Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第四十八卦 : 井
井 : 水風井 ‧ 坎上巽下
井 : 改邑不改井‧無喪無得‧往來井井‧汔至‧亦未繘井‧羸其瓶‧凶‧
- 初六 : 井泥不食‧舊井無禽‧
- 九二 : 井谷射鮒‧甕敝漏‧
- 九三 : 井渫不食‧為我民惻‧可用汲‧王明‧並受其福‧
- 六四 : 井甃‧無咎‧
- 九五 : 井冽寒泉食‧
- 上六 : 井收勿幕‧有孚元吉‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ เด็ดเดี่ยวมั่นคง (⚎) ปัญญา กระจ่างแจ้งและเปิดกว้าง (⚍) ประพฤติปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นอย่างอ่อนโยน (⚍)
ความหมายในเชิงบริหาร : การสนับสนุนการบริหารงานบุคคล (☵) ด้วยนโยบายด้านการเงิน (☴)
ความหมายของสัญลักษณ์ : การแบ่งสันปันส่วน, กระแสปราณที่หนุนเนื่องใต้แอ่งน้ำ
ความหมายของชื่อเรียก : Reciprocating : การแบ่งสันปันส่วน
ความหมายโดยทั่วไปของอักษร 井 (jǐng, จิ่ง) คือ 'ลำรางส่งน้ำ', 'คลองส่งน้ำ', หรือ 'ช่องท่อสำหรับการส่งน้ำ' โดยมี 'ภาพอักษร' ที่พัฒนามาจากภาพของ 'ท่องร่องในเรือกสวนไร่นา' นั่นเอง ; ซึ่งบางครั้งก็ยังหมายถึง 'บ่อน้ำ', หรือ 'อ่างเก็บน้ำ' ซึ่งเป็นสถานที่บรรจบกันของ 'แม้น้ำลำคลอง' ต่างๆ อันเป็น 'ลำรางทางน้ำตามธรรมชาติ' ได้ด้วย ; ... ความหมายของ 井 (jǐng, จิ่ง) ที่แผลงออกไปจากเรื่องของ 'ทางน้ำ' หรือ 'แหล่งน้ำ' ก็คือ 'กฎระเบียบ', 'กฎหมาย' หรือ 'กรอบเกณฑ์' ซึ่งน่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบว่าเป็น 'แนวกำกับความประพฤติและการปฏิบัติของสังคม' ซึ่งจากความหมายของ 'แหล่งรวมของน้ำ' ก็เลยแผลงความหมายไปเป็น 'สถาบันทางสังคม' ซึ่งก็รวมไปถึง 'ชุมชน', และ 'หมู่บ้าน', ได้ด้วย ... และในแง่ของการคมนาคมทางบก 井 (jǐng, จิ่ง) ก็ยังสามารถหมายถึง 'ถนนหนทาง' ซึ่งเป็น 'เส้นทางในการลำเลียง' วัตถุสิ่งของต่างๆ ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อีกด้วย
เมื่อใช้เป็นคำกริยา 井 (jǐng, จิ่ง) สามารถที่จะแปลว่า 'การสูบน้ำ', 'การลำเลียงน้ำ', หรืออาจจะหมายถึง 'การขนส่งเคลื่อนย้าย' ไปตาม 'เส้นทางลำเลียง' ต่างๆ ก็ได้ และยังสามารถแปลว่า 'การจัดแบ่งพื้นที่' ซึ่งเป็นความหมายของลักษณะ 'การแบ่งแปลงเรือกสวนไร่นา' เพื่อการเพาะปลูก โดยอาศัย 'ลำรางส่งน้ำ' เป็นขอบเขตของแต่ละแปลง ... ซึ่งในที่สุดแล้ว 井 (jǐng, จิ่ง) ก็เลยมีความหมายว่า 'ความเป็นระบบระเบียบ' หรือ 'ความประณีตงดงาม' ได้อีกต่างหาก
จะเห็นว่า อักษร 井 (jǐng, จิ่ง) มีความหมายที่ค่อนข้างจะครอบคลุมไปในหลายเรื่องหลายประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควรหากจะกำหนด 'ความหมาย' ที่แน่ชัดลงไปให้กับ 'ชื่อบท' ที่ King Wen เลือกใช้สำหรับบทนี้ แม้ว่า King Wen ได้บันทึกถ้อยคำเพื่อขยายความให้กับ 'ชื่อบท' คราวนี้ไว้แล้ว แต่โดยลำดับของเนื้อความที่ควรจะเป็นนั้น บทที่สี่สิบแปดน่าจะต้องสะท้อนความหมายมาจากวรรคที่สี่ของบทที่สอง ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า ... 括囊無咎無譽 (kuò náng wú jiù wú yǜ, คั่ว นั๋ง อู๋ จิ้ว อู๋ ยฺวี่) ... ซึ่งได้รับ 'การตีความ' ไว้ว่า ... 'จงมีความหนักแน่นมั่งคง มีความมุ่งมั่นในภารกิจ และมีสำนึกในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การสั่งสมความดีอย่างหมดจด (括囊) … ไม่ไยดีต่อ (คือไม่สะสม) คำติฉินนินทา หรือคำค่อนขอดว่าร้ายที่ไม่สร้างสรรค์ (無咎) ซึ่งรังแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของตนเอง … ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลต่อ (คือไม่สะสม) คำยกย่องสรรเสริญ หรือคำเยินยอปอปั้นใดๆ (無譽) ที่รังแต่จะเพาะความหยิ่งผยองลำพองใจให้กับตนเองอย่างไร้ประโยชน์' ... สังเกตมั้ยครับว่า ถ้อยคำของ 'จิวกง' ที่ยกมาให้เห็นนี้ ได้สะท้อนความหมายในหลายๆ ด้านของ 井 (jǐng, จิ่ง) ไว้พอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นของ 'การปฏิบัติหน้าที่', 'ความมีระเบียบกฎเกณฑ์' เพื่อ 'สั่งสมคุณงามความดี' อย่าง 'ประณีตหมดจด' ใน 'กระบวนการคิด' และ 'พฤติกรรม' ...
เราลองย้อนไปดูบทที่สิบสองกันซักหน่อยดีกว่า เนื่องจากเป็นบทที่มีความหมายสะท้อนกับวรรคที่สี่ของบทที่สองเหมือนกัน ซึ่งในบทนั้น King Wen เลือกกำหนดให้มี 'ชื่อบท' ว่า 否 (pǐ, ผี่) หรือ 'การยืนหยัด' และขยายความไว้ว่า ... 'ผู้ที่จะยืนหยัดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค (否之匪人, โดยใช้ 匪人 ในความหมายว่า 'ผู้อุทิศตน') หากไม่ยึดถือ (不利) วิถีทางแห่งปราชญ์ (君子貞) ต่อให้ทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมากมาย (大往) ความสำเร็จที่ได้ก็จะมีเพียงน้อยนิดจนไร้ซึ่งความหมาย (小來) ใดๆ' ... นี่ถึงกับมีการเอ่ยถึง 'การอุทิศตน', 'การเผชิญอุปสรรค' ซึ่งคล้ายกับจะต่อเนื่องมาจากบทที่สี่สิบเจ็ดเลยด้วยซ้ำ ... แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันกับบทนี้ก็คือ 'การทุ่มเททรัพยากรลงไปเพื่อสั่งสมความสำเร็จ' นั้น จะต้องกระทำอย่างมี 'กฎเกณฑ์' และ 'หลักการ' ซึ่งเป็น 'วิถีแห่งปราชญ์' นั่นเอง
ถ้าเราลองหยิบเอาบทที่ยี่สิบสี่มาดูบ้าง ในบทนั้น King Wen เลือกใช้ 'ชื่อบท' ว่า 復 (fù, ฟู่) หรือ 'ความแน่วแน่มั่นคง' โดยขยายความไว้ว่า ... 'พัฒนาการอันโดดเด่นก้าวหน้า (亨) ย่อมเพราะมีการดำเนินงาน (出入 คือเดินหน้าและยับยั้ง) อย่างไม่หวั่นไหวร้อนรน (無疾) แม้การตอบรับของมิตรสหายจะไร้ข้อตำหนิติติง (朋來無咎) หรือแม้คู่อริจะแข็งขืนต่อต้านทุกวิถีทาง (反復其道) ก็ยังคงดำเนินการด้วยความรัดกุมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน (七日來復) ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ (利) เยี่ยงนี้ ย่อมส่งผลให้ประสบกับความสำเร็จที่คู่ควรในบั้นปลาย (有攸往) ได้เสมอ' ... นี่ก็เน้นไปที่ 'ความคงเส้นคงวา' ต่อ 'หลักการ' โดย 'ไม่หวั่นไหว' ไปตามกระแสตอบรับ หรือการปฏิเสธของผู้อื่น
คราวนี้ลองดูบทที่สามสิบหก ซึ่งเป็น 'วัฏจักรที่สาม' ของวรรคที่สี่ในบทที่สองกันบ้าง King Wen เลือก 'ชื่อบท' ไว้ว่า 明夷 (míng yí, มิ๋ง อี๋) หรือ 'การครองสติอย่างมั่นคง' ซึ่งมีคำอธิบายกำกับไว้ว่า ... 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท (利) อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก (艱) เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งคุณธรรม (貞) ทั้งปวง' ... นี่ก็เป็นเรื่องของ 'การครองธรรม' ด้วย 'การเจริญสติและสมาธิ' และ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' เมื่อต้อง 'เผชิญกับปัญหาและอุปสรรค' ที่รุมเร้าเข้ามา
เมื่อพิจารณาจากความหมายที่สะท้อนออกมาอย่างนี้แล้ว เราน่าจะตัดความหมายของ 井 (jǐng, จิ่ง) ที่เกี่ยวกับ 'บ่อน้ำ' หรือ 'แหล่งน้ำ' ใดๆ ออกไปก่อนเลยดีกว่า เพราะ 井 (jǐng, จิ่ง) ในที่นี้ ควรจะมีความหมายที่สื่อถึง 'การประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ในความมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เด่นชัดเป็นหลักการ' มากกว่าที่จะหมายถึงสิ่งอื่นใดในความหมายที่เป็นไปได้ทั้งหมดของอักษรที่เป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้ ...
หากเราย้อนทบทวนความหมายของเนื้อความทั้งหมดมาตั้งแต่ต้น 'วัฏจักรที่สี่' ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ... บทที่สามสิบเก้าคือ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) ที่เน้นไปในเรื่องของ 'การประสานความร่วมมือ' จากทุกๆ ฝ่าย เพื่ออำนวย 'ประโยชน์สุขร่วมกัน' ... บทที่สี่สิบคือ 解 (jiě, เจี่ย) ที่นำเสนอให้ 'ลดทิฏฐิมานะ' เพื่อ 'หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า' ... บทที่สี่สิบเอ็ดคือ 損 (sǔn, สุ่น) เป็นข้อแนะนำให้ 'ลดความสำคัญตน' ... บทที่สี่สิบสองคือ 益 (yì, อี้) เป็นการสอนให้รู้จัก 'บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น' ... บทที่สี่สิบสามคือ 夬 (guài, กฺวั้ย) เป็นเรื่องของ 'ความไม่แข็งขืนดุดัน' ... บทที่สี่สิบสี่คือ 姤 (goù, โก้ว) ซึ่งให้ข้อคิดในเรื่องของ 'อำนาจอันชอบธรรม' ... จากนั้นก็ต่อด้วย 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยิน' คือ ... บทที่สี่สิบห้า 萃 (cuì, ฉุ้ย) ที่เน้นไปในเรื่องของ 'การสร้างความเป็นเอกภาพ' ... บทที่สี่สิบหก 升 (shēng, เซิง) ก็จะเป็นเรื่องของ 'การพัฒนาศักยภาพของสังคม' ... บทที่สี่สิบเจ็ด 困 (kùn, คุ่น) ที่แม้จะเน้นหนักไปในเรื่องของ 'ความเพียร' แต่หลักใหญ่ก็คือ 'ความไม่เกี่ยงงาน' และ 'การไม่กล่าวโทษกันไปมา' ระหว่างผู้ร่วมงานทุกๆ คน ... มันจึงทำให้ 井 (jǐng, จิ่ง) ในบทที่สี่สิบแปดนี้ ควรจะได้รับ 'การตีความ' ให้มีความหมายกระเดียดไปทาง 'การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์' ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของ 'การแบ่งสันปันส่วน' หรือ Reciprocating ...
การที่สังคมหนึ่งๆ จะสามารถอำนวย 'ประโยชน์สุขร่วมกัน' อย่างมี 'เอกภาพ' ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย 'จิตสำนึก' ของ 'ความมีส่วนร่วม' ในสังคมเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งสมาชิกทุกคนควรจะ 'มุ่งบำเพ็ญประโยชน์' เพื่อ 'ส่วนรวม' โดยปราศจาก 'ความรู้สึกสำคัญตน' ใดๆ เพื่อเรียกร้อง 'สิทธิประโยชน์อันเกินกว่าขอบเขต' แห่ง 'ความรับผิด' และ 'ความรับชอบ' ที่ตนพึงจะได้รับ ... 'ความเท่าเทียมกัน' ย่อมต้องพิจารณาจาก 'สิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ' เมื่อเปรียบเทียบกับ 'ความทุ่มเทที่อุทิศให้' ... มิใช่มุ่งเน้นที่ 'การเปรียบเทียบเฉพาะผลลัพธ์' โดยไม่คำนึงถึง 'ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน' ใดๆ เลย ... นี่ก็คือความหมายของ 'การแบ่งสันปันส่วน' อย่าง 'ยุติธรรม' นั่นเอง !!
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
gǎi yì bù gǎi jǐng wú sāng wú dé wǎng lái jǐng jǐng qì zhì yì wèi yǜ jǐng léi qí píng xiōng
改 อ่านว่า gǎi (ไก่) แปลว่า 'แก้ไข', 'ปรับปรุง', 'เปลี่ยนแปลง', 'ทำให้ถูกต้อง', และอาจจะหมายถึง 'เปลี่ยนรูปแปลงร่าง' ไปเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดนั้นจะมีความหมายในลักษณะของ 'การเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม' หรือ 'การพัฒนาให้เจริญยิ่งขึ้น'
邑 อ่านว่า yì (อี้) แปลว่า 'เมือง', 'เมืองหลวง', 'รัฐ', 'อาณาจักร', 'มณฑล', 'หมู่บ้าน', 'ชุมชน', อาจจะหมายถึง 'ย่านการค้า' หรือ 'เมืองหลวงเก่า' ก็ได้ ... คำว่า 邑人 บางครั้งจึงแปลว่า 'คนเมือง', 'คนที่อยู่ในมณฑลเดียวกัน' หรือ 'คนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน'
喪 อ่านว่า sàng หรือ sāng (ซั่ง หรือ ซัง) แปลว่า 'หลบหนี', 'สูญเสีย', 'ทิ้งขว้าง', 'ตาย', 'จบ', 'สิ้นสุด' โดยทั่วไปก็จะใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ 得 (dé, เต๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'
汔 อ่านว่า qì (ชี่) เวลาใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'แห้งผาก' ซึ่งเกิดโดย 'การระเหยของน้ำ' จน 'หมดสิ้น' หรืออาจจะเพราะ 'ถูกใช้จนหมด' จึงทำให้มันมีความหมายคล้ายกับ 訖 (qì, ชี่) ซึ่งมีตัวย่อที่คล้ายคลึงกันมากคือ 讫 (qì, ชี่) ที่หมายถึง 'สิ้นสุด', 'หมดสิ้น', หรือ 'ยุติ' ; ส่วนความหมายอื่นของ 汔 (qì, ชี่) ก็คือ 'จวนเจียน', 'เกือบจะ' แบบเดียวกับ almost ซึ่งอาจจะแผลงความหมายไปเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ทุกครั้งครา' แบบเดียวกับ always ได้ด้วย
至 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ไปถึง', 'มาถึง', 'ปลายทาง', 'ที่สุด', หรือ 'สุดขั้ว'
亦 อ่านว่า yì (อี้) มักใช้เป็นคำเชื่อมวลี หรือเชื่อมประโยค โดยมีความหมายว่า 'ประหนึ่งว่า', 'เหมือนดั่งว่า' (likewise) ; 'เพียงแต่ว่า' ; หรือใช้ในลักษณะ และความหมายเดียวกับ also, too ก็ได้
未 อ่านว่า wèi (เว่ย) มีความหมายในเชิง 'ปฏิเสธ' ว่า 'ไม่' หรือ 'ไม่มี' ที่มักใช้คู่กับคำอื่นๆ เช่น 'ไม่ถึงเวลา', 'ไม่ต้อง', 'ไม่จำเป็น' ฯลฯ
繘 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แต่บางตำราก็ออกเสียงเป็น jǘ (จฺวี๋) หรือ jué (เจฺวี๋ย) แปลว่า 'เชือก' โดยเฉพาะ 'เชือกที่ใช้ชักรอกน้ำขึ้นจากบ่อ' จึงทำให้เวลาที่ใช้คู่กับอักษร 井 (jǐng, จิ่ง) เป็น 繘井 (yǜ jǐng, ยฺวี่ จิ่ง) จะหมายถึง 'การสาวเชือกเพื่อชักรอกน้ำขึ้นจากบ่อ'
羸 อ่านว่า léi (เล๋ย) แปลว่า 'ผอมแห้งแรงน้อย', 'อ่อนแรง', หรือ 'อ่อนกำลัง' ; และผมก็เคยแผลงความหมายของคำนี้ให้กลายเป็น 'หิวโหย' หรือ 'หิวโซ' เมื่อตอนที่เขียนคำอธิบายความหมายให้กับวรรคที่หนึ่งของบทที่สี่สิบสี่ด้วย
瓶 อ่านว่า píng (พิ๋ง) หมายถึง 'ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำ' เช่น 'ขวดน้ำ', 'โถน้ำ', 'เหยือกน้ำ', 'คนโทน้ำ', 'โอ่งน้ำ', 'ถังน้ำ', 'ไหน้ำ', หรือแม้แต่ 'แจกันใส่น้ำ'
หลังจากได้ทบทวนไปมาอยู่หลายตลบ ผมอยากจะ 'ถอดความ' ให้กับวลีนี้ของ King Wen ว่า ... 'อันการปรับปรุงเพื่อพัฒนา (改) ชุมชนและหมู่คณะ (邑) ย่อมไม่อาจ (不) บิดเบือน (改) โครงสร้างของการแบ่งสันปันส่วน (井) ที่เหมาะสม ผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ (無喪) ย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับสิ่งตอบแทน (無得) การอุทิศให้ (往) และการได้รับผลสนอง (來) จำเป็นต้องต่างตอบแทน (井井) ให้สมแก่เหตุปัจจัย ... ความเสมอภาคกัน (汔) อย่างสุดโต่ง (至) นั้น ย่อมเปรียบเสมือน (亦) การเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ยอมสาวเชือกเพื่อตักน้ำขึ้นจากบ่อ (未繘井) สามารถเบียดเบียนประโยชน์จากน้ำในถังของผู้อื่น (羸其瓶) โดยมิได้ลงแรง อันเป็นความเลวร้ายที่จะบ่อนทำลาย (凶) จิตสำนึกของทั้งสังคม' ...
ผมเชื่อว่า นี่ควรจะเป็น 'ข้อเตือนสติ' ที่สำคัญมากข้อหนึ่งสำหรับ 'สังคมคอมมูนิสต์สุดโต่ง' เลยล่ะครับ เพราะแนวคิดที่มุ่งการแจกจ่ายผลผลิตโดยรวมออกเป็นส่วนเท่าๆ กันให้แก่สมาชิกทุกๆ คน โดยไม่พิจารณาถึง 'ข้อแตกต่าง' ในด้านของ 'ความรับผิดชอบ' และ 'การปฏิบัติหน้าที่การงาน' อย่างมี 'ประสิทธิผล' หรือไม่นั้น คือ 'ความอยุติธรรม' ที่เป็นเชื้อร้ายแห่ง 'ความขี้เกียจ' และ 'การเอารัดเอาเปรียบ' อันจะเป็น 'การบ่อนทำลาย' รากฐานของ 'ความเป็นสังคม' ในระยะยาวอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ... แม้ว่าเหล่าบัณฑิต 'ผู้อุทิศตน' ให้แก่ 'ประโยชน์สุขส่วนรวม' จะไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดๆ เป็น 'การตอบแทน' โดยตรง แต่ 'ความถูกต้อง' และ 'ความยุติธรรม' ก็จำเป็นต้องปรากฏให้เห็นเป็น 'บรรทัดฐาน' ที่ 'ไม่อาจบิดเบือน' สำหรับคนหมู่มากอยู่ดี ...
ผมขอไม่ยกตัวอย่าง 'คำแปล' ที่มีอีกหลายตำรา 'ถอดความ' เอาไว้อย่างจับต้นชนปลายไม่ได้เลยนะครับ เพราะจากการพิจารณาอ้างอิงกับความหมายของบทต่างๆ ที่ผ่านมาใน 'วัฏจักรที่สี่' นี้ ผมค่อนข้างที่จะมั่นใจว่า King Wen ต้องการสื่อความหมายไว้แบบนี้จริงๆ ... 'ความเพียรลำบากตรากตรำ' ในการฟันฝ่า 'ปัญหา' และ 'อุปสรรค' ต่างๆ โดย 'ความร่วมมือกัน' ของหลายๆ ฝ่าย (ตามความในบทที่สี่สิบเจ็ด) นั้น สมควรที่จะได้รับ 'ผลตอบแทน' อย่าง 'สมน้ำสมเนื้อ' กับ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ที่สมาชิกแต่ละคนได้ 'อุทิศกายใจ' ให้แก่ 'การปฏิบัติหน้าที่ของตน' จึงจะถือว่าเป็น 'ความยุติธรรมของสังคม' อย่างแท้จริง !! ...
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
井泥不食舊井無禽
jǐng ní bù shí jiù jǐng wú qín
泥 อ่านว่า ní (นี๋) แปลว่า 'โคลน', 'มีลักษณะเหมือนโคลน', 'เหนียว (เหมือนโคลน)', 'เละ (เหมือนโคลน)', หรือ 'ข้น (เหมือนโคลน)', 'ยางไม้', 'กาว' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ติดแน่น' เพราะ 'ความเหนียว' ; แล้วก็เลยหมายถึง 'หยุด', 'สะดุด', หรือ 'ชะงัก' ได้ด้วย
食 อ่านว่า shí (ซื๋อ) แปลว่า 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร', หรือ 'ให้อาหาร' ; สามารถแปลว่า 'ยอมรับ' ก็ได้ เพราะว่า 'ยอมกลืนกินลงไป' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เสนอให้รับไว้', 'เซ่นสังเวย' ; บางครั้งก็ยังมีความหมายว่า 'ทำให้แหว่ง', หรือ 'ทำให้ค่อนลง' เพราะว่า 'ถูกกิน' เช่น 'จันทรคราส', 'สุริยคราส' ; และเมื่อแปลว่า 'อาหาร' จึงสามารถแปลว่า 'ปัจจัยที่ต้องอาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ' ได้ด้วย
舊 อ่านว่า jiù (จิ้ว) แปลว่า 'เก่า', 'ชำรุด', 'ทรุดโทรม', 'โบราณ', 'ดั้งเดิม' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'มีความคุ้นเคย' หรือ 'มีความสนิทสนม' ได้ด้วยเหมือนกัน
禽 อ่านว่า qín (ชิ๋น) แปลว่า 'นก' เหมือนกับ 鳥 (niǎo, เหฺนี่ยว) ที่ไม่ได้เจาะจงให้เป็นนกประเภทหนึ่งประเภทใด แต่ 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์ปีก' ที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ด้วย ; แต่ในอีกด้านหนึ่ง 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์บกทั่วไป' ที่ไม่จำเพาะว่าต้องเป็น 'นก' ก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การล่า', 'การจับ', 'การกำราบ', 'การปราบปราม', หรือ 'การทำให้พ่ายแพ้' เพราะ 禽 จะแฝงความหมายของ 'สัตว์เลี้ยง' หรือ 'สัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องเชื่อ' อยู่ด้วย ; มันจึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' หรือ 'บังคับบัญชา' ก็ได้
ผมรับไม่ได้จริงๆ กับ 'การถอดความตามตัวอักษร' ที่หลายตำราบันทึกไว้ประมาณว่า ... 'อย่าบริโภคดินโคลนก้นบ่อน้ำ บ่อน้ำร้างย่อมปราศจากสกุณา' ... คือ ... มันบ้ามากเลยนะกับการแปลออกมาอย่างนั้น !!!???!! ... แต่ผมว่า 'จิวกง' แกต้องซ่อนความหมายอะไรบางอย่างไว้ในถ้อยคำที่อ่านไม่รู้เรื่องแน่ๆ ... :P ...
ผมมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า 'คัมภีร์อี้จิง' น่าจะไม่ใช่ 'ตำราสาธารณสุข' อย่างแน่นอน !! ... :D ... เพราะฉะนั้น การจะ 'ถอดความ' วลี 井泥不食 (jǐng ní bù shí, จิ่ง นี๋ ปู้ ซื๋อ) ออกมาอย่างตรงๆ ตัวให้หมายถึง 'ไม่ควรบริโภคดินโคลนก้นบ่อน้ำ' จึงเป็น 'วิธีถอดความ' ที่บ้าบอจนเกินไป ... เพราะวลีดังกล่าวน่าจะมี 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ว่า 'บ่อน้ำ (井) อันเป็นที่หมักหมมของโคลนตะกอน (泥) ย่อมมิอาจ (不) เอื้อประโยชน์แก่การบริโภค (食)' ... ซึ่งหากเราแผลงคำว่า 井 (jǐng, จิ่ง) ให้ไปใช้ความหมายอื่นของมันว่า 'กฎระเบียบ' ความหมายของวลีที่อ่านแล้วมึนๆ นี้ก็จะกลายเป็น 'กฎระเบียบ (井) ที่หมักหมมไว้ด้วยความไม่ถูกต้องอันสกปรก (泥) ย่อมมิอาจ (不) เป็นที่ยอมรับ (食) ของมหาชน' ... อันเป็น 'การขยายความ' ให้กับวลีเปิดประเด็นของ King Wen ในบทนี้อย่างตรงตัวพอดี !!?? ... น่าสนใจมาก ... ;)
เมื่อพิจารณาจาก 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ของท่อนแรกในวลีนี้แล้ว คำว่า 舊 (jiù, จิ้ว) ซึ่งปรากฏอยู่ในวลีท่อนหลัง ก็ไม่ควรจะมีความหมายว่า 'เก่าแก่' หรือ 'ถูกทิ้งร้างไว้' เฉยๆ แต่มันควรจะหมายถึง 'เสื่อมโทรม' ไปเลย ส่วนคำว่า 井 (jǐng, จิ่ง) ที่เป็นคำสำคัญที่สุดของบทนี้ ก็จะต้องมีความหมายไปรับกับ 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' ที่ปรากฏในท่อนแรก ซึ่งจะทำให้ความหมายเต็มๆ ของวลีนี้กลายเป็น ... 'บ่อน้ำ (井) อันเป็นที่หมักหมมของโคลนตะกอน (泥) ย่อมมิอาจ (不) เอื้อประโยชน์แก่การบริโภค (食) กฎระเบียบอันโสโครกและเสื่อมโทรม (舊井) ย่อมสูญสิ้น (無) ศักยภาพในการปกครอง (禽)' ...
ลองอ่านทบทวนดูแล้วกันนะครับ ผมคิดว่านี่คือความหมายที่ 'ใกล้เคียงกับความตั้งใจ' ของ 'จิวกง' มากที่สุดแล้วล่ะ และผมขอย้ำไว้ก่อนเลยว่า ถ้อยคำของ 'จิวกง' จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อเราไล่ 'ตีความ' ไปถึงวรรคที่หก ซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคนี้โดยตรง ... แล้วเราก็จะเห็นลีลาของ 'อัจฉริยะทางภาษา' ที่เหนือชั้นมากๆ ของปราชญ์พ่อ-ลูกคู่นี้
井谷射鮒甕敝漏
jǐng gǔ shè fù wèng bì lòu
อักษร 谷 (gǔ, กู่) เพิ่งเล่าผ่านมาสดๆ ในบทที่แล้วเลยครับ คำนี้แปลว่า 'บริเวณที่ราบลุ่ม', 'บริเวณที่เป็นหุบห้วย', 'บริเวณธารน้ำกลางหุบเขา', หรือ 'ช่องเขา', 'ซอกเขา' ; ในบางกรณีก็จะหมายถึง 'ผลผลิตทางการเกษตร' ประเภท 'ธัญญพืช' เช่น ข้าว, ข้าวโพด, ฯ
射 อ่านว่า shè (เษ้อ) โดยทั่วไปจะเห็นคำนี้ในความหมายว่า 'การยิงธนู', 'การยิงลูกดอก', 'การยิงศร' ; จึงทำให้บางครั้งสามารถใช้ในความหมายว่า 'พลธนู', 'นักแม่นธนู' หรือแม้แต่ 'เป้าธนู' ; ... ทีนี้พอมันสามารถแปลว่า 'เป้าธนู' มันก็เลยแผลงไปเป็น 'เป้าหมาย', 'การคาดการณ์', และ 'การกำหนดวัตถุประสงค์' จนเพี้ยนไปเป็น 'การเสาะแสวง' หรือ 'การเสาะหา' ได้ด้วย ; นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความหมายของ 'เป้าหมาย' มันก็ยังแผลงไปเป็น 'จุดสนใจ', 'จุดรวม', ซึ่งแสดงถึงลักษณะของ 'ความไม่แบ่งแยก', 'ความไม่กระจัดกระจาย' หรือ 'ความเป็นหนึ่งเดียว' ได้อีกต่างหาก
鮒 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ปลาคาร์ป' (หรือปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน) แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'กบ' ได้ด้วย ซึ่งเป็นอย่างนั้นได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน ... :P
甕 อ่านว่า wèng (เวิ่ง) แปลว่า 'โอ่งดิน', 'การถางดิน', 'กระถางธูป' หรือ 'กระถางใดๆ ที่ทำขึ้นมาจากดิน' ในขณะที่บางครั้งก็ใช้ในความหมายของ 'ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำ' ทั่วๆ ไป ; แต่ถ้าใช้เป็นคำกริยา คำนี้จะหมายถึง 'การบรรจุน้ำใส่ภาชนะ', หรือ 'การเก็บกักน้ำไว้ภายในภาชนะ'
敝 อ่านว่า bì (ปี้) แปลว่า 'แตก', 'ทำลาย', 'ทำให้แตก', 'ทำให้สูญเสีย', 'ทำให้อ่อนกำลังลง' ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ความเหนื่อยล้า', 'ความเสื่อมโทรม', หรือ 'ความเสื่อมสลาย'
漏 อ่านว่า lòu (โล่ว) แปลว่า 'รั่ว', 'ซึม', 'รั่วไหล', 'เล็ดลอด' ซึ่งก็ยังสามารถแปลว่า 'หลบหนี' ก็ได้ด้วย
หาก 'ถอดความตามตัวอักษร' ในวลีนี้อย่างตรงๆ ตัว เราก็คงจะได้ความหมายที่คล้ายๆ กันอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ 1) 'จับปลาจากในแหล่งน้ำ (井谷射鮒) ชามอ่างโอ่งไห (甕) ที่ชำรุดเสื่อมทราม (敝) ย่อมมีการรั่วซึมรินไหล (漏)' ... กับ 2) 'แหล่งน้ำ (井) ลำธาร (谷) ย่อมเป็นถิ่นอาศัย (射) ของมวลหมู่สรรพสัตว์น้ำทั้งน้อยใหญ่ (鮒 คือทั้งปลา และกบ) ภาชนะบรรจุน้ำ (甕) หากมีความชำรุดเสื่อมทราม (敝) ย่อมมิอาจใช้เพื่อการเก็บกักสิ่งใดๆ (漏 เพราะจะรั่ว, ซึม, หรือรั่วไหลจนหมด)' ... ซึ่งมันออกจะขัดๆ อยู่ซักหน่อยสำหรับท่อนหลังของวลีที่เอ่ยถึง 'ชามอ่างโอ่งไห' หรือ 'ภาชนะบรรจุน้ำ' เพราะมันแทบจะไม่มีความต่อเนื่องกับ 'การเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำ' หรือ 'การจับปลาในบ่อน้ำ' ที่บันทึกไว้ในตอนต้นของวลีเลย ??!!
ประเด็นที่น่าสังเกตสำหรับท่อนหลังในวลีนี้ก็คือ 'จิวกง' เลือกใช้คำที่เป็น synonyms กับท่อนหลังในวลีของ King Wen อย่างมีนัยสำคัญพอสมควรทีเดียว นั่นก็คือคำว่า 甕 (wèng, เวิ่ง) ซึ่งหมายถึง 'ภาชนะบรรจุน้ำ' ที่คล้ายกันมากๆ กับคำว่า 瓶 (píng, พิ๋ง) ... และคำว่า 敝 (bì, ปี้) ซึ่งหมายถึง 'แตก', 'ทำลาย' ก็มีความหมายที่เหมือนกับคำว่า 羸 (léi, เล๋ย) ... เห็นมั้ยครับ ?! ... ในขณะที่ผมให้ความหมายของวลี 羸其瓶 (léi qí píng, เล๋ย ชี๋ พิ๋ง) ในลักษณะของ 'การเบียดเบียนแรงงานของผู้อื่น' ผมจึงมองว่า วลี 甕敝漏 (wèng bì lòu, เวิ่ง ปี้ โล่ว) ของ 'จิวกง' ในวรรคนี้ น่าจะมีความหมายในลักษณะของ 'ความเห็นแก่ตัว' เพราะมันควรจะมีความสอดคล้องกันโดยลักษณะของถ้อยคำที่ถูกเลือกมาใช้ ...
ดังนั้น หากเราเลือกพิจารณาในมุมมองที่ว่านี้ ท่อนแรกของวลีก็น่าจะสื่อถึง 'ความเอื้อเฟื้อ' ที่ธรรมชาติของแหล่งน้ำและลำธารมอบให้แก่สรรพชีวิต ในขณะที่ท่อนหลังของวลี น่าจะสะท้อนความหมายที่ตรงกันข้ามคือ 'ความเห็นแก่ตัว' ... ใจความที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะสื่อเอาไว้จึงน่าจะประมาณว่า ... 'แหล่งน้ำ (井) และลำธาร (谷) ย่อมเป็นถิ่นอาศัยพักพิง (射) ของหมู่มวลสรรพสัตว์น้ำทั้งน้อยใหญ่ (鮒) ... การกักเก็บน้ำไว้ภายในภาชนะ (甕) ย่อมปิดกั้นทำลาย (敝) พลังแห่งการรินไหล (漏) ของสายน้ำ' ... ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คงจะหมายถึง 'การกำหนดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ใดๆ อย่างไม่ชอบธรรมนั้น คือการบั่นทอนความเจริญงอกงามตามธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง' นั่นเอง ... แต่จะใช่ความหมายตามที่ว่านี้หรือไม่ ค่อยไปว่ากันตอนที่เล่าวรรคที่ห้าดีกว่านะครับ ... ;)
井渫不食為我民惻可用汲王明並受其福
jǐng xiè bù shí wéi wǒ mín cè kě yòng jí wáng míng bìng shòu qí fú
渫 อ่านว่า xiè (เซี่ย) แปลว่า 'ชะล้าง', 'ชำระล้าง', 'กวาดล้าง', 'กำจัด' ; บางทีก็มีความหมายว่า 'ปลดปล่อยออกมา', 'พวยพุ่งออกมา', 'กระจายตัวออกมา' ; แต่ก็อาจจะใช้ในความหมายว่า 'รั่วไหลจนหมด', หรือ 'รั่วซึมจนหมด' ก็ได้
ขอลอกคำว่า 食 (shí, ซื๋อ) มาให้ดูใกล้ๆ อีกครั้งนะครับ ... คำนี้แปลว่า 'กิน', 'ของกิน', 'อาหาร', หรือ 'ให้อาหาร' ; สามารถแปลว่า 'ยอมรับ' ก็ได้ เพราะว่า 'ยอมกลืนกินลงไป' ; แล้วก็เลยแปลว่า 'เสนอให้รับไว้', 'เซ่นสังเวย' ; บางครั้งก็ยังมีความหมายว่า 'ทำให้แหว่ง', หรือ 'ทำให้ค่อนลง' เพราะว่า 'ถูกกิน' เช่น 'จันทรคราส', 'สุริยคราส' ; และเมื่อแปลว่า 'อาหาร' จึงสามารถแปลว่า 'ปัจจัยที่ต้องอาศัย', 'ขึ้นอยู่กับ' ได้ด้วย
為 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'กระทำ', หรือ 'ถูกกระทำ', 'จัดการ', 'กลับกลาย', 'กลายเป็น' ; แต่ถ้าออกเสียงเป็น wèi (เว่ย) จะแปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สนับสนุน'
民 อ่านว่า mín (มิ๋น) แปลว่า 'ประชาชน', 'พลเมือง', 'ไม่ใช่ราชการ'
惻 อ่านว่า cè (เช่อ) แปลว่า 'ลำบาก', 'เจ็บปวด', 'ระทมทุกข์', 'เศร้าใจ', 'เสียใจ'
汲 อ่านว่า jí (จี๋) ปรกติจะแปลว่า 'วิดน้ำจากบ่อ', 'ตักน้ำจากบ่อ' ; จึงทำให้มีความหมายอื่นๆ ตามมาว่า 'จูง', 'ลาก', 'ชักนำ', 'ชี้นำ', รวมไปถึง 'แนะนำ' ก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำคุณศัพท์จะมีความหมายว่า 'ทนไม่ไหว', 'รอไม่ได้' หรือ 'รอไม่เป็น' จึงต้องใช้วิธี 'ลาก' หรือ 'จูง' ให้เร็วขึ้น ... ซึ่งทำให้คำนี้ถูกแผลงความหมายไปคล้ายๆ กับคำว่า 急 (jí, จี๋) ที่แปลว่า 'เร่งรีบ' และ 岌 (jí, จี๋) ที่หมายถึง 'สูงชัน', 'เสี่ยงอันตราย' ... แต่ถ้าเขียนซ้อนกัน 2 ตัวเป็น 汲汲 (jí jí, จี๋ จี๋) ก็สามารถที่จะมีความหมายว่า 'กระตือรือร้น' ได้ด้วยเหมือนกัน
明 อ่านว่า míng (มิ๋ง) แปลว่า 'สว่างไสว', 'เข้าใจ', 'ชัดเจน' หรือ 'เปิดกว้าง' ; บางครั้งก็หมายถึง 'ฉลาดหลักแหลม' และ 'บริสุทธิ์' (คือไม่มีความขุ่นมัว) ได้ด้วย
並 อ่านว่า bìng (ปิ้ง) แปลว่า 'รวบรวม', 'รวมไว้ด้วยกัน', 'พร้อมเพรียงกัน' ; บางครั้งใช้เป็นคำเชื่อมประโยคก็จะมีความหมายคลัายๆ also เพื่อเน้นย้ำความหมายของวลีที่ต่อท้าย
受 อ่านว่า shòu (โษ้ว) แปลว่า 'ได้รับ', 'แบกรับ', 'ทนทุกข์'
หลายตำราอ้างว่า ท่าน 'ขงจื่อ' (孔子) หรือท่าน 'ขงจื๊อ' เลือกให้ความหมายแก่วลี 井渫不食 (jǐng xiè bù shí, จิ่ง เซี่ย ปู้ ซื๋อ) ในวรรคนี้ว่า 'บ่อน้ำที่ใสสะอาดแต่กลับไม่สามารถใช้เพื่อการบริโภค' ... ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า ... น่าจะเกิดจากการเทียบเคียงกับวลี 井泥不食 (jǐng ní bù shí, จิ่ง นี๋ ปู้ ซื๋อ) ในวรรคแรกที่ได้รับ 'การตีความ' ให้หมายถึง 'บ่อน้ำที่เต็มไปด้วยโคลนเลนย่อมไม่สามารถใช้เพื่อการบริโภค' โดยมีลำดับของคำที่ปรากฏอยู่ในวลีทั้งสอง ซึ่งคล้ายกับจะเป็น 'คู่วลี' ที่ล้อความหมายซึ่งกันและกันได้ ... แต่ผมกลับไม่คิดอย่างนั้นแฮะ !! ... :D
ผมมองว่า ลำดับของถ้อยคำที่ 'จิวกง' เลือกมาใช้นั้น น่าจะมีความเกี่ยวโยงไปถึงวลีของ King Wen ที่ยกประเด็นของ 'การแบ่งสันปันส่วนอย่างยุติธรรม' ขึ้นมาเป็นหัวข้อสำหรับการให้คำแนะนำ โดยวรรคแรกของ 'จิวกง' นั้น น่าจะสะท้อนความหมายของ 'ความฟอนเฟะของกฎระเบียบ' อันเป็นผลมาจาก 'การบิดเบือนอย่างไม่เป็นธรรม' ซึ่งตรงกับคำว่า 改井 (gǎi jǐng) ที่ King Wen บันทึกไว้เป็นข้อแนะนำว่า ... 'อันการปรับปรุงเพื่อพัฒนา (改) ชุมชนและหมู่คณะ (邑) ย่อมไม่อาจ (不) บิดเบือน (改) โครงสร้างของการแบ่งสันปันส่วน (井) ที่เหมาะสม' ... นั่นเอง
แล้ว 'จิวกง' ก็คงจะเลือกขยายความต่อไปว่า 'ความเหมาะสม' ที่ว่านั้นก็คืออะไร โดยใช้ตัวอย่างของ 'แหล่งน้ำลำธารในธรรมชาติ' ของระบบนิเวศ ที่เอื้อเฟื้อแหล่งพำนักพักพิงให้แก่สรรพชีวิตตามความจำเป็น และความเหมาะสมของแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง โดยระบุไว้ในช่วงท้ายวรรคว่า 'การเข้าไปแทรกแซง' ในลักษณะที่เป็น 'การบิดเบือน' นั้น ย่อม 'บ่อนทำลายกระบวนวิวัฒนการ' ที่ควรจะเป็นของสังคมโดยรวม ... ตรงนี้ควรจะสะท้อนถ้อยคำของ King Wen ที่กล่าวไว้ว่า 'ผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ (無喪) ย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับสิ่งตอบแทน (無得) การมอบออกไป (往) และการรับกลับคืน (來) จำเป็นต้องต่างตอบแทน (井井) ให้สมแก่เหตุปัจจัย' ...
เพราะฉะนั้น คำว่า 渫 (xiè, เซี่ย) ที่เราเห็นในวรรคนี้ จึงควรที่จะเป็น 'คู่คำ' ของ 汔 (qì, ชี่) ที่ปรากฏอยู่ในตอนกลางของวลีที่ King Wen เลือกใช้ เนื่องจากความหมายของคำทั้งสองมีความละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร ... โดยเราจะเห็นแล้วว่า 汔 (qì, ชี่) สามารถที่จะหมายถึง 'แห้งผาก' เมื่อใช้เป็นคำกริยา อันเป็นผลมาจาก 'การระเหยของน้ำ' จน 'หมดสิ้น' หรืออาจจะเพราะ 'ถูกใช้จนหมด' และยังมีความหมายคล้ายกับ 訖 (qì, ชี่) ที่หมายถึง 'สิ้นสุด', 'หมดสิ้น', หรือ 'ยุติ' ; ส่วนความหมายอื่นของ 汔 (qì, ชี่) ก็คือ 'จวนเจียน', 'เกือบจะ' แบบเดียวกับ almost ซึ่งอาจจะแผลงความหมายไปเป็น 'สม่ำเสมอ', 'ทุกครั้งครา' แบบเดียวกับ always ได้ด้วย ... ในขณะที่ 渫 (xiè, เซี่ย) มีความหมายในลักษณะของ 'การชำระชะล้าง', 'การกวาดล้าง', หรือ 'การกระจายออก' (ในทุกทิศทาง) ... ด้วยเหตุผลดังกล่าว ... ความหมายของคำว่า 井渫 (jǐng xiè, จิ่ง เซี่ย) ที่เราเห็นอยู่นี้ จึงไม่น่าจะถูกแปลว่า 'บ่อน้ำที่ใสสะอาด' เพียงเพื่อจะให้มีความหมายที่ตรงข้ามกับ 'บ่อน้ำอันเป็นที่หมักหมมของโคลนตะกอน' (井泥) ในวรรคที่หนึ่ง ... แต่มันควรจะหมายถึง 'การแบ่งสันปันส่วน (井) ที่กระจายออกไป (渫)' ... ซึ่งการกระจายออกไปอย่างเท่าเทียมกัน (不食 คือไม่มีความเหลื่อมล้ำกันเลย) โดยไม่คำนึงถึง 'ผลงาน' และ 'ความมุ่งมั่นทุ่มเท' ของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความย่อหย่อน' ต่อ 'หน้าที่' ที่พึงปฏิบัติ ด้วยเหตุที่ว่า 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' ใน 'การปฏิบัติงานอย่างทุ่มเท' ของสมาชิกส่วนใหญ่ ได้ถูกบั่นทอนจนหมดสิ้นไปแล้ว โดย 'ความเสมอภาคกันอย่างสุดโต่ง' (汔至) นั่นเอง ...
ความหมายของวรรคนี้ที่ 'น่าจะ' ใกล้เคียงกับถ้อยความเดิมที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อก็คือ ... 'การแบ่งสันปันส่วน (井) ที่กระจายจ่ายแจกออกไป (渫) อย่างปราศจากความเหลื่อมล้ำ (不食 คือไม่มีความแหว่งเว้า) โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานของการปฏิบัติงานใดๆ เลยนั้น ย่อมบั่นทอนขวัญ และกำลังใจของอาณาประชาราษฎร์ (為我民惻) ... อันมาตรการที่จะเสริมสร้างให้เกิดความกระตือรื้อร้น (可用汲 คือนโยบายที่จะก่อประโยชน์) ในการปฏิบัติงาน หัวใจสำคัญ (王 หรือผู้นำ) จะต้องมีความชัดเจน (明) ในเกณฑ์การพิจารณา เพื่อให้แต่ละบุคคลได้รับการตอบแทนที่สมควรแก่เหตุอย่างทั่วถึง (並受其福) จึงจะนับว่าเป็นความยุติธรรม' ... นี่คือ 'ข้อเตือนสติ' เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีของ 'ผู้ไม่ยอมสาวเชือกเพื่อตักน้ำขึ้นจากบ่อ (未繘井) สามารถเบียดเบียนประโยชน์จากน้ำในถังของผู้อื่น (羸其瓶) โดยมิได้ลงแรง' ตามถ้อยคำที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ตั้งแต่แรก ...
井甃無咎
jǐng zhòu wú jiù
甃 อ่านว่า zhòu (โจ้ว) แปลว่า 'ผนังบ่อน้ำ', 'บ่อน้ำ', 'ก้อนอิฐ' (ที่ใช้ก่อผนังบ่อน้ำ) ; เมื่อใช้เป็นคำกริยาจึงหมายถึง 'การก่ออิฐ', หรือ 'การก่อสร้าง'
หลังจากผ่านด่าน 'ค่ายกลอักษร' ในวรรคที่สามมาแล้ว ถ้อยคำสั้นๆ ที่ปรากฏอยู่ในวรรคนี้ก็แทบจะไม่ต้องอธิบายใดๆ เพิ่มเติมอีก เพราะสิ่งที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ให้ต่อเนื่องกันลงมาก็คือ ... 'การแบ่งสันปันส่วน (井) อย่างมีกรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน (甃) ย่อมปราศจาก (無) ข้อครหาหรือคำค่อนขอดว่าร้ายใดๆ (咎)' ... โดย 'จิวกง' เลือกใช้ภาพของ 'ผนังอิฐ' ที่ก่อขึ้นเพื่อ 'กำหนดขอบเขตของปากบ่อน้ำ' มาเป็นกรณีเปรียบเทียบ ... ซึ่ง ... ในแง่หนึ่ง นี่ก็คือ 'การกำหนดบรรทัดฐาน' เพื่อให้เกิด 'ความยุติธรรม' ใน 'การแบ่งสันปันส่วน' ... แต่ในเชิงของการเปรียบเทียบแล้ว นี่คือการสืบทอดความหมายที่ยังคั่งค้างมาจากวรรคที่สอง ซึ่งมีการเปรียบเปรยไว้ในลักษณะที่คล้ายกับว่า ... 'ความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง' ล้วนมี 'ความเหมาะสม' ในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยที่มนุษย์ไม่ควรเข้าไป 'ก้าวก่าย' ด้วยการกำหนด 'กรอบ' หรือ 'กฎเกณฑ์' ใดๆ ขึ้นมาใช้ 'บังคับควบคุม' ?!?! ...
ตรงจุดนี้ที่ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะจงใจขมวดปมของเรื่อง 'กรอบ' ให้กลายเป็น 'ประเด็นที่ย้อนแย้ง' ในตัวเองขึ้นมา เพื่อส่งต่อความหมายไปขยายความเพิ่มเติมในวรรคที่ห้า ซึ่งเป็น 'คู่วลี' ที่แท้จริงของวรรคที่สองอีกชั้นหนึ่ง
井冽寒泉食
jǐng liè hán quán shí
冽 อ่านว่า liè (เลี่ย) แปลว่า 'หนาวเย็น', 'เย็นยะเยือก' ซึ่งมักก่อให้เกิด 'ความขาวซีด', 'ขาวใส', หรือ 'ขาวโพลน' จนความหมายถูกแผลงไปเป็น 'ความชัดเจน'
寒 อ่านว่า hán (ฮั๋น) ปรกติจะใช้ในความหมายว่า 'หนาวเย็น' ซึ่งมี 'อาการสั่น' เป็นความหมายหนึ่งที่แฝงมาด้วย ดังนั้น ในแง่หนึ่งมันจึงสามารถแปลว่า 'ตกใจ' หรือ 'กลัว' โดยมี 'อาการสั่น' และ 'อาการขาวซีด' เป็นลักษณะร่วม
泉 อ่านว่า quán (เชฺวี๋ยน) แปลว่า 'น้ำพุ', 'น้ำใต้ดิน', โดยอาจจะหมายถึง 'ตาน้ำ', หรือ 'ตาน้ำพุ' ซึ่งเป็นจุดที่ 'น้ำใต้ดิน' ผุดหรือพุ่งออกมาก็ได้ ; อีกความหมายหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากความหมายทั่วๆ ไปนี้ก็คือ 'ที่อยู่อาศัยของดวงวิญญาณ'
เอาเฉพาะประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากวรรคที่สองก่อนก็แล้วกัน ซึ่งความหมายที่ผมเล่าเอาไว้ก็คือ ... 'แหล่งน้ำ (井) และลำธาร (谷) ย่อมเป็นถิ่นอาศัยพักพิง (射) ของหมู่มวลสรรพสัตว์น้ำทั้งน้อยใหญ่ (鮒) ... การกักเก็บน้ำไว้ภายในภาชนะ (甕) ย่อมปิดกั้นทำลาย (敝) พลังแห่งการรินไหล (漏) ของสายน้ำ' ... ตรงนี้ 'จิวกง' ได้ขยายความต่อมาว่า ... 'ด้วยสายธารที่รินไหล (井) ใส (冽) เย็น (寒) ล้วนก่อกำเนิดจากการหลอมรวมของตาน้ำ (泉) ที่หล่อเลี้ยง (食) อย่างไม่ขาดหาย' ...
ผมมองว่า ความหมายหนึ่งที่ 'จิวกง' พยายามจะสื่อสารผ่านวลีทั้งสองนี้ก็คือ 'แหล่งน้ำลำธารที่อำนวยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่สรรพชีวิตนั้น ล้วนมีต้นกำเนิดจากการสั่งสมหยดน้ำทีละหยด ที่ผุดออกจากตาน้ำเล็กๆ จนหลอมรวมกันเป็นกระแสธาร ... การหวงแหนประโยชน์ตนอย่างไม่รู้จักพอ ย่อมเปรียบได้กับการกักเก็บน้ำส่วนเกินไว้เพียงในภาชนะ อันจะบั่นทอนกำลังแห่งกระแสพัฒนาการของทั้งสังคมในระยะยาว' ... ซึ่งด้วยทัศนคติที่ว่านี้เอง อาจจะเป็นเหตุให้น้อมนำไปสู่ 'แนวคิดที่สุดโต่ง' ของ 'การแบ่งสันปันส่วน' ให้แก่ทุกผู้คนอย่างเสมอเหมือนกันโดยปราศจากเงื่อนไข !? ... แต่มันก็เป็น 'ความเสมอภาคกันอย่างสุดโต่ง' (汔至) ที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ล้วนระบุไว้ตรงกันว่า เป็นวิถีปฏิบัติที่เลวร้าย (凶) เพราะจะทำลาย 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' ของอาณาประชาราษฎร์ (為我民惻) จนไม่หลงเหลือ 'ความกระตือรือร้น' ที่จะ 'ปฏิบัติหน้าที่ของตน' อย่างเต็ม 'กำลังสติปัญญา' อีกต่อไป ...
ประเด็นที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ร่วมกันนำเสนอไว้เป็น 'ข้อแนะนำ' ในบทนี้ก็คือ 'การแบ่งสันปันส่วนจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่อ้างอิงได้กับผลของการปฏิบัติงาน' (可用汲) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่ยอมเสียสละย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับสิ่งตอบแทน (無喪無得) เพราะการอุทิศให้ และการได้รับผลสนองนั้น จำเป็นต้องต่างตอบแทนให้สมแก่เหตุปัจจัย (往來井井) เพื่อให้บุคคลได้รับประโยชน์ที่พึงได้เฉพาะจากความทุ่มเทของตน (並受其福) เท่านั้น จึงจะถือว่า 'ยุติธรรม' ... อย่างไรก็ตาม ถ้อยความที่ได้รับการกำกับขยายความไว้โดย 'จิวกง' ก็คือ 'สายน้ำมิเคยแบ่งแยกฝูงปลา ฝนฟ้ามิเคยเจาะจงสถานที่ ความเอื้ออารีคือหลักใหญ่ที่จะค้ำจุนทั้งสังคมให้ยั่งยืน' ... จึงเป็นที่มาของวลีคู่สำคัญประจำบท คือวรรคที่สอง และวรรคที่ห้า ที่บันทึกไว้ว่า 'แหล่งน้ำ (井) และลำธาร (谷) ย่อมเป็นถิ่นอาศัยพักพิง (射) ของหมู่มวลสรรพสัตว์น้ำทั้งน้อยใหญ่ (鮒) ... การกักเก็บน้ำไว้ภายในภาชนะ (甕) ย่อมปิดกั้นทำลาย (敝) พลังแห่งการรินไหล (漏) ของสายน้ำ ... ด้วยสายธารที่รินไหล (井) ใส (冽) เย็น (寒) ล้วนก่อกำเนิดจากการหลอมรวมของตาน้ำ (泉) ที่หล่อเลี้ยง (食) อย่างไม่ขาดหาย' ... เพื่อเป็นการเตือนสติให้ระลึกไว้ด้วยว่า 'แม้นว่าบุคคลย่อมสมควรได้รับประโยชน์จากความทุ่มเทของตนอย่างสมเหตุสมผล แต่ก็พึงให้ความเอื้อเฟื้อจุนเจือแก่สังคม โดยการสละส่วนที่เกินจำเป็นให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อันจะช่วยหล่อเลี้ยงให้สังคมยังสามารถดำรงคงอยู่อย่างสงบร่มเย็นสืบต่อไป' ... นี่มัน CSR ชัดๆ !! ... :D
นี่ก็คือ 'ความย้อนแย้งที่สอดคล้องกัน' ของถ้อยคำตั้งแต่วรรคที่สองจนถึงวรรคที่ห้า ซึ่ง 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ในบทที่สี่สิบแปด อันเป็นบทที่ว่าด้วย 'หลักแห่งการแบ่งสันปันส่วนอย่างยุติธรรม' อันเป็นเสาหลักหนึ่งที่จะช่วยจรรโลงความวัฒนาก้าวหน้าให้กับสังคมอย่างยั่งยืน ... ;)
jǐng shōu wù mù yǒu fú yuán jí
收 อ่านว่า shōu (โซว) แปลว่า 'รับ', 'ได้รับ', 'รวบรวม', 'เก็บเกี่ยว', 'จัดเก็บ', และยังสามารถที่จะหมายถึง 'ควบคุม' ซึ่งน่าจะแผลงมาจาก 'การจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย' นั่นเอง
幕 อ่านว่า mù (มู่) แปลว่า 'ผ้าคลุม', 'ผ้าม่าน', จึงทำให้มันสามารถถูกใช้ในความหมายว่า 'ปกปิด', 'ปกคลุม' ตลอดไปจนถึง 'ปกครอง' หรือ 'ครอบงำ' ได้ด้วย
ส่วนคำว่า 孚 (fú, ฟู๋) ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เราพบเห็นมาแทบจะตลอดเล่มคัมภีร์เลยก็ว่าได้นะครับ คำนี้มีความหมายว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้
ถ้าเราไม่จมอยู่ใน 'บ่อโคลน' (井泥) ของวรรคที่หนึ่งจนหลงประเด็น ความหมายของวรรคนี้ก็ค่อนข้างที่จะตรงตัว และสอดรับกับสิ่งที่เล่าไว้แล้วในวรรคที่หนึ่งนั่นเลยครับ ... ;) ... เมื่อ 'คู่วลี' แรกของ 'จิวกง' ได้เปิดประเด็นเอาไว้ว่า ... 'บ่อน้ำ (井) อันเป็นที่หมักหมมของโคลนตะกอน (泥) ย่อมมิอาจ (不) เอื้อประโยชน์แก่การบริโภค (食) กฎระเบียบอันโสโครกและเสื่อมโทรม (舊井) ย่อมสูญสิ้น (無) ศักยภาพในการปกครอง (禽)' ... วลีปิดท้ายก็ควรที่จะสานต่อประเด็นด้วยความหมายที่ว่า ... 'การแบ่งสันปันส่วน (井) เพื่อมอบหมายความรับผิด-รับชอบ (收 หมายถึงอำนาจในการควบคุมดูแล) ให้กับแต่ละบุคคล จะต้องมีความโปร่งใส ไม่คลุมเครือ (勿幕) จนเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย การได้รับความไว้วางใจด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา (有孚) คือปฐมปัจจัย (元) แห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉) โดยแท้' ...
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'จิ่ง' คือ การแบ่งสันปันส่วน, กระแสปราณที่หนุนเนื่องใต้แอ่งน้ำ
อัน 'การปรับปรุง' เพื่อ 'พัฒนาชาติบ้านเมือง' นั้น ย่อม 'ไม่อาจบิดเบือนกรอบเกณฑ์' ของ 'การแบ่งสันปันส่วน' ที่ 'เหมาะสม' ผู้ที่ 'ไม่ยอมเสียสละ' ย่อม 'ไม่คู่ควร' แก่ 'การได้รับสิ่งตอบแทน' ... 'การอุทิศให้' และ 'การได้รับผลสนอง' จำเป็นต้อง 'ต่างตอบแทน' ให้ 'สมแก่เหตุปัจจัย' ... 'ความเสมอภาคกันอย่างสุดโต่ง' นั้น ย่อมเปรียบเสมือนการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ยอมสาวเชือกเพื่อตักน้ำขึ้นจากบ่อ สามารถ 'เบียดเบียนประโยชน์' จากน้ำในถังของผู้อื่น 'โดยมิได้ลงแรง' อันเป็น 'ความเลวร้าย' ที่จะ 'บ่อนทำลายจิตสำนึก' ของทั้งสังคม
- บ่อน้ำอันเป็นที่ 'หมักหมม' ของ 'โคลนตะกอน' ย่อมมิอาจ 'เอื้อประโยชน์' แก่ 'การบริโภค' ฉันใด ; 'กฎระเบียบ' อัน 'โสโครก' และ 'เสื่อมโทรม' ย่อม 'สูญสิ้นศักยภาพ' ใน 'การปกครอง' ฉันนั้น
- แหล่งน้ำ และลำธาร ย่อมเป็น 'ถิ่นพำนักพักพิง' ของ 'หมู่มวลสรรพสัตว์' น้ำทั้งน้อยใหญ่ ... การกักเก็บน้ำไว้ภายในภาชนะ ย่อมปิดกั้นทำลาย 'พลังแห่งการรินไหล' ของสายน้ำ
- 'การแบ่งสันปันส่วน' ที่ 'กระจายจ่ายแจกออกไป' อย่าง 'ปราศจากความเหลื่อมล้ำ' โดย 'ไม่คำนึง' ถึง 'มาตรฐานของการปฏิบัติงาน' ใดๆ เลยนั้น ย่อม 'บั่นทอนขวัญและกำลังใจ' ของ 'อาณาประชาราษฎร์' ... อันมาตรการที่จะ 'เสริมสร้าง' ให้เกิด 'ความกระตือรื้อร้น' ใน 'การปฏิบัติงาน' นั้น 'หลักสำคัญ' หรือ 'ผู้นำ' จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'เกณฑ์การพิจารณา' เพื่อให้แต่ละบุคคล 'ได้รับการตอบแทน' ที่ 'สมควรแก่เหตุ' อย่าง 'ทั่วถึง' จึงจะนับว่าเป็น 'ความยุติธรรม'
- 'การแบ่งสันปันส่วน' อย่างมี 'กรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน' ย่อม 'ปราศจาก' 'ข้อครหา' หรือ 'คำค่อนขอดว่าร้าย' ใดๆ
- สายธารที่รินไหลใสเย็น ล้วนก่อกำเนิดจาก 'การหลอมรวม' ของ 'ตาน้ำ' ที่ 'หล่อเลี้ยงอย่างไม่ขาดหาย'
- 'การแบ่งสันปันส่วน' เพื่อมอบหมาย 'ความรับผิด-รับชอบ' ให้กับแต่ละบุคคล จะต้องมี 'ความโปร่งใส' 'ไม่คลุมเครือ' จนเป็นที่ 'เคลือบแคลงสงสัย' ... การได้รับ 'ความไว้วางใจ' ด้วย 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' คือ 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' โดยแท้
The Organization Code :
'การแบ่งสันปันส่วน' คือ การมอบหมาย 'หน้าที่' และ 'ความรับผิด-รับชอบ' ตาม 'ความเหมาะสม' แห่ง 'กำลังสติปัญญา' และ 'ศักยภาพ' ของแต่ละบุคคล เพื่อให้บุคคลหนึ่งๆ รับไป 'ดำเนินการ' อย่างมี 'ประสิทธิภาพ' และ 'ประสิทธิผล' ที่สมบูรณ์ โดยจะต้องมี 'มาตรการ' ใน 'การตรวจสอบ' และ 'การประเมินผล' ที่ 'บริสุทธิ์-ยุติธรรม' ทั้งยังต้องมี 'หลักเกณฑ์' ใน 'การตอบแทน' ให้แก่ 'การอุทิศกำลังกาย-กำลังใจ' ของบุคคลหนึ่งๆ อย่าง 'พอเหมาะพอสม' เพื่อเป็น 'การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ' ใน 'การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง' ... ด้วยเหตุนี้ 'ระดับนโยบาย' ก็จะต้องมี 'ความแน่วแน่มั่นคง' อย่าง 'เปิดกว้าง' และต้องมี 'ความชัดเจน' ในการแสดงออกซึ่ง 'บรรทัดฐาน' ของ 'การปฏิบัติงาน' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' (⚎) ... ในขณะที่ 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็จะต้องมี 'ความชัดเจน' ต่อ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' เพื่อจะ 'ดำเนินงาน' ให้ 'สำเร็จลุล่วงด้วยดี' อย่าง 'ไม่ย่อท้อ' ต่อทุก 'อุปสรรค' และ 'ความยากลำบาก' (⚍)
'การปรับปรุง' เพื่อ 'การพัฒนาองค์กร' หรือ 'การพัฒนาชาติบ้านเมือง' นั้น แม้ว่าจะต้องมี 'การปรับเปลี่ยนกระบวนการ' หรือ 'การปรับปรุงวิธีการ' ของ 'การปฏิบัติงาน' ให้ 'สอดคล้อง' กับ 'เหตุปัจจัย' ต่างๆ ในแต่ละ 'สถานการณ์' อย่างต่อเนื่อง ... แต่จะต้องไม่กระทำการใดๆ เพื่อ 'บิดเบือน' ใน 'หลักการ' อันเป็น 'บรรทัดฐาน' ของการมอบหมาย 'หน้าที่' และ 'ความรับผิด-รับชอบ' ตาม 'ความเหมาะสม' ที่แต่ละบุคคล หรือแต่ละภาคส่วนพึงได้รับ ... ผู้ที่กระทำ 'ความผิด' ต้องได้ 'รับผิด', ผู้ที่กระทำ 'ความชอบ' ต้องได้ 'รับชอบ', ผู้ที่ 'นิ่งเฉยดูดาย' ย่อม 'ไม่อาจเรียกร้อง' สิ่งใดเป็น 'การตอบแทน' ... 'ความไม่ชัดเจน' ใน 'หลักปฏิบัติ' โดยมุ่งกระทำการใดๆ อย่าง 'สุดโต่ง' ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสูญเสีย' อันเนื่องมาจาก 'การเบียดเบียน' และ 'การกอบโกย' ผลประโยชน์ของกันและกันอย่างไม่ลดละ
- 'กฎระเบียบ' ที่ไม่มี 'ความโปร่งใส' ย่อมไม่อาจเป็น 'ที่ยอมรับ' ของทั้งสังคม ; 'การบริหารงาน' ที่เต็มไปด้วย 'ความโสโครก' และ 'ความเสื่อมทราม' ย่อมสูญสิ้น 'ความชอบธรรม' ใน 'การปกครอง'
- 'ความมีชีวิตชีวา' ของแหล่งน้ำลำธาร ย่อมนำมาซึ่ง 'การพำนักพักพิง' ของสรรพสัตว์ทั้งน้อยใหญ่ ; 'การกักเก็บ-ปิดกั้น' ย่อมนำไปสู่ 'ความชะงักงัน' ของ 'การเจริญเติบโต' ... 'พลังแห่งกระแสน้ำ' ย่อมไร้ 'ทิศทาง' เพราะปราศจาก 'ขอบคันตลิ่งกั้น' ; 'ความเน่าเหม็น' ของแหล่งน้ำ ย่อมเป็นเพราะ 'การปิดกั้น' จน 'ไม่อาจไหลเวียน'
- 'การแบ่งสันปันส่วน' ที่ 'กระจายจ่ายแจกออกไป' อย่าง 'ปราศจากความเหลื่อมล้ำ' โดย 'ไม่คำนึง' ถึง 'มาตรฐานของการปฏิบัติงาน' ใดๆ เลยนั้น ย่อม 'บั่นทอนขวัญและกำลังใจ' ของ 'อาณาประชาราษฎร์' ... อันมาตรการที่จะ 'เสริมสร้าง' ให้เกิด 'ความกระตือรื้อร้น' ใน 'การปฏิบัติงาน' นั้น 'หลักสำคัญ' หรือ 'ผู้นำ' จะต้องมี 'ความชัดเจน' ใน 'เกณฑ์การพิจารณา' เพื่อให้แต่ละบุคคล 'ได้รับการตอบแทน' ที่ 'สมควรแก่เหตุ' อย่าง 'ทั่วถึง' จึงจะนับว่าเป็น 'ความยุติธรรม'
- การมี 'กรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน' ในการมอบหมาย 'หน้าที่' และ 'ความรับผิด-รับชอบ' ให้แก่บุคคล หรือภาคส่วนหนึ่งๆ เพื่อ 'ดำเนินการ' นั้น ย่อมไม่เปิดโอกาสให้แก่การกล่าวอ้าง 'คำครหา' หรือ 'ข้อตำหนิติติง' ใดๆ 'อย่างเลื่อนลอย'
- สายธารที่รินไหลใสเย็น ล้วนก่อกำเนิดจาก 'การหลอมรวม' ของ 'ตาน้ำ' ที่ 'หล่อเลี้ยงอย่างไม่ขาดหาย' ... 'ผลงาน' อัน 'ยิ่งใหญ่' และ 'โปร่งใส' ล้วน 'สัมฤทธิ์ผล' ได้เพราะ 'การหล่อหลอม' พลังแห่ง 'การอุทิศตน' ของผู้คนอย่าง 'ไม่ลดละความพยายาม'
- 'การแบ่งสันปันส่วน' เพื่อมอบหมาย 'ความรับผิด-รับชอบ' ให้กับแต่ละบุคคล จะต้องมี 'ความโปร่งใส' 'ไม่คลุมเครือ' จนเป็นที่ 'เคลือบแคลงสงสัย' ... การได้รับ 'ความไว้วางใจ' ด้วย 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' คือ 'ปฐมปัจจัย' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง' โดยแท้
คงเป็นเรื่องยากที่จะยืนยันว่า 'การตีความ' ตามที่เล่ามานี้ จะเป็นเนื้อความที่ 'ถูกต้องตรงใจ' ของ King Wen และ 'จิวกง' มากกว่า 'คำอธิบาย' ของบรรดานักวิชาการ หรือนักศึกษาคัมภีร์ทั้งหลาย ที่เคย 'พยายามถอดความ' ให้กับถ้อยคำอันวกวนของ 'คัมภีร์อี้จิง' จนไม่รู้ว่ากำลังเอ่ยถึงประเด็นไหนเลยซักอย่างเดียว เพราะแม้ว่าเราจะมีข้อมูลอันน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคของปราชญ์ทั้งสองท่านนี้ แต่เราก็คงจะได้แต่เดาว่า พวกท่านอยู่ในอารมณ์ และมีเจตนาอย่างไร ในการเลือกใช้ถ้อยคำมาบันทึกเป็นคัมภีร์เท่าที่สืบค้นมาได้ ... มันจึงเป็นธรรมดาที่ 'ผู้ถอดความ' จำเป็นต้องใช้ 'ดุลพินิจส่วนตัว' เพื่อ 'จำกัดกรอบ' ของเนื้อความ ให้อยู่ในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างเจาะจงลงไป ซึ่งผมเลือกที่จะ 'จำกัดกรอบ' ในการพิจารณาของผมเองว่า ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' เป็น 'นักการเมือง' และ 'นักการปกครอง' ที่ไม่ใช่ 'หมอดู' ... และกำหนดเป็นกรอบคร่าวๆ ไว้ว่า ตลอดเล่มของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้น ไม่ได้เขียนขึ้นมาด้วยถ้อยคำที่สุ่มสี่สุ่มห้า แต่เขียนออกมาจาก 'การคิด' และ 'การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน' แล้ว เพื่อให้เนื้อความทั้งหมดมี 'ความหมายที่สอดคล้อง' ทั้งในบทเดียวกัน และระหว่างบทต่างๆ ที่ลำดับไว้ในคัมภีร์เล่มนี้
โดยแนวทางหนึ่งที่ผม 'กำหนดขึ้นมาเองจากการสังเกต' ก็คือ 'จิวกง' ได้บันทึกข้อความไว้เป็น 6 วรรคในแต่ละบท โดยมีวรรคที่หนึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่หก, วรรคที่สองเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่ห้า, และวรรคที่สามก็จะเป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สี่ วนอยู่อย่างนี้เรื่อยไปทุกครั้ง ... ซึ่งจากแนวทางที่ผมพยายามแยกแยะเนื้อความต่างๆ ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ต้นเล่มของคัมภีร์ บทที่สี่สิบเจ็ด และบทที่สี่สิบแปดนี้ ควรจะเป็น 'คู่วลี' ของกันและกัน เพราะมันได้สะท้อนความหมายของวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่ของบทที่สอง ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'พลังแห่งหยิน' เอาไว้ ... ถ้าอย่างนั้น ... เราน่าจะเก็บตกความหมายอะไรได้อีกบ้างมั้ย หากนำเนื้อความของ King Wen ในทั้งสองบทมาเรียงต่อกัน ... ?! ...
บทที่สี่จิบเจ็ดได้รับกำหนดให้มีชื่อบทว่า 困 (kùn, คุ่น) โดย King Wen ซึ่งบันทึกต่อท้ายเป็นคำขยายความไว้ว่า ... 'การพัฒนา (亨) โดยธรรม (貞) นั้น ปราชญ์ (大人 หรือผู้นำ) ย่อมมุ่งปฏิบัติเพื่อผลสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) โดยไม่เสียเวลาไปกับการค่อนขอดตัดพ้อ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือโชคชะตา (無咎) และแม้จะมีถ้อยคำที่ร่ำลือไปต่างๆ นาๆ (有言) ก็จะต้องไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปอย่างไร้สติ (不信)' ... เนื้อความท่อนที่บันทึกต่อในบทที่สี่สิบแปด คือ 井 (jǐng, จิ่ง) ที่ขยายความไว้ว่า ... 'อันการปรับปรุงเพื่อพัฒนา (改) ชุมชนและหมู่คณะ (邑) ย่อมไม่อาจ (不) บิดเบือน (改) โครงสร้างของการแบ่งสันปันส่วน (井) ที่เหมาะสม ผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ (無喪) ย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับสิ่งตอบแทน (無得) การอุทิศให้ (往) และการได้รับผลสนอง (來) จำเป็นต้องต่างตอบแทน (井井) ให้สมแก่เหตุปัจจัย ... ความเสมอภาคกัน (汔) อย่างสุดโต่ง (至) นั้น ย่อมเปรียบเสมือน (亦) การเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ยอมสาวเชือกเพื่อตักน้ำขึ้นจากบ่อ (未繘井) สามารถเบียดเบียนประโยชน์จากน้ำในถังของผู้อื่น (羸其瓶) โดยมิได้ลงแรง อันเป็นความเลวร้ายที่จะบ่อนทำลาย (凶) จิตสำนึกของทั้งสังคม' ...
'ถ้อยความ' ที่ผมอยากจะเสนอเพิ่มเติมไว้ หลังจากที่นำวลีทั้งสองมาเรียงต่อกันก็คือ ... 'การพัฒนาองค์กร' หรือ 'การพัฒนาชาติบ้านเมือง' นั้น 'ผู้นำ' ควรจะต้องมุ่งความสนใจอยู่กับประเด็นของ 'ความเหมาะสม' ใน 'การมอบหมายภาระกิจ' ที่จะนำไปสู่ 'การปฏิบัติงาน' เพื่อ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' ไม่ใช่มัวแต่ไปเสียเวลาอยู่กับการรับรู้รับฟัง 'คำตัดพ้อต่อว่า' หรือ 'คำนินทาว่าร้าย' ต่างๆ นาๆ อย่างไร้ 'หลักการ' และ 'เหตุผล' ... ซึ่ง 'ความมีกรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน' ในเรื่องของการมอบหมาย 'หน้าที่' และ 'ความรับผิด-รับชอบ' หนึ่งๆ ออกไปนั้น ก็คือปัจจัยที่จะช่วยลดโอกาสของ 'การเบียดเบียนผลงานของผู้อื่นด้วยลมปาก' ให้หมดสิ้นไปได้ ... อนึ่ง การกล่าวอ้างเพียง 'หลักการ' และ 'เหตุผล' เพื่อจะไม่รับรู้-รับฟัง 'ข้อทักท้วง' ใดๆ เลยนั้น ย่อมเป็น 'การปิดกั้นตัวเอง' ซึ่งจะ 'บั่นทอนขวัญและกำลังใจ' ของ 'ผู้ร่วมงาน' ที่มีอยู่ด้วยเช่นกัน ... การบังคับใช้ 'หลักการ' และ 'เหตุผล' จึงจำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับ 'ความเข้าใจอันถูกต้อง' ของแต่ละ 'สถาานการณ์' เสมอ ...
บางครั้ง การต่อจิ๊กซอว์ของถ้อยคำที่ไม่น่ารู้เรื่องแบบนี้ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดีเหมือนกัน ... นะเนี่ย !!? ... :D