Zhuq!Ching |
ZhuqiChing : The Organization Code The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX © 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ) |
The Original Text :
第三十二卦 : 恆
恆 : 雷風恆 ‧ 震上巽下
恆 : 亨‧無咎‧利貞‧利有攸往‧
- 初六 : 浚恆‧貞凶‧無攸利‧
- 九二 : 悔亡‧
- 九三 : 不恆其德‧或承之羞‧貞吝‧
- 九四 : 田無禽‧
- 六五 : 恆其德貞‧婦人吉‧夫子凶‧
- 上六 : 振恆‧凶‧
ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ มีความระงับยับยั้ง (⚎) ; ปัญญา กระฉับกระเฉงตื่นตัว (⚌) ; ครองตน หนักแน่น-นอบน้อม (⚏)
ความหมายในเชิงบริหาร : ใช้กลไกทางการเงิน (☴) ส่งเสริมการดำเนินงานด้านการตลาด (☳)
ความหมายของสัญลักษณ์ : ความหนักแน่นมั่นคง, ฟ้ากระหน่ำ ลมกระพือ
ความหมายของชื่อเรียก : Consistency : ความหนักแน่นมั่นคง
恆 อ่านว่า héng (เฮิ๋ง) เราเจอคำนี้ครั้งแรกในวรรคที่หนึ่งของบทที่ห้า ซึ่งมีคำแปลว่า 'มั่นคง', 'ถาวร', 'ปรกติ', 'สม่ำเสมอ', หรือ 'แน่นอน' ; แล้วก็มาเจออีกครั้งหนึ่งในวรรคที่ห้าของบทที่สิบหก ซึ่งก็ยังคงมีความหมายในลักษณะเดียวกันคือ 'ความมั่นคงในอุดมธรรม', หรือ 'ความสม่ำเสมอแห่งการครองสติ' ... การที่ King Wen นำคำนี้กลับมาใช้เป็น 'ชื่อบท' ต่อจาก 咸 (xián, เซี๋ยน) หรือ 'การสร้างความเป็นปึกแผ่น' ของบทที่สามสิบเอ็ดนั้น จึงนับว่ามีความสอดคล้องกับลำดับต่างๆ ในอนุกรมรอบนี้อย่างลงตัว
'ภาพอักษรเดิม' ของ 恆 (héng, เฮิ๋ง) นี้อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย โดยทางด้านซ้ายของ 'ภาพอักษร' คืออักษรดั้งเดิมของคำว่า 心 (xīn, ซิน) ที่แปลว่า 'หัวใจ' หรือ 'จิตใจ' ; ส่วนทางด้านขวาจะเห็นเป็นขีดสองขีดคู่ขนานกันทั้งด้านบน และด้านล่าง แทนความหมายของ 'ฟากฝั่งทั้งสอง' หรือ 'จุดเริ่มต้น' และ 'จุดหมายปลายทาง' ตรงกลางของ 'ภาพอักษร' ด้านขวาจะมีบางตำราที่แสดงไว้ด้วยสัญลักษณ์ของ 'เรือ' แต่ที่เห็นในที่นี้จะดูคล้ายกับเป็น 'คลื่นน้ำ' หรือ 'ความคดเคี้ยว' ... โดย 'ภาพอักษร' ทั้งสองแบบจะสื่อความหมายในลักษณะของ 'การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง' เหมือนๆ กัน ... และเมื่อรวม 'ภาพอักษร' ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ความหมายดั้งเดิมของ 恆 (héng, เฮิ๋ง) จึงหมายถึง 'ความร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง' อันสะท้อนถึง 'ความเป็นปีกแผ่นที่มั่นคงด้วยหลักการ และความมีจุดมุ่งหมายร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว' ... จึงไม่น่าแปลกใจที่ 'จิวกง' เลือกถ้อยคำมาบันทึกไว้ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) เพราะ 'ผู้นำที่หลงทะนงตนจนกลายเป็นความผยอง (亢龍) ย่อมต้องประสบกับความเสียใจ (有悔) ในบั้นปลายเสมอ' ... ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ไม่มีความสำเร็จใดที่สามารถพิชิตได้เพียงลำพัง ... 'ผู้นำที่ดี' จึงหมายถึงผู้ที่มี 'คนดีๆ' พร้อมจะดำเนินรอยตาม ... เท่านั้น ... !!!
บทที่มีความเกี่ยวข้องกับวรรคที่หกของบทที่หนึ่งก่อนหน้านี้ก็คือ 比 (bǐ, ปี่) ในบทที่แปด และ 觀 (guān) ในบทที่ยี่สิบ โดย King Wen ให้นิยามของ 比 (bǐ, ปี่) หรือ 'การผูกสัมพันธ์' ไว้ว่า 吉‧原筮元永貞‧無咎‧不寧方來‧後夫凶‧ (jí yuán shì yuán yǒng zhēn wú jiù bù níng fāng laí hòu fú xiōng, จี๋ เยฺวี๋ยน ษื้อ เยฺวี๋ยน หฺย่ง เจิน อู๋ จิ้ว ปู้ นิ๋ง ฟัง ไล๋ โฮ่ว ฟู๋ เซฺวิง) ซึ่งหมายถึง 'การผูกสัมพันธ์คือการนำมาซึ่งความสำเร็จ และความสุขสวัสดี … ด้วยโชคชะตาที่แท้จริง ย่อมสืบเนื่องจากความประพฤติที่มั่นคงในหลักแห่งคุณธรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย หากมิใช่เพราะความหนักแน่นซื่อตรง ผลลัพธ์ย่อมจะเลวร้าย' ... ส่วน 觀 (guān, กวน) นั้นก็ได้รับคำนิยามจาก King Wen ไว้ว่า 盥而不薦‧有孚顒若 (guàn ér bù jiàn yǒu fú yóng ruò, ก้วน เอ๋อ ปู้ เจี้ยน โหฺย่ว ฟู๋ ย๋ง ญั่ว) อันหมายถึง 'ความเอาใจใส่ หาใช่การส่งของขวัญ หรือเครื่องบรรณาการแก่กันอย่างพร่ำเพรื่อ ; แต่ความจริงใจที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กันนั้นต่างหาก คือสิ่งที่พึงปฏิบัติ เพื่อแสดงความเคารพซึ่งกันและกันอย่างเป็นนิจ' ... จะเห็นว่าทั้งสองความหมายล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับ 恆 (héng, เฮิ๋ง) ในแง่ของ 'ความร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว' โดยผ่านกระบวนการ 'ประพฤติปฏิบัติด้วยความคงเส้นคงวา' อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ 恆 (héng, เฮิ๋ง) ไม่น่าจะหมายถึง 'ความมั่นคง' ในลักษณะของ Long Lasting, Long Duration, หรือ Contantcy ... แต่น่าจะเป็น 'ความมั่นคง' ในลักษณะของ 'ความหนักแน่น', 'ความคงเส้นคงวา', 'ความสม่ำเสมอ', หรือ 'ความอยู่กับร่องกับรอย' ที่คล้ายกับความหมายของ Consistency มากกว่า ...
เราอาจกล่าวได้ว่า ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในบทที่ว่าด้วย 'พลังแห่งหยาง' รอบที่สามของ 'คัมภีร์อี้จริง' นี้ก็คือ หลังจากผ่านขั้นตอนของ 'การหล่อเลี้ยง' (27 : 頤 : yí, อี๋) จน 'เติบใหญ่แข็งแรง' (28 : 大過 : dà guò) และ 'เผชิญกับอุปสรรค' (29 : 坎 : kǎn, ขั่น) ต่างๆ ด้วย 'การใช้วิจารณญาณ' (30 : 離 : lí, ลี๋) จนสามารถ 'สร้างความเป็นปึกแผ่น' (31 : 咸 : xián, เซี๋ยน) ขึ้นมาได้แล้ว สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้เลยก็คือ 'อย่าลืมตัว' (32 : 恆 : héng, เฮิ๋ง) หรือ 'ความคงเส้นคงวา' นั่นเอง !!
ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :
hēng wú jiù lì zhēn lì yǒu yōu wǎng
ขอนำคำแปลของแต่คำมาแปะไว้ให้เห็นอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีคำใหม่ในวรรคนี้เลยนะครับ
亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'
無 ตัวนี้อ่านว่า wú (อู๋) เป็นคำแสดงความหมายปฏิเสธในลักษณะว่า 'ไม่มี'
咎 อ่านว่า jiù (จิ้ว) แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน'
利 อ่านว่า lì (ลี่) แปลว่า 'ความมีโชคลาภ', 'ความคล่องแคล่ว' (ความโชคดีทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลได้คล่องตัว), 'ความว่องไว', 'ความแหลมคม' (ในลักษณะที่มาจากความเฉียบขาด และว่องไว) ; และยังหมายถึง 'ความทุ่มเท' (perseverence) ได้อีกด้วย (ซึ่งน่าจะเป็นการแตกความหมายต่อออกมาจาก 'ความแหลมคม' ที่มีลักษณะของการ focus น้ำหนักลงไปเฉพาะจุดเฉพาะที่ กลายมาเป็นความหมายของ 'ความทุ่มเท') แล้วก็เลยรวมความต่อไปถึง 'ความมุ่งมั่น' อย่างมี 'น้ำอดน้ำทน' ได้อีกด้วย ;)
貞 อ่านว่า zhēn (เจิน) แปลว่า 'ความซื่อตรงเที่ยงธรรม' หรือ 'ความมีอุดมการณ์' (virtue, virtuous), 'ความซื่อสัตย์' (loyalty), 'ความบริสุทธิ์' (chastity, virginity), หรือ 'ความสุจริต', และ 'ความมีระเบียบวินัย'
攸 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, อิว) แปลว่า 'ตำแหน่งแห่งหน', ซึ่งอาจจะหมายถึง 'จุดหมายปลายทาง' ก็ได้, บางกรณีก็แปลว่า 'ไหลเลื่อน', หรือ 'เคลื่อนที่' (ไปสู่จุดหมาย) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหมายถึงเคลื่อนที่ไป 'อย่างช้าๆ' หรือ 'อย่างเอื่อยๆ' เหมือนกับการไหลของกระแสน้ำ … ซึ่งก็เลยแปลว่า 'สบายๆ' ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย … แต่ในเมื่อมันหมายถึง 'การไหลของกระแสน้ำ' … บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'เร็วๆ' ได้ด้วยเหมือนกันนะเอ้า … มึนมั้ย ?! :D
往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้
ที่ต้องเอาคำแปลมาดูกันชัดๆ ที่ละคำก็เพื่อจะเทียบเคียงความหมายของ 恆 (héng, เฮิ๋ง) ซึ่งหมายถึง 'ความร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง' อันสะท้อนถึง 'ความเป็นปีกแผ่นที่มั่นคงด้วยหลักการ และความมีจุดมุ่งหมายร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว' ดังที่ได้เล่าไปแล้วในคำอธิบาย 'ชื่อเรียก' ... ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้จะประกอบด้วยสัญลักษณ์ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ซึ่งหมายถึง 'ลม' และสัญลักษณ์ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) ที่หมายถึง 'ฟ้าร้อง' อันเป็น 'คู่ตรงข้ามกัน' โดยตรงตาม 'แผนผังโป้ยก่วย' ฉบับดั้งเดิมของ Fu Xi ... ในขณะที่ The Organization Code ซึ่งเคยอธิบายไว้ตั้งแต่แรกนั้น สัญลักษณ์ทั้งสองก็คือ 'ฝ่ายการเงิน' (☴) กับ 'ฝ่ายการตลาด' (☳) ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเป็น 'คู่กัด' ที่ต้องคานอำนาจกันในเกือบจะทุกองค์กรก็ว่าได้ ... แต่จากภาพสัญลักษณ์ที่ปรากฏในบทนี้ เราจะเห็นภาพของ 'การสนับสนุน' การปฏิบัติงานของ 'ฝ่ายการตลาด' โดย 'ฝ่ายการเงิน' ซึ่งก็คงจะเปรียบได้กับ 'การติดปีกให้เสือ' นั่นเอง !! ... จึงไม่น่าแปลกใจที่ความหมายของบทนี้จะคาบเกี่ยวกับถ้อยคำเตือนสติของ 'จิวกง' ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งอย่างแนบแน่นว่า 亢龍有悔 (kàng lóng yǒu huǐ, คั่ง ล๋ง โหฺย่ว หุ่ย) เพราะการได้รับ 'การสนับสนุน' ย่อมเป็นคนละความหมายกับ 'การอนุญาตให้ปฏิบัติงานอย่างเหลวไหล' เสมอ
โดยส่วนใหญ่แล้ว 'ฝ่ายการตลาด' มักจะอ้างตนว่าเป็น 'ผู้สร้างรายได้' ให้แก่องค์กร ในขณะที่ 'ฝ่ายการเงิน' ก็มักจะวางตนอยู่ในดำแหน่งของ 'ผู้ดูแลทรัพย์สิน และผลประโยชน์' ให้กับองค์กรเสมอ ธรรมชาติของการปฏิบัติงานจึงมีลักษณะของ 'การคานอำนาจ' ระหว่างกันอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ... แต่หากมีการกำหนดเป้าหมาย และร่วมกันกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก หน่วยงานที่เหมือนกับจะต้องขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลานี้ ย่อมมีโอกาสหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว และสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ นโยบายต่างๆ ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีพลัง ... ภาพของการประสานงานกันดังกล่าวของ 'สองขั้วอำนาจ' ก็น่าจะคล้ายกับ 'ฟ้าร้องคำราม ลมโหมกระพือ' ดังที่ King Wen เลือกมาใช้เป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้พอดี :)
ย้อนกลับไปที่ถ้อยคำของ King Wen ซึ่งขยายความให้กับ 恆 (héng, เฮิ๋ง) อันเป็น 'ชื่อบท' ว่า 亨無咎利貞利有攸往 (hēng wú jiù lì zhēn lì yǒu yōu wǎng, เฮิง อู๋ จิ้ว ลี่ เจิน ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง) ... ถ้าเราจะแปลกันดุ้นๆ โดยไม่สนใจความหมายแฝงอื่นๆ เลย เราก็จะได้ใจความประมาณว่า 'เจริญก้าวหน้า (亨) ปราศจากมลทิน (無咎) เฮ้ง เฮง สุดๆ (利貞) เฮงตลอดตราบฟ้าดินสลาย (利有攸往)' ... :D ...
แต่สำหรับผมแล้ว ถ้อยคำสั้นๆ ของ King Wen ที่ใช้ขยายความให้กับ 恆 (héng, เฮิ๋ง) หรือ 'ความหนักแน่นมั่นคง' นี้ก็คือ 'พัฒนาการแห่งความตระหนักรู้ในบทบาท และหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน (亨) โดยไม่สูญเสียสมาธิ และกำลังไปกับการกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร้แก่นสาร (無咎) แต่ทุ่มเทความมุ่งมั่น (利) ด้วยความสุจริต และซื่อตรง (貞) เพื่อให้ความพยายามทั้งหลายทั้งปวง (利) ปรากฏผลสำเร็จในบั้นปลาย (有攸往)' ... น่าจะเข้าท่ากว่าความหมายประเภท 'เฮงแล้วเฮงอีก' นั่นนะ ?! ... ;)
บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :
浚恆貞凶無攸利
jǜn héng zhēn xiōng wú yōu lì
浚 อ่านว่า jǜn (จฺวิ้น) ปรกติจะแปลว่า 'ขุดขึ้นมา' หรือ 'ขุดให้ลึกลงไป' อันเป็นความหมายที่แผลงมาจากความหมายเดิมว่า 'ตักขึ้นมาจากน้ำ' หรือ 'ขุดลอก' ซึ่งในทางหนึ่งก็เหมือนกับว่าจะต้องใช้เครื่องมือบางอย่าง 'กดให้จมลงไป' หรือ 'ดำดิ่งลงไป' ก่อนที่จะ 'ควัก (บางอย่าง) ขึ้นมา' นั่นเอง ... และทำให้บางครั้ง 浚 (jǜn, จฺวิ้น) ยังถูกใช้ในความหมายว่า 'นำออกมา', 'นำออกไป', หรือ 'กำจัดออกไป' ก็ได้
คำว่า 浚恆 (jǜn héng, จฺวิ้น เฮิ๋ง) เท่าที่เห็นในตำราอื่นๆ มักจะได้รับ 'การตีความ' ให้มีความหมายในทำนองว่า 'ย้ำแล้วย้ำอีก', 'จ้ำจี้จ้ำไช', ซึ่งน่าจะเป็นอาการของ 'ความหมกหมุ่น' มากกว่า 'ความคงเส้นคงวา' หรือ 'ความหนักแน่น' ในความหมายปรกติทั่วๆ ไป ... ซึ่งก็แน่นอนครับว่า อาการของ 'ความจดจ่อ' อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนไม่ใยดีกับประเด็นรอบข้างอื่นๆ เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความมืดบอด' ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อตนเอง และภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย
แต่ถ้าพิจารณาตามมาตรฐานการบันทึกของ 'จิวกง' แล้ว วรรคที่หนึ่งของทุกๆ บทมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับถ้อยคำของ King Wen ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ซึ่งในกรณีของคำว่า 浚 (jǜn, จฺวิ้น) ที่หมายถึง 'การขุด', 'การคุ้ย' นั้น ทำให้ผมนึกถึงวลี 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ของ King Wen ซึ่งผมเพิ่งจะแปลไปหยกๆ ว่า 'ไม่กล่าวโทษกันไปมาอย่างไร้แก่นสาร' นั่นแหละ ... และน่าจะทำให้ความหมายของวรรคนี้กลายมาเป็น 'ความหมกมุ่นอยู่กับการฟื้นฝอยหาตะเข็บ (浚恆) ย่อมเป็นการบ่อนทำลายจริยธรรมให้เสียหาย (貞凶) ทั้งยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ก่อประโยชน์ใดๆ (無攸利)'
ในอีกมุมมองหนึ่ง 'จิวกง' อาจจะต้องการสื่อความหมายของ 浚恆 (jǜn héng, จฺวิ้น เฮิ๋ง) ในลักษณะของ micro manage หรือการบริหารงานแบบ 'ซอกแซก', 'จุ๊กจิ๊ก', ถึงขนาดที่อาจจะเรียกว่า ส.ท.ร. (สนใจทุกรายละเอียด) ด้วยซ้ำไป ... :P ... ราวกับว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่น่าไว้วางใจพอสำหรับการมอบหมายงานไปทำอย่างอิสระได้เลย ... ซึ่งก็แน่นอนครับว่า นักปฏิบัติงานมือดีทั้งหลายคงจะค่อยๆ ทะยอยหนีห่างออกไป หลงเหลือไว้แต่พวกที่มีหัวไว้คั่นหูเท่านั้นที่จะอยู่เป็นลูกมือต่อไปเรื่อยๆ (เพราะไปไหนไม่รอด) ... แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจที่ผลลัพธ์สุดท้ายมักจะออกมาแบบไม่ค่อยจะได้เรื่องซักเท่าไหร่ (無攸利) ... :) ... ประเด็นที่น่าสนใจตรงนี้ก็คือ ผู้บริหารประเภท micro manage นั้น ส่วนมากก็มักจะเป็นพวกที่เชื่อว่าตนเองคือ Super Hero ที่ไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะเปี่ยมความรู้ความสามารถเท่ากับตนเองอีกแล้วนั่นเอง ... ซึ่งคำว่า 亢龍 (kàng lóng, คั่ง ล๋ง) หรือ 'มังกรผยอง' ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคที่หกของบทที่หนึ่งนั้น นอกจากจะหมายถึง 'ผู้นำที่หลงเหลิงในอำนาจ' แล้ว ก็น่าจะซุกซ่อนความหมายของ 'ผู้ที่หลงคิดว่าตนเองเก่งกาจจนไม่อาจปล่อยวาง' ในลักษณะที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน ... :)
悔亡
huǐ wáng
เจอด้วนๆ อย่างนี้ต่อไม่เป็นเลยครับ ... :D ...
แต่ผมอยากบอกว่า 'จิวกง' น่าจะจงใจทิ้ง 'ตัวช่วย' บางอย่างเอาไว้ให้ เพราะคำว่า 悔 (huǐ, หุ่ย) นั้นเป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในวรรคเดียวกับ 亢龍 (kàng lóng, คั่ง ล๋ง) ของบทที่หนึ่งนั่นเลยทีเดียว โดย 悔 (huǐ, หุ่ย) แปลว่า 'เสียใจ', 'เศร้าใจ', แต่ผมชอบคำแปลภาษาอังกฤษของคำนี้ที่ใช้คำว่า repent เพราะคำว่า repent แปลว่า 'เสียใจในการกระทำของตนเอง' ซึ่งต่างจากเสียใจคำอื่นๆ อย่าง sorry หรือ regret ที่มักจะหมายถึง 'ความเสียใจ' ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก
ส่วน 亡 (wáng, วั๋ง) เพิ่งเล่าไปหยกๆ เมื่อบทที่แล้ว โดยความหมายของมันก็คือ 'ละทิ้ง', 'หลบหลีก', 'หนีหาย', และบางครั้งก็แปลว่า 'ตาย' ได้ด้วย ; ในบางกรณีมันจึงสามารถแปลว่า 'ทำให้หายไป', 'ทำให้สูญเสีย', หรือ 'ทำลายล้าง' ซึ่งในสมัยโบราณยังใช้ในความหมายเดียวกับ 無 (wú, อู๋) ที่แปลว่า 'ไม่มี' ก็ยังได้
ในบทที่แล้วผม 'ตีความ' วลี 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ไว้ว่า 'ความน้อยเนื้อต่ำใจคือปัจจัยที่ต้องสละละ' ซึ่งเป็นความหมายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างในวรรคที่สี่ของบทที่สามสิบเอ็ดโดยตรง ... แล้วผมก็เชื่อว่า ความหมายดังกล่าวน่าจะยังใช้ได้อยู่ เมื่อเรานำมาเทียบเคียงกับวลีของ King Wen ในบทนี้ที่บันทึกไว้ว่า 'ความหนักแน่นมั่นคง' ก็คือ 'พัฒนาการแห่งความตระหนักรู้ในบทบาท และหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน (亨) โดยไม่สูญเสียสมาธิ และกำลังไปกับการกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร้แก่นสาร (無咎) แต่ทุ่มเทความมุ่งมั่น (利) ด้วยความสุจริต และซื่อตรง (貞) เพื่อให้ความพยายามทั้งหลายทั้งปวง (利) ปรากฏผลสำเร็จในบั้นปลาย (有攸往)' ...
เราจะเห็นได้ว่า 'ความตระหนักรู้ในบทบาท และหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน' (亨) นั้น ย่อมส่งผลสะท้อนได้อย่างน้อยก็ 2 ประการแล้วในขณะนี้ นั่นคือ 'การไม่เข้าไปก้าวก่ายจุ้นจ้านกับภาระกิจที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง' (浚恆) ในวรรคที่หนึ่ง กับ 'ความไม่น้อยเนื้อต่ำใจในภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' ที่กำลังเอ่ยถึงในวรรคนี้ ... ส่วนความหมายของวลีเต็มๆ ของมัน เราคงได้เห็นกันหลังจากนำ 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ไปประกบคู่กับวรรคที่ห้า ซึ่งเป็นคู่วลีประจำบทที่กำลังจะต้องเล่าต่อไป ;)
不恆其德或承之羞貞吝
bù héng qí dé huò chéng zhī xiū zhēn lìn
德 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ความเชื่อ', 'สิ่งที่ยึดถือ', 'สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ', 'วัฒนธรรม', 'คุณธรรม', 'ความดีงาม', 'จิตใจ (ที่ดีงาม)'
或 อ่านว่า huò (ฮั่ว) แปลว่า 'อาจจะ', 'หรือ', 'ก็ได้', ในลักษณะว่า 'เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้' จึงทำให้บางครั้งก็อาจจะกลายเป็น 'ไม่อย่างนั้น (ก็อย่างนี้)' ; แล้วก็เลยเหมือนกับ 'ไม่เด็ดขาด' หรือ 'ไม่ชัดเจน' ไป
承 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) แปลว่า 'รองรับ', 'สนับสนุน', 'ได้รับ', 'สืบทอด', 'ถือครอง', 'ทำให้ต่อเนื่อง', 'ธำรงรักษา' ; 'เข้ารับตำแหน่ง', 'รับเป็นธุระ', 'รับเป็นหน้าที่รับผิดชอบ'
羞 อ่านว่า xiū (ซิว) แปลว่า 'เกร็ง', 'เกรงกลัว', 'อึดอัดใจ', 'ละอายแก่ใจ', 'น่าขบขัน' ; แต่ก็มีความหมายว่า 'ตระเตรียมไว้ให้', 'มอบให้', 'อุทิศให้' ได้ด้วย ; ในอีกความหมายหนึ่งจะสามารถแปลว่า 'นำเสนอ', 'ขยับเข้าใกล้', 'คืบหน้า'
吝 อ่านว่า lìn (ลิ่น) แปลว่า 'ตระหนี่', 'ขี้เหนียว' ; เลยมีความหมายว่า 'ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย' ; แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็จะหมายถึง 'อับอาย', 'ยุ่งยากใจ', 'อึดอัดใจ' ทำให้ 'แสดงออกอย่างครึ่งๆ กลางๆ'
มีหลายๆ คำที่สามารถนำมาใช้กับ 'การตีความ' ให้กับวรรคนี้ แต่ความหมายโดยรวมๆ ของมันก็คือ 'ความไม่คงเส้นคงวา (不恆) ในหลักปฏิบัติของแต่ละผู้คน (其德) ย่อม (或) สร้างความเสื่อมเสียแก่ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (承之羞) และทำให้หลักระเบียบใดๆ (貞) กลายเป็นเพียงสิ่งที่ไร้คุณค่าความหมาย (吝) อย่างสิ้นเชิง'
田無禽
tián wú qín
田 อ่านว่า tián (เที๋ยน) ที่ส่วนใหญ่แล้วจะแปลกันว่า 'ที่นา' หรือ 'นา' แต่ก็มีความหมายรวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกประเภทอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน เช่น 'ทุ่ง', หรือ 'ไร่', ฯลฯ … อย่างไรก็ตาม ในภาษาจีนโบราณนั้น ตัวอักษร 田 ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับอักษรจีนอีก 2 ตัวคือ 畋 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การล่า', 'การเสาะหา' กับอีกตัวหนึ่งคือ 佃 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การไถพรวน', 'การเตรียมดิน' เพื่อการเพาะปลูก … ซึ่งในกรณีที่มีการใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่โบราณนั้น มันจึงน่าจะเป็นไปได้ว่า 田 ที่ถูกนำใช้ในวรรคนี้ อาจจะไม่ได้ใช้ในความหมายของ 'ที่นา' อย่างที่หลายๆ ตำราแปลเอาไว้ แต่น่าจะเป็นการใช้แทน 畋 และ 佃 ไปพร้อมๆ กัน
禽 อ่านว่า qín (ชิ๋น) แปลว่า 'นก' เหมือนกับ 鳥 (niǎo, เหฺนี่ยว) ที่ไม่ได้เจาะจงให้เป็นนกประเภทหนึ่งประเภทใด แต่ 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์ปีก' ที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ด้วย ; แต่ในอีกด้านหนึ่ง 禽 สามารถที่จะหมายถึง 'สัตว์บกทั่วไป' ที่ไม่จำเพาะว่าต้องเป็น 'นก' ก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การล่า', 'การจับ', 'การกำราบ', 'การปราบปราม', หรือ 'การทำให้พ่ายแพ้' เพราะ 禽 จะแฝงความหมายของ 'สัตว์เลี้ยง' หรือ 'สัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องเชื่อ' อยู่ด้วย ; มันจึงมีความหมายว่า 'ควบคุม' หรือ 'บังคับบัญชา' ก็ได้
ถ้าแปลกันตรงๆ ตัวเหมือนตำราอื่นๆ เราก็จะได้ข้อความประเภทที่ว่า 'ไร้นกในทุ่งนา' หรือ 'ไร้การล่าในทุ่งกว้าง' ... :'( ... ซึ่งผมไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันมาเกี่ยวกับ 'ความหนักแน่นมั่นคง' ที่ตรงไหน ?! :P ... แต่ถ้าเราจะว่ากันตามลำดับมาตรฐานของ 'จิวกง' ถ้อยคำในวรรคนี้จะต้องจับคู่กับความหมายในวรรคที่สาม ซึ่งเมื่อถ้อยคำในวรรคที่สามได้รับการบันทึกไว้ว่า 'ความไม่คงเส้นคงวา (不恆) ในหลักปฏิบัติของแต่ละผู้คน (其德) ย่อม (或) สร้างความเสื่อมเสียแก่ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย (承之羞) และทำให้หลักระเบียบใดๆ (貞) กลายเป็นเพียงสิ่งที่ไร้คุณค่าความหมาย (吝) โดยสิ้นเชิง' ... เนื้อความที่ควรจะเติมลงไปก็คือ 'การปฏิบัติภาระกิจใดๆ (田) ย่อมสับสนจนไม่อาจควบคุมดูแล (無禽)' ... น่าจะประมาณนี้ ... และต่อให้บางตำราที่จับวรรคที่สี่ไปคู่กับวรรคที่หนึ่ง ผมก็ยังมองว่า เราสามารถ 'ตีความ' ตามที่ว่านี้ได้อยู่ดี ... ;)
จุดที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ก็คือคำว่า 田 (tián, เที๋ยน) ที่สามารถหมายถึง 佃 (tián, เที๋ยน) ซึ่งมีลักษณะของ 'การเตรียมความพร้อม' แบบ passive ; กับ 畋 (tián, เที๋ยน) ซึ่งมีลักษณะของ 'การบุกตะลุยออกไปเพื่อไล่ล่า' แบบ active ... มันจึงเป็นคำที่มี 'ความเป็นหยิน' และ 'ความเป็นหยาง' รวมไว้ด้วยกันแล้วอย่างสมบูรณ์ ... ซึ่งถ้าพิจารณากันด้วยมุมมองแบบนี้ วลีที่ว่า 田無禽 (tián wú qín, เที๋ยน อู๋ ชิ๋น) ก็อาจจะมีความหมายว่า 'ดุลยภาพแห่งภาระกิจ (田) ย่อมหมดสิ้นพลังแห่งการควบคุม (無禽)' ... ซึ่งสะท้อนออกมาเป็น 'ผืนแผ่นดินจึงรกร้างอย่างไร้คุณประโยชน์ใดๆ' ...
恆其德貞婦人吉夫子凶
héng qí dé zhēn fù rén jí fū zǐ xiōng
เจอวลีพิฆาตเข้าให้อีกแล้วล่ะครับ :P เพราะ 'จิวกง' เลือกใช้ถ้อยคำที่สามารถ 'ตีความ' ให้เป็นเรื่องผัวๆ - เมียๆ ได้อย่างตรงๆ ตัวเลยทีเดียว ...
婦 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ภรรยา' หรือ 'ผู้หญิง (ที่สมรสแล้ว)', 'หญิงหม้าย', 'ลูกสะใภ้' ; แต่บางครั้งก็จะหมายถึง 'ผู้หญิง' ที่อยู่ในวัยที่สมควรจะแต่งงานแต่งการได้แล้ว ; ในอีกความหมายหนึ่งคือ 'ละเอียดอ่อน', 'มีมารยาทงาม' ซึ่งก็เลยมีความในทำนองว่า 'ได้รับการอบรมมาดี' หรือ 'มีคุณธรรม' ด้วย ; และครั้งหนึ่งเคยใช้ในความหมายเดียวกับ 服 (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'เสื้อผ้า', 'การแต่งกาย', 'อุปนิสัย', 'ความเคยชิน' ซึ่งสามารถที่จะหมายถึง 'การฝึกปรือ' ได้ด้วยเหมือนกัน ;)
夫 อ่านว่า fū (ฟู) คำนี้แปลได้หลายอย่าง แต่ทั้งหมดจะหมายถึง 'ผู้ชาย' เช่น 'ผู้ที่มีความรู้', 'ผู้คงแก่เรียน', หรือ 'ผู้อาวุโส' ซึ่งบางครั้งก็ใช้เพื่อแสดงความถ่อมตัวของผู้มีอาวุโสด้วย เพราะ 夫 สามารถที่จะหมายถึง 'คนธรรมดา' ที่ใช้แรงงาน ; ถ้าใช้แทนบุคคลภายในครอบครัว คำนี้ใช้แทน 'สามี' ในขณะที่ 妻 (qī, ชี) ใช้แทน 'ภรรยา' ซึ่งถือเป็นคำสุภาพที่ใช้กันทั่วๆ ไปได้
คำว่า 婦人 (fù rén, ฟู่ เญิ๋น) และ 夫子 (fū zǐ, ฟู จื่อ) นั้น โดยปรกติก็มักจะใช้ในความหมายว่า 'ภรรยา' และ 'สามี' มาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว โดยเราก็รู้กันอยู่ว่า นี่คือการสื่อถึง 'ความเป็นหยิน' และ 'ความเป็นหยาง' ในระดับที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากที่สุด ... ในขณะที่จริยวัตรของ 'สตรีเพศ' ที่อยู่ในฐานะของ 'ฝ่ายสนับสนุน' นั้นก็ไม่ใช่วัตรปฏิบัติที่จำกัดอยู่เฉพาะในสังคมของชาวจีนโดยเฉพาะ สังคมมนุษย์ในทุกๆ เผ่าพันธุ์ล้วนมีเรื่องราวของ 'ฝ่ายก่อการ' ที่ผูกติดกับ 'ความเป็นบุรุษเพศ' มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ด้วยกันทั้งนั้น ... แต่วลีที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำว่า 'ผู้หญิงเฮง-ผู้ชายซวย' (婦人吉‧夫子凶) ในวลีนี้นี่สิแปลก ... :D
การ 'ตีความ' ให้กับวลีนี้ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องโยงเอาวรรคที่สองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยล่ะครับ ซึ่งเนื้อความในวรรคที่สองถูกบันทึกไว้ด้วนๆ เพียง 2 ตัวอักษรคือ 悔亡 (huǐ wáng, หุ่ย วั๋ง) ... โดยเราพบการใช้วลีนี้ครั้งแรกในวรรคที่สี่ของบทที่สามสิบเอ็ดคือ 貞吉‧悔亡‧憧憧往來‧朋從爾思 (zhēn jí huǐ wáng chōng chōng wǎng lái péng cóng ěr sī, เจิน จี๋ หุ่ย วั๋ง ฌง ฌง หฺวั่ง ไล๋ เพิ๋ง ช๋ง เอ่อ ซือ) ในความหมายว่า 'คุณธรรม และหลักการ คือปัจจัยที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ; ความน้อยเนื้อต่ำใจ คือปัจจัยที่ต้องสละละ ... เมื่อทุกฝ่ายสามารถประสานจุดเด่น เพื่อชดเชยจุดด้อยระหว่างกัน สัมพันธภาพอันเป็นปึกแผ่นย่อมก่อเกิดจากทัศนคติที่เปิดกว้าง และแสนจะธรรมดาสามัญดังที่ว่านี้'
ความเกี่ยวเนื่องกันของเนื้อความทั้งหมดน่าจะช่วยให้เราเห็นความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อออกมาว่า 'สิ่งที่พึงปฏิบัติคือไม่ควรมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ (悔亡) ในภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย ความหนักแน่นมั่นคงในหลักปฏิบัติของแต่ละผู้คน (恆其德) คือความมีระบบระเบียบแบบแผน (貞) ; ผู้ที่รู้จักยอมรับ และให้การสนับสนุนผู้อื่น (婦人) ย่อมพบกับความเจริญ (吉) ส่วนผู้ที่มุ่งหวังแต่ความโดดเด่นเหนือผู้คน (夫子) ย่อมประสบกับความสูญเสีย (凶)' ...
อ่านแล้วเหมือนเป็นข้อคิดให้ปฏิบัติตัว 'ว่านอนสอนง่าย' ยังไงก็ไม่รู้แฮะ ... :P ... ผมจึงอยากจะเสริมข้อคิดแบบจิตวิทยาไว้ตรงประเด็นนี้ซักหน่อย ... ปรกติแล้ว 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' มักเกิดแก่ผู้ที่ 'เชื่อว่า' ตนเองมีความสามารถมากกว่าที่คนอื่นรับรู้ หรือคาดหวังว่าตนเองควรจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าที่ได้รับอยู่ในขณะนั้นๆ ... หรือมี 'ความเชื่อ' ว่า ตนเองมีความเหมาะสมในบางตำแหน่งมากกว่าคนที่ได้รับมอบหมาย ... ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาแห่ง 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' ทั้งสิ้น ... ซึ่งก็คือ 'ความหลงตัวเอง' ในลักษณะที่ตรงข้ามกับ 'ความผยอง' เท่านั้นเอง :)
振恆凶
zhèn héng xiōng
振 อ่านว่า zhèn (เจิ้น) นี่คือคำใหม่เพียงคำเดียวในบทนี้ :) 振 (zhèn, เจิ้น) เป็นคำที่มีความหมายคาบเกี่ยวกันระหว่าง 震 (zhèn, เจิ้น) ที่แปลว่า 'เขย่า', 'ทำให้สั่นสะเทือน' หรือว่า 'ตื่นเต้น' ; กับ 賑 (zhèn, เจิ้น) ที่แปลว่า 'ช่วยเหลือ', 'สงเคราะห์', หรือว่า 'บรรเทา' ... โดยองค์ประกอบหลักที่มีอยู่ร่วมกันของทั้ง 3 คำก็คือ 'ภาพอักษร' 辰 (chén, เฌิ๋น)
辰 (chén, เฌิ๋น) เป็นคำที่มักจะถูกใช้ในความหมายเกี่ยวกับ 'เวลา' เนื่องจาก 辰 (chén, เฌิ๋น) เป็นชื่อเรียกของ 'ชั่วยามที่ห้า' หรือเวลา 07:00-09:00 ของแต่ละวัน บางครั้งมันจึงถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 晨 (chén, เฌิ๋น) ที่แปลว่า 'เช้าตรู่' ได้ด้วย ; ในเวลาเดียวกัน 辰 (chén, เฌิ๋น) ยังเป็นอักษรดั้งเดิมของ 蜃 (shèn, เษิ้น) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำประเภท 'หอยกาบ' จนบางครั้งมันถูกนำไปใช้เรียก 'คนที่ไม่ค่อยพูดจา' ว่าเหมือนกับ 'หอยกาบ' ที่ปิดปากสนิท ... ประมาณนั้น ... แต่ในสมัยหนึ่งมันก็ยังถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 伸 (shēn, เซิน) ที่แปลว่า 'เปิดออก', 'กางออก' หรือ 'ยืดออกมา' ซึ่งก็คงจะมาจากลักษณะของ 'การเปิดปากหอย' นั่นเอง
เมื่อนำเอา 'ภาพอักษร' ของ 手 (shǒu, โษ่ว) ที่แปลว่า 'มือ' ไปประกบคู่กับ 辰 (chén, เฌิ๋น) ที่แปลว่า 'หอยกาบ' หรือ 'การเปิดออก' กลายมาเป็นอักษร 振 (zhèn, เจิ้น) อย่างที่เห็นอยู่นี้ ความหมายของมันก็เลยเกิดการผสมกันระหว่าง 'การช่วยเหลือ', 'การสงเคราะห์' (賑) เหมือนการยื่นมือเข้าไปเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาบางอย่างให้แก่ผู้อื่น ; แต่ที่มันหมายถึง 'การรบกวน' (震) ก็น่าจะมาจากลักษณะของการยื่นมือเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขบางสิ่งบางอย่างให้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งก็ไม่แน่ว่า มันอาจจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับใครบ้างหรือไม่ก็ได้ :) ... ความหมายของ 振 (zhèn, เจิ้น) จึงค่อยข้างที่จะปนๆ กันระหว่างดีกับไม่ไดีอยู่อย่างนี้
แต่เมื่อเรานำถ้อยคำของวรรคที่หนึ่งกับวรรคที่หกมาเรียงต่อกัน เราก็จะได้ข้อความเต็มๆ ว่า 浚恆貞凶無攸利 ‧ 振恆凶 (jǜn héng zhēn xiōng wú yōu lì - zhèn héng xiōng, จฺวิ้น เฮิ๋ง เจิน เซฺวิง อู๋ โยว ลี่ - เจิ้น เฮิ๋ง เซฺวิง) ซึ่งความหมายก็คงจะประมาณว่า 'ความจุกจิกหยุมหยิมไปทุกรายละเอียด (浚恆) ย่อมบ่อนทำลายจริยธรรมให้เสียหาย (貞凶) ทั้งยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ก่อประโยชน์ใดๆ (無攸利) - ความจุ้นจ้านวุ่นวายที่หยิบยื่นเข้าไปอย่างไม่รู้กาละ-เทศะ (振恆) มีแต่จะทำให้ทุกสิ่งพังพินาศย่อยยับ (凶)'
สังเกตจากถ้อยคำโดยรวมของทั้งบทแล้ว ผมต้องยอมรับว่านี่เป็นอีกบทหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะทัศนคติ และมุมมองของ 'จิวกง' ที่มีต่อ 'การรักษาดุลยภาพ' ระหว่าง 'การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน' กับ 'การรู้จักรักษาหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด' นั้นต้องถือว่าไม่ธรรมดาจริงๆ ... เราอาจจะเคยพบเห็นความสับสนอลหม่านในองค์กรบางแห่ง ทั้งๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานทุกๆ คนล้วนมีตั้งใจที่ดี ??!! ... หรืออาจจะพบเห็นการละเลยต่อหน้าที่ เพียงเพราะมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้แก่เพื่อนร่วมงาน จนกลายเป็นช่องโหว่ในระบบระเบียบที่กำหนดเอาไว้ ??!! ... และบ่อยครั้งมากๆ ที่เราได้พบเห็นความขัดแย้งภายในองค์กร เพียงเพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน จนกลายเป็นอคติที่ฝังลึกอยู่ภายในโครงสร้างของการปฏิบัติงาน ??!! ... ฯลฯ ... ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านั้น ล้วนเป็นเหตุแห่งความเสื่อมถอยขององค์กร และสังคมโดยรวมทั้งสิ้น ... แต่เมื่อ 'ตีความ' บทนี้จบลงผมกลับพบว่า 'เหตุแห่งปัญหาอันหนักหน่วงทั้งหลาย บางครั้งมันก็เริ่มต้นจากปมเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เลยด้วยซ้ำ'
บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :
'เฮิ๋ง' คือ ความหนักแน่นมั่งคง, ฟ้ากระหน่ำ ลมกระพือ
'ความหนักแน่นมั่นคง' คือ 'พัฒนาการ' แห่ง 'ความตระหนักรู้' ใน 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ของตนอย่าง 'ชัดเจน' โดยไม่สูญเสียสมาธิ และกำลังไปกับ 'การกล่าวโทษ' ผู้อื่นอย่าง 'ไร้แก่นสาร' แต่ทุ่มเท 'ความมุ่งมั่น' ด้วย 'ความสุจริต' และ 'ซื่อตรง' เพื่อให้ 'ความพยายาม' ทั้งหลายทั้งปวง ปรากฏ 'ผลสำเร็จ' ในบั้นปลาย
- 'ความหมกมุ่น' อยู่กับ 'การฟื้นฝอยหาตะเข็บ' ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลายจริยธรรม' ให้เสียหาย ทั้งยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ก่อประโยชน์ใดๆ
- 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' คือปัจจัยที่ 'ต้องสละละ'
- 'ความไม่คงเส้นคงวา' ใน 'หลักปฏิบัติ' ของแต่ละผู้คน ย่อมสร้าง 'ความเสื่อมเสีย' แก่ 'ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย' และทำให้ 'หลักระเบียบ' ใดๆ กลายเป็นเพียงสิ่งที่ไร้ 'คุณค่าความหมาย' อย่างสิ้นเชิง
- 'ดุลยภาพ' แห่ง 'ภาระกิจ' ย่อมหมดสิ้น 'พลังแห่งการควบคุม'
- 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'หลักปฏิบัติ' ของแต่ละผู้คน คือ 'ความมีระบบระเบียบแบบแผน' ; ผู้ที่รู้จัก 'ยอมรับ' และ 'ให้การสนับสนุนผู้อื่น' ย่อมพบกับ 'ความเจริญ' ส่วนผู้ที่มุ่งหวังแต่ 'ความโดดเด่น' เหนือผู้คน ย่อมประสบกับ 'ความสูญเสีย'
- 'ความจุ้นจ้านวุ่นวาย' ที่หยิบยื่นเข้าไปอย่างไม่รู้ 'กาละ-เทศะ' มีแต่จะทำให้ทุกสิ่ง 'พังพินาศย่อยยับ'
The Organization Code :
'ความหนักแน่นมั่นคง' คือการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด (☳) บนพื้นฐานที่แน่นหนาทางด้านการเงิน (☴) ; 'ระดับนโยบาย' จะต้องมีความเปิดกว้างทางความคิด และต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน (⚎) ; 'ระดับบริหาร' ต้องมีความตื่นตัวเอาใจใส่ และให้ความทุ่มเทอย่างแข็งขัน (⚌) ; 'ระดับปฏิบัติงาน' ต้องมีความยืดหยุ่น และดำเนินงานอย่างมีกรอบเกณฑ์ที่เหมาะสม (⚏)
องค์กรหนึ่งๆ จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยการประสานองค์ประกอบทั้งมวลให้สามารถมุ่งไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' อย่าง 'หนักแน่น' และ 'มั่นคง' โดยทุกๆ ฝ่ายที่ร่วมงานกันนั้น จะต้องมี 'ความตระหนัก' ถึง 'บทบาท' และ 'หน้าที่' ที่แต่ละส่วนงานได้รับการมอบหมายไว้ 'อย่างชัดแจ้ง' ... ต้องมี 'ความเคารพ' ใน 'คุณค่า' และ 'ความหมาย' ของแต่ละส่วนงานในฐานะที่เป็น 'กลไกในการขับเคลื่อนร่วมกัน' ของทั้งองค์กร ... ไม่มีส่วนงานใดที่มี 'ความสำคัญ' มากหรือน้อยกว่าส่วนงานอื่นๆ ... ทั้งยังไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะมีความสามารถ 'ดำเนินงาน' ทั้งหมดได้เพียงลำพัง
- 'การปฏิบัติงาน' ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งเน้นอยู่กับ 'การจ้องจับผิด' ระหว่างกัน แทนที่จะ 'ทุ่มเทความพยายาม' ให้กับ 'ภาระหน้าที่' ที่แท้จริงที่ตนได้รับมอบหมาย ถือเป็น 'ความบกพร่องทางจริยธรรม' ที่นำไปสู่ 'การปฏิบัติงาน' เพียงเพื่อ 'ปกป้องตนเอง' แทนที่จะมุ่งความสนใจอยู่กับ 'การปฏิบัติหน้าที่' ให้บรรลุ 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้
- 'ความน้อยเนื้อต่ำใจ' ในภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย คือสิ่งสะท้อนถึง 'ความลุ่มหลงในตัวเอง' และ 'ความไม่รู้จักหน้าที่' ของบุคคลนั้นๆ ... ทั้งยังสะท้อนถึง 'ความไม่เข้าใจ' ใน 'กลไกการปฏิบัติงานร่วมกัน' ที่แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องมี 'บทบาทที่แตกต่าง' เพื่อคอยช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันเสมอ
- 'ความไม่มั่นคง' ต่อ 'หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' ของแต่ละผู้คน ย่อมส่งผลกระทบให้เกิด 'ความเสื่อมเสีย' แก่ 'ภาระกิจโดยรวม' ของทั้งองค์กร เนื่องด้วย 'หลักปฏิบัติ' และ 'แนวทางการดำเนินงาน' ต่างๆ ไม่สามารถนำไปสู่ 'การปฏิบัติ' อย่างมี 'ประสิทธิผล'
- (หากไม่สามารถ 'ประสานกำลังความร่วมมือ' ของทุกฝ่ายให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน) 'ดุลยภาพแห่งพลัง' ย่อมหมดสิ้นความหมายใน 'การขับเคลื่อนองค์กร' ให้มุ่งไปสู่จุดหมายใดๆ ได้เลย
- 'ความมั่นคง' ต่อ 'ภาระหน้าที่' ที่ได้รับมอบหมาย ย่อมนำไปสู่ 'ความมีระบบระเบียบแบบแผน' ที่ 'หนักแน่น-ชัดเจน' ... 'การยอมรับ' และ 'การให้ความสนับสนุน' ระหว่างกัน ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จ' ของทุกๆ ฝ่าย ในขณะที่ 'การแก่งแย่งแข่งดี' เพื่อหวัง 'ช่วงชิงความโดดเด่น' เหนือผู้อื่น ย่อมนำไปสู่ 'ความล่มจมฉิบหาย' ของทั้งองค์กร
- 'การแทรกแซง' ในภาระกิจที่ไม่ใช่ธุระของตนอย่างไม่รู้ 'กาละ-เทศะ' ย่อมนำไปสู่ 'ความสับสนวุ่นวาย' ที่จะกลายเป็น 'พังพินาศย่อยยับ' ในที่สุด
นี่คือวัฏจักรที่สามของ 'พลังแห่งหยาง' ซึ่งเริ่มต้นจาก 'การหล่อเลี้ยง' (27: 頤: yí, อี๋) ; 'ความมีวุฒิภาวะ' (28: 大過: dà guò, ต้า กั้ว) ; 'การเผชิญอุปสรรค' (29: 坎: kǎn, ขั่น) ; 'ความมีวิจารณญาณ' (30: 離: lí, ลี๋) อันนำมาซึ่ง 'ความเป็นปึกแผ่น' (31: 咸: xián, เซี๋ยน) ที่ต้องประกอบด้วย 'ความหนักแน่นมั่นคง' (32: 恆: héng, เฮิ๋ง) เพื่อประสานทุกภาคส่วนให้มุ่งไปสู่ 'ความสำเร็จ' ตาม 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้ร่วมกัน
ที่น่าสนใจก็คงจะเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทนี้ล่ะครับ เพราะจากความหมายที่มันต่อเนื่องมาจาก (咸: xián, เซี๋ยน) หรือ 'ความเป็นปึกแผ่น' ในบทที่สามสิบเอ็ดนั้น King Wen ถึงกับเลือกใช้สัญลักษณ์ 'ฟ้าร้อง-ลมคำราม' เลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้เรานึกเป็นภาพได้เลยว่า การเคลื่อนไหวขององค์กรที่มี 'ความเป็นปึกแผ่น' นั้น จะสามารถก่อความสั่นสะเทือนได้ขนาดไหน ... ในขณะเดียวกัน ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) ตาม The Organization Code ที่ผมอธิบายไว้ก็คือ 'ฝ่ายการตลาด' โดยมี ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) แทน 'ฝ่ายการเงิน' ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ ䷟ (恆: héng, เฮิ๋ง) จึงมีลักษณะของ 'การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดที่มีงบประมาณด้านการเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่' ดังที่เล่าไปแล้ว ... ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายล่ะครับว่า มันจะมีความหนักหน่วง และอลังการระดับไหน ... :)
มีหลายตำราที่ 'พยายามตีความ' ให้บทที่ยี่สิบเก้า และบทที่สามสิบเป็น 'กึ่งกลางคัมภีร์' จากลักษณะของการแยก 'ม้วนไม้ไผ่' ที่จารึก 'คัมภีร์อี้จิง' เอาไว้ แต่ผมกลับมองว่า บทที่สามสิบเอ็ด และบทที่สามสิบสองมีความเหมาะสมมากกว่าในหลายๆ แง่มุม ...
ประการแรกก็คือ 'จำนวนขีดสัญลักษณ์' ที่ใช้แทน 'ความเป็นหยิน' และ 'ความเป็นหยาง' ในทั้งสองบทที่ผมเอ่ยถึงนี้ ล้วนมีจำนวนที่สมดุลกันมากกว่าบทที่ยี่สิบเก้า และบทที่สามสิบอย่างชัดเจน คือมีอย่างละ 3 ขีดเท่าๆ กัน ... ประกอบกับ ☱ (兑 : duì, ตุ้ย) กับ ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ของบทที่สามสิบเอ็ด และ ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) กับ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ในบทนี้ ล้วนแล้วแต่เป็น 'คู่สมมาตร' ตามแนวแกนทะแยงใน 'แผนผังโป้ยก่วย' ของ Fu Xi ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนถึง 'การประสานหยิน-หยาง' อย่างลงตัวในระดับหนึ่ง ผิดกับบทที่ยี่สิบเก้า (䷜ : kǎn, ขั่น) ที่เป็น 'หยินทั้งคู่' หรือบทที่สามสิบ (䷝ : lí, ลี๋) ที่เป็น 'หยางทั้งคู่' จนทำให้ดูเหมือนเอียงกระเท่เร่ไปด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป ... ความเหมาะสมในฐานะของ 'ความเป็นกึ่งกลาง' จึงน่าจะอยู่ตรงบทที่สามสิบเอ็ด และบทที่สามสิบสองมากกว่า
ประการที่สอง หากเรา 'อนุมานว่า' บทที่หนึ่ง และบทที่สองคือ 'บทนำ' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ในขณะที่บทที่หกสิบสาม และบทที่หกสิบสี่คือ 'บทสรุป' ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ทั้งฉบับ การแบ่งคัมภีร์ออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน หรือครึ่งละ 30 บท ก็น่าจะต้องแบ่งตรงบทที่สามสิบสองเช่นกัน ...
ประการที่สาม หากลำดับความหมายของถ้อยคำตามที่ได้อธิบายไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น บทที่ยี่สิบเก้า และบทที่สามสิบก็ยังขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ในวัฏจักรของมันเอง เพราะเพิ่งจะอธิบาย 'ความเป็นหยาง' ไปเพียง 4 ใน 6 ส่วน ซึ่งให้รายละเอียดเพียงแค่ 'การพัฒนาตนเอง' แต่ยังไม่ทันจะเอ่ยถึง 'การประสานความร่วมมือกับผู้อื่น' อันเป็นใจความหลักของบทที่สามสิบเอ็ด และบทที่สามสิบสอง ... และเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในหลักคำสั่งสอนทั้งหมดของทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ด้วย !!!
อย่างไรก็ตาม หลายๆ ตำรามักจะเอ่ยอ้างถึงหลักฐานจาก 'คัมภีร์อี้จิงฉบับม้วนไม้ไผ่' ที่ถูกค้นพบว่า มันไม่ได้ถูกแยกออกเป็น 2 ม้วนตรงบทที่สามสิบสอง ... แต่หลายคนก็คงก็ไม่เคยเห็น 'ของจริง' ที่ว่านั่นอยู่ดี และถึงแม้ว่าถ้ามีโอกาสได้เห็นจริงๆ ผมก็เชื่อว่า น่าจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้มันถูกแบ่งในลักษณะอย่างนั้น ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนซี่ของไม่ไผ่ที่ใช้ในแต่ละม้วน, ความยาวของเส้นเชือกที่ใช้ร้อยซี่ไม่ไผ่เหล่านั้นเข้าด้วยกัน, หรือแม้แต่ว่า มันอาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างที่หลายคนได้พบเห็นมาตั้งแต่ยุคของ King Wen และ 'จิวกง' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน เพราะคัมภีร์ที่มีอายุกว่า 4,000 ปีฉบับนี้ อาจจะได้รับการซ่อมบำรุงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จนมาอยู่ในสภาพสุดท้ายที่ได้รับการค้นพบกันในภายหลัง ฯลฯ ... ใครจะไปรู้ได้ล่ะ ... จริงมั้ย ??!!
สำหรับ ZhuqiChing ฉบับของผมนี้ เราไม่สามารถจบครึ่งเล่มคัมภีร์ไว้ตรงบทที่ยี่สิบเก้า-บทที่สามสิบได้อยู่แล้วล่ะครับ เพราะวัฏจักรของ 'พลังแห่งหยาง' ในรอบที่สามจะต้องประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ (元,亨,利,貞) 6 หลักการ (頤 , 大過 , 坎 , 離 , 咸 , 恆) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ที่ไล่เรียงรายละเอียดกันมาตั้งแต่ 'การหล่อเลี้ยง' (27: 頤: yí, อี๋) ; 'ความมีวุฒิภาวะ' (28: 大過: dà guò, ต้า กั้ว) ; 'การเผชิญอุปสรรค' (29: 坎: kǎn, ขั่น) ; 'ความมีวิจารณญาณ' (30: 離: lí, ลี๋) เพื่อนำมาซึ่ง 'ความเป็นปึกแผ่น' (31: 咸: xián, เซี๋ยน) อันจะนำไปสู่ 'ความมั่นคง' (32: 恆: héng, เฮิ๋ง) ... ซึ่งเป็นความต่อเนื่องมาจากวัฏจักรที่แล้วของ 'พลังแห่งหยาง' คือ 'อ่อนน้อม (謙) - เยือกเย็น (豫) - โอนอ่อน (隨) - ใคร่ครวญ (蠱) - สอดส่อง (臨) - ดูแล (觀)' นั่นเอง ... ;)