Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第三十五卦 : 晉

晉 : 火地晉 ‧ 離上坤下

晉 : 康侯用錫馬蕃庶‧晝日三接‧

  • 初六 : 晉如摧如‧貞吉‧罔孚‧裕無咎‧
  • 六二 : 晉如愁如‧貞吉‧受茲介福于其王母‧
  • 六三 : 眾允‧悔亡‧
  • 九四 : 晉如鼫鼠‧貞厲‧
  • 六五 : 悔亡‧失得勿恤‧往吉‧無不利‧
  • 上九 : 晉其角‧維用伐邑‧厲吉‧無咎‧貞吝‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ สงบนิ่ง (⚏) ; ปัญญา และพลานมัย ผ่อนสบาย (⚎) ;

ความหมายในเชิงบริหาร : การกระจายสินค้า (☲) ออกสู่ตลาดด้วยกระบวนการบริหารจัดการ (☷) ที่เหมาะสม

ความหมายของสัญลักษณ์ : เผยแผ่บารมี, ส่องสว่างไปทั่วหล้า



ความหมายของชื่อเรียก : Propagation : เผยแผ่บารมี


อักษร 晉 (jìn, จิ้น) พัฒนาความหมายมาจาก 'ภาพอักษร' ที่ประกอบด้วย 'ดวงอาทิตย์' อยู่ตรงด้านล่าง โดยมีเส้นยึกยือที่มองคล้ายกับ 'ไฟ' หรือ 'ต้นไม้' งอกขึ้นมาจาก 'แผ่นดิน' ที่แทนด้วยเส้นขวางเล็กๆ ระหว่างภาพของ 'ดวงอาทิตย์' กับเส้นยึกยือตรงด้านบน ... ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' จึงหมายถึง 'ความสุกสว่างของดวงอาทิตย์ขณะที่กำลังจะโผล่พ้นขอบฟ้า' หรือ 'การผลิบานของพืชพรรณด้วยพลังความสนับสนุนจากดวงอาทิตย์' ซึ่งกลายมาเป็นความหมายในปัจจุบันว่า 'ก้าวหน้า', 'เติบโต', 'เพิ่มพูน', 'ส่งเสริม', หรือ 'สนับสนุน'

ผมต้องยอมรับเลยครับว่า การที่ King Wen เลือกใช้อักษร 晉 (jìn, จิ้น) ซึ่งมีความหมายในลักษณะของ 'ความเจริญรุ่งเรืองที่กำลังปรากฏออกมาให้เป็นที่ประจักษ์' ควบคู่กับ 'ภาพสัญลักษณ์' (䷢) ที่มี 'ไฟ' (☲ : 離 : lí, ลี๋) ลุกโชติช่วงอยู่เหนือ 'แผ่นดิน' (☷ : 坤 : kūn, คุน) ในบทที่ต่อมาจาก 'ความรู้จักประมาณตน' (遯) และ 'การเสริมสร้างบารมี' (大壯) นั้น เป็นความลงตัวที่สวยงามมากๆ ... แล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูวลีต้นเรื่องที่ 'จิวกง' บันทึกเอาไว้ในวรรคที่สามของบทที่สอง ประกอบกับถ้อยคำของ King Wen เองในบทที่สิบเอ็ด และบทที่ยี่สิบสามอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เราก็จะเห็นการผสมผสานความหมายที่สอดรับกันอย่างรวบรัดหมดจดจริงๆ ... :)

'จิวกง' เลือกถ้อยคำมาบันทึกไว้ในวรรคที่สามของบทที่สองว่า 含章可貞 或從王事 無成有終 (hán zhāng kě zhēn huò cóng wáng shì wú chéng yǒu zhōng, ฮั๋น จัง เข่อ เจิน ฮั่ว ช๋ง วั๋ง ษื้อ อู๋ เฌิ๋ง โหฺย่ว ง) ซึ่งความหมายก็คือ 'ทุกๆ เรื่องราวที่แม้จะไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเบื้องแรก แต่บั้นปลายก็ย่อมต้องมีผลสรุปที่แน่นอนเสมอ เหมือนดังเช่นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น' ... ประเด็นสำคัญของวลีดังกล่าวก็คือ ความสำเร็จไม่ใช่สื่งที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถเสกสร้างขึ้นมาอย่างเร่งร้อน แต่ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นจากการหลอมรวมเหตุปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ในกาละ-เทศะที่เหมาะสมเท่านั้น !!

พอมาถึงบทที่สิบเอ็ดซึ่งว่าด้วย 'การบรรลุเป้าหมาย' (泰 : Zenithization) King Wen ก็บันทึกคำบรรยายไว้ว่า 小往大來 吉亨 (xiǎo wǎng dà lái jí hēng, เสี่ยว หฺวั่ง ต้า ไล๋ จี๋ เฮิง) ซึ่งหมายถึง 'การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรู้จักประมาณกำลังตนเอง ย่อมจะสั่งสมจนเป็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด นี่คือพัฒนาการแห่งความเจริญรุ่งเรือง' ...

แล้วก็บทที่ยี่สิบสามซึ่งว่าด้วย 'การกระจายความรับผิดชอบ' ( 剝 : Unraveling) King Wen เปลี่ยนมาบันทึกด้วยถ้อยคำที่ว่า 不利有攸往 (bù lì yǒu yōu wǎng, ปู้ ลี่ โหฺย่ว โยฺว หวั่ง) หรือ 'ความไม่รีบร้อนผลีผลามโดยไม่ดำเนินการอย่างสุ่มเสี่ยง ย่อมได้รับผลตอบสนองที่ดีในบั้นปลายเสมอ' ...

จะเห็นว่า การที่ King Wen เลือกใช้ภาพของ 'ดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า' (晉 หรือ ䷢) มาเป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ ได้ช่วยสะท้อนความหมายของ 'ความเรืองรองที่กำลังปรากฏขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นความปรกติธรรมดาที่ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถเร่งเร้าหรือหยุดยั้งได้เลย' ... ช่างเป็นความลงตัวที่พอดิบพอดีกับความหมายทั้งหมดของถ้อยคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นความสวยงามทางภาษาที่หาได้ยากจริงๆ ... ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่า คำแปลของ 'ชื่อบท' ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบทที่สามสิบห้านี้ก็คือ Propagation เพื่อให้ต่อเนื่องจาก 'ความรู้จักประมาณตน', 'การเสริมสร้างคุณงามความดี' เพื่อบ่มเพาะ และบำรุงบารมีให้เติบใหญ่แก่กล้า จากนั้นก็ควรจะได้เวลาในการ 'เผยแผ่คุณงามความดีไปสู่ผู้อื่นในวงที่กว้างออกไป' โดยผมใช้คำภาษาไทยสั้นๆ เพียงแค่ 'เผยแผ่บารมี' เท่านั้น ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
康侯用錫馬蕃庶晝日三接
kāng hóu yòng xī mǎ fán shù zhòu rì sān jiē
คัง โฮ๋ว โยฺว่ง ซี หฺม่า ฟั๋น ษู้ โจ้ญื่อ ซัน เจีย


康 อ่านว่า kāng (คัง) แปลว่า 'สุข', 'สงบ', 'เรียบง่าย', 'สบาย', 'พลานมัยแข็งแรง' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'ปรอดโปร่ง', 'โล่ง', 'กว้าง' ; และจากอาการที่ 'เงียบสงบ' ก็เลยแฝงความหมายว่า 'ดุลยภาพ', 'สมดุล', หรือ 'ทำให้สมดุล' เอาไว้ด้วย

侯 อ่านว่า hóu (โฮ๋ว) หรือ hòu (โฮ่ว) เป็นชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางชั้นสูงของจีนในสมัยก่อน บางครั้งจึงสามารถหมายถึง 'ชั้นสูง', 'เป็นเลิศ' หรือ 'สวยงาม' แล้วก็เลยหมายถึง 'การประดับ' และ 'การตกแต่ง' ได้ด้วย ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งจะแปลว่า 'เป้าหมาย' ซึ่งแผลงมาจากความหมายของ 'เป้าธนู' … นั่นอาจจะเพราะ 'ความเป็นเลิศ'  คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะบรรลุถึง (เหมือนต้องการยิงธนูให้ปักลงตรงกลางเป้า) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อักษร 侯 (hóu, โฮ๋ว) ปรากฏอยู่ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับเพียง 4 ครั้งเท่านั้นคือ บทที่สาม, บทที่สิบหก, บทที่สิบแปด, และบทที่สามสิบห้าที่เรากำลังพยายาม 'ตีความ' อยู่ในขณะนี้ แต่จากความหมายที่อธิบายไว้ในทั้งสามบทที่เอ่ยถึง 侯 (hóu, โฮ๋ว) ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายของ 'ขุนนาง' เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่มันถูกใช้ในความหมายของ 'เป้าหมาย' หรือ 'ผลลัพธ์ที่ต้องการ' มาโดยตลอด !!??!! ... นอกจากนั้นแล้ว ในบทที่สาม และบทที่สิบหก มันก็ยังถูกใช้คู่กับคำว่า 建 (jiàn, เจี้ยน) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ 健 (jiàn, เจี้ยน) ที่แปลว่า 'มีสุขภาพพลนามัยสมบูรณ์' หรือ 'แข็งแรง' อันเป็น synonyms กับคำว่า 康 (kāng, คัง) ในบทนี้อีกด้วย !! ... ดังนั้น ... จึงมีความเป็นไปได้ว่า 康侯 (kāng hóu, คัง โฮ๋ว) ที่เราเห็นในวรรคนี้ อาจจะถูก 'จิวกง' ใช้ในความหมายเดียวกับ 建侯 (jiàn hóu, เจี้ยน โฮ๋ว) ที่เราเคยเจอมาก่อนหน้านี้แล้ว ... ก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน ??!! ... ;)

錫 อ่านว่า xī (ซี) ถ้าใช้เป็นคำนาม จะหมายถึง 'สังกะสี' หรือ Stannum (Sn) ซึ่งเป็นธาตุโลหะชนิดที่มีสีเงินแวววาว เป็นสินแร่ที่หาพบได้ง่าย และราคาไม่แพง มีคุณลักษณะที่อ่อนหยุ่น สามารถยืดหดตัวได้ง่าย แต่เนื่องจากมีความเสถียรสูงต่อการทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน จึงมักจะถูกใช้เป็นสารเคลือบผิวให้กับโลหะชนิดอื่น เพื่อป้องกันการกัดกร่อน หรือใช้เป็นธาตุประกอบหลักในการผลิตโลหะอัลลอยด์ชนิดต่างๆ ถ้าเอามาทอเป็นเส้นใยจะเรียกว่า 緆 (xī, ซี) ซึ่งบางครั้งจะหมายถึง 細 (xī, ซี) ที่แปลว่า 'ผ้าไหม' ; หากใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายเหมือนกับ 賜 (cì, ชื่อ) ที่แปลว่า 'มอบให้', 'ให้รางวัล', หรือ 'ของรางวัล' หรือ 'การให้ผลประโยชน์' ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ในความหมายของ 'การให้' ที่ผู้ใหญ่เป็นผู้มอบให้แก่ผู้น้อย

蕃 อ่านว่า fán (ฟั๋น) ปรกติก็แปลว่า 'รั้ว', 'เขตแดน', หรือ 'แนวป้องกัน' ; บางครั้งถ้าใช้ในความหมายว่า 'นอกรั้ว' หรือ 'นอกเขตแดน' ก็จะแผลงเป็นความหมายว่า 'เพื่อนบ้าน', หรือ 'ต่างถิ่น' (foreign) ได้ด้วย ; แต่พอใช้ในลักษณะของ 'ในรั้ว' ก็จะแผลงเป็น 'หรูหรา', 'พอกพูน', 'มากมาย' หรือ 'ขยายตัว'

庶 อ่านว่า shù (ษู้) แปลว่า 'มากมาย', 'หลากหลาย' ; แต่บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'ประชาชน' หรือ 'สาธารณชน' ได้เหมือนกัน

晝 อ่านว่า zhòu (โจ้ว) แปลว่า 'กลางวัน' ; หรือ 'แสงสว่าง', 'ความสว่าง' (ของเวลากลางวัน)

接 อ่านว่า jiē (เจีย) แปลว่า 'ได้รับ', 'จับ', 'ฉวย', 'คว้า', 'สัมผัส', หรือ 'เชื่อมโยง'

อักษรที่พาให้หลงทิศหลงทางไปกันใหญ่ก็คือ 三 (sān, ซัน) ที่แปลว่า 'สาม' นี่แหละ เพราะคำนี้ถ้าแปลกันตามความหมายปรกติก็คือ 'จำนวนสาม' แต่ความหมายแฝงของมันก็คือ 'มากกว่าสอง' หรือ 'มากกว่าการซ้ำ' ซึ่งก็คือ 'บ่อยๆ' ... แต่ว่า ... ถ้าคนที่มาทางสาย 'ศาสนาคริสต์' ก็อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า The Trinity อันหมายถึง พระบิดา, พระบุตร, และพระจิต ส่วนผู้ที่มาทางสาย 'ศาสนาฮินดู' ก็น่าจะคุ้นเคยกับ Trimurti (ตรีมูรติ) อันหมายถึง พระพรหม, พระวิษณุ, และพระศิวะ ในขณะที่ 三 (sān, ซัน) ในทัศนะแบบ 'ลัทธิเต๋า' ก็คือ ฟ้า, ดิน, และมนุษย์ ... ดังนั้นวลีที่ว่า 晝日三接 (zhòu rì sān jiē, โจ้ญื่อ ซัน เจีย) อาจจะไม่ได้แปลว่า 'ได้รับเครื่องบรรณาการสามครั้งในวันเดียว' อย่างที่ทุกตำราเชื่ออย่างนั้นก็ได้ ... !!??!!??

อีกตัวหนึ่งที่สร้างความงุนงงจนต้อง 'ตีความ' กันหลายตลบก็คือคำว่า 馬 (mǎ, หฺม่า) ที่แปลว่า 'ม้า' ธรรมดาๆ นี่แหละ อักษร 馬 (mǎ, หฺม่า) ปรากฏให้เห็นใน 'คัมภีร์อี้จิง' ครั้งแรกตรงวลีของ King Wen เอง ที่บันทึกคำอธิบายไว้ให้กับบทที่สอง ... ย้ำนะครับว่า 'บทที่สอง' ซึ่งเป็นบทที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับบทนี้โดยตรงดังที่ได้อธิบายไปแล้ว ... เพราะฉะนั้น ... จึงมีความเป็นไปได้ว่า 馬 (mǎ, หฺม่า) ที่เราเห็นอยู่นี้ King Wen อาจจะต้องการให้หมายถึงวลีเต็มๆ ว่า 牝馬之貞 (pìn mǎ zhī zhēn, พิ่น หฺม่า จือ เจิน) หรือ 'ความมุมานะ และความอดทนเยี่ยงแม่ม้า' ... รึเปล่า ??!!

มีบางตำราที่ 'ตีความ' อักษร 馬 (mǎ, หฺม่า) ในที่นี้ไปไกลว่านั้นอีกนะครับ โดยเขา 'ตีความ' ให้มันหมายถึง 'ตำแหน่งของเวลาในแต่ละวัน' ซึ่งเวลาดังกล่าวก็คือเวลา 11:00 ถึง 13:00 หรือช่วง 'เที่ยงวัน' อันเป็นช่วงเวลาที่ถือกันว่า ดวงอาทิตย์มีความสุกสว่างมากที่สุดของวัน ... อาจจะไม่ถึงกับตรงความหมายตามภาพอักษรอย่าง 晉 (jìn, จิ้น) มากนัก แต่มันก็มีความเกี่ยวข้องกับ 'ความสุกสว่าง' (晝) และ 'ดวงอาทิตย์' (日) อย่างตรงๆ ตัว ... แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หากเรานำ 'เวลาหฺม่า' ที่ว่านี้ไปเขียนลงใน 'แผนผังโป้ยก่วย' ตำแหน่งที่ตรงกับมันก็คือ 'ทิศใต้' พอดี อันเป็นทิศที่ใช้สัญลักษณ์ ☰ (乾 : qián, เชี๋ยน) ตามแผนผังของ Fu Xi แต่ทิศดังกล่าวจะใช้สัญลักษณ์ ☲ (離 : lí, ลี๋) หรือ 'สัญลักษณ์ไฟ' ตามแผนผังของ King Wen เอง และเป็นส่วนหนึ่งของ 'สัญลักษณ์ประจำบท' นี้ด้วย (䷢) ... แล้วถ้าจะ 'ตีความ' กันตามนี้จริงๆ 馬 (mǎ, หฺม่า) ย่อมต้องหมายถึง 'ความสุกสว่างแห่งธรรม' อันเนื่องมาจากการมี 'หยิน' อยู่ภายใน 'หยาง' นั่นเอง

ผมอยากจะให้ความหมายกับวลีที่สลับซับซ้อนนี้ของ King Wen ว่า 'ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน (康侯) นั้น ย่อมต้องอาศัย (用) การอุทิศตน (錫) อย่างมุ่งมั่น และอดทน (馬 ราวกับม้า) เพื่อประโยชน์สุข (蕃) แห่งสาธารณชน (庶) เหมือนดังเช่นความสุกสว่าง (晝) แห่งดวงตะวัน (日) ที่ทั้งสามภพ (三 คือฟ้า, ดิน, และมนุษย์) ล้วนได้รับ (接) คุณประโยชน์ฉันนั้น' ... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะครับ เพราะตัวอักษรทั้งหมดที่ King Wen บันทึกเอาไว้ สามารถผูกโยงความหมายให้ออกมาเป็นอย่างนี้ได้จริงๆ ... :D

การจะ 'เผยแผ่ความดีให้ไพศาล' ในทัศนะของ King Wen จึงไม่ใช่ 'การเลือกปฏิบัติ' ต่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่จะต้องปฏิบัติต่อทุกผู้คนด้วยคุณงามความดีที่สม่ำเสมอดุจเดียวกัน ... 'ความเจริญรุ่งเรือง' ที่ทุกผู้คนล้วนปรารถนา หากกระจุกตัวอยู่กับเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิด 'ความขัดแย้ง' ที่นับวันก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ 'ความฉิบหายล่มจม' ของทุกๆ ฝ่ายไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันจึงไม่ใช่ 'ความเจริญอันยั่งยืน' (康侯) ที่ทุกฝ่ายล้วนต้องการอย่างแท้จริง ... 'การอุทิศตนเพื่อผู้อื่น' ด้วย 'ความมุ่งมั่น' และ 'ความอดทน' เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างสรรค์สังคมที่เจริญก้าวหน้าอย่างผาสุกขึ้นมาได้ !!



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

晉如摧如貞吉罔孚裕無咎
jìn rú cuī rú zhēn jí wǎng fú yǜ wú jiù
จิ้น ญู๋ ชุย ญู๋ เจิน จี๋ หฺวั่ง ฟู๋ ยฺวี่ อู๋ จิ้ว


如 อ่านว่า rú (ญู๋) แปลว่า 'ดังนั้น', 'เหมือน', 'คล้าย', 'ประหนึ่งว่า', 'ราวกับว่า', 'เช่นว่า' ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นคำเชื่อมประโยค

摧 อ่านว่า cuī (ชุย) แปลว่า 'ทำให้แตกหัก', 'ทำให้เสียหาย', 'ทำลาย', 'ทำให้ฟ่ายแพ้', หรือ 'ทำให้ยอมจำนน' ; และสามารถแปลว่า 'พังทลาย', หรือ 'เจ็บปวด' ก็ยังได้ด้วย

罔 (wǎng, หฺวั่ง) เล่าไปเมื่อบทที่แล้วว่า คำนี้มีความหมายแปลกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะปรกติมันจะแปลว่า 'ใส่ร้ายป้ายสี', 'หลอกลวง', 'ทำให้เข้าใจผิด' จนเพี้ยนไปเป็นความหมายว่า 'ทำให้สับสน', 'ไม่ซื่อสัตย์', หรือ 'ไม่รู้สึกรู้สา' จนทำให้บางครั้งก็ถูกใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธว่า 'ไม่', 'ไม่มี', 'ไม่ต้องการ' ซึ่งน่าจะพัฒนาความหมายมาจาก 'ความไม่มีแก่นสาร' นั่นเอง ... :P ... ; ในขณะที่สมัยโบราณ อักษรตัวนี้เคยมีความหมายเช่นเดียวกับ 網 (wǎng, หฺวั่ง) หรือ 网 (wǎng, หฺวั่ง) ที่แปลว่า 'แห', หรือ 'ตาข่าย' ได้อีกด้วย

裕 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ร่ำรวย', 'มากมาย', 'เหลือเฟือ', 'สุขสบาย', 'ไม่ต้องเหนื่อยยาก' หรือ 'ไม่ต้องใช้ความพยายาม'

เมื่อปะติดปะต่อถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้แล้ว เราก็พอจะเห็น 'ความต่อเนื่อง' มาจากบทที่สามสิบสี่ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า เมื่อผ่านพ้นจากขั้นตอนของ 'การสั่งสมบารมี' (大壯) จนเติบกล้า ย่อมนำไปสู่ 'การเผยแผ่อิทธิพล' (晉) หรือ 'การสร้างความยอมรับ' ในวงสังคมที่กว้างออกไป ซึ่งประเด็นนี้ 'จิวกง' ก็ได้สำทับไว้อย่างชัดเจนว่า 'การเผยแผ่บารมีในลักษณะที่คล้ายดั่งการหักหาญผู้อื่นนั้น (晉如愁如) ต้องตั้งมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (貞) จึงจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ต้องรู้จักปล่อยวางด้วยอุเบกขา (罔) และทุ่มเทฟูมฟักอย่างมีความเข้าอกเข้าใจ (孚) ; ความไม่แข็งขืนดึงดันเอาแต่ใจตน (裕 คือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่หักโหม) ย่อมไม่นำไปสู่ความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ...

ผมมองว่า 'จิวกง' เล่นความหมายของถ้อยคำให้ล้อกับ 'ภาพอักษร' ของ 晉 (jìn, จิ้น) ได้อย่างน่ารักมาก เพราะ 'การโผล่พ้นขอบฟ้าของดวงตะวัน' หรือ 'การงอกเงยของพืชพรรณ' นั้น ล้วนมีลักษณะที่ 'ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ' แต่มี 'ความแน่นอน' ตาม 'ลำดับขั้นตอน' ที่ 'เหมาะสม' ในแต่ละ 'วัฏจักร' ของมันเสมอ ... 'การเผยแผ่บารมี' หรือ 'การเผยแผ่ความดี' ที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมากกับ 'การแผ่ขยายอิทธิพล' ก็ตาม ... แต่ว่า ... มันก็ยังแฝงความหมายของ 'การแก้ไขเปลี่ยนแปลง' จาก 'สิ่งที่ไม่ถูกต้อง' ให้กลายเป็น 'สิ่งที่ถูกต้อง' ... หรือ ... 'การประหัตประหารความต่ำช้าเลวทราม' ให้หมดสิ้นไปนั่นเอง ... ซึ่งก็แน่นอนว่า มันย่อมต้องมี 'การต่อต้านแข็งขืน' จากผู้ที่ยังยึดติดอยู่กับขนบเก่าๆ อันผิดพลาดทั้งหลายเหล่านั้นไม่มากก็น้อย ... 'การยัดเยียดความดี' ให้ทุกผู้คน 'ต้องยอมรับ' จึงไม่น่าจะเป็นวิถีปฏิบัติที่ได้ผล และสิ่งที่ 'จิวกง' พยายามจะบอกกับพวกเราก็คือ จงกระทำด้วย 'ความปล่อยวาง' รู้จัก 'ผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างเหมาะสม' เพื่อค่อยๆ 'หล่อหลอมฟูมฟัก' อย่าง 'ค่อยเป็นค่อยไป' ... และ ... นี่ก็คือคำอธิบายความหมายของ 'การอุทิศตนด้วยความมุ่งมั่น และอดทนเพื่อประโยชน์สุขแห่งสาธารณชน' (錫馬蕃庶) ที่ King Wen เอ่ยถึงนั่นเอง ... ;)

 

สอง หยิน :

晉如愁如貞吉受茲介福于其王母
jìn rú chóu rú zhēn jí shòu zī jiè fú yǘ qí wáng mǔ
จิ้น ญู๋ โฌ๋ญู๋ เจิน จี๋ โษ้ว จือ เจี้ย ฟู๋ ยฺวี๋ ชี๋ วั๋ง หฺมู่


愁 อ่านว่า chóu (โฌ๋ว) แปลว่า 'คับข้องใจ', 'เคียดแค้น', 'กังวล', หรือ 'กลัดกลุ้ม'

受 อ่านว่า shòu (โษ้ว) แปลว่า 'ได้รับ', 'แบกรับ', 'ทนทุกข์'

茲 อ่านว่า zī (จือ) แปลว่า 'นี้', 'เดี๋ยวนี้', 'ปัจจุบัน', หรือ 'ปี'

介 อ่านว่า jiè (เจี้ย) ปรกติจะแปลว่า 'แทรกอยู่ระหว่างกลาง', บางครั้งใช้เป็นคำเชื่อมแบบบุรพบทเหมือนกับ in, at, by, to เพื่อบ่งบอกทิศทาง หรือระยะเวลาที่ต่อเนื่อง 'จาก (จุดหนึ่ง) ไปยัง (อีกจุดหนึ่ง)' ; จากความหมายที่แปลว่า 'อยู่ตรงกลาง' บางครั้งจึงแปลว่า 'ใส่ใจ', 'เอาใจใส่' ; สามารถแปลว่า 'เสื้อเกราะ' หรือ 'เปลือกแข็ง' ที่เป็นผิวนอกของสิ่งมีชีวิตก็ได้

福 (fú, ฟู๋) หมายถึง 'โชคลาภ', 'โชคดี' หรือ 'ความสุข', 'ความเจริญรุ่งเรือง' ; บางทีก็มีความหมายคล้ายๆ กับ 'ผลประโยชน์' หรือ 'โชคลาภที่ได้รับมา' ด้วย เป็นคำที่ที่พบเห็นบ่อยซะจนแทบจะไม่เคยเขียนคำแปลเอาไว้ให้เลย ... :P

ส่วนคำว่า 母 (mǔ, หฺมู่) นั้นรู้กันทั่วไปว่าหมายถึง 'แม่' หรือ 'มารดา' ซึ่งถือว่าเป็น 'เพศหยิน' ที่ทำหน้าที่คอย 'อุปถัมภ์ค้ำชู' สรรพชีวิตทั้งมวล แต่การแปลคำว่า 王母 (wáng mǔ, วั๋ง หฺมู่) ให้หมายถึง 'มารดาของพระราชา' หรือ 'ฮองเฮา' นั้นจะทำให้ความหมายของวลีนี้กลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในทันที เพราะมันจะชวนให้คิดไปว่า เมื่อใดที่ขุนนาง (侯) มีปัญหาคับข้องใจ (愁) ก็ให้วิ่งแร่ดไปของความอนุเคราะห์ (福) จากฮองเฮา (王母) อันเป็นชนวนที่นำไปสู่ 'ความขัดแย้งที่เลวร้าย' ระหว่าง 'การปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของผู้นำ' กับ 'หน้าที่ของบุตรที่พึงปฏิบัติต่อบุพการี' ซึ่งก่อความฉิบหายวุ่นวายมาแล้วในหลายยุคหลายสมัย ... ดังนั้น จึงขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า จะไม่มีการแปลความหมายของ 王母 (wáng mǔ, วั๋ง หฺมู่) ในที่นี้ว่า 'ฮองเฮา' หรือ 'มารดาของพระราชา' อย่างแน่นอน ... ;) ... อีกอย่าง ... คำว่า 母 (mǔ, หฺมู่) นอกจากจะแปลว่า 'แม่' หรือ 'มารดา' แล้ว ก็ยังสามารถแปลว่า 'ต้นกำเนิด', 'ต้นตอ', หรือ 'ผู้มีอุปการคุณ' ของสรรพสิ่งได้ด้วย ; และยังใช้เป็นสรรพนามเพื่อเรียก 'หญิงผู้มีอาวุโส' แบบเดียวกับที่ประเพณีไทย มักจะเรียกผู้สูงวัยด้วยคำเดียวกับเครือญาติเหมือนกัน

ถ้อยคำในวรรคนี้เป็นส่วนต่อขยายให้กับวรรคแรกอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ เลยครับ เพราะในเมื่อเรา 'ไม่หักหาญเอาแต่ใจตน' ก็ย่อมหมายความว่า 'การเผยแผ่คุณธรรมความดี แม้จะคล้ายดั่งต้องแบกรับความคับข้องขัดเคืองอยู่บ้าง (晉如愁如) ก็ยังต้องตั้งมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (貞) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (吉) ให้ปรากฏ การยอมโอนอ่อน (受) ให้แก่ประโยชน์เฉพาะหน้าที่ผิวเผิน (茲介福 คือไม่ขัดต่อรากฐานแห่งหลักคุณธรรม) ย่อมเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ที่สำคัญยิ่งกว่าของทุกๆ ฝ่าย (于其王母)' ... จะเห็นว่า 王 (wáng, วั๋ง) ในที่นี้ได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 王福 (wáng fú, วั๋ง ฟู๋) หรือ 'ประโยชน์หลัก' ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า 介福 (jiè fú, เจี้ย ฟู๋) หรือ 'ประโยชน์ที่ผิวเผิน' ซึ่งไม่ใช่ 'สาระสำคัญของเป้าหมาย' ... ส่วน 母 (mǔ, หฺมู่) ในที่นี้ก็ได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'ผู้เสียสละ' หรือ 'ผู้ให้การอุปถัมภ์' แก่ 王福 (wáng fú, วั๋ง ฟู๋) เช่นเดียวกับ 'มารดา' ที่ต่างก็ 'ยอมอุทิศตน' เพื่อ 'ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตของบุตร' ทุกๆ คนนั่นเอง

ความจริงแล้ว 介福 (jiè fú, เจี้ย ฟู๋) ยังสามารถที่จะแปลว่า 'ประโยชน์ต่างตอบแทน' ก็ได้ นั่นหมายความว่า ใน 'การเผยแผ่บารมี' ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น ย่อมไม่ควรที่จะ 'เอาแต่ได้' อยู่ฝ่ายเดียว การถือเอา 'ประโยชน์ร่วมกันที่ไม่ขัดต่อหลักการสำคัญของทุกๆ ฝ่าย' จึงเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้อง 'ยอมรับในประโยชน์เพียงเท่าที่พอ' (受茲介福) เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปยัง 'เป้าหมายหลัก' (王福) ได้อย่างราบรื่น ... เป็นอีกหนึ่งวลีที่แสดงออกถึงความแหลมคมในการเลือกใช้ถ้อยคำของ 'จิวกง' ได้อย่างน่าประทับใจมากๆ ... ;)

 

สาม หยิน :

眾允悔亡
zhòng yǚn huǐ wáng
จ้ง หยฺวิ่น หุ่ย วั๋ง


眾 อ่านว่า zhòng (จ้ง) แปลว่า 'มากมาย', 'ล้นหลาม' และบ่อยครั้งที่มันจะใช้ในความหมายว่า 'ฝูงชน'

允 อ่านว่า yǚn (หยฺวิ่น) ความหมายดั้งเดิมแปลว่า 'จริงใจ', 'เชื่อใจ', 'ไว้วางใจ' ; ปัจจุบันยังใช้ในความหมายว่า 'ยุติธรรม', 'เชื่อถือได้', 'ตอบรับ' ; และแผลงมาเป็น 'อนุญาต', 'เชื่อถือ' หรือ 'ให้ความเคารพ'

เมื่อผ่านปริศนาในถ้อยคำของสองวรรคแรกมาแล้ว วรรคนี้ก็เหมือนกับจะ 'ถอดความ' ออกมาได้ง่ายๆ แค่ว่า 'หากได้รับฉันทานุมัติจากมหาชน (眾允) ความคับข้องขัดเคือง หรือสิ่งที่ต้องวิตกกัววลใดๆ ย่อมหมดสิ้น (悔亡)' นั่นก็คือทุกอย่างย่อมดำเนินไปอย่างราบรื่น ... แต่มันง่ายขนาดนั้นจริงรึเปล่าล่ะ ??!! ... :D ...

เอาความหมายตรงๆ ตัวที่ผม 'ถอดความ' ไว้ก่อนแล้วกัน ... ผมไม่แปล 眾允 (zhòng yǚn, จ้ง หยฺวิ่น) ด้วยความหมายว่า 'ความยอมรับของมหาชน', หรือ 'ความไว้วางใจจากมหาชน' ลอยๆ หรอกนะครับ เพราะอยากจะเน้นว่า มันควรจะเป็น 'ฉันทะ' + 'อนุมัติ' ซึ่งหมายถึง 'การอนุมัติให้ไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นกุศล' เพื่อจำแนกความหมายให้ขาดจาก 'ตัณหานุมัติ' ที่เป็น 'การอนุมัติให้ไปบำรุงบำเรอพฤติกรรมที่นำไปสู่ความเสื่อม' เนื่องจากบางครั้งมหาชนก็อาจจะตกอยู่ในอาการที่หลงผิดได้เหมือนกัน ... :)

ซึ่งถ้าพิจารณาในมุมมองที่มหาชนอาจจะตกอยู่ใน 'ความหลงผิด' ได้ในบางครั้งบางกรณี ความหมายของวรรคนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันทีว่า 'ความยอมรับที่มหาชนจะมอบให้ด้วยความเคารพยำเกรง (眾允) นั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะการละทิ้งความคับข้องใจในทางส่วนตัวให้หมดสิ้นไป (悔亡)' ... เพราะถ้าจำกันได้ 悔 (huǐ, หุ่ย) นั้นแปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', 'คับข้องใจ' แต่มันคือ repent ที่แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากความเสียใจ หรือความคับข้องจในแบบอื่นๆ ... ในขณะเดียวกัน ความหมายที่ว่านี้ก็จะสอดรับกับสองวรรคแรกอย่างลงตัวด้วยว่า ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยความหักหาญ (摧) หรือความโอนอ่อนผ่อนตาม (愁) ล้วนกระทำลงไปเพื่อ 'ประโยชน์สุขของส่วนรวม' โดยมิได้คำนึงถึงผลได้ผลเสียใดๆ ในทางส่วนตัวเลยแม้แต่น้อย ... นี่คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำที่ดูเหมือนง่ายๆ ของ 'จิวกง' ในวรรคนี้

 

สี่ หยาง :

晉如鼫鼠貞厲
jìn rú shí shǔ zhēn lì
จิ้น ญู๋ ซื๋ษู่ เจิน ลี่


鼫鼠 อ่านว่า shí shǔ (ซื๋ษู่) เป็นคำที่ใช้เรียกสัตว์ประเภท 'กระรอก', หรือสัตว์ที่อยู่สายพันธุ์ประเภท rodents ทั้งหลายที่มีนิสัยชอบกัดแทะสิ่งของ

ทีเด็ดของ 'จิวกง' ต้องยกให้กับวรรคนี้เลยครับ และผมถือว่านี่คือถ้อยคำที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า 'การสร้างประชานิยม' ในแบบฉบับของ 'จิวกง' ซึ่งเป็น 'นักการปกครองชั้นบรมครู' นั้น จะต้องเป็น 'ประชานิยมที่มีขอบเขตและกฎเกณฑ์' เสมอ จึงจะไม่เป็น 'การบ่อนทำลายคุณธรรม' (貞厲) ในระยะยาว เพราะ 'คุณธรรม' ย่อมไม่ใช่มีความหมายเพียงแคบๆ ว่า 'ความดี' แต่มันจะต้องหมายถึง 'ข้อปฏิบัติ หรือธรรมที่เป็นคุณ' เท่านั้น !!

บุพการีที่เลี้ยงดูบุตร-ธิดาอย่างปล่อยปละละเลยให้เอาแต่ใจ โดยไม่ยอมดุด่าว่ากล่าว หรือไม่ยอมทำโทษเมื่อมีการกระทำความผิดใดๆ เพราะเกรงว่าบุตร-ธิดาจะโกรธเกลียดตนเองนั้น ย่อมเป็นการปลูกฝังสันดานที่เลวร้ายให้เติบใหญ่แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต สมาชิกสังคมประเภทนี้ ย่อมทำให้กฎระเบียบ (貞) ต่างๆ ทางสังคมมีอันต้องล่มสลาย (厲) ลงไปในที่สุด เพราะมิได้รับบ่มเพาะ 'ธรรมอันเป็นคุณ' (คุณธรรม) ใดๆ ที่จะก่อประโยชน์แก่สังคมไว้เลยแม้แต่น้อย ... 'การสร้างประชานิยม' ที่ทำให้ผู้คนในสังคมรู้จักแค่ 'ความมักง่ายเอาแต่ได้' ประพฤติปฏิบัติตนราวกับ 'สัตว์เลี้ยง' ที่คอยแต่จะทวงถามผลประโยชน์ โดยไม่เคยคิด หรือไม่เคยฝึกฝนให้รู้จักขวนขวายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของตนเอง และสังคมโดยรวมเลยนั้น ย่อมถือเป็น 'ประชานิยมที่บ่อนทำลายความเจริญ' อย่างไม่ควรนำมาเป็นเยี่ยงอย่าง ...

'บารมีที่แผ่ไพศาล (晉) ด้วยจิตวิญญาณที่คล้ายดั่งมุสิก (如鼫鼠 คือดีแต่ใช้พระคุณในการเอื้อประโยชน์ แต่ไม่กล้าใช้พระเดชในการปกครอง) ย่อมเป็นการบ่อนทำลายระบบคุณธรรม และกฎระเบียบทั้งหลายทั้งปวง (貞厲)' ... นี่คือความหมายที่กำกับให้ 眾允 (zhòng yǚn, จ้ง หยฺวิ่น) ไม่ควรมุ่งเน้นอยู่ที่ 'การเป็นที่ยอมรับของมหาชน' เท่านั้น ... แต่ 'ผู้นำที่ดี' จะต้องรู้จักใช้ทั้ง 'พระเดช' (晉如摧如) และ 'พระคุณ' (晉如愁如) เพื่อ 'ผดุงคุณธรรมให้ปรากฏ' (貞吉) จึงจะสามารถ 'สร้างความเคารพยำเกรง' และ 'เป็นที่ยอมรับของมหาชน' (眾允) อย่างมีศักดิ์ศรีที่เต็มภาคภูมิ

 

ห้า หยิน :

悔亡失得勿恤往吉無不利
huǐ wáng shī dé wù xǜ wǎng jí wú bù lì
หุ่ย วั๋ง ซือ เต๋อ อู้ ซฺวี่ หฺวั่ง จี๋ อู๋ ปู้ ลี่


恤 อ่านว่า xǜ (ซฺวี่) แปลว่า 'เห็นอกเห็นใจ', 'เมตตา', 'เป็นห่วงกังวล'

แม้ว่าถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคนี้น่าจะประมวล 'ความเกี่ยวข้อง' กับวรรคที่หนึ่ง, วรรคที่สอง, และวรรคที่สามเอาไว้หลายส่วนก็ตาม แต่เนื้อหาหลักๆ ของวรรคนี้ก็ยังโยงใยกับวรรคที่สองเป็นหลักอยู่ดี โดยเฉพาะคำว่า 失得勿恤 (shī dé wù xǜ,  ซือ เต๋อ อู้ ซฺวี่) ที่หมายถึง 'ไม่ว่าจะสูญเสียหรือได้รับ ล้วนไม่พึงต้องวิตกกังวล' นั้น ก็คือถ้อยคำที่กำกับความหมายให้กับ 受茲介福 (shòu zī jiè fú, โษ้ว จือ เจี้ย ฟู๋) หรือ 'การยอมรับในประโยชน์เพียงเท่าที่พอ' ซึ่งเป็น 'ประโยชน์ต่างตอบแทน' ที่จะต้องมีทั้ง give (失) และ take (得) นั่นเอง

ในอีกทางหนึ่ง หากเราพิจารณาคำว่า 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ด้วยความหมายที่อธิบายไว้ในวรรคที่สามว่า 'การละทิ้งความคับข้องใจในทางส่วนตัวให้หมดสิ้นไป' วลีที่ต่อท้ายออกมาเป็น 失得勿恤 (shī dé wù xǜ,  ซือ เต๋อ อู้ ซฺวี่) ก็จะสะท้อนถึง 'ความไม่กังวลต่อผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ' ไปด้วย ซึ่งมันจะเป็นคนละความหมายกับการคำนึงถึงเรื่อง give (失) หรือ take (得) ไปเลย เพราะมันคือประเด็นที่ถูกตัดออกไปจากการพิจารณาอย่างสิ้นเชิง (亡) จนไม่หลงเหลือ conflict of interest ใดๆ อีกต่อไปแล้ว

แม้ว่าถ้อยคำในวรรคนี้ของ 'จิวกง' จะสามารถ 'ตีความ' ได้ว่า 'การละทิ้งความคับข้องใจในทางส่วนตัว (悔亡) โดยไม่ไยดีต่อผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ (失得勿恤) ย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในบั้นปลาย (往吉) ที่ปราศจากความอัปมงคลทั้งปวง (無不利)' ... แต่ใจจริงแล้ว ผมอยากจะให้ความหมายสำหรับวลีนี้ว่า 'การขจัดความคับข้องใจในทางส่วนตัว (悔亡) โดยไม่ใยดีต่อผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ (失得勿恤) เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมในบั้นปลาย (往吉) ย่อมไม่อาจละซึ่งความมุ่งมั่นพยายามอย่างทุ่มเท (無不利)' มากกว่า ... :)

เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะ 'คู่วลี' ของมันคือวรรคที่สองนั้น มีคำว่า 愁 (chóu, โฌ๋ว) ที่แปลว่า 'คับข้องใจ', 'เคียดแค้น', 'กังวล', หรือ 'กลัดกลุ้ม' กำกับเอาไว้ให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสามารถกระทำได้อย่างสบายใจ ... ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งผมก็เชื่อว่า 'จิวกง' คงไม่มีความประสงค์จะแนะนำให้ใครปฏิบัติภาระกิจแบบ 'เช้าชามเย็นชาม' อย่างปราศจากแรงจูงใจใดๆ ไปเรื่อยๆ ... 'การไม่ใยดีต่อประโยชน์ส่วนตน' ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อ 'ประโยชน์ของส่วนรวม' เพราะมิฉะนั้นแล้ว 'การเผยแผ่บารมี' หรือ 'การเผยแผ่คุณงามความดี' (晉) คงไม่มีวันที่จะสำเร็จอย่างแน่นอน ... ดังนั้น ... ความหมายที่สองจึงน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าในถ้อยคำแวดล้อมเหล่านี้ ... ;)

 

หก หยาง :

晉其角維用伐邑厲吉無咎貞吝
jìn qí jiǎo wéi yòng fá yì lì jí wú jiù zhēn lìn
จิ้น ชี๋ เจี่ยว เว๋ย โยฺว่ง ฟ๋า อี้ ลี่ จี๋ อู๋ จิ้ว เจิน ลิ่น


維 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'เชื่อมต่อ', 'ผูกโยง', 'เกี่ยวข้องกัน' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'เชือก' หรือ 'สิ่งผูกมัด' ; รวมไปถึง 'มุม', 'ปม', ซึ่งบางกรณีก็ยังหมายถึง 'แห' หรือ 'ตาข่าย' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยายังสามารถใช้ในความเดียวกับ 惟 (wéi, เว๋ย) ที่แปลว่า 'ครุ่นคิด' หรือ 'คำนึงถึง' ได้ด้วย

伐 อ่านว่า fá (ฟ๋า) แปลว่า 'หั่น', 'สับ', 'ตัด', 'โค่น', 'สังหาร' หรือ 'ลงทัณฑ์' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ล้มล้าง' หรือ 'ทำให้หมดสิ้นไป' ก็ได้

邑 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ ...คำว่า 邑人 บางครั้งจึงแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน'

เห็นความเป็น synonyms ของ 伐 (fá, ฟ๋า) ในวรรคนี้กับ 摧 (cuī, ชุย) ในวรรคแรกที่สื่อความหมายในลักษณะของ 'การห้ำหั่นทำลายกัน' มั้ยล่ะครับ ?! ... แล้วเห็น 'คู่ตรงข้าม' ระหว่าง 厲吉 (lì jí, ลี่ จี๋) กับ 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) ด้วยรึเปล่า ?! ... นี่คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่งซึ่ง 'จิวกง' ต้องการเน้นย้ำว่า หากไม่มี 'การปล่อยวางอย่างเหมาะสม' (罔孚) 'ธรรมที่เป็นคุณ' (貞) ย่อมถูกบั่นทอนให้ด้อยคุณค่าลงไป (吝) แม้ว่าจะไม่คำตำหนิทักท้วงใดๆ (無咎) เลยก็ตาม ...

'การเผยแผ่บารมี (晉) ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเพียงประโยชน์ฝ่ายตน (其角) เอาแต่หมกมุ่น (維) อยู่กับการใช้ (用) กำลังเข้าห้าหั่นทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (伐邑) ย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่ล่อแหลม (厲吉) ต่อให้ปราศจาก (無) คำว่ากล่าวติเตียน (咎) คุณงามความดี (貞) ก็ไม่อาจเผยแผ่ไพศาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย (吝) เช่นกัน' ... ชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายความหมายใดๆ เพิ่มเติมอีกแล้วล่ะครับสำหรับวรรคนี้ ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'จิ้น' คือ เผยแผ่บารมี, ส่องสว่างไปทั่วหล้า

'การเผยแผ่บารมี' หรือ การสร้าง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้ 'ปรากฏอย่างยั่งยืน' นั้น ย่อมต้องอาศัย 'การอุทิศตน' อย่าง 'มุ่งมั่น' และ 'อดทน' เพื่อ 'ประโยชน์สุขแห่งสาธารณชน' เหมือนดังเช่น 'ความสุกสว่างแห่งดวงตะวัน' ที่ทั้ง 'สามภพ' ล้วนได้รับ 'คุณประโยชน์' ฉันนั้น

  •  
  • 'การเผยแผ่บารมี' ในลักษณะที่คล้ายดั่ง 'การหักหาญผู้อื่น' นั้น ต้องตั้งมั่นใน 'หลักแห่งคุณธรรม' จึงจะนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง' ต้องรู้จัก 'ปล่อยวางอุเบกขา' และ 'ทุ่มเทฟูมฟัก' อย่างมี 'ความเข้าอกเข้าใจ' ; 'ความไม่แข็งขืนดึงดัน' เอาแต่ใจตน ย่อมไม่นำไปสู่ 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'การเผยแผ่คุณธรรมความดี' แม้จะคล้ายดั่งต้องแบกรับ 'ความคับข้องขัดเคือง' อยู่บ้าง ก็ยังต้องตั้งมั่นใน 'หลักแห่งคุณธรรม' เพื่อยัง 'ความเจริญรุ่งเรือง' ให้ปรากฏ 'การยอมโอนอ่อน' ให้แก่ 'ประโยชน์เฉพาะหน้าที่ผิวเผิน' ย่อมเป็น 'การเสียสละ' เพื่อ 'ประโยชน์' ที่ 'สำคัญยิ่งกว่า' ของทุกๆ ฝ่าย
  •  
  • 'ความยอมรับ' ที่ 'มหาชน' จะมอบให้ด้วย 'ความเคารพยำเกรง' นั้น ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะการละทิ้ง 'ความคับข้องใจ' ในทาง 'ส่วนตัว' ให้ 'หมดสิ้นไป'
  •  
  • 'บารมีที่แผ่ไพศาล' ด้วย 'จิตวิญญาณ' ที่คล้ายดั่ง 'มุสิก' ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลาย' ระบบ 'คุณธรรม' และ 'กฎระเบียบ' ทั้งหลายทั้งปวง
  •  
  • การขจัด 'ความคับข้องใจ' ในทาง 'ส่วนตัว' โดย 'ไม่ใยดี' ต่อ 'ผลเสีย' หรือ 'ผลประโยชน์' ที่ตนจะได้รับ เพื่อ 'ประโยชน์สุขของส่วนรวม' ใน 'บั้นปลาย' ย่อมไม่อาจละซึ่ง 'ความมุ่งมั่นพยายาม' อย่าง 'ทุ่มเท'
  •  
  • 'การเผยแผ่บารมี' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'มุ่งหวัง' เพียง 'ประโยชน์ฝ่ายตน' เอาแต่ 'หมกมุ่น' อยู่กับการใช้กำลังเข้า 'ห้าหั่นทำร้ายเพื่อนมนุษย์' ด้วยกัน ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรืองที่ล่อแหลม' ต่อให้ปราศจาก 'คำว่ากล่าวติเตียน' 'คุณงามความดี' ก็ไม่อาจ 'เผยแผ่ไพศาล' ได้อย่าง 'เต็มเม็ดเต็มหน่วย' เช่นกัน


 

The Organization Code :



'การเผยแผ่บารมี' คือ การนำเสนอ 'สินค้า' (☲) ออกสู่ตลาด ด้วย 'กระบวนการบริหารจัดการ' (☷) ที่เหมาะสม

'การดำเนินงาน' เพื่อ 'พัฒนา' องค์กร หรือสินค้าหนึ่งๆ ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัย 'การปฏิบัติงานอย่างทุ่มเท' ของทุกๆ ฝ่าย ... 'ระดับนโยบาย' ต้องพร้อมที่จะอำนวย 'การสนับสนุน' อย่าง 'เปิดกว้าง' (⚏) และต้องเพรียบพร้อมด้วย 'ระดับบริหาร' กับ 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ที่จะร่วมกันดำเนินงานอย่าง 'เอาจริงเอาจัง' ด้วย 'ความหนักแน่น' และ 'มั่นคง' (⚎) เพื่อมุ่งไปสู่ 'ผลสำเร็จ' อันจะเป็น 'ประโยชน์ร่วมกัน' ของทุกคน 'อย่างยั่งยืน'

  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อ 'กระจายสินค้า หรือบริการ' ให้ 'เป็นที่รู้จัก' และ 'เป็นที่ยอมรับ' ในตลาดที่กว้างออกไปจากเดิมนั้น ย่อมมีโอกาสที่จะ 'กระทบกระทั่ง' กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ หรือแม้แต่อาจจะ 'ไม่ได้รับการต้อนรับ' จากผู้รับบริการที่ยังไม่คุ้นเคยด้วยซ้ำ ... 'การปฏิบัติงาน' จึงจำเป็นต้องยึดมั่นใน 'หลักการ' และ 'นโยบายที่เป็นธรรม' ใน 'การนำเสนอ' พร้อมๆ กับจะต้องมี 'ความอดทน' และ 'ความเอาใจใส่' ต่อ 'การทำความเข้าใจ' ใน 'ข้อจำกัด' หรือ 'ความต้องการที่แท้จริง' ของตลาดหนึ่งๆ อย่างถี่ถ้วน ... การไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็น 'การหักหาญ' หรือ 'การบีบบังคับ' ให้ทุกสิ่งต้องเป็นไปอย่างที่ตนต้องการนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • การยึดมั่นใน 'หลักการ' และ 'นโยบายที่เป็นธรรม' บางครั้งก็สร้าง 'ความอึดอัดรำคาญ' ให้แก่ผู้คนได้เช่นกัน 'การปฏิบัติงาน' จึงต้องรู้จัก 'ผ่อนหนัก-เบา-สั้น-ยาว' ตาม 'สมควรแก่เหตุ' เพื่อ 'ประคับประคอง' ให้ทุกสิ่งสามารถดำเนินต่อไปยัง 'เป้าหมาย' ที่จะอำนวย 'ประโยชน์' ให้แก่ทุกๆ ฝ่ายได้ในที่สุด
  •  
  • 'มหาชน' ย่อมจะให้ 'ความยอมรับ' ด้วย 'ความเคารพนับถือ' ต่อ 'องค์กร', 'นโยบาย', 'สินค้า', หรือ 'บริการ' หนึ่งๆ ที่ได้ 'พิสูจน์ตนเอง' แล้วว่า มิได้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ เพียงเพื่อหวัง 'กอบโกย' เอาแต่ 'ประโยชน์ตน' แต่ฝ่ายเดียว
  •  
  • การมุ่งเน้นอยู่เพียงเฉพาะ 'การสร้างความนิยมชมชอบ' จน 'ไม่กล้า' แม้แต่จะประกาศ 'จุดยืนที่ชัดเจน' ของ 'หลักการ' และ 'แนวทางการปฏิบัติอย่างถูกต้อง' เลยนั้น ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลาย' ระบบ 'คุณธรรม' และ 'กฎระเบียบ' ทั้งหลายทั้งปวง
  •  
  • 'การอุทิศตน' เพื่อ 'ประโยชน์สุขของส่วนรวม' ใน 'ระยะยาว' ซึ่งจะต้อง 'ละวางความสนใจ' ต่อ 'ผลเสีย' หรือ 'ผลประโยน์' ที่ตนจะได้รับนั้น ย่อมไม่อาจละซึ่ง 'ความมุ่งมั่นพยายาม' อย่าง 'ทุ่มเท' เสมอ
  •  
  • 'การดำเนินงาน' เพื่อ 'กระจายสินค้า หรือบริการ' ที่อาศัยกำลังทรัพยากรเข้า 'ห้ำหั่นทำลายล้างซึ่งกันและกัน' หรือ 'การสร้างเงื่อนไข' ที่เป็นไปเพื่อ 'การหักหาญบังคับ' ให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ... แม้ว่าบางกรณีจะ 'ประสบผลสำเร็จ' แต่ก็เป็น 'ผลสำเร็จบนความล่อแหลมสุ่มเสี่ยง' ... แม้ว่าบางกรณีจะ 'ปราศจากคำทักท้วงติติง' แต่ 'ความยอมรับ' ก็ล้วนมิได้เกิดขึ้นจาก 'ความยินยอมพร้อมใจ' อย่างแท้จริง


ต้องถือว่าเป็นอีกบทหนึ่งที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ร่วมกันบันทึกด้วยถ้อยคำที่กำกวมได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ... :D ... และไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือความเข้าใจผิดที่ผมเลือกให้ความหมายหนึ่งของวรรคที่สอง ต่อเนื่องถึงวรรคที่สามในบทที่สองไว้ว่า 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่เป็นคุณงามความดีที่มีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ (直方大) ผู้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรม จึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง และไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ อีก (不習) เนื่องเพราะความดี (利) ย่อมไม่เคยไม่ปรากฏ (無不) จากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น … เพราะแม้จะไม่รบเร้าเรียกร้อง (含章) ผลลัพธ์ย่อมต้องปรากฏโดยวิถีทางแห่งการกระทำนั้นๆ เสมอ (可貞) … เปรียบดังผู้คิดจะกระทำการใหญ่ ย่อมต้องละวางทิฐิมานะแห่งอัตตา (無) จึงจะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ดังที่ตั้งใจ (成有) ในบั้นปลาย (終) ฉะนั้น' (直方大 ‧ 不習無不利 ‧ 含章可貞 ‧ 或從王事 ‧ 無成有終) ...

อักษร 無 (wú, อู๋) ในถ้อยคำที่ยกมาย้อนเล่าไว้นี้ ผมได้ 'ตีความ' ไว้ให้หมายถึง 'ความว่างจากอัตตา' หรือ 'ปราศจากความเห็นแก่ประโยชน์ตน' ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่า มันมีความเกี่ยวข้องกับถ้อยคำหลายๆ คำในบทนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 'การอุทิศตนอย่างอดทนเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม' (錫馬蕃庶) ที่ King Wen ประเดิมเอาไว้ตรงต้นบท โดยมีถ้อยคำของ 'จิวกง' ตามสำทับให้ 'ปล่อยวางด้วยอุเบกขา และฟูมฟักด้วยความเข้าใจ' (罔孚) ตั้งแต่วรรคแรก ; ให้ 'รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า' (受茲介福于其王母) ในวรรคที่สอง ; ให้ 'ตัดขาดความคับข้องใจที่เป็นส่วนตัว' (悔亡) ในวรรคที่สาม ; และ 'ไม่ต้องใยดีในผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ' (失得勿恤) ในวรรคที่ห้า ... เห็นมั้ยล่ะครับว่า  'การขจัดอัตตาให้สูญสิ้น' ที่ผมให้ความหมายไว้กับคำว่า 無 (wú, อู๋) ในบทที่สองนั้น ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลที่ผมอุติคิดขึ้นมาเอง ... จริงๆ !!! ... ;)