Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第六十二卦 : 小過
小過 : 雷山小過 ‧ 震上艮下
小過 : 亨‧利貞‧可小事不可大事‧飛鳥遺之音‧不宜上宜下‧大吉‧
- 初六 : 飛鳥以凶‧
- 六二 : 過其祖‧遇其妣‧不及其君‧遇其臣‧無咎‧
- 九三 ‧ 弗過防之‧從或戕之‧凶‧
- 九四 : 無咎‧弗過遇之‧往厲必戒‧勿用永貞‧
- 六五 : 密雲不雨‧自我西郊‧公弋取彼在穴‧
- 上六 : 弗遇過之‧飛鳥離之‧凶‧是謂災眚‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มีความสุขุม-ลุมลึก (⚏) ; ความคิด มีมุ่งมั่น-ชัดเจน (⚌) ; พฤติกรรม มีความอ่อนน้อมนุ่มนวล (⚏)
ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้ข่าวสารข้อมูล (☶) สนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด (☳) ; ระดับนโยบาย ต้องมีความหนักแน่น ต่อข่าวสารทั้งด้านบวกและลบ (⚏), ระดับบริหาร ต้องมีความเข้มงวดจริงจัง (⚌), ระดับปฏิบัติการ ต้องยืดหยุ่นด้วยความระมัดระวัง (⚏)
ความหมายของสัญลักษณ์ : จาคะปฏิปทา, ฟ้าคำรามเหนือขุนเขา
ความหมายของชื่อเรียก : Abnegating : จาคะปฏิปทา
เห็นชื่อบทนี้แล้วนึกถึงบทที่ยี่สิบแปดขึ้นมาทันทีเลยครับ เพราะมีความคล้ายกันทั้งสัญลักษณ์ประจำบท และชื่อเรียกด้วย ซึ่งในบทที่ยี่สิบแปดนั้น King Wen ลำดับสัญลักษณ์ให้เป็น 'ลมโชยใต้ทะเลสาบ' (䷛) คือมี 'เส้นหยิน' 2 เส้นขนาบด้านบนและด้านล่างของ 'เส้นหยาง' ทั้งสี่ซึ่งอยู่ตรงกลาง โดยด้านบนเป็นสัญลักษณ์ของ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) หมายถึง 'ทะเลสาบ' แทน 'ความเปิดกว้าง' ส่วนด้านล่าวคือสัญลักณ์ของ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) หมายถึง 'ลม' แทน 'ความเย็นสบาย' ซึ่งผมให้ความหมายกับ 大過 (dà guò, ต้า กั้ว) อันเป็นชื่อของสัญลักษณ์ดังกล่าวว่า 'ความมีวุฒิภาวะ' หรือ Maturity เพื่อสื่อถึง 'การมีท่าทีที่เปิดกว้างอย่างสบายอกสบายใจ' ... ประมาณนั้น
ส่วนบทนี้ King Wen ให้ชื่อว่า 小過 (xiǎo guò, เสี่ยว กั้ว) และลำดับสัญลักษณ์เป็น 'ฟ้าคำรามเหนือขุนเขา' (䷽) คือมีด้านบนเป็น ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) หมายถึง 'ฟ้าคำราม' และด้านล่างเป็น ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) หมายถึง 'ภูเขา' พอเรียงซ้อนกันก็เลยกลายเป็น 'เส้นหยิน' 2 คู่ขนาบด้านบนและด้านล่างของ 'เส้นหยาง' 2 เล้นซึ่งอยู่ตรงกลาง ... ดูคล้าย 'พลังหยาง' ตรงกลางนั้นด่อนกำลังลง ... หรือ 'ความมีวุฒิภาวะ' จะลดลงด้วยรึเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ?!?!! ... 😂😂
อักษร 小 (xiǎo, เสี่ยว) ถือเป็นคำพื้นฐานที่เราพบเห็นได้ทั่วไป โดยความหมายแรกๆ ที่ทุกคนจะคุ้นเคยกับมันก็คือ 'เล็ก', 'น้อย' ในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ 大 (dà, ต้า) ซึ่งหมายถึง 'ใหญ่', หรือ 'มาก' ; โดยคำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ก็ยังมีการใช้ในความหมายอื่นๆ เช่น 'ความละเอียด' ซึ่งแผลงมาจาก 'ความเล็ก' แล้วจึงแผลงต่อไปเป็น 'ความเอาใจใส่' หรือ 'ความระมัดระวัง' อีกชั้นหนึ่งด้วย
ส่วนอักษร 過 (guò, กั้ว) ก็คงต้องเล่าย้อนความหมายของมันกันอีกซักรอบล่ะครับ ... 'ภาพอักษรเดิม' ของ 過 (guò, กั้ว) จะมีขีด 3 ขีดอยู่ตรงมุมบนด้านซ้ายมือ เชื่อกันว่าเป็นภาพจำลองของ 'รอยเท้า' ด้านล่างของซีกซ้ายคืออักษร 止 (zhǐ, จื่อ) ที่หมายถึง 'เท้า' เมื่อรวมเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นอักษร 辵 (chuò, ฌั่ว) แปลว่า 'เดิน' ... ส่วนซีกขวาคืออักษร 咼 (guā, กัว) มีความหมายคล้ายๆ กับ 'พูดจาเชือดเฉือน' หรือ 'เชือดเฉือนด้วยปาก' ; บางครั้งก็หมายถึง 'การพูดบิดเบือน', 'การซุบซิบนินทา' ได้ด้วย ... เมื่อดูจากความหมายของธาตุประกอบต่างๆ แล้ว 過 (guò, กั้ว) น่าจะหมายถึง 'การหลีกห่างจากเรื่องไม่เป็นสาระ' หรือ 'ลมปากที่ผ่านไปผ่านมา' จึงทำให้มันมีความหมายว่า 'ผ่านเลย', 'ผ่านไป', 'ข้ามไป' ; และอาจจะหมายถึง 'เกินเลยออกไป', 'พ้นขอบเขตออกไป' ; สามารถแปลว่า 'ส่งผ่าน', 'ส่งมอบ' ในลักษณะที่เป็น 'การผ่านมือ' จากผู้หนึ่งไปสู่ผู้อื่น ; และกลายมาเป็น 'การผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง', หรือ 'ผ่านมาแล้ว', 'ผ่านไปแล้ว' ก็ได้ ... ผมจึง 'ตีความ' ให้ 大過 (dà guò, ต้า กั้ว) หมายถึง 'การบรรลุความเป็นยอดคน' และใช้คำว่า 'ความมีวุฒิภาวะ' นั่นเอง โดยถ่ายเทความหมายมาจากคำว่า 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) หรือ 'ยอดคน' ในวรรคที่สองของบทที่หนึ่งตามทฤษฎีที่ผมกำหนดไว้ ... แล้วคำว่า 小 (xiǎo, เสี่ยว) ในบทนี้จะหมายถึง 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) หรือ 'คนถ่อย' ในความหมายที่ตรงข้ามกับ 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ด้วยรึเปล่า ?!
แม้ว่าชื่อบทคราวนี้กับภาพสัญลักษณ์ประจำบทจะคล้ายกันกับบทที่ยี่สิบแปด แต่รากของความหมายจริงๆ ก็ควรจะต้องถ่ายทอดมาจากวรรคที่หกของบทที่สอง ซึ่งจะคล้ายกับบทที่ยี่สิบแปดหรือไม่ก็ต้องมาดูกัน ... วรรคที่หกของบทที่สองได้รับการบันทึกไว้ว่า 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' ... เหมือนมีกลิ่นตุๆ ของ 'คนถ่อย' อยู่เหมือนกันนะ ... ว่ามั้ย ?! ... 😂😂 ... การเป็น 'คนเก่ง' หรือ 'คนฉลาด' นั้นอาจจะไม่ใช่ 'ปัจจัยหลัก' ของการพิจารณา 'ความเป็นยอดคน' ของใครต่อใคร เพราะหากบุคคลเหล่านั้นมุ่งหวังเพียง 'ประโยชน์ตน' แล้วตั้งหน้าตั้งตาใช้ 'ความเก่ง-ความฉลาด' ที่ตนมีเพื่อ 'ชิงดีชิงเด่นกัน' จนทำให้ 'กลไกทางสังคม' ผิดเพี้ยนไปจาก 'ที่ถูกที่ควร' สังคมที่ว่านั้นย่อมเต็มไปด้วย 'ความวุ่นวาย-โกลาหล' และจะ 'พังพินาศลงไป' ในที่สุด ... ผู้ที่จะเป็น 'ยอดคน' จึงต้องไม่ใช่ 'เหตุปัจจัย' แห่ง 'ความล่มสลาย' ที่ว่านี้อยู่แล้ว ...
ด้วยเหตุนี้ 小過 (xiǎo guò, เสี่ยว กั้ว) จึงมีความเป็นได้ที่จะหมายถึง 'การหลีกห่างจากคนถ่อย' หรือ 'อย่าคบคนพาล' ... แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็อาจจะหมายถึง 'การมองข้ามประเด็นปลีกย่อย' ในลักษณะที่คล้ายกับสำนวนคุ้นหูที่ว่า 'แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง' อะไรประมาณนั้น ... หรืออีกความหมายหนึ่งก็น่าจะเป็น 'การระมัดระวังในทุกย่างก้าว' ... เหล่านี้ล้วนเป็นความหมายที่เป็นไปได้ทั้งนั้น เราจึงต้องไปตัดสินจากคำบรรยายที่ King Wen ตั้งใจบันทึกไว้เอง เพื่อความแน่ใจว่า จริงๆ แล้ว King Wen ต้องการจบบทบันทึก 'วัฏจักรสุดท้าย' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' อันเป็น 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' นี้ยังไง !?!?!!
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
hēng lì zhēn kě xiǎo shì bù kě dà shì fēi diǎo yí zhī yīn bù yí shàng yí xià dà jí
可 อ่านว่า kě (เข่อ) แปลว่า 'เป็นไปได้', 'สามารถ', 'อาจจะ' ; 'เติมเต็ม', 'สมบูรณ์แบบ' ; 'ปัจจัยที่จำเป็น', หรือ 'โดยเฉพาะ' ; 'เห็นด้วย', 'อนุญาต'
飛 อ่านว่า fēi (เฟย) โดยส่วนมากจะใช้ในความหมายว่า 'บิน' และมักจะใช้ในรูปของคำว่า 飛行 (fēi xíng, เฟย ซิ๋ง) ; แต่คำนี้นอกจากจะแปลว่า 'บิน' หรือ 'เหาะ' แล้ว มันยังใช้ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า 'ว่องไว' หรือ 'รวดเร็ว' ราวกับ 'เหาะเหินเดินอากาศ' ได้ด้วย ; ส่วนความหมายที่แผลงไปจาก 'บิน' ก็จะประมาณเหมือนกับ 'ล่องรอยในอากาศ' ซึ่งบางทีจะออกแนว 'เลื่อนลอย' หรือ 'ไร้แก่สาร' ไปเลย ...
鳥 อ่านว่า niǎo (เหนี่ยว) แปลว่า 'สัตว์ปีก' โดยเฉพาะ 'นก' และดูเหมือนจะไม่มีคำแปลอื่นนอกจากการใช้เป็นคำสแลงหยาบๆ ไว้ด่าคนเท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะออกเสียงว่า 'เตี่ยว' (diǎo) ... 😋 ... แล้วมันก็เป็นสแลงที่หมายถึง 'อวัยวะเพศชาย' ถือเป็นคำด่าแรงๆ สำหรับเรื่องราวที่ 'น่ารังเกียจ', 'น่าอาย', 'เรื่องไม่ดี', หรือ 'เรื่องบัดสีบัดซบ' อะไรแบบนั้น
遺 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'สูญเสีย', 'สูญหาย', 'ละทิ้ง' ; แต่ก็สามารถหมายถึง 'สิ่งที่หลงเหลือไว้', 'สิ่งที่ตกทอดไว้' ; ถ้าเป็นอากัปกิริยาจะหมายถึง 'แกว่งไปแกว่งมา', 'เลื้อย', หรือว่า 'คดเคี้ยว'
音 อ่านว่า yīn (อิน) แปลว่า 'เสียง', 'ส่งเสียง', 'โทนเสียง' ; ซึ่งในแง่หนึ่งมันคือ 'การสื่อสาร' หรือ 'ข่าวสาร' ที่ 'สื่อออกจากใจ' ... ดังนั้น หากจะ 'ตีความ' ให้ลึกลงไปถึงรากศัพท์ของมันจริงๆ แล้ว 音 (yīn, อิน) สามารถที่จะมีความหมายว่า 'เจตจำนง' หรือ 'เจตนาที่สื่อออกมา'
宜 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'ถูกต้อง', 'เหมาะสม', 'คู่ควร', 'สมเหตุสมผล', หรือ 'ยุติธรรม' ซึ่งก็เลยทำให้สามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 儀 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'แบบอย่าง', 'บรรทัดฐานทางสังคม' หรือ 'กฎหมาย' ได้ด้วย
เอาล่ะ ... สรุปว่าแคะความหมายเรียงตัวออกมาแล้วก็ยังไม่ได้เรื่องเลยครับ ... 😋 ... เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยลูกไม้เห่าที่ใช้มาตลอดเล่มคัมภีร์อีกครั้ง นั่นคือการย้อนรอยความหมายของบทอื่นๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกันกับวรรคที่หกของบทที่สองแบบครบชุดไปเลย ...
เริ่มกันตั้งแต่บทที่สิบสี่ (大有 : dàyǒu, ต้าโหฺย่ว : ความยั่งยืน) เลยแล้วกัน เราได้ความหมายจากที่ King Wen บรรยายไว้ด้วยอักษรเพียง 2 ตัวคือ 元亨 (yuán hēng, เยฺวี๋ยน เฮิง) ว่า ... 'สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตระหนักอย่างชัดเจนเป็นอันดับแรก เพื่อจะสรรค์สร้างความเป็นระบบระเบียบ อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงในอนาคต' ... นี่คือความหมายของ 'ความยั่งยืน' ตามทัศนะของ King Wen ที่ต้องการให้คำนึงถึงเป็น 'อันดับแรก'
พอมาถึงบทที่ยี่สิบหก (大畜 : dà xǜ : ต้า ซฺวี่ : การสั่งสมความยิ่งใหญ่) King Wen ให้ความหมายของ 'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' ว่า ... 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยอุดมการอันบริสุทธิ์ (貞) โดยไม่ยื้อยุดสิ่งใดไว้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน (不家) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินผลประโยชน์ (食) หรือความรุ่งเรืองแห่งลาภยศ (吉) ... ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) เยี่ยงนี้ ย่อมจะสามารถฟันฝ่า (涉) อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง (大川) ออกไปได้' ... โดยเน้นที่ 'การอุทิศตน' เพื่อ 'อุดมการ' และ 'เป้าหมาย' อันเป็น 'ประโยชน์สุข' ของ 'ส่วนรวม'
ในขณะที่บทที่สามสิบแปด (睽 : kuí, คุ๋ย : การสร้างความแตกต่าง) ได้รับการบรรยายไว้ว่า 'การดำเนินงานด้วยความถ่อมตน และให้ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญอย่างสุขุมรอบคอบ (小事) ย่อมนำพาให้ทุกฝ่ายล้วนประสบกับความสำเร็จ (吉)' ... เพื่อจะสื่อว่า 'ความแตกต่าง' นั้นมิได้เกิดจาก 'ความหวือหวา' ที่ 'ความแปลกประหลาด' ใดๆ แต่เกิดจาก 'การให้เกียรติ' และ 'ให้ความเคารพ' ต่อ 'ความต้องการ' ของผู้อื่นด้วย 'ความใส่ใจ' ในทุกๆ รายละเอียด แม้จะเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
และบทที่ห้าสิบ (鼎 : dǐng, ติ่ง : อำนาจอธิปไตย) เราจะเห็น King Wen เอ่ยถึง 'อำนาจการปกครอง' ในความหมายว่า 'คุณธรรมความดีที่สร้างสรรค์ (元吉) อันจะอำนวยให้เกิดความมีระบบระเบียบ ที่เอื้อต่อพัฒนาการอย่างยั่งยืน (亨) ของสังคมและประเทศชาติ' ... คือการใช้ 'คุณธรรม' และ 'ความดี' มาเป็น 'ปัจจัย' ในการสร้าง 'กฎเกณฑ์' และ 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ ที่ 'เอื้อต่อการพัฒนา' สังคมตลอดจนประเทศชาติ 'อย่างต่อเนื่อง'
จะเห็นนะครับว่า จากความหมายที่ตั้งต้นด้วย 'การปราม' ในประเด็นของ 'การชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' นำไปสู่การแนะนำให้คำนึงถึง 'เป้าหมายระยะยาว' อันเป็น 'ความยั่งยืน' ที่จะต้อง 'มุ่งมั่น-ทุ่มเท' อย่าง 'มีน้ำอดน้ำทน' ต่อ 'การดำเนินการ' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' ด้วย 'ความสุขุมรอบคอบ' และรู้จัก 'ให้เกียรติ' และ 'ให้ความสำคัญ' กับ 'ทุกๆ ฝ่าย' เพื่อสร้างสรรค์ 'ระบบระเบียบ' ที่เอื้อต่อ 'พัฒนาการ' ในด้านต่างๆ ของ 'ส่วนรวม' ... ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ 'นก' (鳥) เลยซักนิดเดียว ?!?!!!?!! .." แล้ว 'นกบิน' (飛鳥) มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ยังไง ?!?! ... แถมยังบินไปโผล่ตรงวรรคแรกของบทนี้ซะอีก โดยมีคำลงท้ายที่ต่างกับวรรคนี้ไปคนละขั้วเลย ... คำปริศนาอย่าง 'นกบิน' (飛鳥) ควรจะต้องเป็นอะไรบางอย่างที่เลวร้าย แต่จะ 大吉 (dà jí, ต้า จี๋) คือ 'ดีอย่างมหาศาล' ได้ก็ด้วยการ 不宜上宜下 (bù yí shàng yí xià, ปู้ อี๋ ษั้ง อี๋ เซี่ย) ตามที่บอกไว้ในวรรคนี้เท่านั้น ... แล้วมันคืออะไรกันวะ ?!?!!
เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า King Wen น่าจะเล่น 'คำหยาบ' หรือ 'คำลามก' ในวรรคนี้ !!?!!?? ... โดยอักษรเจ้าปัญหาคือ 鳥 ที่ทุกตำราแปลว่า 'นก' เพราะไปออกเสียงว่า niǎo (เหฺนี่ยว) นั้น ความจริงแล้วต้องออกเสียงว่า diǎo (เตี่ยว) สำหรับถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้ เพราะความหมายจริงๆ ที่ King Wen ต้องการจะสื่อออกมาในบทนี้ก็คือ ... 'ระบบระเบียบ (亨) และหลักจริยธรรมอันเคร่งครัด (利貞) นั้น บางครั้งก็ต้องรู้จักอนุโลม (可) ให้กับประเด็นปลีกย่อยที่ไม่สลักสำคัญอะไร (小事) แต่จะต้องเข้มงวดกวดขัน (不可) กับประเด็นที่เป็นข้อใหญ่ใจความอันเป็นสาระสำคัญ (大事) ของเป้าประสงค์ ... ประเด็นอันเลื่อนลอย (飛) ที่นำมาสาปแช่งให้ร้ายกันไปมา (鳥) ด้วยข้อมูลข่าวสารอันบิดเบือน (遺之音) นั้น จงอย่าได้หยิบยกขึ้นมาราวกับเป็นเรื่องสลักสำคัญอันเร่งด่วน (不宜上) แต่จงด้อยค่าของมันให้ต่ำลงจนไม่คู่ควรแก่การพิจารณาใดๆ (宜下) เยี่ยงนี้จึงจะเป็นคุณต่อการใหญ่ (大吉) อันเป็นเป้าหมายสำคัญ' ... ไม่มี 'นกบิน' นะครับ !! ... มีแต่ Fake News ที่ไม่จำเป็นต้องแยแสเท่านั้น !!?!!?? ... 😇
ผมอยากจะชวนให้ย้อนกลับไปดูบทที่ห้าสิบเจ็ด (巽 : xǜn, ซฺวิ่น : ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง) ในฐานะที่มันต่อยอดมาจากวรรคที่หนึ่งของบทที่สอง อันเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่หกของบทที่สอง เพื่อจับคู่บทที่ปรากฏอยู่ในวัฏจักรเดียวกันให้เห็นความเป็น 'คู่วลี' ของทั้งสอง King Wen ได้บันทึกเนื้อความในบทที่ห้าสิบเจ็ดไว้ว่า ... 'ความค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง' นั้น คือ 'การดำเนินงานอย่างระมัดระวัง (小) ด้วยความเข้าใจในเหตุและผลของการปฏิบัติ (亨) ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน (利有) ทั้งในด้านของเป้าหมายและทิศทาง (攸) ตลอดจนลำดับความสำคัญของทุกๆ กิจกรรมที่จะต้องดำเนินไปให้บรรลุผล (往) อีกทั้งยังต้องพยายาม (利) เสาะแสวงหา (見) บุคคลผู้เปี่ยมด้วยความรู้และศักยภาพ (大人) ให้สามารถมาร่วมกิจการงานในแต่ละบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมด้วย' ...
เราจะเห็นนะครับว่า ประเด็นหลักก็คือ 'ความระมัดระวัง' หรือ 'ความเอาใจใส่' ใน 'เหตุผล' หรือ 'เป้าหมาย' ของ 'ภารกิจ' ที่กำลัง 'ดำเนินการ' อยู่ กับต้องพยายามสรรหา 'บุคคลที่เหมาะกับภารกิจ' มา 'ร่วมกันพัฒนางาน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' ... ดังนั้น 'คู่วลี' ที่ปรากฏเป็นบทที่หกสิบสองในวัฏจกรเดียวกัน ซึ่ง King Wen ให้ชื่อบทว่า 小過 (xiǎo guò, เสี่ยว กั้ว) นี้ จึงควรจะได้รับคำแปลว่า Abnegating โดยผมอยากสร้างคำภาษาไทยให้เข้าชุดกับบทที่หกสิบเอ็ด (มัตตัญญตาธิษฐาน) ว่า 'จาคะปฏิปทา' ... คือเมื่อมี 'ความแน่วแน่ในทางสายกลาง' (中孚) แล้ว ก็ถึงคราวที่ต้อง 'ปฏิบัติ' ด้วย 'การละเลิกอัตตา' หรือ 'ปฏิเสธความเป็นศูนย์กลางแห่งตน' ด้วยการ 'มองข้ามความไร้แก่นสาร' ของสรรพสิ่งที่ 'ไม่เป็นคุณต่อการใหญ๋ในอนาคต' ... มันคือ 'การปฏิเสธ' ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ 'ทุกรายละเอียด' ราวกับตนมีพลังอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง ... มันคือ 'การปฏิเสธ' ต่อ 'อัตตาตน' เมื่อต้องเผชิญกับคำกล่าวให้ร้ายที่ไม่มีแก่นสาร (飛鳥遺之音) ด้วยการ 'มองข้ามไปราวกับเป็นสิ่งด้อยค่า' (宜下) ... นี่คือ 'หลักปฏิบัติแห่งจาคะ' หรือ 'จาคะปฏิปทา' ในฐานะของคำแปลให้กับบทที่ว่าด้วย 小過 (xiǎo guò, เสี่ยว กั้ว) นี้
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
飛鳥以凶
fēi diǎo yǐ xiōng
เมื่อพิจารณาจากลีลาของการเลือกคำมาใช้ในบทขยายความให้กับ 'คัมภีร์อี้จิง' เราคงปฏิเสธได้ยากล่ะครับว่า 'จิวกง' นั้นมีความลุ่มลึกจริงๆ ทั้งในด้านของความรอบรู้ และความรอบคอบในการประดิษฐ์ถ้อยคำขึ้นมา การเลือกคำซ้ำอย่าง 飛鳥 (fēi diǎo, เฟย เตี่ยว) มาเล่นซ้ำด้วยการพลิกความหมายไปคนละขั้นกับวลีของ King Wen นั้น ถือเป็นสุดยอดแห่งการส่งสัญญาณให้รู้ว่า 飛鳥 (fēi diǎo, เฟย เตี่ยว) นั้นต้องได้รับ 'การตีความ' อย่างไม่ธรรมดาจริงๆ ...
เมื่อ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ตรงช่วงท้ายวลีว่า ... '... ประเด็นอันเลื่อนลอย (飛) ที่นำมาสาปแช่งให้ร้ายกันไปมา (鳥) ด้วยข้อมูลข่าวสารอันบิดเบือน (遺之音) นั้น จงอย่าได้หยิบยกขึ้นมาราวกับเป็นเรื่องสลักสำคัญอันเร่งด่วน (不宜上) แต่จงด้อยค่าของมันให้ต่ำลงจนไม่คู่ควรแก่การพิจารณาใดๆ (宜下) เยี่ยงนี้จึงจะเป็นคุณต่อการใหญ่ (大吉) อันเป็นเป้าหมายสำคัญ' ... 'จิวกง' ก็จัดการพลิกความหมายของ 飛 (fēiม เฟย) ซะใหม่ให้กลายเป็น 'ล่องลอยไปตามกระแส' โดยการ 'ละข้อปฏิบัติ' ที่ King Wen บันทึกเอาไว้ด้วยการ 'ยกทิ้งไปทั้งท่อน' แทนความหมายว่า 'การไม่ปฏิบัติตามที่แนะนำ' ... เป็นการ 'ทิ้งคำเพื่อสร้างความหมาย' โดยไม่ต้องใช้คอธิบายใดๆ เลย ... มันเป็นอะไรที่ ... โคตรเจ๋งเลยว่ะ !!?!!?!
ผมอยากจะบอกว่า วลีเต็มๆ ของวรรคนี้ที่ 'จิวกง' เลือกใช้ 'พฤติกรรมพิเศษทางภาษา' มาบันทึกไว้ก็คือ 'ความอ่อนไหวไปตามกระแส (飛) ของคำสาปแช่งให้ร้าย (鳥) ... ด้วยการหยิบยกขึ้นมาเป็นอารมณ์ (宜上) อย่างไม่ยอมปล่อยวาง (不宜下) ... ย่อมจะนำมาซึ่ง (以) ภยันตรายที่ร้ายแรงถึงขั้นพินาศย่อยยับ (凶) เลยทีเดียว' ... ท่อนตรงกลางวรรคที่ผมเชื่อว่า 'จิวกง' ท่านตั้งใจ 'ละไว้ในฐานที่เข้าใจ' ก็คือ 宜上不宜下 (yí shàng bù yí xià, อี๋ ษั้ง ปู้ อี๋ เซี่ย) ซึ่งมีการสลับตำแหน่งของอักษร 不 (bù, ปู้) เพื่อให้กลายเป็น 'นิเสธ' ของวลี 不宜上宜下 (bù yí shàng yí xià, ปู้ อี๋ ษั้ง อี๋ เซี่ย) ที่ King Wen ให้ในตอนต้นบท ... โดยเหตุผลที่มันไม่ปรากฏให้เห็นเป็นบันทึกก็เพราะว่า 'จิวกง' เลือกใช้วิธี 'ละทิ้ง' แทนความหมายว่า 'ไม่ปฏิบัติ' มันดื้อๆ เลย ... ซึ่งมันสะท้อนถึงความหมายที่ว่า ... 'เมื่อไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเอ่ยถึง ก็ไม่ต้องไปสนใจมันเลยก็ได้' ... ผมงี้ร้อง 'โฮะ!!' ... เพราะความแซ่บของ 'จิวกง' จริงๆ !?!?!!
過其祖遇其妣不及其君遇其臣無咎
guò qí zǔ yǜ qí bǐ bù jí qí jün yǜ qí chén wú jiù
祖 อ่านว่า zǔ (จู่) ปรกติจะใช้เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึง 'คนรุ่นก่อนพ่อ', ดังนั้นจึงมีความหมายว่า 'บรรพชน', หรือ 'คนรุ่นก่อน' ; และเมื่อใช้เป็นคำประกอบว่า 祖師 (zǔ shī, จู่ ซือ) ก็จะหมาย 'บูรพาจารย์', ซึ่งหมายถึง 'ผู้ก่อตั้ง' สำนักใดสำนักหนึ่ง ; แล้วก็เลยสามารถที่แปลว่า 'ตั้งต้น', 'เริ่มต้น' หรือ 'พื้นฐาน' และ 'รากเหง้า' ได้ด้วย ; หากใช้เป็นคำกริยา คำนี้จะหมายถึง 'ติดตาม' หรือ 'อุทิศตน' เพื่อ 'ฝึกฝนตามคำแนะนำ' หรือ 'สืบทอดคำสั่งสอน' หนึ่งๆ อย่างตั้งใจ
遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'พบปะ', 'โอกาส', 'ติดต่อ', 'เชื่อมโยง', 'ประสาน', หรือ 'ต้อนรับ' ; และอาจหมายถึง 'ความประจวบเหมาะ'
妣 อ่านว่า bǐ (ปี่) มีความหมายดั้งเดิมก็คือ 'มารดา' ; แต่ต่อมามักจะนิยมใช้ในความหมายของ 'มารดาผู้ล่วงลับ' หรือ 'บรรพชนหญิงผู้ล่วงลับ' เท่านั้น ; คู่คำของ 妣 (bǐ, ปี่) จริงๆ คืออักษร 考 (kǎo, เข่า) ที่แปลว่า 'บิดา' และนิยมใช้ในความหมายของ 'บิดาผู้ล่วงลับ' หรือ 'บรรพชนชายผู้ล่วงลับ' ... การที่ 'จิวกง' จับเอาอักษร 妣 (bǐ, ปี่) ที่จำแนกเป็น 'เพศหญิง' มาประกบคู่กับอักษร 祖 (zǔ, จู่) ที่ 'ไม่เจาะจงเพศ' นั้น น่าจะซ่อนความนัยบางอย่างไว้ด้วยรึเปล่า ?!!!?? ... ผมเพียงแต่อยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เฉยๆ เพราะแทบทุกตำราจะให้ความหมายของ 祖 (zǔ, จู่) ว่าเป็น 'เพศชาย' หรือ 'พลังแห่งหยาง' ไปซะทั้งหมด ซึ่งมันอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้นก็ได้ !?!
及 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'มาถึง', 'ตามทัน' ; จึงสามารถแปลว่า 'ครบกำหนด', หรือ 'ถึงกำหนด' ได้ด้วย ; และในบางกรณีก็เลยแผลงเป็น 'รอเวลา', 'รอให้ถึงกำหนด' ; กับสามารถแปลว่า 'เปรียบเทียบ' เพราะเกิด 'การบระจบกัน', หีือ 'การประกบกัน' ของบางสิ่งบางอย่างที่มีมากกว่าหนึ่ง ; พอเป็น 'การประกบกัน' มันก็เลยแผลงไปเป็น 'คอยท่า', 'คอยที' ; เพื่อที่จะ 'จัดเตรียมไว้รองรับ' ; ส่วนการใช้คำนี้ในโอกาสอื่นๆ ก็มักจะใช้เป็นคำเชื่อมระหว่างคำหรือระหว่างประโยคเป็นส่วนมาก
君 อ่านว่า jün (จฺวิน) จริงๆ แล้วคำนี้มีความหมายที่ครอบคลุมไปหลายระดับมาก โดยมันสามารถที่หมายถึง 'กษัตริย์', 'ผู็นำ', 'นักปราชญ์', 'บัณฑิต', อาจจะเป็นเพียง 'สุภาพชน', หรือ 'วิญญูชน' ที่ไม่ต้องถึงระดับ 'ขุนนางระดับสูง', หรือ 'ผู้ครองแคว้น' ก็ได้ ; ดังนั้น มันจึงมีลักษณะของ 'สรรพนาม' ที่ใช้เพื่อแสดงความเคารพ หรือเป็นการให้แกียรติแก่ผู้อื่นที่กำลังเอ่ยถึง
臣 อ่านว่า chén (เฌิ๋น) สามารถแปลว่า 'ทหาร', 'ขุนนาง' และอาจหมายถึง 'ข้าราชบริพาร (เพศชาย)' หรือ 'ข้าทาสบริวาร (เพศชาย)' ได้ด้วย ... บางครั้งจึงมีการใช้คำนี้เป็น 'สรรพนาม (เพศชาย)' แทนตัวของผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่าด้วย
ว่ากันตามแบบฉบับที่เขา 'ตีความ' กันนะครับ เขาเหมาๆ เอาว่า 祖 (zǔ, จู่) ในวรรคนี้หมายถึง 'เส้นหยาง' สองขีดที่อยู่ถัดขึ้นไป ส่วน 妣 (bǐ, ปี่) ที่เราเห็นก็หมายถึง 'เส้นหยิน' ตรงลำดับที่ห้า ซึ่งว่ากันตามทฤษฎีที่ผมใช้มาตั้งแต่ต้น วรรคที่สองกับวรรคที่ห้าเป็น 'คู่วลี' กันอยู่แล้ว โดยที่ 'จิวกง' ไม่จำเป็นต้องบ่งบอกอะไรไว้อีกเลยก็ได้ ดังนั้น หากจะมีความนัยตามที่เข้าใจแบบนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่า 'จิวกง' คงต้องการจะบอกให้ ... 'จงคร่อมหยางทั้งสอง (過其祖) ไปหาเส้นหยิน แล้วเอาเส้นหยินทั้งสองประกบกัน (遇其妣)' ... เพื่อ !?!?!! ... เพราะการ 'คร่อมหยางทั้งสอง' (過其祖) จากตำแหน่งของวรรคปัจจุบัน (คือเส้นที่สอง, สาม, และสี่) เราจะได้สััญลักษณ์ 巽 (☴) ... ในขณะที่ลำดับของเส้นที่สาม. สี่. และห้า ก็คือสัญลักษณ์ 兑 (☱) เมื่อเราเอา 'เส้นหยิน' ไปประกบกัน (遇其妣) เราก็จะได้สัญลักษณ์ ䷼ ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ประจำบทที่หกสิบเอ็ดในชื่อว่า 中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋) คือ 'มัตตัญญุตาธิษฐาน' หรือ 'เจตนาที่มั่นคงในทางสายกลาง' นั่นเอง !!!!??!?! ... 'การตีความโดยลำดับเส้น' ที่หลายตำราชอบอ้างถึงนั้นจึงทำให้วลีที่ว่า 過其祖遇其妣 (guò qí zǔ yǜ qí bǐ, กั้ว ชี๋ จู่ ยฺวี่ ชี๋ ปี่) ในวรรคนี้มีความหมายเท่ากับ 中孚 (zhōng fú, จง ฟู๋) ทันทีเลย !!?! ... 😂😂 ... เพียงแต่ว่า ... มันคิดเป็นแบบอื่นไม่ได้จริงๆ เหรอ ?!?!
ผมคิดอย่างนี้ครับ ในเมื่อ 'วัฏจักรสุดท้าย' นี้คือ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' โดยกระบวนการพัฒนาทั้งหมดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 'การก่อร่างสร้างตัว' ในบทที่สาม (䷂ : 屯 : zhūn, จุน) แล้วก็ค่อยๆ มีพัฒนาการที่สั่งสมมาเรื่อยๆ จนสามารถยืนอยู่ตรง 'จุดที่สูงสุดของการปกครอง' ซึ่งทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ได้ช่วยกันเตือนและช่วยกันปรามในเรื่องของ 'การใช้อำนาจ' ที่ไม่ควรใช้เพียง 'พระเดช' แต่ต้องรู้จัก 'ประสานทุกภาคส่วน' ให้ดำเนินไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' ด้วย 'พระคุณ' ควบคู่กันไป ... และสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างที่สุดก็คือ 'การลุแก่อำนาจ' ที่ 'ผู้นำ' หลายต่อหลายคนมักจะพลาดพลั้งจนย่อยยับไปในบั้นปลายเสมอ ... วลีเปิดประเด็นในบทนี้ของ King Wen จึงใช้วลีว่า 可小事不可大事 (kě xiǎo shì bù kě dà shì, เข่อ เสี่ยว ษื้อ ปู้ เข่อ ต้า ษื้อ) ที่แม้ว่าผมจะให้ความหมายเป็น ... 'บางครั้งก็ต้องอนุโลมให้กับประเด็นปลีกย่อยที่ไม่สลักสำคัญอะไร (可小事) แต่จะต้องเข้มงวดกวดขันกับประเด็นที่เป็นข้อใหญ่ใจความอันเป็นสาระสำคัญ (不可大事) ของเป้าประสงค์' ... แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ 'หากมัวแต่สนใจแต่เรื่องเล็กน้อย (可小事) เรื่องใหญ่ก็จะเสียการ (不可大事)' ... แต่ที่ผมเลือกใช้ความหมายแรกก็เพราะคำว่า 大吉 (dà jí, ต้า จี๋) ที่กำกับอยู่ท้ายวลีเท่านั้นเอง ...
ความจริงแล้ว การไม่ยอมลดราวาศอกกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั้น เป็นลักษณะหนึ่งของ 'การลุแก่อำนาจ' โดยใช้ 'อัตตา' มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เนื่องจากเกิด 'ความสำคัญตน' ว่า 'ยิ่งใหญ่' จนไม่อาจปล่อยวางประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้ผ่านเลยไป เพราะมักจะมีความรู้สึกราวกับ 'ถูกหยามศักดิ์ศรี' จากสิ่งอันไม่ใช่สาระเหล่านั้น ... กับอีกลักษณะหนึ่งก็คือ การ 'เชื่อว่า' ตนคือ 'ศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง' จนไม่อาจละ 'ความสนใจในทุกรายละเอียด' คือ 'เสือกทุกเรื่อง' ... ว่างั้น ... โดยนำเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องราวไม่ว่าจะสำคัญมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ... นี่ก็คืออาการ 'สำคัญตน' อีกลักษณะหนึ่งที่จะทำให้ทุกอย่างเสียรูปเสียทรงจนเสียหายได้ ... ด้วยเหตุนี้ อักษร 祖 (zǔ, จู่) จึงอาจจะไม่ได้หมายถึง 'เส้นหยาง' ตามที่จินตนาการกัน แต่มันควรจะหมายถึง 'ความเป็นจุดเริ่ม', 'ความเป็นต้นตอ' หรือ 'ความเป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพสักการะทั้งปวง' นั่นเอง ... ในขณะที่อักษร 妣 (bǐ, ปี่) ก็ไม่น่าจะหมายถึง 'เส้นหยิน' แต่มันควรจะหมายถึง 'ผู้ที่อยู่เคียงข้าง', 'ผู้ให้การสนับสนุน', 'ผู้มีอุปการคุณ' โดยในแง่ของการปกครอง เราอาจจะหมายถึง 'ผู้ร่วมอุดมการ' ก็น่าจะพอได้เหมือนกัน ... ซึ่ง 'จิวกง' นั้นก็รอบคอบพอที่จะเปรียบเปรย 祖 (zǔ, จู่) กับ 君 (jün, จฺวิน) และ 妣 (bǐ, ปี่) กับ 臣 (chén, เฌิ๋น) ไว้ในวรรคเดียวกันนี้ ...
ความหมายจริงๆๆ ของวรรคนี้โดยไม่ต้องถอดรหัสลำดับเส้นเลยก็คือ ... 'จงหลีกเลี่ยง (過) การสำคัญตนว่าเป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพสักการะทั้งปวง (其祖) แต่จงสมัครสมาน (遇) ทุกๆ ฝ่ายที่พร้อมจะร่วมแรงร่วมใจอย่างมุ่งมั่น (其妣) ; จงอย่ายกตนเสมอ (不及) ด้วยยอดคนผู้แก่งกาจ (其君) แต่จงใกล้ชิดและให้เกียรติ (遇) แก่ทุกผู้คนที่พร้อมจะร่วมงาน (其臣) เยี่ยงนี้จึงจะไม่พลาดพลั้งเสียที (無咎)' ... อย่างนับขีดเลยครับ ... เชื่อผม !! ... 😇
弗過防之從或戕之凶
fú guò fáng zhī cóng huò qiāng zhī xiōng
弗 อ่านว่า fú (ฟู๋) เป็นภาพอักษรที่หมายถึง 'การนำเชือกมามัดวัตถุหลายๆ ชิ้นที่กระจัดกระจายให้อยู่ติดกัน' จึงมีความเดิมว่า 'ดัดให้ตรง', หรือ 'ทำให้ถูกต้อง', ซึ่งก็อาจจะทำให้แผลงเป็น 'ไม่ยอม', 'ไม่เชื่อฟัง', หรือ 'ไม่ยินยอมพร้อมใจ' เพราะจะต้องถูก 'จับมัด', หรือ 'ถูกดัดให้ตรง' ; บางครั้งเมื่อใช้เป็นคำที่บ่งบอกอาการจะมีความหมายเดียวกับ 沸 (fèi, เฟ่ย) ที่หมายถึง 'การพวยพุ่งของน้ำ', 'น้ำพุ' หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะ 'การเดือดของน้ำ' หรือ 'แรงดัน' ; และยังมีความหมายว่า 'หนักใจ' เช่นเดียวกับ 怫 (fú, ฟู๋) ซึ่งเป็นอาการที่ 'ไม่สามารถตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง', หรือ 'ลังเลใจ', 'ไม่มั่นใจ' ... จนในที่สุดก็เลยมีความเชิงปฏิเสธว่า 'ไม่', 'ไม่เอา', 'ไม่ยอม' เช่นเดียวกับตัว 不 (bù, ปู้) ไปเลย
防 อ่านว่า fáng (ฟั๋ง) แปลว่า 'เขื่อน', 'ป้อมปราการ', หรือ 'ขอบเขต', มันจึงมีความหมายว่า 'สกัดกั้น', 'ขัดขวาง', หรือ 'ป้องกัน' ได้ด้วย
從 อ่านว่า cóng (ช๋ง) แปลว่า 'นับจาก', 'จาก', 'โดย', 'นับตั้งแต่', 'เมื่อ', 'ตั้งแต่' ; 'นำมาใช้ประโยชน์', 'นำมาประยุกต์', 'นำมาเป็นกรรมสิทธิ์'
或 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'อาจจะ', 'หรือ', 'ก็ได้', ในลักษณะว่า 'เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้' จึงทำให้บางครั้งก็อาจจะกลายเป็น 'ไม่อย่างนั้น (ก็อย่างนี้)' ; แล้วก็เลยเหมือนกับ 'ไม่เด็ดขาด' หรือ 'ไม่ชัดเจน' ไป
戕 อ่านว่า qiāng (เชียง) แปลว่า 'ทำร้าย', 'ทำให้บาดเจ็บ', และอาจถึงขั้น 'ทำให้ตาย' ไปเลยด้วย
เมื่อ theme ของบทนี้คือ 'การเตือน' ในประเด็นของ 'ความลุแก่อำนาจ' มันจึงน่าจะเป็น 'การปราม' ในเรื่อง 'การใช้อำนาจ' ที่จะต้อง 'สำนึกในขอบเขต' เสมอ วลรนี้ของ 'จิวกง' จึงน่าจะหมายถึง ... 'ความแข็งขืนดึงดัน (弗) ที่ก้าวก่ายทุกหน้าที่ด้วยการละเลย (過) ต่อขอบเขตความรับผิดชอบ (防之) นั้น คือปฐมปัจจัย (從) ที่อาจก่อให้เกิด (或) ความบาดหมางที่คิดร้ายต่อกัน (戕之) จนนำไปสู่มหันตภัย (凶)' ... เมื่อความหมายในวรรคที่สองคือการเตือนเรื่องของ 'การสำคัญตน' ว่าเป็น 'ศูนย์กลาง' วรรคนี้จึงน่าจะเป็นสำทับลงไปว่า 'การหลงตน' ว่า 'เก่งกาจ' นั้น จะนำไปสู่ 'การก้าวกายการปฏิบัติงาน' ของ 'ผู้ที่รับผิดชอบ' ซึ่งจะก่อให้เกิด 'ความบาดหมางระหว่างกัน' จนเกิด 'การชิงดีชิงเด่น' ถึงขั้น 'คิดร้ายต่อกัน' ได้ ... จะว่าไป มันก็คือบรรยากาศที่บรรยายไว้ในวรรคที่หกของบทที่สองว่า ... 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' ... มาดูซิว่าวรรคที่สี่ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้โดยตรงจะว่ายังไงมั่ง ...
無咎弗過遇之往厲必戒勿用永貞
wú jiù fú guò yǜ zhī wǎng lì bì jiè wù yòng yǒng zhēn
往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้
厲 อ่านว่า lì (ลี่) ซึ่งเป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งได้ด้วย 😋
必 อ่านว่า bì (ปี้) แปลว่า 'อย่างแน่นอน', หรือ 'ต้อง' แบบคำว่า must ในภาษาอังกฤษเลย ; อักษรตัวนี้คล้ายกับมีอักษร 心 (xīn, ซิน) ที่หมายถึง 'หัวใจ' เป็นองค์ประกอบหลัก แต่จริงๆ แล้วมันมีที่มาจากการผสม 'ภาพอักษร' 八 (bā, ปา) ในความหมายของ 'การแบ่ง' หรือ 'ความแตกต่าง' กับ 'ภาพอักษร' 弋 (yì, อี้) ที่แปลว่า 'ลูกดอก', 'ลูกธนู' หรือ 'การคว้าจับ' ... ความหมายตาม 'ภาพอักษร' จึงหมายถึง 'การตัดสินใจเลือกระหว่างสองสิ่งที่แตกต่างกัน' หรือ 'การตัดสินใจ' จึงเป็นที่มาของความหมายว่า 'ต้อง' เพราะ 'ตัดสินใจไปแล้ว' นั่นเอง
戒 อ่านว่า jiè (เจี้ย) แปลว่า 'เตรียมพร้อม', 'ระแวดระวัง', 'รอบคอบ' ; 'เตือนภัย', 'ยับยั้ง' ; แต่ในความหมายว่า 'เตรียมพร้อม' นั้นกลับสามารถแปลว่า 'ทันทีทันใด', 'กระฉับกระเฉง', 'รวดเร็ว' และ 'ว่องไว' ได้เหมือนกัน
เท่าที่ผ่านมาทั้งหมด เราจะไม่เห็นการใช้วลี 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ขึ้นต้นวรรคเลย เว้นแต่วรรคที่หนึ่งของบทที่สี่สิบ ซึ่งมีแค่วลีด้วนๆ 2 พยางค์นี้เท่านั้นเอง ความหมายของ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) จึงไม่ได้รับ 'การตีความ' ให้เป็นลักษณะของ 'ไม่มีข้อครหา', 'ไม่มีอะไรผิดพลาด' ตามปรกติ แต่ผมให้ความหมายเป็น 'ไม่พึงกล่าวคำตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใด' แทน เพราะทันทีที่เราเกิดความรู้สึกต้องการตำหนิสิ่งใด หรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหนึ่งบุคคลใด เมื่อนั้นย่อมหมายถึงเราใช้ 'บรรทัดฐานของตัวเราเอง' เป็นเกณฑ์ในการตัดสินสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ซึ่งไม่ต่างไปจากการปิดกั้นความรับรู้ของตัวเราสำหรับการพิจารณารายละเอียดต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล (ยกท่อนนี้มาจากบทที่สี่สิบทั้งท่อนเลย)
ผมอยากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ว่า ... 'ไม่พึงกล่าวคำตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดโดยไม่ยั้งคิด (無咎) การแสดงความไม่ยอมรับ (弗) ที่ละเลยต่อ (過) ระดับของความสัมพันธ์ (遇之) นั้น ผลสะท้อน (往) มักจะล่อแหลมอันตราย (厲) ซึ่งต้อง (必) ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง (戒) มิใช่ (勿) อาศัย (用) เพียงหลักการอันเป็นบรรทัดฐานอย่างตายตัว (永貞)' ... กล่าวคือ แม้ 'ความตรงไปตรงมา' ด้วย 'กฎกติกา' และ 'หลักปฏิบัติ' อัน 'ถูกต้อง-เที่ยงธรรม' นั้นจะเป็นเรื่องที่ 'พึงปฏิบัติ' แต่ก็ต้อง 'ดำเนินการ' อย่าง 'เหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' ตลอดจน 'ระดับของความสัมพันธ์' ที่มี 'ความอ่อนไหว' แตกต่างกันไปใน 'แต่ละสถานการณ์' ด้วย ... ประมาณนี้
ในฐานะของ 'ผู้ครองอำนาจ' ซึ่งเป็น 'จุดสูงสุด' หรือ 'จุดศูนย์กลาง' ของ 'การปกครอง' นั้น ไม่ใช่ว่าจะสามารถ 'ก้าวก่าย' หรือ 'แทรกแซงกิจการงาน' ของทุกผู้คนได้ 'ตามอำเภอใจ' ไม่ว่าจะด้วย 'วาจา' หรือ 'การกระทำ' แต่จะต้องระลึกไว้เสมอว่า 'ผู้ปฏิบัติงาน' ทุกตำแหน่งหน้าที่ ต่างก็มี 'ข้อจำกัด' และ 'ขอบเขตความรับผิดชอบ' ที่ไม่เท่ากันโดย 'โครงสร้าง' ของ 'การบริหารจัดการ' และ 'การตรวจสอบ' การใช้ 'มุมมอง' หรือ 'ทัศนคติ' ของ 'ผู้ครองอำนาจสูงสุด' ซึ่งแทบไม่มี 'ข้อจำกัด' ใดๆ ในเชิง 'โครงสร้าง' มาเป็นเกณฑ์ใน 'การตำหนิ' หรือ 'วิพากษ์วิจารณ์' ใดๆ ย่อมไม่มี 'ความเหมาะสม' ด้วย 'เหตุปัจจัย' ที่แวดล้อม และยิ่งไม่สมควรที่จะ 'ล้วงลูก' ลงไป 'ก้าวก่าย' จนทำให้ 'โครงสร้าง' ที่มีอยู่นั้น 'สับสนวุ่นวาย' โดย 'ไม่จำเป็น' อันจะเป็น 'ต้นตอ' ของ 'การเมืองในองค์กร' ที่ต่างฝ่ายต่างคิดแต่จะ 'ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' จนก่อความพินาศย่อยยับแก่ 'กิจการงาน' อันจำเป็นต่อ 'ส่วนรวม' ในที่สุด
密雲不雨自我西郊公弋取彼在穴
mì yǘn bù yǚ zì wǒ xī jiāo gōng yì qǚ bǐ zài xüé
ผมจะบอกว่า ช่วงต้นของวรรคนี้ยกมาจากวลีที่ King Wen ใช้ขยายความให้กับ 小畜 (䷈ : xiǎo xǜ, เสี่ยว ซฺวี่) ที่ผมให้ความหมายไว้ในบทที่เก้าว่า 'การสั่งสม' โดยวลีที่ว่า 亨密雲不雨自我西郊 (mì yǘn bù yǚ zì wǒ xī jiāo, มี่ ยฺวิ๋น ปู่ หยฺวี่ จื้อ หฺว่อ ซี เจียว) นั้นได้รับการขยายความให้เป็น ... 'การดำเนินงานให้ลุล่วง (亨) อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประหนึ่งการก่อตัวของหมู่่เมฆ (密雲) ที่จะไม่ด่วนโปรยปรายเป็นเพียงละออง (不雨) อย่างไร้ความหมาย แต่จะต้องรู้จักถนอมรักษาตัว (自我西郊) จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแก่การเป็นสายฝน จึงจะสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง' ... แต่วลีปิดท้ายในวรรคนี้ จะไปกันได้กับความหมายดังกล่าวหรือไม่เราก็ต้องมาดูกัน
公 (gōng, กง) แปลว่า 'เป็นสาธารณะ', 'ไม่เป็นส่วนตัว', 'เป็นกลาง' หรือ 'ไม่เอนเอียง' (ไปตามความสัมพันธ์ หรือผลประโยชน์ส่วนตัว) … โดย 'ภาพอักษร' 公 นั้นจะมีด้านบนเป็นขีด 2 ขีดแยกออกไปคนละทาง (八) ส่วนด้านล่างเป็นตัวอักษรโบราณ (ㄙ) ของ 私 (sī, ซือ) ที่หมายถึง 'ตัวเอง', 'ส่วนตัว', 'เอกชน', 'ปัจเจกบุคคล' … ความหมายของ 公 จึงหมายถึง 'การอยู่ตรงกลาง' โดย 'ไม่เอนเอียง' ไปข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจจะหมายถึง 'การอยู่ท่ามกลางของทุกๆ ฝ่าย' ซึ่งก็คือ 'เป็นสาธารณะ' แล้วแผลงไปเป็น 'สถานที่ราชการ' ได้อีกความหมายหนึ่ง ; อย่างไรก็ตาม หลายๆ ตำราเลือกให้ความหมายสำหรับ 公 (gōng, กง) ในวรรคนี้ว่า 'ผู้นำ', หรือ 'ผู้ครองอำนาจ' เพื่อให้เข้าชุดกับคำว่า 君 (jün, จฺวิน) ในวรรคที่สองที่ตำราส่วนใหญ่ก็มักจะ 'ตีความ' ให้มีความหมายเหมือนกัน
弋 อ่านว่า yì (อี้) มีความหมายตาม 'ภาพอักษร' คือ 'เสา' หรือ 'โครงสร้างเพื่อการค้ำยัน' ซึ่งในระยะหลังจะใช้อักษร 杙 (yì, อี้) แทนไปแล้ว ; ส่วนเจ้าอักษร 弋 (yì, อี้) ที่เห็นนี้ก็จะแผลงความหมายไปเป็น 'ลูกธนู' หรือ 'ลูกดอก' ที่ปลายด้านหนึ่งมีเชือกผูกโยงไว้ ใช้เพื่อ 'การล่านก' และทำให้มันสามารถแปลว่า 'นก' ได้ด้วยเหมือนกัน ; เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงแปลว่า 'ยิงนกด้วยธนูหรือลูกดอก' กับสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 取 (qǚ, ฉฺวี่) ในความหมายว่า 'หยิบ' หรือ 'ฉวย' อามา
取 อ่านว่า qǚ (ฉฺวี่) แปลว่า 'หยิบ', 'คว้า', 'ฉวย', 'คัดเลือก' ; 'นำมา', 'รับเอามา', 'ได้รับมา' ; แต่ในทางกลับกัน ก็จะสามารถหมายถึง 'เสียไป' หรือ 'สูญเสียไป' เพราะถูกคนอื่น 'เอาไป' แล้วก็เลยต้อง 'ยื้อแย่ง' เพื่อจะ 'เอากลับมา' อีก :D มันเลยมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เป้าหมาย' หรือ 'สิ่งที่หมายปอง' ได้ด้วย ; บางทีก็แปลว่า 'เร่งเร้า', หรือ 'เรียกร้อง' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 娶 (qǚ, ฉฺวี่) ที่แปลว่า 'การแต่งงาน' ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ 'การแต่งเมีย' (取女 หรือ 娶妻) นั่นเอง
彼 อ่านว่า bǐ (ปี่) หมายถึง 'นั้น', 'โน้น' โดยอาจจะหมายถึง 'คนนั้น' , 'สิ่งนั้น', หรือ 'สถานที่นั้น' ที่กำลังเอ่ยถึง ในลักษณะเดียวกับที่ that, there, หรือ those ถูกใช้ในภาษาอังกฤษ ; ในขณะที่บางกรณีก็จะหมายถึง 'สิ่งอื่นๆ' ในลักษณะของ the other, หรืแ the another ได้เหมือนกัน
穴 อ่านว่า xué (เซฺวี๋ย) แปลว่า 'ถ้ำ', 'รู', 'หลุม', 'ที่หลบซ่อน', 'ที่พักพิง', 'ช่อง', 'ช่องทาง', หรือ 'ทางน้ำ' ; เมื่อใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'อาศัยในถ้า' ซึ่งอาจจะเป็น 'การอาศัย' หรือ 'การหลบซ่อน' ก็ได้ ; ส่วนอีกความหมายหนึ่งก็คือ 'การขุด' หรือ 'การสร้างโพรง', 'การสร้างหลุม'
เมื่อพิจารณาจาก 'บริบทของเนื้อความ' ในบทนี้ โดยเฉพาะวลีสำคัญในวรรคที่สองซึ่งเป็น 'คู่วลี' โดยตรงของวรรคนี้ที่แนะนำให้ 'จงสมัครสมานทุกๆ ฝ่ายที่พร้อมจะร่วมแรงร่วมใจอย่างมุ่งมั่น' (遇其妣) กับ 'จงใกล้ชิดและให้เกียรติแก่ทุกผู้คนที่พร้อมจะร่วมงาน' (遇其臣) ... ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'ธรรมชาติของหมู่เมฆที่ก่อตัวจากละอองน้ำ (密雲) ย่อมไม่ด่วนโปรยปรายเป็นสะเก็ดฝนอย่างเรี่ยราด (不雨) ธรรมดา (自) ของนักปราชญ์ (我) ย่อมพักพิงร่วมกันเป็นหลักแหล่ง (西郊) อันผู้ครองอำนาจ (公) แม้นปรารถนา (弋) ที่จะได้ (取) ผู้มากสติปัญญาเหล่านั้น (彼) ไว้ร่วมงาน จักต้องรู้จักเสาะแสวงหา และสานสร้างสัมพันธภาพที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน (在穴)' ... ไม่ใช่ว่าแค่สำคัญตนว่าเป็น 'ศูนย์กลางแห่งอำนาจ' (祖) แล้วบรรดา 'ผู้มากด้วยปัญญา' (我) จากทั่วสารทิศก็จะเข้ามาตามติดรุมล้อมคอยให้เรียกใช้งานได้ง่ายๆ แต่ 'ผู้นำ' ที่มีความ 'จริงใจ' ต่อ 'ภาระหน้าที่' อันพึงกระทำเพื่อ 'ส่วนรวม' (公) จะต้องแสดง 'เจตจำนง' (弋) ของตนด้วยการออกไป 'สืบเสาะค้นหา' (穴) เพื่อ 'เชื้อเชิญ' (取) จึงจะได้ 'บุคคลเหล่านั้น' (彼) มาร่วมงาน ... เยี่ยงนี้จึงนับได้ว่า 'หลีกเลี่ยงการสำคัญตนว่าเป็นศูนย์กลาง' (過其祖) และ 'ไม่ยกตนเสมอด้วยยอดคนผู้เก่งกาจ' (不及其君)
弗遇過之飛鳥離之凶是謂災眚
fú yǜ guò zhī fēi diǎo lí zhī xiōng shì wèi zāi shěng
離 อ่านว่า lí (ลี๋) แปลว่า 'จากไป', 'ห่างไกล', 'แยกออกจากัน', 'เป็นอิสระจากกัน' ; 'หักออก', 'ลดน้อยลง' ; แต่ในความหมายของ 'แยกออกมา' ก็เลยแผลงเป็น 'โดดเด่น' หรือ 'สวยงาม' ได้อีกด้วย ; ในสมัยหนึ่งยังใช้ในความหมายเดียวกับ 罹 (lí, ลี๋) ที่หมายถึง 'โศกเศร้า', 'รันทด', 'กล้ำกลืน'
是 อ่านว่า shì (ษื้อ) โดยปรกติจะแปลว่า 'เป็นเช่นนั้น', หรือ 'ถูกต้องแล้ว', 'ใช่แล้ว' และที่เห็นกันบ่อยมากๆ ก็จะใช้ในหน้าที่คล้าย verb to be ของภาษาอังกฤษ
謂 อ่านว่า wèi (เว่ย) แปลว่า 'บอกกล่าว', 'แจ้งให้ทราบ', 'เรียกขาน' บางทีก็แปลว่า 'คิด', 'คาดหวัง' ; เมื่อใช้เป็นคำนามจะหมายถึง 'ความหมาย', 'คำอธิบาย', หรือ 'สาเหตุ'
災 อ่านว่า zāi (ไจ) แปลว่า 'เภทภัย', 'ภัยพิบัติ' ซึ่งในกรณีของ 'ไฟ' หรือที่คล้ายคลึงกับ 'ไฟ' ก็จะหมายถึง 'เผาผลาญ', 'วอดวาย' ; แต่ถ้าในลักษณะที่คล้ายน้ำก็น่าจะหมายถึง 'ล่มจม', 'ล่มสลาย'
眚 อ่านว่า shěng (เษิ่ง) ปรกติหมายถึง 'โรคทางตา' ประเภท 'ต้อ' ซึ่งทำให้ 'เห็นไม่ชัดเจน' ; แล้วจึงแผลงเป็น 'ยากลำบาก', 'ผิดพลาด' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 省 (shěng, เษิ่ง) ที่แปลว่า 'ลดน้อยลง', 'ทำให้เล็กลง', 'แหว่งเว้า'
วลีที่น่าสนใจในวรรคนี้ก็คือ 弗遇過之 (fú yǜ guò zhī, ฟู๋ ยฺวี่ กั้ว จือ) ซึ่งเป็นการสลับตำแหน่งอักษรกับวลี 弗過遇之 (fú guò yǜ zhī, ฟู๋ กั้ว ยฺวี่ จือ) ที่เราเพิ่งผ่านมาในวรรคที่สี่ ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การแสดงความไม่ยอมรับที่ละเลยต่อระดับความสัมพันธ์' ... เนื่องจาก 弗 (fú, ฟู๋) มีความหมายใน 'เชิงลบ' คือ 'ปฏิเสธ', 'ไม่ยอมรับ', จนเกิดกรณีของ 'การดัด' หรือ 'บับบังคับ' อยู่ในที จึงมีส่วนที่แฝงความหมายว่า 'อึดอัด', หรือ 'ไม่ยินยอมพร้อมใจ' ไว้ด้วยพอสมควร ... คำว่า 弗遇 (fú yǜ, ฟู๋ ยฺวี่) จึงอาจจะหมายถึง 'ความสัมพันธ์ที่เสแสร้ง', 'ความสัมพันธ์ที่มีวาระซ่อนเร้น', หรือ 'ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกัน' ก็เป็นไปได้ ... ในขณะที่ 'จิวกง' ถ่ายทอดความหมายของ 飛鳥 (fēi diǎo, เฟย เตี่ยว) อันหมายถึง 'ประเด็นอันเลื่อนลอยที่นำมาสาปแช่งให้ร้ายกันไปมา' ของ King Wen มาขยายความในวรรคที่หนึ่งว่า 'ความคิดที่เลื่อนลอยไปตามกระแสของคำสาปแช่งให้ร้าย (飛鳥) จะนำไปสู่ความวิบัติล่มจม (以凶)' ... ผมเชื่อว่า 'จิวกง' น่าจะหมายถึง 'อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์' แต่ไม่ใช่ 'ละเลย' โดย 'ไม่ต้องทบทวนตรวจตรา' ไปซะทั้งหมด เนื่องจากว่า ... 'ความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกัน (弗遇) ที่ถูกมองข้ามไป (過之) อีกทั้งประเด็นอันเลื่อนลอย (飛) ของคำสาปแช่งให้ร้าย (鳥) ที่แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างนั้น (離之) ยังคงเป็นสิ่งที่มีอันตรายร้ายแรง (凶) ด้วยเหตุที่มันเป็น (是) สัญญาณซึ่งบ่งบอก (謂) ถึงภัยคุกคาม (災) ที่ซุกซ่อนแอบแฝง (眚) อยู่ภายในโครงสร้างของระบบ' ... กล่าวคือ 'คำให้ร้ายป้ายสี' (鳥) อาจเป็นเพียง 'เรื่องที่กุขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย' (飛) แต่ 'ความขัดแย้งในตวามสัมพันธ์' (弗遇) คือ 'เรื่องจริง' ที่ 'ไม่อาจปฏิเสธ' ว่า เป็น 'ภัยร้ายที่ซุกซ่อนอยู่' (災眚) ซึ่งต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' (小心) ในการ 'ขจัดปัดเป่า' ให้ 'ผ่านพ้นไป' (過) ด้วยดีเท่านั้น !! ... และนี่ก็คือความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในชื่อของบทที่หกสิบสอง (小過 : xiǎo guò, เสี่ยว กั้ว : จาคะปฏิปทา) นี้ อัน ... เป็นบทสุดท้ายของคำสอนใน 'วัฏจักรที่ห้า' หรือ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ก่อนที่เนื้อหาทั้งหมดจะได้รับการสรุปในสองบทสุดท้าย ...
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'เสี่ยวกั้ว' คือ จาคะปฏิปทา, ฟ้าคำรามเหนือขุนเขา
หลักปฏิบัติแห่ง 'จาคะปฏิปทา' นั้นมีอยู่ว่า 'ระบบระเบียบ' (亨) และ 'หลักจริยธรรม' อัน 'เคร่งครัด' (利貞) นั้น บางครั้งก็ต้องรู้จัก 'อนุโลม' (可) ให้กับ 'ประเด็นปลีกย่อย' ที่ 'ไม่สลักสำคัญ' อะไร (小事) แต่จะต้อง 'เข้มงวดกวดขัน' (不可) กับ 'ประเด็นที่เป็นข้อใหญ่ใจความ' อันเป็น 'สาระสำคัญ' (大事) ของ 'เป้าประสงค์' ... 'ประเด็นอันเลื่อนลอย' (飛) ที่นำมา 'สาปแช่งให้ร้ายกัน' ไปมา (鳥) ด้วย 'ข้อมูลข่าวสาร' อัน 'บิดเบือน' (遺之音) นั้น จงอย่าได้ 'หยิบยกขึ้นมา' ราวกับเป็น 'เรื่องสลักสำคัญอันเร่งด่วน' (不宜上) แต่จง 'ด้อยค่า' ของมันให้ต่ำลงจน 'ไม่คู่ควรแก่การพิจารณา' ใดๆ (宜下) เยี่ยงนี้จึงจะ 'เป็นคุณ' ต่อ 'การใหญ่' (大吉) อันเป็น 'เป้าหมายสำคัญ'
-
- 'ความอ่อนไหว' ไป 'ตามกระแส' (飛) ของ 'คำสาปแช่งให้ร้าย' (鳥) ...[ ด้วยการ 'หยิบยกขึ้นมาเป็นอารมณ์' (宜上) อย่าง 'ไม่ยอมปล่อยวาง' (不宜下) ] ... ย่อมจะนำมาซึ่ง (以) 'ภยันตรายที่ร้ายแรง' ถึงขั้น 'พินาศย่อยยับ' (凶)
-
- 'จงหลีกเลี่ยง' (過) 'การสำคัญตน' ว่าเป็น 'ศูนย์กลางแห่งความเคารพสักการะ' ทั้งปวง (其祖) แต่ 'จงสมัครสมาน' (遇) 'ทุกๆ ฝ่าย' ที่ 'พร้อมจะร่วมแรงร่วมใจ' อย่าง 'มุ่งมั่น' (其妣) ; 'จงอย่ายกตน' เสมอ (不及) ด้วย 'ยอดคนผู้แก่งกาจ' (其君) แต่ 'จงใกล้ชิด' และ 'ให้เกียรติ' (遇) แก่ 'ทุกผู้คน' ที่ 'พร้อมจะร่วมงาน' (其臣) เยี่ยงนี้จึงจะ 'ไม่พลาดพลั้งเสียที' (無咎)
-
- 'ความแข็งขืนดึงดัน' (弗) ที่ 'ก้าวก่าย' ทุก 'หน้าที่' ด้วย 'การละเลย' (過) ต่อ 'ขอบเขตความรับผิดชอบ' (防之) นั้น คือ 'ปฐมปัจจัย' (從) ที่ 'อาจก่อให้เกิด' (或) 'ความบาดหมาง' ที่ 'คิดร้ายต่อกัน' (戕之) จนนำไปสู่ 'มหันตภัย' (凶)
-
- ไม่พึง 'กล่าวคำตำหนิ' หรือ 'วิพากษ์วิจารณ์' สิ่งใดโดย 'ไม่ยั้งคิด' (無咎) การแสดง 'ความไม่ยอมรับ' (弗) ที่ 'ละเลย' ต่อ (過) 'ระดับของความสัมพันธ์' (遇之) นั้น 'ผลสะท้อน' (往) มักจะ 'ล่อแหลมอันตราย' (厲) ซึ่งต้อง (必) ใช้ 'ความระมัดระวัง' เป็นอย่างยิ่ง (戒) มิใช่ (勿) อาศัย (用) เพียง 'หลักการ' อันเป็น 'บรรทัดฐาน' อย่าง 'ตายตัว' (永貞)
-
- 'ธรรมชาติ' ของ 'หมู่เมฆที่ก่อตัว' จาก 'ละอองน้ำ' (密雲) ย่อมไม่ด่วน 'โปรยปราย' เป็น 'สะเก็ดฝน' อย่าง 'เรี่ยราด' (不雨) 'ธรรมดา' (自) ของ 'นักปราชญ์' (我) ย่อม 'พักพิงร่วมกัน' เป็น 'หลักแหล่ง' (西郊) อัน 'ผู้ครองอำนาจ' (公) แม้น 'ปรารถนา' (弋) ที่จะได้ (取) 'ผู้มากสติปัญญา' เหล่านั้น (彼) ไ้ร่วมงาน จักต้องรู้จัก 'เสาะแสวงหา' และสานสร้าง 'สัมพันธภาพ' ที่เอื้อต่อ 'การอยู่ร่วมกัน' (在穴)
-
- 'ความสัมพันธ์' อัน 'ไม่ลงรอยกัน' (弗遇) ที่ถูก 'มองข้ามไป' (過之) อีกทั้ง 'ประเด็นอันเลื่อนลอย' (飛) ของ 'คำสาปแช่งให้ร้าย' (鳥) ที่ 'แพร่กระจายออกไป' เป็นวงกว้างนั้น (離之) ยังคงเป็นสิ่งที่มี 'อันตรายร้ายแรง' (凶) ด้วยเหตุที่มันเป็น (是) 'สัญญาณ' ซึ่ง 'บ่งบอก' (謂) ถึง 'ภัยคุกคาม' (災) ที่ 'ซุกซ่อนแอบแฝง' (眚) อยู่ภายใน 'โครงสร้างของระบบ'
The Organization Code :
หากพิจารณา 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทที่หกสิบสองนี้ด้วย 'บริบททางธุรกิจ' ของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เราก็น่าจะเห็นภาพของ Data Driven Marketing ซึ่งหมายถึง 'การตลาด' (☳) ที่อาศัยศักยภาพของ 'ระบบฐานข้อมูล' (☶) เป็น 'กลไกในการขับเคลื่อน' อย่างชัดเจน ถือเป็นการใช้ 'บิ๊กดาต้า' เพื่อทำ 'การตลาด' อย่างมี 'เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง' มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับ 'ความต้องการ' ที่ 'หลากหลาย' ไปตาม 'สภาพแวดล้อมทางสังคม' ที่ 'แยกย่อย' ยิ่งกว่าในยุคสมัยก่อนๆ ... ความเป็นไปได้ที่ 'ธุรกิจยุคใหม่' จะสามารถ 'กินรวบ' เหมือนกับใน 'ยุคอุตสาหกรรม' จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะต้องใช้ทั้ง 'กำลังทุน' และ 'กำลังสติปัญญา' จำนวนมหาศาลสำหรับ 'การพัฒนาผลิตภัณฑ์' เพื่อ 'สนองความต้องการ' ที่ 'ฉาบฉวย' และเต็มไปด้วย 'ความไม่อยู่กับร่องกับรอย' ของ 'ผู้บริโภค' และ 'ความเปลี่ยนแปลง' ด้าน 'เทคโนโลยี' ที่ทวี 'ความซับซ้อน' มากยิ่งขึ้นตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ 'ระดับนโยบาย' จึงจำเป็นต้องมี 'ความหนักแน่น' ใน 'เป้าหมายที่ชัดเจน' ของ 'องค์กร' (⚏) โดยจะต้อง 'ไม่วอกแวกเอนเอียง' ไป 'ตามกระแส' จนไม่สามารถสร้าง 'ฐานตลาด' ที่ 'มั่นคง' ใน 'ความรับรู้' ของ 'ผู้บริโภค' ; ส่วน 'ระดับบริหาร' ก็จะต้องเน้น 'การพัฒนาแผนงาน' ใน 'เชิงรุก' โดย 'การทุ่มเทเอาใจใส่' ใน 'ทุกๆ รายละเอียด' มากยิ่งขึ้น เพื่อจะสร้าง 'ความเฉพาะเจาะจง' ให้มี 'ความโดดเด่น' ที่ 'แตกต่าง' จาก 'คู่แข่งทางการค้า' โดยจะต้อง 'ทบทวน' เพื่อ 'ปรับปรุง' และ 'พัฒนาอย่างต่อเนื่อง' ตลอดเวลา (⚌) ; ซึ่ง 'ระดับปฏิบัติการ' ก็จะต้อง 'สนองตอบ' อย่างมี 'วิจารณญาณ' (⚏) ด้วย 'การปรับประยุกต์' รูปแบบต่างๆ ของ 'การนำเสนอข้อเท็จจริง' ให้ 'เป็นที่เข้าใจ' ถึง 'คุณประโยชน์' ของ 'สินค้า' และ 'บริการ' ที่ 'ผู้บริโภค' หนึ่งๆ จะได้รับ อันเป็น 'ด่านหน้า' ของ 'การส่งผ่านข้อมูล' ไปสู่ 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับนโยบาย' เพื่อ 'การพัฒนาสินค้า' และ 'การปรับปรุงบริการ' ให้มี 'ประสิทธิภาพที่ดี' ยิ่งๆ ขึ้นไป
ในสภาวะที่มี 'การแข่งขัน' ในแทบจะ 'ทุกระดับของตลาด' นั้น 'การปฏิบัติงาน' บน 'พื้นฐานของข้อเท็จจริง' ถือเป็น 'หัวใจสำคัญ' ที่จะต้อง 'เอาใจใส่' ให้มาก 'การคัดกรองข้อมูล' เพื่อ 'พิจารณา' เฉพาะที่ 'เป็นประโยชน์' ต่อ 'เป้าหมาย' และ 'การพัฒนาองค์กร' นั้น ถือเป็น 'ภารกิจ' ที่ต้อง 'ทุ่มเทความพยายาม' อย่าง 'จริงจัง' โดย 'ไม่ปิดกั้นแนวคิด' ใหม่ๆ ที่ 'สามารถเป็นประโยชน์' ต่อ 'การปรับปรุง' และ 'การพัฒนา' อยู่เสมอ ... ทั้งนี้ บรรดา 'ข่าวลวง', 'ข่าวลือ' และ 'ข่าวโคมลอย' ทั้งหลายที่เต็มไปด้วย 'สิ่งบิดเบือน' ไม่ว่าใน 'ทางร้าย' หรือ 'ทางดี' นั้น จะต้อง'มีการตรวจสอบ' ให้ 'ชัดเจน' โดย 'ไม่หยิบยกขึ้นมา' เป็น 'ประเด็น' ที่ทำให้เกิด 'ความไขว้เขว' ใน 'กระบวนการปฏิบัติงาน' และ 'ปล่อยผ่าน' สิ่งที่ 'ไม่มีความจำเป็น' ต่อ 'แผนการพัฒนา' ในระยะยาวออกไป ... นี้ก็คือ 'หลักปฏิบัติ' แห่ง 'จาคะ'
-
- 'ความอ่อนไหว' ต่อ 'กระแสวิพากษ์วิจารณ์' ใดๆ อัน 'ไม่ก่อประโยชน์' แก่ 'ภาพรวม' ของ 'องค์กร' เลยนั้น คือเหตุแห่ง 'ความไขว้เขว' ต่อ 'ทิศทาง' ใน 'การปฏิบัติงาน' ตาม 'แผนงาน' ที่ 'กำหนดไว้' แล้ว และจะนำไปสู่ 'ความไม่มีเอกภาพ' ของ 'เป้าหมาย' จนส่ง 'ผลเสียหายร้ายแรง' ต่อ 'องค์กร' ได้
-
- พึง 'ระลึกไว้เสมอ' ว่า ไม่มี 'ผู้หนึ่งผู้ใด' ที่จะสามารถ 'สนองตอบ' ต่อ 'ทุกความต้องการ' ได้ 'อย่างทั่วถึง' ไม่มี 'หน่วยงานใดเพียงหนึ่งเดียว' ที่จะสามารถ 'ปฏิบัติทุกภารกิจ' ได้อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' ... 'การประสานความร่วมมือ' กับ 'บุคคลอื่นๆ' และ 'หน่วยงาน' ที่มี 'ทรัพยากร' ตลอดจน 'ความรู้ความชำนาญ' อันจะ 'ส่งเสริมภารกิจ' หนึ่งๆ ให้ 'ลุล่วงด้วยดี' เท่านั้น จึงจะเพิ่ม 'โอกาส' ให้แก่ 'ผลสำเร็จ' ของ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้
-
- 'ความดันทุรัง' ที่จะ 'ปฏิบัติทุกหน้าที่' โดย 'ลำพัง' จน 'ละเลย' ต่อ 'ขอบเขตความรับผิดชอบ' ของ 'ผู้ร่วมงาน' หรือของ 'หน่วยงาน' ที่มี 'หน้าที่โดยตรง' นั้น คือ 'บ่อเกิด' แห่ง 'ความขัดแย้ง' ที่จะ 'บานปลาย' เป็น 'การเมืองในองค์กร' ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเพียง 'การชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน' และไม่อาจ 'ประสานความร่วมมือ' ใดๆ จนนำไปสู่ 'ความล่มสลาย' ของ 'ทั้งองค์กร' ในที่สุด
-
- 'การวิพากษ์วิจารณ์' หรือ 'การแสดงความไม่ยอมรับ' ใดๆ 'อย่างเปิดเผย' แม้จะเป็น 'ความจริง' ก็ยังต้อง 'ปฏิบัติให้เหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' โดยจะต้อง 'คำนึง' ถึง 'ความละเอียดอ่อน' ของ 'มิติความสัมพันธ์' ที่ 'หลากหลาย' มิใช่ว่าจะ 'ยึดถือ' เพียง 'หลักการ' อันเป็น 'บรรทัดฐาน' ที่ 'ตายตัว' แล้วก็ 'ดำเนินการ' ใดๆ 'อย่างแข็งขืน' ที่อาจส่ง 'ผลสะท้อน' อัน 'ล่อแหลมอันตราย' ต่อ 'การประสานความร่วมมือ' ที่ทุกฝ่ายยังต้อง 'พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน' เสมอ
-
- 'หมู่เมฆ' ย่อมเกิดจาก 'การรวมตัวกัน' ของละอองน้ำโดย 'ไม่กระจัดกระจาย' บุคคลย่อม 'รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน' โดย 'พื้นเพ' ของ 'อุปนิสัย' และ 'ความคิด' การจะได้ 'ผู้มากด้วยความรู้' และ 'สติปัญญา' มา 'ร่วมงาน' จึงต้อง 'รู้จักเสาะแสวงหา' ให้ถูก 'กาละ' และ 'หลักแหล่ง' กับต้อง 'สร้างสภาพแวดล้อม' ที่เอื้อต่อ 'การอยู่ร่วมกัน' ของบุคคลเหล่านั้น เพื่อจะ 'หลอมรวมศักยภาพทั้งมวล' ให้สามารถ 'ก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง' แก่ 'ทั้งองค์กร'
-
- จง 'อย่าละเลย' ต่อ 'ประเด็นอันเลื่อนลอย' ของ 'การกล่าวร้ายระหว่างกัน' เพราะนั่นคือ 'สัญญาณ' ที่บ่งบอกถึง 'ความไม่ลงรอยกัน' ของ 'สัมพันธภาพ' ที่มีอยู่ อันเป็น 'ภัยคุกคาม' ที่ 'แอบแฝง' อยู่ใน 'โครงสร้างของระบบ' และอาจนำไปสู่ 'มหันตภัยร้ายแรง' ต่อ 'การดำรงอยู่' ของ 'องค์กร' ได้