Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第五十卦 : 鼎
鼎 : 火風鼎 ‧ 離上巽下
鼎 : 元吉‧亨‧
- 初六 : 鼎顛趾‧利出否‧得妾以其子‧無咎‧
- 九二 : 鼎有實‧我仇有疾‧不我能即‧吉‧
- 九三 : 鼎耳革‧其行塞‧雉膏不食‧方雨虧悔‧終吉‧
- 九四 : 鼎折足‧覆公餗‧其形渥‧凶‧
- 六五 : 鼎黃耳‧金鉉‧利貞‧
- 上九 : 鼎玉鉉‧大吉‧無不利‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และพฤติกรรม มีความมั่นคงเบิกบาน (⚎) ปัญญา สุกสว่าง (⚌)
ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้นโยบายการเงิน (☴) เสริมสร้างผลิตภัณฑ์ (☲)
ความหมายของสัญลักษณ์ : อำนาจอธิปไตย, ลมกระพือกองเพลิงลุกสุกสว่าง
ความหมายของชื่อเรียก : Sovereignty : อำนาจอธิปไตย
โดยปรกติแล้ว คำว่า 鼎 (dǐng, ติ่ง) จะหมายถึง 'ภาชนะหุงต้มชนิดมีขาตั้งและหูจับ' ซึ่งโดยทั่วไปของภาชนะประเภทนี้ในจีนยุคโบราณก็จะมีจำนวนขาตั้ง 3 ขา บ้าง 4 ขา บ้างแล้วแต่กรณี แต่ความหมายที่แผลงออกไปก็จะหมายถึง 'กษัตริย์', 'จ้าวแคว้น', 'ผู้นำรัฐบาล', หรือ 'ขุนนางชั้นผู้ใหญ่' ซึ่งน่าจะเป็นเพราะ 鼎 (dǐng, ติ่ง) เป็น 'ภาชนะ' ที่ใช้ในแวดวงของชนชั้นสูง หรือขุนน้ำขุนนางในพระราชวังเป็นหลัก ไม่ใช่ 'ภาชนะ' ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปนั่นเอง โดยเฉพาะในยุคของราชวงศ์เซี่ย, ราชวงศ์ซาง, และราชวงศ์โจว
มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ไว้ว่า ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย ได้ทำการหล่อภาชนะที่เรียกว่า 鼎 (dǐng, ติ่ง) ขึ้นมาไว้ 9 ใบ เพื่อแทนความหมายของ 9 นคร หรือ 9 แว่นแคว้น ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระองค์ ซึ่งต่อมา 鼎 (dǐng, ติ่ง) ทั้ง 9 ใบนั้น ได้กลายเป็น 'สัญลักษณ์แห่งอำนาจการปกครอง' โดยมีการโยกย้ายไปประดิษฐานไว้ในเมืองหลวงของแต่ละราชวงศ์ จนกระทั่งถึงปลายยุคราชวงศ์โจว จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะมักจะมีการหล่อภาชนะ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ขึ้นใหม่ในทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนรัชกาล ... นี่ก็เป็นอีกกระแสหนึ่งที่ทำให้ 鼎 (dǐng, ติ่ง) มีความเกี่ยวข้องถึงขนาดที่สามารถใช้แทนความหมายของ 'กษัตริย์' หรือ 'ผู้นำ' สำหรับแต่ละแว่นแคว้นได้นั่นเอง ... ดังนั้น ความหมายแฝงอื่นๆ ที่มาพร้อมกันกับ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ว่านี้ก็คือ 'แว่นแคว้น', 'เมือง', 'ความสำคัญ', และ 'ความยิ่งใหญ่' ... และเมื่อใช้เป็นคำกริยา 鼎 (dǐng, ติ่ง) ก็ยังสามารถหมายถึง 'เปลี่ยนแปลง' หรือ 'การปฏิรูป' ซึ่งแผลงมาจาก 'การเปลี่ยนรัชกาล' หรือ 'การเปลี่ยนราชวงศ์' และยังสามารถหมายถึง 'การสถาปนา' หรือ 'การก่อเกิดสิ่งใหม่' ได้อีกด้วย ... จึงเป็นเหตุให้บางตำราเลือกแปลความหมายของ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ไว้ว่า Establishing the New ด้วย ... แต่ผมกลับรู้สึกว่า มันไม่น่าจะมีความหมายตรงๆ ตัวอย่างนั้น ... :D
เรื่องก็มีอยู่ว่า บทที่ห้าสิบนี้ควรจะต้องสามารถสะท้อนความหมายของวรรคที่หกในบทที่สองออกมาได้ด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่า มันจะต้องมีทิศทางที่ใกล้เคียงกับบทที่สิบสี่, บทที่ยี่สิบหก, และบทที่สามสิบแปดไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากบทต่างๆ ที่เอ่ยถึงนั้น ล้วนมีความเกี่ยวพันกับวรรคที่หกของบทที่สองทั้งสิ้น ... โดยถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรคสำคัญดังกล่าวก็คือ ... 龍戰于野 ‧ 其血玄黃 (lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng, ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง) ที่ผมให้ความหมายไว้ว่า 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' ... ได้กลิ่นไอของการเข่นฆ่าเพื่อแย่งชิง 鼎 (dǐng, ติ่ง) กันเลยนะครับนั่น ... :D
มาดูบทที่สิบสี่กันมั่ง ... บทนั้นได้รับการเรียกขานว่า 大有 (dà yǒu, ต้าโหฺย่ว) ที่ผมเลือกใช้คำไทยเป็น 'ความยั่งยืน' (Sustainability) โดย King Wen บันทึกคำอธิบายไว้เพียง 元亨 (yuán hēng, เยฺวี๋ยน เฮิง) จนต้อง 'เดา' กันขี้แตกขี้แตนมาแล้ว ... 'ความยั่งยืน' คือ 'สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตระหนักอย่างชัดเจนเป็นอันดับแรก เพื่อจะสรรค์สร้างความเป็นระบบระเบียบ อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงในอนาคต'
สำหรับบทที่ยี่สิบหก ได้รับการขนานนามว่า 大畜 (dà xǜ, ต้า ซฺวี่) โดยมีคำแปลไทยว่า 'การสั่งสมความยิ่งใหญ่' (Great Accumuation) ซึ่งหมายถึง 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) ด้วยอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ (貞) โดยไม่ยื้อยุดสิ่งใดไว้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน (不家) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินผลประโยชน์ (食) หรือความรุ่งเรืองแห่งลาภยศ (吉) ... ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) เยี่ยงนี้ ย่อมจะสามารถฟันฝ่า (涉) อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง (大川) ออกไปได้'
แล้วก็มาถึงบทที่สามสิบแปด 睽 (kuí, คุ๋ย) ที่หมายถึง 'การสร้างความแตกต่าง' (Differentiating) ซึ่งมีคำขยายความไว้ว่า 'การดำเนินงานด้วยความถ่อมตน และให้ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญอย่างสุขุมรอบคอบ (小事) ย่อมนำพาให้ทุกฝ่ายล้วนประสบกับความสำเร็จ (吉)'
สังเกตนะครับว่า ไม่มีถ้อยคำใดในสามวัฏจักรแรกที่เอ่ยถึง 'ความยิ่งใหญ่' หรือ 'การสถาปนา' ใดๆ ให้เห็นเลย นอกจากจะเอ่ยถึง 'การสร้างสรรค์ หรือส่งเสริมความเป็นระบบระเบียบเพื่อความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวม', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน', และ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เต็มไปด้วยความละเอียดรอบคอบ' ... ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะยุติ 'ปัญหา' และ 'ความขัดแย้ง' ระหว่าง 'คนเก่ง' ที่จำเป็นต้อง 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' ในทุกๆ สังคม ... ซึ่ง ... บ่อยครั้งมากที่มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก 'ความรู้สึกแก่งแย่งแข่งดี' เพื่อจะหาข้อสรุปว่า ตัวเองนั้นว่า 'ดีกว่า' หรือ 'เหนือกว่า' คนอื่นๆ เท่านั้นเอง ... ถ้าอย่างนั้น ... 鼎 (dǐng, ติ่ง) ควรจะหมายถึงประเด็นไหนในฐานะที่เป็น 'วัฏจักรที่สี่' ของวลีเดียวกัน ?!
ลองมาดูบทเทียบเคียงที่ควรจะเป็น 'คู่วลี' ใน 'วัฏจักรที่สี่' นี้กันหน่อยครับ นั่นก็คือบทที่สี่สิบห้า 萃 (cuì, ฉุ้ย) หรือ 'การสร้างความเป็นเอกภาพ' (Integrating) ซึ่ง King Wen ได้บรรยายขยายความไว้ซะยาวเหยียดว่า คือ 'ความเข้าใจ (亨) ในบทบาทหน้าที่ของผู้นำที่ดี (王) ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตน (假) ให้เป็น (有) ศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา (廟) แก่มหาชน ต้องพร้อมที่จะยอมรับและให้การสนับสนุนแก่คนดีที่มีศักยภาพ (利見大人) ให้สามารถดำเนินกิจการงานต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบระเบียบ (亨) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (利) แห่งคุณธรรม (貞) ให้ปรากฏ ; ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์ (用) จากพลังอันยิ่งใหญ่ (大) แห่งศรัทธา (牲) ในการสานสร้างประโยชน์สุข (吉) ให้แก่ส่วนรวม เพื่อให้คุณงามความดีทั้งหลายที่ทุกฝ่ายได้ทุ่มเทลงไป (利) ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม (有) ในบั้นปลาย (攸往)' ... นี่ไปเรื่อง 'ศาสตร์แห่งผู้นำ' เลยนะครับ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความหมายหนึ่งของ 鼎 (dǐng, ติ่ง) เลยทีเดียว ... แต่ ... 鼎 (dǐng, ติ่ง) ควรจะหมายถึงประเด็นไหนในฐานะที่เป็น 'คู่วลีโดยตรง' กับบทดังกล่าว ?!
เมื่อเราพิจารณาจาก 'คำขยายความ' ของบทนี้ ซึ่ง King Wen บันทึกเอาไว้เพียงแค่ 3 ตัวอักษร ผมก็ยังรู้สึกว่า เราคงไม่สามารถคาดเดาความหมายใดๆ ให้กับคำว่า 鼎 (dǐng, ติ่ง) ได้อย่างเหมาะสมที่สุดอยู่ดี ... มันจึงเหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้นล่ะครับ นั่นก็คือ 'การถอดความ' ให้กับถ้อยคำทั้งหมดที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในบทนี้ แล้วค่อยนำมาประติดประต่อเพื่อสรุปให้เหลือเพียง 'อักษรเดียว' ของชื่อบทอีกครั้ง !!??!! ...
และเมื่อได้ทบทวนไปมาอยู่หลายตลบตามถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกขยายความเอาไว้แล้ว คำว่า 鼎 (dǐng, ติ่ง) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ที่ใช้อยู่นี้ จึงไม่น่าจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากจะต้องหมายถึง 'อำนาจอธิปไตย', หรือ 'อำนาจสูงสุดในการปกครอง' ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Sovereignty ... อันเป็นคำที่จะมีความสอดคล้องกับความหมายแวดล้อมอื่นๆ ที่ยกมากล่าวอ้างไว้ข้างต้นทั้งหมดนั่นพร้อมๆ กัน ... โดยเฉพาะบทที่สี่สิบห้า ซึ่งถือว่าเป็น 'บทคู่วลี' ประจำวัฏจักร ที่ได้ให้ข้อคิดแก่ 'ผู้นำ' ใน 'การสร้างความเป็นเอกภาพ' ท่ามกลางหมู่ชน ด้วยการหลอมรวม 'พลังแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา' ให้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวของ 'ผู้นำ' อย่างสมบูรณ์และมั่นคง อันเป็นที่มาของ 'อำนาจอธิปไตย' ที่ได้รับฉันทามติมาจากมหาชน เพื่อจะใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ถูกที่ควร ... ดังจะได้สาธยายกันต่อไป ...
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
yuán jí hēng
มีกันแค่ 3 ตัวอักษรนี่แหละครับ เพราะฉะนั้นขอหยิบมาเล่าความหมายกันซักอีกรอบดีกว่า ...
元 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)
吉 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน
亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'
ผมมีความรู้สึกว่า การจะอธิบายความหมายของ 'อำนาจอธิปไตย' หรือ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ให้ได้ใจความที่ครอบคลุมมากที่สุดนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก และน่าจะต้องนับเป็นความชาญฉลาดของ King Wen เลยทีเดียว ที่ตัดสินใจใช้ถ้อยคำให้น้อยๆ แต่สามารถแตกความหมายออกไปได้อย่างหลากหลายดังที่เห็นอยู่นี้ ... เพราะ King Wen กำลังพยายามจะบอกว่า ...
'อำนาจอธิปไตย' หรือ 'อำนาจสูงสุดในการปกครอง' นั้น จะต้องเป็น 'อำนาจที่มีความสร้างสรรค์ (元) เพื่อผดุงไว้ซึ่งคุณธรรมความดี (吉) อันจะนำพาให้สังคม และประเทศชาติไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (亨)' ... หรือ ...
'อำนาจอธิปไตย' หรือ 'อำนาจสูงสุดในการปกครอง' นั้น ย่อมหมายถึง 'การธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมความดีอันเป็นปฐมปัจจัยแห่งความเป็นผู้นำ (元吉) เพื่อจะนำพาความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ (亨) มาสู่สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน' ... หรือ ... เอาใหม่ ...
'อำนาจอธิปไตย' หรือ 'อำนาจสูงสุดในการปกครอง' นั้นคือ 'คุณธรรมความดีที่สร้างสรรค์ (元吉) อันจะอำนวยให้เกิดความมีระบบระเบียบ ที่เอื้อต่อพัฒนาการอย่างยั่งยืน (亨) ของสังคมและประเทศชาติ' ... เออ ... ชอบอันนี้แฮะ !!? ... 'อำนาจ' คือ 'คุณธรรม'
ผมมีประเด็นเล็กๆ ตรงนี้ที่อยากจะเอ่ยทิ้งท้ายเอาไว้ซักหน่อย ... คือว่า ... ลำพังเพียง 'คุณธรรม' กับ 'ความดี' นั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา อย่างที่หลายคนคิดฝันกันไว้หรอกครับ ... ซึ่งจริงๆ แล้ว ... แม้แต่ในสเกลเล็กๆ อย่างชุมชุน หรือสังคมที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร มันก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากใครคิดที่จะพัฒนาให้รุ่งเรืองขึ้นมา โดยอาศัยเพียง 'คุณธรรม' กับ 'ความดี' ล้วนๆ ... 'ความรู้', 'ความคิด', 'ความศรัทธา', 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท', ตลอดจนกระทั่ง 'อำนาจ' และ 'อิทธิพล' ฯลฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะต้องถูกนำมาหลอมรวมกับ 'คุณธรรม' และ 'ความดี' อย่าง 'สมดุล' เสมอ สังคมหนึ่งๆ จึงจะสามารถมี 'พัฒนาการอย่างราบรื่น' (亨) ต่อไปได้ ...
การที่ King Wen เลือกใช้คำว่า 元吉 (yuán jí, เยฺวี๋ยน จี๋) มากำกับความหมายให้กับ 鼎 (dǐng, ติ่ง) อันเป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของ 'ความบังเอิญ' หรือการเขียนอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าเพื่อให้ใช้เป็น 'ตำราหมอดู' อย่างที่ชาวโลกเชื่อกันมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี ... แต่นี่คือ 'ความตั้งใจ' ที่ King Wen ต้องการจะกำชับให้หนักแน่นด้วยถ้อยคำที่ห้วน, สั้น, แต่กินความหมายที่กว้างไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะ 'คุณธรรมความดี' ที่ไม่ก่อให้เกิด 'ความเปลี่ยนแปลง' ใดๆ เลยนั้น ย่อมไม่นับเป็น 'การพัฒนา' ... ส่วน 'การพัฒนา' ที่ปราศจาก 'ระบบระเบียบแบบแผน' และไม่อาจยึดถือเป็น 'แบบอย่าง' ใดๆ แก่ทุกผู้คน ย่อมขาด 'ความต่อเนื่อง' และไม่อาจที่จะดำเนินไปจน 'สำเร็จลุล่วงอย่างยั่งยืน' ...
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
鼎顛趾利出否得妾以其子無咎
dǐng diān zhǐ lì chū pǐ dé qiè yǐ qí zǐ wú jiù
顛 อ่านว่า diān (เตียน) แปลว่า 'สูงสุด', 'ยอดสุด', 'บนสุด', หรือ 'ให้ความเคารพสูงสุด' รวมทั้งยังแปลว่า 'จุดตั้งต้น' ก็ได้ ; แต่ก็สามารถแปลว่า 'กระโดดโลดเต้น', 'กลับหัวลง', 'หัวทิ่มหัวตำ', 'หัวหกก้นขวิด', หรือ 'พุ่งถลาไปข้างหน้า', และ 'วิ่งพรวดพราด' ด้วยเหมือนกัน ; สมัยก่อนยังเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 癲 (diān, เตียน) ที่แปลว่า 'เสียสติ' หรือ 'ว้าวุ่นใจ' ได้อีกต่างหาก
趾 อ่านว่า zhǐ (จื่อ) แปลว่า 'เท้า', 'หัวแม่เท้า', หรือว่า 'รอยเท้า' ซึ่งบางทีก็อาจจะหมายถึง 'ร่องรอย' ; และยังสามารถหมายถึง 'ฐานราก' ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย
出 อ่านว่า chū (ฌู) แปลว่า 'ออก', 'นำออกมา', 'ส่งออกไป', 'ยื่นให้', 'ลุกขึ้น', 'งอกออกมา', 'โผล่ออกมา', 'ปรากฏ'
否 อ่านว่า pǐ (ผี่) เป็นคำที่เคยถูกใช้เป็นชื่อบทในบทที่สิบสอง ความหมายโดยทั่วไปของคำนี้เมื่อออกเสียงว่า fǒu (โฝ่ว) คือ 'ไม่' เช่นเดียวกับ 不 (bù, ปู้) หรือ 'ไม่ใช่' เช่นเดียวกับ 非 (fēi, เฟย) ซึ่งมีลักษณะเป็น 'คำนิเสธ' แต่ความหมายที่ใช้ในบทที่สิบสองคือ 'การยืนหยัด' หรือ 'ความไม่ท้อแท้สิ้นหวัง' เพราะโดยบริบทแล้วน่าจะใช้ความหมายแบบนั้น ... ซึ่งตามความหมายปรกติของ 否 (pǐ, ผี่) ในฐานะของคำกริยาจะหมายถึง 'การขัดขวาง', 'การห้ามปราม', 'การระงับ', 'การยับยั้ง', 'การสกัดกั้น', หรือ 'การทำให้สูญสลายไป' ... แต่ถ้าใช้เป็นคำวิเศษณ์ 否 (pǐ, ผี่) สามารถที่จะหมายถึง 'ชั่วร้าย', หรือ 'ตื้นเขิน' ได้ด้วย
สำหรับอักษร 得 (dé, เต๋อ) ไม่ใช่เพียงแต่แปลว่า 'ได้รับ' หรือ 'ได้มา' เท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะหมายถึง 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', หรือ 'เห็นด้วย' ก็ได้
妾 อ่านว่า qiè (เชี่ย) สามารถแปลว่า 'ข้าราชบริพาร (เพศหญิง)' หรือ 'ข้าทาสบริวาร (เพศหญิง)' ... บางครั้งยังหมายถึง 'หญิงที่ถูกลงทัณฑ์' หรือ 'ภรรยาน้อย', 'ภรรยารอง' ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำกว่าภรรยาหลวงนั่นเอง ; แต่ความหมายตามภาพอักษรเดิมนั้นจะมาจาก 辛 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'ลำบาก', 'ตรากตรำ' รวมกับอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่แปลว่า 'สตรีเพศ' จึงทำให้ 妾 (qiè, เชี่ย) มีความหมายเดิมว่า 'หญิงผู้ใช้แรงงาน' หรือ 'หญิงผู้ต่ำต้อย' ซึ่งในสมัยหนึ่งเคยใช้เป็นสรรพนามแทนตัวของ 'สตรีเพศ' โดยทั่วไป เพื่อแสดง 'ความถ่อมตน' ต่อคู่สนทนานั่นเอง
以 อ่านว่า yǐ (อี่, ยฺอี่) แปลว่า 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษ
ส่วนคำว่า 子 (zǐ, จื่อ) นั้น แม้ว่าจะเป็นคำสามัญที่พบเห็นกันมาตลอดเล่มคัมภีร์ แต่ก็ยังไม่เคยเล่าความหมายอะไรไว้เลยในการถอดความครั้งนี้ ... ซึ่งคำนี้มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'ลูก' โดยเฉพาะ 'ลูกชาย' (แม้ว่าสมัยหนึ่งเคยใช้ในความหมายว่า 'ลูกสาว' ก็ตาม) ในขณะที่มันอาจจะถูกนำไปใช้ประกอบคำอื่นๆ เช่น 君子 (jǖn zǐ, จฺวิน จื่อ) ที่หมายถึง 'กษัตริย์', 'ผู้นำ', 'บัณฑิต', หรือ 'สุภาพชน' ซึ่งเป็นเรื่องของการยกย่องให้เกียรติกัน โดยเฉพาะในกรณีของการนำอักษร 子 (zǐ, จื่อ) ไปต่อท้ายแซ่ หรือชื่อของบุคคล จะมีความหมายในลักษณะของการยกย่องให้เป็น 'ผู้รู้' หรือเป็น 'ครูบาอาจารย์' ซึ่งก็แน่นอนครับว่า มันจะแฝงความหมายของ 'ปราชญ์' ไว้ด้วยนั่นเอง เช่น 老子 (lǎo zǐ, เหฺล่า จื่อ), 孔子 (kóng zǐ, ข่ง ขื่อ), 孟子 (mèng zǐ, เมิ่ง จื่อ), 孫子 (sūn zǐ, ซุน จื่อ), 韓飛子 (hán fēi zǐ, ฮั๋น เฟย จื่อ), ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น
ลองเดามั้ยครับว่า 'ตำราอี้จิง' ทั่วๆ ไปเขาให้ความหมายสำหรับวลีนี้ไว้ยังไงบ้าง ?! ... ประมาณนี้เลยครับ ... 'ภาชนะใส่เครื่องสังเวยที่พลิกคว่ำ (鼎顛趾) ย่อมเป็นเรื่องที่ดีที่ของเน่าเสียจะถูกกำจัดออกไป (利出否) ตกแต่งภรรยาน้อยเพื่อจะได้บุตรชาย (得妾以其子) ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เสื่อมเสีย (無咎)' ... ฮ่าๆๆ ... ถ้าผมยอมรับ 'การตีความตามตัวอักษร' แบบนี้ ผมก็ไม่ต้องดันทุรังมาแปลใหม่แล้วล่ะครับ !?!? ... :D
ดูดีๆ นะครับ ... นี่คือความหมายที่ควรจะเป็นของวลีเจ้าปัญหานี้ของ 'จิวกง' เลยล่ะ ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) ที่ดำเนินไปด้วยความพลุ่งพล่านหุนหัน (顛趾) จะต้องเร่ง (利) ดำเนินมาตรการ (出) เพื่อจะระงับยับยั้ง (否) ; การบรรลุถึงความเข้าใจ (得) ในหลักแห่งความนอบน้อมถ่อมตน (妾) ย่อมจะ (以) บันดาลให้ทุกฝ่าย (其) ล้วนได้รับการยกย่องเทอดทูนเยี่ยงจอมปราชญ์ราชบัณฑิต (子) และไม่ก่อให้เกิดความเมินหมางระหว่างกัน (無咎)' ...
หากยังมีความสงสัยกันอยู่ว่า ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อนั้น สามารถแผลงออกมาได้ถึงขนาดนี้จริงๆ รึเปล่า ผมขอแนะนำให้ลองย้อนกลับไปอ่านถ้อยคำแวดล้อมที่ยกมาจากบทอื่นๆ ซึ่งเทียบเคียงไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทอีกครั้งก็แล้วกัน ... :D
鼎有實我仇有疾不我能即吉
dǐng yǒu shí wǒ chóu yǒu jí bù wǒ néng jí jí
實 อ่านว่า shí (ซื๋อ) ปรกติแปลว่า 'ถ่องแท้', 'ความจริง', 'ความซื่อสัตย์', และ 'ความถูกต้อง' ; แต่ความหมายดั้งเดิมตาม 'รากศัพท์' ของมันจะหมายถึง 'ความมั่งคั่ง' เพราะเป็นการผสมอักษร 貫 (guàn, ก้วน) ที่แปลว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ' กับ 宀 (mián, เมี๋ยน) ที่หมายถึง 'บ้าน' เข้าด้วยกัน ... 實 (shí, ซื๋อ) จึงหมายถึง 'ผลลัพธ์แห่งความเป็นระบบระเบียบ' นั่นก็คือที่มาของ 'ความถูกต้อง' ที่มันถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน ; นอกจากนั้นแล้ว 實 (shí, ซื๋อ) ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'ผลผลิต' ที่ได้จากพืชพรรณต่างๆ หรือใช้ในความหมายของ 'เมล็ดพันธุ์ของพืช' ที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกก็ยังได้ ซึ่งก็คงจะแผลงกันไปๆ มาๆ ระหว่าง 'ผลลัพธ์' กับ 'แก่นแท้' หรือ 'ความสัตย์จริง' นั่นเอง
เจอคำว่า 我 (wǒ, หฺว่อ, หฺวั่ว) ที่น่าจะมีความหมายแปลกๆ อีกแล้วล่ะครับ ... ;) ... เพราะจากรูปวลีนั้น มันเหมือนกับน่าจะถูกใช้เป็น 'คำกริยา' มากกว่าที่จะเป็น 'คำสรรพนาม' ตามปรกติของมัน ... โดยอักษร 我 นี้ ถ้าถูกใช้เป็น 'คำกริยา' จะแปลว่า 'ฆ่า' ในความหมายเดียวกับตัว 殺 (shā, ซา) เลยทีเดียว เพราะมันประกอบด้วยภาพอักษร 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' หรือ 'ถือ' อยู่ทางด้านซ้าย กับมีด้านขวาเป็นภาพอักษร 戈 (gē, เกอ) ที่แปลว่า dagger-axe ซึ่งเป็น 'ชื่ออาวุธสงคราม' ชนิดหนึ่งในยุคโบราณของจีน … 我 จึงเป็น 'ภาพอักษร' ที่แสดงสัญลักษณ์ของ 'มือที่ถืออาวุธ' และนั่นก็คือความหมายว่า 'ฆ่า', หรือ 'การฆ่า' นั่นเอง … ที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ ... เมื่อ 我 เป็นภาพของ 'มือที่ถืออาวุธ (สงคราม)' มันจึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ผู้ที่มีความสามารถ' และในเมื่อ 'อาวุธ' ที่ทรงอานุภาพที่สุดตลอดทุกยุคสมัยก็คือ 'อาวุธทางวัฒนธรรม' … ตัว 我 จึงแผลงความหมายเป็น 'ผู้ที่ถือพู่กัน' หรือ 'ผู้ที่เขียนหนังสือ' เพราะ 'พู่กัน' ก็คือหนึ่งใน 'อาวุธสงครามทางวัฒนธรรม' มาตลอดแทบจะทุกยุคทุกสมัยเลยก็ว่าได้ … จนในที่สุดคำว่า 我 ก็เลยมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้', 'ผู้รู้', 'ผู้ที่มีการศึกษา' หรือ 'ผู้ที่มีจิตใจสูง' … แล้วถ้าผมจะผสมความหมายทั้งหมดของ 我 ลงไป … 我 ก็ควรจะหมายถึง 'ตัวฉัน' ที่มี 'ความรู้', 'ความเข้าอกเข้าใจ' และพร้อมที่จะ 'ยอมรับฟังผู้อื่น' … ซึ่งก็คือ 'ตัวฉัน' ที่ได้ 'ประหารอัตตา' หรือ 'ประหารอวิชชา' ไปแล้วนั่นเอง ...
仇 อ่านว่า chóu (โฌ๋ว) แปลว่า 'ความคับแค้น', 'ความโกรธเกลียด', 'ความชิงชัง', 'ความอาฆาตมาดร้าย' ซึ่งเป็นลักษณะของ 'ความไม่เป็นมิตร' ในระดับอารมณ์ที่เข้มข้นกว่า 'ความโกรธ' หรือ 'ความไม่พอใจ' ในระดีบปรกติทั่วๆ ไป
疾 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'
即 อ่านว่า jí (จี๋) แปลว่า 'บัดเดี๋ยวนั้น', 'ปุบปับ', 'ทันทีทันใด' ; ซึ่งบางครั้งก็ยังแปลว่า 'จวนเจียน', 'ใกล้เคียง', 'ใกล้เข้าไป', 'เคลื่อนเข้าใกล้' ; หรือ 'ราวกับว่า' ได้ด้วยผมจะไม่สนใจคำแปลของตำราอื่นๆ แล้วนะครับ ... :D ... เพราะ
ผมเห็น 'จิวกง' สานต่อความหมายของวรรคแรกออกมาเป็นอย่างนี้เลย ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) นั้น จะต้องประกอบด้วย (有) ความสัตย์ซื่อจริงใจต่อหลักการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (實) ความผูกพยาบาทอาฆาต (我仇 คือจารึกความคับแค้นไว้ในใจตน) ย่อมนำมาซึ่ง (有) ความอึดอัดขัดเคืองและการแก่งแย่งแข่งดีด้วยความริษยา (疾) การรู้จักละวางอัตตา โดยไม่ถือสาหาความจนกลายเป็นเรื่องหยุมหยิมส่วนตัว (不我) ย่อมโน้มนำไปสู่ (能) การประสานความร่วมมือกันอย่างสนิทใจ (即) อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉)' ...
鼎耳革其行塞雉膏不食方雨虧悔終吉
dǐng ěr gé qí xíng sāi zhì gāo bù shí fāng yǚ kuī huǐ zhōng jí
革 (gé, เก๋อ) นี่คือคำเดียวกับที่ถูกใช้เป็น 'ชื่อบท' ของบทที่สี่สิบเก้าเลยนะครับ ซึ่งโดยปรกติแล้ว คำนี้จะหมายถึง 'หนังสัตว์' โดยเฉพาะ 'หนังสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว' ในระดับหนึ่ง โดยอักษร 革 (gé, เก๋อ) มีวิวัฒนาการมาจากภาพของ 'หนังสัตว์' ที่ถูกขึงให้กางออกสำหรับการตากแห้ง หรือการย่างให้แห้ง เพื่อกำจัดความชื้นอันเป็นปัจจัยหนึ่งของการเน่าเปื่อย จึงทำให้ 革 (gé, เก๋อ) มีความหมายในลักษณะของ 'การเปลี่ยนแปลงเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป' นั่นเอง ... ดังนั้น ความหมายที่แฝงมาด้วยกับอักษรตัวนี้ก็คือ 'การแปรรูป', 'การเปลี่ยนแปลง', 'การริเริ่ม' (innovate) หรือ 'การบูรณะปรับปรุง' (renovate) ซึ่งบางครั้งก็ยังหมายถึง 'การปฏิรูป', 'การปฏิวัติ', และ 'การถอดถอน (สิ่งเก่า)' ได้ด้วย
行 อ่านว่า xíng (ซิ๋ง) มีความหมายโดยทั่วไปว่า 'ดำเนิน', 'เดิน', 'เคลื่อนไป', หรืออาจจะหมายถึง 'ลำดับที่ไล่เรียงมา' ; ส่วนความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'ใช้การได้', 'ทำได้', หรือ 'มีศักยภาพ', 'มีคุณสมบัติที่เพียงพอ' ; และเป็นคำหนึ่งที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกว่าถ้าออกเสียงเป็นแต้จิ๋วว่า 'เฮ้ง' ในคำว่า 'โหงวเฮ้ง' (五行) ซึ่งหมายถึง 'ธาตุทั้งห้า' อันประกอบด้วย ทอง, น้ำ, ไม้, ไฟ, และดิน
塞 อ่านว่า sāi (ไซ) แปลว่า 'กั้น', 'แบ่งออกเป็นส่วน' ในลักษณะเดียวกับ 'การกั้นห้อง' ; แต่ก็แผลงไปเป็น 'ยับยั้ง', 'สกัดกั้น', 'ขัดขวาง', 'หวงห้าม', หรือ 'จำกัดขอบเขต' ได้ด้วย ; และยังแปลว่า 'จับจอง' ในลักษณะที่เป็น 'การกีดกัน' ผู้อื่นได้อีกต่างหาก ; เมื่อใช้เป็นคำนามมันจึงสามารถที่จะแปลว่า 'สิ่งกีดขวาง' ซึ่งหมายรวมถึงอุปกรณ์ใดๆ สำหรับจำกัดการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ... เมื่อหมายถึงสถานการณ์ จึงหมายถึง 'สถานการณ์ที่ยากลำบาก', 'สถานการณ์ที่คับขัน', 'สถานที่ล่อแหลมอันตราย' ... อักษรตัวเดียวกันนี้ เมื่อออกเสียงว่า sài (ไซ่) จึงมีความหมายว่า 'ป้อมปราการ', หรือ 'แนวป้องกัน' ซึ่งหมายถึง 'แนวต้าน', หรือ 'แนวหน้าในสนามรบ' ก็ได้ทั้งนั้น โดยมีลักษณะของ 'แนวกำกับเขตแดน' เหมือนกับ 'การกั้นพื้นที่' ซึ่งเป็นความหมายปรกติของ 塞 (sāi, ไซ) นั่นเอง
แต่ความหมายของ 塞 (sāi, ไซ) ที่หมายถึง 'การจับจอง' สามารถที่จะสื่อถึง 'การแยกไว้เป็นกรณีพิเศษ' สำหรับ VIP อะไรประมาณนั้น ได้ทำให้ความหมายของ 塞 (sāi, ไซ) ถูกแผลงไปเป็น 'การเอาอกเอาใจ', 'การมอบความพึงพอใจ', จนสามารถหมายถึง 'การบวงสรวงสักการะเทพเจ้า' ไปเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นอากัปกิริยาที่เกิด 'การคัดสรร' เพื่อ 'กันส่วน' ที่ดีไว้สำหรับมอบให้แก่บุคคลพิเศษ หรือผู้ที่สมควรแก่การสักการะ ; และเมื่อมีความหมายในลักษณะของ 'การจับจองสิ่งที่ดีที่สุด' ไว้ใช้งานเช่นนี้แล้ว มันจึงไม่แปลกที่ในบางกรณี 塞 (sài, ไซ่) จะถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 賽 (sài, ไซ่) คือ 'การแข่งขัน' ได้ด้วย
雉 อ่านว่า zhì (จื้อ) มีความหมายหนึ่งว่า 'ไก่ฟ้า' หรือนกสวยงามที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ซึ่งในบางกรณี คำเดียวกันนี้ก็จะหมายถึง 'ขนหางของไก่ฟ้า' ที่ถูกนำไปประดับบัลลังก์ของจ้าวนครต่างๆ ในสมัยหนึ่งด้วย ; และในสมัยโบราณของจีน 雉 (zhì, จื้อ) ก็เคยถูกใช้เป็น 'ชื่อเรียกของหน่วยวัด' ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะ 'หน่วยวัดขนาดของกำแพงเมือง' ซึ่งก็ทำให้บางครั้ง 雉 (zhì, จื้อ) ถูกใช้ในความหมายว่า 'กำแพง' ได้อีกด้วย
膏 อ่านว่า gāo (เกา) หรือ gào (เก้า) แปลว่า 'ชะโลม (ด้วยน้ำมัน)', 'หล่อลื่น', 'ลูบไล้', 'ทำให้ชุ่มชื้น', 'ชุ่มชื้น'; 'น้ำมัน', 'ไขมัน' ; หรือ 'ของเหลว' ที่มีลักษณะคล้าย 'น้ำมัน' หรือ 'ยางไม้' ; ... ทีนี้ ... พอมันสามารถแปลว่า 'ทำให้ชุ่มชื้น' มันก็เลยมีความหมายแฝงว่า 'อุดมสมบูรณ์' และ 'สดชื่น' ได้ด้วย
方 อ่านว่า fāng (ฟัง, ฟาง) แปลว่า 'สี่เหลี่ยมมุมตรง (90˚)' (โดยมากมักจะหมายถึง 'สี่เหลี่ยมจัตุรัส'), 'ลูกบาศก์', 'เท่ากัน' ; บางทีเลยหมายถึง 'กฎระเบียบ', หรือ 'เหตุผล' ได้ด้วย … และยังแปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', 'ทิศทาง', หรือ 'สถานที่' ก็ได้
อักษร 雨 (yǚ, หยฺวี่) นั้นมักจะแปลกันว่า 'ฝน' ... แต่เนื่องจากความเป็น 'ทรัพยากรทางธรรมชาติ' ที่มี 'คุณค่าสูงมาก' ในสังคมกสิกรรม หรือสังคมเกษตรกรรมมาตลอดทุกยุคทุกสมัย จึงทำให้เกิดคำในภาษาอังกฤษคำหนึ่งว่า rainmaker ซึ่งมีความหมายประมาณว่า เป็น 'ผู้ให้ความเอื้อเฟื้อ', 'ผู้ให้ความสนับสนุน', หรือ 'ผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์' นั่นเอง ... มัยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ 雨 (yǚ, หยฺวี่) จะมีความหมายว่า 'เพื่อน' และ 'คำสั่งสอน' หรือ 'ข้อแนะนำ' แม้ว่าจะเป็นกลุ่มความหมายที่ไม่ค่อยจะพบเห็นการใช้งานโดยทั่วไปก็ตาม
虧 อ่านว่า kuī (คุย) โดยปรกติจะหมายถึง 'ข้อบกพร่อง', 'ความผิดพลาด', 'ความไม่สมบูรณ์', ซึ่งก็รวมไปถึง 'ทำให้ด้อยลง', 'ทำให้น้อยลง', 'ทำให้ขาดพร่อง', หรือ 'ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม' ; หนักๆ เข้าก็เลยกลายเป็น 'ทำให้ชำรุด', 'ทำให้เสียหาย', และเลยเถิดไปถึงขั้น 'ทำลาย' ไปเลยด้วยซ้ำ ; แต่ถ้าใช้ในลักษณะของ 'การทุเลาปัญหา' หรือ 'การขัดจังหวะสิ่งที่เลวร้าย' คำว่า 虧 (kuī, คุย) ก็จะถูกใช้ในสำนวนประมาณว่า 'โชคยังดีที่มีใคร/มีอะไรมาขัดจังหวะ' เพื่อไม่ให้เรื่องร้ายๆ นั้นดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด คล้ายๆ กับคำอังกฤษประเภท luckily, fortunately ที่มักจะมีการใช้ในลักษณะเดียวกัน
หลายตำราได้ให้ความหมายแก่วลี 鼎耳革 (dǐng ěr gé, ติ่ง เอ่อ เก๋อ) ในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'ภาชนะที่มีหูยกแตกหักเสียหาย' ซึ่งผมพิจารณาแล้วว่า มันเป็นการเลือกใช้ความหมายของ 革 (gé, เก๋อ) ที่ค่อนข้างจะผิดเพี้ยนไปคนละเรื่องเลย ?!?! ... ในขณะที่ผมเอง ก็ยังมี 'ความเชื่อ' อยู่ว่า 耳 (ěr, เอ่อ) น่าจะถูกใช้ในความหมายว่า 'การฟัง' หรือ 'การรับฟัง' มากกว่าที่จะหมายถึง 'หู' ซึ่งเป็นความหมายตามปรกติของมัน (ดังที่เคยเล่าไว้ในบทที่ยี่สิบเอ็ด) ... ซึ่งก็แน่นอนครับว่า ผมมองถ้อยคำที่เหลือทั้งหมดในวรรคนี้ด้วยลักษณะของ 'คำสัญลักษณ์' ที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะให้หมายถึงสิ่งอื่น แทนที่จะมีความหมายตรงๆ ตัวด้วยเหมือนกัน ... ดังนั้น ... เราน่าจะเห็นความหมายที่ซ่อนไว้ด้วยถ้อยคำที่ปรากฏในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า ... 'ผู้ที่ดำรงสถานภาพแห่งอำนาจ (鼎) จะต้องรู้จักรับฟัง (耳) อย่างมีวิจารณญาณที่สร้างสรรค์ (革) สารพัดกิจกรรมการงานที่ประพฤติปฏิบัติ (其行) ล้วนต้องมีหลักมีเกณฑ์ที่มิอาจลบล้าง (塞) เกียรติศักดิ์และบารมี (雉 คือสิ่งประดับบัลลังก์แห่งผู้นำ) อันบริบูรณ์ (膏) จึงมิถูกลบหลู่บั่นทอน (不食) หากแต่มุ่งสร้างความมีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับชนทุกหมู่เหล่า (方雨) อันจะลดทอน (虧) ความหม่นหมางที่ขุ่นข้องหมองใจ (悔) ระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้เบาบางลง ผลลัพธ์ในเบื้องปลาย (終) ย่อมประสบความสำเร็จอันรุ่งเรือง (吉)' ...
มีจุดเล็กๆ ในวรรคนี้ ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึง 'อัจฉริยภาพทางภาษา' ของ 'จิวกง' อีกซักข้อหนึ่ง ด้วยอาการที่ 'พ้องความหมาย' ของ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ซึ่งหมายถึง 'ภาชนะที่มีหูและขาตั้ง' และเป็น 'สัญลักษณ์แห่งอำนาจ' ในยุคสมัยของ 'จิวกง' เอง ท่านถึงกับเลือกใช้คำว่า 鼎耳 (dǐng ěr, ติ่ง เอ่อ) ที่หลายตำราแปลว่า 'หูของติ่ง' มาแทนความหมายของ 'โสตแห่งอำนาจ' อย่างตรงๆ ตัวไปเลย ... ความฉลาดของ 'จิวกง' ก็อยู่ตรงเหตุผลที่ว่า ... ทำไมถึงต้องเป็น 'หู' ?! ... ทำไมจึงไม่เปรียบเทียบกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ?! ... นั่นก็เป็นเพราะว่า 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้ครองอำนาจ' ในทุกยุคทุกสมัยนั้น มักจะรายล้อมไปด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมาก เพื่อที่จะกระจายความรับผิดชอบอันมากมายมหาศาลเหล่านั้นออกไปให้ช่วยกันดูแล มันจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ 'ผู้นำ' ซึ่งอยู่ตรง 'ศูนย์กลางแห่งอำนาจการปกครอง' จะได้รับรู้ข้อมูลความคืบหน้า หรือข่าวสารการเปลี่ยนแปลงใดๆ จาก 'หน้างาน' โดยตรง ไม่ว่าจะพยายามเบียดแทรกตัวเองออกไปให้ใกล้ชิดกับภาระกิจขนาดไหนก็ตาม เพราะข้อจำกัดของเวลาย่อมไม่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติตนอย่างนั้น ... ช่องทางเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับ 'ผู้ครองอำนาจ' ก็คือ 'การรับฟังรายงาน' จากผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง และ 'การคิดทบทวน' จากบทบันทึกต่างๆ ที่ถูกนำเสนอเข้ามา ... มันจึงทำให้ 'โสตแห่งอำนาจ' มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ของ 'การบริหารอำนาจการปกครอง' เสมอมา ... ซึ่ง 'ความหูเบา' และ 'การตัดสินใจด้วยอำนาจ' อย่าง 'ขาดสติ' ของ 'ผู้นำ' มักจะเป็นปัจจัยอันดับแรกๆ ของ 'ความเสื่อมถอย' ของ 'อำนาจการปกครอง' มาตลอดทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน !! ... เท่มากเลยนะคำนี้ ... 'โสตแห่งอำนาจ' !! ... :D
鼎折足覆公餗其形渥凶
dǐng zhē zú fù gōng sù qí xíng wò xiōng
折 อ่านว่า zhē (เจอ) แปลว่า 'พลิกไปพลิกมา', 'กลับไปกลับมา' ; ถ้าออกเสียงว่า zhé (เจ๋อ) จะแปลว่า 'บิด', 'ดัดให้งอ', หรือ 'ทำให้ขาดออกจากกัน'
足 อ่านว่า zú (จู๋) แปลว่า 'ขา' ที่เป็นอวัยวะ, หรือ 'ขาตั้ง' หรือ 'ฐาน' ที่ใช้เพื่อรองรับสิ่งอื่น ; มันจึงแฝงความหมายว่า 'มั่นคง', 'แข็งแรง', 'เพียงพอ', หรือ 'เต็มที่', 'สมบูรณ์' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'เบื้องล่าง', หรือ 'เบื้องลึก' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยายังสามารถแปลว่า 'ทำให้พึงพอใจ' หรือ 'ให้ความสำคัญ'
覆 อ่านว่า fù (ฟู่) มีความหมายหนึ่งที่ใช้เหมือนกับ 复 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'ย้อนกลับ', 'ทำซ้ำ', หรือ 'ซ้ำซาก' ; ซึ่งก็เลยทำให้ 覆 (fù, ฟู่) สามารถแปลว่า 'พลิกกลับ', หรือ 'พลิกผัน' จนแผลงไปเป็น 'พลิกคว่ำ' หรือ 'ทำลาย' ได้ด้วย ; ในขณะที่ 'การพลิกกลับ' ในความหมายอื่นๆ ก็จะมีตั้งแต่ 'การห่มคลุม' ซึ่งมีลักษณะของ 'การซ้อนทับ' ซึ่งก็แผลงไปเป็น 'การห่อหุ้ม', 'การปกคลุม', และ 'การปกป้อง', หรือ 'การป้องกัน' ; ส่วนกรณีของ 'การทำซ้ำ' ก็แผลงไปเป็น 'การตรวจสอบ', ซึ่งบางทีก็กลายเป็น 'การก้าวก่าย', หรือ 'การแทรกแซง' ซึ่งเป็นลักษณะของ 'การทำสวนทางกัน' หรือ 'การย้อนรอย' ที่สามารถแปลไปอีกอย่างว่า 'การตอบกลับ', หรือ 'การตอบสนอง' ได้ด้วยเหมือนกัน ... พอแปลไปแปลมาก็เลยออกอาการ 'วกวน-ซ้ำซาก' ไปซะอีกความหมายหนึ่ง ... :D
公 อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'สาธารณะ', 'สิ่งที่ยึดถือร่วมกัน', 'ประเทศชาติ', 'สังคม', 'มหาชน', 'เปิดเผย', 'ยุติธรรม' ; และใช้เป็นคำสำหรับยกย่องผู้ที่มีวัยวุฒิสูงในลักษณะของ 'ผู้เฒ่า', 'ผู้แก่', หรือ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ในสังคม ; ในสมัยราชวงศ์โจว คำนี้ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียก 'ตำแหน่งขุนนางระดับสูง' อีกด้วย
คำว่า 餗 (sù, ซู่) ก็คือ 'อาหารที่อยู่ใน 鼎' นั่นเอง ซึ่งเล่าไปแล้วว่า ในสมัยโบราณนั้น 鼎 (dǐng, ติ่ง) จะหมายถึง 'ภาชนะหุงต้มชนิดมีขาตั้งและหูจับ'
形 อ่านว่า xíng (ซิ๋ง) แปลว่า 'รูปร่าง', 'ลักษณะ', 'สภาพที่ปรากฏ', หรือ 'สถานการณ์ที่กำลังดำเนินไป' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 型 (xíng (ซิ๋ง) ซึ่งหมายถึง 'แม่แบบ', หรือ 'ต้นฉบับ' ; ถ้าใช้ 形 (xíng (ซิ๋ง) เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การอธิบายให้เห็นภาพ', 'การแสดงออก', หรือ 'การทำให้ปรากฏ'
渥 อ่านว่า wò (อฺว้อ) แปลว่า 'ทำให้เปียก', 'ทำให้ชื้น', 'ทำให้ชุ่มโชก' ; ในขณะที่อีกความหมายหนึ่งจะหมายถึง 'มีน้ำหนักมาก', 'มีความหนา', 'มีความลึก', 'มีความแข็งแรง', หรือ 'หนักหนา', 'สาหัส' ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ 剭 (wū, อู) ที่มีความเกี่ยวข้องกับ 'การลงทัณฑ์' หรือ 'การประหารชีวิต' ด้วย
ผมขอบอกไว้เลยว่า นี่คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่สามเลยล่ะ ... :) ... โดย 'จิวกง' ได้ให้ข้อแนะนำไว้ในวรรคก่อนนี้ว่า 'ผู้ครองอำนาจ' (鼎) นั้น จะต้องรู้จักรับฟัง (耳) อย่างมีวิจารณญาณที่สร้างสรรค์ (革) เพื่อจะ 'ประสานประโยชน์' ของทุกฝ่ายเข้าด้วยกันอย่างลงตัว (方雨虧悔) โดยเน้นที่การลดทอนความขัดแย้งต่างๆ ให้เบาบางลง (虧悔) ... ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อโต้แย้งได้ก็คือ พฤติกรรมแบบนี้จะดูคล้ายกับ 'การสมคบคิด' เพื่อสืบทอด 'อิทธิพลและบารมี' (雉) ของ 'ผู้ครองอำนาจ' (鼎) ให้ยังคงมีความยิ่งใหญ่ต่อๆ ไป ... ดังนั้น ถ้อยคำที่จะต้องนำมาประกบเป็น 'คู่วลี' กันไว้ก็คือ ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานอันฉ้อฉลบิดเบือน (折足) มุ่งแต่การเบียดบัง (覆) ทรัพยากรของสาธารณะ (公餗) ไว้เพื่อการเสวยสุขเฉพาะตน จริยธรรมต่างๆ อันเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่าทางสังคม (其形) ย่อมแหลกเหลวลงไปอย่างหนักหนาสาหัส (渥) คือความเลวร้ายที่จะทำลายทุกสิ่งจนพินาศย่อยยับ (凶)' ... มันคือภาพสะท้อนของ 'ความเป็นดาบสองคม' ที่ 'อำนาจ' สามารถบันดาลให้เกิด 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) หรือ 'ความพินาศย่อยยับ' (凶) ก็ได้ ซึ่งทุกคนน่าจะเข้าใจดีอยู่แล้ว และ 'จิวกง' ก็ฉลาดพอที่จะนำแง่มุมทั้งสองนี้ มาลำดับไว้เป็น 'คู่วลี' ที่เรียงติดต่อกันชนิดที่ไม่เปิดช่องให้เกิดข้อทักท้วงใดๆ เลย ... เจ๋งอ้ะ !! ... :D
鼎黃耳金鉉利貞
dǐng huáng ěr jīn xuàn lì zhēn
黃 อ่านว่า huáng (ฮฺวั๋ง, ฮฺว๋าง) แปลว่า 'สีเหลือง', 'สวยงาม (เหมือนสีทอง)' ; แต่บางครั้งก็จะมีความหมายว่า 'สุกงอม' ; 'ซีดเซียว', หรือว่า 'ชำรุด', 'เสียหาย' ไปเลย :P … ในขณะที่ความหมายซึ่งน่าจะเกี่ยวกับ 'อี้จิง' ก็คือ 'สีเหลือง' เป็นสีประจำ หรือสีที่ใช้แทน 'ธาตุดิน' ตามคติความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่ครั้งโบราณด้วย
金 อ่านว่า jīn (จิน) แปลว่า 'ทองคำ', 'เงิน', 'โลหะ หรือสิ่งใดๆ ที่มีสีเหลืองทอง', 'ทรัพย์สิน', 'ของมีค่า', 'ร่ำรวย' ; บางครั้งก็หมายถึง 'โลหะทั้งห้า' (五金 คือ ทองคำ, เงิน, ทองแดง, เหล็ก, และตะกั่ว หรือสังกะสี)
鉉 อ่านว่า xuàn (เซฺวี่ยน) เป็นชื่อเรียกของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้าย 鼎 (dǐng, ติ่ง) (ในกรณีที่หมายถึง 'ภาชนะหุงต้ม') ; แต่ความหมายอื่นของ 鉉 (xuàn, เซฺวี่ยน) จะหมายถึง 'คณะที่ปรึกษาอาวุโส' ; และยังสามารถแปลว่า 'สายธนู' หรือ 'สายเสียง' ของเครื่องดนตรีได้อีกด้วย
เมื่อวรรคที่สี่เป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สาม มันจึงเป็นเรื่องปรกติที่วรรคที่ห้าจะต้องเป็น 'คู่วลี' กับวรรคที่สองในบทเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้น ขอยกถ้อยความในวรรคที่สองมาดูใกล้ๆ อีกครั้งแล้วกันนะครับ ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) นั้น จะต้องประกอบด้วย (有) ความสัตย์ซื่อจริงใจต่อหลักการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (實) ความผูกพยาบาทอาฆาต (我仇 คือจารึกความคับแค้นไว้ในใจตน) ย่อมนำมาซึ่ง (有) ความอึดอัดขัดเคืองและการแก่งแย่งแข่งดี (疾) การรู้จักละวางอัตตา โดยไม่ถือสาหาความจนกลายเป็นเรื่องหยุมหยิมส่วนตัว (不我) ย่อมโน้มนำไปสู่ (能) การร่วมมือร่วมแรงกันอย่างสนิทใจ (即) อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉)' ... นี่ก็คือความเดิมจากวรรคที่สอง
ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปว่า ความหมายของถ้อยคำในวรรคนี้ควรจะเป็นอะไรนั้น ผมอยากจะชวนให้ดู 'ลีลาของถ้อยคำ' ที่ 'จิวกง' เลือกมาเล่นซักหน่อย ... ลองดูที่คำนี้ครับ ... 黃耳金鉉 (huáng ěr jīn xuàn, ฮฺว๋าง เอ่อ จิน เซฺวี่ยน) ... ซึ่งเราจะพบว่า ทั้ง 黃 (huáng, ฮฺว๋าง) และ 金 (jīn, จิน) ล้วนเป็นคำที่สามารถสื่อถึง 'ทองคำ' หรือ 'โลหะสีเหลืองทอง' ได้ด้วยกันทั้งคู่ ... ส่วนคำว่า 耳 (ěr, เอ่อ) กับ 鉉 (xuàn, เซฺวี่ยน) จะมีความหมายหนึ่งที่คล้ายกันคือ 'หูของติ่ง' ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เพื่อการยก หรือเคลื่อนย้าย 鼎 (dǐng, ติ่ง) โดยเฉพาะ ... ดังนั้น ในแง่ของความหมายแล้ว 黃耳 (huáng ěr, ฮฺว๋าง เอ่อ) กับ 金鉉 (jīn xuàn, จิน เซฺวี่ยน) จึงคล้ายกับจะเป็นคำ synonyms ของกันและกัน แต่ถูก 'จิวกง' นำมาเรียงต่อกันเพื่อเน้นความหมายให้มีความหนักแน่นกว่าเดิมเท่านั้นเอง ... ซึ่งในบริบทของ 鼎 (dǐng, ติ่ง) ที่มีความหมายว่า 'ผู้นำ' หรือ 'อำนาจการปกครอง' ตามที่เล่ามานี้ วลีที่ว่า 黃耳金鉉 (huáng ěr jīn xuàn, ฮฺว๋าง เอ่อ จิน เซฺวี่ยน) จึงน่าจะมีความหมายคล้ายสำนวน 'ขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ' ในภาษาไทยมากที่สุด ... รึเปล่า ?! ... ;) ... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า 鉉 (xuàn, เซฺวี่ยน) นั้นก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า 'คณะที่ปรึกษาอาวุโส' ได้ด้วย
เมื่อว่ากันตามเนื้อความที่เล่ามานี้แล้ว ความหมายของวรรคที่ห้าซึ่งปรากฎอยู่นี้ จึงควรจะมีความหมายว่า ... 'ผู้ครองอำนาจ (鼎) ที่แวดล้อมด้วยบริวารผู้เปี่ยมด้วยความคิดและคุณธรรม (黃耳) มีคณะที่ปรึกษาที่เพียบพร้อมด้วยภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า (金鉉) ย่อมสามารถ (利) ที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักปฏิบัติอันเที่ยงธรรม (貞)' ... ความต่อเนื่องระหว่างวรรคที่สอง กับวรรคที่ห้านี้ก็อยู่ตรงที่ว่า ต่อให้ 'ผู้ครองอำนาจ' มีความสัตย์ซื่อมั่นคงในหลักแห่งคุณธรรมเพียงใดก็ตาม แต่หากรายล้อมไปด้วยบริวารขี้ฉ้อ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไร้จริยธรรม 'โครงสร้างของอำนาจการปกครอง' เยี่ยงนั้น ย่อมไม่มีวันที่จะอำนวยความเจริญรุ่งเรืองอย่างเป็นธรรมให้แก่สังคมโดยรวมได้เลย ... อีกอย่าง ... ด้วยเหตุที่ 'อำนาจ' นั้นเป็น 'เงื่อนไขเชิงโครงสร้างทางสังคม' ที่ง่ายต่อการเสพติด การที่ 'ผู้ครองอำนาจ' มี 'ผู้ร่วมงาน' หรือมี 'บริวาร' ที่เปี่ยมด้วย 'ความคิด' และ 'คุณธรรม' คอยช่วยกันสอดส่องดูแล อีกทั้งการยอมรับฟัง 'ข้อแนะนำ' และ 'คำทักท้วง' จากบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ทรงภูมิปัญญา โอกาสแห่ง 'ความผิดพลาด' อันเนื่องมาจาก 'การใช้อำนาจตามอำเภอใจ' ก็จะน้อยลง ในขณะที่ 'ความรอบคอบรัดกุม' ใน 'กระบวนการดำเนินงาน' ต่างๆ ก็จะมี 'ความถี่ถ้วน' มากขึ้น การผดุงไว้ซึ่ง 'หลักปฏิบัติอันเที่ยงธรรม' ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ... ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ 'การถือสาหาความ' โดย 'ผู้ครองอำนาจ' ต่อ 'การทักท้วงห้ามปราม' ใดๆ ย่อมก่อให้เกิด 'ความอึดอัดขัดเคือง' (我仇有疾) ในขณะที่ 'การยอมละวางอัตตา' จะนำมาซึ่ง 'ความร่วมมืออย่างสนิทใจ' (不我能即) ของผู้ใต้บังคับบัญชา ... นี่ก็คือความหมายที่ 'จิวกง' ได้บันทึกไว้ เพื่อสื่อสารข้ามสหัสวรรษมาถึงพวกเรา ... :)
鼎玉鉉大吉無不利
dǐng yǜ xuàn dà jí wú bù lì
玉 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) โดยทั่วไปก็จะหมายถึง 'หินหยก', หรือ 'หินล้ำค่า' ซึ่งก็เลยสามารถแผลงไปเป็น 'สูงค่า', 'สูงส่ง', 'บริสุทธิ์', 'งดงาม', หรือ 'ควรค่าแก่การเคารพเทิดทูน', และ 'คุณธรรมอันสูงส่ง' ก็ได้ ... และสิ่งที่ดูจะมีประเด็นซักหน่อยสำหรับวัฒนธรรมการปกครองของจีนก็คือ ตราประทับประจำตำแหน่งของเจ้าแคว้นต่างๆ ในสมัยโบราณนั้น มักจะทำขึ้นมาจาก 'หินหยก' เสมอ ซึ่งหากเราพิจารณาจากมุมที่ว่านี้ 玉 (yǜ, ยฺวี่) ก็มีโอกาสที่จะหมายถึง 'สัญลักษณ์แห่งอำนาจ' ได้เหมือนกัน ... :)
ขอเล่าความหมายของ 鉉 (xuàn, เซฺวี่ยน) ต่อจากวรรคที่แล้วอีกหน่อยแล้วกัน คำนี้มาจากการผสมกัน ระหว่างอักษร 金 (jīn, จิน) ซึ่งหมายถึง 'โลหะธาตุ' หรือ 'โลหะมีค่า' โดยเฉพาะ 'ทองคำ' กับอักษร 玄 (xuán, เซฺวี๋ยน) ที่มีความหมายว่า 'สีดำ', 'มืด', 'ลึก', หรือ 'ห่างไกล' ซึ่งแผลงไปเป็น 'ความสงบเงียบ', 'ความลี้ลับ', 'ความลึกล้ำ' หรือ 'ความลึกซึ้ง' ได้ด้วย ... พอเอามาผสมกันเป็นอักษร 鉉 (xuàn, เซฺวี่ยน) มันก็เลยสามารถที่จะมีความหมายว่า 'คุณค่าอันลึกล้ำ', หรือ 'ความมีคุณค่าอันลึกสุดหยั่ง' ไปได้ ซึ่งก็คงจะเป็นที่มาของความหมายว่า 'คณะที่ปรึกษาอาวุโส' นั่นเอง ... แต่ไอ้ที่ความหมายของมันสามารถเพี้ยนจนกลายเป็น 'สายเสียงของเครื่องดนตรี' ได้นั้น ผมเดาเอาเองว่า น่าจะแผลงไปจาก 'คุณลักษณะอันยากต่อการอธิบาย' ของ 'โลหะ' ที่สามารถก่อให้เกิดระดับเสียงสูงๆ ต่ำๆ ตามขนาดความหนัก-เบา และความตึง-ความหย่อนของ 'สายเสียง' นั้นๆ เอง ... อันนี้เดาล้วนๆ นะครับ ... :D ... เพียงแต่ ... มันอาจจะช่วยสื่อความหมายได้ว่า กิริยาท่าทีของมนุษย์ก็จะต้องมีความหนัก-เบา-ตึง-หย่อน อย่างพอเหมาะพอสมในแต่ละสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
ทีนี้ เราก็คงต้องย้อนกลับไปดูความหมายของวรรคที่หนึ่งอีกครั้ง เพราะมันคือ 'คู่วลี' ประจำบทของวรรคนี้ ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) ที่ดำเนินไปด้วยความพลุ่งพล่านหุนหัน (顛趾) จะต้องเร่ง (利) ดำเนินมาตรการ (出) เพื่อจะระงับยับยั้ง (否) ; การบรรลุถึงความเข้าใจ (得) ในหลักแห่งความนอบน้อมถ่อมตน (妾) ย่อมจะ (以) บันดาลให้ทุกฝ่าย (其) ล้วนได้รับการยกย่องเทอดทูนเยี่ยงจอมปราชญ์ราชบัณฑิต (子) และไม่ก่อให้เกิดความเมินหมางระหว่างกัน (無咎)' ... ซึ่งส่งทอดความหมายต่อเนื่องมาสู่วรรคที่สอง กับวรรคที่ห้าว่า ... 'ผู้ครองอำนาจ' นั้นไม่ควรนำ 'อัตตา' มาเป็น 'อารมณ์' แต่ควรจะ 'เปิดใจ' รับฟัง 'คำทักท้วงห้ามปราม' อย่าง 'สร้างสรรค์' จากบรรดา 'นักปราชญ์ราชบัณฑิต' ผู้เปี่ยมด้วย 'คุณธรรม' และ 'ความรู้' เพื่อผดุงไว้ซึ่ง 'หลักปฏิบัติอันเที่ยงธรรม' อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมสืบไป ... ผมจึงเชื่อว่า วลีสุดท้ายของ 'จิวกง' ในบทนี้ กำลังพยายามจะบอกกับพวกเราว่า ... 'อำนาจการปกครอง (鼎) ที่ประกอบด้วยคุณธรรม (玉) และความสุขุมลุ่มลึกแห่งปัญญา (鉉) ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้อย่างเอนกอนันต์ (大吉) หาใช่เหตุแห่งความอัปมงคลแต่ประการใดไม่ (無不利)' ...
ประเด็นที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคนี้ น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีได้ประเด็นหนึ่งสำหรับ 'ทัศนคติ' ที่พึงมีต่อ 'อำนาจ' เนื่องจากบ่อยครั้งมากที่บรรดา 'นักปราชญ์' ทั้งหลายมักจะเอ่ยถึง 'อำนาจ' ในแง่ที่เป็น 'สิ่งชั่วร้าย' ที่ 'วิญญูชน' มิพึงปรารถนาจะมีไว้ในครอบครอง ... แต่ 'จิวกง' ได้ระบุไว้ในบทนี้อย่างชัดแจ้งเลยว่า มีเพียง 'อำนาจที่ไร้หลักการ' เท่านั้นที่เป็นเหตุแห่ง 'ความขัดแย้ง' และ 'ความสูญเสีย' ต่างๆ อันสืบเนื่องมาจาก 'การแก่งแย่งช่วงชิง' และ 'การเบียดเบียน' ด้วย 'อำนาจ' เพื่อ 'แสวงประโยชน์เฉพาะตน' ... ในขณะที่ 'อำนาจ' ที่ประกอบด้วย 'คุณธรรม-จริยธรรม' และ 'ขุมข่ายแห่งปัญญาอันสุขุมลุ่มลึก' ย่อมสามารถเสกสร้าง 'ประโยชน์สุข' ให้เกิดขึ้นแก่ทุกๆ ฝ่ายได้อย่างเอนกอนันต์ หาใช่ 'สิ่งอัปมงคล' ดังที่หลายคนเคยประณามไว้อย่างรุนแรงแต่ประการใดทั้งสิ้น
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'ติ่ง' คือ อำนาจอธิปไตย, ลมกระพือกองเพลิงลุกสุกสว่าง
'อำนาจการปกครอง' ย่อมหมายถึง 'คุณธรรมความดี' ที่ 'สร้างสรรค์' อันจะอำนวยให้เกิด 'ความมีระบบระเบียบ' ที่เอื้อต่อ 'พัฒนาการอย่างยั่งยืน' (亨) ของ 'สังคม' และ 'ประเทศชาติ'
- 'อำนาจการปกครอง' (鼎) ที่ดำเนินไปด้วย 'ความพลุ่งพล่านหุนหัน' (顛趾) จะต้องเร่ง (利) ดำเนินมาตรการ (出) เพื่อจะ 'ระงับยับยั้ง' (否) ; การบรรลุถึง 'ความเข้าใจ' (得) ใน 'หลักแห่งความนอบน้อมถ่อมตน' (妾) ย่อมจะ (以) บันดาลให้ทุกฝ่าย (其) ล้วนได้รับ 'การยกย่องเทอดทูน' เยี่ยง 'จอมปราชญ์ราชบัณฑิต' (子) และไม่ก่อให้เกิด 'ความเมินหมาง' ระหว่างกัน (無咎)
- 'อำนาจการปกครอง' (鼎) นั้น จะต้องประกอบด้วย (有) 'ความสัตย์ซื่อจริงใจ' ต่อ 'หลักการ' ที่ 'ถูกต้อง' และ 'เป็นธรรม' (實) 'ความผูกพยาบาทอาฆาต' (我仇) ย่อมนำมาซึ่ง (有) 'ความอึดอัดขัดเคือง' และ 'การแก่งแย่งแข่งดี' ด้วย 'ความริษยา' (疾) การ 'รู้จักละวางอัตตา' โดยไม่ถือสาหาความจนกลายเป็น 'เรื่องหยุมหยิมส่วนตัว' (不我) ย่อมโน้มนำไปสู่ (能) 'การประสานความร่วมมือกัน' อย่าง 'สนิทใจ' (即) อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' (吉)
- 'ผู้ที่ดำรงสถานภาพแห่งอำนาจ' (鼎) จะต้อง 'รู้จักรับฟัง' (耳) อย่างมี 'วิจารณญาณที่สร้างสรรค์' (革) สารพัดกิจกรรมการงานที่ 'ประพฤติปฏิบัติ' (其行) ล้วนต้อง 'มีหลักมีเกณฑ์' ที่ 'มิอาจลบล้าง' (塞) 'เกียรติศักดิ์' และ 'บารมี' (雉) อันบริบูรณ์ (膏) จึง 'มิถูกลบหลู่บั่นทอน' (不食) หากแต่มุ่งสร้าง 'ความมีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้น' กับ 'ชนทุกหมู่เหล่า' (方雨) อันจะ 'ลดทอน' (虧) 'ความหม่นหมาง' ที่ 'ขุ่นข้องหมองใจ' (悔) ระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้เบาบางลง 'ผลลัพธ์ในเบื้องปลาย' (終) ย่อมประสบ 'ความสำเร็จอันรุ่งเรือง' (吉)
- 'อำนาจการปกครอง' (鼎) ที่ตั้งอยู่บน 'พื้นฐานอันฉ้อฉลบิดเบือน' (折足) มุ่งแต่ 'การเบียดบัง' (覆) 'ทรัพยากร' ของ 'สาธารณะ' (公餗) ไว้เพื่อการเสวยสุขเฉพาะตน 'จริยธรรม' ต่างๆ อันเป็น 'แบบอย่างที่ทรงคุณค่าทางสังคม' (其形) ย่อม 'แหลกเหลวลงไป' อย่าง 'หนักหนาสาหัส' (渥) คือ 'ความเลวร้าย' ที่จะทำลายทุกสิ่งจน 'พินาศย่อยยับ' (凶)
- 'ผู้ครองอำนาจ' (鼎) ที่แวดล้อมด้วย 'บริวาร' ผู้เปี่ยมด้วย 'ความคิด' และ 'คุณธรรม' (黃耳) มี 'คณะที่ปรึกษา' ซึ่งเพียบพร้อมด้วย 'ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า' (金鉉) ย่อมสามารถ (利) ที่จะผดุงไว้ซึ่ง 'หลักปฏิบัติอันเที่ยงธรรม' (貞)
- 'อำนาจการปกครอง' (鼎) ที่ประกอบด้วย 'คุณธรรม' (玉) และ 'ความสุขุมลุ่มลึก' แห่ง 'ปัญญา' (鉉) ย่อม 'สำเร็จประโยชน์' ได้อย่าง 'เอนกอนันต์' (大吉) หาใช่เหตุแห่ง 'ความอัปมงคล' แต่ประการใดไม่ (無不利)
-
- *** เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมคิดว่า จำเป็นต้องกำกับภาษาจีนคู่กันไว้กับ 'การตีความ' เนื่องจากถ้อยคำทั้งหมด แทบจะมีลักษณะของการอุปมาอุปมัย โดยมิได้ใช้ความหมายตามตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา
The Organization Code :
ใน 'การบริหารจัดการองค์กร' หนึ่งๆ นั้น 'เงิน' (☴) อาจนับได้ว่าเป็น 'ปัจจัยแห่งอำนาจ' ที่ทรง 'ความมีอิทธิพล' เหนือกว่าปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมด และอาจถือได้ว่า เป็นปัจจัยที่สามารถให้ทั้ง 'คุณ' และ 'โทษ' แก่องค์กร ตลอดจนบุคลากรทุกๆ คนได้อย่างมหาศาล ... ทั้งนี้ ล้วนขึ้นอยู่กับ 'บรรทัดฐาน' ของ 'การบริหารจัดการบริบททางการเงิน' อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' ด้วย 'หลักการที่สร้างสรรค์' เพื่อเสริมสร้าง 'ความแข็งแกร่ง' ให้แก่องค์กรอย่าง 'มีเกียรติ' และ 'ศักดิ์ศรี' ซึ่งจะเป็นที่รับรู้ได้ผ่านทาง 'ผลิตภัณฑ์' (☲) ขององค์กร ทั้งในรูปของ 'สินค้า' และ 'บริการ' ที่นำเสนอสู่สาธารณะ ... ใน 'การบริหารจัดการบริบททางการเงิน' นั้น 'ระดับนโยบาย' จะต้องมี 'ความมั่นคง' ใน 'หลักการ' และมี 'ความตื่นตัว' ต่อ 'การเปลี่ยนแปลง' ของ 'ปัจจัยภายนอก' (⚎) อยู่ตลอดเวลา ... ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'ความเด็ดขาด' และ 'ปฏิบัติตามกฎระเบียบ' ที่กำหนดเอาไว้ 'อย่างเคร่งครัดรัดกุม' (⚌) ... เพื่อให้ 'ระดับปฏิบัติการ' สะท้อน 'หลักการ' และ 'นโยบาย' ขององค์กร (⚎) ให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
'อำนาจ' คือ 'พลังแห่งหยาง' ที่มิอาจแยกออกต่างหากจาก 'คุณธรรม' อันเป็น 'พลังแห่งหยิน' ... ด้วยเหตุที่ว่า 'อำนาจที่ไร้คุณธรรม' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความขัดแย้ง' และ 'การแก่งแย่งช่วงชิง' ... ในขณะที่ 'คุณธรรมที่ไร้อำนาจ' ย่อมปราศจาก 'กำลัง' ใน 'กำกับทิศทาง' แห่ง 'กฎระเบียบ' เพื่อ 'การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง' ของ 'องค์กร' และ 'สังคมโดยรวม' ... 'ปราชญ์' ผู้มี 'สติ-ปัญญา' ย่อมรู้จักที่จะหลอมรวม 'พลังแห่งหยิน-หยาง' เข้าด้วยกันอย่างสมดุล บังเกิดเป็น 'อำนาจการปกครองโดยธรรม' ที่จะโน้มนำ 'องค์กร' และ 'สังคม' หนึ่งๆ ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน'
- 'การใช้อำนาจ' อย่าง 'ขาดสติ' คือ 'พฤติกรรมต้องห้าม' ที่จะต้อง 'ระงับยับยั้ง' อย่างทันท่วงที เพื่อมิให้กลายเป็น 'ชนวนแห่งความผิดพลาดเสียหาย' ที่ 'ยากต่อการเยียวยาแก้ไข' ; 'การปฏิบัติต่อกัน' อย่าง 'ถ้อยทีถ้อยอาศัย' มี 'ความเข้าใจ' ใน 'หลักแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน' ย่อมเป็นเหตุให้ทุกฝ่ายล้วนได้รับ 'การยกย่อง' และ 'การให้เกียรติ' ที่เสมอเหมือนกัน อันจะนำไปสู่ 'ความสมัครสมานสามัคคี' และพร้อมที่จะ 'ร่วมแรงร่วมใจกัน' อย่าง 'เปิดเผย'
- 'ผู้ครองอำนาจ' จะต้องมี 'ความแน่วแน่มั่นคง' ใน 'หลักการ' ที่ 'ถูกต้อง' และ 'เป็นธรรม' จะต้องลดละ 'อัตตา' อันเป็นบ่อเกิดแห่ง 'ความพยาบาทอาฆาต' และ 'การแก่งแย่งแข่งดี' ด้วย 'ความริษยา' และต้องเสริมสร้างบรรยากาศแห่ง 'ความไว้วางใจ' ใน 'การประสานความร่วมมือ' ระหว่างกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง'
- 'ผู้ครองอำนาจ' จะต้อง 'รู้จักรับฟัง' อย่างมี 'วิจารณญาณที่สร้างสรรค์' ... จะต้อง 'ประพฤติปฏิบัติตน' อย่าง 'มีหลักมีเกณฑ์' อัน 'เป็นที่ยอมรับได้' ของสาธารณชน ... และจะต้องมี 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ' ในการ 'อำนวยประโยชน์' และมอบ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้แก่ 'ส่วนรวม' อย่าง 'ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง' ... 'เกียรติศักดิ์' และ 'บารมี' จึงจะมี 'ความบริบูรณ์' โดย 'มิถูกลบหลู่บั่นทอน' ให้ 'เสื่อมคุณค่า' ลงไป
- 'อำนาจการปกครอง' ที่ตั้งอยู่บน 'พื้นฐานอันฉ้อฉลบิดเบือน' มุ่งแต่ 'การเบียดบังประโยชน์' ของ 'สาธารชน' ไว้เพื่อ 'การเสวยสุขเฉพาะตน' ย่อมทำลาย 'ความมีคุณค่า' ทาง 'จริยธรรม' ให้ต้อง 'แหลกเหลว' ลงไป 'อย่างสาหัส' และจะทำลายทุกสรรพสิ่ง ตลอดจนกระทั่ง 'อำนาจอันฉ้อฉล' นั้นเอง ให้ต้อง 'พังพินาศย่อยยับ' ลงไปในที่สุด
- ด้วยเหตุที่ 'ผู้ครองอำนาจที่ดี' แต่กลับปกครองอยู่ภายใน 'โครงสร้างแห่งอำนาจที่เลว' ย่อมไม่สามารถนำพา 'องค์กร' และ 'สังคมโดยรวม' ไปสู่ 'ความรุ่งโรจน์' ... ดังนั้น ... 'ผู้ครองอำนาจ' จึงจำเป็นต้องแวดล้อมด้วย 'บริวาร' ผู้เปี่ยมด้วย 'ความคิด' และ 'คุณธรรม' และจำเป็นต้องมี 'คณะที่ปรึกษา' ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วย 'ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า' จึงจะสามารถที่จะ 'ผดุงไว้' ซึ่ง 'หลักปฏิบัติอันเที่ยงธรรม' และนำพา 'สังคมโดยรวม' ไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'
- 'อำนาจการปกครอง' ที่ประกอบด้วย 'คุณธรรม' และ 'ความสุขุมลุ่มลึก' แห่ง 'ปัญญา' ย่อม 'สำเร็จประโยชน์' ได้อย่าง 'เอนกอนันต์' หาใช่เหตุแห่ง 'ความอัปมงคล' แต่ประการใดไม่
หากเราไล่เรียงความหมายทั้งหมดใน 'วัฏจักรที่สี่' นี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่บทที่สามสิบเก้า (蹇 : jiǎn, เจี่ยน) อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'ความไม่สมประกอบ' แล้วมาจบลงตรงบทที่ห้าสิบ (鼎 : dǐng, ติ่ง) ซึ่งเอ่ยถึง 'อำนาจอันบริบูรณ์' เราก็คงพอจะเดาได้แล้วว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ได้ลำดับ 'ข้อคิด' และ 'คำแนะนำ' เกี่ยวกับ 'พัฒนาการ' ในลำดับขั้นต่างๆ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ 'การก่อตัว' ในบทที่สาม (屯 : zhūn, จุน) จนกลายมาเป็น 'ผู้ครองอำนาจ' ในบทที่ห้าสิบ (鼎 : dǐng, ติ่ง) นี้ไว้อย่างไรบ้าง ... ซึ่งหลายๆ ตำราก็มักจะอ้างอิงบทบันทึกหลายข้อใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ กับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคการก่อตั้งราชวงศ์โจวอยู่บ้างพอสมควร และผมก็เชื่อว่า น่าจะมีส่วนที่เป็นจริงได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน ... เพียงแต่ว่า ... 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ไม่ใช่ 'บันทึกทางประวัติศาสตร์' แต่เป็น 'บันทึกข้อคิด' และ 'บทเรียน' อันเนื่องมาจาก 'เหตุกรณ์ในประวัติศาสตร์' เพื่อให้ผู้ที่ศึกษา สามารถนำไป 'ประยุกต์ใช้' ในสถานการณ์อื่นๆ ได้อย่าง 'ไม่เฉพาะเจาะจง'
เมื่อพิจารณาเฉพาะที่เล่ามาแล้วตั้งแต่บทที่สี่สิบห้า (萃 : cuì, ฉุ้ย) ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' แล้วต่อด้วย 'การพัฒนาศักยภาพ' ในบทที่สี่สิบหก (昇 : shēng, เซิง) ซึ่งต้องอาศัย 'ความเพียรอย่างมีสติ' ในบทที่สิบเจ็ด (困 : kùn, คุ่น) และ 'การกำหนดกฎเกณฑ์' เพื่อจะ 'กระจายความรับผิดชอบ' ออกไปให้หลายๆ ฝ่ายช่วยกันดูแลในบทที่สี่สิบแปด (井 : jǐng, จิ่ง) อันจำเป็นมี 'ความยืดหยุ่นพลิกแพลงอย่างสร้างสรรค์' คือ 革 (gé, เก๋อ) ในบทที่สี่สิบเก้า เพื่อให้ 'โครงสร้างแห่งอำนาจ' ในบทที่ห้าสิบ (鼎 : dǐng, ติ่ง) มี 'ความมั่นคง' และสามารถ 'อำนวยประโยชน์' ให้แก่สาธารณชนได้อย่าง 'ทั่วถึง' และ 'ยั่งยืน' สืบไป ... นี่ก็คือ 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞) 6 หลักการ (萃,昇,困,井,革,鼎) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติของหยิน ที่ King Wen และ 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ให้เป็นข้อคิดของ 'หลักคุณธรรม' ที่จะต้องมีไว้เพื่อ 'กำกับอำนาจ' ใน 'วัฏจักรที่สี่' อันเป็น 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ดังที่ได้บอกไว้แล้วนั่นเอง ...