที่แปลว่า 'จุกจิกหยุมหยิม' เราก็จะได้ความหมายของ 喪羊于易 (sàng yáng yǘ yì, ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้) ว่า 'การละทิ้งรายละเอียดหยุมหยิมที่ไร้แก่นสาร ย่อมนำไปสู่ความเรียบง่ายที่ตรงไปตรงมา' ... ซึ่งไม่ว่าเราจะ 'ตีความ' ให้วลีดังกล่าวมีความหมายแบบไหน ผลพวงที่ตามมาย่อม 'ปราศจากความคับข้องใจ' (無悔) ด้วยกันทั้งนั้น ... การที่จู่ๆ 'จิวกง' ก็เอ่ยถึง 'แพะ' (羊) ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่ขลุ่ยในบทนี้ จึงมีความลงตัวอย่างน่าประหลาดพิสดารพอสมควรเลยทีเดียว ... :)

แต่ที่ผมอยากชวนให้ดูก็คือ วิธีการโยงความหมายระหว่างวรรคที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในบทนี้ครับ ...

'จิวกง' บันทึกไว้เพียงสั้นๆ ตรงวรรคที่สองว่า 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) ... ซึ่งผมอธิบายไปแล้วว่า วลีนี้เป็นการขยายความให้กับคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) ของวรรคที่หนึ่ง

จากนั้น 'จิวกง' ก็เลือกบันทึกไว้ตรงต้นวรรคที่สี่ว่า 貞吉悔亡 (zhēn jí huǐ wáng, เจิน จี๋ หุ่ย วั๋ง) ในขณะที่ถ้อยคำตรงส่วนท้ายของวรรคที่สี่ผมก็ได้อธิบายไปแล้วว่า มันคือส่วนขยายความให้กับคำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) ของวรรคที่หนึ่งเช่นเดียวกัน ... ดังนั้น วรรคที่สอง กับวรรคที่สี่ในบทนี้จึงแทบจะเป็น synonyms ของกันและกันโดยมี 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) ของวรรคที่หนึ่งเป็นตัวเชื่อมความหมาย

เมื่อมาถึง 'คู่วลี' ตัวจริงในวรรคที่ห้า 'จิวกง' ก็เปลี่ยนมาบันทึกด้วยคำว่า 喪羊于易無悔 (sàng yáng yǘ yì wú huǐ, ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้ อู๋ หุ่ย) ... โดยมี 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ในวรรคที่สี่ กับ 無悔 (wú huǐ, อู๋ หุ่ย) ของวรรคที่ห้าเป็น synonyms ของกันและกันอย่างชนิดที่ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ อยู่แล้ว ... ดังนั้น 喪羊于易 (sàng yáng yǘ yì, ซั่ง ยั๋ง ยฺวี๋ อี้) ในสถานการณ์ที่เห็นอยู่นี้จึงมีความหมายอื่นได้ยาก นอกจากที่จะต้องเป็น synonyms กับ 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) และควรจะมีความหมายที่บ่งชี้ไปในทิศทางของ 'คุณธรรมความดีที่เป็นปัจจัยแห่งความเจริญรุ่งเรือง' อย่างแน่นอน !!! ...

โดยเหตุผลทั้งมวลดังที่กล่าวถึงนี้ วรรคที่ห้าของบทที่สามสิบสี่จึงควรจะมีความหมายว่า 'การรู้จักปล่อยวางประเด็นปลีกย่อยอันเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว (喪羊) เพื่อบรรลุถึงความมีมิตรภาพที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน (于易) ย่อมขจัดปัดเป่าความคับข้องใจทั้งมวลให้หมดสิ้นไป (無悔)' ... อย่างนี้เลย ... ;)

 

หก หยิน :

羝羊觸藩不能退不能遂無攸利艱則吉
dī yáng chù fān bù néng tuì bù néng suì wú yōu lì jiān zé jí
ตี ยั๋ง ฌู่ ฟัน ปู้ เนิ๋ง ทุ่ย ปู้ เนิ๋ง ซุ่ย อู๋ โยว ลี่ เจียน เจ๋อ จี๋


退 อ่านว่า tuì (ทุ่ย) แปลว่า 'ถอยหลัง', 'ถอยออกมา', 'หลีกให้ห่าง', 'ถอนตัว', 'ล้มเลิก', 'ลาออก' ; 'ถดถอย' ; หรือ 'ส่งคืน'

遂 อ่านว่า suì (ซุ่ย) เป็นคำหนึ่งที่มีความหมายตรงข้ามกับ 退 (tuì, ทุ่ย) โดย 遂 (suì, ซุ่ย) จะหมายถึง 'ดำเนินต่อไป', 'เติมเต็ม', 'สืบทอด', 'ทำให้สำเร็จ', 'ทำให้ประจักษ์', และ 'เติบโต'

艱 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'ยาก', 'ลำบาก', 'อันตราย', 'ขมขื่น' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'บากบั่น', 'แบกรับ', 'ทรหด', 'เหนื่อยยาก' เพื่อ 'กัดฟันต่อสู้' กับ 'ความยากลำบาก' ต่างๆ นาๆ

則 อ่านว่า zé (เจ๋อ) แปลว่า 'แบบอย่าง', 'มาตรฐาน', 'กฎระเบียบ' ; สามารถแปลว่า 'เงื่อนไข', 'ความเป็นเหตุเป็นผล', หรือ 'ความแน่นอน' ในลักษณะที่เป็นไปตาม 'กฎระเบียบ' หรือ 'เงื่อนไข' หนึ่งๆ

จะถือว่า 'จิวกง' ตั้งใจใช้เนื้อความในวรรคนี้เพื่อสรุปประเด็นของบทนี้ทั้งบท หรือจะบอกว่านี่คือการขยายความให้กับวรรคที่หนึ่ง และวรรคที่สามก็น่าจะได้ โดย 羝羊觸藩 (dī yáng chù fān, ตี ยั๋ง ฌู่ ฟัน) ก็คือถ้อยคำเดิมที่พบในวรรคที่สามจะสื่อถึงคำว่า 征 (zhēng, เจิง) ที่หมายถึง 'การแก่งแย่งช่วงชิง' ในวรรคที่หนึ่ง ... ส่วน 羸其角 (léi qí jiǎo, เล๋ย ชี๋ เจี่ยว) หรือ 'การบั่นทอนกำลังของทุกฝ่าย' ที่เราเห็นในวรรคที่สาม ก็ถูกขยายความอีกครั้งด้วยวลีว่า 不能退 不能遂 (bù néng tuì bù néng suì, ปู้ เนิ๋ง ทุ่ย ปู้ เนิ๋ง ซุ่ย) หรือ 'ต่อให้ไม่ถดถอย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า' ในวรรคนี้ โดยวรรคที่หนึ่งจะใช้คำเพียงสั้นๆ ว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) เท่านั้นเอง ...

ความหมายที่เป็นไปได้สำหรับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ก็คือ 'ความแข็งขืนดึงดันราวกับแกะป่าที่ต่อสู่เพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างกัน (羝羊觸藩) ต่อให้ไม่มีความถดถอย (不能退) แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า (不能遂) ย่อมไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ในบั้นปลาย (無攸利) มีเพียงความอดทดอดกลั้น (艱) อย่างสมเหตุสมผล (則) เท่านั้น จึงจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ซึ่งไอ้เจ้า 'ความอดทนอดกลั้นอย่างสมเหตุสมผล' นี้ก็คือ 'ความมีอุเบกขา', 'ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน' และ 'การโอบอุ้มค้ำชูซึ่งกันและกัน' ที่ 'จิวกง' ประมวลไว้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยคำว่า 有孚 (yǒu fú, โหฺย่ว ฟู๋) ตรงท้ายวรรคที่หนึ่งนั่นแหละครับ ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ต้าจ้วง' คือ เสริมสร้างคุณงามความดี, กึกก้องเหนือฟากฟ้า

'บารมี' ย่อม 'แผ่ไพศาล' ด้วย 'ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างมั่นคง' ใน 'การเสริมสร้างคุณงามความดี' ให้ปรากฏ

  •  
  • 'การเสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคง' แห่ง 'รากฐาน' นั้น 'การยื้อยุดแย่งชิง' ย่อมก่อให้เกิดผลในทาง 'ทำลายล้าง' ในขณะที่ 'ผลสำเร็จ' อันเป็นที่ปรารถนาของทุกฝ่าย ย่อมเกิดจาก 'การฟูมฟักหล่อเลี้ยง' อย่าง 'เข้าอกเข้าใจ'
  •  
  • 'คุณธรรมความดี' ย่อมเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ชนชั้นสามัญ' ย่อมรู้จักแต่ 'การปะทะด้วยกำลัง' ในขณะที่ 'ชนชั้นบัณฑิต' ย่อมเลือกที่จะ 'ปล่อยวางอย่างเหมาะสม' ; 'ระบบระเบียบ' ใดๆ ย่อมได้รับ 'ความเสียหาย' หากต่างฝ่ายต่างปฏิบัติต่อกันราวกับแกะป่าที่รู้จักแต่ 'การแย่งชิงดินแดน' ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้แต่ 'บั่นทอนกำลัง' ของทุกๆ ฝ่ายลงไป 'อย่างไร้ประโยชน์'
  •  
  • 'ระบบระเบียบ' ใดๆ ย่อมบรรลุถึง 'ความเจริญงอกงาม' เพื่อช่วย 'ขจัดความคับข้องทั้งปวง' ให้หมดไปได้ หากมี 'การจำแนกแยกแยะ' สิทธิ และหน้าที่ ให้มีขอบเขตที่ 'ชัดเจน' โดยไม่ก่อให้เกิด 'ความเบียดเบียน' หรือ 'ความกระทบกระทั่ง' ระหว่างกัน ; 'ความมั่นคงแข็งแรง' ย่อมคล้ายดั่ง 'คานบรรทุกทั้งสองของรถใหญ่' ที่ไม่อาจจัดวางให้เบียดจนชิดติดกันฉันนั้น
  •  
  • 'การรู้จักปล่อยวาง' ประเด็น 'ปลีกย่อย' อันเป็น 'ผลประโยชน์ส่วนตัว' เพื่อ 'บรรลุ' ถึง 'ความมีมิตรภาพ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'เกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน' ย่อม 'ขจัดปัดเป่าความคับข้องใจทั้งมวล' ให้หมดสิ้นไป
  •  
  • 'ความแข็งขืนดึงดัน' ราวกับแกะป่าที่ต่อสู่เพื่อ 'แย่งชิงดินแดน' ระหว่างกัน ต่อให้ไม่มี 'ความถดถอย' แต่ก็ไม่มี 'ความคืบหน้า' ย่อมไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ ในบั้นปลาย มีเพียง 'ความอดทดอดกลั้น' อย่าง 'สมเหตุสมผล' เท่านั้น จึงจะนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'


 


The Organization Code :



'การเสริมสร้างบารมี' คือ การดำเนินกิจกรรมทาง 'การตลาด' (☳) บนพื้นฐานของ 'นโยบาย' (☰) ที่กำหนดไว้

'การเสริมสร้างบารมี' คือ 'การเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ' อันเป็น 'การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร' ผ่าน 'การดำเนินงาน' ที่สอดคล้องกับพันธกิจที่พึงมีต่อสาธารณะโดยทั่วไป ซึ่งการที่จะบรรลุถึง 'ความน่าเชื่อถือ' ดังกล่าวได้นั้น 'ระดับนโยบาย' จะต้องกำหนด 'ทิศทาง' และ 'เป้าหมาย' ที่มี 'ความชัดเจน' (⚌) ; 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'แผนงาน' และ 'ระบบระเบียบ' ใน 'การดำเนินงาน' ที่ 'เข้มงวด-รัดกุม' (⚌) ; ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติงาน' ต้องมี 'ความยืดหยุ่น' (⚏) ไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่ 'แข็งขืนดึงดัน' จนทำลายบรรยากาศแห่ง 'ความร่วมมือ' เพื่อ 'ความเจริญก้าวหน้า' ของทุกๆ ฝ่าย

  •  
  • 'รากฐานที่มั่นคง' ย่อมมิใช่ก่อเกิดขึ้นมาได้จาก 'การฉกฉวยแย่งชิง' แต่ต้องเกิดจาก 'การหล่อหลอมฟูมฟัก' จากภายใน และ 'การหล่อเลี้ยงสัมพันธภาพที่ดี' เพื่อสร้าง 'เครือข่ายทางสังคม' ที่ 'เข้มแข็ง' และสามารถ 'เจริญเติบโต' ไปด้วยกัน 'อย่างยั่งยืน'
  •  
  • แม้ว่า 'ผลประโยชน์' จะเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้เพื่อ 'การขับเคลื่อนธุรกิจ' แต่ 'คุณธรรมความดี' ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' อย่างแท้จริงขององค์กร และสังคมโดยรวม
  •  
  • 'ผู้ไร้การศึกษา' ย่อมรู้จักเพียง 'การปะทะด้วยกำลัง' ในขณะที่ 'ผู้เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ' ย่อมเลือกที่จะ 'ปล่อยวางอย่างเหมาะสม' ; 'ระบบระเบียบ' ใดๆ ย่อมสูญสิ้นความหมายในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างใช้เพียง 'ทิฏฐิตน' ด้วย 'ความแข็งขืนดึงดัน' ซึ่งในที่สุดแล้วย่อมเป็น 'การบั่นทอนกำลัง' และ 'ความน่าเชื่อถือ' ของทุกฝ่ายลงไป 'อย่างไร้ประโยชน์'
  •  
  • 'ระบบระเบียบ' ใดๆ ย่อม 'เจริญงอกงาม' และช่วย 'ขจัดความคับข้องทั้งปวง' ให้หมดสิ้นไปได้ หากว่า 'ระบบระเบียบ' นั้นๆ เป็นไปเพื่อ 'การจำแนกแยกแยะ' ทั้งสิทธิ และหน้าที่ ให้มี 'ขอบเขตความรับผิด-ชอบ' ที่ชัดเจน โดยไม่ก่อให้เกิด 'การเบียดเบียน' หรือ 'การกระทบกระทั่ง' ระหว่างกัน ; 'ความมั่นคงแข็งแรง' อันเป็น 'สาระสำคัญ' แห่ง 'การเสริมสร้างรากฐาน' ให้กับองค์กรนั้น ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพที่ 'ไร้ความแตกต่าง' แต่องค์กรหนึ่งๆ ย่อม 'เจริญงอกงามอย่างยั่งยืน' ได้บนพื้นฐานของ 'ความหลากหลาย' ที่ 'สร้างสรรค์'
  •  
  • 'การรู้จักปล่อยวาง' ประเด็น 'ปลีกย่อย' อันเป็น 'ผลประโยชน์ส่วนตัว' เพื่อ 'บรรลุ' ถึง 'ความมีมิตรภาพ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'เกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน' ย่อม 'ขจัดปัดเป่าความคับข้องใจทั้งมวล' ให้หมดสิ้นไป
  •  
  • 'ความแข็งขืนดึงดัน' ที่มุ่งหวังเพียงเพื่อ 'การบำเรออัตตา' นั้น ต่อให้ไม่เป็น 'การถ่วงความเจริญ' จน 'ถดถอย' แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ 'ไม่ก่อประโยชน์' ใดๆ ในแง่ของ 'การพัฒนา' เช่นกัน ; 'ความเคารพ' ใน 'กฎเกณฑ์' และ 'ความเข้มงวดกวดขัน' ต่อ 'ระบบระเบียบ' อย่าง 'สมเหตุสมผล' เท่านั้นที่จะนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' อย่างแท้จริง


ถือว่าเป็นอีกบทหนึ่งที่มีความยากเย็นพอสมควรใน 'การตีความ' เพื่อให้ได้ความหมายที่ต่อเนื่องกับบทก่อนๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ซึ่งผมมองว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' คงจะต้องการพยายามสื่อความหมายในลักษณะที่ว่า 'ความยับยั้งชั่งใจ' หรือ 'ความรู้จักประมาณตน' (遯) ที่บางครั้งดูเหมือนกับ 'ความแหย' หรือ 'การถอนตัว' ในบทที่สามสิบสี่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือแนวทางหนึ่งของ 'การสั่งสมบารมี' หรือ 'การสั่งสมความชอบธรรม' ในการดำเนินงานต่างๆ ต่อไปด้วย 'ความเป็นมิตร' กับทุกๆ ฝ่ายนั่นเอง

มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่อาจจะดูแปลกๆ อยู่ซักหน่อยก็คือ การที่ 'จิวกง' ดึงเอาภาพของ 'แพะ' หรือ 'แกะ' เข้ามาเกี่ยวข้องในคำเปรียบเปรยของบทนี้ ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความเป็นมาที่ชัดเจนใดๆ ให้อนุมานเลย แต่ก็มีบางตำราที่เชื่อว่า 'จิวกง' อาจจะมอง 'ภาพลัญลักษณ์ประจำบท' (䷡) แล้วเกิดมีจินตนาการถึง 'แพะ' ขึ้นมาดื้อๆ อย่างนั้นเอง ... :P ... ข้อนี้ ... ถ้าจะบอกว่า 'จิวกง' มี 'ความซุกซนทางความคิด' แบบเด็กๆ ก็พอจะเข้าใจได้อยู่ล่ะครับ เพราะสัญลักษณ์ที่เห็นมันก็คล้ายมากๆ ... :D

แต่ที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้เล็กน้อยก็คือ 'แพะ' หรือ 'แกะ' ที่เรากำลังเอ่ยถึงในขณะนี้ คือหนึ่งใน 'สิบสองนักษัตร' ตามคติความเชื่อของชนชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย (ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวจีนเท่านั้น) โดย 'แพะ' หรือ 'แกะ' นี้ ได้ถูกจัดอยู่ในลำดับที่แปดของ 'สิบสองนักษัตร' และมี 'ธาตุดิน' เป็นธาตุประจำราศี ซึ่งถ้านำไปเขียนลงไปบน 'แผนผังโป้ยก่วย' ก็จะตกอยู่ใน 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' หรือ 西南 (xī nán, ซี นั๋น) พอดี ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 'จิวกง' ต้องการจะสร้าง 'เงื่อนไขเชิงสัญลักษณ์' บางอย่างที่โยงไปถึงวลีสำคัญของ King Wen ที่บันทึกไว้ตรงช่วงท้ายของวลีในบทที่สองว่า 西南得朋 東北喪朋 (xī nán dé péng dōng běi sàng péng, ซี นั๋น เต๋อ เพิ๋ง ตง เป่ย ซั่ง เพิ๋ง) ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วว่า ความหมายของวลีดังกล่าวก็คือ 'ความอ่อนน้อม และความสมถะเรียบง่าย (หยิน) ย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ แต่ความอวดโอ่ และเย่อหยิ่งลำพอง (หยาง) ย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์' ??!!! ... ผมเพียงแต่ไม่อยากเชื่อว่า การใช้ 'แพะ' หรือ 'แกะ' มาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบของ 'จิวกง' นั้น เป็นเพียง 'ความซุกซน' แบบเด็กๆ ของอัจฉริยบุคคลผู้นี้ ... เก้าะ ... ฝากให้ช่วยพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับ ... ;)