Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :


第五十五卦 : 豐

 

豐 : 雷火豐 ‧ 震上離下

豐 : 亨‧王假之‧勿憂‧宜日中‧

  • 初九 : 遇其配主‧雖旬無咎‧往有尚‧
  • 六二 : 豐其蔀‧日中見斗‧往得疑疾‧有孚發若‧吉‧
  • 九三 ‧ 豐其沛‧日中見沬‧折其右肱‧無咎‧
  • 九四 : 豐其蔀‧日中見斗‧遇其夷主‧吉‧
  • 六五 : 來章‧有慶譽‧吉‧
  • 上六 : 豐其屋‧蔀其家‧闚其戶‧闃其無人‧三歲不覿‧凶‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ตื่นตัวด้วยสติ (⚍) ; ปัญญา เฉียบคม-ว่องไว (⚌) ; พฤติกรรม มั่นคง-ไม่หวั่นไหว (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : การสำแดงพลานุภาพของการประสานกำลังระหว่างผลิตภัณฑ์ (☲) และการตลาด (☳)

ความหมายของสัญลักษณ์ : การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งทางสังคม, อสุนีบาตเหนืออัคคี



ความหมายของชื่อเรียก : Affluentializing : การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งทางสังคม


'ภาพอักษร' 豐 (fēng, เฟิง) ประกอบด้วยอักษร 豆 (dòu, โต้ว) ที่แปลว่า 'ถั่ว', หรือ 'เมล็ดพืช' เป็นองค์ประกอบอยู่ด้านล่าง โดยมีองค์ประกอบด้านบนเป็น 'ภาพสัญลักษณ์' แทน 'ฝักถั่ว' หรือ 'รวงธัญพืช' เพื่อเติมเต็มความหมายให้กับ 豐 (fēng, เฟิง) ว่า 'มากมาย', 'งอกงาม', และ 'อุดมสมบูรณ์' ; ซึ่งแผลงต่อมาเป็น 'มั่งคั่ง', 'ยิ่งใหญ่', 'สูงเยี่ยม', หรือ 'สุดยอด' ก็สามารถใช้คำนี้เพื่อสื่อความหมายเหล่านั้นได้ด้วย ; เมื่อใช้เป็นคำกริยา 豐 (fēng, เฟิง) จึงมีความหมายว่า 'สร้างเสริม' หรือ 'เพิ่มพูน' ... ซึ่งโดยลำดับของความหมายที่ไล่เรียงกันมาตั้งแต่บทที่ห้าสิบเอ็ด อันเปรียบเสมือนปฐมบทของ 'วัฏจักรแห่งอำนาจ' ด้วย 'การควบคุมสถานการณ์' (䷲ : 震 : zhèn, เจิ้น) ไว้ได้แล้วนั้น 'ผู้นำ' ที่ดีก็จะต้องใช้ 'สติ' และ 'ปัญญา' ใน 'การตรึกตรอง' (䷳ : 艮 : gèn, เกิ้น) เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และจะต้องดำเนินการด้วย 'ความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละ' (䷴ : 漸 : jiàn, เจี้ยน) แต่ก็จะต้องประกอบด้วย 'ความยั้งคิด' (䷵ : 歸妹 : gūi mèi, กุย เม่ย) ที่จะไม่โหมกระทำการใดๆ อย่างผลีผลามวู่วามด้วย ...

เมื่อลำดับคำที่ King Wen เรียงต่อจากนั้นมาเป็นบทที่ห้าสิบห้าคือ 豐 (fēng, เฟิง) ความหมายก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า Prospering, Prosperous, หรือ Thriving ซึ่งเป็นชุดคำที่สื่อถึง 'ความมั่งคั่ง', 'ความเจริญรุ่งเรือง', หรือ 'การประสบกับความสำเร็จ' เช่นเดียวกับคำว่า Abundance ที่หลายตำราเลือกใช้ด้วยความหมายของ 'ความอุดมสมบูรณ์'  ... แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ความหมายของมันจะไปสอดคล้องกับวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ 'มังกรที่เหินหาวย่อมบังเกิดจากลิขิตแห่งกาละ (飛龍在天)' ... หมายความว่า ... เมื่อกาละ-เทศะเอื้ออำนวย การดำเนินงานอย่างไม่ยอมลดละด้วยความระมัดระวัง ย่อมสำแดงผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ดุจดั่งมังกรที่เหินหาว ... ประมาณนั้น ...

แต่ก็เพราะถ้อยคำในวรรคดังกล่าวของบทที่หนึ่ง มีวลีต่อท้ายไว้ว่า 'การพบปะกับยอดคนจึงถือเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มยินดี' (利見大人) ... ผมก็เลยอยากจะใช้คำว่า Affluence (หรือ Affluentializing ที่เป็น 'อาการนาม') เป็นคำแปลให้กับ 豐 (fēng, เฟิง) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ในคราวนี้แทน เนื่องจากคำว่า abundance, prosperity, flourishing, หรือ thriving มีความหมายในลักษณะของ 'การสั่งสมเข้ามาหาตัวเอง' คือ งอกงามก็งอกงามขึ้นมาเอง, รุ่งเรืองก็รุ่งเรืองกับตัวเอง, สำเร็จก็สำเร็จเพราะน้ำพักน้ำแรงของตัวเองอีก, ฯลฯ ... อะไรประมาณนี้ ... ในขณะที่ Affluence จะมีลักษณะของ 'ความอุดมสมบูรณ์ที่ไหลไปรวมกันกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า' คือเป็น 'ความอุดมสมบูรณ์ที่มาบรรจบกัน' เพื่อ 'เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป' ... ซึ่งผมคิดว่า 'บทบาทหน้าที่' ของ 'ผู้นำ' ก็คือ 'การทุ่มเทความอุตสาหะพยายาม' เพื่อจะบรรลุถึงปรากฏการณ์แบบนี้ของสังคม ไม่ใช่เพื่อการเสริมสร้างความยิ่งใหญ่สูงค่าให้กับตัวเอง หรืออำนวยความมั่งคั่งให้กระจุกตัวเป็นหย่อมๆ อยู่กับภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับคำไทยที่จะใช้เป็นคำแปลให้กับ
Affluentializing นั้น ผมขอใช้คำว่า 'การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งทางสังคม' เลยแล้วกัน จะได้เข้าชุดกับบทที่เจ็ด (師 : shī, ซือ) ที่ใช้คำว่า 'การขยายผล' ; บทที่สิบเก้า (臨 : lín, ลิ๋น) ใช้คำว่า 'การปกครอง' ; บทที่สามสิบเอ็ด (咸 : xián, เซี๋ยน) คือ 'สร้างความเป็นปึกแผ่น' ; และบทที่สี่สิบสาม (夬 : guài, กฺวั้ย) ที่แปลไว้เป็น 'ความไม่แข็งขืนดันทุรัง' ... เพราะทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่โยงใยไปถึงวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น !! ... แล้วก็จะได้สอดคล้องกับคำว่า 豐 (fēng, เฟิง) ที่ควรจะหมายถึง 'ความมั่งคั่งอันเกิดจากธัญญาหารจำนวนมากมายมหาศาล' ไม่ใช่แค่ 'เมล็ดพืช-เมล็ดถั่ว' (豆) เพียงไม่กี่เมล็ดแล้วก็มโนไปเองว่าร่ำรวยอย่างเหลือล้นพ้นประมาณแล้ว !!?! ... ;)




ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
亨王假之勿憂宜日中
hēng wáng jiǎ zhī wù yōu yí rì zhōng
เฮิง วั๋ง เจี่ย จือ อู้ ยฺอิว อี๋ ญื่



亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

王 อ่านว่า wáng (วั๋ง) แปลว่า 'เจ้าแคว้น', 'ผู้นำ', 'กษัตริย์' ; จึงแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'สำคัญ', หรือ 'โดดเด่น'

假 อ่านว่า jiǎ (เจี่ย) โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นในความหมายว่า 'ของปลอม', หรือ 'ไม่จริง' แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึง 'การหลอกลวง' ไปซะทั้งหมด เพราะบางกรณีก็จะมีความหมายแค่ 'เปรียบเทียบ', 'เปรียบเปรย' หรือ 'ทดแทน' ซึ่งบ่อยครั้งที่ใช้กับ 'การชมเชย' หรือ 'การยกย่อง' ซะด้วยซ้ำ ; ในอีกแง่หนึ่งคำว่า 假 (jiǎ, เจี่ย) ก็จะหมายถึง 'ไม่เป็นทางการ' (informal) หรือ 'ไม่มากพิธีรีตอง' ก็ยังได้ ; บางครั้งก็สามารถหมายถึง 'หยิบยืม', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ในลักษณะที่มอบหมายให้ผู้อื่น หรือใช้เครื่องมืออื่นช่วยกระทำการแทน และยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับสำนวน in/by virtue of something ที่หมายถึง 'โดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' หรือ 'ด้วยเหตุผลเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง' ได้ด้วย

憂 อ่านว่า yōu (ยฺอิว, อิว) แปลว่า 'กังวลใจ', 'เป็นห่วงเป็นใย', 'ทุกข์ใจ', 'เศร้าใจ', 'อึดอัดใจ', หรือ 'คับข้องใจ'

宜 อ่านว่า yí (อี๋) แปลว่า 'ถูกต้อง', 'เหมาะสม', 'คู่ควร', 'สมเหตุสมผล', หรือ 'ยุติธรรม' ซึ่งก็เลยทำให้สามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 儀 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'แบบอย่าง', 'บรรทัดฐานทางสังคม' หรือ 'กฎหมาย' ได้ด้วย

สำหรับอักษร 日 (rì, ญื่อ) ซึ่งเจอกันมาหลายครั้งแล้วนั้น นอกจากจะหมายถึง 'ดวงตะวัน', 'กลางวัน', 'วัน', หรือ 'เวลา' แล้ว ความหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับ 'ดวงอาทิตย์' ก็จะสามารถหมายถึง 'เจิดจ้า', 'สุกสว่าง', หรือ 'สว่างไสว' (เหมือนเวลากลางวัน) ได้ด้วย ... แต่ความหมายที่แปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็จะมีการใช้ในความหมายเดียวกับ 實 (shí, ซื๋อ) ซึ่งแปลว่า 'ของจริง', 'ของแท้', 'หนักแน่น', 'สัจจริง' หรือ 'ซื่อสัตย์' (ดั่งตะวันที่ส่องสว่างตลอดเวลา) ... และแน่นอนว่า มันได้สะท้อนความหมายของคำว่า 'คุณธรรม' อยู่กลายๆ ด้วยเหมือนกัน :)

ส่วนคำว่า 中 (zhōng, ง) แปลว่า 'ตรงกลาง', 'ระหว่างกลาง', 'ข้างใน' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ตรงเป้า', หรือ 'เหมาะสม' ได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลายตำราแปลคำว่า 日中 (rì zhōng, ญื่ง) ของวรรคนี้ไว้ว่า 'เวลาเที่ยงวัน' ... แต่ผมกลับมองว่า 'จิวกง' อาจจะต้องการให้หมายถึง 'การอยู่ท่ามกลางแสงตะวัน', หรือ 'การอยู่ในที่แจ้งและเปิดเผย' ซึ่งอาจจะแผลงความหมายต่อไปเป็น 'การเผชิญกับความจริงอย่างตรงไปตรงมาด้วยความกล้าหาญและจริงใจ' หรือ 'ความโปร่งใส-ตรวจสอบได้' ... ไม่ใช่เอาแต่หลบๆ มุดๆ อยู่ตามเงามืดที่ไม่มีใครเห็น ... :D

ดูๆ ไปก็คล้ายกับ King Wen ได้ให้นิยามของ 豐 (fēng, เฟิง) ไว้เพียงแค่ว่า 亨 (hēng, เฮิง) เท่านั้นเองนะครับ โดยวลีส่วนที่เหลือก็น่จะเป็นแค่ 'ส่วนขยายความ' ให้กับ 亨 (hēng, เฮิง) เท่านั้น ... นั่นก็คือ ... King Wen ได้กำหนดนิยามของ
'การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งในทางสังคม' หรือ 豐 (fēng, เฟิง) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ไว้ว่า 'การดำเนินงานให้พัฒนาไปอย่างเป็นระบบ ด้วยความเข้าใจในกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (亨) คือสิ่งสะท้อนถึงความมีวุฒิภาวะของผู้นำ (王假之) ซึ่งจะต้องไม่กระทำการใดๆ (勿) ให้เป็นที่อึดอัดคับข้องใจ (憂) ของฝ่ายต่างๆ แต่จะต้องใช้ตวามมีเหตุมีผล (宜) บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจน (日) อย่างพอเหมาะพอสม (中) เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้แก่สังคมสืบต่อไป' ... ความหมายที่ King Wen พยายามจะสื่อไว้ในวลีสั้นๆ นี้ก็คือ สังคมหนึ่งๆ แม้ว่าจะมี 'ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ' และมี 'พืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมสมบูนณ์' แล้วก็ตาม แต่หากสมาชิกทั้งหลายในสังคม ยังคงปฏิบัติต่อกันอย่าง 'ไร้ความรับผิดชอบ' คอยหาโอกาสที่จะฉกฉวยแย่งชิง เพื่อเอารัดเอาเปรียบระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา สังคมเยี่ยงนั้นก็ยังไม่อาจนับว่ามี 'ความมั่งคั่ง' หรือมี 'ความเสถียรภาพ' ใดๆ อย่างแท้จริง ... ประเทศชาติหนึ่งๆ ย่อมจะสามารถมี 'พัฒนาการอันยั่งยืน' ได้ ก็ด้วยการไม่ปล่อยให้ 'ความเจริญก้าวหน้า' ใดๆ สร้างความเสียหายแก่ 'ความมีระบบระเบียบ' ของทั้งสังคม ... 'ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ' ที่ปราศจาก 'ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม' เป็นปัจจัยรองรับ คือปฐมเหตุแห่ง 'ความสับสนวุ่นวาย' ที่จะชักพาให้สังคม หรือประเทศชาติหนึ่งๆ ต้องถึง 'กาลแตกดับ' และ 'ล่มสลาย' ลงไปในที่สุด ...




บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

遇其配主雖旬無咎往有尚
yǜ qí pèi zhǔ suī xǘn wú jiù wǎng yǒu shàng
ยฺวี่ ชี๋ เพ่ย จู่ ซุย ซฺวิ๋น อู๋ จิ้ว หฺวั่ง โหฺย่ว ้าง




遇 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'พบปะ', 'โอกาส', 'ติดต่อ', 'เชื่อมโยง', 'ประสาน' หรือ 'ต้อนรับ'

其 อ่านว่า qí (ชี๋) โดยปรกติจะใช้ในลักษณะของสรรพนามที่หมายถึง 'บุคคลที่สาม' (he, she, it, they) ซึ่งก็จะรวมทั้งความหมายที่แสดง 'ความเป็นเจ้าของของบุคคลที่สาม' (his, her, its, their) ด้วย ; แต่บางครั้งที่จะหมายถึง 'เหตุการณ์นั้นๆ' ที่กำลังเอ่ยถึง แล้วก็เลยมีความหมายในลักษณะว่า 'เป็นไปได้', 'อาจจะ', หรือ 'ดังนั้น' ก็ได้ หากใช้คำนี้ในลักษณะของการเชื่อมประโยค

配 อ่านว่า pèi (เพ่ย) แปลว่า 'การจับคู่', 'การสมรส', 'คู่สมรส', 'การผสมผสาน', 'ความร่วมมือ', 'การประสานงาน', ซึ่งในความหมายของ 'ความร่วมมือ' หรือ 'การประสานงาน' ก็จะมีผนวกเอาความหมายว่า 'การแบ่งสันปันส่วน' เข้าไปด้วย แล้วก็เลยแผลงออกไปเป็น 'ความเท่าเทียม', หรือ 'ความเสมอภาค'

主 อ่านว่า zhǔ (จู่) แปลว่า 'หลัก', 'สาระสำคัญ', 'ใจความสำคัญ', 'เจ้าของ', 'เจ้าบ้าน', 'สำคัญที่สุด', 'จำเป็นที่สุด', 'เด่นที่สุด'

雖 อ่านว่า suī (ซุย) มักถูกใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อวลีต่างๆ ในภาษาจีน คล้ายๆ กับคำว่า 'แม้นว่า', 'หากว่า', 'เพียงแต่ว่า', 'ขอเพียงแต่' ในภาษาไทย หรือคล้ายกับคำเชื่อมประโยคในภาษาอังกฤษอย่างเช่น although, even if, หรือ only (if)

旬 อ่านว่า xǘn (ซฺวิ๋น) เป็นคำที่เคยถูกใช้แทนหน่วยนับของ 10 วัน (日,rì, ญื่อ) แต่บางกรณีก็จะใช้แทนหน่วยนับของ 10 ปีในแต่ละช่วงของอายุคน บางครั้งก็เลยใช้ในความว่า 'เวลา' เฉยๆ และด้วยความที่มันแฝง 'ความเป็นสิบ' อยู่ในตัวมัน คำว่า 旬 (xǘn, ซฺวิ๋น) จึงสามารถถูกใช้ในความหมายว่า 'เต็มที่', 'เต็มกำลัง', 'เต็มจำนวน' หรือ 'เต็มไปหมด' แล้วก็เลยกลายเป็น 'โดยถ้วนทั่ว', 'โดยทั่วถึงกัน' ได้ด้วย

คำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) นี้เป็นคำที่เจอมาตลอดแทบจะทั้งเล่มคัมภีร์เลยก็ว่าได้ แต่ก็ถูกใช้ในความหมายหลายๆ อย่างเช่น 'ไม่ผิด', 'ไม่พลาด', 'ไม่ผิดปรกติ', หรือ 'ไม่มีมลทิน', ฯลฯ โดย 無 (wú, อู๋) เป็นคำแสดงความหมายปฏิเสธในลักษณะว่า 'ไม่มี' ส่วน 咎 (jiù, จิ้ว) แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน'

往 อ่านว่า wǎng (หวั่ง) แปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้

尚 อ่านว่า shàng (ษั้ง, ษ้าง) แปลว่า 'ยังมีอีก', 'ยังเหลืออีก', 'นอกเหนือจาก', 'นอกจากนั้น' ; บางครั้งจึงแปลว่า 'ที่ให้ความเคารพ', 'ที่มีความสำคัญ' ในลักษณะคล้ายกับ 'ที่นอกเหนือจากธรรมดา' ; มันจึงสามารถแผลงเป็น 'เน้นย้ำ' ; บางทียังแปลว่า 'เก่าแก่', 'อดีตกาลอันไกลโพ้น' ; และยังสามารถแปลว่า 'คาดหวัง', 'โดยประมาณ'

'จิวกง' น่าจะตั้งใจซ่อนความหมายบางอย่างไว้หลายชั้นพอสมควรสำหรับวลีแรกของบทนี้ โดยคำว่า 
遇其配主 (yǜ qí pèi zhǔ, ยฺวี่ ชี๋ เพ่ย จู่) นั้น สามารถที่จะมีความหมายว่า 'การพบปะ (遇) กับบรรดา (其) มหามิตร (配主) ทั้งหลาย' ซึ่งจะมีความสอดรับกับคำว่า 利見大人 (lì jiàn dà rén, ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) ตรงท้ายวรรคที่ห้าของบทที่หนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบทนี้โดยตรง โดยหลายๆ ตำรามักจะแปลวลีดังกล่าวว่า 'ดีจังเลย (利) ที่ได้พบปะ (見) กับคนใหญ่คนโต (大人)' อะไรประมาณนั้น ... 😄 ... ในเวลาเดียวกัน วลีต้นของวรรคนี้ก็ยังสามารถที่จะมีความหมายว่า 'การประสานความร่วมมือ (遇) กับบรรดา (其) มหามิตร (配主) ทั้งหลาย' ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าความหมาย (利) ให้แก่ 'การพบปะ' (見) กับ 'บุคคลระดับนำ' (大人) ไปสู่ 'การประสานความร่วมมือ' (遇) ระหว่าง 'มหามิตร' (配主) ขึ้นมาทันที ... และผมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า 主 (zhǔ, จู่) กับ 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) นั้น มีความเป็น synonym กันในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน

เมื่อคำว่า 主 (zhǔ, จู่) ซึ่งมีความหมายคล้ายกับคำว่า 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ถูกนำออกมาใช้ตรงต้นวรรค คำว่า 尚 (shàng, ษั้ง, ษ้าง) ตรงท้ายวรรคก็น่าจะสะท้อนความหมายของ 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' ตามสไตล์ของ 'จิวกง' ที่มักจะซ่อนความหมายนี้ในแทบจะทุกวรรคของ 'หยาง' ตรงตำแหน่งล่างสุดของ 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทเสมอ ดังนั้น ความหมายโดยรวมของ 'จิวกง' ในวรรคแรกนี้จึงน่าจะหมายถึง 'การที่จะประสานความร่วมมือ (遇) กับบรรดา (其) มหามิตร (配) ทั้งหลายนั้น หัวใจสำคัญ (主) ก็คือ ถึงแม้ว่า (雖) ทุกๆ รายละเอียด (旬) จะปราศจากข้อตำหนิติติงให้เป็นที่ค่อนขอดครหา (無咎) แต่การปฏิบัติต่อกัน (往) ก็ยังต้องมี (有) ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรี (尚) ของกันและกันเสมอ' ... นั่นก็คือ ... ความเป็นมหามิตร (配) ซึ่งกันและกันนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับ 'ดุลยภาพแห่งผลประโยชน์ต่างตอบแทน' และ 'ความเสมอกันแห่งศักดิ์ศรี' ของแต่ละฝ่ายที่ต่างก็ต้องให้เกียรตฺิซึ่งกันและกันตลอดเวลา โดยไม่นำเอาความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงสถานภาพมาเป็นเกณฑ์เพื่อการกดข่มให้เกิดความเด่น-ความด้อยระหว่างกัน ... อันเป็นความหมายที่สอดคล้องกับคำว่า 'ไม่สร้าง (勿) ความอึดอัดใจคับข้องใจ (憂)' ที่ King Wen เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ต้นบทนั่นเอง
 

 
 
 
สอง หยิน :

豐其蔀日中見斗往得疑疾有孚發若吉
fēng qí bù rì zhōng jiàn dòu wǎng dé nǐ jí yǒu fú fā ruò jí
เฟิง ชี๋ ปู้ ญื่ง เจี้ยน โต่ว หฺวั่ง เต๋อ หฺนี่ จี๋ โหฺย่ว ฟู๋ ฟา ญั่ว จี๋





蔀 อ่านว่า bù (ปู้) เป็นอีกคำหนึ่งที่เคยถูกใช้เป็นหน่วยนับของเวลามาก่อน คือเวลา 19 ปีนับเป็น 1 章 (zhāng, จัง) โดยเวลา 4 章 (zhāng, จัง) จะนับเป็น 1 蔀 (bù, ปู้) แล้วเวลา 20 蔀 (bù, ปู้) ก็จะนับเป็น 1  (jì, จี้) เวลา 3  (jì, จี้) หรือ 60 蔀 (bù, ปู้) นับเป็น 1 元 (yuán, เยฺวี๋ยน) ; ส่วนความหมายอื่นที่ยังมีใช้กันจนถึงปัจจุบันก็คือ 'ผืนฟาง' ที่ถักไว้ใช้งาน เช่นใช้เป็น 'เสื่อ' สำหรับรองนั่ง หรือใช้เป็นหลังคาของ 'เพิงพัก' เพื่อบังแดดให้เป็นร่มเงา หรืออาจจะใช้เป็น 'ฉากกั้น' เพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสัดเป็นส่วนก็ได้เหมือนกัน ; ดังนั้น โดยลักษณะของการใช้งาน คำว่า 蔀 (bù, ปู้) จึงแฝงความหมายว่า 'บดบัง' หรือ 'ทำให้ขมุกขมัว' อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

斗 คำนี้ถ้าออกเสียงว่า dǒu (โต่ว) จะหมายถึง 'กระบวยน้ำ' หรือ 'ภาชนะที่มีรูปร่างคล้ายกระบวย' ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับบทนี้เลย แต่ถ้าออกเสียงเป็น dòu (โต้ว)  จะแปลว่า 'ต่อสู้กัน', 'แข่งขันกัน', หรือ 'เผชิญหน้ากัน' แต่บางทีก็สามารถที่จะหมายถึง 'ร่วมมือกัน', 'ประกอบเข้าด้วยกัน', 'สอดคล้องกัน', 'เข้าใจตรงกัน' ก็ได้ ; ซึ่งในสมัยหนึ่งก็ยังใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า 逗 (dòu, โต้ว) ที่แปลว่า 'กระตุ้น', หรือ 'ดึงดูด' ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน

得 อ่านว่า dé (เต๋อ) แปลว่า 'ได้รับ', 'บรรลุผล', 'สำเร็จ', 'ยอมรับ', 'เห็นด้วย'

คำว่า 疑 (yí, อี๋) เป็นคำที่เราเจอมาก่อนแล้วในบทที่สิบหก แปลว่า 'สงสัย', 'ไม่เชื่อ', 'ระแวง', 'ไม่มั่นใจ', 'ไม่แน่ใจ' ; ถ้าอ่านว่า nǐ (หฺนี่) จะแปลว่า 'หยุดนิ่ง', 'ไม่เคลื่อนไหว' ซึ่งในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 拟 (nǐ, หฺนี่) ที่แปลว่า 'ร่าง' (draft), 'วางแผน', หรือ 'คาดคะเน'

คำว่า 疾 (jí, จี๋) พบมาก่อนแล้วในบทที่สิบหกอีกเช่นกัน แปลว่า 'เจ็บป่วย', 'เจ็บปวด', 'เจ็บแค้น', 'อึดอัด', 'ขัดเคือง' ; ในสมัยก่อนยังใช้ในความหมายเดียวกับ 嫉 (jí, จี๋) ซึ่งแปลว่า 'อิจฉาริษยา' ด้วย ; ซึ่งบางครั้งก็เลยแปลว่า 'ผิดพลาด' หรือ 'ไม่ถูกต้อง' ; ที่น่าสนใจก็คือ 疾 (jí, จี๋) เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์จะสามารถแปลว่า 'เร็ว', 'คล่องแคล่ว', 'ว่องไว', 'แหลมคม' หรือ 'รุนแรง' ซึ่งอาจจะเพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับ 'ภาพอักษร' 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่หมายถึง 'ลูกดอก', 'ลูกธนู', ; 'ตรง', 'เที่ยง', 'ตรงไปตรงมา' ; หรือ 'คำสาบาน'

ส่วน 孚 (fú, ฟู๋) เป็นคำที่ถูกนำมาใช้บ่อยมากใน 'คัมภีร์อี้จิง' และเป็นคำแรกๆ ที่พบเห็นได้ตั้งแต่ต้นคัมภีร์เลยด้วยซ้ำ แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

發 อ่านว่า fā (ฟา) แปลว่า 'งอก', 'งอกขึ้นมา', 'ส่งออกมา', 'โผล่ออกมา', 'พ่นออกมา', 'แสดงตัว', 'เผยตัว' ; 'เติบโต', 'พัฒนาขึ้นมา', 'เริ่มต้น' ; 'เปิดออก', หรือ 'ค้นพบ'

若 อ่านว่า ruò (ญั่ว, ออกเสียงเหมือน ย แต่ห่อลิ้นเหมือนจะออกเสียง ร พร้อมๆ กัน) มีความหมายในทำนอง 'สมมุติว่า', 'หากแม้นว่า', 'ประหนึ่งว่า', 'เป็นเช่นนั้น', 'เป็นระบบระเบียบ', 'เคารพกฎเกณฑ์'

吉 (jí, จี๋) นี่ก็เป็นคำที่เจอบ่อยมากนะครับ แปลว่า 'ดี', 'โชคดี', 'โชคลาภ', และยังสามารถแปลว่า 'ความดี', 'ความเจริญ', 'ความมีคุณธรรม' ; แปลว่า 'คนดี' หรือ 'คนมีคุณธรรม' ก็ได้ … และควรจะหมายถึง 'ผู้เจริญ' ก็ได้เช่นกัน

ผมว่าคราวนี้ 'จิวกง' แกเล่นคำสองแง่สองง่ามได้อย่างน่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะถ้าเราให้ความหมายของ 蔀 (bù, ปู้) ว่า 'ให้ร่มเงา' มันจะแฝงความหมายของ 'การปกป้องคุ้มครอง' แบบ 'อยู่ร่วมชายคากัน' ไปเลย ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้อักษร 疑 ถูกออกเสียงว่า nǐ (หฺนี่) เพื่อจะหมายถึง 'ความนิ่ง' หรือ 'ความสงบร่มเย็น' แทนที่จะออกเสียงว่า yí (อี๋) ที่สื่อไปถึง 'ความระแวงสงสัย' อันเป็นเหตุแห่ง 'ความอึดอัดขัดเคือง' ของคำว่า 疾 (jí, จี๋) ขึ้นมา หากเราดันไปให้ความหมายของ 蔀 (bù, ปู้) ว่า 'บดบัง' หรือ 'ทำให้ไม่มีความชัดเจน' เพราะนั่นจะทำให้คำว่า 斗 (dòu, โต้ว) ถูกใช้ในความหมายของ 'การเผชิญหน้า' หรือ 'การแก่งแย่งแข่งขัน' แทนที่จะเป็น 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' เยี่ยงพันธมิตรที่ดีต่อกัน ... แกเจ๋งมากจริงๆ นะครับนั่น !! ... เพราะการที่ 'จิวกง' เลือกใช้คำเพียงชุดเดียว ให้สามารถบรรยายสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันถึง 2 แบบโดยพฤติกรรม 2 ลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วได้เลยนั้น ต้องนับว่าเป็นอัจฉริยภาพทางภาษาที่ไม่ธรรมดาจริงๆ !!

ในขณะที่วลีตรงท้ายวรรคนี้ก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะมันสามารถตัดตอนออกเป็นความหมายที่เสริมให้กับความหมายแง่บวกในท่อนหน้า หรือเป็นความหมายแย้งเพื่อแนะนำวิธีที่จะป้องกันปัญหาอันเกิดจากความหมายแง่ลบก็ได้ทั้งนั้น ... ?!?! ... ก็คงต้องอาศัยสูตรเดิมของการ 'ตีความ' แบบใช้ 'คู่วลี' นั่นแหละครับ โดยผนวกเอาความหมายของวรรคที่ห้าเข้ามาร่วมพิจารณากัน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะมันก็สามารถเป็นความหมายเสริม หรือความหมายแย้งได้เช่นเดียวกันกับกรณีของวลีท้ายวรรคนี้ ผมก็เลยเลือกใช้เกณฑ์อย่างนี้ครับว่า ในเมื่อสัญลักษณ์ประจำวรรคที่สอง กับวรรคที่ห้านั้น เป็นเส้น 'หยิน' (⚋) ด้วยกันทั้งคู่ ความหมายของถ้อยคำก็ 'น่าจะ' โน้มไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับว่า ด้วยความเป็น 'หยิน' ของทั้งสองวรรคนี้เอง ผมจึงเชื่อว่า 'จิวกง' คงอยากจะสื่อความหมายแบบ 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' มากกว่า เพราะ 'การเผชิญหน้า' เป็นลักษณะของ 'หยาง' ที่ 'จิวกง' มักจะต้องเตือนให้ 'ใช้ด้วยความระมัดระวัง' มาโดยตลอด

อ้ะ ... สรุปว่าความหมายของวลีเด็ดอีกวลีหนึ่งของ 'คัมภีร์อี้จิง' ในวรรคนี้ก็คือ ...
'การเสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง (豐) โดยการแบ่งสันปันส่วนให้แก่ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง (其蔀) ด้วยเหตุด้วยผลที่ชัดแจ้ง (日) และเที่ยงธรรม (中) ย่อมจะบรรลุผล (見) แห่งความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง (斗) เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ได้รับการปฏิบัติต่อกัน (往得) ด้วยเงื่อนไขของระเบียบแบบแผน (疑) ที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา (疾) ความเชื่อถือและความไว้วางใจที่มีต่อกัน (有孚) ย่อมสำแดงออก (發) เป็นความเคารพในระบบระเบียบต่างๆ ที่วางไว้แล้ว (若) อันจะเป็นรากฐานสำคัญของความเจริญรุ่งเรือง (吉) สำหรับสังคมทั้งหลายทั้งมวล' ... เจ๋งอ้ะ !!!?!? ... 😄



 

สาม หยาง :

豐其沛日中見沬折其右肱無咎
fēng qí pèi rì zhōng jiàn mèi zhē qí yòu gōng wú jiù
เฟิง ชี๋ เพ่ย ญื่ง เจี้ยน เม่ย เอ ชี๋ ยฺอิ้ว กง อู๋ จิ้ว





沛 อ่านว่า pèi (เพ่ย) แปลว่า 'อุดมสมบูรณ์', 'มากมาย', 'ล้นหลาม', 'มากจนล้น', บางครั้งก็เลยกลายเป็น 'ล้นทะลัก' หรือ 'ถาโถมด้วยความเร็ว' ไปเลย ซึ่งก็เลยทำให้ 沛 (pèi, เพ่ย) มีความหมายแฝงเป็น 'เร่งร้อน', 'รีบเร่ง', หรือ 'ฉับพลัน-ทันที' ไว้ด้วยในระดับหนึ่ง ; และในสมัยก่อนก็ยังใช้ในความหมายเดียวกับ 旆 (pèi, เพ่ย) ซึ่งแปลว่า 'ธง' หรือ 'ป้ายผ้า' ที่ใช้ในการประดับประดาต่างๆ ด้วย

คำว่า 見 (jiàn, เจี้ยน) โดยทั่วไปก็จะแปลว่า 'พบ', 'เห็น', 'มองเห็น', 'ปรากฏ (ให้เห็น)' ; 'มอง', 'ดู' ; หรือ 'ความคิดเห็น' ; ซึ่งก็เลยทำให้หมายถึง 'ทำให้มองเห็น', 'ทำให้กระจ่าง', หรือ 'ทำความเข้าใจ' ได้ด้วยเหมือนกัน

沬 อ่านว่า mèi (เม่ย) แปลว่า 'ขมุกขมัว', 'ไม่ชัดเจน' เช่นเดียวกับ 昧 (mèi, เม่ย)

折 อ่านว่า zhē (เอ) แปลว่า 'ตัดให้ขาด', หรือ 'ทำให้หดสั้นลง', 'ทำให้สิ้นสุด' จึงอาจจะหมายถึง 'รวบรัด' ก็ได้ ; ส่วนในความหมายที่ว่า 'ทำให้หดสั้นลง' ก็จะแฝงความหมายว่า 'วนกลับ', 'ย้อนกลับ', หรือ 'การตอบสนอง' ไว้ด้วยในระดับหนึ่ง

右 อ่านว่า yòu (ยฺอิ้ว) ปรกติจะแปลว่า 'ด้านขวา' ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับคำว่า 左 (zuǒ, จั่ว) ที่แปลว่า 'ด้านซ้าย' อย่างไรก็ตาม ในบทที่เจ็ดได้เล่าความหมายของ 左 (zuǒ, จั่ว) ไว้อย่างค่อนข้างละเอียดว่า บางครั้ง 左 (zuǒ, จั่ว) ก็สามารถที่จะหมายถึง 'มีความริเริ่ม' หรือ 'หัวก้าวหน้า' ได้เหมือนกัน ซึ่งก็จะทำให้ 右 (yòu, ยฺอิ้ว) ถูกแผลงไปเป็น 'อนุรักษ์นิยม' หรือ 'ความยึดติดในขนบจารีต' ไปเลย

肱 อ่านว่า gōng (กง) ตามปรกติก็จะแปลว่า 'ท่อนแขน' โดยเฉพาะ 'แขนท่อนล่าง' ซึ่งอยู่ระหว่างฝ่ามือกับข้อศอก ที่ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า forearm ; อีกความหมายหนึ่งของ 肱 (gōng, กง) ก็คือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่คอย 'ช่วยเหลือ' หรือ 'ให้คำปรึกษา' แก่เจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ

ถ้ามองผ่านๆ ก็เหมือนว่า 'จิวกง' ไม่ได้เข้ารหัสอะไรไว้ในวรรคนี้ แต่อ่านบทแปลของหลายตำราที่ให้ความหมายตรงท้ายวรรคว่า 'ตัดแขนขวาออกไปแล้วจะโชคดี' ผมก็กระเดือกคำแปลแบบนั้นไม่ลงเหมือนกัน ... 😄 ... เก้าะเลยเดาเอาว่า 'จิวกง' คงต้องซ่อนทีเด็ดอะไรไว้ในวรรคนี้อีกแน่ๆ ?!! ... เริ่มตั้งแต่ต้นวรรคไปเลยนะครับ ... 豐其沛 (fēng qí pèi, เฟิง ชี๋ เพ่ย) ที่ดูแล้วก็น่าจะหมายถึง 'การยกระดับ (豐) ความมั่งคั่งของทุกๆ ฝ่าย (其沛)' เท่านั้นเอง แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตที่อักษร 沛 (péi, เพ่ย) ไว้ว่า คำนี้มี 'ความหมายแง่ลบ' ซ่อนอยู่ในตัวมันพอสมควรเลยทีเดียว เพราะมันไม่ใช่ 'ความอุดมสมบูรณ์' แบบธรรมดา แต่มันเป็น 'ความล้นทะลัก' ที่ 'เกินพอดี' ยิ่งเมื่อไปผนวกกับความหมายประเภท 'เร่งร้อน', หรือ 'รีบเร่ง' ที่แฝงอยู่ด้วยแล้ว คำว่า 沛 (péi, เพ่ย) ก็น่าจะมีความหมายในลักษณะของ 'การกอบโกย' ด้วยทัศนคติชนิด 'มือใครยาวสาวได้สาวเอา' ซะมากกว่า ... ประมาณว่า เป็น 'การเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ' ด้วย 'ความแร้นแค้นทางวัฒนธรรม' อะไรประมาณนั้น ... เพราะ 'การฉกฉวยแย่งชิง' ซึ่งกันและกัน เพื่อหวังจะ 'กอบโกย' ผลประโยชน์ให้กับตัวเองของแต่ละฝ่าย (豐其沛)' นี้เอง ย่อมทำให้ 'ความชัดเจน (日) และความเที่ยงธรรม (中) ของกฎระเบียบต่างๆ ต้องประสบกับ (見) ความมัวหมอง (沬)' อันจะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคมในระยะยาว

ผมอยากให้สังเกตเส้นสัญลักษณ์ของวรรคนี้ กับคู่วลีของมันในวรรคถัดไปด้วยครับว่า มันเป็นเส้นหยาง (⚊) ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งการใช้ 'พลังแห่งหยาง' (⚊) นั้น หากใช้ไปในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ย่อมนำมาซึ่งความร่วมแรงร่วมใจกัน (斗) อันจะนำไปสู่ 'ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ' บนพื้นฐานของ 'ความเจริญทางวัฒนธรรม' อย่างยั่งยืน แต่หากใช้ไปในทางที่กอบโกยเพื่อประโยชน์ตน (沛) ก็ย่อมนำไปสู่การทำลายล้างซึ่งกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็จะต้องงัดเอา 'พลังแห่งหยาง' (⚊) ของฝ่ายตนออกมาห้ำหั่นกับทุกๆ ฝ่ายอย่างไม่สิ้นสุด

ความหมายที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในวรรคนี้จึงควรจะ 'ตีความ' ว่า
'การยกระดับความมั่งคั่ง (豐) ด้วยการกอบโกยอย่างไม่รู้จักพอของแต่ละฝ่าย (其沛) นั้น ย่อมทำให้ความชัดเจน (日) และความเที่ยงธรรม (中) แห่งกฎระเบียบต่างๆ ต้องประสบกับ (見) ความมัวหมอง (沬) ในขณะที่การลดราวาศอกด้วยความรู้จักพอของแต่ละฝ่าย (折其右肱) จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสีย (無咎) ต่อโครงสร้างของทั้งระบบ' ... น่าจะเท่กว่า 'บั่นแขนขวาให้ขาดสะบั้น' เป็น 'เดชไอ้ด้วน' เยอะเลยใช่มั้ยล่ะ ?!?! ... 😄



 

สี่ หยาง :

豐其蔀日中見斗遇其夷主吉
fēng qí bù rì zhōng jiàn dòu yǜ qí yí zhǔ jí
เฟิง ชี๋ ปู้ ญื่ง เจี้ยน โต้ว ยฺวี่ ชี๋ อี๋ จู่ จี๋




วรรคนี้ล้อคำมาจากต้นวรรคที่สองทั้งดุ้นเลยนะครับ โดยมีการเปลี่ยนถ้อยคำตรงท้ายวรรคเข้าไปแทนเท่านั้น ซึ่งตรงท้ายวลีจะมีคำว่า 夷 (yí, อี๋) ที่เคยเล่ายาวๆ ไว้แล้วในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบทที่สามสิบหก (明夷, MíngYí, มิ๋งอี๋ : Being Conscientious : ครองสติอย่างมั่นคง) ก็เลยขอย่อมาแปะไว้ให้อ่านกันอีกรอบตรงนี้ครับ

夷 (yí, อี๋) เป็น 'ภาพอักษร' ที่เกิดจากการผสมกันระหว่าง 大 (dà, ต้า) ที่แปลว่า 'ใหญ่' หรือ 'คนใหญ่คนโต' กับ 弓 (gōng, กง) ที่แปลว่า 'คันธนู', 'คันลูกดอก', หรือสิ่งใดๆ ที่มีลักษณะ 'โค้งงอ' คล้าย 'คันศร' ในขณะที่ 弓 (gōng, กง) เมื่อถูกใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'ก้มลง', 'โค้งตัว', หรือ 'ค้อมตัวลง' ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 'การแสดงความเคารพ' หรือ 'มีอาการจุกเสียดจนบิดงอ' ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ... 😋 ... เมื่อผสม 'ภาพอักษร' ของ 大 (dà, ต้า) กับ 弓 (gōng, กง) เข้าด้วยกันจนกลายเป็นอักษร 夷 (yí, อี๋) ความหมายจึงออกมาเป็น 'มนุษย์ผู้ถือคันศรเพื่อล่าสัตว์' ซึ่งเป็นคำเรียกขานชนเผ่าหนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยการเดินป่าล่าสัตว์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจีนโบราณด้วยนั่นเอง และเมื่อมันถูกใช้เรียก 'ชนเผ่าอื่น' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'ต่างชาติ', 'ต่างเผ่า', หรือใช้เพื่อจำแนก 'ความเป็นกลุ่มก้อน' ของ 'ชนเผ่าอื่นๆ', 'กลุ่มสังคมอื่นๆ', 'ชนชั้นอื่นๆ' เป็นแต่ละพวกๆ ไปเลยก็ได้

แต่ความหมายที่ 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) สะท้อนออกมามากกว่านั้นก็คือ 'คนที่มีร่างกายบิดงอ' มันจึงแผลงความหมายไปเป็น 'การทำร้าย' หรือ 'การถูกทำร้าย', 'ทำให้ทรุดต่ำลง' หรือถึงขั้นที่เป็น 'การทำให้พังทลายลงไป' ... จากตรงนั้นมันก็กลายมาเป็นความหมายว่า 'ราบเรียบ', 'ระนาบเสมอกัน', จนเพี้ยนไปเป็น 'สงบ', และ 'ราบรื่น' ... แต่ถ้าเรามอง 'ภาพอักษร' ของ 夷 (yí, อี๋) ให้มีลักษณะของ 'คนใหญ่คนโตที่ค้อมตัวลง' มันก็จะแฝงความหมายว่า 'มีความอ่อนโยน', 'มีความถ่อมตน', หรือ 'มีความนอบน้อม' ; อาจจะหมายถึง 'ทำตัวตามสบาย', 'ไม่วางก้าม', หรือ 'มีความสุภาพที่เรียบง่าย' จนถึงกับใช้ในความหมายเดียวกับ 怡 (yí, อี๋) ที่แปลว่า 'กลมกลืน', 'สมดุล', 'มีความสุข' ซึ่งไปพ้องกับ 'ความสงบ', 'ความราบรื่น' ซึ่งเป็นความหมายแฝงของ 夷 (yí, อี๋) นั่นเอง

การที่ 'จิวกง' นำคำว่า 夷 (yí, อี๋) มาผนวกกับอักษร 主 (zhǔ, จู่) เป็น 夷主 (yí zhǔ, อี๋ จู่) ในวรรคนี้ เราอาจจะพิจารณาว่า ท่านคงอยากจะสื่อถึง
การสร้าง 'ดุลยภาพ' (夷) ให้แก่ 'ความหลากหลายในสาระสำคัญ' (夷主) ของแต่ละกลุ่มก้อนทางสังคมที่ล้วนมีเหตุปัจจัยแห่งความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งทางสังคม (豐) ร่วมกันสืบไป ... เราจะเห็นได้เลยว่า 'จิวกง' เลือก 'คำตรงข้าม' มาใช้ในคู่วลีของวรรคที่สามกับวรรคที่สี่ในบทนี้ได้อย่างน่าสนใจมาก โดยคำว่า 蔀 (bù, ปู้) ซึ่งมีความหมายในลักษณะของ 'ฉากกั้น' อันสะท้อนถึง 'ความมีขอบเขต' ถูกนำมาใช้เป็น 'คู่ตรงข้าม' กับคำว่า 沛 (péi, เพ๋ย) ที่แฝงความหมายว่า 'ล้นทะลัก' แบบ 'ไม่รู้จักพอ' และนำคำว่า 斗 (dòu, โต้ว) ซึ่งแฝงความหมายของ 'การแข่งขันอย่างมีเป้าหมาย' มาเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างจาก 'การแย่งชิงอย่างไร้กฎกติกา' ของ 沬 (mèi, เม่ย) ... นี่ก็คือ 2 ลักษณะของการใช้ 'พลังแห่งหยาง' (⚊) ในทาง 'สร้างสรรค์' หรือ 'ทำลายล้าง' ที่จะส่งผลเป็น 'ความรุ่งเรือง' หรือ 'ความล่มสลาย' ของสังคมนั่นเอง

ความหมายที่แท้จริงที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อไว้ในวรรคนี้จึงน่าจะมีใจความว่า
 'การเสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง (豐) อย่างมีกรอบเกณฑ์ของกติกาต่างๆ (其蔀) อย่างชัดแจ้ง (日) และเที่ยงธรรม (中) ย่อมปราฏผล (見) เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสร้างสรรค์ (斗) เพื่อประสาน (遇) ประโยชน์อันเป็นสาระสำคัญของกลุ่มต่างๆ (其夷主) ให้บังเกิดผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... งามหยดจริงๆ !! ... 😍

 

ห้า หยิน :
 
來章有慶譽吉
lái zhāng yǒu qìng yǜ jí
ไล๋ าง โหฺย่ว ชิ่ง ยฺวี๋ จี๋




來 อ่านว่า lái (ไล๋) ซึ่งโดยปรกติจะแปลว่า 'มา', 'เข้าร่วม' หรือ 'บังเกิดขึ้น', 'ทำให้เกิดขึ้น' ซึ่งบางครั้งก็อาจจะหมายถึง 'หวนกลับมา (อีกครั้ง)', หรือ 'ได้รับ' ; สำหรับใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ เรามักจะเห็นการใช้คำว่า 來 (lái, ไล๋) ในลักษณะที่ไขว้ความหมายไปๆ มาๆ กับคำว่า 往 (wǎng, หวั่ง) อยู่ค่อนข้างบ่อยเลยทีเดียว ; และในบางลักษณะของการใช้งานก็จะหมายถึง 'อนาคตอันใกล้', แต่ก็สามารถที่จะหมายถึง 'อดีตที่ผ่านมา' ได้ด้วยเหมือนกัน

章 (zhāng, จัง, าง) เป็นคำที่เจอมาก่อนแล้วตั้งแต่บทที่สอง ซึ่งแปลว่า 'บท', 'ตอน', หรือ 'ท่อน' ของบทประพันธ์หรือหนังสือ ; แต่ในสมัยก่อนจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า 彰 (zhāng, จัง, าง) ที่แปลว่า 'ชัดเจน', 'เปิดเผย', 'หลักฐาน', 'สิ่งที่ปรากฏ', หรือ 'การแสดงออก' ; ในขณะที่ในวรรคที่สองของบทนี้ เราจะเห็นความสัมพันธ์ของ 章 (zhāng, จัง, าง) กับ 蔀 (bù, ปู้) ในฐานะของ 'หน่วยนับเวลา' อีกด้วย ... กลวิธีในการเล่นคำของ 'จิวกง' จึงต้องถือว่ามีความเหนือชั้นมากๆ ... 😏

慶 อ่านว่า qìng (ชิ่ง) เป็นคำใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏในบทก่อนๆ ทั้งหมดเลยครับสำหรับคำนี้ อักษร 慶 (qìng, ชิ่ง) มีความหมายในลักษณะของ 'การเฉลิมฉลอง', 'การอวยชัยให้พร', 'การแสดงความยินดี', หรือ 'ยินดี'

譽 อ่านว่า yǜ (ยฺวี่) แปลว่า 'ยกย่อง', 'สรรเสริญ', 'เกียรติยศ', 'ชื่อเสียง', 'ความเคารพนับถือ', ในสมัยก่อนมีความหมายเหมือนกับ 豫 (yǜ, ยฺวี่) แปลว่า 'พอใจ', 'สบาย', หรือ 'เอกเขนก'

เมื่อผ่านมาถึงวรรคนี้ได้แล้ว ผมคิดว่าความหมายในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็คงจะ 'ตีความ' เป็นอย่างอื่นได้ยากแล้วล่ะครับ ... นี่ก็คือวลีปิดท้ายให้กับวรรคที่สองว่า ...
'การร่วมดำเนินงาน (來) อย่างมีระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน (章) ด้วยมิตรภาพความมีน้ำใจ (有慶) และการให้เกียรติ (譽) ซึ่งกันและกัน คือการอำนวยความประเสริฐ (吉) ให้บังเกิดแก่สังคมโดยรวม'


 

หก หยิน :

豐其屋蔀其家闚其戶闃其無人三歲不覿凶
fēng qí wū bù qí jiā kuī qí hù qǜ qí wú rén sān suì bù dí xiōng
เฟิง ชี๋ อู ปู้ ชี๋ เจีย คุย ชี๋ ฮู่ ชฺวี่ ชี๋ อู๋ เญิ๋น ซัน ซุ่ย ปู้ ตี๋ เซฺวิง




屋 อ่านว่า wū (อู) โดยปรกติก็จะหมายถึง 'ห้อง' แบบเดียวกับ 房 (fáng, ฟั๋ง, ฟ๋าง), บางทีก็หมายถึง 'กระท่อม' ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กๆ สำหรับพักอาศัย จึงทำให้ถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 家 (jiā, เจีย) อยู่บ้าง เพียงแต่ 家 (jiā, เจีย) จะมีความหมายที่ใหญ่โตกว่า เพราะจะครอบคลุมไปถึง 'ครอบครัว' ที่คนจีนในสมัยก่อนจะมีค่านิยมในการสร้างบ้านเพื่อการอยู่อาศัยรวมกันเป็น 'ครอบครัวใหญ่' ซึ่งประกอบด้วยหลายๆ 屋 (wū, อู) หรือหลายๆ 房 (fáng, ฟั๋ง, ฟ๋าง) รวมๆ กัน ; คำว่า 屋 (wū, อู) ในสมัยก่อนยังใช้เป็น 'หน่วยนับขนาดของที่ดิน' โดย 1 屋 (wū, อู) จะประกอบด้วย 300 亩 (mǔ, หฺมู่)

蔀 (bù, ปู้) ในวรรคนี้เหมือนจะเป็นคำกริยา จึงน่าจะหมายถึง 'แบ่ง', 'กั้น' หรือ 'กำหนดขอบเขต'

家 อ่านว่า jiā (เจีย) แปลว่า 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ครอบครัว' ; 'สำนักศึกษา', 'แนวคิด', 'สาขาวิชา', 'ผู้ชำนาญการ (ในสาขาใดสาขาหนึ่ง)' ; บางครั้งก็จะหมายถึง 'การอบรมเลี้ยงดูในบ้าน' ที่ตรงข้ามกับ 'การปล่อยไปตามยถากรรม' หรือ 'ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ' ซึ่งจะใช้คำว่า 野 (yě, เหฺยี่ย) ที่หมายถึง 'ป่า', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'เติบโตในป่า' หรือ 'เติบโตโดยไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน'

闚 อ่านว่า kuī (คุย) แปลว่า 'สืบเสาะ', 'สำรวจ', 'ตรวจสอบ', ในลักษณะที่เป็น 'การเจาะลึก', ซึ่งอาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นที่เรียกว่า 'ขุดคุ้ย' เลยด้วยซ้ำ

戶 อ่านว่า hù (ฮู่) แปลว่า 'ประตู', 'ครอบครัว', 'บ้าน', 'ที่พักอาศัย', 'ห้องหับ' หรือ 'อาณาเขตในบ้าน (ที่มีการจัดแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนต่างๆ ซึ่งมักจะมีประตูกั้น)' ; บางครั้งจึงสามารถแปลว่า 'ป้องกัน' หรือ 'คุ้มครอง' ได้ด้วย ; ปรกติแล้ว 戶 (hù, ฮู่) จะใช้สำหรับเรียก 'ประตูภายในบ้าน' หรือ 'ประตูห้อง' … ถ้าเป็น 'ประตูบ้าน' หรือ 'ประตูห้องโถง' หรือ 'ประตูรั้ว' เขาจะใช้คำว่า 門 (mén, เมิ๋น) … ดังนั้น มันจึงสามารถแปลว่า 'ที่หลบซ่อน', 'ช่องทาง (ลับ)' ; และสามารถหมายถึง 'ถ้ำ' หรือ 'รัง' ก็ยังได้

闃 อ่านว่า qǜ (ชฺวี่) แปลว่า 'ว่างเปล่า', 'เงียบสงบ', ในลักษณะแบบ 'วิเวก' หรือ 'หยุดนิ่ง', 'ไม่วุ่นวาย' ; บางทีก็เลยคล้ายกับ 'เงียบเหงา', 'เดียวดาย', หรือ 'โดดเดี่ยว' ไปเลย

ส่วน 人 (rén, เญิ๋น) นั้นมีความหมายที่รู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึง 'คน', 'มนุษย์', หรือในความหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ 'มนุษย์' เช่น 'ประชากร', 'ผู้คน', 'กำลังพล' ... และที่สำคัญมากก็คือมันสามารถหมายถึง 'ความเป็นคน' หรือ 'ธาตุแท้ของคน' ซึ่งแผลงความหมายไปเป็น 'มนุษยธรรม', หรือ 'คุณธรรม' อันเป็นความหมายเดียวกับอักษร 仁 (rén, เญิ๋น) ที่พ้องเสียงกันด้วยนั่นเอง

歲 อ่านว่า suì (ซุ่ย) ปรกติจะแปลว่า 'ขวบ', 'ปี' แต่ก็สามารถใช้ในความหมายว่า 'ช่วงเวลา', 'ยุคสมัย' ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 'หนึ่งปี' ได้เหมือนกัน ; ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถแปลว่า 'ฤดูกาล', หรือ 'การเพาะปลูก' ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมประจำปีของเกษตรกรโดยทั่วไป หรืออาจจะหมายถึง 'ผลผลิตจากเกษตรกรรม' ก็ได้

อย่างไรก็ตาม เราได้พบเห็นการใช้วลี 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) ของ 'จิวกง' ใน 'คัมภีร์อี้จิง' มาตั้งแต่บทที่สิบสาม, บทที่ยี่สิบเก้า, บทที่สี่สิบเจ็ด และบทที่ห้าสิบสาม ซึ่งทุกครั้ง เราจะเห็นการใช้อักษร 三 (sān, ซัน) ในความหมายว่า 'บ่อยๆ' หรือ 'ซ้ำๆ' จึงทำให้ผมมักจะ 'ตีความ' ให้ 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) หมายถึง 'การทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่อง' หรือ 'ความวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ลดละ' เป็นเวลานานๆ ... ไม่ใช่ให้ความหมายตามตัวอักษรว่า 'สามปี' อย่างที่นิยมกัน ... และผมค่อนข้างที่จะ 'เชื่อว่า' การใช้วลี 三歲 (sān suì, ซัน ซุ่ย) เป็นครั้งที่ห้าใน 'คัมภีร์อี้จิง' นี้ น่าจะยังคงมีความหมายในลักษณะเดิมเอาไว้

覿 อ่านว่า dí (ตี๋) แปลว่า 'การพบปะพูดคุย', 'การสัมภาษณ์', แต่โดยทั่วไปจะมีความหมายในลักษณะของ 'การเข้าพบ' ซึ่งเป็น 'การพบปะด้วยความเคารพ', หรือ 'การพบปะอย่างเป็นพิธีการ' มากกว่า

ก่อนที่จะสรุปใจความสำคัญในวรรคนี้ของ 'จิวกง' ผมอยากให้ลองย้อนกลับไปดูความหมายของวรรคที่หนึ่ง ซึ่งเป็น 'คู่วลี' กับวรรคนี้อีกครั้งครับว่า 'จิวกง' ได้เปิดประเด็นอะไรเอาไว้ ...  
'การที่จะประสานความร่วมมือ (遇) กับบรรดา (其) มหามิตร (配) ทั้งหลายนั้น หัวใจสำคัญ (主) ก็คือ ถึงแม้ว่า (雖) ทุกๆ รายละเอียด (旬) จะปราศจากข้อตำหนิติติงให้เป็นที่ค่อนขอดครหา (無咎) แต่การปฏิบัติต่อกัน (往) ก็ยังต้องมี (有) ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรี (尚) ของกันและกันเสมอ' ... เห็นความต่อเนื่องของคำว่า 尚 (shàng, ษั้ง, ษ้าง) ในวรรคที่หนึ่ง กับคำว่า 覿 (dí, ตี๋) ของวรรคนี้ที่สื่อถึง 'การให้เกียรติ' หรือ 'การให้ความเคารพ' มั้ยล่ะครับ ??!?! ... นั่นคือประเด็นหลักที่ 'จิวกง' อยากจะสื่อไว้ว่า นอกจาก 'ดุลยภาพแห่งผลประโยชน์ต่างตอบแทน' แล้ว 'ความเสมอภาคกันแห่งศักดิ์ศรี' ของทุกๆ ฝ่ายที่จะร่วมมือกัน คือหนึ่งใน 'คุณธรรม' ที่ไม่อาจละเลยโดยเด็ดขาด ...

เพราะฉะนั้น เรามาดูครับว่า 'จิวกง' ได้สรุปเรื่องราวทั้งหมดในวรรคนี้ว่ายังไง ...
'การจะยกระดับความมั่งคั่ง (豐) ให้กับแต่ละครัวเรือน (其屋) พร้อมๆ กับต้องคำนึงถึงการแบ่งสันปันส่วน (蔀) ให้กับแต่ละชุมชน (其家) อย่างเหมาะสม และครอบคลุมถึงรายละเอียดปลีกย่อย (闚) ของแต่ละเขตการปกครอง (其戶) นั้น หากแยกกันคิดแยกกันทำแบบตัวใครตัวมัน (闃其無人 คือไม่สนใจใครทั้งนั้น) โดยไม่อาจประสานความสัมพันธ์ของทั้งสามภาคส่วน (คือ 屋, 家, และ 戶) ให้มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน (三歲不覿) ย่อมจะส่งผลเป็นความล้มเหลวที่เลวร้าย (凶) ต่อโครงสร้างของทั้งสังคมโดยรวม' ...

แม้ว่าการจะพัฒนาชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญมั่งคั่งโดยสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องมีกฎระเบียบเป็นกรอบเกณฑ์ที่สมาชิกในทุกๆ ระดับชั้น จะต้องให้ความเคารพ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ 'ความไม่ผิดกฎหมาย' (雖旬無咎) กับ 'การปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ' (往有尚) นั้น ย่อมมีความแตกต่างในหลากหลายมิติด้วยกัน ... โดยเราต้องระลึกไว้เสมอว่า หลักสำคัญของ 'กฎระเบียบ' ทั้งหลายนั้น ก็คือกติกาที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อ 'การอยู่ร่วมกัน' ของสมาชิกทุกๆ คน ไม่ใช่เพื่อ 'เสริมสร้างความเป็นปัจเจก' (闃) ที่ต่างฝ่ายต่าง 'พอกพูนความเห็นแก่ตัว' (豐其沛) โดยอ้าง 'ความงมงายในกฎระเบียบ' เพียงเพื่อจะ 'ละเลยต่อความเป็นมนุษย์' ของกันและกัน (闃其無人) เท่านั้น



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เฟิง' คือ การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งทางสังคม : อสุนีบาตเหนืออัคนี

'การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่งในทางสังคม' หมายถึง 'การดำเนินงานให้พัฒนาไปอย่างเป็นระบบ ด้วยความเข้าใจในกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (亨) อันจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงความมีวุฒิภาวะของผู้นำ (王假之) ซึ่งจะต้องไม่กระทำการใดๆ (勿) ให้เป็นที่อึดอัดคับข้องใจ (憂) ของฝ่ายต่างๆ แต่จะต้องใช้ตวามมีเหตุมีผล (宜) บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจน (日) อย่างพอเหมาะพอสม (中) เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้แก่สังคมสืบต่อไป'

    • 'การที่จะประสานความร่วมมือ' (遇) กับบรรดา (其) มหามิตร (配) ทั้งหลายนั้น หัวใจสำคัญ (主) ก็คือ ถึงแม้ว่า (雖) ทุกๆ รายละเอียด (旬) จะ 'ปราศจากข้อตำหนิติติง' ให้เป็น 'ที่ค่อนขอดครหา' (無咎) แต่การปฏิบัติต่อกัน (往) ก็ยังต้องมี (有) 'ความเคารพ' ใน 'เกียรติ' และ 'ศักดิ์ศรี' (尚) ของ 'กันและกัน' เสมอ
    • 'การเสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง' (豐) โดย 'การแบ่งสันปันส่วนอย่างทั่วถึง' ให้แก่ทุกๆ ฝ่าย (其蔀) ด้วย 'เหตุ' ด้วย 'ผล' ที่ 'ชัดแจ้ง' (日) และ 'เที่ยงธรรม' (中) ย่อมจะบรรลุผล (見) แห่ง 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' อย่างแท้จริง (斗) เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ได้รับ 'การปฏิบัติต่อกัน' (往得) ด้วยเงื่อนไขของ 'ระเบียบแบบแผน' (疑) ที่ 'เปิดเผย' อย่าง 'ตรงไปตรงมา' (疾) 'ความเชื่อถือ' และ 'ความไว้วางใจ' ที่มีต่อกัน (有孚) ย่อมสำแดงออก (發) เป็น 'ความเคารพ' ใน 'ระบบระเบียบต่างๆ' ที่วางไว้แล้ว (若) อันจะเป็น 'รากฐานสำคัญ' ของ 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉) สำหรับสังคมทั้งหลายทั้งมวล
    • 'การยกระดับความมั่งคั่ง' (豐) ด้วย 'การกอบโกยอย่างไม่รู้จักพอ' ของแต่ละฝ่าย (其沛) นั้น ย่อมทำให้ 'ความชัดเจน' (日) และ 'ความเที่ยงธรรม' (中) แห่ง 'กฎระเบียบต่างๆ' ต้องประสบกับ (見) 'ความมัวหมอง' (沬) ในขณะที่ 'การลดราวาศอกด้วยความรู้จักพอ' ของแต่ละฝ่าย (折其右肱) จะไม่ก่อให้เกิด (無) 'ความสูญเสีย' (咎) ต่อ 'โครงสร้าง' ของ 'ทั้งระบบ'
    • 'การเสริมสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง' (豐) ด้วย 'กรอบเกณฑ์ของกติกา' ต่างๆ (其蔀) อย่าง 'ชัดแจ้ง' (日) และ 'เที่ยงธรรม' (中) ย่อมปราฏผล (見) เป็น 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' อย่าง 'สร้างสรรค์' (斗) เพื่อ 'ประสาน' (遇) ประโยชน์อันเป็น 'สาระสำคัญ' ของกลุ่มต่างๆ (其夷主) ให้บังเกิดผลเป็น 'ความเจริญรุ่งเรือง' (吉)
    • 'การร่วมดำเนินงาน' (來) อย่าง 'มีระบบระเบียบ' เป็นขั้นเป็นตอน (章) ด้วย 'มิตรภาพความมีน้ำใจ' (有慶) และ 'การให้เกียรติ' (譽) ซึ่งกันและกัน คือการอำนวย 'ความประเสริฐ' (吉) ให้บังเกิดแก่ 'สังคมโดยรวม'
    • การจะ 'ยกระดับความมั่งคั่ง' (豐) ให้กับ 'แต่ละครัวเรือน' (其屋) พร้อมๆ กับต้องคำนึงถึง 'การแบ่งสันปันส่วน' (蔀) ให้กับ 'แต่ละชุมชน' (其家) อย่าง 'เหมาะสม' และ 'ครอบคลุม' ถึง 'รายละเอียดปลีกย่อย' (闚) ของ 'แต่ละเขตการปกครอง' (其戶) นั้น หาก 'แยกกันคิดแยกกันทำ' แบบ 'ตัวใครตัวมัน' (闃其無人 คือไม่สนใจใครทั้งนั้น) โดยไม่อาจ 'ประสานความสัมพันธ์' ของทั้งสามภาคส่วน (คือ 屋, 家, และ 戶) ให้มี 'ความสอดคล้อง' ไปใน 'ทิศทางเดียวกัน' (三歲不覿) ย่อมจะส่งผลเป็น 'ความล้มเหลวที่เลวร้าย' (凶) ต่อ 'โครงสร้าง' ของ 'ทั้งสังคม'



The Organization Code :


'การสร้างเสถียรภาพอันมั่งคั่ง' คือการส่งเสริม 'กิจกรรมทางการตลาด' (☳) ด้วย 'ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน' (☲) ดุจดั่ง 'ฟ้าคำราม'  (☳) เหนือ 'อัคคี' (☲) ที่โหมกระหน่ำ สร้างความสว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ ; 'ระดับนโยบาย' จะต้องมีความ 'อ่อนนอกแข็งใน' (⚍) ; 'การบริหารงาน' จะต้องมีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นอย่างสร้างสรรค์ (⚌) ; และต้อง 'ปฏิบัติงาน' ด้วย 'ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง' (⚏)

'ความมีเสถียรภาพ' นั้น ย่อมเป็นผลที่สืบเนื่องมาจาก 'ความเข้าใจ' ใน 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ที่จะต้องคิดและทำ 'อย่างเป็นระบบระเบียบ' และมี 'ลำดับขั้นตอน' ที่ 'ชัดเจน' ซึ่งได้ 'เตรียมการไว้แล้วเป็นอย่างดี' เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นจาก 'ความเสียดสี' หรือ 'ความกระทบกระทั่งกัน' ระหว่างส่วนงานต่างๆ ที่ต้อง 'ปฏิบัติงานร่วมกัน' โดย 'ผู้นำ' จะต้องมี 'วิสัยทัศน์ที่ชัดแจ้ง' และมี 'วุฒิภาวะ' ที่เพียงพอต่อ 'การชี้นำด้วยเหตุด้วยผล' อันจะ 'เป็นที่ยอมรับได้' ของ 'ทุกๆ ฝ่าย'

    • แม้ว่า 'ความถูกต้องชอบธรรม' จะเป็นหนึ่งใน 'ปัจจัยสำคัญ' ของ 'การอยู่ร่วมของเหล่าสมาชิก' ในแต่ละองค์กร แต่ 'พลังแห่งศรัทธา' และ 'ความพึงพอใจ' ในกันและกันนั้นต่างหาก ที่จะเป็น 'ปัจจัยขับเคลื่อน' ให้ 'สมาชิกของทั้งองค์กร' สามารถ 'ร่วมกันฟันฝ่า' ไปใน 'ทิศทางที่แน่นอน' ด้วย 'ความมุ่งมั่นตั้งใจ'
    • 'ความมีเสถียรภาพ' ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วย 'การกำหนดกรอบเกณฑ์' ของ 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ ใน 'การมอบหมายความรับผิดชอบ' ให้กับ 'แต่ละส่วนงาน' เพื่อให้ทั้ง 'ความรับผิด' และ 'ความรับชอบ' ของ 'ทุกๆ ฝาย' มี 'บรรทัดฐาน' ที่ 'ชัดเจน' และ 'เที่ยงธรรมอย่างสมควรแก่เหตุ' ตาม 'เงื่อนไข' ของ 'กฎ-กติกา' ที่จะต้องสะท้อนถึง 'ความเคารพ' ใน 'เกียรติภูมิ' และ 'ศักดิ์ศรี' ของ 'กันและกัน'
    • 'ความละโมบ' ของแต่ละฝ่าย อันเป็นเหตุแห่ง 'การกอบโกยอย่างไม่รู้จักพอ' และ 'ความเอารัดเอาเปรียบ' ระหว่างกันอย่างไม่สิ้นสุดนั้น ย่อมเป็น 'การบ่อนทำลาย' ทั้ง 'ความน่าเชื่อถือ' และ 'ความเลื่อมใสศรัทธา' ใน 'กฎระเบียบ' ต่างๆ ที่แม้ว่าจะมี 'ความชัดเจน-เที่ยงธรรม' อยู่แล้วก็ตาม ; ในขณะที่ 'ความรู้จักพอ' อันเป็นเหตุแห่ง 'การยอมลดราวาศอก' ระหว่างกันของเหล่าสมาชิก ย่อมจะ 'ผดุงไว้' ซึ่ง 'สัมพันธภาพอันอบอุ่น' ใน 'ความถ้อยทีถ้อยอาศัย' ที่ต่างฝ่ายต่างมี 'ความรับผิดชอบร่วมกัน' ต่อไปได้
    • 'การธำรงไว้' ซึ่ง 'ความชัดแจ้ง' และ 'ความเที่ยงธรรม' ของบรรดา 'กฎ-กติกา' ต่างๆ นั้น ย่อมเป็นเหตุแห่ง 'ความร่วมแรงร่วมใจกัน' อย่าง 'สร้างสรรค์' ในการที่จะ 'ประสานประโยชน์ระหว่างกัน' เพื่อ 'ความเจริญรุ่งเรือง' อันเป็น 'สาระสำคัญ' ของทุกๆ ฝ่าย
    • 'ความเป็นระบบระเบียบ' ทั้งหลายนั้น ย่อมสืบเนื่องมาจาก 'ความเหมาะสม' ของ 'ขั้นตอน' และ 'กระบวนการปฏิบัติงาน' ;  ในขณะที่ 'ความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างราบรื่น' ย่อมเป็นผลมาจาก 'มิตรภาพความมีน้ำใจ' ที่ต่างฝ่ายต่าง 'ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ' และ 'ให้เกียรติซึ่งกันและกัน'
    • 'ความบูรณาการ' ของ 'ระบบระเบียบ' ต่างๆ ที่มี 'ความสอดคล้องกัน' ทั้งในแง่ของ 'ทิศทาง' และ 'กำหนดการ' ตลอดจน 'การจัดสรรทรัพยากร' ให้กับแต่ละภาคส่วน 'อย่างเหมาะสม' นั้น ย่อมเป็น 'ปัจจัยสำคัญ' ต่อ 'การเสริมสร้างความมั่งคั่ง' ให้แก่องค์กรโดยรวม ; การ 'แยกกันคิด-แยกกันดำเนินงาน' อย่างไม่มี 'ความประสานสอดคล้อง' ย่อมนำไปสู่ 'ความสับสนวุ่นวาย' อันเป็น 'ปัจจัยบ่อนทำลาย' ใน 'ระดับรากเหง้า' ของ 'ความเป็นโครงสร้าง' ของ 'ทั้งองค์กร'