Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)

 

The Original Text :


第十四卦 : 大有

大有 : 火天大有 ‧ 離上乾下

大有 : 元亨‧

  • 初九 ‧ 無交害‧匪咎‧艱則無咎‧
  • 九二 ‧ 大車以載‧有攸往‧無咎‧
  • 九三 ‧ 公用亨于天子‧小人弗克‧
  • 九四 ‧ 匪其彭‧無咎‧
  • 六五 ‧ 厥孚交如‧威如‧吉‧
  • 上九 ‧ 自天祐之‧吉無不利‧

 

ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ และปัญญา แจ่มใส (⚌), พลานามัย กระชับรัดกุม (⚎)

ความหมายในเชิงบริหาร : 'นโยบาย' และ 'แผนงาน' พร้อมรุก (⚌), 'ปฏิบัติการ' ด้วยความรัดกุม (⚎)

ความหมายของสัญลักษณ์ : คือความยั่งยืน, เจิดจรัสเหนือฟากฟ้า ;)



ความหมายของชื่อเรียก :  Sustainability : ความยั่งยืน


หากจะว่ากันตามตัวอักษร 大有 (dà yǒu, ต้าโหฺย๋ว) แล้ว คำนี้น่าจะ 'ตีความ' ได้หลายความหมายพอสมควร เพราะมันสามารถที่จะแปลว่า 'การครอบครองที่ยิ่งใหญ่', 'ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่', 'ความอุดมสมบูรณ์', 'ความมั่งคั่ง', 'การดำรงอยู่อย่างยิ่งยง', 'ผลลำเร็จในบั้นปลาย', 'ความเจริญแห่งผลสำเร็จ' ... โดยผมพิจารณาแล้วว่า ไม่น่าจะมีคำอื่นใดที่มีความหมายครอบคลุมได้ทั้งหมดนั้นนอกจากคำว่า Sustainability หรือ 'ความยั่งยืน'

ปรกติแล้วอักษร 大 (dà, ต้า) จะแปลว่า 'ใหญ่', 'ยิ่งใหญ่', 'เติบใหญ่', และอาจจะหมายถึง 'มากมาย', 'ยาวนาน' ; บางครั้งก็ยังใช้ในความหมายเดียวกับ 太 (tài, ไท่) หรือ 泰 (tài, ไท่) ซึ่งแปลว่า 'สูงที่สุด', 'ยิ่งใหญ่ที่สุด', 'สวยงามที่สุด', 'ดีที่สุด', 'สงบร่มเย็นที่สุด' ... ส่วนอักษร 有 (yǒu, โหฺย่ว) แปลว่า 'มี', 'มั่งมี', 'ได้รับ', 'ดำรงอยู่', 'งอกเงยขึ้นมา', 'เกิดขึ้นมา' ซึ่งแผลงความหมายมาจาก 'ภาพอักษร' ของ 'มือ' ตรงด้านบน และ 'เนื้อ' ที่อยู่ด้านล่าง อันหมายถึง 'มือที่คว้าเอาอาหารมาไว้' หรือ 'สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยมือ' ... ซึ่งก็จะทำให้ความหมายของ 大有 (dà yǒu, ต้าโหฺย๋ว) อาจจะสามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ความสงบร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ที่สำผัสได้' นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่หลากหลายของ 大有 (dà yǒu, ต้าโหฺย๋ว) นี้เป็น 'เงาสะท้อน' มาจากวรรคที่หกของบทที่สองที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ว่า 龍戰于野其血玄黃 (lóng zhàn yǘ yě qí xüè xǘan huáng, ล๋ง จั้น ยฺวี๋ เหฺยี่ย ชี๋ เซฺวี่ย เซฺวี๋ยน ฮวั๋ง) ซึ่งผมอธิบายความหมายเชิงสัญลักษณ์ไว้ว่า 'ปราชญ์ หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย (龍) หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น (戰) ย่อมจะนำไปสู่ (于) ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย (野) … ซึ่ง (其) นับเป็นความสูญเสีย (ทั้งชีวิตและเลืดเนื้อ, 血) อย่างสุดที่จะประมาณได้ (玄黃)' อันสะท้อนกลับเป็นความหมายว่า 'การประกอบกรรมดีต้องมิใช่เพื่อการชิงดีชิงเด่น อันจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง' ... ซึ่ง 'การไม่ชิงดีชิงเด่น' ในผลสำเร็จใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความสมัครสมานสามัคคี' ของบรรดาปราชญ์ทั้งหลาย อันจะนำไปสู่ 'ความสงบร่มเย็น' และ 'ความยั่งยืน' อันเป็นความหมายของ 'ชื่อเรียกสัญลักษณ์' ประจำบทนี้นี่เอง ;)



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
元亨
yuán hēng
เยฺวี๋ยน เฮิง


บทนี้ King Wen เล่นบันทึกดื้อๆ ด้วยอักษรแค่สองตัวเท่านั้นเอง :P ซึ่งก็คงต้องย้อนกลับไปดูความหมายของคำทั้งสองที่เล่าไว้ตั้งแต่บทที่หนึ่งอีกครั้งล่ะครับ ...

元 อ่านว่า yuán (เยฺวี๋ยน) แปลว่า 'หัว' (頭,首), 'เริ่มต้น' (始), 'ใหญ่' (大), 'ดั้งเดิม' หรือ 'ต้นแบบ' (基本), หรือ 'ของแท้', หรือ 'ความริเริ่ม' (initiative), 'ความสร้างสรรค์' (creative) ; นอกจากนั้นในสมัยก่อนก็ยังมีความหมายเหมือนกับ 天 ที่แปลว่า 'ฟ้า', 'สวรรค์', หรือ 'เทพเจ้า' ได้ด้วย (ในฐานะของผู้ให้กำเนิด หรือต้นธารของสรรพสิ่ง) ; แล้วก็เลยทำให้สามารถตีความเป็น 'เจ้าชีวิต' หรือ Emperor ได้อีกต่างหาก เนื่องจากคติความเชื่อของชาวจีนในยุคก่อนนั้น จะถือว่าจักรพรรดิของพวกเขาคือ 'โอรสสวรรค์' ผู้ถ่ายทอด 'ลิขิตฟ้า' ลงมาสู่โลกมนุษย์ … ซึ่งถ้าจะใช้คำอื่นในยุคปัจจุบันก็น่าจะตีความให้หมายถึง 'ผู้นำ' ได้ด้วย ;)

亨 อ่านว่า hēng (เฮิง) แปลว่า 'ความเข้าใจ' (understanding), 'ความตระหนักรู้' (insight, enlightening), 'ความชัดเจน' (เพราะว่าเข้าใจ), 'ความราบรื่น' (smoothly, prosperous), 'ไร้อุปสรรค' (ในความหมายของราบรื่น), และ 'ความก้าวหน้า' (progressing, เพราะว่าไร้อุปสรรค), 'มีระบบระเบียบ'

คำว่า 元亨 จึงสามารถที่จะมีความหมายได้ตั้งแต่ 'ความตระหนักรู้ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก', 'พัฒนาการอย่างสร้างสรรค์', 'ความก้าวหน้าที่แท้จริง', 'พัฒนาการอย่างมั่นคง' คือ 'มีเป็นตัวของตัวเองอย่างคงเส้นคงวา' หรือจะให้หมายถึง 'พัฒนาการอันยิ่งใหญ่' ซึ่งก็จะไปพ้องความหมายกับ 大有 ถ้าเราจะ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่' ด้วย ... หากจะแปลกันยาวๆ เพื่อให้ครอบคลุมความหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราก็น่าจะ 'ตีความ' บันทึกของ King Wen ว่า 'ความยั่งยืน' คือ 'สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตระหนักอย่างชัดเจนเป็นอันดับแรก เพื่อจะสรรค์สร้างความเป็นระบบระเบียบ อันจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงในอนาคต' .. แต่ถ้าจะเอาแน่ๆ ให้ได้ซักความหมายหนึ่งลงไป ผมคิดว่าเราคงต้องแคะเอาจากบทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' ดีกว่า :)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยาง :

無交害匪咎艱則無咎
wú jiāo hài fěi jiù jiān zé wú jiù
อู๋ เจียว ไฮ่ เฝ่ย จิ้ว เจียน เจ๋อ อู๋ จิ้ว


交 อ่านว่า jiāo (เจียว) แปลว่า 'เกี่ยวข้องกัน', 'ติดต่อกัน', 'สัมพันธ์กัน', 'แลกเปลี่ยนกัน', 'คบค้าสมาคมกัน', 'ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน' ; อาจจะหมายถึง 'การพบปะ' หรือ 'การอยู่ร่วมกัน' ก็ยังได้ ; แต่ในความหมายอื่นๆ ก็ยังสามารถหมายถึง 'สวยงาม' ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'การเปรียบเทียบกัน', แต่ก็แฝงความหมายที่ไม่ค่อยดีอยู่ในตัว เพราะมันสามารถหมายถึง 'ความเย่อหยิ่งลำพอง', 'ความหลงตัวเอง', หรืออีกความหมายหนึ่งจะมีความหมายเหมือนกับ 狡 (jiǎo, เจี่ยว) ที่แปลว่า 'เจ้าเล่ห์เพทุบาย' ได้อีกด้วย

害 อ่านว่า hài (ไฮ่) แปลว่า 'เภทภัย', 'โรคร้าย', 'อันตราย', 'ความชั่วร้าย', 'สังหาร', 'กระวนกระวาย', หรือ 'หวาดกลัว'

艱 อ่านว่า jiān (เจียน) แปลว่า 'ยากลำบาก', 'อันตราย' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การบุกเบิก' โดยเฉพาะการ 'หักร้างถางพง' เพื่อ 'บุกเบิกผืนดิน' ก่อนที่จะทำการเพาะปลูกใดๆ ; บางครั้งจึงหมายถึง 'ขาดแคลน', 'แร้นแค้น' หรือ 'อัตคัด' ; ซึ่งทั้งหมดนั้นจะสามารถแผลงเป็น 'ความมีน้ำอดน้ำทน' หรือ 'การรู้จักควบคุมบังคับตนเอง'

則 อ่านว่า zé (เจ๋อ) แปลว่า 'แบบอย่าง', 'มาตรฐาน', 'กฎระเบียบ' ; สามารถแปลว่า 'เงื่อนไข', 'ความเป็นเหตุเป็นผล', หรือ 'ความแน่นอน' ในลักษณะที่เป็นไปตาม 'กฎระเบียบ' หรือ 'เงื่อนไข' หนึ่งๆ

มองปร๊าดเดียวผมนึกถึงวรรคที่หกของบทที่สองทันทีเลยครับ ... 龍戰于野其血玄黃 (ปราชญ์หรือผู้ที่มีความเก่งกาจทั้งหลาย หากมุ่งเน้นอยู่กับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ย่อมจะนำไปสู่ความโกลาหลอลหม่านอย่างหาความเจริญใดๆ ไม่ได้เลย … ซึ่งนับเป็นความสูญเสียอย่างสุดที่จะประมาณได้) ... โดย 'จิวกง' สำทับลงไปในวรรคนี้ว่า 'หากปราศจาก (無) ความผูกพยาบาทอาฆาตต่อกัน (交害) หรือการกล่าวโทษแก่กันอย่างเลื่อนลอย (匪咎) การตรากตรำทำงานด้วยความทุ่มเท (艱) อย่างเป็นระบบระเบียบ (則) ย่อมไม่มี (無) ความผิดพลาด (咎) ใดๆ'

แล้วถ้าเราเอาทั้งสองวรรคที่ว่านี้มาเรียงต่อกัน โดยตัดส่วนขยายความออกไปให้หมด เราก็จะได้วลีอย่างนี้ครับ 龍戰于 其血玄黃 無交害 匪咎 無咎 ซึ่งเราก็จะเห็นคำที่มีความหมายตรงกันข้ามอย่างชัดเจนคือ  (yě, เหฺยี่ย) ที่แปลว่า 'ป่าเถื่อน', 'ไร้ระเบียบแบบแผน' กับ  (zé, เจ๋อ) ที่หมายถึง 'ความเป็นระเบียบ', 'แบบอย่าง', 'มาตรฐาน' ซึ่งเป็นผลมาจาก 'การทุ่มเทแรงกายแรงใจ' ต่างลักษณะกัน ... โดย 野 (yě, เหฺยี่ย) นั้นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดมาจาก  (zhàn, จั้น) ซึ่งเป็น 'การต่อยตี', 'การชิงดีชิงเด่น' ... ในขณะที่  (zé, เจ๋อ) เป็นผลที่เกิดมาจาก  (jiān, เจียน) ที่หมายถึง 'การตรากตรำทำงานอย่างอดทน' ... ความหมายโดยรวมๆ ก็จะประมาณว่า 'คนเก่งๆ ที่คิดแต่จะแก่งแย่งแข่งดีกัน ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสีย หากมีเรี่ยวแรงมากพอที่จะผูกพยาบาทต่อกัน หรือสรรหาคำร้ายมาป้ายสีแก่กันอย่างเลื่อนลอย มิสู้เก็บเรี่ยวแรงเหล่านั้นมาทำงานอย่างทุ่มเทไม่ดีกว่ารึไง ?!' ... :D

แต่ก็มีตำราอื่นๆ 'ตีความ' วรรคนี้ของ 'จิวกง' แตกต่างออกไปจากที่ผมเล่าไว้เหมือนกัน โดยจะให้ความหมายกันว่า 'หากปราศจาก (無) ความเย่อหยิ่งลำพอง (交) ความอาฆาตมาดร้าย (害) การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น (匪 ในความหมายว่า 'ปล้น' หรือ 'ฉกชิง') หรือการกล่าวร้ายป้ายสี (咎) แต่มุ่งกระทำความดีด้วยความทุ่มเท (艱) อย่างมีระบบระเบียบ (則) ย่อมไม่มี (無) ความผิดพลาด (咎) ใดๆ' ... เรียกว่าถอด 交, 害, 匪, 咎. ออกมาเป็น 'สี่บัดซบ' ที่ไม่พึงมีในจิตใจเลยทีเดียว ... อันนี้สะใจมาก ... :D

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมองในความหมายที่ผมเล่าเอาไว้ หรือมองในความหมายของ 'สี่บัดซบ' ที่จะต้องหลีกเลี่ยง ความหมายโดยรวมของวรรคนี้ก็จะไปช่วยเน้นย้ำความหมายของวรรคที่หกของบทที่สองอยู่ดี ซึ่งเป็น 'ข้อแนะนำ' ให้รู้จัก 'ทุ่มเทแรงกายแรงใจ' เพื่อ 'การสร้างสรรค์' ไม่ใช่เพื่อ 'การทำลายล้างกันเอง' :) และเป็นการขยายความให้ 大有 (dà yǒu, ต้าโหฺย่ว) มีความหมายว่า 'ความสงบร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ที่สัมผัสได้' หรือที่ King Wen ใช้คำว่า 'พัฒนาการอย่างมั่นคง' (元亨) ซึ่งก็จะแผลงกลับไปเป็น 'ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน' นั่นเอง ;)

 

สอง หยาง :

大車以載有攸往無咎
dà chē yǐ zài yǒu yōu wǎng wú jiù
ต้า เอ อี่ ไจ้ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง อู๋ จิ้ว


以 อ่านว่า yǐ (อี่) แปลได้หลายอย่าง อาจจะหมายถึง 'ใช้ประโยชน์', 'โดยการใช้ ...' หรือ 'โดยอาศัย ...' (by means of), 'ขึ้นอยู่กับ', 'เป็นเช่นนั้น', 'ดังนั้น', 'เพราะว่า', 'เพื่อ (จุดมุ่งหมายหนึ่งๆ)' (in order to) ; บางครั้งยังใช้เป็นคำที่บ่งบอกถึงเวลา หรือระบุตำแหน่งแห่งหนที่แน่นอน

載 อ่านว่า zài (ไจ้) แปลว่า 'บรรทุก', 'แบกรับ', 'ขนส่ง', 'เคลื่อนย้าย' (เล่าไปแล้วในวรรคที่หกของบทที่เก้า) ; แต่มันก็สามารถที่จะใช้ในความหมายเดียวกับ 乘 (chéng, เฌิ๋ง) ที่หมายถึง 'ขับขี่' หรือ 'ควบคุม' เหมือนที่ใช้กับคำว่า 乘馬 (chéng mǎ, เฌิ๋ง หฺม่า) ที่หมายถึง 'การขี่ม้า', 'การควบคุมม้า', หรือ 'การฝึกม้า' อย่างที่เคยเล่าไปบ้างแล้ว

คำว่า 大車以載 ถ้าว่ากันตามตัวอักษรก็จะหมายถึง 'รถคันใหญ่ที่ใช้บรรทุกสิ่งของ', 'การบรรทุกสิ่งของลงไปบนรถคันใหญ่', 'การโดยสารไปบนรถคันใหญ่', 'การขับเคลื่อนรถคันใหญ่', หรือ 'รถคันใหญ่จำเป็นต้องอาศัยการควบคุมบังคับ' ... แต่ ... มันเกี่ยวอะไรกับ 'ความยั่งยืน' ที่เป็น 'ชื่อบท' หรือมีส่วนไหนที่จะไปเกี่ยวข้องกับความหมายของวรรคที่ผ่านมาในบทเดียวกันนี้มั้ยล่ะ ??!! ... ซ้ำร้ายกว่านั้น มันเกี่ยวอะไรกับ 有攸往無咎 ซึ่งเป็นวลีส่วนที่เหลือในวรรคเดียวกันของมันบ้างมั้ย ??!! ... ไม่มีเลย !!! ... เพราะฉะนั้น วลีที่ว่า 大車以載 จึงน่าจะต้องถูกใช้ใน 'ความหมายเชิงสัญลักษณ์' อะไรบางอย่างแน่ๆ ... ;)

ผมคิดว่าเราน่าจะลองย้อนกลับมาดูที่ตัว 車 (chē, เอ) อีกครั้งครับ ปรกติมันก็แปลว่า 'รถ' ไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยคน, ด้วยสัตว์, หรือด้วยกำลังกลใดๆ เราก็เรียกว่า 車 ด้วยกันทั้งหมดนั่นแหละ ซึ่งดูเหมือนว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้ยากมาก ... แต่ ... ช้าก่อน !!! ... คำว่า 'รถ' ไม่ใช่คำแปลของ 'รถ' นึกออกมั้ยครับ ;) คำแปลจริงๆ ของ 車 (chē, เอ) คือ 'ยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนที่บนบก' หรือ 'อุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยล้อและเพลา' นี่คือ 'คำนิยาม' ของ 車 (chē, เอ) ตามพจนานุกรมทั่วๆ ไป จึงทำให้มันสามารถแผลงเป็น 水車 ซึ่งแปลว่า 'กังหันน้ำ' และสามารถแปลว่า 'การหมุน' หรือ 'วงล้อ' ก็ยังได้อีกด้วย ... และตรงนี้เองที่ผมมองว่า 大車 อาจจะหมายถึง 'ล้ออันใหญ่' หรือ 'ล้ออันยิ่งใหญ่' ... ซึ่งเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะกำลังเอ่ยถึง 'ธรรมจักร' หรือ 'วงล้อแห่งธรรม' !!!!

ถัดจากเรื่องรถเรื่องล้อเข้าไปก็จะมีวลีว่า 有攸往 ซึ่งถูกใช้เป็นครั้งแรกในบทที่สองโดย King Wen ครับ ซึ่งวลีที่ King Wen ใช้นั้นก็คือ 君子有攸往 โดยผมให้ความหมายไว้ว่า 'คนดีย่อมต้องได้รับการตอบสนองที่ดีไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว' ... แล้ว King Wen ก็ใช้อีกครั้งหนึ่งในบทที่สามว่า 勿用有攸往 ซึ่งผม 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การไม่อวดโอ่ย่อมได้รับผลสนองที่ดี' ... จึงเป็นไปได้ว่า 'จิวกง' อาจจะยืมวลีเหล่านั้นมาใช้ โดยตั้งใจให้ 大車以載 มีอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับ 君子 (ปราชญ์ หรือคนดี) กับ 勿用 (ไม่โอ่อวด) เพื่อให้ไปรับกับวลีแรกของวรรคที่หนึ่งซึ่งบันทึกไว้ว่า 無交害匪咎 (ไม่ให้ร้ายหรือกล่าวโทษผู้อื่นอย่างเลื่อนลอย) ซึ่งปิดท้ายวลีด้วยคำว่า 無咎 (ไม่ผิดพลาด) ด้วยกันทั้งคู่ ...

เมื่อปะติดปะต่อความหมายของวลีเหล่านั้นทั้งหมดเข้าด้วย วลีที่น่าจะเหมือนกับเป็น synonym ของวรรคนี้ก็คือ 直方大不習無不利 (zhí fāng dà bù xí wú bù lì, จื๋อ ฟัง ต้า ปู้ ซี๋ อู๋ ปู้ ลี่) ซึ่งก็คือวรรคที่สองของบทที่สอง โดยผมให้ความหมายไว้ว่า 'การยึดมั่นในหลักแห่งธรรม และการประกอบกรรมดี ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในการกระทำนั้นๆ โดยไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้อง หรือไม่จำเป็นต้องดันทุรังใดๆ เนื่องเพราะคุณงามความดีย่อมไม่เคยไม่ปรากฏจากการประกอบกรรมดีเหล่านั้น' ...

ความหมายที่ควรจะเป็นของวรรคนี้ก็คือ 'หลักคุณธรรม (大車) สำคัญที่ (以) ต้องยึดถือและนำไปสู่การปฏิบัติ (載) จึงจะได้ผลสนองที่ดี (有攸往) และไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย (無咎)' ... โดยการที่ 'จิวกง' เลือกใช้อักษร 車 (chē, เอ) ที่หมายถึง 'ยานพาหนะ', หรือ 'เครื่องมือ' และ 載 (zài, ไจ้) ที่มีความหมายในลักษณะของ 'การแบก', หรือ 'การบรรทุก' ก็น่าจะสะท้อนทัศนะของ 'จิวกง' ในประเด็นนี้ด้วยว่า 'การประกอบกรรมดี' นั้นเป็น 'ภาระหน้าที่' ที่ปราชญ์พึงต้อง 'แบกรับไว้' ... ซึ่งก็จะไปสอดรับกับความหมายของ 艱則 (jiān zé, เจียน เจ๋อ) ในวรรคที่หนึ่งที่สามารถ 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การยึดถือเป็นระเบียบปฏิบัติอย่างจริงจัง' ก็ได้ด้วย ... เยี่ยมมาก !!!

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในวลีดังกล่าวยังสะท้อนแนวคิดที่ว่า 'หลักธรรมที่พล่ามกันแต่ปากนั้นย่อมไม่ก่อผลดีใดๆ เลย' ยิ่งประเภทที่ 'อวดอ้างสรรพคุณ' เพียงเพื่อหวังจะ 'กดข่มผู้อื่น' ให้ด้อยคุณค่าลงไปด้วยแล้ว ย่อมเป็นการกระทำที่รังแต่จะสร้างความร้าวฉานจนกลายเป็น 'การชิงดีชิงเด่น' อย่าง 'ไร้วัฒนธรรม' ของบรรดา 'ผู้เก่งกาจ' ทั้งหมาย (龍戰于野) ซึ่งนับเป็น 'สิ่งเลวร้าย' ที่บรรดาผู้ที่มีพฤติกรรม 'มือถือสาก ปากถือศีล' มักจะก่อเป็น 'มรดกบาป' ไว้ในทุกๆ สังคม โดย 'จิวกง' ระบุลงไปอย่างชัดเจนเลยว่า มันคือ 'ความสูญเสียอย่างสุดที่จะประมาณ' (其血玄黃) ... ในวรรคที่หกของบทที่สอง !!

 

สาม หยาง :

公用亨于天子小人弗克
gōng yòng hēng yǘ tiān zǐ xiǎo rén fú kè
กง โยฺว่ง เฮิง ยฺวี๋ เทียน จื่อ เสี่ยว เญิ๋น ฟู๋ เค่อ


มีอักษรง่ายๆ เพียงตัวเดียวที่ยังไม่เคยเล่าในเอกสารชุดนี้ นั่นก็คือ 公 ที่อ่านว่า gōng (กง) แปลว่า 'สาธารณะ', 'สิ่งที่ยึดถือร่วมกัน', 'ประเทศชาติ', 'สังคม', 'มหาชน', 'เปิดเผย', 'ยุติธรรม' ; และใช้เป็นคำสำหรับยกย่องผู้ที่มีวัยวุฒิสูงในลักษณะของ 'ผู้เฒ่า', 'ผู้แก่', หรือ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ในสังคม ; ในสมัยราชวงศ์โจว คำนี้ยังถูกใช้เป็นชื่อเรียก 'ตำแหน่งขุนนางระดับสูง' อีกด้วย ... อย่างไรก็ตาม คำว่า 公用 (gōng yòng, กง โยฺว่ง) นั้นมีความหมายที่ค่อนข้างตรงตัวของมันเองอยู่แล้วคือ 'สาธารณประโยชน์' ... แต่หลายตำราพอเห็นคำว่า 天子 (tiān zǐ, เทียน จื่อ) ที่แปลว่า 'โอรสสวรรค์' หรือ 'ฮ่องเต้' ก็รีบแปลคำว่า 公 ให้หมายถึง 'ขุนนางผู้ใหญ่' หรือ The Prince ทันที เพราะเข้าใจว่า 'จิวกง' (周公) คงจะกำลังหมายถึงตัวเอง !!!!

ความจริงแล้วคำว่า 天子 (tiān zǐ, เทียน จื่อ) มี synonyms ที่หมายถึง 'ฮ่องเต้' อีกหลายคำด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 帝 (dì, ตี้), 皇 (huáng, ฮว๋าง), 皇帝 (huáng dì, ฮว๋าง ตี้), 王 (wáng, วั๋ง), 君 (jün, จฺวิน), 大君 (dà jün, ต้า จฺวิน), 君子 (jün zǐ, จฺวิน จื่อ), หรือแม่แต่ 大人 (dà rén, ต้า เญิ๋น) ... ซึ่งผมเชื่อว่า 'ความตั้งใจ' ของ 'จิวกง' ที่เลือกใช้คำว่า 天子 (tiān zǐ, เทียน จื่อ) นั้น น่าจะต้องการเน้น 'ความแตกต่างอย่างสุดขั้ว' กับคำว่า 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) มากกว่า ซึ่งถ้าจะแปลกันด้วยสำนวนบู๊ลิ้มก็ต้องใช้คำว่า 'เทพบุตร' (天子) กับ 'ชนชั้นมุสิก' (小人) เลยทีเดียว :)

ถ้าว่ากันตาม 'ความต่อเนื่อง' ของเนื้อความทั้งหมด โดยอาศัยวรรคที่หกของบทที่สองเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ 'จิวกง' พยายามจะสื่อสารออกมาก็คือ 'การถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน' ซึ่งจริงๆ ก็คือ 'การร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน' ไม่ใช่มัวแต่ 'แก่งแย่งแข่งดีเพื่อตัวเอง' ... ดังนั้น ความหมายของวรรคนี้จึงควรจะได้รับ 'การตีความ' ว่า 'ความเจริญรุ่งเรืองแห่งสาธารณชน (公用亨) ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะจิตใจของผู้เจริญ (于天子) ในขณะที่คนถ่อย (小人) ย่อมรู้จักแต่การกอบโกย (弗克 หมายถึง 'สั่งสมเข้ามา') เพื่อประโยชน์สุขของตนแต่ฝ่ายเดียว'

จะสังเกตว่าผมยังคงความหมายของ 弗 (fú, ฟู๋) ให้หมายถึง 'รวบรวม', หรือ 'จับมัดรวมกัน' เหมือนในบทที่แล้ว ไม่ได้ใช้ในความหมายว่า 不 (bù, ปู้) ที่แปลว่า 'ไม่' เหมือนกับตำราอื่นๆ ซึ่งหากเราจะแปลวลี 小人弗克 ว่า 'คนถ่อยย่อมไร้ความสามารถ' มันก็จะแฝงความหมายว่า 'ไม่สามารถอุทิศตนเพื่อผู้อื่น' อยู่ดี ... เพราะฉะนั้น การระบุลงไปให้ชัดๆ เลยว่า 'คนถ่อย (小人) ย่อมมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว และไม่เคยคิดที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น' น่าจะสะท้อน 'ความตรงข้าม' กับ 'แนวปฏิบัติของผู้เจริญ' (天子) ได้อย่างชัดเจนกว่า เพราะ 'ปราชญ์ผู้เจริญ' ย่อมกระทำการเพื่อ 'ความเจริญแห่งมหาชน' (公用亨) เสมอ ... เท่านั้นแหละ !!

 

สี่ หยาง :

匪其彭無咎
fěi qí péng wú jiù
เฝ่ย ชี๋ เพิ๋ง อู๋ จิ้ว


ขอเล่าย้อนตัว 匪 (fěi, เฝ่ย) อีกครั้งนะครับ มันแปลว่า 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … ในภาพอักษรเป็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)' ...

อีกความหมายหนึ่งของ 匪 (fěi, เฝ่ย) มันก็เป็น 'อักษรโบราณ' ของ 篚 (fěi, เฝ่ย) ที่หมายถึง 'ตะกร้า' ซึ่งในสมัยก่อนก็คือพวกภาชนะที่สานขึ้นมาจากไม้ (มีตัว  竹 กำกับอยู่ด้านบน) เพื่อเอาไว้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ … ไอ้ตรงที่สามารถสื่อถึงภาชนะใส่ของได้นี่แหละที่ยุ่งหน่อย เพราะมันทำให้ 匪 (fěi, เฝ่ย) สามารถแปลว่า 'เก็บรวมรวม' ในลักษณะที่เป็นการนำมาไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน, หรืออาจจะหมายถึง 'การคัดแยก' ในลักษณะที่เป็น 'การจำแนก' สิ่งของ เพื่อแยกเก็บเป็นตะกร้าๆ ก็ได้ด้วย ; แล้วเมื่อมันเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ฝีมือในการสร้างมันขึ้นมา มันก็เลยมีความหมายเหมือนกับ 斐 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'สวยงาม', 'สง่างาม', หรือ 'น่าทึ่ง' ได้อีกต่างหาก !!!!

彭 อ่านว่า péng (เพิ๋ง) แปลว่า 'อยู่ใกล้ๆ', 'อยู่ข้างๆ' ; แต่ก็สามารถใช้ในความหมายเดียวกับ 盛 (shèng, เษิ้ง) ที่หมายถึง 'เติมเต็ม', 'เฟื่องฟู', 'รุ่งเรือง', หรือ 'คึกคัก' ; บางครั้งก็ยังใช้ในความหมายของ 壯 (zhuàng, จ้วง) ที่แปลว่า 'ใหญ่', 'แข็งแรง', 'บึกบึน', 'มีศักยภาพ'

ผมมองอย่างนี้ครับ ... ในบทนี้มีการใช้อักษร 匪 (fěi, เฝ่ย) อยู่สองครั้ง และน่าจะถูกใช้ในความหมายเดียวกันคือ 'แบ่งปัน', หรือ 'การจัดสรรปันส่วน' โดยในวรรคแรกจะใช้ในความหมายเดียวกับ 交 (jiāo, เจียว) ซึ่งมีลักษณะของ 'การแลกเปลี่ยนกัน', หรือ 'การแบ่งปันกัน' จึงทำให้ 交害 (jiāo hài, เจียว ไฮ่) กับ 匪咎 (fěi jiù, เฝ่ย จิ้ว) มีลักษณะเป็น 'คู่สำนวน' ที่หมายถึง 'การให้ร้าย (害) ทำลายขวัญ (咎 หมายถึงนินทาว่ากล่าว) ซึ่งกันและกัน (交 และ 匪)' ... โดย 'จิวกง' บันทึกในวรรคดังกล่าวว่า 無交害匪咎艱則無咎 และสามารถ 'ถอดความหมาย' ออกมาเป็น 'จงอย่า (無) มัวแต่คิดร้ายระหว่างกัน (交害) หรือมุ่งแต่จะบั่นทอนกำลังใจของกันและกัน (匪咎) ความมุ่งมั่นด้วยกำลังสติปัญญาของตน (艱) ต่อภาระหน้าที่ (則) อย่างขยันขันแข็ง (艱則) ย่อมไม่ก่อให้เกิด (無) ความเสียหาย (咎) ใดๆ' ... ดังนั้น วลีที่ว่า 匪其彭 ในวรรคนี้จึงควรจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 'การแบ่งปัน (匪) ความเจริญรุ่งเรือง (彭) กับผู้อื่น (其)' หรือ 'การอุทิศประโยชน์ให้แก่กัน' ซึ่งก็จะไปรับความหมายกับวรรคที่สามที่เอ่ยถึง 公用亨 หรือ 'ความรุ่งเรืองแห่งมหาชน' อย่างลงตัวพอดีด้วย ;)

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ 'จิวกง' อาศัยเทคนิค 'การเลือกคำ' มาใช้ในการบันทึกข้ออรรถาธิบาย เพื่อให้ความหมายของวรรคที่สี่สะท้อนสิ่งที่กล่าวไว้ในวรรคที่หนึ่ง พร้อมๆ กับที่ให้วรรคที่สี่มีความต่อเนื่องกับวรรคที่สาม ... เนื่องจากขีดที่หนึ่งและขีดที่สี่ต่างก็มีสถานะเป็น 'ขีดแรก' ของ 'ภาพสัญลักษณ์สามขีด' ที่นำมาเรียงซ้อนกันเป็น 'ภาพสัญลักษณ์หกขีด' ด้วยกันทั้งคู่ ในขณะที่ขีดที่สามและขีดที่สี่คือ 'คู่สัญลักษณ์' ที่ใช้แทน 'หยิน-หยาง' แห่งการปฏิบัติตนของ 'มนุษย์' ในการประสาน 'ลิขิตฟ้า' และ 'บัญญัติดิน' เข้าด้วยกัน

ความหมายของวรรคที่สี่นี้จึงควรจะได้รับ 'การตีความ' ว่า 'การแบ่งปัน (匪) ศักยภาพและความรุ่งเรืองซึ่งกันและกัน (其彭) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดสูญเสีย (無咎)' ความหมายก็จะต่อเนื่องมาจากวรรคที่สามที่เอ่ยถึง 公用亨于天子小人弗克 (มหาบัณฑิตย่อมอุทิศประโยชน์เพื่อสาธารณะ คนกักขฬะย่อมกอบโกยเพื่อประโยชน์แห่งตน) ... ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสังเกตว่า 'จิวกง' ไม่ได้ให้การยกย่องแก่บุคคลเพียงเฉพาะแค่ 'ศักยภาพ' หรือ 'ความสามารถ' เท่านั้น แต่เงื่อนไขสำคัญที่ 'จิวกง' จะยอมรับนับถือผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็น 天子 หรือ 小人 จะอยู่ที่ 'ความอุทิศตนเพื่อประโยชน์แห่งมหาชน' หรือไม่ด้วย ... บุคคลผู้มากความรู้เปี่ยมความสามารถ แต่ปราศจาก 'จิตวิญญาณสาธารณะ' ย่อมไม่อาจนับเป็น 'มหาบุรุษ' ในทัศนะของ 'จิวกง' แต่จะเป็นได้เพียง 小人 ซึ่งสามารถสะท้อนความหมายเป็น 'คนคับแคบ' เท่านั้น อันเป็นคนละประเด็นกับ 'ศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ... คำว่า 弗克 ที่เห็นในวรรคที่สามจึงไม่ควร 'ตีความ' ให้หมายถึง 'ไร้ความสามารถ' นั่นคือเหตุผลที่ผมยังคงความหมายเดิมของ 弗 (fú, ฟู๋) ให้หมายถึง 'รวบรวม' หรือ 'กอบโกย' แทนที่จะแปลว่า 不 (bù, ปู้) เหมือนที่เห็นในตำราอื่นๆ

 

ห้า หยิน :

厥孚交如威如吉
jüé fú jiāo rú wēi rú jí
เจฺวี๋ย ฟู๋ เจียว ญู๋ เวย ญู๋ จี๋


厥 อ่านว่า jüé (เจฺวี๋ย) มาจากการผสม 'ภาพอักษร' 厂 (hàn, ฮั่น) ที่แปลว่า 'ภูผา', 'หน้าผา', หรือ 'ภูเขา' ที่สูงชัน ; กับ 欮 (jüé, เจฺวี๋ย) ซึ่งแปลว่า 'ขุด', 'เจาะ' หรือ 'ตัด' ความหมายเดิมตาม 'ภาพอักษร' ของ 厥 จึงหมายถึง 'ก้อนหิน' หรือ 'การทำเหมืองหิน' ... ซึ่งในลักษณะของการเปลี่ยนสภาพของภูเขาสูงให้กลายเป็นก้อนหินด้วย 'การขุด', 'การเจาะ', 'การตัด' นี้เอง มันจึงสามารถใช้ในความเดียวกับ 撅 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่หมายถึง 'ขุด', 'เจาะ', 'ตัดให้สั้น' ; ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ในความหมายเหมือนกับ 蹶 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่แปลว่า 'ลื่นล้ม', 'ล้มลง', หรือ 'พ่ายแพ้' บางทีก็เลยแปลว่า 'เป็นลม' เพราะเกิดจาก 'การขาดช่วง' ของเลือดลมต่างๆ ในร่างกายด้วย

厥 (jüé, เจฺวี๋ย) สามารถที่จะหมายถึง 'การกระจายออก', 'แผ่ขยาย' จากรากเดิมที่เป็นการทอนขนาดของภูเขาให้กลายเป็นก้อนหิน ดังนั้นมันจึงถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 其 (qí, ชี๋) ที่หมายถึง 'คนอื่นๆ', 'สิ่งอื่นๆ' ; และอาจใช้เป็นคำเชื่อมประโยคในความหมายว่า 'ดังนั้น' (therefore), 'หลังจากนั้น' หรือ 'ในที่สุด' (after all) ในลักษณะของ 'การคลี่คลายออก' ก็ได้

威 อ่านว่า wēi (เวย) แปลว่า 'กำลัง', 'อำนาจ', 'อิทธิพล', 'ยิ่งใหญ่', 'สูงส่ง' (dignity) ; ทำให้บางครั้งก็สามารถแปลว่า 'สวยงาม' ได้ด้วย ; แต่ในแง่ของ 'อิทธิพล' หรือ 'อำนาจ' ก็อาจจะแผลงไปเป็น 'เกรงกลัว', 'น่ากลัว' หรือ 'น่าเคารพนับถือ' ได้ด้วยเหมือนกัน

ความหมายของวรรคนี้น่าจะตรงๆ ตัวแค่ว่า 'หากทุกฝ่าย (厥) สามารถที่จะมีความเชื่อมั่นศรัทธาระหว่างกัน (孚交如) และให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน (威如) ทุกสิ่งก็ย่อมจะราบรื่นและมีความสุขสวัสดี (吉)' ... ซึ่งก็แน่นอนว่า 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' (孚) และ 'ความเคารพนับถือ' (威) ที่ทุกฝ่ายจะสามารถมอบให้แก่กันได้นั้น ย่อมเป็นผลมาจาก 'หลักคุณธรรมที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติ' (大車以載) ร่วมกัน โดยต่างก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเจือจานซึ่งกันและกัน (匪其彭) และมุ่งหวังที่ความเจริญรุ่งเรืองของส่วนรวม (公用亨) ไม่ใช่เพื่อการกอบโกย (弗) ไว้เฉพาะตัวของผู้หนึ่งผู้ใด

คำว่า 厥 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่ 'จิวกง' นำมาใช้ในความหมายของ 其 (qí, ชี๋) ในวรรคนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งในแง่ของตัวอักษรแล้วก็ต้องถือว่ามันอยู่ใน 'หมวดอักษร' เดียวกับ 威 (wēi, เวย) ที่เห็นในวรรคเดียวกัน แต่ความหมายดั้งเดิมที่หมายถึง 'การถล่มภูเขาให้ย่อยลงเป็นก้อนหิน' นั้นดูจะได้อารมณ์ของ 'การลดความกร่าง' หรือ 'การลดละความผยอง' มากกว่าการใช้เพียงอักษร 其 (qí, ชี๋) อย่างตรงๆ ตัว ... ในขณะเดียวกัน 厥 (jüé, เจฺวี๋ย) ก็มีความหมายแฝงในลักษณะของ 'การกระจายออก' หรือ 'การแบ่งปัน' ซึ่งจะไปรับกับความหมายของ 匪 (fěi, เฝ่ย) ในวรรคก่อนๆ ซึ่ง 其 (qí, ชี๋) ไม่มีความหมายแฝงในลักษณะดังกล่าว ... ตรงนี้ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะยืนยันได้ว่า 'จิวกง' คำนึงถึงความหมายของอักษรเหล่านี้หรือไม่ในขณะที่เลือกคำมาบันทึกข้ออรรถาธิบายของตนเอง แต่ผม 'ค่อนข้างจะเชื่อ' ว่า 'จิวกง' คงต้องมีความคิดอะไรบางอย่างในการปรับเปลี่ยนอักษรจาก 其 (qí, ชี๋) ซึ่งมีการใช้ในวรรคที่สี่อยู่แล้ว มาเป็น 厥 (jüé, เจฺวี๋ย) ในวรรคนี้อย่างแน่นอน

ในทางหนึ่ง สิ่งที่ 厥 (jüé, เจฺวี๋ย) สะท้อนเอาไว้ก็คือ การตัดสินว่ารถคันไหนใหญ่หรือเล็กนั้น ย่อมพิจารณาจากความสามารถในการบรรทุกของมัน (大車以載) ฉันใด บุคคลจะเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ได้ ย่อมต้องพิจารณาจากประโยชน์ที่เขามอบให้แก่ปวงชน (公用亨于天子) ฉันนั้น ปราชญ์ผู้มีคุณธรรมจึงไม่ผยองลำพองในความรู้ความสามารถของตนเอง แต่จะประพฤติตัวด้วยความอ่อนน้อมและพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจเสมอ ... ก็อาจจะเป็นอีกความหมายหนึ่งที่ 'จิวกง' กำลังพยายามจะสื่อออกมาผ่านอักษร 厥 (jüé, เจฺวี๋ย) ที่หมายถึง 'การย่อยภูเขา' นั่นด้วย เพราะต้องสังเกตด้วยครับว่า 'ขีดที่ห้า' ในบทนี้เป็น 'หยิน' เพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ซึ่ง 'ความอ่อนน้อม' แต่ 'หนักแน่น' และ 'พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้อื่น' เหล่านี้ล้วนเป็นคุณลักษณะเด่นๆ ของ 'พลังแห่งหยิน' ด้วยกันทั้งหมด โดยผมเชื่อว่าอัจฉริยบุคคลอย่าง 'จิวกง' ต้องไม่พลาดโอกาสในการแทรกความหมายของ 'หยิน' เข้าไปในคำอรรถาธิบายของตัวเองอย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะรวบรัดให้แฝงอยู่ในอักษรเพียงตัวเดียวที่เห็นนี้ ;)

 

หก หยาง :

自天祐之吉無不利
zì tiān yòu zhī jí wú bù lì
จื้อ เทียน อิ้ว จือ จี๋ อู๋ ปู้ ลี่


祐 อ่านว่า yòu (อิ้ว) แปลว่า 'พร', 'ความช่วยเหลือ', 'ความคุ้มครอง' ซึ่งหมายถึง 'มงคลจากสรวงสวรรค์' หรือ 'มงคลที่ประทานโดยเทพเจ้า' เนื่องจากความหมายเดิมของ 祐 (yòu, อิ้ว) คือ 天 (tiān, เทียน) ที่หมายถึง 'ท้องฟ้า', 'สรวงสวรรค์', 'พระเจ้า', หรือ 'เทพเจ้า' ต่างๆ ซึ่งสามารถแผลงเป็น 'ความสูงส่ง' ก็ยังได้

ถ้า 'ตีความ' ตามแบบตำราอื่นๆ ความหมายของวรรคนี้ก็จะหมายถึง 'พรใดที่ประทานมาจากสรวงสวรรค์ (自天祐之) ย่อมประเสริฐ (吉) อย่างไร้ที่ติ (無不利)' ... แต่ความหมายนี้ก็จะหลุดไปเป็นคนละเรื่องกับอีกห้าวรรคที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะไม่มีวรรคใดในบทนี้ที่เอ่ยถึง 'เทพเจ้า' หรือ 'สรวงสวรรค์' ที่ไหนเลย ??!! แต่เนื้อความทั้งหมดที่ 'จิวกง' บรรยายไว้จะเอ่ยถึง 'ความขยัน', 'การแบ่งปัน', 'ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่' ซึ่งเป็นเรื่องของ 'การวางตน' มาตลอดทุกๆ วรรค ดังนั้นอักษร 自 (zì, จื้อ) ที่เห็นในวรรคนี้จึงน่าจะหมายถึง 'ตัวเรา' หรือ 'ตัวเอง' มากกว่าที่จะใช้ในความมหมายว่า 'มาจาก' หรือ 'เริ่มต้นจาก'

เมื่อ 自 (zì, จื้อ) ในวรรคนี้หมายถึง 'ตัวเรา' หรือ 'ตัวเอง' ... อักษร 天 (tiān, เทียน) ในวรรคนี้จึงไม่ควรแปลว่า 'สวรรค์' หรือ 'เทพเจ้า' แต่ควรจะแปลว่า 'สูงส่ง' หรือ 'สูงสุด' โดยถือเป็นส่วนขยายให้กับ 祐 (yòu, อิ้ว) เป็น 天祐 ซึ่งน่าจะหมายถึง 'ความช่วยเหลือ หรือความทุ่มเทอย่างสูงสุด' ... มันจึงมีความหมายไปสอดคล้องกับคำว่า 艱則 (jiān zé, เจียน เจ๋อ) ที่หมายถึง 'การตรากตรำอย่างทุ่มเท' หรือ 'ความมุ่งมั่นโดยถือเป็นภาระหน้าที่' ทันที ... เป๊ง !!!

เอาใหม่ ... จริงๆ แล้วคำว่า 不利 ที่สามารถแปลว่า 'ไม่ดีงาม' นั้นถือได้ว่ามีความหมายที่ไม่ต่างไปจาก 咎 ที่แปลว่า 'ความผิดพลาด' ซักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นคำว่า 無不利 ที่เห็นในวรรคนี้ก็คือ synonym ของ 無咎 ที่ใช้ในวรรคที่หนึ่งด้วย ... ถูกมั้ย ?!!? ... เมื่อเป็นซะอย่างนี้ 艱則無咎 ที่เป็นวลีปิดท้ายของวรรคแรกก็จะมีความหมายเหมือนกับ 自天祐之吉無不利 ซึ่งมีความหมายว่า 'ความเจริญรุ่งเรือง (吉) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจาก (之) ความวิริยะอุตสาหะแห่งตน (自天祐) ย่อมปราศจาก (無) มลทิน (不利) ใดๆ' ... นี่ก็คือวรรคสรุปใจความของ 大有 ที่ King Wen ขยายความว่าหมายถึง 元亨 (ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง) โดยผมรวบหัวรวบหางใช้คำว่า Sustainability หรือ 'ความยั่งยืน' นั่นเอง ;)

ประเด็นที่อยากจะเอ่ยถึงตรงนี้ก็คือ นัยที่แฝงอยู่ในวลีว่า 'การประทานพรให้แก่ตนเอง' (自天祐之) นั้นดูออกจะ 'กร่าง' ไปซักหน่อย แต่ถ้าได้พิจารณาเรื่องราวที่เล่ามาตั้งแต่ต้นบทแล้ว ผมคิดว่าเราคงหลีกเลี่ยงความหมายอย่างนี้ได้ยาก อย่างดีก็อาจจะ 'ตีความ' ได้แค่ว่า 'ความเป็นสิริมงคลที่เราสรรค์สร้างขึ้นมาด้วยตนเอง' เท่านั้น ... เราลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่บทบันทึกของ King Wen ที่ใช้คำว่า 元亨 ด้วนๆ แค่สองตัวอักษร ซึ่งหนึ่งในความหมายของ 元 ก็คือ 'ดั้งเดิม', 'ของแท้', หรือ 'เป็นตัวของตัวเอง' ...

พอมาถึงวรรคที่หนึ่ง 'จิวกง' ก็เริ่มต้นด้วยวลีว่า 無交害匪咎 ที่สามารถหมายถึง 'อย่าเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น' ซึ่งความหมายที่ต้องการจะสื่อก็คือ คนเราควรที่จะขวนขวายสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่ควรที่จะใช้วิธีการเหยียบย่ำทำลายผู้อื่น อันเป็นการกระทำของ 'คนสิ้นคิด' เนื่องจากผู้ที่หวังจะยกตนให้สูงด้วยการเหยียบผู้อื่นให้ต่ำนั้น ย่อมหมายถึงผู้ที่หมดสิ้นแล้วซึ่งปัญญาในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมนั่นเอง :) ... แต่คนถ่อยสถุลที่ไร้สติปัญญาประเภทที่ว่านั้นก็ยังมีอยู่เต็มโลก แล้วเราจะต้องรอให้ฟ้าประทาน 'สังคมน่าอยู่' แก่โลกซะก่อนเราถึงจะยอมเป็นคนดีมั้ยล่ะ ??!! การเลือกที่จะไม่ยอมทำตัวต่ำสถุลอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องของฟ้าหรือเทพเจ้าที่ไหน ... ถูกรึเปล่า ??!! ... นี่คือพฤติกรรมที่เราสามารถ 'เลือกได้' ด้วยตัวของเราเอง ... 'จิวกง' ถึงได้ปิดวรรคดังกล่าวด้วยวลีว่า 艱則無咎 ไง คือแนะนำว่าเราจะต้อง 'บากบั่นอย่างมุ่งมั่นโดยถือเป็นหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ' ... ไม่ได้แนะนำให้ไปเซ่นสรวงเทพยดาที่ไหนเลย :)

จากวรรคที่สองถึงวรรคที่ห้า 'จิวกง' ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับ 'ข้อแนะนำ' ให้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรม, ให้คำนึงถึงสาธารณประโยชน์เป็นที่ตั้ง, ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง รู้จักให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น, และให้เป็นผู้มีความอ่อนน้อมโดยพร้อมที่จะรับใช้สังคม ... ทั้งหมดนั้นก็คือ 'สิริมงคล' (天祐) ที่เราเท่านั้นเป็น 'ผู้เลือก' ว่าจะทำหรือจะไม่ทำ ... 自天祐之吉 จึงหมายถึง 'ความเจริญก้าวหน้าที่เราเป็นผู้เลือกว่าจะสร้างขึ้นมา' อย่างยากที่จะแปลเป็นความหมายอื่นไปได้ ... ฉะนี้ !!!



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'ต้าโหฺย่ว' คือ ความยั่งยืน, เจิดจรัสเหนือฟากฟ้า

'ความยั่งยืน' คือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ 'ตระหนักอย่างชัดเจน' เป็นอันดับแรก เพื่อจะ 'สรรค์สร้าง' ความเป็น 'ระบบระเบียบ' อันจะก่อให้เกิด 'พัฒนาการ' ที่นำไปสู่ 'ความเจริญก้าวหน้า' อย่างแท้จริงในอนาคต

  •  
  • หากปราศจาก 'ความผูกพยาบาทอาฆาต' หรือ 'การกล่าวโทษ' แก่กัน 'อย่างเลื่อนลอย' การ 'ตรากตรำทำงาน' ด้วย 'ความทุ่มเท' อย่าง 'เป็นระบบระเบียบ' ย่อมไม่มี 'ความผิดพลาด' ใดๆ
  •  
  • 'หลักคุณธรรม' สำคัญที่ 'ต้องยึดถือ' และนำไปสู่ 'การปฏิบัติ' จึงจะได้ 'ผลสนองที่ดี' และไม่ก่อให้เกิด 'ความผิดพลาดเสียหาย'
  •  
  • 'จอมคน' ย่อม 'อุทิศตน' เพื่อ 'ประโยชน์แห่งมหาชน' ... 'คนถ่อยสถุล' ย่อมรู้จักแต่ 'กอบโกย' เพื่อ 'ประโยชน์สุขของตน' แต่ฝ่ายเดียว
  •  
  • 'การแบ่งปัน' 'ศักยภาพ' และ 'ความรุ่งเรือง' ซึ่งกันและกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดต้องสูญเสีย
  •  
  • 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' และ 'ความเคารพนับถือ' ที่ทุกฝ่ายมีให้แก่กัน ย่อมนำมาซึ่ง 'ความสงบราบรื่น' และ 'ความสุขสวัสดี'
  •  
  • 'ความเจริญรุ่งเรือง' ที่เป็นผลมาจาก 'ความวิริยะอุตสาหะแห่งตน' ย่อม 'ปราศจากมลทิน' ใดๆ


 

The Organization Code :



'ความยั่งยืน' ย่อมเกิดขึ้นได้จาก 'ความชัดเจน' ของ 'นโยบาย' และ 'เป้าหมาย' (⚌), อาศัยแผนงาน 'เชิงรุก' อย่าง 'สร้างสรรค์' (⚌), และมีทีมปฏิบัติการที่ 'ทุ่มเท' บนพื้นฐานของ 'ความซื่อสัตย์', 'ความขยัน', และ 'ความเที่ยงธรรม' (⚎)

การดำเนินงานทุกชนิดย่อมต้องมี 'เป้าหมาย' อยู่ที่ 'ความสำเร็จ' ... แต่ 'ความยั่งยืน' ย่อมหมายถึง 'เป้าหมายอนันตกาล' ที่จะต้องอาศัย 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' อย่าง 'ทุ่มเท' และ 'ต่อเนื่อง' โดยจะต้องถือเอาทุกๆ จังหวะก้าวแห่ง 'พัฒนาการ' เป็นส่วนหนึ่งของ 'ความสำเร็จ' ที่จะต้อง 'ธำรงรักษา' และ 'หล่อเลี้ยง' ให้งอกเงยต่อๆ ไปอย่าง 'ไม่สิ้นสุด' ... ทั้งยังต้องมี 'ความตระหนัก' อยู่เสมอด้วยว่า 'จุดหมายปลายทาง' ที่แท้จริงของ 'ความยั่งยืน' นั้น ย่อมมิใช่ 'เพื่อผู้หนึ่งผู้ใด' และมิใช่ 'ของผู้หนึ่งผู้ใด' อย่างเฉพาะเจาะจง

  •  
  • การมุ่งเน้นอยู่ที่ 'การทำงานเพื่อผลงาน' ย่อมมีคุณค่าเหนือกว่า 'การมุ่งแต่คอยจับผิด' หรือ 'คิดร้าย' ต่อผู้อื่น ... องค์กรหนึ่งๆ ย่อม 'เจริญก้าวหน้า' เพราะทุกฝ่ายมุ่งเน้นอยู่ที่ 'การพัฒนาตนเอง' โดยไม่เสียเวลาไปกับความคิดที่มุ่ง 'ทำลายล้างผู้อื่น'
  •  
  • 'นโยบาย' หรือ 'หลักการ' ใดๆ ย่อมไร้คุณค่าและความหมายหากไม่สามารถนำไปสู่ 'การปฏิบัติ' อย่างแท้จริง
  •  
  • ผู้ที่จะ 'กระทำการใหญ่' เพื่อ 'ประโยชน์สุข' ของ 'คนหมู่มาก' ย่อมต้องมี 'วิสัยทัศน์' ที่ 'กว้างไกลกว่า' ผู้ที่มี 'จิตใจคับแคบ' ซึ่งมุ่งหวังเพียงแค่ 'การกอบโกย' เพื่อ 'ประโยชน์สุข' เฉพาะตนและพวกพ้อง
  •  
  • 'ศักยภาพ', 'ความรู้' และ 'ความสามารถ' คือทรัพยากรที่ยิ่ง 'เผยแผ่' ยิ่ง 'งอกงาม' อย่างไม่สิ้นสุด
  •  
  • 'ความเชื่อมั่นศรัทธา' และ 'ความเคารพนับถือ' ที่ทุกฝ่ายมีให้แก่กัน ย่อมนำมาซึ่ง 'ความร่วมแรงร่วมใจ' ของทุกๆ คนในการ 'ช่วยกันสอดส่องดูแล' และคอย 'เสริมส่ง' ผลงานของกันและกันให้ 'พัฒนาก้าวหน้า' ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยไม่ต้อง 'สิ้นเปลือง' กำลังหรือทรัพยากรใดๆ ไปกับ 'การตรวจสอบ' ที่เกิน 'ความจำเป็น'
  •  
  • 'ความเจริญรุ่งเรือง' ที่เป็นผลมาจาก 'น้ำพักน้ำแรง' แห่ง 'การพัฒนาตนเอง' โดยมิได้ 'กระทำการย่ำยี' หรือมี 'จิตคิดร้าย' ต่อผู้ใด ย่อมไม่เป็นที่ 'ครหา' หรือไม่เป็นที่ 'น่ารังเกียจ' ของทุกผู้คน


'ผลสำเร็จอันยั่งยืน' ย่อมมิได้เกิดจากความมุ่งหวังว่า 'ตนเอง' จะเป็นผู้ 'ครอบครองทุกสรรพสิ่ง' ไป 'ตลอดกาล' ... 'มหาบุรุษ' ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมี 'วิสัยทัศน์อันกว้างไกล' จึงมี 'จิตวิญญาณสาธารณะ' ที่พร้อมจะอุทิศ 'ความสำเร็จ' เพื่อ 'มหาชน' เหมือนดังเช่น 'ผืนแผ่นดิน' ที่พร้อมจะ 'โอบอุ้ม' ทุก 'พัฒนาการ' แห่งสรรพสิ่งโดยมิเคยมุ่งหวัง 'สิ่งตอบแทน' ใดๆ จากทุกๆ พลังที่สร้างสรรค์ ... 'ความเจริญงอกงาม' ย่อมเกิดขึ้นจาก 'การแบ่งปัน' มิใช่ 'การยื้อแย่ง' ... 'การแข่งขัน' ย่อมนำไปสู่ 'การพัฒนา' เสมอ หาก 'การแข่งขัน' นั้นๆ มิใช่ดำเนินไปเพื่อ 'ยัดเยียดความพ่ายแพ้' ให้แก่ 'ทั้งสังคม' ... 'การแข่งกันทำความดีเพื่อส่วนรวม' ย่อมปราศจากทั้ง 'ผู้แพ้' หรือ 'ผู้ชนะ' เนื่องเพราะทุกฝ่ายต่างก็มีส่วนร่วมใน 'ความเจริญรุ่งเรือง' ที่บังเกิดขึ้นจาก 'การแข่งความดี' นั้นเสมอกัน

'จิวกง' จึงบันทึกเป็นบทสรุปให้แก่ 'พลังแห่งหยิน' ในบทที่สองว่า 利永貞 (lì yǒng zhēn, ลี่ หฺย่ง เจิน) อันหมายถึง 'ความเจริญรุ่งเรืองย่อมเป็นผลมาจากความมั่นคงในการประกอบกรรมดีอย่างต่อเนื่อง' หรือ 'ความเจริญรุ่งเรืองคือความยั่งยืนแห่งหลักคุณธรรม' โดยมิได้เอ่ยถึง 'การยื้อแย่งแข่งขัน' ใดๆ ... 'พลังแห่งการประจักษ์แจ้ง' จึงประกอบด้วย 4 คุณสมบัติ (元,亨,利,貞)  6 หลักการ (小畜,履,泰,否,同人,大有) และ 36 ข้อพึงปฏิบัติ ดังที่ได้อธิบายไว้โดยละเอียดตั้งแต่บทที่เก้าจนถึงบทที่สิบสี่นี้แล้วอย่างสมบูรณ์