Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十七卦 : 隨

隨 : 澤雷隨 ‧ 兌上震下

隨 : 元亨利貞‧無咎‧

  • 初九 ‧ 官有渝‧貞吉‧出門交有功‧
  • 六二 ‧ 係小子‧失丈夫‧
  • 六三 ‧ 係丈夫‧失小子‧隨有求得‧利居貞‧
  • 九四 ‧ 隨有獲‧貞凶‧有孚在道‧以明‧何咎‧
  • 九五 ‧ 孚于嘉‧吉‧
  • 上六 ‧ 拘係之‧乃從維之‧王用亨于西山‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : กาย-ใจ ตื่นตัว (⚍); ปฎิภาณ พรั่งพร้อม (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' แจ่มชัดแต่ผ่อนปรน (⚍), 'แผนงาน' ยืดหยุ่นแต่ต่อเนื่อง (⚎), 'ปฏิบัติการ' เปิดกว้างแต่เข้มแข็ง (⚍)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความโอนอ่อน, ครืนครั่นใต้บาดาล



ความหมายของชื่อเรียก : Conforming : ความโอนอ่อน


ตัวอักษร 隨 (suí, ซุ๋ย) มีความหมายคล้ายกับ 'คล้อยตาม', 'ติดตาม', 'เชื่อฟัง', และสามารถหมายถึง 'ปรับตัว', 'คล้าย' หรือ 'ทำให้คล้าย', จนถึงขั้นที่อาจจะแปลว่า 'ทำตามอย่าง', 'เลียนแบบ' ก็ยังได้ ... หลายๆ ตำราใช้คำภาษาอังกฤษว่า Following มาแทนความหมายของ 隨 (suí, ซุ๋ย) ... แต่ผมคิดว่าคำที่น่าจะมีความหมายใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นคำว่า Conforming ซะมากกว่า เพราะมันควรจะสืบทอดความต่อเนื่องมาจาก 'ความไม่อวดดื้อถือดี' ในบทที่สิบห้า และ 'ความสุขุมคัมภีรภาพ' ในบทที่สิบหก อันจะแปรเปลี่ยนเป็นความสามารถใน 'การปรับตัว' ให้สอดคล้องกับ 'กาละ-เทศะ' ได้อย่างเหมาะสม หรือที่ผมเลือกใช้คำภาษาไทยว่า 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' นั่นเอง

隨 (suí, ซุ๋ย) มีที่มาจาก 'ภาพอักษร' 3 ภาพประกอบกันคือ ด้านซ้ายสุดจะเป็นภาพที่คล้ายกับ 'ธงนำขบวน' ในขณะที่ด้านขวาสุดจะดูคล้ายกับ 'คนถืออาวุธ' หรือ 'คนแบกสัมภาระ' ที่กำลังเดินตามมาทางด้านหลัง ส่วนภาพตรงกลางมีส่วนบนเป็นขีดเอียงๆ 3 ขีดแทน 'รอยเท้า' โดยมีด้านล่างเป็น 'ภาพอักษร' ของ 止 (zhǐ, จื่อ) ที่ในอดีตแปลว่า 'เท้า', 'รอยเท้า', แต่ความหมายในปัจจุบันแปลว่า 'หยุดอยู่กับที่' ซึ่งน่าจะแผลงมาจากความหมายของ 'ร่องรอย' หรือ 'รอยเท้า' ที่เหลือทิ้งเอาไว้ ... ความหมายดั้งเดิมของ 隨 (suí, ซุ๋ย) จึงหมายถึง 'การเดินตาม', และแผลงเป็น 'การเชื่อฟังคำสั่ง', หรือ 'การปรับตัว' ให้เหมาะแก่สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม, หรืออาจจะหมายถึง 'ผลลัพธ์ที่ติดตามมา' จากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็ได้

'ภาพสัญลักษณ์' ของ 隨 (suí, ซุ๋ย) ประกอบด้วยสัญลักษณ์ ☱ (兑, duì, ตุ้ย) ซึ่งหมายถึง 'ทะเลสาบ' อยู่ด้านบน แทนความหมายของ 'การให้และการรับด้วยจิตใจที่เปิดกว้างเบิกบาน' ส่วนด้านล่างคือสัญลักษณ์ ☳ (震, zhèn, เจิ้น) ซึ่งหมายถึง 'ฟ้าร้อง' แทนความหมายของ 'ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง' หรือ 'ความตื่นตัว' และทำให้ภาพรวมของสัญลักษณ์ ䷐ มีความหมายประมาณว่า 'ภายนอกดูโอนอ่อนผ่อนตาม ภายในเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติที่ตื่นตัว' ... ทีนี้ ... เมื่อเรานำกลับไปเทียบกับความหมายในวรรคที่สามของบทที่หนึ่งซึ่งบันทึกไว้ว่า 君子終日乾乾‧夕惕若厲‧無咎‧ (jün zǐ zhōng rì qián qián xī tì ruò lì wú jiù, จฺวิน จื่อ ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่ อู๋ จิ้ว) ซึ่งหมายถึง 'ปราชญ์ (君子, ยอดคน) ย่อมเกิดจากความมุ่งมั่น มีความวิริยะอุตสาหะพยายามในการฝึกฝน และบากบั่นเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (终日乾乾) มีจิตใจตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท มีความตื่นตัว มีความรอบรู้ มีความรอบคอบ รู้จักระแวดระวังตนเองอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อจะไม่เป็นผู้ก่อเภทภัยใดๆ จากความไร้สติยั้งคิด (夕惕若厲) … โดยไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ (無咎)' ... จะเห็นได้ว่า 隨 (suí, ซุ๋ย) ในความหมายของ Conforming ในบทที่สิบเจ็ดนี้มี 'ความเกี่ยวข้อง' ให้กับวลีดังกล่าวในประเด็นของ 'ความไม่ประมาท' อย่างค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว ...

บทที่มีความเกี่ยวข้องกับวลีดังกล่าวอีกบทหนึ่งก็คือบทที่ห้า 需 (xü, ซฺวี) ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย 'การเตรียมพร้อม' หรือ 'การรอคอยจังหวะ' โดยมีบทบันทึกของ King Wen กำกับไว้ว่า 有孚‧光‧亨‧貞吉‧利涉大川‧ (yǒu fú guāng hēng zhēn jí lì shè dà chuān, โหฺย่ว ฟู๋ กวง เฮิง เจิน จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน) และหมายถึง 'ต้องมีการเตรียมการมาอย่างดี (有孚) และจะต้องมีความตื่นตัว (光) ต่อความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (亨 คือความรู้ หรือข่าวสาร) ของจังหวะเวลาที่เหมาะสม (貞吉) จึงจะถือว่ามีความพร้อม (利) ที่จะบุกตะลุยไป (涉) จนสุดแผ่นดินแผ่นน้ำ (大川) ได้' หรือที่ 'จิวกง' พยายาม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'กาละ-เทศะ' 4 ประเภทว่า 'การรอคอยจังหวะนั้น มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ  孚 ‧ 光 ‧ 亨 ‧ 貞吉 ‧ ผู้ที่มีความเข้าใจ (利) ย่อมพร้อมที่จะกระทำการใหญ่ (涉大川)' แล้วสาธยายออกมาเป็น 'หลักแห่งการครองตน' ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน 4 แบบดังที่เล่าไว้ในบทที่ห้า ... ตรงจุดนี้ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึง 'ความโอนอ่อน' อย่างเข้าอกเข้าใจใน 'กาละ-เทศะ' หรือสถานการณ์หนึ่งๆ ที่มีอาจจะมีปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่างแตกต่างกันไป

ด้วยเหตุนี้ ความหมายของ 隨 (suí, ซุ๋ย) จึงไม่น่าจะถูกทดแทนด้วยคำว่า Following ซึ่งกินความได้ไม่ครบถ้วน แต่เราควรจะเลือกใช้คำที่มีความหมายครอบคลุมได้มากกว่าอย่างเช่น Conforming เพื่อช่วยให้เรามองเห็น 'ความเกี่ยวเนื่อง' ที่โยงใยระหว่างบทต่างๆ ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ฉบับดั้งเดิมที่ 'สองพ่อลูกอัจฉริยะ' ช่วยกันรจนาเอาไว้ ;)




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨利貞無咎
yuán hēng lì zhēn wú jiù
เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน อู๋ จิ้ว


มาอีกแล้วครับกับวลีด้วนๆ อย่าง 元亨利貞 ซึ่ง King Wen ใช้เป็นคำอธิบายคำว่า 乾 (qián, เชี๋ยน) อันเป็น 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทที่หนึ่ง และยังนำไปขยายความในคำอธิบาย 'ชื่อสัญลักษณ์' ประจำบทที่สามอีกครั้งว่า 元亨利貞勿用有攸往利建侯 (yuán hēng lì zhēn wù yòng yǒu yōu wǎng lì jiàn hóu, เยฺวี๋ยน เฮิง ลี่ เจิน อู้ โยฺว่ง โหฺย่ว โยว หวั่ง ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว) ... ซึ่งในบทที่สามนั้นเองที่ผม 'แทนค่า' ของวลี 元亨利貞 ด้วยอักษร 乾 (qián, เชี๋ยน) ตรงๆ ตัวเลย และได้ความหมายออกมาว่า 'การริเริ่มที่จะกระทำการใดๆ ให้สำเร็จลุล่วง (有攸往) ไปได้ด้วยดีนั้น ย่อมไม่ใช่ (勿) เริ่มต้นจากการอวดโอ่ (用) ศักยภาพ (乾 = 元亨利貞) ของตัวเอง … แต่ทางที่ดี (利) คือ เราจะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย (建侯) ของตนเองให้ชัดเจนมั่นคงซะก่อน จึงจะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง'

ทีนี้ ... เมื่อมาอยู่ในบทที่ว่าด้วย 'ความโอนอ่อน' ความหมายเดิมที่ King Wen เคยบรรยายไว้นั้นจะยังใช้ได้อยู่รึเปล่าล่ะ ?! ... คำตอบก็คือว่า 'ต้องใช้ได้แน่นอน' ... นั่นก็หมายความว่า เราจะเลือก 'ตีความ' ให้วลีของ King Wen ที่เห็นในบทนี้มีความหมายเดียวกับ 乾無咎 (qián wú jiù, เชี๋ยน อู๋ จิ้ว) ดื้อๆ ไปเลยก็ไม่แปลก ในเมื่อเราสามารถ 'แทนค่า' ของ 乾 = 元亨利貞 ได้อยู่แล้ว ... ผมเพียงแต่นึกสงสัยขึ้นมาเฉยๆ ว่า King Wen จะเขียนวลีซ้ำไปซ้ำมาทำไม ถ้าไม่มีความตั้งใจซุกซ่อนความหมายอย่างอื่นเอาไว้ ??!! ... ดังนั้นผมจึงจัดชุดของวลีที่น่าจะเกี่ยวข้องกันมาเรียงให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง

วรรที่สามของ 'จิวกง' ในบทที่หนึ่งบันทึกไว้ว่า ...

君子終日乾乾夕惕若厲無咎 
(jün zǐ zhōng rì qián qián xī tì ruò lì wú jiù, จฺวิน จื่อ ญื่อ เชี๋ยน เชี๋ยน ซี ที่ ญั่ว ลี่ อู๋ จิ้ว)

... ดูคำลงท้ายไว้นะครับ ;) เพราะถ้าถอดรหัสแบบพีชคณิตคู่กับวลีของ King Wen ในบทนี้ เราก็จะได้ ...

元亨利貞 = 君子終日乾乾夕惕若厲          ....... (1) ทันที :D

เมื่อสลับกลับมาเป็นคำบรรยายของ King Wen เองในบทที่ห้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับวลีดังกล่าวของ 'จิวกง' พอดี King Wen ก็บันทึกไว้ว่า ...

有孚光亨貞吉利涉大川 (yǒu fú guāng hēng zhēn jí lì shè dà chuān, โหฺย่ว ฟู๋ กวง เฮิง เจิน จี๋ ลี่ เษ้อ ต้า วน)

ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะ 'จิวกง' เลือก 'ตีความ' ให้วลีดังกล่าวหมายถึงสถานกรณ์ 4 ประเภทคือ 孚, 光, 亨, และ 貞吉 โดยอรรถาธิบายแยกออกเป็น 4 วลีในบทที่ห้าว่า

  •  
  • วรรคที่สอง สำหรับสถานการณ์แบบ 孚 : 需于沙小有言終吉 (xü yǘ shā xiǎo yǒu yán zhōng jí, ซฺวี ยฺวี๋ า เสี่ยว โหฺย่ว เอี๋ยน ง จี๋) ซึ่งมีความหมายว่า 'การรอคอยในสภาพการณ์ที่อึมครึมไม่ชัดเจน จงดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และมีความละเอียดรอบคอบอย่างมีเหตุมีผล ทุกสิ่งย่อมสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี'
  •  
  • วรรคที่สาม สำหรับสถานการณ์แบบ 光 : 需于泥致寇至 (xü yǘ ní zhì kòu zhì, ซฺวี ยฺวี๋ นี๋ จื้อ โค่ว จื้) ความหมายก็คือ 'การรอคอยในสภาพการณ์ที่ชะงักงันไม่มีความคืบหน้า จะต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความทุ่มเทถึงขีดสุด จึงจะสามารถฟันฝ่าต่อไปได้'
  •  
  • วรรคที่สี่ สำหรับสถานการณ์แบบ 亨 : 需于血出自穴 (xü yǘ xüè chū zì xüé, ซฺวี ยฺวี๋ เซฺวี่ย ฌู จื้อ เซฺวี๋ย) หมายความว่า 'การรอคอยในสภาพการณ์ที่โกลาหลวุ่นวาย และเสี่ยงต่อภยันตราย จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อกำกับควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด'
  •  
  • วรรคที่ห้า สำหรับสถานการณ์แบบ 貞吉 : 需于酒食貞吉 (xü yǘ jiǔ shí zhēn jí, ซฺวี ยฺวี๋ จิ่ว ซื๋อ เจิน จี๋) ความหมายก็คือ 'การรอคอยในสภาพการณ์ที่อุดมด้วยผลประโยชน์ จะต้องยึดมั่นในหลักคุณธรรม'

เมื่อเรา 'ตีความ' ย้อนกลับฉบับย่อๆ เราก็จะได้ความว่า ... 'ในสถานการณ์ที่อึมครึมไม่ชัดเจน จะต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ (元) ; ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย พึงต้องใช้กฎระเบียบ และปฏิภาณ (亨) ; ในสถานการณ์ที่ฝืดเคืองไม่คืบหน้า จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง (利) ; ในสถานการณ์ที่เพียบพร้อมอุดมสมบูรณ์ ต้องยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม (貞) ... เยี่ยงนี้จึงจะไม่เกิดความผิดพลาด (無咎)' ... ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะไปสอดคล้องกับความหมายของ 終日乾乾 ‧ 夕惕若厲 (zhōng rì qián qián ‧ xī tì ruò lì) ที่แปลว่า 'มีความวิริยะอุตสาหะอย่างมีสติยั้งคิด' ได้อย่างพอดิบพอดี ... โฮะ !!! ... อัจฉริยะอย่างเหลือเชื่อจริงๆ เลยครับสำหรับพ่อลูกคู่นี้ ... :D

และแทนที่จะต้องเสียเวลาพลิกกลับไปอ่านความหมายของอักษรทั้งสี่คือ 元, 亨, 利, 貞 ในบทที่หนึ่ง ผมขอยกมาให้ดูกันชัดๆ ทั้งยวงตรงนี้เลยดีกว่า ;)

元 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)

亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท'  (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)

貞 อ่านว่า zhēn (เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity,  virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'

ความหมายของอักษรทั้งสี่เมื่อรวมกันก็คือ 乾 (qián, เชี๋ยน) หรือ 'ความมีศักยภาพ' ซึ่ง 'ศักยภาพที่แท้จริง' ก็คือ 'การรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งตลอดกาล' นั่นเอง ... และนี่ก็คือความหมายของ 隨 (suí, ซุ๋ย : ความโอนอ่อน) หรือ Conforming ที่ King Wen ต้องการจะสื่อเอาไว้เป็นมรดกทางปัญญาให้แก่พวกเราทุกๆ คน ;)

ที่น่าสนุกก็คือ เมื่อ 'จิวกง' เอาความหมายในวลีประจำบทที่ห้าของ King Wen ไปบันทึกเป็นวรรคที่สามของบทที่หนึ่ง แล้วโยกเอาความหมายของบทที่สิบเจ็ดนี้ไปเขียนเป็นอรรถาธิบายให้กับบทที่ห้า ... บทบันทึกของ 'จิวกง' เองในบทที่สิบเจ็ดยังจะบอกอะไรกับเราอีกบ้างมั้ยล่ะ ?!! ...



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :
 
官有渝貞吉出門交有功
guān yǒu yǘ zhēn jí chū mén jiāo yǒu gōng
กวน โหฺย่ว ยฺวี๋ เจิน จี๋ ฌู เมิ๋น เจียว โหฺย่ว กง


官 อ่านว่า guān (กวน) ปรกติจะแปลว่า 'เจ้าพนักงาน', 'ข้าราชการ', 'ตำแหน่ง (ทางราชการ)' หรือ 'สถานที่ราชการ' ซึ่งบางครั้งก็ยังสามารถใช้ในความหมายของ 'คณะรัฐบาล' ทั้งคณะไปเลยก็มี ; ในสมัยก่อนมีการใช้คำนี้แทนความหมายของ 君 (jün, จฺวิน) ที่หมายถึง 'พระราชา', 'เจ้าแคว้น' หรือ 'กษัตริย์' ในฐานะของ 'หัวหน้ารัฐบาล' มันจึงสามารถหมายถึง 'พระราชวัง' ได้ด้วย ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะมีความหมายว่า 'บริหารจัดการ', 'รับราชการ', ซึ่งจริงๆ ก็คือ 'รับใช้ (ประชาชน)' หรือ 'ให้บริการ (แก่ประชาชน)' นั่นเอง ; และเมื่อเป็นกิจกรรมของ 'รัฐบาล' มันจึงมีลักษณะของ 'ความเป็นสาธารณะ', 'ความเป็นของส่วนรวม' ซึ่งหมายถึงเป็น 'สมบัติของรัฐ' หรือ 'สมบัติของประชาชนโดยรวม' เช่นเดียวกับ 公 (gōng, กง) ด้วยเหมือนกัน

ในเวลาเดียวกัน คำว่า 官 (guān, กวน) ในความหมายว่า 'การรับใช้ (ประชาชน)' สามารถแผลงเป็นความหมายว่า 'อวัยวะ' เช่น 'แขน-ขา' ได้อีกต่างหาก โดยหากเขียนเป็น 五官 (wǔ guān, อู่ กวน) หรือ 感官 (gǎn guān, กั่น กวน) จะหมายถึง 'ประสาทสัมผัสทั้งห้า' หรือ 'อายตนะห้า' นั่นเอง ... แต่ก็คงไม่ค่อยจะเห็นการใช้ในความหมายแบบนี้มากนัก

渝 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) แปลว่า 'เปลี่ยนแปลง' แต่มักใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับ 'ความรู้สึก' หรือ 'ทัศนคติ' ที่ 'แปรเปลี่ยน' ไปตามเหตุผลหรือสภาวะแวดล้อม บางครั้งมันจึงถูกใช้ในความหมายว่า 'เข้าใจ' หรือ 'ความเข้าใจ' ได้ด้วย

交 อ่านว่า jiāo (เจียว) แปลว่า 'เกี่ยวข้องกัน', 'ติดต่อกัน', 'สัมพันธ์กัน', 'แลกเปลี่ยนกัน', 'คบค้าสมาคมกัน', 'ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน' ; อาจจะหมายถึง 'การพบปะ' หรือ 'การอยู่ร่วมกัน' ก็ยังได้ ; แต่ในความหมายอื่นๆ ก็ยังสามารถหมายถึง 'สวยงาม' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'การเปรียบเทียบกัน', แต่ก็แฝงความหมายที่ไม่ค่อยดีอยู่ในตัว เพราะมันสามารถหมายถึง 'ความเย่อหยิ่งลำพอง', 'ความหลงตัวเอง', หรืออีกความหมายหนึ่งจะมีความหมายเหมือนกับ 狡 (jiǎo, เจี่ยว) ที่แปลว่า 'เจ้าเล่ห์เพทุบาย' ได้อีกด้วย

功 อ่านว่า gōng (กง) มาจากจากผสมอักษร 工 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'หน้าที่-การงาน' หรือ 'ภาระกิจ' กับอักษร 力 (lì, ลี่) ที่หมายถึง 'เรี่ยวแรง' ความหมายดั้งเดิมของ 功 (gōng, กง) จึงหมายถึง 'การลงมือลงแรงประกอบกิจการงาน', 'การทุ่มเทแรงกายเพื่อประกอบกิจการงาน' แล้วค่อยแผลงมาเป็น 'ความสำเร็จ' ที่มักจะใช้ประกอบกับอักษร 成 (chéng, เฌิ๋ง) เป็น 成功 ; ส่วนในความหมายของ 'การทุ่มเท' หรือ 'ความทุ่มเท' นี้ก็จะมีความหมายของ 'การประกอบความดี' หรือ 'การสร้างคุณูปการ' ที่ควรค่าแก่การให้ความเคารพนับถือร่วมอยู่ด้วย

วลีนี้ของ 'จิวกง' เล่นซะงงเอาเรื่องเลยทีเดียว หลายๆ ตำรามีการแปลวลีนี้ในทำนองว่า 'เมื่อสถานการณ์แปรเปลี่ยน ความหนักแน่นให้คุณธรรมจะนำมาซึ่งความเจริญ การคบค้าสมาคมกับบุคคลภายนอก ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ' ... แล้วก็มีประเภทที่ใช้คำว่า 'มาตรฐาน' หรือ 'กฎระเบียบ' มาแทนที่คำว่า 'สถานการณ์' อยู่บ้าง แต่ความหมายโดยรวมๆ ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ... แต่ผมกลับมองว่าวลีนี้มีการใช้ 'คำครงข้าม' อยู่หนึ่งคู่คือ 官 (guān, กวน) กับ 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) โดยมองได้ใน 2 ลักษณะ ... ถ้าเรามองให้ 官 (guān, กวน) หมายถึง 'ข้าราชการระดับสูง' หรืออาจจะให้หมายถึง 君 (jün, จฺวิน) ที่เทียบชั้นกับ 'พระราชา' ไปเลย ซึ่งก็จะเทียบได้กับ 'ผู้นำ' ซึ่งเป็นอีกความหมายหนึ่งของ 官 (guān, กวน) ที่พ้องกับ 師 (shī, ซือ) อันมีรากศัพท์มาจากแหล่งเดียวกันคือ 垖 (duī, ตุย) ที่แปลว่า 'เนินดิน' ด้วยกันทั้งคู่ ... ส่วนคำว่า 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) ก็น่าจะมีความหมายคล้ายกับ 'ข้าราชการชั้นผู้น้อย' หรือประเภท front office ของสำนักงานต่างๆ ที่เป็นฝ่ายติดต่อกับโลกภายนอก ... แต่ถ้าเรามองว่า 官 (guān, กวน) ให้หมายถึง 'นโยบาย' ใน 'การบริหารจัดการ' คำว่า 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) ก็น่าจะหมายถึง 'การปฏิบัติ' ซึ่งเป็นส่วนที่ 'แสดงออก' ให้ปรากฏสู่สายตาผู้คน ... หรือถ้าเราใช้ความหมายแปลกๆ ของ 官 (guān, กวน) ในฐานะของ 'ประสาทสัมผัส' หรือ 'ความรู้สึกนึกคิด' คำว่า 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) ก็จะหมายถึง 'พฤติกรรม' ที่ปรากฏได้เลยเหมือนกัน !!?? ... ซึ่งไม่ว่าจะมองด้วยมุมไหนก็ตาม 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) ก็จะไม่มีทางแปลว่า 'ออกจากบ้าน' หรือ 'ออกไปข้างนอก' โดยเด็ดขาด ... !!??

ดังนั้น โอกาสที่จะมีข้อสรุปว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการให้ 官 (guān, กวน) ในวลีนี้มีความหมายแบบไหน เราก็คงต้องกระโดดข้ามไปดูวรรคที่หกของบทนี้ ซึ่งถือว่าเป็น 'คู่วลี' ที่มักจะมีความหมายล้อกันกับวรรคที่หนึ่งอยู่เสมอ และคำสำคัญที่น่าจะชี้นำได้อย่างชัดเจนก็คือคำว่า 王 (wáng, วั๋ง) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ 君 (jün, จฺวิน) คือ 'พระราชา', หรือ 師 (shī, ซือ) ที่แปลว่า 'ผู้นำ' อย่างตรงตัวที่สุดนั่นเอง

ทีนี้พอเรารวบคำทั้งหมดเป็นวลีที่ต่อเนื่องกัน เราก็จะได้ความหมายว่า 'ผู้นำ (官) ที่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาตามสถานการณ์ (有渝) ด้วยความมั่นคงในหลักคุณธรรม (貞) ย่อมนำมาซึ่งความเจริญ (吉) และเมื่อผู้ปฏิบัติงาน (出門) ให้ความร่วมมืออย่างกลมเกลียว (交) ทุกภาระกิจก็ย่อมประสบผลสำเร็จ (有功)' ... หรือถ้าจะมองในความหมายของ 'การครองตน' เราก็จะได้อีกความหมายหนึ่งว่า 'ความรู้สึกนึกคิดที่รู้จักเปลี่ยนแปรไปตามสถานการณ์ โดยไม่ล่วงละเมิดต่อหลักคุณธรรม ย่อมนำมาซึ่งความเจริญ ... ความประพฤติและการปฏิบัติที่สอดรับกับความรู้สึกนึกคิดภายในใจของตน ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จดังที่มุ่งหวัง' ... และเป็นวลีที่น่าสนใจมากอีกวลีหนึ่งของ 'จิวกง'

เมื่อเราย้อนกลับไปดูความหมายในวลีประจำบทนี้ของ King Wen เราก็จะเห็น 'ความต่อเนื่องกัน' อย่างสมบูรณ์ เพราะ King Wen เอ่ยถึง 'การปฏิบัติตน' ไว้ 4 แบบคือ 元, 亨, 利, 貞 ซึ่ง 'จิวกง' รวบหัวรวบหางไว้ในคำว่า 有渝 (yǒu yǘ, โหฺย่ว ยฺวี๋) ที่บอกว่า 'รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา' หรือ 'มีความยืดหยุ่น' ต่อสถานการณ์ที่ 'เปลี่ยนแปลง' ... โดย 'จิวกง' ก็ไม่ลืมย้ำถึง 'หลักคุณธรรม' ที่ 'ผู้นำ' จะต้องมี 'ความหนักแน่น' ด้วย ไม่ใช่เหลาะแหละโลเลจนไร้ 'หลักยึด' แล้วก็อ้างว่ามี 'ความยืดหยุ่น' แล้วเหมือนอย่างพวกที่ไม่ได้เรื่องทั้งหลายชอบแอบอ้างกัน :P ... แล้วถ้าเรานำความหมายนี้ไปเทียบกับวลีของ King Wen ในบทที่สาม ซึ่งเตือนไว้ว่า 'การริเริ่มที่จะกระทำการใดๆ ไม่ควรอาศัยความอวดดื้อถือดีเป็นที่ตั้ง' การเอ่ยถึง 'ความยืดหยุ่น' หรือ 'การรู้จักสำเหนียกในความเป็นจริง' ของแต่ละสถานการณ์ในบทนี้ก็จะช่วยขยายความให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า 'ความไม่อวดดื้อถือดี' ที่ว่านั้นเขาปฏิบัติกันยังไง ... แล้วก็ยังสอดรับกับ 'การครองตนด้วยความไม่ประมาท' ที่ 'จิวกง' เลือกบันทึกไว้ในวรรคที่สามของบทที่หนึ่งอีกต่างหาก ... นี่ไง !! ... 'จิวกง' ใช้วลีเดียวของตัวเองในบทนี้โยงความหมายสองบทของ King Wen เข้าด้วยกันกับวลีที่ตนเองใช้ในบทก่อนๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้งหนึ่งแล้ว ... ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า ทำไม 'ขงจื้อ' ถึงได้ปลาบปลื้มกับ 'อัจฉริยบุคคล' ผู้นี้ซะขนาดนั้น ;)

 

สอง หยิน :

係小子失丈夫
xì xiǎo zǐ shī zhàng fū
ซี่ เสี่ยว จื่อ ซืจั้ง ฟู


วลีนี้มีการเล่น 'คำตรงข้าม' ไว้ถึง 2 คู่ด้วยกัน โดยเฉพาะคู่ของ 小子 (xiǎo zǐ, เสี่ยว จื่อ) กับ 丈夫 (zhàng fū, จั้ง ฟู) นั้นจะสะท้อนถึง 'ผู้น้อย' กับ 'ผู้ใหญ่' ซึ่งล้อความหมายกับ 出門 (chū mén, ฌู เมิ๋น) และ 官 (guān, กวน) ในวรรคแรกพอดีด้วย ส่วนอีกคู่หนึ่งก็คือ 係 (xì, ซี่) กับ 失 (shī, ซือ) ที่กำลังจะเล่าต่อไป โดยทั้งสองคู่นี้จะถูกย้ำความหมายอีกครั้งหนึ่งในวรรคถัดไปด้วย

係 อ่านว่า xì (ซี่) แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'ผูกพัน', 'รวบรวม', หรือ 'มัดให้แน่น' ; บางครั้งจึงหมายถึง 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว', หรือว่า 'จับกุม'

ส่วน 失 (shī,ซือ) นั้นเล่าไว้ตั้งแต่วรรคที่ห้าของบทที่แปดแล้วว่า หมายถึง 'ละทิ้ง', 'ปล่อยวาง', 'ทิ้งขว้าง', 'ไม่สนใจ', 'สูญเสีย', 'สูญหาย', 'หาไม่พบ', 'คลาดเคลื่อน', 'เบี่ยงเบน', 'ผิดพลาด', หรือ 'เลอะเลือน'

ความหมายของวรรคนี้อาจจะมองได้ว่า 'จิวกง' กำลังแนะนำพวกเราให้ 'รู้จักโต' อย่างเหมาะสม เพราะ 'หากยึดติด (係) อยู่กับความเป็นเด็ก (小子) ก็ย่อมไม่มีโอกาส (失) ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (丈夫)' ... แต่ถ้ามองในแง่ของ 'หลักแห่งผู้นำ' เราก็อาจจะ 'ตีความ' ให้วรรคนี้มีความหมายว่า 'หากมัวแต่พัวพัน (係) อยู่กับเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย (小子) ย่อมสูญเสีย (失) หลักสำคัญของความเป็นผู้นำ (丈夫)' ... ซึ่งในแง่หนึ่งแล้วก็คล้ายกับว่า 'จิวกง' กำลังใช้ภาพของ 'การเจริญเติบโต' ของมนุษย์มาเป็น 'ภาพเปรียบเทียบ' ให้เห็นว่า 'ธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่มีกาละ-เทศะที่เหมาะสมของมัน' เสมอ การเปลี่ยนผ่านจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่ง ย่อมต้องมี 'ความเหมาะสม' ใน 'การครองตน' ที่แตกต่างกัน และไม่ควรใช้ 'บรรทัดฐาน' ที่แตกต่างกันนี้อย่างสับสน

 

สาม หยิน :

係丈夫失小子隨有求得利居貞
xì zhàng fū shī xiǎo zǐ suí yǒu qiú dé lì jü zhēn
ซี่ จั้ง ฟู ซือ เสี่ยว จื่อ ซุ๋ย โหฺย่ว ชิ๋ว เต๋อ ลี่ จฺวี เจิ


'จิวกง' จงใจใช้วลีย้อนกลับกับวรรคก่อนว่า 係丈夫失小子 ซึ่งอาจจะ 'ตีความ' ว่าหมายถึง 'หากยึดติด (係) อยู่กับความเป็นผู้ใหญ่ (丈夫) ก็ย่อมจะสูญเสีย (失) ความเป็นเด็ก (小子)' ... ซึ่งผมมองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากสำหรับ 'หลักคิด' ของ 'อัจฉริยะบุคคล' ผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวางรากฐานให้กับวัฒนธรรมของชาวจีน วลีท่อนนี้ของ 'จิวกง' ได้สะท้อนสาระสำคัญประการหนึ่งก็คือ 'จิตวิญญาณแบบเด็กๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระเสมอไป' เพราะบ่อยครั้งที่ 'ความอวดดื้อถือดี' แบบ 'ผู้ใหญ่' นั่นแหละที่เป็นปัจจัยหลักของการ 'ปิดกั้นตนเอง' จาก 'การเรียนรู้' หรือ 'การยอมรับฟังอย่างให้ความสนใจ' แบบ 'เด็กๆ' ... หรือ ... สูญเสีย 'จินตนาการ' ที่เต็มไปด้วย 'ความใฝ่ฝัน', 'ความอยากรู้อยากเห็นอยากเป็น' และ 'การมีความสุขได้ง่าย' แบบ 'เด็กๆ' ไปจนหมดสิ้น ... จริงๆ แล้ว ทุกๆ ช่วงวัยของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มี 'ข้อเด่น' และ 'ข้อด้อย' หรือ 'ข้อจำกัด' ที่แตกต่างกัน การเติบโตเพื่อเป็น 'มนุษย์โดยสมบูรณ์' นั้นจึงไม่ใช่ 'การปฏิเสธ' ด้านใดด้านหนึ่งของตนเองอย่างไม่ใยดีกับมัน แต่จะต้องผสมผสานส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละช่วงวัยของตนเองให้ร่วมรวมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำรงชีวิตเสมอ ...

ถ้าจะมีใครบอกว่า 'จิวกง' ไม่มี 'ความขี้เล่นแบบเด็กๆ' อยู่ในตัวเองเลย ผมคิดคงต้องลองทบทวนจากวลีคู่ที่เห็นอยู่นี้ซะใหม่แล้วล่ะ ... 係小子失丈夫 กับ 係丈夫失小子 ... ซึ่งด้วยอัจฉริยภาพของ 'จิวกง' แล้ว การยก 'คู่เปรียบเทียบ' เพื่อให้ได้ความหมายของ 'ได้อย่าง-เสียอย่าง' ยังมีทางเลือกอีกมากมายมหาศาล โดยไม่จำเป็นต้องเอาเรื่อง 'เด็ก' หรือ 'ผู้ใหญ่' ที่พวกเห่อระบบ Seniority แทบจะกระอักเลือดเมื่อได้ยินได้ฟังแบบนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า 'จิวกง' จะ 'จงใจ' ให้ความหมายนี้ 'ทิ่มแทง' ความรู้สึก 'อวดดื้อถือดี' ของพวก 'แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน' อย่างตรงๆ ลงไปเลย ... สะใจมาก !! ... :D

ถ้าจะ 'ตีความ' แบบกลางๆ ให้เหมือนกับ 'จิวกง' ไม่ได้จงใจกระทบกระเทียบใคร วลีนี้ก็น่าจะถูก 'ตีความ' กันว่า 'หากมุ่งมั่น (係) ที่จะทำการใหญ่ (丈夫 หมายถึงกระทำการอย่างผู้นำ) ก็ต้องอย่าใส่ใจ (失) กับรายละเอียดที่หยุมหยิม (小子) การโอนอ่อนผ่อนตาม (隨) ย่อมต้องมี (有) ทั้งที่ยังร่ำร้อง (求) และที่ได้รับสิ่งตอบสนอง (得) ความสำเร็จ (利) จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสั่งสม (居) คุณธรรมความดี (貞)' ... ตรงนี้ผมลอกความหมายของ 利居貞 (lì jü zhēn, ลี่ จฺวี เจิน) ซึ่งเป็นวลีปิดท้ายมาจากวรรคที่หนึ่งในบทที่สามทั้งดุ้นเลย ;)

 

สี่ หยาง :

隨有獲貞凶有孚在道以明何咎
suí yǒu huò zhēn xiōng yǒu fú zài dào yǐ míng hé jiù
ซุ๋ย โหฺย่ว ฮั่ว เจิน เซฺวิง โหฺย่ว ฟู๋ ไจ้ เต้า อี่ มิ๋ง เฮ๋อ จิ้ว


獲 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'ฉกฉวย', 'คว้าเอาไว้' หรือ 'ได้รับ' ซึ่งทั้งหมดจะสื่อไปในความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะ 獲 (huò, ฮั่ว) มีความหมายในลักษณะของ 'การได้มาจากการล่า (สัตว์)', 'การได้รับโดยการแย่งชิง' หรือ 'ได้รับจากการขู่เข็ญบังคับ' ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับ 求得 ในวรรคก่อนที่หมายถึง 'การได้รับจากการร้องขอ'

เล่าความหมายของ 孚 (fú, ฟู๋) ซ้ำอีกครั้งจากบทที่ห้านะครับ คำนี้แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

ส่วนอักษร 道 (dào, เต้า) นี่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีถ้าออกเสียงว่า 'เต๋า' ซึ่งหมายถึง 'ทาง', 'มรรค', หรือ 'ธรรม' ; ปรกติแล้วก็แปลว่า 'ถนนหนทาง', 'แนวทาง', 'คำพูด', 'คำสั่งสอน' ; ตลอดไปจนถึง 'หลักคำสอน' หรือ 'หลักธรรม' ด้วยก็ได้

明 อ่านว่า míng (มิ๋ง) แปลว่า 'สว่างไสว', 'เข้าใจ', 'ชัดเจน' หรือ 'เปิดกว้าง' ; บางครั้งก็หมายถึง 'ฉลาดหลักแหลม' และ 'บริสุทธิ์' (คือไม่มีความขุ่นมัว) ได้ด้วย

ตรงนี้ 'จิวกง' เล่นวลีที่ 'ล้อความหมาย' กันเองอีกครั้งด้วยคู่ของ 隨有求得 (suí yǒu qiú dé, ซุ๋ย โหฺย่ว ชิ๋ว เต๋อ) ในวรรคที่สาม กับ 隨有獲 (suí yǒu huò, ซุ๋ย โหฺย่ว ฮั่ว) ในวรรคนี้ โดยวลีแรกนั้นหมายถึง 'การโอนอ่อนผ่อนตามย่อมต้องมีทั้งการร้องขอและการได้รับการตอบสนอง' ส่วนวลีหลังจะหมายถึง 'การโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อหลอกล่อและเอารัดเอาเปรียบ' ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายคือ 'การได้รับมา' เหมือนๆ กัน แต่ 'เจตนาตั้งต้น' ของ 'การโอนอ่อนผ่อนตาม' ที่แสดงออกนั้น กลับมีความแตกต่างกันในด้าน 'ความจริงใจ' และ 'หลักคุณธรรม' อย่างชนิดที่เป็น 'คนละขั้ว' ไปเลย โดย 'จิวกง' ได้แสดงทัศนะต่อ 'พฤติกรรมเสแสร้ง' ในแบบหลังนี้ในลักษณะที่เป็น 貞凶 (zhēn xiōng, เจิน เซฺวิง) ซึ่งหมายถึง 'คุณธรรมที่ล้มเหลว' หรือ 'พฤติกรรมที่เลวร้าย' นั่นเอง

ความหมายเต็มๆ ของวรรคนี้ก็คือ 'การโอนอ่อนผ่อนตาม (隨) ที่มีเจตนาหลอกล่อเพื่อหวังเอารัดเอาเปรียบ (有獲) คือหลักปฏิบัติที่ชั่วร้าย (貞凶) ความน่าเชื่อถือ (有孚) ต้องอยู่ (在) บนรากฐานของหลักแห่งคุณธรรม (道) ที่เปิดเผยอย่างบริสุทธิ์ใจ (以明) หาใช่การเสแสร้งแกล้งดัดแต่ประการใดไม่ (何咎)'

ขอแทรกจุดเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'ลำดับวลี' ที่ 'จิวกง' เลือกใช้มาตั้งแต่วรรคที่สองนะครับ ... เราจะเห็นว่า 'จิวกง' เลือกหยิบยกประเด็นของ 'ต้องรู้จักโตให้สมวัย' มาเป็นวลีชูโรง เพื่อดึงภาพของ 'การเปลี่ยนแปลง' ตามเงื่อนไขของ 'กาละ-เทศะ' ให้โดดเด่นขึ้นมา ... จากนั้นก็วกกลับไปสู่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ 'จิตวิญญาณแบบเด็กๆ' เพื่อกำราบ 'ความอวดดื้อถือดี' แบบ 'ผู้ใหญ่' ที่บ่อยครั้งมักจะคิดว่าตัวเองมี 'ความแก่กล้า' ใน 'สรรพความรู้' อย่างล้นเหลือแล้ว ... แล้วก็ตบท้ายด้วยเรื่องของ 'ความเสแสร้งแกล้งดัด' ซึ่งเป็นลักษณะที่ขัดแย้งอย่างสุดขั้วหากเรานำไปเปรียบเทียบกับ 'ความใสซื่อ' หรือ 'ความตรงไปตรงมา' แบบ 'เด็กๆ' ... ตรงนี้จึงคล้ายกับ 'จิวกง' กำลังตักเตือนพวกเราว่า 'ผู้ใหญ่' ที่มักจะอวดอ้างว่าตนมี 'ความรู้-ความสามารถ' อย่างล้นเหลือนั้น บางครั้งก็ถึงกับหลงลืมไปว่า 'ความน่าเคารพนับถือ' ต้องอาศัย 'ความบริสุทธิ์ใจ' ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานแห่ง 'หลักคุณธรรม' อัน 'เรียบง่าย' และมี 'ความตรงไปตรงมา' ไม่ใช่อาศัย 'ความมีชั้นเชิง' ใน 'การหลอกล่อ' ให้ผู้อื่น 'หลงชื่นชม' แม้แต่น้อยเลย ... ซึ่ง 'จิวกง' ใช้ภาพของ 'ความเป็นเด็ก' จากคำว่า 小子 (xiǎo zǐ, เสี่ยว จื่อ) เพียงคำเดียวรวบความหมายไว้ด้วยกันอย่างหมดจดมากๆ ... โฮะ !!! ... นับถือ ... นับถือ ... :D

 

ห้า หยาง :
 
孚于嘉吉
fú yǘ jiā jí
ฟู๋ ยฺวี๋ เจีย จี๋


ทีแรกก็ยังสงสัยว่าจะมีการลำดับวลีข้ามวรรคข้ามตอนกันรึเปล่า แต่ปรากฏว่า 'จิวกง' เลือกจบประเด็นของ 'ความเป็นเด็ก' กับ 'ความเป็นผู้ใหญ่' ได้อย่างสวยงามมากเลยทีเดียว และเป็นวิธีจบที่ทำให้วรรคที่สองมีความหมายที่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกรอบเดิมที่ถูกเรียบเรียงเอาไว้คือ วรรคที่สองกับวรรคที่ห้าจะต้องสื่อความหมายที่สัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ...

嘉 อ่านว่า jiā (เจีย) มีความหมายประมาณว่า 'สวยงาม', 'ดีงาม', 'ประณีต', 'เรียบร้อย', 'ยอดเยี่ยม' ; และ 'มีความสุข'

ส่วนอักษร 孚 (fú, ฟู๋) นั้นนอกจากจะหมายถึง 'ความน่าเชื่อถือ', 'ความวางใจได้' มันก็ซ่อนความหมายของ 'มีความพร้อม', 'มีความตั้งใจ', 'ความจริงจัง' หรือ 'มีความเป็นระเบียบแบบแผนที่แน่นอน' เช่นเดียวกับ 'การกกไข่' ของแม่นกทีต้องใช้ทั้ง 'ความมีน้ำอดน้ำทน' และ 'ความใส่ใจ' อย่าง 'มีระเบียบกฎเกณฑ์' ที่สม่ำเสมอ

ดังนั้น ความหมายของวรรคนี้จึงหมายถึง 'การครองตนด้วยกรอบเกณฑ์ (孚) ที่เหมาะสม ย่อมนำไปสู่ (于) ความประพฤติที่ประณีตงดงาม (嘉) อันเป็นวัตรปฏิบัติแห่งความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... นี่ก็คือ 'ข้อเด่น' ของ 'ความเป็นผู้ใหญ่' หรือ 'ผู้ที่มีวุฒิภาวะ' ซึ่งก็คือ 丈夫 (zhàng fū, จั้ง ฟู) ที่ระบุไว้ในวรรคที่สองว่า 係小子‧失丈夫 (xì xiǎo zǐ shī zhàng fū, ซี่ เสี่ยว จื่อ ซืจั้ง ฟู) อันหมายถึง 'หากยึดติดอยู่กับความเป็นเด็ก ก็ย่อมสูญเสียความเป็นผู้ใหญ่' ...

เราจะเห็นว่า 'จิวกง' เลือกใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยให้เห็นถึง 'ข้อดี' ของ 'ความเป็นเด็ก' ในวรรคที่สามและวรรคที่สี่ โดยหยิบยกประเด็นของ 'ความไร้มารยา' มาเป็นตังบ่งชี้ถึง 'หลักคุณธรรม' ที่ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนมักจะเลือกทำให้เสื่อมเสียคุณค่าลงไป ... ในขณะที่ 'จิตวิญญาณ' แบบเด็กๆ ที่มักจะเต็มไปด้วย 'สีสัน' แห่ง 'จินตนาการ' และ 'ความอยากรู้อยากเห็นอยากลอง' บางครั้งก็อาจจะ 'ซุกซน' หรือ 'คึกคะนอง' จน 'เกินเลยขอบเขต' กันไป 'จิวกง' ก็เลือกจังหวะในการกล่าวยกย่อง 'ความเคร่งขรึม' และ 'ความสำรวม' แบบ 'ผู้ใหญ่' ที่ 'เด็กๆ' ทั้งหลายแทบไม่เห็นคุณค่าความหมายใดๆ เลยนั้นว่า แท้ที่จริงแล้วมันคือ 'วัตรปฏิบัติ' ที่มี 'ความประณีตงดงาม' อันจะนำไปสู่ 'ความน่าเชื่อถือ' และ 'ความน่าเคารพเทิดทูน' ได้ในที่สุด ... ซึ่งก็คือ 'ข้อดี' ของ 'ความเป็นผู้ใหญ่' นั่นเอง ... เป็นลำดับวลีที่สวยมากครับ !!! :)

 

หก หยิน :
 
拘係之乃從維之王用亨于西山
jü xì zhī nǎi cóng wéi zhī wáng yòng hēng yǘ xī shān
จฺวี ซี่ จือ ไหฺน่ ช๋ง เว๋ย จือ วั๋ง โยฺว่ง เฮิง ยฺวี๋ ซี ซั


拘 อ่านว่า jü (จฺวี) แปลว่า 'จำกัด', 'ผูกมัด', 'ยึดเหนี่ยว', 'แน่นหนา' ; 'กรอบ' หรือ 'ขอบเขต' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ไม่ยืดหยุ่น' หรือ 'แข็งขืน' ได้ด้วย

乃 อ่านว่า nǎi (ไหฺน่) เป็นคำเชื่อมวลี คล้ายๆ กับคำว่า so, then, therefore, หรือ thereafter ในภาษาอังกฤษ ความหมายจึงคล้ายๆ กับ 'ดังนั้น', 'ผลที่ติดตามมา' หรืออะไรประมาณนั้น :)

從 อ่านว่า cóng (ช๋ง) แปลว่า 'นับจาก', 'จาก', 'โดย', 'นับตั้งแต่', 'เมื่อ', 'ตั้งแต่' ; 'นำมาใช้ประโยชน์', 'นำมาประยุกต์', 'นำมาเป็นกรรมสิทธิ์'

維 อ่านว่า wéi (เว๋ย) แปลว่า 'ธำรงไว้', 'รักษาไว้', 'อนุรักษ์ไว้', 'ทำให้คงอยู่', และอาจใช้ในความเดียวกับ 係 (xì, ซี่) ที่แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'ผูกพัน', 'รวบรวม', หรือ 'มัดให้แน่น' ; หรือ 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว', และ 'จับกุม'

คำที่ดูแผลงๆ หน่อยก็น่าจะเป็น 西山 (xī shān, ซี ซัน) ที่ทุกตำราแปลไว้ตรงกันว่า 'ภูเขาด้านตะวันตก' ในขณะที่ผมมองไม่เห็น 'ความเกี่ยวข้อง' ใดๆ กับเนื้อความตลอดทั้งบทที่ไล่ 'ถอดความ' ออกมา ... ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมจึงมี 'ความเชื่อ' ว่า 西 (xī, ซี) ที่ 'จิวกง' นำมาใช้ในวรรคนี้ น่าจะตั้งใจให้มีความหมายเป็นอย่างอื่นโดยไม่เกี่ยวกับ 'ชื่อทิศ' ??!! ... งั้นก็ต้องย้อนไปดูความหมายของ 西 (xī, ซี) ที่เล่าไว้ในบทที่เก้ากันล่ะครับ ;)

西 (xī, ซี) ปรกติจะแปลว่า 'ทิศตะวันตก' แต่ที่มาของความหมายว่า 'ทิศตะวันตก' นี่สิที่น่าสนใจมากๆ เพราะ 'ภาพอักษร' ของ 西 นั้นมาจากการเขียนภาพ 'นก' ที่กำลัง 'นอนพัก' อยู่บน 'รังนก' ในลักษณะที่มีความหมายว่า เป็น 'การกลับคืนสู่รัง' เมื่อ 'พระอาทิตย์ตกดิน' … ด้วยเหตุนี้ ความหมายแปลกๆ ของอักษร 西 จึงสามารถที่จะหมายถึง 'การหยุดพัก', 'ที่พัก', 'ที่พักพิง' … นอกจากนั้นแล้ว ในคติความเชื่อแบบจีนก็มีอยู่ว่า … ความหมายหนึ่งของ 'ทิศตะวันออก' จะหมายถึง 'ความก้าวหน้า', หรือ 'การพัฒนา' … ส่วน 'ทิศตะวันตก' ก็จะหมายถึง 'การอนุรักษ์', 'การเก็บรักษา', หรือ 'การทะนุถนอม' … ดังนั้น 'ทิศตะวันตก' จึงมีอีกความหมายหนึ่งว่า 'ที่ต้องให้ความเคารพ' เช่น บรรพบุรุษ, ครูบาอาจารย์, หรือเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งโดยปรกติแล้ว จะจัดวางให้อยู่ทาง 'ทิศตะวันตก' โดยหันหน้าไปทาง 'ทิศตะวันออก' ทุกครั้ง … และเมื่อมีความหมายถึง 'สิ่งที่ต้องให้ความเคารพ' หรือ 'สิ่งที่ต้องผดุงรักษาไว้' หรือ 'ต้องอนุรักษ์เอาไว้' มันจึงสื่อความหมายถึง 'หลักคุณธรรม', 'คุณงามความดี', หรือ 'คำสั่งสอน' ต่างๆ ได้ด้วย ... โป๊ะเชะ !!!

เมื่อ 山 (shān, ซัน) ไม่มีความหมายแปลกๆ ที่นอกเหนือไปจาก 'ภูเขา', 'โคก', หรือ 'เนิน' หรือ 'สิ่งที่มีลักษณะคล้ายภูเขา' คำว่า 西山 (xī shān, ซี ซัน) ที่ถูกใช้ในที่นี้จึงมีโอกาสที่จะหมายถึง 'ภูเขาทางฝั่งตะวันตก' ... หรือ ... 'ขุนเขาเพื่อพักพิง' ก็ได้เหมือนกัน ... แต่เมื่อเรา 'ตีความ' รวมกับถ้อยคำส่วนที่เหลือแล้ว ความหมายของทั้งวรรคก็จะกลายเป็น 'เพราะความดื้อดึงแข็งขืน (拘係) จึงก่อให้เกิดความยึดติด (乃從維之) ปราชญ์ (王 หรือ 'ผู้นำ') จึงอาศัย (用) ความประจักษ์แจ้งแห่งปัญญา (亨) เป็นดั่ง (于) ขุนเขาเพื่อแอบอิง (西山)' ... ไม่ใช่ 'ภูเขาทางฝั่งตะวันตก' อย่างแน่นอน !!!??

เมื่อเรานำไปเรียงต่อกันกับวรรคที่หนึ่งในบทนี้ เราก็จะได้วลียาวๆ ว่า 官有渝‧貞吉‧出門交有功‧拘係之‧乃從維之‧王用亨于西山‧ (guān yǒu yǘ . zhēn jí . chū mén jiāo . yǒu gōng . jü xì zhī . nǎi cóng wéi zhī . wáng yòng hēng yǘ xī shān, กวน โหฺย่ว ยฺวี๋ เจิน จี๋ ฌู เมิ๋น เจียว โหฺย่ว กง จฺวี ซี่ จือ ไหน่ ช๋ง เว๋ย จือ วั๋ง โยฺว่ง เฮิง ยฺวี๋ ซี ซัน) ซึ่งความหมายก็คือ 'ผู้นำที่รู้จักโอนอ่อนตามสภาพแวดล้อมโดยไม่ฝืนต่อหลักคุณธรรม ย่อมประสบความเจริญ เมื่อผู้ปฏิบัติงานให้ความร่วมมืออย่างกลมเกลียว ภาระกิจใดๆ ก็ย่อมต้องสำเร็จ ความดื้อดึงแข็งขืนย่อมก่อให้เกิดความยึดติดที่ไม่ราบรื่น ปราชญ์จึงอาศัยความประจักษ์แจ้งแห่งปัญญาเป็นดั่งขุนเขาเพื่อแอบอิง' ... ส่วนวรรคที่สองถึงวรรคที่ห้าก็คือส่วนขยายความให้กับความหมายของวลียาวๆ ที่ว่านี้ ซึ่งทั้งหมดก็คือความหมายของ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' หรือ Conforming ดังที่ King Wen พยายามจะสื่อสารไว้ในบทนี้ ... นั่นเอง !!

... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะครับงานนี้ ... ถือเป็นบทที่สุดยอดมากๆ อีกบทหนึ่งของพ่อลูกคู่นี้เลยทีเดียว ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ซุ๋ย' คือ ความโอนอ่อนผ่อนตาม, ครืนครั่นใต้บาดาล

'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ต้องอาศัย 'ความริเริ่มสร้างสรรค์', 'ไหวพริบปฏิภาณเฉียบคม', 'ความอดทนมุ่งมั่น', 'หนักแน่นในหลักคุณธรรม' เยี่ยงนี้จึงจะไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาด' ใดๆ

  •  
  • 'ผู้นำ' ที่รู้จัก 'โอนอ่อน' ตามสภาพโดยไม่ฝืนต่อ 'หลักคุณธรรม' ย่อมนำไปสู่ 'ความเจริญ' ; 'ผู้ปฏิบัติการ' หาก 'ประสานกลมเกลียว' ย่อมประสบ 'ความสำเร็จ'
  •  
  • หาก 'ยึดติด' อยู่กับ 'ความเป็นเด็กน้อย' ย่อมสูญเสีย 'ความเป็นผู้มีวุฒิภาวะ'
  •  
  • หาก 'แข็งขืน' อยู่กับ 'ความอาวุโส' ย่อมสูญเสีย 'จิตวิญญาณแห่งผู้เยาว์' ; 'ความโอนอ่อน' ย่อมต้องมีทั้งที่ยังร่ำร้อง และที่ได้รับการตอบสนอง ; ที่พึงกระทำคือ 'การสั่งสม' 'คุณธรรมความดี'
  •  
  • 'การโอนอ่อน' เพียงหวัง 'หลอกล่อ' เพื่อ 'กอบโกยประโยชน์' คือ 'หลักปฏิบัติ' ที่ 'เลวร้าย' ; 'ความน่าเชื่อถือ' ต้องอาศัย 'รากฐาน' ของ 'หลักแห่งคุณธรรม' ที่เปิดเผยอย่าง 'บริสุทธิ์ใจ' หาใช่ 'การเสแสร้งแกล้งดัด' แต่ประการใดไม่
  •  
  • 'ความมั่นคง' ใน 'หลักแห่งจารีต' ย่อมโน้มนำไปสู่ 'ความประณีตงดงาม' ของ 'วัตรปฏิบัติ' แห่ง 'ความเจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ความดื้อดึงแข็งขืน' ย่อมก่อให้เกิด 'ความยึดติด' ไม่ราบรื่น ; 'ปราชญ์' จึงอาศัย 'ความประจักษ์แจ้งแห่งปัญญา' เป็นดั่ง 'ขุนเขา' เพื่อ 'แอบอิง'


 

The Organization Code :



'การโอนอ่อนผ่อนตาม' คือ การใช้ 'ความเป็นมิตร' (☱) ชี้นำ 'การเปลี่ยนแปลง' (☳) ด้วยเหตุนี้ 'ฝ่านนโยบาย' ที่แม้จะมี 'เป้าหมาย' ที่ 'เด็ดเดี่ยว-ชัดเจน' แต่ก็ต้องดำเนินนโยบายด้วย 'ความนุ่มนวล' (⚍) ใช้ 'หลักการบริหาร' ที่ 'เปิดกว้าง' อย่างมี 'กรอบเกณฑ์' ที่เหมาะสม (⚎) อันจะนำไปสู่ 'ความประสานกลมเกลียว' ร่วมกับ 'ฝ่ายปฏิบัติการ' ทุกๆ คน (⚍)

'ความยืดหยุ่น' และ 'โอนอ่อน' ต่อสถานการณ์ ต้องอาศัย 'ความพลิกแพลง' อย่าง 'สร้างสรรค์' ด้วย 'ไหวพริบปฏิภาณ' ที่ 'เฉียบแหลมฉับไว' เพื่อจะสามารถ 'ประสานทุกฝ่าย' ให้ปฏิบัติงานร่วมกันอย่าง 'กลมเกลียว' โดยไม่ย่อหย่อนใน 'หลักการ' และไม่ฝืนต่อ 'หลักคุณธรรม' อันจะนำไปสู่ 'ความรุ่งเรือง'

  •  
  • 'นโยบาย' หากดำเนินไปด้วย 'ความอ่อนหยุ่น' ที่สามารถ 'ปรับเปลี่ยน' ไปตาม 'สถานการณ์แวดล้อม' อย่าง 'เหมาะสม' ย่อมสามารถหลบหลีก 'ข้อจำกัด' นาๆ ประการ เมื่อผนวกเข้ากับ 'ทีมปฏิบัติการ' ที่มี 'ความประสานสอดคล้อง' ภาระกิจใดๆ ก็ย่อม 'สำเร็จลุล่วง' ได้ด้วยดี
  •  
  • 'การปฏิบัติงาน' หาก 'ใส่ใจ' ใน 'ทุกรายละเอียด' ที่ 'ปลีกย่อยหยุมหยิม' ก็ย่อมทำให้ 'เสียรูปกระบวน' ของ 'การใหญ่'
  •  
  • แต่หาก 'มุ่งเน้น' อยู่แต่เฉพาะ 'รูปกระบวนของการใหญ่' ก็อาจ 'ละเลย' ต่อ 'รายละเอียด' ที่เป็น 'สาระสำคัญ' 'การดำเนิงาน' ทุกอย่างจึงมีทั้ง 'การปฏิเสธ' และ 'การตอบรับ' ซึ่งต้อง 'ตัดสินใจ' บนพื้นฐานของ 'หลักการ' อันไม่ขัดต่อ 'เป้าหมาย' และ 'หลักคุณธรรม'
  •  
  • 'การโอนอ่อนผ่อนตาม' หากกระทำลงไปเพียงหวังให้เป็น 'เหยื่อล่อ' เพื่อจะ 'ช่วงชิงผลประโยชน์' ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลาย' 'หลักแห่งคุณธรรม' ให้ 'ยับเยิน' ; ด้วย 'ความน่าเชื่อถือ' นั้น จะต้อง 'ตั้งมั่น' อยู่บน 'รากฐาน' ของ 'หลักคุณธรรม' ที่แสดงออกอย่าง 'บริสุทธิ์ใจ' ไม่ใช่อาศัย 'ความเสแสร้งแกล้งดัด' ที่ไม่มี 'ความจิรังยั่งยืน'
  •  
  • 'ความคงเส้นคงวา' ใน 'หลักการ' และ 'รูปกระบวน' แห่ง 'การปฏิบัติงาน' คือ 'ความเป็นระเบียบเรียบร้อย' ที่สะท้อนถึง 'ความมีวัฒนธรรม' ที่ 'เจริญรุ่งเรือง'
  •  
  • 'ความดื้อดึงแข็งขืน' ย่อมก่อให้เกิด 'ความยึดมั่นถือมั่น' อันเป็น 'อุปสรรค' ต่อ 'การปฏิบัติงาน' 'ผู้นำที่ดี' จึงต้อง 'พึ่งพา' 'ความกระจ่างแจ้ง' แห่ง 'สติปัญญา' ใน 'การประสานความเข้าใจ' ของทุกๆ ฝ่ายให้สามารถ 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' อย่าง 'กลมเกลียว'


มีจุดที่น่าสังเกตสำหรับ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ถูกใช้ในบทนี้นะครับ ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ใช่ 'ภาพสัญลักษณ์' ที่ 'สมบูรณ์แบบ' อย่างสองบทแรกคือ ䷀ (qián, เชี๋ยน) และ ䷁ (kūn, คุน) หรือมีความประสานตัว 'อย่างสัมบูรณ์' เหมือนกับสองบทสุดท้ายคือ ䷾ (jìjì, จี้ จี้) และ ䷿ (wèi jì, เว่ย จี้) แต่ลักษณะที่มี 'การสะท้อนกลับไปกลับมา' ของทั้งสามระดับ (䷐) ดังที่เห็นอยู่นี้ ก็ต้อถือว่ามีความสอดคล้องกับคำอรรถาธิบายที่ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ร่วมกันรจนาเอาไว้ ... โดยเราจะเห็นว่า 'ระดับนโยบาย' ที่แสดง 'ความมุ่งมั่น' แต่ 'อ่อนโยน' (⚍) นั้น ถูกสะท้อนในลักษณะของ mirror โดย 'ระดับบริหาร' ที่ 'สนองรับนโยบาย' อย่าง 'แข็งขัน' (⚎) ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็สะท้อนภาพของ 'ระดับบริหาร' ในลักษณะที่เป็น mirror อีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีผลให้ 'ภาพสัญลักษณ์' ของ 'ระดับปฏิบัติการ' (⚍) กลายเป็นภาพเดียวกับ 'ระดับนโยบาย' ทันที ...

นี่ก็คือความหมายที่ 'จิวกง' สะท้อนไว้ในวรรคที่หนึ่งของบทนี้ว่า 官有渝‧貞吉‧出門交有功‧ และถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'เมื่อฝ่ายนำมีการปรับเปลี่ยน ฝ่ายปฏิบัติการก็สนองรับอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน' ... ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรหากเราจะสลับลำดับคำซะใหม่เป็น 官有渝出門交‧貞吉有功‧ เพราะคำลงท้ายวลีก็จะมีความหมายว่า 'ความมั่นคงในหลักคุณธรรมย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความสำเร็จ' ได้อยู่ดี ;) ... น่าประทับใจมาก !! ... :D