Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十三卦 : 漸

 

漸 : 風山漸 ‧ 巽上艮下

漸 : 女歸吉‧利貞‧

  • 初六 : 鴻漸于干‧小子厲‧有言‧無咎‧
  • 六二 : 鴻漸于磐‧飲食衎衎‧吉‧
  • 九三 ‧ 鴻漸于陸‧夫征不復‧婦孕不育‧凶‧利禦寇‧
  • 六四 : 鴻漸于木‧或得其桷‧無咎‧
  • 九五 : 鴻漸于陵‧婦三歲不孕‧終莫之勝‧吉‧
  • 上九 : 鴻漸于逵‧其羽可用為儀‧吉‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สงบนิ่งไม่หวั่นไหว (⚏) ปัญญา ตื่นตัว-พร้อมเรียนรู้ (⚍) พฤติกรรม แข็งขัน-ไม่ย่อหย่อน (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ 'ข้อเท็จจริง' (☶) เสริมสร้างความมั่นคงทาง 'การเงิน-การคลัง' (☴)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง, สายลมโชยพัดเหนือภูผา



ความหมายของชื่อเรียก : Perpetuating : ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง


 
女歸吉利貞
nǚ guī jí lì zhēn
หนฺวี่ กุย จี๋ ลี่ เจิ



คงจำกันได้นะครับว่า ตัวอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) นอกจากจะเป็นคำที่ใช้ในความหมายของ 'ผู้หญิง' แล้ว คำนี้ก็ยังสามารถใช้เพื่อสื่อถึงคุณลักษณะหนึ่งของ 'หยิน' และ 'ความเป็นหยิน' ได้ด้วย ... ดังนั้น คำว่า 女 (nǚ, หนฺวี่) จึงอาจจะหมายถึง 'ความละเอียดอ่อน', 'ความละเอียดถี่ถ้วน' หรือ 'ความมีน้ำอดน้ำทน' ด้วยก็ได้

歸 อ่านว่า guī (กุย) มีความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ว่า 'ผู้หญิงออกจากเรือนไปเป็นสะใภ้ (ของสกุลอื่น)' เนื่องจากในสมัยหนึ่ง ชาวจีนมักจะมีคติความเชื่อกันว่า 'บุตรีย่อมเป็นศรีสะใภ้ของคนสกุลอื่น' จึงทำให้ประเพณีของ 'การแต่งงาน' นั้น เปรียบเสมือน 'การส่งคืนบุตรีให้แก่สกุลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง' ... กลายเป็นที่มาของอักษร 歸 (guī, กุย) ที่แปลว่า 'การแต่งงานของหญิงสาว' ... อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสมัยต่อๆ มาจะมิได้ยึดถือคติดังกล่าวอย่างเคร่งครัดกันอีกแล้ว แต่ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนสำหรับ 'การแต่งงาน' นั้น ก็ยังมีกำหนดการให้สะใภ้จะต้องเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของตน ซึ่งคำว่า 歸 (guī, กุย) ก็ถูกใช้ในความหมายดังกล่าวนี้ด้วย และกลายเป็นที่มาของความหมายโดยทั่วไปในปัจจุบันว่า 'ย้อนกลับ', 'ถอยหลังกลับ', 'พลิกกลับ', 'ตอบแทน', 'ตอบสนอง', หรือ 'หวนคืน' ; โดยมีความหมายอื่นๆ ที่แผลงออกไปเป็น 'การส่งคืนเจ้าของเดิม' หรือ 'การบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิม' ซึ่งแฝงความหมายของ 'การรวบรวมกลับเข้าด้วยกัน' หรือ 'การประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน' อีกด้วย ... ซึ่ง 'อุดมคติทางวัฒนธรรม' ของ 'การแต่งงาน' ก็คือ 'การร่วมชีวิตเสมือนเป็นบุคคลเดียวกัน' และ 'ความเป็นทองแผ่นเดียวกันของสองครอบครัว' นั่นเอง

ดังนั้น คำว่า 女歸 (nǚ guī, หนฺวี่ กุย) ที่เราเห็นววรรคนี้ ก็น่าจะมีความหมายได้หลายอย่าง โดยไล่กันไปตั้งแต่ 'การแต่งงานออกเรือนของหญิงสาว', หรือ 'การกลับคืนสู่ครอบครัวของหญิงสาว', และอาจจะหมายถึง 'การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมาตุธาตุ' หรือแม้แต่ 'การย้ำคิดย้ำทำด้วยความละเอียดถี่ถ้วน' ... ฯลฯ ... ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ที่ข่ายของความหมายที่เป็นไปได้ทั้งนั้น ... ซึ่งการยกเอาประเด็นของ 'การแต่งงาน' มาเป็น 'ข้ออุปมา-อุปไมย' นี้ เราก็ต้องมีความเข้าใจให้ตรงกันไว้ในเบื้องต้นด้วยว่า ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวจีนในเรื่องของ 'การแต่งงาน' นั้น มี 'ความละเอียดอ่อน' ของ 'ลำดับขั้นตอน' และ 'พิธีกรรม' ที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน โดยเฉพาะ 'การนับญาติ' อันเนื่องมาจาก 'การประสานคนสองตระกูลให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน' ... และกรณีที่หญิงสาวผู้ได้รับการตบแต่งเข้ามาในฐานะของสะใภ้สำหรับตระกูลหนึ่ง ย่อมจะมีศักดิ์สถานะเป็นหนึ่งในบรรพชนของคนตระกูลนั้นๆ ในอีกหลายชั่วอายุคนสืบต่อไป ... 'ความพิถีพิถัน' ใน 'การเลือกสะใภ้' จึงแทบแยกกันไม่ออกจาก 'การเลือกบรรพชนให้กับลูกหลาน' และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเพณีของชาวจีน มีความถือสากับเรื่องของ 'การเลือกสะใภ้' อย่างค่อนข้างเอาเป็นเอาตายพอสมควรเลยทีเดียว

ขอยกเอาความหมายของ 利 (lì, ลี่) มาเล่าไว้อีกรอบแล้วกัน ... คำนี้แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

ส่วนคำว่า 貞 (zhēn, เจิน) ก็แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

ที่นี้ ... เราลองย้อนกลับไปดู 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทกันซักหน่อยดีกว่า ... โดยปรกติแล้วเราจะเห็นเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'ภูเขา' หรือ 艮 (gèn, เกิ้น) อยู่ตรงด้านล่าง และเห็น 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'ลม' หรือ 巽 (xǜn, ซฺวิ่น) ที่ตรงด้านบน ... ซึ่งจริงๆ แล้ว เราน่าจะสังเกตเห็น 'การประสาน' ระหว่าง 'หยิน' (☷) ซึ่งอยู่ด้านล่าง กับ 'หยาง' (☰) ซึ่งอยู่ด้านบน โดยเกิด 'การแลกประจุ ลบ-บวก' ของทั้งสองขั้วตรงลำดับขีดที่สามและขีดที่สี่ ซึ่งเป็น 'ตำแหน่งกึ่งกลาง' ระหว่างขั้วทั้งสองพอดี ... !!?? ... มันอาจจะเป็นเพราะลักษณะที่คล้าย 'การประสานกัน' ระหว่าง 'ความเป็นหยาง' กับ 'ความเป็นหยิน' นี้รึเปล่า ที่ทำให้ King Wen เลือกใช้คำว่า 'การแต่งงานของหญิงสาว' (女歸) มาเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึก 'คำอธิบายภาพสัญลักษณ์ประจำบท' ในคราวนี้ ??!! ... น่าสนใจมาก !!?! ... โดยเราต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่า 'วัฏจักรที่ห้า' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ก็คือ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' โดยตรง การประสาน 'อำนาจ' ซึ่งเป็น 'สัญลักษณ์แห่งหยาง' ให้เป็นอันหนึ่งอันเกียวกันกับ 'คุณธรรม' ซึ่งเป็น 'สัญลักษณ์แห่งหยิน' ถือเป็น 'ข้อแนะนำ' หรือ 'ข้อเตือนสติ' ที่ขาดหายไปไม่ได้เลย และเป็นร่องรอยสำคัญที่น่าจะบ่งบอกได้ว่า 'ลำดับอนุกรม' ทั้ง 64 บทของ King Wen นั้น ไม่ใช่การสลับกันไปมาอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า แต่เป็น 'ลำดับอนุกรม' ที่ได้ผ่านการกลั่นกรอง และกำหนด 'ชื่อเรียก' อย่างมีนัยสำคัญมากๆ ด้วย !!?!!? ...

เรากลับมาดูที่ 'คำอธิบายชื่อเรียก' อีกครั้งนะครับ ... อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า 'การตบแต่งสะใภ้' สำหรับชาวจีนนั้น ถือเป็น 'เรื่องสำคัญของวงศ์ตระกูล' เลยทีเดียว เนื่องจากจะมี 'ผลสืบเนื่องต่อไปในระยะยาว' เพราะเป็น 'การเลือกบรรพชน' ให้กับลูกหลาน มันจึงต้องใช้ทั้ง 'ความรอบคอบ' และ 'ความละเอียดพิถีพิถัน' ค่อนข้างมาก  ... ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับคำว่า 漸 (jiàn, เจี้ยน) ที่หมายถึง 'การปฏิบัติซ้ำๆ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' (終日乾乾‧夕惕若厲, zhōng rì qián qián ‧ xī tì ruò lì, ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่)) เราก็จะเห็น 'มิติที่เกี่ยวเนื่องกัน' ของ 'ความไม่ย่อท้อ', 'ความไม่หย่อนยาน', และ 'ความไม่หยุดยั้งลงกลางคัน' ที่สะท้อนออกมาจากคำว่า 女歸 (nǚ guī, หนฺวี่ กุย) ที่ King Wen เลือกใช้ราวกับไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยมาตั้งแต่แรก ...


ดังนั้น วลีสั้นๆ ของ King Wen ที่เราเห็นในบทนี้ จึงควรจะมีความหมายว่า 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' ย่อมหมายถึง 'การประพฤติปฏิบัติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อจะบรรลุจุดมุ่งหมายอันเป็นความมั่นคงในระยะยาว เช่นเดียวกับการตบแต่งสะใภ้ (女歸) ซึ่งจะสามารถยังความเจริญรุ่งเรือง (吉) ให้แก่วงศ์ตระกูลสืบต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติแห่งความมุ่งมั่นอย่างเอาจริงเอาจัง (利) ต่อระบบระเบียบแห่งอุดมธรรมอันบริสุทธิ์ (貞) โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเย้ายวนอันฉาบฉวย และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากใดๆ' ... โฮะ !! ... อัจฉริยะเหนือคำบรรยายจริงๆ ครับสำหรับ King Wen ท่านนี้ ... !!?



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

鴻漸于干小子厲有言無咎
hóng jiàn yǘ gān xiǎo zǐ lì yǒu yán wú jiù
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ กัน เสี่ยว จื่อ ลี่ โหฺย่ว เอี๋ยน อู๋ จิ้ว




鴻 อ่านว่า hóng (ฮ๋ง) เป็นคำที่มักจะถูกพบเห็นการใช้ในความหมายว่า 'ห่านป่า' หรือ 'หงส์' แต่เนื่องจากความเป็นสัตว์ใหญ่จำพวกหนึ่ง คำว่า 鴻 (hóng, ฮ๋ง) เมื่อถูกใช้เป็นคำคุณศัพท์จึงแปลว่า 'ยิ่งใหญ่', 'หรูหรา', หรือ 'อลังการ' ซึ่งก็แฝงความหมายว่า 'เจริญรุ่งเรือง' (prosperous) หรือ 'น่าชื่นชม' ไว้ด้วย

แทรกคำแปลของอักษร 于 (yǘ, ยฺวี๋) ไว้อีกครั้งแล้วกัน เวลาถอดความของทั้งวรรคจะได้อ้างอิงได้ง่ายๆ หน่อย คำนี้เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

干 อ่านว่า gān (กัน) ครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายว่า 'โล่' ซึ่งเป็นอาวุธสงครามประเภทหนึ่ง และคงจะด้วยลักษณะของการใช้เพื่อ 'ป้องกัน' หรือ 'กั้นขวาง' นี้เอง คำว่า 干 (gān, กัน) จึงได้รับความหมายว่า 'ตลิ่ง' หรือ 'ฝั่ง' ซึ่งทำหน้าที่คล้าย 'ผนังกั้นทางน้ำ' ไปด้วย ซึ่ง 'ความเป็นผนังกั้นทางน้ำ' ก็เลยเป็นที่ของความหมายว่า 'แห้ง' หรือ 'ปราศจากน้ำ' ได้อีกความหมายหนึ่ง และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 幹 (gàn, กั้น) ที่แปลว่า 'แห้งแล้ง', 'แห้งผาก', 'แร้นแค้น', หรือ 'ปล่อยปละละเลยให้รกร้างว่างเปล่า' ไปเลยก็ได้ ; ในขณะที่เมื่อใช้เป็นคำกริยา อักษร 干 (gān, กัน) จะมีความหมายว่า 'ต่อต้าน', 'ขัดขวาง', 'ห้ามปราม', หรือ 'แทรกแซง' ในลักษณะของ 'การปิดกั้น' และ 'การป้องกัน' โดยอาจจะมีลักษณะของ 'การกำหนดกรอบ' เพื่อให้เกิดเป็น 'เงื่อนไข' ใน 'ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกัน' ได้ด้วย

สำหรับอักษร 厲 (lì, ลี่) นั้น เป็นคำที่เจอกันมาแล้วหลายครั้ง โดยมักจะใช้ในความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; และสามารถแปลว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' ก็ได้ ... ในขณะที่ความหมายเชิงบวกของมันจะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' อาจจะถึงขั้น 'สร้างแรงจูงใจ' หรือ 'เป็นแรงบันดาลใจ' ไปเลยก็ได้ ... เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย

สำหรับบทนี้ คำว่า 鴻漸 (hóng jiàn, ฮ๋ง เจี้ยน) นี่ต้อง 'ตีความ' อย่างระมัดระวังมากๆ เลยนะครับ เพราะ 'จิวกง' แกเล่น 'ใช้ซ้ำๆ' ในทุกๆ วรรคตั้งแต่ต้นบทยันปลายบทนู่นเลย เรียกว่า 'เลียนความหมาย' ของ 漸 (jiàn, เจี้ยน) ด้วย 'ลีลาทางภาษา' ได้อย่างเข้าไส้จริงๆ ล่ะคราวนี้ ... :P ... แต่ผมไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่ 'จิวกง' จะต้องพูดถึง 'ห่าน' ถึง 'หงส์' ไปทำไมทุกๆ วรรคหรอกนะ !!??!! ... ผมจึงค่อนข้างจะมั่นใจว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการสื่อคำว่า 鴻 (hóng, ฮ๋ง) ด้วยความหมายอย่างอื่นมากกว่า ... ;)

เราลองมาดูคำบริบทอื่นๆ ดูหน่อยดีกว่า โดยผมอยากจะชวนให้ดูตรงคำว่า 小子 (xiǎo zǐ, เสี่ยง จื่อ) ซึ่งปรกติแล้วจะแปลว่า 'เด็กน้อย', 'หนูน้อย' หรือถ้าให้ฟังดูดีหน่อยก็น่าจะแปลว่า 'ผู้เยาว์' หรือ 'เยาวชน' ประมาณว่าเป็น 'ผู้ที่ยังไม่รู้ความ' หรือ 'ผู้ไม่ประสีประสา' ... แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า การนำอักษร 子 (zǐ, จื่อ) โดดๆ ไปต่อท้ายชื่อแซ่ของใครคนหนึ่งนั้น มันจะสามารถแปลว่า 'นักปราชญ์' ได้ด้วยเหมือนกัน ... ดังนั้น คำว่า 小子 (xiǎo zǐ, เสี่ยง จื่อ) จึงอาจจะมีความหมายว่า 'ผู้ที่ยังไม่มีความแตกฉาน' หรือ 'ผู้ที่ยังต้องฝึกฝนเล่าเรียน' ก็น่าจะได้ ... ;)

'คู่คำ' ที่ผมมองว่าถูกนำมาเล่นในวรรคนี้ก็คือคำว่า 言 (yán, เอี๋ยน) กับ 咎 (jiù, จิ้ว) ... โดยทั้งคู่สื่อถึง 'คำพูด' ที่ต่างลักษณะกันพอสมควร เพราะ 言 (yán, เอี๋ยน) มีความหมายว่า 'คำพูด', 'คำสอน', 'หลักการ' หรือ 'เหตุผล' ในขณะที่ 咎 (jiù, จิ้ว) มีความหมายว่า 'คำบ่น', 'คำตัดพ้อต่อว่า', 'คำนินทาว่าร้าย', หรือ 'คำกล่าวโทษ' ... ซึ่งทำให้วลีท่อนหลังของวรรคนี้คือ 有言‧無咎 (yǒu yán wú jiù, โหฺย่ว เอี๋ยน อู๋ จิ้ว) น่าจะหมายถึง 'การประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีหลักการที่สมเหตุสมผล (有言) ย่อมปราศจากข้อตำหนิติงติงให้เป็นที่ครหา (無咎)' ... รึเปล่า ?!?! ... และประเด็นนี้เองที่ทำให้ผมคิดว่า 干 (gān, กัน) ไม่น่าจะหมายถึง 'ฝั่งคลอง' หรือ 'ฝั่งแม่น้ำ' แต่ควรจะหมายถึง 'ข้อกำหนด' หรือ 'กรอบเกณฑ์ในการคุมประพฤติ' ... โดยคำว่า 鴻 (hóng, ฮ๋ง) ก็คงจะไม่เกี่ยวกับ 'ห่านป่า' หรือ 'หงส์' อย่างที่ทุกตำรา 'ตีความ' กันไว้ ... ?!???!! ...

ผม 'อยาก' จะให้ความหมายกับวรรคแรกของ 'จิวกง' ในบทนี้ว่า ...
'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้งเพื่อสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ (鴻漸) นั้น ย่อมหมายถึง (于) การดำรงตนให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของข้อกำหนด และกรอบเกณฑ์ที่เหมาะสม (干) การประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยงเด็กน้อยผู้ไม่รู้ความ (小子) ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อภยันตรายอันเกิดจากความผิดพลาดเสียหาย (厲) ผู้ที่มีความแน่วแน่มั่นคงในหลักการที่สมเหตุสมผล (有言)  ย่อมปราศจากข้อตำหนิติงติงให้เป็นที่ครหา (無咎) ของบุคคลทั้งปวง' ... ถูกมั้ยไม่รู้ แต่ดูดีกว่าเอาห่านเอาหงส์มาวิ่งเล่นบนฝั่งคลองก็แล้วกัน !! .. :D

เอางี้ ... เอางี้ ... ลองไปเทียบกับวลีเปิดประเด็นของ King Wen ดูซักหน่อยเป็นไง ... 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' ย่อมหมายถึง 'การประพฤติปฏิบัติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อจะบรรลุจุดมุ่งหมายอันเป็นความมั่นคงในระยะยาว เช่นเดียวกับการตบแต่งสะใภ้ (女歸) ซึ่งจะสามารถยังความเจริญรุ่งเรือง (吉) ให้แก่วงศ์ตระกูลสืบต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างเอาจริงเอาจัง (利) ต่อระบบระเบียบแห่งอุดมธรรมอันสุจริต (貞) โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเย้ายวนอันฉาบฉวย และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากใดๆ' ... ไม่ห่านไม่หงส์ล่ะ ... จริงๆ !! ... ;)


 

สอง หยิน :

鴻漸于磐飲食衎衎吉
hóng jiàn yǘ pán yǐn shí kàn kàn jí
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ พั๋น อิ่น ซื๋อ คั่น คั่น จี๋




磐 อ่านว่า pán (พั๋น, พ๋าน) แปลว่า 'หินก้อนใหญ่' ; แต่สมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 盘 (pán, พั๋น) ที่มีความหมายว่า 'ถาด', 'จาน', 'แผ่นกระดาน' สำหรับจัดวางสิ่งของ ซึ่งโดยมากจะมีสัญฐาน 'กลม' และ 'ใหญ่' ; จึงมีความหมายในลักษณะว่า 'เปิดเผย', 'ชัดเจน', 'ตีแผ่' เพื่อ 'การสำรวจ' หรือ 'การตรวจสอบ' ก็ได้ ; หากให้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การหมุนวนเป็นวัฏจักร' ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของ 盘 (pán, พั๋น) ด้วยเช่นกัน

飲 อ่านว่า yǐn (อิ่น) ปรกติก็จะแปลว่า 'ดื่ม' หรือ 'เครื่องดื่ม' แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'กลืน' ซึ่งแผลงไปเป็น 'กล้ำกลืน-ฝืนทน' และ 'อดทน' ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ 忍 (rěn, เหฺญิ่น) ไปเลย

食 อ่านว่า shí (ซื๋อ) แปลว่า 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร', หรือ 'ให้อาหาร' ; สามารถแปลว่า 'ยอมรับ' ก็ได้ เพราะว่า 'ยอมกลืนกินลงไป' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เสนอให้รับไว้', 'เซ่นสังเวย' ; บางครั้งก็ยังมีความหมายว่า 'ทำให้แหว่ง', หรือ 'ทำให้ค่อนลง' เพราะว่า 'ถูกกิน' เช่น 'จันทรคราส',  'สุริยคราส' ; และเมื่อแปลว่า 'อาหาร' จึงสามารถแปลว่า 'ปัจจัยที่ต้องอาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ' ได้ด้วย ... โดยทั่วไปแล้ว เวลาใช้ในสำนวนว่า 飲食 (yǐn shí, อิ่น ซื๋อ) ก็จะแฝงความหมายว่า 'มีอาหารครบครันสำหรับดื่มกิน'

衎 อ่านว่า kàn (คั่น) แปลว่า 'ความสุข', 'ความสำราญ', 'ความสงบ (ร่มเย็น)', หรือ 'มีเสถียรภาพ' ... ส่วนสำนวนว่า 衎衎 (kàn kàn, คั่น คั่น) ที่เราเห็นในวรรคนี้ มีการแปลกันไว้ในทำนองว่า 'ร่วมสุข' หรือ 'มีสุขร่วมเสพ' อะไรประมาณนั้น ... ซึ่ง ... หากเราพิจารณาควบคู่กันไปกับความหมายรองของ 飲 (yǐn, อิ่น) กับ 食 (shí, ซื๋อ) ที่สามารถแปลว่า 'กล้ำกลืน-ฝืนทน' ... วลีที่ว่า 飲食衎衎 (yǐn shí kàn kàn, อิ่น ซื๋อ คั่น คั่น) ก็อาจจะหมายถึง 'มีสุขร่วมเสพ-มีทุกข์ร่วมต้าน' ได้ด้วยรึเปล่าใครจะไปรู้ ?!?! ... :D

เอางี้ดีกว่า ... ผมอยากจะ 'ตีความ' ให้กับตัวอักษรของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ในวรรคนี้ว่า ...
'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้งเพื่อสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ (鴻漸) นั้น จะต้องประกอบด้วย (于) ความเป็นผู้ที่มีน้ำใจอันหนักแน่น-เปิดเผย (磐) มีความมุ่งมั่นอดทนต่อความทุข์ยากลำบาก (飲) ยอมเสียสละอุทิศตน (食) เพื่อเอื้อความสงบร่มเย็นให้บังเกิดแก่สาธารณะ (衎衎) จึงจะประสบผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ประมาณว่า ... 'ผู้อุทิศตนเพื่อตน' แม้จะมี 'ความอดทน' แต่จิตใจก็ยังคง 'เล็กแคบ' อยู่เพียงเฉพาะ 'ในแวดวงที่จำกัด' ... ในขณะที่ 'ผู้อุทิศตนเพื่อสาธารณะ' คือผู้ที่ 'กล้าหาญ-อดทน' (飲) ด้วยจิตใจที่ 'กว้างใหญ่-ผ่าเผย' (磐) มุ่งบำเพ็ญตน (食) เพื่อสาธารณประโยชน์ (衎衎) ไม่จำกัดความรู้-ความคิด-ความสามารถของตนให้หมกมุ่นอยู่เพียงใน 'วังวนแห่งประโยชน์สุขเฉพาะตัว' เท่านั้น ... นี่จึงนับเป็น 'ความยิ่งใหญ่อลังการ' (鴻) ของ 'การอุทิศแรงกาย-แรงใจ' อย่าง 'ไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' (漸) !!

มันมีประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับ 'ลีลาทางภาษา' ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ในวรรคนี้ ซึ่งผมอยากจะบันทึกเอาไว้ นั่นก็คือวลี ... 飲食衎衎 (yǐn shí kàn kàn, อิ่น ซื๋อ คั่น คั่น) ที่สามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง ...
'เครื่องดื่ม (飲) ของกิน (食) อันพรั่งพร้อมบริบูรณ์ (衎) อย่างไม่เคยขาด (衎)' ... โดย 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 磐 (pán, พั๋น) มากระตุ้น 'ความคุ้นชิน' ให้ระลึกถึง 'ถาดใส่อาหาร' แถมยังสำทับตรงท้ายวรรคด้วยคำว่า 吉 (jí, จี๋) ที่เปรียบเสมือนการยืนยันว่า 'อาหารการกินที่บริบูรณ์นั้นคือลาภอันประเสริฐ' จริงๆ !!??!! ... ผมอยากจะบอกว่า ในแง่ของ 'จิตวิทยา' แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะ 'หยุดกระบวนคิด' ของ 'การตีความ' ไว้แค่นั้น เพราะ 'ประโยชน์สุขเฉพาะตน' เพื่อ 'การดำรงชีวิต' ได้รับ 'การตอบสนอง' เป็นที่เรียบร้อยแล้วใน 'ความรู้สึกนึกคิดของตน' นั่นเอง !!??!! ... แต่ในมุมมองที่แผ่ขยายออกไปจาก 'กรอบอันคับแคบของความเห็นแก่ตัว' เราก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะคำนึงถึง 'ความทุกข์ยาก' และ 'ความอดอยากหิวโหย' ของผู้เคราะห์ร้ายอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ในสังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นชุมชน, เมือง, ประเทศ, หรือของทั้งโลกก็ตาม ... ดังนั้น คำว่า 磐 (pán, พั๋น) สำหรับวรรคนี้ จึงไม่ใช่ 'ถาดใส่อาหาร' อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็น 'แท่นบูชา' (磐) ที่ 'ผู้ยิ่งใหญ่' (鴻) ยอม 'อุทิศตนเอง' (食) เป็น 'เครื่องเซ่นสังเวย' ด้วย 'ความมุ่งมั่นอดทน' (飲) อย่าง 'ไม่เคยย่อท้อ' (漸) เพื่อเผื่อแผ่แบ่งปันความสงบร่มเย็นให้ครอบคลุมไปถึงผู้อื่น (衎衎) อย่างปราศจากเงื่อนไขอันคับแคบใดๆ ... นี่คือ 'ความลึกซึ้ง' ที่ 'จิวกง' เลือกมาบันทึกไว้ด้วยถ้อยคำพื้นๆ ง่ายๆ แต่แฝง 'ความหมายเชิงจิตวิทยา' ไว้อย่างน่าทึ่งมาก !!??!!

 

 

สาม หยาง :

鴻漸于陸夫征不復婦孕不育凶利禦寇
hóng jiàn yǘ lù fū zhēng bù fù fù yǜn bù yǜ xiōng lì yǜ kòu
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ ลู่ ฟู เจิง ปู้ ฟู่ ฟู่ ยฺวิ่น ปู้ ยฺวี่ เซฺวิง ลี่ ยฺวี่ โค่ว




陸 อ่านว่า lù (ลู่) โดยปรกติก็จะแปลว่า 'พื้น', 'แผ่นดิน' แต่ก็จะเป็นแผ่นดินในลักษณะที่เป็น 'ที่ดอน' หรือ 'เนินเขา' มากกว่าที่จะเป็น 'ที่ลุ่มน้ำ' ซึ่งตอนที่เล่าไว้ในบทที่สี่สิบสามนั้น ผมเคยให้ความหมายกับคำนี้ไว้ประมาณว่า 'ความไม่ราบเรียบ' หรือ 'ความลุ่มๆ ดอนๆ'

征 อ่านว่า zhēng (เจิง) แปลว่า 'เดินทาง (ไกล)', 'กรีธาทัพ' ; ในแง่ของ 'การเดินทางไกล' จึงสามารถแผลงความหมายเป็น 'เสาะหา', หรือ 'แสวงหา' เพื่อ 'รวบรวมทรัพยากร' ; แล้วจึงแปลว่า 'ดิ้นรน', 'ไขว่คว้า', ได้ด้วย ; ในแง่ของ 'การกรีธาทัพ' มันยังหมายถึง 'ระดมพล' เพื่อทำสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น 'ยื้อยุด', หรือ 'แย่งชิง' สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างกัน ; แต่ในแง่ของ 'การรวบรวม', 'การระดมพล' และ 'การเสาะหา' มันจะสามารถหมายถึง 'การคัดกรอง', หรือ 'การพิสูจน์', 'การตรวจสอบ', และ 'การรับรอง' ได้ด้วยเหมือนกัน

復 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'กลับ', 'ย้อนคืน', 'ตอบสนอง', 'ตอบแทน' ; 'ทำซ้ำ'

婦 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ภรรยา' หรือ 'ผู้หญิง (ที่สมรสแล้ว)', 'หญิงหม้าย', 'ลูกสะใภ้' ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้หญิง' ที่อยู่ในวัยที่สมควรจะแต่งงานแต่งการได้แล้ว ; ในอีกความหมายหนึ่งคือ 'มีมารยาทงาม' ซึ่งก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'ได้รับการอบรมมาดี' หรือ 'มีคุณธรรม' ด้วย ; และครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 服 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'เสื้อผ้า', 'การแต่งกาย', 'อุปนิสัย', 'ความเคยชิน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การฝึกปรือ' (乘 เฌิ๋ง) ได้ด้วยเหมือนกัน ;)

孕 อ่านว่า yǜn (ยฺวิ่น) คำนี้ถ้าใช้กับคนมักจะหมายถึง 'การตั้งครรภ์' หรือ 'การให้กำเนิด' ... แต่ที่น่าสนใจก็คือสำนวนว่า 孕育 (yǜn yǜ, ยฺวิ่น ยฺวี่) ที่เขาใช้คำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า implicit ซึ่งหมายถึง 'ความนัย', 'บอกเป็นนัย', หรือ 'เนื้อแท้ที่ซ่อนอยู่ภายใน' ... ซึ่งบังเอิญว่า 'จิวกง' นำอักษรทั้งสองตัวมาบันทึกไว้โดยมีคำว่า 不 (bù, ปู้) ที่แปลว่า 'ไม่' มาขั้นอยู่ตรงกลาง ... เก้าะ ... ยังไม่รู้ว่าจะเล่นกลอะไรอีกรึเปล่า ?! ... :D

育 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) คำนี้มีความหมายหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ 孕 (yǜn, ยฺวิ่น) ก็คือ 'การให้กำเนิด' หรือ 'การคลอด' แต่คำว่า 育 (yǜ, ยฺวี่) จะครอบคลุมไปไกลกว่านั้นคือ 'การอบรมเลี้ยงดู' คือทั้ง 'ดูแลเอาใจใส่' และ 'ให้การศึกษา' ไปพร้อมๆ กันด้วยนั่นเอง

禦 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ขับ', 'ไส', 'ขับเคลื่อน', 'เสือกไส', 'ผลักดัน', 'ต่อต้าน', 'ยับยั้ง', 'ควบคุม', หรือ 'บริหาร' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ผู้บริหาร', 'กษัตริย์' หรือ 'ผู้นำ' ได้ด้วย

寇 อ่านว่า kòu (โค่ว) มีความหมายคล้ายกับ 匪 (fěi, เฝ่ย) ที่แปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' โดยคำว่า 寇 (kòu, โค่ว) จะสามารถแปลเป็น 'ศัตรู', 'ผู้บุกรุก' และแผลงเป็น 'การบุกรุก' ก็ได้ ; 'รุนแรง', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'ดุร้าย' ก็ได้

ดูๆ ไปก็คล้ายกับ 'จิวกง' กำลังใช้สำนวนเปรียบเทียบด้วยภาพของ 'การครองเรือน' ซึ่งประกอบด้วย 'สามี' (夫) คือ 'หยาง' (陽) และ 'ภรรยา' (婦) คือ 'หยิน' (陰) อย่างตรงๆ ตัวไปเลย แต่ผมกลับมองว่า 'จิวกง' คงอยากจะสื่อความหมายถึง ...
'ปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะสามารถดำเนินไปจนสำเร็จลุล่วง (鴻漸) ได้นั้น ย่อมต้องประกอบด้วย (于) ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะมีความเหลื่อมล้ำก้ำเกินไม่เสมอกัน (陸) ... หากแม้นบุรุษใด (夫) มุ่งเพียงเฉพาะการกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน (征) โดยไม่คำนึงถึงผลสะท้อนที่จะกระทบต่อผู้อื่น (不復) หรือหากสตรีใด (婦) รู้จักเพียงการให้กำเนิดบุตรธิดา (孕) โดยไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของการอมรมบ่มสอน (不育) สังคมนั้นๆ ย่อมประสบกับความฉิบหายวอดวาย (凶) ในที่สุด ... การจะสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ให้ประสบกับความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่นพยายาม (利) ในการขจัดปัดเป่า (禦) ความคับแคบอันเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง (寇) เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป' ...

จะว่าไปแล้ว 'จิวกง' นี่ก็ปากจัดไม่เบาเหมือนกันนะเนี่ย !!? ... :D ... 'บุรุษผู้มักมากเห็นแก่ได้ แต่ไร้จิตสำนึกแห่งความชอบธรรม' (夫征不復) กับ 'สตรีผู้มักง่ายรักสบายเพียงรู้จักการสมสู่สืบพันธุ์ แต่ไร้จิตวิญญาณของความเป็นแม่' (婦孕不育) คือ 'ตัวฉิบหาย' ที่ 'บ่อนทำลาย' (凶) 'รากฐานทางสังคม' เลยทีเดียว ... โฮะ !! ... คิดออกมาได้ !!?!?! ... :D

แต่ดูๆ ไปก็คล้ายกับ 'จิวกง' ได้ขยายความเพื่อ 'แก้งง' ให้กับวรรคที่สองไปเปราะหนึ่งด้วยนะ เพราะความกำกวมของคำว่า 飲食衎衎 (yǐn shí kàn kàn, อิ่น ซื๋อ คั่น คั่น) ที่ท่านต้องการจะหมายถึง
'การอุทิศตนทนลำบากเพื่อความสงบร่มเย็นร่วมกันกับผู้อื่น' นั้น มันออกจะสองแง่สองง่ามจนคล้ายกับ 'ความเห็นแก่กิน' ไปได้เหมือนกัน ... :P ... ดังนั้น ท่านจึงใช้วิธีเปรียบเทียบกับ 'ตัวอย่างใกล้ตัว' ว่า ผู้ที่ 'ยอมลำบากเพื่อผู้อื่น' นั้นมีอยู่จริง ... เช่นว่า ... การที่ 'บิดา' ยอมทนลำบากตรากตรำ ก็เพราะมุ่งหวังจะสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับครอบครัว ... หรือการที่ 'มารดา' ที่ยอมเหนื่อยยากกับการเลี้ยงดูบุตรธิดา ก็เพราะมุ่งหวังให้แต่ละคนเติบใหญ่เจริญวัยอย่างมีคุณค่า ... การที่ 'ไม่มีใครยอมใคร' โดยต่างฝ่ายต่างก็ 'เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะตน' โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายอันสืบเนื่องมาจาก 'การไม่รู้จักหน้าที่' ย่อมเป็น 'ปัจจัยแห่งความล่มสลาย' (凶) ของทั้งสังคมในระยะยาว ... ซึ่ง ... 'จิวกง' ระบุไว้ตรงท้ายวรรคว่า เป็น 'ความคับแคบของจิตใจอันเลวร้าย' (寇) ที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป (禦) นั่นเอง !! ... ร้ายนะเนี่ย !!! ... :D


 

สี่ หยิน :

鴻漸于木或得其桷無咎
hóng jiàn yǘ mù huò dé qí jüé wú jiù
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ มู่ ฮั่ว เต๋อ ชี๋ เจฺวี๋ย อู๋ จิ้ว




桷 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) หมายถึง 'จันทัน' หรือ 'ชื่อไม้เครื่องบนแห่งเรือน อยู่ตรงกับขื่อ สำหรับรับแปลาน หรือรับระแนง' ถ้าจะใช้คำให้เข้าใจง่ายๆ หน่อย ก็อาจจะอธิบายว่า เป็น 'โครงสร้างหลักตามแนวลาดเอียงของผืนหลังคา' ซึ่งก็คือส่วนของโครงสร้างที่เราเห็นตามแนวลาดเอียงของ 'หน้าจั่วหลังคา' นั่นเอง ... สมัยก่อนจะเลือกใช้ไม้ที่มีความแข็งแรงทนทาน และต้องไม่บิดโค้งคดงอ แต่เนื่องจากหาค่อนข้างยากในสมัยปัจจุบัน จึงเกิดการประยุกต์ใช้วัสดุชนิดอื่นมาทำหน้าที่แทน เช่นเหล็ก, หรืออลูมิเนียม

น่าจะเป็นวรรคเดียวของบทนี้นะ ที่เวลาแปลอักษร 鴻 (hóng, ฮ๋ง) ว่า 'ห่าน' หรือ 'หงส์' แล้วจะดูพิลึกพิลั่นไปเลย เพราะโดยธรรมชาติของเจ้าสัตว์ปีกทั้งสองชนิดที่เอ่ยถึงนั้น มันคงจะไม่เคยปีนต้นไม้แน่ๆ ... :D

ผมอยากให้ความหมายกับวรรคนี้ไปก่อนเลยว่า ...
'ผู้ที่มีความแน่วแน่มั่นคงในปณิธานอันยิ่งใหญ่ (鴻漸) ย่อมเปรียบได้กับชิ้นไม้ (于木) ที่ใช้ในงานโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน การที่ (或) ไม้ชิ้นใดจะมีคุณสมบัติอันเพียงพอแก่การได้รับคัดเลือก (得) ให้นำไปใช้เป็นจันทันแต่ละชิ้น (其桷) จะต้องเป็นชิ้นไม้ที่มีความแข็งแรง-ทนทาน และปราศจากจุดบกพร่อง (無咎) ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของงานโครงสร้างนั้นๆ เสมอ' ... ความหมายจริงๆ ก็คือประมาณนี้ ...

สิ่งที่น่าจะต้องบันทึกแนบท้ายไว้ตรงนี้ก็คือ 'การอุทิศตนเพื่อผู้อื่น' นั้น ไม่ใช่ภาระกิจที่สุขสบายเหมือนกับ 'การอุทิศตนเพื่อตน' อยู่แล้ว และแม้ว่าผู้ที่ 'ยอมเสียสละ' ส่วนใหญ่จะเข้าใจถึง 'จุดมุ่งหมายแห่งอุดมการ' จนไม่เกิดคำถามประเภทที่ว่า 'เหนื่อยไปทำไม?' ... แต่กับคำถามที่ว่า 'ทำไมเราต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นๆ?' ก็อาจจะแว้บขึ้นมาได้บ้างในบางขณะของความรู้สึกนึกคิด ... ซึ่งสำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ 'จิวกง' เลือกที่จะนำเอาภาพของ 'โครงสร้างอาคาร' มาเป็นกรณีเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ ... นั่นก็คือ ... 'ไม้' (木) ... ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุหลักของการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในยุคสมัยหนึ่ง แต่ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้วล่ะว่า ไม้แต่ละชิ้นต่างก็มี 'ความเหมาะสม' กับ 'หน้าที่-การใช้สอย' ที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ 'งานโครงสร้างอาคาร' ซึ่งจะต้องคัดสรรเอาเฉพาะชิ้นไม้ที่มีความแข็งแรง-สมบูรณ์-ทนทาน ไม่มีความบิดโก่งคดงอจนเสียรูปเสียทรง หรือไม่มีร่องรอยตำหนิที่จะส่งผลเสียหายต่อการรับน้ำหนักของอาคารโดยรวม ...
ชิ้นไม้ที่มีความแข็งแรง-สมบูรณ์ ย่อมถูกนำไปใช้ในส่วนที่เป็นโครงสร้างสำคัญๆ และต้องแบกรับน้ำหนักของอาคาร มากกว่าชิ้นไม้ที่มี 'ศักยภาพ' ไม่เพียงพอฉันใด บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย 'คุณธรรม' และ 'ศักยภาพ' ย่อมต้องแบกรับภาระที่หนักหน่วงกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ขาด 'ความเหมาะสม' ฉันนั้น ...

พอเราจับคู่ระหว่างวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่ เนื้อความที่เราได้ก็จะประมาณว่า ... 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะสามารถดำเนินไปจนสำเร็จลุล่วง (鴻漸) ได้นั้น ย่อมต้องประกอบด้วย (于) ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะมีความเหลื่อมล้ำก้ำเกินไม่เสมอกัน (陸) ในขณะที่จริตสันดานอันคับแคบเห็นแก่ตัวของทุกๆ ฝ่าย (夫征不復‧婦孕不育) คือปัจจัยแห่งความฉิบหายวอดวาย (凶) ที่จะต้องเร่งขจัดปัดเป่าให้หมดสิ้นไป (利禦寇) ความหนัก-เบาของหน้าที่-ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ย่อมมีความเหลื่อมล้ำ-ลดหลั่นกันไปตามความเหมาะสมแห่งคุณธรรม และศักยภาพของแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับชิ้นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง (于木) ที่คุณสมบัติโดยรวมสำหรับไม้จันทัน (或得其桷) ย่อมต้องมีความสมบูรณ์-แข็งแรง-ทนทาน (無咎) ยิ่งกว่าชิ้นไม้อื่นๆ ที่ประกอบอยู่ในโครงสร้างของอาคารหลังเดียวกัน' ...

... อ่านดีๆ นะ ... แล้วลองพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดแบบ 'ทุนนิยม' ที่เน้นอยู่กับเรื่องของ 'การแข่งขันอย่างไร้ขอบเขต' ดูแล้วกัน ??!! ... ;) ... จริงอยู่ที่ 'การแข่งขัน' คือปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิด 'การคิดค้น' และ 'การพัฒนา' อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีต ... แต่ ... 'ความไม่มีขอบเขต' ของมัน ได้กลายเป็น 'ปัจจัยแห่งการทำลายล้าง' ที่บ่อนทำลาย 'สังคม' และ 'ทรัพยากรธรรมชาติ' ให้เสื่อมทรามลงทุกๆ วัน จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขในเวลานี้ไปแล้ว ... สังคมมนุษย์ได้เลือกที่จะ 'สังเวยความสุข' เพื่อแลกกับ 'ความสบาย' ด้วยวิทยาการที่ก้าวล้ำ อันเป็นผลพวงมาจาก 'การแข่งขัน' ภายในเผ่าพันธุ์ของตัวเองมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ ?! ... ซึ่งบางครั้ง ... 'ความสำเร็จ' ก็อาจจะต้องได้รับ 'การนิยาม' กันซะใหม่ด้วย 'กรอบคิด' ที่แตกต่างออกไป โดยอนุชนแห่งอนาคตของพวกเรา !!!??!! ...

 

 

ห้า หยาง :

鴻漸于陵婦三歲不孕終莫之勝吉
hóng jiàn yǘ líng fù sān suì bù yǜn zhōng mò zhī shèng jí
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ ลิ๋ง ฟู่ ซัน ซุ่ย ปู้ ยฺวิ่น ง ม่อ จือ เษิ้ง จี๋

 



陵 อ่านว่า líng (ลิ๋ง) แปลว่า 'เนิน', 'ภูเขา', 'ยอดเขา' ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 升 (shēng, เซิง) ที่แปลว่า 'ยกให้สูงขึ้น' หรือ 'ทำให้โดดเด่น' แต่ก็แฝงความหมายของ 'การกดข่ม' ซึ่งเป็นทำให้สิ่งอื่นหรือผู้อื่นต่ำต้อยลงไป

歲 อ่านว่า suì (ซุ่ย) ปรกติจะแปลว่า 'ขวบ', 'ปี' แต่ก็สามารถใช้ในความหมายว่า 'ช่วงเวลา', 'ยุคสมัย' ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 'หนึ่งปี' ได้เหมือนกัน ; ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถแปลว่า 'ฤดูกาล', หรือ 'การเพาะปลูก' ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมประจำปีของเกษตรกรโดยทั่วไป หรืออาจจะหมายถึง 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' ก็ได้

終 อ่านว่า zhōng (จง) แปลว่า 'สิ้นสุด', 'สุดท้าย', 'ตาย', 'ถึงที่สุด', 'ตลอดรอดฝั่ง', 'ตั้งแต่ต้นจนจบ'

莫 อ่านว่า mò (ม่อ) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ในลักษณะของ 'ไม่', 'ไม่ได้', 'ไม่มี', 'ไม่สามารถ', หรือ 'ไม่เกี่ยวข้อง'

勝 อ่านว่า shèng (เษิ้ง) แปลว่า 'ชนะ', 'สำเร็จ', 'มีความสามารถ', 'ยอดเยี่ยม', 'เหนือกว่า' หรือว่า 'สวยงาม'

มาถึงวรรคเจ้าปัญหาอีกวรรคหนึ่งสำหรับ 'การตีความ' ที่เกือบทุกตำราจะแปลวลี 婦三歲不孕 (fù sān suì bù yǜn, ฟู่ ซัน ซุ่ย ปู้ ยฺวิ่น) ไว้ประมาณว่า 'ภรรยาที่ไม่ตั้งครรภ์นานสามปี' ซึ่งผมตีลังกาคิดยังไงก็ไม่เข้าใจว่ามัน 'โชคดี' (吉) ตรงไหน ?!?! ... :P ... แต่พอเอาเข้าจริงๆ ความหมายรองอื่นๆ ของ 婦 (fù, ฟู่) ที่นอกเหนือจาก 'ภรรยา' หรือ 'สะใภ้' ไม่ว่าจะเป็น 'หญิงสาวในวัยแต่งงาน' หรือ 'หญิงหม้าย' ก็ดูจะไปกันไม่ได้เลยกับเนื้อความแวดล้อมที่เหลืออยู่ ... ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงความหมายที่ห่างไกลออกไปอย่าง 'ความมีมารยาทงาม', 'ความเป็นผู้ได้รับการอบรมมาดี', หรือ 'มีคุณธรรม' เลยด้วย เพราะมันจะทำให้เนื้อความทั้งหมดหลุดโลก หรือหลุดความหมายออกไปไกลมากจริงๆ ... แต่มันควรจะหมายถึงอะไรนี่สิ ?! ... :P

งั้นเราน่าจะดูความหมายของ 孕 (yǜn) กันอีกซักรอบมั้ย ?! ... ซึ่งโดยปรกติแล้วคำนี้ก็แปลว่า 'ท้อง' หรือ 'ตั้งครรภ์' นั่นแหละ แต่มันก็แปลว่า 'คลอด' หรือ 'ให้กำเนิด' ได้ด้วยเหมือนกัน ... ทีนี้ ... ถ้าเราดันทะลึ่งแปลวลี 婦三歲不孕 (fù sān suì bù yǜn, ฟู่ ซัน ซุ่ย ปู้ ยฺวิ่น) ว่า 'ภรรยาไม่ยอมคลอดมาตั้งสามปี' อย่างนี้ก็ยิ่งไม่น่าจะ 'โชคดี' (吉) หนักกว่าเดิมเข้าไปอีก เพราะเล่น 'ท้องมาน' นานตั้งสามปีนี่ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ ล่ะ !?!?! ... :P ... เอาไงดี ?!!

เอาใหม่ ... เราลองข้ามไปดูวลีปิดท้ายในวรรคนี้ของ 'จิวกง' กันหน่อยดีกว่า ท่านบันทึกไว้ว่า ... 終莫之勝 (zhōng mò zhī shèng, ง ม่อ จือ เษิ้ง) ... ซึ่งในหลายๆ ตำราได้ให้ความหมายคู่กันกับวลี 婦三歲不孕 (fù sān suì bù yǜn, ฟู่ ซัน ซุ่ย ปู้ ยฺวิ่น) ไว้ประมาณว่า 'ภรรยาซึ่งแต่งงานมาสามปียังไม่ยอมตั้งครรภ์ ในที่สุดแล้วจะไม่มีใครสามารถพิชิตนางได้เลย' ... !?! ... ท่าจะมึนหนักกว่าเดิมอีกมั้ยน่ะ ไม่ยอมตั้งครรภ์ตั้งสามปี เพราะมัวแต่ฝึกวรยุทธอยู่รึไงไม่ทราบ ?!!? ... :D

ผมอยากจะชวนให้ลองพิจารณาวลี 終莫 (zhōng mò, ง ม่อ) ที่เห็นอยู่นี้ด้วยความหมายอีกแบบหนึ่งว่า 'การปฏิเสธ (莫) ความเป็นที่สุด (終)' ... นึกออกมั้ยครับ ?! ... ซึ่ง ผลลัพธ์ของอาการที่ 'ความเป็นที่สุด' (終) ได้รับ 'การปฏิเสธ' (莫) ก็คือ ... มันจะถูก 'พัฒนาต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด' ... เพราะเราจะเกิด 'ความเชื่อมั่น' ว่า 'สิ่งต่างๆ ล้วนสามารถพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อีก' ... เสมอ ... !!!! ... ดังนั้น ความหมายจริงๆ ของวลี 終莫之勝 (zhōng mò zhī shèng, ง ม่อ จือ เษิ้ง) จึงควรจะหมายถึง 'การพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป (勝) อันเนื่องมาจากการปฏิเสธ (莫) ความเป็นที่สิ้นสุด (終) ของทุกการกระทำ' ... ซึ่งก็คือความหมายของ 漸 (jiàn, เจี้ยน) ที่ผมแปลว่า 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' นั่นเอง !!?!?? ... เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรายอมรับว่า เราทำดีที่สุดแล้ว, สิ่งนี้คือที่สุดแห่งความเป็นไปได้แล้ว, ไม่มีอะไรที่เหนือไปกว่านี้ได้อีกแล้ว, ฯลฯ ... เมื่อนั้น ... เราก็จะหยุดคิด และหยุดการพัฒนาไปสู่ระดับที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม !?! ... แต่ปัญหาก็คือ ... มันเกี่ยวอะไรกับวลี 婦三歲不孕 (fù sān suì bù yǜn, ฟู่ ซัน ซุ่ย ปู้ ยฺวิ่น) ล่ะวะ ??!!

ประเด็นที่น่าจะต้องทบทวนให้ดีก็คือ 'หญิงสาวที่แต่งงาน' (婦) 'สามปี' (三歲) 'ไม่ตั้งครรภ์' หรือ 'ไม่ได้ให้กำเนิดบุตรธิดา' (不孕) นั้น ล้วนเป็นการให้ความหมายแบบโดดๆ ตามตัวอักษรที่ปรากฏอยู่เท่านั้น ... แต่เราก็ได้เห็นมาก่อนแล้วว่า 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 育 (yǜ, ยฺวี่) หรือ 'การอบรมสั่งสอน' มาเป็น 'คู่คำ' ของ 孕 (yǜn) หรือ 'การให้กำเนิด' โดยที่ทั้งสองคำมีความหมายที่สามารถใช้แทนกันได้ในระดับหนึ่ง ดังที่เล่าเอาไว้ในวรรคที่สามตรงวลีที่ว่า 婦孕不育 (fù yǜn bù yǜ, ฟู่ ยฺวิ่น ปู้ ยฺวี่) ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'สตรีที่รู้จักแต่การให้กำเนิดบุตรธิดา แต่ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในการอบรมบ่มสอน' ... ประหนึ่งว่า ... 'จิวกง' กำลังจะพยายามสื่อถึง 'มารดาที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์' รึเปล่า ?!!?

ที่นี้ เราจะลองย้อนกลับไปดูวรรคที่สอง ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้โดยตรงอีกครั้งนะครับ ...
'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้งเพื่อสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ (鴻漸) นั้น จะต้องประกอบด้วย (于) ความเป็นผู้มีน้ำใจที่หนักแน่นเปิดเผย (磐) มีความมุ่งมั่นอดทนต่อความทุข์ยากลำบาก (飲) ยอมเสียสละอุทิศตน (食) เพื่อเอื้อความสงบร่มเย็นให้บังเกิดแก่สาธารณะ (衎衎) จึงจะประสบผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... ความหมายที่ควรจะเสริมเข้าไปด้วยข้อความในวรรคนี้จึงน่าจะหมายถึง ... 'ความไม่หยุดยั้งเพื่อสนองปณิธานอันยิ่งใหญ่ (鴻漸) ย่อมหมายถึง (于) การพัฒนาต่อยอดขยายผลให้สูงเยี่ยมยิ่งๆ ขึ้นไป (陵) ดังเช่นสตรีผู้เป็นแม่เหย้าแม่เรือน (婦) ย่อมมีภาระหน้าที่ในช่วงเวลาหลายขวบปี (三歲) ที่ไม่ใช่เพียง (不) การตั้งครรภ์คลอดบุตรธิดา (孕) การเสริมสร้างเพื่อให้เกิดพัฒนาการยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับในความเป็นที่สิ้นสุดของทุกๆ ภาระกิจ (終莫之勝) คือปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ...

อาจจะมีประเด็นให้ถกเถียงเล็กๆ อยู่นิดหน่อยสำหรับ 'การไม่รู้จักพอ' หรือ 'ความไม่สันโดษ' ในกรณีที่ว่านี้ ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วยนะครับว่า 'ความสันโดษ' นั้น คือ 'การรู้จักพอในสิ่งอกุศล' ไม่ใช่ 'การงอมืองอเท้าไม่ยอมพัฒนา' อย่างที่หลายๆ คนมักจะอ้างคำว่า 'สันโดษ' เพื่อ 'กลบเกลื่อนความเหลวไหลขี้เกียจ' ของตัวเองเท่านั้น ... ซึ่งประเด็นของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ในบทนี้ก็คือ
'ผู้ที่มุ่งอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมนั้น จะต้องมีความหนักแน่นมั่นคงในปณิธานอันยิ่งใหญ่อย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าจะต้องอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดลงเลยก็ตาม ก็จะต้องไม่ปล่อยให้ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง หรือความภาคภูมิใจในความสำเร็จใดๆ เข้าครอบงำความคิด จนทำให้จิตใจย่อหย่อนต่อบทบาทหน้าที่ ในการสร้างสรรค์พัฒนาการที่เอื้อต่อความสุข-ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปของทั้งสังคม' ...

ส่วนกรณีที่ Feminist สติแตกหลายคนอาจจะมองได้ว่า การที่ 'จิวกง' เน้นย้ำอยู่กับ 'บทหน้าที่' ของ 'สตรีเพศ' (婦) นั้น คือส่วนหนึ่งของ 'วัฒนธรรมการเหยียดเพศ' ที่ปฏิบัติต่อ 'สตรี' ราวกับ 'ทาสในครัวเรือน' ... ผมก็อยากจะอธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้อีกครั้งเลยว่า จริงๆ แล้ว 'จิวกง' ให้ 'ความเคารพยกย่อง' ต่อ 'บทบาทของสตรีเพศ' ค่อนข้างมากเลยทีเดียว เนื่องจากเป็น 'บทบาทหน้าที่' ที่จะมีผลต่อ 'พัฒนาการทางสังคม' ในระยะยาว ... ซึ่ง ... 'ความเสื่อมทรามทางสังคม' ทั้งหลายตลอดช่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์นั้น ล้วนมีรากเหง้ามาจากกรณีที่ 'บุรุษมีแต่ความมักมากเอาแต่ได้ โดยไม่เคยระลึกถึงผู้มีอุปการคุณที่อยู่เบื้องหลัง' (夫征不復) กับ 'สตรีที่ไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่อันสำคัญของตน โดยหลงคิดเพียงแค่ว่า การตั้งครรภ์คลอดบุตรธิดาคือทั้งหมดที่ตนพึงปฏิบัติ' (婦孕不育) ... เมื่อ 'ความสมดุลแห่งหยิน-หยาง' เกิดความผิดเพี้ยน และคอยแต่จะขัดแย้งกันเอง เมื่อนั้น สังคมย่อมประสบกับ 'ความฉิบหายวอดวาย' (凶) ดังเช่นสังคมยุคใหม่ที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายต่างก็รับรู้กันอยู่นี่แหละ !!?!

 

 

หก หยาง :

鴻漸于逵其羽可用為儀吉
hóng jiàn yǘ kuí qí yǚ kě yòng wéi yí jí
ฮ๋ง เจี้ยน ยฺวี๋ คุ๋ย ชี๋ หยฺวี่ เข่อ โยฺว่ง เว๋ย อี้ จี๋

 



逵 อ่านว่า kuí (คุ๋ย) ถ้าแปลกันตามพจนานุกรมก็จะได้ความว่า 'ทางที่โปร่งโล่งในทุกทิศทาง' หรือ 'ทางที่สามารถสัญจรไปได้หลายๆ ทิศ' ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะนึกถึง 'ทางแยก' หรือ 'ทางแพร่ง' แต่ผมกลับนึกถึงคำว่า square ที่เราแปลเป็นไทยกันว่า 'จตุรัส' หรือถ้ายังอยากใช้คำว่า 'ทาง' ผมก็คิดว่า 'ชุมทาง' น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดในบรรดาความหมายที่เห็นตามพจนานุกรมทั้งหมดที่ผมมี

羽 อ่านว่า yǚ (หยฺวี่) ปรกติก็จะแปลว่า 'ขนนก' ซึ่งโดยมากก็จะหมายถึง 'ขนปีกของนก' จึงทำให้บางครั้งเราจะใช้คำว่า 羽 (yǚ, หยฺวี่) ในความหมายว่า 'ปีกนก' หรือไม่ก็หมายถึง 'นก' ไปเลย ; ส่วนความหมายที่แผลงออกไปก็จะหมายถึง 'เพื่อน', 'ผู้ช่วย' หรือ 'ผู้ให้การสนับสนุน' เหมือนกับ 'ปีกนก' ที่ช่วยให้ 'นก' สามารถบินได้นั่นเอง ; และในบางกรณีก็จะใช้ในความหมายว่า 'ลูกธนู' เนื่องจากในสมัยก่อนจะใช้ 'ขนนก' ติดไว้ตรงส่วน 'ปลายลูกธนู' เพื่อช่วยในการพยุงทิศทาง

儀 อ่านว่า yí (อี๋) หมายถึง 'บุคลิกลักษณะทางกายภาพของบุคคล', แต่จากลักษณะของการผสมคำใน 'ภาพอักษร' เราจะเห็นว่า 儀 (yí, อี๋) นั้นประกอบด้วยส่วนหน้าคือ 人 (rén, เญิ๋น) ที่หมายถึง 'คน' หรือในบางกรณีก็จะใช้ในความหมายเดียวกับ 仁 (rén, เญิ๋น) ซึ่งหมายถึง 'คุณธรรม' หรือ 'มนุษยธรรม' ในขณะที่ส่วนหลังของ 'ภาพอักษร' จะเป็นตัว 義 (yì, อี้) ซึ่งแปลว่า 'ความถูกต้องเที่ยงธรรม' จึงทำให้ความหมายหนึ่งของ 儀 (yí, อี๋) ก็คือ 'กฎหมาย' หรือ 'บรรทัดฐานทางสังคม' ซึ่งหากจะคิดซะว่า เป็น 'บุคลิกลักษณะของสังคมหนึ่งๆ' ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยการสังเกตจากภายนอก ก็คงพอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่ล่ะครับ ... :P ... นอกจากนั้นแล้ว 儀 (yí, อี๋) ก็ยังมีความหมายในลักษณะของ 'เทศกาลเฉลิมฉลอง', หรือ 'การประกอบพิธีกรรม' ซึ่งถือเป็น 'บุคลิกลักษณะทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น' ได้เหมือนกัน

ผมมีความรู้สึกว่า 'จิวกง' น่าจะกำลังเล่นกับ 'คู่คำ' ซึ่งมี 'ความแตกต่าง' ถึงขนาดที่สามารถมองว่าเป็น 'คู่ตรงกันข้าม' ไปเลยด้วยซ้ำ เพื่อจะสะท้อนถึง 'การประสาน' ของ 'พลังหยิน-หยาง' อันจะนำมาซึ่ง 'ความผสมกลมกลืน' ในทางสังคม ... โดยคู่แรกก็คือคำว่า 干 (gān, กัน) หรือ 'ความมีกรอบเกณฑ์มาตรฐาน' ในวรรคที่หนึ่ง กับ 逵 (kuí, คุ๋ย) ในวรรคนี้ ซึ่งหมายถึง 'ความเปิดกว้าง' ; คู่ที่สองก็คือคำว่า 磐 (pán, พั๋น, พ๋าน) ที่มีลักษณะของ 'การแผ่ออกทางราบ' ในวรรคที่สอง กับ 陵 (líng, ลิ๋ง) ของวรรคที่ห้า ซึ่งมีความหมายในแง่ของ 'การยกให้สูงขึ้น' ; สำหรับในวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่นั้น แม้ว่าจะไม่ได้เน้นที่ความหมายของคำอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เนื้อความโดยรวมคือการสื่อความหมายว่า การรู้จัก 'ถ้อยทีถ้อยอาศัย' ระหว่างส่วนงานต่างๆ นั้น ย่อมเป็นปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย แม้ว่าจะมีความเหลื่อมล้ำก้ำเกินที่ไม่เสมอกันของบทบาท และหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมายไว้ก็ตาม ...

ถ้าจะให้นึกถึงถ้อยคำที่มันง่ายๆ หน่อยสำหรับความเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่ง กับวรรคที่หกนี้ ผมน่าจะนึกถึงคำพูดที่ว่า ... 'ผู้ที่ปรารถนาจะกระทำการใหญ่นั้น (鴻漸) จะต้องมีความชัดเจนในประเด็นของหลักการ และเป้าหมาย โดยต้องมีความจำเพาะเจาะจงในเรื่องของระบบระเบียบและวิธีที่จะดำเนินการ (于干) เพื่อให้ผลลัพธ์ที่จะปรากฏ สามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้คนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึงกัน (于逵)' ... ความหมายก็จะประมาณนี้ ...

เพราะฉะนั้น ความหมายเต็มๆ สำหรับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็น่าจะ 'ตีความ' ได้ว่า ...
'ปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่มุ่งมั่นจะสนองให้สำเร็จ (鴻漸) นั้น หลักสำคัญคือ (于) การกำหนดเป้าประสงค์ที่มีความเปิดกว้าง (逵) เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นบรรทัดฐานที่สามารถเอื้อคุณประโยชน์แก่ทุกฟากฝ่ายอย่างทั่วถึง (其羽可用為儀) เยี่ยงนี้แล้วจึงนับเป็นปณิธานอันประเสริฐ (吉)' ... ไม่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองด้วยปีกหงส์ขาห่านอะไรทั้งนั้นล่ะครับงานนี้ !?! ... :D


 



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เจี้ยน' คือ ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง, สายลมโชยพัดเหนือภูผา

'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' ย่อมหมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนอย่าง 'เสมอต้นเสมอปลาย' ด้วย 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' เพื่อจะบรรลุ 'จุดมุ่งหมาย' อันเป็น 'ความมั่นคงในระยะยาว' เช่นเดียวกับ 'การตบแต่งสะใภ้' (女歸) ซึ่งจะสามารถยัง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ให้แก่วงศ์ตระกูลสืบต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องมี 'คุณสมบัติ' แห่ง 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'เอาจริงเอาจัง' (利) ต่อ 'ระบบระเบียบ' แห่ง 'อุดมธรรมอันบริสุทธิ์' (貞) โดย 'ไม่หวั่นไหว' ต่อ 'สิ่งเย้ายวนอันฉาบฉวย' และ 'ไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ความยากลำบาก' ใดๆ

    • 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' เพื่อสนอง 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' (鴻漸) นั้น ย่อมหมายถึง (于) การดำรงตนให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ 'ข้อกำหนด' และ 'กรอบเกณฑ์' ที่ 'เหมาะสม' (干) การประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยง 'เด็กน้อยผู้ไม่รู้ความ' (小子) ย่อม 'สุ่มเสี่ยง' ต่อ 'ภยันตราย' อันเกิดจาก 'ความผิดพลาดเสียหาย' (厲) ผู้ที่มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'หลักการ' ที่ 'สมเหตุสมผล' (有言)  ย่อมปราศจาก 'ข้อตำหนิติงติง' ให้เป็นที่ 'ครหา' (無咎) ของบุคคลทั้งปวง
    • 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' เพื่อสนอง 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' (鴻漸) นั้น จะต้องประกอบด้วย (于) ความเป็นผู้ที่มีน้ำใจอัน 'หนักแน่น-เปิดเผย' (磐) มี 'ความมุ่งมั่น-อดทน' ต่อ 'ความทุข์ยากลำบาก' (飲) ยอม 'เสียสละอุทิศตน' (食) เพื่อเอื้อ 'ความสงบร่มเย็น' ให้บังเกิดแก่ 'สาธารณะ' (衎衎) จึงจะประสบผลเป็น 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' ที่จะสามารถดำเนินไปจน 'สำเร็จลุล่วง' (鴻漸) ได้นั้น ย่อมต้องประกอบด้วย (于) 'ความเข้าใจ' ใน 'บทบาทหน้าที่' ของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะมี 'ความเหลื่อมล้ำก้ำเกินไม่เสมอกัน' (陸) ... หากแม้นบุรุษใด (夫) มุ่งเพียงเฉพาะ 'การกอบโกยผลประโยชน์' ใส่ตน (征) โดยไม่คำนึงถึง 'ผลสะท้อน' ที่จะ 'กระทบต่อผู้อื่น' (不復) หรือหากสตรีใด (婦) รู้จักเพียง 'การให้กำเนิด' บุตรธิดา (孕) โดยไม่ยอม 'ปฏิบัติหน้าที่' ของ 'การอมรมบ่มสอน' (不育) สังคมนั้นๆ ย่อมประสบกับ 'ความฉิบหายวอดวาย' (凶) ในที่สุด ... การจะสนอง 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' ให้ประสบกับ 'ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน' ได้นั้น จะต้องมี 'ความมุ่งมั่น-พยายาม' (利) ในการ 'ขจัดปัดเป่า' (禦) 'ความคับแคบอันเลวร้าย' ทั้งหลายทั้งปวง (寇) เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป
    • ผู้ที่มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' (鴻漸) ย่อมเปรียบได้กับชิ้นไม้ (于木) ที่ใช้ในงานโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน การที่ (或) ไม้ชิ้นใดจะมีคุณสมบัติอันเพียงพอแก่การได้รับคัดเลือก (得) ให้นำไปใช้เป็นจันทันแต่ละชิ้น (其桷) จะต้องเป็นชิ้นไม้ที่มี 'ความแข็งแรง-ทนทาน' และปราศจาก 'จุดบกพร่อง'  (無咎) ในส่วนที่เป็น 'สาระสำคัญ' ของงานโครงสร้างนั้นๆ เสมอ
    • 'ความไม่หยุดยั้ง' เพื่อสนอง 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' (鴻漸) ย่อมหมายถึง (于) 'การพัฒนาต่อยอดขยายผล' ให้สูงเยี่ยมยิ่งๆ ขึ้นไป (陵) ดังเช่น 'สตรี' ผู้เป็น 'แม่เหย้าแม่เรือน' (婦) ย่อมมี 'ภาระหน้าที่' ในช่วงเวลาหลายขวบปี (三歲) ที่ไม่ใช่เพียง (不) 'การตั้งครรภ์คลอดบุตรธิดา' (孕) 'การเสริมสร้าง' เพื่อให้เกิด 'พัฒนาการ' ยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วย 'การปฏิเสธ' ที่จะยอมรับใน 'ความเป็นที่สิ้นสุด' ของทุกๆ ภาระกิจ (終莫之勝) คือปัจจัยที่จะนำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' ที่ 'มุ่งมั่น' จะสนองให้สำเร็จ (鴻漸) นั้น หลักสำคัญคือ (于) การกำหนด 'เป้าประสงค์' ที่มี 'ความเปิดกว้าง' (逵) เพื่อ 'พัฒนา' ไปสู่ 'ความเป็นบรรทัดฐาน' ที่สามารถ 'เอื้อคุณประโยชน์' แก่ทุกฟากฝ่าย 'อย่างทั่วถึง' (其羽可用為儀) เยี่ยงนี้แล้วจึงนับเป็น 'ปณิธานอันประเสริฐ' (吉)

 

    • *** บทนี้คงไม่ต้องอธิบายล่ะครับว่า ทำไมถึงต้องแทรกอักษรจีนทั้งหมดเอาไว้ในคำแปล ในเมื่อไม่มีวรรคไหนเลยที่ผม 'ถอดความ' อย่างตรงไปตรงมาตามตัวอักษรที่เห็น ... ;)



The Organization Code :


'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' เปรียบได้ดั่งกระแสลมที่โชยพัดเหนือยอดเขา ซึ่ง 'ไม่เคยกระโชกรุนแรง' แต่ก็ 'ไม่เคยหยุดนิ่ง' ... คือ 'ความเคลื่อนไหว' บนพื้นฐานของ 'ข้อเท็จจริง' ที่อยู่นอกเหนือ 'ความรู้สึกขัดแย้ง' ทั้งหลายทั้งปวง ... เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานในระดับขององค์กร 'ความไม่ย่อหย่อนหยุดยั้ง' ย่อมประกอบด้วย 'ระดับนโยบาย' ที่มี 'ความหนักแน่น-มั่นคง' ด้วย 'หลักการ' และ 'หลักปฏิบัติ' อัน 'เชื่อถือได้' มี 'ความซื่อสัตย์-สุจริต' ต่อ 'พันธกิจ' ที่กำหนดเอาไว้อย่าง 'ไม่เคยย่อท้อ' (⚏) ; 'ระดับบริหาร' ก็จะต้องมี 'ความตื่นตัว' และ 'พร้อมที่จะเรียนรู้' เพื่อ 'พัฒนาต่อยอด' อย่าง 'ไม่เคยหยุดนิ่ง' (⚍) ; ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็จะต้องมี 'ความมุ่งมั่น' อย่าง 'แข็งขัน' เพื่อจะ 'ดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ อย่าง 'เต็มศักยภาพ' ของตนอยู่เสมอ (⚌)

'ความไม่ย่อ-หย่อน-หยุด-ยั้ง' หมายถึง 'การประพฤติปฏิบัติตน' ด้วย 'ความเสมอต้นเสมอปลาย' บนพื้นฐานของ 'หลักการ' และ 'หลักปฏิบัติ' ที่จะก่อเกิดเป็น 'ความสงบร่มเย็น' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' สำหรับ 'องค์กร' และ 'สังคมโดยรวม' โดย 'ไม่หวั่นไหว' ต่อ 'สิ่งเย้ายวนอันฉาบฉวย' ... ทั้งนี้ย่อมต้องประกอบด้วย ... 'ความไม่ย่อท้อ' ต่อ 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ที่ต้องเผชิญ ; 'ความไม่หย่อนยาน' ใน 'ระบบระเบียบ' อันเป็น 'บรรทัดฐาน' ; 'ความไม่เคยหยุด' ที่จะ 'เรียนรู้' และ 'พัฒนาศักยภาพ' ของตน 'อย่างต่อเนื่อง' ; และ 'ความไม่ยับยั้ง-ขัดขวาง' สิ่งที่จะก่อ 'คุณประโยชน์' ให้แก่ 'ส่วนรวม' ด้วยเงื่อนไขของ 'ความคับแคบเฉพาะตัว'

    • 'ผู้นำ' ที่คิดจะ 'ทำการใหญ่' ย่อมต้อง 'ประพฤติปฏิบัติตน' ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ 'ข้อกำหนด' และ 'กรอบเกณฑ์' ที่ 'เหมาะสม' ไม่อาจปฏิบัติงานด้วย 'ความสุ่มเสี่ยง-เอาแต่ใจ' เยี่ยง 'เด็กทารกผู้ไม่รู้ความ' ; ด้วยผู้ที่มี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'หลักการ' อย่าง 'สมเหตุสมผล' ย่อมปราศจาก 'ข้อตำหนิติงติง' ให้เป็นที่ 'ครหา' ของบุคคลทั้งปวง
    • 'ผู้นำ' ที่มุ่งหวังจะ 'อุทิศตน' เพื่อ 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' นั้น ย่อมต้องประกอบด้วย ความเป็นผู้มีจิตใจอัน 'หนักแน่น-เปิดเผย' มี 'ความมุ่งมั่น-อดทน' อย่าง 'ไม่เคยย่อท้อ' ต่อ 'ความทุข์ยากลำบาก' เพื่อสร้างสรรค์ 'ความสงบร่มเย็น' และ 'พัฒนาการอันยั่งยืน' ให้บังเกิดแก่ 'สาธารณะ' โดยปราศจาก 'ความบิดเบือน' อันเนื่องมาจาก 'ผลประโยชน์เฉพาะหน้าอันฉาบฉวยของตน' เพียงลำพัง
    • ผู้จะ 'กระทำการใหญ่' ให้ 'สำเร็จลุล่วงด้วยดี' นั้น ย่อมจะต้องมี 'ความเข้าใจ' ใน 'ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง' ของ 'บทบาท-หน้าที่' ที่ 'แตกต่างกันไป' ตาม 'ความเหมาะสม' แห่ง 'ศักยภาพ' ที่ 'ไม่เสมอกัน' ; บุคคลผู้มี 'ความคิดอันคับแคบ' และ 'จิตใจอันต่ำทราม' ย่อมมุ่งหวังเพียง 'การฉกฉวยโอกาส' เพื่อ 'กอบโกยผลประโยชน์' จาก 'ตำแหน่งการงาน' และ 'สถานภาพ' ของตน โดยไม่คำนึงถึง 'การปฏิบัติหน้าที่' ด้วย 'ความทุ่มเท' เพื่อยัง 'ประโยชน์สุข' และ 'พัฒนาการ' ให้เกิดแก่ 'สังคมโดยรวม' คือ 'ปัจจัยแห่งความล่มจมฉิบหาย' ที่จะต้องขจัดปัดเป่าให้หมดสิ้นไป
    • ผู้ที่มี 'ศักยภาพ' และ 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'ปณิธานอันยิ่งใหญ่' ย่อมเปรียบได้กับ 'เสาหลัก' ที่ใช้ค้ำจุนโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะต้องมี 'ความแข็งแรง-ทนทาน' และจะต้องปราศจาก 'จุดบกพร่อง' ในส่วนที่เป็น 'สาระสำคัญ' ของ 'การปฏิบัติหน้าที่' อันสำคัญยิ่งนี้เท่านั้น
    • 'การปฏิเสธ' ที่จะยอมรับใน 'ความเป็นที่สิ้นสุด' ของทุกๆ ภาระกิจ คือปัจจัยแห่ง 'พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง' อันจะนำไปสู่ 'การขยายผล' ให้สูงเยี่ยมยิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ
    • 'ผลแห่งความมุ่งมั่นทุ่มเท' เพื่อก่อเกิดเป็น 'พัฒนาการ' ทั้งหลายนั้น จะต้องสามารถตอบสนองต่อ 'เป้าประสงค์' ที่มุ่ง 'เอื้อคุณประโยชน์' ให้แก่ 'สารธณชน' อย่าง 'เปิดกว้าง' อันจะเป็น 'บรรทัดฐาน' ที่นำมาซึ่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' อย่างแท้จริง



นี่ก็คือ 'จิ๊กซอว์ชิ้นที่ห้า' ซึ่งบันทึกไว้ใน 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ของวลี 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ (無咎)' ... ซึ่งความหมายโดยรวมของสิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในบทนี้ก็คือ 'ความยิ่งใหญ่อลังการ' (鴻) ของ 'ปณิธาน' และ 'ความทุ่มเท' (漸) นั้น ย่อมประเมินจากปริมาณของผู้คนที่ได้รับคุณประโยชน์จาก 'ผลแห่งความพยายาม' นั้นๆ ... 'ผู้อุทิศตนเพื่อตน' แม้ว่าจะยอมทุกข์ยากโดยไม่เคยเบียดเบียนผู้หนึ่งผู้ใดเลย ก็ยังไม่อาจนับว่ายิ่งใหญ่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับ 'ผู้ที่อุทิศตนเพื่อสาธารณะ' ที่ต่อให้บางกรณีก็อาจจะทุกข์ยากน้อยกว่า เนื่องจากมีหลายฝักหลายฝ่ายที่คอยให้ความช่วยเหลือก็ตาม ... ;)

'วัฏจักรแห่งอำนาจ' นี้ เริ่มต้นจากการให้ข้อคิดที่ว่า 'ผู้ปกครอง' ที่ชาญฉลาด จะต้อง 'รู้จักสงวนท่าที' ของ 'การแสดงอำนาจ' เนื่องจาก 'อำนาจ' ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้เพื่อ 'การอวดโอ่อย่างพร่ำเพรื่อ' (บทที่ห้าสิบเอ็ด : 震 : zhèn, เจิ้น) แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่กับ 'ปัญญาไตร่ตรอง' (บทที่ห้าสิบสอง : 艮 : gèn, เกิ้น) เพื่อ 'อำนวยประโยชน์สุข' และ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้เกิดแก่ 'สังคมโดยรวม' อย่างต่อเนื่อง (บทที่ห้าสิบสาม : 漸 : jiàn, เจี้ยน) ไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างที่พวก 'ผู้นำบ้าอำนาจ' ทั้งหลายนิยมปฏิบัติกัน ... เรามาดูกันซิว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' อยากจะบอกอะไรกับพวกเราอีกในบทต่อไปของ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' นี้ ?!!? ... ;)