Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2009 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第四十四卦 : 姤

姤 : 天風姤 ‧ 乾上巽下

姤 : 女壯‧勿用取女‧
  • 初六 : 繫于金柅‧貞吉‧有攸往‧見凶‧羸豕孚蹢躅‧
  • 九二 : 包有魚‧無咎‧不利賓‧
  • 九三 : 臀無膚‧其行次且‧厲‧無大咎‧
  • 九四 : 包無魚‧起凶‧
  • 九五 : 以杞包瓜‧含章‧有隕自天‧
  • 上九 : 姤其角‧吝‧無咎‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ปรอดโปร่ง (⚎) ; ปัญญากระจ่างใส (⚌) ; พลานมัยสมบูรณ์แข็งแรง (⚌)

ความหมายในเชิงบริหาร : นโยบายไม่เคร่งเครียดกังวล (⚎) ; บริหารจัดการด้วยความชัดเจน (⚌) ; ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งจริงจัง (⚌)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความชอบธรรม, ลมโบกพัดใต้เวหา



ความหมายของชื่อเรียก : Authenticating : ความชอบธรรม



อักษร 姤 (gòu, โก้ว) เป็นอักษรโบราณอีกตัวหนึ่งที่ไม่มีการใช้อีกแล้วในภาษาจีนปัจจุบัน แต่ยังปรากฏให้เห็นอยู่เฉพาะใน 'คัมภีร์อี้จิง' เท่านั้น ความหมายดั้งเดิมที่รับรู้กันมาก็คือ 'การพบกัน', 'การมาบรรจบกัน' หรือ 'การสอดประสานกัน' ซึ่งบางครั้งก็ทำให้คำนี้หมายถึง 'ความดี' หรือ 'ความชั่วร้าย' ก็ได้ทั้งสองความหมายเลย ... แปลกมาก !!?? ... แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า dù (ตู้) ก็จะมีความหมายเหมือนกับ 妒 (dù, ตู้) ที่แปลว่า 'อิจฉาริษยา' ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ค่อยจะน่ายินดีซักเท่าไหร่

姤 (gòu, โก้ว) ประกอบด้วยอักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่ปรกติจะแปลว่า 'ผู้หญิง' หรือ 'สตรีเพศ' อยู่ทางด้านซ้าย กับอักษร 后 (hòu, โฮ่ว) อยู่ทางด้านขวาซึ่งบางครั้งก็จะแปลว่า 'ด้านหลัง', 'ข้างหลัง', หรือ 'แต่หนหลัง' แต่โดยมากจะใช้ในความหมายว่า 'ราชินี' ซึ่งเป็น 'ผู้ตามเสด็จอยู่ด้านหลังของกษัตริย์' หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะหมายถึงตัว 'ผู้นำ' หรือ 君子 (jǖn zǐ, จฺวิน จื่อ) ไปซะเลย โดยเฉพาะที่อักษร 后 (hòu, โฮ่ว) สามารถหมายถึง 'ประมุขในอดีต' ซึ่งมักจะเป็น 'บรรพชน' ของประมุขปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผมมองความหมายของ 姤 (gòu, โก้ว) ว่าอย่างนี้ครับ ... อักษร 女 (nǚ, หนฺวี่) ที่หมายถึง 'สตรีเพศ' นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ 'พลังฝ่ายหยิน' ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 'คุณธรรม' ... ส่วนอักษร 后 (hòu, โฮ่ว) ซึ่งถ้าเป็นหญิงก็จะมีความสูงส่งถึงระดับ 'ราชินี' ในขณะที่สามารถหมายถึง 'ประมุขสูงสุด' ได้ด้วย ดังนั้น 后 (hòu, โฮ่ว) จึงมีความเกี่ยวข้องกับ 'อำนาจ' ... มันจึงทำให้อักษร 姤 (gòu, โก้ว) ที่ King Wen เลือกมาใช้เป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้น่าจะสื่อถึง 'การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคุณธรรมกับอำนาจ' อันเป็น 'การบรรจบกัน' ของ 'พลังแห่งหยิน' และ 'พลังแห่งหยาง' ... ซึ่ง ... มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บทนี้จะต้องมีความหมายเชื่อมโยงกับวรรคที่หกของบทที่หนึ่ง อันเป็น 'จุดเปลี่ยน' ที่ 'วัฏจักรแห่งหยาง' กำลังจะหมุนวนเข้าสู่ 'วัฏจักรแห่งหยิน' อีกครั้งหนึ่ง ...

เมื่อเราลำดับความหมายของบทต่างๆ ใน 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยาง' เราก็จะพบว่า King Wen เลือกใช้ลำดับที่เริ่มต้นจาก 'ความเข้าใจอย่างถูกต้อง' ต่อ 'ความมุ่งมั่น' เพื่อที่จะ 'ไม่ยืนหยัดอย่างก้าวร้าว' ในบทที่สามสิบเก้า (39. ䷦ 蹇 : Jiǎn, เจี่ยน) โดยต้องประกอบด้วย 'ความเจริญสติ' (40. ䷧ 解 : Jiě, เจี่ย) 'ปราศจากความผยองลำพองตน' (41. ䷨ 損 Sǔn, สุ่น) และ 'เพียรบำเพ็ญประโยชน์' (42. ䷩ 益 : Yì, อี้) อย่าง 'ปล่อยวางด้วยวิจารณญาณ' (43. ䷪ 夬 : Guài, กฺวั้ย) เพื่อ 'ประโยชน์สุขของส่วนรวม' ... 'การอุทิศตน' ด้วย 'ความเพียรพยายาม' อย่างไม่ละทิ้ง 'คุณธรรม' นั้นเองย่อมส่งเสริมให้บุคคลหนึ่งๆ สามารถได้รับ 'ความยอมรับ' จากผู้คนโดยทั่วไป จนบรรลุถึง 'ความมีอำนาจอันชอบธรรม' อย่างเต็มเปี่ยมในที่สุด ... ซึ่ง ... นั่นแหละคือความหมายของ 姤 (gòu, โก้ว) ที่ผมกำลังจะเล่ารายละเอียดต่อไปในฐานะของ 'บทสรุป' ของ 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยาง' ... ;)

ผมตัดสินใจเลือกใช้คำว่า Authenticate / Authenticating มาเป็นคำแปลให้กับชื่อบทนี้ โดยยืมมาจากคำว่า Authentic Leadership ที่เคยเห็นเป็นชื่อหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง และเลือกความหมายเป็นภาษาไทยไว้ว่า 'อำนาจอันชอบธรรม' ตามความหมายของ 'ภาพอักษร' 姤 (gòu, โก้ว) ที่เพิ่งจะเล่าผ่านไปนี้ แต่ก็เลือกใช้คำที่มีความกระชับลงมาหน่อยว่า 'ความชอบธรรม' แทน ...

เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะคำว่า authenticate นั้นมีความหมายในลักษณะของ 'การยืนยัน', 'การพิสูจน์' หรือ 'การตรวจทานกับข้อเท็จจริง' ซึ่งมักจะต้องมี 'การนำมาประกบกัน' เพื่อ 'การเปรียบเทียบ' และ 'การยืนยันความถูกต้อง' ... โดยประเด็นนี้น่าจะไปด้วยกันได้กับความหมายของ 'การพบกัน' หรือ 'การมาบรรจบกัน' ที่เป็นความหมายดั้งเดิมของ 姤 (gòu, โก้ว) ... ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ คำว่า authentic / authenticate / authenticating นี้ มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า Authority ที่สื่อถึง 'ความมีอำนาจ' ซึ่งน่าจะเข้ากันได้ดีกับอักษร 后 (hòu, โฮ่ว) ที่ผมเล่าไปแล้วว่า มันมีความเกี่ยวข้องกับ 'อำนาจ' ในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน ... ในขณะที่ 'การพิสูจน์' หนึ่งๆ ก็อาจจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็น 'ดี' หรือ 'เลว' ก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับ 'ผลของการพิสูจน์' ว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับ 'ความชอบธรรม' (姤) ที่อาจจะให้ผลลัพธ์ออกมา 'ดี' หรือ 'เลว' ยังไงก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับ 'การใช้ความชอบธรรม' ตามที่ได้รับมานั้นไปในทิศทางไหน ... นี่มันเป๊ะมากเลยใช่มั้ยล่ะ ?!?! ... ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
女壯勿用取女
nǚ zhuàng wù yòng qǚ nǚ
หนฺวี่ จ้วง อู้ โยฺว่ง ฉฺวี่ หนฺวี่


หลายตำราพยายามอธิบายวลีนี้ของ King Wen ไว้อย่าง 'วิตถาร' มากครับ ... :D ... โดยพวกเขาพากันให้ความหมายไว้ประมาณว่า 'สตรีเพศที่แข็งแกร่ง อย่าเอามาทำเมีย' ซึ่งคำอธิบายอย่างข้างๆ คูๆ ของพวกเขาก็คือ 'ความแข็งแกร่งของสตรีเพศ' ในที่นี้ 'ตีความ' มาจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ที่มี 'เส้นหยิน' เพียงหนึ่งขีดอยู่ร่วมกับ 'เส้นหยาง' ถึงห้าขีด จึงพากันจินตนาการให้กลายเป็นการอยู่ร่วมกันแบบ 'หนึ่งหญิง-ห้าชาย' อันเป็นคำอธิบายที่ผมถือว่า 'วิตถาร' ที่สุดตั้งแต่อ่าน 'คัมภีร์อี้จิง' มาจนถึงบทนี้ ... :D

ประเด็นของผมก็คือ ผม 'ไม่เชื่อ' ว่า 'คัมภีร์อี้จิง' เป็น 'ตำราหาเมีย' !! ... :D ... และผมก็ 'ไม่เชื่อ' ด้วยว่า King Wen จะบ้าบอถึงกับจินตนาการ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ออกมาเป็นหนังโป๊อย่างที่หลายตำราบ้าบออย่างทุเรศๆ เอาไว้ ... :P ... แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ลำดับคำในภาษาจีนนั้นจะเรียง 'คำคุณศัพท์' ไว้หน้า 'คำที่ต้องการขยายความ' แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ ... ดังนั้น 'คำสำคัญ' ของคำว่า 女壯 (nǚ zhuàng, หนฺวี่ จ้วง) ในวลีนี้จึงควรจะอยู่ที่ 壯 (zhuàng, จ้วง) ไม่ใช่ 女 (nǚ zhuàng, หนฺวี่) ... ซึ่งเป็นไปได้ว่า King Wen เลือกใช้คำว่า 女壯 (nǚ zhuàng, หนฺวี่ จ้วง) เพื่อล้อความหมายของ 女后 (nǚ hòu, หนฺวี่ โฮ่ว) หรือ 姤 (gòu, โก้ว) อันเป็นชื่อบทที่ผมอธิบายความหมายไว้ว่า 'อำนาจ (壯=后) อันชอบธรรม (女)' นู่น !!!

คงจำกันได้นะครับว่า 壯 (zhuàng, จ้วง) มีความหมายว่า 'เข้มแข็ง', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'กล้าหาญ', 'ยิ่งใหญ่' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็จะหมายถึง 'ทำให้แข็งแรง', 'ทำให้แน่นหนา' หรือ 'ทำให้ใหญ่โต' นั่นเอง ... ซึ่งมันจะล้อความหมายกับ 后 (hòu, โฮ่ว) ในแง่ของ 'ความเป็นผู้นำ' หรือ 'ความมีอำนาจ' อย่างลงตัวพอดี

ส่วนอักษร 取 (qǚ, ฉฺวี่) แปลว่า 'หยิบ', 'คว้า', 'ฉวย', 'คัดเลือก' ; 'นำมา', 'รับเอามา', 'ได้รับมา' ; แต่ในทางกลับกัน ก็จะสามารถหมายถึง 'เสียไป' หรือ 'สูญเสียไป' เพราะถูกคนอื่น 'เอาไป' แล้วก็เลยต้อง 'ยื้อแย่ง' เพื่อจะ 'เอากลับมา' อีก ... :D ... มันเลยมีความหมายคล้ายๆ กับ 'เป้าหมาย' หรือ 'สิ่งที่หมายปอง' ได้ด้วย ; บางทีก็แปลว่า 'เร่งเร้า', หรือ 'เรียกร้อง' ; และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 娶 (qǚ, ฉฺวี่)  ที่แปลว่า 'การแต่งงาน' ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ 'การแต่งเมีย' (取女 หรือ 娶妻) นั่นเอง ... แล้วก็คำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ตรงท้ายวลีนั่นแหละที่ก่อเรื่องให้กับบรรดา 'ปราชญ์กระสันเมีย' ทั้งหลาย !!!?? ... :D ... เพราะถ้าเรา 'ตีความ' ให้ 女 (nǚ, หนฺวี่) หมายถึง 'พลังแห่งหยิน' ซึ่งเป็นตัวแทนของ 'คุณธรรม' คำว่า 取女 (qǚ nǚ, ฉฺวี่ หนฺวี่) ในที่นี้ก็จะกลายเป็น 'ความชอบธรรมที่ได้รับมา' ทันที ... โดยไม่ต้องไปยุ่งกับเมียของชาวบ้านเลย ... ถูกมั้ย ?!!

ผม 'เชื่อว่า' King Wen ต้องการจะสื่อความหมายลึกๆ ด้วยวลีแปลกๆ นี้ว่า 'อำนาจอันชอบธรรม (女壯) ย่อมมิใช่ (勿) เพื่อการแสวงประโยชน์ (用) จากความชอบธรรมที่ได้รับมา (取女)' ... 'ผู้นำที่ดี' จะต้อง 'ไม่ลุแก่อำนาจ' แม้ว่าจะได้รับ 'อำนาจอันชอบธรรม' นั้นๆ มาจากที่ไหน หรือด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม !!! ... นี่ต่างหากถึงจะเป็นวลีแบบ King Wen !!! ... แล้วมันแปลว่าอย่างนี้จริงๆ รึเปล่าเนี่ย ?! ... ผม 'เชื่อว่า' จริงยิ่งกว่า 'อย่าเอาหญิงแกร่งที่มีห้าผัวมาทำเมีย' อย่างแน่นอน ... รับรอง !!!!! ... :D

อย่างไรก็ตาม หากเราจะอาศัยเหตุผลของ 'ความหมายสัมพันธ์เชิงวัฏจักร' อย่างที่ผมอ้างอิงมาโดยตลอดของ 'การตีความ' บทที่สี่สิบสี่นี้ก็จะต้องสามารถเชื่อมโยงความหมายกลับไปหา 'วลีต้นเรื่อง' ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งได้ด้วย ซึ่ง 'จิวกง' ได้บันทึกถ้อยคำไว้ในวรรคดังกล่าวว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) ซึ่งก็คือ 'ผู้นำที่มีความเห่อเหิมลำพองอย่างไม่ยั้งคิด ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด และความเศร้าเสียใจ' ... เห็นความหมายที่คล้ายกันของวลีทั้งสองมั้ยครับ ?! ... ;)

ลองย้อนกลับไปดูถ้อยคำของ King Wen ในบทที่แปด (䷇ 比 : Bǐ, ปี่ : การผูกสัมพันธ์) อีกครั้งครับ เพราะนั่นเป็นอีกบทหนึ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงความหมายเข้ากับวรรคที่หกของบทที่หนึ่งได้ด้วยเหมือนกัน ... 吉原筮元永貞無咎不寧方來後夫凶 (jí yuán shì yuán yǒng zhēn wú jiù bù níng fāng laí hòu fú xiōng, จี๋ เยฺวี๋ยน ษื้อ เยฺวี๋ยน หฺย่ง เจิน อู๋ จิ้ว ปู้ นิ๋ง ฟัง ไล๋ โฮ่ว ฟู๋ เซฺวิง) ซึ่งมีความหมายว่า 'ความสำเร็จ และความสุขสวัสดี (吉) อันนับเป็นโชคชะตาที่แท้จริง (原筮) นั้น ย่อมสืบเนื่องมาจาก (元) ความประพฤติที่มั่นคง (永) ในหลักแห่งคุณธรรม (貞) อย่างไม่เสื่อมคลาย (無咎 คือไม่ผิดเพี้ยน) หากมิใช่เพราะความหนักแน่นซื่อตรง (不寧方來) ผลลัพธ์ที่ตามมา (後) ย่อมจะมีแต่เภทภัย (夫凶)' ... ประมาณว่า ... ต่อให้มี 'อำนาจ-บารมี' ที่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ยังมีบทบาทสำคัญน้อยกว่า 'การครองตน' อย่าง 'คงเส้นคงวา' ใน 'หลักคุณธรรม'

พอมาถึงบทที่ยี่สิบ (䷓ 觀 : Guān, กวน : ความเอาใจใส่ หรือการเสริมสร้างความสัมพันธ์) King Wen เลือกบันทึกด้วยอีกถ้อยคำในอีกลักษณะหนึ่งว่า 盥而不薦有孚顒若 (guàn ér bù jiàn yǒu fú yóng ruò. ก้วน เอ๋อ ปู้ เจี้ยน โหฺย่ว ฟู๋ ย๋ง ญั่ว) หรือ 'เครื่องบรรณาการ (盥) หาใช่สาระสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างต้องมอบแก่กันอย่างสม่ำเสมอไม่ (而不薦) แต่ความจริงใจ (有孚) ที่ต่างฝ่ายมอบให้แก่กันนั้นต่างหาก คือสิ่งที่พึงปฏิบัติเพื่อแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน (顒) อยู่เป็นนิจ (若)' ... นี่เป็นการเน้นไปในเรื่องของ 'การให้เกียรติซึ่งกันและกัน'

จากนั้นก็มาถึงบทที่สามสิบสอง (䷟ 恆 : Héng, เฮิ๋ง : ความหนักแน่นมั่นคง) ใน 'วัฏจักรที่สาม' ที่ King Wen บันทึกว่า 亨無咎利貞利有攸往 (hēng wú jiù lì zhēn lì yǒu yōu wǎng, เฮิง อู๋ จิ้ว ลี่ เจิน ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง) และได้รับการ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'พัฒนาการแห่งความตระหนักรู้ในบทบาท และหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน (亨) ย่อมไม่สูญเสียสมาธิ และกำลังไปกับการกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร้แก่นสาร (無咎) แต่ทุ่มเทความมุ่งมั่น (利) ด้วยความสุจริต และซื่อตรง (貞) เพื่อให้ความพยายามทั้งหลายทั้งปวง (利) ปรากฏผลสำเร็จในบั้นปลาย (有攸往)' ... ซึ่งเป็นการเน้นไปที่ประเด็นของ 'ความรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่' ที่ตน 'ได้รับมอบหมาย'

ดังนั้น ด้วยเหตุผลแห่งบทบันทึกต่างๆ ดังที่อ้างถึงนี้ น่าจะพอสรุปได้ว่า 'ความชอบธรรมแห่งอำนาจ' (姤) ย่อม 'ได้รับมอบหมาย' เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' มิใช่เพื่อ 'การแสวงประโยชน์ตน' หรือเพื่อ 'การอวดโอ่ศักดาบารมี' อย่างไม่รู้จัก 'การให้เกียรติและความเคารพต่อผู้อื่น' ... 'ความลุแก่อำนาจ' โดยมิได้ใช้ 'อำนาจ' นั้นๆ ไปเพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' ตามที่ได้รับมอบหมาย จึงถือเป็น 'การละทิ้งคุณธรรม' ด้วยเป็น 'การทรยศหักหลัง' ต่อผู้ที่มอบ 'ความไว้วางใจ' นั้นๆ ให้แก่ตน ... นี่จึงเป็นบทสรุปที่แท้จริงของ 'วัฏจักรที่สี่แห่งหยาง' !!!



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

繫于金柅貞吉有攸往見凶羸豕孚蹢躅
xì yǘ jīn nǐ zhēn jí yǒu yōu wǎng jiàn xiōng léi shǐ fú zhí zhú
ซี่ ยฺวี๋ จิน หฺนี่ เจิน จี๋ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เจี้ยน เซฺวิง เล๋ย ษื่อ ฟู๋ จื๋จู๋ 

 

繫 (xì, ซี่) แปลว่า 'ลาก', 'จูง', หรือ 'ล่ามไว้ด้วยกัน', 'ยึดไว้ด้วยกัน' ; บางครั้งยังแปลว่า 'ต่อเนื่อง', หรือ 'เรียงเป็นลำดับอย่างมีระเบียบ', แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มีความระมัดระวัง' ; แต่บางครั้งในลักษณะที่ 'ผูกโยงเข้าด้วยกัน' มันจึงแผลงความหมายเป็น 'กระอักกระอ่วน', หรือ 'ห่วงหน้าพะวงหลัง' ได้อีกต่างหาก

金 อ่านว่า jīn (จิน) ส่วนมากก็จะแปลว่า 'ทองคำ' แต่ความหมายจริงๆ ของมันจะหมายถึง 'โลหะมีค่า' ซึ่งประกอบด้วย ทองคำ, เงิน, ทองแดง, เหล็ก, และตะกั่ว หรือสังกะสี เรียกรวมๆ กันว่า 五金 (wǔ jīn, อู่ จิน) ... เมื่อมันหมายถึง 'โลหะมีค่า' มันจึงแผลงความหมายเป็น 'ทรัพย์สิน' และ 'ความร่ำรวย' ได้ด้วยเหมือนกัน  ; เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์ 金 (jīn, จิน) ก็จะมีความหมายอื่นๆ ที่แผลงไปจาก 'โลหะที่มีค่า' ได้ด้วยเช่น 'สูงส่ง', 'มีคุณค่า', 'น่าเคารพนับถือ', 'มั่งคั่ง', 'ร่ำรวย' ; และรวมไปถึง 'ประมุขแห่งแคว้น' หรือ 'ผู้นำ' !!!? ...

柅 อ่านว่า nǐ (หฺนี่) ปรกติจะใช้เรียก 'ต้นไม้ชนิดหนึ่ง' ซึ่งมีลำต้นตรงและแข็งแรง มักนำมาใช้เป็นขอนไม้เพื่อ 'ห้ามล้อรถ' บางทีจึงใช้ในความหมายว่า 'คันห้ามล้อ' หรือ 'เบรค' ในความหมายของอุปกรณ์ในยุคปัจจุบัน ; ซึ่งทำให้บางกรณีจะหมายถึง 'ขัดขวาง' หรือ 'ป้องกัน' (block) ก็ได้

攸 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, โยว) แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … มึนมั้ย ?! :D

見 อ่านว่า jiàn (เจี้ยน) แปลว่า 'พบ', 'เห็น', 'มองเห็น', 'ปรากฏ (ให้เห็น)' ; 'มอง', 'ดู' ; หรือ 'ความคิดเห็น' ;  ซึ่งบางครั้งก็ยังแปลว่า 'ปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างกัน' อันเนื่องมาจากความหมายว่า 'พบกัน' ได้ด้วย

凶 อ่านว่า xiōng (เซฺวิง) แปลว่า 'ไม่ดี', 'ไม่งาม', 'ร้ายกาจ', 'ชั่วร้าย', 'ฆาตกรรม' ; หรือ 'เรื่องคอขาดบาดตาย'

羸 อ่านว่า léi (เล๋ย) แปลว่า 'ผอมแห้งแรงน้อย', 'อ่อนแรง', หรือ 'อ่อนกำลัง' แต่ก็น่าจะเพี้ยนความหมายไปเป็น 'ความหิวโหย' บ้างก็คงจะได้ :P

豕 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) คำนี้แปลว่า 'หมู' หรือ 'หมูป่า' ; แต่โดยลักษณะที่ 'หมู' เป็นสัตว์ที่มักจะ 'กินไม่เลือก' หรือ 'กินมูมมาม' ความหมายเปรียบเทียบที่มักจะพบเห็นก็คือ 豕 (shǐ, ษื่อ) อาจจะถูกใช้ในความหมายของ 'ความโลภ' หรือ 'ความไม่รู้จักพอ' ได้ด้วย

孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

蹢躅 อ่านว่า zhí zhú (จื๋จู๋) เป็นสำนวนที่มีความหมายว่า 'รีๆ รอๆ', หรือ 'วกวนไปไม่ถึงไหน' ซึ่งมักจะใช้กับ 'อาการเดินวกไปวนมา' ; หรือไม่อย่างนั้นก็หมายถึงอาการ 'ละล้าละลัง', 'เก้ๆ กังๆ', 'งกๆ เงิ่น' ; จนบางครั้งก็เลยหมายถึง 'หยุด' หรือ 'ยุติการกระทำ' ไปด้วยซะเลย

หลายๆ คำในวรรคนี้ก็เคยเล่าไปแล้วทั้งนั้นในบทก่อนๆ แต่เพราะถ้อยคำที่ค่อนข้างจะวกวนของ 'จิวกง' นั่นแหละที่ทำให้ผมอยากจะจับทั้งหมดมาเรียงต่อกันใหม่ให้เห็นชัดๆ เผื่อว่าจะได้เห็นความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้นขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะคำว่า 有攸往 (yǒu yōu wǎng, โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) ที่ผมมักจะให้ความหมายไว้ว่า 'มีผลตอบสนองในบั้นปลาย' นั้น แต่หลายๆ ตำรากลับเลือกใช้ความหมายว่า 'มีการขยับเพื่อคืบต่อไป' สำหรับในวรรคนี้ โดยอาศัยการแบ่งวรรคตอนในถ้อยคำของ 'จิวกง' ให้กลายเป็น 繫于金柅‧貞吉 (xì yǘ jīn nǐ zhēn jí, ซี่ ยฺวี๋ จิน หฺนี่ เจิน จี๋) กับ 有攸往‧見凶 (yǒu yōu wǎng jiàn xiōng, โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เจี้ยน เซฺวิง) เพื่อที่จะบอกว่า 'หากปล่อยให้พลังแห่งหยินคืบขยายอิทธิพลต่อไป (有攸往) จะต้องประสบกับ (見) ความวิบัติ (凶)' เพื่อให้ไปสอดรับกับ 'การตีความ' ถ้อยคำของ King Wen ในตอนต้นบทว่า 'ไม่ควรนำพลังด้านมืดออกมาใช้' (勿用取女) ... ซึ่ง ... บอกกันตามตรงเลยว่า ผมรังเกียจ 'ทัศนคติด้านลบ' ที่มีต่อ 'พลังแห่งหยิน' ว่าเป็น 'สิ่งที่ชั่วร้าย' นี้จัง !!??

แล้วมันมีทาง 'ตีความ' ให้ออกมาเป็นแบบอื่นได้มั้ยล่ะ ?! ... ซึ่งผมอยากจะแบ่งวรรคตอนในวลีนี้ออกเป็น 3 กลุ่มคือ 繫于金柅 (xì yǘ jīn nǐ, ซี่ ยฺวี๋ จิน หฺนี่) 貞吉 ‧ 有攸往 (zhēn jí ‧ yǒu yōu wǎng, เจิน จี๋ ‧ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) แล้วก็ 見凶 ‧ 羸豕孚蹢躅 (jiàn xiōng ‧ léi shǐ fú zhí zhú, เจี้ยน เซฺวิง ‧ เล๋ย ษื่อ ฟู๋ จื๋จู๋) ... ซึ่งผมจะเล่าถึงถ้อยคำในกลุ่มแรกทีหลังแล้วกันนะ !!

มาดูที่วลีท่อนที่ว่า 有攸往 (yǒu yōu wǎng, โหฺย่ว โยว หฺวั่ง) ซึ่งหลายๆ ตำราให้ความหมายไว้ว่า 'มีการขยับเพื่อคืบต่อไป' นั่นก่อนเลย ... มันดูคล้ายกับจะเป็น antonym ให้กับสำนวน 蹢躅 (zhí zhú, จื๋จู๋) ที่แปลว่า 'วกวนซ้ำซากไปไม่ถึงไหน' รึเปล่าล่ะ ??!! ... ในขณะที่ 貞吉 (zhēn jí, เจิน จี๋) กับ 見凶 (jiàn xiōng, เจี้ยน เซฺวิง) ก็ดูจะมีลักษณะของ 'คู่ตรงข้าม' ซึ่งกันและกันด้วยเหมือนกัน ... ถูกมั้ย ?! ... นั่นแหละคือประเด็นล่ะ !! ... เพราะถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยคำของ King Wen อีกครั้ง เราก็จะเห็น 'ข้อเตือนสติ' ว่า 'ต่อให้อำนาจนั้นๆ จะได้มาโดยความชอบธรรม ผู้นำที่ดีก็จะต้องไม่ลุแก่อำนาจด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ตน' ... 'อำนาจ' จึงไม่ใช่ทั้ง 'สิ่งที่ดี' (吉) หรือ 'สิ่งที่ชั่วร้าย' (凶) โดยตัวของมันเอง แต่มันขึ้นอยู่กับ 'ทิศทาง' ของ 'การใช้อำนาจ' ที่ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ จะต้อง 'เลือกปฏิบัติ' อย่าง 'ถูกต้อง' และ 'เหมาะสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' เท่านั้น

ย้อนกลับไปพิจารณาที่วลีกลุ่มแรกครับ ... 繫于金柅 (xì yǘ jīn nǐ, ซี่ ยฺวี๋ จิน หฺนี่) ที่ทุกตำราเอ่ยถึง 金柅 (jīn nǐ, จิน หฺนี่) ในความหมายว่า 'คันห้ามล้อทองคำ' หรือ 'คันห้ามล้อที่ทำจากโลหะ' ... ผมนึกวนไปวนมาให้ 金柅 (jīn nǐ, จิน หฺนี่) หมายถึง 'กฎเหล็ก' หรือ 'ห่วงทองคล้องใจ' อยู่นานก่อนจะนึกถามตัวเองว่า จำเป็นมั้ยที่ 金 (jīn, จิน) จะต้องหมายถึงเฉพาะ 'โลหะ' หรือ 'ทองคำ' ??!! ... ในเมื่อ 金 (jīn, จิน) ที่ใช้เป็นคำคุณศัพท์สามารถแปลว่า 'ผู้นำ' ได้ด้วย !!!!?? ...

เห็นประเด็นที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อรึยังครับ ??! ... ถ้อยคำในวรรคแรกนี้ควรจะต้องหมายถึง 'ความรู้จักยับยั้งชั่งใจ (繫 หมายถึงรู้จักทบทวนด้วยการคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน) ย่อมเป็นดั่ง (于) หลักยึดสำคัญสำหรับการเป็นผู้กุมอำนาจ (金柅) หากปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม (貞) เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (吉) ทุกสิ่งก็จะมีความคืบหน้าและสัมฤทธิ์ผลได้ในบั้นปลาย (有攸往) แต่หากมุ่งแต่การเผชิญหน้า (見) เพียงเพราะหวังจะแย่งชิงด้วยการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน (凶) ความเรียกร้องต้องการอย่างไม่รู้จักพอ (羸豕 ราวกับสุกรที่หิวโหย) เยี่ยงนั้น ย่อมเป็นบ่อเกิด (孚 หรือแหล่งฟูมฟัก) ของวงจรอุบาทว์ที่จะทำให้ทุกอย่างต้องชะงักงัน (蹢躅)' ... โฮะ ... นี่มัน 'ตีความ' จนเหลือเชื่อเกินไปมั้ยเนี่ย !!? ... :D

 

สอง หยาง :

包有魚無咎不利賓
bāo yǒu yǘ wú jiù bù lì bīn
เปา โหฺย่ว ยฺวี๋ อู๋ จิ้ว ปู้ ลี่ ปิน

 

包 อ่านว่า bāo (เปา) แปลว่า 'ห่อ', 'หีบห่อ', 'ห่อพัสดุ', 'รวบรวม (ไว้ด้วยกัน)'  ; อาจจะหมายถึง 'ปกป้อง', 'คุ้มครอง', 'โอบอุ้ม' หรือ 'รับประกัน' ก็ได้ ; โดยลักษณะของ 'ภาพอักษร' ที่เห็นนั้น จะเป็นตัว 勹 (bāo, เปา) ที่มีความหมายว่า 'ห่อ', หรือ 'หุ้มห่อ' ที่ 'โอบอุ้ม' ตัว 巳 (sì, ซื่อ) ซึ่งมีที่มาจากภาพของ 'ตัวอ่อน' (foetus) ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ดั้งนั้นจึงทำให้ 包 สามารถแปลว่า 'ตั้งครรภ์' หรือ 'ทารก (ในครรภ์)' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย

魚 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) คำนี้แปลว่า 'ปลา' หรือ 'สัตว์น้ำ' ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็หมายถึง 'การจับปลา' ; บางทีก็หมายถึง 'เกล็ดปลา' หรือ 'ผิวหนังของปลา' ; แต่ปรากฏว่ามีสำนวนหนึ่งที่ใช้ว่า 魚貫 (yǘ guàn, ยฺวี๋ ก้วน) มีความหมายว่า 'ตามติดกันเป็นขบวน' หรือ 'อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเดียว' ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะแผลงมาจาก 'การว่ายน้ำของฝูงปลา' นั่นเอง ... ดังนั้น คำว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) จึงน่าจะแฝงความหมายที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' อยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันเคยถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 吾 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ตัวฉัน' หรือ 'พวกเรา' ในขณะที่อักษร 吾 ถ้าออกเสียงว่า yǜ (ยฺวี่) จะแปลว่า 'ขับเคลื่อน', 'บริหารจัดการ' หรือ 'บังคับบัญชา' เช่นเดียวกับอักษร 御 (yǜ, ยฺวี่) ได้ด้วย ... เออ ... อันนี้แปลกดี ??!!

賓 อ่านว่า bīn (ปิน) ปรกติก็จะแปลว่า 'ผู้มาเยือน', หรือ 'แขกรับเชิญ' โดยมักจะใช้เป็นคู่ตรงข้ามกับคำว่า 主 (zhǔ, จู่) ที่แปลว่า 'เจ้าบ้าน', หรือ 'เจ้าภาพ' จึงทำให้บางครั้งเราอาจจะเห็นการใช้คำว่า 賓 (bīn, ปิน) ในความหมายว่า 'อันดับรองลงไป' (secondary) หรือ 'ที่ไม่ใช่ประธาน' ในกรณีที่ 主 (zhǔ, จู่) ถูกใช้ในความหมายว่า 'ประธาน', หรือ 'อันดับที่สำคัญที่สุด' ในบริบทหนึ่งๆ ไปแล้วด้วย ; คำว่า 賓 (bīn, ปิน) ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาเยือน', 'การเลี้ยงรับรอง', ซึ่งบางครั้งก็แฝงความหมายในลักษณะของ 'งานรื่นเริง' หรือ 'การให้ความบันเทิง' ไปด้วย ; แต่ถ้าจะใช้คำว่า 賓 (bīn, ปิน) ในอีกด้านหนึ่งของ 'การต้อนรับ' มันก็ยังสามารถที่จะหมายถึง 'การกันเอาบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป' หรือ 'ทำให้ผิดแผกแตกต่างออกไป' ก็ได้

ผมจินตนาการยังไงก็นึกไม่ออกว่า เนื้อความของบทนี้ควรจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ 'ปลา' (魚) ได้บ้าง ในขณะที่ 'จิวกง' เลือกบันทึกด้วยอักษรตัวนี้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น คือในสำนวน 貫魚 (guàn yǘ) ของบทที่ยี่สิบสาม ซึ่งผมให้ความหมายไว้ว่า 'การกำกับดูแลให้ทุกสิ่งดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีระเบียบวินัย' ... อีกครั้งหนึ่งก็คือในบทนี้ ... แล้วก็ไปปรากฏให้เห็นที่บทที่หกสิบเอ็ดเลย ... โดยแต่ละบทที่มีการใช้อักษรตัวนี้จะมี theme หลักอยู่ในประเด็นของ 'การบริหารจัดการ', 'การใช้อำนาจ', หรือ 'ความไม่ย่อหย่อนต่อคุณธรรม' ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) ที่เห็นในบทนี้น่าจะถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 吾 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ตัวฉัน' หรือ 'พวกเรา' อันเป็นสรรพนามที่ใช้สำหรับ 'ผู้นำ' หรือ 'ผู้มีอำนาจสั่งการ' และควรจะมีความเกี่ยวข้องกับ 御 (yǜ, ยฺวี่) ที่หมายถึง 'อำนาจในการบังคับบัญชา' ด้วย

ถ้าเราพิจารณาจากความหมายในมุมนี้ของคำว่า 魚 (yǘ, ยฺวี๋) น่าจะช่วยให้เรามองเห็น 'ทัศนคติ' ของ 'จิวกง' ต่อความหมายของ 'อำนาจ' ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยวรรคนี้จะเป็นส่วนขยายความให้กับวรรคแรก ทั้งยังมีความสอดรับกับสิ่งที่ King Wen บันทึกเอาไว้ด้วยว่า 'การรับผิดชอบต่อภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (包 คือโอบอุ้มเอาไว้ในความดูแล) นั้น ต้องประกอบด้วย (有) อำนาจสั่งการ (魚) จึงจะสามารถดำเนินงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง (無咎) ซึ่งอำนาจอันชอบธรรมนั้นก็เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่ (不) เพื่อการแสวงประโยชน์ (利) จากสถานภาพที่บุคคลอื่นๆ ต้องให้การรับรอง (賓 ในฐานะของแขกผู้มีเกียรติ)' ... แล้วลองเปรียบเทียบกับ 'อำนาจอันชอบธรรม (女壯) ย่อมมิใช่ (勿) เพื่อการแสวงประโยชน์ (用) จากความชอบธรรมที่ได้รับมา (取女)' ที่ King Wen บันทึกไว้ตอนต้นบทดูสิ ??!! ... :) ... หรือจะเทียบกับ 'ความมีสติในการกำหนดทิศทางแห่งการใช้อำนาจ' ที่ 'จิวกง' นำเสนอไปในวรรคที่หนึ่งก็ได้ ?!!! ... เห็นมั้ยว่าล่ะมัน เ ข้ า ก๊ า น เข้ากัน !! ... :D

 

สาม หยาง :

臀無膚其行次且厲無大咎
tún wú fū qí xíng cì qiě lì wú dà jiù
ทุ๋น อู๋ ฟู ชี๋ ซิ๋ง ชื่อ เฉี่ย ลี่ อู๋ ต้า จิ้ว

 

ดูความหมายของ 厲 (lì, ลี่) ซะอีกครั้งแล้วกัน ... คำนี้เป็นที่มาของตัวอักษร 礪 (lì, ลี่) ที่แปลว่า 'หินลับมีด' เนื่องจาก 厲 นี้มีความหมายว่า 'แหลม', 'คม', 'ทำให้แหลม', หรือ 'ทำให้คม' ; แล้วก็เลยมีความหมายในทำนองว่า 'เข้มงวด' หรือ 'เคี่ยวเข็ญ' แต่ถ้าในความหมายที่เป็นบวกก็จะหมายถึง 'การให้กำลังใจ' หรือ 'การให้ความสนับสนุน' หรือถึงขั้น 'สร้างแรงบันดาลใจ' หรือ 'แรงจูงใจ' ก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนั่นจะมีความหมายในลักษณะที่เป็นการ 'ทำให้เข้มข้นมากขึ้น' หรือ 'ทำให้แข็งแรงมากขึ้น' ด้วยกันทั้งหมด และทำให้บางครั้งก็เลยแปลว่า 'ทำให้รุนแรงมากขึ้น' ซึ่งก็เลยสามารถแปลว่า 'อันตราย' หรือ 'เภทภัย' ในอีกความหมายหนึ่งก็ได้ ... จะเห็นว่าคำนี้ไม่ได้หมายถึง 'เภทภัย' หรือ 'อันตราย' อย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่มันมีความหมายในลักษณะของ 'ความทุ่มเท' และ 'ความเหนื่อยยาก' ปนอยู่ด้วย

ส่วนคำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) ที่ผมใช้ในความหมายว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความผิดปรกติ', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน' มาโดยตลอดนั้น ในวรรคนี้อาจจะต้องตีความเป็นอย่างอื่นไปด้วยรึเปล่าก็มาดูกัน ... :)

คุ้นๆ เหมือนเคยเห็นวลีที่เอ่ยถึง 'บั้นท้ายอันเปลือยเปล่า' (臀無膚) มาก่อนมั้ยครับ ?! ... :) ... เราเจอวลีแทบจะแบบเดียวกันนี้เป๊ะมาแล้วครั้งหนึ่งในวรรคที่สี่ของบทที่สี่สิบสามไงครับ ซึ่งตอนนั้น 'จิวกง' บันทึกด้วยถ้อยคำว่า 臀無膚 ‧ 其行次且 ‧ 牽羊悔亡 ‧ 聞言不信 (tún wú fū ‧ qí xíng cì qiě ‧ qiān yáng huǐ wáng ‧ wén yán bù xìn, ทุ๋น อู๋ ฟู ชี๋ ซิ๋ง ชื่อ เฉี่ย เชียน ยั๋ง หุ่ย วั๋ง เวิ๋น เอี๋ยน ปู้ ซิ่น) โดยผมเล่าความหมายเอาไว้ว่า 'การทุ่มเทกำลังจนหมดสิ้นแม้แต่ผิวหนังที่จะห่อหุ้มบั้นท้าย (臀無膚) นั้น ย่อมส่งผลกระทบถึงการดำเนินงานในด้านอื่นๆ (其行) จนต้องประสบกับภาวะชะงักงัน (次且) ไปด้วย การเชื่อมโยง (牽) รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ (羊) เข้าด้วยกันนั้น จะต้องลดละความมีอคติส่วนตัวให้หมดสิ้นไป (悔亡) และไม่ควรเชื่อถือเพียงเสียงคำร่ำลือใดๆ ว่าเป็นแก่นสารสาระ (聞言不信) ไม่ว่าจะลือกันอย่างหนาหูเพียงไหนก็ตาม' ...

ผมคิดว่าความหมายที่เราน่าจะเห็นในวรรคนี้ก็คงไม่ต่างกันมากนักหรอกครับ เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนมุมมองจาก 'อาการหมดตูด' มาเป็น 'อาการที่ไม่ได้รับความสนับสนุน' บ้างเท่านั้น ... :) ... แต่ในอีกมุมหนึ่งผมคิดว่า 'จิวกง' อาจจะต้องการสร้างภาพเปรียบเทียบลักษณะบางอย่างของ 'ผู้นำ' 2 ประเภท โดยประเภทที่เป็นตัวอย่างในบทที่สี่สิบสามคือ 'บ้าบิ่น-หลงตัวเอง' จึงพยายามทุ่มเทอย่างสุ่มเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลอย่างที่ตัวเองคาดหวัง ... แต่สำหรับ 'ผู้นำ' อีกประเภทหนึ่งที่น่าจะกำลังเอ่ยถึงในบทนี้ก็คือประเภท 'เจ้ายศเจ้าอย่าง-มากพิธีรีตอง' ดีแค่ 'ลีลา' แต่ปราศจาก 'เนื้อหา' อันชัดเจน ซึ่ง 'ผู้นำ' ประเภทนี้มักจะมี 'อำนาจ' ไว้สำหรับการ 'อวดโอ่วางก้าม' เพื่อเรียกร้อง 'ความเคารพนับถือ' จากผู้คนโดยไม่เคยคิดที่จะทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันเลยซักเรื่องเดียว ... สังเกตได้จาก 'ข้อเตือนสติ' ที่ 'จิวกง' ใช้คำว่า 不利賓 (bù lì bīn, ปู้ ลี่ ปิน) หรือ 'อย่าเอาดีแต่การสำเริงสำราญ' ในวรรคที่แล้ว ... :P

ความหมายของวรรคนี้ 'อาจจะ' ประมาณว่า 'การดำเนินงานอย่างหยิบโหย่งชนิดห่วงหน้าแต่ไม่พะวงหลัง (臀無膚 ราวกับบั้นท้ายที่เปลือยเปล่า) นั้น ย่อมส่งผลให้การดำเนินงานทั้งหลาย (其行) ไม่มีความต่อเนื่อง (次且) แม้ว่าจะทุ่มเทความพยายามอย่างเหนื่อยยาก (厲) ก็คงไม่สามารถ (無) สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ใดๆ (大咎) ขึ้นมาได้เลย' ...

ประเด็นสำคัญก็คือ ผมเลือกให้ความหมายของวรรคนี้มีความต่อเนื่องมาจากคำว่า 不利賓 (bù lì bīn, ปู้ ลี่ ปิน) ในวรรคที่สอง ซึ่ง 'ผู้นำ' ประเภทที่รู้จักแต่ 'การกรีดกราย' นั้น มักจะ 'ใช้อำนาจ' เพียงเพื่อจะ 'แสดงความมีอำนาจ' เท่านั้น แต่ไม่เคยคำนึงถึง 'ความเป็นจริง' ในแง่ของ 'การปฏิบัติงาน' ที่จะต้องมี 'ความต่อเนื่อง' ทั้งในด้านของ 'การติดตามงาน' และ 'การแก้ไขปัญหา' ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ เมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา ... ซึ่ง 'การสั่งงานส่งเดช' ชนิดที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 'ตามอำเภอใจ' ของ 'ผู้มีอำนาจ (แต่ใช้ไม่เป็น)' นั้น ก็จะมีผลให้การปฏิบัติงาน 'ขาดความต่อเนื่อง' อย่างที่ 'จิวกง' ระบุเอาไว้ว่า 其行次且 (qí xíng cì qiě, ชี๋ ซิ๋ง ชื่อ เฉี่ย) นั่นแหละ ... ซึ่ง ... ว่ากันโดยเนื้องานแล้ว 'ผู้นำ' ประเภทนี้ก็คงจะก่อได้แต่ 'ความน่ารำคาญ' และสร้าง 'ความสิ้นเปลืองทรัพยากร' ไปวันๆ เท่านั้นเอง ไม่น่าจะถึงกับมี 'เหตุร้ายแรง' เหมือนกับ 'การทุ่มเทอย่างสุ่มเสี่ยง' อันเป็นปัจจัยที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำเบาๆ แค่ 無大咎 (wú dà jiù, อู๋ ต้า จิ้ว) หรือ 'ไม่มีความผิดพลาดที่ร้ายแรง' ไว้ตรงส่วนท้ายของวรรค ... แต่ผมกลับมองว่า ความผิดมากน้อยนั้นเป็นคนละเรื่องกับ 'ความรับผิด' ที่ 'ผู้นำ' ควรจะต้องแสดงออกให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าผิดนิดผิดหน่อยก็ถือว่าไม่เป็นไรไปเฉยๆ ... ตรงนี้คือเหตุผลที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนความหมายของคำว่า 咎 (jiù, จิ้ว) ในวรรคนี้ให้หมายถึง 'ความแตกต่าง' และ 'การเปลี่ยนแปลง' แทนที่จะเป็นคงความหมายว่า 'ความผิดพลาด' หรือ 'ความผิดปรกติ' ไว้ตามเดิม เพื่อที่จะสื่อความหมายว่า 'การล้างผลาญทรัพยากร' เพียงเพื่อ 'ความบันเทิงกับอำนาจ' นั้น จะไม่มีวัน 'สร้างสรรค์' สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ให้ปรากฏขึ้นได้เลย ... ตลอดกาล !! ...

 

สี่ หยาง :

包無魚起凶
bāo wú yǘ qǐ xiōng
เปา อู๋ ยฺวี๋ ฉี่ เซฺวิง

 

起 อ่านว่า qǐ (ฉี่) มีความหมายได้หลายอย่างมาก ปรกติก็จะแปลว่า 'ลุกขึ้น' ซึ่งอาจจะหมายถึง 'ลุกขึ้นนั่ง' หรือ 'ลุกขึ้นยืน' ก็ได้ (ขึ้นอยู่กับอิริยาบท ณ ขณะเวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลง) ดังนั้น โดยรวมๆ มันจึงหมายถึง 'ขยับสูงขึ้นกว่าตำแหน่งเดิม' ไม่ว่าจะลุก, เดิน, ยืน, ลอย, หรือบิน ; ส่วนความหมายที่พัฒนาต่อออกไปก็คือ 'ก่อตั้งขึ้น', 'ทำให้เกิดขึ้น', และสามารถแปลว่า 'การริเริ่ม' หรือ 'การเริ่มต้น' ได้ด้วย

เรามาลองย้อนดูถ้อยคำของ 'จิวกง' ตั้งแต่วรรคแรกอีกครั้งนะครับ 'จิวกง' เปิดประเด็นสำหรับบทที่สี่สิบสี่นี้ไว้ในวรรคแรกว่า 'ความรู้จักยับยั้งชั่งใจ (繫 หมายถึงรู้จักทบทวนด้วยการคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน) ย่อมเป็นดั่ง (于) หลักยึดสำคัญสำหรับการเป็นผู้กุมอำนาจ (金柅) หากปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม (貞) เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (吉) ทุกสิ่งก็จะมีความคืบหน้าและสัมฤทธิ์ผลได้ในบั้นปลาย (有攸往) แต่หากมุ่งแต่การเผชิญหน้า (見) เพียงเพราะหวังจะแย่งชิงด้วยการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน (凶) ความเรียกร้องต้องการอย่างไม่รู้จักพอ (羸豕 ราวกับสุกรที่หิวโหย) เยี่ยงนั้น ย่อมเป็นบ่อเกิด (孚 หรือแหล่งฟูมฟัก) ของวงจรอุบาทว์ที่จะทำให้ทุกอย่างต้องชะงักงัน (蹢躅)' ... นี่คือต้องมี 'ความระมัดระวัง' อย่าสักแต่ 'ใช้อำนาจอย่างส่งเดช' ...

ซึ่งวรรคที่สองก็รับการส่งทอดความหมายต่อมาว่า 'อำนาจอันชอบธรรมย่อมต้องมีไว้เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ (包有魚) มิใช่ (不) เพื่อการแสวงประโยชน์ (利) อย่างสำเริงสำราญอันเนื่องมาจากการที่ผู้อื่นต้องให้การรับรอง (賓 ในฐานะของแขกผู้มีเกียรติ)' ... วรรคนี้ถือเป็น 'ข้อเตือนสติ' ไม่ให้ 'หลงยึดติด' อยู่กับ 'สถานภาพ' ที่ได้รับจน 'เลอะเลือน' ต่อ 'หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' ... โดยมีวรรคที่สามมาช่วยเน้นย้ำถึง 'ความเหลวไหล' อันมีสาเหตุมาจาก 'ความหย่อนยาน' ใน 'บทบาท-หน้าที่' ของ 'ผู้ที่กุมอำนาจไว้' โดยตรง ...

ผมค่อนข้างจะ 'เชื่อว่า' ในวรรคที่สี่นี้ 'จิวกง' คงอยากจะหยิบยกกรณีของบุคคลประเภท over active ขึ้นมาตักเตือนเอาไว้ โดยความหมายที่ควรจะต่อออกมาด้วยถ้อยคำในวรรคนี้ก็คือ 'การดำเนินกิจการงานทั้งหลาย (包) โดยปราศจาก (無) อำนาจอันชอบธรรม (魚) คือชนวนต้นเหตุ (起) แห่งความวิบัติฉิบหาย (凶) ทั้งปวง' ... สังเกตนะครับว่า 'จิวกง' ใช้คำที่รุนแรงมากสำหรับกรณีนี้ ??!! ... ซึ่งอาจจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกถึงกลิ่นไอแห่ง 'ความเป็นอนุรักษ์นิยม' ของ 'จิวกง' ที่มักจะ 'มากพิธีรีตอง' อยู่ซักหน่อย ... แต่เราก็ต้องไม่ลืมนะครับว่า ... 'การก้าวก่ายความรับผิดชอบ' ของผู้อื่นนั้น มักจะนำไปสู่ประเด็นของ 'การท้าทายอำนาจ' ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็น 'การเผชิญหน้า' (見) ระหว่างกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จนกลายเป็น 'ความสับสนวุ่นวาย' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่ยอมรับ' ใน 'บทบาทหน้าที่' ของกลุ่มก้อนต่างๆ ในสังคม ... และนั่นก็คือสภาวการณ์แบบ Failed State ขนานแท้ เพราะไม่ว่า 'กฎระเบียบ' ใดๆ ก็จะไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไปในสังคมแบบนั้น !!

 

ห้า หยาง :

以杞包瓜含章有隕自天
yǐ qǐ bāo guā hán zhāng yǒu yǚn zì tiān
อี่ ฉี่ เปา กัว ฮั๋น จัง โหฺย่ว หฺยวิ่น จื้อ เทียน

 

以 อ่านว่า yǐ (อี่, ยฺอี่) แปลว่า 'หยิบ', 'ฉวย', 'ใช้ประโยชน์' ; 'เพื่อ' ; 'เพราะว่า', 'ดังนั้น', 'แล้ว' (already) ; 'โดย' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับคำว่า therefore, thereby ในภาษาอังกฤษ

杞 อ่านว่า qǐ (ฉี่) เป็นชื่อพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งมีผลเป็นทรงรีๆ สีแดง ฝรั่งเรียกว่า Wolfberry แต่คนจีนแต้จิ๋วน่าจะคุ้นเคยกว่าถ้าเอ่ยชื่อว่า 'ต้นเก๋าคี่' เพราะมักจะนิยมนำผลตากแห้งของมันมาต้มเป็นน้ำซุปสำหรับรับประทาน

瓜 อ่านว่า guā (กัว) ปรกติจะหมายถึง 'ฟัก', 'แฟง', 'แตงกวา', 'แตงโม', หรือ บรรดา 'แตง' ต่างๆ ประเภทพืชสวนครัวทั้งหลาย ซึ่งก็อาจจะมีความหมายคล้ายๆ 'ผลิตผลทางการเกษตร' แบบเดียวกับ 果 (guǒ, กั่ว) ที่มักจะใช้กับ 'ผลไม้' มากกว่า ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ทำให้สุก' หรือ 'ตัดแบ่งออก' ซึ่งน่าจะหมายถึงขั้นตอนในการปรุงอาหารมากกว่าอย่างอื่น

含 อ่านว่า hán (ฮั๋น) แปลว่า 'อมไว้ในปาก', 'เก็บรักษาไว้', 'ซ่อนไว้', 'นัยแอบแฝง', บางทีก็เลยมีความหมายว่า 'ไม่ชัดเจน' ; 'รวบรวมไว้', 'บรรจุไว้'

章 อ่านว่า zhāng (จัง, าง) แปลว่า 'บท', 'ตอน', หรือ 'ท่อน' ของบทประพันธ์หรือหนังสือ ; แต่ในสมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 彰 (zhāng, จัง, าง) ที่แปลว่า 'ชัดเจน', 'เปิดเผย', 'หลักฐาน', 'สิ่งที่ปรากฏ', หรือ 'การแสดงออก'

隕 อ่านว่า yǚn (หฺยวิ่น) แปลว่า 'หลุดร่วง', 'ตกจากที่สูง', 'เสียหาย', 'ทำลาย', หรือแปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย

自 อ่านว่า zì (จื้อ) แปลว่า 'ตัวเอง' ; 'จุดที่เริ่มต้น', 'จากจุดเริ่มต้น', 'เริ่มจาก', 'ตั้งแต่' ; 'แน่นอน' ; ถ้าใช้ในการเชื่อมประโยคจะแปลว่า 'สมมุติว่า', 'เสมือนว่า' ; ใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'ใช้ประโยชน์', 'นำมาใช้งาน'

天 อ่านว่า tiān (เทียน) ปรกติจะแปลได้หลายความหมาย ซึ่งความหมายโดยทั่วไปก็คือ 'ท้องฟ้า', 'สวรรค์', หรืออาจจะใช้กับบางสิ่งที่ 'สูงเทียมฟ้า' ; ในขณะที่มันสามารถแปลว่า 'วัน', 'โอกาส' ก็ได้ จึงทำให้ผมก็ถือโอกาสแปลว่า 'กาละ' หรือ 'กาลเวลา' ไปซะเลยในบางกรณี

จำกัดกรอบของความหมายในวรรคนี้ด้วย 'คู่วลี' ของมันคือวรรคที่สองซะหน่อยดีกว่า ... จากถ้อยคำของ 'จิวกง' ที่บันทึกไว้ว่า 'การรับผิดชอบต่อภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (包 คือโอบอุ้มเอาไว้ในความดูแล) นั้น ต้องประกอบด้วย (有) อำนาจสั่งการ (魚) จึงจะสามารถดำเนินงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง (無咎) ซึ่งอำนาจอันชอบธรรมนั้นก็เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่ (不) เพื่อการแสวงประโยชน์ (利) จากสถานภาพที่บุคคลอื่นๆ ต้องให้การรับรอง (賓 ในฐานะของแขกผู้มีเกียรติ)' ... เป็นไปได้มั้ยล่ะว่า 'จิวกง' อาจจะกำลังพยายามชี้ให้เห็นถึง 'ความไม่จิรังยั่งยืน' หรือ 'ความไม่มีแก่นสารที่แท้จริง' ของ 'อำนาจ' ที่ 'ผู้นำ' หนึ่งๆ ถือครองเอาไว้ว่า 'ประดุจดั่ง (以) พืชพรรณ (杞) ที่สามารถให้ (包) ผลผลิต (瓜) ทั้งหลาย ซึ่งล้วนต้องผ่านการสั่งสม (含) และงอกงาม (章) มีการเกิด (有) และการดับสูญ (隕) ไปตาม (自) กาลเวลา (天) ที่เหมาะสมของมัน' ??!!

ในทางหนึ่ง ถ้อยคำที่เห็นอยู่นี้ก็คล้ายกับจะบอกกับพวกเราว่า พืชพรรณที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตนั้น ล้วนมิเคยหยิ่งทะนงว่าตนมีศักดิ์ศรีใดๆ ที่เหนือกว่าต้นไม้ใบหญ้าทั่วๆ ไป พวกมันเพียงแต่ได้รับมอบหมายจากธรรมชาติให้ทำการสั่งสมอาหารและพละกำลัง เพื่อที่จะงอกงามต่อไปเป็นดอกเป็นผลที่ให้ประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามวัฏจักรที่จะต้องมีการเกิดและการเสื่อมสลายไปในห้วงเวลาหนึ่งๆ ... 'อำนาจแห่งผู้นำ' ย่อมมี 'ความชอบธรรม' เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' ณ ขณะเวลาหนึ่งๆ เฉกเช่นกัน มันจึงมิใช่สิ่งที่ผู้หนึ่งผู้ใดพึงจะ 'หลงเหริงลำพอง' หรือแสดง 'ความยินดีปรีดา' ว่าตนมี 'ศักดิ์สถานะ' สูงยิ่งกว่าผู้อื่น และยิ่ง 'ไม่ควรยึดติด' อยู่กับ 'อำนาจ' เมื่อ 'ภาระหน้าที่' นั้นๆ ได้รับ 'การปฏิบัติ' จน 'สำเร็จเสร็จสิ้น' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ... ถูกรึเปล่าผมก็ไม่รู้ด้วยหรอก ... ไปถาม 'จิวกง' นู่นไป๊ !!!?? ... :D

 

หก หยาง :

姤其角吝無咎
gòu qí jiǎo lìn wú jiù
โก้ว ชี๋ เจี่ยว ลิ่น อู๋ จิ้ว

 

吝 อ่านว่า lìn (ลิ่น) แปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'

วรรคสุดท้ายก็คือ 'คู่วลี' ของวรรคที่หนึ่งล่ะครับทีนี้ และด้วยถ้อยคำสั้นๆ ห้วนๆ อย่างที่เห็น เราคงสามารถ 'ตีความ' ไปได้หลายแง่หลายมุมพอสมควร ดังนั้น เพื่อให้กรอบของความหมายมีความตรงประเด็นมากขึ้น ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องจับวรรคที่หนึ่งมาประกบคู่เอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเตลิดเปิดเปิงจนกลายเป็นคนละเรื่องไป ... :P

ถ้อยคำเดิมของ 'จิวกง' ในวรรคที่หนึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่า 'ความรู้จักยับยั้งชั่งใจ (繫 หมายถึงรู้จักทบทวนด้วยการคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน) ย่อมเป็นดั่ง (于) หลักยึดสำคัญสำหรับการเป็นผู้กุมอำนาจ (金柅) หากปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม (貞) เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (吉) ทุกสิ่งก็จะมีความคืบหน้าและสัมฤทธิ์ผลได้ในบั้นปลาย (有攸往) แต่หากมุ่งแต่การเผชิญหน้า (見) เพียงเพราะหวังจะแย่งชิงด้วยการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน (凶) ความเรียกร้องต้องการอย่างไม่รู้จักพอ (羸豕 ราวกับสุกรที่หิวโหย) เยี่ยงนั้น ย่อมเป็นบ่อเกิด (孚 หรือแหล่งฟูมฟัก) ของวงจรอุบาทว์ที่จะทำให้ทุกอย่างต้องชะงักงัน (蹢躅)' ...

สิ่งที่เราจะต้องตระหนักไว้สำหรับวรรคนี้ก็คือ 'จิวกง' เลือกลงท้ายด้วยคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ซึ่งโดยทั่วๆ ไปก็จะมีความหมายในลักษณะว่า 'ไม่มีอะไรผิดพลาดเสียหาย' ... นั่นพอจะช่วยให้เรา 'เดา' ได้ว่า คงจะไม่มี 'การเผชิญหน้า' (見) ดังที่ถูกระบุไว้ในวรรคที่หนึ่งว่า 凶 (xiōng, เซฺวิง) หรือ 'ฉิบหายวายป่วง' อย่างแน่นอน ... ดังนั้น คำสำคัญของวรรคนี้ก็น่าจะอยู่ที่คำว่า 吝 (lìn, ลิ่น) ว่าควรจะหมายถึงอะไร ในเมื่อ 姤其角 (gòu qí jiǎo, โก้ว ชี๋ เจี่ยว) คงจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากจะหมายถึง 'อำนาจอันชอบธรรม (姤) ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีอยู่ (其角) ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน' เท่านั้น ??!! ... เพราะคำว่า 角 (jiǎo, เจี่ยว) นอกจากจะหมายถึง 'เขาสัตว์' เช่น เขาวัว เขาแกะ มันยังสามารถหมายถึง 'ส่วนที่อยู่บนสุด', 'ปลายยอด' หรืออาจจะหมายถึง 'แหลม' ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ยื่นไปในทะเลก็ได้ และบางครั้งก็ยังหมายถึง 'มุม' หรือ 'จุดบรรจบ' ของสิ่งต่างๆ บางครั้งก็ยังหมายถึง 'ด้านในด้านหนึ่ง' ในลักษณะที่เป็น 'ปลายสุด' ของแต่ละด้านได้ด้วย ...

สิ่งที่ทุกคนก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจแล้วก็คือ หนทางหนึ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะไม่ต้องเผชิญหน้ากัน (見) จนกลายเป็นเหตุแห่งความวิบัติฉิบหาย () นั้น ย่อมเกิดจาก 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน' ... ไม่ควรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสูญเสียทั้งหมด และไม่ควรที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องได้ประโยชน์ในทุกๆ ด้าน ... 'ความแตกร้าวในสังคม' ทุกสังคมล้วนมีสาเหตุมาจากปัจจัยแห่ง 'ความไม่รู้จักพอ' (羸豕) ที่ว่านี้แทบทั้งสิ้น ... ซึ่ง 'จิวกง' เปิดประเด็นนี้เอาไว้แล้วด้วยวลีที่ว่า 繫于金柅 (xì yǘ jīn nǐ, ซี่ ยฺวี๋ จิน หฺนี่) หรือ 'ความรู้จักยับยั้งชั่งใจ (繫 หมายถึงรู้จักทบทวนด้วยการคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน) ย่อมเป็นดั่ง (于) หลักยึดสำคัญสำหรับการเป็นผู้กุมอำนาจ (金柅)' ... และนั่นก็คือความหมายของคำว่า 吝 (lìn, ลิ่น) ที่เราเห็นในวรรคนี้นี่แหละ !!?

'จิวกง' สรุปประเด็นของ 'อำนาจอันชอบธรรม' (姤) ไว้ว่า 'อำนาจอันชอบธรรม (姤) ที่อยู่ในอาณัติของทุกฝ่าย (其角) นั้น หากรู้จักยับยั้งบรรเทาด้วยการไม่คิดแต่จะอ้างสิทธิ์กันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง (吝) เหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น (無咎)' ... คิดว่าความหมายที่ว่านี้คงจะชัดเจนดีอยู่แล้วล่ะครับ ... แต่ต้องขอบอกว่า 'จิวกง' เลือกคำมาปิดประเด็นของ 'อำนาจ' ได้อย่างสุดยอดจริงๆ !! ... :)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'โก้ว' คือ ความชอบธรรม, ลมโบกพัดใต้เวหา

'อำนาจอันชอบธรรม' (女壯) ย่อมมิใช่ (勿) เพื่อ 'การแสวงประโยชน์' (用) จาก 'ความชอบธรรม' ที่ได้รับมา (取女)

  •  
  • 'ความรู้จักยับยั้งชั่งใจ' ด้วยการ 'คิดหน้าคิดหลัง' ให้ 'รอบคอบ' เสียก่อน (繫) ย่อมเป็นดั่ง (于) 'หลักยึด' สำคัญสำหรับการเป็น 'ผู้กุมอำนาจ' (金柅) หาก 'ปฏิบัติหน้าที่' อย่าง 'ถูกต้องทำนองคลองธรรม' (貞) เพื่อ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ทุกสิ่งก็จะมี 'ความคืบหน้า' และ 'สัมฤทธิ์ผล' ได้ในบั้นปลาย (有攸往) แต่หากมุ่งแต่ 'การเผชิญหน้า' (見) เพียงเพราะหวังจะ 'แย่งชิง' ด้วย 'การเข่นฆ่าทำลายล้าง' ซึ่งกันและกัน (凶) 'ความหื่นกระหายใคร่อยาก' อย่าง 'ไม่รู้จักพอ' ราวกับสุกรที่หิวโหย (羸豕 ) เยี่ยงนั้น ย่อมเป็น 'บ่อเกิด' (孚) ของ 'วงจรอุบาทว์' ที่จะทำให้ทุกอย่างต้อง 'ชะงักงัน' (蹢躅)
  •  
  • 'การรับผิดชอบ' ต่อ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' (包) นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วย (有) 'อำนาจสั่งการ' (魚) จึงจะสามารถ 'ดำเนินงาน' อย่าง 'ไม่ขาดตกบกพร่อง' (無咎) ซึ่ง 'อำนาจอันชอบธรรม' นั้นก็เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' มิใช่ (不) เพื่อ 'การแสวงประโยชน์' (利) จาก 'สถานภาพ' ที่บุคคลอื่นๆ ต้องให้ 'การรับรอง' (賓)
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ด้วย 'อาการหยิบโหย่ง' ชนิด 'ห่วงหน้า' แต่ 'ไม่พะวงหลัง' (臀無膚 ราวกับบั้นท้ายที่เปลือยเปล่า) นั้น ย่อมส่งผลให้ 'การดำเนินงาน' ทั้งหลาย (其行) ไม่มี 'ความต่อเนื่อง' (次且) แม้ว่าจะ 'ทุ่มเทความพยายาม' อย่าง 'เหนื่อยยาก' (厲) ก็คงไม่สามารถ (無) สร้าง 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่ยิ่งใหญ่ใดๆ (大咎) ขึ้นมาได้เลย
  •  
  • 'การดำเนินกิจการงาน' ทั้งหลาย (包) โดยปราศจาก (無) 'อำนาจอันชอบธรรม' (魚) คือ 'ชนวนต้นเหตุ' (起) แห่ง 'ความวิบัติฉิบหาย' (凶) ทั้งปวง
  •  
  • 'อำนาจแห่งผู้นำ' ย่อมคล้ายดั่ง (以) พืชพรรณ (杞) ที่สามารถให้ (包) ผลผลิต (瓜) ทั้งหลาย ซึ่งล้วนต้องผ่าน 'การสั่งสม' (含) และ 'งอกงาม' (章) อย่างสมวัย มี 'การเกิด' (有) และ 'การดับสูญ' (隕) ไปตาม (自) 'กาลเวลา' (天) ที่ 'เหมาะสม' ของมันเสมอ
  •  
  • 'อำนาจอันชอบธรรม' (姤) ที่อยู่ 'ในอาณัติ' ของทุกฝ่าย (其角) นั้น หากรู้จัก 'ยับยั้งบรรเทา' ด้วยการไม่คิดแต่จะ 'อ้างสิทธิ์' กันอย่าง 'เต็มที่เต็มกำลัง' (吝) เหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น (無咎)
     

  • หมายเหตุ : เป็นอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้ 'ตีความ' ตามความหมายของตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา จึงขอแทรกถ้อยคำจากต้นฉบับของ 'จิวกง' เอาไว้ระหว่างคำแปลทั้งหมด เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปแห่งความหมายที่ 'ตีความ' เอาไว้


The Organization Code :


'อำนาจอันชอบธรรม' ย่อมมีแก่ผู้ที่มี 'ความจริงจัง' ใน 'การดำเนินนโยบาย' แต่ 'ไม่เคร่งเครียดกังวล' เพราะต้องการ 'หักโหมเอาแต่ใจ' (⚎) ; มี 'การกำหนดแผนงาน' และ 'อำนวยการ' ด้วย 'ความชัดเจน' อย่าง 'ต่อเนื่อง' (⚌) ; และต้อง 'ไม่หย่อนยาน' ต่อ 'หน้าที่' ที่ 'พึงปฏิบัติ' (⚌) ... 'ผู้นำที่ดี' จะต้อง 'ประพฤติปฏิบัติตน' เป็น 'แบบอย่าง' เพื่อสร้าง 'ความโน้มน้าว' และ 'การชี้นำ' ให้ผู้คนทั้งหลาย 'ยินดี' ที่จะ 'ร่วมดำเนินกิจการงาน' ด้วย 'ความภาคภูมิใจ' ... ดุจดั่ง 'กระแสลม' (☴) ที่คอยโบกพัดไปในทิศทางต่างๆ เพื่อให้สรรพชีวิตทั่วใต้ 'หล้า' (☰) มีแต่ 'ความสดชื่นรื่นรมย์'

'ความชอบธรรม' แห่ง 'อำนาจ' ย่อมได้รับมอบหมายมาพร้อมกับ 'ภาระหน้าที่' เพื่อ 'การปฏิบัติ' ให้เกิด 'ประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม' มิใช่เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดอาศัย 'ความชอบธรรม' นั้นเป็น 'เครื่องมือ' สำหรับ 'การฉกฉวยประโยชน์' ให้แก่ 'ตนเอง' และ 'พวกพ้อง'
 

  • 'ความมีสติยั้งคิด' ไม่ 'หุนหันวู่วามเอาแต่ใจ' รู้จักใช้ 'ดุลยพินิจ' ทบทวนพิจารณาเรื่องราวต่างๆ 'อย่างรอบคอบ' คือ 'หลักปฏิบัติ' ที่จำเป็นต้องมีไว้เสมอสำหรับ 'ผู้ที่กุมอำนาจ' ... 'การดำเนินกิจการงาน' อย่างมี 'หลักการ' ที่ 'ถูกต้องทำนองคลองธรรม' ย่อมนำพา 'ความเจริญรุ่งเรือง' มาสู่องค์กรและสังคม ตลอดจนประเทศชาติโดยรวมได้ในที่สุด ... แต่หากหมายมั่นปั้นมือที่จะ 'กระทำตามอำเภอใจ' เพียงเพราะต้องการจะ 'แสดงอำนาจ' โดยไม่ใส่ใจใน 'ผลกระทบ' ที่จะก่อให้เกิด 'การต่อต้าน' และ 'การเผชิญหน้า' ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมแล้ว 'ผลลัพธ์อันเลวร้าย' ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ... 'ความหื่นกระหายอย่างไม่รู้จักพอ' ของ 'ผู้มีอำนาจ' ย่อม 'หล่อเลี้ยง' ให้เกิด 'วงจรอุบาทว์' ที่จะพาสังคมทั้งมวลเข้าสู่ 'วังวนแห่งการแก่งแย่งช่วงชิง' อย่างไม่มีวันที่จะหลุดพ้นไปได้เลย
  •  
  • 'การรับผิดชอบ' ต่อ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วย 'อำนาจสั่งการ' ในระดับที่ 'เหมาะสม' จึงจะสามารถ 'ดำเนินงาน' ให้ 'สำเร็จลุล่วง' ได้อย่าง 'ไม่ขาดตกบกพร่อง' ซึ่ง 'อำนาจอันชอบธรรม' นั้นก็เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' มิใช่เพื่อ 'ความสำเริงสำราญ' ใน 'การแสวงประโยชน์' จาก 'สถานภาพ' ที่บุคคลอื่นๆ ต้องให้ 'การรับรอง'
  •  
  • 'การดำเนินงาน' ที่คอยห่วงพะวงแค่ 'การรักษาหน้า' โดยไม่คำนึงถึง 'ผลกระทบ' หรือ 'ปัญหา' ที่จะติดตามมาในภายหลัง ย่อมส่งผลให้ 'การดำเนินงาน' ต่างๆ ขาด 'ความชัดเจน' ที่ 'ต่อเนื่อง' ... ต่อให้ต้องใช้ 'ความพยายามอย่างทุ่มเท' กับ 'การปฏิบัติงานที่เหนื่อยยาก' ก็ไม่อาจก่อให้เกิด 'ความเปลี่ยนแปลง' ใดๆ ที่สามารถนับเป็น 'ผลงานอันยิ่งใหญ่' อย่างแน่นอน
  •  
  • การฝืน 'ดำเนินกิจการงาน' ต่างๆ อย่าง 'ไม่มีควาชอบธรรม' ย่อมนำไปสู่ 'การต่อต้าน' และ 'การเผชิญหน้า' ของกลุ่มก้อนต่างๆ ทั้งในองค์กรและสังคม อันเป็นเหตุแห่ง 'ความวิบัติฉิบหาย' ที่มีชนวนต้นเรื่องมาจากความไม่รู้จัก 'ขอบเขตแห่งอำนาจ' ที่อยู่ใน 'ความรับผิดชอบ' ของตน
  •  
  • 'ความชอบธรรม' แห่ง 'อำนาจ' ย่อมมี 'ความเป็นพลวัตร' ที่จะต้อง 'ปรับเปลี่ยนหมุนเวียน' ไปตาม 'ความเหมาะสม' ของ 'กาละ-เทศะ' และ 'หน้าที่' ที่บุคคลหนึ่งๆ 'ได้รับมอบหมาย' ให้ไป 'ดำเนินการ' เช่นเดียวกับพืชพรรณทั้งหลายที่ล้วน 'ปฏิบัติหน้าที่' ไปตาม 'วัฏจักร' ของตน โดยมิเคยคำนึงถึง 'ความเป็นพืชชั้นสูง' หรือ 'ความเป็นพืชชั้นต่ำ' ตามถ้อยคำที่มนุษย์เสกสร้างกันขึ้นมาเอง ... 'อำนาจ' ย่อมมิใช่ 'สมบัติเฉพาะตัว' ของผู้หนึ่งผู้ใดที่พึง 'ยึดติด' ด้วย 'ความหวงแหน' และยิ่ง 'ไม่สมควร' ถูกใช้ไปเพื่อ 'สิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์' ใดๆ ต่อ 'หน้าที่' ที่ตน 'ได้รับมอบหมาย' ไว้ใน 'ความรับผิดชอบ'
  •  
  • 'อำนาจอันชอบธรรม' ที่อยู่ 'ในอาณัติ' ของทุกฝ่ายนั้น หากรู้จัก 'ยับยั้งบรรเทา' ด้วยการไม่คิดแต่จะ 'อ้างสิทธิ์' กันอย่าง 'เต็มที่เต็มกำลัง' เหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น


และนี่ก็คือบทสรุปของ 'พลังแห่งหยาง' ในวัฏจักรที่สี่ ซึ่งไล่เรียงกันมาตั้งแต่ 'ความไม่สมประกอบ' (39. ䷦ 蹇 Jiǎn, เจี่ยน), 'ความเจริญสติ' (40. ䷧ 解 Jiě, เจี่ย), 'ความไม่สำคัญตน' (41. ䷨ 損 Sǔn, สุ่น), 'การเพียรบำเพ็ญประโยชน์' (42. ䷩ 益 Yì, อี้), 'ความไม่แข็งขืนดันทุรัง' (43. ䷪ 夬 Guài, กฺวั้ย), และ 'ความชอบธรรมแห่งอำนาจ' (44. ䷫ 姤 Goù, โก้ว) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞) 6 หลักการ (蹇,解,損,益,夬,姤) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติของหยางที่พัฒนาต่อมาจนน่าจะเข้าสู่ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เราจะสังเกตว่า ถ้อยคำทั้งหมดของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ที่ปรากฏอยู่ใน 'วัฏจักรแห่งอำนาจของหยาง' นี้ จะเน้นหนักไปในเรื่องของ 'ความมีสติยั้งคิด' มากเป็นพิเศษ โดยย้ำเตือนว่า 'ผู้นำที่ดี' จะต้องมี 'สำนึกในหน้าที่' ไม่ใช่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับ 'สิทธิ' และ 'อำนาจ' ที่ตนมีอย่างเหลวไหลเลื่อนลอย ... ด้วยเหตุว่า บุคคลย่อมมากด้วย 'บารมี' เพราะ 'ความรู้จักใช้อำนาจ' เพื่อ 'การปฏิบัติหน้าที่' ให้เกิด 'ประโยชน์สุข' แก่ 'ส่วนรวม' ... เท่านั้น !!!

ผมคงต้องบอกว่า 'วัฏจักรแห่งอำนาจของหยาง' นั้นได้รับการบันทึกไว้โดย King Wen และ 'จิวกง' ด้วยถ้อยคำที่กำกวมพอสมควร ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากวันเวลาที่บันทึกถ้อยคำเหล่านี้อยู่ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ซางที่กล่าวกันว่า เป็นยุคที่ปกครองโดยทรราชที่เลวร้ายที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน อันเป็นเหตุให้การบันทึกข้อความใดๆ ที่เป็น 'ข้อแนะนำ' แต่ดูคล้ายกับ 'คำตำหนิติเตียน' เกี่ยวกับตัว 'ผู้นำ' นั้น มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าคิดก่อการกบฎไปเลยก็ได้ ??! ... ประกอบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นก็มีเรื่องเล่าไว้ค่อนข้างจะตรงกันว่า King Wen มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านของการทำนายทายทัก ถ้อยคำที่กำกวมเหล่านี้ของ 'คัมภีร์อี้จิง' จึงมักจะถูก 'ตีความ' ไปในแง่ของ 'การเสี่ยงทาย' มากกว่าจะเป็นเรื่องของ 'ข้อแนะนำสั่งสอน' สำหรับการเป็น 'นักปกครองที่ดี' ซึ่งควรจะมี 'หน้าที่' ในการ 'อำนวยความสงบร่มเย็น' ให้เกิดแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสืบไป ... แต่นั่นก็มีผลให้ 'คัมภีร์อี้จิง' ไม่ถูกทำลายไปตั้งแต่ในยุคนั้นด้วยเช่นกัน ... :)