Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第三十九卦 : 蹇

蹇 : 水山蹇 ‧ 坎上艮下

蹇 : 利西南‧不利東北‧利見大人‧貞吉‧
  • 初六 : 往蹇‧來譽‧
  • 六二 : 王臣蹇蹇‧匪躬之故‧
  • 九三 : 往蹇來反‧
  • 六四 : 往蹇來連‧
  • 九五 : 大蹇朋來‧
  • 上六 : 往蹇來碩‧吉‧利見大人‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : อารมณ์ หนักแน่น-มั่นคง (⚏) ปัญญา ตื่นตัว-เปิดกว้าง (⚍) ปฏิบัติตนด้วยความแข็งขัน-อ่อนน้อม (⚍)

ความหมายในเชิงบริหาร : บุคลากร (☵) ย่อมมิบังควรวางตัวอยู่เหนือกฎเกณฑ์ (☶)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความไม่สมประกอบ, แอ่งน้ำเหนือขุนเขา



ความหมายของชื่อเรียก : Enervating : ความไม่สมประกอบ



อักษร 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) มีความน่าสนใจด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างในตัวมันเองครับ ... คำนี้ปรกติมักจะแปลกันว่า 'พิการ', ซึ่งเป็น 'อาการที่เดินเหินไม่สะดวก' และทำให้บางครั้งยังหมายถึง 'ไม่ราบรื่น' ได้ด้วย ... แต่ที่น่าสนใจก็คือ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) สามารถแปลว่า 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' หรือ pround ได้ด้วย !!! ... ซึ่งทำให้คิดได้ว่า คนจีนในยุคโบราณที่ประดิษฐ์ตัวอักษรตัวนี้ขึ้นมานั้น คงจะต้องมีทัศคติต่อ 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' ว่า เป็น 'อุปสรรค' ประการหนึ่งที่ 'ขัดขวางการพัฒนา' หลายๆ ด้าน จนก่อให้เกิด 'ความไม่ราบรื่น' ในที่สุด ... หรืออาจจะคิดได้ว่า 'ผู้ที่แสดงความอวดดี' ด้วย 'ความเย่อหยิ่งลำพอง' นั้น ย่อมเปรียบได้กับ 'ผู้พิการทางจิตสำนึก' ที่พยายามชดเชยความรู้สึกขาดพร่องภายในจิตใจของตนเองด้วย 'การอวดโอ่' จนบั่นทอนมิตรภาพที่ควรจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานกับบุคคลอื่นๆ ลงไป

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บทที่สามสิบเก้านี้คือบทเริ่มต้นสำหรับวัฏจักรรอบใหม่ของ 乾 (qián, เชี๋ยน) ซึ่งจะมีความหมายที่สัมพันธ์กับถ้อยคำของ 'จิวกง' ในวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่งด้วย โดยวลีดังกล่าวถูกบันทึกไว้ว่า 潛龍勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) ซึ่งผมเล่าความหมายไว้ให้หมายถึง 'พึงรู้จักเก็บงำประกายตนด้วยความนอบน้อมไม่อวดโอ่ (潛) เนื่องด้วยศักยภาพ (龍) ย่อมไม่ใช่ (勿) ความสามารถที่แท้จริง (用)' ... เพราะ 'ความอวดดื้อถือดี' ที่พยายามฝืนทำอะไรลงไปด้วย 'ความหลงตัวเอง' (蹇) นั้น ย่อมไม่อาจนำไปสู่วิถีทางในการแก้ปัญหาใดๆ แต่กลับจะก่อให้เกิด 'การต่อต้าน' ที่จะยิ่งซ้ำเติมจนทุกอย่างต้อง 'ขลุกขลัก' หรืออาจจะถึงขั้นต้อง 'หยุดชะงัก' ไปเลยด้วยซ้ำ !!?

หลายตำราจึงให้ความหมายของ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) ว่า Obstruction บ้าง, Trouble บ้าง, Halting บ้าง, หรือแม้แต่ Alfred Huang ก็ยังให้ความหมายของคำนี้ว่า Hardship ซึ่งสื่อไปในลักษณะของ 'อุปสรรค', 'ปัญหา', 'ความชะงักงัน', หรือ 'ความยุ่งยาก' ... แต่ผมอยากจะคงความหมายแบบกลางๆ ของ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) เอาไว้ว่า 'ความไม่สมประกอบ' แต่อยากจะเลือกใช้คำภาษาอังกฤษเป็น Enervating แทน เพราะมันมีความหมายที่ 'ไม่มีความสมประกอบ' กับคำภาษาไทยที่ผมเลือกใช้เลยซักนิดเดียว ... :D
 

    • enervate (ĕnˈər-vātˌ) tr.v. -vated, -vating, -vates 1. To weaken or destroy the strength or vitality of. 2. Medicine To remove a nerve or part of a nerve. adj. (ĭ-nûrˈvĭt) Deprived of strength; debilitated. [Lat. ēnervāre, ēnervārt- : ē-, ex-, ex- + nervus, sinew.] -- enervation n. -- enervative adj. -- enervator n.
    •  
    • โดยประเด็นที่น่าสนใจจะอยู่ตรงคำอธิบายเพิ่มเติมของคำว่า enervate นี่แหละครับ ...
    •  
    • Usage Note: Sometimes people mistakenly use enervate to mean “to invigorate” or “to excite” by assuming that this word is a close cousin of the verb energize. In fact enervate means essentially the opposite. It came from Latin nervus, "sinew", and thus means "to cause to become 'out of muscle', that is "to weaken or deplete of strength". It has no historical connection with energize.
    •  
    • (คัดมาเพียงบางส่วนจาก The American Heritage® Dictionary of the English Language, Fourth Edition copyright ©2000 by Houghton Mifflin Company. Updated in 2009. Published by Houghton Mifflin Company. All rights reserved.)


จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว enervate คือ 'การทำให้อ่อนกำลังลง' แต่ผู้คนมักจะสับสนว่า มันคือ 'การกระตุ้น' หรือ 'การทำให้แข้มแข็งมากขึ้น' ในลักษณะเดียวกับคำว่า energize ... ซึ่งมันช่างละม้ายคล้ายคลึงกับ 'ความแข็งขืนอวดดี' ที่หลายคนมักจะสับสนว่า มันคือ 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคงในจุดยืน' และพยายามฝืนดำเนินการต่อไปอย่าง 'ไม่ยอมลดราวาศอกซึ่งกันและกัน' จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างก็เป็น 'อุปสรรคของกันและกัน' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่สมประกอบทางจิตใจ' ที่คอยบั่นทอน 'การประสานงาน' ของทุกๆ ฝ่ายให้ตกอยู่ในสภาวะ 'ชะงักงัน' !!?? ... 'ความเด็ดเดี่ยวมั่นคง' จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติ 'อย่างพอเหมาะพอสม' แก่ 'กาละ-เทศะ' จึงจะไม่เลยเถิดจนกลายเป็น 'ความแข็งขืนอวดดี' ... อย่างนี้จึงจะเรียกว่า 'สมประกอบ' ... :)

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' เราก็จะเห็นว่า 'การแสวงจุดร่วม และสงวนจุดต่าง' (睽) ที่ King Wen ลำดับไว้เป็นบทที่สามสิบแปดนั้น หากไม่กระทำการอย่างระมัดระวังด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง ย่อมนำมาซึ่ง 'ความแตกแยก' ที่ต่างฝ่ายต่างก็ 'ดึงดันเอาแต่ใจตน' เกิดอาการเชิดชู 'ตัวบุคคล' (☵) ให้อยู่เหนือ 'ข้อเท็จจริง' และ 'ความมีเหตุมีผล' (☶) ซึ่งเป็น 'ความไม่สมประกอบ' (蹇) ทางสังคมที่จะคอย 'บั่นทอนกำลัง' (蹇) ในการพัฒนาจนยากที่จะก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ... หนทางหนึ่งที่พอจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์เช่นนั้นได้ก็คือ จะต้องอาศัย 'เหตุผล' และ 'ข้อเท็จจริง' (☶) เป็นฐานสนับสนุนที่แข็งแกร่ง เพื่อช่วยส่งเสริมให้ 'ตัวบุคคล' (☵) ที่รวมตัวกันเป็นสังคมนั้นๆ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างมีทิศทางที่สอดคล้องต้องกัน ...



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利西南不利東北利見大人貞吉
lì xī nán bù lì dōng běi lì jiàn dà rén zhēn jí
ลี่ ซี นั๋น ปู้ ลี่ ตง เป่ย ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น เจิน จี๋



นอกจากจะไม่มีคำใหม่ในวลีนี้แล้ว ข้อความของทั้งวลีก็แทบจะถูกหยิบยกมาบันทึกซ้ำอีกครั้งเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะประเด็นของ 西南 (xī nán, ซี นั๋น) กับ 東北 (dōng běi, ตง เป่ย) ซึ่งหมายถึง 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' กับ 'ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ' อันเป็นทิศที่อยู่ 'ตรงข้ามกัน' พอดี ... ถ้อยคำของ King Wen ที่อ้างถึงทิศทั้งสองนี้ ปรากฏให้เห็นครั้งแรกในบทที่สอง ภายในคำขยายความให้กับ 坤 (kūn, คุน) ว่า 元‧亨‧利牝馬之貞‧君子有攸往‧先迷後得主利‧西南得朋‧東北喪朋‧安貞吉‧ (yuán hēng lì pìn mǎ zhī zhēn jün zǐ yǒu yōu wǎng xiān mí hòu dé zhǔ lì xī nán dé péng dōng běi sàng péng ān zhēn jí, เยฺวี่ยน เฮิง ลี่ พิ่น หฺม่า จือ เจิน จฺวิน จื่อ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง เซียน มี๋ โฮ่ว เต๋อ จู่ ลี่ ซี นั๋น เต๋อ เพิ๋ง ตง เป่ย ซั่ง เพิ๋ง อัน เจิน จี๋) ซึ่งความหมายของมันก็คือ 'จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ (元) มีความรู้และความเข้าใจอย่างชัดเจนในจุดมุ่งหมาย (亨) มีความมุ่งมั่นในทิศทางที่จะต้องดำเนินไป ต้องมีทั้งไหวพริบและปฏิภาณที่เฉียบแหลม (利) มีความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับผู้อื่น มีความเสมอต้นเสมอปลายในหลักแห่งคุณธรรม (牝馬之貞) … คนดี (君子) ย่อมต้องได้รับการตอบสนองที่ดีไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว (有攸往) แม้ว่าในระยะเริ่มแรก (先) อาจจะไม่เห็นผลใดๆ ที่เด่นชัด (迷) แต่ในบั้นปลาย (後) ย่อมประสบกับ (得) ความสำเร็จที่โดดเด่นเสมอ (主利) … ความอ่อนน้อม และความสมถะเรียบง่าย (西南 คือทิศของหยิน) ย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ (得朋) แต่ความอวดโอ่ และเย่อหยิ่งลำพอง (東北 คือทิศของหยาง) ย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์ (喪朋) … ความหนักแน่นมั่นคงในหลักแห่งธรรม (安貞) ย่อมโน้มนำความดี (吉) ให้ปรากฏ'

ส่วนเหตุผลที่ว่า 西南 (xī nán, ซี นั๋น) คือ 'ทิศของหยิน' และ 東北 (dōng běi, ตง เป่ย) คือ 'ทิศของหยาง' นั้น เราคงต้องอาศัย 'ภาพโป้ยก่วย' มาช่วยประกอบคำบรรยายซักหน่อย

 

 

ภาพที่เห็นด้านซ้ายมือคือ 'ภาพโป้ยก่วย' ของ King Wen ที่มักจะเรียกกันว่า Later Heaven Order ซึ่งดัดแปลงลำดับสัญลักษณ์มาจาก 'ภาพโป้ยก่วย' ของ Fu Xi หรือ Early Heaven Order ที่แสดงไว้ตรงด้านขวามือ ... แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันได้เลยว่า King Wen เลือกใช้ 'ภาพสัญลักษณ์' ชุดใดเป็นหลักสำหรับทิศ 西南 (xī nán, ซี นั๋น) และ 東北 (dōng běi, ตง เป่ย) ?!

ถ้าว่ากันตาม Early Heaven Order ของ Fu Xi ... สัญลักษณ์ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ (西南) ก็คือ ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ซึ่งหมายถึง 'ลม' ในขณะที่ขั้วตรงข้าม หรือในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (東北) จะถูกกำหนดให้มีสัญลักษณ์เป็น ☳ (震 : zhèn, เจิ้น) ซึ่งหมายถึง 'ฟ้าร้อง' หรือ 'ฟ้าคะนอง' ... การที่ King Wen เลือกใช้ถ้อยคำมาบันทึกไว้ในบทนี้ว่า 利西南‧不利東北 (lì xī nán bù lì dōng běi, ลี่ ซี นั๋น ปู้ ลี่ ตง เป่ย) จึงคล้ายกับกำลังจะสื่อถึงความหมายว่า 'จงปฏิบัติภาระกิจด้วยความอ่อนโยนอย่างต่อเนื่องดุจเดียวกับสายลม ไม่พึงปฏิบัติภาระกิจด้วยความกระโชกโฮกฮากอย่างดุดันราวกับฟ้าร้องฟ้าคะนอง' ...

แต่ถ้าว่ากันตาม Later Heaven Order ของ King Wen ... สัญลักษณ์ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ (西南) จะเป็น ☷ (坤 : kūn, คุน) ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดิน' ในขณะที่สัญลักษณ์ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (東北) จะเป็น ☶ (艮 : gèn, เกิ้น) ซึ่งหมายถึง 'ภูเขา' ... ความหมายที่แฝงอยู่ในวลีว่า 利西南‧不利東北 (lì xī nán bù lì dōng běi, ลี่ ซี นั๋น ปู้ ลี่ ตง เป่ย) จึงอาจจะหมายถึง 'จงปฏิบัติตนด้วยความสมถะเรียบง่ายดุจดั่งแผ่นดินอันราบเรียบ ไม่พึงปฏิบัติตนด้วยความเย่อหยิ่งลำพองราวกับแผ่นดินที่ยกตัวขึ้นสูงจนกลายเป็นขุนเขา' ...

น่าสนใจมากเลยนะนั่น !!?? ... เพราะมันช่างสอดคล้องกับความหมายของ 潛龍勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) หรือ 'พึงรู้จักเก็บงำประกายตนด้วยความนอบน้อมไม่อวดโอ่ (潛) เนื่องด้วยศักยภาพ (龍) ย่อมไม่ใช่ (勿) ความสามารถที่แท้จริง (用)' อันเป็น 'วลีต้นเรื่อง' ของบทนี้อย่างกลมกลืนมากๆ เลย !!! ... ;)

ดังนั้น ... สิ่งที่ King Wen กำลังพยายามจะบอกกับพวกเราในบทนี้ก็คือ ภายใต้วังวนแห่ง 'ความไม่สมประกอบ' นั้น 'จงครองตนอย่างสมถะเรียบง่ายไม่โอ่อวด และปฏิบัติภาระกิจด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล (利西南) ไม่พึงวางอำนาจบาตรใหญ่ หรือปฏิบัติภาระกิจด้วยความแข็งขืนดุดัน (不利東北) ... ต้องพยายาม (利) เสาะแสวงหา (見) ผู้ที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ (大人) เพื่อจะช่วยกันจรรโลงระบบระเบียบแห่งหลักคุณธรรม (貞) อันจะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ... นี่เลย !!! ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

往蹇來譽
wǎng jiǎn lái yǜ
หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ ยฺวี่



ความจริงก็น่าจะถือว่าไม่มีคำไหนใหม่เลยสำหรับวรรคนี้ ... แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นความหมายที่หลากหลายของคำว่า 往 (wǎng, หฺวั่ง) ซักหน่อย ...

往 (wǎng, หฺวั่ง) สามารถแปลว่า 'ย้อนคืน', 'กลับคืน', และยังหมายถึง 'ได้รับการตอบแทน' ก็ได้ ; แต่ 往 (wǎng, หฺวั่ง) ยังสามารถแปลว่า 'จากไป (สู่ที่อื่น)' จึงสามารถแปลว่า 'ออกเดินทาง' ได้อีกด้วย ; ซึ่งในลักษณะของ 'การเดินทางจากไป' เช่นนี้ ยังทำให้ 往 (wǎng, หฺวั่ง) สามารถถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 亡 (wáng, วั๋ง) ที่แปลว่า 'ตาย' ; หรือในความหมายของ 'การเดินทางไปสู่ที่อื่น' นั้นเอง ก็ยังทำให้มันถูกใช้ในความหมายเดียวกับ 望 (wàng, วั่ง) ที่แปลว่า 'จ้องมอง (ไปยังจุดหมายปลายทาง)' อีกความหมายหนึ่ง ; นอกจากนั้น มันยังสามารถใช้ในความหมายว่า 'ผ่านเลยไป', 'ข้ามไป' ได้อีกต่างหาก ??!! ... และที่น่าสนใจก็คือ มันเป็นคู่ตรงข้ามกับคำว่า 來 (lái, ไล๋) แต่ทั้งสองคำกลับสามารถใช้ในความหมายที่สลับกันไปมาได้เสมอ ??!! ... งงได้ใจจริงๆ ?! ... :D

ส่วน 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) กับ 譽 (yǜ, ยฺวี่) ก็เป็น 'คู่ตรงข้าม' อีกคู่หนึ่งในวรรคเดียวกันนี้ เพราะ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) จะมีความหมายในลักษณะของ 'อุปสรรค', 'การขัดขวาง', หรือ 'ความชะงักงัน' แต่ 譽 (yǜ, ยฺวี่) จะหมายถึง 'การยกย่องชมเชย', 'การส่งเสริม' หรือ 'การสนับสนุน' ... ซึ่งถ้ามองความหมายรวมๆ ของวลีที่ว่า 往蹇來譽 (wǎng jiǎn lái yǜ, หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ ยฺวี่) ที่ 'จิวกง' บันทึกไว้นี้ เราอาจจะนึกถึงสำนวนยอดฮิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า 'พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส' ขึ้นมาตะหงิดๆ เลยทีเดียว ... :D ... แต่ถ้าจะให้ได้ความหมายที่ใกล้เคียงกว่านั้น เราก็อาจจะนึกถึงสำนวนโบราณๆ หน่อยที่บอกว่า 'ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง' ซึ่งเป็นการเรียกขวัญ และกำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายๆ อย่างในการปฏิบัติงาน ... :)

สำหรับ 譽 (yǜ, ยฺวี่) มักจะแปลว่า 'ยกย่อง', 'สรรเสริญ', 'เกียรติยศ', 'ชื่อเสียง', 'ความเคารพนับถือ', ในสมัยก่อนมีความหมายเหมือนกับ 豫 (yǜ, ยฺวี่) แปลว่า 'พอใจ', 'สบาย', หรือ 'เอกเขนก' ; แต่บางทีผมก็เลือกที่ให้ความหมายว่า 'การชมเชย' หรือ 'การให้กำลังใจ' ด้วยเหมือนกัน ;)

ความหมายของวลีด้วนๆ นี้ของ 'จิวกง' อาจจะแปลดุ่ยๆ ได้แค่ว่า 'จงมองข้าม (往) ข้อขัดข้องที่ไม่สมประกอบ (蹇) แล้วเลือกพิจารณาด้วยทัศนคติเชิงบวกที่จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจ (來譽)' ... หรือจะว่าไปมันก็คือถ้อยคำที่แนะนำให้เราใช้ 'ทัศนคติเชิงบวก' ในการเผชิญกับปัญหาเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าความหมายออกมาแนวนี้จริงๆ อักษรเพียง 4 ตัวเท่าที่เห็น ก็จะสามารถขยายความอะไรต่อมิอะไรต่อไปได้อีกเยอะแยะอย่างไม่จบไม่สิ้น ... ผมจึงคิดว่า เราน่าจะผูกโยงความหมายของวรรคนี้เข้ากับถ้อยคำของ King Wen ที่เปิดประเด็นเอาไว้แทน ... เก้าะ ... ในเมื่อ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้ว่า 'จงครองตนอย่างสมถะเรียบง่ายไม่โอ่อวด และปฏิบัติภาระกิจด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล (利西南) ไม่พึงวางอำนาจบาตรใหญ่ หรือปฏิบัติภาระกิจด้วยความแข็งขืนดุดัน (不利東北) ... มุ่ง (利) เสาะแสวงหา (見) ผู้ที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ (大人) เพื่อช่วยกันจรรโลงระบบระเบียบแห่งหลักคุณธรรม (貞) อันจะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง (吉)' ถ้อยคำที่ผมคิดว่า 'จิวกง' ต้องการจะเสริมไว้ก็คือ 'จงเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) ด้วยความรู้สึกแห่งการให้เกียรติ และความเคารพ (來譽)' ...

เหตุผลประการแรกเลยก็คือ ด้วยทัศนคติส่วนตัวของผมแล้ว การ 'พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส' นั้น มักจะสื่อความหมายไปในลักษณะของ 'การเลิกหมกมุ่นอยู่กับความเสียหายที่ไม่มีทางเยียวยาแก้ไข แล้วหันไปสร้างสรรค์สิ่งทดแทนอื่นขึ้นมาชดเชยในจังหวะเวลาเดียวกัน' ... แต่ในหลายๆ กรณีมันก็อาจจะเป็น 'การซ้ำเติมผู้อื่น' หรือเป็น 'การแย่งชิงโอกาสของผู้อื่น' ไปด้วยพร้อมๆ กัน ... และบ่อยครั้งที่ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' เดิมๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มันมี 'ความสมประกอบ' ที่ยั่งยืนในระยะยาว เพราะ 'จุดเน้น' ของแนวคิด 'ในวิกฤติมีโอกาส' นั้น จะมุ่งความสนใจอยู่ที่ 'โอกาส' มากกว่า 'การแก้ไขปัญหาในระยะยาว' นั่นเอง ...

เหตุผลประการต่อมาก็คือ ผมมองว่า 'ปัญหา' ก็คือ 'ปัญหา' และ 'เรื่องที่เลวร้าย' ย่อมไม่อาจพิจารณาให้กลายเป็น 'สิ่งที่เลิศลอย' ขึ้นมาได้เลย เว้นเสียแต่ว่า เราอยากจะ 'ปลอบใจตัวเอง' เท่านั้น ... :P ... 'การมองโลกในแง่ดี' หรือ 'การสร้างทัศนคติเชิงบวก' มีหลายๆ กรณีที่แทบจะไม่ต่างไปจาก 'การยอมรับชะตากรรมอย่างสงบ' เลย ... ซึ่งผมคิดว่า นั่นก็ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนักหากเราคิดที่จะ 'พยายามแก้ไขปัญหา' อย่างจริงๆ จังๆ ??!!

แต่สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังตัวเองไว้ให้ดีก็คือ 'การมองโลกในแง่ดี' หรือ 'การมีทัศนคติเชิงบวก' ที่พิจารณาว่า 'ทุกปัญหาล้วนมีทางออก' นั้น บางครั้งก็เกิดจาก 'ความหลงตัวเอง' มากกว่า 'ความเข้าใจต่อสถานการณ์' ... ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ 'จิวกง' อาจจะคิดว่า ลำพังเพียง 'ความสมถะเรียบง่าย' และ 'ความอ่อนโยนนุ่มนวล' ที่ King Wen เลือกอธิบายไว้ด้วย 'ทิศสัญลักษณ์' ว่า 西南 (xī nán, ซี นั๋น) นั้น น่าจะไม่เพียงพอต่อ 'การระงับความหลงในอัตตา' ซึ่งแม้ว่าจะไม่แสดงออกอย่างแข็งขืนดุดัน (不利東北) ใดๆ แต่ 'ความมืดบอด' ก็ยังคงเป็น 'ความมืดบอด' อยู่อย่างนั้น จนกว่าเราจะ 'ละวางอัตตา' และ 'พยายามทำความเข้าใจ' กับ 'ปัญหา' หรือ 'ความไม่สมประกอบ' หนึ่งๆ ด้วย 'ความเคารพ' (譽) ใน 'เหตุและผล' ตลอดจน 'ข้อจำกัด' ที่อาจจะยังคงมีอยู่ใน 'กระบวนการแห่งปัญหา' อย่างรอบด้านจริงๆ

เพราะฉะนั้น ผมจึงตัดสินใจไม่ยอม 'ถอดความ' ให้วรรคนี้มีทั้ง 'แง่บวก' หรือ 'แง่ลบ' ใดๆ ทั้งนั้น เพราะหนึ่งใน 'กระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์' ก็คือ การไม่ด่วนตัดสินว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี โดยอาศัยเพียงทัศนคติเฉพาะของตน ... เพราะ 'การตัดสิน' ย่อมมีนัยแอบแฝงว่า 'ผู้ตัดสิน' ย่อมมี 'ศักดิ์ศรี' และ 'ความสำคัญ' ที่เหนือยิ่งกว่า 'สิ่งที่ถูกตัดสิน' เสมอ !!?? ... 'การไม่ด่วนตัดสิน' ใดๆ ลงไปจนกว่าจะได้ทำ 'ความเข้าใจ' ใน 'กระบวนการแห่งปัญหา' อย่างรอบด้านแล้วเท่านั้น คือวิถีปฏิบัติที่บ่งบอกถึง 'ความเคารพ' ที่เราพึงมีต่อแต่ละสถานการณ์ !!! ...

 

สอง หยิน :

王臣蹇蹇匪躬之故
wáng chén jiǎn jiǎn fěi gōng zhī gù
วั๋ง เฌิ๋น เจี่ยน เจี่ยน เฝ่ย กง จือ กู้



ย้อนรอยความหมายของคำว่า 匪 (fěi, เฝ่ย) ซะหน่อยแล้วกัน ... คำนี้เล่าไว้ตั้งแต่บทที่สามว่า หมายถึง 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี', 'ไม่ถูกต้อง' ; ในความหมายหนึ่งแปลว่า 'คนไม่ดี', 'โจร', 'นักเลงหัวไม้', หรืออาจจะหมายถึง 'อันธพาล' (gangster) … ในภาพอักษรเป็นคำว่า 非 (fēi, เฟย) ซึ่งแปลว่า 'ผิด', 'ไม่ใช่', 'ไม่ดี' ที่อยู่ใน 匚 (fāng, ฟัง หรือ ฟาง) ซึ่งแปลว่า 'กล่อง' หรือ 'ภาชนะใส่ของ' และทำให้ 匪 มีความหมายคล้ายๆ กับเป็น 'แหล่งรวมของความไม่ดี หรือความไม่ถูกต้องทั้งหลาย' หรือ 'ภาชนะบรรจุสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว)'

แต่มีการขยายความเพิ่มเติมในบทที่แปดว่า มันคือ 'อักษรโบราณ' ของ 篚 (fěi, เฝ่ย) ที่หมายถึง 'ตะกร้า' ซึ่งในสมัยก่อนก็คือพวกภาชนะที่สานขึ้นมาจากไม้ (มีตัว  竹 กำกับอยู่ด้านบน) เพื่อเอาไว้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ … ซึ่งทำให้ 匪 (fěi, เฝ่ย) สามารถแปลว่า 'เก็บรวมรวม' ในลักษณะที่เป็นการนำมาไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน, หรืออาจจะหมายถึง 'การคัดแยก' ในลักษณะที่เป็น 'การจำแนก' สิ่งของ เพื่อแยกเก็บเป็นตะกร้าๆ ก็ได้ด้วย ; แล้วเมื่อมันเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ฝีมือในการสร้างมันขึ้นมา มันก็เลยมีความหมายเหมือนกับ 斐 (fēi, เฟย) ที่แปลว่า 'สวยงาม', 'สง่างาม', หรือ 'น่าทึ่ง' ได้อีกต่างหาก !!!!

ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 匪 (fěi, เฝ่ย) นั้นก็ไม่ถึงกับคล้ายกับ 'การปล้น' ซักเท่าไหร่ เพราะมันจะหมายถึง 'การแจกจ่าย' หรือ 'การแบ่งปัน' ในลักษณะที่เป็นการนำสิ่งของมาจากผู้หนึ่งผู้ใด แล้วไป 'บริจาค' ให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเดิม

躬 (gōng, กง) เคยเล่าเอาไว้ในบทที่สี่ว่าหมายถึง 'ร่างกาย', 'ชีวิต', 'ก้มตัว', 'โค้งตัว', 'ค้อมตัว' ; บางทีเลยแปลว่า 'ตลกขบขัน' ในลักษณะที่ 'หัวร่อจนตัวงอ' ได้ด้วย ; แต่ในความหมายว่า 'ค้อมตัว' นั้น ก็จะแฝงความหมายว่า 'แสดงความเคารพ' หรือ 'การให้เกียรติ', 'การให้ความเคารพยำเกรง' หรือ 'ความน้อมรับ' อยู่ด้วย ; … ซึ่งในความหมายของ 'ร่างกาย' นั้น 躬 (gōng, กง) ก็ยังสามารถแผลงไปเป็น 'ตัวเอง', หรือ 'ส่วนบุคคล' ได้อีกต่างหาก ... แต่ถ้าอ่านออกเสียงว่า qióng (โชฺว๋ง หรือ เชฺวิ๋ง) ก็จะแปลว่า 'ยากลำบาก', 'ทุกข์ยาก', หรือ 'ลำเค็ญ' … ซึ่งอาจจะแผลงมาจาก 'ตัวงอ' ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ;) … แต่ในลักษณะของ 'ความยากลำบาก' ที่ว่านี้คือ 'ความยากลำบากทางกาย' ซึ่งจะหมายถึง 'การตรากตรำทำงาน' ซึ่งไม่ใช่เป็นความยากลำบากทางใจแต่อย่างใด

故 อ่านว่า gù (กู้) แปลว่า 'เหตุผล', 'เรื่องราว' ; ซึ่งบางทีมันก็เลยแปลว่า 'เรื่องเล่า', หรือ 'เรื่องเก่า' ไปด้วยซะเลย ; ส่วนความหมายที่ไม่ค่อยจะเห็นการใช้งานของคำว่า 故 (gù, กู้) ก็คือ 'เพื่อน', 'เพื่อนฝูง', หรือ 'มิตรภาพ' ซึ่งก็คงจะเพราะว่า มันเป็นสิ่งที่ 'มีประวัติความเป็นมา' ให้ 'เล่าขาน' ได้พอสมควร

แต่คำที่อาจจะมีความหมายพิลึกพิลั่นอยู่ซักหน่อยสำหรับวลีนี้ก็คือ 蹇蹇 (jiǎn jiǎn, เจี่ยน เจี่ยน) ที่เขียนสองตัวติดกัน เพราะมีพจนานุกรมบางฉบับให้ความหมายไว้ว่า 'ซื่อตรงต่อกัน' ซึ่งเดาไม่ออกจริงๆ เหมือนกันครับว่า 'ความไม่สมประกอบ' หรือ 'การขัดแข้งขัดขากันไปมา' นั้น จะกลายมาเป็น 'ความซื่อตรงต่อกัน' ได้ยังไง ? ... :D ... แต่ถ้าดูจากถ้อยคำที่ 'จิวกง' บันทึกไว้ในวรรคนี้ว่า 王臣蹇蹇 (wáng chén jiǎn jiǎn, วั๋ง เฌิ๋น เจี่ยน เจี่ยน) เราก็คงพอจะนึกถึงภาพของ 'เจ้าแคว้น (王) กับขุนนาง (臣) ที่ต่างฝ่ายต่างคอยทัดทานกันเอง (蹇蹇)' ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งถ้าจะมองว่า มันคือหนึ่งในวิถีปฏิบัติที่แสดงออกถึง 'ความเคารพ' และ 'ความให้เกียรติ' อย่าง 'จริงใจต่อกัน' ก็คงพอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่ ... :) ... แต่บังเอิญว่า 蹇蹇 (jiǎn jiǎn, เจี่ยน เจี่ยน) ที่แปลว่า 'ซื่อตรงต่อกัน' ดังที่ว่านี้ กลับไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในพจนานุกรมทั่วๆ ไป ??! ... ผมจึงคิดว่า เราน่าจะลองเสาะหาความหมายอื่นๆ ที่พอจะเป็นไปได้มาอธิบายสิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อในวรรคนี้แทนดีกว่า ... :)

ผมอยากจะให้ความหมายกับวรรคนี้ของ 'จิวกง' ว่า 'ผู้นำ (王) และบริวาร (臣) ที่ต่างให้ความประคับประคองซึ่งกันและกัน (蹇蹇 น่าจะหมายถึงอยู่ในอาการทุลักทุเลด้วยกันทั้งคู่) คือสัมพันธภาพอันงดงาม ที่ต่างก็มิได้คำนึงถึงเพียงประโยชน์เฉพาะตน (匪躬之故)' ... ซึ่งน่าจะครอบคลุมความหมายที่เป็นไปได้อื่นๆ ไว้แล้วอย่างค่อนข้างครบถ้วนพอสมควร ... :) ... แต่ถ้าเราจะ 'ตีความ' ให้เหมาะสมแก่สำนวนไทยจริงๆ วรรคนี้ของ 'จิวกง' ก็น่าจะหมายความว่า 'ผู้นำ (王) และบริวาร (臣) จะต้องรู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน (蹇蹇 เพราะมีความไม่สมประกอบด้วยกันทุกฝ่าย) โดยต้องรู้จักแยกแยะ และไม่ (匪) ยึดถือเพียงประโยชน์เฉพาะตน (躬) เป็นเหตุผล (之故) ของการดำเนินกิจกรรม' ... เรียกว่าต้อง 'รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว' ไปตาม 'ความเหมาะสมแก่เหตุ' แห่ง 'ปัจจัยแวดล้อม' ของทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่ดึงดันเอาแต่ 'ประโยชน์ตน' มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ... เก้าะ ... ในเมือ No One Is Perfect อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 'ผู้นำ' (王) หรือ 'บริวาร' (臣) ก็ตาม ... ;)

 

สาม หยาง :

往蹇來反
wǎng jiǎn lái fǎn
หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ ฝั่น



反 อ่านว่า fǎn (ฝั่น) แปลว่า 'กลับตาลปัตร', 'พลิกกลับ', 'สลับ', 'ตรงกันข้าม', หรือ 'ต่อต้าน' ; ในบางลักษณะของการใช้งาน สามารถที่จะใช้ในความหมายเดียวกับ 覆 (fù, ฟู่) ที่หมายถึง 'ย้อนคืน', 'เริ่มต้นใหม่' ; หรือ 'ทบทวน'

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) มีความหมายที่ครอบคลุมทั้งในแง่ของ 'อุปสรรค', 'ความไม่สมประกอบ' และ 'ความอวดโอ่ลำพอง' หรือ 'ความยโสโอหัง' ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้คำว่า 反 (fǎn, ฝั่น) มีความหมายว่า 'การต่อต้าน' สิ่งที่ 'จิวกง' กำลังจะบอกกับพวกเราผ่านถ้อยคำที่บันทึกไว้สั้นๆ นี้ก็คือ 'การดำเนินกิจกรรมต่างๆ (往) อย่างอวดดื้อถือดี (蹇) ย่อมนำมาซึ่ง (來) ความแข็งขืนต่อต้าน (反)' ... แต่หากเราพิจารณาให้คำว่า 往蹇 (wǎng jiǎn, หฺวั่ง เจี่ยน) มีความหมายเดียวกับที่ใช้ในวรรคแรกคือ 'การเผชิญกับอุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบ' ... 'จิวกง' ก็น่าจะกำลังสื่อความหมายกับพวกเราว่า 'ในการเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) จะต้องใช้วิจารณญาณในการทบทวนตรวจสอบ (來反) อย่างถี่ถ้วน' ...

ผมมีความรู้สึกว่า หากเราเน้นอยู่ที่ความหมายของ 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) ในแง่ของ 'ความอวดดื้อถือดี' ถ้อยคำที่ว่านี้ก็อาจจะกระเดียดไปในแง่ของ 'การตำหนิ' โดยมีการระบุต่อท้ายไว้ด้วยว่า มันจะไม่เพียงแต่ 'บั่นทอนความร่วมแรงแรงใจ' ของทุกผู้คนเท่านั้น แต่มันจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ 'การแข็งขืนต่อต้าน' ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาที่เผชิญอยู่บานปลายออกไปสู่มิติอื่นๆ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานในอนาคต ... ในขณะที่ ... 'ความมีวิจารณญาณ' ใน 'การทบทวนตรวจสอบ' ย่อมแฝงความหมายของ 'ความไม่ยึดติด' อยู่กับแนวคิด หรือทิศทางใดทิศทางหนึ่ง 'อย่างงมงาย' ทั้งยังเป็นการแสดงออกซึ่ง 'ความเคารพ' (譽) ต่อข้อคิดเห็น หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้อื่นที่อาจจะมีความแตกต่างไปจากของตน ... ซึ่ง ... การใช้ถ้อยคำที่สื่อไปในแง่ของ 'ข้อเสนอแนะ' น่าจะมีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่า และสร้าง 'ความขุ่นมัวทางอารมณ์' ที่น้อยกว่าการใช้ถ้อยคำที่แสดงออกถึง 'การตัดสิน' หรือ 'การตำหนิ' อย่างตรงๆ ตัว ... :)

แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ... สมมุติว่าถ้าเราจะ 'ตีความ' ให้ 反 (fǎn, ฝั่น) หมายถึง 'การพลิกแพลง' ความหมายของวลีสั้นๆ นี้ก็จะน่าจะหมายถึง 'ในการเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) จะต้องรู้จักพลิกแพลง และทบทวนตรวจสอบด้วยวิจารณญาณ (來反) ที่ละเอียดถี่ถ้วน' ... ซึ่งถึงแม้ว่ามันอาจจะให้ความรู้สึกที่คล้ายกับ 'ความกะล่อน' ไปซักหน่อย แต่ 'ความพลิกแพลงตามความเหมาะสมแห่งสถานการณ์' ก็ต้องจัดว่าเป็น 'ความยืดหยุ่น' หรือ 'ความไม่ดื้อด้านอย่างหัวชนฝา' ประเภทหนึ่งด้วยเหมือนกัน ... ;)

 

สี่ หยิน :

往蹇來連
wǎng jiǎn lái lián
หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ เลี๋ยน



มาถึง 'คู่วลี' ของวรรคที่สามกันแล้วล่ะครับ ... โดย 'จิวกง' เลือกเปลี่ยนอักษรตัวท้ายวลีเพียงตัวเดียวเท่านั้น ...

連 อ่านว่า lián (เลี๋ยน) มีความหมายดั้งเดิมคือ 'รถลาก (ด้วยแรงคน)' ; แต่ต่อมาถูกใช้ในความหมายว่า 'ความเกี่ยวดองกัน (อันเนื่องมาจากการแต่งงาน)' ; ซึ่งก็ทำให้เกิดความหมายว่า 'เชื่อมโยงกัน', 'เชื่อมต่อกัน', 'เกี่ยวข้องกัน', หรือ 'ต่อเนื่องกัน' ; ถ้าใช้ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับผู้คนก็จะหมายถึง 'การรวมกลุ่ม', 'การเข้าร่วม (กับกลุ่มสังคมหนึ่งๆ)', หรือ 'การผูกสัมพันธ์' ก็ได้

ผมมองว่า 'จิวกง' น่าจะต้องการใช้คำว่า 連 (lián, เลี๋ยน) มาจำกัดความหมายของคำว่า 反 (fǎn, ฝั่น) ที่บันทึกไว้ในวรรคที่แล้ว เพื่อกำกับไม่ให้ 'ความพลิกแพลง' ถูกใช้อย่างเลยเถิดจนกลายเป็น 'ความกลับกลอก' ชนิดที่ปราศจากจุดยืนใดๆ ... นั่นก็คือ ... ใน 'การพลิกแพลงวิธีการ' (反) เมื่อต้อง 'เผชิญกับอุปสรรค' (往蹇) ต่างๆ นั้น จะต้องมี 'ความสมเหตุสมผล' (連) และมี 'ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน' (連) อย่างมีทิศทางที่แน่นอน ทั้งยังต้องมี 'การติดตามอย่างเกาะติด' (連) เพื่อที่จะสามารถ 'ประเมินผล' อันเป็นส่วนหนึ่งของ 'การทบทวนตรวจสอบ' (反) อย่างสม่ำเสมอด้วย

ในขณะเดียวกัน หากเราเลือกพิจารณาให้วลีนี้มีความหมายเป็นเอกเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับวรรคที่สาม คำว่า 連 (lián, เลี๋ยน) ก็จะเกี่ยวข้องกับคำว่า 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) โดยตรง เพราะ 'การเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) จะต้องรู้จักจัดลำดับความสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเชื่อมโยงกันของอุปสรรค และปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ (來連)'

ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับหลายๆ ตำราที่มักจะ 'ตีความ' ให้วรรคที่สี่นี้ มีความหมายในแง่ของ 'การแสวงหาพันธมิตร' (連) เพราะหากเราไล่เรียงความหมายของถ้อยคำที่ 'จิวกง' เลือกใช้มาตั้งแต่วรรคแรก เราก็จะเห็นว่า ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนของ 'การวิเคราะห์' เพื่อ 'แยกแยะปัญหา' อันเนื่องมาจาก 'ความไม่สมประกอบ' เท่านั้นเอง โดยหลักใหญ่ก็คือ 'การปรับทัศนคติ' ของตัวเราต่อ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' ที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจะต้องเริ่มจาก 'การให้ความเคารพ' (譽) ต่อสถานการณ์, 'การไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน' (匪躬) เป็นที่ตั้ง, 'การทบทวนตรวจสอบ' และ 'การปรับเปลี่ยนวิธีการ' (反), ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะ 'จำแนกแยกแยะความสัมพันธ์' (連) ของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ... ประมาณว่า ... มันคงจะเทียบเคียงได้กับถ้อยคำช่วงแรกของ King Wen ที่บันทึกไว้ว่า 'จงครองตนอย่างสมถะเรียบง่ายไม่โอ่อวด และปฏิบัติภาระกิจด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล (利西南) ไม่พึงวางอำนาจบาตรใหญ่ หรือปฏิบัติภาระกิจด้วยความแข็งขืนดุดัน (不利東北)' ... ยังไปไม่ถึงท่อนที่บอกว่า 利見大人 (lì jiàn dà rén, ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) หรือ 'มุ่งเสาะแสวงหาผู้ที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ' ซักหน่อย ?! ... ;)

 

ห้า หยาง :

大蹇朋來
dà jiǎn péng lái
ต้า เจี่ยน เพิ๋ง ไล๋



คำว่า 朋 (péng, เพิ๋ง) ที่แปลว่า 'มิตรสหาย' นั้น ย่อมทำให้ทุกตำราให้ความหมายแก่วรรคนี้ของ 'จิวกง' ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับ 'พันธมิตร' อย่างอัตโนมัติเลยทีเดียว แต่ถ้าจะแปลกันอย่างดุ้นๆ ว่า 'อุปสรรคที่หนักหนาสาหัส (大蹇) ย่อมนำมาซึ่งมวลหมู่มิตรสหาย (朋來)' ผมก็ว่ามันออกจะทะแม่งๆ คล้ายกับเป็นชุมชน masochism ยังไงๆ ชอบกลอยู่ ... :D ... แต่ ... ความหมายจริงๆ ก็น่าจะออกมาประมาณนั้นล่ะครับ !!??

ประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนซะก่อนก็คือ จู่ๆ คงไม่มีใครนึกอยากจะหาเหาใส่หัวให้ชีวิตของตัวเองต้องยุ่งยากยับเยินกันแน่ๆ อยู่แล้วล่ะครับ แต่การที่ชาวบ้านเขาพร้อมจะมะรุมมะตุ้มเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้แก่กันนั้น ย่อมต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ... ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ ปัญหานั้นๆ จะต้องใหญ่เกินกำลัง (大蹇) ถึงขนาดที่ไม่มีใครจะสามารถแก้ไข หรือปัดเป่าให้พ้นไปได้เพียงลำพัง โดยมิตร (朋) ในยามยากเหล่านี้ ก็จะได้แก่บรรดาอาสาสมัครที่มีจิตอาสาทั้งหลายนั่นแหละที่จะเข้ามาช่วยเหลือกัน ... อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ปัญหาความยุ่งยาก (蹇) นั้นๆ จะต้องมีลักษณะที่เป็นสาธารณะพอสมควร หรืออย่างน้อยก็น่าจะต้องมีผลกระทบต่อบุคคลที่มากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดพันธมิตร (朋) โดยธรรมชาติของผลกระทบที่เกิดจากปัญหานั้นๆ เองอยู่แล้ว ... ส่วนจะเรียกว่า 'ผู้ร่วมชะตากรรม' หรือ 'ผู้ร่วมอุดมการ' ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาละ-เทศะของปัญหานั้นๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดลงไป ...

แต่ปัจจัยที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือ 'การรู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน' (蹇蹇) และ 'ความไม่เห็นแก่ตัว' (匪躬之故) ของทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ย่อมไม่สมควรงอมืองอเท้าราวกับเป็นบุคคลทุพลภาพอยู่ตลอดเวลา ... หรือแม้แต่ผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือ ย่อมไม่สมควรที่จะวางก้ามใหญ่โตราวกับเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น จนทุกผู้คนต้องสยบยอมด้วยเคารพเทิดทูนอยู่ร่ำไป ... การที่ 'จิวกง' ลำดับให้วลีนี้เป็น 'คู่วลี' ของวรรคที่สองจึงถือว่าเป็นความลงตัวที่สวยงามมาก ... ;) ...เพราะ 王臣蹇蹇‧ 匪躬之故‧ (ผู้นำและบริวาร จะต้องรู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน โดยต้องรู้จักแยกแยะ และไม่ยึดถือเพียงประโยชน์เฉพาะตนเป็นเหตุผลของการดำเนินกิจกรรม) - 'อุปสรรคหรือปัญหาที่ยิ่งใหญ่ซับซ้อน (大蹇) จำเป็นต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีของทุกๆ ฝ่าย (朋) มาร่วมกัน (來) บริหารจัดการ' จึงจะประสบผลสำเร็จ ...

จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งก็คือ ลำดับของคำว่า 來 (lái, ไล๋) ที่ 'จิวกง' ใช้ เพราะในขณะที่วรรคอื่นๆ มันจะถูกบันทึกไว้หลังคำว่า 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) เสมอ ซึ่งเป็นการบ่งบอกให้รับรู้ว่า จะต้องนำปัญหา (蹇) หนึ่งๆ มาพินิจพิจารณาอย่างรอบด้านด้วยความเคารพ (來譽) ต้องรู้จักหยิบยกปัญหาขึ้นมาตรวจสอบทบทวน (來反) และต้องรู้จักพิจารณาความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบด้วยเหตุด้วยผล (來連) ... ไม่ใช่ 'ขยายความของปัญหาให้ใหญ่โตเพื่อหาพวก' (大蹇來朋) !!?? ... แต่จะต้อง 'ครองตนด้วยความสมถะเรียบง่ายและอ่อนโยน (利西南) ไม่วางอำนาจบาตรใหญ่เพื่อปฏิบัติภาระกิจใดๆ อย่างแข็งขืนดุดัน (不利東北)' เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมีระบบระเบียบ และเปี่ยมด้วยคุณธรรม (貞吉)

 

หก หยิน :

往蹇來碩吉利見大人
wǎng jiǎn lái shuò jí lì jiàn dà rén
หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ ษั้ว จี๋ ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋



碩 อ่านว่า shuò (ษั้ว) มีความหมายตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'หัวโต' โดยเป็นการผสมอักษร 頁 (yè, เยี่ย) ที่แปลว่า 'ใบหน้า', หรือ 'ศีรษะ' กับอักษร 石 (shí, ซื๋อ) ซึ่งหมายถึง 'หิน', 'ก้อนหิน', 'โขดหิน' ที่บางครั้งหมายถึง 'ใหญ่', 'แข็ง', หรือ 'แข็งแรง' ... จึงเป็นเหตุผลที่บางครั้ง 碩 (shuò, ษั้ว) ถูกใช้ในความหมายว่า 'ยิ่งใหญ่', 'มั่นคง', หรือ 'แข็งแรง' ไปด้วย ... และเมื่อมันมีส่วนผสมของ 'ศีรษะ' อยู่ใน 'ภาพอักษร' ... 碩 (shuò, ษั้ว) จึงสามารถหมายถึง 'มีความรู้', 'มีการศึกษา', ซึ้งไม่ใช่เป็น 'ความรู้' หรือ 'การศึกษา' ในแบบปรกติธรรมดา แต่เป็น 'องค์ความรู้ที่อุดมด้วยมิติที่กว้างขวางและลึกซึ้ง' เลยทีเดียว

แล้วถ้าเราไม่มึนไปกับถ้อยคำซ้ำๆ ของ 'จิวกง' ที่ใช้วลี 往蹇來 นั่น 往蹇來 นี่ แทบจะตลอดทั้งบท เราก็คงพอจะนึกออกล่ะครับว่า 'คู่วลี' ของวรรคนี้ก็คือวรรคที่หนึ่งนั่นเอง ... 往蹇來譽 (wǎng jiǎn lái yǜ, หฺวั่ง เจี่ยน ไล๋ ยฺวี่) หรือ 'จงเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) ด้วยความรู้สึกแห่งการให้เกียรติ และความเคารพ (來譽)' ... ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การเผชิญกับ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' หนึ่งๆ โดยยึดเอาแต่เพียงทิฏฐิมานะของตนเป็นที่ตั้งนั้น ย่อมนำไปสู่ 'การปิดกั้นทางความคิด' และ 'การปฏิเสธความรับรู้' ทั้งปวง เพราะมัวแต่พยายามจะยัดเยียดความคิดของตนให้ผู้อื่นต้องคล้อยตามอยู่ตลอดเวลา ... ในขณะที่ การเผชิญกับปัญหาด้วย 'ความหนักแน่น' (ไม่ใช่ 'ความดื้อด้าน') และพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างจริงใจ ย่อมนำไปสู่ 'การเรียนรู้' และ 'การรับทราบ' ถึงปัจจัยแวดล้อม ตลอดจนแนวทางอื่นๆ ที่จะสามารถจัดการกับปัญหานั้นๆ ได้อย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์มากกว่า

สิ่งที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อผ่านถ้อยคำสุดท้ายในบทนี้ก็คือ การขยายความให้กับคำว่า 譽 (yǜ, ยฺวี่) ที่เราเห็นในวรรคที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'การให้เกียรติ' และ 'การให้ความเคารพ' ต่ออุปสรรคและปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะที่ว่า 'ความนอบน้อมอย่างเคารพ' กับ 'ความสยบยอม' นั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน ... เพราะ 'ความเคารพต่อปัญหา' นั้นย่อมหมายถึง 'การเผชิญกับ (往) อุปสรรค และปัญหาแห่งความไม่สมประกอบทั้งปวง (蹇) ด้วยสติปัญญาที่หนักแน่น และพร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้อย่างรอบลึก (來碩) เพื่อนำพาสังคมไปสู่ความสำเร็จที่รุ่งเรือง (吉) ... จึงควรที่จะพยายาม (利) เสาะแสวงหา (見) บุคคลผู้เปี่ยมด้วยศักยภาพ (大人) ที่สูงส่งยิ่งกว่าตนมาช่วยกันบริหารจัดการ' ... สุดยอดมากเลยใช่มั้ยล่ะ ??!!?? ... :D

ย้อนกลับไปดูที่อักษร 碩 (shuò, ษั้ว) อีกครั้งนะครับ คำนี้แม้ว่าในพจนานุกรมบางฉบับจะให้ความหมายตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'หัวโต' แต่มันก็อาจจะมีความหมายว่า 'หัวแข็ง' หรือ 'ดื้อรั้น' ก็น่าจะได้ ... อาจจะเรียกว่า 'หัวแข็งเป็นหิน' กันเลยล่ะ ... :D ... แต่ลักษณะที่ 'ดื้อด้วยสติ รั้นด้วยปัญญา' นี้เองที่ผมเลือกแผลงความหมายมาเป็น 'ความหนักแน่น' และ 'ความไม่สยบยอม' ต่ออุปสรรคใดๆ ซึ่งนำไปสู่ 'ความขวนขวาย' เพื่อ 'ศึกษาเรียนรู้' ให้ทะลุถึงแก่นแห่งปัญหา แล้วพยายามขจัดปัดเป่าอุปสรรคเหล่านั้นให้ผ่านพ้นไปอย่างสร้างสรรค์ ... งดงาม ... งดงามจริงๆ ครับสำหรับลีลาของอัจฉริยะทางภาษาอย่างท่าน 'จิวกง' ผู้นี้ ... !!! ... ;)



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เจี่ยน' คือ ความไม่สมประกอบ, แอ่งน้ำเหนือขุนเขา

จง 'สำรวมตน' ด้วย 'ความสมถะเรียบง่ายไม่โอ่อวด' และปฏิบัติภาระกิจด้วย 'ความอ่อนโยนนุ่มนวล' ไม่พึง 'วางอำนาจบาตรใหญ่' หรือปฏิบัติภาระกิจด้วย 'ความแข็งขืนดุดัน' ... ต้อง 'พยายามเสาะแสวงหา' บุคคล 'ผู้ที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ' เพื่อจะช่วยกัน 'จรรโลงระบบระเบียบ' แห่ง 'หลักคุณธรรม' อันจะนำพาสังคมไปสู่ 'ความเจริญรุ่งเรือง'

  •  จงเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวงด้วยความรู้สึกแห่ง 'การให้เกียรติ' และ 'ความเคารพ'
  • 'ผู้นำ' และ 'บริวาร' จะต้องรู้จัก 'ถ้อยทีถ้อยอาศัย' ซึ่งกันและกัน โดยต้อง 'รู้จักแยกแยะ' และ 'ไม่ยึดถือเพียงประโยชน์เฉพาะตน' เป็น 'เหตุผล' ของ 'การดำเนินทุกกิจกรรม'
     
  • ในการเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวง จะต้องรู้จัก 'พลิกแพลง' และ 'ทบทวนตรวจสอบ' ด้วย 'วิจารณญาณ' ที่ 'ละเอียดถี่ถ้วน'
     
  • การเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวง จะต้องรู้จัก 'จัดลำดับความสัมพันธ์' เพื่อให้เกิด 'ความเข้าใจ' ใน 'ความเชื่อมโยงกัน' ของ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ต่างๆ 'อย่างเป็นระบบ'
  • 'อุปสรรค' หรือ 'ปัญหา' ที่ 'ยิ่งใหญ่ซับซ้อน' จำเป็นต้องอาศัย 'ความสมัครสมานสามัคคี' ของทุกๆ ฝ่าย เพื่อ 'ร่วมกันบริหารจัดการ'
  • การเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวงด้วย 'สติปัญญา' ที่ 'หนักแน่น' และพร้อมที่จะ 'ศึกษาเรียนรู้อย่างรอบลึก' ย่อมนำไปสู่ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' ... จึงควรที่จะ 'พยายามเสาะแสวงหา' บุคคล 'ผู้เปี่ยมด้วยศักยภาพ' ที่สูงส่งยิ่งกว่าตนมา 'ช่วยกันบริหารจัดการ'



The Organization Code :


'ความไม่สมประกอบ' ย่อมบังเกิดขึ้นจาก 'ความลุแก่อำนาจ' ของ 'บุคคล' (☵) ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่เหนือ 'กฎเกณฑ์' และ 'ข้อเท็จจริง' (☶) ใดๆ โดยอาศัยเพียง 'ความยึดติด' ใน 'ทิฏฐิมานะแห่งตน' เป็น 'กลจักรสำคัญ' ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ 'อย่างมืดบอด' ตามอำเภอใจ

แม้ว่า 'มนุษย์' จะเป็นผู้กำหนด 'กฎเกณฑ์' และ 'ระบบระเบียบแบบแผน' ทางสังคมหรือองค์กรหนึ่งๆ ขึ้นมา แต่เป้าประสงค์ของ 'ระเบียบกฎเกณฑ์' ต่างๆ ย่อมอยู่ที่ 'การบังคับใช้' กับ 'ทุกผู้คน' ซึ่งก็คือ จะต้องไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่กับ 'ผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์' นั้นๆ ขึ้นมาเองด้วย ... 'ความลุแก่อำนาจ' ของ 'บุคคล' จนนำไปสู่ 'การละเมิดต่อกฎเกณฑ์' ที่กำหนดไว้ หรือ 'การปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎเกณฑ์ตามอำเภอใจ' อย่าง 'ไร้วิจารณญาณ' ย่อมทำให้สังคม หรือองค์กรนั้นๆ เกิด 'ความไม่สมประกอบ' อันเป็น 'อุปสรรค' สำคัญต่อ 'ความเจริญก้าวหน้า' ในโอกาสต่อๆ ไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้นเอง 'ระดับนโยบาย' ซึ่งถือว่ามี 'อำนาจสั่งการสูงสุด' ขององค์กร จะต้องมี 'ความหนักแน่น' และ 'รู้จักปล่อยวาง' (⚏) โดย 'ไม่ยึดติด' อยู่กับ 'สถานภาพ' หรือ 'ทิฎฐิมานะแห่งอัตตา' เพื่อจะสามารถรับรู้-รับฟัง 'ข้อเสนอแนะ' จากทุกๆ ฝ่าย 'อย่างเปิดกว้าง' และต้องไม่ดำเนินการใดๆ ด้วย 'ความแข็งขืนดันทุรัง' จนนำไปสู่ 'ความสับสนวุ่นวาย' ; 'ระดับบริหาร' และ 'ระดับปฏิบัติการ' ก็จะต้องมี 'เป้าหมาย' และ 'แนวคิด' ที่ 'ชัดเจน' และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วย 'ความระมัดระวัง' อย่าง 'ละมุนละม่อม' (⚍) ... ต้องหมั่น 'ศึกษาเรียนรู้' และ 'พยายามเสาะแสวงหา' บุคคล 'ผู้ที่มีศักยภาพ' มาร่วมงานในแต่ละกระบวนการ 'อย่างต่อเนื่อง' ตลอดเวลา

  •  สิ่งที่มนุษย์โดยทั่วไปเรียกว่า 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' นั้น ล้วนเริ่มต้นจาก 'ความไม่สบอารมณ์' เป็นปฐมปัจจัย ... 'การตัดสิน' ว่าสิ่งใดคือ 'ปัญหา' หรือ 'อุปสรรค' จากพื้นฐานของ 'อารมณ์แห่งอัตตา' นั้น ย่อมเผยให้เห็นถึง 'การสำคัญตน' ว่าอยู่เหนือ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ทั้งปวง อันจะนำไปสู่ 'ความพยายาม' ที่จะ 'ยัดเยียด' สิ่งที่ 'ตน' เชื่อว่า 'ถูกต้อง' เข้าไปแทนที่ ... เยี่ยงนี้ ... คือ 'การไม่เคารพต่อปัญหา' และเป็นการแสดง 'ความเย่อหยิ่งอหังการ์' อย่างสามัญชน 'ผู้ยึดติดในอัตตา' ที่รังแต่จะก่อ 'ความสับสนวุ่นวาย' ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น ... 'ปราชญ์' จึงเผชิญกับ 'ปัญหา' โดยไม่ 'สำคัญตน' ให้เป็น 'ศูนย์กลาง' แต่จะปฏิบัติต่อ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวงด้วยความรู้สึกแห่ง 'การให้เกียรติ' และ 'ความเคารพ' ต่อปัญหานั้นๆ เสมอ
     
  • 'การปฏิบัติงานร่วมกัน' ย่อมต้องผูกพันกันไว้ด้วย 'ความมีอัธยาศัยไมตรี' และมี 'การถ้อยทีถ้อยอาศัย' อย่าง 'ให้เกียรติซึ่งกันและกัน' โดยจะต้อง 'รู้จักแยกแยะ' และ 'ไม่ยึดถือเพียงประโยชน์เฉพาะตน' เป็น 'เหตุผล' ของ 'การดำเนินงาน'
     
  • การเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวง จำเป็นต้องอาศัย 'ความรู้จักพลิกแพลง' และ 'การทบทวนตรวจสอบ' ด้วย 'วิจารณญาณ' ที่ 'ละเอียดถี่ถ้วน' เสมอ
     
  • 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ทั้งหลาย ย่อมประกอบไปด้วย 'ปัจจัยแวดล้อม' หลายอย่างที่ 'เชื่อมโยงถึงกัน' เสมอ ... การจัดการกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' หนึ่งๆ จึงต้อง 'ศึกษา' และ 'ทำความเข้าใจ' ใน 'กลไกแห่งความเชื่อมโยง' ของ 'ปัจจัยแวดล้อม' เหล่านั้น 'อย่างเป็นระบบ' ด้วย
     
  • 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ที่มี 'ความสลับซับซ้อน' จำเป็นต้อง 'ประสานความร่วมมือ' จากทุกๆ ฝ่ายที่มี 'ความเกี่ยวข้อง' ให้เข้ามา 'มีส่วนร่วม' ใน 'การบริหารจัดการ' จึงจะสามารถ 'แก้ไข' และ 'ขจัดปัดเป่าปัญหา' นั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
     
  • 'ความเคารพต่อปัญหา' ย่อมไม่ใช่ 'การสยบยอม' หรือ 'การไม่พยายามแก้ไข' ใดๆ เลย ... แต่ 'ความเคารพต่อปัญหา' คือการเผชิญกับ 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งปวงด้วย 'สติปัญญา' ที่ 'หนักแน่น' และพร้อมที่จะ 'ศึกษาเรียนรู้อย่างรอบลึก' ... ไม่พยายาม 'ยัดเยียดความคิด' หรือ 'แนวทาง' ใดๆ อย่างมืดบอดด้วย 'ทิฏฐิมานะแห่งอัตตา' ... ต้องมี 'ความดื้อด้วยสติ' และ 'ความรั้นด้วยปัญญา' ที่จะพยายามฟันฝ่า 'อุปสรรค' และ 'ปัญหา' ทั้งปวงไปสู่ 'ความสำเร็จที่รุ่งเรือง' ให้ได้ ... และ ... ต้อง 'พยายามเสาะแสวงหา' บุคคล 'ผู้เปี่ยมด้วยศักยภาพ' ที่สูงส่งยิ่งกว่าตนมา 'ช่วยกันบริหารจัดการ' อย่าง 'ต่อเนื่อง'


เป็นอีกบทหนึ่งที่ 'ตีความ' ได้ค่อนข้างยาก แต่น่าประทับใจจริงๆ โดยเฉพาะลีลาการเลือกใช้ตัวอักษรแต่ละตัวของ 'จิวกง' นั้น ผมอยากจะยกให้เป็น 'เทพแห่งอักษร' ไปเลย ... ;) ... ซึ่งเราคงจะไม่เห็นความสวยงามของถ้อยคำเหล่านี้หากไม่มีการจัดลำดับบทต่างๆ ของ 'คัมภีร์อี้จิง' ให้มีความโยงใยสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง !!??

ความจริงแล้ว บทที่สามสิบเก้านี้ก็คือ 'บทขยายความ' อีกบทหนึ่งให้กับวรรคที่หนึ่งของบทที่หนึ่ง ซึ่ง 'จิวกง' บันทึกไว้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า 潛龍勿用 (qián lóng wù yòng, เชี๋ยน ล๋ง อู้ โยฺว่ง) โดยมีหลายๆ ตำราพากันแปลราวกับเป็นเทพนิยายว่า 'มังกรซ่อนอยู่ใต้น้ำ อย่าใช้' ... แต่ผม 'ตีความ' ให้หมายถึง Be Humble, Potential is not Capability หรือความหมายแบบเถื่อนๆ ก็คือ 'รู้จักถ่อมเนื้อถ่อมตัวซะบ้าง 'ศักยภาพ' น่ะมันไม่ใช่ 'ความสามารถ' ซักหน่อย !!' ... และผมถือว่า นั่นคือ 'จุดเน้น' ที่สำคัญที่สุดของ 'ข้อแนะนำ' ทั้งหมดใน 'คัมภีร์อี้จิง' เลยทีเดียว ... พึงมี 'ความนอบน้อม' ไม่อวดโอ่, เนื่องด้วย 'ศักยภาพ' ย่อมไม่ใช่ 'ความสามารถ' ที่แท้จริง !!! ... ซึ่ง ...

เหตุผลหนึ่งที่คนเราจะต้องมีความรู้สึก 'ถ่อมเนื้อถ่อมตัว' ไว้เสมอก็คือ No One Is Perfect ที่ King Wen แทนความหมายของวลีดังกล่าวด้วยตัวอักษรเพียงตัวเดียวว่า 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) ที่แปลว่า 'พิการ' หรือ 'ไม่สมประกอบ' อันเป็น 'ชื่อบท' ของบทที่สามสิบเก้า ... โดยโครงสร้างอันสลับซับซ้อนของ 'คัมภีร์อี้จิง' ที่ King Wen ผูกโยงเอาไว้นั้น King Wen เลือกใช้อักษร 屯 (zhun, จุน) หรือ 'การเริ่มต้น' ด้วย 'การกำหนดเป้าหมาย' ไม่ใช่ 'การคุยโม้คุยโต' ในบทที่สาม ... จากนั้นก็มาเป็น 謙 (qiān, เชียน) ที่แสดงถึง 'ความอ่อนน้อม' ที่ 'ยอมรับฟังผู้อื่นอย่างเปิดใจกว้าง' ในบทที่สิบห้า ... แล้วก็มาขยายความเพิ่มเติมด้วย 頤 (yí, อี๋) ที่เน้นในเรื่องของ 'การฟูมฟักหล่อมหลอม' และ 'การพัฒนาองค์ความรู้' ให้เหมาะแก่กาละ-เทศะอย่าง 'ไม่ยึดติด' ในบทที่ยี่สิบเจ็ด ... จากนั้นก็ย้อนกลับมาสำทับอีกครั้งด้วย 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) ในบทที่สามสิบเก้า เพื่อเตือนสติว่า แม้จะผ่าน 'กระบวนการเรียนรู้' มาแล้ว 'อย่างลึกซึ้ง' แต่ก็ต้อง 'รู้จักแยกแยะ' โดย 'ไม่ยึดถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่' เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนมี 'ความไม่สมประกอบ' อยู่ในตัวมันเสมอ ... และเราก็น่าจะได้สัมผัสกับความหมายทำนองนี้อีกครั้งในบทที่ห้าสิบเอ็ด ซึ่งเป็นวัฏจักรสุดท้ายของ 'พลังแห่งหยาง' ใน 'คัมภีร์อี้จิง' ครับ ... :)