Zhuq!Ching

ZhuqiChing : The Organization Code
The Long Struggled Episode of ZhuqiDOX
© 2021 by Viruch Hemapanpairo (วิรัช เหมพรรณไพเราะ)


The Original Text :

第四十卦 : 解

解 : 雷水解 ‧ 震上坎下

解 : 利西南‧無所往‧其來復吉‧有攸往‧夙吉‧
  • 初六 : 無咎‧
  • 九二 : 田獲三狐‧得黃矢‧貞吉‧
  • 六三 : 負且乘‧致寇至‧貞吝‧
  • 九四 : 解而拇‧朋至斯孚‧
  • 六五 : 君子維有解‧吉‧有孚于小人‧
  • 上六 : 公用射隼于高墉之上‧獲之無不利‧


ความหมายในเชิง Biorhythms : ปัญญา และอารมณ์ มีความตื่นตัวอย่างสงบ (⚎) พลานามัยผ่อนสบาย ไม่เคร่งเครียดแข็งเกร็ง (⚏)

ความหมายในเชิงบริหาร : ดำเนินงานโดยอาศัยเงื่อนไขของกิจกรรม (☳) ชี้นำการปฏิบัติงานของบุคลากร (☵)

ความหมายของสัญลักษณ์ : ความเจริญสติ, เปล่งพลานุภาพเหนือหุบแอ่ง



ความหมายของชื่อเรียก : Equanimity : ความเจริญสติ



คำว่า 解 (jiě, เจี่ย) เป็นคำที่มีความหมายได้หลายอย่าง รวมทั้งที่มาของ 'ภาพอักษร' ก็ดูเหมือนจะซุกซ่อนความหมายบางอย่างเอาไว้ให้ขบคิดพอสมควร ... โดยด้านซ้ายของ 解 (jiě, เจี่ย) คือตัวอักษร 角 (jiǎo, เจี่ยว) ที่แปลว่า 'เขาสัตว์' ตามลักษณะของ 'ภาพอักษรเดิม' ของมันเอง คือมีเส้นขยุกขยิกอยู่ด้านบนของอักษร 肉 (ròu, โญ่ว) ซึ่งหมายถึง 'เนื้อ' หรือ 'เนื้อสัตว์' นั่นเอง ... ส่วนด้านหลังของอักษร 解 (jiě, เจี่ย) จะประกอบด้วย 刀 (dāo, เตา) หรือ 'มีด' กับ 牛 (niú, นิ๋ว) ที่แปลว่า 'วัว' ... ความหมายตาม 'ภาพอักษร' ของ 解 (jiě, เจี่ย) จึงคล้ายๆ กับ 'การกำจัดเขาของวัวด้วยมีด' ... รึเปล่า ... ??!!

แต่ทีนี้ ... อักษร 角 (jiǎo, เจี่ยว) ที่แปลว่า 'เขาสัตว์' นั้นเองกลับสามารถแปลว่า 'มุม', 'ขอบ' หรือ 'ปลายสุด' ของสิ่งต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'เขาสัตว์' ที่มักจะเป็น 'ส่วนปลายสุด' ตรงบริเวณศีรษะของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง ... มันจึงทำให้ 解 (jiě, เจี่ย) อาจจะมีความหมายตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'การกำจัดความสุดโต่งของวัว' ซึ่งเราก็เคยรู้กันมาก่อนแล้วว่า 牛 (niú, นิ๋ว) หรือ 'วัว' นั้นสามารถถูกใช้เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ของ 'ความดื้อด้าน' หรือ 'ความดักดาน' ได้ด้วย ... มันจึงทำให้ 解 (jiě, เจี่ย) ควรจะมีความหมายตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'การกำจัดความดื้อด้านดักดานอย่างสุดโต่ง' มากกว่า ... :D ... (แม้ว่าบางตำราอยากจะ 'ตีความ' ให้ 'วัว' เป็น 'สัตว์สัญลักษณ์' ของ 'พลังแห่งหยิน' แต่ผมก็แสดงความเห็นแย้งไปพอสมควรแล้วในบทที่สามสิบสำหรับประเด็นที่ว่านี้ ลองย้อนไปอ่านกันเอาเองแล้วกัน)

ความหมายโดยทั่วไปของ 解 (jiě, เจี่ย) ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ 'แยกออก', 'แบ่งออก', 'กระจายออก', แต่ก็แฝงลักษณะของ 'การผ่อนปรน', 'การผ่อนผัน', 'การคลี่คลาย', หรือ 'ความไม่เข้มงวด' รวมไปถึง 'ความไม่ยึดติด', และ 'ความปล่อยวาง' ด้วยเหมือนกัน ; ซึ่งทำให้บ่อยครั้งที่มันจะถูกใช้ในความหมายว่า 'ทำให้ชัดเจน', 'ทำให้เข้าใจ', 'อธิบาย',  'ชี้แจง', หรือ 'ทำให้รับรู้' จนแผลงไปเป็น 'การเปิดเผย' ได้อีกต่างหาก ... ซึ่งทั้งหมดที่เอ่ยถึงนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ความหมายตาม 'ภาพอักษรเดิม' ของ 解 (jiě, เจี่ย) นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 'การหั่นเขาวัว' หรือ 'การแบะหัววัว' เลยแม้แต่น้อย ... ;) ... แต่มันคือ 'การกำจัดความดื้อด้านดักดานอย่างสุดโต่ง' เพื่อที่จะ 'เรียนรู้' และ 'ทำความเข้าใจ' ในสรรพสิ่งต่างๆ อย่าง 'ปราศจากพันธนาการแห่งอัตตา' ต่างหาก ... !!?!!

ประเด็นที่สร้าง 'ความต่อเนื่อง' มาจาก 蹇 (jiǎn, เจี่ยน) หรือ 'ความไม่สมประกอบ' ในบทที่สามสิบเก้าก็คือ King Wen เสนอให้ใช้ 'ความอ่อนโยน-นุ่มนวล' โดย 'ไม่แข็งขืนเอาแต่ใจ' เมื่อต้องเผชิญกับ 'ปัญหา' ... ซึ่งจุดมุ่งหมายของข้อแนะนำดังกล่าวย่อมไม่ใช่ 'ความโอนอ่อนผ่อนตาม' ในลักษณะที่ 'เลื่อนลอยอย่างไร้แก่นสาร' ราวกับเป็น 'เศษสวะที่ไร้ราก' ... แต่ความหมายที่แท้จริงของ 'ความอ่อนโยน-นุ่มนวล' ในข้อเสนอแนะที่ว่านั้นก็คือ 'ความไม่อวดดื้อถือดี' โดยจะต้องรู้จัก 'ปล่อยวางอัตตา' เพื่อเปิดโอกาสแห่ง 'การเรียนรู้' ของตนให้สามารถ 'ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้' ต่อปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมเหตุการณ์หนึ่งๆ อยู่ในขณะเวลานั้น ... ซึ่งก็คือความหมายของคำว่า 解 (jiě, เจี่ย) ที่ King Wen ใช้เป็น 'ชื่อบท' ในคราวนี้นั่นเอง ... :)

บทที่มีความเกี่ยวข้องกับ 解 (jiě, เจี่ย) โดยตรงนั้นจะเริ่มมาตั้งแต่บทที่สี่ (蒙 : méng, เมิ๋ง) ที่ว่าด้วย 'ความฝักใฝ่ในความรู้ด้วยจิตใจที่ใสซื่อ' นั่นเลยทีเดียว จากนั้นก็มาต่อด้วยบทที่สิบหก (豫 : yǜ, ยฺวี่) ซึ่งเน้นไปในเรื่องของ 'การปฏิบัติภาระกิจด้วยความเบิกบาน' แล้วก็วนมาถึงบทที่ยี่สิบแปด (大過 : dà guò, ต้ากั้ว) อันเป็นเรื่องของ 'ความมีวุฒิภาวะ' ... พอมาถึงบทที่ว่าด้วย 解 (jiě, เจี่ย) ผมก็เลยคิดว่า อยากจะใช้คำ Equanimity มาแทนความหมายที่กว้างๆ ของ 解 (jiě, เจี่ย) โดยไม่เลือกใช้คำว่า Deliverance, Release, Relief หรือ Liberation เหมือนอย่างในบางตำรา ... เนื่องจากว่า ...
 

    • equanimity (ēˌkwə-nĭmˈĭ-tē, ĕkˌwə-) n. The quality of being calm and even-tempered; composure. [Lat. aequanimitās, from aequanimus, even-tempered, impartial : aequus, even + animus, mind]
    •  
    • (คัดมาเพียงบางส่วนจาก The American Heritage® Dictionary of the English Language, Fourth Edition copyright ©2000 by Houghton Mifflin Company. Updated in 2009. Published by Houghton Mifflin Company. All rights reserved.)


โดยรวมแล้ว equanimity อาจจะไม่ใช่คำที่ให้ความหมายครอบคลุมในทุกแง่มุมของ 解 (jiě, เจี่ย) โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ 'การทำให้ชัดเจน', หรือ 'การทำให้เกิดความเข้าใจ' ... แต่ ... คำว่า equanimity ก็สื่อถึงลักษณะของ 'ความสงบนิ่งทางอารมณ์' ได้ชัดเจนกว่าคำอื่นๆ ที่หยิบยกขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งหากเราจะมองในแง่ของ 'การปลดเปลื้อง' หรือ 'การปลดปล่อย' เพื่อ 'ความเป็นอิสระ' อย่างแท้จริงแล้ว ... 'ความสงบนิ่งทางอารมณ์' อันเนื่องมาจาก 'การปลดพันธนาการจากอัตตา' ย่อมบังเกิดผลเป็น 'ความเจริญแห่งสติ' อันจะนำไปสู่ 'อิสรภาพแห่งปัญญา' ที่พร้อมจะปฏิบัติภาระกิจใดๆ อย่างผ่าเผย (☳) โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้ 'กรอบอันคับแคบ' หรือ 'กับดักทางความคิด' (☵) ใดๆ



ความหมายของคำบรรยายภาพสัญลักษณ์ :


 
利西南無所往其來復吉有攸往夙吉
lì xī nán wú suǒ wǎng qí lái fù jí yǒu yōu wǎng sù jí
ลี่ ซี นั๋น อู๋ สั่ว หฺวั่ง ชี๋ ไล๋ ฟู่ จี๋ โหฺย่ว โยว หฺวั่ง ซู่ จี๋



สังเกตนะครับว่า King Wen เล่นคำที่เกี่ยวกับทิศ 西南 (xī nán, ซี นั๋น) หรือ 'ทิศตะวันตกเฉียงใต้' อีกแล้ว โดยทิศดังกล่าวจะมีสัญลักษณ์ประจำทิศเป็น ☴ (巽 : xǜn, ซฺวิ่น) ซึ่งหมายถึง 'ลม' หรือ ☷ (坤 : kūn, คุน) ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดิน' ก็ได้ ซึ่งทำให้คำว่า 西南 (xī nán, ซี นั๋น) ซ่อนความหมายของ 'ความอ่อนโยน-นุ่มนวล' กับ 'ความสมถะเรียบง่าย' เอาไว้ ... ซึ่งสอดคล้องกันพอดีกับ 'ความหมายตามภาพอักษรเดิม' ของ 解 (jiě, เจี่ย) ที่หมายถึง 'การกำจัด (刀) ความดื้อด้านดักดาน (牛) อย่างสุดโต่ง (角)' หรือ 'การละวางความอวดดื้อถือดี' นั่นเอง

แล้วก็ขอย้อนเล่าความหมายของ 所 (suǒ, สั่ว) ไว้ซะหน่อยแล้วกัน ... อักษรตัวนี้แปลได้หลายอย่างมาก เพราะนอกจากจะแปลว่า 'สถานที่', 'สถาบัน' แล้ว มันยังสามารถแปลเป็น 'ที่พักอาศัย' หรือใช้เป็น 'หน่วยนับ (สำหรับที่พักอาศัย)' ก็ได้ ; แปลว่า 'เหตุผล', 'สาเหตุ' แล้วก็เลยกลายเป็นคำกริยาช่วยที่ใช้แปลงรูปประโยคให้เป็น passive voice ในความหมายว่า 'มีสาเหตุมาจาก' ก็ได้ ; ใช้เป็นคำเชื่อมประโยคเหมือนกับ 'นี้' (this), 'นั้น' (that) ก็ได้ ; หรืออาจจะใช้ในลักษณะเดียวกับ if เป็น 'ถ้าหากว่า' ; บางครั้งก็ใช้ในความหมายว่า 'เท่าที่มี', 'เท่าที่เป็นไปได้', หรือ 'เท่าที่อนุญาต' มันเลยสามารถแปลว่า 'ทั้งหมด' แล้วก็เลยแผลงเป็น 'มากมาย', 'หลากหลาย' ได้อีกต่างหาก

ส่วนคำว่า 復 (fù, ฟู่) นั้นมีหลายความหมาย โดยสามารถแปลว่า 'ปรับเปลี่ยน', 'หวนกลับ', 'ย้อนคืน' ; บางครั้งก็ยังแปลว่า 'ย้ำคิดย้ำทำ' ซึ่งก็เลยแปลว่า 'ทบทวน', 'ตรวจสอบ' ก็ได้ ; ถ้าใช้ในลักษณะของ 'ความมีปฏิสัมพันธ์' ก็สามารถที่จะหมายถึง 'การตอบสนอง' หรือ 'การตอบแทน' ได้ด้วย ; ในขณะที่ผมเคยให้ความหมายของ 復 (fù, ฟู่) ในฐานะของ 'ชื่อบท' ของบทที่ยี่สิบสี่ว่า 'ความแน่วแน่มั่นคง' ด้วยอีกความหมายหนึ่ง

สำหรับในวลีนี้ 夙 (sù, ซู่) คืออักษรเพียงตัวเดียวที่ยังไม่เคยเล่าเอาไว้ในบทไหนเลย ซึ่งความหมายของมันก็คือ 'ก่อน', 'มาก่อน', 'ที่เกิดก่อน' หรือ 'เริ่มต้น' โดยสามารถใช้กับช่วงเวลาของแต่ละวัน เช่น 'ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น' เป็น 'ย่ำรุ่ง' หรือใช้กับช่วงเวลา 'ก่อนพระอาทิตย์ตก' เป็น 'ย่ำค่ำ' ก็ได้ ; ถ้าใช้กับรอบปีก็จะเป็น 'ปีก่อน', หรือ 'ต้นปี' แต่ถ้าใช้กับชาติ-ภพ มันก็จะกลายเป็น 'ชาติก่อน' หรือ 'ภพก่อน' ไปซะ ... ดังนั้นมันจึงสามารถใช้ในความหมายว่า 'เก่า' ก็ได้ แล้วก็เลยเพี้ยนไปเป็น 'ปรกติ', 'คุ้นชิน', 'บ่อยๆ' หรือ 'ซ้ำไปซ้ำมา' ได้อีกต่างหาก ; ในขณะเดียวกัน ด้วยลักษณะของ 'สิ่งที่มาก่อน' ก็แฝงความหมายว่า 'ที่มีความสำคัญ' หรือ 'ที่น่ายกย่อง' เอาไว้ด้วย

ที่นี้ ... เมื่อต่อจิ๊กซอว์ของถ้อยคำทั้งหมดลงไปแล้ว ความหมายที่ King Wen อธิบายไว้สำหรับ 'ความเจริญสติ' (解) ก็คือ 'การครองตนด้วยความสมถะเรียบง่าย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (利西南) มุ่งสลาย (無) สาเหตุ (所) แห่งการเผชิญหน้า (往) เพื่อจรรโลงความมีปฏิสัมพันธ์ของทุกฝ่าย (其來復) ให้ร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญ (吉) และนำไปสู่ความสำเร็จประโยชน์ร่วมกัน (有攸往) อันเป็นความรุ่งเรืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น (夙吉)' ... WOW !! ... ยอดมั้ยล่ะ ?! ... ย อ ด ม า ก !!!

มาถึงตรงนี้ ผมอยากจะให้ย้อนกลับไปดูวลีต้นเรื่องตรงวรรคที่สองของบทที่หนึ่งอีกครั้งครับ ... 見龍再田 ‧ 利見大人 (jiàn lóng zài tián ‧ lì jiàn dà rén, เจี้ยน ล๋ง ไจ้ เที๋ยน ‧ ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) ซึ่งผมแทนด้วยความหมายว่า 'ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี' ... และเล่ารายละเอียดเอาไว้ว่า ... โดยปรกติแล้ว 'คนที่มีศักยภาพสูงๆ' อาจจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่ค่อนข้าง 'หยิ่งผยอง' และอาจจะมอง 'คนเก่ง' อื่นๆ ว่าเป็น 'คู่แข่ง' ที่จะต้องเปรียบเทียบ หรือจะต้องเอาชนะคะคานกัน เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึง 'ความโดดเด่นที่สุด' ของตนเองให้ได้ … แต่หากเราปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกให้กลับมาเป็น 'ความถ่อมตน' (利西南) และยอมรับนับถือ 'คนเก่ง' คนอื่นๆ อย่างเข้าเข้าอกใจในหลักสัจธรรมที่ว่า 'เหนือฟ้ายังมีฟ้า' แล้ว ความมุ่งมั่นที่อยากจะแข่งขันเพื่อชิงดีชิงเด่นระหว่างกันก็จะลดน้อยถอยลง (不利東北) แต่กลับจะเกิดเป็นพลังดึงดูดให้ต่างฝ่ายต่างรู้จักโอนอ่อนเพื่อเรียนรู้ถึงข้อดี และจุดเด่นของกันและกัน (其來復吉) อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจ และชักพาให้ทุกๆ ฝ่ายสามารถที่จะ 'พัฒนาศักยภาพ' และ 'ความสามารถ' ของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง (亨) โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับ 'การชิงดีชิงเด่น' ที่ไร้สาระ … ประโยคที่ว่า 利見大人 จึงคล้ายกับเป็นการบอกกลายๆ ให้คนเรา 'รู้จักยินดี' ที่ได้มีโอกาสพบพานคนที่เก่งกว่า ไม่ใช่เอาแต่กลัดกลุ้มกังวลว่าตนเองจะโดดเด่นสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ...

แล้วลองดูคำบรรยายของ King Wen ในบทที่สี่ (蒙 : méng, เมิ๋ง) ที่ว่าด้วย 'ความฝักใฝ่ในความรู้ด้วยจิตใจที่ใสซื่อ' มั่ง ... 亨 ‧ 匪我求童蒙 ‧ 童蒙求我 ‧ 初噬告 ‧ 再三瀆 ‧ 瀆則不告 ‧ 利貞 (hēng ‧ fěi wǒ qiú tóng méng ‧ tóng méng qiú wǒ ‧ chū shì gào ‧ zài sān dú ‧ dú zé bù gào ‧ lì zhēn, เฮิง ‧ เฝ่ย หฺว่อ ชิ๋ว ท๋ง เมื๋ง ‧ ท๋ง เมิ๋ง ชิ๋ว หฺว่อ ‧ ฌู ษื้อ เก้า ‧ ไจ้ ซัน ตู๋ ‧ ตู๋ เจ๋อ ปู้ เก้า ‧ ลี่ เจิน) ซึ่งความหมายของมันก็คือ 'ความรู้ และความเข้าใจ (亨) นั้น ไม่ใช่ (匪) สิ่ง (我 ใช้ในลักษณะที่เป็นสรรพนามของ 亨) ที่เป็นฝ่ายเรียกร้องต้องการ (求) ให้ผู้หนึ่งผู้ใด (童蒙 คือผู้ที่ยังไม่มีความรู้) รับมันเอาไว้ แต่ผู้ที่ยังไม่มีความรู้ (童蒙) ต่างหาก ที่จะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้อง และไขว่คว้าหามา (求) ด้วยตนเอง … ซึ่งในเบื้องต้น (初) ก็อาจจะต้องเคี่ยวเข็ญ (噬) ตักเตือน (告) กันบ้าง ต่อเมื่อได้ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป (再三瀆 หมายถึงค่อยๆ ซึมซับอย่างช้าๆ ซ้ำๆ และสม่ำเสมอ) การซึมซับ (瀆) นั้น ย่อมจะส่งผลให้ (則) ไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือนใดๆ อีก (不告 คือกลายเป็นกิจวัตรที่ดำเนินไปเอง) นั่นแหละคือคุณธรรม (貞) ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง (利貞)' ... ซึ่งก็คือ 'ผู้ที่มีความใฝ่รู้' ย่อม 'ปราศจากทิฏฐิมานะ' และพร้อมที่จะ 'น้อมรับคำว่ากล่าวตักเตือน' จากผู้อื่น โดยไม่มีปฏิกิริยาที่แข็งขืนดึงดันแต่ประการใด

พอมาถึงบทที่สิบหก (豫 : yǜ, ยฺวี่) ซึ่งเน้นไปในเรื่องของ 'การปฏิบัติภาระกิจด้วยความเบิกบาน' King Wen ก็บันทึกคำบรรยายไว้สั้นๆ แค่ว่า ... 利建侯行師 (lì jiàn hóu xíng shī, ลี่ เจี้ยน โฮ๋ว ซิ๋ง ซือ) หรือ 'ความมีจิตใจที่แน่วแน่ (利) ในอุดมธรรมอันเป็นเป้าหมาย (建侯) และมุ่งดำเนินชีวิต (行) ตามมรรควิถีแห่งผู้เจริญ (師)' ... ความหมายก็คือ 'ความสำคัญของเป้าหมาย' ย่อมอยู่เหนือ 'ความกระหายแห่งอัตตา' ...

แล้วบทที่ยี่สิบแปด (大過 : dà guò, ต้ากั้ว) อันเป็นเรื่องของ 'ความมีวุฒิภาวะ' King Wen ก็บันทึกด้วยถ้อยคำว่า ... 棟橈 ‧ 利有攸往 ‧ 亨 (dòng ráo ‧ lì yǒu yōu wǎng ‧ hēng, ต้ง เญ๋า ‧ ลี่ โหฺย่ว โยว หวั่ง ‧ เฮิง) หรือ 'ภาวะผู้นำที่มีความหนักแน่นเข้มแข็ง (棟) แต่แฝงไว้ภายใต้การแสดงออกที่อ่อนหยุ่นนุ่มนวล (橈) ย่อมเป็นคุณลักษณะสำคัญในการฟันฝ่า (利) ไปสู่ผลลัพธ์ในบั้นปลาย (有攸往) อันเป็นความพัฒนาก้าวหน้า (亨) ยิ่งๆ ขึ้นไป' ... นี่ก็ยิ่งชัดเจนว่า ในทัศนคติของ King Wen นั้น 'ความอ่อนโยน-นุ่มนวล' คือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ 'ความร่วมแรงร่วมใจ' ของทุกฝ่าย เพื่อที่จะ 'ช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรค' ต่างๆ ไปสู่ 'ความสำเร็จร่วมกัน' (其來復吉)

ผู้ที่เจริญในสติ (解) จึงครองตนด้วยความสมถะเรียบง่ายไม่โอ่อวด (利西南) ไม่ก่อชนวนแห่งการเผชิญหน้าด้วยความขัดแย้ง (無所往) แต่มุ่งเน้นที่การประสานความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย (其來復吉) เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย (有攸往) อันเป็นประโยชน์สุขที่มีความสำคัญยิ่งกว่า (夙吉) สำหรับทุกคน ... ยอดมั้ยล่ะ ?! ... ย อ ด ม า ก !!! ... ;)



บทบันทึกขยายความของ 'จิวกง' :


 
หนึ่ง หยิน :

無咎
wú jiù
อู๋ จิ้ว



ผมอยากจะบอกว่า คำพูดธรรมดาๆ แต่ถ้าถูกจัดวางไว้อย่างถูกที่ถูกเวลา ย่อมทำให้คำนั้นๆ กลายเป็นวลีที่สวยสดงดงามอย่างเหลือเชื่อจริงๆ ซึ่งคำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในที่นี้ก็คือตัวอย่างของความสวยสดงดงามดังกล่าวที่ 'อัจฉริยะทางภาษา' อย่าง 'จิวกง' เลือกมาใช้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลาจริงๆ !!! ...

คำว่า 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) นี้ เป็นคำที่เราพบเห็นกันมาตั้งแต่บทที่หนึ่ง โดย 咎 (jiù, จิ้ว) แปลว่า 'โทษ', 'ความผิดพลาด', 'ความเสียหาย', 'ความสูญเสีย' ; หรือ 'คำตำหนิติเตียน' ซึ่งทำให้ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) สามารถแปลว่า 'ไม่มีความผิดปรกติ', 'ไม่มีความผิดพลาด', 'ไม่มีสิ่งใดเสียหาย', หรือ 'ไม่มีข้อตำหนิ', แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ มันสามารถหมายถึง 'ไม่ปริปากบ่น หรือตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น หรือก่นคำสาปแช่งโชคชะตาใดๆ' ... และ 'จิวกง' ผู้ที่มีความแหลมคมทางภาษาอย่างหาตัวจับได้ยาก ก็ถึงกับเลือกเอาคำนี้มาใช้กับวรรคแรกของบทที่ว่าด้วย 解 (jiě, เจี่ย) หรือ 'ความเจริญสติ' อย่างลงตัวพอดี ... ช่างเป็นอะไรที่สวยงามมากๆ ... !!?!! ... ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ตลอดชีวิตของบรมครูอย่าง 'ขงจื้อ' ถึงกับให้ความเคารพเทิดทูนมหาบุรุษอย่าง 'จิวกง' จนล้นเหลือซะขนาดนั้น ... :)

ด้วยวลีสั้นๆ เพียงแค่สองพยางค์นี้เองที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า 'จิวกง' นั้นได้แสดงออกถึงความลึกซึ้งทั้งในแง่ของภาษา และความเข้าใจในแง่ของจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งยังเป็นวลีที่มีความสอดคล้องกับ 'ความหมายตามภาพอักษรเดิม' ของ 解 (jiě, เจี่ย) ที่หมายถึง 'การปล่อยวางความดื้อด้านแห่งอัตตา' และสอดประสานเข้ากับความหมายของ 無所往 (wú suǒ wǎng, อู๋ สั่ว หฺวั่ง) หรือ 'ไม่ก่อชนวนแห่งการเผชิญหน้าด้วยความขัดแย้ง' ที่ King Wen เปิดประเด็นเอาไว้อย่างกลมกลืน ... โดย 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในที่นี้ก็คือ 'ไม่พึงกล่าวคำตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใด' ... เพราะทันทีที่เราเกิดความรู้สึกต้องการตำหนิสิ่งใด หรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหนึ่งบุคคลใด เมื่อนั้นย่อมหมายถึงเราใช้ 'บรรทัดฐานของตัวเราเอง' เป็นเกณฑ์ในการตัดสินสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ซึ่งไม่ต่างไปจากการปิดกั้นความรับรู้ของตัวเราสำหรับการพิจารณารายละเอียดต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล

'การยึดถือบรรทัดฐานของตัวเองเป็นที่ตั้ง' ย่อมหมายถึง 'การสำคัญอัตตาตนให้เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง' ... นั่นก็คือ ... 'ความอหังการ์' ที่ถือเอา 'ตัวเองเป็นใหญ่' ซึ่งเป็นชนวนสำคัญของ 'ความขัดแย้ง' และ 'อุปสรรค' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งหลายทั้งปวงในสังคมตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ... ดังนั้น ... อันดับแรกสุดแห่ง 'ความเจริญสติ' (解) ก็คือ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่รู้สึกว่าไม่สมประกอบ (往蹇) 'จงอย่าด่วนตัดสินสิ่งนั้นๆ ด้วยความรู้สึกตำหนิติเตียน' (無咎) เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองได้ศึกษาพิจารณา 'สิ่งที่รู้สึกว่าแปลกปลอม' นั้นอย่างละเอียดรอบด้าน (碩) ก่อนที่จะเสนอข้อคิดเห็นใดๆ ออกไปอย่าง 'มีสัมมาคารวะ' (譽) ... เยี่ยงนี้ ... จึงจะสามารถกำจัดชนวนแห่งความขัดแย้งทั้งปวง (無所往) ให้หมดไปได้ ...

โฮะ !!! ... ยอดมั้ยล่ะ ?! ... ย อ ด ม า ก !!! ... ;)
 

 

สอง หยาง :

田獲三狐得黃矢貞吉
tián huò sān hú dé huáng shǐ zhēn jí
เที๋ยน ฮั่ว ซัน ฮู๋ เต๋อ ฮฺวั๋ง ษื่อ เจิน จี๋



田 (tián, เที๋ยน) เล่าไว้ตั้งแต่บทที่หนึ่งแล้วว่า ส่วนใหญ่จะหมายถึง 'ที่นา' หรือ 'นา' แต่ก็มีความหมายรวมไปถึงพื้นที่เพาะปลูกประเภทอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน เช่น 'ทุ่ง', หรือ 'ไร่', ฯลฯ … อย่างไรก็ตาม ในภาษาจีนโบราณนั้น ตัวอักษร 田 (tián, เที๋ยน) ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับอักษรจีนอีก 2 ตัวคือ 畋 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การล่า', 'การเสาะหา' กับอีกตัวหนึ่งคือ 佃 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การไถพรวน', 'การเตรียมดิน' เพื่อการเพาะปลูก … ซึ่งในกรณีที่มีการใช้ใน 'คัมภีร์อี้จิง' อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่โบราณนั้น มันจึงน่าจะเป็นไปได้ว่า 田 (tián, เที๋ยน) อาจจะไม่ได้ใช้ในความหมายของ 'ที่นา' อย่างที่หลายๆ ตำราแปลเอาไว้ แต่ควรจะเป็นการใช้แทนคำใดคำหนึ่งระหว่าง 畋 (tián, เที๋ยน) หรือ 佃 (tián, เที๋ยน) ก็ได้

獲 (huò, ฮั่ว) เคยเจอกันมาก่อนแล้ว โดยคำนี้จะแปลว่า 'ได้รับ' แต่ก็เป็น 'การได้รับ', 'การเก็บเกี่ยว', 'การไขว่คว้า' จาก 'การล่า', 'การช่วงชิง', 'การฉกฉวยโอกาส', หรือ 'การเอารัดเอาเปรียบ' แม้ว่าบางครั้งมันจะหมายถึง 'การได้รับ' ในความหมายที่ดีกว่านั้นอยู่บ้างก็ตาม

狐 คำนี้อ่านว่า hú (ฮู๋) ปรกติจะแปลว่า 'สุนัขจิ้งจอก' แต่บางครั้งก็นำเอาลักษณะของ 'ความกลิ้งกลอก' ของสัตว์ชนิดนี้มาใช้เรียก 'ปีศาจ' หรือเป็นคำว่ากล่าวบุคคลที่เป็น 'คนไม่ดี', 'คนที่ไม่ซื่อสัตย์' หรือ 'คนถ่อย' (小人) ด้วยเหมือนกัน ; แล้วก็ยังแปลว่า 'ที่น่าสงสัย', หรือ 'ที่ไม่น่าไว้ใจ' ซึ่งก็คงจะเนื่องมาจากความหมายของ 'ความเจ้าเล่ห์-กลิ้งกลอก' นั่นเอง

矢 อ่านว่า shǐ (ษื่อ) โดยปรกติจะหมายถึง 'ลูกธนู', หรือ 'ลูกดอก' ; บางครั้ง 矢 (shǐ, ษื่อ) ยังสามารถหมายถึง 'ไม่คดงอ' ในความหมายว่า 'ตรงราวกับลูกธนู' ได้ด้วย ; ถ้าใช้กับคำพูดก็จะหมายถึง 'คำสบถ' หรือ 'คำสาบาน' ที่หลุดปากออกไปโดยไม่ทันคิด ; แต่บางทีก็หมายถึง 'คำพูดที่รวบรัดตรงๆ ไม่เยิ่นเย้อ' ก็ได้ ; ... ความหมายที่ประหลาดออกไปเลยก็คือ มันสามารถแปลว่า 'ขี้' หรือ 'มูลสัตว์' ราวกับว่าจะจัดให้เป็น 'ลูกดอก' ชนิดหนึ่งด้วยรึไงก็ไม่รู้เหมือนกัน ... :D

มองแปล๊บแรกก็เห็นความหมายตามตัวอักษรว่า 'ไล่จับจิ้งจอกมาสามตัว แถมยังได้ลูกดอกสีเหลือง โชคดีชิบเป๋ง' ... มึน !!??!!

ผมเชื่อว่าน่าจะมี 'เหตุผลทางการเมือง' บางอย่างที่ทำให้ 'จิวกง' ต้องซุกซ่อนความหมายไว้ภายใต้ 'ภาษาสัญลักษณ์' ที่อ่านไม่รู้เรื่องแบบนี้ เพราะความเป็นมาของ 'คัมภีร์อี้จิง' นั้นถูกกล่าวขานกันว่า มันได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกโดย King Wen ขณะถูกจองจำอยู่ภายในคุกของราชวงศ์ซางเป็นเวลานานถึง 7 ปี โดยมีข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงถึงขั้น 'เป็นกบฎต่อแผ่นดิน' !! ... การเขียน 'คัมภีร์การปกครอง' ภายใต้เงื่อนไขของข้อกล่าวหาดังกล่าว ย่อมกลายเป็นหลักฐานที่เพียงพอต่อการสั่งประหารชีวิตของ King Wen อย่างไม่สามารถอุทธรณ์ใดๆ ได้เลย ... ประกอบกับประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวนั้นเอง King Wen ต้องแสร้งทำตัวเป็น 'คนบ้า' เพื่อรักษาชีวิตตัวเองเอาไว้ ซึ่ง 'จิวกง' ก็อาจจะผสมโรงเพื่อให้การเสแสร้งดังกล่าวดูสมจริงมากขึ้น ... ดังนั้น ... การบันทึกถ้อยคำที่วกวนจนอ่านไม่รู้เรื่องจึงน่าจะสมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง ... นี่แค่สันนิษฐานเฉยๆ นะครับ ผมไม่ยืนยัน ... :)

แต่ถ้าเราเพ่งดีๆ เราก็จะเห็น 'คำตรงข้าม' อยู่คู่หนึ่งในวรรคนี้นะครับ นั่นคือ ... 狐 (hú, ฮู๋) ที่แปลว่า 'กลับกลอก-ยอกย้อน' กับคำว่า ... 矢 (shǐ, ษื่อ) ที่เกือบจะแปลได้ว่า 'รวบรัด' หรือ 'ทื่อๆ-ตรงๆ' ... ยิ่งถ้าเราให้ความหมายของ 黃 (huáng, ฮฺวั๋ง) ว่า 'ซีดเซียว' หรือ 'ไม่มีสีสัน' แทนที่จะแปลว่า 'สีเหลือง' ด้วยแล้ว ความหมายของ 黃矢 (huáng shǐ, ฮฺวั๋ง ษื่อ) ก็อาจจะหมายถึง 'สิ่งที่รวบรัดหมดจด' เพราะ 'ปราศจากการใส่สีตีไข่' ใดๆ ... ;) ... เย้ !! ... มีทางหนีจาก 'จิ้งจอก' กับ 'ลูกดอกสีเหลือง' แล้วโว้ย !! ... :D ...

ทีนี้ ... จำได้นะครับว่า 三 (sān, ซัน) นอกจากจะแปลว่า 'จำนวนสาม' ซึ่ง 'มากกว่าสอง' แล้ว มันยังมีความหมายว่า 'มาก', หรือ 'บ่อย' ได้ด้วย ... แล้วก็ ... ยังอาจจะหมายถึง Trinity แบบจีนคือ 'ฟ้า-มนุษย์-ดิน' ได้อีกต่างหาก ... ส่วน 黃 (huáng, ฮฺวั๋ง) ก็แปลว่า 'สีเหลือง', 'สวยงาม (เหมือนสีทอง)' ; แต่บางครั้งก็จะมีความหมายว่า 'สุกงอม' ; 'ซีดเซียว', หรือว่า 'ชำรุด', 'เสียหาย' ไปเลย :P … แต่ที่น่าจะเกี่ยวกับ 'อี้จิง' ก็คือ 'สีเหลือง' เป็นสีประจำ หรือสีที่ใช้แทน 'ธาตุดิน' ตามคติความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่ครั้งโบราณด้วย ...

งั้นเราจะต่อจิ๊กซอว์ของ 'จิวกง' ในวลีนี้ว่าอะไรดี ?! ... ผมอยากจะต่อเป็น 'ตุ๊กตา' ไว้ก่อนว่า 'การสืบเสาะค้นหา (田獲) อย่างสลับซับซ้อน (三狐) จนประจักษ์แจ้ง (得) ในแก่นแท้ที่รวบรัดหมดจด (黃矢) คือหลักปฏิบัติ (貞) ที่นำไปสู่ความสำเร็จ (吉)' ... พอไหวนะ ?! ... :P

ความหมายของมันก็คือ 'ความเจริญสติ' (解) นั้นย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อเรา 'ปล่อยวางอัตตา' และไม่ด่วนตัดสินด้วยการตัดพ้อต่อว่า หรือก่นด่าสาปแช่งสิ่งใดๆ (無咎) โดยใช้ 'ทัศนคติอันคับแคบของตน' เป็น 'ศูนย์กลาง' ... ซึ่งเมื่อดูจากพฤติกรรมที่ปรากฏภายนอกแล้ว มันอาจจะคล้ายกับ 'การยอมรับ' หรือ 'การยอมศิโรราบ' ให้กับสิ่งกระทบทั้งปวงโดย 'ปราศจากการแข็งขืนต่อต้าน' ... แต่ความจริงก็คือ 'จิวกง' กำลังแนะนำให้เรา 'สงบสติอารมณ์' เพื่อสืบเสาะค้นหา (田) ให้ได้มา (獲) ซึ่งข้อเท็จจริงของประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน โดย 'ไม่ด่วนสรุป', 'ไม่ปักใจเชื่อ', และ 'พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม' (三狐) อันจะนำไปสู่ความประจักษ์แจ้ง (得) ที่รวบรัดหมดจดและตรงจุดตรงประเด็น (黃矢) ... ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติ (貞) ที่จะสามารถอำนวยความสุขความเจริญ (吉) ให้แก่ส่วนรวม ... ต่างหาก !?

เจ้าเล่ห์มั้ยล่ะ ?! ... เ จ้ า เ ล่ ห์ ม า ก ... !!! ... :D

 

สาม หยิน :

負且乘致寇至貞吝
fù qiě chéng zhì kòu zhì zhēn lìn
ฟู่ เฉี่ย เฌิ๋จื้อ โค่ว จื้อ เจิน ลิ่น




 อ่านว่า fù (ฟู่) แปลว่า 'ขึ้นอยู่กับ', 'ที่อ้างอิงกับ', หรือ 'พึ่งพาอาศัย' ; บางครั้งมันจึงแปลว่า 'สิ่งอื่น', 'ผู้อื่น' ได้ด้วย ; ในขณะเดียวกันก็สามารถแปลว่า 'สิ่งที่สูญเสีย', 'สิ่งที่ขาดหายไป', 'สิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์', หรือ 'สิ่งที่ช่วยเติมเต็ม', 'สิ่งชดเชย' ก็ยังได้ ; นอกจากนั้น  (fù, ฟู่) ยังมีความหมายว่า 'รองรับไว้ด้วยหลัง', 'แบกไว้บนหลัง', หรือ 'แบกไว้บนบ่า' ในลักษณะที่ 'มีความเชื่อมั่นศรัทธา' ต่อสิ่งที่แบกไว้ หรือต่อสิ่งที่จะมาเติมเต็มลงไป

且 อ่านว่า qiě (เฉี่ย) ซึ่งเจอมาหลายหนแล้ว แต่ไม่เคยเล่าเอาไว้เลย ... :P ... ปรกติมักจะใช้คำนี้ในลักษณะของการเชื่อมคำ หรือเชื่อมประโยคแบบเดียวกับ both...and, หรือ 'ทั้งสองอย่าง', บางทีก็ใช้ในความหมายคล้ายวลีว่า 'ในขณะที่' คือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมๆ กัน ; บางครั้งยังใช้ในความหมายของ 'ราวกับว่า', 'ประหนึ่งว่า', หรือ 'สมมุติว่า' ซึ่งก็คงเพราะ 'ความคล้ายคลึงกัน' ของเหตุการณ์ หรือของสิ่งที่เอ่ยถึงในขณะเวลานั้นๆ

乘 อ่านว่า chéng (เฌิ๋ง) หรือ shèng (เซิ่ง) แปลว่า 'นั่ง', 'ขี่ (ม้า)', 'ใช้ประโยชน์' ; สมัยก่อนยังหมายถึง 'รถศึก' ที่ใช้ลากด้วยม้าสี่ตัว, จึงสามารถหมายถึง 'จำนวนสี่' หรือ 'สี่เท่า' ; แล้วก็เลยมีความหมายว่า 'ทำให้พอกพูน' (multiply) ได้อีกความหมายหนึ่งด้วย ; แต่ในลักษณะของ 'การขี่' หรือ 'การบังคับ' ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือพาหนะใดๆ ก็ตาม สิ่งที่สะท้อนออกมาจากความหมายดังกล่าวก็คือ 'การควบคุม' หรือ 'การกำกับทิศทาง' ซึ่งก็จะรวมไปถึง 'การเปลี่ยนแปลง' เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดเพี้ยนไปจากที่ 'ควบคุม' หรือ 'กำกับ' ไว้ด้วย

致 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ส่งมอบให้', 'หยิบยื่นให้', 'อุทิศให้', 'เสียสละ' ; 'คาดหวัง', 'ผลลัพธ์ที่ได้', หรือ 'ทำให้เกิดขึ้น' ; อาจจะหมายถึง 'ความเอาใจใส่', 'ความละเอียดอ่อน' ก็ได้

寇 อ่านว่า kòu (โค่ว) สามารถแปลเป็น 'ศัตรู', 'ผู้บุกรุก' และแผลงเป็น 'การบุกรุก' ก็ได้ ; 'รุนแรง', 'ป่าเถื่อน', หรือ 'ดุร้าย' ก็ได้

至 อ่านว่า zhì (จื้อ) แปลว่า 'ถึง', 'บรรลุถึง', 'ถึงที่สุด' ; 'ปลายทาง', 'ปลายสุด' ; 'สุดขั้ว', 'สุดโต่ง' ; 'เต็มที่', 'ทุ่มเท'

อยากให้ดูที่ชาวบ้านเขาแปลกันก่อนแล้วกัน ... 'แบกของไป ขี่รถไป คือเหตุแห่งการบุกรุกของโจรขโมย แม้จะมีคุณธรรม แต่ก็ถูกลบหลู่' ... จะรู้เรื่องมั้ยล่ะนั่น ?! ... น่ามึนนะครับถ้าจะแปลกันอย่างนี้ เพราะผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่า มันจะไปเกี่ยวกับ 解 (jiě, เจี่ย) ได้ยังไง ?!! ... :D ... เอาใหม่ !! ... เราจะแคะที่คำว่า  (fù, ฟู่) ที่แปลว่า 'แบกเอาไว้' ก่อนแล้วกัน ... มันควรจะแบกอะไรดีล่ะ ?! ... สมมุติว่า ... เราจะพิจารณาให้มันหมายถึง 'แบกอัตตา' เลยดีกว่ามั้ย ?! ... เพราะมันจะมีความหมายที่ 'ตรงกันข้าม' กับรากศัพท์ของ 解 (jiě, เจี่ย) ที่หมายถึง 'การละวางอัตตา' พอดี !!?!! ... น่าสนใจนะ !! ... ;)

ในแง่ของ 'ความต่อเนื่อง' แล้ว เราจะเห็นว่า 'จิวกง' นั้นเลือกใช้วลี 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ในวรรคที่หนึ่งเพื่อบ่งบอกความหมายว่า 'อย่าด่วนตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ' ... และต่อด้วยความหมายในวรรคที่สองว่า 'ต้องรู้จักสืบค้นความจริงด้วยการตั้งคำถามเพื่อพิจารณาในหลายๆ แง่มุมที่เป็นไปได้ (田獲三狐) จนกว่าจะเกิดความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง (得黃矢) ซะก่อน' ... ข้อความที่ต่อเนื่องออกมาเป็นวรรคที่สามก็น่าจะหมายถึง ... 'การแบกหรือยึดติด (負) อยู่กับทัศนคติใดๆ ในขณะที่ (且) กำกับดูแล (乘) การดำเนินงานต่างๆ นั้น ย่อมโน้มนำไปสู่ (致) การหักหาญเอาแต่ใจ (寇) เพียงเพื่อจะบรรลุ (至) ความประสงค์แห่งตน โดยหลักคุณธรรมที่ควรจะนำไปสู่การปฏิบัติ (貞) กลับถูกละเลยจนไม่ได้รับความสำคัญ (吝) แต่ประการใด' ...

จริงๆ แล้วนี่คือการรวบหัวรวบหางให้ 'ความเลื่อมใสศรัทธา' (負) และ 'ความปรารถนาที่จะกำกับควบคุม' (乘) ถูกประมวลไว้ภายใต้เงื่อนไขของ 'ความยึดติด' หรือ 'การแบกอัตตา' เพียงเงื่อนไขเดียว ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา และความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ... บางครั้งก็ 'ศรัทธาอย่างสุดโต่ง' จนกลายเป็น 'ดักดาน' ... บางครั้งก็ 'ปราถนาอย่างสุดขั้ว' จนกลายเป็น 'ลุ่มหลง' ... ซึ่งไม่ว่าจะ 'สุดโต่งไปทางขั้วใดขั้วหนึ้ง' (致寇至) ย่อมส่งผลให้หลักปฏิบัติใดๆ (貞) เกิดความผิดเพี้ยนจนสูญเสียคุณค่าความหมาย (吝) ไปด้วยกันทั้งนั้น ... สรุปว่า ... ชอบอ้ะ !! ... ไม่ 'ตีความ' อย่างอื่นแล้วดีกว่า !! ... :D


 

สี่ หยาง :

解而拇朋至斯孚
jiě ér mǔ péng zhì sī fú
เจี่ย เอ๋อ หฺมู่ เพิ๋ง จื้อ ซือ ฟู๋




而 อ่านว่า ér (เอ๋อ) ปรกติใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อมคำในลักษณะเหมือนกับคำว่า and, then, but, of, or และบางครั้งก็จะใช้ในความหมาย 'คล้ายกับ' (seem, like) ก็ได้

拇 อ่านว่า mǔ (หฺมู่) ปรกติจะหมายถึง 'นิ้วหัวแม่มือ' หรือ 'นิ้วหัวแม่เท้า' ซึ่งเป็น 'นิ้วที่มีขนาดอ้วน/ใหญ่ที่สุด' ... ดังนั้น คำนี้จึงสามารถใช้ในความหมายว่า 'สำคัญ', 'ยิ่งใหญ่' หรือ 'ยอดเยี่ยม' เมื่อนำไปผสมกับคำอื่นๆ

斯 อ่านว่า sī (ซือ) แปลว่า 'นี่', 'นี้', 'ที่นี่', 'อันนี้' ; บางครั้งใช้ในความหมายว่า 'ดังนั้น', 'ดังนี้' ; หรือใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อมคำแบบเดียวกับ of ในภาษาอังกฤษก็ได้ ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะแปลว่า 'แบ่งออกจากกัน', 'แยกออกจากกัน', หรือ 'ผละจาก' ซึ่งก็คงจะแผลงมาจาก 'การแยกเป็นช่วง-เป็นตอน', 'แยกออกเป็นอันนี้-อันนั้น' จึงทำให้มันสามารถถูกใช้ในลักษณะเดียวกับ then ของภาษาอังกฤษได้ด้วย

孚 อ่านว่า fú (ฟู๋) แปลว่า 'เชื่อถือได้', 'น่าเชื่อถือ', 'มีความมั่นใจ' หรือ 'ให้ความปลอดภัย', 'ให้ความคุ้มครอง', 'ให้การฟูมฟัก' ; โดยเฉพาะที่มันสามารถแปลว่า 'การกกไข่' หรือ 'การฟักตัวของไข่' ได้ ; บางครั้งก็ยังหมายถึง 'กลีบดอก', 'เยื่อหุ้ม', หรือ 'เปลือก' ที่ห่อหุ้มสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลไม้ชนิดต่างๆ ; และอาจจะหมายถึง 'คอก' หรือ 'กรง' ที่ปิดล้อมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ก็ได้

มีจุดเล็กๆ ที่อยากให้สังเกตตรง 'คู่วลี' ของวรรคที่สาม กับวรรคที่สี่นี้ก็คือ มีการใช้คำว่า 且 (qiě, เฉี่ย) กับ 而 (ér, เอ๋อ) ที่แยกกันอยู่คนละวรรคด้วย ซึ่งโดยปรกติแล้ว คำว่า 而且 (ér qiě, เอ๋อ เฉี่ย) มักจะมีการใช้เป็นคำเชื่อมประโยค หรือเชื่อมวลีในลักษณะและความหมายที่คล้ายกับ not only...but also ด้วยเหมือนกัน ... ในขณะที่ 負 (fù, ฟู่) กับ 解 (jiě, เจี่ย) ก็เล่าไปในวรรคที่สามแล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่จะถูกใช้ในความหมายที่ 'ตรงข้ามกัน' ... แล้วก็ยังมี 寇至 (kòu zhì, โค่ว จื้อ) กับ 朋至 (péng zhì, เพิ๋ง จื้อ) ที่ดูจะมีความหมายที่ล้อๆ กันอยู่พอสมควร เพราะคำว่า 寇 (kòu, โค่ว) นั้นมีความหมายหนึ่งว่า 'ศัตรู' ในขณะที่ 朋 (péng, เพิ๋ง) มีความหมายหนึ่งว่า 'มิตรสหาย' ... เพราะฉะนั้น ... ทั้งสองวรรคนี้ต้องมีความหมายที่สลับขั้วกันอย่างแน่นอน ... ฟันธง !!! ... :P

ตัดประเด็นของความหมายตามตำราอื่นๆ ออกไปให้หมดเลยครับ เพราะผมจะ 'ตีความ' ให้กับวรรคนี้ว่า ... 'การละวางอัตตา (解) ควบคู่ไปกับ (而) การให้ความสำคัญ (拇) ต่อปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมโน้มนำไปสู่การประสานความร่วมมือ (朋至) และการรู้จักแบ่งปัน (斯) ความช่วยเหลือเกื้อกูล (孚) ซึ่งกันและกัน' ... ลองเอาไปเปรียบเทียบกับวลีว่า 西南得朋 ‧ 東北喪朋 (xī nán dé péng ‧ dōng běi sàng péng, ซี นั๋น เต๋อ เพิ๋ง ‧ ตง เป่ย ซั่ง เพิ๋ง) ในบทที่สองดูหน่อยสิ ... 'ความอ่อนน้อมและความสมถะเรียบง่ายย่อมเสริมสร้างมิตรภาพ ในขณะที่ความอวดโอ่และเย่อหยิ่งลำพองย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์' ... บ๊ะ !! ... เ นี้ ย น เนียนว่ะ ... !?!! ... :D

 

ห้า หยิน :

君子維有解吉有孚于小人
jün zǐ wéi yǒu jiě jí yǒu fú yǘ xiǎo rén
จฺวิน จื่อ เว๋ย โหฺย่ว เจี่ย จี๋ โหฺย่ว ฟู๋ ยฺวี๋ เสี่ยว เญิ๋



維 (wéi, เว๋ย) เจอครั้งแรกในวรรคที่หกของบทที่สิบเจ็ด แปลว่า 'ธำรงไว้', 'รักษาไว้', 'อนุรักษ์ไว้', 'ทำให้คงอยู่', และอาจใช้ในความเดียวกับ 係 (xì, ซี่) ที่แปลว่า 'เกี่ยวข้อง', 'ผูกพัน', 'รวบรวม', หรือ 'มัดให้แน่น' ; หรือ 'เหนี่ยวรั้ง', 'ยึดเหนี่ยว', และ 'จับกุม' ; บางครั้งมันยังสามารถใช้ในความหมายว่า 'โยงใย', 'ที่เกี่ยวข้องกัน', 'ที่เชื่อมโยงกัน' ; ถ้าใช้เป็นคำกริยาจะหมายถึง 'การผูกโยงเข้าด้วยกัน', 'การมัดติดกัน', 'การปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน' ซึ่งก็เลยทำให้มันเพี้ยนความหมายไปเป็น 'การคิด', 'การวิเคราะห์', 'การพินิจพิจารณา' หรือ 'การใคร่ครวญ' ; พอนำมาใช้เป็นคำเชื่อมประโยคก็เลยมีความหมายว่า 'เพราะว่า', 'เนื่องจาก', หรือ 'ดังนั้น' ไปเลย

于 อ่านว่า yǘ (ยฺวี๋) เป็นคำบุพบท (preposition) ที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยค ในความหมายเหมือนกับ in, on, to ; หรือ of ; หรือแปลว่า 'นำไปสู่' (go to) หรือ 'กลายเป็น' ก็ได้ ; บางครั้งก็แปลว่า 'ดูคล้าย', 'ดังเช่น', 'เหมือนกับ'

ผมมองวลีนี้ด้วยความหมายที่แตกต่างกันสองลักษณะ โดยลักษณะแรกคือการมองให้ท่อน 君子維有解 (jün zǐ wéi yǒu jiě, จฺวิน จื่อ เว๋ย โหฺย่ว เจี่ย) กับ 有孚于小人 (yǒu fú yǘ xiǎo rén, โหฺย่ว ฟู๋ ยฺวี๋ เสี่ยว เญิ๋น) เป็น 'คู่ตรงข้ามกัน' ... โดยมี 'คู่กรณี' เป็น 'บัณฑิต' (君子) กับ 'คนถ่อย' (小人) ที่อาศัยดัชนีของ 'การละวางอัตตา' (解) และ 'การฟูมฟักอัตตา' (孚) เป็นตัวชี้วัด ... :D ... ซึ่งถึงแม้ว่ามันออกจะพิลึกพิลั่นไปซักหน่อย แต่ข้อคิดที่ได้จากการ 'ตีความแบบนอกรีต' นี้กลับได้ความหมายว่า ... 'ปราชญ์ (君子) ย่อมประพฤติปฏิบัติตน (維) ด้วยการเจริญสติ (有解 คือการละวางอัตตาตน) เพื่อยังความเจริญรุ่งเรือง (吉) ให้ปรากฏ ในขณะที่การฟูมฟักหล่อเลี้ยงอัตตาตน (有孚) คือวิถีปฏิบัติที่นำไปสู่ (于) ความเป็นคนถ่อยที่ไม่น่าไว้วางใจ (小人)' ... แรงวุ้ย !! ... :D

สำหรับความหมายอีกลักษณะหนึ่งก็คือ การมองว่าแต่ละท่อนของวรรคนี้ให้ความหมายที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งก็จะได้ความหมายว่า 'ปราชญ์ (君子) ย่อมประพฤติปฏิบัติตน (維) ด้วยความเจริญสติ (有解 คือไม่ปนเปื้อนอัตตาตน) เพื่อสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรือง (吉) ที่จะอำนวยประโยชน์ (有孚) ให้แก่ (于) ไพร่ฟ้าประชาชน (小人)' ... น่าจะดูดีกว่ามั้ยล่ะ ?! ... :)

เรื่องๆ ของเรื่องก็ไม่ใช่ว่าผมจะเพ้อเจ้อไปเรื่อยเปื่อยหรอกครับ มันมีเหตุมาจากคำว่า 狐 (hú ,ฮู๋) ที่ปรากฏอยู่ในวรรคที่สองซึ่งเป็น 'คู่วลี' ของวรรคนี้นี่แหละ โดย 狐 (hú ,ฮู๋) มีความหมายหนึ่งว่า 'คนไม่ดี', หรือ 'คนที่ไม่ไว้ใจ' (小人) รวมอยู่ด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ 'ตีความ' ให้ 狐 (hú ,ฮู๋) มีความหมายในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากไม่มีปัจจัยแวดล้อมใดๆ ทีบ่งชี้ว่า 狐 (hú ,ฮู๋) ควรจะถูก 'ตีความ' ให้หมายถึง 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ... แต่การที่ 'จิวกง' เล่นคำซึ่งเป็น synonym ของกันและกันใน 'คู่วลี' ประจำบทราวกับ 'จงใจ' นั้น ก็ไม่น่าจะปล่อยให้ผ่านหูผ่านตาไปเฉยๆ ... เท่านั้นเอง ... :)

อย่างไรก็ตาม 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึง 'คนถ่อย' หรือ 'คนไม่ดี' เสมอไป เพราะบ่อยครั้งที่มันจะถูกใช้ในความหมายว่า 'สามัญชน' หรือ 'ประชาชนคนธรรมดา' ที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ก็ได้ หรือบางครั้งก็ยังใช้เป็นสรรพนามแทนตัวเองแบบเดียวกับคำว่า 'ข้าผู้น้อย' ในภาษาไทยนั่นแหละ แล้วในบางกรณีก็จะใช้ในความหมายว่า 'คนที่เด็กกว่า' หรือ 'คนที่มีความรู้ด้อยกว่า' ได้อีกต่างหาก ... ผมจึงเลือกให้ความหมายของ 小人 (xiǎo rén, เสี่ยว เญิ๋น) ในวรรคนี้ด้วยความหมายกลางๆ ว่า 'ไพร่ฟ้าประชาชน' แทนที่จะใส่คำคุณศัพท์เพื่อ catagorize ว่าหมายถึงกลุ่มใดเป็นการเฉพาะลงไป

ลองต่อจิ๊กซอว์ของวรรคที่สองกับวรรคที่ห้าเข้าด้วยกันดูหน่อยมั้ยครับ ? ... 田獲三狐得黃矢貞吉 ‧ 君子維有解吉有孚于小人 (tián huò sān hú dé huáng shǐ zhēn jí ‧ jün zǐ wéi yǒu jiě jí yǒu fú yǘ xiǎo rén, เที๋ยน ฮั่ว ซัน ฮู๋ เต๋อ ฮฺวั๋ง ษื่อ เจิน จี๋ ‧ จฺวิน จื่อ เว๋ย โหฺย่ว เจี่ย จี๋ โหฺย่ว ฟู๋ ยฺวี๋ เสี่ยว เญิ๋น) ... สิ่งที่ 'จิวกง' ตั้งใจจะสื่อสารผ่านถ้อยคำในสองวรรคนี้ก็น่าจะหมายถึง ... 'เพื่อที่จะทำความเข้าใจ (田獲) ต่อเงื่อนงำที่สลับซับซ้อน (三狐) ให้บรรลุถึง (得) แก่นแท้ที่รวบรัดหมดจด (黃矢) อันเป็นหลักปฏิบัติ (貞) ที่จะสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรือง (吉) ... ปราชญ์ (君子) ย่อมต้องธำรงรักษาไว้ (維) ซึ่งความเจริญสติ (有解 คือละวางอัตตาตน) เพื่อสั่งสมกุศลกรรม (吉) ที่จะอำนวยประโยชน์ (有孚) ให้แก่ (于) ไพร่ฟ้าประชาชน (小人)' ... จริงไม่จริงก็ลองไปถาม 'จิวกง' ดูเองแล้วกัน ... :D

 

หก หยิน :

公用射隼于高墉之上獲之無不利
gōng yòng shè sǔn yǘ gāo yōng zhī shàng huò zhī wú bù lì
กง โยฺว่ง เษ้อ สุ่น ยฺวี๋ เกา โยฺวง จืษั้ง ฮั่ว จือ อู๋ ปู้ ลี่



射 อ่านว่า shè (เษ้อ) แปลว่า 'ยิง', 'ขว้าง', 'พุ่ง', 'พ่นออก', หรือ 'ส่งออกไปด้วยกำลัง' เช่น 'การยิงลูกดอก', 'การยิงธนู' ; บางครั้งมันจึงสามารถแปลว่า 'การเล็ง', หรือ 'การมองหา' เป้าหมายที่จะ 'พุ่งออกไป' ได้ด้วย ; นอกจากนั้นก็ยังสามารถแปลว่า 'การคาดเดา', หรือ 'การคาดคะเน' ได้อีกต่างหาก

隼 อ่านว่า sǔn (สุ่น) แปลว่า 'นกเหยี่ยว', หรือ 'นกในตระกูลเหยี่ยว' ซึ่งเป็น 'สัตว์นักล่า'

墉 อ่านว่า yōng (โยฺวง) แปลว่า 'กำแพง', 'กำแพงเมือง', หรือ 'ป้อมปราการ'

ทุกตำราที่ผมหาได้ในขณะที่เขียนอยู่นี้จะแปลท่อนแรกของวลีนี้ว่า 'เจ้านครยิงเหยี่ยวบนกำแพงสูง' (公用射隼于高墉之上) ... แต่ผมอ่านกลับไปกลับมายังไงก็ไม่เห็นจะได้รูปประโยคอย่างที่ว่านั้นเลยซักที ?! เพราะคำว่า 射 (shè, เษ้อ) ที่เห็นอยู่นี้ ไม่น่าจะเป็นคำกริยาของ 公 (gōng, กง) ได้เลย ?! ... แล้วถ้าจะให้ 公 (gōng, กง) มีความหมายว่า 'เจ้าแคว้น', หรือ 'เจ้านคร' จริงๆ คำกริยาของมันก็น่าจะเป็น 用 (yòng, โยฺว่ง) มากกว่า 射 (shè, เษ้อ) !!?? ... ดังนั้น ... ผมจึงคิดว่า 射隼 (shè sǔn, เษ้อ สุ่น) ในที่นี้ไม่ไน่าจะแปลว่า 'ยิงเหยี่ยว' แต่ควรจะหมายถึง 'เหยี่ยวที่ถลาบินออกไปด้วยกำลังแรง' มากกว่า !!?? ... ส่วน 公用 (gōng yòng, กง โยฺว่ง) ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับ 'เจ้าแคว้น-เจ้านคร' แต่คำนี้ควรจะหมายถึง 'สาธารณะ (公) ประโยชน์ (用)' ต่างหาก เพราะตลอดทั้งบทเราจะเห็นถ้อยคำที่บ่งชี้ไปในเรื่องของ 'การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม' แทบจะทุกวรรคอยู่แล้ว ... ?!

งั้นอะไรคือ 'กำแพงสูง' (高墉) ?! ... แล้วอะไรคือ 高墉之上 (gāo yōng zhī shàng, เกา โยฺวง จืษั้ง) ?! ... ความจริงแล้ว คำว่า 上 (shàng, ษั้ง) สามารถแปลว่า 'ขึ้น', 'บุก', 'ฝ่า', 'ก่อขึ้น', 'ก่อให้สูงขึ้น', 'ด้านบน', ... หรือ 'ที่อยู่เหนือขึ้นไป' ก็ได้ !!!?!! ... ซึ่งถ้าเราให้ความหมายของ 高墉之上 (gāo yōng zhī shàng, เกา โยฺวง จืษั้ง) ว่า 'บนกำแพงสูง' เราอาจจะเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนเท่ากับการให้ความหมายว่า 'สูงยิ่งกว่ากำแพง' ... นึกออกมั้ยครับ ?! ... นี่ก็คือสิ่งที่ 'จิวกง' กำลังพยายามสื่อถึงความหมายว่า Thinking Outside The Box นั่นเอง !! ... น่าตกใจมากเลย !! ... :D

ผมคิดว่าพวกเราคงพอจะนึกภาพออกแล้วล่ะว่า 'อัตตา' ก็คือ 'กำแพงสูง' ที่กักขังจิตวิญญาณของมนุษย์เอาไว้ จนไม่สามารถที่จะมี 'ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์' ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และนำไปสู่ 'ความแปลกแยก' ที่เพาะเชื้อแห่ง 'ความขัดแย้ง' ทั้งหลายทั้งปวงในสังคมตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ... แล้ว 'จิวกง' ก็เลือกใช้ภาพของ 'นกเหยี่ยว' (隼) ซึ่งเป็นสัตว์ที่รักอิสระ และสามารถบินได้สูงยิ่งกว่า 'กำแพง' ใดๆ ในโลกนี้ เพื่อที่จะสะท้อนความหมายจาก 'ภาพสัญลักษณ์' ประจำบทออกมาเป็น 'การเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา' (☳) เหนือ 'หลุมหล่มอันคับแคบ' (☵) แห่งอัตตาตน ... นี่ก็คือ 解 (jiě, เจี่ย) !!!

ความหมายที่ควรจะเป็นของวลียากๆ นี้ก็คือ 'การคำนึงถึงประโยชน์ที่ไม่คับแคบเฉพาะตน (公用 คือสาธารณประโยชน์) ดุจดังพญาเหยี่ยวที่บินถลา (射隼) ขึ้นไปสู่ (于) ระดับความสูงที่เหนือกว่ากำแพงใหญ่ (高墉之上) ซึ่งการบรรลุถึง (獲之) ระดับความสูงดังที่ว่านั้น ย่อมไม่มีสิ่งใดที่ไม่เหมาะไม่ควร (無不利 และไม่มีความมุ่งหมายใดที่ไม่ต้องทุ่มเทความพยายาม)' ... ความหมายของ 無咎 (wú jiù, อู๋ จิ้ว) ที่ปรากฏให้เห็นในวรรคแรกของบทนี้ จึงได้รับการสรุปประเด็นเอาไว้ว่า 'ปราชญ์ย่อมต้องพยายามก้าวให้พ้นไปจากกรอบแห่งมโนทัศน์อันคับแคบของตน' เพื่อที่จะ 'ดำเนินงานด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง' (利西南) มุ่ง 'สลายเงื่อนไขแห่งการเผชิญหน้า' (無所往) 'ประสานความร่วมแรงร่วมใจ' จากทุกๆ ฝ่าย (其來復吉) ในการ 'อำนวยประโยชน์ให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน' (有孚于小人) ... โฮะ !! ... เหนื่อยว่ะ !! ... แต่สะใจ !! ... :D



บทบันทึกของ 'ฉึกฺอิจิง!!' :



'เจี่ย' คือ ความเจริญสติ, เปล่งพลานุภาพเหนือหุบแอ่ง

'ความเจริญสติ' (解) หมายถึงการครองตนด้วย 'ความสมถะเรียบง่าย' มี 'ความอ่อนน้อมถ่อมตน' (利西南) มุ่งสลาย (無) สาเหตุ (所) แห่ง 'การเผชิญหน้า' (往) แสวงหา 'ความร่วมแรงร่วมใจอย่างสร้างสรรค์' จากทุกๆ ฝ่าย (其來復吉) เพื่อจะ 'บรรลุเป้าหมาย' (有攸往) อันเป็นประโยชน์สุขที่มีความสำคัญยิ่งกว่า (夙吉) สำหรับทุกคน

  • จง 'อย่าด่วนสรุป' ด้วยความรู้สึก 'ตำหนิติเตียน' จนถึงกับกล่าวคำ 'ตัดพ้อต่อว่า' หรือ 'วิพากษ์วิจารณ์' สิ่งหนึ่งสิ่งใด (無咎)
     
  • 'การสืบเสาะค้นหา' (田) เพื่อให้ได้มา (獲) ซึ่ง 'ข้อเท็จจริง' ของประเด็นต่างๆ 'อย่างรอบด้าน' โดย 'ไม่ด่วนสรุป', 'ไม่ปักใจเชื่อ', และ 'พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม' (三狐) อันจะนำไปสู่ 'ความประจักษ์แจ้ง' (得) ที่ 'รวบรัดหมดจด' (黃) และ 'ตรงจุดตรงประเด็น' (矢) ...คือหลักปฏิบัติ (貞) ที่จะสามารถ 'อำนวยความสุขความเจริญ' (吉) ให้แก่ 'ส่วนรวม'
     
  • 'การแบก' หรือ 'ยึดติด' (負) อยู่กับทัศนคติใดๆ ในขณะที่ (且) 'กำกับดูแล' (乘) 'การดำเนินงาน' ต่างๆ นั้น ย่อมโน้มนำไปสู่ (致) 'การหักหาญเอาแต่ใจ' (寇) เพียงเพื่อจะบรรลุ (至) ความประสงค์แห่งตน โดย 'หลักคุณธรรม' (貞) ที่ควรจะนำไปสู่ 'การปฏิบัติ' กลับ 'ถูกละเลย' จนไม่ได้รับความสำคัญ (吝) แต่ประการใด
     
  • 'การละวางอัตตา' (解) ควบคู่ไปกับ (而) 'การให้ความสำคัญ' (拇) ต่อปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมโน้มนำไปสู่ 'การประสานความร่วมมือ' (朋至) และ 'การรู้จักแบ่งปัน' (斯) 'ความช่วยเหลือเกื้อกูล' (孚) ซึ่งกันและกัน
     
  • 'บัณฑิต' (君子) ย่อมมี 'ความยับยั้ง' (維) ด้วย 'การเจริญสติ' (有解) 'คนถ่อย' (小人) ย่อมมี 'ความหมกมุ่น' (于) อยู่กับ 'การเสริมสร้างอัตตา' (自孚) ... 'ปราชญ์' (君子) ย่อม 'ประพฤติปฏิบัติตน' (維) ด้วย 'การละวางอัตตา' เพื่อ 'ความเจริญสติ' (有解) มุ่งเน้นที่ 'การสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรือง' (吉) ที่จะ 'อำนวยประโยชน์' (有孚) ให้แก่ (于) 'ไพร่ฟ้าประชาชน' (小人)
     
  • การคำนึงถึง 'ประโยชน์' ที่ 'ไม่คับแคบเฉพาะตน' (公用 คือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์) ดุจดังพญาเหยี่ยวที่บินถลา (射隼) ขึ้นไปสู่ (于) ระดับความสูงที่เหนือกว่ากำแพงใหญ่ (高墉之上) ... 'การบรรลุ' ถึง (獲之) 'ระดับความสูงแห่งจิตใจ' ดังที่ว่านี้ ย่อม 'ปราศจากความอัปมงคล' (無不利) ใดๆ และไม่มี (無) เหตุผลที่จะเลิกละความพยายาม (不利)


    หมายเหตุ : เป็นอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้ 'ตีความ' ตามความหมายของตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา จึงขอแทรกถ้อยคำจากต้นฉบับของ 'จิวกง' เอาไว้ระหว่างคำแปลทั้งหมด เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปแห่งความหมายที่ 'ตีความ' เอาไว้



The Organization Code :



'ความเจริญสติ' คือการพยายาม 'ก้าวข้ามข้อจำกัดอันคับแคบ' เพื่อ 'เปล่งพลานุภาพ' (☳) เหนือ 'กับดักทางความคิด' (☵) โดยอาศัย 'การปรับเปลี่ยนกระบวนการ' (☳) เป็น 'ปัจจัยชี้นำ' ให้เกิด 'การแก้ไขพฤติกรรม' ของ 'บุคลากร' (☵) ... 'ระดับนโยบาย' และ 'ระดับบริหาร' จะต้องมี 'ความหนักแน่น' และแสดงออกถึง 'ความกระตือรือร้น' (⚎) ที่จะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ 'ระดับปฏิบัติการ' จะต้องมี 'ความเปิดกว้าง' และ 'พร้อมที่จะตอบสนอง' (⚏) ต่อทุก 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

'ความเจริญสติ' คือการธำรงไว้ซึ่ง 'ความว่างจากอัตตา' เพื่อ 'รักษาดุลยภาพแห่งอารมณ์' ให้มี 'ความหนักแน่น' โดย 'ไม่แกว่งไกวไหวเอนไปตามกระแส' แห่ง 'ความชอบ' หรือ 'ความชัง' อันเป็น 'มูลเหตุแห่งความขัดแย้ง' ทั้งทั้งหลายปวงในสังคม ... 'ผู้ที่เจริญด้วยสติ' ย่อมมี 'ความอ่อนน้อม-ไม่เย่อหยิ่งลำพอง' มี 'ความฝักใฝ่' ในการเสาะแสวงหา 'ความร่วมแรงร่วมใจ' โดยไม่แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย มี 'ความมุ่งมั่น' ที่จะสานสร้าง 'ความมีประโยชน์สุขร่วมกัน' ของทุกๆ ผู้คนเป็นสำคัญ

  • 'การยึดถือบรรทัดฐานของตัวเองเป็นที่ตั้ง' ย่อมหมายถึง 'การสำคัญอัตตาตนให้เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง' คือลักษณะแห่ง 'ความอหังการ์' ที่ถือเอา 'ตัวเองเป็นใหญ่' ซึ่งเป็นชนวนสำคัญของ 'ความขัดแย้ง' และ 'อุปสรรค' แห่ง 'ความไม่สมประกอบ' ทั้งหลายทั้งปวง ... ดังนั้น ... สิ่งที่จะต้องระมัดระวังเป็นอันดับแรกสุดเพื่อ 'ความเจริญแห่งสติ' ก็คือ ... 'จงละเลิกการตัดสินสิ่งใดๆ' บนพื้นฐานของ 'ความชอบ' หรือ 'ความชัง' ... แต่จงเลือกที่จะเปิดโอกาสให้ตนเองได้ศึกษาพิจารณา 'สิ่งที่รู้สึกว่าแปลกปลอม' เหล่านั้นอย่างละเอียดรอบด้าน ก่อนที่จะเสนอข้อคิดเห็นใดๆ ออกไปทุกๆ ครั้ง
     
  • เหตุการณ์ต่างๆ มักจะมี 'ปัจจัยแวดล้อม' ประกอบอยู่ 'อย่างสลับซับซ้อน' การพิจารณาเรื่องราวต่างๆ จึงไม่ควรจะ 'ด่วนสรุป' หรือ 'ปักใจเชื่อ' โดยไม่ต้อง 'ตั้งคำถาม' เพื่อ 'สืบค้นข้อเท็จจริง' อย่าง 'รอบด้าน' อันจะนำไปสู่ 'การกำหนดแนวทาง' สำหรับ 'การคลี่คลายปมต่างๆ' อย่าง 'ตรงจุดตรงประเด็น' และ 'มีความรวบรัดหมดจด' โดยก่อ 'ปมปัญหา' อื่นๆ 'ซ้ำซ้อน' ขึ้นมาจนยากแก่ 'การแก้ไข'
     
  • 'ความยึดติด' อยู่กับ 'แนวคิด' หรือ 'วิถีปฏิบัติ' ใดๆ อย่าง 'ไม่ยอมปรับปรุงพัฒนา' เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ 'การดำเนินงานอย่างดื้อด้าน' และพยายาม 'หักหาญเอาแต่ใจ' เพื่อ 'สนองพิธีกรรม' มากกว่า 'การมุ่งผลสำเร็จ' ... ในขณะที่การให้น้ำหนักความสำคัญแก่ 'ผลลัพธ์' จนไม่คำนึงถึง 'ผลกระทบ' ที่จะมีต่อ 'กระบวนการปฏิบัติงาน' เลยนั้น ย่อมนำไปสู่ 'ความสับสนวุ่นวาย' จนยากที่จะ 'ประสานความร่วมมือ' จากทุกๆ ฝ่ายให้อยู่ใน 'กรอบเกณฑ์' ที่สามารถ 'ติดตามประเมินผล' เพื่อ 'พัฒนาคุณภาพของงาน' ให้มี 'ความก้าวหน้า' ยิ่งๆ ขึ้นไป
     
  • 'การดำเนินงาน' บนพื้นฐานของ 'ความเข้าใจ' ใน 'ความต้องการ' และ 'ข้อจำกัด' ของ 'ปัจจัยแวดล้อม' ต่างๆ ย่อมนำไปสู่ 'การประสานความร่วมมือ' และ 'ความให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล' ซึ่งกันและกัน
     
  • 'บัณฑิต' ย่อม 'คุมประพฤติตน' เพื่อ 'ความเจริญสติ' ; 'คนต่ำช้า' ย่อม 'หักหาญผู้อื่น' เพื่อ 'หล่อเลี้ยงอัตตาตน' ... 'ปราชญ์' ย่อมเลือกที่จะ 'อำนวยประโยชน์' เพื่อผู้อื่น ; 'คนถ่อย' ย่อมเลือกที่จะ 'เบียดบังผู้อื่น' เพื่อ 'ประโยชน์ตน'
     
  • 'การคิดนอกกรอบ' คือการคิดที่พ้นไปจาก 'กรอบอันคับแคบ' แห่ง 'อัตตาตน' ... 'วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล' ย่อมคล้ายดั่ง 'สายตาอันแหลมคม' ของ 'นกเหยี่ยว' ที่มองอย่างครอบคลุมลงมาจากเบื้องสูงเหนือสิ่งกีดขวางทั้งปวง ... 'มังคลานุภาพ' ดังกล่าวหาใช่สิ่งที่ได้มาโดยปราศจาก 'ความหนักแน่นมั่นคง' ใน 'การคุมประพฤติตน' ด้วย 'ความตั้งใจจริง'


ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า 解 (jiě, เจี่ย) ซึ่งได้รับ 'การตีความ' ในที่นี้ให้หมายถึง 'ความเจริญสติ' นั้น มีวลีต้นเรื่องมาจากวรรคที่สองของบทที่หนึ่งคือ 見龍再田 ‧ 利見大人 (jiàn lóng zài tián ‧ lì jiàn dà rén, เจี้ยน ล๋ง ไจ้ เที๋ยน ‧ ลี่ เจี้ยน ต้า เญิ๋น) หรือ 'ยอดคนย่อมเกิดจากความมุ่งมั่นบากบั่น และพร้อมจะยอมรับผู้อื่นอย่างยินดี' ... โดยความหมายของคำว่า 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' ที่ให้ความหมายไว้นั้น ได้รับ 'การถอดความ' มาจากความหมายที่เป็นไปได้ทั้งสองความหมายของ 田 (tián, เที๋ยน) คือ ... 畋 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การล่า', 'การเสาะหา' ... กับ ... 佃 (tián, เที๋ยน) ที่แปลว่า 'การไถพรวน', 'การเตรียมดิน' เพื่อการเพาะปลูก ... ซึ่ง ... 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' ดังกล่าวก็คือ 'ความมุ่งมั่นบากบั่น' ใน 'การศึกษาหาความรู้-ความเข้าใจ' (บทที่สี่ : 蒙 : méng) เพื่อที่จะ 'พัฒนาตนเอง' ไปสู่ 'ความอิ่มเอิบในธรรม' (บทที่สิบหก : 豫 : yǜ) และ 'ความมีวุฒิภาวะ' (บทที่ยี่สิบแปด : 大過 : dà guò) ก่อนที่จะพยายามนำ 'ความรู้-ความเข้าใจ' เหล่านั้นไปสู่ 'การปฏิบัติ' เพื่อ 'ประโยชน์สุขของส่วนรวม' มิใช่เพื่อ 'สนองตัณหาแห่งอัตตาตน' ... การกำหนดชื่อบทที่สี่สิบนี้ว่า 解 (jiě, เจี่ย) ซึ่งมีรากศัพท์ตาม 'ภาพอักษร' ว่า 'การลดทอนความดื้อด้านอย่างสุดโต่ง' หรือ 'การละวางอัตตา' จึงมีความสมเหตุสมผลตามลำดับของ 'ความต่อเนื่อง' มาตั้งแต่บทที่หนึ่ง และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยคลี่คลาย 'อุปสรรค' หรือ 'ความไม่สมประกอบ' (บทที่สามสิบเก้า : 蹇 : jiǎn) ทั้งหลายทั้งปวงที่เพิ่งจะเล่าผ่านไปหมาดๆ นั่นด้วย ... สวยงามมากๆ !!! ... ;)

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วย 'ภาษาสัญลักษณ์' อย่างที่เห็นในบทนี้ ผู้คนย่อมสามารถ 'ตีความ' ได้อย่างไร้ขอบเขตที่แน่นอน มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่ 'คัมภีร์อี้จิง' มักจะถูกอ้างอิงในศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยอยู่บ่อยๆ และไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ผมสามารถยืนยันได้เลยว่า ความหมายที่ผม 'ตีความ' ไว้นี้จะเป็นความหมายดั้งเดิมที่ 'จิวกง' ต้องการจะสื่อสารกับอนุชนรุ่นหลัง ... ผมเพียงแต่เลือก 'กำหนดกรอบของความหมาย' ด้วยสมมุติฐาน 2-3 ข้อด้วยกันคือ ... 1) ทั้ง King Wen และ 'จิวกง' ล้วนเป็น 'นักปกครอง' มากกว่าที่จะเป็นนักอย่างอื่น 'คัมภีร์อี้จิง' จึงไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นนอกจาก 'คัมภีร์การปกครอง' เท่านั้น ... 2) เนื้อความทั้งหมดของ 'คัมภีร์อี้จิง' จะต้องมี 'ความต่อเนื่องกัน' ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ... 3) ถ้อยคำที่อยู่ในแต่ละบทจะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับ 'ชื่อเรียกประจำบท' ของมันอย่างแน่นอน ...

ความหมายที่แตกต่างกันของ 'การตีความ' โดยนักวิชาการหลากหลายแขนงนั้น จึงเป็นความแตกต่างในแง่ของ 'กรอบคิด' ที่แต่ละคนพยายาม 'จำกัดความ' ให้ 'คัมภีร์อี้จิง' มีความหมายไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ... ประเด็นสำคัญที่เราทุกคนจะต้องระลึกไว้ตลอดเวลาก็คือ 'อย่าด่วนตัดสิน' และ 'อย่าใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง' ... เพราะ 'ความถูกต้อง' ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเสมอไป ??!!... ;)